โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 3 June 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๖๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 03, 06,.2007)
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

Queer Eyes มิได้มีความหมายตรงตัวอย่างที่เห็น คือไม่ใช่สายตาของเกย์ แต่ทว่ามีความหมายในทางนามธรรม ที่ต้องการจะสร้างให้เกิดการเชี่อมโยงระหว่าง ความคิดเดิมและความคิดใหม่ เปิดโอกาสได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ ไปสู่จุดที่ไม่เคยมีอยู่ ไม่เคยคิดและคำนึงถึง โดยเฉพาะสามารถช่วยให้ก้าวพ้นจากสิ่งที่มีความหมาย(ตามความหมายทางภาษา) กำหนดและให้คำนิยามเอาไว้ เมื่อพยายามยืนจากมุมมองอื่น ที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่เดียวกัน ไม่ได้มองไปในทางเดียวกันกับมุมมองและแนวทางของคนที่มีอำนาจ เช่นผู้นำหรือรัฐ ในการสร้างภาพให้เราเห็น
03-06-2550

visual culture
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บททดสอบเรื่องวัฒนธรรมทางสายตาในเชิงสถาปัตยกรรม
หาเรื่องมอง: ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมทางสายตาและสถาปัตยกรรม

ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์ : เขียน
คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความทางวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมทางสายตา และสถาปัตยกรรม
โดยครอบคลุมสาระสำคัญดังต่อไปนี้
- ความสัมพันธ์ระหว่าง วัฒนธรรมทางสายตา และสถาปัตยกรรม
- ภาพตัวแทน / สถาปัตยกรรม: อำนาจและการควบคุม
- ภาพตัวแทน/สถาปัตยกรรม: ผลผลิตของอำนาจและการเมือง
- Representations of Spaces, Representational Spaces
- ผู้รับภาพ/ผู้ใช้สถาปัตยกรรม: สายตาและการมองจากมุมจากความเป็นอื่น
- Queer Eyes - Queer Space และ
- เสีย - ฟอร์ม - ไทย

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๖๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บททดสอบเรื่องวัฒนธรรมทางสายตาในเชิงสถาปัตยกรรม
หาเรื่องมอง: ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมทางสายตาและสถาปัตยกรรม
ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์ : เขียน
คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความนำ
จุดเริ่มต้นของบทความนี้ เขียนขึ้นจากมุมมองของสถาปนิก และคนที่อยู่ในสายสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่สะท้อนมุมมองบางอย่าง โดยเฉพาะมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่าง วัฒนธรรมทางสายตา และสถาปัตยกรรม จากหนังสือชื่อกวนๆ ที่ออกวางแผงไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา "มองหาเรื่อง: วัฒนธรรมทางสายตา" คือชื่อหนังสือเล่มดังกล่าว

ภายหลังจากที่ได้มีโอกาสอ่าน "มองหาเรื่องฯ" ต้องขอยอมรับว่า มีเรื่องให้มองหา อยู่ภายในเล่มนั้นเป็นจำนวนมาก และอัดแน่นไปด้วยทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ชื่อนักทฤษฎีเจ้าสำนักทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางทฤษฏีทางสังคม ทฤษฎีทางภาพยนตร์ ทฤษฎีทางภาพถ่าย ภาพวาด รวมทั้งทฤษฏีทางสัญวิทยา ทางเพศสภาพ และทางอัตลักษณ์ทางเพศ ทฤษฏีทางจิตวิเคราะห์ และทฤษฏีทางชาติพันธุ์ โดยภาพรวมแล้วสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามที่จะทำ คือพยายามเล่าเรื่องต่างๆ ใหม่

ความหมายคือจากเรื่องราวอันมากมาย ซึ่งดูแล้วจะมีแต่ความแตกต่างและคนละเรื่องเดียวกัน แต่ทว่า "มองหาเรื่องฯ" พยายามขมวดเข้ามาจนเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ "ภาพและสื่อ" เป็นหลักเช่น เรื่องราวที่เกี่ยวกับ "ภาษาภาพ", "การมอง", "ลักษณะการมอง", "ความหมายที่เกิดขึ้นจากการมอง", "การเรียนรู้ผ่านการมอง", "ผลลัพธ์ที่ได้จากการมอง", ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ถูกรวบรวมเอาไว้เรียกว่าเป็น "วัฒนธรรมทางสายตา" แล้วถ้าเราคลี่ภาพรวมของวัฒนธรรมทางสายตานี้ออกมาใหม่ เราจะพบว่า สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะทำการจัดกลุ่มใหม่ ใช้เลนส์ในการมอง มองทะลุตัดผ่านในมุมใหม่ๆ น่าจะแบ่งออกได้เป็นสามประเด็น คือ

ประเด็นที่หนึ่ง ทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับคนสร้างภาพ,
ประเด็นที่สอง คือ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับตัวภาพหรือภาพตัวแทน, และ
ประเด็นที่สาม คือ ทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับคนรับภาพ
เราจะนำประเด็นทั้งสามนี้มาคลี่คลายต่อไป

การอ่านหนังสือเล่มนี้คงจะสนุกและน่าจะได้ประเด็นที่ต้องขบคิดน้อยกว่านี้ ถ้าไม่ต้องคอยห่วงว่า จะต้องตอบโจทย์ของสมาคมสถาปนิกสยาม ที่นัดพบปะกันในลักษณะโต๊ะกลมและมีการอภิปรายกันในหัวข้อ "เสีย-ฟอร์ม-ไทย" (1) โดยโจทย์ที่ได้นี้จะต้องเป็นการเปิดประเด็นจากหนังสือ "มองหาเรื่องฯ" หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าการที่ผู้คนโดยทั่วไปอ้างว่า รูปทรงและรูปร่างของไทย (ในที่นี้คือ ไทยประเพณี) ได้หายไปแล้ว (เสีย ฟอร์ม ในความหมายหนึ่ง) อะไรคือการสูญเสียที่ว่า สูญเสียไปได้อย่างไร และที่สำคัญหนังสือ "มองหาเรื่อง: วัฒนธรรมทางสายตา" ให้ประโยชน์หรือให้ข้อคิดอะไรแก่เราบ้าง

