โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 13 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๔๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 13. 05. 2007)
R

ทำความเข้าใจหลักอิสลามตามพระวจนะศาสดาและจากพระคัมภีร์
ว่าด้วยความเข้าใจเรื่องญิฮาดและชะฮีด กรณีการต่อสู้ที่ปัตตานี
อ.ฏ๊อบรอนีย์ (วิสุทธิ์) บิลล่าเต๊ะ

หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา

บทความวิชาการชิ้นนี้ กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน ๒ เรื่อง ประกอบด้วย
๑. ว่าด้วยญิฮาดและชะฮีด
๒. การต่อสู้ที่ปัตตานี หรือจะตอกย้ำกาลใกล้อวสานของโลก
เป็นบทความการทำความเข้าใจเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมองการปฏิบัติการ และความรุนแรงที่เกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ลงไปใน
หลักอิสลาม ความเชื่อ และความศรัทธา ที่มองจากแง่มุมของนักวิชาการมุสลิม
บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วในนิตยสารปริทัศน์อิสลามของสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ฯ
ประจำเดือน เมษายนและพฤษภาคม พ.ค ๒๕๕๐
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๔๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทำความเข้าใจหลักอิสลามตามพระวจนะศาสดาและจากพระคัมภีร์
ว่าด้วยความเข้าใจเรื่องญิฮาดและชะฮีด กรณีการต่อสู้ที่ปัตตานี
อ.ฏ๊อบรอนีย์ (วิสุทธิ์) บิลล่าเต๊ะ
หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา

1. ว่าด้วยญิฮาดและชะฮีด

การประชุมสัมมนาของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับอิสลาม เพื่อตอบประเด็นปัญหาที่ตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อสืบสวนสอบสวนปัญหาภาคใต้ เมื่อวันที่ 25-26 มีนาคม 2550 ที่จังหวัดสตูล มีข้อสรุปออกมา 10 ข้อ ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถอ่านได้จากวารสารเล่มนี้

ผู้เขียนได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนาด้วย ได้สัมผัสบรรยากาศจริงๆ ของการสัมมนาว่าเต็มไปด้วยความเผ็ดร้อน อันเนื่องมาจากประเด็นที่หยิบยกมาอภิปรายกันนั้นค่อนข้างอ่อนไหวต่อความรู้สึกของหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ว่า การก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ขณะนี้ ถือเป็นการญิฮาดตามหลักของอิสลามหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่มีผลสืบเนื่องไปถึงประเด็นว่าด้วยการเป็นชะฮีดของผู้ประกาศตัวเป็นนักรบมุญาฮิดีนด้วย

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการปฏิบัติจากชาวบ้านเยี่ยงวีรชน (ชะฮีด) คือไม่อาบน้ำศพ ไม่ละหมาด แต่ฝังไปในชุดที่เสียชีวิตนั่นเอง การปฏิบัติเช่นนี้สะท้อนทัศนะของชาวบ้านในการมองเหตุการณ์ความไม่สงบได้อย่างชัดเจน เพราะจริงๆ แล้ว คนที่ควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงชะฮีดซึ่งไม่ต้องอาบน้ำให้ศพ และไม่ต้องละหมาดให้ด้วย (ตามทัศนะของนักวิชาการอิสลามส่วนใหญ่ มีบางส่วนเท่านั้นเห็นว่าควรละหมาดให้) ต้องเป็นคนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับกาฟิร ซึ่งตั้งตนเป็นศัตรูกับอิสลามเท่านั้น

เมื่อชาวบ้านกระทำเช่นนั้น แสดงว่าสิ่งที่ชาวบ้าน(อย่างน้อยก็กลุ่มที่จัดการไม่ให้อาบน้ำศพ) เห็นก็คือ การต่อสู้ระหว่าง"ผู้ก่อการ"กับ"เจ้าหน้าที่"เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนาอิสลามจริง หรือแม้กระทั่งการฆ่ามุสลิมกันเองที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่คนกลุ่มนี้ใช้ ตลอดจนการฆ่าคนที่ไม่รู้เรื่องราวด้วย ล้วนเป็นการต่อสู้ตามหลักศาสนาอิสลามทั้งสิ้น

ทัศนะเช่นนี้นับเป็นอันตรายต่อศาสนาอิสลามเอง และต่อภราดรภาพในการอยู่ร่วมกันของพี่น้องร่วมสังคมอย่างลึกซึ้ง เป็นอันตรายที่บรรดาผู้ทรงภูมิความรู้เกี่ยวกับอิสลามมิอาจอยู่นิ่งเฉย แม้อาจต้องให้ผู้รู้จากต่างประเทศเป็นผู้ช่วยวินิจฉัยชี้ขาดข้อบัญญัติต่างๆ แต่ใครเล่าจะรับรู้บริบทและความเป็นไปของสังคมไทยเท่ากับผู้รู้ที่เป็นมุสลิมไทย บริบททางสังคมที่แตกต่างย่อมทำให้ข้อวินิจฉัยแตกต่างตามไปด้วย และความจริงความพยายามแยกดินแดน โดยอ้างอิงหลักศาสนาที่ดำเนินอยู่ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการวางตัวบทแห่งคัมภีร์ไม่ตรงกับพื้นที่ของตัวบทนั้น

