โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 06 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๔๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 06, 05,.2007)
R

ตัดสินใจด้วยกัน : พลังของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
Public Deliberation: การร่วมหารือเพื่อการตัดสินใจ (ตอนที่ ๑)
พิกุล สิทธิประเสริฐกุล : แปล
โครงการชีวิตสาธารณะและเมืองน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

บทความแปลชิ้นนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้แปล เดิมชื่อ
ตัดสินใจด้วยกัน : พลังของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
Making choices together: The Power of Public Deliberation

เขียนโดย : Kettering Foundation - แปลโดย : พิกุล สิทธิประเสริฐกุล
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการหารือสาธารณะ เพื่อแสวงหาฉันทามติบนทางเลือกต่างๆ อย่างใช้วิจาณญาน
โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง คุณค่า และผลที่จะตามมาในการตัดสินใจ โดยแบ่งเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้
1. คนที่ใช้วิจารณญาณสาธารณะ
2. ประวัติของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
3. ทำไมต้องใช้วิจารณญาณ
4. อะไรคือ การใช้วิจารณญาณสาธารณะและมันต่างกันอย่างไร
5. อะไรคือผลผลิตของการใช้วิจารณญาณ
6. เราทำอะไรได้บ้างจากผลผลิตของการใช้วิจารณญาณ
7. การใช้วิจารณญาณจะเปลี่ยนความคิดเห็นของเราที่มีต่อความคิดเห็นของคนอื่น
8. กรณีที่จะใช้วิจารณญาณสาธารณะ
9. การใช้วิจารณญาณเพิ่มความสามารถของชุมชนในการกระทำการร่วมกัน
10. การเป็น ผู้ดำเนินการประชุม สำหรับการใช้วิจารณญาณ
11. การจัดเวทีพูดคุย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๔๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ตัดสินใจด้วยกัน : พลังของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
Public Deliberation: การร่วมหารือเพื่อการตัดสินใจ (ตอนที่ ๑)

พิกุล สิทธิประเสริฐกุล : แปล
โครงการชีวิตสาธารณะและเมืองน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา



ตอนที่ ๑

1. คนที่ใช้วิจารณญาณสาธารณะ
เด็กวัยรุ่นทั่วอเมริกากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เดินไปมาตามถนนโดยไม่มีอะไรทำ นอกจากหาเรื่องใส่ตัว แต่ที่ Birmingham รัฐ Alabama เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่คนที่นั่นได้ทำมากไปกว่าการนั่งวิตกกังวลและบ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้. แต่ละปี มีนักเรียนช่วงอายุ 11 - 15 ปี ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีทำร้ายร่างกาย และคดีที่เกี่ยวข้องกับปืน, มีด หรืออาวุธอื่นๆ ที่ดีที่สุดที่เด็กพวกนี้จะทำได้ คือ การกลับเข้าโรงเรียนใหม่ในเทอมหน้า โดยถูกตราหน้าว่าเป็น "ตัวสร้างปัญหา" และต้องเรียนซ้ำชั้น

เมื่อ Peggy F. Sparks ผู้อำนวยแผนกการศึกษาชุมชน ของโรงเรียนใน Birmingham ตั้งคำถามว่า "คุณจะทำอะไรกับเด็กเหล่านั้นได้บ้าง?" เพื่อหาคำตอบสำหรับปัญหานี้ Spark ได้จัดให้มีเวทีพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ของเมือง และเจ้าหน้าที่จากองค์กรเยาวชนมาร่วมเป็นผู้ดำเนินการประชุมและทำหน้าที่บันทึกรายงาน ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้คนเหล่านี้ได้เข้าร่วม แต่ไม่ทำให้การประชุมเป็นไปแค่การทำประชาพิจารณ์

ผู้ดำเนินการประชุม กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมทุกวัย ได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงแนวทางต่างๆ ที่จะใช้แก้ปัญหานี้ ไม่เพียงแค่ 1 หรือ 2 แนวทางเท่านั้น วัตถุประสงค์คือ สร้างข้อตกลงร่วมสำหรับการปฏิบัติการ (common ground for action) นั่นเอง. ทิศทางหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมพอใจคือ การทำโครงการ CARES - Comprehensive At Risk Education Services (ความห่วงกังวล-ความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงของบริการการศึกษา) ดำเนินการโดยกลุ่มวัยรุ่นจากโรงเรียนมัธยม 8 แห่ง จำนวน 350 คน ทำหน้าที่เป็นที่สภาปรึกษา และมีการประชุมทุกสัปดาห์

โครงการอื่นๆ ที่เกิดจากเวทีหารือนี้ คือ โครงการจ้างงานวัยรุ่น และแคมป์ Birmingham ที่ดำเนินการโดยวัยรุ่น สำหรับเยาวชนรายได้น้อย. อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จสูงสุดของ CARES คือ การให้โอกาสเยาวชนได้เรียนรู้ในการหาทางเลือกสำหรับเรื่องยากๆ ร่วมกัน โครงการนี้ทำให้ Spark เข้าใจมุมมองของเยาวชนต่อปัญหาของพวกเขามากขึ้น และช่วยให้เธอและแผนกของเธอรู้ว่าจะทำให้เยาวชนเหล่านั้น เข้าร่วมในการแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างไร

กรณีตัวอย่าง 1
สำหรับคนส่วนใหญ่ เป็นการขอที่ธรรมดามาก เมื่อเด็กหญิงอายุ 3 ขวบขอให้พ่อของเธออ่านหนังสือให้ฟัง แต่เมื่อ Walter Miles พยายามแกล้งทำเป็นอ่านนิทานเรื่องนั้น ลูกสาวของเขารู้ว่ามันไม่ใช่เนื้อหาอย่างที่เธอเคยได้ยิน และนั่นทำให้เขาตัดสินใจว่าจะต้องเรียนรู้การอ่านหนังสือให้ได้

ช่างเครื่องยนต์อายุ 41 ปี เข้าร่วมโครงการรู้หนังสือที่ San Francisco ที่ซึ่งเขาไม่เพียงเรียนการอ่านหนังสือ แต่ยังเรียนรู้ในการเข้าร่วมกับคนข้างเวที ตามภาษาของเขาโดยการช่วยเหลือของครู เขาได้อ่านหนังสือชุดสั้นๆ เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ เช่น เสรีภาพในการพูด และค่ารักษาพยาบาลราคาแพง หลังจากนั้น เขาเข้าร่วมเวทีพูดคุยแบบที่ใช้วิจารณญาณสาธารณะซึ่งจัดโดยสภาผู้รู้หนังสือ เพื่อพยายามตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ร่วมกับผู้อื่น

ตอนแรกเขาเพียงแต่ฟังการพูดคุยเท่านั้น ต่อมาเขาถามตัวเองว่า "เราจะเข้าร่วมเกี่ยวข้องด้วย หรือจะไม่ยุ่งกับมันดี" เพราะหลายปีมาแล้วที่เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาต้องทำคือ แค่ดูแลมุมเล็กๆ ที่เขาอยู่ให้ดี แต่เมื่อเขาได้เริ่มพูดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ "เสรีภาพในการพูดหมายความว่าอะไร" เขาพบว่า การเก็บความคิดเห็นไว้กับตัวเอง ทำให้เขาเจ็บปวดมากกว่าที่คิด. "ฉันตัดสินใจว่า โลกของฉันจะสงบสุข และไม่ถูกรบกวนได้อย่างไร ถ้าส่วนที่เหลือไม่สงบสุข ฉันจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนข้างเวทีเหล่านี้"

ทุกวันนี้ Miles ได้เข้าร่วมอย่างแข็งขันกับโครงการ Key to Community ซึ่งกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวเข้าร่วมการเลือกตั้ง. "พวกเขาบอกฉันว่าเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ ที่จะไปลงคะแนน… ทำไมจะต้องไปยุ่งด้วยล่ะ? ฉันบอกพวกเขาว่าฉันก็รู้สึกเช่นเดียวกัน แล้วเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ฟัง รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าการเลือกทางเลือกวันนี้ ทำให้เกิดผลในอนาคตได้อย่างไร และโดยการไม่เข้าร่วมในวันนี้ จะทำให้พวกเราต้องเสียใจในอีก 10 ปีข้างหน้า ฉันไม่ตระหนักถึงความจริงนี้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับฉัน จนอายุเข้า 30 ปี"

