โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 07 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๔๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 07, 05,.2007)
R

ตัดสินใจด้วยกัน : พลังของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
Public Deliberation: การร่วมหารือเพื่อการตัดสินใจ (ตอนที่ ๒)
พิกุล สิทธิประเสริฐกุล : แปล
โครงการชีวิตสาธารณะและเมืองน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

บทความแปลชิ้นนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้แปล เดิมชื่อ
ตัดสินใจด้วยกัน : พลังของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
Making choices together: The Power of Public Deliberation

เขียนโดย : Kettering Foundation - แปลโดย : พิกุล สิทธิประเสริฐกุล
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการหารือสาธารณะ เพื่อแสวงหาฉันทามติบนทางเลือกต่างๆ อย่างใช้วิจาณญาน
โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง คุณค่า และผลที่จะตามมาในการตัดสินใจ โดยแบ่งเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้
1. คนที่ใช้วิจารณญาณสาธารณะ
2. ประวัติของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
3. ทำไมต้องใช้วิจารณญาณ
4. อะไรคือ การใช้วิจารณญาณสาธารณะและมันต่างกันอย่างไร
5. อะไรคือผลผลิตของการใช้วิจารณญาณ
6. เราทำอะไรได้บ้างจากผลผลิตของการใช้วิจารณญาณ
7. การใช้วิจารณญาณจะเปลี่ยนความคิดเห็นของเราที่มีต่อความคิดเห็นของคนอื่น
8. กรณีที่จะใช้วิจารณญาณสาธารณะ
9. การใช้วิจารณญาณเพิ่มความสามารถของชุมชนในการกระทำการร่วมกัน
10. การเป็น ผู้ดำเนินการประชุม สำหรับการใช้วิจารณญาณ
11. การจัดเวทีพูดคุย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๔๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ตัดสินใจด้วยกัน : พลังของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ
Public Deliberation: การร่วมหารือเพื่อการตัดสินใจ (ตอนที่ ๒)

พิกุล สิทธิประเสริฐกุล : แปล
โครงการชีวิตสาธารณะและเมืองน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา



ตอนที่ ๒

6. เราทำอะไรได้บ้างจากผลผลิตของการใช้วิจารณญาณ
แม้คนอเมริกันจะถูกโน้มน้าวว่าการใช้วิจารณญาณสาธารณะผลิตบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา แต่พวกเขายังต้องการรู้ว่าจะทำอะไรได้กับสิ่งที่ผลิตขึ้นมานั้น หลายคนถามว่าการพูดคุยของสาธารณะแบบนี้ มีบทบาทอะไรบ้างในการกำหนดนโยบายของชาติ คนอื่นๆ สนใจว่าการใช้วิจารณญาณสาธารณะ อาจมีผลต่อกิจกรรมของชุมชนได้

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผลผลิตของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ ใช้ได้ 2 ประการ คือ

(1) เพื่อให้เกิดการกระทำที่ทำโดยสาธารณะ (public action) และ
(2) เพื่อทำให้เกิดอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาล

ในกระบวนการของการใช้วิจารณญาณสาธารณะ ยังช่วยเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่มักไม่ค่อยดีนักระหว่าง "สาธารณะ" กับ "เจ้าหน้าที่รัฐ" ให้ดีขึ้นได้ด้วย

6.1 การกระทำที่ทำโดยสาธารณะ
ประชาธิปไตยขึ้นกับการกระทำที่ทำโดยสาธารณะ ซึ่งต่างจากการกระทำของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การกระทำที่ทำโดยสาธารณะนี้จะสอดประสานกันมากกว่าที่จะชี้ขาดว่าต้องเอาสิ่งใด แล้วไม่เอาอีกสิ่งหนึ่ง ทั้งยังไม่เหมือนกับการกระทำของรัฐบาลหรือสถาบันต่างๆ ซึ่งมักจะมีแบบแผนตายตัวและเป็นเส้นตรง มีการประสานงานโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และความสัมพันธ์มักเป็นไปในแนวดิ่ง จากเจ้าหน้าที่ลงไปสู่ประชาชน และจากประชาชนขึ้นสู่เจ้าหน้าที่

แต่การกระทำที่ทำโดยสาธารณะจะเต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คน ที่ต่างมาทำหน้าที่ของตน ความสัมพันธ์จึงมักเป็นไปในแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง เป็นการกระทำที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันของประชาชนกับประชาชน การกระทำที่ทำโดยสาธารณะมักมีการประสานงานที่ไม่ต้องจัดการ แต่ก็ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้ เพราะการกระทำทั้งหมดตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กัน

การกระทำที่ทำโดยสาธารณะจะไม่เป็นเส้นตรง ที่เริ่มต้นจากจุดหนึ่ง แล้วไปสิ้นสุดที่อีกจุดหนึ่ง ตัวอย่างของชุดกิจกรรมเหล่านี้ จึงมักเป็นภาพของประชาชนทำงานด้วยกันเพื่อปรับปรุงสวนสาธารณะ โดยการที่ทุกคนเข้าร่วมกันทำความสะอาดและปลูกต้นไม้ การกระทำที่ทำโดยสาธารณะมีพลังมาก เพราะแต่ละคนต่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน ทำให้พลังรวมทั้งหมดยิ่งใหญ่กว่าการรวมกันแบบธรรมดาๆ ของพลังแต่ละส่วน

หากปราศจากการกระทำของสาธารณะแล้ว การกระทำจากหน่วยงาน หรือสถาบันอย่างเดียวมักไม่ได้ผล ลองคิดดูว่าการดูแลกันเองในละแวกบ้าน ช่วยการทำงานของตำรวจได้อย่างไร และลองคิดดูถึงผ้าชิ้นดีๆ เช่น แขนเสื้อแจ็กเก็ตของคุณ ซึ่งเกิดจากการถักทอกันของทั้งเส้นด้ายในแนวตั้งและแนวนอนนั้น สอดประสานกันเป็นชิ้นผ้าได้อย่างไร หากไม่เช่นนั้นแล้วข้อศอกของคุณคงโผล่ออกมาทุกครั้งที่คุณงอแขนเป็นแน่

