โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 17 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๕๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 17. 05. 2007)
R

ทำความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้น
คำอธิบายประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการร่างรัฐธรรมนูญ
ปรีดี พนมยงค์ : เขียน

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคัดลอก และเรียบเรียง

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน คัดลอกมาจากบทความเดิมชื่อ
ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ
โดยศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์
ซึ่ง
เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่
http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=11&s_id=4&d_id=3

เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ในบรรยากาศการรัฐประหารปัจจุบัน
โดยสาระของบทความชิ้นนี้เป็นการอธิบายเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้:
ประชาธิปไตยเบื้องต้น, นิยามศัพท์คำว่าประชาธิปไตย, อภิสิทธิ์ชน - สามัญชน,
ธรรมจริยาของประชาธิปไตย, ปัจเจกชนนิยม: อนาธิปัตย์นิยม, ลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยม, ลักเพศนิยม, ฮิปปี้,
ประชาธิปไตยทางตรง, ประชาธิปไตยทางอ้อม(ผ่านสภาผู้แทนฯ),
การเลือกตั้งวุฒิสมาชิก, บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาธิปไตย ฉบับอำมาตยธิปไตย, การร่างรัฐธรรมนูญ
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๕๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทำความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้น
คำอธิบายประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการร่างรัฐธรรมนูญ

ปรีดี พนมยงค์ : เขียน

๑. ประชาธิปไตยเบื้องต้น

๑.๑ ท่านทั้งหลายส่วนมากย่อมสังเกตได้ว่าในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น มนุษย์ได้ใช้สัญญาณที่แสดงออกโดยท่าทาง กริยา อิริยาบถ และอาการต่างๆ นอกจากภาษาพูดและภาษาเขียนซึ่งมีผู้ประดิษฐ์ขึ้นในโลกประมาณ ๕,๐๐๐ ปี มานี้เอง หลายศัพท์ในภาษาต่างๆ ก็เพิ่งมีผู้คิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เช่นคำว่า "ประชาธิปไตย" นั้นเพิ่งมีผู้ตั้งเป็นศัพท์เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว ฉะนั้นเราไม่ควรอาศัยเพียงแต่ภาษาพูดกับภาษาเขียนเป็นหลักวินิจฉัยว่า ปวงชนชาวไทยและมนุษยชาติไม่รู้จักการปกครองประชาธิปไตยเพราะไม่เข้าใจความหมายของศัพท์ว่าประชาธิปไตย แม้ผู้แสดงตนว่าเข้าใจประชาธิปไตยบางคนก็ยังใช้คำนี้ต่างกับความหมายของสถาบันแห่งชาติ คือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและพจนานุกรมสำหรับนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" อันเป็นสัญญาณของปวงชนไว้ว่า "แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่"

เราควรพิจารณาว่าในยุคที่มนุษยชาติยังไม่มีภาษาเขียนและยังไม่มีผู้ใดคิดศัพท์ "ประชาธิปไตย" หรือศัพท์ในภาษาอื่น ๆ ที่เทียบได้กับคำนั้น มนุษยชาติได้รู้จักการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่หรือไม่. ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกันกับการมีมนุษยชาติในโลกนี้ ต่อมาระบอบประชาธิปไตยปฐมกาลได้ถูกทำลายโดยระบอบทาสและระบบศักดินา

ปวงชนชาวไทยสมัยก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้ระบบทาสกับระบบศักดินานั้นก็มิได้มีลักษณะพิเศษแตกต่างกับมนุษยชาติในโลกที่จะไม่รู้จักการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ หากปวงชนชาวไทยรู้จักปกครองสังคม หรือกลุ่มชนของตนโดยถือมติปวงชนเป็นส่วนใหญ่มาแล้วตั้งยุคดึกดำบรรพ์ ต่อมาเมื่อตกอยู่ภายใต้ระบบทาสกับระบบศักดินา จึงทำให้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยปฐมกาลนั้นเสื่อมไปในชั่วระยะเวลาหลายพันปี แม้กระนั้นซากแห่งการปกครองประชาธิปไตยก็ยังเหลืออยู่บ้างในชนบทก่อนรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ คือยังมีธรรมเนียมประเพณีซึ่งบทกฎหมายที่ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองว่า ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านนั้นเป็นผู้ที่ราษฎรในหมู่บ้านเลือกตั้งขึ้น ถ้าตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดในชนบทว่างลง ทางคณะสงฆ์ก็ปรึกษาพระภิกษุในวัดกับชาวบ้านคัดเลือกเจ้าอาวาสองค์ใหม่ การทำนาในหลายท้องที่ก็มีการลงแขกช่วยกันไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว และต่างก็ช่วยกันในการปลูกที่พักอาศัยหลายแห่ง ฯลฯ อาการกิริยาที่ราษฎรในชนบทแสดงออกนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งประชาธิปไตยปฐมกาล ที่ยังมีซากตกค้างอยู่ ถ้าหากผู้ใดถามราษฎรว่าประชาธิปไตยคืออะไร ราษฎรทุกคนก็ยังไม่อาจตอบให้ถูกต้องได้เพราะศัพท์นั้นเป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในภาษาไทย

การที่ปวงชนชาวไทยได้รับพระราชทานสิทธิประชาธิปไตยคืนจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยคณะราษฎรเป็นผู้นำขอพระราชทานนั้น ได้ทำให้พวกที่มีซากทรรศนะทาสและทรรศนะศักดินาเกิดความไม่พอใจ จึงได้พยายามต่อต้านด้วยกลวิธีต่าง ๆ รวมทั้งใส่ความว่าราษฎรไม่เข้าใจประชาธิปไตยบ้าง ไม่เข้าใจคำว่า "รัฐธรรมนูญ" คืออะไรบ้าง และเสกสรรค์ปั้นแต่งว่าราษฎรเข้าใจผิดไปว่า "รัฐธรรมนูญ คือลูกพระยาพหล" ผู้ที่ไม่ศึกษาถึงประวัติของคำนี้ก็พากันหลงเชื่อคำว่าโฆษณานั้น แล้วนำมาเล่าต่อๆ กัน

