โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 10 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๔๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 10, 05,.2007)
R

การเมืองเรื่องการศึกษาของเวียดนาม
ทศวรรษที่ผ่านมากับการพัฒนาอุดมศึกษาในเวียดนาม
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการชิ้นนี้ เรียบเรียงขึ้นมาจากต้นฉบับรายงานการศึกษาขนาดยาว เรื่อง
The Higher Education System in Vietnam
เขียนโดย Kristy Kelly, Director, Institute of International Education/Vietnam
สำหรับเนื้อหาส่วนใหญ่ในรายงานฉบับดังกล่าว เป็นข้อมูลเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วโดยมีโครงเรื่องดังต่อไปนี้
- โดยเหม่ย และการศึกษาในประเทศเวียดนาม
- กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม: การบริหารและการคลังเกี่ยวกับการศึกษา
- การศึกษาขั้นที่สาม(อุดมศึกษา) ในเวียดนามทุกวันนี้
- นโยบายต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในการปฏิรูปการศึกษาขั้นสูง
- มหาวิทยาลัยสหวิทยาการ (มหาวิทยาลัยแห่งชาติ และส่วนภูมิภาค)
- การรับเข้าศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
- ค่าธรรมเนียมการศึกษา, ทุนการศึกษา และเงินกู้ยิมสำหรับนักศึกษา
- โอกาสทางการศึกษาในโพ้นทะเล (การศึกษาในต่างประเทศ)
- นักศึกษาเวียดนามในสหรัฐอเมริกา
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๔๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การเมืองเรื่องการศึกษาของเวียดนาม
ทศวรรษที่ผ่านมากับการพัฒนาอุดมศึกษาในเวียดนาม

สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง


ระบบอุดมศึกษาในประเทศเวียดนาม
คริสตี เคลลี : ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานานาชาติ/เวียดนาม

กิตติกรรมประกาศ: รายงานฉบับนี้ได้รับข้อมูลจากธนาคารโลก และกระทรวงรศึกษาและการฝึกอบรมแห่งประเทศเวียดนาม รวมถึงข้อมูลจากการบริการการศึกษาโลก และหน่วยงานบริการข้อมูลข่าวสารแห่งสหรัฐฯ. ระบบอุดมศึกษาในเวียดนามปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลล่าสุดส่วนใหญ่อาจไม่ได้รวมอยู่ในรายงานฉบับนี้

ความนำ
ทุกๆ วัน ผู้คนราว 1 ใน 4 ของประชากรเวียดนามต่างเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาและกิจกรรมการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการต่างๆ ทั้งในฐานะนักศึกษาและครูอาจารย์ การศึกษาคือส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคม มันเป็นสาระสำคัญอันดับต้นๆ ของรัฐบาล และยังเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่ามาก รวมทั้งเป็นที่นับถืออย่างสูงในสังคมของคนเวียดนาม

ภาคส่วนของการศึกษาและการฝึกอบรมเป็นภาคส่วนที่มีขนาดใหญ่ มันฝังอยู่ในเกือบทุกๆ หมู่บ้านและสัมผัสกับเกือบทุกครอบครัว. ในช่วงที่เขียนรายงานฉบับนี้มีนักศึกษาราว 18 ล้านคนในระบบการศึกษา และมีครูและผู้ให้การสอนมากกว่า 5 แสนคน. โครงสร้างของระบบการศึกษาแบบ 5-4-3 คือ ระบบ 5 ปีสำหรับการศึกษาขั้นประถม (ระดับ 1-5), ตามมาด้วย 4 ปีของการศึกษาระดับมัธยมต้น (ระดับ 6-9), และ 3 ปีของการศึกษาระดับมัธยมปลาย (ระดับ 10-12) สุดท้ายเป็นโปรแกรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งอยู่ระหว่าง 2 ถึง 6 ปี

รัฐบาลได้ให้ความสนใจทางด้านการศึกษาและการฝึกอบรม และทำให้กิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับความรู้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1990s และในปี 1995 งบประมาณของรัฐบาลที่กระทำขึ้นมาอย่างรอบคอบได้ใช้ไปในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมถึง 12% หรือประมาณ 3.5% ของ GDP. ค่าใช้จ่ายของครอบครัวต่อเรื่องการศึกษา และต้นทุนที่คืนมาอย่างเป็นทางการได้เพิ่มขึ้นกว่า 2.5% ของ GDP. ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายโดยรวมของการศึกษาในปี ค.ศ.1994-1995 จึงตกอยู่ราวๆ ใกล้เคียง 6% ของ GDP. โดยครอบครัวทั้งหลายต่างมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมดราว 43%

ภาพร่างเล็กๆ ข้างต้นได้แสดงให้เห็นระดับความผูกพันที่มีต่อการศึกษาและการฝึกอบรมในประเทศเวียดนามได้พอสมควร อันที่จริงแล้วต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า การเจริญเติบโตของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับเรื่องของความรู้และเทคโนโลยีในฐานะที่ประเทศนี้ได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจโลก. เมื่อไม่นามมานี้ รัฐบาลได้มีข้อผูกพันที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้เป็น 15% ของงบประมาณแห่งชาติ (ข้อมูลปี 2000) และมีโครงการทบทวนอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการปฏิรูป"โดยเหม่ย"(Doi Moi) (หมายถึง นโยบายปฏิสังขรณ์และการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 [พ.ศ.2532] โดยการเปิดทางให้กับภาคเอกชนที่เกี่ยวพันกับทุกๆ พื้นที่ของการพัฒนาเวียดนาม) ในการศึกษาและการฝึกอบรม และในกระบวนการเกี่ยวกับการปรับยุทธศาสตร์ชาติให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย, รวมไปถึงการวางแผนงานศึกษาระยะ 5 ปี และวางกรอบโครงร่างทางกฎหมายสำหรับการศึกษา

โดยเหม่ย และการศึกษาในประเทศเวียดนาม
"DOI MOI" AND EDUCATION IN VIETNAM

ก่อนการแบ่งแยกของเวียดนาม(เวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้) ภายใต้สนธิสัญญาเจนีวาในปี ค.ศ.1954, การศึกษาที่เป็นทางการได้ถูกจำกัดในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 20. ภายใต้กฎระเบียบของการเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส เพียงกลุ่มชนชั้นสูงซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อยนิดของชาวเวียดนามเท่านั้น ที่ได้เข้าสู่สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เป็นสาธารณะ ส่วนใหญ่ของสถาบันเหล่านี้สร้างขึ้นในเขตเมืองส่วนใหญ่

ในการโต้ตอบต่อนโยบายกีดกันอันนี้ โรงเรียนที่ไม่ได้ดำเนินการโดยรัฐได้เริ่มก่อตัวขึ้นในหลายๆ ส่วนของประเทศ รวมไปถึงหมู่บ้านในชนบทจำนวนมาก อันนี้ได้สนองความพอใจบางส่วนแก่ความต้องให้แก่ครอบครัวที่แข็งขันเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว มีครอบครัวคนจนจำนวนหยิบมือเท่านั้น ที่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนได้

เพราะฉะนั้น การไม่รู้หนังสือจึงแผ่ขยายไปทั่วประเทศเวียดนาม อย่างน้อยที่สุดจนกระทั่งในปี ค.ศ.1945 (ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) เมื่อโฮจิมินห์ ผู้นำชาตินิยมได้ริเริ่มรณรงค์ให้คนรากหญ้าได้รู้หนังสือ ในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้การควบคุมของพลังปฏิวัติของเขา. ในช่วงสิ้นสุดของการตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส โรงเรียนเอกชนทางภาคเหนือได้รับการรวมตัวเข้าสู่ระบบการศึกษาสาธารณะ ที่จัดให้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย. การแพร่ขยายของระบบการศึกษาดังกล่าว ถือเป็นเป้าหมายแรกๆ ของรัฐบาลต่อมาตลอดเวลา 30 ปี