อะไรทำให้เกิดหรือเติมเต็มการกระทำที่ทำโดยสาธารณะ คำตอบคือ การใช้วิจารณญาณสาธารณะ แม้ว่าการใช้วิจารณญาณสาธารณะ อาจไม่ได้จบลงด้วยข้อตกลงที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด แต่มันสามารถชี้ทางที่เฉพาะเจาะจง และให้พื้นฐานในการระบุวัตถุประสงค์ร่วมกันได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ร่วมกันนี้ ให้โอกาสแก่การกระทำที่หลากหลาย ที่ไปด้วยกันหรือส่งเสริมกันและกัน เพราะต่างมีวัตถุประสงค์เดียวกัน หากปราศจากวัตถุประสงค์และทิศทางร่วมกันแล้ว คงไม่มีการควบคุมใดๆ สามารถรักษากิจกรรมต่างๆ ให้มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกันได้

ลองคิดดูถึงการจัดงานเลี้ยงกลางคืนแบบให้ต่างคนต่างนำอาหารมาเอง อะไรที่ทำให้อาหารทุกอย่างที่แต่ละคนนำมาไม่มีเพียงของหวาน นั่นคือ การที่คนเหล่านั้นหารือกันก่อนว่าใครจะนำอาหารชนิดใดมา แล้วจึงแบ่งกันทำอาหารแต่ละอย่าง ไม่มีใครต้องมาควบคุมการจัดเลี้ยงแบบนี้ ไม่มีการเซ็นต์สัญญาในการทำงานร่วมกัน แต่การเลี้ยงอาหารแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะคนเหล่านั้นรู้ว่าคนอื่นจะทำอะไรมา และไม่ต้องบอกว่าตนจะต้องเอาอะไรมา

6.2 แสวงหาหนทางที่จะทำงานร่วมกัน แม้เราจะไม่เห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม
ความรู้สึกถึงการมีทิศทางร่วมและเป้าประสงค์ที่ต้องพึ่งพิงกันดังอธิบายไปในข้างต้นนั้น เป็นพื้นฐานร่วมสำหรับการกระทำการร่วมกัน (common ground for action) ซึ่งมีความสำคัญในการแยกแยะระหว่างการมีความเห็นร่วมกัน กับการประนีประนอม ในความเห็นส่วนที่แตกต่าง

แรกสุดพื้นฐานร่วมสำหรับการกระทำการร่วมกันนี้ ไม่เหมือนกับการมีอะไรเหมือนๆ กัน อย่างเช่น ความรักที่มีต่อแมว และไม่เหมือนกับการประนีประนอม ที่คนๆ หนึ่งต้องการสิ่งหนึ่ง แต่ยอมรอมชอมความแตกต่าง โดยการพบกันครึ่งทาง และไม่ใช่การยินยอมหรือการมีข้อตกลง ที่ทุกคนต้องการสิ่งเดียวกัน. ในขณะที่ การมีความเห็นที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้จะเป็นสิ่งที่วิเศษสุด แต่บ่อยครั้งที่ชุมชน มักต้องแก้ปัญหาร่วมกับผู้คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถหาข้อตกลงใดๆ ร่วมกันได้เลย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น

การใช้วิจารณญาณ ช่วยเราในการค้นหาว่าอะไรที่อยู่ระหว่างสิ่งที่ตกลงกันได้ และสิ่งที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราส่วนใหญ่เผชิญอยู่ตลอดเวลา น้อยครั้งมากที่เราจะเห็นพ้องต้องกันไปหมดทุกอย่าง แม้กับคนที่ใกล้ชิดที่สุด แต่เราก็ไม่ได้ขัดแย้งไปหมดเช่นกัน เราอยู่ระหว่างกลาง และนี่คือการที่การใช้วิจารณญาณช่วยให้เราระบุว่าเราจะสามารถอยู่ร่วมกับอะไรได้บ้าง

6.3 สร้างอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ถึงความเป็นไปได้ทางการเมือง
มีคำถามหนึ่งที่หลายคนชอบถาม คือ เจ้าหน้าที่รัฐสนใจเรื่องการใช้วิจารณญาณสาธารณะหรือไม่ แน่นอนว่า การใช้วิจารณญาณให้ความรู้ที่เป็นสาธารณะ ซึ่งเป็นที่ต้องการของเจ้าหน้าที่ และไม่สามารถหาได้จากแหล่งอื่นๆ ทั้งนี้มีงานวิจัยที่แสดงว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือแบบนี้จากสาธารณะ แต่โชคไม่ดีที่ว่าเรามักไม่เชื่อเช่นนี้ ความเข้าใจผิดของทั้งสองฝ่ายเติบโตจากความแตกต่าง ของการที่คนในและคนนอกหน่วยงานรัฐเห็นบทบาทตัวเอง และการขาดโอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์นี้

เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เชื่อว่าพวกเขารับภาระความรับผิดชอบในการพัฒนา และลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา พวกเขาเห็นตัวเองมีบทบาทเป็นผู้ปกครอง. ผลประโยชน์ของสาธารณะที่แท้จริง การมีความรับผิดชอบ หมายความถึงการจัดการสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนรับเอาแนวทางแก้ปัญหาที่เจ้าหน้าที่เตรียมมาให้ และมีการสร้างฐานสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการทำงานผ่านสื่อ เพื่อให้มั่นใจว่าการช่วยเหลือทำได้อย่างครอบคลุม ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ตลอดกระบวนการของการให้ความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่พยายามที่จะปรับทัศนคติของสาธารณะ และปริมาณของสาธารณะที่เข้าร่วม นั่นคือสิ่งที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการทำงานกับสาธารณะ แต่นี่ไม่ใช่บทบาทที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรเป็น ประชาชนมีความรู้สึกว่าไม่ต้องการ "ถูกจัดการ" มากขึ้น หรือไม่ต้องการถูกปฏิบัติเหมือนเป็นลูกค้า หรือได้แนวทางการแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูปที่คนอื่นคิดให้

