ข้อสนับสนุนและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเมืองเรื่องศาสนาพุทธ
เชิงอรรถก่อนเนื้อความ:
การบรรจุพระพุทธศาสนาในร่างรัฐธรรมนูญ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง
รวบรวมมาจากบทความจากหน้า
นสพ. และบทความที่ได้รับมาทาง email
โดยความตั้งใจแต่แรก
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ต้องการนำเสนอบทความเรื่อง
- ข้อคิดเห็นบางประการในการบรรจุพุทธศาสนาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๐
และ
- สมควรหรือไม่ ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญให้"ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ"
?
แต่เนื่องจากผู้อ่านจำเป็นต้องทราบความเป็นมาเกี่ยวเรื่องนี้ก่อน จึงได้คัดเลือก
บทความของเปลวสีเงินมานำเสนอ เพราะได้อ้างอิงงานของ พระพรหมคุณาภรณ์
หรือที่รู้จักกันในนาม "ท่านเจ้าคุณประยุทธ์" ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง
"ความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ" มาเป็นภูมิหลังหรือเชิงอรรถ
โดยเหตุที่เป็นการเรียงลำดับเพื่อง่ายแก่ความเข้าใจยิ่งกว่ามุ่งเสนองานในเชิงวิชาการ
หรือยึดติดกับรูปแบบงานวิจัย เชิงอรรถจึงถูกเรียงลำดับเอาไว้ตั้งแต่ต้นเนื้อความ
ในเชิงข้อเสนอและให้เนื้อความเป็นข้อโต้แย้งตามลำดับ
อนึ่งบทความของคุณเปลวสีเงิน ได้คัดลอกเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง
เพื่อเป็นเชิงอรรถในฐานะข้อเสนออันควรพิจารณาและใคร่ครวญ
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๔๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อสนับสนุนและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเมืองเรื่องศาสนาพุทธ
เชิงอรรถก่อนเนื้อความ:
การบรรจุพระพุทธศาสนาในร่างรัฐธรรมนูญ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง
เชิงอรรถที่
๑
เจ้าคุณประยุทธ์กับ'ศาสนาประจำชาติ'
เปลวสีเงิน (20 เมษายน 2550 กองบรรณาธิการ)
ความนำ
วานนี้โชคดี เสร็จจากศาลแล้วได้ไปกราบ "พระอาจารย์กัณหา สุขกาโม" พระคุณเจ้าฝ่ายวิปัสสนาธุระ
แห่งวัดแพร่ธรรมาราม
ก่อนจะกราบลาท่านกลับ ท่านได้ปรารภเรื่องพระพุทธศาสนากับประเทศชาติผ่านรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่
พระคุณเจ้าฝากฝังให้ผมในฐานะ "พุทธบริษัท" ช่วยทำนุบำรุง เอาใจใส่ดูแลพระพุทธศาสนาด้วย
ผมกราบรับคำสั่งท่านด้วยความรู้สึกละอาย คือละอายที่เป็น "คนไทย-เมืองพุทธ"
แท้ๆ แต่ถึงคราวต้องรับใช้พระพุทธศาสนา กลับต้องรอให้พระออกปากด้วยคำว่า "ช่วย"
ทั้งที่ งานพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ เป็นภาระโดยตรง "ต้องรับธุระ"
โดยไม่ต้องรอให้พระคุณเจ้าต้องออกปากอยู่แล้ว
กลับถึงโรงพิมพ์ ได้ดูข่าวเห็น "ผู้หลักผู้ใหญ่" ในบ้านเมืองหลากท่าน หลากตำแหน่ง พูดจาในลักษณะ ดูแคลน-ถากถาง พระสงฆ์องคเจ้าที่ไปยื่นหนังสือให้บรรจุคำว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" แล้ว หม่นใจครับ! ความเป็นไปของบ้านเมือง ณ ยุคนี้ อย่าไปว่าแต่ระดับชาวบ้าน โดยเฉพาะหนุ่ม-สาวเลย ก็ขนาดระดับผู้บริหารราชการงานเมือง ทุกวันนี้ยังใช้ "ความเห็น ความรู้สึก-บนฐานโมหคติ" ตอบสนองคำว่า "พระพุทธศาสนา" แทน "ความรู้-ความเข้าใจ-บนฐานปัญญา" แล้วประเทศชาติจะรอดหรือ?
ผมบอกไปวันก่อนว่า ได้รับหนังสือเรื่อง "ความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ" และแผ่น MP 3 เรื่องเมื่อประชาธิปไตยที่ไม่ประสีประสา มาเจอปัญหาศาสนาประจำชาติ อันเป็นธรรมาธิบายของ พระเดชพระคุณเจ้า "พระพรหมคุณาภรณ์" หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนาม "ท่านเจ้าคุณประยุทธ์"อ่านแล้ว-ฟังแล้ว ต้องอุทานในอกว่า "เป็นบุญแผ่นดินไทยที่มีรัตนสงฆ์เช่นนี้อยู่" และผมอาจผิดมหันต์ถ้า "อ่าน-ฟัง" แล้วสรุปเอามาเขียนด้วยความรู้-ความเข้าใจตื้นๆ ของตัวเอง. จากนี้ ผมจะคัดลอก "เป็นตอน" ไปเลย ดังต่อไปนี้:-
ตามปกติคนทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันได้ดี มีความพร้อมเพรียง ต่อเมื่อมีหลักความเชื่อหรือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน เป็นเหมือนแกนหรือสายเชือกที่ร้อยประสานเข้ากันไว้ ในบรรดาหลักความเชื่อหรือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจทั้งหลายนั้น กล่าวได้ว่าศาสนาเป็นหลักความเชื่อที่มีกำลังมากที่สุด และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่เหนียวแน่นลึกซึ้งที่สุด ดังนั้น ในประเทศชาติใด ประชาชนทั้งหมดหรือคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาเดียวกัน ก็ต้องนับว่าประเทศชาตินั้นมีโชคดีอย่างยิ่ง ที่จะไม่ต้องประสบความยากลำบากในการที่จะทำให้ประชาชนมีจิตใจประสานรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมั่นใจได้ว่าจะสามารถสร้างเสริมความพร้อมเพรียงสามัคคีได้โดยง่าย
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาเดียวกัน แม้ว่าจะมีความสามัคคีในระหว่างชนส่วนใหญ่นั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าประชาชนทั้งชาติจะมีความสามัคคีกันด้วยดีอย่างแท้จริง เพราะถ้าความสามัคคีของชนส่วนใหญ่นั้นไม่เป็นไปโดยชอบ ก็จะเกิดปัญหาระหว่างประชากรส่วนใหญ่กับชนส่วนน้อยที่นับถือศาสนาต่างกัน และแทนที่จะเกิดความสามัคคีในชาติ ก็จะกลายเป็นการแตกแยกขัดแย้งเบียดเบียนกัน โดยที่ชนกลุ่มใหญ่จะบีบคั้นข่มเหงชนส่วนน้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องนับว่า ความมีโชคดีกลับกลายเป็นเคราะห์ร้าย เหมือนมีร่มอยู่ในมือ แทนที่จะใช้กางคุ้มฝนกันแดด กลับใช้อย่างเป็นท่อนเหล็กท่อนไม้สำหรับไล่ตีไล่แทงกัน แต่ถ้าเป็นความสามัคคีโดยชอบธรรม นอกจากทำให้รวมกำลังพร้อมเพรียงกันในหมู่ผู้ที่ถือศาสนาเดียวกันแล้ว ก็จะไม่เป็นเหตุแบ่งแยกถือพวกถือหมู่กีดกั้นคนพวกอื่นด้วย แต่ตรงข้ามจะแผ่ไมตรีจิตมิตรภาพแก่ศาสนิกพวกอื่นด้วย ในฐานะที่ว่าแม้จะนับถือศาสนาต่างกัน แต่ก็เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน จึงไม่ทำให้เสียสามัคคีในชาติ