แม้จะมีการรู้หนังสือของผู้คนจำนวนมากขึ้น และมีการสมัครเข้าเรียนอย่างมากมายในเวียดนามทุกวันนี้ (โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างที่ค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับชาย-หญิงที่เข้าสู่ระบบการศึกษา) อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการอ่านออกเขียนได้แล้ว ก็ยังคงมีอุปสรรคอยู่อย่างกว้างขวางในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือในส่วนภูมิภาคที่ห่างอยู่ห่างไกลต่างๆ. พื้นที่ทางตอนหนือซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาของจังหวัด Lai Chau เป็นตัวอย่าง โดยรายงานฉบับหนึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการรู้หนังสือว่ามีเพียง 49% เท่านั้น และในจังหวัดนี้จำนวนของผู้รู้หนังสือที่เป็นชายมีมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า. อัตราการเข้าโรงเรียนยังคงต่ำมากในพื้นที่เขตภูเขาทางตอนเหนือและตอนกลางของประเทศเวียดนาม และตลอดรวมถึงภูมิภาคดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิง. ในทางตรงข้าม ชาติพันธุ์ส่วนน้อยซึ่งมีอยู่ราว 13% ของประชากรเวียดนาม มีเพียง 4% ของชาติพันธุ์เหล่านี้เท่านั้นที่เป็นประชากรนักศึกษา

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นนับตั้งแต่การเริ่มต้นนโยบาย"โดยเหม่ย" และนโยบายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในหนทางที่สำคัญ คือ

ประการแรก, รัฐบาลได้มีการใช้จ่ายสุทธิไปในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมเพิ่มขึ้น และมีการเพิ่มเปอร์เซนต์รายจ่ายมาโดยตลอดในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1990s. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มขึ้นอย่างมากเกิดขึ้นในปี 1993-1994 - 46% และ 33% ของค่าใช้จ่ายจริงในความเติบโตของสองปีนี้ตามลำดับ

ประการที่สอง, การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1990s มีการขจัดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดลงจำนวนมาก หรือเป็นอุปสรคต่อบทบาทของภาคเอกชนในการให้การศึกษาและการฝึกอบรม มีการผ่านกฤษฎีกาใหม่ๆ และการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ซึ่งทำให้มีผลบังคับใช้ และได้ไปส่งเสริมให้การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม สถาบันกึ่งสาธารณะ และสถาบันที่ได้รับการก่อตั้งโดยผู้คนทั้งหลาย ที่ได้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบในเรื่องการศึกษา ยังนับว่าเป็นเพียงสัดส่วนที่เล็กน้อยมากเมื่อดูจากการรับสมัครประชากรเพื่อเข้ารับการศึกษาทั้งหมด แต่ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วในด้านตัวเลข

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาที่ไม่เป็นสาธารณะ เช่น การศึกษาก่อนวัยเรียน, การศึกษาสายอาชีพ, การศึกษาด้านเทคนิคและเรื่องของการฝึกอบรม และยังเพิ่มขึ้นด้วยในการศึกษาทั่วๆ ไปในระดับที่สาม(หมายถึงอุดมศึกษา). สถาบันการศึกษาที่ไม่เป็นสาธารณะต่างเก็บค่าธรรมเนียมจากนักศึกษา เพื่อครอบคลุมต้นทุนเกือบทั้งหมดของค่าใช้จ่ายในการการดำเนินการของพวกเขา

ประการที่สาม, เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ซึ่งยินยอมให้สถาบันการศึกษาสาธารณะต่างๆ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่าสอนได้ แม้ว่าจะทำได้ภายใต้ข้อจำกัดที่ค่อนข้างเข้มงวดเท่านั้น เพื่อคิดค่าสินค้าและบริการอื่นๆ ซึ่งขายให้แก่สาธารณชน. ส่วนครอบครัวมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับด้านการศึกษาและการฝึกอบรมทุกๆ ระดับ รวมแล้วประมาณ 43% อันเป็นตัวเลขที่สำรวจมาในปี ค.ศ.1994. สัดส่วนนี้แปรผันไปเล็กน้อยจาก 12% และ 19% ในสายอาชีพ/เทคนิค และการศึกษาขั้นที่สาม(อุดมศึกษา). ส่วนการศึกษาในระดับประถม, มัธยมต้น, และมัธยมปลาย, มีการใช้จ่ายมากถึง 48%, 59% และ 62% ตามลำดับ

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลเวียดนามได้ใช้งบประมาณด้านการศึกษาโดยสะท้อนถึงอคติอันหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัยในการเข้าข้างคนรวย - เพราะการใช้จ่ายอันนี้ครอบคลุมถึงการปันส่วนงบประมาณที่ค่อนข้างน้อยในด้านต้นทุนให้กับการศึกษาในระดับต้นๆ ซึ่งหมายถึงเด็กๆ เป็นจำนวนมากที่มาจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อยที่ต้องเข้าเรียน, และได้ไปช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากให้กับคนที่ก้าวขึ้นสู่บันไดการศึกษาที่สูงขึ้น และในระบบการศึกษาขั้นสูงนั้น เราจะพบว่ามีนักศึกษาที่มาจากครอบครัวที่ยากจนอยู่เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น

กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม: การบริหารและการคลังเกี่ยวกับการศึกษา
THE MINISTRY OF EDUCATION AND TRAINING: ADMINISTRATION AND FINANCE OF EDUCATION


ก่อนปี ค.ศ.1987 มีตัวแทนอยู่ 3 ฝ่ายที่มีส่วนรับผิดชอบสำหรับการจัดหาและการให้บริการทางการศึกษาในประเทศเวียดนาม คือ

- กระทรวงศึกษาธิการ
- ทบวงการฝึกอบรมด้านอาชีพทั่วไป และ
- กระทรวงอุดมศึกษา และการศึกษาด้านเทคนิคขั้นสูง

ในปี 1987 ในสองส่วนหลังได้หลอมรวมเพื่อก่อตั้งเป็น "กระทรวงอุดมศึกษาและการอาชีวและเทคนิค" ต่อมาในปี 1990 ได้กลายเป็นกระทรวงเดียวกันภายใต้ชื่อ - กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม (MOET - The Ministry of Education and Training) - ซึ่งเข้ามารับผิดชอบสำหรับการศึกษาทั้งหมดและการฝึกอบรมในระดับประเทศ

MOET ได้ถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน ซึ่งที่สำคัญมากสุดคือ ส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการประถมศึกษาและมัธยมศึกษา, การศึกษาด้านเทคนิคและการอาชีวะ, การศึกษาระดับอุดมศึกษา, วิทยาลัยครูและการศึกษาผู้ใหญ่. การขับเคลื่อนอีกอันหนึ่งคือการสร้างเสริมทรัพยากรให้เข้มแข็ง, ในเดือนเมษายน 1998, นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งว่า การศึกษาสายอาชีวะและสายเทคนิคไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของ MOET อีกต่อไป แต่ให้ไปสังกัดอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของ "กระทรวงแรงงาน ผู้ทุพพลภาพจากการสงครามและกิจการสังคม" (Ministry of Labor, War Invalids and Social Affairs) [MOLISA]. ในช่วงที่เขียนรายงานอยู่นี้ ไม่มีข้อมูลที่นำมาใช้ได้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และอย่างไร?

MOET หรือกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม มีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบสำหรับการวางแผน และกำกับดูแลระบบการศึกษาและการฝึกอบรมต่างๆ ของเวียดนาม เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและการผลิตเนื้อหาต่างๆ. MOET มีส่วนในการรับผิดชอบและร่วมมือกับทำเนียบรัฐบาล ซึ่งได้นำไปสู่ความผูกพันกับสำนักนายกฯ, กระทรวงการคลัง, และกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เพื่อกำหนดและตัดสินใจอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับนโยบายหลักสูตร, การกำหนดเป้าหมาย, และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเงิน. การบริหารจัดการและการคลังเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและการฝึกอบรม กำลังกลายเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางออกไปมากขึ้นในประเทศเวียดนาม ซึ่งอันนี้สามารถมองเห็นได้จากทัศนียภาพที่แตกต่างกัน 2 มุม ดังต่อไปนี้ คือ

- การกระจายอำนาจแบบแนวตั้ง (vertical decentralization)
- การกระจายอำนาจแบบแนวนอน (horizontal decentralization)