น่าขันเมื่อมองจากมุมของประชาชน ยิ่งเจ้าหน้าที่ทำตัวเป็นผู้ปกครองมากเท่าไร ประชาชนก็จะยิ่งต่อต้านมากเท่านั้น ผู้ปกครองอาจไม่ต้องการให้ประชาชนทำอะไรมากไปกว่าการมาออกเสียงเลือกตั้ง แต่ประชาชนกลับเห็นว่าไม่เพียงพอที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองเพียงเท่านั้น และในสถานการณ์หนึ่ง เมื่อหน้าที่ของผู้ปกครองไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นต้องเผชิญอยู่จริง พวกเขามักเจอกับปัญหาที่ธรรมชาติของปัญหาไม่ชัดเจน ทั้งยังไม่มีการระบุเป้าหมายและคุณค่าของสาธารณะ รวมทั้งมีความขัดแย้งในประเด็นปัญหานั้นๆ ด้วย นี่คือเวลาที่พวกเขาต้องการสาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่มักอยู่ในภาวะคับข้องใจเมื่อเกิดสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยน ในสถานการณ์ที่สาธารณะไม่มีข้อสรุปว่าพวกเขาจะเลือกทางเลือกใด และบางครั้งทำอะไรไม่ได้ ในภาวะที่มีการแช่แข็งทางการเมือง เพราะความไม่ลงตัวของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งทำให้กลไกการทำงานของรัฐบาลติดขัด

ในสถานการณ์เช่นนี้ เจ้าหน้าที่ต้องการประชาชน ไม่เพียงแค่การมาลงคะแนนเลือกตั้งให้ แต่ในฐานะประชาชนที่เข้าร่วมหารือในการระบุว่า อะไรคือผลประโยชน์ของสาธารณะส่วนใหญ่

ขณะที่ประชาชนหมดหวังที่จะโน้มน้าวเจ้าหน้าที่รัฐ จากประจักษ์พยานที่เห็นผลในระยะยาว กลับพบว่าการตัดสินของสาธารณะได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ความจริงทำถึงกับการก่อร่างนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลเลยทีเดียว. มีคนถามว่า การใช้วิจารณญาณสาธารณะมีอิทธิพลต่อการที่นักการเมืองและรัฐบาล จะรับเอาประเด็นเหล่านั้นหรือไม่ เพราะพวกนักการเมืองล้วนต้องการคำตอบที่ไม่มีคุณภาพว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" เท่านั้น คำตอบทำนองนี้ ทำให้เกิดการหลงทางที่ว่าการใช้วิจารณญาณมีอิทธิพลต่อนโยบาย แต่จะต้องค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลาสะสมมาพอสมควร

ความจริง คือ แม้ว่าการใช้วิจารณญาณสาธารณะจะสามารถมีผลต่อการกำหนดนโยบาย แต่จะไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน และด้วยเหตุผลที่ดี. ประเด็นทางการเมืองส่วนใหญ่ แม้เป็นเพียงปัญหาของ 1 หมู่บ้าน ต้องการเวลาในการทำความเข้าใจ ในการวางแผน และลงมือปฏิบัติ ส่วนในประเด็นใหญ่ๆ อาจใช้เวลาเป็น 10 ปีหรือมากกว่า ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ บทบาทการใช้วิจารณญาณสาธารณะ คือ รักษาการเดินทางที่ยาวนานนั้นไว้ โดยไม่มีการตำหนิที่ไม่สร้างสรรค์

ในที่สุด การใช้วิจารณญาณสาธารณะมีผลต่อการกำหนดนโยบายอย่างเป็นทางการหรือไม่ มีประจักษ์พยานว่ามันได้เกิดขึ้นจริง การศึกษาของ Page และ Shapiro พบว่ามีหลายประเด็นที่ ความคิดเห็นสาธารณะสามารถกำหนดนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นอิสระ และกรุยทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของนโยบายนั้น

6.4 เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
เจ้าหน้าที่รัฐมักจะมีความคับข้องใจเรื่องความสัมพันธ์กับประชาชน เช่นเดียวกันกับประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ พวกเขาอาจต้องการทำงานกับประชาชนจริงๆ แต่มักประสบกับอุปสรรคที่รุนแรงที่คนอื่นๆ ควรจะเข้าใจ เจ้าหน้าที่ที่ฟังการพูดคุยในเวทีหารือของประชาชน อาจถูกต่อว่าจากการที่ไม่ทำงานในหน้าที่ให้ดีพอ พวกเขาอาจมีปัญหาในการทำงานกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่เห็นว่า พวกเขานั้นเปิดเผยกับสาธารณะมากเกินไป หรือกลุ่มผลประโยชน์อาจโจมตีเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมหารือกับประชาชน แทนที่จะไปต่อรองกับประชาชน กลุ่มต่อต้านเหล่านี้บางครั้งต่อต้านการวางกรอบประเด็นปัญหาให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ กลุ่มเหล่านี้อาจวิจารณ์เจ้าหน้าที่ที่เห็นด้วยกับกรอบประเด็นปัญหาที่กว้างขวาง (เพราะรวมเอาทางเลือกต่างๆ ไว้อย่างหลากหลาย)

ประชาชนมักไม่ค่อยรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ จึงไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ชอบวิธีการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์แบบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนนี้ กำลังจะเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนมีเครื่องมือที่มีพลังในเวทีพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณ

ข้อมูลที่ได้จากเวทีพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณนี้ ไม่เพียงเป็นประโยชน์ เวทีการพูดคุยเองก็ได้สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนข้อมูล แทนการ "ฟัง" ตามปกติ แน่นอนว่าประชาชนจะให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วม ซึ่งหมายความว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อปาฐกถา หรือมาโดยตำแหน่ง เขาต้องมาเพื่อค้นคว้า และทดสอบความคิดของเขาเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ

ลองจินตนาการดูว่ามีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเข้าร่วมเวที เพื่อดูการหาทางเลือกของประชาชนในเรื่องยากๆ ก่อนที่จะอธิบายว่าเวทีของสภานิติบัญญัติ หรือสภาเมืองจัดการกับทางเลือกในประเด็นปัญหาเดียวกันอย่างไร. ลองคิดถึงการที่ประชาชนไม่ได้ถามเจ้าหน้าที่ด้วยคำถามปกติ "คุณกำลังจะทำอะไรให้พวกเรา?" แต่กลับดึงเจ้าหน้าที่ให้เข้าร่วมกับการใช้วิจารณญาณของพวกเขา ด้วยการพูดว่า "นี่คือประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ของเรา นี่คือสิ่งที่เราเห็นว่าอาจเป็นความขัดแย้งได้ และนี่เป็นสิ่งที่เราพยายามแก้ความขัดแย้งเหล่านั้น (โดยตระหนักถึงข้อเสียของแนวทางการแก้ปัญหาที่เราชอบที่สุด) ตอนนี้ช่วยบอกเราว่าประสบการณ์ของคุณคืออะไร คุณเห็นอะไรบ้างที่เป็นข้อขัดแย้ง และคุณจะแก้ไขมันอย่างไร?" การหารือทำนองนี้ แน่นอนว่าต้องเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ

6.5 ความรับผิดชอบที่ไม่ต้องมอบหมาย
ในที่สุดควรกล่าวว่า การใช้วิจารณญาณและผลผลิตที่ได้จากมันเป็นสิ่งที่สำคัญมากและขาดไม่ได้ ในการช่วยให้ประชาชนพบกับข้อบังคับของตัวเองในระบอบประชาธิปไตย ความรับผิดชอบเหล่านี้ไม่สามารถมอบหมายให้กับรัฐบาล แต่เป็นสิ่งที่ประชากรของระบอบประชาธิปไตยจะต้องกระทำเอง เพื่อให้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนทำงานต่อไป แม้แต่รัฐบาลที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมได้ด้วยตนเอง รัฐบาลไม่สามารถระบุเป้าประสงค์ของตนเองหรือสร้างมาตรฐาน หรือทิศทางให้กับสิ่งที่ตนเองจะต้องทำ แม้เรามักจะคาดหวังให้รัฐบาลทำก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถสร้าง และรักษาไว้ซึ่งการตัดสินใจเรื่องยากๆ ที่ประชาชนไม่เต็มใจสนับสนุน มีแต่สาธารณะเท่านั้นที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้

มากไปกว่านั้น รัฐบาลประชาธิปไตยหากต้องการอยู่ในตำแหน่งในระยะยาวอย่างมั่นคง จำเป็นต้องการการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง รากฐานของรัฐบาลอยู่ที่พื้นฐานร่วมสำหรับกระทำการร่วมกัน ซึ่งมีแต่ประชาชนเท่านั้นที่ทำได้ รัฐบาลสามารถสร้างทางด่วนให้เราได้ แต่ไม่ใช่สร้างพื้นฐานร่วมสำหรับกระทำการร่วมกันให้เราได้ แม้ว่ารัฐบาลคณะที่มีอำนาจที่สุด ก็ไม่สามารถสร้างความต้องการของสาธารณะ สำหรับการกระทำทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลสามารถสั่งให้มีการให้เกิดการเชื่อฟังได้ แต่ไม่สามารถสร้างความมุ่งมั่นได้

สุดท้าย ขึ้นกับพวกเราในฐานะสมาชิกที่จะเปลี่ยนผ่านจากความเป็นปัจเจกไปสู่ความเป็นพลเมือง พลเมืองสามารถสร้างรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่สามารถสร้างพลเมืองได้ เพราะปัจเจกจะเปลี่ยนมาเป็นพลเมืองได้นั้น ด้วยการเข้าร่วมงานกับสาธารณะเท่านั้น

7. การใช้วิจารณญาณจะเปลี่ยนความคิดเห็นของเราที่มีต่อความคิดเห็นของคนอื่น
การเอาคนจาก 2 ขั้วของเรื่องการทำแท้งมาพูดคุยกันในเวทีสาธารณะ ผลคือ คนที่ปกติพูดกันด้วความโกรธ ได้ฟังกันมากขึ้น

Jule Zimet ผู้มีประสบการณ์การจัดเวทีพูดคุยมานาน กล่าวว่าเวทีพูดคุยคือตัวอย่างที่ดีในการแสดงว่า การใช้วิจารณญาณสามารถเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะซึ่งมักจะแคบและตื้น มาเป็นการตัดสินใจของสาธารณะซึ่งรวมเอาเหตุผลสำคัญๆ ที่คนอื่นมี ในมุมมองที่ต่างออกไป สาเหตุที่การพูดคุยมีความยากลำบาก ก็เพราะด้วยวิธีการที่เราถูกอบรมมา วัฒนธรรมของเราฝึกเรามาให้โต้เถียงกับผู้อื่น ดังนั้น เราจึงมักได้ยินแต่ประเด็นที่เห็นต่างกัน

Zimet กล่าวว่าเธอประหลาดใจที่พบว่า เวทีที่ใช้วิจารณญาณช่วยให้คนเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกัน แต่เธอประหลาดใจมากกว่ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเธอเอง "เท่าที่จำได้ ฉันอยู่ข้างหนึ่งของประเด็นนี้มานาน" ระหว่างการทำงานกับเวทีพูดคุยแบบนี้ เธอเคยคิดว่า ถ้าเธอยอมให้กับเรื่องนี้ 1 นิ้ว อีกด้านหนึ่งก็จะรุกเข้ามา 1 ไมล์ แต่จากประสบการณ์ เธอพบว่า "ฉันได้รับการยอมรับนับถือมากจากอีกฝ่ายหนึ่ง" แม้ว่าเธอจะไม่เปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ มุมมองของเธอเปลี่ยนไปจากที่มองแบบขาว-ดำ มาเป็นการมองที่มีความละเอียดอ่อนขึ้น

เธอเห็นการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกันในคนที่เข้าร่วมเวทีที่ใช้วิจารณญาณ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งที่ช่วยในการวางแผนการจัดเวทีพูดคุยซึ่งเข้าร่วมในเวทีพูดคุยต่อมา ในเรื่อง "เสรีภาพในการพูด" เมื่อ Zimet ถามเธอถึงความคิดเห็นที่จะเชิญคนๆ หนึ่งมานำเสนอความเห็นที่เป็นด้านตรงข้ามในเวทีพูดคุยนี้ หญิงคนนั้นเห็นด้วยกับความเห็นของ Zimet แต่เธอกล่าวว่าเธอไม่จำเป็นต้องนั่งติดกับเขา แต่หลังจากจบเวทีพูดคุย Zimet พบว่าทั้งสองนั่งอยู่ด้วยกัน และกำลังพูดคุยกันถึงเรื่องแนวโน้มในสังคมที่กวนใจเขาทั้งสอง

เราเรียนรู้ที่จะฟังได้อย่างแตกต่างจากเดิม ทำให้เราเกิดความไว้วางใจกันในระดับที่แตกต่างกัน นั่นคือพื้นฐานของการสร้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน

8. กรณีที่จะใช้วิจารณญาณสาธารณะ
การใช้วิจารณญาณสาธารณะนั้น กล่าวง่ายๆ คือ เพื่อให้การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยได้ทำงานอย่างที่มันควรทำ นั่นคือ สาธารณะจะต้องเข้ามาร่วมกระทำการ เพราะการลงคะแนนเลือกตั้งอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ไม่เพียงพอทั้งการสนับสนุนนักการเมืองที่เราเลือกเข้ามา อีกทั้งยังไม่เพียงพอที่จะมีเพียงความคิดเห็น หรือติดตามสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น แต่ก่อนที่เราจะสามารถกระทำการในฐานะสาธารณะได้ เราจะต้องตัดสินใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร ก่อน

การใช้วิจารณญาณสาธารณะ เป็นชื่อหนึ่งของวิธีการที่เราจะตัดสินใจว่า เราจะกระทำการเรื่องหนึ่งๆ อย่างไร ในการเลือกทางเลือกหนึ่งๆ นั้น เราต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนที่ต้องจ่าย และผลที่ตามมาของทางเลือกนั้นๆ เมื่อผู้คนเริ่มรับรู้ถึงความแตกต่างของทางเลือก ผ่านประเด็นต้นทุนที่ต้องจ่าย และผลที่จะตามมา จะช่วยทำให้พวกเขาให้หาทางเลือกหรือชุดของการกระทำ ที่เข้ากันกับสิ่งที่เป็นคุณค่าของชุมชนทั้งหมด และด้วยวิธีการนี้ สาธารณะจึงสามารถระบุผลประโยชน์ของสาธารณะได้อย่างเป็นเรื่องๆ ไป

การใช้วิจารณญาณสาธารณะ ไม่ใช่กระบวนการรักษาสำหรับทุกสิ่งที่ทำให้การเมืองบิดเบี้ยว และไม่ใช่ยาแก้สำหรับทุกโรค แต่มันเป็นส่วนสำคัญของการเมืองแบบประชาธิปไตย

9. การใช้วิจารณญาณเพิ่มความสามารถของชุมชนในการกระทำการร่วมกัน
ยุงเป็นปัญหาใหญ่ที่ Twin Lakes รัฐ Ohio เมื่อ "สมาคมเพื่อนบ้าน" ตัดสินใจที่จะหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ Bob Walker ประธานของสมาคมฯ ต้องการทำให้การหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก เนื่องจาก Walker มีประสบการณ์อย่างเข้มข้นในการเป็นวิทยากรกระบวนการสำหรับเวทีพูดคุยระดับชาติมาก่อน เขาเลือกใช้วิธีใช้วิจารณญาณในการหารือเรื่องนี้ จากประสบการณ์นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าวิธีการใช้วิจารณญาณสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ชุมชนกล่าวถึงปัญหานี้ได้

เขารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมยุงจากทั่วประเทศ มาทำเป็นหนังสือ 4 หน้า แสดงถึงแนวทาง 3 ประการที่พบบ่อยในการแก้ปัญหานี้ เขาเช่าห้องประชุมในท้องถิ่นพร้อมเครื่องเสียง แล้วส่งจดหมายเชิญคนในชุมชนให้มาร่วมพิจารณาแนวทางทั้ง 3. มีคนเข้าร่วมประมาณ 50 คน ผลการใช้วิจารณญาณพิจารณาปัญหา ทำให้เกิดการก่อตั้งคณะกรรมการเพื่อการกำจัดแมลงที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดขึ้น

ที่ Wayne รัฐ Nebraska ได้มีเวทีหารือในสถานการณ์ที่ต่างกัน คือ มีโบสถ์ Lutheran อยู่ 2 แห่งในชุมชน ที่แยกกันเพราะเรื่องภาษา (โบสถ์หนึ่งใช้ภาษาเยอรมัน อีกแห่งใช้ภาษาอังกฤษ) โบสถ์ทั้ง 2 แห่งมีปัญหาเหมือนกันคือ มีคนเข้าโบสถ์น้อยลง องค์กรในชุมชนจึงเสนอให้รวมโบสถ์ทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่ด้วยประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 โบสถ์นี้ ทำให้มีโอกาสน้อยมากที่โบสถ์ทั้ง 2 จะรวมกันได้ ปัญหานี้ถูกทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ชาวบ้านต่างหลีกเลี่ยงที่จะการกล่าวถึงปัญหานี้ แต่คนบางคนที่เคยไปร่วมเวทีประเด็นสาธารณะระดับชาติมาก่อน ได้เสนอให้ตั้งเวทีพูดคุยร่วมขึ้นมา โดยยึดเอามุมมองทางวัฒนธรรม และการอยู่รอดของโบสถ์เป็นหลัก โดยให้คนที่เคยได้รับการอบรมจากเวทีประเด็นสาธารณะระดับชาติ ได้วางกรอบเรื่องการรวมกันของโบสถ์ แล้วจัดการประชุมขึ้น

Ropes-Gale สมาชิกในชุมชนคนหนึ่งกล่าวว่า "ฉันเคยอาศัยอยู่ตั้งแต่ชายแดนหนึ่งจนถึงอีกชายแดนหนึ่ง ฉันเป็นภรรยาของทหารมา 10 ปี ฉันได้ทำทุกอย่างมาแล้ว จนมาทำงานกับสภามนุษยธรรม และฉันไม่เคยเห็นกลุ่มคนใดเลยที่ไม่ได้ประโยชน์จากวิธีการใช้วิจารณญาณนี้"

10. การเป็น ผู้ดำเนินการประชุม สำหรับการใช้วิจารณญาณ
ต่อไปนี้ คือ แนวทางพื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจที่จะเป็น ผู้ดำเนินการประชุม ของการใช้วิจารณญาณ

10.1 การวางข้อตกลงร่วมในการพูดคุย
การใช้วิจารณญาณจะได้ผลดีเมื่อมีการพูดบนข้อตกลงร่วมกันบางอย่างตั้งแต่เริ่มต้น ข้อตกลงเหล่านี้จะช่วยป้องกันความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นระหว่างการพูดคุย

- ข้อตกลงพื้นฐานที่สุด คือเรื่องจุดประสงค์ของเวทีพูดคุย ที่จะนำไปสู่ การตัดสินใจเพื่อเลือกทางเลือก ผู้ดำเนินการประชุม ควรให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันออกข้อตกลงพื้นฐานในการพูดคุย มากกว่าที่จะประกาศข้อตกลงเหล่านั้นออกไปเอง