ศาสนิกชนในบางลัทธิศาสนา ไม่เพียงแต่จะแบ่งแยกเบียดเบียน ยอมรับหรืออยู่ร่วมกันไม่ได้กับศาสนิกชนที่นับถือศาสนาเท่านั้น แม้แต่กับศาสนิกชนของศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายกับตน ก็ทนกันไม่ได้ ต้องยกเอาความถือต่างทางศาสนานั้นเป็นเหตุวิวาทขัดแย้ง หรือถึงกับพิฆาตเข่นฆ่ากัน ในกรณีเช่นนี้ การยกศาสนาใดศาสนาหนึ่งขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ ย่อมหมายถึงการยกนิกายใดนิกายหนึ่งขึ้นสู่ฐานะนั้น และการปฏิบัติเช่นนั้น ย่อมไม่มีทางทำให้เกิดสามัคคีที่แท้จริงของคนทั้งชาติ จะมีได้ก็แต่เพียงความสามัคคีของคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อจะปะทะกันกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสามัคคีในแบบเดียวกัน หรือความสามัคคีของคนกลุ่มใหญ่ ที่จะเข้าบีบคั้นครอบงำ หรือทำลายคนกลุ่มน้อย ตลอดจนความสามัคคีในแต่ละกลุ่มของคนมากมายหลายกลุ่ม ที่แก่งแย่งช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ลบหลู่ดูหมิ่นกัน หรือวิวาทขัดแย้งกันในเรื่องหลักความเชื่อ และข้อปฏิบัติทางศาสนาโดยใช้วิธีรุนแรง
ประโยชน์สำคัญอย่างหนึ่ง ที่รัฐทั้งหลายคาดหวังจากศาสนา ก็คือการทำให้เกิดความสามัคคีในชาติ และรัฐเหล่านั้นก็แสวงหาและใช้วิธีต่างๆ กันในที่จะให้สำเร็จผลตามความมุ่งหวังนี้ บางรัฐยกศาสนาหนึ่งขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว ก็สร้างความสามัคคีได้สำเร็จ บางรัฐทำเช่นนั้นแล้วก็ทำให้เกิดปัญหา คนส่วนใหญ่กับชนส่วนน้อยเบียดเบียนบีบคั้นข่มเหงกัน บางรัฐก็ยกศาสนาในรูปสถาบันที่เป็นรูปธรรมขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ บางรัฐก็ยกเอาศาสนาในด้านนามธรรมขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ
บางรัฐก็จำเป็นต้องรักษาสามัคคีด้วยการไม่ให้มีศาสนาประจำชาติ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาเดียวกัน แต่เมื่อประกาศอิสรภาพตั้งเป็นประเทศในปี พ.ศ.๒๓๑๙ (ค.ศ.๑๗๗๖) แล้วต่อมาก็ได้ตราบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า ไม่ให้ยก (สถาบัน) ศาสนาใด ขึ้นเป็นศาสนาที่รัฐบาลสถาปนา คือไม่มีสถาบันศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งตีความตามกันมาว่า ให้รัฐกับศาสนาแยกต่างหากจากกัน หรือรัฐกับสถาบันสงฆ์อยู่คนละส่วน (เรียกว่า separation of Church and State)
สาเหตุสำคัญที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ให้ยกศาสนาใดศาสนาหนึ่งขึ้นเป็นศาสนาประจำรัฐ ก็เพราะว่าคนอเมริกันได้ผ่านประสบการณ์อันขมขื่นทางศาสนามาจากทวีปยุโรป กล่าวคือชาวอเมริกันจำนวนมาก เป็นผู้ประสบภัยจากการกดขี่ข่มเหงระหว่างศาสนิกในศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายในทวีปยุโรป จึงอพยพหลบหนีเอาชีวิตรอดมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในทวีปอเมริกา แม้กระนั้น เมื่อตั้งประเทศใหม่ของตนขึ้นได้แล้ว ศาสนิกทั้งหลายในศาสนาเดียวกันนั้น ซึ่งมีหลายนิกาย ต่างก็หวาดกลัวกันว่า ถ้านิกายอื่นได้รับการสถาปนาจากรัฐ นิกายของตัวจะประสบฐานะต้อยต่ำ หรือต้องเผชิญชะตากรรมที่เดือดร้อนลำบาก ดังบทเรียนที่ได้ประสบมาแล้วในทวีปยุโรปก่อนอพยพ จึงต่างก็พยายามเกี่ยงแย่งไม่ยอมกัน
สาเหตุระหว่างศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายนี้มีถึง ๓ ข้อ และมีเหตุผลอื่นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นบทเรียนทางศาสนาจากยุโรปเช่นเดียวกัน คือ ความตื่นตัวทางปัญญาจากการที่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ได้บั่นทอนความเชื่อแบบบังคับศรัทธาที่ต้องยอมตามคำบงการจากสวรรค์ให้เสื่อมคลายลง ชนชาติใหม่ที่นิยมอิสระ เสรีภาพ จึงมองเห็นเหตุผลและโอกาสอันสมควร ที่จะปลดเปลื้องกิจการของรัฐจากอิทธิพลครอบงำของศาสนจักร
สรุปว่า ประเทศสหรัฐไม่มีศาสนาประจำชาติ เพราะไม่มีเอกภาพทางศาสนา ถ้าจะให้มีศาสนาประจำชาติ ก็ต้องยกนิกายใดนิกายหนึ่งขึ้นเป็นใหญ่ เมื่อยกนิกายหนึ่งขึ้นเป็นใหญ่ ก็จะเกิดแตกสามัคคีกันขึ้น การมีศาสนาประจำชาติก็จะกลายเป็นการทำให้เกิดความไม่สามัคคี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลี่ยง โดยรักษาความสามัคคีด้วยการไม่มีศาสนาประจำชาติ
อย่างไรก็ตาม ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังคงต้องการให้ศาสนาซึ่งเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ช่วยทำให้เกิดความสามัคคีอยู่นั่นเอง ในเมื่อศาสนิกชนแบ่งแยกเป็นหลายนิกายนัก จะอาศัยศาสนาที่เป็นสถาบันอย่างรูปธรรมช่วยสร้างความสามัคคีนั้นไม่ได้ จึงต้องหาวิธีอย่างอื่น ในที่สุดก็หาทางออกได้ โดยยกเอาตัวศาสนาที่เป็นนามธรรมขึ้นมาสถาปนาเป็นหลักของชาติ ทำนองยกเป็นศาสนาประจำชาติกลายๆ
กล่าวคือ ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ (ค.ศ.๑๙๕๔) รัฐสภาอเมริกันได้มีมติให้เพิ่มคำว่า under God เข้ามาต่อท้ายคำว่า on nation ในคำปฏิญาณธงของอเมริกาเป็น one nation under God (ประเทศอเมริกาเป็นประชาติอันหนึ่งอันเดียวภายใต้องค์พระผู้เป็นเจ้า) และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ (ค.ศ.๑๙๕๖) รัฐสภาอเมริกันก็ได้มีมติยกข้อความ In God we Trust (เรามอบชีวิตฝากจิตใจไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า) ขึ้นเป็นคำขวัญของชาติ (national motto)
ในประเทศไทยนี้ พระพุทธศาสนาได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานว่า พุทธศาสนิกชน นอกจากมีหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจเป็นอันเดียวกันในหมู่พวกตนแล้ว ก็ยังอยู่ร่วมกันด้วยดีกับศาสนิกชนในศาสนาอื่นๆ โดยมีไมตรีจิตมิตรภาพตามตามฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ไม่เคยมีการเบียดเบียนข่มเหงศาสนา หรือศาสนิกชนพวกอื่น ไม่ต้องพูดถึงศาสนิกชนต่างนิกายในพระพุทธศาสนาด้วยกัน ซึ่งมีแต่ไมตรีและความสัมพันธ์ในทางช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งใดๆ เลย นอกจากข้อเห็นแย้งทางปัญญา ซึ่งก็แก้ไขไปตามวิธีการแห่งปัญญาที่เป็นทางแห่งสันติโดยแท้
ด้วยเหตุนี้ การที่ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
จึงเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งหมด โดยก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในประดาคนส่วนใหญ่
พร้อมทั้งไม่เสียสามัคคีต่อคนกลุ่มน้อย มีแต่ไมตรีจิตมิตรภาพ และความมีน้ำใจที่แผ่ออกไปกว้างขวางทั่วแผ่นดิน
ครับ..จบตอนที่ ๓ จากหนังสือ "ความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ"
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๒ ของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ ตอน และตอนที่
๔ จะเป็นความรู้ที่ต้องร้อง อ้อ..เป็นเช่นนี้เอง กับความเหมาะสมที่มี "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"
เชิงอรรถที่ ๒
พุทธฯ:เสรีภาพในการนับถือศาสนา(๑)
เปลวสีเงิน(21 เมษายน 2550 กองบรรณาธิการ)
วันนี้จะนำบทที่ ๔ จากหนังสือ "ความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ"
ของท่านเจ้าคุณปยุต ปยุตโต มาให้ท่านได้อ่านกันต่อ เป็นการปูพื้นฐานความรู้เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง
ในความเป็นประเทศไทยกับพระพุทธศาสนา ส่วนจะร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างไร นั่นขึ้นอยู่กับ
"จิตสำนึก" ด้วยเข้าใจดีแล้ว
พระพุทธศาสนาเป็นหลักการที่ช่วยดำรงรักษาเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ในสังคมไทย ตลอดประวัติศาสตร์ของการนับถือพระพุทธศาสนา เสรีภาพทางศาสนาเป็นสิ่งที่มีมาเอง
เป็นไปเอง เป็นลักษณะของสังคมที่ถ่ายทอดกันมาโดยไม่ต้องรู้ตัว สืบเนื่องจากหลักการของพระพุทธศาสนา
ที่เชิดชูเสรีภาพในการใช้ปัญญา โดยไม่มีการบังคับศรัทธา เพราะฉะนั้น ในประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยจึงไม่ต้องมีการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการนับถือศาสนา
อย่างที่ได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องรุนแรงมากในหลายประเทศ
นอกจากชาวพุทธจะร่วมด้วยดีกับศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว แม้เมื่อมีลัทธิศาสนาใหม่ๆ เข้ามาจากภายนอกก็ได้พบการต้อนรับอย่างดี และเปิดโอกาสหรือถึงกับช่วยเอื้อเฟื้อให้มีการเผยแพร่โดยสะดวกด้วยซ้ำ. ในหลายสังคม แม้เพียงขันติธรรม (toterance) ต่อกันระหว่างศาสนาก็เป็นสิ่งที่ได้มาแสนยาก แต่สำหรับสังคมไทย ชาวพุทธมิใช่มีเพียงขันติธรรมเป็นปกติธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์เชิงบวก คือถึงกับช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือประสานร่วมมือด้วยเมตตากรุณาเลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายอยู่เป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นปัจจัยและเป็นสื่อที่ช่วยให้ศาสนาต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันด้วยดี
มองในแง่นี้ ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนาคอยเอื้ออยู่ หรือไม่มีพระพุทธศาสนาเป็นบรรยากาศทั่วไปของสังคมที่คอยช่วยประสานไว้ ความขัดแย้งระหว่างศาสนาต่างๆ จะมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นๆ เพราะฉะนั้น การที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นเครื่องช่วยรักษาเสรีภาพทางศาสนา และช่วยส่งเสริมให้ศาสนาต่างๆ อยู่ร่วมกันด้วยดี
เรื่องที่สังคมไทยชาวพุทธไทยมีใจกว้าง เอื้อโอกาสแก่ลัทธิศาสนาทั้งหลาย ทั้งที่มีอยู่แล้วภายใน และที่เข้ามาใหม่จากภายนอกนี้ เป็นที่ทราบชัดกันเป็นอย่างดีแก่คนต่างชาติ โดยเฉพาะนักเผยแพร่ศาสนาจากตะวันตก ตั้งแต่ก่อนที่ประเทศเหล่านั้นจะได้รู้จักเสรีภาพทางศาสนา ดังจะเห็นว่า ฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทย จะเป็นราชทูต บาทหลวง พ่อค้า หรือทหารก็ตาม ไม่ว่าในสมัยอยุธยาก็ตาม ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ตาม ต่างออกปากแสดงความชื่นชมหรือประทับใจในเรื่องนี้ไว้
ในที่นี้จะไม่ยกคำพูดของคนไทยที่กล่าวถึงตนเองมาอ้างเลย แต่จะนำเอาคำพูดหรือบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่บาทหลวง มิชชันนารี และคนชาติตะวันตกอื่นๆ ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มาแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง. ในจดหมายเหตุการเดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริธ ประมุขมิสซัง สู่อาณาจักรโคจินจีน (กรมศิลปากร, ๒๕๓๐) ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งสมัยอยุธยา บาทหลวง ฌอง เดอ บูรซ์ ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่ง (หน้า ๒๕) ว่า "ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีคนประเทศใดในโลก ที่มีศาสนาอยู่มากมาย และแต่ละศาสนาสามารถปฏิบัติพิธีการของตนได้อย่างเสรีเท่ากับประเทศสยาม"
และอีกตอนหนึ่งว่า (หน้า ๒๕) "ความคิดของชาวสยามที่ว่าทุกศาสนาดี ดังนั้นพวกเขาจึงไม่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอื่นใด หากศาสนานั้นๆ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ภายในกฎหมายของรัฐ"
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็เช่นเดียวกัน ในหนังสือ บันทึกเรื่องมิสซังแห่งกรุงสยาม (กรมศิลปากร, ๒๕๒๕) โดย มุขนายก ฌอง แบปติสต์ ปาลเลอกัวซ์ ก็ได้เขียนไว้ว่า "นับแต่โบราณกาล ผู้ปกครองของไทยมีเจตนารมณ์อันดีงามที่จะปล่อยให้แต่ละชาติปฏิบัติพิธีการทางศาสนาของตนได้อย่างเสรี" และ ท่านยังได้เล่าตัวอย่างเหตุการณ์ประกอบไว้ด้วย อันแสดงว่า "...นี่เองคือเสรีภาพในส่วนที่เกี่ยวกับการนับถือศาสนา อันเป็นสิ่งที่คนทั้งหลายได้ชื่นชมกันอยู่ในราชอาณาจักรแห่งนี้"
น่าสังเกตว่า เมื่อมองกลับเข้าไปที่จิตใจของบาทหลวง หรือนักเผยแพร่ศาสนาจากตะวันตกเหล่านี้ เขากลับมีความรู้สึกที่ตรงข้ามกับคนไทย คือเขาเดินทางเข้ามาพร้อมด้วยความรู้สึกไม่ดีไม่งามที่ตั้งไว้ก่อนแล้วต่อพระพุทธศาสนา โดยจะพูดถึงด้วยถ้อยคำเรียกหรือเอ่ยอ้างอย่างดูถูกดูหมิ่น เช่นในหนังสือ รวมเรื่องแปลและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๒ (กรมศิลปากร, ๒๕๓๕) หน้า ๓๑ คณะบาทหลวงเยซูอิต ซึ่งเดินทางมาโดยพระราชโองการของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ใน พ.ศ.๒๒๒๙ กล่าวถึงพระพุทธศาสนาโดยใช้คำเรียกว่า "ศาสนาป่าเถื่อน" (กรมศิลปากร, ๒๕๓๕) หรืออย่างในหนังสือชุดเดียวกันนั้น ชุดที่ ๑ หน้า ๖๖ ศาสนาจารย์ คาร์ล ออกัสตัส ฟรีดริค กุตสลาฟฟ์ ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในราว พ.ศ.๒๓๗๑ ก็จัดพระพุทธศาสนาเข้าในคำเรียกว่า "ศาสนาจอมปลอม"
เรื่องความรู้สึกที่ดีของคนไทยต่อศาสนาอื่นนั้น เป็นเรื่องที่ฝรั่งนักเผยแพร่ศาสนาทราบกันดี และพูดถึงบ่อยมาก ขอยกตัวอย่างมาอีก เช่น ในประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๙ ภาคที่ ๓๒ (คุรุสภา, ๒๕๐๘) มีบันทึกของบาทหลวงเดอชัวซี ตอนหนึ่ง (หน้า ๒๔๙) ว่า "จริงอยู่ จนถึงเวลาปัจจุบันนี้ พวกมิชชันนารียังไม่ได้ทำการใหญ่โตในเมืองไทยอย่างใด พวกไทยมีนิสัยอ่อนน้อม ไม่ชอบการโต้เถียง และโดยมากเชื่อเสียว่า ศาสนาทุกศาสนาเป็นคำสั่งสอนที่ดีทั้งนั้น"
ทั้งที่มองเห็นความรู้สึกที่ดีของคนไทย แต่นักเผยแพร่ศาสนาเหล่านั้น ก็หาได้มองดีตอบต่อพุทธศาสนาไม่ และมักพูดแสดงความรู้สึกที่ไม่ดี อย่างที่หนังสือ รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๑ (กรมศิลปากร, ๒๕๓๒) หน้า ๖๗ ศาสนาจารย์ กุตสลาฟฟ์ (สมัย ร.๓) เขียนไว้อีกว่า "ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้ว ประเทศสยามเปิดโอกาสให้กับทุกๆ ศาสนา แต่ศาสนาพุทธก็ยังคงเป็นศาสนาประจำชาติ และสถาบันของรัฐทั้งหมดได้ให้การสนับสนุนความเชื่อที่ผิดๆ นี้...พวกเราได้รับอนุญาตให้ไปแสดงธรรมที่วัดในพุทธศาสนา..."
