โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 08 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๔๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 08, 05,.2007)
R

ผลของการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ และจับตาสถานการณ์ภาคใต้
ข้อเสนอคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับขุนนาง และนโยบายชายแดนใต้
รวบรวมบทความ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้ เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย
๑. รัฐธรรมนูญเผด็จการซึ่งจะนำไปสู่การนองเลือด
๒. เศรษฐกิจพอเพียงจริงเร้อ
๓. นโยบายภาคใต้

เรื่องแรกเป็นผลจากการวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ที่กำลังจะทำประชามติ
โดยสาระแล้วเป็นการซ่อนการกำกับนักการเมืองและประชาชนของฝ่ายทหาร โดยแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังอำนาจฝ่ายตุลาการ
พูดให้ถูกต้องก็คือการผลักให้ตุลาการไปสู่ความตกต่ำ และไม่ดำรงความเป็นกลางอีกต่อไป
เมื่อต้องเข้ามาพัวพันกับการเมืองในระบอบขุนนางธิปไตย
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นการวิจารณ์เกี่ยวกับความสับสนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องสุดท้าย
เป็นผลมาจากการจับตาสถานการณ์ภาคใต้ในรอบ ๔ ปีที่ผ่านมา
หนทางแก้ปัญหาก็คือการให้ความยุติธรรมที่ต้องตีความให้กว้างกว่ากฎหมาย
เพื่อช่วงชิงประชาชนกลับมาให้อยู่ในรัฐที่ปลอดภัย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๔๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ผลของการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ และจับตาสถานการณ์ภาคใต้
ข้อเสนอคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับขุนนาง และนโยบายชายแดนใต้

รวบรวมบทความ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
โดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


1. รัฐธรรมนูญเผด็จการซึ่งจะนำไปสู่การนองเลือด
เพราะพัฒนาการทางการเมืองของภาคสังคมไทยมากว่าสองทศวรรษ รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการจึงไม่อาจปฏิเสธสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญปี 40 ได้เปิดไว้ให้ได้ ซ้ำยังสามารถใช้เป็น"จุดขาย"ในการเรียกคะแนนเสียงสนับสนุนในการทำประชามติภายหน้าด้วย. แต่รัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับนี้ไม่ไว้วางใจและรังเกียจนักการเมืองยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 จำต้องยอมให้มี"การเมืองของนักการเมือง"เพียงเพื่อให้พอรับได้แก่มหาอำนาจตะวันตกเท่านั้น ยิ่งนักการเมืองในปัจจุบันสามารถสร้าง"ความภักดี"ในหมู่ประชาชนได้หนาแน่นในระดับหนึ่ง ยิ่งเป็นที่น่ารังเกียจและหวาดหวั่นมากขึ้น

รัฐธรรมนูญปี 40 แก้ปัญหาความรังเกียจนักการเมืองด้วยสองแนวทาง

หนึ่ง. คือยกอำนาจการควบคุมให้พรรคการเมือง พร้อมกันนั้นก็สร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลของภาคสังคมให้เข้มแข็งขึ้น ด้วยการทำการตรวจสอบให้เป็นสถาบัน ได้แก่องค์กรอิสระทั้งหลาย ข้อที่น่าสังเกตก็คือ รัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ได้คิดว่าภาคสังคมคือ"ราชการ" แม้ว่าคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการอิสระบางตำแหน่งอาจมาจากราชการ แต่ที่ถูกระบุไว้ให้ทำหน้าที่นี้ก็เพราะเป็นราชการที่ไม่ "ราชการ" เช่นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นต้น ถ้าวิเคราะห์จากสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลตรงนี้คือ ให้อำนาจแก่คนชั้นกลางระดับกลางและล่างนั่นเอง

สอง. แนวทางที่สองคือการเปิดการเมือง"ภาคประชาชน"ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคลื่นความถี่, การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย, ถอดถอน, ประชาพิจารณ์, สิทธิชุมชน ฯลฯ

อย่างน้อย รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งรังเกียจนักการเมืองเช่นกัน แต่ก็ไว้วางใจประชาชน จึงเสริมอำนาจประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลย์นักการเมือง. แต่รัฐธรรมนูญเผด็จการรังเกียจไม่ไว้วางใจทั้งนักการเมืองและประชาชน จึงออกแบบให้การควบคุมนักการเมืองและการเมืองของนักการเมืองอยู่ในมือของระบบราชการ ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 34 และก่อนหน้านั้น