ทัศนะว่าด้วยญิฮาดและชะฮีดดังที่ปรากฏในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ เป็นอันตรายต่อตัวของอิสลามเองก็เพราะนิยาม และเจตนารมณ์แห่งการญิฮาด อาจถูกทำให้บิดเบี้ยวไปจากหลักการเดิมที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญญัติขึ้น กลายเป็นว่าญิฮาดคือ"การฆ่าใครก็ได้ที่ไม่เห็นด้วย หรือคัดค้านการกระทำของตน" ไม่ว่าใครคนนั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่ก็ตาม และหากในความพยายามฆ่าดังกล่าว ตนเองเกิดพลาดพลั้งถูกตอบโต้จนเสียชีวิตก็ถือว่าตนเป็นชะฮีดไปโดยปริยาย

แน่นอนนี่ถือเป็นความสุดโต่งที่ไม่พึงปรารถนาในอิสลาม เช่นเดียวกับที่เราไม่ปรารถนาให้สังคมมุสลิมยอมรับเอาวัฒนธรรมกระแสหลักทุกกระแสมาปฏิบัติ โดยไม่พิจารณาแยกแยะทั้งๆ ที่มีบรรทัดฐานของตนเองชัดเจนอยู่แล้ว อย่างแรกเป็นการถือศาสนาอย่างเคียดขึ้งสุดโต่ง จนมุสลิมแทบจะทำอะไรร่วมกับใครไม่ได้เสียทั้งหมด ส่วนอย่างหลังเป็นการนับถือศาสนาอย่างหย่อนยานสุดขั้ว จนไร้บรรทัดฐานในการดำรงอัตลักษณ์ของตนเอง และทั้งสองขั้วล้วนเป็นอันตรายต่อความเป็นอิสลามิกชนของเราทั้งสิ้น

ส่วนอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมิตรภาพของพี่น้องร่วมสังคม ก็คือ บาปกรรมในประวัติศาสตร์ทำให้คนปัจจุบันซึ่งไม่ได้ร่วมก่อ ต้องกลายมาเป็นผู้รองรับการชำระแค้นจากคนซึ่งก็ไม่ได้เป็นถูกกระทำทารุณกรรมด้วยตนเองเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นปัจจัยหลักของการสร้างอุดมการณ์ญิฮาดที่กล่าวถึงข้างต้น และในประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมากระตุ้นเร่งเร้าให้เกิดอุดมการณ์ก็เต็มไปด้วยฉากการทารุณกรรมต่างๆ ที่บรรพชนปัตตานีในอดีตเคยประสบ แน่นอนสิ่งเหล่านั้นขัดแย้งกับมโนธรรมในจิตใจของมนุษย์ปกติทุกคน แต่เมื่อเราต่างเรียกร้องความยุติธรรมและเรียกร้องหาสัจธรรมแห่งศาสนา เราจึงต้องใคร่ครวญว่า การระบายความแค้นอันเนื่องจากการที่บรรพบุรุษถูกทำร้ายเมื่อ 200 ปีก่อน โดยมาลงเอากับคนยุคปัจจุบันซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย แต่ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินนี้โดยที่ตนเองไม่ได้เลือก เป็นความยุติธรรมตามหลักศาสนาหรือไม่ หากเป็นความยุติธรรม แล้วจะเอาโองการแห่งอัลลอฮฺที่ว่า "บาปของคนๆ หนึ่งจะโยนให้เป็นภาระของอีกคนไม่ได้" (ซูรอฮฺอัลอันอาม : 164) ไปไว้ที่ใหน ?

อัลกุรอานซูรอฮฺ อัลมุมตะหินะฮฺ : 8 ระบุความพึงพระทัยแห่งอัลลอฮฺเจ้าที่ทรงเห็นมุสลิมสานสัมพันธ์อันดี และมีความยุติธรรมมอบให้ศาสนิกชนอื่นๆ โดยอนุญาตให้ทำสงครามได้เพียงสองกรณี คือ

1. ถูกคุกคามทางศาสนา
2. ถูกขับไล่ให้ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด

ทั้งสองกรณีเกิดขึ้นแก่มุสลิมไทยในยุคปัจจุบันนี้หรือไม่ ? ศาสนาอิสลามเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต การถูกลิดรอนสิทธิ์ในบางประเด็นของศาสนา ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้อัตลักษณ์แห่งมุสลิมสูญสลายไปด้วย ดังนั้นการคุกคามที่เป็นกรณีให้มุสลิมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธได้ จึงต้องเป็นการคุกคามในระดับที่จะทำให้อัตลักษณ์แห่งมุสลิมสูญสลาย ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน อัตลักษณ์แห่งมุสลิมท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมปรากฏในซูรอฮฺ อัลฮัจญ์ : 41 ประกอบด้วย การดำรงละหมาด, การจัดการซะกาต, และการส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่ว