ในอีกมุมหนึ่งถ้าลองคิดกับโจทย์ที่ได้มา "เสีย-ฟอร์ม-ไทย" อาจจะหมายถึง การเสียหน้า เสียภาพพจน์ ดังนั้นคำว่า "ไทย" จึงไม่ใช่นัยยะของสิ่งของ แต่ทว่าหมายถึง ความเป็นไทย คนไทย หรือแม้กระทั่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่เราเข้าใจว่าเป็น "ไทย" ถ้าตามข้อคิดของอาจารย์ เบนเนดิก แอนเดอร์สัน ความเป็นไทยที่ว่ายังมีความหมายรวมกับ ชุมชนไทย ไม่ใช่เป็นชุมชนที่มีขอบเขตชัดเจนแต่เป็นชุมชนในอุดมคติที่เกิดการสั่งสมความหมายและอุดมการณ์ร่วมกัน ถ้าอ่านตามความหมายนัยยะนี้ "เสียฟอร์มไทย" จึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่พูดออกมาต้องพอจะเดาได้ว่า ภาพพจน์อะไรที่ไทยกำลังเสีย ความเป็นชุมชนของไทยกำลังเสียความเป็นไทยไปอย่างไร อะไรที่ทำให้คนไทยขายหน้า

โจทย์ในคราวนี้ไม่ง่าย และทำให้ปวดหัวเป็นสองต่อ หนึ่งคือ ต้องพยายามเข้าใจสิ่งที่ถูกเขียนถึงใน "มองหาเรื่องฯ" ก่อน แล้วจึงจะนำมาขยายต่อได้ว่า เรื่องที่ว่าเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมอย่างไร หรืองานสถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการมองหรือของวัฒนธรรมทางสายตาอย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่สำหรับการที่เราอ้างว่า "สูญเสียรูปทรงและรูปร่างแบบไทยๆ" เป็นเพราะวัฒนธรรมทางสายตา หรือเป็นไปได้หรือไม่ว่า งานสถาปัตยกรรมที่ว่าสามารถถูกผนวกรวมเข้ากับภาพลักษณ์ของชุมชนในอุดมคติของชนชาวไทยที่ต้องถูกสงวนรักษา ถูกสร้างขึ้นและธำรงเอาไว้เพื่อเอาไว้ให้เป็นหน้าตาของคนไทย เมื่อไหร่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจจะนำมาซึ่งการเสียหน้าและเสียฟอร์ม สิ่งที่น่าคบคิดต่อไปคือ คำถามที่ว่า สี่งที่สร้างขึ้นนั้นเป็นวัฒนธรรม (ทางสายตา)ของใคร, สร้างให้ใครมอง, คนสร้างกับคนดูคนเดียวกันหรือไม่ และสุดท้ายต้องขบคิดต่อว่า มีเครื่องมืออื่นๆ (หรือมีวัฒนธรรมทางสายตาอื่นๆ อีกไหม) ที่อนุญาตให้เกิดการมองแบบอื่นๆ ที่ทำให้เรามองเห็นมากกว่า การสูญเสีย

ความสัมพันธ์ระหว่าง วัฒนธรรมทางสายตา และสถาปัตยกรรม

วัฒนธรรมทางสายตาได้ถูกนำไปผูกกับเหตุการณ์ต่างๆ ทางสายตา (visual events) ที่ซึ่งข้อมูล ความหมาย หรือความพึงพอใจ ได้รับการค้นหาโดยผู้บริโภค ในการเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีทางสายตา (visual technology) ข้าพเจ้าหมายถึงทุกๆ รูปแบบของเครื่องไม้เครื่องมือที่ออกแบบขึ้นมา ไม่ว่าจะใช้เพื่อการดู หรือใช้เพื่อขยายภาพที่เห็นตามธรรมชาติก็ตาม นับจากจิตรกรรมสีน้ำมัน ไปจนกระทั่งถึง โทรทัศน์ และภาพในเครือข่ายระบบอินเตอร์เนต (2)

จากข้อความที่หยิบยกมาด้านบน ทำให้เข้าใจได้ว่า "วัฒนธรรมทางสายตา" ที่กล่าวถึงนั้นไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะ "ภาพ" ในที่นี้ใช้คำว่า "รูปแบบของเครื่องไม้เครื่องมือ" แต่เพียงโดดๆ แต่ทว่ายังรวมไปถึง "เหตุการณ์" ซึ่งภายในเหตุการณ์นั้นย่อมมี ปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ เช่น คน และกิจกรรมภายในเหตุการณ์นั้นๆ คนที่ว่าไม่ใช่เพียงแค่คนที่ "บริโภคสื่อ" แต่ยังมีกลุ่มคนที่สร้างสื่อ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสื่อ และตัวสื่อเองอีกด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นเราอาจจะแบ่งแยกออกเป็น สามประเด็น นั้นคือ

- ผู้สร้างและสื่อเหตุการณ์,
- สื่อ-เครื่องมือ-เทคโนโลยีที่ใช้สร้างและประกอบกันเป็นสื่อ, และ
- ผู้ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์หรือผู้ที่บริโภคสื่อ

ถ้าคำถามหลักในบทความชิ้นนี้คือ "สถาปัตยกรรม" สามารถเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นผลผลิตของ "วัฒนธรรมทางสายตา" ได้หรือไม่ จะพบว่า วัฒนธรรมทางสายตา มีความหมายครอบคลุมในวงกว้างและสามารถครอบคลุมสิ่งต่างๆ ได้เกือบหมด ไม่ว่าจะเป็น ตัวหนังสือที่เราอ่าน ภาพถ่ายหรือภาพเขียนที่เราเห็น หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เพราะ "วัฒนธรรมทางสายตา" ที่ว่า คือ ความพยายามที่จะทำการคลี่คลายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวของมนุษย์เราโดยอาศัยองค์ความรู้และกระบวนการที่เกิดขึ้นจาก "การมองเห็นและสายตา" ซึ่งสิ่งเหล่านั้นโดยปกติแล้วจะมีกระบวนการให้ความหมายและคุณค่าผนวกอยู่ ถ้าพูดในลักษณะนี้ อะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในสายตาของมนุษย์เรา ซึ่งก่อให้เกิดความคิด ให้เราสร้างการนิยามตัวตนของสิ่งที่เราพบเห็น ให้เราสร้างความหมาย และกำหนดคุณค่ากับสิ่งที่เราเห็นแล้ว ทั้งหมดทั้งปวงนั้นคือ "วัฒนธรรมทางสายตา" ทั้งสิ้น นั้นย่อมรวมความหมายถึง งานสถาปัตยกรรม ที่อยู่แวดล้อมมนุษย์เราในชีวิตประจำวัน