กำลังหลักที่เป็นหัวหอกของระบบราชการคือกองทัพ แต่การเมืองที่มีกองทัพกำกับอย่างโจ่งแจ้งเป็นไปไม่ได้อีกแล้วทั้งในประเทศไทยและในโลก ฉะนั้นรัฐธรรมนูญเผด็จการจึงยกกลไกการกำกับให้แก่ฝ่ายตุลาการ เพราะตุลาการนั่นแหละคือผู้เลือกสรรองค์กรอิสระ และตัดสินชะตากรรมของนักการเมืองในหลายกรณี อีกทั้งประธานของคณะกรรมการอิสระ ซึ่งก็เลือกสรรโดยฝ่ายตุลาการจะเข้าไปตัดสินประเด็นทางการเมืองอีกหลายเรื่อง รวมทั้งยามที่เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นด้วย (ไม่ว่าจะแปลว่าอะไร)

ในการเลือกสรรบุคคล ถามว่าคนที่ตุลาการเลือกจะเป็นใครไปได้นอกจาก"ผู้ใหญ่"ในระบบราชการ ในปัจจุบันหรืออดีตก็ตาม ทั้งนี้ยังไม่นับข้าราชการซึ่งเข้าไปเป็นกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกตามตำแหน่งโดยตรง. สรุปก็คือรัฐธรรมนูญเผด็จการกำลังนำประเทศกลับไปสู่ระบอบอมาตยาธิปไตย ซึ่งครอบงำสังคมไทยมาจนถึงต้นทศวรรษ 2530
(ส่วนหนึ่งของข้อความข้างต้นนำมาจากคำอภิปรายของคุณไพโรจน์ พลเพชร ในการสัมมนาของสมัชชาคนจนเรื่อง
"รัฐธรรมนูญที่กินได้และเห็นหัวคนจน" ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2550)

กองทัพจะอยู่ที่ไหนในรัฐธรรมนูญเผด็จการ หลักประกันที่มั่นคงที่สุดว่าระบบราชการจะสามารถคุมการเมืองไทยได้ตลอดไปอยู่ที่กองทัพ แม้ไม่สามารถนำเอากองทัพมาออกหน้าในรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็ซ่อนไว้อย่างแนบเนียนในบทเฉพาะกาล นั่นคือการให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารชั่วนิรันดร แปลว่าเมื่อใดก็ตามที่การเมืองไทยผันแปรไปจนกระทบต่ออำนาจยึดกุมของระบบราชการ เมื่อนั้นกองทัพย่อมมีความชอบธรรมที่จะก่อรัฐประหารใหม่ และสถาปนาอำนาจของระบบราชการกลับคืนมาใหม่ได้เสมอไป…

ในสัมพันธภาพทางการเมืองของทุกส่วนของสังคม มีเส้นขีดไว้โดยไม่ต้องพูดว่า อย่าล้ำเกินนี้ เพราะกองทัพจะไม่อยู่เฉยเมื่อ"ชาติและราชบัลลังก์ถูกคุกคาม" โดยกองทัพจะเป็นผู้ตีความเองแต่ผู้เดียวว่า "ชาติและราชบัลลังก์"ถูกคุกคามเมื่อไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร? เหนือระบบราชการซึ่งคุมการเมืองผ่านตุลาการ ยังมีเงาทะมึนของกองทัพทาบทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง

ส.ส.ร.ซึ่งกองทัพเลือกสรรมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าถึงจินตนาการทางการเมืองที่"สงบเรียบร้อย"ของทหารได้ถึงแก่น อาจเป็นเพราะพวกเขาเองก็มีจินตนาการอันเดียวกันนี้อยู่แล้ว จึงเป็นเหตุให้เขาถูกเลือกมารับใช้ได้อย่างลงตัว

แม้การรับใช้อาจจะลงตัว แต่ตัวจินตนาการไม่ลงตัวกับสังคมไทยเสียแล้ว ความเข้มแข็งของภาคประชาชนทำให้ไม่อาจสยบลงได้ด้วยการตราสิทธิเสรีภาพของบุคคลไว้ในรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น ประชาชนมีศักยภาพในการตรวจสอบไม่เฉพาะแต่นักการเมืองและข้าราชการ แต่รวมถึงการตรวจสอบนโยบายด้วย และตรงนี้แหละที่ระบบราชการไม่สามารถวางนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มได้อีกต่อไป การชุมนุมประท้วง, การยื่นถอดถอน, ตลอดจนความสิ้นศรัทธาต่อองค์กรอิสระทั้งหลายภายใต้อิทธิพลของตุลาการ จะทำให้การเมืองท้องถนนกลายเป็นกระแสหลักของการเมืองไทย แทนรัฐสภาภายใต้การกำกับของระบบราชการ