ถ้าหากเราปรารถนาสัจจะแห่งประวัติของคำนี้ว่าเป็นมาอย่างไร เราก็อาจทราบได้ว่าคำว่า "รัฐธรรมนูญ" นั้น เพิ่งมีผู้เสนอขึ้นในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามนั้นใช้คำว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" แต่คณะอนุกรรมการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เห็นว่าควรใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นศัพท์ที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อกะทัดรัด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกศัพท์ที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น ในระยะแรกๆ ราษฎรไม่เข้าใจได้ทั่วถึง

อย่างไรก็ตามผู้มีใจเป็นธรรมซึ่งไม่หลงเชื่อคำบอกเล่าง่าย ๆ เช่นท่านที่เคยเป็นครูและนักเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยม ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ - พ.ศ. ๒๔๙๐ นั้น คงยังจำกันได้ว่า ท่านเคยสอนและเคยเรียนตามหลักสูตรสมัยนั้น ท่านที่เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น ก็เคยชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร และการปกครองประชาธิปไตยคืออะไร เป็นพื้นเบื้องต้นที่ราษฎรพอเข้าใจได้ และวิทยุกรมโฆษณากลาง (ต่อมาสมัยหลังเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์) ก็ได้จัดกระจายเสียงคำอธิบายพร้อมทั้งเพลงประกอบแทบทุกวัน

ผู้มีใจเป็นธรรมย่อมไม่ใส่ความราษฎรไทยว่าไม่มีสติปัญญาพอที่จะเข้าใจได้ แต่ภายหลังรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ แล้ว การชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจถึงประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ได้ลดน้อยลงไป และภายหลังที่สถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นแล้ว การชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็หยุดชะงักลง จึงทำให้บางคนที่มิได้รับการศึกษาจากโรงเรียนประถมและมัธยม เหมือนระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ ไม่เข้าใจหรือเสแสร้งทำเป็นไม่เข้าใจ

ผู้ศึกษาประวัติการปกครองย่อมค้นคว้าหลักฐานที่เป็นสัจจะได้อีกว่า รัฐบาลพหลฯ ได้เสนอพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาผู้แทนราษฎรซึ่งให้ความเห็นชอบออกเป็นกฎหมายได้ รัฐบาลก็ได้แถลงเจตนารมณ์ให้ราษฎรทราบทั่วกันว่า ในการออกกฎหมายนั้น ก็เพื่อให้ราษฎรปกครองตนเองโดยถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ตั้งแต่ชั้นตำบลขึ้นมาจนถึงเมืองและนคร เพื่อวางพื้นฐานประชาธิปไตยจากชั้นท้องถิ่น ประกอบด้วยประชาธิปไตยระดับชาติทางสภาผู้แทนราษฎร เทศบาลเมืองได้จัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด ส่วนเทศบาลตำบลได้จัดตั้งมากหลายตามกำลังของจำนวนผู้ตรวจการเทศบาลที่จะอบรมขึ้นมาได้ แต่ภายหลังเกิดระบอบเผด็จการแล้วระบอบนั้นก็อ้างเหตุผลอย่างเดียวกันกับซากทรรศนะทาสและทรรศนะศักดินาว่า ราษฎรยังไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย จึงได้ยุบสภาเทศบาลซึ่งราษฎรในท้องถิ่นเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกนั้นเสีย แล้วแต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามที่เจ้าหน้าที่ของระบบเผด็จการเห็นชอบ

ข้าพเจ้าวิตกว่า ถ้าหากยังมีผู้หลงเชื่อคำโฆษณาของผู้เห็นว่าไม่ควรเปลี่ยนระบอบสมบูรณาฯ ที่ใช้เป็นข้ออ้างว่าความพยายามของรัฐบาลโดยวิธีต่างๆ ดังกล่าวแล้วในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ ไม่อาจทำให้ราษฎรทราบแม้แต่เบื้องต้นว่า ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญคืออะไรแล้ว นิสิตนักศึกษาปัจจุบันที่มีความปรารถนาดี อุทิศตนเผยแพร่ประชาธิปไตยแก่ราษฎรนั้น จะได้ผลเพียงใดภายในเวลาไม่กี่เดือน เพราะจำนวนผู้เผยแพร่น้อยกว่าจำนวนครู และพนักงานท้องที่ดังกล่าวข้างบนนั้น

แต่ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสและมีความเชื่อว่านิสิต นักศึกษามีสติปัญญาพอโดยอาศัยสามัญสำนึก อันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชนนั้นเป็นหลักวินิจฉัยว่า คำโฆษณาของผู้เห็นว่าไม่ควรเปลี่ยนระบอบสมบูรณาฯ นั้นควรได้รับความเชื่อถือหรือไม่

โดยที่ผู้ปรารถนาดีหลายท่านต้องการทราบความเห็นของข้าพเจ้าเกี่ยวกับประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการร่างรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงสนองศรัทธาโดยเขียนบทความนี้เพื่อประกอบการพิจารณาของท่านทั้งหลาย

๑.๒ สำหรับผู้ที่รู้หลักภาษาไทยอยู่บ้างก็พอทราบได้ว่าคำว่า "ประชาธิปไตย" ประกอบขึ้นด้วยคำไทย ๒ คำคือ คำว่า "ประชา" ซึ่งหมายถึง หมู่คนหรือปวงชน กับคำว่า "อธิปไตย" ซึ่งหมายถึงอำนาจสูงสุด คำว่า "ประชาธิปไตย" ตามมูลศัพท์จึงหมายถึง "อำนาจสูงสุดของปวงชน" ดังนั้นแบบการปกครองประชาธิปไตยจึงต้องถือมติปวงชนเป็นใหญ

ส่วนผู้ปรารถนาหาความเข้าใจจากคำอังกฤษ "Democracy" คำฝรั่งเศส "Democratie" หรือคำเยอรมัน "Demokratie" นั้นก็อาจทราบได้ว่า คำฝรั่งทั้งสามคำนั้นแผลงมาจากคำกรีก "Demokratia" ซึ่งมาจากมูลศัพท์ "Demos" แปลว่า "ปวงชน" (สมุหนามของชนทั้งหลายหรือราษฎรทั้งหลาย) ผสมกับคำว่า "Kratos" แปลว่าอำนาจ และ "Kratein" แปลว่าการปกครอง จึงมีความหมายว่า อำนาจสูงสุดของปวงชนการปกครองโดยมติของปวงชน

