โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 4 June 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๖๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 04, 06,.2007)
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

พิพิธภัณฑ์ ในความคิดของ Anderson (1995) แล้วนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติถือเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์แห่งชาติที่มีพลัง เป็นเรื่องของการแสดงออกและถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกิดขึ้นอย่างมากมายในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมมาก่อน พิพิธภัณฑสถานจึงกลายเป็นพื้นที่แสดงออกซึ่งอัตลักษณ์แห่งชาติ โดยใช้เหตุการณ์ในอดีตหรือประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เรามีร่วมกัน การมีสายสัมพันธ์ร่วมกัน มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ หรือร่วมอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน
04-06-2550

Practice of Representation
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

การประกอบสร้างภาพแทนความเป็นไทยผ่านสถาบัน
วาทกรรมความเป็นชาติไทยในจินตนาการผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์

ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม : เขียน
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความทางวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
ปฏิบัติการสร้างภาพตัวแทน: กรณีศึกษาที่ ๑
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกับภาพตัวแทนประวัติศาสตร์ชาติไทย
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตสาร ตัวสื่อ และผู้รับสารผ่านสื่อ
ศึกษากรณีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- ใต้ร่มพระบารมี: ความโชคดีของปวงชนชาวไทย
- ชะตาเมืองตก และการล่มสลาย
- กลวิธีการสร้างภาพตัวแทนผ่านสื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- ปฏิบัติการสร้างภาพตัวแทน: อำนาจแบบแฝงเร้นของพิพิธภัณฑ์
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๖๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การประกอบสร้างภาพแทนความเป็นไทยผ่านสถาบัน
วาทกรรมความเป็นชาติไทยในจินตนาการผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์
ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม : เขียน
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทนำ
เมื่อพิจารณาพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของนิเทศศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากสำนักสัญวิทยา ที่เรียกขานทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าว่า "สื่อ" หากว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีความหมายที่มากไปกว่าตัวของมันเอง เราก็จะพบว่า พิพิธภัณฑ์มีคุณลักษณะของความเป็นสื่ออยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น การเป็นเครื่องแทนความทรงจำถึงอดีต การเป็นเครื่องมือสร้างจิตสำนึกและตอกย้ำอัตลักษณ์ร่วมแห่งความเป็นชาติหรือชุมชนเดียวกัน การเป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้หรือให้การศึกษานอกระบบ การเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization)

ที่สำคัญคือ การที่เราพูดถึง "พิพิธภัณฑ์" ในฐานะภาพตัวแทนของประเด็นและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการประกอบสร้างความหมาย จากการใช้วัตถุสิ่งของ เทคนิคการเล่าเรื่อง รวมถึงการออกแบบพื้นที่ ฯลฯ ที่ผู้จัดหรือภัณฑารักษ์ต้องการสื่อหรือแสดงออกมาว่าอยากจะนำเสนอ "ภาพตัวแทนของความเป็นชาติหรือชุมชน" ภายในพิพิธภัณฑ์ของตนออกมาสู่สายตาของบุคคลภายนอกอย่างไร

ทั้งนี้ หากว่าเราพิจารณาประเภทของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน โดยเฉพาะในส่วนของการจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของชาติ หรือประวัติศาสตร์ของชุมชนมาเทียบเคียงเข้ากับแนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยม ก็จะได้พบว่า พิพิธภัณฑสถานถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสำนึกความเป็นพวกเดียวกัน หรือที่ Benedict Anderson เรียกว่าการเป็น ส่วนหนึ่งของ "ชุมชนในจินตนาการ"

ความรู้สึกถึงความเป็นชาติเดียวกันผ่านจินตนาการดังกล่าวนั้น ถูกสร้างและแสดงออกตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ผ่านทางระบบการศึกษา สื่อมวลชน หรือกระทำผ่านทาง "สื่อ" ในหลากรูปแบบและหลายแนวทางด้วยกัน อาทิ ตำนาน วรรณกรรม บทเพลง บทละคร คำขวัญ หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ แผนที่ ธงชาติ อนุสาวรีย์ และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เป็นต้น

ในกรณีของพิพิธภัณฑ์ ในความคิดของ Anderson (1995) แล้วนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติถือเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์แห่งชาติที่มีพลัง เป็นเรื่องของการแสดงออกและถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกิดขึ้นอย่างมากมายในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมมาก่อน พิพิธภัณฑสถานจึงกลายเป็นพื้นที่แสดงออกซึ่งอัตลักษณ์แห่งชาติ โดยใช้เหตุการณ์ในอดีตหรือประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เรามีร่วมกัน การมีสายสัมพันธ์ร่วมกัน มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ หรือร่วมอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ผ่านสัญญะหรือสิ่งแสดงต่างๆ ที่ผู้เข้าชมทุกคนจะได้แบ่งปันความรู้สึกและจินตนาการถึงความเป็นพวกเดียวกัน เป็นชาติหรือชุมชนเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การที่ความเป็นตัวตนของชาติหรือชุมชนถูกสร้างผ่านสื่อพิพิธภัณฑสถาน การที่พิพิธภัณฑ์ถือเป็นพื้นที่สำหรับการบริโภคอัตลักษณ์ที่ถูกกำหนดมาให้แล้วนั้น ได้ซ่อนนัยสำคัญแต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า

(1) สิ่งที่เราควรจดจำ ระลึกถึง และยึดถือเป็นอัตลักษณ์ร่วมกันนั้นคืออะไร ซึ่งในกรณีของ Anderson คืออุดมการณ์ทางการเมืองที่มีร่วมกัน และในกรณีของ Delaney คือ ประวัติศาสตร์หรืออดีตของชาติที่มีร่วมกัน
(2) สิ่งที่ได้เห็นหรือไม่ได้เห็นนั้นมีความหมายเสมอ
(3) สิ่งที่เลือกให้ได้เห็นหรือเลือกให้ไม่เห็นเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างความรู้/อำนาจ เช่น การนำเสนอเนื้อหาและการออกแบบในการจัดแสดงที่ต้องได้รับการอนุมัติก่อน และ
(4) สิ่งที่ไม่เห็นหรือไม่ถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์นั้นคืออะไรที่ "ไม่ใช่เรา"

ดังนั้น แม้ว่าพิพิธภัณฑ์จะมีลักษณะของการเป็นสื่อที่โปร่งใส เป็นของจริง ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาติ เมือง หรือชุมชน แต่ทว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการ "ประกอบสร้าง" จากสัญญะหลากแบบที่ผ่านการคัดออกหรือเลือกใช้ แล้วนำมาร้อยเรียงกันเพื่อเล่าเรื่องหรือส่งผ่านความหมายที่ผู้ส่งต้องการสื่อออกมา ภาพตัวแทนความเป็นชาติหรือความเป็นชุมชนผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่จะต้องแปลความหมาย และสำหรับสาขาวิชานิเทศศาสตร์กับเรื่องเล่าที่บอกกล่าวถึงความเป็นตัวตนในในพิพิธภัณฑ์แล้วนั้น สิ่งที่ควรคำนึงก็คือ ใครคือ "ผู้เล่าเรื่อง"/เล่าอย่างไร/เล่าอะไร และ "อำนาจหรือพลังของการเล่าเรื่อง" นี้อยู่ที่ไหน/ทำงานอย่างไร/ทำงานให้กับใคร

วัตถุประสงค์
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยให้เห็นถึงปฏิบัติการสร้างภาพตัวแทนของประวัติศาสตร์ชาติไทย ณ ห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย อาคารพระที่นั่งศิวโมกพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ว่าได้สร้างภาพตัวแทนในแบบใด ภาพนั้นสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และมีปัจจัยใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกและนำเสนอภาพตัวแทนดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในบทความนี้มิได้เกิดจากความมุ่งหมายที่จะวิพากษ์ประวัติศาสตร์กระแสใดๆ แต่เป็นความมุ่งหมายในการศึกษาปฏิบัติการสร้างภาพตัวแทน (the practice of representation) อันเนื่องมาจากความสนใจของผู้เขียนต่อธรรมชาติความเป็น "สื่อ" ของพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น เพราะธรรมชาติของความเป็นพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว มีนัยยะอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ได้เห็นหรือไม่ได้เห็นภายในพิพิธภัณฑ์นั้นมีความหมายเสมอ

ภาพตัวแทนผ่านสื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
"ใต้ร่มพระบารมี: ความโชคดีของปวงชนชาวไทย"

เมื่อได้เข้าชมการจัดแสดงเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย ณ อาคารพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้เขียนได้พบว่า ภาพตัวแทนที่ปรากฏ ณ ห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์แห่งนี้ก็คือ ภาพแห่งความโชคดีของปวงชนชาวไทยที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบารมีของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งผืนแผ่นดินไทย ข้อที่น่าสังเกตคือ เมื่อผู้เขียนวิเคราะห์ตนเองว่า ความรู้สึกถึงความหมายหรือภาพตัวแทนดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบที่ได้ก็คือ ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ดั้งเดิมของตนเอง จากการรับรู้ภาพของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของชาติ การรับรู้ประวัติศาสตร์ในรูปแบบดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากการสร้างและผลิตซ้ำขึ้นในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายช่องทางเผยแพร่ ตลอดวันเวลาที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น การเรียนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน รวมถึงการอ่านหนังสือในประวัติศาสตร์ นวนิยาย การชมละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหายกย่องและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มหาราชพระองค์ต่างๆ หรือการได้มีโอกาสเข้าชมเหตุการณ์แสงสีเสียงในวันสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทย เช่น การแสดงแสงสีเสียงเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของจังหวัดสุพรรณบุรี ฯลฯ จนกระทั่งเป็นประสบการณ์และความรู้สึกเชิงบวกที่ติดตัวมากับผู้เขียน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการอ่านความหมายในระหว่างการเข้าชมสิ่งแสดงต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์