แม้ว่า Miles จะมีอารมณ์ขันในการเล่าถึงการต่อสู้ของเขา ดูเหมือนว่าเขากำลังทำเพื่อชดเชยกับเวลาที่เสียไป และใช้โครงการนี้ช่วยให้คนอื่นๆ ไม่ให้ผิดพลาดเหมือนกับที่เขาเป็น (คือไม่สนใจเรื่องบ้านเมือง) มีคนไม่มากนักที่รณรงค์เรื่องการออกมาเลือกตั้ง โดยใช้แนวทางวิจารณญาณสาธารณะ แต่ Miles ก็ทำ เพราะเห็นว่าการใช้วิจารณญาณสาธารณะ เปิดประตูให้กับชีวิตสาธารณะ

กรณีตัวอย่าง 2
ทุกคนในเวทีพูดคุยที่ Grand Rapids รู้เรื่องเด็กฆาตกรรมเด็ก ในเวทีนั้นมีหญิงคนหนึ่งเสียลูกชาย 2 คน ไปกับความรุนแรงที่ไร้สาระ คนหนึ่งถูกฆ่าตายในอพาร์ทเมนท์ของเขาเอง อีกคนถูกฆ่าขณะยืนอยู่ที่ตู้โทรศัพท์ เธอนั่งฟังอย่างเงียบขณะที่คนอื่นๆ กำลังหารือกันว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงในหมู่วัยรุ่นนี้ จนกระทั่งตอนท้ายของเวทีพูดคุย เธอพูดขึ้นอย่างนุ่มนวล แต่เป็นการสรุปสาระของการประชุมว่า "เราต้องทำอะไรบางอย่าง เราต้องร่วมกันหยุดยั้งความรุนแรงนี้"

หลายสัปดาห์ต่อมา คนที่รู้เรื่องของเธออาจจำเธอได้ในหน้าหนังสือพิมพ์ เธอได้เข้าร่วมงานกับเทศมนตรี เป็นผู้นำในการรณรงค์ที่นำไปสู่การกระตุ้นให้สาธารณะยินยอมจ่ายภาษีเพิ่ม เพื่อจ้างตำรวจเพิ่มอีก 95 คน สำหรับการตรวจตราความสงบของเมือง

เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การใช้วิจารณญาณสามารถทำให้คนเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาได้มากขึ้น เพราะพวกเขารวมพลังกันเพื่อนำไปสู่ความริเริ่มใหม่ๆ ของสาธารณะ พวกเขาบอกเล่าถึงผลจำนวนหนึ่งที่ได้จากการใช้วิจารณญาณ แต่ไม่ได้ลงลึกในสาระสำคัญของมัน ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยโครงการใหม่ๆ หรือการออกเสียงเพื่อเก็บภาษีเพิ่ม

เรื่องเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการใช้วิจารณญาณ นานเป็นสิบปีที่ Grand Rapids ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชน เรื่องราวในที่อื่นๆ อาจไม่ชัดเจนนัก ที่ประชาชนเข้ามาร่วมรับผิดชอบมากขึ้นในการหยุดยั้งปัญหาความรุนแรง แต่เรื่องราวบางเรื่อง อาจจะยังไม่สามารถเล่าสู่กันฟังได้ จนกว่าวัยรุ่นที่ Birmingham โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ดังเช่นที่ Walter Miles ที่เห็นศักยภาพของตัวเอง ที่จะลงมือปฏิบัติการในเรื่องส่วนรวมได้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้เข้าร่วมโครงการต่างๆ เท่านั้น

เราสามารถเขียนเรื่องราวเหล่านี้ได้ ถ้าเราพอจะเข้าใจว่าการใช้วิจารณญาณ คือ อะไร และรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งทางเลือกร่วมกัน และนี่คือจุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ กล่าวสั้นๆ ว่า การใช้วิจารณญาณ ไม่ใช่แค่เป็นการอภิปรายเพื่อส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน แต่เป็นวิธีการตัดสินใจที่ทำให้เราลงมือกระทำการร่วมกันได้ โดยจะถูกท้าทายให้เผชิญกับสิ่งที่ต้องแลกและผลพวงที่ไม่น่าพึงพอใจจากทางเลือกอื่นๆ และการทำงานเพื่อก้าวผ่านประเด็นที่อ่อนไหวนั้นด้วยกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจของสาธารณะ

2. ประวัติของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
ผลของการใช้วิจารณญาณไม่ใช่จะชัดเจนเหมือนเรื่องที่เล่ามาทุกครั้งไป บางคนกล่าวว่า ประโยชน์สูงสุดของการทำ "การใช้วิจารณญาณ" คือ การมีเวทีการประชุม ที่จะช่วยให้คนได้จัดการกับประเด็นที่เป็นนโยบายสาธารณะที่ซับซ้อน หรือเพื่อให้เข้าใจมุมมองที่แตกต่างกัน ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำกิจกรรมบางอย่าง บางคนอาจกล่าวว่า การมีส่วนร่วมทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากขึ้น เต็มใจที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมของพลเมืองมากขึ้น และบางคนกล่าวว่าหลังจากการหารือในเวทีซ้ำกันหลายครั้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการตัดสินใจ และการแก้ปัญหาของชุมชน การใช้วิจารณญาณซ้ำๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคน เกิดความเชื่อมั่น และในที่สุดสามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนได้

คนอเมริกันที่มีการใช้วิจารณญาณอยู่ทุกวันนี้ มีรากลึกมาจากแนวทางการปฏิบัติทางการเมืองที่เก่าแก่และมีลักษณะเฉพาะที่สุด ความจริงอาจกล่าวได้ว่า การใช้วิจารณญาณสาธารณะ คือ แรงผลักสำคัญในการสร้างประเทศนี้ขึ้นมา เวทีการใช้วิจารณญาณที่เรียกว่าการประชุมของเมือง เริ่มมีมามากกว่า 100 ปีที่แล้ว ก่อนการปฏิวัติและก่อนการสร้างประเทศ

ประชาธิปไตยของอเมริกาเกิดในช่วงปี 1730 ที่เมือง Dorchester รัฐ Massachusetts ที่นั่นมีทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งที่ลาดลงสู่อ่าว ทำให้เมืองนี้เป็นที่ที่วิเศษสุด สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ แต่ฝูงสัตว์กลับหนีออกนอกรั้ว ซึ่งทำให้เกิดปัญหา 2 ประการ คือ

1) จะปกป้องฝูงปศุสัตว์เหล่านั้นได้อย่างไร และ
2) จะตัดสินใจเลือกวิธีที่จะปกป้องได้อย่างไร

เมืองนี้ไม่มีรัฐบาลท้องถิ่นที่จะจัดการกับปัญหาแบบนี้ ไม่มีแม้เวทีที่จะหารือกันในเรื่องสาธารณะ ที่เดียวที่คนมาชุมนุมกัน คือ ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์ ซึ่งไม่ใช่ที่ที่จะมาหารือกันในเรื่องแบบนี้. น่าเสียดายที่ไม่มีการบันทึกเรื่องดังกล่าวไว้ให้เป็นหลักฐาน แต่เรารู้ว่า John Maverick และผู้นำชุมชนคนอื่นๆ ได้มาหารือกันเรื่องประชาธิปไตยของอเมริกา เราสามารถจินตนาการได้ว่า Maverick และผู้นำคนอื่นๆ พูดว่า "เรามีปัญหา เราต้องหารือกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ เอาเป็นว่ามาคุยกันวันจันทร์นี้เถอะ"

ที่โรงเรียน เราถูกสอนให้รู้จักคำที่น่าตื่นเต้น เช่น "ให้เสรีภาพแก่ฉัน หรือไม่ก็ความตาย" แต่กลับไม่มีใครให้ความสำคัญของการพูดว่า "เรามีปัญหา มาหารือกันเถอะ" ซึ่งควรสงวนไว้ให้เป็นสุนทรพจน์ชั้นเลิศของอเมริกา เพราะคนอเมริกันเกือบทุกคนเคยได้ยิน และได้พูดคำนี้ออกมาไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง. เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการประชุมครั้งแรกของเมือง ทำให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมือง นั่นคือ คนในสมัยอาณานิคมได้เริ่มมีการพบปะกันทุกเดือน ไม่เพียงแค่เมื่อปศุสัตว์ออกนอกรั้วเท่านั้น

