โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 9 June 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๗๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 09, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

"จุดขาย" สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญซึ่งกำลังร่างขึ้นใหม่นี้ ล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพบนหอคอยซึ่งใช้จริงไม่ได้เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้ร่างอ่านประเทศไทยไม่ทั่ว จึงร่างรัฐธรรมนูญกันในสุญญากาศ ลอกๆ เพิ่มๆ รัฐธรรมนูญปี 2540 ไปโดยไม่เคยมองสังคมจริง ประหนึ่งว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นเพียงความฝันที่ไม่มีจริงในเมืองไทย. บางคนเรียกร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่า "หมายจับทักษิณ" เพราะส่วนนั้นคือส่วนที่ได้รับความเอาใจใส่มากที่สุด เพราะพยายามนำเอาประสบการณ์จริงทางการเมืองของไทยซึ่งตัวไม่ชอบมาพิจารณา
09-06-2550

Constitution 50
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บทวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ และมรดกไทยรักไทย
รอบเดือนของนิธิ: จากรัฐธรรมนูญเชิงเปรียบเทียบถึงอดีตไทยรักไทย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
รวมผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
(เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๕๐)

บทความวิชาการนี้ กองบรรณาธิการฯ รวบรวมมาจากผลงานที่เคยเผยแพร่แล้ว
บนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย:
๑. อวสานของปฏิรูปการเมือง
๒. ฝันย้อนยุค ๓. กำนันผู้ใหญ่บ้าน
๔. ประสบการณ์ที่สูญเปล่า และ ๕. มรดกของไทยรักไทย
โดย ๒ เรื่องแรกเกี่ยวกับการวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ที่กำลังแปรญัตติอยู่
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองกับพรรคข้าราชการ
เรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้บริโภค และเรื่องสุดท้าย
เกี่ยวกับมรดกของพรรคไทยรักไทยในสังคมไทย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๗๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



บทวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ และมรดกไทยรักไทย
รอบเดือนของนิธิ: จากรัฐธรรมนูญเชิงเปรียบเทียบถึงอดีตไทยรักไทย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
รวมผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
(เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๕๐)

1. อวสานของปฏิรูปการเมือง
เรื่องของสิทธิเสรีภาพเป็น "จุดขาย" สำคัญอันหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่นี้ อันที่จริงส่วนใหญ่ก็ลอกมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการขยายความให้ชัดขึ้นบ้างบางเรื่อง (เช่นเรื่องชุมชน) และมีการปรับให้สิทธิเสรีภาพเหล่านั้นดูเหมือนสามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติได้มากขึ้น เช่นลดจำนวนรายชื่อของบุคคลในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจาก 50,000 เหลือ 20,000 ชื่อเป็นต้น

ที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ใช้บังคับมาร่วม 10 ปีแล้ว หากจะดูอุปสรรคในทางปฏิบัติของการใช้สิทธิเสรีภาพเหล่านั้น ก็มีประสบการณ์ของผู้คนจำนวนมากให้ศึกษา แต่ก็เหมือนส่วนอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้ คือร่างขึ้นโดยคนที่อ่านประเทศไทยไม่ทั่ว ฉะนั้นการสร้าง "จุดขาย" ในประเด็นสิทธิเสรีภาพ จึงสร้างขึ้นจากการนึกเอาเอง อุปสรรคในการนำไปใช้ในทางปฏิบัติจริง ก็ยังอยู่เหมือนเดิม

ขอยกตัวอย่างเรื่องเดียวก่อน คือการลดจำนวนรายชื่อเสนอให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงเหลือ 20,000 จะช่วยให้การรวบรวมรายชื่อทำได้ง่ายมากขึ้นแค่ไหน จากประสบการณ์ที่ได้เคยช่วยในกระบวนการนี้ ผมอยากบอกว่าไม่มีประโยชน์สักเท่าใด ถึงลดลงไปกว่าครึ่ง แต่บุคคลจำนวนน้อยไม่กี่คน โดยเฉพาะที่เป็นชาวบ้าน ก็ไม่สามารถออกทุนทรัพย์ในการรวบรวมรายชื่อได้เอง สมมุติว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวคือ 5 บาท 20,000 ชื่อคือ 100,000 บาท จะเอาเงินมาจากไหน

ปัญหาแท้จริงของการเสนอกฎหมายหรือเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน ไม่ได้อยู่ที่จำนวนชื่อหรือทุนทรัพย์ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีพอที่จะจ่ายทั้งนั้น ที่สามารถทำได้ก็เพราะการรณรงค์ทางสังคม ทำให้คนจำนวนมากมองเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหาที่เสนอ จนเขายินดีเข้าร่วมลงชื่อด้วย หากไม่สามารถรณรงค์ให้มีผู้ลงชื่อได้ครบ 50,000 ก็แสดงอยู่แล้วว่าประเด็นปัญหาที่เสนอนั้นไม่มีความสำคัญจริง

ปัญหาอยู่ที่สองอย่างต่างหาก คือ

- ในการรณรงค์นั้น ภาคประชาชนเข้าไม่ถึงสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่เป็นของรัฐ ทำให้ไม่อาจเสนอประเด็นปัญหาและมุมมองของฝ่ายตนแก่สังคมได้ทั่วถึง หากจะช่วยให้สิทธิเสรีภาพนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ต้องกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งให้ประชาชนมีสิทธิในการใช้สื่อของรัฐในกรณีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

- ปัญหาที่สองก็คือ หากเสนอกฎหมาย สภาก็จะนำกฎหมายนั้นไปเข้าคิวไว้หลังสุด ตลอดอายุของสภาไม่ได้มีโอกาสโผล่ขึ้นมาให้ได้พิจารณากันเลย จนยุบสภาหรือหมดอายุลง ไฟของการรณรงค์ซึ่งลุกโชนขึ้นจากการรณรงค์ย่อมมอดดับไปเป็นธรรมดา ฉะนั้นสิทธิเสรีภาพนี้จะเป็นจริง ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่ชัด ว่าสภาต้องพิจารณากฎหมายนั้นให้แล้วเสร็จในระยะหนึ่ง เช่น 60 วัน 90 วัน ฯลฯ เป็นต้น

หากข้อเสนอจากภาคประชาชนเป็นเรื่องของการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเอง เช่น ส.ส. คำตัดสินสุดท้ายกลับไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่ไปอยู่ที่องค์กรอะไรอื่นๆ ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกขึ้นมา ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนี้ (นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว) ก็เพราะสิทธิการถอดถอนไม่ใช่สิทธิการเรียกคืน จึงกำหนดว่าข้อกล่าวหาที่ประชาชนจะยกขึ้นแก่นักการเมืองที่ต้องการถอดถอนคือทุจริตเป็นหลัก ข้อหานี้ยากที่ภาคประชาชนจะหาหลักฐานแน่ชัดมาแสดงได้

แต่สิ่งที่ประชาชนอยากใช้สิทธินี้จริงๆ อยู่ที่ความเป็นตัวแทน (representation) ของนักการเมืองต่างหาก จะโกงหรือไม่ก็จับไม่ได้หรอก แต่เขาล้มเหลวในหน้าที่ความเป็นตัวแทนของประชาชน อันเป็นสิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้โดยตรง หากรวมความล้มเหลวข้อนี้ไว้ในสิทธิการถอดถอน ก็เห็นได้ชัดว่าคำวินิจฉัยว่าบุคคลนั้นๆ ควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะตัวแทนต่อไปหรือไม่ ต้องเป็นของประชาชน นั่นคือจัดให้มีการลงประชามติหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่. สิทธิถอดถอนนี้ยังช่วยให้นักการเมืองอยู่ในความควบคุมของประชาชนตลอดไป อันเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองทำแทนให้ไม่ได้ และไม่มีพรรคการเมืองไหนในโลกนี้ทำได้

แต่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้ไม่ไว้วางใจทั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่ไว้วางใจประชาชนเท่าๆ กัน จึงผลักการควบคุมนักการเมืองให้แก่องค์กร ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นตัวแทนของระบบราชการเท่านั้น (โดยมีฝ่ายตุลาการทำหน้าที่เป็นหัวหน้านำขบวน) สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะเสนอกฎหมายหรือถอดถอน จึงกลายเป็นไม้เรียวให้ระบบราชการควบคุมนักการเมืองเสียเอง

สิทธิชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ (ซึ่งลอกมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540) ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การชุมนุมโดยสงบไม่มีพื้นที่ในประเทศไทย พื้นที่ในความหมายทางกายภาพธรรมดาๆ นี่แหละครับ การชุมนุมคือการสื่อสารกับสังคมอย่างหนึ่ง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ แต่พื้นที่สาธารณะในประเทศไทย มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและเลือกปฏิบัติว่าจะใช้ทำอะไรได้บ้างทุกพื้นที่ นับตั้งแต่วัด, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, ท้องถนน, ลานเมือง, ฯลฯ

ฉะนั้นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอันเป็นสิทธิของประชาชน จึงถูกละเมิดด้วยเทศบัญญัติบ้าง, ด้วยอำนาจเถื่อนของตำรวจในการตีหัวชาวบ้านบ้าง, เอาหมาไล่กัดบ้าง, จับกุมด้วยข้อหาก่อการจลาจลบ้าง, หรือเอานักเลงไปลุยบ้าง, สังหารหมู่กลางราชดำเนิน, ธรรมศาสตร์ หรือตากใบบ้าง ฯลฯ ตลอดมา

อันที่จริงระบอบปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้น คือการจัดสรรแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์กันในหมู่ชนชั้นนำในทุกสังคมเหมือนๆ กัน ที่ก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะประชาชนตื่นตัวลุกขึ้นมาช่วยกันขจัดกลไกที่กีดกันตนออกไปจากเวทีการเมือง และพื้นที่ซึ่งใช้สำหรับประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้ (ไม่ว่าในเมืองไทยหรืออเมริกา, ยุโรป หรือรัสเซีย) ก็คือ "ท้องถนน" หรือพื้นที่สาธารณะ หากปิดกั้นมิให้ประชาชนใช้พื้นที่สาธารณะทางการเมือง ก็เท่ากับปฏิเสธสิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ. หากผู้ร่างรัฐธรรมนูญอ่านประเทศไทยให้ทั่ว ก็จะเข้าใจว่าสิทธิการชุมนุมที่ลอกมานั้นไร้ความหมายในทางปฏิบัติ

การตั้งสภาพัฒนาการเมืองขึ้นมาก็น่าอัศจรรย์ว่าคิดกันได้อย่างไร การเมืองในทุกสังคมถูกพัฒนาขึ้นจากประสบการณ์จริงของสังคม ไม่ใช่ในความคิดลอยๆ ของเทวดาที่เข้าไปอยู่ในสภาใดๆ ก็ตาม ในขณะที่กีดกันมิให้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้ใช้จริง แต่กลับจะพัฒนาการเมืองบนหอคอย

แม้ว่าให้ความสำคัญแก่แรงงาน ระบุให้รัฐจัดแรงงานสัมพันธ์และประกันอำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงาน แต่ทั้งหมดนี้คือแรงงานที่อยู่ในโรงงานหรืออาจเรียกว่าแรงงานในระบบอย่างแท้จริง แต่ประเทศไทยเวลานี้ จำนวนของแรงงานนอกระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยระบบการจ้างเหมาเป็นรายชิ้นบ้าง ด้วยการบังคับให้แรงงานเป็นผู้ฝึกงานตลอดไปบ้าง ฯลฯ ผมควรกล่าวด้วยว่า การผลิตแบบโรงงานกำลังถูกทอนให้เล็กลงในสังคมสมัยใหม่หลายแห่ง ด้วยวิถีการผลิตที่ไม่ใช้โรงงาน. ถ้าอ่านประเทศไทยได้ทั่ว ก็จะรู้ว่ารัฐธรรมนูญที่พยายามจะประกันสิทธิแรงงานต้องเขียนอย่างไร จึงสามารถครอบคลุมแรงงานประเภทต่างๆ ได้ทั่วถึง และประกันสิทธิสวัสดิการพื้นฐานของประชากรในตลาดแรงงานจ้างประเภทต่างๆ ได้จริง

พลิกอ่านดูเองเถิดครับ "จุดขาย" สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญซึ่งกำลังร่างขึ้นใหม่นี้ ล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพบนหอคอยซึ่งใช้จริงไม่ได้เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้ร่างอ่านประเทศไทยไม่ทั่ว จึงร่างรัฐธรรมนูญกันในสุญญากาศ ลอกๆ เพิ่มๆ รัฐธรรมนูญปี 2540 ไปโดยไม่เคยมองสังคมจริง ประหนึ่งว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นเพียงความฝันที่ไม่มีจริงในเมืองไทย

บางคนเรียกร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่า "หมายจับทักษิณ" เพราะส่วนนั้นคือส่วนที่ได้รับความเอาใจใส่มากที่สุด เพราะพยายามนำเอาประสบการณ์จริงทางการเมืองของไทยซึ่งตัวไม่ชอบ มาพิจารณาก่อนจะเขียนกฎกติกาลงไป และด้วยเหตุดังนั้น อุดมคติของการ "ปฏิรูปการเมือง" ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 จึงถึงกาลอวสานลงด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

2. ฝันย้อนยุค
สมมติฐานอันหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญ 2549 ก็คือ การเมืองประเภทเลือกตั้งมักได้คนเลว. จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการเมืองไทย สมมติฐานนี้มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด ปัญหามีอยู่สองอย่างคือ

1) จะแก้ไขให้คนเลวไม่ได้รับเลือกตั้งอย่างไร และ
2) จะควบคุมคนเลว (อันที่จริงคนดีด้วย) ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาได้อย่างไร

คำตอบในหมู่คนที่มีศรัทธาต่อประชาชนเจ้าของอธิปไตยก็คือ (ศรัทธาว่าผิดได้พลาดได้ แต่ก็มีปัญญาและโอกาสที่จะสำนึกในความผิด จึงใช้อำนาจของตนในการแก้ไขความผิดนั้น - เป็นศักยภาพที่มีในมนุษย์ทุกคน) จะเพิ่มอำนาจของประชาชนในการควบคุมตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไร จึงจะทำให้นักการเมืองที่เลวไม่อาจทำเลวได้ และนักการเมืองที่ดีมีโอกาสในเวทีการเมืองมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มทั้งปัญญาและโอกาสของประชาชนในการเรียนรู้ทางการเมือง ซึ่งก็คือการขยายเวทีการเมืองให้แก่การปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรงของประชาชน

แต่เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เชื่อทั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่เชื่อทั้งประชาชน ฉะนั้นแทนที่จะให้อำนาจประชาชนในระบบการเมืองเพิ่มขึ้น กลับลดลงด้วยการเปลี่ยนไปสู่การสรรหา ทั้งตำแหน่งที่เป็นตัวแทนของประชาชนและองค์กรอิสระ ซึ่งก็คือตำแหน่งที่ใช้อำนาจของประชาชนในการตรวจสอบควบคุมนั่นเอง และดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ผู้ที่ทำหน้าที่สรรหาเมื่อกล่าวโดยสรุปในเบื้องท้าย ก็คือคนในระบบราชการนั่นเอง สมกับที่ถูกวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นำเอาระบอบอมาตยาธิปไตยกลับมาสู่การเมืองไทยใหม่อีกครั้ง หรือย้อนเวลากลับไปสู่การเมืองซึ่งได้สิ้นสุดไปกว่า 2 ทศวรรษมาแล้ว

ยิ่งไปกว่าการสรรหาตำแหน่งทาง "การเมือง" ต่างๆ โดยประชาชนไม่มีส่วนรู้เห็น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังรอนอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบควบคุมตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งเสียอีก ทั้งนี้โดยการกำหนดเขตเลือกตั้งให้ใหญ่เสียจน ผู้เลือกตั้งไม่อาจใช้ประโยชน์จากตัวแทนของตนในการต่อรองทางการเมืองได้เลย นั่นก็คือตรวจสอบควบคุมผู้แทนแม้แต่ด้วยหีบบัตรเลือกตั้งก็ไม่ได้

ขอบเขตของชีวิตมนุษย์ (life scale) แต่ละคนในความเป็นจริงไม่ได้กว้างขวางอะไรนัก และแน่นอนไม่ใช่เขตจังหวัดหรือเขตเลือกตั้งที่อาจมีผู้แทนได้ถึง 3 คน แม้แต่กำหนดให้ประชากร 150,000 หรือ 200,000 ต่อหนึ่งเขตเลือกตั้ง ก็ยังอาจกว้างกว่าขอบเขตชีวิตในความเป็นจริง กระนั้นก็เป็นหนทางเดียวที่พอเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กล่าวโดยสรุปก็คือ เขตเลือกตั้งที่เล็กหมายถึงประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบควบคุมผู้แทนของตนได้ และที่เหนือกว่าการตรวจสอบควบคุมการทุจริต คือตรวจสอบควบคุมว่าเขาจะต้องเป็นตัวแทน "ผลประโยชน์" ในทุกๆ ความหมายของประชาชนได้จริง

