โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 25 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๒๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 25, 04,.2007)
R

การโต้ตอบทางวิชาการ ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
วิวาทะทางวิชาการ: กรณี JTEPA
ระหว่างสมเกียรติ ตั้งกิจวานิช (TDRI) vs นันทน อินทนนท์ (ผู้พิพากษา)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทวิวาทะนี้รวบรวมมาจากจดหมายอิเล็กทรอนิก

บทความวิชาการเชิงโต้ตอบระหว่างนักวิชาการทีดีอาร์ไอ กับผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ
ด้านทรัพย์สินทางปัญญานี้ กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ในบทสนทนาเชิงโต้ตอบดังกล่าวได้มีการท้วงติงเกี่ยวกับกรณีรายงานการศึกษา
ของทีดีอาร์ไอ ซึ่งค่อนข้างหละหลวมและขาดความรัดกุมและคุณภาพทางวิชาการ
พอที่จะใช้เป็นข้อสังเกตและเครื่องมือในการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งข้อวิจารณ์เหล่านี้ได้มีการโต้ตอบกันอย่างสร้างสรรค์ มีการชี้ชัดลงไปในรายละเอียดถึงมาตรา
และข้อกฎหมายซึ่งมีผลผูกพันระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ
โดยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนพึงตระหนักว่า การเจรจาความเมืองหรือการเจรจาทางการค้าใดๆ
อันมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อประเทศในอนาคต จะต้องผ่านการพิจารณาและตรวจสอบอย่างรอบคอบ
และจะต้องเปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในที่สาธารณะ
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๒๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วิวาทะทางวิชาการ: กรณีเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง JTEPA
ระหว่าง สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช (TDRI) vs นันทน อินทนนท์ (ผู้พิพากษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

หมายเหตุ : บทวิวาทะทางวิชาการชิ้นนี้ เกี่ยวเนื่องกับบทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่
1198. JTEPA สิทธิบัตรจุลชีพ กับม้าโทรจัน (ตอนที่ ๑)(ตอนที่ ๒) (นันทน อินทนนท์, มหาวิทยาลัยสต๊อกโฮล์ม)
เพื่อความเข้าใจเรื่องราวตั้งแต่ต้น กรุณาคลิกอ่านบทความตามที่ได้ระบุไว้

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ตอบประเด็นสิทธิบัตรจุลชีพ ใน JTEPA กับรายงานของทีดีอาร์ไอ

ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณ คุณนันทน อินทนนท์ จากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ที่ได้เขียนบทความเรื่อง "ประเด็นสิทธิบัตรจุลชีพในความตกลง JTEPA" ผมเองได้ความรู้มากจากการอ่านบทความนั้น และขอขอบคุณเป็นพิเศษที่ช่วยวิพากษ์วิจารณ์รายงานการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ซึ่งผมเป็นหัวหน้าโครงการ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ จะช่วยให้ผู้วิจัยสามารถมองปัญหาอย่างรอบด้านและทำงานอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้นในอนาคต และต้องขออภัยที่ใช้เวลานานกว่าจะได้ตอบบทความของคุณนันทน เพราะติดภารกิจมากมายในช่วงก่อนสงกรานต์

ผมพยายามทบทวนการตีความบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรจุลชีพของฝ่ายต่างๆ ทั้งของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ คุณนันทนและของตัวผมเอง โดยไม่ยึดติดกับความคิดเดิมของตนเอง เพื่อทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง ต่อภาระผูกพันที่แท้จริงของประเทศไทยในประเด็นดังกล่าว ผมขอสรุปความเข้าใจของตนเองทีละประเด็น เพื่อแลกเปลี่ยนกับคุณนันทนและผู้อ่านดังนี้

1. ความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก ซึ่งไทยเป็นภาคีสมาชิกกำหนดให้ประเทศสมาชิกมีหน้าที่ต้องให้การคุ้มครองสิทธิบัตรแก่จุลชีพ ดังนั้น ประเทศไทยมีภาระผูกพันอยู่แล้วที่จะต้องให้การคุ้มครองสิทธิบัตรแก่จุลชีพที่ถือเป็นการประดิษฐ์ (คือมีความใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม)

2. ความตกลง JTEPA กำหนดให้ประเทศภาคีต้องให้ความมั่นใจว่า การขอรับสิทธิบัตรใดๆ จะต้องไม่ถูกปฏิเสธเพียงเพราะว่า สาระที่ขอถือสิทธิในคำขอนั้นเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีผลทำให้บทบัญญัติดังกล่าวเกินกว่าความตกลงทริปส์ เพราะตาม JTEPA จุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติอาจจะสามารถจดสิทธิบัตรได้ (ดังความเห็นของ ศ.คาร์ลอส คอร์เรีย) ส่วนจะเกินทริปส์แล้วมีผลอย่างไร ผมจะกล่าวถึงต่อไป