ประการที่สอง
เป็นการอ่านความหมายจากสิ่งแสดงต่างๆ ผ่านการชมภาพ/ข้าวของ และอ่าน/ฟังตัวบทจัดแสดงต่าง ภายในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งนี้ ผู้เขียนได้พบว่า สาเหตุในประการแรกนั้นเอื้อให้ผู้เขียนในฐานะของนักท่องเที่ยวทั่วไป อ่านภาพความหมายจากนิทรรศการประวัติศาสตร์ชาติไทยออกมาเป็นภาพแห่งความโชคดีของปวงชนชาวไทยได้อย่างง่ายดาย

ข้อค้นพบดังกล่าวมีความหมายว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้เขียนในฐานะผู้รับสารของสื่อพิพิธภัณฑ์ สามารถอ่านความหมายได้ตรงตามที่ผู้ส่งสารต้องการนั้น เป็นเพราะเนื้อหาของประวัติศาสตร์ ชาติไทย "ของเดิม" ที่ได้รับมาจากประสบการณ์ผ่านสื่อและภูมิหลังด้านการเรียนนั้น สอดคล้องและสอดรับกับเนื้อหาประวัติศาสตร์ "ของใหม่" ที่นำเสนอผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น เมื่อถูกกระตุ้นเร้าผ่านช่องทางการมอง การฟัง และการสัมผัสกับสื่อหรือสัญญะภายในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ อย่างซ้ำๆ ตามจำนวนที่เข้าศึกษาข้อมูล สารใหม่กับสารเก่าจึงผนวกเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี

ภาพตัวแทนหรือเรื่องราวแห่งความโชคดี ความสงบสุขร่มเย็นของชาวไทย ผู้ที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้ถูกผูกเรื่องราวเข้ากับความเป็นเอกราชของชาติไทย โดยมี "พระมหากษัตริย์" เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการปกป้องประเทศชาติและความสงบสุขแห่งประชาชน นั่นคือ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงแบกรับพระราชภาระเพื่อความเป็นเอกราช ความเจริญรุ่งเรืองของชาติ รวมถึงทรงเสียสละทุ่มเทพระวรกายเพื่อความผาสุกร่มเย็นของพสกนิกรของพระองค์

ในขณะเดียวกัน ความโชคดีของชาวไทย ยังเกิดขึ้นจากการที่เราได้อยู่ใต้เบื้อง พระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถในการปกครองประเทศ และทรงปกครองประเทศด้วยหลักทศพิธราชธรรม หรือหลักธรรมของพระราชา นอกเหนือจากนั้นแล้ว พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยยังมิได้เพียงแต่ "ครองแผ่นดิน" แต่ตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ แต่ละพระองค์แต่ละยุคสมัย ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ เพื่อที่จะปกป้องทะนุบำรุงประเทศชาติและดูแลทุกข์สุขของราษฎร โดยเฉพาะพระราช กรณียกิจในด้านการป้องกันอาณาเขตแห่งชาติ ที่เรื่องเล่าภายในอาคารพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทำให้เห็นภาพการรบเพื่อปกป้องเอกราชและความสงบสุขรุ่งเรืองของชาติของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ "ทั้งรบด้วยกำลังสมองและรบด้วยกำลังกาย" ซึ่ง ภาพสะท้อนดังกล่าวได้ปรากฏออกมาในทุกยุคทุกสมัยของประวัติศาสตร์ชาติไทย

สำหรับภาพตัวแทนแห่งความโชคดีของคนไทยที่ได้อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริยาธิราชแห่งชาติไทยนี้ สามารถยกตัวอย่างผ่านการจัดแสดงประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย โดยเริ่มต้นจากยุคสมัยจากอดีตอันห่างไกลที่สุดจนถึงอดีตที่ใกล้กับปัจจุบันที่สุด คือ สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ดังต่อไปนี้ คือ

การจัดแสดงนิทรรศการในสมัยสุโขทัย ในสมัยการปกครองของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สิ่งแสดงต่างๆ ในนิทรรศการประวัติศาสตร์สมัยนี้ สามารถทำให้ผู้ชมเกิดจินตนาการถึงชีวิตที่สงบสุขของประชาชนในยุคสมัยนั้น ที่เกิดขึ้นจากความสงบสุขปลอดภัย จากลักษณะของการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ความสงบสุขจากภาวะไร้ศึกของแผ่นดิน และความสงบสุขจากพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านต่างๆ

ผู้เขียนได้พบว่า พระปรีชาสามารถของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทั้งในเรื่องของการ "รบด้วยสมองหรือรบด้วยกำลังปัญญา" ได้ถูกนำเสนอผ่านสิ่งแสดงต่างๆ เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น ภาพของแผนที่แสดงตำแหน่งของหัวเมืองในสมัยอาณาจักรสุโขทัย และภาพสถานที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหัวเมืองนั้นๆ อันแสดงให้เห็นอาณาเขตของสุโขทัยที่แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

อีกตัวอย่างหนึ่งนั้น คือการจัดแสดงศิลาจารึกจำลองหลักที่ 1 ยกแท่นสูงจากทางเดิน ล้อมรอบด้วยแท่นอธิบายที่มาของศิลาจารึกดังกล่าว พร้อมทั้งคำอธิบายการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้ศิลาจารึกหลักนี้เป็นเอกสารมรดกไทย เอกสารมรดกโลก และจดทะเบียนให้เป็นเอกสารมรดกแห่งความทรงจำของโลก (memory of the world) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2546 ในขณะที่ภาพพื้นหลังเป็นรูปอักษรลายสือไทยพร้อมคำแปลประวัติของพ่อขุนรามคำแหง เพื่อเน้นการยกย่องพระอัจฉริยภาพในการประดิษฐ์และคิดค้นตัวอักษรไทยขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับชาติไทยของพระองค์ เนื่องด้วย ตัวบทนี้จบลงด้วยประโยคที่ว่า "เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี 1205 ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไทนี้จึงมี"

การจัดแสดงนิทรรศการในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตัวอย่างเช่น การแสดงให้เห็นถึงพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งเป็น "มหาราช" ของปวงชนชาวไทยในปัจจุบัน 2 พระองค์ โดยมหาราชพระองค์แรก คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ "ยกอิสรภาพคืนเมือง" ด้วยวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ คือ สงครามยุทธหัตถีในปีพ.ศ. 2136 เป็นผลให้กรุงศรีอยุธยาเป็นไทจากเมืองหงสาวดีอย่างเด็ดขาด และมหาราชพระองค์ที่สอง คือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช รัชสมัยอันยาวนานถึง 32 ปีของพระองค์เป็นยุคของการ "เฟื่องฟูอารยะประเทศ" รวมถึงศิลปวิทยาการด้านต่างๆ ของไทยเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ภาพสะท้อนจากประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งเน้นและย้ำให้เราคนไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงนำพาประเทศเป็นเอกราชและอยู่ได้อย่างร่มเย็น

หากเทียบเคียงภาพตัวแทนที่พบของประวัติศาสตร์ชาติไทยใน 2 ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จะสังเกตได้ว่า ในขณะที่รัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น สถานการณ์บีบบังคับให้ทรงต้องเลือกวิธีการกู้ชาติ เพื่อสร้างอิสรภาพให้กับชาวไทย และสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาเขตของชาติไทยด้วยการศึกสงคราม อันแสดงออกผ่านตู้จัดแสดงเหตุการณ์จำลองการศึกสงครามในสมัยของพระองค์ ตัวอย่างเช่น ตู้จำลองเหตุการณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ตู้จำลองเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ หรือ ตู้จำลองเหตุการณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปีนค่ายพม่า เป็นต้น

แต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อทรงมีทางเลือกเพราะขณะนั้นประเทศชาติตั้งอยู่ในความเป็นไทยแล้ว จึงทรงเลือกวิธีการปกป้องเอกราชของประเทศชาติด้วยการประสานประโยชน์ที่เรียกว่าวิธีการ "เปิดประตูสู่ตะวันตก" แทน เพื่อที่การสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น นอกเหนือจากจะได้ปรับประยุกต์เอาสิ่งที่ดีที่มีประโยชน์มาใช้กับประเทศไทยแล้ว ยังจะได้หลีกเลี่ยงการทำศึกสงครามอีกด้วย ดังที่ผู้เข้าชมจะได้เห็นตู้แสดงเหตุการณ์จำลองการรับราชทูตฝรั่งเศสที่พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท หรือภาพวาดเหตุการณ์จำลองในเหตุการณ์ที่ราชทูตไทยนำโดยออกพระญาวิสูตรสุนทร หรือ โกษาธิบดี (ปาน) นำพระราชสาส์นไปถวาย พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นต้น