ไม่ตรงกันเลยกับจินตภาพการเมืองที่"สงบเรียบร้อย"ของทหาร และนี่แหละที่อาจตีความได้ว่าเป็นภัยคุกคาม"ชาติและราชบัลลังก์" กองทัพซึ่งไม่มีทางที่จะกลับไปเป็นองค์กรใต้การนำที่เป็นเอกภาพอย่างสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้อีกแล้ว ก็จะขับเคลื่อนเข้ามาโดยทหาร"มุ้ง"หนึ่ง โอกาสที่"มุ้ง"อื่นไม่ยอมย่อมมีเป็นธรรมดา ย่อมขับเคลื่อนออกมาต่อต้านในนามของ"ชาติและราชบัลลังก์"เหมือนกัน เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการกำหนดไว้ให้เกิดการนองเลือด

ถึงแม้"มุ้ง"ต่างๆ ของกองทัพสามารถประนีประนอมผลประโยชน์กันได้ ก็ใช่ว่าการทำรัฐประหารจะได้รับการต้อนรับ แม้แต่จากคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งมีศักยภาพที่จะร่วมผลักดันการวางนโยบายของระบบราชการอยู่เหมือนกัน ถึงตอนนั้น ไม่มีฝ่ายใดไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือฝ่ายประชาชนผู้ต่อต้านการรัฐประหารจะเหลือทางเลือกอะไรอื่นอีก นอกจากต้องปะทะกัน และไม่ว่าฝ่ายใดจะประสบชัยชนะ ก็เป็นเงื่อนไขของการนองเลือดอีกอย่างหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญเผด็จการได้วางไว้ให้

ทางออกของฝ่ายประชาชนในขณะนี้ จึงเหลืออยู่ทางเดียว คือคว่ำรัฐธรรมนูญเผด็จการลงให้ได้ในการทำประชามติ

ดูเหมือนเป็นทางออกที่เสี่ยงอันตราย และเสี่ยงต่อการนองเลือด ซึ่งต้องยอมรับว่าจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่า เมื่อเสี่ยงต่อการนองเลือด ก็เท่ากับยอมรับว่ามีโอกาสของการไม่นองเลือดเหลืออยู่ด้วย ฉะนั้น อย่างน้อยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าเลือกกว่ามุ่งตรงไปยังรัฐธรรมนูญที่มีสัญญาการนองเลือดมาแต่ต้น

ผู้ที่เข้าไปรับใช้กองทัพร่างรัฐธรรมนูญบางท่านกล่าวว่า ขอให้รับรองรัฐธรรมนูญเผด็จการนี้ไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ไขเอาหลังเลือกตั้ง แต่ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกสรรของระบบราชการมีส่วนในการลงคะแนนเสียง อีกทั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคการเมืองและนักการเมืองย่อมอ่อนแอเกินกว่าจะกล้าขัดแย้งกับระบบราชการได้ หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญเผด็จการวางเอาไว้ ที่จะผ่านออกไปได้ก็มีแต่ส่วนที่จะยิ่งเพิ่มอำนาจของอมาตยาธิปไตยให้เข้มข้นขึ้นเท่านั้น

ในบรรดาผู้รับใช้เหล่านี้ บางท่านกล่าวเชิงขู่ว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็จะได้มาแต่รัฐธรรมนูญทหาร ซึ่งก็จริงแน่อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะคณะรัฐประหารวางเงื่อนไขไว้อย่างนั้น แต่จะไม่มีรัฐธรรมนูญอะไรที่เลวไปกว่านี้อีกแล้ว ทหารไม่มีกึ๋นที่จะนำเอารัฐธรรมนูญปี 34 กลับมาใช้ใหม่หรอก ทางออกของคณะรัฐประหารมีเหลืออยู่ทางเดียวคือนำเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาวางเงื่อนไขให้เป็นไปตามฉบับร่างที่ถูกคว่ำเท่านั้น ซึ่งก็คือเลวเท่ากับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ เพียงแต่อยู่ภายใต้ฉายาของรัฐธรรมนูญ 40 เท่านั้น