นอกจากตั้งความรู้สึกไม่ดีมาแล้ว ฝรั่งเหล่านี้ก็ยังตั้งเจตนาไม่ดีในการที่จะปฏิบัติต่อไปด้วย คือคิดหาทางทำลายพระพุทธศาสนาเสียเลย ดังในประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒๓ ภาคที่ ๔๐ (คุรุสภา, ๒๕๑๑) หน้า ๒๒๗ พิมพ์บันทึกจดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศสไว้ว่า "พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้ทรงชักชวนแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ก็คงจะหันเข้าหาศาสนาโรมันคาทอลิก เป็นแน่ ถ้าการเป็นได้เช่นนี้จริงแล้ว จะเป็นพระเกียรติยศแก่พระเจ้าหลุยส์สักเพียงไร เพราะในเวลาพระองค์ได้ทรงจัดการศาสนาในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ยังได้ทรงจัดการทำลายศาสนาอันไม่ดีในแผ่นดินฝ่ายตะวันออก ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่เจริญที่สุดอยู่แล้ว"
แม้ว่าทางฝ่ายศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่นี้จะตั้งความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ และมีเจตนาร้ายต่อพระพุทธศาสนาอย่างนี้ ถ้าไม่ถึงกับแสดงออกเป็นเหตุการณ์ร้าย คนไทยก็ไม่ตั้งจิตคิดร้ายตอบ และคงเอื้อเฟื้อต่อไปตามปกติ
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บาทหลวงได้รับการอุปถัมภ์ในการเผยแพร่ศาสนาอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นตัวอย่างเช่นที่บันทึกไว้ใน ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๑๖ ภาคที่ ๒๗ (คุรุสภา, ๒๕๐๗) หน้า ๒๖-๒๗ ว่า "...อนุญาตให้บาทหลวง มิชชันนารี เทศน์สั่งสอนศาสนาได้โดยไม่ต้องมีใครห้ามปรามขัดขวางอย่างใด และอนุญาตให้พวกมิชชันนารีได้สอนหนังสือ รักษาพยาบาลโรคต่างๆ และรับคนเข้ารีตได้ทั่วพระราชอาณาจักร โดยอยู่ในความปกครองและอุดหนุนของพระเจ้าแผ่นดิน การที่ได้อนุญาตเช่นนี้ มีแต่ข้อห้ามอย่างเดียวเท่านั้น คือห้ามมิให้บาทหลวง มิชชันนารี สอนการอย่างใดอันจะทำให้ราษฎรพลเมืองกลับใจทรยศ หรือคิดร้ายต่อรัฐบาล และกฎหมายของบ้านเมือง..."
ความที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงใกล้ชิดและเอื้อเฟื้อต่อคณะบาทหลวงนั้น เป็นเหมือนที่บาทหลวงเดอชัวซีบันทึกไว้ ปรากฏใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๙ ภาคที่ ๓๒ (คุรุสภา, ๒๕๐๘) หน้า ๒๕๑ ว่า "พระเจ้ากรุงสยามโปรดให้สร้างโบสถ์ และจะโปรดพระราชทานสิทธิพิเศษให้แก่ศาสนา ในพระที่นั่งที่ประทับมีไม้กางเขนอันหนึ่ง และทรงอ่านคัมภีร์ของศาสนาที่ มองซิเออร์ เดอเมเตโลโปลิส ได้แปลความเป็นภาษาไทย"
ความมีเมตตาการุณย์เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงกิจการของคณะผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ และสนพระทัยศึกษาหลักศาสนาของพระมหากษัตริย์ไทยอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับพระพุทธศาสนา และไม่มีหลักการทางพระพุทธศาสนาห้ามปรามขัดขวาง กลายเป็นเรื่องแปลกสำหรับบาทหลวงทั้งหลาย ซึ่งทำให้ท่านเหล่านั้นเข้าใจเอาว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีพระทัยเอนเอียงไปในทางที่จะนับถือคริสต์ศาสนา
เชิงอรรถที่ ๓
พุทธฯ:เสรีภาพในการนับถือศาสนา (๒)
เปลวสีเงิน (23 เมษายน 2550 กองบรรณาธิการ)
ก็เป็นธรรมาธิบายของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตโต ในเรื่อง "ความสำคัญของพระพุทธศาสนา
ในฐานะศาสนาประจำชาติ" ต่อจากวันเสาร์ เป็นการปูพื้นฐานความรู้ไปสู่ความเข้าใจ
ก่อนที่จะด่วนสรุปแค่ความเห็นว่า "ควร-ไม่ควร" บรรจุคำว่า "ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ"
ไว้ในรัฐธรรมนูญ? ในความเห็นผม สังคมไทยกำลังอยู่ในยุค "แอบจิต-คิดกลัว"
แล้วก็ไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ อย่างที่ใจคิดอยู่ โดยเฉพาะปัญญาชน-นักวิชาการผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญทั้งหลาย
เดาใจว่า ที่ใช้ปัญญาคิดเค้นเป็น "ข้ออ้าง" เรื่องความแตกแยกนั้น ร้อยละ ๙๙ ผมเชื่อว่าใช้พี่น้อง "ไทยมุสลิม" เป็นโจทย์มัดใจตัวเอง แล้วไม่กล้าพูดตรงๆ ได้แต่ใช้ความเป็นไทยรากลอย เฉไฉไปด้วยสำนวนโวหารประจบ-พินอบ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในประเทศไทย ไม่ได้มีแค่ผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลามเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยผู้นับถือลัทธิ ศาสนา นิกาย แตกต่างกันไปอีกมากมาย ทั้งคริสต์ ทั้งซิกข์ ทั้งฮินดู และอื่นๆ
ฉะนั้น การแอบจิต "เจาะจง" แต่เรื่องเฉพาะหน้าตั้งเป็นโจทย์ แล้วเขียนรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นตอบโจทย์จากความกลัว+เบาปัญญานั้น..น่าสมเพชนัก! เพราะในข้อเท็จจริงนั้น พี่น้องไทยมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้สร้างปัญหาเลย และไม่ใช่ผู้สร้างปัญหาดังที่เป็นอยู่ขณะนี้ หากแต่มีคณะบุคคลนอกคำสอนศาสนากลุ่มหนึ่ง "สอดแทรก-แอบอ้าง" ใช้ภาพบนความเป็น "ประชาชน" ของพี่น้องไทยมุสลิมบังหน้า! แล้วปฏิบัติการกวนบ้าน-ป่วนเมือง หลอกล่อให้ "ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม" บาดหมางด้วยแง่มุมทางศาสนา เพราะทราบกันดีอยู่ว่า จุดแข็งของทุกสังคมอยู่ที่ศาสนา และจุดเปราะบางที่สุดก็อยู่ที่ศาสนา!!
ฉะนั้น ผมจึงอยากให้ท่านได้อ่านธรรมาธิบายของ "พระพรหมคุณาภรณ์" หรือท่านเจ้าคุณประยุทธ์นี้ เพื่อเป็นการถอด "กระบังตา" เพื่อได้มองเห็นรอบด้าน เพื่อได้รู้ว่า ไทยในเนื้อพุทธะ นั้น แท้จริงแล้ว เป็นเนื้อนาบุญเพื่อความงอกงามของ "ทุกลัทธิ-ศาสนา" ในประเทศไทย อันมีหลักฐานเป็นประวัติศาสตร์พิสูจน์ให้ประจักษ์มาแล้ว และมิใช่แค่ ๔๐๐-๕๐๐ ปี หากแต่มีมาแล้วกว่า "พันปี" ด้วยซ้ำ ดังที่ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ให้ความรู้-ความกระจ่าง "เพื่อการตัดสินใจ" ดังบางบทที่ผมคัดลอกมาให้อ่านในวันนี้ และวันต่อๆ ไปอีกหลายวัน ความต่อไปนี้ ต่อจากฉบับวันเสาร์ที่ ๒๑ เม.ย.