การจัดแสดงนิทรรศการในสมัยกรุงธนบุรี ตู้จัดแสดงเหตุการณ์และตัวบทบรรยายเหตุการณ์ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แสดงให้เห็นถึงการเสียสละตนเองเพื่อชาติตลอดรัชสมัยของพระองค์ และพระปรีชาสามารถในการศึกสงคราม จนกระทั่งสามารถปราบปรามผู้ที่ตั้งตนเป็นใหญ่และกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่าได้

ข้อที่น่าสังเกตคือ ความหมายที่พบจากสัญญะในการจัดแสดงในประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีเหล่านี้ ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นในการขึ้นมาเป็น "ผู้นำชาติไทย" ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ทว่าตัวบทที่บอกเล่าเรื่องราวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้น มิได้กล่าวถึงความเป็นมาหรือ "ชาติกำเนิด" ของพระองค์ ที่ทรงเป็น "ลูกจีน" และเป็น "สามัญชน" เลย และด้วยวิธีการนี้ เราจึงได้เห็นภาพสะท้อนทางความคิดของกลุ่มผู้ส่งสาร ถึงความคิดเกี่ยวกับภาพคุณสมบัติของ "สามัญชน" ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งของพระมหากษัตริย์แห่งชาติในสมัยก่อนได้ว่าจะต้องเป็นเช่นไร และในกรณีนี้คือการมีคุณสมบัติของการเป็นผู้กอบกู้เอกราชของชาติ หรืออิสรภาพของผืนแผ่นดินไทย

ข้อสังเกตนี้มีความหมายว่า ด้วยการกระทำดังกล่าว ทำให้พิพิธภัณฑ์กำลังสะท้อนให้เห็นภาพอำนาจของความเป็นสถาบันพิพิธภัณฑ์ผ่านปฏิบัติการจัดแสดง เนื่องด้วยสิ่งที่พิพิธภัณฑ์กำลังทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า อำนาจนั้นถูกแสดงผ่านปฏิบัติการเลือกหรือไม่เลือกเรื่องของใครมาเล่าแล้วนั้น ยังแสดงออกผ่านการออกแบบวิธีการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของใคร และเล่าถึงประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาใดอีกด้วย นั่นคือ เมื่อได้เลือกมาแล้วว่าจะเล่าเรื่องของใคร ก็จะทำการเลือกต่อว่าจะเล่าอย่างไรหรือด้วยท่าทีเช่นใดต่อตัวบุคคล/เหตุการณ์นั้นๆ และในกรณีของการเล่าเรื่องประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็คือ การเลือกที่จะเชิดชูพระองค์ในฐานะของ ผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทย โดยจงใจที่จะลืมเลือนหรือทำให้ประวัติศาสตร์ชาติกำเนิดของพระองค์ไม่ปรากฏขึ้นมาภายในตัวบทของพิพิธภัณฑ์

การจัดแสดงนิทรรศการในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเข้าชมการจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทยในประวัติศาสตร์สมัยนี้ จะสังเกตได้ว่าเรื่องที่เลือกมาเล่านั้นมีเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9 อันเป็นรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับเป้าหมายในการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ชาติไทย ณ อาคาร พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน โดยมุ่งหมายจะให้การจัดแสดงนิทรรศการนี้เป็นเครื่องระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมมหาราชวงศ์จักรีแล้วนั้น ก็จะทำให้เข้าใจเหตุผลของกลุ่มผู้ส่งสารได้ว่า เป้าหมายของการจัดแสดงนิทรรศการนี้เองที่เข้ามากำกับการเลือก และการนำเสนอประวัติศาสตร์ของชาติไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เป็นการเลือกเฉพาะบางเหตุการณ์มานำเสนอมิใช่การเลือกที่ตัวบุคคล ดังเช่นการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยาที่เลือกทั้งตัวบุคคล คือการนำเสนอเหตุการณ์ของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ และเลือกว่าจะนำเสนอเหตุการณ์ใดในช่วงระยะเวลาการปกครองของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น

ตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การจัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อพระราชกรณียกิจทั้งทางด้านการเมืองและการปกครองของพระองค์ ทำให้ ผู้เข้าชมได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ทางด้านการเมืองการปกครองประเทศ ทั้งเพื่อป้องกันศึกภายในที่อาจจะเกิดขึ้นและศึกภายนอกจากการคุกคามของชาติมหาอำนาจ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ตัวอย่างของสัญญะที่ถูกใช้เพื่อประกอบการจัดแสดงในพระราชกรณียกิจหัวข้อนี้ ประกอบด้วย ตัวบทบรรยายถึงการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยของพระองค์ ใน 2 ระยะ หรือแผนภูมิการปกครองส่วนกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังมีตัวบทและสิ่งแสดงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ของพระองค์ เพื่อพัฒนาประเทศไทยมิให้ "ล้าหลัง" ในสายตาของชาวต่างชาติ ดังเช่น การจัดแสดงภาพกราฟฟิคพร้อมด้วยตัวบทอธิบายเรื่องราวในพระราชกรณียกิจทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของพระองค์ เพื่อพัฒนาประเทศไทย จะสังเกตได้ว่า พระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ของพระองค์ นับเป็นกลยุทธ์เดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่จะผสมผสานและดัดแปลงวัฒนธรรมตะวันตกให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย ตามความ "ศิวิไลซ์" ที่ชาติตะวันตกเป็นผู้ตั้งดัชนีชี้วัดขึ้น การดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวนี้เพื่อป้องกันมิให้ชาติตะวันตกอ้างเป็นสาเหตุเข้ายึดครองพื้นที่ เนื่องจากบรรดาประเทศตะวันตกที่เดินทางเข้าสู่ดินแดนแถบเอเชียในสมัยนั้น มักจะใช้สาเหตุของความล้าหลังเพื่อเข้ายึดครองประเทศในเอเชียให้เป็นอาณานิคมของตน

นอกจากนั้นแล้ว ยังอาจกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากสายพระเนตรอันยาวไกลและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกลยุทธ์เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยที่ ตรงใจ หุตางกูร (2549) นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้สรุปพัฒนาการของ "พิพิธภัณฑ์แห่งกรุงสยาม" ไว้ว่า แต่เดิมนั้นกำเนิดของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหรือพิพิธภัณฑ์แห่งกรุงสยามนี้ มาจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะ "เก็บสะสมสิ่งของนานาชนิดไว้เพื่อ เที่ยวชมเป็นการส่วนพระองค์ หรือพาแขกบ้านแขกเมืองมาเที่ยวชม" และเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าชม "มูเสียมของวังหลวง"

ชะตาเมืองตก และการล่มสลาย
อย่างไรก็ตาม ภาพที่พบภายในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย ยังได้ปรากฏภาพในทางกลับกันให้ได้เห็นด้วยเช่นกัน และภาพนั้นแสดงออกมาให้ได้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นสาเหตุแห่งความโชคร้ายของชาติได้ด้วยเช่นกัน โดยที่สาเหตุแห่งความล่มสลายของชาตินั้นจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขใน 2 ประการ คือ

- โดยตัวของพระมหากษัตริย์เองที่ทรงมี พระปรีชาสามารถในการปกครองไม่เพียงพอ ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และ
- เหล่าขุนนางที่ไม่มีความซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และพร้อมที่จะโอนเอียงไปฝักใฝ่ฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่นตัวบทบรรยายในหัวข้อ "ชะตาเมืองตก" ที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอและ ไร้พระปรีชาสามารถในการปกครองประเทศของผู้ครองบ้านเมือง ตัวบทได้เน้นให้เห็นว่าการเสียเอกราชของชาติไทยใน 2 ครั้ง 2 คราวจนถึงแก่กาลอวสานนั้น เกิดจากศึกภายในมิใช่ศึกภายนอก

"ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ทำให้กรุงศรีอยุธยาพัฒนาขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองราชอาณาจักรอยุธยาจึงเป็นตำแหน่งที่มีพระราชอำนาจอย่างยิ่ง กลุ่มชนชั้นปกครองในช่วงเวลานั้น ได้แก่ เจ้านายราชวงศ์อู่ทอง เจ้านายราชวงศ์สุพรรณภูมิ เจ้านายราชวงศ์สุโขทัย และเจ้านายราชวงศ์ศรีธรรมราชโศกราช ซึ่งมีความผูกพันกันในลักษณะเครือญาติ ได้สับเปลี่ยนกันเข้ามาปกครองกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางทางการเมืองภายในราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ตามในด้านการทหารก็ยังมีความเข้มแข็งพร้อมที่จะขยายอำนาจออกไปยังดินแดนอื่นๆ

กรุงศรีอยุธยาได้แผ่อำนาจเข้าไปทางตะวันตกทางดินแดนมอญ และทางด้านเหนือเข้าไปยังอาณาจักรล้านนา การขยายอาณาเขตเข้าไปยังดินแดนดังกล่าวทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเผชิญกับพม่า ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณาจักรที่มีแสนยานุภาพทัดเทียมกับอาณาจักรอยุธยา และกำลังแผ่อำนาจเข้ามาในดินแดนมอญและล้านนาเช่นเดียวกัน สงครามระหว่างไทยกับพม่าครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมืองเชียงไกรเชียงกรานเมื่อปีพุทธศักราช 2081 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ระหว่างปีพุทธศักราช 2077-2089)

