โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 20 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๖๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 20,02.2007)
R

หมุนให้ทันสถานการณ์ภาคใต้ รายงานจากตะวันตก
รายงานฝรั่ง: ปัญหาภาคใต้ไทยไม่ใช่สงครามศาสนา (๑)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก Crisis Group
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 เผยแพร่วันที่ 18 เมษายน 2548

บทความวิชาการขนาดยาวนี้ เดิมชื่อ
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะนำเสนอเป็นตอนๆ
เพื่อให้นักศึกษาและสมาชิกเข้าใจสถานการณ์ภาคใต้โดยลำดับ
และเห็นถึงปัญหาอันซับซ้อนของพี่น้องมุสลิม รวมถึงการแก้ไขของทางการอย่างไม่ถูกจุด
ในบทความแรกนี้ จะประกอบด้วยบทคัดย่อและข้อเสนอแนะ
และมีการวิเคราะห์ข้อด้อยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของทางการเอาไว้หลายประการ
ซึ่งน่าสนใจมากที่จะนำไปปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๖๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 / 18 เมษายน 2548
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
Crisis Group Asia Report

บทคัดย่อและข้อเสนอแนะ
ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมทวีความเลวร้ายขึ้นอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นปี 2547 และได้รับแรงหนุนส่งจากนโยบายแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร ในภูมิภาคเอง หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่าถ้าปล่อยไว้ความรุนแรงนี้อาจขยายกลายเป็นการลุกฮือต่อต้านอย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่อาจจะกลายเป็นสงครามศาสนาระดับภูมิภาคได้ แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่มีหลักฐานบอกได้ว่ามีกลุ่มจากภายนอกเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในการสังหารและวางระเบิดที่แทบจะกลายเป็นกิจกรรมรายวัน

หลายฝ่ายมักพูดว่าสาเหตุที่มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงคือ การที่กระแสของอิสลามสายเคร่งจารีตได้รับความนิยมมากขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มุสลิมไม่พอใจต่อการที่ไทยส่งทหารไปอิรัก แต่ถึงแม้จะเป็นความจริงที่จิตสำนึกของความเป็นมุสลิม ตลอดจนความรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง รวมถึงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมุสลิมที่อื่นๆมีมากขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การมองปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ว่าเรื่องนี้เป็นผลของการก่อการร้ายของมุสลิมอาจจะเป็นความผิดพลาดก็ได้ และความรุนแรงนี้ที่จริงแล้วมีสาเหตุจากปัญหาภายในพื้นที่มากกว่า

แน่นอนว่าพื้นที่ของมุสลิมในภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ แต่ปัญหานี้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่า และแม้แต่การใช้นโยบายเพื่อการพัฒนาที่ผ่านการวางแผนมาอย่างดีก็ไม่น่าจะช่วยได้ หากไม่จัดการปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มาตรการแทบทุกอย่างที่รัฐบาลดำเนินการไปดูเหมือนจะทำให้ปัญหายิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ต้นตอของความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นเริ่มจากปัญหาในอดีตที่มาจากการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมมาเลย์ รวมทั้งความพยายามในอันที่จะบีบบังคับให้พวกเขาหลอมรวมตัวเข้ากับสังคมส่วนที่เหลือของประเทศ โดยรัฐบาลไทยที่เป็นของไทยพุทธในยุคสมัยต่างๆ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมานานเกือบศตวรรษ
กลุ่มต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธ เคลื่อนไหวในภาคใต้มาตั้งแต่ราวห้าสิบปีที่แล้ว การต่อสู้รุนแรงที่สุดในช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มที่มีขนาดใหญ่และปฏิบัติการได้ผลมากที่สุดในบรรดากลุ่มต่างๆ คือกลุ่มพูโล (PULO - องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานีหรือองค์การสหปัตตานีเสรี) ซึ่งต้องการจะจัดตั้งรัฐอิสลามที่เป็นอิสสระ แต่ว่าประเด็นของกลุ่มนี้อยู่ที่เรื่องของเชื้อชาติมากกว่าเรื่องของความเชื่อ คือ"อิสลาม"

รัฐบาลไทยสามารถลดความรุนแรงลงระดับหนึ่งด้วยมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งมีผลในการลดความช่วยเหลือที่มีไปถึงกลุ่มติดอาวุธ และกลุ่มนักสู้หลายร้อยคนได้เข้ารับการนิรโทษกรรม จนถึงช่วงกลางทศวรรษที่ยี่สิบ การต่อต้านได้ส่อเค้าว่าจะยุติลง

แต่ความตึงเครียดระลอกใหม่โผล่ขึ้นมาอีก โดยมีกลุ่มต่างๆ ที่สำคัญสี่กลุ่มปรากฏตัวหรือไม่ก็ปรากฏตัวขึ้นมาใหม่ และความรุนแรงทวีขึ้นต้นปี 2004. สี่กลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวในปัจจุบันมี

- BRN - C บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท หรือบีอาร์เอ็น ซี เป็นกลุ่มเดียวในบรรดากลุ่มที่แตกหน่อจากบีอาร์เอ็นที่มีการเคลื่อนไหว บีอาร์เอ็นก่อตั้งในช่วงสามสิบกว่าปีที่แล้ว ด้วยจุดประสงค์เพื่อต่อสู้ให้มีการจัดตั้งรัฐปาตานีอิสสระ เชื่อกันว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดและมีการจัดตั้งดีที่สุดในบรรดากลุ่มต่างๆ เน้นการจัดตั้งทางการเมืองและหาสมาชิกจากภายในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม

- Pemuda องค์กรเยาวชนกู้ชาติปัตตานี (เป็นส่วนหนึ่งของบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท) เชื่อกันว่าเป็นผู้ลงมือในการก่อเหตุวินาศกรรม การยิง และวางระเบิดหลายครั้ง

- GMIP จีเอ็มไอพี (กลุ่มอิสลาม มูจาฮีดิน ปาตานี) ก่อตั้งโดยกลุ่มบุคคลที่เคยผ่านการรบในอัฟกานิสถาน ในปี 2538 ต้องการจัดตั้งรัฐอิสลามที่เป็นอิสสระ และ

- พูโลใหม่ ก่อตั้งเมื่อปี 2538 ในฐานะเป็นเครือข่ายของพูโล เป็นกลุ่มติดอาวุธขนาดเล็กสุดในบรรดากลุ่มต่างๆ ต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐอิสระ

เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในเวลานี้พร้อมทั้งตอบปัญหาว่าใครบ้างมีส่วนร่วม รายงานฉบับนี้ได้เจาะลึกลงไปที่เหตุการณ์ใหญ่สามเหตุการณ์ อันแรกคือ

1. เหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งมีการโจมตีอันที่มีลักษณะประสานงานกันมาอย่างดี มีกลุ่มบุคคลเข้าปล้นค่ายทหาร เผาโรงเรียนกับสถานีตำรวจ อีกหนึ่งวันถัดมายังวางระเบิดอีกหลายจุด

2. เหตุการณ์ที่สองคือ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ซึ่งมีการโจมตีหลายจุดพร้อมๆกัน เป้าหมายคือด่านตรวจของทหารและสถานีตำรวจสิบเอ็ดแห่งทั่วทั้งปัตตานี ยะลา และสงขลา เหตุการณ์จบลงด้วยการปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะ และทหารยิงคนที่อยู่ในนั้นตาย 32 คน ในวันนั้นมีนักสู้ 105 คน พลเรือนอีกหนึ่งและเจ้าหน้าที่อีกห้ารายที่ล้มตายลง