- ละหมาดเป็นอัตลักษณ์ที่ช่วยสร้างดุลยภาพในการดำรงชีพที่จะต้องอยู่บนทางสายกลางระหว่างร่างกาย กับจิตวิญญาณ
ปัจเจกกับสังคม ภพนี้กับภพหน้า
- ขณะที่ซะกาตสะท้อนระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานคุณธรรม
- ส่วนการส่งเสริมความดียับยั้งความชั่ว เป็นระบบการจัดการสังคมที่หน่วยต่าง ๆ ต้องยึดโยงซึ่งกันและกันและมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน

คำถามก็คือในประเทศไทยอัตลักษณ์ทั้งสามถูกคุกคามในระดับที่ต้องลุกขึ้นปกป้องโดยการทำสงครามด้วยอาวุธหรือยัง ? เสียงอะซานที่กึกก้องมาจากมัสยิดต่างๆ ทั้งใน 4 จังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดอื่นๆ มากกว่า 3,000 แห่ง บ่งชี้ถึงเสรีภาพในการแสดงอัตลักษณ์ว่าด้วยละหมาด ส่วนการซะกาตก็ไม่มีข้อห้ามใดๆ ที่มาจากรัฐ ขณะที่อุปสรรคสำคัญของการส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่วอยู่ที่ลักษณะนิสัยและความรู้ความเข้าใจของมุสลิมเอง มากกว่าจะเป็นการคุกคามจากภายนอก

สำหรับกรณีที่สองคือ การถูกขับไล่ให้ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ก็มีความชัดเจนในปัจจุบันว่ามุสลิมก็สามารถครอบครองแผ่นดินของตนเองได้เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่น แม้บรรพชนปัตตานีในอดีตจะถูกกระทำทารุณกรรม แต่ลูกหลานวงศ์วานของท่านเหล่านั้นก็ยังอยู่ในแผ่นดินเดิม โดยมิได้ถูกขับไล่ไปไหน

- เช่นนี้แล้วการก่อความไม่สงบ ที่อ้างว่ามุสลิมผู้เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติการเป็นชะฮีดนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ ?
- เมื่อไม่มีเหตุผลปัจจัยที่กุรอานรับรองในการก่อสงคราม การอ้างตนเป็นชะฮีดเป็นการอ้างบนพื้นฐานคำสอนของใคร ?
- ผู้รู้มีหน้าที่ชี้นำสังคม แล้ววันนี้ผู้รู้ทั้งหลายจะชี้นำสังคมมุสลิมไปสู่หนไหน หนทางแห่งสงครามหรือหนทางแห่งการดะวะฮฺ ?
- จริงหรือที่การใช้ความรุนแรงที่เป็นอยู่ในเวลานี้ จะนำสู่อัตลักษณ์แห่งมุสลิมที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ในที่สุด ?

ดูเหมือนคำตอบจะไม่ยากเย็นนัก เพราะวันนี้อัตลักษณ์บางอย่างก็กำลังถูกคุกคาม เช่น อัตลักษณ์การไปละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิดและอัตลักษณ์การส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่ว หลายคนไม่กล้าแม้กระทั่งจะไปละหมาดที่มัสยิดยามค่ำคืน และผู้รู้ทั้งหลายไม่กล้าเอ่ยปากยับยั้งความไม่ถูกต้องที่ทำกันในนามศาสนา ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตตนเองไว้ แต่ที่น่าเสียใจก็คืออัตลักษณ์เหล่านี้ถูกคุกคามด้วยน้ำมือของมุสลิมที่อ้างว่าทำญิฮาดเอง มากกว่ามือของกาฟิรด้วยซ้ำไป

(เผยแพร่ในนิตยสารปริทัศน์อิสลามของสำนักงาน ฯ ประจำเดือน เม.ย - พ.ค. 50)

2. การต่อสู้ที่ปัตตานี หรือจะตอกย้ำกาลใกล้อวสานของโลก

สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ภาวะศาสดาภาพแห่งศาสนทูตมุหัมมัด (ซ็อลลัลลอฮฺ ฯ) ได้เป็นอย่างดีก็คือ คำพยากรณ์เกี่ยวกับความเป็นไปของโลกในยุคใกล้อวสาน สภาวการณ์หลายอย่างที่ท่านระบุไว้ได้เกิดขึ้นแล้ว หลายอย่างกำลังดำเนินอยู่ และหลายอย่างแม้ยังไม่อุบัติขึ้น แต่จะเกิดอย่างแน่นอนในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

การรู้เท่าทันสัญญาณต่าง ๆ ของวันสิ้นโลก นับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งในชีวิตมุสลิม เพราะจะช่วยตอกย้ำความศรัทธาที่มีต่อองค์อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า และต่อผู้เป็นศาสนทูตแห่งพระองค์ อีกทั้งยังช่วยให้เรารู้จักเอาตัวรอดได้ในสภาวการณ์ที่เต็มไปด้วยวิกฤติ การเอาตัวรอดในที่นี้หมายถึงรอดจากการเป็นเหยื่อของความหลงผิด ซึ่งโลกยิ่งใกล้อวสานมากเท่าใด ความหลงผิดทั้งหลายก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ดังคำของบรมศาสดาที่บอกเล่าผ่านอนัส มาลิก และบันทึกในประมวลวจนะ ฉบับอัตติรมิซีย์ ว่า