3. อย่างไรก็ตาม ไม่มีบทบัญญัติใดในความตกลง JTEPA ที่ผูกพันให้ประเทศไทยต้องจดสิทธิบัตรจุลชีพที่มีอยู่โดยธรรมชาติให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตร (คุณนันทนยืนยันข้อเท็จจริงนี้ในย่อหน้าแรกของบทความ) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญายังคงสามารถปฏิเสธที่จะให้การคุ้มครองสิทธิบัตรแก่จุลชีพ ที่ไม่มีลักษณะเป็นการประดิษฐ์ได้ เช่น ไม่มีความใหม่ หรือไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงพอ โดยเฉพาะจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น เช่นเดียวกับเมื่อไม่มีความตกลง JTEPA

4. กลุ่มเอ็นจีโออ้างว่า ประเทศไทยต้องให้การคุ้มครองจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความแตกตื่นในวงกว้าง แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญารวมทั้งคุณนันทน เห็นว่าการตีความของกลุ่มเอ็นจีโอน่าจะไม่ถูกต้อง แต่ไม่ทราบว่าข้อมูลใหม่นี้จะสามารถลดความเข้าใจผิด และความแตกตื่นของประชาชนได้เพียงใด และใครต้องรับผิดชอบกับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนนี้

5. จุดเด่นของบทความของคุณนันทนคือ การแบ่งจุลชีพออกเป็นประเภทต่างๆ และชี้ว่าจุลชีพประเภทที่อาจเกิดปัญหาในการตีความว่า จะต้องให้การคุ้มครองภายใต้สิทธิบัตรหรือไม่คือ จุลชีพที่ถูกสกัดออกมาแต่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติทุกประการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเองยอมรับว่า ไม่ได้คิดถึงมาก่อน จึงไม่ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ในรายงาน

บทความของคุณนันทนยังระบุว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาน่าจะตีความคลาดเคลื่อนว่า บทบัญญัติดังกล่าวห้ามประเทศภาคีปฏิเสธคำขอในชั้นตรวจสอบคำขอ (formality examination) ซึ่งเป็นการตรวจสอบว่า คำขอมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยชี้ว่า การตีความที่ถูกต้องน่าจะหมายถึงการห้ามประเทศภาคีปฏิเสธคำขอในชั้นตรวจสอบเนื้อหาของการประดิษฐ์ (substantive examination) ผมอ่านบทบัญญัติดังกล่าวดูหลายครั้งแล้ว ก็เห็นคล้อยตามคุณนันทน

6. ประเด็นสำคัญที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันก็คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญาและศาลไทยยังมีอำนาจตีความว่า สิทธิบัตรที่เกี่ยวกับจุลชีพใดเป็นการประดิษฐ์ (ตามความเชื่อของกรมทรัพย์สินทางปัญญา) หรือหมดอำนาจในการตีความไปแล้ว เพราะทรัพย์สินทางปัญญาถูกเชื่อมโยงกับการลงทุน นักลงทุนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยได้โดยตรง โดยการระงับข้อพิพาทจะต้องดำเนินการภายใต้อนุสัญญา ICSID หรืออนุสัญญาของ UNCITRAL (ตามความเชื่อของคุณนันทน) โดยประเด็นนี้จะเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับจุลชีพประเภทที่เป็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น

7. ผมเห็นว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาและศาลไทยยังมีอำนาจตีความว่า จุลชีพใดเป็นการประดิษฐ์หรือไม่ เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาที่ถือเป็นการลงทุนตามมาตรา 91(a)(iii)(BB) JTEPA คือ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นของนักลงทุนโดยตรง ซึ่งได้รับการยอมรับโดยกฎระเบียบของประเทศภาคีที่มีการลงทุนนั้น (intellectual property rights as recognised by the laws and regulations of the Party in whose area the investment is made)
ซึ่งหมายความว่า ทรัพย์สินทางปัญญาที่จะอยู่ภายใต้การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามความตกลงนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายไทยก่อน และต้องเป็นของนักลงทุนโดยตรงในประเทศไทยด้วย (เช่น เป็นของผู้ที่ถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ในกิจการในประเทศไทย)