ดังนั้นไม่ว่าจะตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกับฉบับสำหรับนักเรียนหรือตามความหมายของมูลศัพท์ หรือตามความหมายของคำฝรั่งต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว คำว่า "ประชาธิปไตย" จะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากความหมาย "แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่" เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนซึ่งมีสิทธิกับหน้าที่ตามธรรมชาติของมนุษยชน

๑.๓ การที่ประชาธิปไตยถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ก็เพื่อราษฎรทั้งหลายที่ประกอบเป็นปวงชนนั้นได้มีรัฐบาลของปวงชน ซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางสภาผู้แทนราษฎร จึงจะเป็นรัฐบาลที่กระทำการเพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหลาย ให้มีความอุดมสมบูรณ์ในการครองชีพ และปลอดภัยจากการกดขี่เบียดเบียนระหว่างกัน อีกทั้งเพื่อให้ราษฎรทั้งหลายประพฤติต่อกันตามศีลธรรมอันดีของประชาชน ชาติจึงจะดำรงคงมีความมีเอกราชและพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้

ชาติหนึ่งๆ ปัจจุบันนี้ประกอบด้วยชนที่มีฐานะและวิถีดำรงชีพต่างๆ กัน ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถืออภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยในชาติ กับอีกฝ่ายหนึ่งคือสามัญชนซึ่งเป็นคนจำนวนส่วนข้างมากในชาติ. อภิสิทธิ์ชน ได้แก่บุคคลที่มีฐานะพิเศษตามระบบศักดินา และบุคคลที่เป็นเจ้าสมบัติสมัยใหม่ มีทุนยิ่งใหญ่มหาศาลเป็นจักรวรรดินิยม เป็นบรมธนานุภาพเหนือกว่านายทุนผู้รักชาติที่ทำมาหากินโดยสุจริต อภิสิทธิ์ชน หมายความถึงลูกสมุนที่ยอมตนเป็นเครื่องมือของอภิสิทธิ์ชนด้วย

ในทางปฏิบัตินั้น อภิสิทธิ์ชนก็มีกำลังทรัพย์ใช้เป็นทุนในการเลือกตั้ง ได้ยิ่งกว่าผู้สมัครสอบรับเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายสามัญอยู่แล้ว ถ้าหากตัวแทนของอภิสิทธิ์ชนได้เป็นวุฒิสมาชิกโดยไม่ต้องรับเลือกจากราษฎร อภิสิทธิ์ชนกับลูกสมุนก็สามารถผูกขาดอำนาจการปกครองไว้โดยเด็ดขาดตลอดกาล ชาติก็จะมีรัฐบาลของอภิสิทธิ์ชนตลอดกาล โดยแต่งตั้งจากอภิสิทธิ์ชนตลอดกาล เป็นรัฐบาลที่กระทำการเพื่ออภิสิทธิ์ชนตลอดกาล อภิสิทธิ์ชนก็เป็นผู้เสวยผลผลิตของชาติที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของปวงชนตลอดกาล อันเป็นการเบียดเบียนสามัญชนคนส่วนมากซึ่งจะมีความอัตคัดขัดสนยิ่งขึ้น ปวงชนที่เป็นพลังสำคัญของชาติก็จะอ่อนเปลี้ยลง ซึ่งเป็นการบั่นทอนการพัฒนาก้าวหน้า และการดำรงความเป็นเอกราชของชาติ ดังนั้นประโยชน์ของราษฎรทั้งหลายที่ประกอบกันเป็นปวงชนและเพื่อประโยชน์ของชาติ แบบการปกครองประชาธิปไตยจึงต้องถือตามมติปวงชนเป็นใหญ่

๑.๔ ทรรศนะประชาธิปไตยเป็นทรรศนะที่เกิดขึ้นจากสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ ที่จะต้องสัมพันธ์กันอยู่เป็นกลุ่มชน หรือสังคม หรือเป็นชาติ ไม่มีบุคคลใดจะอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังได้ มนุษย์จึงต้องมีทรรศนะที่เป็นหลักนำความประพฤติของตน เพื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อื่นในชาติเดียวกัน เพื่อให้ชาติดำรงอยู่และเพื่อพัฒนาเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้ ทรรศนะประชาธิปไตยจึงเป็นทรรศนะที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน แม้ว่ามนุษย์มีเสรีภาพส่วนบุคคลตามธรรมชาติ แต่มนุษย์ก็มีหน้าที่ตามธรรมชาติในการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อมิให้เสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่น และเพื่อให้ชาติดำรงอยู่กับเติบโตพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้ ดังนั้นตั้งแต่ยุคปฐมกาลจึงมีธรรมจริยา ซึ่งมนุษย์มีจิตสำนึกตามธรรมชาติที่จะต้องใช้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล มิให้เป็นที่เสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่น และแก่ส่วนรวมของกลุ่มชน

ทรรศนะประชาธิปไตยจึงต่างกับทรรศนะที่เกิดจากคติ "ปัจเจกนิยม" (Individualism) ซึ่งถือเสรีภาพเฉพาะตัวของบุคคลเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ต่อส่วนรวมของปวงชนและชาติ จากรากฐานปัจเจกนิยมนี้ก่อให้เกิดลัทธิการเมือง ลัทธิเศรษฐกิจ และลัทธิเสพย์สุขหลายอย่างที่ขัดต่อธรรมจริยาส่วนรวมของปวงชน หรือที่เรียกว่าศีลธรรมอันดีของประชาชน อาทิ

ก. ลัทธิการเมือง "อนาธิปัตย์นิยม" (Anarchism) ลัทธิจำพวกนี้ถือว่าเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ฉะนั้นแบบการปกครองของมนุษย์จะต้องไม่มีรัฐบาล บุคคลจึงจะมีเสรีภาพเต็มที่โดยแยกย้ายกันอยู่เป็นกลุ่มน้อยๆ ซึ่งสมานกันโดยความตกลงกันอย่างเสรี ลัทธินี้แยกออกเป็นหลายสาขา บางสาขาที่เชิดชูเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเต็มที่ก็ประพฤติและสนับสนุน "ลักเพศนิยม"