ในวงการบาทหลวงและข้าราชการฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยสมัยนั้น ย่อมทราบกันดีว่า การที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เจริญพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยานั้น ทรงมีวัตถุประสงค์ยิ่งใหญ่อยู่ที่การเผยแพร่คริสต์ศาสนา ดังใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๖ ภาคที่ ๒๗ (คุรุสภา, ๒๕๐๗) หน้า ๗๔-๗๙ กล่าวถึงคำสั่งที่เสนาบดีฝรั่งเศสมอบไว้แก่มองซิเออร์ เดฟาซ์ ผู้ได้รับหน้าที่เป็นจอมพลผู้บังคับการค่าย และกองทัพบก ซึ่งบอกชัดเจนในความประสงค์ ๒ ข้อ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ว่า
"..และการทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นการสำเร็จตามพระราชดำริของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ก็ด้วยผลการค้าขายได้ตั้งเป็นหลักเป็นฐานแล้วก็จริงอยู่ แต่มองซิเออร์ เดฟาซ์ ก็ควรจะทราบไว้ว่า ข้อสำคัญที่ทำให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงพระราชดำริจะให้ชาวฝรั่งเศสไปอยู่โดยมั่นคงถาวรในเมืองไทยนั้น ก็เพราะมีพระราชประสงค์จะให้การศาสนาได้แพร่หลายเจริญยิ่งขึ้นไปด้วย"
เสนาบดีฝรั่งเศสได้มีคำสั่งเนื้อความคล้ายกันนี้แก่มองซิเออร์ ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นอัครราชทูตมีหน้าที่ไปพูดทางโปลิติก และไปจัดการทางศาสนา และแก่มองซิเออร์ เซเบเรต์ หัวหน้าราชทูตอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะไปจัดในเรื่องค้าขาย โดยให้ทั้งสองท่าน "เป็นธุระตรวจตราดำริว่า จะจัดการอย่างใดจึงจะเหมาะเพื่อให้ได้สมพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสที่ทรงดำริไว้ในข้อสำคัญ ๒ ข้อ กล่าวคือให้ศาสนาคริสเตียนได้แพร่หลายไปทั่วทิศฝ่ายตะวันออก และให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ได้ทำการค้าขายในฝ่ายทิศตะวันออกทั่วไปด้วย"
การที่บรรดาบาทหลวงฝรั่งเศสมั่นใจว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระทัยพร้อมที่จะรับนับถือคริสต์ศาสนานี้ ก็ได้เป็นเหตุให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ส่งราชทูต เดอ โซมอง นำพระราชสาส์นมากราบทูลอัญเชิญให้ทรงเข้ารีต ดังที่ ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๙ ภาคที่ ๓๒ (คุรุสภา, ๒๕๐๘) หน้า ๒๐๒ แสดงจดหมายเหตุเขียนโดยบาทหลวงเดอชัวซีว่า "ต่อได้อ่านพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแล้ว พระเจ้ากรุงสยามจึงได้ทรงทราบว่าที่ได้แต่งราชทูตมาใหญ่โตในครั้งนี้ไม่มีความประสงค์อย่างใด นอกจากจะต้องการให้พระเจ้ากรุงสยามได้กลับนับถือศาสนาคริสเตียนเท่านั้น"
แม้จะไม่ได้มีพระราชประสงค์อย่างที่ฝ่ายฝรั่งเศสเข้าใจ แต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ไม่ได้ทรงตอบปฏิเสธโดยตรง แต่ทรงตอบด้วยพระปรีชาญาณ โดยอ้างหลักการของคริสต์ศาสนานั้นเองว่า พระเป็นเจ้าทรงสร้างสวรรค์บันดาลสิ่งทั้งหลายและการทั้งปวง การที่มีความนับถือศาสนาต่างกันอยู่ คงจะเป็นพระประสงค์ขององค์พระเป็นเจ้า ฉะนั้น การที่พระองค์จะเข้ารีตนั้น ก็มอบถวายสุดแต่องค์พระเป็นเจ้าจะตัดสินจัดสรรให้เป็นไป และมิได้ขัดเคืองพระราชหฤทัยในเรื่องนี้ และได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงคณะนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์มากขึ้นต่อไป
ในประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๙ ภาค ๓๒ นั้นเอง หน้า ๑๔๙ ได้กล่าวถึงข้อเขียนที่มองซิเออร์ วาเซ รวบรวมไว้ ตอนหนึ่งว่า "พระสังฆราชฝรั่งเศส ซึ่งได้ประสาทพรพระเป็นเจ้า ก็ได้เอาเมืองไทยเป็นท่ามกลางสำหรับคณะบาทหลวงทั่วไป และได้พยายามแผ่พระธรรมของพระเยซูเจ้าได้แพร่หลายทั่วไป"
มองซิเออร์ ลาลูแบร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือของตน ซึ่งประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๖ ภาคที่ ๒๗ หน้า ๖๒ ได้นำมาพิมพ์เป็นเชิงอรรถไว้ว่า "...เหตุใดเราจึงอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลตั้ง ๖,๐๐๐ ไมล์ สำหรับจะไปชักชวนประเทศอินเดีย ประเทศสยาม ประเทศจีน และญี่ปุ่น ให้ถือศาสนาคริสเตียนเล่า..บางทีพวกไทยก็ฟังคำสั่งสอนพวกบาทหลวงก็มีเป็นบางครั้งบางคราว และอนุญาตให้พวกบาทหลวงสร้างวัดและสอนศาสนาตามหน้าที่ของเขาได้ ความจริงจะว่าใครใจดี เขาหรือเรา"
ในเรื่องนี้ นายพลฟอร์บัง ได้เขียนบันทึกความจำไว้ปรากฏในประชุมพงศาวดาร เล่ม ๕๐ ภาคที่ ๘๐ (คุรุสภา, ๒๕๒๗) หน้า ๙๔ ว่า "ความจริงพระนารายณ์มหาราช ไม่เคยมีพระราชดำริเช่นนั้นเลย พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงเชื่อว่า พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงเข้ารีตจริง จึงทรงแต่งตั้งเชวาลิเอร์ เดอะ โซมองต์ เป็นราชทูตมาเชื่อมทางพระราชไมตรีกับพระนารายณ์มหาราช"
เชิงอรรถที่ ๔
พุทธฯ: เสรีภาพในการนับถือศาสนา (๓)
เปลวสีเงิน (24 เมษายน 2550 กองบรรณาธิการ)
ต่อจากนี้ เป็นตอนจบธรรมาธิบายของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ในเรื่อง "ความสำคัญของพระพุทธศาสนา
ในฐานะศาสนาประจำชาติ" ดังนี้
เซวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นี้ เป็นนายทหารฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในคณะของราชทูต เดอ โซมอง และได้อยู่รับราชการในเมืองไทย ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลเรือ และผู้บัญชาการทหารบก มีบรรดาศักดิ์เป็น "ออกพระศักดิสงคราม" และได้ไปเป็นผู้บัญชาการทหารที่ป้อมเมืองบางกอก ต่อมาได้เดินทางกลับไปรับราชการอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
เซวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ได้เขียนบันทึกความจำไว้ เป็นจดหมายเหตุฟอร์บัง อยู่ในประชุมพงศาวดาร เล่ม ๕๐ ภาคที่ ๘๐ (คุรุสภา, ๒๕๒๗) เมื่อกลับไปฝรั่งเศสแล้ว ครั้งหนึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เล่าเรื่องศาสนาของประเทศไทย และได้รับสั่งถามว่าคณะผู้สอนศาสนาทำการได้ผลมากเพียงไร และชักชวนคนไทยเข้ารีตได้มากเท่าไร (หน้า ๑๙๓) ซึ่งฟอร์บังได้กราบทูลว่า "ผู้สั่งสอนศาสนาชักชวนคนไทยเข้ารีตไม่ได้เลยสักคนเดียว"
ต่อมาฟอร์บัง ได้ไปสนทนากับ แปร์ เดอะ ลาเชส (เป็นบาทหลวงใหญ่ผู้ทำหน้าที่รับสารภาพบาปประจำพระองค์ของพระเจ้าเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔) ซึ่งก็ได้ถามว่า ผู้สั่งสอนศาสนาได้ทำกิจการสำเร็จผลเพียงไร ฟอร์บัง ได้เล่าความตามที่ได้กราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และเติมความว่า (หน้า ๑๙๗-๒๐๐) "ที่ทำให้คริสต์ศาสนาแผ่ไพศาลไปไม่ได้เร็วนั้น ต้องโทษจรรยาวัตรของพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีความอดทนและเคร่งครัดมาก พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ไม่เสพสุราเมรัย ฉันแต่ของที่คนใจบุญถวายเป็นวันๆ ไปเท่านั้น ของที่ได้มากเกินความจำเป็นก็บริจาคแก่คนจน ไม่เก็บไว้สำหรับวันรุ่งขึ้นเลย..."
"...ตามปกติใจความของพระธรรมเทศนานั้นแนะนำให้คนทำบุญ จึงทั่วพระราชอาณาจักรนั้นมีคนใจบุญมากมาย เพราะฉะนั้น เราจะไม่แลเห็นคนที่จนถึงต้องขออาหารมารับประทาน"
"...ธรรมจรรยาของเขาเลิศกว่าของเรามาก เขาหานับถือผู้สั่งสอนของเราไม่ เพราะว่าผู้สั่งสอนศาสนาไม่เคร่งครัดเท่าพระภิกษุสงฆ์"
"เมี่อผู้สั่งสอนศาสนาของเราแสดงคริสต์ธรรม คนไทยซึ่งเป็นคนว่านอนสอนง่าย นั่งฟังธรรมปริยายนั้นเหมือนฟังคนเล่านิทานให้เด็กฟัง ความพอใจของเขานั้น ไม่ว่าจะสอนศาสนาใดก็ชอบฟังทั้งนั้น.."
"พระภิกษุไม่เถียงเรื่องศาสนากับผู้หนึ่งผู้ใดเลย เมื่อมีคนยกคริสต์ศาสนาหรือศาสนาใดๆ มาพูดกับท่าน ท่านก็เห็นว่าดีทั้งนั้น ถ้ามีคนมาปรักปรำพระพุทธศาสนา ท่านก็ตอบอย่างใจเย็นว่า เมื่ออาตมาเห็นว่าศาสนาของท่านเป็นศาสนาที่ดี เหตุไรท่านจึงไม่เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีเหมือนกันเล่า.."