การกระจายอำนาจแบบแนวตั้ง เป็นการอ้างถึงส่วนต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบทางด้านการศึกษาและการฝึกอบรมในรัฐบาลกลาง. แม้ว่า MOET จะแสดงบทบาทนำอย่างเห็นได้ชัดมาก่อน แต่สถาบันต่างๆ เป็นจำนวนมากในเวียดนาม ซึ่งอยู่ภายใต้สายการบริหารของกระทรวงทั้งหลายและตัวแทนรัฐบาล ได้เข้ามาแบ่งเบาภาระในหน้าที่ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนศิลปะและการดนตรี ต่างอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมและข่าวสาร. แต่อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายของบรรดาหน่วยงานและนักปฏิบัติการเหล่านี้ สามารถส่งผลให้เกิดการทำซ้ำ, ความสับสน, และความสิ้นเปลือง. ปัจจุบันมีหน่วยงานกว่าสองโหลของสายงานกระทรวงต่างๆ ซึ่งยังคงผูกขาดและรักษาบทบาทบางอย่างของตนเอาไว้ ในการบริหารสถาบันการศึกษาสาธารณะในเวียดนาม

การกระจายอำนาจแบบแนวนอน เป็นการอ้างถึงระดับที่แตกต่างเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐบาล ด้วยแง่มุมการบริหารการคลังสาธารณะสำหรับเรื่องการศึกษา. ค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางที่รับผิดชอบเป็นเพียงสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อพิจารณาจากเปอร์เซนต์การลงทุนทั้งหมด (ประมาณ 28% ของภาพรวม). ส่วนใหญ่(ประมาณ 72% เกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่าย) ได้รับการบริหารโดยจังหวัดต่างๆ ซึ่งผลักไปสู่ตำบลและชุมชนแทน ในการรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ตามลำดับ

ในระดับอุดมศึกษาและการศึกษาสายอาชีวะและเทคนิค โดยยกเว้นมหาวิทยาลัยต่างๆ บทบาทของรัฐบาลในแต่ละจังหวัดจะดำเนินการด้านสถาบันการศึกษาเหล่านี้ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดมีบทบาทมากเท่าๆ กันกับรัฐบาลกลาง แต่อย่างไรก็ตาม การขาดเสียซึ่งระบบการจัดการทางด้านกฎหมายอย่างเป็นกิจลักษณะ ได้นำไปสู่การพึ่งพาอย่างมากจาก MOET ซึ่งอันนี้ได้ไปลดทอนความสามารถของแต่ละสถาบันการศึกษาลง ในการรับผิดชอบเกี่ยวกับความต้องการต่างๆ ของชุมชนในตลาดเศรษฐกิจ

หมายเหตุสุดท้ายคือ MOET หรือกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม ยังไม่มีระบบเกี่ยวกับการประเมินผลงานในแต่ละสถาบัน เพื่อวัตถุประสงค์ของความน่าเชื่อถือและความมีมาตรฐาน. ในช่วงเวลานี้ ทุกๆ ปริญญาที่มอบให้โดยสถาบันการศึกษาต่างๆ ของเวียดนาม ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการและเซ็นรับรองโดย MOET แต่อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาเอกชนจำนวนมากได้พัฒนาขึ้นมา และมีโปรแกรมร่วมกันจำนวนมาก ซึ่งได้รับการดำเนินการโดยสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นของคนเวียดนาม, MOET ตระหนักถึงความต้องการดังกล่าว และการสร้างสรรคเกี่ยวกับระบบรับรองวิทยฐานะ รวมถึงเรื่องของความน่าเชื่อถือ

การศึกษาขั้นที่สาม(อุดมศึกษา) ในเวียดนามทุกวันนี้
TERTIARY EDUCATION IN VIETNAM TODAY
การศึกษาขั้นสูง(อุดมศึกษา)ในประเทศเวียดนาม มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศสหภาพโซเวียดก่อนหน้านี้ โดยที่ความหลากหลายของการศึกษาระดับดังกล่าว ได้แบ่งสถาบันต่างๆ เป็นการศึกษาเฉพาะทาง หรือที่เรียกว่า mono-disciplinary institutions (สถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างค่อนข้างจำกัดระหว่างการสอนและการวิจัย

โครงสร้างและการดำเนินงานในปัจจุบันได้รับการสืบทอดมาจากยุคของการวางแผนจากส่วนกลาง เมื่อการศึกษาขั้นสูงได้ถูกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ โดยภาคส่วนทางเศรษฐกิจและโดยสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ละสถาบันจึงมีความเป็นอิสระค่อนข้างน้อยในตัวมันเอง ซึ่งจะต้องรายงานตรงต่อสายงานกระทรวงโดยเฉพาะ

ในระหว่างปี ค.ศ.1993-1995 มีการสมัครเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาขั้นสูงทั้งหมดเพิ่มขึ้น 117% (จาก 162,0000 คน เป็น 354,000 คน) ขณะที่ค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณเพิ่มขึ้น 63%. ส่วนจำนวนสถาบันการศึกษาก็ได้เพิ่มขึ้นจาก 120 แห่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s ไปเป็น 157 แห่งในปี 1988 โดยไม่คำนึงถึงการหลอมรวมของสถาบันการศึกษาสาธารณะหลายหลาก(ในแบบเดิม) สู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสหวิทยาการ (มหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยหลายๆ คณะ) [multi-disciplinary institutions] (เรียกว่า มหาวิทยาลัยแห่งชาติ หรือมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค)

โปรแกรมการศึกษาขั้นสูง ประกอบด้วยโปรแกรมเกี่ยวกับการศึกษาระยะสั้น, 3 ปี - 3.5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยวิทยาลัยต่างๆ หรือที่เรียกกันในภาษาเวียดนามว่า "cao dang" (junior colleges - [อนุวิทยาลัย] วิทยาลัยลักษณะนี้จะจัดการศึกษาแบบ 2 ปี ต่อจากการศึกษาระดับมัธยมปลาย - คล้ายอนุปริญญา). ประมาณ 2 ใน 3 ของการให้ปริญญาในเวียดนาม จะเป็นระดับอนุปริญญาจากอนุวิทยาลัยเหล่านี้ ซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องการฝึกอบรมทางด้านครูสำหรับสอนในระดับที่ต่ำกว่าของระบบการศึกษา. นอกจากโปรแกรมการศึกษาระยะสั้นต่างๆ แล้ว ก็มีโปรแกรมการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยที่ต้องใช้ระยะเวลาศึกษานานขึ้น อันนี้จัดการศึกษากันที่มหาวิทยาลัยทั้งหลาย("dai hoc") และยังมีโปรแกรมการศึกษาหลังปริญญาตรี ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก

ตารางข้างล่างนี้ แสดงถึงจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับการศึกษาขั้นที่สาม ซึ่งได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองเท่าในแต่ละปี จะเห็นได้ว่ามันเพิ่มขึ้นมากกว่าการศึกษาขั้นประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งมีการสมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันอย่างเห็นได้ชัดในเชิงเปรียบเทียบ (ดูภาพประกอบ)

Enrollment trend in Higher Education Relative to Primary and Secondary Education


มหาวิทยาลัยในเวียดนามได้จัดการศึกษาออกเป็น 3 รูปแบบกว้างๆ กล่าวคือ สองในสามของรูปแบบแรกของการศึกษาจะมีลักษณะเป็นไปตามจารีตมากกว่า หมายความว่า พวกมันพึ่งพาอาศัยการบรรยายและการสอนในชั้นเรียนเป็นหลัก

- รูปแบบแรก ของลักษณะการเรียนการสอนนี้คือ"มหาวิทยาลัยซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน" (specialized universities) แต่ละมหาวิทยาลัยจะเพ่งความสนใจลงไปที่สาขาวิชาความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างเช่น ทางด้านเศรษฐศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, วิจิตรศิลป์, หรือกฎหมาย เป็นต้น

- รูปแบบที่สอง จะมีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยสหวิทยาการ (multi-disciplinary universities) รวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติและภูมิภาค ที่เพิ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นมาใหม่ 5 แห่งในเมืองใหญ่ๆ ของเวียดนาม

- รูปแบบที่สาม ซึ่งถือเป็นหมวดหมู่ใหม่สุดทางการศึกษาในเวียดนามคือ ระบบ"มหาวิทยาลัยเปิด"(open university) ในกรุงฮานอย และเมืองโฮจิมินห์. โดยในปี 1995 เพียงปีเดียวที่ได้เปิดดำเนินการ มหาวิทยาลัยเปิดได้รับนักศึกษาถึง 52,583 คน ซึ่งคำนวณอย่างคร่าวๆ ก็คือ ทุกๆ 7 คนของผู้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของเวียดนาม, มี 1 คนที่สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเปิดเหล่านี้