"ก่อนหน้าอวสานของโลก จะเกิดภาวะวิกฤตต่อเนื่อง ดุจการดั้นด้นไปท่ามกลางราตรีอันมืดมิด คนๆ หนึ่งอาจตื่นเช้ามาเป็นผู้ศรัทธา
แต่ตกเย็นก็กลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธ หรืออาจเป็นผู้ศรัทธาในยามเย็น แต่ครั้นรุ่งเช้าก็กลายเป็นผู้ปฏิเสธเสียได้
คนมากมายหลายกลุ่มพากันขายศาสนาของตนไป เพื่อซื้อหาปัจจัยทางโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

วจนะแห่งศาสดาต้นนี้ สะท้อนวิกฤตทางใจของผู้คนยุคใกล้อวสานว่าตกเป็นทาสของความโลภหลงต่อโลกมากเพียงใด ความโลภหลงนี้ทำให้กาลใกล้อวสานมีสัญลักษณ์เด่นอีกประการคือ ความแตกแยกร้าวฉานอย่างหนักของคนในสังคม ดังคำของบรมศาสดา (ซ็อลลัลลอฮฺ ฯ) ที่บอกเล่าและบันทึกกันมาหลายสายรายงาน แต่สรุปได้ว่ากลุ่มมุสลิมเองจะแตกออกไปถึง ๗๓ จำพวก และในจำนวนมากมายเหล่านี้มีเพียงหนึ่งจำพวกเท่านั้นที่ยืนอยู่บนความถูกต้องเที่ยงธรรม จนได้รับสรวงสวรรค์เป็นการตอบแทนจากองค์อัลลอฮฺเจ้า

จึงไม่แปลกที่จะมีกลุ่มต่างๆ มากมายออกมาอ้างว่าตนเองคือกลุ่มที่อยู่กับความถูกต้อง และเป็นกลุ่มที่จะได้รับสรวงสวรรค์จากองค์พระผู้เป็นเจ้า ขณะเดียวกับที่กล่าวหากลุ่มอื่นๆ ว่าหลงผิดและเดินไปสู่ขุมนรก จนแม้แต่กลุ่มที่ลงมือเข่นฆ่าผู้คนได้อย่างเลือดเย็น ก็อ้างว่าตนทำไปในรูปของการญิฮาดทางศาสนา อีกทั้งผู้ก่อการที่เสียชีวิตขณะลงมือ ก็ถือเป็นชะฮีดที่คู่ควรกับสรวงสวรรค์ของอัลลอฮฺอย่างแท้จริง (พระองค์ทรงความบริสุทธิคุณและสูงส่งเกินกว่าจะถูกนำมาเกลือกกลั้วกับความชั่วร้ายทั้งปวง)

ความจริงกลุ่มที่อ้างการญิฮาดโดยวิธีการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ อาจเป็นกลุ่มที่สร้างวิกฤตแห่งกาลอวสานของโลกมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะเป็นกลุ่มที่สร้างปรากฎการณ์การฆ่าจนแผ่ลามไปทั่ว การเข่นฆ่าทำลายชีวิตผู้อื่นง่ายๆ นี้คือสิ่งที่บรมศาสดาเรียกว่า "อัลฮารอจ" ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างดาดดื่นในยุคใกล้อวสานของโลก และบัดนี้เราต่างก็ได้ประจักษ์แล้วทั้งในสี่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย และอีกหลายๆ แห่งทั่วโลก ผู้ลงมือปฏิบัติการอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เป็นมุสลิมในยามเช้า แล้วกลายเป็นผู้ปฏิเสธในยามเย็นดังปรากฎในวจนะก็ได้ เนื่องจากการที่คนเหล่านี้ลงมือฆ่าได้แม้กระทั่งผู้ที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการละหมาด ดูเหมือนจะชี้ว่าพวกเขาเห็นคนที่ละหมาดไม่อยู่ในฐานะมุสลิมอีกแล้ว (มุรตัด) เพราะในอิสลาม ชีวิตมุสลิมคนหนึ่งไม่อาจทำลายได้ ยกเว้นด้วยเหตุผลหนึ่งในสามประการเท่านั้น ได้แก่

๑. ผู้ประพฤติล่วงประเวณีทั้งที่เคยรับรู้รสแห่งกามารมณ์ผ่านการแต่งงานมาแล้ว หรือ
๒. ผู้ที่ได้ฆ่าบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุอันควร หรือ
๓. ผู้ที่ผละจากศาสนาอิสลามไปหลังจากที่ได้ยอมรับนับถือ และเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วซึ่งเรียกว่า มุรตัด

กล่าวได้ว่ามุสลิมที่ถูกสังหารส่วนใหญ่ ไม่ได้ถูกสังหารด้วยเหตุผลข้อหนึ่งและสองแต่ประการใด หากแต่ในความคิดอ่านของผู้ลงมือคงจะเห็นว่าเหยื่อเหล่านั้นประพฤติผิดตามเหตุผลข้อที่สาม คือมองว่าพวกเขาได้สิ้นสภาพความเป็นมุสลิมไปแล้ว กลายสภาพเป็นมุนาฟิก (พวกกลิ้งกลอก) อันเนื่องมาแต่ได้เข้าร่วมกับรัฐบาลในการต่อต้านขัดขวางปฏิบัติการทวงคืนดินแดนปัตตานีกลับมาเป็นของชาวมลายูนั่นเอง