หลังสงครามเมืองเชียงกรานอยุธยากับพม่าได้ทำสงครามกันหลายครั้ง จนกระทั่งปลายปีพุทธศักราช 2111 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช พม่าได้ยกกองทัพเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นสมเด็จพระมหินทราธิราชไม่สนพระทัยในการศึก อีกทั้งยังทรงแต่งตั้งให้พระยาจักรี ซึ่งเป็นคนไทยที่เป็นไส้ศึกของฝ่ายพม่า เป็นผู้บัญชาการรักษา พระนคร พระยาจักรีได้ดำเนินการทุกวิธีทางที่จะทำให้กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง จนในที่สุด กรุงศรีอยุธยาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 9 เแรม 11 ค่ำ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 2112"

หรือตัวอย่างของตัวบทบรรยายในหัวข้อ "เหตุแห่งความล่มสลาย" ที่ปรากฏย้ำให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ศึกภายในเป็นสาเหตุสำคัญแห่งความล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2

"การปกครองกรุงศรีอยุธยาขึ้นอยู่กับกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในการปกครอง โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำ ความมั่นคงทางการเมืองของพระมหากษัตริย์จึงขึ้นอยู่กับคณะขุนนางของพระองค์ เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดมีพระปรีชาสามารถในการปกครองไม่เพียงพอ ย่อมจะถูกโค่นราชบัลลังก์ได้โดยง่าย ประสบการณ์อันเลวร้ายในการแย่งชิงราชบัลลังก์จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และไม่ได้รับการแก้ไขจนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ด้วยเหตุนี้คณะผู้ปกครองจึงเกิดความหวาดระแวงที่จะสูญเสียอำนาจของตนเอง ฝักใฝ่แต่การศึกภายในละเลยศึกจากภายนอกราชอาณาจักร อีกทั้งพวกบรรดาขุนนางทั้งหลายมิได้มีความซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หากแต่พร้อมที่จะโอนเอียงไปฝักใฝ่ฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าได้ทุกเวลาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง จึงทำให้ราชสำนักอยุธยาขาดความเป็นปึกแผ่น บ้านเมืองเสื่อมโทรม นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาต้องเสียอำนาจแก่พม่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดอำนาจราชธานีศรีอยุธยาที่มีมานานถึง 417 ปี"

เป็นที่น่าสังเกตว่า เพราะเหตุใดจึงต้องมี การนำเสนอภาพตัวแทนของพระมหากษัตริย์ในแง่ลบดังกล่าวให้ปรากฏออกมาด้วย ในทัศนะของผู้เขียนนั้น คาดว่าสาเหตุดังกล่าวนั้นอาจมีที่มาดังต่อไปนี้คือ

(1) เป็นการแสดงอำนาจของปฏิบัติการจัดแสดง เพื่อให้ภาพของพระมหากษัตริย์ที่ดีและไม่ดีได้ปรากฏขึ้นมาควบคู่กัน เนื่องจาก การเทียบเคียงด้วยหลักการขั้วตรงกันข้าม หรือ binary opposition นี้ จะทำให้ผู้รับความหมายได้เห็นในสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ผลก็คือ ผู้เข้าชมการจัดแสดงจะรู้สึกถึงความหมายหรือภาพแห่งความโชคดีของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความหมายของความโชคดีที่ว่า การที่เราได้อยู่อย่างสงบสุข อยู่อย่างมีอิสรภาพ เป็นเพราะเราได้อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยผู้ทรงทศพิธราชธรรม และทรงพระปรีชาสามารถในการปกครอง

(2) เป็นการแสดงอำนาจของสถาบันพิพิธภัณฑ์
ในประการแรกนั้นเป็นการแสดงอำนาจทางวิชาการพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ได้เห็นว่า พิพิธภัณฑ์กำลังแสดงโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และไม่มีบิดเบือน ด้วยการเลือกที่จะแสดงให้เห็นถึงภาพของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงเป็นสาเหตุแห่งความล่มสลายของประเทศชาติ แทนที่จะเลือกด้วยการไม่พูดถึง และ

ในประการที่สองนั้น เป็นการแสดงอำนาจของสถาบันพิพิธภัณฑ์ ในฐานะของการเป็นเครื่องมือกำกับคุณธรรม/พฤติกรรม โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวชาวไทย ในฐานะของผู้รับสาร ผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ในฐานะ "ข้าของแผ่นดิน" ด้วยการแสดงให้เห็น ภาพแบบอย่างของพฤติกรรมความประพฤติที่ควรกระทำ และจะ "ต้องไม่กระทำ" ที่เชื่อมโยงกับภาพของความโชคร้ายเพราะขาดความสงบสุข และที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือ การหมดสิ้นซึ่งเอกราชของชาติไทย

กลวิธีการสร้างภาพตัวแทนผ่านสื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ผลจากการศึกษานิทรรศการการจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทยภายในอาคารพระที่นั่ง ศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทำให้ผู้เขียนได้พบว่า "กลยุทธ์การสื่อสาร/กลวิธีการเล่าเรื่อง" หรือเรียกว่า "วิธีการเข้ารหัสแห่งความหมาย" เพื่อประกอบสร้างภาพตัวแทนใต้ร่มพระบารมี ภายในช่องทางพิพิธภัณฑ์นี้ มี 2 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย

(1) กลยุทธ์ในเรื่องของการใช้เวลา และ
(2) กลยุทธ์ในเรื่องของการใช้ปริบทจัดแสดง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ

(1) กลยุทธ์ในเรื่องของการใช้ "เวลา"
กลยุทธ์ในเรื่องของเวลา หรือ specific time management strategy นี้ประกอบไปด้วยเวลาที่ถูกซ่อนไว้จากการมอง เวลาที่ถูกเปิดเผยออกมา และการเรียงลำดับของกาลเวลา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการจัดเรียงลำดับหัวข้อการจัดแสดงภายในห้องแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย นับตั้งแต่การแสดงนิทรรศการกำเนิดชนชาติไทยและก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย การจัดแสดงนิทรรศการพัฒนาการบ้านเมืองเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทย การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย การสร้างบ้านแปงเมืองและการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาจนกระทั่งถึงการสิ้นสุดอำนาจราชธานีศรีอยุธยาให้แก่พม่า การตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และการสถาปนาราชวงศ์จักรีและสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงการเรียงลำดับเวลาตามลำดับการปกครองของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ในยุคสมัยนั้นๆ

จากเวลาที่ใช้เป็นกรอบหลักในการนำเสนอในข้างต้น จะทำให้เราเห็นได้ว่า เวลาของทุกยุคสมัยของประวัติศาสตร์ชาติไทยถูกนำมารวมกันภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และในขณะที่เราเห็นเวลาของแต่ละยุคแต่ละสมัยที่มารวมตัวกันอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์อย่างเปิดเผยเช่นนี้ เราก็จะได้พบไปพร้อมๆกันว่า เราได้เห็น "เวลา" ที่ถูกซ่อนไว้จากการมองของผู้เข้าชมด้วย ตัวอย่างเช่นในการจัดแสดงประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา เราจะได้เห็นเวลาในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 สมเด็จพระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เราจะไม่เห็น "เวลา" ของกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาพระองค์อื่นๆ หรือการนำเสนอ "เวลา" ด้วยรูปธรรมผ่านพื้นที่การจัดแสดง ที่ผู้เขียนได้พบว่า ในสมัยพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น เหตุการณ์ในสมัยของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, และรัชกาลที่ 9 ได้รับพื้นที่ในการนำเสนอเหตุการณ์เป็นจำนวนมากใกล้เคียงกัน เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ในการนำเสนอเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 8 เป็นต้น

ทั้งนี้ หากว่าเราพิจารณาในเรื่องกลยุทธ์การใช้เวลา ซึ่งประกอบไปด้วยเวลาที่ถูกซ่อนไว้จากการมอง เวลาที่ถูกเปิดเผยออกมา และการเรียงลำดับของกาลเวลานี้ จะพบว่า กลยุทธ์ดังกล่าวถูกควบคุมด้วยกฎของการเลือกเวลาอยู่ 2 ประการ

ประการแรก คือ กฏว่าด้วยการเรียงตามลำดับของการมาก่อนมาหลังของยุคสมัย เริ่มต้นด้วย ประวัติศาสตร์ในอดีตที่ไกลที่สุดคือ กำเนิดของชนชาติไทย, ต่อด้วยประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย, ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา, ประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งถึงช่วงเวลาปัจจุบันคือสมัยรัชกาลที่ 9 จะพบว่ากฎดังกล่าวนี้เป็นแบบแผนนิยมของพิพิธภัณฑ์โดยส่วนมาก ตัวอย่างเช่น การเข้าชมการจัดแสดงนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของประเทศเวียดนาม เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ หรือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของเมืองยอร์ค ประเทศอังกฤษ เป็นต้น