ตามข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม ในปี 1998 เวียดนามมีสถาบันการศึกษาขั้นสูง 157 แห่ง, 78 แห่งเป็นการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และในจำนวนนี้ 10 แห่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชน ตัวเลขนี้รวมถึงอนุวิทยาลัย 69 แห่งด้วย แต่ได้กันเอาสถาบันการศึกษาภายใต้กระทรวงกลาโหม และกระทรวงต่างประเทศออกไป. ในส่วนของอนุวิทยาลัย ปัจจุบันประกอบด้วยวิทยาลัยครู 45 แห่ง และ วิทยาลัยอาชีวะ เทคนิค และการฝึกอบรม 24 แห่ง ซึ่งได้ทำการสอนและศึกษาในวิชาการสาขาต่างๆ อย่างเช่น เกษตรกรรม, การฝึกอบรมทางด้านสาธารณสุข, วิจิตรศิลป์, การเงินการธนาคาร, และการศึกษาเกี่ยวกับนโยบาย เป็นต้น

แต่ละมหาวิทยาลัยจะได้รับบริหารงานโดยอธิการบดี("hieu truong") ซึ่งจะถูกเลือกมาจากสมาชิกในคณะ และจะทำหน้าที่บริหารงานเทอมละ 4 ปี โดยเป็นไปได้ที่จะขยายเวลาการทำงานซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับการลงคะแนนเสียงในคณะ นอกจากนี้ยังไม่มีการจำกัดว่าจะต้องดำรงตำแหน่งบริหารกี่เทอม

มหาวิทยาลัยต่างๆ จะถูกแบ่งเป็นสองภาควิชา("khoa"), แต่ละภาควิชาจะอยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าภาคฯ ซึ่งรับผิดชอบในด้านการบริหารงานและเนื้อหาทางวิชาการในภาควิชานั้น. นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถที่จะเลือกสรรอธิการบดีของตนได้ สต๊าฟทางวิชาการและนักศึกษาต่างมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกอธิการบดี แต่ผลลัพธ์ว่าใครจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะต้องได้รับการอนุมัติโดย MOET หรือกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม

นโยบายต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในการปฏิรูปการศึกษาขั้นสูง
POLICIES FOR FUTURE CHANGE IN HIGHER EDUCATION REFORM
ระบบการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะและเป็นเรื่องของวิชาชีพ ซึ่งได้มีการเรียนการสอนกันในสถาบันการศึกษาขนาดเล็กจำนวนมากกำลังเปลี่ยนไป ปัจจุบันการจัดให้มีการฝึกอบรมที่โฟกัสลงไปในเรื่องแคบๆ ไม่ได้รับการพิจารณาว่าเหมาะสมอีกต่อไปแล้ว. เพื่อที่จะเพิ่มเติมความสามารถของระบบการศึกษาในการขานรับต่อความต้องการของตลาดเศรษฐกิจ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการศึกษา รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษา โดยนโยบายการศึกษาขั้นที่สาม(การอุดมศึกษา)ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงยุทธศาสตร์ 7 ด้านดังต่อไปนี้:

1. การนำเสนอการศึกษาขั้นที่สามในลักษณะกึ่งสาธารณะ และไม่เป็นสาธารณะ

2. การเรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาและให้ค่าตอบแทนการสอน ควบคู่ไปกับการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาเพิ่มมากขึ้น

3. การกระตุ้นกิจกรรมการลงทุนโดยจัดตั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อยกระดับรายได้เอกชนเพิ่มขึ้น

4. การลดทอนลักษณะที่เป็นเสี่ยงๆ ของระบบ ด้วยการหลอมรวมความรับผิดชอบสำหรับหน้าที่ครูผู้สอนของทุกๆ สถาบันภายใต้อำนาจหน้าที่หนึ่ง

5. การทำการทดลอง ด้วยโครงสร้างการรวมตัวเป็นหน่วยงานใหม่อันหนึ่งของการศึกษา เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในโครงสร้างสาขาวิชา และเพื่อคุณภาพและมาตรฐาน

6. การทดสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเครดิตขององค์กรวิชาชีพครู

7. การหลอมรวมสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ยังเหลืออยู่ไม่มากนัก ให้รวมตัวเป็นมหาวิทยาลับสหวิทยาการ

การศึกษาและการฝึกอบรมของเอกชน (ไม่ใช่สาธารณะ)
PRIVATE (NON-PUBLIC) EDUCATION AND TRAINING

วัตถุประสงค์ต่างๆ ของรัฐบาลเวียดนามในด้านการศึกษาและการฝึกอบรม รวมถึงการคุ้มครองและเพิ่มหลักประกันการศึกษาและความเปลี่ยนแปลงเนื้อหาทางการศึกษา ทั้งหมดเป็นไปเพื่อจะตระเตรียมบรรดาคนงานทั้งหลายให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในตลาดแรงงาน. การปฏิรูปที่สำคัญได้ออกแบบขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เหล่านี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่ไม่เป็นสาธารณะ โดยขนานกันไปกับระบบการศึกษาสาธารณะ

ประวัติศาสตร์ของเวียดนามเกี่ยวกับการศึกษาที่เป็นอิสระ เสรี และมีการวางแผนที่มาจากส่วนกลาง อันนี้เป็นทิศทางที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองอันหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบ คำอธิบายอาจวางอยู่บนถ้อยคำที่สละสลวย อย่างเช่น"ไม่เป็นสาธารณะ"(non-public) ซึ่งในบริบทส่วนใหญ่ มันแทนที่คำที่ชัดเจนของคำว่า"การแปรรูปทางการศึกษา"(privatization of education)นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเหล่านี้ได้ถูกนำเสนอในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้น ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่ออนาคตระบบการศึกษาของเวียดนาม

มีแบบแผนอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ของสถาบันการศึกษาที่ไม่เป็นสาธารณะดังต่อไปนี้:

1. Semi-public ("ban cong"): การศึกษาแบบกึ่งสาธารณะ, นั่นคือ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นของรัฐ ได้รับการบริหารจัดการโดยผู้มีอำนาจหน้าที่สาธารณะจากศูนย์กลาง, จังหวัด, ท้องถิ่น/ตำบล, หรือระดับชุมชน แต่ต้นทุนการปฏิบัติการทั้งปวงได้มาจากค่าธรรมเนียมของนักศึกษา

2. People-founded ("dan lap"): สถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งโดยผู้คน ซึ่งเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยองค์กรนอกภาครัฐ(NGOs) หรือสมาคมเอกชนต่างๆ อย่างเช่น สหภาพแรงงาน, สหกรณ์, องค์กรเยาวชนหรือสมาคมสตรีต่างๆ. เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาแบบกึ่งสาธารณะ เรื่องต้นทุนดำเนินการนั้นมาจากค่าธรรมเนียม

3. Private ("tu lap"): สถานศึกษาเอกชน. เหล่านี้คือสถาบันการศึกษาเอกชนในความหมายปรกติทั่วไป เป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยเอกชน อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาเอกชนแบบเต็มรูปแบบ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการศึกษาในระดับประถมและมัธยม แต่ยินยอมให้ดำเนินการได้ในระดับอนุบาลก่อนวัยเรียน, และในระดับโรงเรียนเทคนิคและอาชีวะศึกษา รวมถึงการศึกษาขั้นที่สาม(อุดมศึกษา)

มหาวิทยาลัยสหวิทยาการ
MULTI-DISCIPLINARY UNIVERSITIES
ในความสนใจเกี่ยวกับการทำให้ระบบมหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็ง และปรับปรุงเรื่องของการวิจัยให้มีประสิทธิภาพ การจัดองค์กรระดับรากฐานของสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับการอุดมศึกษาใหม่อีกครั้งจึงกำลังก่อตัวขึ้น อันนี้ไปเกี่ยวข้องกับการหลอมรวมสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีขนาดเล็กจำนวนมาก รวมถึงสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะปรับปรุงความเชื่อมโยงกันระหว่างการวิจัยพื้นฐานและการสอนในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น