3. เหตุการณ์ที่สามคือ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเริ่มต้นด้วยการชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจ และจบลงด้วยความตายของมุสลิมทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นแปดสิบห้าคนเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่ตายเพราะขาดอากาศหายใจหลังจากที่ถูกจับกุม และต้องนอนซ้อนทับกันระหว่างห้าถึงหกชั้น ในระหว่างการขนย้ายพวกเขาไปยังค่ายทหารบนรถบรรทุกของทหาร

สาเหตุของปัญหาว่าทำไมความรุนแรงเพิ่มขึ้นนั้น มีคำอธิบายหลายประการ แต่ไม่มีข้อไหนที่สามารถอธิบายได้อย่างครบถ้วน คำอธิบายสองประการที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ

หนึ่ง, การยุบเลิกหน่วยงานของรัฐบาลที่มีความสำคัญ กับความกลัวและไม่พอใจอันเกิดจากการจับกุมโดยไม่มีการตั้งข้อหา รวมทั้งการถูกจนท.ตร.ทารุณ กระหน่ำด้วยความล้มเหลวของรัฐบาลในอันที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับเหยื่อและครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น

สอง, การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางสังคมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิต และอึดอัดใจในหมู่ชุมชนมุสลิมมาเลย์ รวมทั้งความรู้สึกว่าวิถีชีวิต ค่านิยมและวัฒนธรรมของพวกเขากำลังได้รับผลกระทบ

มาตรการของรัฐบาลที่นับว่าเป็นความผิดพลาดรวมไปถึง

- ความล้มเหลวในการที่ไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างถูกต้อง
- การยุบเลิกหน่วยงานด้านการบริหารจัดการปัญหาที่ทำงานได้ผล
- การใช้กำลังมากเกินควร
- ความล้มเหลวเพราะไม่ได้สอบสวนและลงโทษสมาชิกในหน่วยงานรักษาความมั่นคงตามสมควร
- การส่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เข้าใจหรือไม่ก็เข้าใจน้อยในเรื่องความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ตลอดจนภาษามาเลย์
- การพึ่งพางานข่าวกรองที่อ่อน

- การโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงและการเมืองบ่อย ตลอดจนความล้มเหลวที่ไม่สามารถทำให้หน่วยงานด้านการรักษาความมั่นคงและการข่าวราวสิบหน่วยงานในพื้นที่นี้ประสานงานกันได้

- การปฏิเสธข้อเสนอที่ให้มีการนิรโทษกรรม ตลอดจนข้อเสนอให้ใช้มาตรการที่นุ่มนวลกว่า ในการจัดระเบียบโรงเรียนสอนศาสนาแต่กลับเลือกใช้มาตรการทางการทหารที่ใช้กำลังมากกว่า

นอกเหนือจากมาตรการทางด้านความมั่นคงแล้ว รัฐบาลควรจะต้องทำความเข้าใจและรับมือปัญหาความไม่พอใจทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ก่อความรุนแรงหยิบฉวยเป็นโอกาสสร้างแรงสนับสนุน การตั้งคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2547 เป็นก้าวแรกในแนวทางนี้ที่พอจะสร้างความหวังได้ แม้ว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ในคณะกรรมการดังกล่าว จะไม่ใช่มุสลิมและเป็นคนนอกพื้นที่ก็ตาม อย่างไรก็ดี ในการที่จะจัดการกับปัญหาที่ต้นตอ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลควรจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติม ในอันที่จะทำลายวงจรความรุนแรงด้วยมาตรการที่ผ่านการพิจารณามาแล้ว รวมทั้งที่คำนึงถึงความจำเป็นอื่นนอกเหนือไปจากการปฏิบัติการทางทหารและตำรวจ

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย

1. สอบสวนเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของบุคคล 74 คนเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 อย่างเต็มรูปแบบและอย่างโปร่งใส ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตายของกลุ่มคนสิบเก้าคนที่สะบ้าย้อย ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรม

2. ให้มีการพิจารณาคดีนายพลทหารสี่คน ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุการณ์เสียชีวิตที่กรือเซะและตากใบในเดือนเมษายนและตุลาคม 2547 และที่คณะกรรมการสอบสวนได้ระบุชื่อไว้แล้ว คนที่รับผิดชอบควรจะถูกลงโทษอย่างเต็มที่ตามกฏหมาย ไม่ใช่แค่ถูกลงโทษทางวินัยเช่นด้วยการโยกย้าย

3. จัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อสอบสวนกรณีการหายตัวหลายกรณีในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งหลายรายเป็นผลมาจากการลักพาตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะกรณีของทนายความสมชาย นีละไพจิตร

4. พิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติในการทำงานของทหารและตำรวจในพื้นที่ภาคใต้ใหม่ เพื่อให้มีการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

5. ยกเลิกนโยบายแบบไม่เป็นทางการในการส่งข้าราชการที่ทุจริตและประพฤติมิชอบไปทำงานในพื้นที่ เพื่อถือเป็นการลงโทษไปในตัวอย่างที่ทำมาในอดีต นอกจากนี้ควรกลั่นกรองเจ้าหน้าที่ที่ไปจากส่วนอื่นๆ ของประเทศอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้งฝึกอบรมพวกเขาให้เข้าใจถึงด้านวัฒนธรรมให้มากพอ

6. ถ้าเป็นไปได้ควรจ้างมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในพื้นที่เข้าทำงานในหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น รวมทั้งในกองกำลังรักษาความมั่นคง และส่งเสริมข้อเสนอแนะไม่นานมานี้ที่ให้คณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ กอ.สสส.จชต.ให้หาทางช่วยเหลือคนในพื้นที่สามหมื่นคนด้วยการอบรมเพื่อให้มุสลิมเชื้อสายมาเลย์ สามารถทำงานขึ้นถึงตำแหน่งในระดับสูงได้

7. ให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ลักษณะเดียวกันกับ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบัญชาการภาคใต้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านนโยบาย และตรวจสอบการนำนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติ โดยให้มีพลเรือนเป็นผู้บังคับบัญชา และมีอำนาจโยกย้ายข้าราชการที่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบได้ด้วย

8. ให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจังในอันที่จะแยกแยะ ทำความเข้าใจ และสร้างกลไกเพื่อจะแก้ปัญหาความไม่พอใจทางการเมือง อาจจะโดยการขยายผลจากกระบวนการปรึกษาหารือ ที่ริเริ่มโดยคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติให้กว้างขวางขึ้นและลุ่มลึกมากขึ้น

สิงคโปร์/บรัสเซลส์ 18 พฤษภาคม 2548

 

บทนำ: ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
เหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ของไทยเพิ่มระดับขึ้นอย่างมากช่วงต้นปี 2547 การวางระเบิดและการสังหารผู้คนเกิดขึ้นเป็นประจำวัน และดูเหมือนไม่มีทางจะจบลงง่ายๆ (1) ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับขณะนี้มีสภาพการณ์ที่ต่างออกไปจากเดิม เพราะการที่ปัจจุบันหลายฝ่ายวิตกในเรื่องปัญหาการก่อการร้าย