ข. ลัทธิเศรษฐกิจ "เสรีนิยม" ซึ่งปล่อยให้เอกชนมีเสรีภาพเต็มที่ในการประกอบเศรษฐกิจ ต่างคนต่างทำ ผู้ใดมีทุนมากก็ได้เปรียบผู้ไร้สมบัติ ในวิชาว่าด้วยประวัติลัทธิเศรษฐกิจ (Histoire des Doctrines Economiques) จัดลัทธิเสรีนิยมเข้าอยู่ในจำพวกสำนักปัจเจกนิยม (Ecole individualiste) เมื่อลัทธินี้ดำเนินถึงขีดสูงสุดก็ช่วยให้ผู้ที่สะสมทุนมหาศาลเป็นเจ้าสมบัติ "จักรวรรดินิยม" ซึ่งมีบรมธนานุภาพกดขี่เบียดเบียนคนส่วนมาก นักประชาธิปไตยผู้หนึ่งเปรียบเทียบเสรีนิยมว่าเสมือน "เสรีภาพของสุนัขจิ้งจอกในเล้าไก่"

ค. ลัทธิลักเพศนิยม (Homosexuality) คือการเสพย์เมถุนระหว่างชายกับชาย และหญิงกับหญิงซึ่งเป็นเพศเดียวกัน ลัทธิเสพย์เมถุนระหว่างหญิงกับหญิงนั้นยังมีชื่ออีกอย่างว่า "เลสเบียนิสม์ " (Lesbianism) "ลักเพศนิยม" ถือว่าเสรีภาพของบุคคลที่จะกระทำการใดตามความพอใจในการเสพย์สุขนั้นมีค่าสูงสุด บุคคลจึงต้องหาความสุขสำราญให้เต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงศีลธรรมอันดีของปวงชน เพราะการเสพย์เมถุนระหว่างคนเพศเดียวกัน ลัทธินี้ถือเอาความเสพย์สุขทางเมถุนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าชาติพันธ์ของมนุษยชาติ โดยไม่คำนึงถึงว่า มนุษยชาติมีเพศชายและเพศหญิง ซึ่งได้แพร่พันธุ์สืบต่อๆ มา ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มิฉะนั้นมนุษยชาติก็สูญสิ้นชาติพันธุ์ไปพ้นจากโลกนี้ช้านานมาแล้ว ผู้ประพฤติลักเพศและเผยแพร่ลักเพศในชาติใด ผู้นั้นก็ทำลายชาติพันธุ์แห่งชาติของตนเอง อันเป็นอาชญากรรมอย่างมหันต์

ในประเทศอังกฤษนั้น ท่านเจ้าศักดินาหลายท่านที่โปรดลักเพศนิยม ได้พยายามติดต่อกันมาหลายปีในการเสนอทางสภาเจ้าศักดินา (House of Lords) เพื่อให้ยกเลิกกฎหมายห้ามการลักเพศ แต่ท่านเจ้าศักดินาถูกคัดค้านจากสภาสามัญชน (House of Commons) โดยเฉพาะพรรคแรงงานซึ่งเป็นสังคมนิยมอังกฤษที่ต้องการรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชนไว้ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ พรรคจารีตนิยมซึ่งเป็นฝ่ายอภิสิทธิ์ชนได้ชนะการเลือกตั้ง ความปรารถนาของท่านเจ้าศักดินาและอภิสิทธิ์ชนก็ประสบความสำเร็จ ในการยกเลิกกฎหมายห้ามการลักเพศ
เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๔

ข้าพเจ้าได้มีจดหมายตอบคณะผู้จัดทำมหิดลสาร ซึ่งต้องการบทความของข้าพเจ้าเกี่ยวกับสาธารณรัฐราษฎรจีนข้าพเจ้าได้เขียนตอนหนึ่งว่า "ส่วนชายกองกลางซึ่งเป็นการพัฒนาคนแบบใหม่ในบางประเทศนั้น ไม่เคยมีในประเทศจีนเก่าหรือปัจจุบัน" ในอดีตของไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์เป็นการผิดศีลธรรมอย่างแรง จึงโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ลงโทษจำคุกหลายปีแก่ผู้กระทำกามวิตถารเช่นนั้น (แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้บางคนอ้างว่าจงรักภักดี ในรัชกาลที่ ๕ ได้ยอมลงมติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ )

ง. ลัทธิ "ฮิปปี้" ซึ่งคัดค้านธรรมจริยาของปวงชนว่าเป็นการตัดเสรีภาพสมบูรณ์เฉพาะตัว ซึ่งบุคคลมีเสรีภาพที่จะแต่งกาย อยู่กิน เสพย์ยาต่างๆ ซึ่งทำให้จิตใจเบิกบาน (Narcotic Drug) อาทิ กัญชา, ยาฝิ่น, เฮโรอีนและผลิตภัณฑ์เคมี ทำนองเดียวกันนั้น ลัทธิฮิปปี้เป็นที่คู่กันไปกับลักเพศนิยม เพราะผู้ประพฤติตามลัทธิฮิปปี้นี้ก็ประพฤติลักเพศด้วย และผู้ประพฤติลักเพศก็ประพฤติลัทธิฮิปปี้ ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทุกส่วนด้วย

๑.๕ ปวงชนแสดงมติในการปกครองแบบประชาธิปไตยโดย ๒ วิธีคือ

ก. วิธีแสดงมติโดยตรง เรียกว่า "ประชามติ" หมายความว่าปวงชนออกเสียงโดยตรงในกิจการปกครองบ้านเมือง คือการบัญญัติกฎหมาย (อำนาจนิติบัญญัติ) , การแต่งตั้งและควบคุมรัฐบาล (อำนาจบริหาร) , การแต่งตั้งตุลาการ (อำนาจตุลาการ)

สำหรับบ้านเมืองที่มีพลเมืองน้อยเช่น "สักกะชนบท" เมื่อครั้งพุทธกาลและนครเล็กน้อยในเมืองกรีกโบราณ ฯลฯ นั้น ปวงชนก็สามารถประชุมกันได้ทั่วถึงเพื่อออกเสียง. แต่สำหรับบ้านเมืองหรือประเทศที่มีพลเมืองหลายหมื่น , หลายแสน, หลายล้านคนนั้น ย่อมเป็นการยากลำบากที่จะจัดให้ปวงชนประชุมกันได้ทั่วถึงเพื่อออกเสียงโดยตรงในกิจการปกครองเมืองทุกๆ อย่างได้ ฉะนั้น จึงต้องใช้วิธีที่สอง คือ แสดงมติโดยผ่านผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง แม้กระนั้นในบางประเทศได้สงวนอำนาจของปวงชนในการแสดงมติโดยตรงเฉพาะกฎหมายและนโยบายที่สำคัญและแต่งตั้งประมุขของประเทศ