มหาวิทยาลัยในแบบฉบับใหม่ มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ นั่นคือ
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติ และ
- มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค

ทั้งสองแบบนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยหลายๆ คณะ เรียกว่า"สหวิทยาการ". มหาวิทยาลัยแห่งชาติ 2 แห่ง และมหาวิทยาลัยภูมิภาค 3 แห่ง ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งชาติได้สอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และโปรแกรมระดับวิทยาลัยต่างๆ

1. มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ฮานอย แรกเริ่มถูกรู้จักในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย ได้สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ.1933 ซึ่งเป็นการหลอมรวมของมหาวิทยาลัยฮานอย, วิทยาลัยครูฮานอย และมหาวิทยาลัยสำหรับครูสอนภาษาต่างประเทศ. สถาบันการศึกษาเหล่านี้ถูกจัดองค์กรขึ้นใหม่เป็น 5 วิทยาลัย ประกอบด้วย การศึกษาทั่วไป, วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ศึกษาศาสตร์, และภาษาต่างประเทศ. มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังอยู่ในขบวนการผนวกรวมวิทยาลัยอีก 7 แห่ง ที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย, บริหารธุรกิจ, วิศวกรรม และเศรษฐศาสตร์เข้าด้วยกัน

2. มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามที่เมืองโฮจิมินห์ แต่เดิมรู้จักกันในนามมหาวิทยาลัยแห่งชาติโฮจิมินห์ ได้รับการก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1956 จากสถาบันการศึกษา 9 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยโฮจิมินห์(HCMC), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี, มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์, มหาวิทยาลัยวิชาการศึกษา, วิทยาลัยครูและการฝึกสอน, มหาวิทยาลัยสถาปัตยกรรม, มหาวิทยาลัยการเงินและการบัญชี, มหาวิทยาลัยเกษตรและการป่าไม้, และโรงเรียนกฎหมาย. มหาวิทยาลัยใหม่ได้ถูกแบ่งแยกเป็น 10 วิทยาลัย, ศูนย์การวิจัย 4 แห่ง, ศูนย์วิทยาศาสตร์ 47 แห่ง

3. มหาวิทยาลัยดานัง ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี ค.ศ.1994 เป็นการหลอมรวมจากมหาวิทยาลัย 2 แห่ง - ระดับสถาบัน (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีดานัง และ มหาวิทยาลัยครูสอนภาษาต่างประเทศดานัง), วิทยาลัย 1 แห่ง (วิทยาลัยการฝึกหัดครูดานัง) และ the Nguyen Van Troi Secondary Technical School for Technical Workers (โรงเรียนเทคนิคสำหรับแรงงานทางเทคนิค). มหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ธำรงรักษาความโดดเด่น เพื่อตระเตรียมผู้คนในด้านความรู้ทางเทคนิค ขณะที่มหาวิทยาลัยเว้(Hue University)ที่อยู่ทางตอนกลางของประเทศ ได้ตระเตรียมผู้คนทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

4. มหาวิทยาลัยเว้ (Hue University), ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1994 เช่นเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยสถาบันการศึกษาต่างๆ ดังต่อไปนี้: มหาวิทยาลัยครูเว้, มหาวิทยาลัยเกษตร No.2, มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เว้, วิทยาลัยวิจิตรศิลป์เว้, มหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ประกอบด้วย 6 วิทยาลัย รวมทั้งวิทยาลัยการศึกษาทั่วไปด้วย

5. มหาวิทยาลัย Thai Nguyen University, สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ.1994 จาก 4 มหาวิทยาลัย - ระดับสถาบัน (วิทยาลัยครูเวียดนาม, วิทยาลัยเกษตร No.3, วิทยาลัยอุตสาหกรรม, วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (Vietnam Bac Teachers College, Bac Thai College of Agriculture No. 3, Thai Nguyen College of Industry, and Bac Thai/Thai Nguyen/Vietnam Bac College of Medicine), และโรงเรียนเทคนิคสำหรับคนงานสาขาไฟฟ้าและเครื่องกล. มหาวิทยาลัยใหม่นี้ได้แยกออกเป็น 5 วิทยาลัยและศูนย์วิจัยเป็นจำนวนมาก. มหาวิทยาลัยข้างต้นรับผิดชอบสำหรับการเตรียมการศึกษาเพื่อนักศึกษาจากทุกๆ จังหวัดของเวียดนาม ทางภาคเหนือของฮานอย 333333333

การรับเข้าศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
ADMISSION TO COLLEGES AND UNIVERSITIES
การรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนโดยผ่านกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม(MOET).

อันดับแรก นักเรียนจะต้องผ่านการศึกษาขั้นมัธยมปลายก่อน ด้วยการสอบ(SSLE) ด้วยคะแนอย่างน้อย 20 คะแนนขึ้นไป เพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ สำหรับการสอบ SSLE ประกอบด้วยการทดสอบความสัมฤทธิผลอย่างกว้างๆ ใน 4 วิชา ซึ่งแต่ละวิชาจะมีคะแนนเต็ม 10. รวมทั้งสิ้น 4 วิชาจะเท่ากับ 40 คะแนน. สำหรับการจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา นักศึกษาจะต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมอย่างน้อย 20 คะแนน. นอกจากนี้ นักศึกษาทั้งหลายจะต้องมีสุขภาพดีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และต้องมีอายุไม่เกิน 32 ปี หรือถ้าเป็นผู้หญิงอายุต้องไม่เกิน 35 ปี. สำหรับผู้ที่รับใช้อยู่ในกองทัพ หรือผู้ที่มาจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ อายุต้องไม่เกิน 35 ปีเช่นกัน

อันดับที่สอง การสอบเข้ามหาวิทยาลัย. จนกระทั่งปี ค.ศ.1996 การสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทั้งหมดได้รับการบริหารจัดการโดย กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม(MOET). การสอบจะแบ่งออกเป็น 4 วิชา และนักเรียนจะนั่งสอบรวมในวิชาดังกล่าวที่เหมาะสมกับแต่ละคณะในมหาวิทยาลัย, วิทยาลัย, หรือสถาบันการศึกษาที่นักเรียนมีความประสงค์จะเข้าเรียน. ในแต่ละปี นักเรียนจะได้รับอนุญาตให้นั่งสอบเพื่อเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงคณะเดียวเท่านั้น

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยต่างๆ และสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ใช้กระบวนการคัดเลือกการเข้ามหาวิทยาลัยโดยการสอบ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง. ภายใต้ระบบเก่ามีเพียง 1 ใน 15 คนเท่านั้นที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ตัวเลขทั้งหมดนี้ใช้ไม่ได้กับระบบใหม่ แต่สถิติการสมัครเข้าเรียนในแต่ละมหาวิทยาลัยระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวง่ายที่จะพิจารณาว่าเป็นการรับเข้าศึกษาจริง แต่นักเรียนบางคนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเล่าเรียนต่างๆ. แต่ละสถาบันการศึกษาในปัจจุบัน ได้รับการอนุญาตให้กำหนดคะแนนขั้นต่ำในการสอบไล่ระดับมัธยมปลาย ในฐานะที่เป็นการมีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกให้เข้าสอบมหาวิทยาลัย และนักเรียนที่มีสิทธิ์ดังกล่าวอาจสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกินกว่าหนึ่งแห่งได้

ทุกวันนี้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 4 หมวดวิชา ซึ่งเป็นไปตามความรู้ทางการศึกษา นักเรียนจะวางแผนและปฏิบัติตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดวิชาสอบขึ้น หมวดวิชาต่างๆ ของการสอบและการทดสอบในวิชาทั้งหลาย มีดังต่อไปนี้

Group A: มีการทดสอบด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี
(สำหรับนักเรียนที่สนใจด้านวิศวกรรม, วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์, ฟิสิกส์ เป็นต้น)

Group B: ทดสอบความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์, เคมี และชีววิทยา
(สำหรับนักเรียนที่จะเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และทางด้านธุรกิจ)

Group C: ทดสอบความรู้ทางด้านวรรณคดี ประวัติศาสตร์ และชีววิทยา
(สำหรับนักเรียนที่สนใจทางด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์)