ในประเทศไทยนี้ แม้จะเคยมีผู้พยายามยกตัวอย่างกรณีที่ดูเหมือนว่าเป็นการบีบคั้นข่มขี่ศาสนิกชนในศาสนาอื่นขึ้นมาเอ่ยอ้าง แต่เมื่อพิจารณาโดยใกล้ชิดก็จะเห็นชัดว่า เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาการเมืองการปกครอง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นการละเมิดข้ออนุญาตอย่างที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกำหนดไว้ ดังที่อ้างแล้วข้างต้น หรือเป็นการฝ่าฝืนละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ (ขอให้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเพทราชา, ท้ายแผ่นดินพระเจ้าตากสิน, และปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ)
โดยที่ในบางครั้งก็มีกรณีที่นักเผยแพร่ศาสนาได้ติเตียนกล่าวร้ายต่อพระพุทธศาสนาไว้ก่อน มาเป็นข้อผสม ซึ่งคงต้องยกให้เป็นเรื่องวิสัยของจิตใจปุถุชน ที่มีความยึดมั่นรักใคร่หวงแหนในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของตน ซึ่งแสดงออกมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว
อย่างไรก็ดี ข้อที่สำคัญก็คือ ไม่มีหลักคำสอนใดๆ ในพระพุทธศาสนาที่จะยกขึ้นอ้างอิงเป็นหลักฐานสนับสนุนให้เกิดการเบียดเบียนขึ้นได้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกรณีร้ายแรงซึ่งเกิดขึ้นในที่มากมายหลายแห่งในประเทศชาติศาสนาอื่นๆ ที่ศาสนิกชนอ้างหลักศาสนาขึ้นมารบราฆ่าฟันทำร้ายกันอย่างรุนแรง เป็นสงครามใหญ่ก็มีหลายครั้ง ไม่ว่าระหว่างศาสนิกต่างศาสนา หรือศาสนิกในศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายก็ตาม ก็จะเห็นได้ว่า กรณีขัดแย้งบีบคั้นที่มีเพียงประปรายในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างไม่อาจยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับเขาได้เลย
ปัจจุบัน ทั่วโลกติดต่อถึงกันง่ายดายเหมือนเป็นชุมชนอันเดียว ในสภาพเช่นนี้ ถ้าศาสนาต่างๆ ยังมีท่าทีความรู้สึกและพฤติการณ์ดูหมิ่นดูแคลนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน และมีหลักการแห่งการบังคับศรัทธาเป็นพื้นฐาน ก็ย่อมจะมีการกีดกั้นเบียดเบียนบีบคั้น ตลอดจนกำจัดกันระหว่างศาสนาอยู่ต่อไป และในสภาพเช่นนั้น พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ไม่มีความรุนแรง ก็ยากที่จะดำรงรอดอยู่ได้ โลกจึงต้องการศาสนาที่มีลักษณะเชื่อมประสาน และมีหลักการที่เอื้อเฟื้อต่อเสรีภาพ
ปรากฏว่า โลกทุกวันนี้ยังเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งรบราฆ่าฟันกันระหว่างหมู่ชนที่นับถือศาสนาต่างกัน
โลกจึงนับวันจะต้องการศาสนาที่มีลักษณะเชื่อมประสานอย่างนั้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สันติสุขของโลกดำรงอยู่ได้.
พระพุทธศาสนามีท่าทีความรู้สึกที่ดีและได้แสดงความเอื้อเฟื้อต่อศาสนาอื่นทุกศาสนาตลอดมา
จนกระทั่งแม้แต่นักเผยแพร่ศาสนาอื่นที่มีท่าทีไม่เป็นมิตรก็ยังยอมรับ ทั้งเป็นศาสนาที่ยึดถือหลักการแห่งเสรีภาพในการใช้ปัญญาอีกด้วย
ดังนั้น การที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงทำให้มั่นใจได้ว่า นอกจากพระพุทธศาสนาเองจะดำรงอยู่ได้แล้ว ก็จะช่วยให้ศาสนาอื่นๆ ทั้งหลายอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ในบรรยากาศแห่งความมีเสรีภาพทางศาสนาด้วย
โดยนัยดังกล่าวมา การที่ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงเท่ากับเป็นการยกหลักการแห่งเสรีภาพในการนับถือศาสนาขึ้นมาสถาปนาไว้ ซึ่งเป็นฐานที่ค้ำจุน ช่วยให้ไม่มีการเบียดเบียนกันทางศาสนา และเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้ศาสนาต่างๆ ทั้งหลายดำรงอยู่ และดำเนินกิจการกันไปได้ด้วยดีโดยสงบสุข.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เนื้อความที่ ๑
"ข้อคิดเห็นบางประการในการบรรจุพุทธศาสนาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
ฉบับ พ.ศ. 2550"
ภาสพงษ์ เรณุมาศ : เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 5 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
(1)
1. บทนำ
ตามที่มีกระแสเรียกร้องจากเหล่าพุทธศาสนิกชน และคณะสงฆ์ โดยการนำของพระเทพวิสุทธิกวี
เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา ฯ นำทีมคณะสงฆ์ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ สภาร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 (2) เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมข้อความลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ
พ.ศ. 2550 ว่า "ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ
และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก" ลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ โดยให้เหตุผลว่า
จะก่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการ ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เป็นการส่งเสริมอารยธรรมที่สูงส่งในพระพุทธศาสนา
โดยที่ศาสนาอื่นก็ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชาติบ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกๆ
ด้าน
ซึ่งจากเหตุผลที่ฝ่ายสนับสนุนได้กล่าวไว้ จึงเกิดประเด็นคำถามขึ้นว่า ผลดี(Positive) และผลเสีย (Negative) ที่อาจเกิดขึ้นจากการบรรจุถ้อยคำดังกล่าว จะเกิดผลกระทบอย่างไรเกิดขึ้นบ้างในสังคมไทย โดยผู้เขียนจะพิจารณาในแง่มุมดังต่อไปนี้ เพื่อนำไปสู่บทวิเคราะห์เปรียบเทียบ ต่อไป
1.1 พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของไทย
1.2 พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ
1.3 พิจารณาในแง่มุมสิทธิมนุษยชน (Human Rights)1.1 พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของไทย
จากการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีต พ.ศ. 2475 จนถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 มิได้มีการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากโดยพื้นฐานในเรื่องประเพณี (Custom) การปกครองของคนไทย ซึ่งถูกสืบเชื้อสายถ่ายทอดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย โดยจุดรุ่งเรืองสุดก็คือในรัชสมัยของพระเจ้าลิไท (ซึ่งทรงเป็น พระราชนัดดาของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) (3) ดังนั้น ด้วยความผูกพันดังกล่าว ประชาชนส่วนหนึ่ง จึงมิได้เห็นว่าการบรรจุพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญจะเกิดผลดี หรือหากไม่บรรจุจะเกิดผลลบต่อวิถีชีวิตในการดำรงชีวิตของตนเองแต่อย่างใด เพราะการนับถือศาสนาพุทธของประชาชนเป็นไปด้วยความศรัทธา มากกว่าการที่จะต้องถูกบังคับไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในฉบับก่อน ๆ จึงไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติให้ พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย (ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 95 นิกายเถรวาท, ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 1, ศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น อีกร้อยละ 1)
1.2 พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ
1.2.1 ประเทศฝรั่งเศส
ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 มาตรา 1 (4) บัญญัติว่า "ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่มิอาจแบ่งแยกได้ เป็นกลางทางศาสนา เป็นประชาธิปไตย และเป็นของสังคม สาธารณรัฐรับรองความเสมอภาคตามกฎหมายของพลเมืองโดยไม่แบ่งแยกแหล่งกำเนิด เชื้อชาติ หรือศาสนา สาธารณรัฐ เคารพต่อความเชื่อของทุกนิกาย โครงสร้างของสาธารณรัฐเป็นการกระจายอำนาจการปกครอง"1.2.2 ประเทศจีน
ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ.1982 มาตรา 36 (5) บัญญัติว่า "พลเมืองของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเสรีภาพในการเลื่อมใสศรัทธาศาสนา ไม่ว่าองค์กรของรัฐ องค์กรสังคมและบุคคลใดๆ ใช้กำลังบีบบังคับให้พลเมืองเลื่อมใสศรัทธาศาสนาหรือไม่เลื่อมใสศรัทธาศาสนาไม่ได้ ดูถูกเหยียดหยามพลเมืองที่เลื่อมใสศรัทธาศาสนาและไม่เลื่อมใสศรัทธาศาสนาไม่ได้ .."1.2.3 ประเทศญี่ปุ่น
ตามรัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1946 มาตรา 20 (6) บัญญัติว่า " เสรีภาพในการถือศาสนา เป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองสำหรับบุคคลทุกคน องค์กรทางศาสนาใดๆ จะขอรับสิทธิ์จากรัฐ หรือใช้อำนาจทางการเมืองมิได้ "ซึ่งเมื่อพิจารณา จากบทบัญญัติของประเทศต่าง ๆ และตามรัฐธรรมนูญในอีกบางประเทศ เช่น ประเทศ Albania (7) ประเทศ Bulgaria (8) จะเห็นได้ว่ารัฐมุ่งให้ความเป็นอิสระและเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา โดยรัฐมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือจำกัดสิทธิแต่อย่างใด การกำหนดให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น
แต่ ณ ปัจจุบันหากจะมีประเทศที่มีการบัญญัติในเรื่องศาสนาประจำชาติ ก็สามารถพบได้ในประเทศศรีลังกา, ประเทศกัมพูชา, และกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ประเทศอิรัก (9) ประเทศคูเวต (10) ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนให้ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาประจำชาติ1.3 พิจารณาในแง่มุมสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
1.3.1 ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966
ข้อบทที่ 18 บัญญัติว่า (11) 3333333333
1. บุคคลย่อมมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธินี้ย่อมรวมถึงเสรีภาพในการมีหรือนับถือศาสนา หรือมีความเชื่อตามคตินิยมของตน และเสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของตนโดยการสักการบูชา การปฏิบัติการประกอบพิธีกรรม และการสอนไม่ว่าจะทำโดยลำพังตนเอง หรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และไม่ว่าต่อสาธารณชนหรือเป็นการส่วนตัว
2. บุคคลจะถูกบีบบังคับให้เสื่อมเสียเสรีภาพในการมีหรือนับถือศาสนาหรือความเชื่อตามคตินิยมของตนมิได้
3. เสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของบุคคลอาจอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเฉพาะที่บัญญัติโดยกฎหมาย และตามความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย สุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น
4. รัฐภาคี แห่งกติกานี้รับที่จะเคารพเสรีภาพของบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมาย ในการให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมแก่เด็ก ตามความเชื่อของตน
จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นแนวทางให้รัฐภาคีดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ให้สอดคล้องและต้องกันกับกติกา ฯ ดังกล่าว ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 (12) ประเทศไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 38 โดยได้บัญญัติว่า " บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน....."
2. บทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ
ตามที่ได้ศึกษาถึงแง่มุมในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของรัฐธรรมนูญของไทยเอง และของต่างประเทศ
ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงกติการะหว่างประเทศฯ ที่มุ่งให้ประเทศภาคีได้ปฏิบัติจะเห็นได้ว่า
โดยส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศมุ่งจะให้เกิดความมีเสรีภาพ(Freedom)ในการนับถือศาสนา
เหตุผลส่วนใหญ่นั่นคือ ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกของประชาชนในท้องที่ หรือเกิดความแบ่งแยก
แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เหตุที่ประเทศต่างๆ ได้ ทราบถึงปัญหาดังกล่าวก็เพราะการศึกษา
หรือดูแบบอย่างของประวัติศาสตร์ในอดีต อย่างเช่น
2.1 ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งเชิงศาสนาระหว่างคริสต์กับอิสลาม หรืออาจย้อนประวัติศาสตร์ไปถึงเรื่องสงครามครูเสด (Crusade) หรือสงครามเพื่อไม้กางเขนในช่วงต้น คริสตวรรษที่ 11 สงครามศาสนาอันยาวนานระหว่างคริสเตียนกับอิสลามดังกล่าว จัดเป็นส่วนหนึ่งแห่งความสัมพันธ์อันขมขื่นยาวนาน ระหว่างตะวันออกและตะวันตก โดยมีผู้จัดให้สงครามกรุงทรอยและสงครามเปอร์เซียในประวัติศาสตร์โบราณเป็นภาคต้น สงครามครูเสดเป็นภาคกลาง และการขยายอำนาจแสวงหาอาณานิคม (ของตะวันตก) ในศษตวรรษที่แล้วเป็นภาคสุดท้าย (13)
2.2 ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มยิวกับมุสลิม
2.3 การก่อการร้ายของพวกมุสลิมหัวรุนแรง ณ ดินแดนต่าง ๆ ของโลก
2.4 ความรุนแรงระหว่างฝ่ายคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ในไอร์แลนด์เหนือ โดยน้ำมือของขบวนการไออาร์เอ
และหากจะเป็นการพิจารณาแบบอย่างในปัจจุบันเอง ก็สามารถดูแบบอย่างได้จากประเทศศรีลังกา ซึ่งในอดีตไม่ได้บรรจุให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่หลังจากที่มีการบรรจุเข้าไปแล้วได้เกิดการรบราฆ่าฟันกันระหว่างชาวสิงหล (74% นับถือพุทธ) กับชาวทมิฬ (18% นับถือฮินดู - ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์กับอิสลาม) เหล่านี้ถือเป็นบทเรียนอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในเชิงศาสนา
ซึ่งเมื่อกลับมาพิจารณาในส่วนของประเทศไทยเอง จะพบว่าในอดีตรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ต่างให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เพื่อมิให้เกิดความแตกแยกและเลือกปฏิบัติ ศาสนาทั้งหลายต่างได้รับความคุ้มครองในการประกอบพิธีกรรม ตามระเบียบกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยองค์การศาสนาต่างๆ พ.ศ. 2512 การนับถือศาสนาพุทธของประชาชนชาวไทย ต่างเป็นไปด้วยความเต็มใจและการถูกถ่ายทอดมาแต่อดีต จนหยั่งลึกในสังคมเกินที่จะต้องนำมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม
ดังนั้น การที่จะบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้ร่าง ฯ จึงจำต้องตระหนักถึงผลดีผลเสีย ที่อาจเกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ ทั้งในแง่มุมของประวัติศาสตร์ในอารยธรรมโลก และสภาพความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะในประเด็นภาคใต้ ที่มวลชนของไทยกำลังถูกแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย โดยอ้างการนับถือศาสนาเป็นเหตุในการแบ่งแยกดินแดน
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การทดลองบรรจุหลักเกณฑ์หรือหลักกฎหมายใดๆ ในเรื่องบางเรื่องสามารถทำได้ และหากเกิดผลเสียก็ย่อมแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่การบรรจุในเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความคิดของบุคคล อาจไม่สามารถแก้ไขได้ หากเกิดข้อขัดแย้งในสังคมและอาจจะเป็นการตอกลิ่ม การแบ่งแยกของความคิดจนยากเกินที่จะแก้ไขเยียวยา
เชิงอรรถเนื้อความที่ ๑
(1) บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแต่อย่างใด
(2) http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9500000045362
(3) http://sunsite.au.ac.th/thailand/buddism/indext.html
(4) http://www5.nesac.go.th/about/France_constitution_TH.php
(5) http://www5.nesac.go.th/about/China_constitution_TH.php(6) http://www5.nesac.go.th/about/Japan_constitution_TH.php
(7) โปรดดู Constitution of Albania Article 7
(8) โปรดดู Constitution of Bulgaria Article 13
(9) โปรดดู Constitution of Iraq Article 4
(10) โปรดดู Constitution of Kuwait Article 2(11) กุลพล พลวัน ,สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย (พิมพ์ครั้งที่ 1),หน้า 249-254.
(12) กุลพล พลวัน ,สิทธิมนุษยชนในสังคมโลก (สำนักพิมพ์นิติธรรม :พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2547 ),หน้า 236..
(13) นิธิ เอียวศรีวงศ์,"อิสลามสมัยแรก".(กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย,2511) หน้า 292.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เนื้อความที่ ๒
สมควรหรือไม่ ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญให้"ศาสนาพุทธ
เป็นศาสนาประจำชาติ" ?
พิเชษฐ เมาลานนท์ คณะนิธิศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ
ท่านผู้อ่าน อาจตั้งคำถามว่า - หัวข้อนี้เกี่ยวอะไรกับ "ตุลาการภิวัตน์"?