ข. วิธีแสดงมติโดยผ่านผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง หมายความว่า ราษฎรในเขตหนึ่ง ๆ เลือกผู้แทนของตนให้แสดงมติแทนตนในสภาผู้แทนราษฎรหรือในรัฐสภาเพื่อบัญญัติกฎหมาย , ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งถอดถอนรัฐบาล, ควบคุมรัฐบาลในการปฏิบัติ (บริหาร), บัญญัติกฎหมายว่าด้วยการตั้งศาล และมีองค์การแต่งตั้งถอดถอนตุลาการ

วิธีแสดงมติโดยผ่านผู้แทนนั้นมี ๒ แบบคือ
(๑) ราษฎรเลือกผู้แทนโดยตรง
(๒) ราษฎรเลือกผู้แทนโดยทางอ้อม

คำว่า "โดยทางอ้อม" ในที่นี้แปลมาจากภาษาอังกฤษ "Indirect" เมื่อนำมาใช้แก่การออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็หมายถึง การที่ราษฎรเลือกตัวแทนให้ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแทนตนชั้นหนึ่งก่อน แล้วตัวแทนจึงเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง เช่น ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วผู้แทนตำบลจึงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(ในบางประเทศที่มีพลเมืองหลายร้อยล้านคน เช่นประเทศจีน ต้องใช้วิธีเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในบริเวณทั่วไป ๓ ชั้น คือ ราษฎรเลือกตั้งตัวแทนเพื่อเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นชั้นหนึ่งก่อนแล้วสมาชิกสภามณฑลเป็นชั้นที่สอง แล้วสมาชิกสภามณฑลเลือกผู้แทนราษฎรเป็นชั้นที่ ๓ ยกเว้นบางท้องที่ซึ่งราษฎรเลือกผู้แทนโยตรงบ้าง โดย ๒ ชั้นบ้าง)

วิธีเลือกตั้งทางอ้อมนั้น ก็มาจากพื้นฐานการออกเสียงลงมติของราษฎรเอง ซึ่งต่างกับการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาโดยรัฐบาลหรือองคมนตรี

๑.๕ ในหลายประเทศประชาธิปไตยที่มี ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภานั้น สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น มิใช่รัฐบาลหรือองคมนตรีเป็นผู้เสนอประมุขรัฐให้แต่งตั้ง วุฒิสมาชิกโดยการแต่งตั้งจึงมิใช่ผู้แทนของปวงชนหากเป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยในชาติ จึงไม่ใช่วิธีประชาธิปไตย ซึ่งถือปวงชนเป็นใหญ่ ส่วนวิธีให้องคมนตรีทำบัญชีชื่อบุคคลจำนวนหนึ่งตามที่องคมนตรีเห็นสมควร แล้วส่งให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกตามบัญชีนั้น วุฒิสมาชิกชนิดนี้ก็ไม่ใช่ตัวแทนของปวงชน เพราะสภาผู้แทนราษฎรจำต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อขององคมนตรี เท่ากับเลือกจากตัวแทนขององคมนตรีเท่านั้น

ส่วนมากของประเทศประชาธิปไตยที่มีวุฒิสภานั้น ใช้วิธีเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ๒ ชั้น คือ ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดหรือสภามณฑลชั้นหนึ่งก่อน แล้วสมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภามณฑลเลือกตั้งวุฒิสมาชิก วุฒิสมาชิกชนิดนี้จึงเป็นตัวแทนของราษฎร

๑.๖ การที่ประเทศประชาธิปไตยบางประเทศมี ๒ ทาง
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอแถลงให้ที่ประชุมทราบเท่าที่นายหงวน ทองประเสริฐ ได้ร้องให้เติมร่างว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณนั้น การที่ไม่เขียนไว้ก็ดีก็ให้ถือว่าเวลาขึ้นเสวยราชย์ต้องทรงกระทำตามพระราชประเพณี การที่ไม่เขียนไว้นี้ไม่ใช่เป็นการยกเว้นที่พระองค์จะไม่ต้องทรงปฏิญาณ ขอให้จดบันทึกข้อความสำคัญนี้ไว้ในรายงาน

ประธานอนุกรรการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เนื่องจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าขอแถลงว่าได้เคยเฝ้าและทรงรับสั่งว่า พระองค์เองได้ทรงปฏิญาณเวลาเสวยราชสมบัติและเวลาขึ้นรับเป็นรัชทายาทก็ต้องปฏิญาณชั้นหนึ่งก่อน ความข้อนี้เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งเช่นนี้ เพราะฉะนั้นรับรองได้อย่างที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่าเป็นพระราชเพณีทีเดียว

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า เป็นที่เข้าใจแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปฏิญาณตามนี้ แต่นี่เป็นรัฐธรรมนูญสำคัญอย่างยิ่ง เท่าที่ได้จดบันทึกรายงานยังน้อยไป ถ้าอย่างไรให้มีไว้ในรัฐธรรมนูญจะดียิ่ง

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ตอบว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องเห็นชอบในการอัญเชิญพระมหากษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์หรือในการสมมตรัชทายาท ถ้าองค์ใดไม่ปฏิญาณเราคงไม่ลงมติให้

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า องค์ต่อๆ อาจไม่ปฏิญาณ

พระยาราชวังสัน ตอบว่า ตามหลักการในที่ประชุมต่างๆ ถ้ามีคำจดในรายงานแล้วเขาถือเป็นหลักการเหมือนกัน

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงให้สมาชิกลงมติมาตรา ๙ ว่าการสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎมณเทียรบาลหรือให้เติมคำว่า "จะต้องปฏิญาณ"

ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้มีความเห็น ๒ ทาง คือทางหนึ่งเห็นว่าควรคงตามร่างเดิม อีกทางหนึ่งว่า ควรเติมความให้ชัดยิ่งขึ้น

"ที่ประชุมลงมติตามร่างเดิม ๔๘ คะแนน ที่เห็นว่าให้เติมความให้ชัดขึ้นมี ๗ คะแนน เป็นอันตกลงว่าไม่ต้องเติมความอีก"

๒. รัฐธรรมนูญ

ปัจจุบันนี้มีบางคนได้เขียนและกล่าววิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้น ฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยบ้าง เป็นอำมาตยาธิปไตยบ้าง ฉะนั้นจึงเป็นการสมควรที่นิสิต นักศึกษา นักเรียนและราษฎรซึ่งต้องการสัจจะโดยไม่มีอคติอุปาทาน อาศัยหลักตามสามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชนประกอบด้วยความหมายของภาษาไทยประยุกต์ แก่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับโดยความเที่ยงธรรม