ขณะที่อีกด้าน บรรดาเพื่อนบ้านของไทยต่างก็กังวลว่า ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอาจจะชักนำให้เกิดการสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งในศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็ดึงเอากลุ่มนักรบศาสนาอย่างเช่นกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม ในด้านตัวปฏิบัติการเองก็มีความสลับซับซ้อนและมีอาการของการประสานงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนทเข้าช่วย และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตย และที่ซึ่งมีการใช้แนวทางแก้ปัญหาอย่างแข็งกร้าวโดยนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสำหรับในพื้นที่ส่งผลในด้านลบ แต่กลับได้รับการชื่นชมในทางการเมืองจากคนนอกพื้นที่ จุดนี้ยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงในเชิงยุทธวิธีเป็นไปได้น้อยยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะอธิบายถึงสาเหตุของปัญหาหลายประการ ว่าทำไมถึงเกิดเหตุรุนแรงนี้ขึ้น และทำไมถึงได้เกิดขึ้นในเวลานี้ คำอธิบายบางอย่างเน้นหนักไปที่ความเดือดร้อนของผู้คนในอดีต บวกกับการที่รัฐบาลไทยเพิกเฉยต่อพื้นที่ดังกล่าว ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างยาวนาน พื้นที่นี้ถือได้ว่าอยู่ในกลุ่มที่ยากจนที่สุดในประเทศ

คำอธิบายอีกบางประการเน้นไปที่เรื่องการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้ตำรวจและทหารกลายเป็นอริกันมากขึ้น ขณะที่อีกด้านก็ได้ยกเลิกหน่วยงานหน่วยหนึ่งที่มีประวัติว่า สามารถจะบริหารจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย

แต่ถ้าพิจารณาเหตุรุนแรงครั้งใหญ่คือเมื่อเดือน ม.ค, เม.ย. และ ต.ค. 2547 จะเห็นว่าสามเหตุการณ์นี้เน้นให้เห็นถึงความสลับซับซ้อน และปัญหาของการอธิบายต้นเหตุว่ามาจากสาเหตุใดสาเหตุเดียว จากการลงพื้นที่เมื่อเดือน ธ.ค. 2547 และเม.ย. 2548 Crisis Group(ไครซิส กรุ๊ป) ได้สัมภาษณ์ครอบครัวของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย, ตำรวจ และทหาร ไปจนถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรง รวมทั้งกลุ่มนักวิเคราะห์ระดับแนวหน้าของไทย นอกจากนั้นยังได้ดูเอกสารจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่เอกสารจากการสอบปากคำไปจนถึงเอกสารเรียกร้องให้มีการทำสงครามศาสนาหรือญิฮัด อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจำนวนมากที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ใครเป็นผู้ก่อเหตุ และเหตุการณ์ทั้งสามกรณีเกี่ยวข้องกันอย่างไร

แต่ผลที่ชัดเจนอย่างหนึ่งจากการศึกษาหนนี้ก็คือเรื่องที่ว่า นโยบายของรัฐบาลทักษิณในช่วงสิบหกเดือนที่ผ่านมาไม่ได้ผล ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของไทยอย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่ศักยภาพของรัฐบาลในอันที่จะคลี่คลายสถานการณ์ ก็เจออุปสรรคจากความไร้ประสิทธิภาพของงานข่าวกรอง การไม่ลงรอยกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และความไม่ไว้วางใจตลอดจนความสงสัยซึ่งกันและกัน ระหว่างรัฐบาลกับชุมชนซึ่งมีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม มาตรการในการแก้ปัญหาที่คิดกันขึ้นมาอย่างขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และที่เน้นในเรื่องของการใช้กำลังอย่างเดียว ได้ทำให้ปัญหาพวกนี้ยิ่งหนักขึ้น

ปัญหาจากอดีต
มุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมาเลย์ พูดภาษามาเลย์แทนที่จะพูดไทย ครั้งหนึ่งดินแดนนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปาตานี ที่เป็นอิสระและอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านครอบคลุมพื้นที่ที่เรียกว่าปัตตานี ยะลา นราธิวาส บางส่วนทางภาคตะวันตกของจังหวัดสงขลา พื้นที่ที่ว่านี้เจริญรุ่งเรืองในช่วงปี ค.ศ. 1390-1902 (2) นับแต่นั้นพื้นที่นี้ก็ต้องยอมรับว่าความเป็นอิสสระทางการเมืองที่กลายเป็นอดีต ขณะที่สถานภาพการเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายมาเลย์ที่แทบจะกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเป็นอิสสระขึ้นมา จุดนี้กลายเป็นฉากให้กับเหตุการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน (3)

A. ปาตานีกับสยาม
ปี พ.ศ. 2445 สยามซึ่งต่อมากลายเป็นประเทศไทย ได้ผนวกรัฐปาตานีซึ่งมีสุลต่านเป็นผู้ปกครองเข้ากับไทยอย่างเป็นทางการ การดำเนินการนี้ได้รับการรับรองจากสนธิสัญญาอังกฤษและสยามปี พ.ศ. 2452 ที่ปักปันเขตแดนระหว่างปาตานีกับรัฐกลันตัน เปรัค เคดะห์และปะลิสซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวมาเลย์ (อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในเวลานั้นและต่อมาเป็นของมาเลเซีย) (4)

ผลจากการปฏิรูปการเมืองหลายหนในไทยทำให้ผู้ปกครองของปาตานีหลุดจากอำนาจและทำให้รัฐปาตานีถูกแบ่งเป็นสามจังหวัด คือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส (5) ผู้ปกครองเดิมหลุดจากอำนาจ แทนที่ด้วยเจ้าหน้าที่รัฐที่พูดแต่ภาษาไทย และทำงานตอบสนองรัฐบาลในกรุงเทพโดยตรง

ตลอดช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลในกรุงเทพกับจังหวัดภาคใต้ที่มีประชากรเป็นมุสลิมเป็นส่วนใหญ่นี้เรียกได้ว่า คละเคล้าไปด้วยนโยบายที่กดดันให้มีการหลอมรวมตัวของประชากร การต่อต้านของคนในพื้นที่ และมาตรการของรัฐบาลในการประนีประนอมที่น้อยครั้งจะได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะควร และบางทีก็มีช่วงเวลาที่ความตึงเครียดผ่อนคลายด้วย (6)

การต่อต้านที่หนักที่สุดต่อการสลายโครงสร้างอำนาจปกครองเก่า กลับไม่ได้มาจากกลุ่มผู้ปกครองเดิมที่ถูกโค่นล้ม แต่ว่าเมื่อนโยบายผลักดันการหลอมรวมตัวของประชากรเริ่มสร้างแรงกดดัน ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอิสลามและวัฒนธรรมมาเลย์ตกเป็นเป้า ตอนนั้นมากกว่าที่การต่อต้านขยายตัวมากขึ้น

ที่มาของแรงต้านอันนี้แห่งหนึ่งคือโรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาแบบนักเรียนอยู่ประจำ) (7) ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันสำคัญที่เสริมอัตลักษณ์ของความเป็นมาเลย์มุสลิม เมื่อผู้ปกครองไทยส่งคนไทยพุทธไปปกครองแทนเจ้าเมืองเดิม บรรดาโต๊ะครูหรือครูใหญ่ก็กลายเป็นผู้นำชุมชนไปโดยปริยาย รวมทั้งกลายเป็นผู้ทำหน้าที่ปกป้องความเชื่อ ตลอดจนอัตลักษณ์มาเลย์ไปด้วยในตัว (8)

การต่อต้านการปกครองของสยามหนสำคัญหนแรก เกิดขึ้นภายใต้การนำของตนกูอับดุลกาเดร์ สุลต่านองค์สุดท้ายของปาตานี ซึ่งนำการต่อต้านแบบเงียบๆ ในช่วงที่พลัดถิ่น และถูกตัดสินว่าเป็นขบถในปี พ.ศ. 2446 การจับกุมตนกู อับดุล การเดร์รวมทั้งการปล่อยตัวเขาในปี 2449 นำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบแต่รัฐบาลในกรุงเทพก็ปราบปรามลงได้