"ทีมวิจัยปัญหาตุลาการศาสตร์" (แห่งมหาวิทยาลัยนีกาตะ ในญี่ปุ่น) จึงใคร่ให้ข้อมูลแก่ท่าน
- ดังต่อไปนี้
ในเชิงหลักวิชาการ หัวข้อนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "หลักแยกรัฐออกจากศาสนา" (The Separation of Church and State) ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักสำคัญยิ่งในรัฐธรรมนูญหลายชาติ เริ่มตั้งแต่สหรัฐอเมริกา มาถึงญี่ปุ่น - และในอีกหลายต่อหลายชาติ
แต่ในประการแรก เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าหลัก The Separation of Church and State เป็นคนละเรื่องกับหลัก Freedom of Religion หรือ "เสรีภาพในการนับถือศาสนา"
๐ ในขณะที่ชาติต่างๆ แทบทุกชาติในโลกต่างยึดถือหลัก Freedom of Religion เพราะถือเป็นสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ประการหนึ่ง กล่าวคือ เป็นเรื่องที่ว่าด้วย Freedom of Belief (เสรีภาพในความเชื่อ) จึงมีการจำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนาน้อยมาก จนแม้แต่ "ลัทธิ" (Cults) ก็ตีความว่าเป็น Religions เช่น การตีความในญี่ปุ่น เป็นต้น จึงทำให้รัฐไม่สามารถจำกัดการนับถือ และปฏิบัติตามลัทธิใหม่ๆ แปลกๆ ในญี่ปุ่นได้ - และทำให้ญี่ปุ่นเต็มไปด้วย "ลัทธิ" ใหม่ๆ แปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ - จนทำให้เกิดลัทธิโอมชินริเคียว (Aum Shinrikyo) ที่ใช้ Sarin Gas (ก๊าซซาริน) รมควันสังหารคนไปหลายพันคนที่สถานีรถไฟในโตเกียว ๒ แห่ง เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว -
หลังจากนั้น รัฐสภาญี่ปุ่นจึงยอมออกกฎหมายจำกัดหลัก Freedom of Religion ให้ลัทธิบางประการเป็น "ลัทธิต้องห้าม" ตามกฎหมาย - และศาลก็ร่วมตีความว่า การจำกัดเช่นนั้น ไม่ขัดกับหลัก Freedom of Religion ในรัฐธรรมนูญ - "ตุลาการภิวัตน์" จึงเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องตรงนี้ เป็นประการแรก ซึ่งแต่ละท่านจะเห็นด้วยกับการตีความรัฐธรรมนูญโดยศาลดังนี้หรือไม่ ย่อมเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะ "ตุลาการภิวัตน์" เป็นปัญหาว่าด้วย "การตีความรัฐธรรมนูญโดยศาล" อยู่เสมอ - คือเรียกว่าเป็น Constitutional Interpretation by the Court
๐ แต่ขณะเดียวกันหลักเรื่อง The Separation of Church and State เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งชาติต่างๆ ในโลกนี้ มี่ทั้ง Pros & Cons ดังตารางสุดท้ายข้างล่าง
อย่างไรก็ดี ควรตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าชาติใดในโลกจะยอมรับหลักการใดหลักการหนึ่งข้างบนนี้ แต่ "ลัทธิคลั่งศาสนา" ได้ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่มาแล้วในหลายชาติ จนขนาดก่อให้เกิดการนองเลือดได้ง่าย ดังนั้น การจะแสดงความเห็นว่า ควรบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ "ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ" หรือไม่ จึงย่อมถูกต่อต้านจากคนจำนวนมากทั้ง ๒ กรณี - - ไม่ว่าเราจะอยู่ในฝ่าย "เห็นพ้อง" หรือ "เห็นแย้ง" ก็ตาม
วิชา "ตุลาการภิวัตน์" ที่ผมศึกษาอยู่ จึงเข้ามาเกี่ยวพันกับประเด็นนี้อีกว่า - ในหลายชาติ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จะหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นและการวางนโยบายเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ "เปราะบาง" เนื้องจากคนในสังคมมักแยกความเห็นเป็น ๒ ฝ่าย - ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จึงมักบอกปัดไป (คือ ไม่วางนโยบายให้ชัดเจนโดยตนเอง) แต่ปล่อยให้มีการฟ้องคดีที่ศาล และปล่อยให้ศาลเป็นผู้ตัดสินคดี เพื่อเป็นการผลักภาระในการตัดสินใจเรื่องที่ Controversial (เกี่ยวกับความขัดแย้ง) เช่นนี้ ไปให้ฝ่ายตุลาการรับภาระแทน
นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ "ตุลาการภิวัตน์" แพร่สะพัดไปทั่วโลก - และเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Judicialization of Politics หรือเรียกเพียงสั้นๆ ว่า Judicialization - ซึ่งแปลว่า "ให้อำนาจตุลาการ แผ่กว้างขึ้น ในการตัดสินคดีวางนโยบายสังคม (Judicial Policy making) ซึ่งเดิมที เป็นอำนาจ-หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร" ซึ่งท่านจะเห็นว่า นี่คือกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร "สมัครใจ" (Voluntary) ปล่อยให้อำนาจตุลาการ ใช้อำนาจวางนโยบายสังคม (Judicial Policy making) แทนตน
ดังนั้น ท่านตุลาการไทยและนักกฎหมายไทยที่ เข้าใจกันผิดๆ ว่า "ตุลาการไทยวางนโยบายสังคมไม่ได้ เพราะไทยอยู่ในระบบ Civil Law แบบยุโรป" จึงควร "ปรับปรุงองค์ความรู้ให้ทันยุคทันสมัย" ของท่านเสียใหม่ ให้ถูกต้อง เพราะตุลาการหลายชาติในโลกที่มีระบบกฎหมาย Civil Law ต่างก็ตัดสินคดีวางนโยบายสังคม (Judicial Policy making) กันแล้วทั้งสิ้น - ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี, อิตาลี, หรือฝรั่งเศสก็ตามที
"องค์ความรู้" ของท่านมันจึง "ถูกต้อง" เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว - แต่เก่าแก่ล้าสมัยไปเสียแล้วในโลกทุกวันนี้ ที่ตุลาการเขา "ภิวัตน์" กันทั่วโลก - แม้กระทั่งตุลาการบนเกาะเล็กๆ อย่าง Malta (มอลตา) ที่ประชากรมีเพียง ๔๐๔,๐๐๐ คน (สี่แสนสี่พันคน) - แล้วเหตุใด ศาลไทยซึ่งมีประชากรถึง ๖๒ ล้านคน ท่านยังยึดมั่น-ถือมั่นอยู่กับองค์ความรู้เก่าๆ เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมา? - ท่านปฏิบัติหน้าที่ สมกับเกียรติยศและเงินเดือนของท่านแล้วหรือ?
เหตุนี้ "ตุลาการภิวัตน์" จึงไม่ใช่เรื่องที่ ๓ ศาล หันหน้าเข้ามาประชุมปรึกษากันแก้ข้อแย้งทางการเมืองใหญ่ๆ ภายในชาติ ดังที่ท่านตุลาการไทยและนักกฎหมายไทยที่เข้าใจกันผิดๆ
ในท้ายที่สุด ควรตั้งข้อสังเกตว่า
การแสดงความเห็นพ้องกับด้านใดด้านหนึ่งในปัญหา "ควรเขียนรัฐธรรมนูญหรือไม่
ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ?" จึงมีแต่ "เสีย" เพราะท่านจะถูกโจมตีจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ
การแยกแยะทางด้านวิชาการว่าชาติต่างๆ ในโลก มีความเห็นแตกต่างกัน จึงอาจเป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้คนฟังคิดได้เองว่าควรตัดสินใจเช่นไร
- แม้จะเชื่อได้ว่า คนฟังก็ยังคงตีความเข้าข้างตัวเอง อยู่ก็ตาม
ในต่างประเทศหลายแห่ง เขาให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน - ซึ่งท่านอาจบอกว่า: เราจะใช้ "ตุลาการภิวัตน์" ให้มัน "เฝือ" ไปหรืออย่างไร??? - นั่นก็แล้วแต่ทัศนะ ของแต่ละท่าน
ปล. ที่แน่ชัดขณะนี้ ก็คือ "ลัทธิคลั่งชาติ" เป็นภัยต่อมนุษยโลกได้ฉันใด - "ลัทธิคลั่งศาสนา" ก็อาจเป็นภัยต่อมนุษยโลกได้ฉันนั้น - ทุกศาสนาหันหน้าเข้ามารักกัน ไม่ดีกว่าหรือ?
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
สาเหตุสำคัญที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ให้ยกศาสนาใดศาสนาหนึ่งขึ้นเป็นศาสนาประจำรัฐ ก็เพราะว่าคนอเมริกันได้ผ่านประสบการณ์อันขมขื่นทางศาสนามาจากทวีปยุโรป กล่าวคือชาวอเมริกันจำนวนมาก เป็นผู้ประสบภัยจากการกดขี่ข่มเหงระหว่างศาสนิกในศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายในทวีปยุโรป จึงอพยพหลบหนีเอาชีวิตรอดมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในทวีปอเมริกา แม้กระนั้น เมื่อตั้งประเทศใหม่ของตนขึ้นได้แล้ว ศาสนิกทั้งหลายในศาสนาเดียวกันนั้น ซึ่งมีหลายนิกาย ต่างก็หวาดกลัวกันว่า ถ้านิกายอื่นได้รับการสถาปนาจากรัฐ นิกายของตัวจะประสบฐานะต้อยต่ำ