ประเด็นสำคัญคือการต่อต้านขัดขวางดังกล่าว พอจะเป็นปัจจัยให้มุสลิมคนหนึ่งสิ้นสภาพความเป็นมุสลิม จนเป็นเหตุผลให้สามารถประหารได้ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ? ผู้ศึกษาอิสลามทุกคนรู้ดีว่าการเป็นมุรตัดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ บุคคลปฏิเสธการดำรงอยู่ขององค์อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า หรือแม้จะไม่ปฏิเสธพระองค์ แต่ก็ยึดถือบางสิ่งบางอย่างเป็นสรณะเทียบเคียงหรือเหนือกว่าพระองค์ ส่วนการประพฤติบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นย่อมทำให้ศรัทธาในหัวใจอ่อนแอลงก็จริงอยู่ แต่ก็มิใช่สิ่งที่จะทำให้บุคคลต้องหลุดพ้นจากความเป็นมุสลิมแต่อย่างใด ตราบเท่าที่หัวใจยังเชื่อมั่นในเอกภาพแห่งอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าอยู่

เป็นดังนี้ การตกเป็นมุรตัดหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของบุคคลเป็นสำคัญ ส่วนในทางปฏิบัติก็จะเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติพื้นฐานที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้ เช่น รู้ว่าการละหมาด ๕ เวลาเป็นข้อบังคับ รู้ว่าการดื่มเหล้าเป็นข้อห้าม เป็นต้น. มุสลิมคนใดยึดถือว่าการละหมาดห้าเวลาไม่ใช่ข้อบังคับ หรือการดื่มเหล้าไม่ใช่ข้อห้าม ก็ถือว่าสิ้นสภาพของความเป็นมุสลิมแล้ว แต่หากบุคคลไม่ละหมาด หรือดื่มเหล้าเพราะพ่ายแพ้แก่อารมณ์ฝ่ายต่ำ โดยหัวใจยังถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นข้อห้ามอยู่ บุคคลนั้นก็เรียกว่า "อาซีย์" หมายถึงผู้กระทำการฝ่าฝืนละเมิดบทบัญญัติ แต่ไม่ใช่มุรตัด

นอกเหนือจากข้อบัญญัติที่เป็นหลักใหญ่ซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว ก็เป็นข้อบัญญัติปลีกย่อยซึ่งศาสนาเปิดพื้นที่ไว้สำหรับความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย และเป็นพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลอย่างยิ่ง ข้อปลีกย่อยเหล่านี้มีอยู่ทั้งในมิติทางการเมืองการปกครอง การเศรษฐกิจ สังคม และสุนทรียภาพต่าง ๆ แต่ทั้งหมดไม่ใช่ประเด็นที่มุสลิมจะมากล่าวหากันด้วยข้อหาที่ถือว่าร้ายแรงที่สุด คือ ข้อหาว่าเป็นมุรตัด

ที่ว่าเป็นข้อหาร้ายแรงเพราะการกล่าวหาคนๆ หนึ่งว่าเป็นมุรตัดโดยปราศจากข้อเท็จจริงอันชัดเจน ในที่สุดแล้วข้อกล่าวหานั้นจะย้อนกลับมาสู่ตัวผู้กล่าวหาเอง หมายความว่าตัวผู้กล่าวหาจะกลายเป็นมุรตัดเสียเอง และผู้เขียนคิดว่าหลายเหตุการณ์ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะอยู่ในข่ายนี้ ซึ่งก็จะเป็นการสะท้อนนัยยะแห่งวจนะศาสดาได้ดี เพราะการที่หลายคนถูกฆ่าแม้จะอยู่ในชุดละหมาด หรือเพิ่งจะออกจากมัสยิด ชี้ว่าอย่างไรเสียเหยื่อสังหารเหล่านี้ก็เป็นมุสลิม แม้นหากพวกเขาขัดขวางการก่อตั้งรัฐมลายูปัตตานีจริงตามข้อกล่าวหา นั่นก็เป็นความผิดร้ายแรงในทัศนะของผู้ปฏิบัติการเท่านั้น มิใช่ความผิดในทัศนะของอิสลาม และถึงจะมีการกระทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ก็ย่อมไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นตกศาสนาแน่นอน