การลุกฮืออีกสองหนในปี พ.ศ. 2453 นำโดยเชคจากนิกายซูฟี (โต๊ะแตและหะยีบูลา)ที่เผยแพร่คำสอนให้มีการทำสงครามศาสนา ต่อต้านพวกชาวสยามที่เป็นคนนอกรีต แต่กองทัพไทยก็ปราบปรามความไม่สงบทั้งสองหนลงได้ และผู้นำต่างก็ถูกจับกุม (9)

ปี พ.ศ. 2458 ตนกู อับดุล กาเดร์หนีไปรัฐกลันตันแต่ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากทำให้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างในฝั่งไทย หนึ่งในบรรดาเหตุการณ์การลุกฮือที่เขามีส่วนกระตุ้นให้เกิดขึ้นคือกบฏนัมเซปี พ.ศ. 2465 ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านนัมเซ ตำบลมาโย ปัตตานีไม่ยอมจ่ายภาษีที่ดินให้กับทางการและมีการประท้วงสำหรับที่รัฐบาลนำการปฏิรูปการศึกษาปี 2464 มาใช้ (10)

พระราชบัญญัติการปฐมศึกษาภาคบังคับปี 2464 กำหนดให้เด็กทุกคนต้องเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนปฐมศึกษาเป็นเวลาสี่ปี เพื่อจะเรียนภาษาไทย ข้อบังคับที่เข้มงวดสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับมุสลิมมาเลย์ ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นการพุ่งเป้าโดยตรงต่อวัฒนธรรม ความเชื่อและภาษาของพวกเขา โรงเรียนของรัฐนอกจากจะสอนหลักสูตรที่แยกวิชาชีพและศาสนาเป็นภาษาไทยแล้ว ยังมีข้อบังคับตามธรรมเนียมชาวพุทธ ซึ่งบ่อยครั้งพระสงฆ์ทำหน้าที่ครูไปด้วย (11)

ความพยายามในอันที่จะเอาโรงเรียนมาแทนที่ปอเนาะ ส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ต่อสังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจของครูโรงเรียนปอเนาะด้วย บรรดาโต๊ะครูได้ระดมกำลังจากคนในชุมชนต่อต้านนโยบายนี้ โดยชี้ชวนว่าเป็นนโยบายที่เท่ากับเป็นความพยายามในอันที่จะเปลี่ยนมุสลิมมาเลย์ให้เป็นไทย (12) พ่อแม่ไม่ยอมส่งลูกเข้าโรงเรียนของรัฐ (13) หมู่บ้านหลายแห่งชุมนุมต่อต้านทั้งนโยบายด้านการศึกษาและการจ่ายภาษี ในที่สุดรัฐบาลยอมโยกย้ายเจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างรุนแรงรายหนึ่งออกไป และยังลดภาษีให้ชาวบ้านมุสลิมในขณะที่อีกด้านก็จับกุมและทำโทษคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้นำด้วย

แรงกดดันจากรัฐบาลบรรเทาลงในช่วงศตวรรษต่อมา ความรุนแรงก็ลดลงด้วย การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช จากจุดนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีการอนุญาตให้ชาวมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในสภาผู้แทนราษฏรได้ (14) แต่ถึงกระนั้นนโยบายรวมชาติตามแนวคิดชาตินิยมก็ยังคงอยู่ (15)

B. นโยบายหลอมรวมแบบชาตินิยม
การขึ้นสู่อำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และนโยบายชาตินิยมสุดขั้วคือนโยบายรวมไทในช่วงปลายทศวรรษ 30 เป็นสาเหตุให้ต่อมาเกิดยุคแห่งการเผชิญหน้าอีกครั้ง ชื่อของประเทศได้รับการเปลี่ยนแปลงจากคำว่าสยาม ซึ่งมีความหมายกลางๆ ในเชิงของเชื้อชาติไปเป็นประเทศไทยในปี 2482 มีการบังคับใช้ธรรมเนียมตามแบบไทยภาคกลางกับคนทั่วประเทศ โดยไม่มีการผ่อนปรน แต่อย่างใด

จอมพล ป. ได้กำหนดนโยบายรัฐนิยมเพื่อหลอมรวมชนกลุ่มน้อย ทำให้มีการห้ามใช้ภาษามาเลย์ในสถานที่ราชการ กำหนดให้ข้าราชการต้องใช้ชื่อไทย ห้ามมุสลิมไม่ว่าหญิงหรือชายแต่งกายด้วยชุดแบบมาเลย์ในที่สาธารณะ และยังมีข้อบังคับหยุมหยิมครอบคลุมแทบจะทุกอย่างในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังได้ยกเลิกกฎหมายอิสลาม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงยอมรับธรรมเนียมการจัดการมรดก และปัญหาครอบครัวของมุสลิมอีกด้วย

จอมพล ป.ยังบังคับให้ประชากรมุสลิมทำตัวแบบไทยพุทธ มีการวางพระพุทธรูปไว้ตามโรงเรียนของรัฐ และเด็กๆ มุสลิมจะต้องเคารพด้วยเพื่อแสดงความรักชาติ

กฏรัฐนิยมอีกประการระบุพฤติกรรม "ที่ไม่เป็นไทย" ว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย (16) การแสดงอัตลักษณ์ที่ไม่เป็นไทยในสายตาของเจ้าหน้าที่ นอกจากจะไม่รักชาติแล้วโดยตัวของมันเองยังถือได้ด้วยว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง การจับเอาเรื่องของความมั่นคงของชาติมารวมเข้ากับอัตลักษณ์ของชาติ ทำให้เกิดความขัดแย้งสำคัญขึ้นมาทันที นั่นคือรัฐมองเรื่องของการหลอมรวมชนในสังคม เป็นเสมือนกุญแจสำคัญในการลดความไม่มั่นคงในสายตาของตน อันเป็นผลมาจากพวกมุสลิมมาเลย์ที่ไม่ยอมรับวัฒนธรรมไทย ในขณะที่ภัยที่แท้จริงซึ่งมีเพียงอย่างเดียวนั้น มาจากการชุมนุมประท้วงนโยบายการหลอมรวมผู้คนอันนั้นนั่นเอง

ส่วนสำหรับชาวมุสลิมมาเลย์ สถานการณ์ในขณะนั้นยิ่งดูยิ่งคล้ายกับว่าพวกเขาจะต้องเลือกเอาระหว่างการยอมรับการปกครองของไทยและทอดทิ้งภาษา วัฒนธรรมและความเชื่อของตนเอง กับอีกทางคือการต่อสู้เพื่อเอกราชเพื่อจะได้คงสิ่งเหล่านี้เอาไว้ (17)

ตนกูอับดุล กาเดร์สิ้นชีวิตเมื่อปี 2476 และได้ส่งมอบสถานะการเป็นผู้นำขบวนการนี้ให้กับบุตรชายคนสุดท้อง ตนกูมะไฮยิดดิน (ไมยิดดิน หรือมูไฮยิดดิน) ช่วงที่ตนกูมะไฮยิดดินและพวกเดินทางถึงกลันตันในปี 2482 สงครามโลกครั้งที่สองก็ได้ระเบิดขึ้นแล้ว ไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นเมื่อปี 2488 ตนกูมะไฮยิดดินซึ่งมองเห็นโอกาสของมุสลิมมาเลย์จากการเข้าเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ และท่าทีในทำนองจะช่วยสนับสนุนให้ได้รับเอกราชตั้งรัฐปาตานีหลังสงคราม จึงได้สั่งคนในบังคับบัญชาให้ต่อสู้กับญี่ปุ่น (18)