แต่คำถามที่น่าจะถามเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของทั้งสองส่วน คือ สถาปัตยกรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางสายตา ได้หรือไม่? คำถามแบบนี้น่าสนใจ เพราะก่อให้เกิดการขบคิดว่า แท้จริงแล้ว สถาปัตยกรรม เป็นเพียง สิ่งที่ปรากฎให้เราเห็น หรือปรากฎขึ้นมาในสายตาของเราเท่านั้นหรือ เรากำลังมองข้ามหรือละเลยที่จะขบคิดกับสิ่งที่เราเห็นต่อหน้าเช่นนั้นหรือ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น สิ่งที่นักคิดพยายามขบคิด ถกเถียงกันมาตลอดเช่น ทฤษฎีด้านความงาม (Aesthetics) ที่เกิดขึ้นจาก ตัวตนหรืออัตภววิสัยของคนมอง หรือเกิดขึ้นจากตัววัตถุเองที่เป็นสิ่งที่งาม และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แนวคิดในเรื่อง การจัดองค์ประกอบต่างๆ ทั้งในแง่ สองมิติและสามมิติ ก็คงจะต้องรื้อทิ้งออกไปทั้งหมดเพราะ สถาปัตยกรรมเป็นเพียงฉากหลังแต่เพียงเท่านั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วม เชื้อเชิญ แยกออก กีดกั้น แบ่งส่วน กับคนที่ใช้และคนที่มองมัน

ทว่าสถาปัตยกรรมเองกลับทำหน้าที่ที่สำคัญใน จุดยืนในการมอง มุมมอง การใช้ภาพตัวแทนในการมอง การสร้างสุนทรียศาสตร์ให้กับการมอง หรือแม้กระทั่งกำหนดมุมมอง บ่อยครั้งหน้าที่ของสถาปัตยกรรมกับการมองมักจะถูกอธิบายด้วยสิ่งอื่นๆ เช่น การกำหนดทางเดินหรือหน้าที่ของห้องต่างๆ การกำหนดโดยพื้นที่และประโยชน์ใช้สอย โดยโครงสร้างและวัสดุพื้นผิว แต่เมื่อใดก่อตามที่ผ่านมือสถาปนิกผู้ออกแบบ สิ่งเหล่านี้ถูกผนวกเข้ากับ วิธีการที่ทำให้มัน (รูปทรง รูปร่าง ช่องเปิด ทางเดิน โครงสร้าง โครงหลังคา ฯลฯ) สวย ให้มันมีสัดส่วนที่ดี และที่สำคัญให้มันเชื้อเชิญให้ผู้คนมองมัน และนี่ไม่ใช่หรือที่เราควรจะพยายามอธิบายและเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับวัฒนธรรมทางสายตา

ภาพตัวแทน / สถาปัตยกรรม: อำนาจและการควบคุม

…ด้วยนิยามความรู้และผู้รู้ของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ได้ทำให้รัฐกลายมาเป็นศูนย์กลางผูกขาดความรู้ในความหมายใหม่และเจ้าหน้าที่จัดการกระจาย "ความรู้" ไปสู่ชุมชน… การพัฒนาความทันสมัย จึงถือว่าระบบราชการเป็นแหล่งรวม "ผู้รู้" ที่สำคัญที่สุด เพราะรวบรวมผู้สำเร็จการศึกษาตามแบบตะวันตก ถือว่าเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ตามทฤษฏีการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย (3)

จากที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น บทความนี้จะเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมทางสายตา โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ในส่วนของผู้สร้างและออกแบบภาพ/สถาปัตยกรรม, ตัวภาพ/สถาปัตยกรรม, และในส่วนสุดท้ายจะเป็น ผู้รับภาพ/ผู้ใช้สถาปัตยกรรม. ดังนั้นในประเด็นแรกนี้ ผู้เขียนต้องการจะชี้ให้เห็นถึง บทบาทที่สำคัญของผู้สร้างและออกแบบภาพ/สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการกำหนดภาพ กำหนดมุมมอง ที่ทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เราพบเห็นโดยทั่วไป

จากข้อความที่หยิบยกมาด้านบน เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมไทยเมื่อก่อนที่เน้นอยู่ที่วัฒนธรรมชุมชน มีการพึ่งพาอาศัยกัน มีการไปมาหาสู่กัน และที่สำคัญตัวความรู้ความเข้าใจไม่ได้เกิดขึ้นจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือจากรัฐ แต่ทว่าความรู้มีอยู่มากมายหลากหลาย สามารถเรียนรู้ได้จากกลุ่มคนหลายกลุ่มโดยไม่จำเป็นต้องมี "ความรู้" ที่ต้องมีตราประทับจากกระทรวงทบวงกรมไหน หรือสถาบันใด ความรู้ที่ว่านี้ยังผนวกไปถึง กระบวนการเรียนรู้ และตัวผู้รู้เองอีกด้วย

การเรียนรู้โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นในลักษณะของการมอง การจดจำ และการเลียนแบบ โดยอาศัยทักษะและการปฎิบัติ ทำให้การเรียนรู้จะเป็นไปในลักษณะของการฝึกฝนตัวเองอีกด้วยคือ ไม่มีสูตรสำเร็จ แน่นอนว่า การปลูกเรือน ก็ถือได้ว่าเป็น "ความรู้" อย่างหนึ่งที่ผนวกเอาไว้ทั้งในส่วนตัวผู้รู้ (สล่า) ความรู้ในการปลูกเรือน ตัวผู้รับความรู้ซึ่งเชื่อถือใน "ความงาม" ของสิ่งที่ปรากฎ และพยายามสืบทอดความรู้ความงามเหล่านั้นภายในวิถีชุมชน

แต่ทว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมชุมชนเป็นวัฒนธรรมที่เน้นความทันสมัย เน้นการพัฒนาที่รับเอาความกรอบการมองและการเข้าใจ "ความรู้" ที่ถูกสถาปนาขึ้นในระบบของสถาบัน นอกจากโครงสร้างวิถีชุมชนถูกสั่นคลอน กำลังแรงงานถูกดูดเข้าไปทำงานในโรงงานต่างถิ่น ความสัมพันธ์ทางครอบครัวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การไปมาหาสู่กันเริ่มมีระยะเวลาและระยะทางเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สำคัญนิยามของ "ความรู้" และ "ตัวผู้รู้" ได้ถูกแย่งชิงออกไป "ความรู้" ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่นิยามตามความหมายทางตะวันตก ถูกจัดสรรแบ่งส่วนออกไปเป็น "ศาสตร์" ต่างๆ ซึ่งทำให้นิยามความหมายแบบเดิมเริ่มศูนย์เสียความสำคัญลง และทำให้ไม่เกิดการสืบทอด

"ผู้รู้" ถูกให้คำนิยามใหม่ ตามใบประกาศนียบัตร ใบปริญญาต่างๆ และอำนาจหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น ในมุมหนึ่งเป็นผลทำให้ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ของชุมชนเปลี่ยนไป มุมมองต่อความงามเริ่มเปลี่ยนไป ความเข้าใจในด้านเกี่ยวกับความงามถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ภาพต่างๆ ที่ผู้นำและรัฐต้องการนำเสนอกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ยกตัวอย่าง ภาพที่เกิดขึ้นจากการนำเอาสถาปัตยกรรมตะวันตกมาเป็นส่วนหนึ่งของไทย (4) และนั่นเองกลายเป็นฉนวนที่ทำให้วัฒนธรรมทางสายตาของคนโดยทั่วไปเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