การพบปะกันของคนที่เมือง Dorchester นี้ นำไปสู่การสร้างประเทศ ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของระบบการเมืองของอเมริกา นั่นคือ การประชุมของเมือง. แต่การประชุมของเมืองในสมัยแรกๆ ไม่เหมือนกันเลยกับการประชุมเมืองในยุคปัจจุบัน ที่เจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายพูด และบางครั้งตอบคำถาม เพราะการประชุมเมืองในสมัยนั้น เป็นโอกาสที่คนในเมืองจะได้สะท้อนหรือทบทวนและพิจารณาอย่างมีวุฒิภาวะถึงเรื่องราวต่างๆ

ชาวอาณานิคมในสมัยนั้น เลือกที่จะไม่รับเอารูปแบบการปกครองของอังกฤษ แต่กลับบริหารเมืองโดยการประชุมของเมือง การประชุมนี้ไม่ได้มีอำนาจในตัวเอง แต่เป็นอำนาจที่มาจากการตัดสินใจร่วมกันของคนในเมือง ที่จะกระทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ซึ่งเป็นความผูกพันให้ชาวอาณานิคมอยู่ด้วยกัน และเป็นรากฐานสำหรับความมุ่งมั่น และพากเพียรของพวกเขา

พลเมืองและองค์กรสาธารณะเหล่านี้ ดำเนินการต่อไปตลอดช่วงการปฏิวัติ และการสร้างประเทศ ในสมัยนั้น เกิดการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายระหว่างเมืองที่เป็นอาณานิคมต่างๆ เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง เครือข่ายนี้ตั้งขึ้นในปี 1772 โดย Samuel Adams ได้ตั้งคณะกรรมการ 21 คน เป็น "committee of correspondence" ในการสร้างพันธะกับเมืองอื่นๆ และเพื่อชี้แจงสถานภาพของอเมริกาต่อประชาคมโลก. ภายใน 15 เดือน เมืองอาณานิคมทุกเมือง ยกเว้น 2 เมือง ได้ก่อตั้ง"committee of correspondence" ของเมืองตัวเองขึ้นมา ซึ่งทำให้ประเพณีการหารือกันในแต่ละเมืองยิ่งมีมากขึ้น และการที่ให้เมืองเล็กๆ ได้มีส่วนในการกำหนดร่วมกัน ทำให้เกิดแบบอย่างของกระบวนการทางการเมืองที่มีพลัง

เมื่อถึงเวลาของการปฏิวัติอเมริกา สาธารณะเริ่มสนใจต่อคำถามว่า สงครามเพื่ออิสรภาพนี้จะสำเร็จหรือไม่ ในการต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่ามหาอำนาจของโลก Samuel Adams จากเมือง Braintree รัฐ Massachusetts ทำหน้าที่ยื่นข้อเสนอเพื่อประกาศเสรีภาพ ความเชื่อของ Adams เรื่องการประกาศอิสรภาพนี้ มีรากฐานจากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากผู้คนและพลังที่ได้จากในเวทีสาธารณะ ต่อคำถามถึงความกลัวที่จะล้มเหลวในการปฏิวัตินี้ เขาตอบว่า "แต่เราจะไม่ล้มเหลว หลักการที่เรากำลังต่อสู้เพื่อการปฏิวัตินี้ จะทำให้มีทหารเข้าร่วมรบกับเรา หากเราจริงใจกับประชาชน พวกเขาจะนำพาเรา จะนำพาพวกเขาเอง สู่ความรุ่งโรจน์ของการต่อสู้ครั้งนี้ ฉันไม่สนใจว่าใครจะเคยพบกับความเอาแน่ไม่ได้ของคนอื่นๆ แต่ฉันรู้จักคนของเราดี"

การประชุมของเมืองกระตุ้นให้ Thomas Jefferson ประกาศว่า "ความแข็งขันที่เกิดขึ้นในขบวนการปฏิวัติของเรานี้คือ การเริ่มต้นที่มีรากฐานมาจากสาธารณรัฐน้อยๆ แห่งนี้" เขาเชื่อว่าสาธารณรัฐแห่งนี้ ได้ทำให้ทั้งชาติมีการกระทำที่มีพลัง การพูดคุยกันของเมืองได้ให้เวลาที่เราต้องการสำหรับการสะท้อน (reflection) และการพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างใช้วิจารณญาณ ดังที่ John Adam ได้บอกแก่ภรรยาของเขาว่า "เป็นสิ่งจำเป็นในการเป็นยาแก้สำหรับการกระทำการที่รีบเร่ง" (ซึ่งอาจล้มเหลวได้)

ความเข้มแข็งของการประชุมของเมือง กลายมาเป็นความเข้มแข็งของรัฐธรรมนูญของอเมริกา แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวว่าสาธารณะจะแสดงตัวเองได้อย่างไร (นอกจากโดยการลงคะแนนเสียง) Thomas Jefferson มีความละเอียดอ่อนต่อการละไว้ไม่กล่าวถึงในประเด็นนี้ จึงกระตุ้นให้มีการประชุมของเมืองผ่านระบบที่เขาเรียกว่า "Ward system" เขาเข้าใจว่าหากไม่มีสถานที่สำหรับให้สาธารณะระบุสิ่งที่พวกเขาสนใจ หรือได้สร้างเสียงของตัวเองขึ้นมา รัฐบาลจะไม่สามารถปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่า "Ward system" จะไม่ถูกนำมาปฏิบัติ แต่ การประชุมของเมืองกลายเป็นประเพณีทางการเมืองของอเมริกา

การใช้วิจารณญาณสาธารณะ ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในองค์การของภาคประชาชน และองค์กรทางการศึกษาที่จัดให้มีเวทีประเด็นสาธารณะระดับชาติ (National Issues Forums : NIF)

ตั้งแต่ปี 1982 ได้เกิดเวทีการใช้วิจารณญาณขึ้นในชุมชนทั่วทั้งอเมริกา ซึ่งเวทีนี้ ได้นำพลเมืองมาพิจารณา หารือกัน เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เพื่อแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาเหล่านั้น. เวทีแบบที่ได้กล่าวมาแล้ว ที่ Bermingham, Sanfrancisco และ ที่ Grand Rapids เป็นการตอบสนองในระดับท้องถิ่น โดยเครือข่ายขององค์กร, กลุ่ม หรือศูนย์ต่างๆ ในท้องถิ่น

องค์กรเหล่านี้มักใช้ หนังสือประเด็นสาธารณะ (Issue books) ที่ Kettering Foundation และ Public Agenda ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นกลางได้จัดทำขึ้น หนังสือนี้รวบรวมประเด็นสำคัญต่างๆ จากทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับ อาชญากรรม, การงาน, การดูแลสุขภาพ, สิ่งแวดล้อม และการศึกษา

หนังสือนี้ รายงานถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวทีการใช้วิจารณญาณนับพันแห่ง เขียนถึงคำถามที่คนมักจะถามบ่อยที่สุด เมื่อตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเวทีการใช้วิจารณญาณสาธารณะดีหรือไม่ เช่น ทำไมต้องใช้วิจารณญาณ และ วิจารณญาณสาธารณะ คืออะไร และมันแตกต่างกันอย่างไร? อะไรกันแน่ที่เกิดขึ้นในเวทีพูดคุยประเภทนี้ และ การใช้วิจารณญาณสาธารณะ ทำให้เกิดอะไรขึ้น และมันดีอย่างไร? และเราจะเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร? เป็นต้น

3. ทำไมต้องใช้วิจารณญาณ
ถ้าถามคนรุ่นเก่าของ Dorchester คำถามนี้ อาจตอบง่ายๆ ว่า "เพื่อแก้ปัญหา" ถ้าถามคำถามนี้จากประวัติศาสตร์ทั้งหมดของชาติ คำตอบอาจเป็นว่า การใช้วิจารณญาณ สร้างความเป็นสาธารณะให้กับประชาธิปไตยของอเมริกา และให้สาธารณะได้นิยาม ผลประโยชน์ของสาธารณะ แน่นอนว่ามันไม่มีที่สิ้นสุดของบทบาทของการใช้วิจารณญาณ