Group D: ทดสอบความรู้ทางด้านวรรณคดี, คณิตศาสตร์และภาษาต่างประเทศ
(สำหรับนักเรียนที่สนใจด้านภาษาต่างประเทศ รวมทั้งการศึกษา การแปลและการถอดความภาษา)

ผลลัพธ์ต่างๆ เกี่ยวกับการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย จะกำหนดหมวดหมู่นักเรียนตามที่พวกเขาสมัครใจเข้าศึกษาภายใต้กรอบนั้นๆ

หมวดหมู่ต่างๆ ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา
CATEGORIES OF HIGHER EDUCATION STUDENTS
โปรแกรมการศึกษาขั้นสูงของเวียดนาม ถูกจำแนกให้แตกต่างทางประวัติศาสตร์ด้วยความยืดหยุ่นของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการศึกษาด้านสายอาชีพและทางด้านเทคนิค เช่น หลักสูตรสำหรับคนที่ทำงานแล้ว, มีทั้งโปรแกรมระยะสั้น, หลักสูตรเร่งรัด, และโปรแกรมปรับปรุงความรู้ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของระบบ และยังคงเป็นระบบการศึกษาขั้นสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง อันนี้ถูกบีบบังคับให้สถาบันการศึกษาตระเตรียมและนำเสนอโปรมแกรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีขึ้นมาโดยตลอด

Regular full-time students ("sinh vien chinh quy dai han"):
นักศึกษาเต็มเวลาปรกติ: นักศึกษาปรกติที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย หมายถึงคนที่สอบผ่านตามบรรทัดฐานการคัดเลือกตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนด คนเหล่านี้อาจได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาบางส่วน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะจ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้นของต้นทุนการศึกษาจริงในระดับปริญญาตรี

บรรดานักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตร์สำเร็จการศึกษา หรือใบปริญญาที่ได้รับการรับรอง เรียกว่า "chinh quy." ส่วนปริญญาก่อนหน้านี้ เรียกว่า "dai han" ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าได้ผ่านโปรแกรมการศึกษามายาวนาน ซึ่งปรกติแล้วเป็นการเรียนแบบเต็มเวลา. เพียงนักศึกษาที่จบการศึกษาจากโปรแกรมตามปรกตินี้เท่านั้น ที่มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในประเทศเวียดนาม และจะต้องศึกษาต่อจากคณะที่ตนเองสำเร็จมาในระดับปริญญาตรีเท่านั้น. นักศึกษากลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดของกลุ่มการศึกษาชั้นสูง 5 กลุ่ม แต่เริ่มที่จะลดจำนวนเปอร์เซนต์ลงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สำหรับผู้ที่เรียนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ

In-service ("tai chuc"):
หลักสูตรสำหรับคนที่ทำงานแล้ว หลักสูตรสำหรับนักศึกษาที่มีงานประจำทำแล้ว ถือเป็นอีกโปรแกรมการศึกษาหนึ่งที่สร้างขึ้นมาเป็นอย่างดีในประเทศเวียดนาม. ในระบบการศึกษาซึ่งแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน คนที่มีงานทำแล้วและมาเป็นนักศึกษา บางครั้งเรียกว่า "นักศึกษาไม่เต็มเวลา" คนพวกนี้จะเรียนหลักสูตรสั้นๆ ขณะที่อยู่ในช่วงที่มีงานประจำทำอยู่ ส่วนใหญ่แล้ว บรรดานักศึกษาเหล่านี้เป็นพวกข้าราชการพลเรือน ที่ได้รับการอุดหนุนโดยหน่วยงานราชการที่พวกตนสังกัดอยู่. คนเหล่านี้จะศึกษาเพื่อไปใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงทักษะการทำงาน หรือเตรียมตัวที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งงานที่ยากและต้องรับผิดชอบสูงขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความสำเร็จของโปรแกรมการศึกษาของพวกเขาที่ได้รับการฝึกอบรมมา

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ วิธีปฏิบัติดังกล่าวถือเป็นหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคนทำงานให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นอย่างเข้มงวด แต่การจัดการปัจจุบันยังคงค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในด้านการศึกษา. หลักสูตรพวกนี้ที่ดำเนินการอยู่ ปรกติแล้วจะเน้นลงไปที่ประสบการณ์ภาคปฏิบัติ มากกว่าความรู้ทางด้านทฤษฎีหรือในทางวิชาการ. นักศึกษาทั้งหลายที่สำเร็จปริญญาหรือได้รับประกาศนียบัตรในหลักสูตรการศึกษานี้ จะได้รับปริญญาโท แต่จะได้รับการรับรองในฐานะมหาบัณฑิตแบบไม่เต็มเวลา ที่เรียกว่า "tai chuc."

Open:
หลักสูตรที่เปิดทั่วไป (นักศึกษาหลักสูตรพิเศษ) หลังปี ค.ศ.1988-89 มีการรวมตัวกันอันหนึ่งของปัจจัยต่างๆ รวมถึงการละทิ้งเงื่อนไขการรับประกันการจ้างงานสำหรับการจบปริญญา และรัฐบาลตระหนักถึงความต้องการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะหาทุนให้กับมหาวิทยาลัยของตนเอง เพื่อการขยับขยายภารกิจที่สำคัญด้านการศึกษา ด้วยเหตุนี้จึงมีการก่อตั้งหลักสูตรที่เปิดทั่วไป (open program) ขึ้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

บรรดานักศึกษาที่เข้าเรียนหลักสูตรเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความสามารถของพวกเขาในการจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ในบางกรณีคนที่เรียนหลักสูตรดังกล่าวเกือบไม่ได้รับการยอมรับนับถือในทางวิชาการใดๆ เลย. โดยทั่วไป หลักสูตรข้างต้นและครูผู้สอนก็คือผู้ที่สอนทั้งนักศึกษาภาคปรกติและภาคพิเศษ แต่ชั้นเรียกของพวกเขาจะไม่ปะปนกัน. สำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเปิดพิเศษนี้ จะได้รับประกาศนียบัตรระดับปริญญาโท ซึ่งได้รับการรับรองในชื่อว่า"mo rong". โดยทั่วไปแล้ว ปริญญาเหล่านี้ไม่มีสถานะที่สูงส่งใดๆ และเท่าที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาที่สูงขึ้นไป

มีการให้เหตุผลว่า การรู้ถึงคุณภาพต่ำของหลักสูตรเปิดพิเศษได้ไปลดระดับความน่าเชื่อถือของปริญญาตามปรกติจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน และเงินที่ได้มานั้นมิอาจชดเชยความตึงตัวเกี่ยวกับการนำไปใช้จัดหาทรัพยากรต่างๆ ได้. ตามข้ออภิปรายนี้ กระทรวงศีกษาธิการและการฝึกอบรมเวียดนามได้มีการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระบบนักศึกษาภาคพิเศษเหล่านี้. แต่อย่างไรก็ตาม การรับเข้าศึกษาในหลักสูตรเปิดภาคพิเศษ ไม่ได้ใช้บังคับควบคุมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอยและโฮจิมินห์ รวมถึงวิทยาลัยชุมชนและวิทยาลัยที่สอนระดับอนุปริญญาต่างๆ

บรรดามหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรภาคพิเศษจะให้การศึกษากับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งออกแบบขึ้นมาเพื่อการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านสติปัญญา มากกว่าพัฒนาการทางด้านวิชาชีพ. สถาบันการศึกษาเหล่านี้เพิ่งจะดำเนินการได้เพียง 3-4 ปีเท่านั้น ด้วยเหตุดังนั้น มันจึงค่อนข้างจะเร็วเกินไปที่จะประเมินถึงคุณภาพของการศึกษาหลักสูตรดังกล่าว

