บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
บทวิเคราะห์การเมืองภาคประชาชนในรอบ
๑๕ ปี
เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน?
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
งานวิชาการหมวดการเมืองไทยร่วมสมัย - การเมืองภาคประชาชน
บทความทางวิชาการต่อไปนี้
กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน ๒ ท่าน
๑. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ : 4 ข้อสังเกตเชิงทฤษฎีต่อขบวนการประชาชนในวาระ 15 ปี
พฤษภาประชาธรรม
๒. วิโรจน์ ณ ระนอง : ปัญญาชนบนเขาควาย?
เรื่องแรก เป็นการวิเคราะห์บทบาทของการเมืองภาคประชาชนที่เติบโตขึ้นมาในรอบ ๑๕
ปี
หลังเหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ ในบทวิเคราะห์ได้จำแนกความล้มเหลว
ของขบวนการภาคประชาชนเอาไว้ ๔ ประการตามแนวคิดของผู้เขียน
ส่วนบทความเรื่องที่สอง พูดถึงทางสองแพร่งที่หลายคนถูกบังคับให้ต้องเลือก
ซึ่งอันที่จริงเป็น False Dilemma" หรือ "False Dichotomy
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๖๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๖ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทวิเคราะห์การเมืองภาคประชาชนในรอบ
๑๕ ปี
เหตุการณ์พฤษภาปี
๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน?
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
(1)
๔ ข้อสังเกตเชิงทฤษฎีต่อขบวนการประชาชนในวาระ ๑๕ ปี พฤษภาประชาธรรม
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ : เขียน
นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(พรรคแนวร่วมภาคประชาชน)
พฤษภาประชาธรรม 2535 คือ การลุกขึ้นสู้ของขบวนการประชาชน เพื่อล้มเผด็จการทหารสุจินดา
ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชายในปี 2534 และจบลงด้วยการปราบปรามอันรุนแรงของรัฐไทยที่กระทำต่อประชาชน
ซึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง และวิธีคิดโดยทั่วไปของสังคมไทย รวมทั้งภาคประชาชนไทยอย่างมากมาย
ชัยชนะจากการต่อสู้ครั้งนั้นของประชาชนนำมาซึ่งกระแสการปฏิรูปการเมือง จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี
2540 ในที่สุด
เราอาจกล่าวได้ว่าผลของการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการประชาชนในปี 2535 ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับ "ประชาชน" นี้ ได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และมีมาตราที่กำหนดโดยประชาชนมากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญมา และต่อมารัฐธรรมนูญฉบับนี้เองได้กลายเป็นเงื่อนไขเชิงกติกาทางการเมืองให้รัฐบาลของไทยรักไทย สามารถขึ้นมามีอำนาจได้นับตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งต้องล้มไปอันเนื่องมาจากเกิดการรัฐประหารของทหารที่เรียกกันสั้นๆ ว่า คปค. ใน;yomuj 19 กันยายน ปี 2549 และนำไปสู่การตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารของสุรยุทธ์ จุลานนท์ในเวลาต่อมา
นับเป็นเวลาอย่างน้อยกว่า 15 ปีแล้วที่สิ่งที่พวกเราเรียกแบบหลวมๆ ว่า "ขบวนการประชาชน" หรือ "การเมืองภาคประชาชน" ได้มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์สำคัญๆ มาจนวันนี้เราอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไร้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของขบวนการประชาชนจำนวนหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า แม้บทบาทของขบวนการประชาชนจะมีสูงขึ้นอย่างไรในสังคมการเมืองไทย แต่การที่รัฐประหาร 19 กันยา สามารถเกิดขึ้นได้ ก็สะท้อนให้เราเห็นความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
บทความนี้มีข้อสังเกตเชิงทฤษฎีเบื้องต้นต่อสิ่งที่เรียกหลวมๆ ว่า "การเมืองภาคประชาชน" ในช่วง 15 ปีนับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 จนถึงปัจจุบัน 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก นับตั้งแต่ปี
2535 เป็นต้นมา ขบวนการประชาชน เอ็นจีโอ และปัญญาชนทั้งฝ่ายซ้ายและเสรีนิยม ได้มีฉันทามติ(consensus)
ร่วมกันใน "แนวคิดชุมชนนิยม" (2) หรือที่เรียกในชื่อที่แตกต่างกันไป
เช่น "วัฒนธรรมชุมชน" "ชุมชนพึ่งตนเอง" "เกษตรทางเลือก"
โดยมีการนำเสนออย่างมากจากหลายแง่มุมจากทั้งปัญญาชนอดีตฝ่ายซ้ายหลายคน ราษฎรอาวุโส
เอ็นจีโอ และขบวนการทางสังคมหลายกลุ่ม ในฐานะที่เป็นทางออกต่อความเลวร้ายของโลกทุนนิยมเสรี
แนวคิดชุมชนนิยมนี้เอง ได้กลายเป็นสนามของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างกลุ่มหรือพลังทางสังคมต่างๆ
ในอันที่จะให้ความหมายหรือคำนิยามที่สอดคล้องไปกับผลประโยชน์ของตนเอง แม้แนวคิดชุมชนจะดูหลากหลายและแตกต่างกันไป
แล้วแต่คำนิยามของแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้น แต่เราก็กล่าวได้ว่า "แนวคิดชุมชนนิยม"
ได้กลายเป็น common sense (3) อันใหม่ของขบวนการประชาชนนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา
ชนชั้นนำในสังคมเองก็เช่นกัน ซึ่งได้พยายามเข้ามาช่วงชิงในการสร้างความหมายของ "แนวคิดชุมชน" และภาคประชาชนเองก็นำมาผลิตซ้ำความหมายดังกล่าวที่ถูกสร้าง และถูกช่วงชิงไปโดยชนชั้นปกครองเพื่อเชื่อมโยงถึงฉันทามติแบบชุมชนนิยมอย่างไร้การตั้งคำถาม การพูดถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในความหมายเดียวกับ "เศรษฐกิจชุมชน" ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ นั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่พูดลอยๆ แต่เป็น "ยุทธศาสตร์" ทางชนชั้นที่ต้องการกลบเกลื่อนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ ทุน และประชาชน อันเป็นผลมาจากการกดขี่ขูดรีดทรัพยากร และวิถีชีวิตของคนธรรมดามาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540