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับกำหนดเขตเลือกตั้งที่ใหญ่จนไร้ความหมายแก่วิถีชีวิตของประชาชนไทย ด้วยข้ออ้างว่าทำให้การซื้อเสียงทำได้ยากขึ้น จริงอยู่เขตเลือกตั้งเล็กย่อมทำให้การซื้อเสียงทำได้ง่ายขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ก็ทำให้การไม่ซื้อเสียงทำได้ง่ายขึ้นด้วย ในขณะที่เขตเลือกตั้งใหญ่ทำให้การไม่ซื้อเสียงเกือบจะเป็นไปไม่ได้เอาเลย (อย่าลืมเรื่อง life scale หรือขอบเขตชีวิต)

ปัญหาก็คือผู้ร่างรัฐธรรมนูญเชื่อในศักยภาพของประชาชนที่จะได้เรียนรู้ และเกิดปัญญาในทางการเมืองจนกระทั่งเลือกผู้แทนที่ "ดี" ได้หรือไม่ ถ้าเชื่อก็ต้องทำโอกาสที่ศักยภาพนี้จะได้รับการพัฒนาให้เปิดไว้ตลอดไป ไม่ใช่ไปตัดขาดมิให้อำนาจของประชาชนได้ยึดโยงกับ ส.ส.มากไปกว่าหีบบัตรเลือกตั้ง 4 ปีครั้ง (ซึ่งเป็นข้ออ้างที่นักการเมืองเลวๆ ใช้เผชิญกับการตรวจสอบควบคุมของประชาชนตลอดมา)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่หลักการประชาธิปไตย ซึ่งดูเหมือนพวกเขาไม่ได้นับถือศรัทธานัก (เพราะเป็นระบอบฝรั่งที่ไทยไม่ควรเอาอย่าง) แต่อยู่ที่ว่า จะทำให้การเมืองระบบเลือกตั้ง (อันเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น ในความคิดของพวกเขา) จะถูกควบคุมโดย "คนดีมีคุณธรรม" ในระบบราชการได้อย่างไร การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และพรรคการเมืองคือปีศาจร้ายอีกชนิดหนึ่งซึ่งพัฒนาไม่ได้ จึงต้องป้องกันมิให้ปีศาจร้ายนี้เข้มแข็งขึ้นมา ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่ไม่เข้มแข็ง ซึ่งร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นย่อมถูกควบคุมจากระบบราชการได้ง่ายกว่า

อันที่จริงเขตเลือกตั้งใหญ่ไม่ได้ขจัดการซื้อเสียงไปแต่อย่างใด ความแตกต่างระหว่างเขตเลือกตั้งเล็กหรือใหญ่ในด้านการซื้อเสียงอยู่ที่ใครซื้อ และซื้ออย่างไรต่างหาก เขตเลือกตั้งเล็ก ผู้สมัครรายบุคคลเป็นผู้ซื้อด้วยเงินของนายทุน เขตเลือกตั้งใหญ่ นักการเมืองซึ่งมีอิทธิพลระดับภาคซื้อด้วยเงินของนายทุนที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ผลก็เท่ากันคือนโยบายสาธารณะ ถูกกำหนดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนตั้วเฮียระดับต่างๆ เหมือนกัน

สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งในกรณีประเทศไทยก็คือ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็คือ กลุ่มเคลื่อนไหวของประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้พบว่า การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรของตนนั้นจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการเมืองในระบบ และนั่นคือต้องสามารถตรวจสอบควบคุมนักการเมืองได้ มีความพยายามหลายครั้งที่จะกดดันผ่านพรรคการเมือง (ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ออกแบบให้ควบคุมนักการเมืองอีกทีหนึ่ง) แต่ไม่เคยสัมฤทธิผล เพราะพรรคการเมืองได้แต่เอาคะแนนเสียงที่ได้จากประชาชนไปต่อรองอำนาจเพื่อประโยชน์ของผู้บริหารพรรคและนายทุนพรรคเท่านั้น (พรรคอาจคิดว่า ก็ส่วนใหญ่ของคะแนนเสียงก็ซื้อมาทั้งนั้น)

กลุ่มเคลื่อนไหวในภาคประชาชนบางกลุ่มเริ่มมองหาวิธีใหม่ๆ ที่จะเข้าไปตรวจสอบควบคุมการเมืองในระบบมากขึ้น บางกลุ่มคิดถึงการตั้งพรรคการเมืองของตนเอง บางกลุ่มคิดถึงการจัดองค์กรที่มีคะแนนเสียงเป็นบล็อคเพื่อต่อรองกับนักการเมือง บางกลุ่มคิดถึงการรณรงค์ทางสังคมเพื่อกดดันนักการเมืองในเขตเลือกตั้งของตน

ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาศักยภาพของประชาชนในฐานะผู้เลือกตั้ง ซึ่งผลที่สุดก็คือขจัดการซื้อเสียงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นจริงได้มากที่สุด แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งไม่ไว้วางใจทั้งระบอบประชาธิปไตย (ซึ่งพัฒนาเป็นระบบการเมืองขึ้นก่อนในโลกตะวันตก แต่ไม่ได้เป็น "ของ" ตะวันตก) และไม่ไว้วางใจประชาชน กลับทำลายหน่ออ่อนที่จะทำให้ประชาชนมีอำนาจเหนือหีบบัตรเลือกตั้งอย่างแท้จริง

ที่จริงแล้ว หากมองจากศักยภาพของผู้เลือกตั้ง สิ่งที่น่าจะทำมากกว่าอื่นก็คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองได้พิสูจน์ตนเองมาหลายทศวรรษแล้วว่า ไม่สามารถเป็นตัวแทนของสังคมในการควบคุมนักการเมืองในสังกัดได้ ซ้ำกลับใช้อำนาจที่ได้มาจากรัฐธรรมนูญเพื่อเมินเฉยต่อความเป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในเขตเลือกตั้งของตนเสียด้วย ผู้สมัครอิสระจะให้ทางเลือกแก่ประชาชนมากขึ้น ในขณะเดียวก็ให้อำนาจแก่ประชาชนในการควบคุมทั้งนักการเมืองและพรรคการเมืองไปพร้อมกัน เพราะ ส.ส.อิสระย่อมต้องอ่อนไหวต่อเสียงของประชาชนมากกว่า

สมมติฐานทางการเมืองที่เป็นพื้นฐานอย่างยิ่งในบรรดาชนชั้นนำไทย ซึ่งกุมการเมืองตลอดมาในประวัติศาสตร์ก็คือ "การเมือง" เป็นสิ่งเลวร้าย ฉะนั้นจึงควรจำกัด "การเมือง" ไว้ในพื้นที่แคบๆ ระวังมิให้ลุกลามไปถืออำนาจรัฐได้เต็มที่นัก อำนาจทางการเมืองควรสงวนไว้กับสถาบัน, องค์กร, บุคคล, ฯลฯ ในกลุ่มชนชั้นนำที่ "ไม่การเมือง" (apolitical) โดยสร้างกระบวนการซึ่งทำให้เห็นว่าสถาบันนั้น, องค์กรนั้น, บุคคลนั้น ฯลฯ ถูกทำให้ "ไม่การเมือง" (depoliticized) ไปเสียแล้ว. แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีมนุษย์ในโลกนี้ที่ "ไม่การเมือง" (apolitical) จริงหรือ? ตราบเท่าที่เขายังไม่ใช่พระอรหันต์หรือเทวดา

ด้วยสมมติฐานดังกล่าวนี้เอง ส่วนที่ถูกจัดให้ "ไม่การเมือง" (apolitical) กลับได้อำนาจมากกว่าส่วนที่ถูกจัดเป็น "การ-เมือง" (political) อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะความ "ไม่การเมือง" นั่นแหละที่เป็นความชอบธรรมเพื่อเข้าไปจัดแบ่งทรัพยากรทุกประเภทได้อย่างเสรี โดยไม่ควรมีใครเข้าไปตรวจสอบควบคุม

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่นการศึกษา พลเมืองของรัฐควรถูกสอนอะไร, อย่างไร และเมื่อไร ล้วนเป็น "การเมือง" อย่างยิ่ง แต่การศึกษาถูกสมมุติให้ "ไม่การเมือง" ทำให้ผู้จัดการศึกษามวลชน (ซึ่งก็คือกลุ่มคนหน้าเดิม) มีอำนาจที่จะใช้การศึกษาสร้างพลเมืองของชาติขึ้นตาม... ตามอะไร คำตอบคือตามอุดมการณ์, ผลประโยชน์, และโลกทรรศน์ของตัวหรือชนชั้นตัวหรือกลุ่มเครือญาติตัวหรือ ฯลฯ ของตัว แล้วนี่เป็น "การเมือง" หรือไม่?

อีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้ นักวิชาการใช้ความ "ไม่การเมือง" ของตัว เพื่อสร้างความรู้ที่เป็น "การเมือง" อย่างยิ่งแก่สังคม และดังที่พูดกันมานานแล้วว่าความรู้คืออำนาจ แล้วนี่เป็นการเมืองหรือไม่? เราอาจยกตัวอย่างได้อีกไม่รู้จบ แต่แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเข้าใจได้

ความ "ไม่การเมือง" คือการกีดกันมิให้ถูกตรวจสอบควบคุมจากประชาชนนั่นเอง แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ตกอยู่ในกับดักของสมมติฐานของชนชั้นนำทางการเมืองของไทยนี้เหมือนกัน แต่ผลซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 40 อาจไม่ได้ตั้งใจก็คือ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้เปิดพื้นที่ "การเมือง" เข้าไปในอีกหลายส่วนที่เคยถูกนิยามว่า "ไม่การเมือง" เช่นคลื่นความถี่, ธุรกิจ, กระบวนการตรวจสอบทางการเมือง (กกต.และ คตง.เป็นต้น), ฯลฯ สังคมไทยได้ตอบสนองต่อพื้นที่ "การเมือง" ที่เปิดขึ้นใหม่นี้อย่างคึกคักพอสมควร และเริ่มเรียนรู้ว่าส่วนที่ "ไม่การเมือง" นั้นที่จริงแล้ว คือส่วนที่สร้างขึ้นเพื่อกีดกันประชาชนออกไปจากอำนาจในการตรวจสอบควบคุมนั่นเอง

ระหว่างความ "ไม่การเมือง" ซึ่งตรวจสอบควบคุมไม่ได้ กับ "การเมือง" ซึ่งอาจเลวร้าย แต่เราตรวจสอบควบคุมได้ เราต้องการอย่างใดกันแน่

ตรงกันข้ามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับขยายพื้นที่ "ไม่การเมือง" เข้าไป แม้ในระบบ "การเมือง" โดยตรง และพยายามปิดพื้นที่ "การเมือง" อื่นๆ ด้วยการนำเอาความ "ไม่การเมือง" ของระบบราชการ, ตุลาการ, จนแม้แต่กองทัพ (ซึ่งทำรัฐประหารมาแล้ว 17 ครั้ง) ฯลฯ เข้ามาปิดกั้นพื้นที่ทาง "การเมือง" เสียจนแทบไม่เหลือ

เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความพยายามจะย้อนยุคก็ไม่ต่างอะไรจากการฝันกลางวัน

3. กำนันผู้ใหญ่บ้าน
ตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านถือกำเนิดในสมัยปฏิรูปการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนับตั้งแต่เกิด ก็อาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างการเป็นคนของรัฐบาล และคนของประชาชนมาตั้งแต่ต้น

รัฐบาลสมัยนั้นมุ่งจะขยายพระราชอำนาจโดยตรงลงไปถึงรากหญ้าในระดับชุมชนหมู่บ้าน (ก่อนหน้านั้นขึ้นไป นายบ้าน, นายแขวง, ล้วนเป็นคนในเครือข่ายของ "เจ้าเมือง") ทั้งเพื่อการควบคุมและการเก็บภาษี-ส่วยบำรุงส่วนกลาง แต่รัฐบาลก็ไม่มีกำลังทรัพย์และกำลังคนเพียงพอจะแต่งตั้งคนของตัวให้ทั่วถึงเช่นนั้นได้ จึงมอบอำนาจให้ข้าหลวงและนายอำเภอ ซึ่งเป็นข้าราชการของส่วนกลางเลือกแต่งตั้งราษฎรที่มีคุณลักษณะจะเป็นตัวแทนอำนาจของรัฐบาลกลางในหมู่บ้านขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน และกำนัน

แต่แม้ข้าหลวง-นายอำเภอในท้องที่เอง ก็หาได้มีความรู้เกี่ยวกับประชาชนในระดับลึกขนาดนั้นไม่ จึงให้ราษฎรเสนอชื่อบุคคลที่ราษฎรพอใจขึ้นมา หากไม่มีอะไรขัดข้องก็มักแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว พูดง่ายๆ ด้วยภาษาปัจจุบันก็คือ ราษฎรเลือกคนที่จะเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันของตัวเสนอแก่ราชการ

ในสายตาของรัฐบาล กำนันผู้ใหญ่บ้านจึงเป็นคนของรัฐบาล (ซึ่งไม่ต้องจ่ายเงินเดือน) นอกจากไม่ควรเป็นคนที่อาจชักนำให้ราษฎรกระด้างกระเดื่องแล้ว ยังมีหน้าที่ใช้อำนาจของรัฐในชุมชนหมู่บ้านแทนรัฐ ซึ่งไม่มีแขนขาจะเอื้อมไปถึง เป็นหูเป็นตาให้รัฐในการควบคุมราษฎร และให้บริการ (อันเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกันกับการควบคุม) บางประการที่รัฐต้องการให้

ในสายตาประชาชน กำนันผู้ใหญ่บ้านคือตัวแทนระหว่างรัฐบาลกลางกับประชาชน ฉะนั้นเกณฑ์การเลือก (ในความจริงคือ ไปอ้อนวอนให้เขาคนนั้นยอมรับตำแหน่ง) กำนันผู้ใหญ่บ้านก็คือ คนที่มีความสามารถจะพูดจาติดต่อกับคนของรัฐบาลได้ เช่น พูด-อ่าน-เขียนภาษาไทยกลางได้ (จึงมักได้แก่คนที่เคยบวชเรียนและได้เรียนในระบบการศึกษาทางศาสนาซึ่งรัฐบาลกลางได้จัดขึ้นก่อน หรือพ่อค้าทางไกล เช่น พ่อค้างัวต่างหรือนายฮ้อย) ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่เชื่อได้ว่า จะไม่ใช้อำนาจที่ได้มาจากรัฐบาลรังแกประชาชน เช่น เป็นที่นับหน้าถือตาอยู่แล้ว หรือเป็นคนดีมีศีลธรรมเป็นที่เคารพ

หน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านในสายตาประชาชน สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือเป็นตัวกลางคอยกรองให้อำนาจของรัฐบาลกลางกระทบต่อชีวิตชาวบ้านน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้. ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ยังถูกราษฎรในชุมชนควบคุมพฤติกรรมได้ แม้กลายเป็นคนของรัฐไปแล้ว ก็เพราะต่างร่วมอยู่ในวิถีชีวิตและวิถีการผลิตเดียวกันกับชาวบ้าน ต้องพึ่งพากันและกันในด้านต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา จึงขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่า ระบบควบคุมกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยราษฎรนั้น แต่เดิมมีมาเองในวิถีการผลิตและวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นกลไกที่มากับระบบปกครอง

กระบวนการรวมศูนย์อำนาจยังดำเนินต่อไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ตราบเท่าที่วิถีการผลิตและวิถีชีวิตในชุมชนหมู่บ้านยังไม่สู้จะเปลี่ยนมากนัก อำนาจของกำนันผู้ใหญ่บ้านก็จะถูกชาวบ้านถ่วงดุลได้ตลอดไป แม้ชาวบ้านเองถูกดึงเข้ามาอยู่ภายใต้รัฐรวมศูนย์มากขึ้น โดยผ่านการศึกษา, การทะเบียนราษฎร์, การสื่อสารคมนาคม, ตลาด ฯลฯ ก็ตาม

นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผลให้วิถีการผลิตและวิถีชีวิตของชุมชนหมู่บ้าน แตกตัวไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ มีลักษณะปัจเจกมากกว่าการร่วมมือกันทำอยู่ทำกินกับธรรมชาติอย่างเดิม สายสัมพันธ์กับราชการและโลกภายนอกซึ่งกำนันผู้ใหญ่บ้านต้องมีตามหน้าที่ กลายเป็น "ทุน" อีกชนิดหนึ่งซึ่งสามารถทำกำไรได้หลายทาง และในทางตรงกันข้าม ตัวเขาก็กลายเป็นศูนย์ใยประสาทสำหรับคนภายนอกจะใช้เป็นเอเย่นต์ติดต่อคนภายใน

ความเป็นตัวแทนของชาวบ้านในการกรองอำนาจจากภายนอกมิให้กระทบชาวบ้านก็หมดไป กลายเป็น "เอเย่นต์" ของราชการเต็มตัวมากขึ้น พร้อมกันไปนั้นก็เป็น "เอเย่นต์" ของพ่อค้าปุ๋ย, นายทุนเงินกู้, บริษัทค้าพืชผลการเกษตร, นายหน้าค้าที่ดิน, นักการเมือง ฯลฯ หรือพลังของทุนนิยมเต็มตัวไปด้วย. ทรรศนะของชาวบ้านต่อกำนันผู้ใหญ่บ้านจึงเปลี่ยนไป ทรรศนะนี้เป็นอย่างไร ดูได้จากหนังไทยในช่วงสองทศวรรษแรกของพุทธศตวรรษที่ 26 ดาวร้ายในวงการหลายคน "เกิด" ได้จากบทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านหนวดโง้ง (แต่มีลูกสาวสวย) ในหนังไทยช่วงนี้นี่เอง

การปฏิวัติ 14 ตุลา ทำให้ความเคลื่อนไหวเพื่อถ่วงดุลอำนาจของกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยประชาชนถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ทุกคนรู้ว่า กลไกทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมไม่ทำงานอีกแล้วเมื่อวิถีการผลิตในหมู่บ้านเปลี่ยนไป หลังจากการต่อสู้ถกเถียงกันในสังคมมาหลายทศวรรษ ในที่สุดก็ลงเอยที่การเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านตามวาระ

แน่นอนว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป เช่น การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่ให้อำนาจประชาชนในการควบคุมกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ดีนัก โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้านไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว การ "พึ่งพา" ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มีลักษณะแลกเปลี่ยนน้อยลง คนที่ต้อง "พึ่งพา" ไม่มีหนทางที่จะชดใช้หนี้บุญคุณได้มากนัก นอกจากการยอมอยู่ในโอวาทอย่างเงยหัวไม่ขึ้น ฉะนั้น การเลือกตั้งจึงมีความหมายเพียงการแข่งขันกันระหว่างผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของหมู่บ้านตำบลเท่านั้น ไม่ใช่การยอมตนมาอยู่ในความกำกับควบคุมของชาวบ้าน

ไม่เฉพาะแต่การเลือกตั้งภายในชุมชนเท่านั้น แต่รวมถึงการเลือกตั้งระดับประเทศด้วย และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคแข่งกันมี "บารมี" เหนือกำนันผู้ใหญ่บ้าน พรรคแรกคือ พรรคการเมืองซึ่งจดทะเบียนไว้กับราชการหรือกับ กกต. อีกพรรคหนึ่งคือ พรรคที่ไม่เคยจดทะเบียนที่ไหน หากมีกำลังในการเมืองไทยค่อนข้างสูงโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง นั่นคือ พรรคราชการ (โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับภาระในการแผ่ "บารมี" เหนือกำนันผู้ใหญ่บ้าน)

"บารมี" เหนือกำนันผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญแก่พรรคราชการมาก แม้พรรคไม่เคยส่งใครสมัครรับเลือกตั้งเลยก็ตาม เพราะทำให้พรรคสามารถกุมคะแนนเสียงในการเลือกตั้งได้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ซ้ำกระจายไปทั่วประเทศเสียด้วย พรรคราชการจึงสามารถนำกำลังส่วนนี้ไปต่อรองกับพรรคการเมืองใดก็ได้ที่ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร กำลังส่วนนี้ของพรรคราชการก็มีความสำคัญในการธำรงอำนาจของคณะรัฐประหาร ปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงขึ้นนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งในระบบเลือกตั้งและระบบรัฐประหารเสมอมา

ก่อนที่ระบบเลือกตั้งจะหวนกลับคืนมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง คณะรัฐมนตรีซึ่งล้วนมาจากพรรคราชการและขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยอำนาจรัฐประหาร ก็ได้ผ่านมติให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน คราวนี้ คณะรัฐมนตรีพรรคราชการกล้าเมินเฉยกับข้ออ้างเกี่ยวกับอำนาจของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา กล่าวคือ ยกให้ราชการเป็นผู้แต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านเด็ดขาดไปเลย ซ้ำแปรเปลี่ยนกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นข้าราชการเต็มตัว ด้วยการให้ดำรงตำแหน่งไปได้ถึงอายุ 60 ปี อำนาจการกำกับควบคุมก็อยู่ในมือของ "มุ้ง" มหาดไทยในพรรค เพราะจะมีการประเมินทุก 5 ปี

ทั้งหมดนี้อาศัยข้ออ้างที่ไร้เดียงสาสองประการ

หนึ่ง คือการเลือกตั้งทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน ในสภาพเศรษฐกิจสังคมของหมู่บ้านอย่างที่เราเผชิญอยู่นี้ ความขัดแย้งย่อมเป็นธรรมชาติ และแสดงออกในหลายเวที นับตั้งแต่การนินทาไปจนถึงลอบทำร้ายกัน การเลือกตั้งก็เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ความขัดแย้งแสดงตัวให้เห็นได้ชัดเท่านั้น การเลือกตั้งไม่ใช่สาเหตุ เป็นอาการ หากเข้าใจแค่นี้ไม่ได้ ก็คือไร้เดียงสานั่นเอง

ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายในตัวของมันเอง ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะสร้างเวทีที่สันติและกติกาที่เป็นธรรมให้แก่ความขัดแย้งอย่างไร จึงจะทำให้สังคมของเราสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความขัดแย้งได้เต็มที่ ด้วยเหตุดังนั้น การแต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านจึงไม่ใช่การระงับความขัดแย้ง แต่เป็นการเปลี่ยนเวทีความขัดแย้งไปสู่พื้นที่ซึ่งราชการเป็นใหญ่เท่านั้น

สอง ข้ออ้างต่อมาคือ การเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านเปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้าไปครอบงำประชาชนระดับรากหญ้า อันที่จริงโดยตัวของมันเองก็ไม่ผิดตรงไหน ฉะนั้น จึงต้องแปลข้ออ้างนี้ให้ตรงกับเจตนา นั่นคือ ระวังพรรคอย่างไทยรักไทย จะเข้าไปดึงเอาคะแนนเสียงประชาชนในชุมชนหมู่บ้านไว้ในมือหมด โดยผ่านการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน จนกระทั่งทำให้ต้องต่อรองกับพรรคราชการน้อยลง

ข้ออ้างนี้จะว่าไร้เดียงสาก็ไม่เชิงนัก น่าจะเรียกว่า "หน้าด้าน" มากกว่า เพราะเท่ากับยอมรับสารภาพว่า ความรวนเรของระบบราชการภายใต้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นั้น มาจากการที่ไม่สามารถคุมคะแนนเสียงในชนบทได้อีกต่อไป แสดงว่าความสามารถเฉพาะด้านและคุณธรรมที่พรรคราชการอ้างเป็นสิทธิธรรมของตนตลอดมานั้น โกหกทั้งเพ

มติอัปยศของคณะรัฐมนตรีที่เพิ่งผ่านออกมาเกี่ยวกับกำนันผู้ใหญ่บ้านนี้ สามารถทำความเข้าใจได้จากหลายมิติ เช่น ความไม่เคารพต่อนโยบายกระจายอำนาจ (ซึ่งอุตส่าห์บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ) หรือการรุกคืบของกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ดังที่มีผู้แสดงความเห็นไว้แล้ว หากทว่าความเข้าใจจากมิติทางการเมืองดังที่เสนอนี้ ก็อาจให้ความเข้าใจได้มากขึ้น

จะเข้าใจจากมิติอะไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะปล่อยให้พรรคราชการตั้งวงล้อมพื้นที่ประชาธิปไตยของสังคมไทยได้ตามใจชอบเช่นนี้หรือ