ภาพตัวแทน/สถาปัตยกรรม: ผลผลิตของอำนาจและการเมือง

จุดนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะนำเอาคำว่า "ภาพ" มาวิเคราะห์เพิ่มเติม เพราะคำว่า "ภาพ" สามารถแยกแยะออกมาเป็นสองส่วน คือ

- ภาพตัวแทน (Representation) และ
- ภาพลักษณ์ (Image)

แน่นอนว่ามีทฤษฎีที่รองรับสิ่งสองสิ่งนี้อยู่มากมายหลายสำนัก แต่ในที่นี้ใคร่ที่จะนำเสนอในลักษณะซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ความสัมพันธ์ระหว่าง "สถาปัตยกรรม"และ"วัฒนธรรมทางสายตา" ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเลือกอธิบายผ่านกรอบทฤษฎีของ Henri Lefebvre ที่พูดเอาไว้เกี่ยวกับ Representations of Spaces และ Representational Spaces โดยย่อๆ

Representations of Spaces คือการกำหนด กรอบ สื่อ ภาพตัวแทน ให้ออกมาในลักษณะที่เข้าใจได้ เห็นได้ และสื่อสารได้ เช่น การใช้แผนที่ในการกำหนดพิกัดเมือง ขนาดถนน ทิศทาง หรือแม้แต่กระทั่งการใช้มาตราวัดต่างๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันสื่อสารกันได้ และสำหรับสถาปัตยกรรมแล้ว ภาพวาด รูปด้าน รูปตัด ผังพื้น ผังบริเวณ หุ่นจำลอง แม้แต่ ภาพทัศนียภาพต่างๆ ก็สามารถอยู่ในส่วนนี้ได้ทั้งหมด

Representational Spaces ค่อนข้างจะมีความเป็นนามธรรมสูง คือไม่สามารถกำหนดได้อย่างตายตัวว่าจะมีอยู่ในลักษณะใด ไม่ยึดติดอยู่กับเครื่องมือ มาตราวัด หรือการใช้ภาพตัวแทนในลักษณะต่างๆ แต่ทว่า เน้นอยู่ที่ตัวตนของผู้ที่ใช้ ผู้ที่อาศัย และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ อาจจะมีลักษณะเหมือนเป็น ที่ว่างภายในจิตใจ ในมโนภาพ แต่ทว่ามีความเกี่ยวกับกับพื้นที่จริงๆ อยู่เหมือนกัน เหมือนอย่างสุภาษิตไทยกล่าวเอาไว้ว่า "คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก" คือไม่ใช่แต่เฉพาะที่ (ที่จริงๆ มีขนาดสัดส่วน วัสดุต่างๆจริง) และเป็นที่ (ว่าง) ในลักษณะของนามธรรมอยู่ด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับคนแต่ละคน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การที่ผู้นำหรือรัฐ ทำหน้าที่เป็นคนกำหนดกรอบการมอง ลักษณะของภาพ และค่านิยมชมชอบถึงความงาม นั้นคือ ผู้นำหรือรัฐกำลังสร้าง Representations of Spaces เป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการควบคุม อำนาจเหล่านั้นสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านกฎเกณฑ์ ตำแหน่งแห่งที่ของตัวอาคาร ขนาดและสัดส่วนของตัวอาคาร สถาปัตยกรรมกลายเป็น "ตัวกลาง" หรือ "ภาพตัวแทน" ที่อำนาจกำลังส่งผ่านออกมา ในขณะที่วิถีชุมชนอาจจะอยู่ห่างไกลออกจากภาพตัวแทนเหล่านี้ อาจจะไม่ได้ชื่นชมยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถามว่าจะมีทางมากน้อยแค่ไหนที่จะทำให้เกิดการต่อรอง เกิดค่านิยมใหม่ของความงามที่แตกต่าง (ไปจากสิ่งที่ผู้นำและรัฐกำหนดในสมัยนั้น) หรืออาจจะหมายถึง Representational Spaces ของวิถีชุมชนเริ่มหายไป ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจากตัวตนของชุมชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น กับภาพที่เกิดขึ้นจากส่วนกลาง

ดังนั้นสิ่งที่น่าจะขบคิดคือ ถ้าสถาปัตยกรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อวัฒนธรรมทางสายตา ดังที่บทความนี้เปิดประเด็นในตอนต้น วัฒนธรรมทางสายตาที่ว่านี้เป็น วัฒนธรรมของใคร เป็นวัฒนธรรมของทางชุมชนที่เกิดขึ้นมาเพื่อแสดงออกทางตัวตน เป็นภาพลักษณ์ และค่านิยมทางความงามที่เกิดขึ้นจากตัวตนของชุมชนเองหรือ หรือทว่าเป็นผลผลิตของผู้นำและรัฐที่ต้องการสร้างภาพตัวแทน กรอบให้เกิดเป็นวัฒนธรรมทางสายตา สายตาของผู้นำหรือรัฐอาจจะไม่ใช่สายตาที่สามารถมองแทนทุกคนในชุมชนในสังคมได้ เพราะบางครั้งสายตาเหล่านั้นอาจจะทำหน้าที่ "บังตา" อำพรางภาพบางภาพ ความงามบางอย่าง คัดออก กีดกันไม่ให้เกิดภาพบางภาพที่ทางสายตาของผู้นำหรือรัฐไม่ต้องการจะเห็น สายตาเหล่านั้นไม่หยุดอยู่ที่การมอง แต่ทว่ากลับแปรเปลี่ยนเป็น วิธีการ แผนการ การปฎิบัติการการออกแบบ ในการสร้างภาพตัวแทน เพื่อตอบสนองต่อ สายตาแห่งอำนาจคู่นั้น

ผู้รับภาพ/ผู้ใช้สถาปัตยกรรม: สายตาและการมองจากมุมจากความเป็นอื่น

"การจ้องมอง" ยินยอมให้เราคิดถึงวิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการมองในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของ "อำนาจ" และอำนาจนั้นสามารถทำให้เป็นเรื่องเพศสภาพได้ ด้วยเหตุนี้เอง ข้อถกเถียงจำนวนมากจึงมีศูนย์กลางอยู่ที่ "การจ้องมองในสายตาของผู้ชาย" "ส่วนผู้หญิงกลับถูกทำให้เป็นวัตถุ" และตกอยู่ในสถานะที่เป็นรอง (5)