การเติบโตของอุดมการณ์แบบ "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ของขบวนการประชาชนเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ได้กลายเป็น "ฉันทามติ" อันใหม่ซึ่งทำหน้าที่ครองความคิดจิตใจ (hegemony) ขบวนการภาคประชาชน ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในเชิงพื้นที่นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของการเมืองแบบเอ็นจีโอ ในกระบวนการขยายตัวของขบวนการภาคประชาชนนี้เอง ในด้านหนึ่งได้ผนวกเอาปัญญาชนฝ่ายรัฐ เช่น ราษฎรอาวุโส และปัญญาชนทั้งฝ่ายขวาและเสรีนิยม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งหรือหลายครั้ง จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งซึ่งสามารถชี้นำทางความคิดที่สำคัญของขบวนการประชาชนเอง และเราก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า นี่คือผลพวงสำคัญจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
การมีสถานะครองความคิดจิตใจอย่างกว้างขวางของ "แนวชุมชนนิยม" ที่ถูกนำไปโยงกับความอ่อนแอและลักษณะประนีประนอมของขบวนการประชาชนนั้น ได้นำไปสู่การที่ภาคประชาชนให้การสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อรัฐบาลไทยรักไทย ที่หยิบเอาแนวคิดแบบชุมชนของขบวนการประชาชนไปใช้ และต่อมาฉันทามติเช่นนี้เองก็นำพาให้เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา ด้วยข้อกล่าวหาว่า ไทยรักไทยมีนโยบายที่ไม่เดินตาม "เศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวง ซึ่งได้กลายเป็น "ข้ออ้าง" ที่ดูมีความชอบธรรมอย่างสูงในการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมา (4)
ประการที่สอง
ขบวนการประชาชนไม่เคยแตกหักกับแนวคิดชาตินิยม (5) ไม่ว่าชาตินิยมจะพัฒนาไปสู่รูปแบบที่พยายามรวมเอาประชาชนเข้ามา
หรือชาตินิยมที่อิงอยู่กับ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบคับแคบก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด
ของการอ้างอิงการต่อสู้กับแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบก็คือ การล้มทักษิณของขบวนการพันธมิตรฯ
ในช่วงปี 2549 ที่ผ่านมาก็ยังคงอธิบายว่า การขายหุ้นหรือการซุกหุ้น หรือแม้แต่การทำเอฟทีเอ
การแปรรูป เป็นเรื่อง"ขายชาติ", "ทรยศชาติ", นำไปสู่การที่แกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแข็งขันต่อการนำเสนอมาตรา
7 หรือการเรียกร้องนายกฯพระราชทานในช่วงที่ขับไล่รัฐบาลไทยรักไทย โดยเรียกขบวนการของตนเองว่า
"ขบวนการกู้ชาติ" หรือตัวอย่างก่อนหน้านั้น เราจะเห็นการที่ขบวนการแรงงาน
(6) อธิบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ "รัฐ" ไทยในหลาย "รัฐบาล"
ว่าเป็นการ "ขายชาติ" ซึ่งหนึ่งในแกนนำของขบวนการแรงงานนั้นก็คือคนอย่าง
สมศักดิ์ โกศัยสุข
การใช้แนวทาง"ชาตินิยม"ของขบวนการประชาชนที่ผ่านมา นำไปสู่การที่ผู้นำของขบวนการประชาชนสามารถประนีประนอมกับกลุ่มทุน
หรือชนชั้นปกครองบางกลุ่มในแต่ละช่วงเวลาได้ หากเห็นว่า กลุ่มย่อยของชนชั้นปกครองนั้นๆ
ไม่ได้ทำอะไรที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของ "ชาติ" มากเกินไป ปัญหาของการไม่แตกหักกับชาตินิยมของขบวนการประชาชนนี้เอง
นำไปสู่การไม่สามารถสร้างจุดแตกหักทางความคิดกับแนวทางเสรีนิยมหรือทุนนิยมได้อย่างแท้จริง
เพราะสิ่งที่ขบวนการประชาชนกำลังต่อสู้กลับไม่ใช่ทุนนิยมอีกต่อไป แต่กลายเป็น
"ต่างชาติ" "นักการเมืองขายชาติ" ซึ่งหากนักการเมืองหรือชนชั้นนำคนไหนดูเหมือนว่า
"รักชาติ" "มีจริยธรรม" มากหน่อยก็สามารถจะให้การสนับสนุนหรือจับมือกันได้ในที่สุด
ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างของปรากฏการณ์นี้จากการที่การขึ้นมาของพรรคไทยรักไทย และการเกิดรัฐประหาร
19 กันยาที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ได้รับการสนับสนุนจากแกนนำของขบวนการประชาชนอย่างกว้างขวาง
ประการที่สาม
ผู้เขียนเห็นด้วยกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (7) ที่เสนอว่า ในสายตาของขบวนการประชาชนนั้น
มโนทัศน์ (concept) เรื่อง "รัฐ" (state) ได้ถูกลดทอนให้กลายเป็น "รัฐบาล"
(government) โดยเฉพาะนับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา สะท้อนความตกต่ำของแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือแนวฝ่ายซ้ายในการเมืองไทย
ซึ่งถูกแทนที่ด้วยแนวคิดเสรีนิยมหรือเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มีลักษณะลดทอนโดยวางอยู่บนสมมติฐานที่ว่า
รัฐทุนนิยมสามารถเป็นกลางได้ และทัศนคติแบบลดทอนนี้เองได้นำไปสู่การประสานและความร่วมมือ
หรือความไว้วางใจนักคิดแบบเสรีนิยม(ลดทอน)ไม่ว่าจะเป็น นักกฎหมายมหาชน หรือ นักรัฐศาสตร์กระแสหลัก
ซึ่งมีลักษณะเป็นนักเทคนิคทางการเมือง มากกว่าจะเป็นปัญญาชนของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ในความหมายเดิมของฝ่ายประชาชนในอดีต
รูปธรรมคือ การมอบฉันทะและความไว้วางใจให้นักคิดเสรีนิยม ซึ่งเป็นปัญญาชนฝ่ายรัฐได้เป็นผู้ร่างหรือกำหนดกติกาทางเศรษฐกิจและการเมือง
เช่น ที่เกิดขึ้นกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญ
2550 ซึ่งก็ใช้เนติบริกร และนักเทคนิคทางการเมืองเช่นเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ
2540
ภาคประชาชนหลายส่วนสามารถมีฉันทามติกับรัฐธรรมนูญ
2540 ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายมาตราที่ลดอำนาจของประชาชน และเพิ่มอำนาจให้รัฐและกลุ่มทุน
เช่น มาตรา 87 ที่ระบุไว้ชัดว่าจะ รัฐไทยจะต้องเป็นรัฐที่เชิดชูทุนนิยมเสรี หรือทุนนิยมกลไกตลาดอยู่
ซึ่งนำไปสู่การรับรองให้รัฐไทยสามารถแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
ทำสัญญาเอฟทีเอ ได้อย่างชอบธรรม "ตามกฎหมาย"
(มาตรา 87: รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด
กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม
รวมทั้งยกเลิกและการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ
และต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ
รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีการสาธารณูปโภค)
หรือ แม้แต่การที่ขบวนการประชาชนเข้าร่วมโดยมีกรอบคิดที่จำกัดแต่เพียงข้อเสนอเชิงเทคนิคต่อการร่างรัฐธรรมนูญของเผด็จการทหารในปี
2550 โดยไม่นำไปสู่การพูดถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคม หรือการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้
จับต้องได้ นอกเสียจากการพูดถึง รูปแบบขององค์กรอิสระ การเลือกตั้ง หรือการแก้ไขกฎหมายบางมาตราในรัฐธรรมนูญตามกรอบแบบเสรีนิยม
(8)
นี่เองสะท้อนทัศนะลดทอนของขบวนการประชาชนที่ต่อสู้ต่อรองแค่ในกรอบของกฎหมาย และสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ มากกว่าจะมุ่งไปสู่การตั้งคำถามเชิงโครงสร้างกับ "รัฐทุนนิยม" (capitalist state) ที่มีความหมายมากไปกว่าแค่ "รัฐบาลนายทุน" (capitalist government) (9) ส่งผลให้การต่อสู้ของขบวนการประชาชนที่ผ่านมา "แทบจะ" ไม่พูดถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมแบบถอนรากถอนโคน ในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในขั้นมูลฐานของโครงสร้างการถือครองปัจจัยการผลิต หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ที่สร้างความไม่เท่าเทียมในทุกๆ มิติในปัจจุบัน
ทัศนคติแบบลดทอนนี้เอง ได้นำไปสู่การหมกมุ่นกับการจับผิดนักการเมืองในระบอบรัฐสภา ว่า คนไหนที่คอร์รัปชั่นหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากหรือน้อยยังไง โดยทำให้การวิพากษ์รัฐทุนนิยมกลายเป็นเรื่องของ "จริยธรรมส่วนตัว" ของผู้นำรัฐบาลแต่ละคน โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งคำถามกับการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการคอร์รัปชั่นทับซ้อนดังกล่าว ส่งผลให้ภาคประชาชนหลายส่วนโดยเฉพาะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สามารถทำได้แค่โจมตีทักษิณในประเด็นคอร์รัปชั่น ขายชาติ โดยไม่ได้พูดถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียม ที่วางอยู่บนการมีความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม อันเป็นต้นตอของปัญหาที่แท้จริง โดยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ขบวนการประชาชนหลายส่วน สามารถยินดีปรีดาได้กับการมีผู้นำที่ดูมีจริยธรรม "มากกว่า" หรือดู "พอเพียงกว่า" ผู้นำคนที่ตนเองไม่ต้องการ เช่น ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปจับมือกับเผด็จการทหารดังที่เราเห็นในปัจจุบัน (10)
ประการที่สี่ นับตั้งแต่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ขบวนการประชาชน ชนชั้นนำเอ็นจีโอ และปัญญาชนของขบวนการประชาชนไม่เคยไว้วางใจ
คนจนหรือชนชั้นล่าง และแม้กระทั่งไม่มีความมั่นใจในการสร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชน
(11) หรือ การสร้างอุดมการณ์ทางเลือกให้กับภาคประชาชน นำไปสู่การต้องพึ่งพิงหรือหยิบยืม
"วิธีการมองโลก" ของปัญญาชนกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นพวกเสรีนิยม หรือแม้กระทั่งกลุ่มทุนขวาจัด
เช่น TDRI (12) หรือแนวชุมชนฝ่ายขวาแบบหมอประเวศในที่สุด
เราสามารถเห็นตัวอย่างเหล่านี้ได้ชัดเมื่อ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าไปร่วมกับ
สนธิ ลิ้มทองกุล ของภาคประชาชนหลายส่วน ได้มีจุดยืนคัดค้านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในวันที่
2 เมษายน 2549 ด้วยข้ออ้างว่า คนชนบทหรือคนจนที่ไปเลือกทักษิณนั้นเป็นคน "ไร้การศึกษา"
"ขาดข้อมูล" "ไม่มีความรู้" และจะทำให้พรรคไทยรักไทย (ซึ่งมีสันดานชอบละเมิดพระราชอำนาจ
คอร์รัปชั่น สร้างความแตกแยกให้สังคม) สามารถกลับมาได้อีกครั้ง แทนที่จะมองว่าคนธรรมดาเลือกเพราะมองว่า
อย่างน้อยไทยรักไทยก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่มี หรือว่าเลวน้อยที่สุดที่มีในขณะนั้นๆ
ลักษณะการดูถูกคนจนของชนชั้นนำของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะที่อยู่ในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนี้เอง ได้นำมาสู่การไม่ยอมหันหน้าออกไปสร้างฐานมวลชนที่ตนเองเคยมีหรือเคยทำงานด้วยเพื่อล้มทักษิณ แต่นำไปสู่การจับมือกับ สนธิ ลิ้มทองกุล และหยิบยืมวิธีการมองโลกของฝ่ายที่เป็นศัตรูของคนจนเองมาใช้ ในการวิพากษ์วิจารณ์ไทยรักไทย ซึ่งการสร้างแนวร่วมที่พิกลพิการและไร้จุดยืนที่เคียงข้างชนชั้นที่ถูกกดขี่นี้เอง ได้ก่อให้เกิดการเรียกร้องนายกพระราชทานไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม (13) ซึ่งในที่สุดกลายเป็นการเปิดทางให้กับการรัฐประหารหรือแม้แต่เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ก็ยังเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญกับ คมช. อย่างไร้ความละอาย เช่น ในกรณีของ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นต้น