ถ้าถามคำถามนี้กับคนที่กำลังจะไปเข้าร่วมเวทีในวันนี้ คุณจะได้ฟังเหตุผลว่า เข้าร่วมเพื่อการพัฒนาของตัวเอง ไปจนถึงเข้าร่วมเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง. เหตุผลบางอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว บางคนที่เข้าร่วมเวที ต้องการเรียนรู้ทักษะในการตัดสินใจแบบใหม่ ที่เขาสามารถใช้ได้ในฐานะพลเมือง เพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นเหล่านั้นให้ดีขึ้น และเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการทางการเมือง หรือเพื่อรับรู้ความรู้สึกของการเป็นกลุ่มเป็นพวก พวกเขาเหนื่อยหน่ายกับการเฝ้ามองมาจากภายนอก

บางคนมีชุมชนอยู่ในใจ หรือมีบทบาทของสถาบันของเขาในชุมชน เขาอาจบอกว่า เขาต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างของภาคประชาสังคม (civic infrastructure) หรืออาจบอกว่า สถาบันของเขากำลังทำบทบาทตัวกระตุ้นในชุมชน โดยการจัดให้มีเวทีพูดคุยกัน หรือเขากำลังหาแนวทางการทำงานที่ดีกว่าให้กับองค์กร หรือสถาบันของเขา บางคนอาจเข้าร่วมเพราะสนใจในเรื่องสาธารณะ บางคนอาจเห็นว่าเวทีพูดคุยเป็นหนทางในการกระตุ้นคนให้มาทำงานเพื่อชุมชน

หลายคนอาจเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ดำเนินไปในชุมชน และการพูดคุยกันของผู้คนในชุมชน พวกเขาต้องการวิธีการพูดคุยที่แตกต่างกันออกไป เมื่อคนเราสามารถพูดกันได้ในระดับที่เท่ากัน แม้ว่าพวกเขาจะมาจากส่วนต่างๆ ของเมือง บางคนอาจบอกว่าเขาต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องเป็นศัตรูของใคร และเขาต้องการโอกาสในการได้ยินเสียงของคนอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงวิธีการพูดคุย จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ ซึ่งสะท้อนจากทัศนะเหล่านี้

- "สิ่งที่คุณต้องการ คือ คนงานแบบฉัน และพนักงานดับเพลิงจากที่โน่น มาพูดคุยเรื่องอาชญากรรมด้วยกัน และตระหนักว่าคนอื่นๆ ไม่ได้เลวนัก เราจะหารือกัน ทัศนะคติของทั้งกลุ่มก็จะดีขึ้น"

- "ยิ่งเราเข้ามาพูดคุยด้วยกันมากขึ้น เรายิ่งพบว่าเรามีอนาคต และชะตากรรมร่วมกัน"

- อีกความเห็นหนึ่ง คือ "เราต้องการการพูดคุยที่สอนให้เราเกิดการนับถือกันและกัน หรือเรากำลังหาหนทางในการจัดการกับความขัดแย้งด้วยกัน"

ผู้คนมักมาที่เวทีพูดคุยเพื่อหาแนวทางที่แตกต่างกัน ในการจัดการกับเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ในชุมชน พวกเขาพูดว่า "เราห่วงใยเรื่องที่ชุมชนไม่ได้เห็นเป็นประเด็นร่วมกัน เหนื่อยหน่ายกับการที่เห็นประเด็นต่างๆ ถูกตั้งขึ้นอย่างแยกส่วน เราต้องการเห็นสุนทรียสนทนา (dialogue) ที่จะช่วยเราให้จัดการกับปัญหาได้ดีขึ้น เราต้องการเข้าใจ "พื้นที่สีเทา" ของการก่อรูปของปัญหา เราต้องการเปิดถนนสายใหม่สำหรับทำบางสิ่งบางอย่าง เราต้องการหนทางที่จะจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่คนจะกระทำได้ หรือเรากำลังมองหา จุดยืน ในการปฏิบัติการ"

ความสนใจในงานประชาสังคม ไม่ได้ทำให้หมดโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ เรามักพูดว่าเรากำลังมองหาวิธีที่ดีกว่าในการปกครอง หรือวิธีที่แตกต่างออกไปในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ คนเรามักพูดว่า พวกเขาใช้วิจารณญาณเพราะต้องการสร้างเสียงที่แท้จริงจากสาธารณะขึ้นในชุมชน และต้องการให้เจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงเหล่านี้

ไม่ใช่คนทุกคนจะเห็นว่าการใช้วิจารณญาณมีประโยชน์ บางคนอาจพบความคับข้องใจหลังจากการเข้าเวทีพูดคุย เพราะความคาดหวังของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ เมื่อเขาคิดว่าควรถูกยอมรับ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เชื่อว่าประโยชน์จะเกิดแบบสะสม และจะโน้มน้าวให้ผลการหารือกันของสาธารณะมีอิทธิพลในที่สุด และพวกเขาต้องการสิ่งที่ยั่งยืน ไม่เพียงการทำให้ดีขึ้น นั่นคือ เขาต้องการการเมืองที่แตกต่างออกไป

แก่นของความคิดเห็นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ การที่คนเราเห็นปัญหาที่คิดว่าต้องมีคนมากขึ้นเข้าไปร่วมกระทำ และเขาต้องการเข้าไปมีอิทธิพลมากขึ้นในการกระทำของสาธารณะต่างๆ เขาเห็นการใช้วิจารณญาณเป็นก้าวแรก ก่อนที่คนเราจะกระทำอะไรร่วมกันในนามของสาธารณะ พวกเขาต้องตัดสินใจว่า "ทำอย่างไร" ร่วมกันก่อน

4. อะไรคือ การใช้วิจารณญาณสาธารณะและมันต่างกันอย่างไร
เพื่อเพิ่มโอกาสให้เห็นว่าการตัดสินใจของเรานั้นรอบคอบ เราจึงไม่เพียงแค่ส่งเสียงพูดออกไป เพื่อโต้แย้งถึงทางแก้ปัญหา หรือทำความกระจ่างให้กับสิ่งที่เราเห็นเป็นคุณค่า เรายังต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงข้อดี - ข้อเสีย ของแต่ละทางเลือก นี่คือ การกล่าวถึง การใช้วิจารณญาณอย่างย่อๆ การใช้วิจารณญาณช่วยให้เรารู้ว่าการตัดสินใจของเรานั้นเหมาะสมหรือไม่ ช่วยให้เราตัดสินใจว่า เราจะเต็มใจรับเอาผลที่ตามมาของการกระทำที่เรากำลังจะเลือกหรือไม่

การอภิปรายทางการเมืองส่วนใหญ่ มักเป็นการโต้เถียงเรื่องราวที่เป็นข่าว ทำให้การเมืองกลายเป็นการต่อสู้แข่งขันที่ไม่มีวันจบ ผู้คนถูกกวาดไปเข้าข้างไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง พลังงานทั้งหมดถูกใช้ไปกับการเลือกว่าจะเข้าข้างหรือต่อต้าน "ใคร" หรือ "เรื่องใด" ดี

การใช้วิจารณญาณนั้นแตกต่างกัน มันไม่ใช่ทั้งการโต้แย้งที่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยพยายามจะเอาชนะฝ่ายตรงข้าม หรือการสนทนาทั่วไปในวงสนทนาแสนสุภาพทั้งหลาย แต่การใช้วิจารณญาณสาธารณะหมายถึง การที่พลเมืองได้เลือกทางเลือกเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นคุณค่าพื้นฐาน และทิศทางสำหรับชุมชนและประเทศของเขา มันเป็นหนทางของการใช้เหตุและผล และการพิจารณาใคร่ครวญร่วมกัน

เวทีการใช้วิจารณญาณในประเด็นสาธารณะระดับชาติ เป็นการสนทนาที่มีโครงสร้าง ที่ก่อรูปขึ้นมาจาก 3-4 ทางเลือก สำหรับใช้พิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่มีแค่ 2 ทางเลือกที่เป็นคนละขั้วกัน การหารือโดยการสร้างกรอบของประเด็นทำนองนี้ ทำให้ลดการพูดคุยโดยทั่วไป ที่คนมักจะด่าว่ากันและกันด้วยการโต้เถียงแบบทั่วๆ ไป