ฉะนั้นถ้าสังคมไทยตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ แล้วกลับไปนิ่งเฉย โดยไม่เคลื่อนไหวกดดันอะไรเลย รัฐธรรมนูญที่ทหารยื่นให้ก็คือฉบับที่เราไม่รับในเชิงเนื้อหานั่นแหละ รัฐธรรมนูญที่ถือกันว่าดีที่สุดคือปี 40 นั้นที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจาก สสร.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาล้วนๆ ตลอดเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญจนถึงผ่านรัฐสภา มีการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่จำกัดการเข้าถึง

รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ไม่อาจเกิดขึ้นจากผู้รับใช้ หรือเทวดาที่ได้รับเลือกตั้งมา แต่ต้องมาจากการเคลื่อนไหวของพลเมืองที่จะกำกับให้การร่างเป็นไปตามความประสงค์ของตน รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นภายใต้บรรยากาศของการจำกัดสิทธิทางการเมืองของคณะรัฐประหาร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีได้

ฉะนั้น หากรู้เท่าทันและตัดสินใจคว่ำรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวกดดันทางการเมือง เพื่อให้บังเกิดรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดอีกฉบับหนึ่งให้ได้ อย่ายอมให้กองทัพชี้นิ้วสั่งตามใจชอบอีกต่อไป ถึงอย่างไรประชาชนก็ไม่ใช่ผู้รับใช้ของใคร

2. เศรษฐกิจพอเพียงจริงเร้อ
รัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นมาตรา 82 บัญญัติว่า "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

รัฐมนตรีคลังที่เพิ่งออกไปไม่นานบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ปรัชญา แต่ ส.ส.ร.บอกว่าใช่ แสดงว่ายังไม่ค่อยกระจ่างกันนักว่าเศรษฐกิจพอเพียง ที่รัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนนั้นคืออะไรกันแน่ และแม้แต่ไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่เช่นนี้ ส.ส.ร.ก็ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว. ฉะนั้นวันหนึ่งในอนาคต คงมีกลุ่มพันธมิตรอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจออกมาประท้วงรัฐบาลว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง ถึงตอนนั้นก็เกิดวิกฤตทางการเมืองซึ่งต้องใช้วิธีนอกรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหาอีกตามเคย

ในมาตราถัดมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเลียนรัฐธรรมนูญฉบับอื่นว่า รัฐต้อง "สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด". บางคนกล่าวว่าเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดนั้น ไม่ได้ขัดแย้งกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่บางคนก็กล่าวว่าไปกันไม่ได้ในทุกเรื่อง

ผมเห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย เพราะไม่แต่เพียงเศรษฐกิจพอเพียงที่ความหมายไม่ชัดเจน เศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดก็ไม่ได้ชัดเจนไปกว่ากัน กลไกตลาดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมได้ ฉะนั้นอย่างไรเสียก็ต้องมีกลไกอื่นเข้ามาแทรกแซงตลาดในบางเรื่องอยู่เสมอ เช่นจะโยนสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน เช่นการรักษาพยาบาล, พลังงาน, น้ำ, ที่ดิน, การศึกษา ฯลฯ เข้าสู่ตลาดจนสิ้นเชิงย่อมไม่ได้ แต่จะแทรกแซงแค่ไหน และอย่างไร ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงานเลย หรือให้ทำงานแต่ไม่เสรี ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องเจรจาต่อรองกัน

เศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดขัดแย้งกับเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ ไม่ขัดแย้งก็ได้. ขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้งจึงเป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่เรื่องของรัฐธรรมนูญ และตรงนี้เองที่ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมือง แท้จริงแล้วไม่เฉพาะแต่การเมือง ยังเกี่ยวไปถึงวัฒนธรรมและสังคมอีกด้วย

เที่ยวตราโน่นตรานี่ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกันของสิ่งที่ถูกตราเอาไว้กับส่วนอื่นๆ ระหว่างกันและกัน จึงสมประโยชน์แต่เพียงได้เอาใจฝ่ายที่ควรได้รับการเอาใจเท่านั้น แต่ไม่เกิดผลจริงจังขึ้นในทางปฏิบัติไปได้หรอกครับ

ผมนึกถึงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง จนกระทั่งกระทบต่อการผลิตและภาคบริการอย่างหนัก รัฐมนตรีคลังให้สัมภาษณ์ว่า จะพยายามอัดฉีดเงินลงไประดับล่าง เพื่อทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบให้กลับมามีพลังขึ้นใหม่ อันนี้จะเป็นการแก้ที่ตรงจุดหรือไม่ ยกไว้ก่อน แต่ที่ผมออกจะสงสัยก็คือ การที่ผู้คนมองเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต จึงพยายามควบคุมการบริโภคของตนเช่นนี้ นับเป็นอุดมการณ์ของเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เพราะชีวิตขาดความแน่นอน เศรษฐกิจพอเพียงจึงกระตุ้นให้ทุกคนสร้าง "ตาข่ายความปลอดภัย" ให้แก่ตนเองก็น่าจะถูกแล้วไม่ใช่หรือครับ และก็น่าจะถือว่าเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่สังคมไทยมีอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง

ในหลายสังคม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจหรือการเมืองไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การชะลอการบริโภคเสมอไป ในบางสังคม การบริโภคเสียอีกที่เข้ามาทดแทนความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิต และลงคนเราอยากบริโภคเสียอย่างเดียว ไม่ต้องห่วง ธุรกิจมีหนทางให้เข้าถึงสินค้าและบริการที่อยากบริโภคได้เสมอ ผ่านบัตรเครดิต, สินเชื่อ, เงินผ่อน, ฯลฯ ฉะนั้น หากรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง รัฐควรหาทางเพิ่มพลังทางวัฒนธรรมตรงนี้ หรือควรทำลายมันด้วยการกระตุ้นบริโภคนิยมให้แรงขึ้น หรือหาทางที่จะใช้พลังของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีอยู่ในสังคมไทยให้เกิดพลังของตลาดขึ้นใหม่

รัฐจะทำอะไรไม่ค่อยจะขึ้นกับรัฐธรรมนูญเท่ากับว่า ใครเสียงดังกว่ากัน ระหว่างสภาหอการค้าไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ กับนักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งกระจายอยู่ในหมู่ชาวบ้าน, ปัญญาชน, และสื่อ นั่นก็คือสองฝ่าย (หรือ สาม สี่ ห้า หก เจ็ดฝ่าย) มีอำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ นโยบายของรัฐจะออกมาอย่างประนีประนอมกับทุกฝ่าย หรือออกมาแบบเอียงกระเท่เร่ เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมืองหรือกระบวนการต่อรองที่เป็นธรรม

อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจไม่ได้ขึ้นกับเศรษฐกิจด้านเดียว แต่เป็นอำนาจรอบด้าน อย่างที่ท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เคยชี้ไว้ กล่าวคือต้องมีอำนาจต่อรองทางการเมือง, ทางวัฒนธรรม, และทางสังคมอยู่ด้วย และในทางกลับกันอำนาจต่อรองทางการเมือง ก็มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงอยู่ด้วยเหมือนกัน

เศรษฐกิจพอเพียง (ไม่ว่าจะแปลว่าอะไร) จะเข้าไปในระบบการศึกษาอย่างไร ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไร ในองค์กรทางธุรกิจอย่างไร หรือเข้าไปในการจัดการทางวัฒนธรรมอย่างไร? ในสภาพความเป็นจริง กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจพอเพียงมีอำนาจต่อรอง เพียงพอจะคานกับกลุ่มอื่นๆ ในเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดหรือไม่

และอย่างที่กล่าวข้างต้น ไม่ใช่ต่อรองเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่จะสอนให้ลูกหลานมีทักษะอาชีพและทักษะชีวิตที่จะสืบต่อเศรษฐกิจพอเพียงได้หรือไม่ จะจัดการรวมกลุ่มเพื่อเป็นทางเลือกของการทำธุรกิจ, การสาธารณสุข, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, หรือแม้แต่การทหาร ได้อย่างไร? เพราะคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันคือกลุ่มคนไร้อำนาจ

ผมทราบว่า มีผู้นิยามเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นปรัชญาที่สามารถเอาไปใช้ในเศรษฐกิจตลาดได้ทุกระดับ สมมุติว่าทำได้จริง เหตุใดกลุ่มคนที่อยู่ในเศรษฐกิจตลาด ซึ่งมีทั้งทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิตที่ถูกกล่อมเกลามาอีกอย่างหนึ่ง จึงจะหันไปรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเล่าครับ ในเมื่อกลุ่มคนที่อยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงล้วนเป็นคนไร้อำนาจทั้งสิ้น