C. ความหวังในการได้เอกราช
ปรีดี พนมยงค์ ผู้จุดชนวนความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยจากการที่อยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก และยังสนับสนุนการต่อสู้ของตนกูมะไฮยิดดิน (19) นายปรีดียังพูดเป็นนัยด้วยว่า ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรอาจจะนำมาซึ่งการเป็นรัฐอิสสระของปัตตานี (20) แต่เมื่อญี่ปุ่นบุกยึดสิงคโปร์อย่างเหนือความคาดหมายในเดือนกุมภาพันธ์ 2482 ความหวังทั้งหมดนี้ก็จบลง

ญี่ปุ่นรื้อฟื้นเขตแดนของกลันตัน เคดะห์ ตรังกานู และปะลิสที่ก่อนหน้านั้นตกเป็นของอังกฤษเมื่อปี 2452 (21) การดำเนินการนี้ช่วยเสริมสายใยระหว่างกลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราชของปัตตานีกับขบวนการชาตินิยมในมาลายาของอังกฤษ เนื่องจากแรงหนุนจากรัฐบาลในลอนดอนมีน้อย พวกชาตินิยมมาเลย์จึงหันไปจับมือกับจีนคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่อสู้กับญี่ปุ่น ตนกูมะไฮยิดดินพำนักในกลันตัน แต่ก็ใช้เวลาสั้นๆ อยู่ในอินเดีย เพื่อรวบรวมกำลังพลฝ่ายต่อต้านและมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการวางแผนสำหรับมาลายาหลังยุดถูกยึดครอง

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น จอมพล ป. ออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฏาคม 2487 เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ที่สิ้นสุดไปพร้อมจอมพล ป. คือนโยบายบังคับหลอมรวมคนในชาติ ผู้นำคนถัดมาคือนายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ หันไปใช้นโยบายที่ประนีประนอมมากขึ้น ในการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

เดือนสิงหาคม 2488 รัฐบาลไทยยอมให้รัฐกลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และปาลิสเข้าร่วมกับมาลายา ส่วนปัตตานีนั้น แม้ว่าผู้นำหลายคนของที่นั่นจะคาดหวังว่าจะได้รวมตัวกับมาลายาของอังกฤษด้วย และพวกเขาเองก็ได้เรียกร้องต่อกองกำลังของอังกฤษในกัวลาลัมเปอร์ด้วย แต่ในที่สุดก็ไม่เป็นจริง ถึงจุดนี้ผู้นำหลายคนของปัตตานีเริ่มตระหนักว่า ความหวังที่จะได้ดินแดนเหล่านี้คืนมานั้นไม่มีทางเป็นไปได้ บางคนจึงโยกย้ายไปอยู่ในภาคเหนือของมาเลเซีย บ้างก็ไปอยู่ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งต่อมามุสลิมจากปัตตานีเหล่านี้เอง ที่ให้การสนับสนุนอย่างสำคัญในการหาทุนสนับสนุนรวมทั้งการสนับสนุนด้านอื่นแก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน (22)

ทางด้านปรีดี ซึ่งเป็นห่วงเรื่องกระแสชาตินิยมมาเลย์ ที่ขยายตัวในจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ ได้จัดตั้งกลไกเพื่อจะสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของในหมู่ชาวมุสลิมเหล่านั้น แต่กลับมีผลในทางกลับกันคือสร้างความแปลกแยกในหมู่คนอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ปรีดีได้ออกพระราชบัญญัติอิสลาม ซึ่งยังผลให้บรรดาผู้นำมุสลิมเข้าไปรวมอยู่กับรัฐ (ภายใต้กระทรวงมหาดไทย) โดยมีผู้นำคือจุฬาราชมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อถวายคำปรึกษาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับอิสลาม โครงสร้างอันนี้ขยายตัวรวมเอามัสยิดต่างๆ เข้าไปไว้ด้วยกันต่อมา

มุสลิมเชื้อสายมาเลย์มองโครงสร้างใหม่ว่าเป็นการจับมือกัน ยิ่งกว่านั้นจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีจุฬาราชมนตรีที่มาจากภาคใต้ มุสลิมที่ได้รับการแต่งตั้งมักจะเป็นพวกที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือส่วนกลาง ทำให้ยากแก่การที่สำนักจุฬาราชมนตรีจะสร้างความชอบธรรมได้มากนักในภาคใต้ ที่ซึ่งโต๊ะครูยังคงเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจกลุ่มสำคัญ (23)

กระทรวงยุติธรรมก็ได้แต่งตั้งดาโต๊ะยุติธรรมสองคนขึ้น ในแต่ละจังหวัดที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ศาลเรื่องกฏหมายว่าด้วยการแต่งงานและการรับมรดก แต่ว่าอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินยังอยู่กับผู้พิพากษาที่เป็นไทยพุทธ (24) มุสลิมมองว่าการใช้ผู้พิพากษาที่ไม่ใช่มุสลิม ทำหน้าที่ตัดสินความตามกฏหมายอิสลามเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาต้องการ (ตามข้อเรียกร้องที่บรรดาผู้นำมุสลิมเสนอต่อรัฐบาลในกรุงเทพฯ) ก็คือ ให้มีกลไกแบบเดียวกันแต่บริหารโดยมุสลิมเท่านั้น (25)

รัฐบาลของนายปรีดียังจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบสวนตามข้อร้องเรียนต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลจากมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ แต่ว่าตำรวจมักจะทำร้ายคนที่ไปร้องเรียน มุสลิมหลายรายเรียกร้องสิทธิในอันที่จะแยกตัวจากประเทศไทยเพื่อไปรวมกับมาลายาของอังกฤษ

D. หะยีสุหลงกับกบฏดุซงญอ
เกิดการจราจลขึ้นในนราธิวาสเมื่อปี พ.ศ. 2489 ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี หะยีสุหลง (สุหลง บิน อับดุล กาเดร์ บิน โมฮัมหมัด เอล ฟะ-ฏอนี) ก่อตั้งขบวนการประชาชนปัตตานีเมื่อต้นปี พ.ศ. 2490 และเรียกร้องขอปกครองตนเอง ขอสิทธิในการใช้ภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งการใช้กฏหมายอิสลาม (26)

หะยีสุหลงถือว่าเป็นปัญญาชนสายกลางที่ได้รับการศึกษาในนครเมกกะ และที่นั่นเขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดสายปฏิรูปจากจามาล อัล ดิน อัล อาฟกานิ กับมูฮัมหมัด อับดูห์ รวมทั้งจากปัญญาชนในแนวเดียวกันจากซาอุดิ อียิปต์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเป็นคนที่ผสมผสานความเชื่อทางศาสนาอย่างแน่นแฟ้นเข้ากับแนวคิดชาตินิยม หะยีสุหลงกับมุสลิมหัวปฏิรูปที่มีความคิดคล้ายกันอีกหลายคน ได้ช่วยให้ขบวนการเรียกร้องปกครองตนเองขยายฐานสนับสนุนกว้างขวางขึ้นได้

มีผู้นำในนราธิวาสอีกห้าสิบห้าคนที่เดินตามแนวทางของหะยีสุหลง และยื่นข้อเรียกร้องคล้ายกัน มุสลิมในสตูลก็ยื่นข้อเรียกร้องด้วย แต่ก่อนที่ปรีดีซึ่งสนับสนุนแนวคิดสหพันธรัฐแบบสวิสเซอร์แลนด์จะทันได้สนองตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง จอมพล ป. ก็ทำรัฐประหารและกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2490 (27) มาตรการของรัฐบาลทหารก็คือการจับหะยีสุหลง รวมทั้งผู้นำศาสนารวม รวมถึงผู้แทนอีกหลายคนเข้าคุกในข้อหาเป็นกบฏเมื่อปี พ.ศ. 2491 หลายคนที่หลบหนีไปได้ได้สานต่อการต่อสู้มาจากมาลายา