ก. ถ้ารัฐธรรมนูญใดมีบทถาวรและบทเฉพาะกาล สามัญชนที่รู้ภาษาไทยพอสมควร ย่อมเข้าใจคำว่า "เฉพาะกาล" นั้นหมายถึงระยะเวลาชั่วคราวซึ่งเมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว ก็เหลือแต่บทถาวรที่ใช้เป็นแบบการปกครองถาวรต่อไป ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาตัวบทถาวรของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับว่า มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ส่วนบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องระยะต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ ซึ่งย่อมมีส่วนที่เป็นระบบเก่าผสมอยู่กับระบบใหม่ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ปัญหาวินิจฉัยลักษณะบทเฉพาะกาลนั้น ต้องพิจารณาว่าบทนั้นมีไว้เพื่อนำไปสู่บทถาวรประชาธิปไตยหรืออำมาตยาธิปไตย

(บางคนที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงย่อมรู้ภาษาไทยดีกว่าสามัญชนกลับแสร้งทำเป็นไม่รู้คำว่า "เฉพาะกาล" นั้นหมายถึงเรื่องชั่วคราว ดังนั้นบางคนจึงถือเอาบทเฉพาะกาลเป็นหลัก เช่น เราจะได้อ่านได้ฟังว่าบางคนถือเอา "บทเฉพาะกาล" ของรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เรื่องการมีสมาชิกประเภทที่ ๒ นั้น เป็นเรื่องถาวร แต่ถ้าเป็นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่พวกเขาทำขึ้นนั้น พวกเขาก็ไม่นำเอาเรื่องเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญนั้นมาเป็นหลักวินิจฉัยลักษณะของรัฐธรรมนูญนั้น เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ซึ่งมีบทเฉพาะกาลยกยอดวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับแต่งตั้งตามเฉพาะกาลฉบับ ๙ พ.ย. ๒๔๙๐ (ใต้ตุ่ม) ให้มาเป็นวุฒิสมาชิกของฉบับ ๒๔๙๒ พวกเขาก็ไม่เอ่ยถึงบทเฉพาะกาลนี้)

ข. คำว่า "ประชาธิปไตย" นั้นข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ คือ หมายถึงการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ส่วนคำว่า "อำมาตยาธิปไตย" นั้นมีบางคนตั้งเป็นศัพท์ใหม่ขึ้น โดยยังไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหรือฉบับสำหรับนักเรียน แต่ผู้ตั้งศัพท์นี้มีสิทธิที่จะตั้งเป็นศัพท์ใหม่ได้โดยเอาคำว่า "อำมาตย์" สนธิกับคำว่า "อธิปไตย"

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า "อำมาตย์" ไว้ว่าหมายถึง "ข้าราชการ , ข้าเฝ้า, ที่ปรึกษา" ดังนั้นคำว่า "อำมาตยาธิปไตย" ย่อมหมายถึงการปกครองโดยข้าราชการ , ข้าเฝ้า , ที่ปรึกษา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยพระองค์เองหรือโดยคำเสนอของรัฐบาล หรือองคมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์

ค. วินิจฉัยรัฐธรามนูญ โดยอาศัยหลักการและความหมายในภาษาไทยดังกล่าวข้างบนนั้น เราอาจวินิจฉัยลักษณะของรัฐธรรมนูญบางฉบับได้ดั่งต่อไปนี้

(๑) ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย เพราะตัวบทถาวรของธรรมนูญนั้น กำหนดไว้ว่าเมื่อสิ้นบทเฉพาะกาลแล้ว สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกประเภทเดียว คือ ประเภทราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้นมา ส่วนบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องชั่วคราวในระยะหัวต่อระหว่าง ระบบศักดินาที่เป็นมาหลายพันปี กับระบอบ ประชาธิปไตย ซึ่งเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น

- จึงในสมัยแรกภายในเวลา ๖ เดือน สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารแต่งตั้งขึ้นในนามคณะราษฎร

- สมัยที่ ๒ ภายในเวลา ๑๐ ปี สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ ๑ ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง กับประเภทที่ ๒ ผู้แทนราษฎรสมัยที่ ๑ เป็นผู้เลือกตั้ง

- สมัยที่ ๓ เป็นบทถาวรคือเมื่อพ้น ๑๐ ปีแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น

(๒) รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตยเพราะ มาตรา ๑๖ อันเป็นบทถาวรบัญญัติไว้ว่า "สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง" ส่วนบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องชั่วคราวในระยะหัวต่อระหว่าง ๒ ระบบดั่งกล่าวแล้วนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒ ประเภท คือประเภทที่ ๑ ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง กับประเภทที่ ๒ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ในระหว่างบทเฉพาะกาลนี้ ผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ ซึ่งแม้ก่อนสมัครรับเลือกตั้งนั้นบางคนเป็นข้าราชการประจำ แต่กฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดไว้ว่าถ้าได้รับเลือกตั้งแล้วต้องลาออกจากตำแหน่งข้าราชการประจำ ฉะนั้นสมาชิกประเภทที่ ๑ ซึ่งมีจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแห่งสภาผู้แทนราษฎรนั้นจึงไม่ใช่อำมาตย์

(๓) รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตยเพราะพฤฒสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมาจึงไม่ใช่ "อำมาตย์" และมาตรา ๒๔ กับ ๒๙ กำหนดไว้ว่าพฤฒสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

(๔) รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พ.ย. ๒๔๙๐ (ใต้ตุ่ม) เป็นอำมาตยาธิปไตย เพราะวุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง โดยรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

(๕) รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ เป็นอำมาตยาธิปไตยครบถ้วนทั้งบทถาวรและบทเฉพาะกาล เพราะบทถาวรกำหนดไว้ว่า วุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยประธานองคมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ และบทเฉพาะกาลได้ยกยอดวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับแต่งตั้งตามฉบับ ๒๔๙๐ (ใต้ตุ่ม) ให้เป็นวุฒิสมาชิกตามฉบับ ๒๔๙๒ ด้วย