Part-time:
นักศึกษาแบบไม่เต็มเวลา โดยทั่วไปแล้ว มหาวิทยาตามปรกติไม่ได้มีโปรแกรมการรับนักศึกษาเข้าแบบเปิด แต่บรรดามหาวิทยาลัยทั้งหลายได้รับสิทธิและอำนาจที่จะเสนอโปรแกรมการศึกษาแบบไม่เต็มเวลา ซึ่งเปรียบเทียบได้กับมาตรฐานความต้องการของโปรแกรมการศึกษาแบบปรกติ. กระทรวงศีกษาธิการและการฝึกอบรม(MOET)กำลังกระตุ้น ให้การสนับสนุนการแผ่ขยายการรับสมัครเข้าเรียนในโปรแกรมการศึกษาแบบไม่เต็มเวลานี้ และเปิดโปรแกรมการศึกษาเตรียมวิทยาลัย(college-preparation)ใหม่ๆ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่ได้มีการตระเตรียมความรู้ทางวิชาการเพื่อเข้าสู่โปรแกรมการศึกษาภาคปรกติ ส่วนประกาศนียบัตรของโปรแกรมการศึกษาดังกล่าวจะเป็นอย่างไรนั้น ขณะที่เขียนรายงานฉบับนี้ยังไม่ได้มีการระบุ

Short-term Training ("ngan han chuyen tu"):
การฝึกอบรมนักศึกษาช่วงระยะเวลาสั้นๆ บรรดานักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเทคนิคหรืออาชีวะที่มีหลักสูตรการฝึกอบรมแบบ 2-3 ปี และได้รับประกาศนียบัตรหรือใบรับรอง สามารถที่จะทำการปรับปรุงการศึกษาและได้รับปริญญาภายหลังเรียนต่ออีก 3 ปี มากกว่าจะต้องเรียนถึง 4-5 ปีแบบนักศึกษาปรกติที่เข้ามหาวิทยาลัยโดยตรงหลังจากจบชั้นมัธยมปลาย

Specialized or Retraining Courses ("boi duong va dao tao lai"):
การฝึกอบรมความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มเติม นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการปรับปรุงยกระดับคือ พวกที่จบจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในอดีต และกำลังทำการฝึกอบรมความรู้ใหม่เพื่อเป็นการเพิ่มเติม บ่อยครั้งในกระบวนวิชาต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเรียนหรือสอนกัน ทั้งนี้เพื่อที่จะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเพื่อตระเตรียมตัวของพวกเขาเองสำหรับงานใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมการศึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ถือเป็นวิชาธรรมดาที่ปัจจุบันมีการศึกษาโดยผู้คนทั้งหลายที่จบมาจากสาขาวิศวกรรม และสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป

ค่าธรรมเนียมการศึกษา, ทุนการศึกษา และเงินกู้ยิมสำหรับนักศึกษา
TUITION FEES, SCHOLARSHIPS AND LOANS FOR STUDENTS
สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศเวียดนามได้รับอนุญาตให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา อันนี้ขึ้นอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์ของรัฐบาลที่มีต่อเรื่องของระดับค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ยังมีการจัดหมวดหมู่ต่างๆ ของนักศึกษาเพื่อมีการเสียค่าธรรมเนียมลดหย่อน หรือได้รับการยกเว้นจากการจ่ายค่าธรรมเนียมทั้งหมดด้วย และรวมถึงระเบียบการที่สถาบันการศึกษาต่างๆ จะใช้ประโยชน์จากเงินค่าธรรมเนียมทั้งหลายที่เก็บได้

ภายใต้กฎเกณฑ์เหล่านี้ สถาบันการศึกษามีมาตรการหนึ่งเกี่ยวกับการไตร่ตรองอย่างรอบคอบในการพิจารณาเรื่องอัตราการเสียค่าธรรมเนียม แต่สถาบันการศึกษาทั้งหลายได้ถูกเรียกให้ต้องรายงานเกี่ยวกับรายได้ต่อกระทรวงหรือหน่วยงานระดับจังหวัด ซึ่งจะคอยทำหน้าที่ดูแลตรวจสอบการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยต่างๆ. ปัจจุบัน ค่าธรรมเนียมการศึกษาถูกเรียกเก็บสำหรับการให้บริการพิเศษทั้งหลายด้วย อย่างเช่น ค่าธรรมเนียมการสอบเข้ามหาวิทยาลัย, ค่ากระดาษสอบและกระดาษคำตอบ, ค่าอยู่กิน, และค่าปริญญาบัตร. นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาต่างๆ ยังอาจจะทำสัญญาเกี่ยวกับการฝึกอบรมร่วมกับบรรดานายจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเพื่อตระเตรียมฝึกอบรมพนักงานหรือคนงานต่างๆ. สำหรับค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากการให้บริการเหล่านี้ ไม่ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว ด้วยเหตุนี้จึงมีการการเรียกเก็บและการจัดการแบบคุ้มทุนเต็มที่

นโยบายทั่วๆ ไปเกี่ยวกับเรื่องค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียม มิได้มาจากฐานรายได้ของครอบครัวนักศึกษาเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องจ่ายเท่าใด. ในระดับอุดมศึกษา ระดับค่าธรรมเนียมนี้ขึ้นอยู่กับโปรแกรมการศึกษาที่แตกต่างกัน อันเป็นการสะท้อนถึงต้นทุนจริงของการจัดการในกระบวนวิชาต่างเป็นอันดับแรก ขณะที่การจัดหมวดหมู่นักศึกษาเป็นการเฉพาะ รวมถึงบรรดาผู้พิการจากสงคราม, เด็กกำพร้า, และชนกลุ่มน้อย, อาจได้รับการยกเว้นในการเสียค่าธรรมเนียม

ในความเอาใจใส่เกี่ยวกับเรื่องของความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางการศึกษา รัฐบาลได้มีการให้ทุนการศึกษา และเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการจัดทำแผนการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาขึ้น บนพื้นฐานของโครงการนำร่อง เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจน หรือครอบครัวของพวกเขาไม่สามารถที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมได้ หรือไม่มีเงินพอสำหรับทุนส่วนตัวเกี่ยวกับการศึกษาทั่วๆ ไป

โอกาสทางการศึกษาในโพ้นทะเล
OVERSEAS STUDY OPPORTUNITIES
ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยทั้งหลายของเวียดนาม และในข้อเท็จจริงระบบการศึกษายุคสมัยใหม่ของพวกเขาจะเป็นสิ่งใหม่, อีกช่องทางหนึ่งซึ่งรัฐบาลทำให้การศึกษาหลังปริญญาตรีเป็นไปได้ก็คือ โดยผ่านโอกาสทางการศึกษาโพ้นทะเลหรือการศึกษาในต่างประเทศ. ผู้นำทางการเมือง, ผู้นำทางเศรษฐกิจและสังคมส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ของเวียดนาม คือผลผลิตของการศึกษาจากต่างประเทศ และอันนี้จะยังคงใช้ได้อย่างต่อเนื่องที่รัฐบาลจะคงจัดสรรทุนให้กับนักศึกษาที่ฉลาดที่สุด มีโอกาสมากสุดก่อนใครในการศึกษาต่อยังต่างประเทศ

ในปี ค.ศ.1951 เวียดนามได้ส่งนักศึกษากลุ่มแรกของตนไปศึกษายังประเทศสหภาพโซเวียด และถัดจากนั้นก็ส่งไปศึกษายังประเทศสังคมนิยมอื่นๆ. ประเทศสังคมนิยมต่างๆ เหล่านี้ได้ช่วยฝึกฝนอบรมนักศึกษาระดับปริญญาตรีกว่า 30,000 คน, 13,500 คนสำหรับนักศึกษาปริญญาโท, 25,000 คนสำหรับบรรดานักเทคนิค และอีกหลายพันคนของบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างๆ

ในปี ค.ศ.1989 ด้วยการล่มสลายของคอมมิวนิสม์ในสหภาพโซเวียด บรรดานักศึกษาเวียดนามได้ถูกส่งตัวกลับจากประเทศทั้งหมดเหล่านี้. จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ มันมีโอกาสน้อยมากสำหรับนักศึกษาเวียดนามทั้งหลายที่จะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ทำให้เกิดช่องว่าง 10 ปีขึ้น ระหว่าง "คนเหล่านั้นที่กลับมาพร้อมกับใบปริญญาหลายหลากจากบรรดาประเทศคอมมิวนิสท์ก่อนหน้า" กับ "คนเหล่านั้นที่มีโอกาสทางการศึกษาในต่างประเทศทุกวันนี้". ปัจจุบัน มีทุนเล่าเรียนอย่างเต็มที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จัดให้กับการศึกษาโพ้นทะเล (ข้อมูลเก่า)