เพราะประเด็นการเมืองการปกครองจัดอยู่ในหมวดข้อบังคับปลีกย่อย ที่ความเห็นของผู้รู้มีความแตกต่างหลากหลายอย่างยิ่ง ความผิดในบางทัศนะอาจเป็นความถูกต้องในอีกทัศนะหนึ่งก็ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจตราหน้าผู้หนึ่งผู้ใดที่มีความเห็นแตกต่างจากตนว่า มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นมุรตัดได้ เมื่อบวกกับหลักฐานซึ่งยืนยันว่าเหยื่อสังหารยังเชื่อมั่นในองค์อัลลอฮฺอย่างชัดเจน อันได้แก่พวกเขายังดำรงละหมาดอยู่เป็นนิจจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต การจึงกลายเป็นว่าคนที่ออกคำสั่งให้ปลิดชีวิตพวกเขาและคนลงมือปฏิบัติการต่างหาก ที่น่าจะเป็นมุรตัดจริงๆ ส่วนชะฮีดก็น่าจะเป็นเหยื่อที่ถูกสังหารมากกว่า จากนี้แล้วก็ต้องถามอีกว่า อะไรทำให้คนเรากล้าลงมือสังหารผู้ที่เพิ่งละหมาดเสร็จได้อย่างโหดเหี้ยมปานนั้น ?

พิจารณาเนื้อหาของวจนะในวรรคสุดท้ายที่ว่า คนบางกลุ่มขายศาสนาไปได้เพียงเพื่อแลกกับทรัพย์สินทางโลกแล้วก็อาจมองเห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้น เพราะถึงนาทีนี้ต้องยอมรับว่า อิสลามกำลังถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวงจากคนที่เข้าไม่ถึงแก่นแท้ แต่เข้าใจเอาจากพฤติกรรมโหดเหี้ยมของผู้ที่อ้างตนเป็นนักรบเพื่อศาสนาทั้งหลายว่า อิสลามคือบ่อเกิดของความรุนแรง และดูเหมือนนักรบมุญาฮิดีนเหล่านี้ก็ไม่ใส่ใจด้วยว่า ภาพลักษณ์ของอิสลามจะเป็นเช่นไรในสายตาคนทั่วไป สิ่งที่พวกเขาต้องการคือรัฐชาติมลายูปัตตานีเท่านั้น

อันความเป็นรัฐในอิสลามคือปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ในการดำรงรักษาอัตลักษณ์แห่งมุสลิมเอาไว้ ทั้งนี้เพราะในความเป็นรัฐย่อมมีอำนาจ และอำนาจนี้ก็คือพลังที่จะก่อให้เกิดผลตามที่ผู้ใช้อำนาจต้องการ กระนั้นรัฐก็อาจไม่ใช่ปัจจัยหนึ่งเดียวที่จะทำให้เกิดการดำรงรักษาอัตลักษณ์ได้ ปัจจัยสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือเสรีภาพในการดำรงอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อำนวยให้เกิดโครงสร้างการบริหารจัดการอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างอิสระ ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นจริงๆ สำหรับมุสลิมจึงอยู่ที่การมีเสรีภาพทางศาสนาอย่างสมบูรณ์ ในระดับที่สามารถบริหารจัดการอัตลักษณ์ของตนเองได้ เพราะ

- อัตลักษณ์แห่งมุสลิมคือเป้าหมาย (มักซูด)
- ส่วนรัฐคือวิธีการหนึ่งที่นำสู่เป้าหมายนั้น (วะซีละฮฺ)

แม้จะมีรัฐบาลเป็นมุสลิม แต่หากไม่มีอิสลามเป็นเป้าหมายสูงสุด รัฐบาลนั้นก็จะไม่ช่วยให้ดำรงอัตลักษณ์แห่งมุสลิมไว้ได้ ซ้ำร้ายอาจทำตัวเป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ดังกล่าวเสียเองอีกด้วย ดังเราท่านทั้งหลายได้ประจักษ์กันอยู่ในประเทศมุสลิมต่างๆ หลายประเทศซึ่งรัฐบาลเป็นผู้เข่นฆ่าและทำลายผู้ต่อสู้เรียกร้องสู่อิสลามเสียมากมาย. ขณะที่อีกด้านหนึ่งในหลายๆ ประเทศ แม้รัฐบาลจะมิใช่มุสลิม แต่อิสลามก็เจริญเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพราะมุสลิมในประเทศนั้นมีเสรีภาพในการดำรงรักษาอัตลักษณ์ของตนอย่างพอเพียงนั่นเอง คำว่าพอเพียงในที่นี้ย่อมหมายถึงว่ามุสลิมมีอำนาจในการบริหารจัดการสังคมของตน โดยกฎหมายของประเทศไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางแต่อย่างใด

โดยนัยนี้ เป้าหมายการดำรงอัตลักษณ์จึงอาจบรรลุได้ทั้งโดยวิธีการแสวงหาสิทธิเสรีภาพอันสมบูรณ์ แม้จะอยู่ภายใต้การบริหารปกครองของรัฐบาลที่มิใช่มุสลิมก็ตาม และอาจบรรลุได้โดยการจัดตั้งรัฐบาลมุสลิมขึ้นมา ซึ่งเป็นปกติของวิธีการหรือวะซีละฮฺที่มักมีอยู่หลากหลายให้เลือก (ตะอัดดุด). ในความหลากหลายนั้น หากมีวะซีละฮฺใดสามารถนำสู่เป้าหมายได้ ก็นับว่าพอเพียงหนึ่งวะซีละฮฺนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกๆ วะซีละฮฺ ที่สำคัญก็คือแม้จะมีเป้าหมายดีงามเพียงใด แต่อิสลามไม่อนุญาตให้ใช้วิธีการเลวร้ายอันขัดแย้งกับหลักธรรมที่ศาสนากำหนดอย่างเด็ดขาด