4. ประสบการณ์ที่สูญเปล่า
ส่วนใหญ่ของผู้ใช้มือถือคือ ผู้ใช้ในระบบบัตรเติมเงิน ฉะนั้นเขาจึงประสบความเดือดร้อนอย่างเดียวกับผมและพรรคพวกบางคนได้ประสบ นั่นคือเมื่อใช้จนหมดเวลาที่กำหนดไว้ในบัตรก็ตาม หรือใช้จนหมดเงินตามบัตรที่เติมลงไปก็ตาม จากนั้นเราทุกคนก็กลายเป็นลูกหนี้ที่ถูกบริษัทรบกวนทุก 5 นาที บ้าง, 10 นาที บ้าง แล้วแต่บริษัท โดยส่งสัญญาณข้อความเข้ามาบอกให้เราเร่งไปซื้อบัตรมาเติมเงินลงไปเสียโดยดี

อันที่จริง หากมีเงินเหลืออยู่แม้จะหมดเวลาโทร.ออกแล้ว เราก็ยังสามารถรับสายจากผู้อื่นได้อยู่ และการที่เราไม่ปิดเครื่องรับเสีย ก็เพราะเราอยากใช้บริการเรียกเข้านี่แหละ แต่เพื่อจะได้ใช้บริการซึ่งบริษัทโทรศัพท์สัญญาว่าจะให้นี้ เราต้องทนกับเสียงเรียกให้ดูข้อความเตือนของบริษัทอยู่ตลอดเวลา

ระบบบัตรเติมเงินนั้นภาษาฝรั่งเรียกว่า pre-paid คือ จ่ายให้ก่อน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ อนุญาตให้บริษัทเอาเงินของเราไปหมุนอย่างไรก็ได้ โดยเรายังไม่ได้ใช้บริการ แต่ลูกค้าหน้าโง่เหล่านี้ กลับต้องเสียค่าบริการต่อการโทร.แพงกว่าผู้ที่เป็นสมาชิก ซึ่งใช้บริการก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลัง (post-paid) อย่างเทียบกันไม่ได้ และร้ายไปกว่านั้นก็คือ บัตรแต่ละใบกำหนดเวลาเอาไว้ไม่มากนัก ยังใช้บริการไม่เท่าไร ก็หมดเวลาที่จะใช้บริการโทร.ออกได้เสียแล้ว และกลายเป็นเหยื่อของการรบกวนทุก 5 นาที จนกว่าเราจะยอมปราชัยไปเอง

ร้ายไปกว่านั้น เดี๋ยวนี้บริษัทโทรศัพท์ยังลดเวลาของบัตรเติมเงินซึ่งมีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก เช่นจาก 30 วัน กลายเป็น 20 วัน เพื่อเรียกเงินของลูกค้าไปหมุนเล่นได้มากขึ้น ในขณะที่หน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องพากันเล่นดนตรีโบราณคือ เป่าสากกันต่อไปอย่างทองไม่รู้ร้อน

ผมเคยได้ข่าวมานานแล้วว่า กรรมการ กทช. ดำริจะไม่อนุญาตให้บริษัทมือถือทำเช่นนี้ แต่อนุญาตให้บริษัทเก็บค่ารักษาหมายเลขได้เป็นรายเดือน แต่แล้วความดำริอันชอบธรรมนี้ก็ไม่มีใครสานต่อ พวกเราจึงต้อง pre-paid กันต่อไปจนเงินโป่งกับบริษัทไม่รู้จะกี่ร้อยกี่พันล้านบาท. ครั้นเหลียวกลับไปดูคณะกรรมการ กทช. ก็ไม่พบใครสักคนที่จะอ้างได้ว่าเป็นตัวแทนผู้บริโภค ต่างล้วนเป็นนักเทคนิคอันยิ่งยงทั้งสิ้น เพราะกฎหมายเขียนให้หาคนประเภทนี้มานั่งเป็นกรรมการเท่านั้น ประหนึ่งว่ามือถือสามารถลอยอยู่บนเทคโนโลยี โดยไม่เกี่ยวอะไรกับผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคเอาเลย

ไม่กี่วันมานี้ ทีวีนำเรื่องของครอบครัวหนึ่งที่ถูกการประปาทวงเงินที่ยังไม่จ่ายพันกว่าบาททุกเดือน คุณลุงหัวหน้าครอบครัวจึงมีหน้าที่เดินทางไปสำนักงานประปา เพื่อแสดงหลักฐานว่าไม่มีหนี้ค้างจ่าย และก็จะได้รับคำขอโทษด้วยวาจาบ้าง ด้วยลายลักษณ์อักษรบ้าง พร้อมทั้งสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้อีก ครั้นสิ้นเดือน ก็จะมีบิลเรียกเก็บหนี้ค้างจ่ายจำนวนเก่ามาทุกครั้ง เป็นเช่นนี้มาเป็นปี. คณะกรรมการการประปา ก็เหมือน กทช. คือไม่มีใครที่จะอ้างได้ว่าเป็นตัวแทนของผู้บริโภคนั่งอยู่ในนั้น

นมสดล่ะครับ มีที่ไหนในโลกที่เขายอมให้เอาหางนมผสมลงไปแล้วยังปล่อยให้เรียกว่านมสดได้อยู่ นมสดต้องเป็นนมที่ได้จากโคโดยไม่ปนเปื้อนด้วยอะไรเท่านั้น หากต้องการลดต้นทุนด้วยการผสมปนเปื้อนกับสารอื่น ก็ต้องเรียกว่านมผสมหรือนมปรุงแต่ง จะเรียกว่านมสดไม่ได้

เครื่องเสียงอีกล่ะครับ สเปคที่ไร้ความหมายระบุไว้ทำไม นอกจากเพื่อหลอกลวงผู้ซื้อ แต่ประเทศไทยไม่เคยกำหนดลงไปให้แน่นอนว่า สเปคเครื่องเสียงจะต้องใช้หน่วยการวัดแบบไหนเท่านั้น. พัดลมที่ทนทานนั้น ดูได้จากอะไรครับ นอกจากถอดออกมาดูคอยล์ข้างใน ซึ่งร้านค้าคงไม่ยอม แต่พัดลมที่ขายในเมืองไทยจำนวนมากนั้น นอกจากช่วยให้เกิดลมแล้วยังช่วยให้เกิดไฟไหม้บ้าน เพราะเปิดนานจนไหม้อยู่เสมอๆ

หันไปดูสินค้าและบริการรอบตัวเราเถิดครับ นับตั้งแต่บ้าน, รถยนต์, ไปจนถึงไม้จิ้มฟัน ล้วนไม่มีมาตรฐานที่ผู้บริโภคสามารถวางใจได้ แล้วแต่จะใช้เทคนิคการตลาดชาติชั่วมั่วนิ่มนานาชนิดหลอกลวงผู้บริโภคกันตามใจชอบทั้งนั้น

พลังของผู้บริโภคที่มีการจัดองค์กรอย่างดี ไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ช่วยคุ้มครองการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคมทั้งหมดด้วย คุณภาพของสินค้าไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยี-โลยุ่ยอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นและเป็นไปได้เพราะความต้องการของตลาดภายในมีมาตรฐานที่สูงด้วย เพราะคนญี่ปุ่นพิถีพิถันกับสินค้าที่ตัวซื้อ จึงทำให้ญี่ปุ่นผลิตสินค้าคุณภาพไปตีตลาดโลกได้ และแม้ในยามที่มีการย้ายฐานการผลิตไปหาแหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำอย่างในปัจจุบัน ตลาดญี่ปุ่นก็ยังเปิดรับสินค้าที่ผลิตอย่างประณีตภายในประเทศของตัวอยู่นั่นเอง

เราไม่อาจพูดถึงการแข่งขันกับจีนหรือเวียดนามท่ามกลางตลาดภายในที่ไร้มาตรฐานได้ จะยกการผลิตไปสู่ฐานความรู้สูงขึ้น มีแต่สภาวิจัยและ สกว.เพียงเท่านี้ย่อมไม่บังเกิดผล เพราะขาดฐานทางสังคมที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตพร้อมจะลงทุนกับการวิจัยมากขึ้น (รวมทั้งลงทุนกับผลของงานวิจัยด้วย) ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงพลังของผู้บริโภคในการรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม, ความเป็นธรรมทางสังคม, และอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจในโลกาภิวัตน์, ธรรมาภิบาล ฯลฯ

มาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดให้บัญญัติกฎหมายขึ้นรองรับการคุ้มครองผู้บริโภค และกำหนดว่ากฎหมายนั้นต้องทำให้เกิดองค์การอิสระขึ้นมาเพื่อมีส่วนร่วมในการตรากฎหมาย และให้ความเห็นในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่นเดียวกับมาตรา 60 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2550

แต่เกือบ 10 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐบาล 4 รัฐบาล ก็ไม่มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นรองรับ อีกทั้งทัศนคติของผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีต่อบทบาทขององค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็อาจจำกัดเกินไป จนทำให้เสียงของผู้บริโภคในการจัดสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ไม่มีเลย จะคิดค่าเอฟทีในค่าไฟฟ้าอย่างไร ผู้บริโภคก็ไม่เกี่ยว โฆษณาเครื่องบินโลว์คอสท์กันอย่างตลบแตลงอย่างไร ผู้บริโภคก็ไม่เกี่ยว โฆษณาบ้าเลือดในทีวี ผู้บริโภคก็ไม่เกี่ยวฯลฯ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 หรือร่างขึ้นใหม่ก็ตาม จำเป็นต้องทบทวนเรื่องสิทธิของผู้บริโภคกันทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงแต่เอามาตรา 57 มาขยายความเท่านั้น

ทบทวนจากอะไรหรือครับ? ก็ทบทวนจากประสบการณ์เกือบ 10 ปี ของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ล่ะสิครับ

เทวดาการรัฐประหารชอบพูดว่า รัฐธรรมนูญไทยดีแต่ลอกฝรั่ง ไม่เหมาะกับสังคมวัฒนธรรมไทย ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้เหมาะกับสังคมไทย ขอประทานโทษเถิดครับ ผมอยากถามว่าแล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าสังคมและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างไร ถ้าคุณไม่ศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของสังคม

ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นั่นแหละครับที่เขียนขึ้นจากตำราและการนึกเอาเองโดยแท้ เพราะไม่สนใจจะศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์จริงของสังคมไทยที่ผ่านมาในรอบทศวรรษภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 เลย กรณีสิทธิของผู้บริโภคดังที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างชัดเจน พวกเทวดาเหล่านี้ไม่เคยถามว่า สิทธิของผู้บริโภคที่บัญญัติไว้เดิมนั้นทำงานได้ผลหรือไม่? ไม่ได้ผลอย่างไร และจะทำให้เกิดผลที่เป็นจริงขึ้นได้อย่างไร

ไม่เฉพาะแต่เรื่องของสิทธิผู้บริโภคอย่างเดียวนะครับ ประสบการณ์จริงของสังคมไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาสูญเปล่าหมด เพราะเหล่าเทวดาพากันย่นย่อประสบการณ์ทั้งหมดให้เหลือเพียงปัญหาทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น แม้แต่ย่นย่ออย่างนั้น ก็ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ปัญหาทางการเมืองของทักษิณจริงจังมากไปกว่ากีดกันมิให้ทักษิณหรือสมุนกลับมามีอำนาจอีกเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่ได้เชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ผมไม่ทราบว่าเทวดาเหล่านี้เคยสำเหนียกบ้างไหมว่า ภายใต้บัญญัติที่ประกันสิทธิเสรีภาพไว้อย่างมั่นคงพอสมควรในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น มีคนสองพันกว่าคนถูก "ฆ่าตัดตอน" โดยไม่มีใครสักคนต้องรับผิดหรือแสดงหลักฐานความชอบธรรมที่ไปวิสามัญฆาตกรรมเขา (accountability) มีคนอีกเป็นร้อยที่ถูกสังหารในเหตุการณ์ 28 เมษายน รวมทั้งการสังหารหมู่ที่กรือเซะ มีคนอีกเป็นร้อยถูกฆาตกรรมในเหตุการณ์ตากใบ มีคนอีกเป็นร้อยในภาคใต้และกรุงเทพฯ ที่ถูกอุ้มหายไป ฯลฯ ยังไม่นับการละเมิดสิทธิเสรีภาพอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้เกิดภายใต้ "ระบอบทักษิณ" และไม่มีใครต้องรับผิดเหมือนกัน

อะไรทำให้เกิดขึ้นได้ และจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้อีก จะตอบปัญหานี้ได้ก็คือ นำเอาประสบการณ์ของสังคมไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 มาศึกษาเรียนรู้จากผู้คนที่เดินดินกินข้าวแกง อันเป็นสิ่งที่เทพชุมนุมในสภาร่างไม่สามารถบรรลุญาณขึ้นได้เอง

เมื่อไรก็ตาม ที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งด้วยอำนาจดิบ เมื่อนั้นประสบการณ์อันทรงคุณค่าของสังคมก็มักถูกฉีกทิ้งไปพร้อมกัน

5. มรดกของไทยรักไทย
อย่างน้อย จากภาพภายนอก พรรคไทยรักไทย ก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในระบอบ "เลือกตั้งธิปไตย" ของไทยมาก่อน พรรคประสบความสำเร็จในการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยปรากฏกับพรรคการเมืองใด แม้มีการรัฐประหารที่มุ่งจะกวาดล้างอิทธิพลของพรรคลง ประชาชนที่สนับสนุนพรรคก็ยังสนับสนุนอยู่ จนแม้แต่เมื่อพรรคถูกยุบ ก็ยังมีประชาชนอีกมากที่ยังคงสนับสนุนพรรค ส.ส.เก่าถึงกว่า 200 คนยังไม่ได้ลาออกจากพรรคจนถึงวันสุดท้าย

แม้ไม่อาจนับประชาชนเหล่านี้ว่าเป็นฐานมวลชนของพรรคไทยรักไทยได้ เพราะพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของพรรค และแม้ว่าจำนวนของผู้ภักดีต่อพรรคเหล่านี้อาจมีไม่มากเท่ากับตัวเลขของสมาชิกพรรคที่แจ้งต่อ กกต. แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดที่ได้รับความภักดีจากประชาชนเท่ากับพรรคไทยรักไทยมาก่อน

อวสานของพรรคไทยรักไทย ด้วยคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ ด้วยหลักนิติธรรมหรือไม่ก็ตาม น่าจะทำให้อารมณ์ของสังคมสงบลงพอที่จะหันมาพิจารณามรดกทางการเมืองของไทยรักไทยอย่างเป็นกลางมากขึ้น

(1) การเมืองแบบเลือกตั้งที่ผ่านมาก่อนไทยรักไทย คือการรวมอิทธิพลท้องถิ่นไว้ในพรรคให้มากที่สุด เพื่อพรรคจะได้ที่นั่งในสูงสุด เปิดโอกาสให้พรรคเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล หรือได้ร่วมรัฐบาลด้วยพลังต่อรองที่ทำให้ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ พรรคไทยรักไทยทำอย่างเดียวกัน และทำได้ดีกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย เพราะพรรคมีทุนหนามาก เนื่องจากรวบรวมนายทุนที่เหลือรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ไว้ได้มากที่สุด และเพราะหัวหน้าพรรคมีทุนหนามาก

ฉะนั้น ไทยรักไทยจึงไม่ใช่พรรคการเมืองที่เป็นน้ำเนื้อเดียวกัน หากเป็นการรวม "มุ้ง" การเมืองที่กว้างใหญ่ไพศาลที่สุด และคงเป็นเช่นนี้จนถึงนาทีสุดท้าย ฉะนั้น ในแง่นี้ ไทยรักไทยจึงไม่ได้ทำอะไรใหม่ทางการเมือง เพียงแต่ขยายสิ่งที่พรรคการเมืองไทยทำอยู่แล้ว ให้กว้างใหญ่ไพศาลอย่างไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนเท่านั้น

สิ่งใหม่ที่ไทยรักไทยทำขึ้นทางการเมืองก็คือ การเข้าไปอุปถัมภ์คะแนนเสียงในชนบทโดยตรง ด้วยนโยบายที่เรียกว่าประชานิยมต่างๆ โดยไม่ผ่านหัวคะแนน หรือดึงเอาหัวคะแนนมาภักดีต่อพรรค เพราะได้ผลประโยชน์จากการเป็นผู้จัดการงบประมาณของนโยบายประชานิยมในท้องถิ่น (เช่นกองทุนหมู่บ้าน) และโดยวิธีเช่นนี้ ไทยรักไทยจึงได้ความภักดีจากประชาชนโดยตรงอย่างกว้างขวาง เป็นแรงบีบอย่างหนึ่งสำหรับการควบรวมพรรคการเมืองอื่น