8. คำจำกัดความของคำว่า "การลงทุน" (investment) ใน JTEPA จึงครอบคลุมประเภทของทรัพย์สิน (ซึ่งอยู่ภายใต้การระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ) ในขอบเขตที่จำกัดกว่าความตกลงอื่นๆ เช่น อนุสัญญาการลงทุนทวิภาคี (BIT) ต่างๆ ด้วยเหตุผลข้างต้นและเหตุผลอื่นๆ ที่กล่าวถึงในรายงานของทีดีอาร์ไอ (หน้า 75)

9. รายงานของทีดีอาร์ไอได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องนิยามเรื่องการลงทุน และการระงับข้อพิพาทในการลงทุนไว้อย่างละเอียดในบทที่ 8 ผมเข้าใจว่า คุณนันทนไม่ได้อ่านบทดังกล่าว เพราะอาจสนใจประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลัก และคงไม่สามารถเข้าถึงบทบัญญัติของ JTEPA ในเรื่องดังกล่าวได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาในการเปิดเผยข้อมูลในการทำ FTA ของรัฐบาลไทย คุณนันทนจึงสันนิษฐานไปเองว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาและศาลไทยไม่มีอำนาจตีความแล้วว่า จุลชีพใดเป็นการประดิษฐ์ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรหรือไม่

โดยสรุปบทบัญญัติเรื่องสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับจุลชีพใน JTEPA ไม่ได้ผูกพันให้ประเทศไทยต้องจดสิทธิบัตรจุลชีพที่มีอยู่โดยธรรมชาติให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตร และไม่ได้ตัดสิทธิในการตีความของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและศาลไทยว่า จุลชีพใดเป็นการประดิษฐ์หรือไม่ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงยังคงมีอำนาจในการปฏิเสธการจดสิทธิบัตรจุลชีพที่ไม่เข้าข่ายการประดิษฐ์ได้เช่นเดิม

เพียงแต่จะไม่สามารถอ้างได้ว่า เหตุผลที่ปฏิเสธการจดสิทธิบัตรนั้นเป็นเพราะสาระที่ขอถือสิทธินั้นเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และจะต้องใช้เหตุผลในการปฏิเสธตามหลักทั่วไปของกฎหมายสิทธิบัตรว่า จุลชีพนั้นไม่ใช่การประดิษฐ์ เช่น ไม่มีความใหม่หรือไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น

ส่วนเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต และการคุ้มครองมาตรการด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คุณนันทนกล่าวถึงรายงานของทีดีอาร์ไอในทำนองที่ว่าไม่ได้วิเคราะห์ประเด็นนี้เลยนั้น (คุณนันทนไม่ได้กล่าวพาดพิงตรงๆ แต่พูดผ่านๆ แล้วเปลี่ยนประเด็นไปพูดว่ารายงานของทีดีอาร์ไอมีบทวิเคราะห์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่กี่หน้า)

ความเป็นจริงก็คือ รายงานของทีดีอาร์ไอได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวใน JTEPA ไม่น่าจะก่อให้เกิดต้นทุนต่อประเทศไทยในการปฏิบัติตามมาก เพราะใช้คำว่า "ประเทศภาคีจะพยายาม...." ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีผลผูกพันน้อย" (หน้า 116) และแตกต่างจากบทบัญญัติในความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าประเทศภาคีต้องให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต และมาตรการด้านเทคโนโลยี

หากคุณนันทนไม่เห็นด้วยกับการตีความในลักษณะดังกล่าวในประเด็นนี้หรือประเด็นอื่น ผมก็อยากจะทราบเหตุผลโดยละเอียดมากกว่าการตั้งข้อสังเกตอย่างเคลือบคลุมว่า มี "ม้าโทรจัน" อีกหลายตัวในความตกลง JTEPA

ผมทราบว่า คุณนันทนเป็นผู้พิพากษา จึงอยากขอความกรุณาท่านให้ความยุติธรรมแก่ผมโดยโปรดยก "ประโยชน์แห่งความสงสัย" (benefit of doubt) ให้แก่จำเลย (ผม) ด้วย หากโจทก์ (ท่าน) ซึ่งได้อ่านความตกลงอย่างละเอียดแล้ว ก็ยังไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นพอที่จะระบุว่า ความตกลงดังกล่าวมีปัญหาอะไรอีก


นันทน อินทนนท์
จดหมายเปิดผนึกถึง TDRI ต่อกรณี JTEPA (๑)