ดังนั้นการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้ประเด็น "โกงการเลือกตั้ง" "ซื้อเสียง" เพื่อโจมตีไทยรักไทยนั้น เมื่อพูดถึงที่สุดแล้วก็คือการบอกอย่างเป็นนัยว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชนโง่ และไม่ (ควรจะสะเออะ) มีสิทธิมีเสียงนั่นเอง
โดยสรุปแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น
เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่การเคลื่อนไหวนี้มิได้มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อสังเกตทั้ง 4 ประการนี้ อาจมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจถึงข้อจำกัดของขบวนการประชาชนอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี
2535 ได้ชัดเจนมากขึ้น และอาจนำมาสู่การแสวงหายุทธศาสตร์ และวิธีการมองโลกของขบวนการประชาชนเอง
โดยไม่พึ่งพาวิธีการมองโลกของปัญญาชนฝ่ายที่เป็นศัตรูกับคนจนแบบที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี
ในระยะเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นความหวังในหลายกรณี เช่น ขบวนการแรงงานที่นำโดยคนรุ่นใหม่หลายส่วน
(14) ได้ออกมามีจุดยืนอิสระที่คัดค้านรัฐประหาร โดยไม่ร่วมสังฆกรรมกับผู้นำแรงงานเดิมที่ประนีประนอมกับเผด็จการทหาร
หรือกรณีที่ขบวนการนักศึกษาคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง (15) ออกมาคัดค้านเผด็จการทหารอย่างแข็งขันตลอดมา
นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา
เหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ยังคงให้ความหวังกับเราว่า ในไม่ช้านี้ขบวนการประชาชนของเราจะเข้มแข็งเป็นอิสระ และสามารถฝ่าฟันกับเพดานทางความคิดใดๆ ก็ตามที่เป็นอุปสรรคอยู่ เพื่อที่เราจะสามารถเสนอภาพของ "โลกใบใหม่" ของเราร่วมกันได้เอง ผ่านการต่อสู้เพื่อสะสมชัยชนะในระยะอันสั้นนี้คือการ คว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 และการสร้าง รัฐสวัสดิการ เป็นชัยชนะระยะยาวของเรา
เชิงอรรถ
(1) บทความขนาดสั้นนี้เรียบเรียงขึ้นจากการนำเสนอในวาระครบรอบ 15 ปี พฤษภาประชาธรรม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550(2) บุคคลที่น่าสนใจก็คือ หมอประเวศ วะสี, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, พลเดช ปิ่นประทีป ที่มีบทบาทในสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และมีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนไทยรักไทยในช่วงแรกที่เป็นรัฐบาล และมีบทบาทอย่างมากในการขับไล่ทักษิณในช่วงปี 2549 ซึ่งต่อมาไพบูลย์และพลเดชก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลสุรยุทธ์
(3) ผู้เขียนใช้คำว่า Commom sense นี้ในความหมายของ Antonio Gramsci
(4) ดูการอธิบายของ ประเวศ วะสี, พิภพ ธงไชย, ธีรยุทธ บุญมี, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฯลฯ ในการให้สัมภาษณ์หรือบทความหลายๆ แห่งทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร
(5) ปัญญาชนชาตินิยมที่มีอิทธิพลทางความคิด เช่น พิทยา ว่องกุล, ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้ก็เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยมาก่อนทั้งสิ้น หรือแม้แต่ คนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำแรงงาน
(6) ดูได้จากเอกสารหรือสติกเกอร์รณรงค์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งในช่วงที่ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และในวันแรงงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงที่ไล่ทักษิณ
(7) "หลัง ๑๔ ตุลา" ใน ฟ้าเดียวกัน , ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2548, หน้า 168-171.
(8) ดู จดหมายข่าว ครป. ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และเอกสารรณรงค์ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
(9) ประเด็นนี้สามารถหาอ่านได้ในงานวิชาการสายมาร์กซิสต์อย่างเช่น Nicos Poulantzas, State, Power and Socialism (London and New York: Verso, 1980)
(10) สุริยะใส กตะศิลา เองก็ชื่นชมว่า สุรยุทธ์เป็นคนดี อย่างน้อยก็ดีกว่าทักษิณ ดูคำสัมภาษณ์นี้ใน ประชาทรรศน์, ปีที่ 1(29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2550), หน้า 4.
(11) ดูที่ พิภพ ธงไชย กล่าวในสารคดีเรื่อง "เหลี่ยมชีวิต ทักษิณ ชินวัตร" ออกอากาศในรายการ คม-ชัด-ลึก วันที่ 28 ธันวาคม 2549
(12) หนึ่งในประธานของ TDRI คือ ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของสุรยุทธ์ โดยแต่งตั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2550
(13) หลายคนในพันธมิตรฯ อ้างว่า ไม่มีทางเลือกอื่น หรือเจอทางตัน ทำให้ต้องเสนอมาตรา 7 เช่น สุริยะใส กตะศิลา เป็นต้น หรือ เอ็นจีโออาวุโส อย่าง บำรุง บุญปัญญา ก็มองว่า ขบวนการขับไล่ทักษิณถึงทางตันแล้ว จึงจำเป็นต้องเสนอมาตรา 7
(14) เท่าที่ผู้เขียนได้สัมผัสคือ สหพันธ์สิ่งทอแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ที่มีจุดยืนชัดเจนค้านรัฐประหาร
(15) เช่น เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
(2) ปัญญาชนบนเขาควาย?