คำถามสุดท้ายก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงจริงเร้อ

3. นโยบายภาคใต้
กว่าหกเดือนภายใต้คณะรัฐประหาร สถานการณ์ภาคใต้ยังไม่ดีขึ้น ตรงกันข้ามดูเหมือนฝ่ายตรงข้ามจะมีสมรรถนะในการปฏิบัติการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย อันที่จริงนโยบายของคณะรัฐประหารต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ได้แตกต่างจากในตอนท้ายๆ ของสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างไร? คือนั่งร้องเพลงชาติรอให้เหตุการณ์คลี่คลายไปตามยถากรรม

นั่นหมายความว่า ยิ่งนับวัน รัฐก็ยิ่งอันตรธานไปจากพื้นที่ ในขณะที่ประชาชนหาที่พึ่งจากใครไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะสร้างรัฐขึ้นมาได้เช่นกัน อย่างที่พวกเขาเรียนรู้จักรัฐจากพฤติกรรมของรัฐไทยและกลุ่มก่อการร้าย รัฐคืออำนาจดิบที่กระทำต่อประชาชนได้อย่างไม่มีขีดจำกัดเท่านั้น

รัฐบาลของคณะรัฐประหารแก้ปัญหานี้โดยการคิดตั้งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงขึ้น เพื่อจัดให้เกิดการประสานงานด้านความมั่นคง แต่ความหมายของความมั่นคงก็แคบเสียจนรวมเฉพาะหน่วยงานรัฐที่มีศักยภาพจะใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพได้เท่านั้น. แท้จริงแล้ว เพื่อจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือแนวทางที่ชัดเจน จนอาจปฏิบัติได้จริง และการประสานงานอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีนั่นเอง แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเวลานี้ มีแต่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ไม่มีนายกรัฐมนตรี

น่าประหวั่นว่า สภาพไร้รัฐกำลังขยายมาถึงประเทศไทยทั้งหมดด้วยซ้ำ หลังจากที่รัฐถูกประหารไปในวันที่ 19 ก.ย.ปีกลาย. สังคมไทยจึงควรเข้ามากำกับควบคุมรัฐให้มากขึ้น มีแนวทางของตนเองในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่ปล่อยให้ "ผู้เชี่ยวชาญ" ในกองทัพหรือนอกกองทัพ จัดการโดยไร้ประสิทธิผลมาเกือบ 4 ปีแล้ว

โดยการคิดตามแนวนี้ ผมมีข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายภาคใต้ต่อสังคมไทยดังนี้

(1). ผมเห็นด้วยกับนโยบายสมานฉันท์ แต่สมานฉันท์ไม่ได้หมายความแต่เพียงการกล่าวคำขอโทษ หรือการละเว้นไม่ใช้กฎหมายในบางกรณีเท่านั้น การสำนึกผิด (ซึ่งมีมากกว่ากรณีตากใบ) ต้องนำไปสู่ความพยายามจะแก้ไขความผิดพลาด และชดเชยความเสียหาย (ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงเงินแต่เพียงอย่างเดียว) แก่เหยื่อทั้งหลายอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ยังรวมถึงการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งร่วมกระทำความผิดเหล่านั้นในนามของรัฐอย่างจริงจัง เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐจะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก

รัฐไม่ได้ทำอะไรในเชิงสมานฉันท์มากกว่าคำขอโทษ และไม่ใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในกรณีที่คาดว่าจะทำให้เหตุการณ์บานปลาย (อย่าลืมด้วยว่าด้านหนึ่งการประท้วงเป็นสิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์) แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ก็แทบจะไม่มีการปฏิบัติตามสักข้อหนึ่ง เช่นประชาชนตามเทือกเขาบูโดซึ่งถูกกรมป่าไม้ประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกิน เคยมีมติ ครม.สมัยรัฐบาลทักษิณ ให้ป่าไม้ระงับการจับกุมไว้ก่อน จนกว่าจะสำรวจกันใหม่อย่างแน่ชัดแล้ว ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

นายทุนยังใช้เรืออวนลากอวนรุนผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ไม่จับกุม ซ้ำยังอาจรู้เห็นเป็นใจด้วย เฉพาะการแย่งชิงทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมประเด็นเดียว ซึ่งเกิดจากการกระทำของรัฐและทุนภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐ นโยบายสมานฉันท์ของทั้งสองรัฐบาล ก็ไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด

ผมคิดว่าประเด็นการเข้าถึงทรัพยากรเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายสมานฉันท์ ที่ผู้คนยากจน, ไม่มีงานทำ, ไม่ได้เกิดขึ้นจากการไม่มีโอกาสด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากทรัพยากรที่เขาเคยใช้ประโยชน์ถูกแย่งยื้อจากคนอื่นจนแทบไม่เหลืออะไรให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ต่างหาก. สมานฉันท์จึงต้องหมายถึงการนำเอากฎหมายและความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรกลับมาสู่ดินแดนแห่งนี้โดยเร็วก่อนอื่น