ถ้าย้อนกลับมามองงานของอาจารย์สมเกียรติ โดยเฉพาะบทที่ว่าด้วย "การจ้องมองและเรื่องเพศ" (6) สิ่งหนึ่งที่บทความบทนี้พยายามจะเปิดประเด็นไปสู่คือ นอกจากจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาพแล้ว ยังมีส่วนทัศนคติ (หรือในบางครั้งหมายถึงอคติ) ในการมองอีกด้วย หมายความว่าในลักษณะของการมองแล้วยัง มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น เช่น การมองแบบผิวเผิน (การมองเห็น) การจ้องมอง การจ้องดู การจ้องจับผิด ในภาษาอังกฤษเองก็มีความละเอียดอ่อนในด้านนี้อยู่มากเช่น คำว่า "Watch" แตกต่างจากคำว่า "See" เพราะคำว่า "See" ให้ความหมายของการเห็น การพบเจอกัน การทักทาย เช่น "Let's see each other", "Am I seeing you tonight?" ฯลฯ

ในขณะที่คำว่า "Watch" ให้ความหมายในลักษณะของการจ้องดู ตั้งใจดู หรือแม้กระทั่งกลายเป็นการจับผิดในบางครั้ง เช่น "I'm watching television tonight", "I'm watching you!!!" และนอกจากคำสองคำที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการอภิปราย คำว่า "Gaze" ในบทความของอาจารย์สมเกียรติ แปลคำนี้ว่า "การจ้องมอง" และให้คำอธิบายเอาไว้ว่า การจ้องมองนั้นมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงต่ออำนาจและเพศสภาพ

คำถามที่นำมาขบคิดกันต่อตรงนี้คือ เมื่อเวลาที่ผู้นำหรือรัฐกำลังกำหนด "ภาพตัวแทน" หรือ ค่านิยามความงามให้กับคนในชุมชนนั้น ผู้นำหรือรัฐให้การมองแบบใดต่องานสถาปัตยกรรม และคนที่อยู่ในชุมชนกำลังใช้ทัศนคติอย่างใดในการมองงานสถาปัตยกรรม แบบเห็น แบบมอง หรือแบบจ้องมอง แน่นอนว่าคงจะเป็นไปได้ยากที่จะพยายามขุดคุ้ยดูว่าทัศนคติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการมองสถาปัตยกรรมทั้งสองส่วนเป็นอย่างใด แต่ทว่าการเปิดประเด็นในการคิดผ่านทัศนคติทางการมอง และลักษณะทางการมองแบบต่างๆ นั้นจะสามารถทำให้เราได้คิดถึงประเด็นต่างๆ อีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น ในขณะที่เรากำลังพิจารณาในสิ่งที่เรา "เห็น" เราได้คิดพิจารณาถึงในสิ่งที่เรา "ไม่เห็น" หรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เราได้เห็นในสิ่งเหล่านั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างการ "จ้องมอง" และ "เพศสภาพ" ไม่ใช่เป็นประเด็นหลักของบทความชิ้นนี้แต่จำเป็นต้องหยิบยกมาพูดเพราะจะเป็นการปูทางไปสู่คำถามที่เกี่ยวกับมุมมองใหม่ๆ ในการมองภาพ ในวัฒนธรรทางสายตาที่มีผลโดยตรงต่องานสถาปัตยกรรม สิ่งหนึ่งที่บทความของอาจารย์สมเกียรติได้กล่าวไว้คือ "การจ้องมองเป็นอำนาจของฝ่ายชาย ในขณะที่ฝ่ายหญิงมักจะเป็นผู้ถูกจ้องมอง" เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาจาก วิธีคิดและทฤษฎีของทางสายจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสายของ Jacque Lacan ที่นำเอาเรื่อง การจ้องมอง "Gaze" มาเป็นเครื่องมือในการอธิบายการเกิดขึ้นของอัตภวิสัยของคน หรือในการ "สร้างตัวตน" (7) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนๆ นั้นเป็นผู้ชาย

ถ้าจะอธิบายอย่างสั้นๆ ตรงไปตรงมาคือ โมเดลที่ Lacan คิดนั้นเป็นคนผู้ชาย และทฤษฏีที่ Lacan ใช้นั้นเป็นการอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างตำแหน่งแห่งที่ของ "คนจ้องมอง"และ "คนที่ถูกจ้องมอง" สิ่งใดที่เป็นตัวตนของคนที่มองจะมีความแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวตนของคนที่ถูกจ้องมอง และเมื่อตำแหน่งแห่งที่ของคนที่จ้องมองได้ครอบครองตำแหน่งแห่งที่ของ "คน" ในฐานะ " 'ผู้คิด' หรือ subject อันเป็นเนื้อหาที่สำคัญที่สุดและเป็นฐานรากที่สำคัญที่สุดของความรู้ทั้งมวล" (8) ดังนั้นตำแหน่งแห่งที่ของความแตกต่างที่ไม่ใช่ตัวตนของผู้คิด จึงถูกหยิบยื่นให้อยู่ในตำแหน่งของ "วัตถุ" หรือ object ดังข้อความด้านบนได้กล่าวเอาไว้ ดังนั้นแล้วการที่ถูกจัดวางเอาไว้ในตำแหน่งแห่งที่ที่เป็นวัตถุจึงไม่ได้เปิดโอกาสให้เกิดการคิด ไม่ได้เปิดโอกาสให้จ้องมอง แต่ถูกกระทำ ถูกจ้องมองแต่เพียงอย่างเดียว

จากเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างการจ้องมองและเพศสภาพ จึงถูกหยิบโยงเข้ากับอำนาจของการกำหนดว่า อะไรคือทัศนคติที่ควรจะเป็นในการมอง อะไรคือสิ่งที่ถูกจ้องมอง หรือภาพที่ควรจะถูกมอง (seeing/being seen)ในขณะเดียวกันก็กลายมาเป็นทัศนคติที่บ่งบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรมอง ควรกีดกัน ควรซ่อนเร้น ออกไปจากการถูกมอง (visible/invisible, marked/unmarked) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ทัศนคติที่ว่าในฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่ตำแหน่งแห่งที่ของความเป็นคน ดังนั้นการร้องเรียน เสียงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อทัศนคติที่มีจึงเป็นสิ่งที่ยากต่อการได้ยิน ต่อการเปลี่ยนแปลง