ทั้งนี้ อาจด้วยเหตุผลว่า เมื่อต้องการจะให้เกิดความรักและภาคภูมิใจต่อความเป็นประเทศชาติในปัจจุบันแล้ว ก็จะต้อง "ผลิตความรู้" ให้กับผู้รับสาร ด้วยการย้อนกลับไปในอดีต ให้เห็นถึงเหตุการณ์แห่งการต่อสู้และฝ่าฟันกว่าจะได้เป็นดังเช่นในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้รับสารได้รับรู้และได้รู้สึก ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการแห่งความเปลี่ยนแปลงของบ้านและเมืองด้วย

ในการใช้กลยุทธ์การเรียงลำดับของกาลเวลานี้ Lewi (2003) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้รับสารหรือ ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ จะถูกนำทางผ่านโครงการสร้างของการจัดแสดง ตามการเรียงลำดับของเวลาที่ติดต่อกันไป จนกระทั่งมองไม่เห็นความตั้งใจหรือเจตนาที่จะเข้ารหัสความหมายของผู้ส่งสาร กลยุทธ์การสื่อสารความหมายผ่านวิธีการเรียง "ลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์" ในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย อาคารพระที่นั่งศิวโมกพิมาน จึงดูเป็นกลยุทธ์ที่โปร่งใส เป็นเรื่องสากล เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ต้องปกปิด เพราะถูกนำเสนอภายใต้ข้อเท็จจริงในการเรียงลำดับเป็นเส้นตรงของกาลเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ สิ่งที่เข้ามาสนับสนุนการใช้กลยุทธ์เรื่องกาลเวลา ก็คือการใช้สัญญะประเภทการจัดเส้นทางการเข้าชมแบบให้เดินทางเดียวต่อเนื่องไปตามเวลาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ภายในห้องแสดงจัดประวัติศาสตร์ชาติไทย ผู้เข้าชมจะต้องเดินชมนิทรรศการตามลำดับของกาลเวลาแบบเส้นตรง ตามที่ผู้จัดได้วางโครงสร้างในการนำเสนอไว้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าการจัดเส้นทางเดินภายในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์นี้จะไม่เข้มงวดถึงขนาดที่ว่าไม่สามารถเดินย้อนกาลเวลากลับมาได้ แต่ผู้เข้าชมส่วนใหญ่ก็จะเดินไปตามลำดับของกาลเวลาตามที่ผู้ส่งต้องการ

ประการที่สอง คือ กฎว่าด้วยการเลือกช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์และช่วงเวลาที่ล่มสลาย และความเจ็บปวดของบ้านเมืองตามชุดการกระทำของตัวละคร เรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่าง ความประพฤติและการกระทำของพระมหากษัตริย์ชาติไทย ในแบบของคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจน จนกระทั่งนำมาสู่ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์และช่วงเวลาที่ล่มสลายของประเทศชาติ ในการนี้ผู้เขียนได้พบว่า "ชื่อของตัวบท" ภายในพิพิธภัณฑ์สื่อสารให้เห็นถึง 2 ช่วงเวลาดังกล่าวอย่างชัดเจน

สำหรับช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ของบ้านเมืองนี้ หากพิเคราะห์แล้วจะพบว่า สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงย่อยๆ ได้ คือ

(1) ช่วงเวลาแห่งการกอบกู้อิสรภาพของบ้านเมือง และ

(2) ช่วงเวลาแห่งการพัฒนาและฟื้นฟูบ้านเมืองหลังจากชนะศึกสงครามแล้ว
ตัวอย่างเช่น ตัวบทที่มีชื่อว่า "ยกอิสรภาพคืนเมือง" จากวีรกรรมสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในปีพุทธศักราช 2136 เป็นผลให้กรุงศรีอยุธยาเป็นไทจากเมืองหงสาวดีอย่างเด็ดขาด หรือตัวบท "การทำนุบำรุงแผ่นดิน" ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ได้ทรงใช้ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำสงครามเพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อาทิ ด้านการทำนุบำรุงขวัญประชาชน ด้านเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน ด้านการศาสนาและศิลปวัฒนธรรมด้วยการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา รวมถึงการชำระพระธรรมคัมภีร์เพื่อสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวง และการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามหลายแห่ง เป็นต้น

สำหรับช่วงเวลาแห่งความล่มสลายของบ้านเมืองนั้น จะอยู่ในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ ตัวบทที่มีชื่อว่า "ชะตาเมืองตก" ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า อันเนื่องมาจากกษัตริย์ผู้ครองแผ่นดินในขณะนั้น ไม่สนพระทัยในการศึก ไม่มีความสามารถในการปกครอง ด้วยการแต่งตั้งให้คนไทยที่เป็นไส้ศึกของพม่าเป็นผู้บัญชาการรักษาพระนคร หรือตัวบท "เหตุแห่งความล่มสลาย" ที่แสดงให้เห็นถึงการเห็นแก่ตัวเอง ความหวาดกลัวที่จะสูญเสียอำนาจของคณะปกครอง จนกระทั่งเกิดฝักใฝ่แต่ศึกภายในและละเลยศึกภายนอก เป็นเหตุให้บ้านเมืองขาดความเป็นปึกแผ่น และต้องเสียอำนาจให้แก่พม่าอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นการสิ้นสุดความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาที่มีมาอย่างยาวนาน

ในขณะที่ช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดของบ้านเมือง ที่แม้ผู้ส่งสารจะมิได้สื่อสารออกมาตรงๆ แต่ก็จะพบได้ในประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแผ่อำนาจของลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอผ่านภาพแผนที่แสดงพื้นที่การเสียดินแดนให้แก่ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ รวมถึง 9 ครั้ง หรือการบอกเล่าเรื่องราวความเสียพระทัยของรัชกาลที่ 5 ในการเสียดินแดนเมื่อ รศ.112 ผ่านสื่ออิเลคโทรนิคส์ระบบสัมผัสหน้าจอให้ตัวบทแบบเสียงบรรยายเกี่ยวกับ พระประวัติของพระองค์

ทั้งนี้ หากว่าเราจะพิจารณา "เวลา" ในแง่มุมของอำนาจแล้วนั้น ก็จะได้พบว่า กลยุทธ์เรื่องของการใช้เวลา เป็นเทคนิควิทยาทางด้านอำนาจที่สำคัญของสถาบันพิพิธภัณฑ์ในการสร้างหรือเชิดชูบางความหมายให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น ด้วยอำนาจในการตัดสินใจเลือกที่จะนำเสนอเวลาของใครและไม่นำเสนอเวลาของผู้ส่งสาร ในขณะเดียวกัน ปฏิบัติการนี้ดูเหมือนว่าจะทำให้ผู้รับสารเป็น passive audience เนื่องจาก ถูกควบคุมการรับรู้ผ่านการจัดแสดงเนื้อหาและการใช้พื้นที่ตามกรอบแห่งกาลเวลา

(2) กลยุทธ์การใช้ "ปริบทการจัดแสดง"
ปริบทของการจัดแสดง (display context) เป็นกลวิธีสำคัญที่ช่วยทำให้จินตนาการของผู้ชมภายในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย อาคารพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถูกเติมเต็มมากยิ่งขึ้น เหตุที่เป็นดังนี้ เพราะกลยุทธ์ของการใช้ปริบทในการจัดแสดง จะมีระดับความเข้มข้นของการประกอบสร้างความหมายสูงมาก จากการคัดเลือกวัตถุ ภาพ ตัวบท ฯลฯ ให้มาทำงานร่วมกันเพื่อประกอบสร้างภาพตัวแทนประวัติศาสตร์ชาติไทย ตัวอย่างเช่น การเลือกว่าจะเลือกวัตถุของใครมานำเสนอ หรือจะนำเสนอวัตถุนั้นในรูปแบบของวัตถุจำลองหรือภาพถ่าย หรือการเลือกตัวบทเช่นจะเลือกเรื่องของใคร เลือกนำเสนออย่างไรด้วยท่าทีแบบไหน เป็นต้น

การใช้สัญญะย่อยที่มีหน้าที่พิเศษหรือมีธรรมชาติพิเศษที่ก่อให้เกิดความหมายเฉพาะตน ดังได้กล่าวอธิบายความมาแล้วในหัวข้อหน้าที่ของวัตถุ ตัวบท และภาพ ให้มาทำงานร่วมกันนี้ ทำให้เกิดพลังที่จะสามารถสื่อสารความหมายในแนวทางเดียวกันให้กับสัญญะใหญ่หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า "ปริบทของการจัดแสดง" ในความรู้สึกของผู้รับสารได้ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อที่จะถ่ายทอดความหมายถึงความโชคดีของปวงชนชาวไทย ในช่วงเวลาปัจจุบัน ที่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ให้เห็นและรู้สึกได้อย่างชัดเจน ผู้ส่งสารได้ใช้วิธีการเปรียบเทียบกับความโชคร้ายของคนไทยที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองที่อ่อนแอในการปกครองและไม่ตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ด้วยการสร้างปริบทแห่งการจัดแสดงจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวบท เสียง และกำแพงภาพกราฟฟิค นั่นคือ การใช้ตัวบทบรรยายสาเหตุแห่งความล่มสลายควบคู่เข้ากับเสียงเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะดังขึ้นเมื่อผู้เข้าชมเดินผ่านกำแพงผนังที่ได้ตกแต่งภาพกราฟฟิคบนกำแพงดังกล่าวให้เป็นสัญลักษณ์ว่า สภาพของกรุงศรีอยุธยาเมื่อถูกข้าศึกโจมตีเผาทำลายนั้นเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ หากเราเปรียบเทียบการจัดทำพิพิธภัณฑ์ว่าเปรียบเสมือนกับการสร้างภาพยนตร์หรือละครทางโทรทัศน์แล้ว ก็จะพบว่า ผู้ส่งสารของพิพิธภัณฑ์ได้ใช้วิธีการเข้ารหัสแห่งความหมายที่ผู้จัดต้องการ ตามแบบที่ผู้สร้างภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ใช้ในการสื่อสารความหมายผ่านฉาก แสง เสียง อุปกรณ์ประกอบเนื้อเรื่องหรือบทละคร ฯลฯ นั่นเอง