- กระตุ้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ไม่ให้มีคนใดคนหนึ่งเด่นหรือโน้มน้าวกลุ่ม (โดยให้เป็นข้อตกลงร่วมก่อนเริ่มการหารือ ซึ่งพบว่าเป็นเรื่องง่ายกว่าการที่จะหยุดคนที่พยายามจะนำเวที ในภายหลัง)

- การฟัง มีความสำคัญพอๆ กับการพูด

- ผู้เข้าร่วมควรจะพูดกับผู้เข้าร่วมอื่นๆ ไม่ใช่เพียงกับ ผู้ดำเนินการประชุม

- ผู้ดำเนินการประชุม หรือคนอื่นๆ ในกลุ่มอาจเข้าร่วมพูดคุยได้เป็นครั้งคราว เพื่อทำให้การหารือยังอยู่ในประเด็น

- ผู้เข้าร่วมต้องมีความเป็นธรรมในการพิจารณาทางเลือกทุกๆ ทางเลือก และตรวจสอบถึงสิ่งที่ต้องเสีย หรือแลกเปลี่ยนในแต่ละทางเลือก ความคิดเห็นที่หลากหลายนี้เป็นสิ่งสำคัญ และหากมีทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งที่ไม่มีใครในกลุ่มเลือกเลย ผู้ดำเนินการประชุม อาจตั้งคำถามว่า "ลองคิดดูว่า คนที่ชอบทางเลือกนี้ จะพูดว่าอะไรได้บ้าง"

10.2 คำถาม 4 ข้อ เพื่อกระตุ้นการใช้วิจารณญาณ

1. สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเรา คือ อะไร?
2. ค่าใช้จ่ายหรือผลที่จะตามมาจากทางเลือกต่างๆ เหล่านี้ คือ อะไร?
3. อะไรคือความขัดแย้งของประเด็นนี้ อะไร คือ สิ่งที่เราต้องจัดการ
4. เราสามารถตรวจจับความรู้สึกร่วมของทิศทาง หรือพื้นฐานร่วมสำหรับกระทำการณ์ร่วมกันได้หรือไม่

(1) สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเรา คือ อะไร?
การต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งสำหรับสาธารณะเป็นสิ่งที่ยาก เพราะทุกทางเลือกมีรากฐานมาจากสิ่งที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ความสนใจอย่างลึกซึ้ง เราอาจตั้งคำถามได้หลายๆ รูปแบบ เช่น

- เรื่องนี้มีผลกระทบต่อคุณเป็นการส่วนตัวอย่างไรบ้าง (ปกติใช้คำถามนี้ตอนเริ่มต้นของการพูดคุย)
- ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับทางเลือกนี้ คือ อะไรบ้าง?
- อะไรทำให้ทางเลือกนี้ เป็นทางเลือกที่ดี หรือทางเลือกที่ไม่ดี

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเวทีแต่ละคน ได้เปิดเผยทุกๆ ความห่วงใยที่ลึกซึ้งของแต่ละคน ผู้เข้าร่วมหรือ ผู้ดำเนินการประชุม สามารถถามคนที่เข้าร่วมคนอื่นๆ ว่า ทำไม หรือ มีความเป็นมาอย่างไร เขาจึงมีความเห็นหรือคิดเช่นนั้น ให้เขาได้พูดเกี่ยวกับประสบการณ์ตรง ไม่เพียงการพูดถึงข้อเท็จจริง หรือการโต้แย้งโดยใช้เหตุผลเท่านั้น

(2) ต้นทุนที่ต้องจ่าย หรือผลที่จะตามมาจากทางเลือกต่างๆ เหล่านี้ คือ อะไร?
คำถามนี้ก็เช่นกัน สามารถทำได้ในรูปแบบต่างๆ ตราบเท่าที่เป็นการกระตุ้นให้คนที่เข้าร่วมเวทีพูดคุยได้คิด เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากทางเลือกทั้งหลายเหล่านั้น ต่อสิ่งที่เป็นคุณค่าสำหรับพวกเขา เพราะการใช้วิจารณญาณ ต้องการการประเมินผลสิ่งที่สนับสนุน (ด้านบวก) และที่คัดง้าง (ด้านลบ) ของทางเลือกต่างๆ เหล่านั้น ทั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมั่นใจว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างเปิดเผยต่อกันและกัน และต้องมีคำถามที่ทำให้เกิดความมั่นใจ ว่าทำให้เกิดความยุติธรรม และความสมดุลในการตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

- อะไรน่าจะเป็นผลที่ตามมาจากการกระทำตามที่คุณได้เสนอแนะมา
- อะไร คือ ข้อโต้แย้งต่อทางเลือกที่คุณชอบมากที่สุด หรือผลเสียจากทางเลือกนี้
- มีใครคิดอะไรที่สร้างสรรค์ ที่อาจได้มาจากทางเลือกที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักนี้

(3) อะไรคือความขัดแย้งของประเด็นที่กำลังหารือนี้ อะไรคือสิ่งที่เราต้องจัดการ
ขณะที่เวทีพูดคุยกำลังดำเนินไป ผู้เข้าร่วมหรือ ผู้ดำเนินการประชุม อาจตั้งคำถาม

- คุณเห็นอะไรที่เป็นความตึงเครียด หรือเป็นความขัดแย้งระหว่างทางเลือกเหล่านี้
- อะไรคือ "พื้นที่สีเทา" หรือ อะไรคือสิ่งที่ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน
- ทำไมเรื่องนี้จึงตัดสินใจยากนัก