การที่นายกฯทักษิณสามารถทำอย่างนี้ได้ ก็ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญ 2540 ให้อำนาจนายกฯไว้อย่างสูง เหนือ "มุ้ง" ต่างๆ ในพรรคหรือพรรคร่วม ในขณะที่บุคลิกภาพของคุณทักษิณ ชินวัตร เองที่สามารถดึงความนิยมของประชาชนไทยได้สูง (รวมทั้งมีทุนทางการเมืองสูง - เงิน, สื่อ, ความชำนัญการด้านการตลาด, ผนึกทุนใหญ่ได้มาก ฯลฯ) โดยทำให้การริเริ่มเชิงนโยบายทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่ตัวคุณทักษิณเพียงคนเดียว

ไทยรักไทยได้ทิ้งมรดกในแง่นี้ไว้ให้แก่การเมืองไทยหรือไม่? ปราศจากโอกาสอย่างที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้วางไว้ให้ และปราศจากบุคลิกภาพเช่นนั้น มรดกในแง่นี้ยังไม่น่าจะเกิดผลอะไรในการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่น่าจะได้บทเรียนจากมรดกแง่นี้ของไทยรักไทย น่าจะเป็นกลุ่มทุน หากทุ่มเทการสนับสนุนไปที่พรรคใดพรรคหนึ่งเพียงพรรคเดียว แทนที่จะกระจายการสนับสนุนแบบกันเหนียวไปยังหลายพรรคอย่างเคย อาจได้ "กำไร" สูงกว่า

(2) หากใช้แนวอธิบายของ Fareed Zakaria มรดกอย่างที่สองของไทยรักไทย คือการเป็นประชาธิปไตยโดยไม่มีเสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นแนวทางทางการเมืองที่ Zakaria เห็นว่ามีอันตรายมาก (และหลายครั้งอันตรายต่อประชาชนเสียยิ่งกว่าเผด็จการที่มีความมั่นคงเสียอีก - พูดภาษาไทยก็คืออันตรายกว่าเผด็จการสฤษดิ์ - ถนอม - ประภาส) โดยอาศัยความชอบธรรมจากคะแนนเสียง 16 ล้านบ้าง 19 ล้านบ้าง พรรคไทยรักไทยเผด็จอำนาจเด็ดขาดที่ไม่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล ไม่ว่าจากสถาบันทางการเมืองอื่น หรือจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และภายใต้อุดมการณ์ "ชาติ" รัฐบาลพรรคไทยรักไทย อาจล่วงละเมิดหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดได้ทุกเรื่อง

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่เน้นรัฐ-นิยม (statism) ไม่ใช่สิ่งที่ไทยรักไทยริเริ่มขึ้นใหม่ในประเทศไทย แท้จริงแล้วอุดมการณ์รัฐ-นิยม ครอบงำสังคมไทยมาตั้งแต่สำนึก "ชาติ" เริ่มถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นสูงในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสืบเนื่องอยู่ในระบบการศึกษาและระบอบปกครองทุกชนิดในประเทศไทยสืบมา พัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศไทยดำเนินไปโดยไม่มีการพัฒนาสำนึกเสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง

คณะรัฐประหารทุกคณะสัญญาว่าจะมอบ "ประชาธิปไตย" ให้แก่สังคม ซึ่งก็ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ, การเลือกตั้ง, การแยกอำนาจอธิปไตย, ฯลฯ แต่ก็กระทำภายใต้การระงับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในนามของความมั่นคงแห่งรัฐ

มิติใหม่ทางการเมืองที่ไทยรักไทย สร้างขึ้นก็คือ การแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองจากการเลือกตั้ง และยึดเกาะกับประชาธิปไตย โดยไม่เคารพต่อเสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญ กลับจะทำให้พรรคการเมืองมีอำนาจเหนือกองทัพเสียอีก และสามารถดำรงอยู่เช่นนั้นได้ถึง 6 ปี จนกระทั่งพันธมิตรของกลุ่มพลังต่างๆ รวมตัวกัน (ทั้งในที่ลับและแจ้ง) ต่อต้านไทยรักไทยได้สำเร็จ กองทัพจึงประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจจากรัฐบาล ไทยรักไทย

นี่เป็นอีกมรดกหนึ่งของไทยรักไทย แต่ไม่ใช่มรดกสำเร็จรูป หากเป็นมรดกที่พรรคการเมืองพลเรือนต้องเรียนรู้ และปรับใช้ในอนาคต เพื่อทำให้อำนาจที่ตัวได้มาจากระบอบประชาธิปไตยที่ไร้เสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ถูกคุกคามจากกองทัพอีกต่อไป

(3) นโยบายให้สวัสดิการสังคมแก่ประชาชนระดับล่างนั้น นอกจากช่วยดึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นแล้ว ก็ยังช่วยประกันความสงบเรียบร้อยของสังคมให้แก่ทุนด้วย (เช่นประกันว่า การยึดที่ดินของเศรษฐีซึ่งจับจองไว้เก็งกำไรจะทำไม่ได้ตลอดไป) นโยบายนี้ต้องใช้คู่ขนานกันไปกับการใช้กำลังปราบปรามประชาชนผู้คัดค้านต่อต้าน เพราะนโยบายนี้ไม่ได้ต้องการให้พลังอำนาจ (empower) ประชาชน ต้องการเพียงความภักดีต่อยี่ห้อของสินค้าเท่านั้น

พรรคไทยรักไทย ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากนโยบายนี้ มีผู้ภักดีต่อยี่ห้อไทยรักไทยท่วมท้นและกว้างขวาง แต่ไม่มีใครได้พลังอำนาจเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นที่จะใช้เสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญมาคานอำนาจประชาธิปไตย (16 ล้านเสียง, 19 ล้านเสียง) ของพรรคได้

มรดกในแง่นี้ของ ทรท.คงเกิดผลในการเมืองไทยในอนาคตอย่างแน่นอน ในแง่หนึ่งประชานิยมช่วยลดความเจ็บปวดจากความเหลื่อมล้ำซึ่งมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยได้ และในอีกแง่หนึ่งก็ประกันคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งและอิสรภาพของพรรคจากเครือข่ายหัวคะแนนของเจ้าพ่อ ปัญหาก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งกำลังจะกลายเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐไป จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลงได้หรือไม่? (จนถึงนาทีที่เขียนบทความนี้ ผู้เขียนเห็นว่าไม่) และ "เศรษฐกิจพอเพียง" จะช่วยประกันความภักดีของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้มากน้อยเพียงไร

เมื่อพิจารณาจากคำถามสองข้อนี้แล้ว ก็น่าเป็นไปได้มากกว่าว่าพรรคการเมืองที่จะลงสนามเลือกตั้ง จะยังคงรักษานโยบายสวัสดิการสังคมไว้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าอีกด้านหนึ่งต้องยกย่องเชิดชู "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้ประจักษ์ไปพร้อมกันก็ตาม แต่ที่แน่นอนก็คือจะไม่มีพรรคการเมืองใดแปรเปลี่ยนนโยบายสวัสดิการทางสังคมไปสู่การให้พลังอำนาจ (empower) ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวไว้ด้วยว่า นโยบายเสริมสวัสดิการทางสังคมนั้นไม่อาจทำได้สะดวกนัก หากไม่มีอิสรภาพทางการคลังเพียงพอ เช่นภายใต้พันธนาการของไอเอ็มเอฟย่อมทำไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับทุนด้วย เพราะทุนย่อมต้องการให้ใช้งบประมาณไปในทางที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่การแข่งขันของตนมากกว่า หากพยายามตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายให้ได้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต้องเฟื่องฟูกว่านี้ มิฉะนั้น ก็จะถูกโจมตีว่าใช้เงินมือเติบจนทำให้เกิดหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนสูงเกินไป

มรดกของไทยรักไทย จะมีผลอย่างไรต่อการเมืองไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ อีกหลายอย่าง ฉะนั้น จึงพูดถึงแบบฟันธงได้ยาก แต่ปฏิเสธได้ยากว่าพรรคไทยรักไทยเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีส่วนไม่ซ้ำรอยเดิมอยู่ด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทิ้งมรดกบางอย่างให้แก่การเมืองไทยในอนาคต

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com