บทความของผู้เขียนเรื่อง "JTEPA สิทธิบัตรจุลชีพ กับม้าโทรจัน" ได้วิพากษ์รายงานการวิจัย(ไม่ใช่ผู้วิจัย) ของ TDRI ที่เสนอต่อคณะเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญาว่า ไม่มีมาตรฐานเพียงพอที่จะถือเป็นรายงานการวิจัยในระดับจะมาใช้อ้างอิงได้ ต่อมาหัวหน้าคณะวิจัยของรายงานการวิจัยดังกล่าว ได้เขียนบทความชี้แจงประเด็นที่ผู้เขียนวิจารณ์ และเชิญชวนให้ผู้เขียน "ให้เหตุผลโดยละเอียดมากกว่าตั้งข้อสังเกตอย่างเคลือบคลุม" ผู้เขียนน้อมรับคำเชื้อชวนด้วยความเคารพและยินดี

บทความนี้ ผู้เขียนจะเสนอความเห็นใน ๒ ประเด็นคือ

๑) สิทธิบัตรจุลชีพมีความสัมพันธ์กับการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนหรือไม่
๒) ความตกลง JTEPA เกินเลยไปกว่าความตกลงทริปส์หรือไม่ ในประเด็นใดบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปว่ารายงานการวิจัยของ TDRI บกพร่องทางวิชาการอย่างไร

ในประเด็นแรก บทความดังกล่าวยืนยันว่าอำนาจในการตีความว่าจุลชีพเป็นสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรตามกฎหมายสิทธิบัตรได้หรือไม่ ยังคงเป็นอำนาจของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและศาลไทย และกล่าวว่าผู้เขียนสันนิษฐาน (เดา) ไปเองว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาและศาลไทยไม่มีอำนาจตีความบทบัญญัติตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทยแล้ว

ในอันที่จริง บทความเดิมของผู้เขียนกล่าวถึงอำนาจในการตีความความตกลง JTEPA ไม่ใช่การตีความกฎหมายสิทธิบัตรของไทย และสรุปไว้ว่าอำนาจในการตีความปัญหาเกี่ยวกับสิทธิบัตรจุลชีพตามความตกลง JTEPA ไม่ได้อยู่ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาลไทย เพราะมีกลไกการระงับข้อพิพาทตามความตกลงดังกล่าวอยู่คือ การใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามอนุสัญญา ICSID หรือของ UNCITRAL บทความของหัวหน้าคณะวิจัยจาก TDRI ดังกล่าวเข้าใจความเห็นของผู้เขียนคลาดเคลื่อน เพราะไม่ได้แยกแยะระหว่างการตีความกฎหมายสิทธิบัตรของไทยซึ่งยังคงเป็นอำนาจของศาลไทยอย่างแน่นอน กับการตีความความตกลง JTEPA ซึ่งต้องใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการ จึงได้กล่าวหาผู้เขียนเช่นนั้น

ความตกลง JTEPA ถือว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทด้านการลงทุนเกิดขึ้น นักลงทุนอาจเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามอนุสัญญา ICSID ได้. ปัญหาสำคัญจริงๆ อยู่ที่ว่าควรมีการบัญญัติว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการลงทุนหรือไม่ และหากกำหนดเช่นนั้นแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร บทความดังกล่าวอ้างว่าทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ภายใต้การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ต้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายไทยก่อนเพราะมาตรา ๙๑ (a)(iii)(BB) [ที่ถูกคือข้อ ๙๑ (j)(ii)(BB) และนักกฎหมายเรียกคำว่า "Article" ซึ่งใช้ในความตกลงระหว่างประเทศว่า "ข้อ" ไม่ใช่ "มาตรา" เพราะใช้คำว่า "มาตรา" ใช้กับกฎหมายภายในซึ่งตรงกับคำว่า "Section"] ของความตกลง JTEPA กำหนดให้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นการลงทุนนั้นต้องเป็นของผู้ลงทุนโดยตรง ซึ่งได้รับการยอมรับตามกฎหมายของประเทศที่มีการลงทุนนั้น (intellectual property rights as recognized by the laws)

บทความดังกล่าวไม่กล้าฟันธงว่า การระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนไม่อาจใช้กับการได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา เพราะมิฉะนั้นต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า หากผู้ลงทุนชาวญี่ปุ่นไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรจุลชีพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ผู้ลงทุนนั้นก็ไม่สามารถเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ เพราะการเสนอข้อพิพาทจะต้องเป็นไปหลังจากได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรแล้ว การแปลความตกลงจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไม่ได้ก่อให้เกิดความชัดเจนแม้แต่น้อย