4.1 การใช้วิจารณญาณ คือ การสนทนาเพื่อการหาทางเลือก ไม่ใช่การโต้เถียงเพื่อเอาชนะ
การใช้วิจารณญาณ คือ การหาน้ำหนักของผลที่จะเกิดตามมา และค่าใช้จ่ายของทางเลือกหลายๆ ทางบนพื้นฐานของสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ สำหรับเรา คิดถึงวิธีการที่คนใช้ชั่งน้ำหนักทองในสมัยก่อน ผลที่ตามมาแต่ละอย่างจะมีผลต่อตาชั่งมากน้อยแค่ไหน อะไร คือ ค่าใช้จ่ายในการทำสิ่งที่เราต้องการทำ การตอบคำถามเหล่านี้ ต้องการ "การสนทนา" ที่ทำให้เราได้ค้นคว้าและทดสอบความคิดว่าเราจะกระทำการในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างไร

การใช้วิจารณญาณ จะเกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักความคิดเห็นของคนอื่น การรับฟังอย่างระมัดระวัง จะเพิ่มโอกาสที่ผู้อื่นจะรับฟังทางเลือกของเรา เพราะคนจำนวนมากได้นำประสบการณ์และความรู้มารวมกัน. ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มเล็กๆ ที่จะมีประสบการณ์และความรู้ที่ต้องการมาตัดสินใจว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด. นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงจำเป็นต้องมีการรวมเอากลุ่มคน เพื่อรวบรวมเอามุมมองที่หลากหลายในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ขณะที่เรายังไม่รู้แน่นอนว่าเราตัดสินใจถูกหรือไม่ จนกว่าเราจะได้ทำตามที่ตัดสินใจนั้น การใช้วิจารณญาณบังคับให้เราต้องคาดการณ์ผลที่ตามมา และถามตัวเองว่าเรายินดีที่จะรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุดหรือไม่ นั่นคือ การใช้วิจารณญาณทำให้เกิดการมองอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะกระโดดเข้าทำจริง

4.2 การใช้วิจารณญาณ คือการพิจารณาว่าอะไรมีค่าที่สุดสำหรับเรา ไม่เพียงแค่ "ข้อเท็จจริง" เท่านั้น
เราต้องใช้วิจารณญาณเพื่อตัดสินใจว่าเราจะกระทำอย่างไร เพื่อให้ได้รับสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด เมื่อพบกับทางเลือกที่ยากลำบาก เราพยายามที่จะหาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่า "ข้อเท็จจริง" นั้น เป็นสิ่งสำคัญ แต่มันไม่พอที่จะบอกเราว่าเราควรจะทำอะไร เราใช้วิจารณญาณสำหรับคำถามเหล่านี้ เช่น "เราควรจะทำอย่างไร" เมื่อมันไม่มี "ข้อเท็จจริง" ที่แน่นอนที่จะตอบคำถามแก่เราได้ "ข้อเท็จจริง" นั้นจะบอกเราว่ามันคืออะไร และเราไม่จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณถึงสิ่งที่เรารู้แล้ว เช่น เมื่อต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกส่วนตัว ว่าเราจะแต่งงานดีหรือไม่ คงไม่มีใครไปเปิด Encyclopedia (สารานุกรม) คำว่า "M" (marry) ดู

ดังนั้นการใช้วิจารณญาณสาธารณะ นำเราไปสู่ "ข้อเท็จจริง" ซึ่งสำคัญตามที่มันเป็นอยู่ และมากไปกว่านั้น คือสิ่งที่ไม่มีหนังสือหรือผู้เชี่ยวชาญสามารถบอกเราได้ และนั่นคือสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ สำหรับชีวิตเรา

เราต้องไม่สับสนถึงทางเลือกที่เราเลือกว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา เราถูกท้าทายให้คิดถึงทางเลือกที่เราชอบ เพราะประชาชนมักถูกปฏิบัติให้เป็น "ผู้บริโภคทางการเมือง" การเลือกผู้แทน หรือการออกเสียงเลือกตั้ง เห็นได้ชัดว่าเป็นเหมือนการเลือกยาสีฟัน หรือเลือกยี่ห้อซีเรียลสำหรับอาหารเช้า ที่ต้องถามถึงรสนิยมของเรา แต่ผลที่ตามมา (ถ้าเลือกผิด) ไม่ได้สำคัญนัก หากไม่ชอบเราสามารถเปลี่ยนยี่ห้อได้ตลอดเวลา ต่างจากการตัดสินใจเมื่อเราจะแต่งงานกับใครบางคน หรือการเลือกอาชีพ ซึ่งเราต้องค้นคว้าให้ลึกลงไป เพราะผลที่จะเกิดตามมานั้นใหญ่หลวง เราต้องคิดพิจารณาอย่างรอบคอบว่าอะไรจะเกิดขึ้น และจะยอมรับสิ่งนั้นได้หรือไม่ เราต้องมองเข้าไปข้างในตัวเรา เพื่อที่จะตัดสินใจว่าอะไรมีคุณค่าที่สุดสำหรับเรา เพราะการตัดสินใจนี้มีผลระยะยาวที่สำคัญที่จะเกิดตามมา

ในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ดูเหมือนว่าเราถูกจูงใจจากสิ่งต่างๆ มากมายที่มีความหมายต่อชีวิตเรา เช่น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือวิถีแห่งการประพฤติปฏิบัติที่เราชอบด้วย เช่น การมีเสรีภาพ และโอกาสในการตระหนักถึงเป้าหมายของเรา. มีคนไม่มากนักที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตด้วยการพิจารณาแบบนี้

ในที่นี้ อาจยกตัวอย่างประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความกังวลเบื้องต้น คือ "ความปลอดภัย" ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานกว่าเรื่องระบบของอาวุธ อย่างไรก็ตาม เราถูกโน้มน้าวโดยสิ่งต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัย เราอาจให้คุณค่าของความปลอดภัยว่าหมายถึง ความแข็งแรงกว่าศัตรู และการอยู่ไกลจากสิ่งที่เป็นอันตราย และอาจให้คุณค่าว่าความปลอดภัยมาจากการทำดีกับผู้ที่อาจเป็นอันตรายต่อเรา

คนส่วนใหญ่ถูกจูงใจไม่มากก็น้อย ด้วยคุณค่า 3 ประการดังกล่าวมาแล้วเรื่องความปลอดภัย คนส่วนใหญ่รู้สึกปลอดภัยกว่าเมื่อแข็งแรงกว่าสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อเขา หรือเมื่ออันตรายนั้นอยู่ไกลจากเขา และพวกเราส่วนใหญ่จะอยากเป็นมิตรกับคนที่มีแนวโน้มจะคุกคามเรา. ในการใช้วิจารณญาณเรื่องความมั่นคงของชาติ เราต่างรู้ดีด้วยความเจ็บปวดว่า เราไม่สามารถใช้แนวทางการใช้วิจารณญาณเพื่อให้ได้นโยบายที่มีเหตุมีผลได้ แต่เราต้องตัดสินใจภายใต้แรงจูงใจที่ปะทะกัน

4.3 รากฐานของการใช้วิจารณญาณ คือ การวางกรอบประเด็นปัญหา ให้เป็น ภาษาที่ใช้ทั่วไป
สิ่งที่เป็นประเด็นขณะที่เรากังวลเรื่องคุณค่า คือ แรงเสียดทาน หรือข้อขัดแย้งต่อคุณค่านั้น ดังนั้น เราจึงยังไม่สามารถเริ่มใช้วิจารณญาณ จนกว่าเราจะวางกรอบของประเด็นปัญหา ในแนวทางที่เราเห็นว่ามีค่ายิ่ง นั่นคือ เรื่องที่เป็นความกังวลในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป หรือ การวางกรอบปัญหาให้เป็นประเด็นสาธารณะ นี่คือเหตุผลว่าทำไมหนังสือของเวทีประเด็นสาธารณะระดับชาติ เริ่มต้นด้วยเรื่องที่สาธารณะกำลังสนใจ

โชคไม่ดี คนอเมริกันมักพบประเด็นปัญหาที่ถูกวางกรอบด้วย "ภาษาต่างประเทศ" ที่เป็นศัพท์เทคนิค หรือศัพท์แสงทางการเมือง ที่เข้าใจยากสำหรับสาธารณะ ช่องว่างที่กว้างนี้ ทำให้ประเด็นที่มีการนำเสนอกับประเด็นที่ผู้คนจะได้เรียนรู้แยกออกจากกัน นั่นทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นความเชื่อมโยงของประเด็นเหล่านั้น กับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่ามีค่ามาก