สำหรับตัวอย่างของการสื่อสารด้วยการใช้กลยุทธ์นี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างด้วยปริบทในการจัดแสดงในหัวข้อเหตุแห่งความล่มสลาย ซึ่งผลจากการศึกษาทำให้ได้พบว่า กลุ่มผู้เล่าเรื่องหรือผู้ส่งสารของพิพิธภัณฑ์ได้ใช้วิธีการกำหนดความหมายหลัก ผ่านปริบทในการจัดแสดง (display context) ถึง 3 ชั้นด้วยกัน โดยการเชื่อมโยงตัวบทหรือชุดของเนื้อเรื่องเข้ากับชุดของตัวละคร ตลอดจนสัญญะย่อยต่างๆ เช่น เสียงเพลง ภาพถ่ายของบุคคล ภาพวาดแสดงจินตนาการถึงเหตุการณ์ขณะเพลิงกำลังเผาผลาญกรุงศรีอยุธยา เพื่อควบคุมความหมายให้ผู้ชมได้รู้สึก คล้อยตามและมองเห็นถึงความหมายแห่งความโชคร้ายจากการสูญเสียเอกราชของกรุงศรีอยุธยา และความโชคดีผ่านความรู้สึก "กรุงศรีอยุธยาไม่เคยสิ้นคนดี"

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งนั้น เป็นกลยุทธ์การจัดแสดงเพื่อยืนยันถึงความชอบธรรมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในการเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี สัญญะที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ "สาร" ที่ผู้จัดต้องการจะสื่อนั้นสามารถเห็นได้โดยง่ายและชัดเจน ประกอบด้วย

ภาพวาดเหตุการณ์ขณะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จกลับพระนครขณะบัญชาการรบอยู่ที่เมืองเขมร เพื่อแสดงให้เห็นถึง พระบารมีของพระองค์ในการเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

การนำเสนอตัวบทเพื่ออธิบายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "ขณะที่ตรวจเตรียมพลก็บังเกิดศุภนิมิตรเป็นอัศจรรย์ ปรากฏบันดาลให้พระรัศมีโชติช่วงแผ่ออกจากพระวรกาย บรรดาไพร่พลผู้ใหญ่ผู้น้อยแลเห็นด้วยกันทั้งสิ้น จึงพากันถวายบังคมด้วยพระบารมีจะได้เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน" อย่างไรก็ตาม ภาพนี้มิได้ระบุที่มาว่าผู้ใดเป็นผู้วาดและวาดขึ้นในสมัยใด ตัวบทดังกล่าวนี้ตอกย้ำความหมายให้เห็นว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ได้นั้นมิได้เป็นบุคคลธรรมดาเช่นบุคคลทั่วไป เนื่องจากจะต้องมีบุญบารมีและมีวาสนาเป็นต้นทุนหนุนหลังด้วยนั่นเอง

การบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวบทการจัดแสดงในรัชสมัยของพระองค์ เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นผู้กอบกู้ชาติจากความระส่ำระสายของบ้านเมือง ตัวบทดังกล่าวนี้ยังมีความหมายที่ถูกซ่อนไว้ระหว่างบรรทัดอีกด้วยว่า พระมหากษัตริย์ของชาติไทยนั้นมิได้จะมีแต่บุญบารมีหรือวาสนาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทรงกอรปไปด้วยคุณสมบัติที่พรั่งพร้อมนานัปการ สำหรับการก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง โดยเฉพาะคุณสมบัติด้านการศึกสงคราม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต โดยมีตัวอย่างของตัวบทในการบอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาของการสถาปนากรุงเทพมหานครว่า

"ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรีเกิดความเจริญวุ่นวายเป็นจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งในขณะนั้นทำราชการสงครามอยู่ในเมืองเขมร จึงให้ยกทัพกลับพระนคร เมื่อระงับการจลาจลในกรุงธนบุรีราบคาบแล้ว ทรงรับอัญเชิญจากบรรดาเสนาพฤฒามาตย์ราษฎรทั้งหลายทั้งปวง ให้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีพุทธศักราช 2325 ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี" (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ทรงประดิษฐานพระราชวงศ์ และแต่งตั้งขุนนางตามตำแหน่ง แล้วโปรดฯให้ย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่ตำบลบางกอก และโปรดฯให้พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ว่า "กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร มหินธรายุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"

จากตัวอย่างดังได้กล่าวมาในข้างต้นแล้วนั้น ทำให้อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การใช้ปริบทจัดแสดง หรือ display context ด้วยการนำเอาสัญญะย่อยมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับแนวคิดหรือความหมายหลักที่ต้องการนำเสนอ เป็นวิธีการเข้ารหัสที่ได้ผลในการกำหนดมุมมองของผู้รับสาร หรือผู้เข้าชมการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ เพราะเป็นการทำให้ได้เห็นและให้ได้ยิน และเกิดจินตนาการถึงช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในรหัสเดียวกันกับผู้ส่งสาร นอกจากนั้นแล้ว ความเข้มข้นของการเลือกนำเสนอยังก่อให้เกิดความสมจริง เสียจนกระทั่งทำให้ผู้รับสารไม่ต้องใช้ความพยายามในการแปลความหมาย เป็นผลให้ผู้รับสารนำตัวเองเข้าไปสร้างความหมายด้วย ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ตรงตามความหมายที่ต้องการอย่างแท้จริง แต่ก็จะไม่เลื่อนไหลจนกระทั่งแตกต่างจากที่ต้องการอย่างสิ้นเชิง ปฏิบัติการที่ทำให้ผู้รับสารหรือผู้เข้าชมการจัดแสดงสามารถอ่านความหมายได้อย่างที่ผู้ส่งสารต้องการ ที่เรียกว่า preferred reading นี้ เป็นไปตามแนวคิดของ S. Hall ที่ว่า "production constructs the message"

ดังนั้น ในกรณีของการศึกษาการสื่อสาร กับปฏิบัติการจัดแสดงภาพตัวแทนนี้ จึงทำให้ได้ข้อสรุปที่ว่า การที่เรามองเห็นสิ่งของหรือได้อ่านและได้ยินตัวบทต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ มิใช่เรื่องที่เป็นไปเองหรือเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ แต่มันเชื่อมโยงกับอำนาจ/ความรู้ที่นำทางการมองเห็น หรือการได้ยินของเรา จนกระทั่งส่งผลทำให้เกิดความต่อเนื่อง เกาะเกี่ยว และตอกย้ำความหมายที่ผู้ส่งสารหรือผู้เล่าเรื่องต้องการ

ปฏิบัติการสร้างภาพตัวแทน: อำนาจแบบแฝงเร้นของพิพิธภัณฑ์
ในทัศนะของ Hall (1997c) แล้ว อำนาจของภาพตัวแทนเป็นอำนาจทางสัญญะ เป็นอำนาจในการกำหนด/มอบหมาย/จัดประเภท เพื่อที่จะนำเสนอภาพตัวแทนของบางคนหรือบางสิ่งออกมาในบางแบบ อำนาจในรูปแบบนี้มีความเกี่ยวพันกับความรู้หรือปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ Foucault เรียกว่า "ความรู้/อำนาจ" และ "อำนาจ" ตามแนวคิดของ Foucault แล้วนั้น "มีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ในปฏิบัติการทางสังคมทุกชนิด" (กาญจนา แก้วเทพ, 2544:283)

สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนจะชี้ชวนให้เห็นถึงความแยบยลของอำนาจที่แฝงเร้น ซึ่งเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า "พิพิธภัณฑ์" หรือในปริบทของการจัดแสดงนิทรรศการ ที่ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "ปฏิบัติการจัดแสดง" หรือปฏิบัติการสร้างภาพตัวแทน (the practice of representation) เพื่อที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ ที่จะผลิตและนำพาความรู้ให้กับผู้เข้าชมการจัดแสดง โดยเฉพาะผู้เข้าชมซึ่งเป็นประชาชนของประเทศหรือของชุมชนนั้นๆ เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติหรือของชุมชนตนเอง ว่าเราเป็นใคร ตัวเราเป็นของกลุ่มใด โดยเฉพาะเมื่อเราเทียบเคียงการสร้าง อัตลักษณ์ของชาติผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์เข้ากับแนวคิดเรื่องชาตินิยม เนื่องจากอำนาจนั้นได้ทำให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการติดตั้งหรือประกอบสร้างความมีสำนึกเป็นพวกเดียวกัน หรือที่เรียกว่าการสร้าง "ชุมชนในจินตนาการ" ตามคำศัพท์ของ Benedict Anderson นักทฤษฎีชาตินิยมทางวัฒนธรรมคนสำคัญ