ในทางปฏิบัติ ประเทศไทยอาจยังให้สิทธิและเสรีภาพในการดำรงรักษาอัตลักษณ์แก่มุสลิมไม่เต็มร้อยละร้อย แม้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจะบัญญัติไว้เช่นนั้นก็ตาม แต่เพียงมีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิและเสรีภาพ ก็นับว่าเพียงพอสำหรับการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์มุสลิม การต่อสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์สำหรับมุสลิมไทยเป็นการต่อสู้กับตัวเองมากกว่าจะเป็นการต่อสู้กับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่มากดดัน จึงนับได้ว่าสื่อนำสู่เป้าหมายการรักษาอัตลักษณ์มีอยู่แล้ว ชนิดที่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการอันก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตที่พึงรักษาไว้แต่ประการใด

การญิฮาดที่ต้องทำสำหรับมุสลิมในบริบทของสังคมไทย ไม่ว่าจะในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือจังหวัดอื่นๆ จึงต้องเป็นการญิฮาดเพื่อใช้เสรีภาพที่มีอยู่เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่อัตลักษณ์แห่งมุสลิม ทั้งในด้านจิตวิญญาณ (ผ่านกระบวนการละหมาด), เศรษฐกิจ (ผ่านกระบวนการจัดระบบซะกาต), และสังคม (ผ่านกระบวนการส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่ว) รวมทั้งต้องทำหน้าที่หยิบยื่นคุณงามความดีแห่งอิสลามแก่คนทั้งหลายด้วย

นักรบมุญาฮิดีนแห่งปัตตานีทั้งหลายคิดเรื่องเหล่านี้หรือไม่ยังเป็นที่น่าสงสัย เพราะวิธีการที่ใช้อยู่ดูเหมือนจะมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดแค่การสถาปนารัฐมลายูปัตตานีเท่านั้น เป้าหมายเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงวิธีการที่ใช้ว่าสอดคล้องกับหลักธรรมอิสลามหรือไม่ประการใด เพราะสิ่งที่ต้องการคือ มีดินแดนที่ปกครองโดยชาวมลายูปัตตานีเท่านั้น มิใช่การสถาปนาวิถีแห่งอิสลามซึ่งสามารถดำเนินการได้อยู่แล้วแม้ไม่มีรัฐปัตตานี อีกทั้งไม่จำเป็นต้องคำนึงด้วยว่ามุสลิมในท้องถิ่นอื่นๆ ของประเทศจะมีความเจ็บปวดเช่นไร ในยามที่ต้องเผชิญกับสายตาที่แสดงความชิงชังรังเกียจของคนทั่วไป มิพักต้องคิดว่าภาพลักษณ์ของอิสลามจะเสียหายไปแค่ไหนจากการฆาตกรรมที่โหดเหี้ยมและการทำลายสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างไร้เหตุผล

ความเป็นศาสดาของนบีมุหัมหมัด (ซ็อลลัลลอฮฺ ฯ) ยังปรากฎให้เห็นไม่เฉพาะในแง่ของการฆ่ากันเองระหว่างมุสลิมเท่านั้น แต่ในแง่ของการที่มุสลิมฆ่าศาสนิกอื่นด้วย ตามวจนะอีกต้นหนึ่งที่รายงานโดยอบูฮุรัยรอฮฺ และบันทึกไว้ในประมวลวจนะฉบับอิหม่ามมุสลิม ด้วยถ้อยคำดังนี้


"ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตฉันอยู่ในหัตถ์แห่งพระองค์ ยุคสมัยหนึ่งจะมาถึงมวลมนุษย์ เป็นยุคซึ่งผู้ฆ่าไม่รู้ว่าที่ต้องฆ่านั้นด้วยเรื่องใด
และผู้ถูกฆ่าก็ไม่รู้ว่าที่ถูกฆ่านั้นเพราะอะไร"

บนเส้นทางสู่การสถาปนารัฐมลายูปัตตานี มีหลายชีวิตดับดิ้นไปโดยที่ผู้ฆ่าเองก็ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางใจกันมาก่อน แต่ลงมือฆ่าเพียงเพราะได้รับคำสั่งให้ลงมือเท่านั้นเอง เป้าหมายของการลงมือทั้งพร่าเลือนและสับสนระหว่างการทำเพื่อศาสนา หรือทำเพื่อใคร ในขณะที่ผู้ถูกฆ่าก็ไม่อาจรู้ได้ว่าตนทำผิดสิ่งใดจึงถูกฆ่า เพียงการเกิดมาบนแผ่นดินปัตตานี โดยที่ไม่ได้เป็นมุสลิมเช่นคนส่วนใหญ่หรือที่ต้องถูกฆ่า หรือเป็นเพราะลูกหลานวงศ์วานของผู้รุกรานปัตตานีในอดีต จะต้องถูกกวาดล้างเสียให้สิ้นโดยน้ำมือของลูกหลานวงศ์วานของผู้ถูกรุกราน ?