ในช่วงจังหวะเวลาใกล้เคียงกันในปี 2491 คนไทยเชื้อสายมาเลย์จำนวน 250,000 คนได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อสหประชาชาติ ให้เข้าไปช่วยเจรจาให้มีการแยกปัตตานี ยะลา และนราธิวาสไปเข้าไปสหพันธรัฐมาลายาที่เพิ่งตั้งใหม่ ผู้ที่เข้าร่วมลงชื่อหลายคนถูกจับกุม แต่จากแรงกดดันของนานาประเทศ จอมพล ป.ก็ยอมถอยบ้าง รวมทั้งยอมให้มีการสอนภาษามาเลย์ในโรงเรียนระดับปฐมศึกษา และการยอมให้ใช้กฏหมายอิสลามในกรณีเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวและการรับมรดก (ผ่านศาลไทย) จอมพล ป.ยังยอมให้พนักงานรัฐที่เป็นมุสลิมแต่งกายแบบมุสลิม อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเหล่านี้เป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่เต็มที่ (28)

การคุมขังหะยีสุหลงกลายเป็นจุดหักเหในการต่อต้านการปกครองของไทย ในปี พ.ศ. 2433 ข้าราชการที่เป็นคนเชื้อสายมาเลย์ในปัตตานี ยะลา และนราธิวาสไม่ยอมเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่คนไทย และยังวางแผนจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งในปี 2491 ด้วย แต่แนวทางการต่อสู้ด้วยการไม่ร่วมมือต่อมา ขยายตัวกลายเป็นการเผชิญหน้าอย่างเปิดเผย มีการก่อกบฏขึ้นในสามจังหวัด รวมทั้งมีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่หน้าสถานีตำรวจที่มีการจับกุมตัวหะยีสุหลง (29)

มีการนำตัวหะยีสุหลงไปขึ้นศาลนอกพื้นที่ภาคใต้ แต่การชุมนุมประท้วงก็ไม่ยุติ มีการจราจลทั่วไปในปัตตานี นราธิวาส และยะลา กรณีที่ใหญ่ที่สุดคือที่ดุซงญอในนราธิวาสเมื่อวันที่ 26-28 เมษายน 2491 ผู้นำศาสนาชื่อหะยี อับดุล รามาน ได้นำกำลังชายฉกรรจ์หลายร้อยปะทะกับตำรวจ ทำให้มีมุสลิมร่วมสี่ร้อยคนเสียชีวิต อีกหลายพันหนีไปมาเลเซีย ผู้นำศาสนาทั้งในไทยและมาเลเซียเรียกร้องให้มีการทำสงครามศาสนากับทางการไทย แต่ผู้นำในรัฐกลันตันรู้ดีด้วยว่า ปราศจากการสนับสนุนจากอังกฤษเสียแล้ว พวกเขาก็ยากจะทำอะไรได้มากนัก (30)

หะยีสุหลงได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกเมื่อปี 2495 แต่แล้วก็หายตัวไปพร้อมกับบุตรชายคนโตคือนายอาหมัด โต๊ะมีนา เมื่อปี 2497 คาดกันว่าถูกตำรวจจับถ่วงน้ำ (31)

ความสามารถของหะยีสุหลงในการดึงพวกชาตินิยมเข้ากับกลุ่มศาสนา เพื่อผลักดันแนวทางการต่อสู้เพื่อปกครองตนเอง ส่งผลให้มีการขยายตัวของกลุ่มต่อต้านจากขบวนการที่เป็นของคนชั้นสูง ที่มีอดีตชนชั้นผู้ปกครองเป็นผู้ผลักดันให้กลายเป็นขบวนการที่มีฐานกว้างออกในหมู่ประชาชน หะยีสุหลงเองได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อต้านการหลอมรวมเชื้อชาติ และการปรามปรามของไทย ในขณะที่การก่อกบฏของอดีตผู้ปกครองปาตานี ที่มีความขัดแย้งในกลุ่มผู้นำกันเองในเรื่องของอำนาจ สถานภาพ และผลประโยชน์ของสมาชิกที่เป็นชนชั้นสูงของฝ่ายปกครอง การนำของหะยีสุหลงและความน่าเชื่อถือของเขาในด้านศาสนา ได้เพิ่มบริบททางศาสนาอิสลามให้กับ กลุ่มชาตินิยมเชื้อสายมาเลย์ (32)

การขยายตัวของฝ่ายต่อต้านเชื้อสายมาเลย์ในช่วงสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ได้รับแรงหนุนเสริมความแข็งแกร่งด้วยการจัดตั้งกลุ่ม GAMPAR กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจะรวมสี่จังหวัดภาคใต้ของไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเข้ากับมาลายา กับขบวนการประชาชนปาตานี หรือ PPM (พีพีเอ็ม) Patani People Movement กลุ่มที่มีฐานในไทยที่มีเป้าหมายเดียวกัน (33)

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้นำของทั้งสองกลุ่มตายลงเมื่อปี 2496 และ 2497 ตามลำดับ ทั้งสองกลุ่มก็เกิดการแตกแยก (34) นายอดุลย์ ณ สายบุรี รองประธานกลุ่ม GAMPAR และเป็นอดีตผู้แทนของนราธิวาส เป็นผู้มารวบรวมสมาชิกกลุ่มเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อเขาจัดตั้งกลุ่ม BNPP (บีเอ็นพีพี)ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2502 นับเป็นกลุ่มติดอาวุธกลุ่มแรกที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของปัตตานี (35)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒

เชิงอรรถ

(1) รายงานฉบับนี้เป็นการส่วนหนึ่งของรายงานชุดเกี่ยวกับอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูเพิ่มเติมได้จาก Crisis Group Asia Report ฉบับที่ 92 , Recycling Militants in Indonesia: Darul Islam and the Australian Embassy Bombing, 22 กพ. 2548 และรายงานเอเชียฉบับที่ 80, Southern Philippines Backgrounder, Terrorism and the Peace Process, 13 กค. 2547 สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของกระบวนการของฟื้นฟูอิสลามทั่วโลก ดูได้จากรายงานด้านตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ ของไครซิสกรุ๊ป ฉบับที่ 37, Understanding Islamism, 2 มีค.2548 หากต้องการรายชื่อรายงาน และเอกสารสรุปทั้งหมดที่เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูอิสลาม ความรุนแรงและการปฏิรูป ดูได้จาก www.crisisgroup.org/home/index.cfm?id=2969&1=1

(2) ปัตตานี ในตัวสะกดภาษาอังกฤษ Patani ที่มี t ตัวเดียว เป็นวิธีสะกดแบบมาเลย์ มักใช้เวลาจะพูดถึงรัฐ ปาตานีในอดีต ส่วนปัตตานี Pattani ที่มี t สองตัว เป็นวิธีการสะกดของไทยเรียกจังหวัดปัตตานี

(3) อีกหลายพื้นที่ที่มีลักษณะทางเชื้อชาติและภาษาเฉพาะตัว ไม่ว่าในภาคเหนือหรือภาคอีสาน คือเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุดรธานี อุบลราชธานี ต่างถูกผนวกเข้ากับดินแดนประเทศไทยในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้า ดูเพิ่มเติมจาก เตช บุนนาค, The Provincial Administration of Siam, 1892-1915 (Oxford,1977) หน้า 136-184