หากเทียบเคียงจินตนาการที่ถูกนำมาใช้เพื่อปรุงแต่งหรือประกอบสร้างความหมายว่านี่คือ "เรา" เราที่เป็นพวกเดียวกัน เราที่มีอะไรที่เหมือนกันแล้วนั้น จะได้พบว่า อัตลักษณ์ร่วมหรือความรู้สึกถึงความโชคดีแห่งปวงชนชาวไทยนั้น ถูกปรุงแต่งผ่านสถานที่ อดีต และสายสัมพันธ์ ภายในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังเช่นที่ผลจากการศึกษาได้พบว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านชุดของสัญญะย่อยหลากแบบที่ผ่านการคัดออกหรือเลือกใช้ แล้วนำมาร้อยเรียงกันผ่านกลยุทธ์ปริบทในการจัดแสดงหรือ display context strategy เพื่อเล่าเรื่องหรือส่งผ่านความหมายที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อออกมา

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อที่จะถ่ายทอดความหมายถึงความโชคดีของปวงชนชาวไทย ในช่วงเวลาปัจจุบัน ที่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ผู้ส่งสารของพิพิธภัณฑ์ได้ใช้วิธีการเปรียบเทียบกับความโชคร้ายของคนไทยในอดีตในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองที่ไม่ตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ด้วยการสร้างปริบทแห่งการ จัดแสดงจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวบท เสียง และกำแพงภาพกราฟฟิค ดังได้ยกตัวอย่างมาในข้างต้นแล้ว

หากนำไปเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ จะพบว่า พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ใช้กลยุทธ์ปริบทในการจัดแสดง เพื่อประกอบสร้างหรือปรุงแต่งความรู้สึกร่วมของกลุ่มผู้รับสารหรือผู้เข้าชมการจัดแสดง เพื่อให้รู้สึกถึงอัตลักษณ์หรือความหมายของความเป็นคนในชาติด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดแสดงประวัติศาสตร์ของชาวแคนาดาใน the new Canadian Museum of Civilization เพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์แคนาดา ก็จะพบวิธีการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ใช้การจัดพื้นที่ทางเดินเป็นสัญญะในการควบคุมความหมาย นั่นคือ ผู้ชมจะต้องเดินไปตามทางผ่านช่วงเวลาตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แคนาดาที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เริ่มต้นห้องแสดงด้วยการเล่าเรื่องราวถึงการบุกเบิกและตั้งถิ่นฐานของพวก Norse ต่อด้วยจุดเริ่มต้นของการกลายเป็นเมือง การค้าและอุตสาหกรรมที่นำความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศ และจบลงด้วยการบอกเล่าถึงเรื่องราวของแคนาดาในยุคปัจจุบัน ควบคู่ไปกับกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดแสดงเพื่อทำลายระยะห่างทางกายภาพ ระหว่างผู้เข้าชมและสิ่งแสดง ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเข้าชม (Delaney, 1992)

การใช้กลยุทธ์ปริบทในการจัดแสดงดังกล่าวเป็น "อำนาจหรือพลังของการเล่าเรื่อง" เพื่อบอกความหมายถึงความเป็นพวกเดียวกันที่สามารถประจักษ์ได้ผ่านพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ โดยที่อำนาจหรือพลังดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลักการสำคัญเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง "การจัดแสดง" กับ "ผู้เข้าชมการจัดแสดง" (Dean, 1994) ดังเช่น การใช้ความรู้สึกหรือการมีส่วนร่วมผ่านทางประสาทสัมผัส ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอด้วยตัวบทเสียงเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมทางความรู้สึกด้วยการได้ยิน เช่น ตู้กระจกจำลองเหตุการณ์พร้อมด้วยตัวบทเสียงบรรยายเหตุการณ์ประกอบ ในการจัดแสดงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หรือการนำเสนอด้วยภาพ เพื่อให้มี ส่วนร่วมทางสายตาด้วยการได้มองเห็น ได้จ้องมอง หรือได้อ่าน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้พบว่า ประวัติศาสตร์ของ "ชาติไทย" ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จำเป็นจะต้องอาศัยการประกอบสร้างหรือปรุงแต่งจินตนาการเพื่อเรียกหรือกำหนดสถานะของ ผู้เข้าชมการจัดแสดงให้รับรู้และรู้สึกถึงภาพตัวแทนแห่ง "ความเป็นเรา" ด้วยกลวิธีการสื่อสารอย่างเข้มข้น เหตุที่เป็นดังนั้นก็เพราะ "ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเรื่องเล่าร่วมกันของความเป็นมาของคนไทยทุกคน ในฐานะเป็นพลเมืองของชาติเดียวกัน" (นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ้างถึงใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2549) แต่ความทรงจำร่วมกันที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ อาจเข้าไปแทนที่ความทรงจำของคนกลุ่มต่างๆได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มและไม่ใช่กับทั้งหมดที่จะรู้สึกว่าอดีตของตนคือเรื่องเล่าประจำชาติสำนวนนี้ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2549)

ดังนั้น ภายใต้ปริบทของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อำนาจของความเป็นสถาบันพิพิธภัณฑ์จึงถูกนำเข้ามาใช้ เพื่อลดทอนความแตกต่างหลากหลายของ "สถานที่/เรื่องราวในอดีต/สายสัมพันธ์ที่มี" ของแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมย่อยต่างๆ เหล่านั้นลง ให้เหลือแต่เพียงเรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยงความเป็นชาติไทย ผ่านความต่อเนื่องของเรื่องราวในแต่ละยุคสมัย เพื่อให้กลายเป็นประวัติศาสตร์หลักของเรื่องราวของชาติที่สามารถจินตนาการว่าเรามี "ร่วมกัน" ได้

เมื่อผนวกรวมเอาความพยายามของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ในการเชื่อมโยงความเป็นเราที่เหมือนกันและความเป็นพวกเดียวกันของเรา เข้ากับภารกิจหลักที่สำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในการปรับปรุงส่วนการจัดแสดงประวัติศาสตร์ของชาติ ณ อาคารพระที่นั่ง ศิวโมกขพิมาน ให้เป็นห้องจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบนิทรรศการถาวร เพื่อ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมมหาราชวงศ์จักรี เนื่องในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ.2525 ทำให้การนำเสนอประวัติศาสตร์ของชาติภายในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ดังกล่าว จึงได้ใช้วิธีการปรุงแต่งหรือสร้างสำนึกร่วมของความเป็นไทย ด้วยเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ของ ชาติไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัย ผู้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการปกป้องเอกราชของประเทศชาติและความสงบสุขของพสกนิกรของพระองค์

และเมื่อเป็นเรื่องที่ต้องจินตนาการ นอกเหนือจากการใช้กลยุทธ์ปริบทในการจัดแสดง เพื่อสื่อสารความหมายหรือการนำเสนอภาพตัวแทนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้วนั้น ผู้ส่งสารของพิพิธภัณฑ์ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการประกอบสร้างความหมายผ่านการเข้ารหัสทาง "เวลา" เพิ่มเติมด้วย ทั้งการทำให้เวลามาปรากฏและเวลานั้นหดหายไป เพื่อทำให้ความหมายที่ต้องการสื่อสารภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกับที่ทำให้ "อดีต" ของชาติเป็นเรื่องเล่าที่ดูไม่ซับซ้อน ดูเป็นกลาง ความแตกต่างทั้งหลาย ระหว่างความเป็นพวกหรือที่มาของกลุ่มคนในชาติเลือนหายไป ทำให้สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายหลักที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติต้องการในการนำเสนอภาพตัวแทนประวัติศาสตร์ชาติไทยได้

อำนาจในข้างต้นนั้น ได้ซ่อนนัยสำคัญแต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์แล้วนั้น วิธีการเล่าเรื่องมีความสำคัญกว่าเรื่องที่นำมาเล่า เนื่องจาก การ "จัดแสดง" การ "ทำให้เห็น" ตลอดจนการ "ถูกเห็น" หรือ "ถูกมอง"นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบเป็นไปเองและไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่มันเชื่อมโยงกับอำนาจ/ความรู้ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ที่นำทางทั้งการนำเสนอของกลุ่มผู้ส่งสารและการมองหรือการเห็นของกลุ่มผู้รับสาร โดยเฉพาะเมื่อเราพิจารณาขั้นตอนสำคัญในการทำงานของกลุ่มผู้ส่งสารของพิพิธภัณฑ์ นั่นคือ การคัดเลือกเข้าหรือคัดเลือกออกของเนื้อหา หรือเรื่องราวที่จะนำมาจัดแสดง รวมตลอดถึงการเลือกหรือไม่เลือกในส่วนของสิ่งแสดงต่างๆ หรือชุดของอุปกรณ์ประกอบฉาก อาทิ วัตถุ ภาพ หรือตัวบท เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน การแสดงความเป็นตัวตนของชาติผ่านสื่อพิพิธภัณฑสถานนั้น ยังได้แสดงให้เห็นถึงภาคปฏิบัติการที่แท้จริงของอำนาจ ในการทำให้ภาพตัวแทนของชาติในแบบใดแบบหนึ่งเกิดขึ้นมาภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ได้อีกด้วย ดังที่ Foucault (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545) ได้แสดงทัศนะไว้ว่า อำนาจนั้นเป็นเรื่องของการกระทำ (action) และการใช้อำนาจที่สำคัญ คือ การสร้างโอกาส/ความเป็นไปได้ให้เกิดการกระทำบางอย่างขึ้น