สภาวะของการเป็นไปอย่างเป็นปกติ (Normality) ไม่ได้เปิดโอกาสและเชื้อเชิญให้คนตั้งคำถามต่อสิ่งทีเกิดขึ้น การกำหนดการรับรู้ของคน การเข้าถึงความรู้ และความจริง จึงกลายเป็นการกำหนดขอบเขต ยึดโยง และปกป้องไม่ให้ฐานที่มั่นของอำนาจนั้นสั่นคลอน กีดกันคำถามและข้อแตกต่างออกไป ซ่อนเอาไว้ภายใต้กฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่างๆ คือการตีตราเพื่อไม่สามารถให้แย่งชิงคำนิยามอื่นๆ ไปได้ เช่น ตีตราว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ น่าอับอาย เป็นอื่น ถูกผลักดันให้ไปอยู่ที่ชายขอบ

แต่ทว่าการท้าทายความคิดและทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการมองและเพศสภาพนั้น ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง และดำเนินสืบต่อมาทั้งในแง่ของการตั้งคำถามต่อ การจ้องมองของเพศชาย เช่น ผู้หญิงมองย้อนกลับไปไม่ได้หรือ และการยอมถูกจ้องมองของผู้หญิงนั้น แท้จริงแล้วเป็นลูกเล่นหรือมารยาของผู้หญิงที่ยั่วยวนให้เกิดการมอง (ในที่สุดผู้หญิงต่างหากที่เป็นคนที่มีอำนาจในการควบคุม) และแม้กระทั่งการท้าทายให้คิดถึงการที่ผู้ชายถูกมองจากสายตาของผู้ชายด้วยกัน (Queer Eyes) ก่อให้เกิดปรากฎการณ์อันหลากหลายของวัฒนธรรมทางสายตา (ที่เกิดขึ้นจากคนและจากอัตลักษณ์ที่มีความหลากหลาย)

Queer Eyes - Queer Space
คำว่า "Queer Eyes" มิได้มีความหมายตรงตัวอย่างที่เห็น นั้นคือไม่ใช่สายตาของเกย์ (คนใดคนหนึ่ง) แต่ทว่ามีความหมายในทางนามธรรม ที่ต้องการจะสร้างให้เกิดการเชี่อมโยงระหว่างความคิดเดิมและความคิดใหม่ เปิดโอกาสได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ไปสู่จุดที่ไม่เคยมีอยู่ ไม่เคยคิดและคำนึงถึง โดยเฉพาะจะสามารถช่วยให้ก้าวพ้นจากสิ่งที่มีความหมาย (ตามความหมายทางภาษา) กำหนดและให้คำนิยามเอาไว้ เมื่อพยายามยืนจากมุมมองอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่เดียวกัน ไม่ได้มองไปในทางเดียวกันกับมุมมองและแนวทางของคนที่มีอำนาจ เช่นผู้นำหรือรัฐ ในการสร้างภาพให้เราเห็น

ตำแหน่งแห่งที่ของตัวตนคนอื่นเหล่านี้ จะเป็นไปในทางการตรวจสอบความจริง เป็นการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กับภาพที่เห็น กับ "ความรู้" ที่เกิดขึ้น ในทำนองเดียวกันคำว่า "Queer Spaces" ก็ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่หรือที่ว่างของเกย์ คนใดคนหนึ่งมีร่างกายเข้าไปยึดครองอยู่ เสียทั้งหมด แต่เป็นพื้นที่หรือที่ว่างที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกทางตัวตนของกลุ่มเกย์ เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการท้าทายอำนาจของรัฐ ของกฎเกณฑ์และค่านิยมของรักต่างเพศ ที่เห็นชัดๆ ก็คงจะไม่พ้น เรื่องราวเกี่ยวบนพื้นที่สาธารณะ

Queer Eyes - Queer Spaces ยังเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับสิ่งที่ Michel Foucault พูดเอาไว้ในเรื่อง "Other Spaces" ว่า "มันเป็นสถานที่ในอุดมคติและไม่มีอยู่จริง ฟูโก เห็นว่าระหว่าง Utopia กับ Heterotopia [Other Spaces] ได้มีกระจกเงาบานหนึ่งวางไว้ มันเป็นทั้งความจริงและไม่จริงในเชิงกายภาพรวมอยู่ด้วยกัน" (9) จากข้อความที่คัดมานี้ทำให้เราสามารถเข้าใจ "Queer Eyes - Queer Spaces" ได้ว่าเป็นทั้ง ความจริงและไม่จริงในเชิงกายภาพ คือมีอยู่และไม่มีอยู่ เห็นและไม่เห็น เข้าใจได้และเข้าใจไม่ได้ในเวลาเดียวกัน

ดังนั้นคำว่า "Queer Eyes - Queer Spaces" ถ้าจะอธิบายในเชิงวัฒนธรรมทางสายตาแล้ว ก็จะเป็นเหมือนผลผลิตที่เกิดขึ้นจาก วิธีการและการปฎิบัติการในการท้าทายอำนาจ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเกย์หรือกลุ่มที่มีวิธีการหลบหลีก ซ่อนเร้น อำพรางจากการถูกตรวจสอบ การจ้องมอง จากองค์ความรู้ของกฎเกณฑ์และค่านิยมของกลุ่มรักต่างเพศ หรือกลุ่มที่มีอำนาจในการควบคุม ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ทางความรู้อื่นๆ ที่ถูกตัดออก ละเลย หรือมองข้าม ไม่ให้ความสนใจ หรือไม่คิดว่าเป็นความรู้ตั้งแต่ต้น เป็นพื้นที่ของชีวิตประจำวัน ส่วนตัว ของการยอมรับการมีอยู่ของตัวตน ซึ่งในบางครั้งจำเป็นต้องมีวิธีการต่างๆ ในการแสดงออกทางพื้นที่นั้น เช่น การเดินขบวนต่อต้าน (Street Protest) การใส่หน้ากาก (Masquerade) (10) การใช้การแสดงซึ่งรวมไปถึงการใช้สายตาในการสื่อสาร เช่นการจ้องกลับ การที่ผู้ชายถูกจ้องมอง (Performance) (11)

กลับมาสู่ประเด็นของ ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมทางสายตาและสถาปัตยกรรม ถ้าสายตาและทัศนคติของผู้นำหรือของรัฐเป็นไปในลักษณะจ้องมอง เพื่อที่จะเลือกเอาภาพบางภาพ ตัวแทนบางตัวแทนขึ้นมา นอกจากการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมความงาม กระบวนการเรียนรู้และการสืบทอดความงาม การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของ ผู้รู้ว่าอะไรงาม ยังทำให้เกิดกระบวนการยึด ป้องกัน การสูญเสียอำนาจในการควบคุมภาพเหล่านั้น ซึ่งถูกผนวกเข้าไปในนิยามความหมายของ "ความรู้" และ "ผู้รู้" กลายเป็นวิธีการ การปฎิบัติการต่างๆ ที่เพรียบพร้อมไปด้วยกฎเกณฑ์ ระเบียบ แบบแผนต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้ อำนาจนี้สั่นคลอน มิให้รูปแบบเหล่านี้ถูกท้าทายและตั้งคำถาม