ในที่นี้จะยกตัวอย่างกรณีของการหยุดยั้งการแพร่กระจายของยาเสพติด กล่าวคือ เมื่อคนส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับครอบครัว มากกว่าที่จะเป็นปัญหาในแง่ของการใช้กฎหมาย หรือการป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้าประเทศ มุมมองเช่นนี้ทำให้สถานบันครอบครัวและความรับผิดชอบส่วนบุคคล กลายมาเป็นกรอบในการมองและเข้าใจปัญหา รวมไปถึงการ "ตั้งชื่อ" ปัญหา ซึ่งจะไปมีผลกำหนดว่าใครควรจะเข้ามาเกี่ยวข้อง และแนวทางการแก้ไขจะเป็นอย่างไรด้วย

4.4 การจัดการกับความขัดแย้ง
การวางกรอบประเด็นปัญหาให้เป็นประเด็นสาธารณะ ได้กำหนดขั้นตอนการเผชิญหน้ากับแรงจูงใจที่ขัดแย้งกัน เมื่อเรามีหลายสิ่งที่เราเห็นเป็นคุณค่า และสิ่งเหล่านั้นจะดึงเราไปในทิศทางที่ต่างๆ กัน เมื่อเราต้องตัดสินใจว่าจะลงมือปฏิบัติอย่างไร การจัดการกับความขัดแย้ง หรือความตึงเครียดนี้ ทำให้เกิดความยากลำบากในการเลือกทางเลือก นี่คือเหตุผลว่าทำไมเวทีการใช้วิจารณญาณต้องย้ำกับผู้เข้าร่วมว่ามีสิ่งที่ต้องทำ (คือ การพิจารณาอย่างใคร่ครวญ) ในการหารือ

ตัวอย่าง เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพ เราต้องการการดูแลรักษาที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันเราก็ต้องการการดูแลรักษาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้มากที่สุด แต่ยิ่งการดูแลที่ดีขึ้นเท่าไร ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น นั่นหมายถึง จะมีคนเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้น้อยลง นโยบายใดก็ตามที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแบบก้าวหน้า ต่างเผชิญกับปัญหาชวนลำบากใจเช่นนี้เสมอ ไม่ว่าทางเลือกใดก็ตามที่มาจากประเด็นทำนองนี้ ต่างมีด้านบวกและด้านลบต่อสิ่งที่เราเห็นเป็นคุณค่าทั้งสิ้น

ความขัดแย้งที่เราต้องจัดการในการแสวงหาทางเลือก ไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่างปัจเจก หรือระหว่างผลประโยชน์ เหมือนการที่นักสิ่งแวดล้อมต่อต้านนักพัฒนา หรือพวกอนุรักษ์นิยมต่อต้านพวกเสรีนิยม คนที่มีความคิดแตกต่างกันเช่นนี้ ก็ยากที่จะไปเปลี่ยนความคิดให้คิดเหมือนกัน แต่เมื่อพูดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ เราส่วนใหญ่น่าจะความคิดคล้ายๆ กัน ลองคิดถึงเรื่องความปลอดภัย ที่ได้กล่าวมาแล้ว และแรงจูงใจพื้นฐานที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงจูงใจทางการเมืองร่วมกัน แต่เราก็ต่างใช้ หรือปฏิบัติการต่อสิ่งที่เราเห็นว่ามีคุณค่าต่างกัน ลองคิดดูว่าในคืนวันศุกร์ พ่อบ้านกลับจากที่ทำงานช้ากว่าปกติ และด้วยความเหน็ดเหนื่อย ภรรยาที่ทำงานหนักมาทั้งสัปดาห์อยากให้พาออกไปทานอาหารนอกบ้าน ลูกๆ ต้องการให้พาออกไปดูหนัง แม่ยายโทรศัพท์มาชวนให้ไปทานข้าวที่บ้าน และวางโทรศัพท์ได้ไม่นาน เจ้านายก็โทรมาบอกว่าอยากให้ไปที่ทำงานอีกซัก 2 ชั่วโมง ชีวิตแต่งงาน, ลูก, งาน และแม่ยายของเขา ต่างเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเขาทั้งสิ้น แต่เขาก็ต้องตัดสินใจเลือกว่าควรจะทำอะไรสำหรับคืนนี้ เราไม่สามารถแก้ปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยการทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราชอบที่สุด ขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถทำทุกอย่างที่ทุกคนอยากให้ทำ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีอำนาจใดที่จะให้คำตอบที่ถูกต้องแก่เราได้ ขณะที่เราก็ไม่สามารถหนีจากภาวะลำบากใจดังกล่าว ในการที่ต้องพิจารณาถึงสิ่งที่จะตามมาได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องทำงานหนักเพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้ได้

นี่คือสิ่งที่คล้ายกันมากกับภาวะลำบากใจที่เราพบในเรื่องสาธารณะ เมื่อต้องเลือกทางเลือกเรื่องนโยบายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่เห็นขัดแย้งกัน ไม่มีทางหลีกเลี่ยงอุปสรรคในสิ่งที่เราสามารถทำได้ ไม่มีการหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่จะเกิดจากภาวะลำบากใจเหล่านั้น ขณะที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเหล่านี้ได้ การปรึกษาหารือ การใช้วิจารณญาณ ช่วยให้เราตระหนักว่าความตึงเครียด หรือความขัดแย้งระหว่างหรือภายในตัวเรานั้นมีไม่มาก ซึ่งจะช่วยให้เราฝ่าด่านช่วงของอารมณ์ที่รุนแรงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ได้

4.5 ข้อจำกัดของการฝ่าด่านความขัดแย้ง คือ การรวมเอาเหตุผลและอารมณ์
การฝ่าด่าน (work through) คือ การอธิบายกระบวนการทำงานเพื่อการตัดสินใจ ที่เราต้องก้าวผ่านอารมณ์ความรู้สึกของการตอบสนองขั้นต้น เพื่อไปถึงจุดที่เราควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ พอที่จะตัดสินใจเลือกทางเลือกได้อย่างเหมาะสมเพื่ออนาคตของเรา เมื่อเราต้องเผชิญกับเรื่องค่าใช้จ่ายและผลที่จะเกิดตามมาของทางเลือกทางใดทางหนึ่ง เรามักจะตอบสนองด้วยอาการช็อคเหมือนกับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดยามที่เราตกอยู่ในภาวะวิกฤตของตัวเอง

มีตัวอย่างเรื่องชายวัย 50 เศษคนหนึ่ง ที่เพิ่งพบว่าเขาจะไม่ได้เงินบำนาญเมื่อเกษียณอายุ ตอนแรกเขาโกรธ, ไม่เชื่อ, สงสัย และสุดท้ายซึมเศร้า เมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มสงบใจลงโดยการฝ่าด่าน (work through) วิกฤตนี้ เขาอาจพบแหล่งรายได้อื่นๆ หรือการแลกเปลี่ยนกับบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้เขาอยู่ได้ดีที่สุด ในที่สุดเมื่อเขาได้จัดการความคิดเขาใหม่ และหลุดพ้นจากพายุอารมณ์ ทำให้เห็นหนทางที่เป็นไปได้สำหรับเขาที่จะกระทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง

ในการใช้วิจารณญาณสาธารณะ เราคนจะต้องทำงานผ่าน หรือฝ่าด่าน การเปรียบเทียบผลที่จะตามมา ที่เกิดจากการตัดสินใจในทุกนโยบาย การทำงานนี้ต้องการปรึกษาหารืออย่างใคร่ครวญ ไม่ใช่เพียงการพูดถึงเรื่องนั้นๆ เท่านั้น

5. อะไรคือผลผลิตของการใช้วิจารณญาณ
5.1 การเปลี่ยนแปลงของคน
ผลที่เกิดเบื้องต้นสุดคือ การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล คนเหล่านั้นบอกว่า พวกเขาพบว่าจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้นคือ เขาสามารถพิจารณาเรื่องนั้นๆ ในบริบทที่กว้างขึ้น และเห็นความเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ได้ ทั้งหมดนี้ ช่วยให้เขาเข้าใจความหมายที่แท้จริงของประเด็นดังกล่าว ทำให้เราสามารถพิจารณาคำถามเกี่ยวกับนโยบายได้โดยยืนอยู่บนความจริงมากขึ้น ขอบเขตของผลประโยชน์ส่วนตัวมีแนวโน้มที่จะกว้างขึ้น ประสบการณ์ในการสนทนาอย่างการใช้ปรึกษาและวิจารณญาณกับคนอื่นๆ ทำให้เกิดความมั่นใจขึ้น เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของความคิดเห็นนั้น และสามารถแสดงออกมาได้