(2). ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นเหตุผลหลักของการมีรัฐ จะต้องฟื้นฟูสภาพที่ทำให้เกิดความปลอดภัยนี้ขึ้นมาให้ได้ ในการนี้ต้องร่วมมือกับคนในท้องถิ่น จะร่วมมือได้ก็ต้องได้รับความไว้วางใจจากเขา ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง กองกำลังติดอาวุธไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป แม้มีความจำเป็นต้องใช้ในบางกรณีหรือบางระดับ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ความวางใจต่ออำนาจรัฐของประชาชน เช่น อาจเริ่มสร้างชุมชนปลอดภัยไปทีละชุมชน และขยายขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อบีบให้พื้นที่ปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามแคบลง

นโยบายพัฒนาเข้ามาเสริมความปลอดภัยได้ แต่ต้องเข้าใจการพัฒนาให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไป เท่าที่ผ่านมาในประเทศไทย การพัฒนาหมายถึงการเปิดให้ทุนเข้ามาทำกำไรกับทรัพยากรและแรงงานราคาถูก แต่การพัฒนาที่แท้จริง หมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ไปปลดเปลื้องเขาจากความสามารถที่เขามีอยู่ แล้วต้อนเขาเข้าสู่โรงงานในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ

นโยบายพัฒนาที่พูดถึงกันอยู่บ่อยๆ มานานว่า เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการแก้ปัญหาภาคใต้ มีความหมายอย่างไรกันแน่ หากหมายถึงเปิดพื้นที่ให้ทุนลงไปพร่าผลาญทรัพยากรและผู้คนอย่างที่ทำกันอยู่ ผมเชื่อว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงไป แต่หากการพัฒนาคือการเพิ่มขีดความสามารถของผู้คน ก็ต้องเริ่มที่ความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐ และดำเนินการพัฒนาไปตามแนวทางที่ประชาชนเป็นผู้เลือกเอง

(3). ปฏิบัติการทางการทหารยังมีความจำเป็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนไม่มีการพัฒนายุทธวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ได้แต่ส่งกำลังลงไปตรึงในจุดต่างๆ (จุดเหล่านั้นมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์อย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าคนสั่งได้วิเคราะห์จนรู้ชัดแล้วหรือไม่)

ยุทธวิธีที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ไม่ได้มาจากตำรา แต่มาจากการรู้จักปรับเปลี่ยนซึ่งผมเชื่อแน่ว่ากองทัพมีความสามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้อย่างแน่นอน ทั้งจากบุคลากรในกองทัพเองและจากบุคคลภายนอก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือกองทัพต้องระดมความรู้ -สภาพการณ์ที่เป็นจริงในสนาม, พฤติกรรมการรบของฝ่ายตรงข้าม, สมรรถนะที่เป็นไปได้ของกองทัพเอง, ฯลฯ - เพื่อทำให้ปฏิบัติการทางการทหารบรรลุเป้าหมาย นั่นคือการก่อเหตุร้ายต่างๆ ทำได้ยากขึ้นและราคาแพงขึ้นแก่ฝ่ายตรงข้าม จนที่สุดสามารถระงับเหตุได้ก่อนการก่อเหตุร้ายจะเริ่มขึ้น

เป็นไปไม่ได้ที่กองทัพจะปล่อยให้กำลังพลต้องสูญเสียไปจำนวนมาก ด้วยการก่อเหตุที่กระทำซ้ำเก่าอย่างเดิมเช่นนี้มาเป็นปีๆ โดยไม่สามารถคิดยุทธวิธีป้องกันได้เลย

อีกด้านหนึ่งคือขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติการ ผมคิดว่าขวัญกำลังใจเกิดขึ้นจากสองปัจจัยสำคัญ

- หนึ่ง. คือต้องฝึกซ้อมยุทธวิธีให้กำลังพลอย่างเข้มข้นจริงจังก่อนจะส่งลงพื้นที่ ความสามารถในการป้องกันชีวิตและความปลอดภัยของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่สามารถฝึกซ้อมให้เกิดขึ้นได้มาก แม้ไม่เป็นหลักประกัน 100% ก็ตาม ทหาร (และตำรวจ) ทุกคนต้องมั่นใจในตนเองว่า สามารถดูแลความปลอดภัยของตนเองได้ในระดับสูง