(4) ก่อนหน้าปี 2445 มีช่วงเวลาที่ไทยไม่ได้ควบคุมรัฐปาตานีอย่างเข้มงวด ปาตานียังเป็นอิสสระทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม สุลต่านที่เรียกกันว่า รายา เพียงแสดงความจงรักภักดีด้วยการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเครื่องราชบรรณาการไปยังกษัตริย์ไทย รวมทั้งส่งทหารไปสนับสนุนเมื่อไทยต้องการในระหว่างที่มีการสู้รบ เมื่อใดก็ตามที่อำนาจของไทยอ่อนตัวลง ปาตานีก็จะกบฏและตัดความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ตอนก่อนสิ้นศตวรรษที่สิบเก้า ผู้ปกครองของไทยใช้มาตรการที่เด็ดขาดรุนแรงมากขึ้นปราบการกบฏหนแล้วหนเล่า ทำให้ปาตานีอ่อนกำลังลงอย่างมาก ดูเพิ่มเติมได้จาก Uthai Dulyakasem, 'Muslim Malays in southern Thailand: Factors underlying the political revolt' ใน Lim Joo Jock และ Vani S. (eds.), Armed Separatism in Southeast Asia, Institute of Southeast Asian Studies Regional Strategic Studies Program (1984), หน้า 220-222 ส่วนลำดับความเป็นมาของระยะเวลาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ปาตานี ดูได้จาก Supara Janchifa, Violence in the Mist ( Kobfai,2005), หน้า 273-274

(5) สตูล เคยอยู่ภายใต้รัฐเคดะที่เป็นมาเลย์ อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของไทย แต่สยามยกดินแดนส่วนใหญ่ของเคดะให้กับบริติชมาลายาในปี 2452 และสตูลกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม แต่ปรับและรวมตัวเข้ากับวัฒนธรรมและภาษาไทยได้มากกว่าคนในปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการช่วงชิงแบ่งแยกดินแดนและความรุนแรง ดูเพิ่มเติมได้จาก Moshe Yegar, Between Integration and Secession (Boulder: Lexington, 2002), หน้า 79-80; Andrew Forbes, Thailand's Muslim minorities: Assimilation, secession or coexistence' ใน A.D.B. Forbes (ed.) The Muslims of Thailand, vol 2: Politics of the Malay Speaking South, โดย Center for South East Asian Studies (Bihar, 1989). สำหรับประเด็นเรื่องชุมชนภาษาต่างๆ ของมาเลย์มุสลิมในสตูลและปัตตานี ดู Seni Mudmarn, Language use and loyalty among the Muslim Malay of southern Thailand, วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมหาวิทยาลัย State University of New York at Buffalo

(6) Todd A. Culp, 'Who you are is where you stand', วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Northern Illinois University, 2546 หน้า 34; Surin Pitsuwan 'Islam and Malay Nationalism: A Case Study of the Malay Muslims of Southern Thailand', (Boulder, 1985), หน้า 216 นอกจากนี้ดูเพิ่มเติมได้ด้วยจาก D.Tugby และ E.Tugby, 'Malay - Muslims and Thai - Buddhists relations in the Pattani region: An Interpretation', ใน Forbes, อ้างแล้ว

(7) ponoh (ปอเนาะ) เป็นภาษามาเลย์พื้นถิ่นในปัตตานี มาจากคำในภาษามาเลย์มาตรฐานคือ pondok มาจากภาษาอาหรับ fondok แปลว่าที่พัก ซึ่งหมายถึงกลุ่มกระท่อมที่นักเรียน pondok พักซึ่งรวมอยู่ในสถานที่ของ Tok Guru (โต๊ะครู) ซึ่งก็เรียกว่า pondok เช่นกัน ส่วนในอินโดนีเซียเรียกว่า pondok pesantren หรือ pesantren คือโรงเรียนกินนอนสอนศาสนาอิสลาม

(8) นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการกลางอิสลามของจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งคณะกรรมการของมัสยิด แต่ครูปอเนาะมักจะได้รับการเคารพนับถือมากกว่าสมาชิกกรรมการเหล่านี้ เพราะถือกันว่ามีความรู้ในเรื่องศาสนาลึกซึ้งกว่า รวมทั้งโดยทั่วไปเชื่อกันว่า ครูปอเนาะเป็นตัวแทนในเรื่องมาเลย์ได้ดีกว่าด้วย, Dulyakasem, อ้างแล้ว หน้า 224-225

(9) Yegar, อ้างแล้ว,หน้า 87

(10) Thanet Aphornsuwan, 'The Origins of Malay Muslim separatism in southern Thailand', Asia Research Institute, Working Paper Series, ฉบับที่ 32, ตค. 2457 หน้า 18-19

(11) Yegar, เพิ่งอ้าง, หน้า 89

(12) นักวิชาการหลายคนอ้างว่า กลุ่มชนชั้นผู้ปกครองซึ่งได้รับผลกระทบต่ออำนาจของตนเป็นคนสร้างสถานการณ์นี้ขึ้นมา คือสร้างความขัดแย้งต่อรัฐ เพื่อจะได้ฟื้นฟูความชอบธรรมของตนเอง ดูเพิ่มเติมจาก Aphornsuwan, เพิ่งอ้าง, หน้า 5, Dulyakasem, อ้างแล้ว หน้า 224, Chidchanok Rahimmula, Peace Resolution: A Case Study of Separatist and Terrorist Movement in Southern Provinces Border of Thailand (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2544), หน้า 268, Ornanong Noiwong, 'Political integration policies and strategies of the Thai government towards the Malay - Muslims of the southernmost Thailand', วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Northern Illinois University, 2544, หน้า 151

(13) ในพื้นที่ที่มีมุสลิมระดับ 80 % ของจำนวนประชากร สถิติผู้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐมี 20% ของประชากรวัยเรียน และส่วนใหญ่ออกจากโรงเรียนหลังจากเรียนได้เพียงสองปี, ข้อมูลจาก Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 89

(14) ปรีดี พนมยงค์ อยู่ในกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นนายทหาร ทั้งทหารบก และทหารเรือหลายราย

(15) นโยบายการหลอมรวมชาติใช้ค่อนข้างได้ผลในภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย) และเหนือค่อนอีสาน (พิษณุโลก โคราช) หรือแม้แต่นครศรีธรรมราชหรือบางส่วนของสงขลาซึ่งอยู่ในภาคใต้ ความแตกต่างอย่างสำคัญของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็คือ การที่อยู่ใกล้โลกของชาวมาเลย์ที่นับถืออิสลาม บวกกับความรู้สึกที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ว่านั้นของประชากรในพื้นที่ ข้อมูลจากการที่ไครซิสกรุ๊ปติดต่อกับ สุรินทร์ พิศสุวรรณ, สส.นครศรีธรรมราชพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศไทย, เมย. 2548

(16) Craig J. Reynolds, 'National identity and its defenders', ใน Reynolds (ed.), National Identity and its' Defenders, Thailand 1939-1989, Monash Papers on Southeast Asia ฉบับที่ 25 (Glen Wavery, 1991) หน้า 6

(17) Surin Pitsuwan, อ้างแล้ว, หน้า 90

(18) ยังมีรายงานด้วยว่าตนกูไมยิดดิน (มะไฮยิดดิน) เกลี้ยกล่อมให้อังกฤษช่วยออกเงินสนับสนุนการรณรงค์ของเขา เพื่อหาสมาชิกในหมู่มุสลิมจากปัตตานีที่อาศัยในเมกกะ, Surin Pitsuwan, อ้างแล้ว,หน้า 95-96