ผู้ถูกฆ่าบางคนอาจไม่เคยรู้ว่าในอดีตเมื่อสองร้อยปีก่อนเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนในปัตตานี เขารู้เพียงว่าตัวเองเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ ไม่เคยมีใครบอกเขาว่าอิสลามคืออะไร แต่ชีวิตก็จบสิ้นไปด้วยเหตุผลว่ามิใช่มุสลิม

ภายใต้เสรีภาพที่มีอยู่ มุสลิมมีหน้าที่นำเสนออิสลามต่อศาสนิกชนอื่นด้วยวิธีการอันเหมาะสม (ดะวะฮฺ) การละเลยต่อหน้าที่นี้ แต่มุ่งฆ่าและสร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงแก่คนที่มิใช่มุสลิมเพื่อให้อพยพออกไป สะท้อนว่า เป้าหมายของผู้ก่อการมิได้อยู่ที่อิสลาม แต่อยู่ที่แผ่นดินซึ่งตนต้องการปกครองเท่านั้น. ผู้เขียนอาจถูกโต้แย้งว่าไม่ได้รับรู้ความเจ็บปวดของมุสลิมที่ถูกอำนาจรัฐข่มเหงรังแก แต่การสยบความอยุติธรรมย่อมมิอาจใช้วิธีการที่อยุติธรรมดุจเดียวกัน และบาปของคนๆ หนึ่ง ย่อมมิอาจโยนให้เป็นภาระของคนอีกคนได้

ประหลาดหรือไม่ ในขณะที่อ้างว่า การต่อสู้ของตนเป็น"ญิฮาด" และผู้สละชีพระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็น"ชะฮีด"ซึ่งต้องคาดหวังรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺเท่านั้น แต่กลับมีการเรียกร้องทวงถามค่าสินไหมชดเชยชีวิตจากฝ่ายที่ตนตราหน้าว่าเป็นศัตรูผู้รุกราน ?

ด้วยเป้าหมายที่มิได้อิงกับอิสลามอย่างแท้จริง และด้วยวิธีการที่ขัดแย้งกับอิสลามอย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำทั้งวิธีการและเป้าหมายยังทำให้ภาพลักษณ์ของอิสลามกลายเป็นความน่ากลัว และน่ารังเกียจแก่คนไทยโดยทั่วไป จึงกล่าวได้ว่าผู้ก่อการได้ขายทิ้งศาสนาของพวกเขาไปแล้วอย่างไม่ใยดี เพื่อแลกกับรัฐมลายูปัตตานีที่พวกเขาใฝ่ฝัน

วจนะแห่งศาสดานั้นเป็นจริงเสมอ สิ่งที่ท่านบอกกล่าวไว้ว่าจะเกิดย่อมต้องเกิด แต่นั่นไม่ได้หมายความให้เราทำตัวไหลเลื่อนไปกับสิ่งที่เกิด ตรงกันข้ามการยึดมั่นหลักการและค้นหาความเที่ยงธรรมจักดำรงอยู่ถึงกาลอวสานเช่นกัน ดังถ้อยคำของท่านที่ว่า

"คนกลุ่มหนึ่งในหมู่อุมมะฮฺของฉัน จะยังคงต่อสู้บนพื้นฐานความถูกต้องเที่ยงธรรมต่อไป ตราบจนถึงกาลอวสาน"

ภายใต้วิกฤตการณ์ที่ดำรงอยู่ ทุกคนโหยหาความถูกต้องเที่ยงธรรม แต่จะมีสักกี่คนที่ลงมือต่อสู้ มีนักต่อสู้อยู่ทั่วไปในโลกนี้ตามที่บรมศาสดาบอกแน่นอน แต่สำหรับวิกฤตการณ์ของมุสลิมไทยมีนักต่อสู้หรือไม่ ผู้รู้ทางศาสนาหลายคนตระหนักเรื่องสัญญาณแห่งวันสิ้นโลกดี แต่ดูเหมือนเราจะพากันเอาตัวรอดแต่เพียงลำพังบนซากปรักหักพังของความเป็นมุสลิม

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ประวัติศาสตร์การทารุณกรรมต่างๆ ที่บรรพชนปัตตานีในอดีตเคยประสบ แน่นอนสิ่งเหล่านั้นขัดแย้งกับมโนธรรมในจิตใจของมนุษย์ แต่เมื่อเราต่างเรียกร้องความยุติธรรมและสัจธรรมแห่งศาสนา เราจึงต้องใคร่ครวญว่า การระบายความแค้นอันเนื่องจากการที่บรรพบุรุษถูกทำร้ายเมื่อ 200 ปีก่อน โดยมาลงเอากับคนยุคปัจจุบันซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินนี้โดยที่ตนเองไม่ได้เลือก เป็นความยุติธรรมตามหลักศาสนาหรือไม่ หากเป็นความยุติธรรม แล้วจะเอาโองการแห่งอัลลอฮฺที่ว่า "บาปของคนๆ หนึ่งจะโยนให้เป็นภาระของอีกคนไม่ได้" ไปไว้ที่ใหน ?

13-05-2550

Southern Thailand
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.