วิโรจน์ ณ ระนอง : เขียน
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ผู้เขียนขอขอบคุณ ศ.อัมมาร สยามวาลา ที่ได้กรุณาอ่านและวิจารณ์ร่างก่อนหน้านี้
บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกับจุดยืนของสถาบันต้นสังกัด
"ถึงเวลาต้องเลือกข้างได้แล้ว"
สนธิ ลิ้มทองกุล (เก็บความจากการอภิปรายในหลายครั้งในปี 2549)
"ถ้าผมปฏิเสธรัฐประหาร หมายความว่าผมต้องเลือกการนองเลือดใช่ไหม พูดง่ายๆ ระหว่างทักษิณกับรัฐประหารผมเอาอะไร มันเป็นโศกนาฏกรรม (tragedy) ที่เราต้องอยู่ตรงนั้น"
ไชยยันต์ ไชยพร (บทสัมภาษณ์ใน วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ "อ่านเอาเรื่อง: รัฐประหาร ทางออกสุดท้ายของการเมืองไทยยุคทักษิณ?" สารคดี ตุลาคม 2549)
"ในชีวิตผมไม่เคยเป็นกลาง ไม่เคยเป็นกลางระหว่างความถูกต้องและความผิด ไม่เป็นกลางระหว่างความถูกกับความชั่ว ระหว่างประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคยเป็นกลางระหว่างธรรมะและอธรรม ไม่เคยเป็นกลางระหว่างวิชาและอวิชา หรือระหว่างกติการัฐธรรมนูญที่ถูกต้องกับกติกาที่จัดตั้ง ไม่เคยเป็นกลางระหว่างอิสรภาพของสื่อกับการกีดกันอิสรภาพ ไม่เคยเป็นกลางระหว่างหลักนิติธรรมกับการใช้ความอยุติธรรม ไม่เคยเป็นกลางระหว่างความดีและความไม่ดี ผมอยู่ฝ่ายหนึ่งเสมอไป และตลอดชีวิตเชื่อว่าฝ่ายที่ผมอยู่นั้นถูกต้อง ...... ปัจจุบันสังคมไทยแตกเป็นสองซีก ตัวเลขไม่สำคัญว่าจะเป็น 16 ล้าน หรือ 19 ล้าน ถ้าสังคมไทยยังแตกแยก เกลียดชังถึงขั้นนี้ และสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยให้มีความเกลียดชัดกันต่อไป ให้มีการประหัตประหารกันต่อไป น่ากลัว น่ากลัวมาก เป็นสิ่งที่ทุกๆ ฝ่ายต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น"
อานันท์ ปันยารชุน ปาฐกถา "ปฎิรูปสังคมและการเมืองครั้งใหม่" 30 สิงหาคม 2549
ปี 2549 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ แต่เมื่อผ่านไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า เหตุการณ์หนึ่งที่คนจำนวนมากจะยังคงจดจำได้ก็คือ การต่อสู้ทางการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของผู้คนจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย
สำหรับสังคมไทยที่มักจะนิยมพูดถึงทางสายกลาง และในหลายครั้งเราได้พบเห็นการประนีประนอมกันทางการเมืองอย่างที่ไม่ต้องคำนึงถึงหลักการเท่าใดนัก ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ต่างจากปกติ คือมีการรณรงค์ให้ "เลือกข้าง" เพื่อชาติ ซึ่งทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อย (รวมทั้งชนชั้นกลางในเมืองที่มักจะเชื่อว่าตัวเอง "มีการศึกษา" และคนที่คิดว่าตัวเองเป็น "ปัญญาชน" ทั้งหลาย) ต้องปรับตัวเพื่อรับกับโจทย์ใหม่ข้อนี้ และก็ไม่แปลกอะไรที่ในสังคมที่มีการปลูกฝังค่านิยมให้ผู้น้อยเชื่อฟังผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ รวมทั้งผู้มากบารมีทั้งหลายนั้น ชนชั้นกลางและนักวิชาการจำนวนมากมีปัญหากับการปรับตัวครั้งนี้ จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วว่า มีหลายกรณีที่การปรับตัว (ที่ไม่เหมือนกัน) ของคนที่ใกล้ชิดกัน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงาน จนบางท่านที่ "ใจไม่แข็งพอ" ถึงกับบอกว่าไม่ขอพบกับเพื่อนที่มีความเห็นต่างกันในระยะนี้ เพราะไม่อยากเสี่ยงที่จะเสียเพื่อนที่ "อาจจะ" ได้ทะเลาะกันในเรื่องพวกนี้ ถ้ามาพบหน้าค่าตากัน
ผมไม่มีข้อมูลพอที่จะบอกได้ว่าการปลุกระดมด้วยวาทกรรม "ต้องเลือกข้าง" ที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผลักดันมาเป็นเวลานาน (1) มีผลต่อพฤติกรรมของ "ปัญญาชน" และชนชั้นกลางในเมือง (ที่ไม่ค่อยคิดว่าตัวเองจะมีโอกาสถูกหลอกหรือมอมเมาได้ง่ายๆ เหมือนชาว "รากหญ้า") หรือไม่เพียงใด แต่การสังเกตจากแวดวงที่ผมพอรู้จักหรือปะทะสังสันท์ด้วย ก็พบว่ามีคนจำนวนมากเห็นว่า ตัวเองจำเป็นหรือสมควรต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ในบรรดาสองพลังที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในขณะนั้น คือ เลือกสนับสนุนคุณสนธิและพันธมิตรฯ หรือสนับสนุนคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย
หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คนเหล่านั้นก็ยังเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องเลือกข้างกันต่อไป (แต่ข้างแรกเปลี่ยนจากพันธมิตรฯ ที่มีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้มีบทบาทนำที่สำคัญ มาเป็นคณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และรัฐบาลที่เกิดขึ้นตามมาจากการรัฐประหารครั้งนั้นแทน)