- สอง. นอกจากการฝึกซ้อมแล้ว ยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นและช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสมรรถนะต้องจัดให้ได้อย่างเต็มที่ ไม่กี่วันมานี้มีข่าวว่าฝ่ายผู้ก่อการในภาคใต้สวมเสื้อเกราะออกปฏิบัติการ น่าเศร้าที่ทหาร-ตำรวจยังไม่มีเสื้อเกราะใช้ในการปฏิบัติงานครบทุกคน ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงยานพาหนะซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนย้ายกำลังพลในยามฉุกเฉินทำได้อย่างรวดเร็ว

ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจที่จะจัดหาสิ่งเหล่านี้ได้อย่างบริบูรณ์ และจะเป็นผลดีแก่การแก้ปัญหาได้มาก เพราะเพิ่มทั้งสมรรถนะและขวัญกำลังใจแก่กำลังพล ดีกว่าการเตรียมงบประมาณเพื่อจ่ายให้ครอบครัวศพละหลายแสนอย่างที่ทำมานาน

(4). ถึงที่สุดแล้วเป้าหมายคือการแย่งชิงประชาชนกลับมาภักดีต่อรัฐ หรืออย่างน้อยก็ไม่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งดังที่เป็นอยู่

มาตรการสองประการมีความสำคัญที่สุด

- หนึ่ง. คือความยุติธรรมในการบริหาร อย่ามองความยุติธรรมแต่กฎหมายและกระบวนการของกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะแม้ดำเนินตามกระบวนการของกฎหมายก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฝ่ายบริหารกลั่นแกล้งได้มาก และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าการบริหารรัฐกิจในประเทศไทยขาดความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ข้อเท็จจริงนี้ต้องยอมรับ และกวดขันเป็นพิเศษในพื้นที่ให้เกิดความยุติธรรมในการบริหารอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องยกเว้นความผิดให้ใครทั้งสิ้น แต่อย่าใช้อำนาจกลั่นแกล้ง เพราะรัฐบาลจะลงโทษอย่างเด็ดขาด

ความยุติธรรมหมายถึงความรวดเร็วฉับไวในการปฏิบัติด้วย เพราะความยุติธรรมที่มาช้าคือความอยุติธรรมนี่เอง ฉะนั้นคำสั่งใดๆ ที่ชอบธรรม เช่นการให้ค่าชดเชย, การสั่งให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด, การตรวจสอบสิทธิที่ประชาชนแย้ง, ฯลฯ ต้องกระทำอย่างรวดเร็ว

- สอง. การเปิดประตูให้แก่ผู้กลับใจเสมอ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มผู้ก่อการในครั้งนี้ ได้ดึงเอาประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าไปร่วมด้วย นับตั้งแต่ร่วมปฏิบัติการไปจนถึงร่วมมือห่างๆ เช่นช่วยโปรยเรือใบ, ช่วยผลิตเรือใบ, ช่วยแจกใบปลิว ฯลฯ เราไม่สามารถผลักคนทั้งหมดให้หมดทางกลับมาสู่สังคมได้ ฉะนั้นต้องเปิดประตูไว้ให้แก่การกลับมาของคนเหล่านี้เสมอ บางคนอาจได้ประตูแคบหน่อย บางคนได้กว้างขึ้นมา บางคนเปิดกว้างเลย ต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมือง แม้เป็นการต่อสู้ด้วยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม อย่าลืมว่าประเทศไทยได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่นักรัฐประหารและผู้สังหารหมู่ประชาชนมาหลายฉบับแล้ว


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ไม่อาจเกิดขึ้นจากผู้รับใช้ หรือเทวดาที่ได้รับเลือกตั้งมา แต่ต้องมาจากการเคลื่อนไหวของพลเมืองที่จะกำกับให้การร่างเป็นไปตามความประสงค์ของตน รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นภายใต้บรรยากาศของการจำกัดสิทธิทางการเมืองของคณะรัฐประหาร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีได้ ฉะนั้น หากรู้เท่าทันและตัดสินใจคว่ำรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวกดดันทางการเมือง เพื่อให้บังเกิดรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดอีกฉบับหนึ่งให้ได้ อย่ายอมให้กองทัพชี้นิ้วสั่งตามใจชอบอีกต่อไป ถึงอย่างไรประชาชนก็ไม่ใช่ผู้รับใช้ของใคร
08-05-2550

Public Deliberation
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.