ส่วนการที่บางคนอ้างว่าฉบับ ๒๔๙๒ เป็นประชาธิปไตยที่สุดเพราะมีบทบัญญัติไว้ว่า วุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำนั้น ท่านผู้อ่านอาจสอบสวนหาสัจจะได้ว่าหากห้ามมิให้พฤฒสมาชิก (วุฒิสมาชิก) กับสมาชิกสภาผู้แทนเป็นข้าราชการประจำนั้น รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ได้บัญญัติห้ามเช่นนั้นไว้ก่อนแล้วตามมาตรา ๒๔ และ ๒๙ และได้มีการปฏิบัติจริงตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้อ่านที่ปราศจากอคติสอบสวนได้ระหว่างใช้รัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ นั้นไม่มีพฤฒสมาชิก หรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือรัฐมนตรีคนใดเป็นข้าราชการประจำ

ส่วนรัฐมนตรีที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ นั้นเราท่านที่ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาก็เห็นกันอยู่ว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีโดยความไว้วางใจของรัฐสภาตามฉบับ ๒๔๙๒ และหลายคนที่แม้ไม่ใช่นักวิชาการก็ย่อมรู้ว่า ผู้มียศเป็น"จอมพล"นั้นดำรงยศนั้นเป็นประจำการตลอดไป โดยไม่ต้องปลดเป็นกองหนุน จึงรับเงินเดือนตามยศจอมพลตลอดชีพ ฉะนั้นตามทฤษฎีและตามการปฏิบัติของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ทั้งในบทถาวรและบทเฉพาะกาลจึงเป็นอำมาตยาธิปไตย

ส่วนการที่บางคนโฆษณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ บัญญัติไว้ห้ามมิให้วุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้จัดการ, กรรมการ, ที่ปรึกษา, ตัวแทนของห้างหุ้นส่วนที่รัฐหรือหน่วยราชการของรัฐเป็นผู้ลงทุน หรือถือหุ้นส่วนข้างมากก็ดี รับสัมปทานหรือคงไว้ซึ่งสัมปทาน หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐอันมีลักษณะผูกขาดตัดตอนก็ดี หรือไม่รับเงินเดือนหรือประโยชน์ใดจากรัฐนอกจากเงินเดือนก็ดี ฯลฯ นั้นข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้อ่านที่ปราศจากอคติโดยไม่หลงเชื่อคำโฆษณาง่าย ๆ โปรดพิจารณารายชื่อของวุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนตามฉบับ ๒๔๙๒ นั้นอย่างละเอียดแล้วสอบสวนดูว่าผู้ใดบ้างที่รัฐสภาและองคมนตรีรู้อยู่แล้วว่าได้ประโยชน์โดยฝ่าฝืนข้อห้ามดั่งกล่าวแล้ว

(๖) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ ถือตามแม่บทของฉบับ ๒๔๙๒ โดยมีวุฒิสมาชิกซึ่งสภาผู้แทนราษฎรต้องเลือกตั้งจากบัญชีชื่อลับซึ่งคณะองคมนตรีจัดทำขึ้นส่งมาให้ สภาผู้แทนราษฎรจำต้องเลือกบุคคลเท่าที่ปรากฏชื่อในบัญชีลับนั้น ก็ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ มีลักษณะอำมาตยาธิปไตย


ง. ในการพิจารณาบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ นั้นก็จำต้องแยกลักษณะของบทเฉพาะกาลออกเป็น ๒ ประเภท คือบทเฉพาะกาลที่นำไปสู่บทถาวรที่เป็นประชาธิปไตย กับบทเฉพาะกาลที่นำไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย

(๑) บทเฉพาะกาลที่นำไปสู่บทถาวรที่เป็นประชาธิปไตยนั้น มีความจำเป็นในระยะหัวต่อระบบศักดินาที่เป็นมาช้านานหลายศตวรรษซึ่งมีซากตกค้างอยู่ กับระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยให้ดำเนินก้าวหน้าต่อไปโดยป้องกันมิให้ถูกแทรกซึมบั่นทอนจากระบบศักดินา

ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งมีบทถาวรและบทเฉพาะกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงเห็นชอบและพอพระราชหฤทัยมาก ดังปรากฏในคำแถลงของพระยามโนปกรณ์ฯ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ มีความตอนหนึ่งว่าดั่งนี้

"ในการร่างพระธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญ) นี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจกล่าวได้ว่าได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าถวายและทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่เพียงทรงเห็นชอบอย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก"

คำแถลงของประธานอนุกรรมการฯ เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลมีความอีกตอนหนึ่งว่าดั่งนี้
"ที่มีสมาชิก ๒ ประเภทนี้ ก็เพราะสาเหตุว่า เราพึ่งมีรัฐธรรมนูญขึ้น ความคุ้นเคยในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญยังไม่แพร่หลายทั่วถึง ฉะนั้นจึงให้มีสมาชิกประเภทซึ่งเห็นว่าเป็นผู้ที่คุ้นเคยการงาน แล้วช่วยพยุงกิจการทำร่วมมือกันไปกับสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ราษฎรเลือกตั้งมา"

อุดมการณ์ของบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ เป็นเรื่องของการ "ช่วยพยุง" ประชาธิปไตยให้ทรงตัวอยู่ได้แล้วก้าวหน้าต่อไป มิใช่เป็นการเอาประเภทที่ ๒ มา "ถ่วงอำนาจ" สภาผู้แทนราษฎร

ความจริงที่ประจักษ์จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและราชกิจจานุเบกษา ฯลฯ ปรากฏว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ นั้นมิได้ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาลเสมอไป คือได้ยกประโยชน์ของชาติเหนือส่วนตนและพวกพ้องในหลายกรณี อาทิ

- ได้ร่วมกับสมาชิกประเภทที่ ๑ ในการคัดค้านข้อเสนอของรัฐบาลเรื่อง ความตกลงกับต่างประเทศกำหนดโควต้ายางพารา อันทำให้รัฐบาลพหลฯ ต้องลาออกตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ,

- ลงมติข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามที่สมาชิกประเภทที่ ๑ เสนอ ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของรัฐบาล อันทำให้รัฐบาลพหลฯ ต้องลาออกตามรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

- ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมาชิกประเภทที่ ๒ ได้ร่วมกับประเภทที่ ๑ ลงมติคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ที่รัฐบาลพิบูลฯ เสนอขออนุมัติพระราชกำหนด ระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์และการจัดตั้งพุทธบุรีมณฑล อันทำให้รัฐบาลพิบูลฯ ต้องลาออกตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
(ต่างกับวุฒิสมาชิกแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ซึ่งแม้ไม่มีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่มีสิทธิตั้งข้อสังเกตไปยังสภาผู้แทนราษฎรให้ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ แต่วุฒิสมาชิกนั้นก็มิได้ตั้งข้อสังเกตเช่นนั้นไปยังสภาผู้แทน ทั้ง ๆ ที่วุฒิสมาชิกหลายคนบ่นนอกสภาว่ารัฐบาลพิบูลฯ บริหารประเทศไม่เป็นที่พอใจของราษฎร)

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ กำหนดวิธีเลือกตั้งพฤฒสมาชิกในวาระเริ่มแรกโดยองค์การเลือกตั้ง ประกอบด้วยผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น เพื่อให้มีพฤฒสภาขึ้นภายใน ๑๕ วัน เมื่อสิ้นวาระของพฤฒสมาชิกรุ่นแรกนี้แล้ว ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งพฤฒสมาชิกโดยทางอ้อม

(๒) บทเฉพาะกาลที่นำไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย เช่น บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ที่ยกยอดวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ (ใต้ตุ่ม) ให้มาเป็นวุฒิสมาชิกฉบับ ๒๔๙๒ ด้วย เพื่อเข้าสู่ระบบถาวรของฉบับ ๒๔๙๒ ซึ่งวุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่ประธานองคมนตรีรับสนองฯ แต่งตั้ง มิใช่เลือกตั้งโดยราษฎร บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ มีลักษณะนำไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

๓. การร่างรัฐธรรมนูญ

๓.๑ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เป็นแม่บทสูงสุดของกฎหมายทั้งหลาย ฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องดำเนินตามหลักสำคัญ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ สาระสำคัญที่เป็นแม่บทซึ่งขึ้นอยู่กับรากฐานแห่งทรรศนะของผู้ร่างกับสมาชิกสภาที่มีหน้าที่นิติบัญญัติ ยืนหยัดในอภิสิทธิ์ชน หรือยืนหยัดในปวงชน ถ้าผู้ร่างกับสมาชิกสภานั้นมีทรรศนะยืนหยัดในอภิสิทธิ์ชน บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญก็มีสาระรักษาอำนาจและฐานะพิเศษของอภิสิทธิ์ชนไว้โดยทางตรง หรือแฝงไว้โดยทางปริยาย. ถ้าผู้ร่างกับสมาชิกสภานั้นมีทรรศนะยืนหยัดในปวงชน บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็กระจ่างชัดแจ้งว่าเป็นประชาธิปไตย ที่ถือปวงชนเป็นใหญ่โดยไม่มีสิทธิพิเศษของอภิสิทธิ์ชนแฝงไว้

ผู้ใดอ้างว่าปวงชนชาวไทยมีอุปนิสัยปัจเจกนิยม (Individualism) ต่างกับมนุษย์ชาติอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างร่างรัฐธรรมนูญมิให้เป็นประชาธิปไตยของปวงชนนั้น ก็เป็นทรรศนะเฉพาะตัวของผู้อ้างนั้นๆ เอง เพราะมนุษยชาติตั้งแต่ปฐมกาลมีทรรศนะประชาธิปไตย ซึ่งแม้จะถูกระบบทาสกับระบบศักดินา ซึ่งมีคติปัจเจกนิยมสมัยเก่าทำลายไป แต่ปวงชนก็ยังรักษาคติประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและทางทรรศนะไว้ได้หลายประการ เช่นการร่วมมือกันลงแขกในการทำนา การสร้างโรงเรือนบ้านพักในชนบท และการประพฤติตามธรรมจริยาหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทรรศนะประชาธิปไตยที่เหลืออยู่นั้นเพิ่งจะสูญไปเมื่อไม่นานมานี้ ภายหลังที่มีผู้เผยแพร่ความประพฤติต่างๆ ตามคติปัจเจกนิยมสมัยใหม่

ประการที่ ๒ รูปแบบของรัฐธรรมนูญอันเป็นเทคนิคแห่งวิธีร่างกฎหมายทั่วไป ซึ่งต้องนำมาใช้เป็นพื้นฐานแห่งการร่างรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายชนิดหนึ่ง และในฐานะที่เป็นแม่บทสูงสุดแห่งกฎหมายทั้งหลาย หลายท่านที่แม้ไม่เคยเรียนกฎหมายก็ย่อมสังเกตได้ว่า กฎหมายต่างๆ นั้นมีพระราชบัญญัติที่กำหนดหลักการสำคัญๆ ไว้ ซึ่งต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา หรือสภานิติบัญญัติ พระราชบัญญัติมิได้กำหนดระเบียบการเบ็ดเตล็ดหยุมหยิมไว้ แต่ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารออกพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงบัญญัติวิธีปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินั้นๆ

ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทสูงสุดของกฎหมายทั้งหลาย ฉะนั้นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของประเทศจึงบัญญัติหลักสำคัญไว้ โดยให้สภาซึ่งมีหน้าที่นิติบัญญัติออกพระราชบัญญัติ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้นๆ

๓.๒ วิธีร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้ถือตามหลักวิธีร่างกฎหมายของสยาม ซึ่งคณะกรรมการร่างกฎหมายได้ดำเนินเป็นหลักมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมร่างกฎหมายขึ้น หลักการแห่งวิธีร่างนี้ได้ดำเนินต่อมาในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และฉบับ ๒๔๘๙

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1250 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การที่ประชาธิปไตยถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ก็เพื่อราษฎรทั้งหลายที่ประกอบเป็นปวงชนนั้นได้มีรัฐบาลของปวงชน ซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางสภาผู้แทนราษฎร จึงจะเป็นรัฐบาลที่กระทำการเพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหลาย ให้มีความอุดมสมบูรณ์ในการครองชีพ และปลอดภัยจากการกดขี่เบียดเบียนระหว่างกัน อีกทั้งเพื่อให้ราษฎรทั้งหลายประพฤติต่อกันตามศีลธรรมอันดีของประชาชน ชาติจึงจะดำรงคงมีความมีเอกราชและพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้ (คัดลอกมาจาก "ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ" ปรีดี พนมยงค์)
)

17-05-2550

Democracy - Constitution
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.