ในสังคมที่เชื่อในหลักการประชาธิปไตยนั้น การเลือกดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือให้ความสนับสนุนผู้นำ พรรค หรือกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดด้วยความเชื่อทางอุดมการณ์ (หรือแม้กระทั่งด้วยผลประโยชน์) ที่สอดคล้องต้องกัน ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติอะไร แต่สิ่งที่ถือได้ว่าเป็น "ความไม่ปกติ" ของปรากฏการณ์และวาทกรรม "เลือกข้าง" ในปีที่ผ่านมาก็คือ มีคนจำนวนมากที่รู้สึกว่าตนต้องเลือกข้างด้วยความ "จำใจ" เพราะเป็นการเลือกจากสองข้าง (หรือสองขั้ว) ที่ตนมีข้อกังขาในพฤติกรรมที่ผ่านมาในหลายๆ ด้าน หรืออีกนัยหนึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้เชื่อว่าตัวเองกำลังเลือกข้างระหว่าง "ความถูกต้องและความผิด ความดีกับความชั่ว หรือระหว่างประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย" อย่างที่คุณอานันท์ได้กล่าวถึง แต่พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องเลือกจากตัวเลือกที่เป็น "สีเทา" ที่ตนไม่อยากเลือกทั้งสองตัว
แต่ที่ต้อง "จำใจเลือก" ก็เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ "จำเป็น" สำหรับบ้านเมืองที่พลเมืองดีอย่างพวกเขา ไม่ควรเพิกเฉยหรือปฏิเสธความรับผิดชอบโดยไม่เลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในสถานการณ์ที่อยู่ "ระหว่างเขาควาย" ที่ไม่พึงปรารถนาทั้งคู่นั้น หลายท่านได้พยายาม "ชั่งน้ำหนัก" และเลือกที่จะอยู่ข้างฝ่ายที่ตนคิดว่า "เลวน้อยกว่า" และบางรายก็แอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าตนคง "เลือกไม่ผิด" ถึงแม้ว่าหลายคนจะอดห่วงไม่ได้ว่า ในที่สุดฝ่ายที่ต้องสูญเสียโดยไม่ได้อะไรกลับมาก็คือฝ่ายประชาชน ที่เป็นกำลังสนับสนุนที่คงจะไม่ได้มีโอกาสได้ดิบได้ดีเหมือนกับขุนพลในสองฟากนี้
นอกจากการตัดสินใจเข้าไปร่วมวงไพบูลย์กับข้างใดข้างหนึ่งแล้ว บรรดา "ปัญญาชนผู้เห็นแก่บ้านเมือง" เหล่านี้ยังพยายามโน้มน้าวให้ผู้อื่นเข้าไปร่วมวงกับตนด้วย (โดยใช้ตรรกทำนองที่ว่า "ถ้าท่านไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา" โดยอาจมองข้ามไปว่าการลุยเข้าไปแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธี ก็มีโอกาส "สร้างปัญหา" เพิ่มขึ้นมาได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐประหารครั้งนี้ก็มีส่วนที่เป็นผลตามมาจากความพยายามที่จะเป็น "ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา" ของหลายๆ ท่านด้วย)
การโน้มน้าวด้วยตรรกข้างต้นถูกขยายไปสู่ระดับที่ว่า "ถ้าคุณไม่เข้ามาร่วมขบวนของสนธิ ก็หมายความว่าคุณเป็นพวกทักษิณ" (หรือสนับสนุนหรือเป็นแนวร่วมมุมกลับของทักษิณหรือพวก "ตุลาชิน") หรือ "ถ้าคุณคัดค้านทักษิณ คุณก็คือพวกสนธิ-จำลอง" (หรือเป็นพวกนิยมอำนาจเก่า, ทาสศักดินา, นิยมมาตรา 7, นิยมรัฐประหาร ฯลฯ) ด้วยตรรกทำนองนี้ หลายคนที่เคยออกมาคัดค้านมาตรการอาชญากรรมของรัฐในกรณีฆ่าตัดตอน และอุ้มฆ่าภาคใต้อย่างรุนแรงตั้งแต่ยังไม่มี "ขบวนการสนธิ" ก็ถูกคนกลุ่มหนึ่งเหมารวมเข้าเป็น "สมุนทักษิณ" เมื่อพวกเขาแสดงความเห็นว่าข้อเรียกร้องหลายประการของ "ขบวนการสนธิและพันธมิตร" เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถูกคนอีกกลุ่ม (ซึ่งเห็นว่าทักษิณเป็นทางเลือกที่ "ก้าวหน้ากว่า") มองว่า การคัดค้านทักษิณของพวกเขาเป็นพฤติกรรมแบบ "ไร้เดียงสา" ที่ในความเป็นจริงแล้วก็คือการเลือกที่จะอยู่ข้างขั้วอำนาจเก่า ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ที่ถูกกล่าวถึงก็คัดค้านการขอรัฐบาลพระราชทาน และคัดค้านรัฐประหารมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน (2)
ในชีวิตจริงของคนเรานั้น อาจมีหลายโอกาสที่เราต้องตัดสินใจ "เลือกข้าง" เมื่อเดินมาถึงทางสองแพร่งที่ชัดเจน (เช่น ระหว่าง "ความถูกกับความผิด" หรือระหว่าง "ความดีกับความชั่ว") ซึ่งสำหรับหลายคนแล้ว การใช้จริยธรรมสำนึกของตนนำทางจะช่วยให้ตนสามารถเลือกข้างและออกจากสถานการณ์ที่เป็นทางสองแพร่งแบบนั้นได้โดยไม่ยากนัก (ถึงแม้ว่าบางครั้งการเลือกทางที่ถูกอาจทำให้ชีวิตลำบากกว่าก็ตาม) แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาเป็นข้อบ่งชี้ว่า ในชีวิตจริงนั้น มีโอกาสเช่นกันที่เราอาจจะหลงผิด (หรือถูกโน้มน้าวให้เชื่อ) ว่าเรามีความจำเป็นต้อง "เลือกข้าง" ถึงแม้ว่าในทั้งสองข้างที่มีให้เลือกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น "สีเทา" ที่จริยธรรมสำนึกของเราจะปฏิเสธไม่เลือกในยามปกติ ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า แล้วทำไมหลายคนกลับรู้สึกว่าจำเป็นต้องเลือกในสภาวการณ์ที่มีตัวเลือกที่เป็น "สีเทา" เพิ่มขึ้นเป็นสองตัวเล่า?