ในกรณีของการสร้างความเป็นไปให้เกิดการกระทำบางอย่างขึ้นนี้ เราจะได้พบว่า ขั้นตอนในการนำเสนอหรือการเล่าเรื่องของกลุ่มผู้ส่งสาร ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับอำนาจ/ความรู้ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ ที่นำทางทั้งการนำเสนอของกลุ่มผู้ส่งสารและการมองหรือการเห็นของกลุ่มผู้รับสารได้อย่างชัดเจน และนั่นมีความหมายว่า

(1) สิ่งที่ได้เห็นเพื่อควรจดจำ ระลึกถึง และยึดถือเป็นอัตลักษณ์ร่วมกันของชาติหรือชุมชนนั้นคืออะไร ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ ความโชคดีที่ได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ของชาติไทย ผู้ทรงทศพิธราชธรรมและบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อพสกนิกรชาวไทย

(2) สิ่งที่ไม่ได้เห็นนั้นมีความหมายเสมอ เพราะนั่นคืออะไรที่ "ไม่ใช่เรา" ข้อสังเกตของการที่ผู้เข้าชมไม่อาจจะได้เห็นใครบางคนภายในพิพิธภัณฑ์ หรือเรื่องบางเรื่อง ภาพบางภาพนี้ ได้สะท้อนถึงวาทกรรมที่เข้ามากำกับวิธีการที่จะพูดถึงหรือการนำเสนอเรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ ปฏิบัติการนี้ได้ทำให้พิพิธภัณฑ์เปรียบเสมือนกับ "backteller" หรือเบื้องหลังของการทำให้ "อดีต" ขึ้นมาปรากฏให้เห็น ภายใต้อำนาจในการสถาปนาประวัติศาสตร์ (ความรู้) ให้เป็นความจริงผ่านวิธีการเล่า/ไม่เล่า หรือวิธีการพูดถึง/ไม่พูดถึง และท่าทีที่จะพูดถึงบุคคลคนนั้นหรือเรื่องๆนั้น (Bennett, 1995) และข้อค้นพบนี้มีความหมายถึงการรู้เท่าทันพิพิธภัณฑ์ในฐานะสื่อประเภทหนึ่ง และเพื่อที่จะรู้เท่าทัน ในการเข้าชมการจัดแสดงหรือดูประวัติศาสตร์/เรื่องราวต่างๆ ที่นำมาเสนอแล้วนั้น ก็จะต้องดูในส่วนที่ไม่ได้พูดถึงและนึกถึงในส่วนที่ไม่ได้นำเสนออีกด้วย

ดังเช่น ในงานศึกษาวิจัยของไทยของ เยาวนุช เวศร์ภาดา (2545, 2546) ที่ศึกษา "วาทกรรมความรู้ในการฟื้นฟูวัฒนธรรม" จากหมู่บ้านเขาขุนศรี ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นในแง่ของเอกลักษณ์ความเป็นมาอันเก่าแก่ และความสามารถของชาวบ้านในการรักษาวิถีชีวิต ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ได้ จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรม นอกจากนั้นแล้ว หมู่บ้านวัฒนธรรมแห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของ "อุทยานการศึกษา" ศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนอีกด้วย

เยาวนุชได้ตั้งคำถามหลักในการศึกษาหมู่บ้านแห่งนี้ว่า อะไรที่เป็นตัวกำหนดให้เรา "เห็น" ภาพในลักษณะนี้ และมีอะไรอีกหรือเปล่าที่เรา "ไม่เห็น" โดยที่ผลจากการศึกษาได้พบว่า อัตลักษณ์ของชุมชนที่ได้รับการนิยามความหมายว่าเป็น "อุทยานการศึกษา" และ "หมู่บ้านวัฒนธรรม" นั้น แท้ที่จริงแล้ว เกิดจากการประกอบสร้างอย่างเป็นกระบวนการและอย่างเป็นเหตุเป็นผล ผ่านวาทกรรมประวัติศาสตร์ วาทกรรมชุมชนเข้มแข็ง และวาทกรรมวิทยาศาสตร์ วาทกรรมชุดดังกล่าวได้รับการนำเสนอในรูปของปฏิบัติการทางสังคมแบบต่างๆ ทั้งการจัดระเบียบพื้นที่ ได้แก่ การวางผังหมู่บ้าน การจัดระเบียบสังคมผ่านการประดิษฐ์ประเพณี การจัดตั้งเครือข่ายกลุ่มบ้าน และการจัดระเบียบข้อมูลหลักฐานอ้างอิงต่างๆ เกี่ยวกับหมู่บ้าน ได้แก่ การผลิตข้อเขียนที่ให้ความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับหมู่บ้าน ทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ผู้คน ภูมิปัญญา ประเพณี เศรษฐกิจ จนกระทั่งสามารถก่อให้เกิดภาพตัวแทนของชุมชนที่มี "เอกลักษณ์" ในการมีอดีตเก่าแก่ มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม มีความเจริญ ทันสมัย แต่ก็ยังรักษารากเหง้าดั้งเดิมไว้ได้

นอกเหนือจากการจัดแสดงและการทำให้เห็นจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรมชาติ และสิ่งที่ถูกมองและไม่ได้เห็นนี้จะได้ทำให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการนิยามความเป็นชาติ ผ่านกระบวนการ "คัดออก" และ "เลือกเข้า" ของเนื้อหาและสิ่งแสดงต่างๆ แล้วนั้น ในสายตาของนักวิชาการพิพิธภัณฑ์สายวิพากษ์ สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมหรือข้าวของที่นำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ยังเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นการเมืองเรื่องหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ ที่เปลี่ยนแปลงจากบทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ในการให้ความรู้ตามหลักสาขาวิชาต่างๆ มาเป็นการให้ความรู้หรือสอนผู้ดู/ผู้ชมว่า ชีวิตของเราเป็นเช่นไร ในขณะเดียวกับที่ซ่อนนัยถึงความสามารถและ พลังอำนาจของชาติจากทรัพยากรหรือวัตถุทางวัฒนธรรมที่มีอีกด้วย (Newton, 1994)
ดังที่ Jordanova (1989) ผู้ศึกษามุมมองทางประวัติศาสตร์ผ่านวัตถุที่นำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องของวัตถุหรือสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมภายในพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ เมื่อผู้เขียนพิจารณาจากมุมมองทางนิเทศศาสตร์ ไว้ดังนี้คือ

"ในกรณีของวัตถุนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องตระหนักและระลึกถึงไว้อยู่เสมอก็คือ ปริบทที่นำมาใช้ในการควบคุมความหมายของวัตถุที่ต้องการจะสื่อสารออกมานั้น เนื่องจาก เรื่องของปริบทในการจัดแสดงล้วนแล้วแต่เป็นที่เรื่องที่ถูกจำกัด ถูกคัดเลือก และออกแบบมาเพื่อนำทางให้ผู้รับสารหรือผู้เข้าชมการจัดแสดง สามารถอ่านและรับรู้ความหมายออกมาได้เพียงเฉพาะในบางแบบหรือบางความหมายเท่านั้น"

ข้อที่น่าสังเกตคือ อำนาจที่นำทางการนำเสนอและการมองเห็นนั้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำและยืนยันทัศนะของผู้เขียนที่ว่า กระบวนการนำเสนอมีความสำคัญมากกว่าเนื้อหา/เรื่องราวหรือข้าวของ/วัตถุทางวัฒนธรรมที่นำมาจัดแสดง และหากว่าเราอธิบายด้วยทัศนะของ Hall (1997a) ก็จะสรุปได้ว่า กระบวนการประกอบสร้างความหมาย/ภาพตัวแทนที่เรียกว่า "ปฏิบัติการจัดแสดง" (the practice of representation) นี้ เป็น "ระบบ" ที่ทำงานเช่นเดียวกับ "ภาษา" เนื่องจาก ทุกๆทางเลือกในการจัดแสดง ยกตัวอย่างเช่น การเลือกว่าจะนำเสนอสิ่งนี้มาแทนสิ่งนั้น หรือจะนำเสนอสิ่งนี้โดยให้มีความเชื่อมโยงกับสิ่งนั้น หรือจะพูด/เล่าแบบนี้เมื่อจะนำเสนอสิ่งนั้น ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นทางเลือกที่จะนำเสนอภาพของวัฒนธรรมออกมา และแต่ละทางเลือกนั้น ล้วนมีผลสืบเนื่องถึงเรื่องของความหมาย ว่าความหมายอะไรที่จะถูกผลิตออกมา และความหมายนั้นได้ถูกผลิตออกมาอย่างไร

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com