จากการศึกษาขององค์กร Public Agenda พบว่า 53% ของผู้เข้าร่วมเวที เปลี่ยนใจจากความคิดในตอนแรกหลังจากเข้าร่วมเวที และ 71% แม้จะไม่เปลี่ยนความคิดเห็นก็ตาม แต่เกิดการคิดทบทวนเกี่ยวกับความคิดเห็นของตน อีก 78% พบว่าพวกเขาได้เผชิญกับความคิดเห็นที่แตกต่างจากของตน และพบว่าความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดี

เวทีพูดคุยเพียงครั้งเดียวจะไม่เปลี่ยนความเชื่อที่ฝังรากลึก เช่นเดียวกับการไปยิมเนเซียมเพียงครั้งเดียว จะไม่ทำให้เราเชื่อถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย แต่คนที่ได้เข้าร่วมหลายๆ เวทีที่มีการพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณนี้ เริ่มสนใจอ่านและฟังข่าวมากขึ้นในมุมมองที่ต่างออกไป โดยมีการมองถึงทางเลือกและผลที่ตามมา รวมทั้งมีการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะมากขึ้น บางทีการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของเราต่อความคิดเห็นของคนอื่น อาจทำให้มองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ มากขึ้นในการที่จะทำงานร่วมกัน คนเข้าร่วมเวทีพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณ เห็นตัวเองเป็นผู้ลงมือกระทำ มากกว่าเป็นเพียงแค่คนคอยดูเท่านั้น

การศึกษาผลที่ได้จากเวทีประเด็นสาธารณะระดับชาติ รายงานว่า คนเราเรียนรู้ว่าเขาสามารถเข้าใจสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้ และสามารถพูดอะไรที่มีเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้ รวมทั้งแสวงหาการตัดสินใจที่มีความสมเหตุสมผลว่าจะต้องทำอะไรได้ และเมื่อคนมีการคิดอย่างใช้วิจารณญาณ เขาจะพบว่าไม่มีการเสียหน้า หรือมีใครที่จะต้องถูกตำหนิ นั่นคือ "ปัญหา" เกิดนอกอาณาบริเวณของความขัดแย้ง เช่น พลเมืองที่คิดอย่างใช้วิจารณญาณ จะมองเห็นว่าความต้องการที่จะให้รัฐต้องจ่ายเพิ่มเติม โดยไม่เพิ่มการเก็บภาษี มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ เวทีการพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณนี้ กระตุ้นให้คนคิดว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อส่วนสำคัญของปัญหาของเขาเอง เมื่อเขาสามารถสร้างปัญหาได้ เขาก็ต้องสามารถริเริ่มที่จะจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.2 การเข้าร่วมกับสาธารณะ และความเป็นสาธารณะ
การใช้วิจารณญาณทำให้คนเริ่มก้าวแรกในการเข้าร่วมกับประเด็นสาธารณะ และยังเชื่อมคนเข้าด้วยกัน รวมทั้งสร้างพื้นที่สาธารณะ ที่ทำให้คนเข้ามาร่วมกันจัดการกับปัญหาร่วมของตน นักวิจัยจาก Harwood group ได้ถามผู้คนว่าอะไรคือมูลเหตุที่พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมหารือในประเด็นสาธารณะ คำตอบคือ พวกเขามองหาการพูดคุยที่เปิดกว้างและใช้วิจารณญาณ เขาต้องการที่จะพิจารณาทางเลือก และมุมมองของคนอื่นๆ ด้วยความระมัดระวัง พวกเขาต้องการทดสอบความคิด ไม่เพียงการลงคะแนน พวกเขาต้องการจะพิจารณาด้านที่เป็นสีเทาของประเด็น ที่ปกติมักจะถูกนำเสนอด้วยสีดำและขาวเท่านั้น เขาคาดหวังที่จะให้อารมณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองได้แสดงออกมา แต่ไม่ใช่การแสดงอารมณ์โกรธเกลียด ซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงแบบสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างขาดเหตุผล คำตอบเหล่านี้ แม้พวกเขาจะไม่ได้กล่าวคำว่า การใช้วิจารณญาณตรงๆ ออกมา แต่เขาก็กำลังมองหามันอยู่

ชาวอเมริกันใช้การสนทนาแบบใช้วิจารณญาณ ไม่เพียงเพื่อเข้าใจประเด็นปัญหา แต่เพื่อการตัดสินใจว่าเขาจะต้องกระทำอย่างเป็นสาธารณะหรือไม่ สถานการณ์ที่อาจกระตุ้นปัจเจกให้มีการกระทำทางการเมือง เช่น การพบเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับการผลิตยาเสพติดในละแวกบ้าน, ความกังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับลูกที่โรงเรียน, การเห็นคราบน้ำมันที่ชายหาด, คนที่มีประสบการณ์แบบนี้ ต้องหาคนอื่นที่มีความห่วงใยร่วมกันที่เห็นว่าปัญหานี้กระทบคุณค่าของเขาด้วย เขาต้องหาว่าเขาจะมีคนมาช่วยคิดและทำเกี่ยวกับปัญหานี้เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาจึงจะเข้าร่วมเวทีใช้วิจารณญาณ

ขณะที่การใช้วิจารณญาณ ถูกนำเสนอให้เหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในเวทีเท่านั้น ความจริง การใช้วิจารณญาณมีรากฐานมาจากการสนทนาทั่วๆ ไป อาจเกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านที่มีรั้วหลังบ้านที่ใช้ร่วมกัน คนเราอาจเริ่มจากเรื่องส่วนตัว เพื่อดูว่ามันเกี่ยวกับคนอื่นๆ หรือไม่ การสนทนาอาจเปลี่ยนไปเป็นการประชุมของละแวกบ้าน หรือการประชุมในระดับเมือง อาจเป็นการพูดคุยเป็นเดือนๆ หรือเป็นปีๆ แต่ท้ายที่สุด คนจะไปถึงการตัดสินใจว่าจะต้องทำอะไรหรือไม่ และถ้าทำ จะต้องทำอย่างไร. ในกระบวนการพูดคุย คนที่เป็นปัจเจกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันจะกลายเป็นสาธารณะ ปัจเจกที่มีปัญหาต่างๆ ร่วมกัน และมารวมตัวในการหาหนทางที่จะทำงานด้วยกัน เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านั้น

5.3 ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ
การตัดสินใจร่วมกันในการใช้วิจารณญาณ เป็นการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสาธารณะ คนเรามักรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนได้เข้าร่วมในการเลือกมากกว่าในสิ่งที่คนอื่นเลือกให้ การตัดสินใจในฐานะสาธารณะหรือส่วนรวม เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่ออนาคตของตัวเอง

5.4 ความรู้ใหม่
การใช้วิจารณญาณทำให้คนทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้โดยปัจเจก แต่ต้องทำในฐานะสาธารณะเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความสามารถในการผลิต "ความรู้" ที่นักวิชาการเรียกว่าเป็นความรู้ที่สังคมเป็นผู้สร้างขึ้นมา (socially constructed knowledge) ซึ่งไม่สามารถหาได้จากผู้เชี่ยวชาญใดๆ ความรู้นี้ประกอบด้วยสิ่งที่เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องเข้าร่วมกับผู้อื่น จะไม่เกิดขึ้นตามลำพัง อาจเรียกว่า "ความรู้ที่เป็นสาธารณะ" ซึ่งจะบอกเราว่า

- สาธารณะพิจารณาประเด็น หรือกรอบของประเด็นที่แต่ละคนใช้ในการมองปัญหานี้ว่าอย่างไร
- อะไรคือสิ่งที่คนเหล่านั้นเห็นเป็นคุณค่า และอะไรคือความตึงเครียด หรือความขัดแย้งที่สำคัญของประเด็นเหล่านั้น
- อะไรคือสิ่งที่คนเต็มใจหรือไม่เต็มใจทำเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น อะไรคือค่าใช้จ่าย และผลที่ตามมาที่รับได้และที่รับไม่ได้
- มีอะไรที่เป็นความรู้สึก หรือทิศทางร่วมของชุดการกระทำนั้นๆ บนพื้นฐานของวัตถุประสงค์ร่วมกันดังกล่าว (ถ้ามี สิ่งนั้นคือ "ข้อตกลงร่วม" ที่จะกระทำโดยที่สาธารณะจะให้การสนับสนุน)