ข้ออ้างประการหนึ่งถึงความจำเป็นที่ต้องเลือกข้าง "สีเทา" ข้างใดข้างหนึ่งก็คือ ถึงแม้ในความเป็นจริงอาจมีทางเลือกมากกว่าสองทาง (ตัวอย่างของทางเลือกที่สามที่ผ่านมาก็มีกลุ่มนักวิชาการที่คัดค้านทั้งทักษิณและการขอรัฐบาลพระราชทาน และต่อมาก็คัดค้านรัฐประหารด้วย) แต่ในสมการการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนั้น มีเพียงสองขั้วใหญ่เท่านั้นที่มีพลังพอที่จะสู้รบปรบมือกันได้ ดังนั้น ถ้าคุณ "ไร้เดียงสา" ไปเลือกทางที่สามหรือที่สี่ที่ห้า เสียง (หรือ "พลัง") ของคุณก็จะไม่มีความหมาย ซึ่งการประเมินทำนองนี้มีส่วนจริงในทางการเมือง แต่คนเหล่านี้คงมองข้ามไปว่า ในระบบที่มีการเลือกตั้งนั้น ปกติเสียงของปัจเจกแต่ละรายก็ไม่เคยเป็นเสียงชี้ขาดอยู่แล้ว (3) และในระบบเผด็จการนั้น เสียงของปัญญาชน (และประชาชนทั่วไป) ก็มักจะไม่ได้รับการรับฟังเท่าใดนัก
แน่นอนว่า รัฐบาลมักจะยินดีรับฟังเสียงของนักวิชาการที่เป็น
"หุ้นส่วน" ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน ซึ่งคงเป็นเหตุผลที่ดีพอสำหรับนักวิชาการ
ที่หวังจะได้ตำแหน่งทางการเมืองที่จะ "เลือกข้าง" ซึ่งตนคิดว่ามีศักยภาพที่จะ
"ชนะ" ได้ แต่สำหรับนักวิชาการที่คิดว่างานหลักของตนคือเผยแพร่ความรู้และหลักการที่ถูกต้องนั้น
ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ อันจะต้องไปเลือกข้างที่ตนเห็นว่าเป็นสีเทา (และถ้าทำแบบนี้ก็จะช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาไปสรรหาข้อแก้ตัวให้กับพฤติกรรมของตัวเอง
ซึ่งบางครั้งก็ทำได้จำกัดและด้วยความอิหลักอิเหลื่อ ตัวอย่างเช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงกับต้องไปงัดคำพูดจากนิยายกำลังภายในของโกวเล้งว่า
"ถ้าหากเราไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก" มาสร้างความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจเข้าไปควบตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติของท่าน)
(4)
ความจริงปัญหา "ทางสองแพร่งลวง" ("False Dilemma" หรือ "False
Dichotomy") หรือความเชื่อที่ว่าเรามีเพียงสองทางเลือกในขณะที่ในความเป็นจริงมีทางเลือกมากกว่าสองทาง(5)
เป็นความผิดพลาดเชิงตรรก (Fallacy) ประเภทหนึ่งที่รู้จักกันดีในวงวิชาการ แต่คงจะไม่แพร่หลายนักในวงวิชาการไทยที่อาจารย์จำนวนไม่น้อยยังให้ความสำคัญกับการเช็คเวลาเข้าห้องเรียน
เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีนักศึกษามาฟังและจดจำหรือ "เชื่อ" สิ่งที่ตนบรรยายมากกว่าการสร้างนักศึกษาที่เป็น
"นักคิด" หรือ "ปัญญาชน" (และดูเหมือนว่านอกจากอาจารย์ไทยหลายท่านจะไม่ตระหนักถึงความผิดพลาดเชิงตรรกดังกล่าวแล้ว
หลายท่านยังกลับเต็มไปด้วยทักษะในการ "เสี้ยมคนให้ไปอยู่ตรงเขาควาย"
ไปเสียอีก)
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะได้ยินได้ฟังอาจารย์คณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง สามารถอธิบายความชอบธรรมของรัฐประหารด้วยเหตุผลประเภท "คุณจะเลือกอะไรระหว่างรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือดในคืนวันที่ 19 กันยาฯ หรือจะต้องรอให้มีการนองเลือดที่มี "ลางบอกเหตุ" ว่าจะเกิดในวันที่ 20 กันยา เกิดขึ้นเสียก่อน" ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ปลายปี 2548 ถึงกลางเดือนกันยายน 2549 นั้น มีการชุมนุมมาแล้วรวมเป็นเวลาหลายสิบวัน และยังไม่มีการนองเลือดเกิดขึ้น และก็ยังไม่มีหลักฐานใดใดที่ชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมวันที่ 20 กันยายน 2549 จะต่างไปจากครั้งก่อนๆ อย่างไร (นอกเหนือไปจากข่าวลือที่ปล่อยจากฝ่ายที่จะจัดชุมนุม ซึ่งมีหลักฐานแวดล้อมว่าบางกลุ่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร) (6)
นอกจากปัญหา "ทางสองแพร่งลวง" จะเกิดขึ้นในกรณีที่ในความเป็นจริงมีทางเลือกที่มากกว่าสองทางแล้ว ยังมีโอกาสเกิดขึ้นกับกรณีที่เราหลงเชื่อว่าจะต้องเลือกทางหนึ่งทางใดจากทางเลือกทั้งสองเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงสามารถเลือกใช้ทั้งสองทางประกอบกันได้ ตัวอย่างเช่น ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การใช้นโยบายสมานฉันท์ (ที่อดีตนายกทักษิณดูแคลนว่าเป็น "นโยบายปูผ้ากราบ") กับชาวมุสลิมโดยทั่วไป กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด (และเป็นธรรม) กับผู้ที่ก่ออาชญากรรม ก็สามารถดำเนินการไปด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องเลือกเอาทางหนึ่งทางใดเท่านั้น
หรือการดำเนินคดีกับนักการเมือง ก็สามารถดำเนินการไปพร้อมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการทำรัฐประหารและห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมหลักของตนเสมอไป (แน่นอนว่าทั้งสองกรณีที่กล่าวถึงเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก แต่การเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม ก็มักจะมีผลทำให้ผู้เลือกต้องทำงานที่ยากกว่าการเลือกเดินทางลัด หรือเดินเส้นทางที่สะดวกสบายมิใช่หรือ?)