(4) เราสามารถตรวจจับความรู้สึกร่วมของทิศทาง หรือพื้นฐานร่วมสำหรับกระทำการณ์ร่วมกันได้หรือไม่
หลังจากแจ้งแก่ผู้เข้าร่วมเวทีการพูดคุยว่าวัตถุประสงค์ของของเวทีนี้คือ การทำงานเพื่อมุ่งไปสู่การตัดสินใจ ผู้ดำเนินการประชุมหรือคนอื่นๆ อาจแทรกแซงเป็นครั้งคราวด้วยคำถามที่ทำให้การใช้วิจารณญาณมุ่งไปสู่การสร้างทางเลือกต่างๆ และทำการหยุดการหารือเป็นระยะๆ เพื่อแสวงหาความเห็นร่วมกันหรือการโต้แย้งสำหรับทางออกที่เฉพาะเจาะจงทางใดทางหนึ่ง หลังจากนั้น เมื่อพบว่า ความตึงเครียดเริ่มชัดเจนขึ้น คนเริ่มเห็นว่าพวกเขาถูกดึงไปในทิศทางที่ต่างกัน โดยถือหลักของสิ่งที่พวกเขาเห็นเป็นคุณค่า ผู้ดำเนินการประชุม อาจใช้คำถามต่อไปนี้ เพื่อดูว่ากลุ่มกำลังไปทางไหน

- ทิศทางไหนที่ดูเหมือนจะดีที่สุด หรือที่เราต้องการไปทางใดสำหรับนโยบายนี้
- สิ่งที่ต้องแลกหากเราเลือกทางเลือกนี้ ทั้งที่เรายอมรับได้ และที่ยอมไม่ได้คืออะไร
- อะไรคือสิ่งที่เราเต็มใจ / ไม่เต็มใจจะทำทั้งในฐานะปัจเจก และฐานะชุมชน เพื่อแก้ปัญหานี้

หัวใจของการใช้วิจารณญาณ คือ คำถามที่ว่า เราเต็มใจที่จะยอมรับผลที่จะเกิดตามมาจากทางเลือกของเรา ซึ่งอาจนำไปสู่การอภิปรายสำหรับคำถามต่อไปนี้

- หากทางเลือกที่เราชอบมีผลกระทบต่อผู้อื่น เราจะยังคงชอบนโยบายหรือทางเลือกนี้อยู่หรือไม่

10.3 การจบเวทีพูดคุย
ก่อนที่จะจบการพูดคุย เป็นการดีที่จะสะท้อนให้เห็นทั้งในระดับปัจเจก และในฐานะกลุ่ม ถึงสิ่งที่ได้ทำสำเร็จจากเวทีนี้ คำถามต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์

- คุณคิดว่าประเด็นที่เรานำมาหารือกันนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
- คุณเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความคิดเห็นของคนอื่นอย่างไรบ้าง
- ทำไมเราถึงผ่านมันไปไม่ได้ (หากมีประเด็นที่ยังค้างคา)
- เรายังต้องหารือเรื่องอะไรต่อไปอีก
- เราสามารถใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวทีนี้อย่างไรบ้าง

คำถามข้างต้นนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้ผู้ดำเนินการประชุม เข้าแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ดำเนินการประชุมที่ดี ต้องกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมผูกพันเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเกิดเมื่อผู้ดำเนินการประชุมให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยกันโดยตรง และไม่เข้าแทรกแซงกับทุกๆ ข้อคิดเห็น หรืออาจทำได้โดยคำถามพื้นๆ ที่จะเชื่อมคนเข้าด้วยกัน เช่น "มีใครมีความเห็นกับสิ่งที่คุณซาร่าเสนอหรือไม่" ผู้ดำเนินการประชุมควรชี้ให้เห็นตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเวที ว่า ความรับผิดชอบในการใช้วิจารณญาณ คือ ความรับผิดชอบของกลุ่ม นอกจากนี้ ผู้ดำเนินการประชุมต้องทำตัวให้เป็นกลาง เพื่อให้กลุ่มสามารถพิจารณาทางเลือกต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรม

11. การจัดเวทีพูดคุย
เวทีการพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณนี้ เป็นโอกาสให้สาธารณะได้ทำงาน และคุณอาจต้องการให้เกิดขึ้นบ้างในชุมชนของคุณ แม้ว่าการใช้วิจารณญาณสาธารณะจะเกิดขึ้นมาเองได้โดยไม่เป็นทางการ แต่จะเกิดประโยชน์กับชุมชนมากกว่าถ้ามีการจัดการให้เกิดการตอบสนอง หรือการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นที่หารือ. เวทีการพูดคุยนี้ อาจถูกจัดโดยห้องสมุดสาธารณะ, ศูนย์กลางชุมชน, หรือองค์กรทางศาสนา. บางคนอาจจัดเวทีการพูดคุยนี้ในห้องนั่งเล่นที่บ้านก็ได้. บางกรณี เวทีการพูดคุยนี้ถูกรวมเข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนของโรงเรียนและวิทยาลัย เพื่อสอนทักษะในการตัดสินใจร่วมกัน รวมทั้งโครงการการเป็นผู้นำต่างๆ มักมีเวทีการพูดคุยแบบนี้ เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนี้

บางกลุ่มอาจจัดให้มีเวทีการพูดคุย เป็นจำนวนที่แน่นอนในแต่ละปี บางกลุ่มอาจจัดให้มีเพียงครั้งเดียว เพื่อตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะเจาะจงในท้องถิ่น เช่น พันธมิตรของตำรวจและองค์กรประชาสังคม ได้ร่วมกันจัดเวทีพูดคุยเรื่อง "ความรุนแรงในวัยเด็ก" ส่วนขนาดของกลุ่มนั้น อาจตั้งแต่ 7 คน ประชุมกันที่ชั้นใต้ดินของโบสถ์ ถึง 300 คน ประชุมกันที่ห้องประชุมของมหาวิทยาลัย

แม้ว่าการใช้วิจารณญาณจะมีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาระยะสั้นสำหรับบางปัญหาได้ แต่ผลประโยชน์ที่สำคัญเกิดเมื่อผู้คนมีพันธะสัญญาระยะยาว ที่จะจัดให้มีเวทีการพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ การได้มีเวทีการใช้วิจารณญาณอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง "พฤติกรรมต่อสาธารณะ" (civic habits) ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องหนักๆ ขึ้นในชุมชนหรือสังคม ผู้คนจะเคยชินกับการตัดสินใจร่วมกัน

11.1 การใช้หนังสือประเด็น (issue books) (1)
เวทีการพูดคุยจะประสบความสำเร็จ ถ้าคนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ได้อ่านประเด็นต่างๆ ในหนังสือมาก่อนเข้าร่วมพูดคุย