เพราะถ้าเมื่อไรความรู้และสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรู้เหล่านี้ถูกท้าทาย นั่นยอมหมายถึง สายตาจ้องมองแห่งอำนาจคู่นั้น ก็ต้องถูกท้าทายตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เมื่ออำนาจในการควบคุมภาพ ควบคุมความงามเหล่านั้นหมดลง หลายๆ คนที่เป็นผู้รับภาพ ผู้รับสื่อ จึงได้เกิดเป็นคำถามว่า แล้วอะไรเล่าคือความงามของภาพ หรือของสถาปัตยกรรมของเราที่ควรจะมี ควรจะเป็น

หลายๆ คนจึงกลับเข้าไปหยิบเอาภาพลักษณ์หรืองานสถาปัตยกรรม ในสมัยก่อนที่จะมีการควบคุม ก่อนที่จะมีการชี้นำแนวทางของความงาม เช่นลักษณะของวัด ของสถาปัตยกรรมพุทธศาสนามาใช้ เพื่อจะอุดช่องโหว่ของความไม่รู้ ของความสูญหายทางกระบวนการการเรียนรู้ - "เสีย-ฟอร์ม-ไทย"


เสีย - ฟอร์ม - ไทย
"ฟอร์ม-ไทย" ที่ว่าเกิดขึ้นจากสายตาใคร ใครกำหนด เป็นไปเฉพาะกลุ่มหรือไม่ที่ต้องการให้ ไทย มีรูปแบบและมีการดำรงอยู่ของ ฟอร์ม ในลักษณะนี้ และสืบสานในต่อมา ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ปรากฎการณ์ของการสูญเสียในที่นี้ไม่เพียงแค่เรื่องราวเกี่ยวกับรูปร่าง รูปทรง หรือแม้กระทั่งรูปแบบ แต่ยังรวมไปถึง การสูญเสีย อำนาจในการควบคุม คือ เมื่ออำนาจในการควบคุมการจ้องมองเปลี่ยนไป รูปแบบที่ถูกควบคุมอยู่จึงถูกท้าทายและส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

และในปัจจุบัน อำนาจในการควบคุมนี้กลายเป็นสิ่งที่กระจัดกระจาย ฟุ้ง ไม่รวมอยู่กับที่ หรือศูนย์กลางใดศูนย์กลางหนึ่งอีกต่อไป เพราะเราในฐานะผู้รับสื่อ ผู้รับภาพ ถูกสั่งสอนให้จ้องมองภาพเหล่านั้นในสายตาเดียวกันกับกลุ่มผู้มีอำนาจ และเรามองมันในสายตาและมุมมองที่ชัดเกินไป (ไม่มีคำถามเคลือบแคลงใจกับการมองนั้น) จึงไม่น่าแปลกใจเรื่องของการ "สูญเสีย" และถ้า "ฟอร์ม-ไทย" เกิดขึ้นเพื่อเป็น ภาพตัวแทนของไทย ที่กลุ่มคนที่มีอำนาจในการควบคุม พยายามเลือกให้ไทย ให้สถาปัตยกรรมไทย คำว่า "ฟอร์ม" ในที่นี้ยังผนวกเข้ากับ ภาพลักษณ์ทางการเมือง อีกด้วย ภาพตัวแทนของเมือง กลายเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ และกลายเป็น "ฟอร์ม" ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการต้องรักษา

แต่ทว่าในเมื่อเอกราชและอธิปไตยในปัจจุบัน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกิน (หรืออาจจะใกล้มาก แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่ เช่นปัญหาชายแดนภาคใต้) ภาพลักษณ์ของประเทศก็ตกอยู่กับหน่วยงานของรัฐบางหน่วยที่ต้องดูแล (หรือบางครั้งก็ใช้ภาพลักษณ์เหล่านั้นในการหากิน) คำว่า "ฟอร์ม-ไทย" ตรงนี้จึงเปลี่ยนไป คือเปลี่ยนจาก การดำรงอยู่ของชาติและการปกป้องเขตแดน มาเป็น การทำงานของหน่วยงานรัฐ และการปกป้องตัวเลขเม็ดเงินสวยๆ ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว. "ฟอร์ม-ไทย" จึงไม่ได้อยู่ในตระหนักของประชาชนของคนออกแบบ อีกต่อไป

จากการที่เปิดประเด็นไปสู่ ทัศนคติและการมองในลักษณะต่างๆ การเปลี่ยนสายตาคู่ใหม่ เช่นแนวคิดในการใช้การมองในลักษณะ "Queer Eyes" เช่นมองดู "ฟอร์ม" ของไทยๆ จากการวิธีการทำงาน (ที่ไม่เป็นในลักษณะเดียวกันกับวิธีการทำงานในสถาปัตยกรรมกระแสหลัก) หรือการปฎิบัติการวิชาชีพในลักษณะการทำงานร่วมกัน การประนีประนอม ซึ่งถูกมองว่าเป็นลักษณะการทำงานแบบ feminist การทำงานของสถาปนิกหญิง หรือแม้แต่การหยิบยกเอาสถาปัตยกรรมที่ถูกมองว่า ไม่งาม ไม่เหมาะ (จากสายตากระแสหลัก) มาพินิจพิจารณาใหม่ๆ การมองหาพื้นที่แบบอื่นๆ ในงาน ไม่ใช่ งานสถาปัตยกรรมไทย แต่เป็นงานสถาปัตยกรรมของไทย (มีความหมายกว้างกว่า) โดยที่ไม่ยึดติดกับรูปร่างและรูปทรงเดิมๆ

การมีส่วนร่วมในการสร้างมุมมอง ไม่ได้กำหนดจากบนสู่ล่างหรือล่างขึ้นบน แต่อาจจะไม่มีลำดับขั้นเลยก็เป็นได้ หน่วยงานของรัฐไม่ใช่เป็นคนที่สามารถกำหนดควบคุมและจำกัดการเกิดขึ้นของรูปแบบ ทุกคนๆ ต้องการมีส่วนร่วมเพื่อจะได้ก่อให้เกิดการปฎิสัมพันธ์ทางความคิด กลายเป็นสังคมที่มีส่วนร่วม และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องรักษา "ฟอร์ม" ในฐานะ "ภาพตัวแทน" ถ้าไม่รู้ว่าภาพตัวแทนนั้นจะใช้เพื่อประโยชน์อันใด และน่าจะนำเสนอในฐานะความหลากหลายของ "ภาพลักษณ์" ที่เกิดขึ้นจากตัวตน จากความหลากหลาย เมื่อนั้นเราอาจจะพบว่าแท้จริงแล้ว เราไม่เคย "เสีย" ฟอร์ม-ไทย เพราะเรามี "ฟอร์ม" ไทยมากมายหลายหลากที่รอการหยิบยกขึ้นมา ดูใหม่จากการถูกละเลย หรือมองข้ามไป เริ่มดูจากทัศนคติใหม่ จากสายตาและมุมมองใหม่ ที่สำคัญจากวัฒนธรรมทางสายตาแบบเปิดกว้าง