การใช้วิจารณญาณผลิตความรู้ที่เป็นสาธารณะ โดยการสังเคราะห์ประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างกัน ให้เป็นกรอบของความหมายร่วมกัน

ลองจินตนาการดูว่าคุณและเพื่อนๆ ยืนอยู่รอบตึกแห่งหนึ่ง พยายามที่จะประเมินสภาพของตึก เพื่อตัดสินใจว่าควรจะซ่อมแซมตึก หรือทำลายมันเสีย คุณอาจให้เพื่อนแต่ละคนไปตรวจสอบตึกแต่ละด้าน แล้วกลับมาให้ความเห็นว่าควรทำอย่างไรกับตึกหลังนั้น แต่ละคนก็จะรายงานตามที่ได้เห็นจากด้านใดด้านหนึ่งของตึก คนหนึ่งอาจเห็นว่าทางเข้าได้รับการซ่อมแซมดีแล้ว อีกคนอาจเห็นผนังด้านหลังที่ผุพัง แม้ทั้งกลุ่มจะสามารถออกเสียงได้ว่าควรทำอะไรกับตึกนั้นดี แต่ก็เป็นเพียงการเปิดเผยสิ่งที่ได้เห็นโดยคนกลุ่มใหญ่เท่านั้น. แต่อีกทางหนึ่ง คนในกลุ่มอาจแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสะท้อนสิ่งที่ได้เห็น แล้วผนวกเข้ากับของคนอื่นๆ รวมมุมมองต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ นั่นคือ ภาพรวมของทั้งอาคาร ซึ่งแตกต่างกับที่ต่างคนต่างเห็นมาเพียงด้านเดียว ทำให้ทั้งกลุ่มได้เห็นภาพรวมทั้งหมดร่วมกันอีกครั้ง

การใช้วิจารณญาณนั้นเป็นมากกว่าการอดทน หรือยอมรับได้ต่อความแตกต่าง แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากความแตกต่าง โดยที่ไม่ได้ทำลายความแตกต่างของปัจเจก ในการที่ต้องมาหลอมรวมกัน เป็นการสร้างภาพใหม่ของสิ่งทั้งหมดบนมุมมองที่ผสานเข้าด้วยกัน

5.5 เปลี่ยนความคิดเห็น (opinion) มาเป็นการตัดสิน (judgment)
ความรู้ที่เป็นสาธารณะ และการได้มาของมัน มีวัตถุประสงค์ที่ทำได้จริงมาก มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกและสาธารณะ บ่อยครั้งที่สามารถเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นส่วนตัว มาเป็นความคิดเห็นร่วมของสาธารณะได้

สำหรับในระดับประเทศแล้ว การเปลี่ยนความคิดเห็นมาเป็นการตัดสินนั้น เป็นไปได้ช้าและต้องมีขั้นตอน. ในยุคแรกๆ ของการอภิปรายกันทางการเมือง การก่อรูปของความคิดเห็นเป็นไปได้ไม่ดีและไม่แน่นอน ทำให้เมื่อคนเริ่มรับรู้เกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ พวกเขาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองตามความรู้สึกแรกที่เกิด ซึ่งเป็นไปอย่างไม่ค่อยมีข้อมูล ความคิดเห็นนี้จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาวันต่อวัน ทั้งนี้เพียงแค่การรับรู้ต่อเรื่องนั้น ยังถือว่าห่างไกลจากความแน่นอนและไม่อยู่กับร่องกับรอยของการตัดสินใจของสาธารณะ เพราะยังมีอุปสรรคมากมาย เช่น การตำหนิคนอื่น และหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากๆ

การที่คนเราต้องค้นคว้าทางเลือกที่หลากหลาย หรือต้องเอาชนะธรรมชาติของการต่อต้าน ที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยราคาแพง ทำให้พวกเขาต้องพิจารณาอย่างจริงจังทั้งด้านบวกและลบของทางเลือกเหล่านั้น และในที่สุด เขาต้องเลือกจุดยืนที่ทั้งฉลาดและสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาที่ยาวนาน

ขณะที่การแยกระหว่างความคิดเห็นและการตัดสิน มักไม่ค่อยได้ทำ แต่ความแตกต่างระหว่าง 2 สิ่งนี้ เป็นเรื่องสำคัญ เวทีที่บอกกล่าวความคิดเห็นของผู้คนต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่เหมือนกับเวทีพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณ ที่มีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจของสาธารณะ (public judgment) ขึ้นในหมู่ผู้คน

การใช้วิจารณญาณสามารถกลั่นการตัดสินใจ จากการเป็นเพียงความคิดเห็น ปัญหาเกี่ยวกับความคิดเห็นของสาธารณะคือ บ่อยครั้งที่มักจะขัดแย้งกันเอง และผู้เสนอความคิดไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา เช่น ความคิดเห็นของสาธารณะที่ว่ารัฐบาลควรให้การบริการสาธารณะให้มากขึ้น แต่ความคิดเห็นเดียวกันนี้ยืนยันเช่นกันว่า ไม่ควรขึ้นภาษี ความขัดแย้งในเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน และต้องมีการจัดการก่อนที่ใครจะเห็นเป็นเรื่องจริงจัง

กรณีนี้สะท้อนความคิดเห็นของสาธารณะที่มองประโยชน์ระยะใกล้ อย่างเช่น การลดภาษี อาจหมายถึงรายได้ส่วนบุคคลที่มากขึ้น แต่ผลต่อโรงเรียน, สวัสดิการสังคม, และทางหลวง ซึ่งเป็นบริการสาธารณะจะแย่ลง เพราะขาดเงินไปปรับปรุง เรายินดีที่จะรับผลที่จะเกิดขึ้นจากการได้ลดภาษีหรือไม่ ไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจของสาธารณะจะเป็นอย่างไร จนกว่าเขาจะเผชิญกับด้านตรงข้าม และผลระยะยาวของมัน นี่คือ หน้าที่ของการใช้วิจารณญาณ

ในระยะยาว การใช้วิจารณญาณสาธารณะดูเหมือนจะได้ทำในสิ่งที่ควรทำ ทั้งนี้ขึ้นกับการวิเคราะห์การตอบสนองของสาธารณะ ต่อคำถามนับพันที่มีต่อนโยบายต่างๆ ในช่วง 50 ปีนี้ มีนักวิจัยด้านความคิดเห็นของสาธารณะ 2 คน คือ Benjamin Page และ Robert Shapiro พบสิ่งที่ตรงข้ามกันกับการรับรู้ที่ว่า "พลเมืองนั้นไม่มีเหตุผล, ไม่อยู่กับร่องกับรอย และเปลี่ยนใจบ่อย" คือพบว่า ทัศนคติของสาธารณะที่ก่อรูปมานานนั้น มีความมั่นคง, มีเหตุผล และเสถียร เขาพบว่าทัศนคติของสาธารณะนั้น ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในภาวะแวดล้อม ทัศนคติสาธารณะที่มีเหตุผลนี้ ได้จากการที่ผู้คนมีเหตุผลที่ชัดเจนสำหรับมัน และมุมมองของสาธารณะนั้นคงเส้นคงวาในนโยบายที่พวกเขาเห็นด้วย ซึ่งสัมพันธ์กับสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นคุณค่า

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกไปอ่านบทความต่อ ตอนที่ ๒

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การใช้วิจารณญาณสาธารณะ เป็นชื่อหนึ่งของวิธีการที่เราจะตัดสินใจว่า เราจะกระทำการเรื่องหนึ่งๆ อย่างไร ในการเลือกทางเลือกหนึ่งๆ นั้น เราต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนที่ต้องจ่าย และผลที่ตามมาของทางเลือกนั้นๆ เมื่อผู้คนเริ่มรับรู้ถึงความแตกต่างของทางเลือก ผ่านประเด็นต้นทุนที่ต้องจ่าย และผลที่จะตามมา จะช่วยทำให้พวกเขาให้หาทางเลือกหรือชุดของการกระทำ ที่เข้ากันกับสิ่งที่เป็นคุณค่าของชุมชนทั้งหมด และด้วยวิธีการนี้ สาธารณะจึงสามารถระบุผลประโยชน์ของสาธารณะได้อย่างเป็นเรื่องๆ ไป (คัดมาจากบทความบางส่วน)
06-05-2550

Public Deliberation
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.