จนถึงทุกวันนี้ ที่เหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ก็ยังไม่เห็นวี่แววที่สังคมไทยจะหลุดพ้นไปจากกับดักทางสองแพร่งลวงอันนี้เลย ทัศนะแบบนี้มีผลต่อการทำงานของหลายฝ่าย ในขณะนี้ เรามีคณะรัฐประหารที่บอกว่าตัวเองเป็นสุภาพบุรุษ (7) และเสนอนโยบายสมานฉันท์ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นสมานฉันท์ภายใต้ "ความเงียบ" (แบบที่ให้ผู้ที่มีความเห็นต่างออกไปสงบปากสงบคำเสีย)
สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยก็ยังคงตกอยู่ในกับดักนี้จนหลายท่านคงจะยังทำหน้าที่ "กองเชียร์" แทน "หมาเฝ้าบ้าน" ไปอีกสักพักใหญ่ (อาจจะจนกระทั่งหายกลัวว่า "[ระบอบ]ทักษิณจะกลับมา") แต่สำหรับนักวิชาการที่เป็น "ปัญญาชน" อีกหลายท่านที่ไม่ได้มีเจตนาหวังเดินทางลัดเข้าสู่ศูนย์อำนาจใดใดนั้น ผู้เขียนขออนุญาตส่งเสียงร้องเรียกดังๆ ว่า "ไหนๆ ก็ผ่านมาเป็นปีแล้ว เมื่อไหร่ท่านจะลงจากเขาควายมาทำหน้าที่ของตัวเองกันเสียที?"
หมยเหต : ฉบับย่อของบทความนี้ตีพิมพ์ใน มติชน 10 เมษายน 2550
เชิงอรรถ
(1) และเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่คุณสนธิยึดถือปฏิบัติมานานเช่นกัน เช่น ตั้งแต่ในยุคที่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์พาดหัวข่าวว่า " 'สนธิ' ฟันธงทักษิณเป็นนายกที่ดีที่สุดของไทย" เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2547 http://www.manager.co.th/tdweekly/ViewNews.asp?NewsID=2000000054287 (access เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2549 แต่ปัจจุบันข่าวนี้ถูกลบออกจาก server ของเว็บผู้จัดการไปแล้ว )
(2) และตลกร้ายที่บางท่านในกลุ่มนี้เจออีกก็คือ เมื่อบางท่านออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร โดยเน้นถึงความสำคัญของหลักการประชาธิปไตย ก็ได้รับคำวิจารณ์กลับมา (จากบางท่านที่เคยเคลื่อนไหวในวาทกรรม "เลือกข้าง") ว่าพวกเขาเป็นพวก "fundamentalist ที่หลับหูหลับตายึดหลักการอย่างสุดโต่ง" และบอกว่าข้อดีของสังคมไทยคือ "ความไม่สุดโต่ง" และความเป็น "pragmatism" ไปเสียอีก
(3) แม้กระทั่งการเลือกตั้งที่ถือว่า "สูสีมาก" ก็มักจะแพ้ชนะกันเป็นหลายร้อยหรือเป็นพันเสียง
(4) http://www.tu.ac.th/news/2006/11/01-rect.htm#rector แต่แม้กระทั่งในกรณีนั้น ลูกศิษย์หรือศิษย์เก่าของสถาบันของท่านก็อาจจะถามกลับได้ไม่ยากว่า ถ้าท่านจะยินยอมเสียสละตนเองลงนรกแล้วไซร้ มีความจำเป็นใดที่จะต้องดึงสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและประวัติอันยาวนานด้านประชาธิปไตยไปลงนรกกับท่านด้วย
(5) สำหรับตัวอย่าง "ทางสองแพร่งจริง" ได้แก่ ทางเลือกของ คมช. (และ/หรือรัฐบาล) ว่าจะให้คุณทักษิณอยู่ต่างประเทศต่อไปหรือกลับมาเมืองไทย (ซึ่งเรื่องนี้ก็คงเป็นทางสองแพร่งจริงของคุณทักษิณด้วยเช่นกัน)
(6) ในความเป็นจริง แม้กระทั่งนักวิชาการที่มีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการวิเคราะห์แบบนี้ไปเสียหมด ตัวอย่างเช่น ในการอภิปรายเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ก็วิเคราะห์ถึงการชุมนุมในปี 2549 ว่า "ถ้ารัฐบาลไม่ปราบ ก็จะไม่มีความรุนแรง ... แล้วถามว่ารัฐบาลจะปราบไหม ผมบอกว่าทันทีที่รัฐบาลปราบคืออวสานของรัฐบาล แล้วในที่สุดเหตุการณ์ก็ผ่านมาได้" (Thailand สุดสัปดาห์ 11-17 มีนาคม 2550) ถึงกระนั้นก็ตาม คณะรัฐประหาร (ซึ่งเคยมีหลายท่านบอกว่ามีการเตรียมตัวมาล่วงหน้าหลายเดือน และไม่ได้อ้างเหตุผลนี้ในประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับแรก) ก็ยังนำเหตุผลที่ว่าทำรัฐประหารเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดมาอธิบายในภายหลังหลายครั้ง
(7) บางท่านถึงกับบอกว่าท่านเป็น "วีรบุรุษ" ที่ไม่ต้องสนใจเสียงวิจารณ์ เพราะเสียงเหล่านี้ย่อมเป็นของ "ศัตรู" เสียด้วยซ้ำไป
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com