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) เสวนาเชิงทฤษฎีวิพากษ์ สถาปัตยกรรมและการข้ามศาสตร์ เรื่อง "เสีย-ฟอร์ม-ไทย" เป็นส่วนหนึ่งของงาน สุดสัปดาห์วิชาการครั้งที่ 6 จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2550 โดยบทความนี้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาโต๊ะกลมในช่วงเช้า หัวข้อ "วัฒนธรรมทางสายตา จิตวิทยาของคนไทย และการสูญเสียอัตลักษณ์และพื้นที่อย่างไทย" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม, ดร.ต้นข้าว ปาณินท์, ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์, ดร.ณัฏฐิณี กาญจนามภรณ์, วราลักษณ์ แผ่นสุวรรณ และ ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ เป็นผู้ดำเนินรายการ

(2) สมเกียรติ ตั้งนโม, มองหาเรื่อง:วัฒนธรรมทางสายตา (มหาสารคาม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2549), หน้า 16

(3) อรศรี งามวิทยาพงศ์, กระบวนการเรียนรู้ในสังคมไทยและการเปลี่ยนแปลง: การยุคชุมชนถึงยุคพัฒนาความทันสมัย (กรุงเทพฯ: วิทยาลัยการจัดการทางสังคม, 2549), หน้า 68.

(4) ในประเด็นนี้จำเป็นต้องกล่าวต่ออีกว่า ถึงแม้ว่าลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตก เทศโนโลยีการก่อสร้าง และวัสดุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นถึง ภาพลักษณ์ของประเทศที่มีอารยธรรม เท่าเทียมกันกับนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศยุโรปที่กำลังจะเข้ามารุกรานอธิปไตยของประเทศไทยในขณะนั้น แต่ในประเด็นที่บทความนี้สนใจคือ การกำหนดภาพ การใช้ภาพตัวแทน เช่น งานสถาปัตยกรรม กลับกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในมุมมองต่อความงามและผลผลิตต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อต่อยอดความงามนั้นๆ ต่อมาเช่น หลักสูตรสถาปัตกยรรม นิยามความหมายของคำว่าสถาปัตยกรรม และคำว่า สถาปนิก

(5) สมเกียรติ ตั้งนโม, มองหาเรื่อง:วัฒนธรรมทางสายตา, หน้า 157-8

(6) สมเกียรติ ตั้งนโม, มองหาเรื่อง:วัฒนธรรมทางสายตา, หน้า 157-77

(7) รายละเอียดโปรดดูเพิ่มเติมจาก สมเกียรติ ตั้งนโม, มองหาเรื่อง:วัฒนธรรมทางสายตา, หน้า 158

(8) อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, อัตลักษณ์ (กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ, 2546), หน้า 3

(9) ดูเพิ่มเติมจาก สมเกียรติ ตั้งนโม, มองหาเรื่อง:วัฒนธรรมทางสายตา, หน้า 92-3

(10) ดูเพิ่มเติมจาก สมเกียรติ ตั้งนโม, มองหาเรื่อง:วัฒนธรรมทางสายตา, หน้า 163-5

(11) ดูเพิ่มเติมจาก สมเกียรติ ตั้งนโม, มองหาเรื่อง:วัฒนธรรมทางสายตา, หน้า 167-72
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงและสถาปัตยกรรม(หรือถ้าพูดให้ตรงจุดคือ การใช้พื้นที่) เป็นจุดที่ผู้เขียนให้ความสนใจที่จะทำการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป เพราะถ้างานสถาปัตยกรรมเกิดจากการใช้พื้นที่ที่เกิดจาก "คน" ในฐานะ "ผู้คิด" หรือในฐานะ subject คนๆ นั้นกำลังนำเอาสถาปัตยกรรมและพื้นที่ของมันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางตัวตน และที่สำคัญเมื่อ "คน" คนๆ นั้นตกอยู่ในฐานะ "ผู้ที่ถูกกระทำ" (objectified subject) ภายใต้วาทกรรมอะไรบางอย่างเช่น การถูกตีตราจากวาทกรรมของกลุ่มรักต่างเพศ วาทกรรมของค่านิยมผิวสีขาว วาทกรรมของค่านิยมความผอม การแสดงออกทางตัวตนที่กลุ่มคนเหล่านั้นกำลังดำเนินอยู่อาจจะสามารถมองได้ว่าเป็น "การแสดงเพื่อต่อต้านและท้าทาย" หรือ "การก่อกวนของการผลิตซ้ำ" ในลักษณะที่ Judith Butler พยายามอธิบายการเกิดขึ้นและการต่อยอดของ "อัตลักษณ์ทางเพศ" ในลักษณะที่เป็นการเกิดขึ้นอย่างซ้ำๆ และเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดเป็น subject อีกด้วย

สำหรับ Butler แล้ว เธอใช้คำว่า Performance เพื่อจะอธิบายผลผลิตของการที่อัตลักษณ์ทางเพศ และเพศสภาพถูกแสดงออกมา เป็นไปในลักษณะของการแสดงออกที่จำเป็นต้องมีคนแสดง และเธอใช้คำว่า Performativity เพื่อจะอธิบายโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของการควบคุมและอัตลักษณ์ทางเพศ หรือเพศสภาพ ซึ่งเป็นการแสดงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและก่อนที่จะมีคนแสดงเสียด้วยซ้ำ ดังเช่นในบทความที่ชื่อ "Imitation and Gender Insubordination" in Henry Abelove, Michele Aina Barale, and David M. Halperin, The Lesbian and Gay Studies Reader (London: Routledge, 1993) Butler กล่าวไว้ว่า "what I 'am' is a copy, an imitation, a derivative example, a shadow of the real'.

สิ่งที่น่าคิดในจุดนี้คือ ถ้าพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมถูกกำหนดให้เป็นไปก่อนหน้าที่จะมีผู้ใช้งานสถาปัตยกรรม หรือก่อนที่จะรู้จักตัวตน อัตลักษณ์ของคนที่จะใช้มันเสียอีก จะมีทางไหมที่ผู้ที่ใช้สถาปัตยกรรมจะสามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไข ปรับปรุงให้พื้นที่ของงานสถาปัตยกรรมนั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางตัวตนของคนๆ นั้นในฐานะ subject

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com