11.2 เวลาที่ใช้สำหรับเวทีพูดคุย

คนส่วนใหญ่กำหนดเวลาไว้ที่ 2 ชั่วโมง แต่ไม่มีกำหนดเวลาตายตัว บางคนอาจชอบ 3 ชั่วโมง เพราะทำให้คนเข้าร่วมได้มีเวลาแสดงความคิดเห็นได้อย่างถี่ถ้วน และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้เข้าร่วมจะต้องเข้าร่วมเวทีพูดคุยครั้งละ 2 ชั่วโมง เป็นจำนวน 3 - 4 ครั้ง เพื่อหารือในประเด็นปัญหาอย่างลึกซึ้ง

11.3 อย่าทำตามลำพัง
เพื่อให้ การใช้วิจารณญาณได้หยั่งรากและเติบโตต่อไป ต้องมีคนมากกว่า 1 คนมีพันธะสัญญาร่วมกัน เวทีที่ประสบความสำเร็จมักมี "คณะทำงาน" ในการวางแผนและจัดการเวทีพูดคุย ขนาดและโครงสร้างของคณะทำงานขึ้นกับสถานการณ์. สำหรับกฎทั่วๆ ไป ยิ่งเวทีพูดคุยมีขนาดใหญ่ หรือมีการจัดเวทีมากครั้ง ยิ่งต้องการคณะทำงานมาทำงานมากขึ้น

ในบางชุมชน พันธมิตรขององค์กรต่างๆ มาร่วมกันจัดเวทีพูดคุยขนาดใหญ่ หรือการพูดคุยหลายๆ ครั้งในประเด็นเดียวกัน โดยการลงขันร่วมกัน ทำให้มีคนมากขึ้นในการช่วยจัดงาน

11.4 การอบรม ผู้ดำเนินการประชุม
การใช้วิจารณญาณจะมีประสิทธิภาพเมื่อมีผู้ดำเนินการประชุมที่เข้าใจกระบวนการการใช้วิจารณญาณ และมีความคุ้นเคยกับประเด็นที่จะหารือกัน

คนที่เคยเป็นผู้ดำเนินการประชุม ในการพูดคุยแบบอื่นๆ แต่ไม่ชัดเจนว่าการพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณนั้นแตกต่างจากการพูดคุยทั่วไปอย่างไร อาจใช้เทคนิคนำการพูดคุยที่ขัดขวางการพูดคุยแบบใช้วิจารณญาณ เช่น วิธีการที่เหมือนการสอนเกี่ยวกับประเด็นที่จะหารือ แล้วตอบคำถามของผู้เข้าร่วม หรือมี "ผู้เชี่ยวชาญ" วางกรอบของประเด็นที่หารือ หรือทำให้เวทีหลงทางไปจากการที่ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ

11.5 ค่าใช้จ่าย
เวทีพูดคุยที่ประสบความสำเร็จหลายๆ แห่งเกือบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น คนทำงานส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร บางที่อาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ดำเนินการประชุม. ค่าใช้จ่ายที่สำคัญ คือ การซื้อหนังสือประเด็นและม้วนวีดีโอ การลงประกาศเชิญคนเข้าร่วมเวที และการแถลงข่าวผลของการพูดคุย รวมทั้งค่าอาหารว่าง แต่หลายๆ องค์กรจัดการกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ โดย

- ขอให้ห้องสมุดซื้อหนังสือประเด็นและม้วนวีดีโอ เพื่อให้คนได้ยืมมาใช้
- คิดค่าใช้จ่ายจากผู้เข้าร่วมพอเป็นพิธี สำหรับเป็นค่าหนังสือ หรือจัดการให้ร้านหนังสือในท้องถิ่นจัดหาหนังสือนั้นไว้
- ขอการสนับสนุนจากนักธุรกิจในท้องถิ่นให้ออกค่าใช้จ่ายให้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการประกาศชื่อให้ในเวทีสาธารณะ
- กระตุ้นให้นายจ้างของคณะทำงานออกค่าใช้จ่ายบางอย่างให้ เช่น ค่าถ่ายเอกสาร หรือการส่งจดหมายเชิญ

11.6 เชิญคนมาเข้าร่วม: ไปในที่ที่มีคนอย
โดยปกติแล้ว จำนวนผู้เข้าร่วมจะเปลี่ยนแปลงไปขึ้นกับความเข้มข้นของการโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ของคณะทำงาน โดยที่บางครั้ง แม้จะมีการเตรียมการที่ดีที่สุด แต่คนเข้าร่วมก็อาจยังน้อยอยู่ ซึ่งขอยืนยันว่าเราต้องไม่ยอมแพ้ คนที่เข้าร่วมเพียงจำนวนไม่มากในเวทีหนึ่งๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้โครงการทั้งหมดของการใช้วิจารณญาณของชุมชนต้องล้มเลิก

ทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้คนเข้าร่วม คือ การไปจัดเวทีในที่ที่มีคนอยู่ ซึ่งพบว่า เวทีพูดคุยหลายๆ เวที ที่ต้องมีการพูดคุยหลายๆ ครั้ง ได้จัดโดยเชื่อมเข้ากับกิจกรรมของโบสถ์และห้องสมุด

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สำหรับผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก

www.nifi.org
www.theharwoodinstitute.org
www.kettering.org

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) ดูตัวอย่างหนังสือประเด็นที่ใช้ประกอบในเวทีการประชุม ใน http://www.nifi.org/discussion_guides/index.aspx

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกไปอ่านทบทวนบทความ ตอนที่ ๑

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การใช้วิจารณญาณสาธารณะ เป็นชื่อหนึ่งของวิธีการที่เราจะตัดสินใจว่า เราจะกระทำการเรื่องหนึ่งๆ อย่างไร ในการเลือกทางเลือกหนึ่งๆ นั้น เราต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนที่ต้องจ่าย และผลที่ตามมาของทางเลือกนั้นๆ เมื่อผู้คนเริ่มรับรู้ถึงความแตกต่างของทางเลือก ผ่านประเด็นต้นทุนที่ต้องจ่าย และผลที่จะตามมา จะช่วยทำให้พวกเขาให้หาทางเลือกหรือชุดของการกระทำ ที่เข้ากันกับสิ่งที่เป็นคุณค่าของชุมชนทั้งหมด และด้วยวิธีการนี้ สาธารณะจึงสามารถระบุผลประโยชน์ของสาธารณะได้อย่างเป็นเรื่องๆ ไป (คัดมาจากบทความบางส่วน)
07-05-2550

Public Deliberation
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.