ตามความเห็นของผู้เขียน บทบัญญัติข้อ ๙๑ (j)(ii)(BB) เป็นเพียงนิยามของคำว่าการลงทุน ซึ่งไม่น่าจะมีเจตนารมณ์โดยตรงที่จะกำหนดให้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นการลงทุนนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับความคุ้มครองสมบูรณ์ตามกฎหมายก่อน บทบัญญัตินี้เพียงแต่กำหนด "ประเภท" ของทรัพย์สินทางปัญญาที่จะถือเป็นการลงทุนว่า จะต้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการรับรองหรือยอมรับตามกฎหมายของประเทศที่มีการลงทุนเท่านั้น เช่น ผู้ลงทุนชาวญี่ปุ่นไม่อาจอ้างขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในสัตว์ได้ เพราะกฎหมายไทยไม่ให้การรับรอง, ในทำนองกลับกัน ผู้ทรงสิทธิของไทยในภูมิปัญญาการแพทย์หรือพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ก็ไม่อาจอ้างสิทธินั้นว่าเป็นการลงทุนตามความตกลง JTEPA ได้ เพราะกฎหมายญี่ปุ่นไม่ให้การยอมรับหรือรับรองทรัพย์สินทางปัญญานั้น

อย่างไรก็ตาม บทนิยามของการลงทุนในความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการลงทุน (Bilateral Investment Agreement) หลายฉบับได้ก่อให้เกิดปัญหาว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใดจะได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นการลงทุนระหว่างสิทธิที่จะได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิตามคำขอรับทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งได้มาโดยสมบูรณ์แล้ว ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญที่นักวิชาการกำลังโต้เถียงกันอยู่ รายงานวิจัยที่ดีต้องทราบถึงปัญหานี้และเสนอแนะให้ร่างความตกลงให้ชัดเจน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า มีวิธีการมากมายในการร่างบทบัญญัตินี้ให้ชัดเจนสมดังเจตนารมณ์ได้ แต่รายงานวิจัยดังกล่าวก็เพิกเฉยเสีย

การระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนตามความตกลง JTEPA อาจมีผลกระทบต่อนโยบายด้านกฎหมายของไทยในการคุ้มครองสิทธิบัตรจุลชีพ ตัวอย่างเช่น หากผู้ลงทุนชาวญี่ปุ่นยื่นคำขอรับสิทธิบัตรจุลชีพที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกสิทธิบัตรให้ ต่อมามีกระบวนการเพิกถอนสิทธิบัตรในชั้นศาลและศาลได้ให้เพิกถอนสิทธิบัตรเนื่องจากจุลชีพดังกล่าวไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ หรือกฎหมายไทยในอนาคตได้กำหนดให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรนั้นต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการประดิษฐ์ แต่ผู้ขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวไม่ได้เปิดเผย ซึ่งเป็นผลให้ต้องมีการเพิกถอนสิทธิบัตรนั้นในเวลาต่อมา ในกรณีเช่นนี้ ผู้ลงทุนชาวญี่ปุ่นก็อาจเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ อ้างว่าการเพิกถอนสิทธิบัตรนั้นขัดต่อความตกลง JTEPA ได้

กรณีเช่นนี้หากอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า การเพิกถอนสิทธิบัตรนั้นขัดต่อความตกลงดังกล่าวจริงและสั่งให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหาย รัฐบาลไทยก็ต้องหาทางแก้กฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรดังกล่าวอย่างแน่นอน เพื่อมิให้กฎหมายไทยขัดต่อความตกลงระหว่างประเทศ นี่คือเหตุผลที่ผู้เขียนเสนอในบทความที่แล้วว่า เหตุใดอำนาจในการตีความที่แท้จริงจึงไม่ได้อยู่กับประเทศไทยต่อไป และประเด็นการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาเช่นนี้ก็คือ การกำหนดเงื่อนไขที่เกินเลยไปจากความตกลงทริปส์ (ทริปส์ผนวก) อย่างหนึ่ง แต่รายงานวิจัยของ TDRI ก็แกล้งทำเป็นไม่รู้

จดหมายเปิดผนึกถึง TDRI ต่อกรณี JTEPA (๒)

ผู้แทนคณะเจรจาฝ่ายไทยในความตกลง JTEPA กล่าวว่า ข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในความตกลง JTEPA มีความสอดคล้องกับความตกลงทริปส์ และนำรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาสนับสนุน โดยรายงานการวิจัยฉบับนี้วิเคราะห์ไว้ว่า "บทบัญญัติด้านทรัพย์สินทางปัญญาใน JTEPA ไม่ได้มีเนื้อหาที่มีความอ่อนไหวมากนัก เนื่องจากเป็นพันธกรณีที่ไทยมีอยู่แล้วตามความตกลงทริปส์"