(19) มีการรัฐประหารโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อเมื่อ มิย. 2475 โดยคณะราษฏร ด้วยความเห็นชอบของนายทหารระดับสูงขณะนั้นบางราย คณะราษฏรได้เข้าควบคุมสมาชิกคนสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งผู้นำกองทัพและตำรวจนำไปไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม หลังจากควบคุมสถานการณ์ในเมืองหลวงได้ คณะราษฏรได้แถลงว่ามีแผนจะให้มีรัฐสภา หลักการหกประการของคณะราษฏรคือ รักษาอธิปไตย, ความมั่นคงภายใน, ให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ, สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม, ตลอดจนเสรีภาพและโอกาสในการศึกษาแก่ประชาชน, ดูเพิ่มเติมได้จากสุรินทร์ พิศสุวรรณ, "นโยบายผสมผสานชาวมาเลย์มุสลิมในประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์", เอกสารสัมมนาฉบับที่ 43, สถาบันไทยคดีศึกษา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 24 ธค. 2525 หน้า 11

(20) Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 93

(21) ญี่ปุ่นยังได้ "รื้อฟื้น" ดินแดนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา กับภาคตะวันตกเฉียงใต้ของลาวให้กับประเทศไทยด้วย ในปี 2483 และ 2484 และดินแดนรัฐฉานในพม่าปี 2486

(22) Wan Kadir Che Man, Muslim Separatism: The Moros of the Southern Philippines and the Malay of Southern Thailand (OUP,1990), หน้า 59

(23) ช่วงที่จุฬาราชมนตรีเยือนปัตตานีในระหว่างที่มีการชุมนุมประท้วงของมุสลิม เพื่อต่อต้านรัฐบาลในปี 2518 ผู้นำมุสลิมมาเลย์หลายคนไม่ยอมเข้าร่วมพิธีต้อนรับ, อ้างในโต๊ะมีนา กับสุรินทร์ ในงานของวัน คาเดร์ (Wan Kadir) อ้างแล้ว, หน้า 98, 165 ในเหตุการณ์คล้ายกัน เมื่อจุฬาราชมนตรีได้รับเชิญไปเปิดมัสยิดแห่งแรกในมหาวิทยาลัยในไทย (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) แม้จะมีขบวนร่วมทางใหญ่โต แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก แขกที่ได้รับเกียรติตัวจริงกลับกลายเป็น นิค อับดุล อาซิส นิค หมัด นักการศาสนาและหน.พรรคปาส หรือ Parti Islam Se-Malaysia นิค อาซิสพูดภาษาถิ่นของกลันตัน (ที่คล้ายภาษาถิ่นปัตตานี) และแม้จะเป็นชาวมาเลเซีย แต่ได้รับการต้อนรับเยี่ยงคนในพื้นที่ ข้อมูลจากการที่ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ Saroja Dorairajoo, สิงคโปร์, ธค. 2547

(24) Culp,อ้างแล้ว, หน้า 22

(25) ดูข้อเรียกร้องเจ็ดข้อของหะยีสุหลงจากข้อความข้างล่าง ผู้นำมุสลิมอีกหลายคนในพื้นที่อื่นนำข้อเรียกร้องนี้ไปปรับปรุงเพิ่มเติมด้วย

(26) ข้อเรียกร้องเจ็ดข้อของหะยีสุหลงคือ

1. ขอให้แต่งตั้งผู้ปกครองคนเดียวที่มีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดคือปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล ให้มีอำนาจในการถอดถอน ระงับ หรือเปลี่ยนตัวข้าราชการทุกคน ให้ผู้ทำหน้าที่ปกครองนี้เป็นคนที่เกิดในสี่จังหวัดภาคใต้และให้ประชาชนเป็นผู้เลือก

2 ขอให้ข้าราชการที่ทำงานในสี่จังหวัดภาคใต้จำนวน 80 % เป็นมุสลิม

3. ขอให้ใช้ทั้งภาษาไทยและมาเลย์เป็นภาษาราชการ

4. ขอให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นสื่อในการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับประถม

5. ขอให้มีการนำกฏหมายอิสลามมาใช้ ให้มีศาลต่างหากแทนที่ศาลที่มีคาเฟียร์(คนนอกศาสนา) เป็นผู้พิพากษา

6. ขอให้นำรายได้และภาษีที่ได้จากสี่จังหวัดนี้กลับไปใช้ในพื้นที่ และ

7. ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสลามมีอำนาจเต็มไปในการสั่งการข้าราชการมุสลิม ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ปกครองดังกล่าวมาแล้วในข้อ 1
Haemindra อ้างใน Astri Suhrke, 'The Muslims of Southern Thailand', ใน Forbes, อ้างแล้ว

(27) Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว, หน้า 150, ที่จริงแล้วในการรัฐประหารปี 2490 มีการเปลี่ยนตัวหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เป็นนายควง อภัยวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ แต่แล้วก็เปลี่ยนอีกกลายเป็นหลวงพิบูลย์สงครามปี 2491

(28) M Ladd Thomas, 'Thai Muslim separatism in Southern Thailand' ใน Forbes,อ้างแล้ว, หน้า 21-22

(29) ผู้ประท้วงเรียกร้องขอทราบเหตุผลที่เขาถูกจับ

(30) Haemindra ใน Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว, หน้า 162 อังกฤษซึ่งตอนนั้นเจอปัญหาการกบฏของคอมมิวนิสต์ในมาลายา ได้เลิกให้การสนับสนุนใดๆ ต่อการรวมปัตตานีเข้ากับมาลายา

(31) ปรีดี พนมยงค์ ใน Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว,หน้า 164-165

(32) Thanet Aphornsuvan, 'Origins of Malay Muslim 'separatism' in southern Thailand', Asia Research Institute working paper ฉบับที่ 32 หน้า 13-18

(33) GAMPAR จัดตั้งเมื่อวันที่… มีค. ที่โรงเรียน Madrasah Muhammadiyyah, ในโกตาบารู รัฐกลันตัน มีเตงกู อิสมาอิล บิน เตงกู นิค ได้รับเลือกเป็นประธาน แต่ว่าตนกูมะไฮยิดดิน ซึ่งแม้จะไม่ได้มีตำแหน่งเป็นทางการใดๆ แต่ก็สนับสนุนขบวนการอย่างแข็งขัน เป้าหมายสามประการของกัมปาร์ ตามที่ระบุไว้ในคำแถลงของกลุ่มคือ

- เพื่อรวมสี่จังหวัดคือปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูลเป็นรัฐอิสลามและปลดปล่อยคนในสี่จังหวัดนี้จากการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ

- เพื่อจัดตั้งรัฐที่สอดคล้องกับหลักของอิสลาม รวมทั้งหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นมุสลิมมาเลย์ และ

- เพื่อยกสถานะและคุณภาพชีวิตของมุสลิมมาเลย์ในเรื่องของมนุษยธรรม ความเป็นธรรม เสรีภาพและการศึกษาโดยไม่ชักช้า จากข้อมูล Rahimmula, อ้างแล้ว

(34) Wan Kadir, อ้างแล้ว,หน้า 98

(35) เอกสาร บีเอ็นพีพี 1981a ระบุในเอกสารที่อ้างไปแล้ว, หน้า 98

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ขณะที่อีกด้าน บรรดาเพื่อนบ้านของไทยต่างก็กังวลว่า ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอาจจะชักนำให้เกิดการสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งในศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็ดึงเอากลุ่มนักรบศาสนาอย่างเช่นกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม ในด้านตัวปฏิบัติการเองก็มีความสลับซับซ้อนและมีอาการของการประสานงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนทเข้าช่วย และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตย และที่ซึ่งมีการใช้แนวทางแก้ปัญหาอย่างแข็งกร้าว

20-02-2550

Southern Thailand
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com