- ในแต่ละปี มีทุนการศึกษาจากรัฐบาลคานาเดียนประมาณ 10 ทุนเท่านั้น
- ทุนการศึกษา 70 ทุนสำหรับการศึกษาในประเทศอังกฤษ
- 200 ทุนในประเทศฝรั่งเศส,
- 150 ทุนสำหรับออสเตรเลีย,
- ส่วนประเทศไทยให้ทุนการศึกษา 70 ทุนสำหรับหลักสูตรการศึกษาระยะสั้น และ 10 ทุนสำหรับหลักสูตรการศึกษาระยะยาว
- รัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนการศึกษา 60 ทุน และ
- สหรัฐอเมริกาได้จัดสรรทุน Fulbright Fellowships ให้ประมาณ 30 ทุนสำหรับนักศึกษาปริญญาโทเท่านั้น

นอกจากนี้ ประมาณสองเท่าของจำนวนทุนดังกล่าวข้างต้น(ประมาณ 1,200 ทุน) ถูกจัดสรรขึ้นมาสำหรับนักศึกษาเวียดนามโดยตรงจากมหาวิทยาลัยต่างๆ, มูลนิธิ หรือบริษัทและสมาคมต่างๆ ภายในประเทศ

ตัวเลขประมาณการอีกตัวหนึ่งคือ นักศึกษาประมาณ 5,000 คนกำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศในแต่ละปี โดยทุนการศึกษาจากสถาบันหรือโดยผ่านทุนส่วนตัวของพวกเขา. ประมาณครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้กำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา และท่ามกลางความรู้สึกของคนเหล่านั้นโดยทั่วไปที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศต่างๆ ก็คือ พวกเขามีความโน้มเอียงที่จะลงทุนทางการศึกษาในสหรัฐฯ มากกว่าที่อื่น

นักศึกษาเวียดนามในสหรัฐอเมริกา
VIETNAMESE STUDENTS IN THE UNITED STATES
ข่าวสารข้อมูลในบทสรุปนี้ รับมาจากรายงานการกำหนดสถานะและตำแหน่งของประเทศ ประจำปี 1995/96 ที่นำเสนอโดยสถาบันการศึกษานานาชาติ โดยผ่านการอนุญาตจาก USIA, E/ASA. รายงานเหล่านี้ได้รับการวางรากฐานอยู่บนข้อมูลที่รวบรวมมาจากการสำรวจประจำปี ของมหาวิทยาลัยต่างๆ สำหรับใช้ในการตีพิมพ์ Open Door. อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยที่ขานรับต่อการสำรวจอันนี้ และทุกมหาวิทยาลัยที่ตอบรับต่อการสำรวจก็ไม่ได้นำเสนอถึงความล้มเหลวใดๆ ออกมา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่หายไปจากรายงาน แม้ว่าจะมีนักศึกษาเวียดนามกำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบันก็ตาม. ข้อมูลต่อไปนี้ได้รับการคัดสรรมาจากรายงานการกำหนดสถานะฯของประเทศ ฉบับปี 1995-96

นักศึกษาเวียดนามราว 790 คน (จากจำนวน 922 คน)กำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยสมัครเข้าเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ 216 แห่ง. มหาวิทยาลัยกลางฟลอริดา(The University of Central Florida) มีนักศึกษาอยู่ประมาณ 92 คน (12%) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ. เมื่อจัดลำดับแล้ว เวียดนามเป็นประเทศในลำดับที่ 66 ของประเทศทั่วโลกที่มีนักศึกษาเรียนอยู่ในสหรัฐอเมริกา

45% ของชาวเวียดนาม ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยซึ่งติดอยู่ใน 20 อันดับยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าดูโดยถัวเฉลี่ยแล้วเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษา ก็คือ มีนักศึกษาเวียดนาม 4 คนต่อ 1 มหาวิทยาลัย. ฟลอริดาเป็นรัฐยอดนิยมมากสุดของบรรดานักศึกษาเวียดนาม (ดังตัวเลขข้างต้น)(96 คน หรือ12%). ส่วนรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมรองลงมาของนักศึกษาเวียดนามคือ แคลิฟอร์เนีย(87 คน), แมรี่แลนด์ 78 คนหรือ 10%, เท็กซัส (73 คนหรือ 9%), และนิวยอร์ค (33 คน หรือ 4%). 47% ของนักศึกษาเวียดนามซึ่งสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ ต่างมุ่งให้ความสนใจใน 5 รัฐข้างต้นนี้

55% ของคนเวียดนามทั้งหมดกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี. ส่วน 18% ได้มีการสมัครเรียนในโปรแกรมระดับปริญญาโท ขณะที่ 11% ระบุว่าเป็นนักศึกษาที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองอยู่โดยไม่ระบุปริญญา

หมายเหตุท้ายสุดคือ ข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับระบบการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นสิ่งซึ่งหาได้สำหรับนักศึกษาเวียดนามที่มีความสนใจ และมีนักศึกษาจำนวนมากกำลังหวนกลับจากสถาบันการศึกษาในอเมริกา, จำนวนผู้คนในเวียดนามที่สมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในเวียดนาม ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก. ความสนใจในด้านการศึกษาได้ขยายวงอย่างกว้างขวางไปทั่วทั้งประเทศเวียดนาม และอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ 2 ประการจากด้านของเวียดนามได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือ กระบวนการให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทาง(passport)เพื่อไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และวีซ่าขาออกจากเวียดนามก็ไม่ต้องใช้อีกต่อไปแล้ว. อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากยังคงมีอยู่ในฝ่ายของสหรัฐฯ นั่นคือ

1. การเข้าถึงข้อมูลฟรี, ข้อมูลที่ทันสมัย และความเที่ยงตรงแม่นยำของข้อมูล และ
2. การเผชิญกับพิธีการทางกงสุลของสหรัฐฯ ในการขอรับวีซ่านักศึกษา

สถาบันการศึกษานานาชาติในเวียดนาม ได้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำฟรีสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ และยังนำเสนอและขยับขยายบริการของมันไปครบวงจรสำหรับนักศึกษาที่วางแผนการศึกษาในประเทศสหรัฐฯ. เราหวังว่าบรรดานักศึกษาจะเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารมากขึ้น ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถเลือกสรรโปรแกรมการศึกษาได้อย่างเหมาะสม และได้รับวีซ่าพร้อมทั้งถูกรับเข้าศึกษาได้ตรงกับความต้องการ. นอกจากนี้สำนักงานเวียดนามข้างต้น ยังได้จัดหาบริการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในอเมริกาที่สนใจในการเรียนรู้เกี่ยวกับเวียดนาม, ระบบการศึกษา, และบรรดานักศึกษาชาวเวียดนามทั้งหลายอย่างต่อเนื่องด้วย

+++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก

(1) Universities and colleges in Vietnam are known by a number of English terms, including university, colleges, institute and polytechnic; even "school" is sometimes used. However, in Vietnamese, the institutional title includes the words "dai hoc" meaning that the institution offers a four-year degree program or higher. Non-university-level tertiary institutions use the words "cao dang" meaning they offer associate-type degrees only. Today, most educators in Vietnam use the English term junior college or community college in indicate the "cao dang" institutions

(2) MOET is currently considering whether to phase out the separate general education college at each university in favor of allowing universities to assign part of a teacher's time to teaching general education courses along with their other specialized course assignments.


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

แม้จะมีการรู้หนังสือของผู้คนจำนวนมากขึ้น และมีการสมัครเข้าเรียนอย่างมากมายในเวียดนามทุกวันนี้ (โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างที่ค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับชาย-หญิงที่เข้าสู่ระบบการศึกษา) อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการอ่านออกเขียนได้แล้ว ก็ยังคงมีอุปสรรคอยู่อย่างกว้างขวางในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือในส่วนภูมิภาคที่ห่างอยู่ห่างไกลต่างๆ. พื้นที่ทางตอนหนือซึ่งมีสภาพเป็นภูเขา เป็นตัวอย่าง โดยรายงานฉบับหนึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการรู้หนังสือว่ามีเพียง 49% เท่านั้น และในจังหวัดนี้จำนวนของผู้รู้หนังสือที่เป็นชายมีมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า.
10-05-2550

Vietnam - Education
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.