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยทั้ง "เหตุ" และ "ผล" ของรายงานการวิจัยดังกล่าว การตั้งสมมติฐานของการวิจัยว่า ความตกลง JTEPA สอดคล้องกับความตกลงทริปส์หรือไม่ เป็นการตั้งสมมติฐานที่บกพร่องในเชิงวิชาการ ทั้งนี้เนื่องจากความตกลงทริปส์เป็นเพียงการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น การให้ความคุ้มครองแก่ผู้ทรงสิทธิที่เข้มงวดกว่าที่ความตกลงทริปส์กำหนดไว้ จึงไม่อาจเรียกได้ว่าขัดกับความตกลงทริปส์ ดังนั้นต่อให้ทำการวิจัยไปอย่างไร ความตกลง JTEPA ก็ย่อมสอดคล้องกับความตกลงทริปส์อยู่วันยังค่ำ

ในความตกลง JTEPA มีหลายประเด็นที่เกินเลยไปกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของความตกลงทริปส์คือ

(๑) การคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
(๒) การคุ้มครองพันธุ์พืช
(๓) การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และ
(๔) การคุ้มครองแบบผลิตภัณฑ์บางส่วน
โดยสองประเด็นแรกมีความสำคัญมากกว่า ผู้เขียนจึงจะละประเด็นที่เหลือไว้

ในประเด็นแรก ความตกลงทริปส์ไม่มีหลักการในที่กำหนดให้มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศไว้แม้แต่น้อย แต่ความตกลง JTEPA ได้กำหนดหลักการใหม่ในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไว้เพิ่มเติม ๓ ประการคือ

๑) การให้ความคุ้มครองสิทธิในการแพร่แพร่ต่อสาธารณชนในงานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต
๒) การให้ความคุ้มครองมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยี (Technological Protection Measure หรือ TPM) และ
๓) การให้ความคุ้มครองข้อมูลบริหารสิทธิ (Right Management Information)

หลักการทั้งสามประการนี้ปรากฏอยู่ในความตกลงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกสองฉบับที่เรียกกันว่า "สนธิสัญญาอินเทอร์เน็ต" (WIPO Internet Treaties) โดยสนธิสัญญานี้ได้รับการผลักดันจากประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องการขยายความคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้กว้างขวางขึ้น ประเด็นการให้ความคุ้มครองมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยี ดูเหมือนจะได้รับการคัดค้านอย่างหนักที่สุด เนื่องจากอาจถูกนำไปใช้เพื่อกีดกันไม่ให้สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเต็มที่ เช่น เจ้าของลิขสิทธิ์ในแผ่นซีดีเพลงจะใช้ TPM เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเปิดแผ่นซีดีนั้นโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือไม่ให้มีการทำสำเนาแผ่นซีดีนั้น แม้ว่าจะเป็นการทำสำเนาเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตาม ดังนั้น นักศึกษาหรือาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องการทำสำเนางานนั้นแม้เพียงบางส่วนเพื่อใช้ในการศึกษาก็ไม่สามารถทำได้ หากมีการหลีกเลี่ยง TPM เช่นโดยการถอดรหัส TPM การกระทำเช่นนี้จะเป็นความผิดตามกฎหมาย

เจ้าของลิขสิทธิ์ได้ใช้ TPM เพื่อสร้างอำนาจผูกขาดทางการตลาด เช่น มีการใส่รหัสภูมิภาค (Region Coding) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำแผ่นดีวีดีหรือแผ่นเกมจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่ามาใช้ในประเทศ ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ใช้ TPM เพื่อห้ามมิให้มีการนำหมึกพิมพ์ของผู้ผลิตรายอื่นมาใช้กับเครื่องพิมพ์ของตน เพื่อบังคับใช้ผู้ซื้อเครื่องพิมพ์ต้องซื้อหมึกพิมพ์ที่มีราคาแพงจากบริษัทนั้นตลอดไป เช่นเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคพยายามที่จะหลีกเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเหล่านี้ การกระทำนั้นก็จะเป็นความผิด หลักการเช่นนี้ได้ถูกที่เขียนไว้ใน JTEPA โดยแทบจะลอกสนธิสัญญาอินเทอร์เน็ตนี้มาแบบคำต่อคำ ซึ่งเมื่อประเทศไทยลงนาม JTEPA ก็ไม่ต่างไปจากการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาอินเทอร์เน็ต แต่รายงานการวิจัยของ TDRI กลับสรุปไว้อย่างน่าชวนโมโหว่า JTEPA ไม่มีข้อน่ากังวลเพราะไม่ได้กำหนดให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศฉบับใด

รายงานการวิจัยของ TDRI ยังสรุปอย่างรวบรัดต่อไปว่าความตกลง JTEPA ใช้ข้อความว่าประเทศภาคีจะพยายาม (shall endeavor…) ให้ความคุ้มครองมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยี ซึ่งข้อความดังกล่าวมีผลผูกพันน้อย ผู้เขียนเห็นแตกต่างในประเด็นนี้ การทำความตกลงระหว่างประเทศไม่ใช่การเล่นขายขนมครก ที่คู่เจรจาจะสามารถทำความตกลงโดยไม่คำนึงว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ ความตกลง JTEPA เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (legal binding) การใช้ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ประเทศภาคีมีระยะเวลาพอสมควรในการออกกฎหมายภายในเท่านั้น ประเทศไทยจะดำรงอยู่ในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างไร หากตีความข้อความดังกล่าวเช่นนี้

ผู้เขียนเห็นว่า รายงานการวิจัยของ TDRI มีหน้าที่ต้องชี้ให้เห็นว่าความตกลง JTEPA ต่างกับความตกลงระหว่างประเทศอื่นอย่างไร และการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำในร่างความตกลง ตลอดจนถึงการออกกฎหมายภายในต่อไปในประเด็นใดบ้าง งานวิจัยจึงไม่อาจทำได้เพียงโดยการนำความตกลงระหว่างประเทศ ๒ ฉบับมาวางเปรียบเทียบกันเท่านั้น แต่ต้องศึกษาบริบท (context) ของบทบัญญัตินั้นๆ ว่ามีที่มาอย่างไรและก่อให้เกิดผลกระทบ (implications) อย่างไรด้วย การวิจัยในลักษณะ "ขี่ม้าเลียบค่าย" จึงไม่อาจเป็นงานวิจัยระดับมาตรฐานที่สมควรนำมาอ้างอิงได้

จดหมายเปิดผนึกถึง TDRI ต่อกรณี JTEPA (๓)

รายงานการวิจัยของ TDRI ไม่ได้กล่าวแม้แต่น้อยว่าความตกลง JTEPA ในเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชแตกต่างจากความตกลงทริปส์อย่างไร ในเบื้องต้นจึงต้องทำความเข้าใจว่าความตกลงทริปส์ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืชภายใต้ระบบสิทธิบัตร หรือระบบกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะที่มีประสิทธิภาพ (effective sui generis) หรือทั้งสองระบบร่วมกัน

ประเทศอุตสาหกรรมพยายามยืนยันมาเสมอว่า ระบบกฎหมายเฉพาะที่มีประสิทธิภาพนั้นคือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูปอฟ และพยายามผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญานี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีแนวคิดเช่นเดียวกันกับประเทศอุตสาหกรรม และได้พยายามยกร่างกฎหมายตามแนวทางของอนุสัญญายูปอฟ แต่องค์กรเอกชนและนักวิชาการของไทยเห็นว่า อนุสัญญาฉบับนี้ให้ความคุ้มครองผู้ทรงสิทธิอย่างเข้มงวด โดยไม่มีหลักการในการให้ความคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรอย่างเพียงพอ ทั้งยังไม่ยอมรับให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์และหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ องค์กรเอกชน นักวิชาการเหล่านี้จึงได้ร่วมกรมวิชาการเกษตรร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฯ ขึ้น โดยไม่เพียงแต่ปฏิเสธระบบของอนุสัญญายูปอฟเท่านั้น แต่ได้กำหนดให้มีการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมพืชของไทย โดยคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองและพันธุ์พืชป่าด้วย

ตามอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ๑๙๗๘ ประเทศสมาชิกมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืช ๕ ชนิดเมื่อเข้าเป็นภาคี และต้องให้ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่หลักการนี้ได้ถูกยกเลิกโดยอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ๑๙๙๑ ซึ่งได้กำหนดให้มีการคุ้มครองพันธุ์พืชทุกชนิดโดยไม่จำเป็นต้องมีการประกาศก่อน หลักการเช่นนี้ต่างกับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย ที่จะให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชต่อเมื่อ รัฐมนตรีได้ประกาศรายชื่อพันธุ์พืชที่จะได้รับความคุ้มครองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชก่อน ซึ่งหลักการเช่นนี้จะทำให้การประกาศคุ้มครองชนิดของพันธุ์พืชเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะพันธุ์พืชชนิดที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงในอาหารของประชาชน

ข้อ ๑๓๕ (๑) ของความตกลง JTEPA กำหนดให้ประเทศไทยต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิอย่างเพียงพอ มีข้อน่าสงสัยว่าการให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรฐานระหว่างประเทศนั้น หมายถึงอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ๑๙๙๑ หรือไม่? หากใช่ รายงานการวิจัยของ TDRI ต้องตั้งข้อสังเกตให้ผู้แทนคณะเจรจาทราบว่า หลักการให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามกฎหมายไทยแตกต่างจากอนุสัญญายูปอฟโดยสิ้นเชิง จึงไม่ควรกำหนดหลักการเช่นนี้ไว้ในความตกลง เว้นแต่คณะเจรจาหรือผู้วิจัยมีแนวคิดสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟต่อไป

ข้อ ๑๓๕ (๒) ยังกำหนดให้มีการประกาศรายชื่อชนิดของพันธุ์พืชที่จะได้รับความคุ้มครองมากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลักการเช่นนี้ไม่ได้มีผลแตกต่างไปจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ ๑๙๙๑ รายงานการวิจัยของ TDRI จึงต้องตั้งข้อสังเกตให้คณะเจรจาทราบว่า การประกาศรายชื่อพันธุ์พืชที่จะได้รับความคุ้มครองไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจของรัฐมนตรี คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมีองค์ประกอบที่หลากหลาย และมีหน้าที่ให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีในการประกาศรายชื่อพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด หรือคณะเจรจายอมรับหลักการนี้อย่างขอไปทีโดยไม่คำนึงว่าจะปฏิบัติได้หรือไม่

ประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของหุ้นส่วนเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น แต่ดูเหมือนว่าผลประโยชน์ของฝ่ายไทยเองกลับถูกละเลยโดยคณะเจรจา และไม่มีการตั้งข้อสังเกตโดยรายงานวิจัยของ TDRI แม้แต่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นด้านการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งควรจะมีการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน กลับมีข้อตกลงเพียงว่า ภาคีแต่ละฝ่ายต้องให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามกฎหมายของตนเอง และตามความตกลงที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ซึ่งเป็นข้อความที่เปลืองเนื้อที่กระดาษโดยใช่เหตุ ประเด็นเช่นนี้ต่างหากเล่าที่รายงานการวิจัยของ TDRI ควรสำนึกแสดงความเห็นว่ามีความผูกพันน้อย

ประเด็นด้านการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมตลอดจนการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งควรนำขึ้นมาพิจารณาอย่างเข้มงวดในเวทีการเจรจาก็ถูกลดค่าความสำคัญลง โดยมีเพียงการกำหนดให้คณะอนุกรรมการร่วมหารือกันต่อไปเท่านั้น ความหวังที่จะให้ญี่ปุ่นให้ความคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยจึงเป็นความหวังที่เลือนราง และรายงานการวิจัยของ TDRI ก็มิได้ตั้งข้อสังเกตที่จะให้คณะเจรจานำประเด็นเหล่านี้เข้าหารืออย่างจริงจังเลย

ในฐานะประชาชน ผู้เขียนมีสิทธิตั้งคำถามเกี่ยวกับงานวิจัยที่ใช้เงินภาษีอากรของรัฐ ในฐานะนักวิชาการ ผู้เขียนมีสิทธิจะตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของงานวิจัย ทั้งที่โดยสภาพแล้วประเด็นเหล่านี้ควรปรากฏเฉพาะในวารสารวิชาการเท่านั้น แต่เมื่อผู้แทนคณะเจรจานำรายงานการวิจัยของ TDRI มาอ้างอิงเป็นสรณะ ผู้เขียนจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะร่วมแสดงความคิดเห็น แม้จะยอมรับในความสามารถของผู้วิจัย แต่ก็จำต้องแยกแยะออกจากผลงานการวิจัย

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

รายงานการวิจัยของ TDRI สรุปอย่างรวบรัดว่าความตกลง JTEPA ใช้ข้อความว่าประเทศภาคีจะพยายาม ให้ความคุ้มครองมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยี ซึ่งข้อความดังกล่าวมีผลผูกพันน้อย ผู้เขียนเห็นต่างในประเด็นนี้ การทำความตกลงระหว่างประเทศไม่ใช่การเล่นขายขนมครก ที่คู่เจรจาจะสามารถทำความตกลงโดยไม่คำนึงว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ ความตกลง JTEPA เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย การใช้ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ประเทศภาคีมีระยะเวลาพอสมควรในการออกกฎหมายภายในเท่านั้น
25-04-2550

Controversial Issue
(JTEPA)

Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.