โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 24 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๒๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 24, 04,.2007)
R

ว่าด้วยศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง และสื่ออิสระในประเทศไทย
บทนำ Bangkok Documenta Magazine และความเป็นมา
Keiko Sei : เขียน - สฤณี อาชวานันทกุล : แปล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมสนับสนุนและเผยแพร่

บทนำชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ Bangkok Documenta Magazine
เขียนโดยคุณ Keiko sei ในฐานะบรรณาธิการคนหนึ่งของโครงการ และ
ผู้ประสานงานสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีหน้าที่เฟ้นหานิตยสารคุณภาพดีจากภูมิภาคนี้ ที่สะท้อนเสียงของประชาชนในภูมิภาคที่มีความหมายต่อชุมชน ทั้งในประเทศและระดับประชาคมโลก
ในเนื้อหาบทนำ ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ และพัฒนาการของสื่ออิสระภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย
พูดถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจัดประชุมบรรณาธิการสื่ออิสระจากทั่วประเทศ ที่เชียงใหม่
ตลอดรวมถึงการช่วยกันรณรงค์เมื่อนิตยสารฟ้าเดียวกันถูกสั่งห้ามวางจำหน่าย และเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิดกั้น
ช่วงสุดท้ายเป็นการแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
และความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง และสื่ออิสระ

(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๒๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทนำ Bangkok Documenta Magazine และความเป็นมา
Keiko Sei : เขียน - สฤณี อาชวานันทกุล : แปล
กองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สนับสนุน และ เผยแพร่


Bangkok Documenta Magazine No. 1
ชื่อหนังสือ: Bangkok Documenta Magazine No. 1: "Coup d'?tat"
ความร่วมมือระหว่างนิทรรศการศิลปะ DOCUMENTA ประเทศเยอรมนีและสื่อมวลชนไทย
พิมพ์ครั้งแรก: มีนาคม 2550 ราคา: 180 บาท



แด่ สื่ออิสระ
อย่าเข้าใจผิด หนังสือที่ท่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสืออีกเล่มที่เกี่ยวกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 การปรับปรุงชื่อบทความในหนังสือเล่มนี้ให้ทันสมัยมากขึ้น จะไม่มีทางให้คำตอบอะไรกับเรา หรือแม้แต่สรุปสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองปัจจุบัน เพราะแท้ที่จริง โครงการนี้เป็นการแสดงความคารวะต่อวงการสื่ออิสระในประเทศไทย ท่ามกลางกรณีอื้อฉาวของไอทีวี สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม สถานีวิทยุชุมชน ที่ชะตากรรมยังไม่แน่นอนและไม่มีใครรู้ทิศทางที่แน่ชัดนั้น

ในสังคมไทยเองก็เกิดการถกเถียงอภิปรายกันอย่างมีชีวิตชีวาในประเด็นที่ว่า "สื่ออิสระ" หมายความว่าอะไร, สื่อชนิดนั้นควรมีลักษณะแบบไหน และควรทำอะไรบ้าง? ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องกำหนดนิยามของศัพท์คำนี้อย่างชัดเจนก่อน กล่าวคือ "สื่ออิสระ" ในหนังสือเล่มนี้ หมายถึงสื่อที่ไม่ได้รับใช้กลไกใดๆ ที่มุ่งผลิตความเห็นหรือกระแสสังคม สื่ออิสระคือสื่อที่สะท้อนความเห็น "อิสระ" ที่ไม่ถูกปลูกฝัง ประดิษฐ์สร้าง หรือบิดเบือน เป็นสื่อที่พยายามรังสรรค์การใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล วาทกรรมการวิพากษ์วิจารณ์ และการอภิปรายสาธารณะ เพื่อสนับสนุนให้ปัจเจกชนทุกคนมีวุฒิภาวะสูงขึ้น และมี "ความเป็นอิสระ" มากกว่าเดิมในการใช้วิจารณญาณ

ความเป็นมาของโครงการ
โครงการที่อุทิศแด่สื่ออิสระของไทยโครงการนี้มาจากยุโรป ริเริ่มโดย Documenta 12 ในประเทศเยอรมนี Documenta คือชื่องานแสดงนิทรรศการศิลปะนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 5 ปี ในเมืองแคสเซล (Kassel) ประเทศเยอรมนี งานนี้ได้รับการยกย่องโดยทั่วไปว่าเป็นงานแสดงศิลปะสมัยใหม่ที่สำคัญที่สุด

นิทรรศการแต่ละครั้งเป็นผลของการวิจัยสถานการณ์และแนวโน้มในแวดวงศิลปะ วัฒนธรรม สังคม และวาทกรรมด้านทฤษฎีในหลากหลายประเทศทั่วโลกอย่างกว้างขวางและเจาะลึก. Documenta ครั้งที่ 12 จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของปี 2550 สำหรับงานนิทรรศการในครั้งนี้ ทางผู้จัดใจกล้ารวมนิตยสารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงาน ทั้งในฐานะ "ศิลปิน" และ "งานศิลปะ" และนิตยสารเหล่านี้จะช่วยสร้างสะพานเชื่อมระหว่างศิลปิน งานศิลปะ และสาธารณชน รวมทั้งสร้างสะพานระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในด้านศิลปะและวัฒนธรรม

นอกจากนั้น โครงการนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมการอ่านและวัฒนธรรมวาทกรรม ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะสูญหายไปในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากวัฒนธรรมภาพและเสียงที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ. Georg Schoellhammer ผู้ริเริ่มโครงการนี้ ตั้งใจจะแปลงโครงการนี้ให้เป็นเครือข่ายระหว่างนิตยสารคุณภาพสูงในระยะยาว นิตยสารต่างทวีป ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม จะได้สามารถแลกเปลี่ยนมุมมองและบทความระหว่างกัน หลังจากจบนิทรรศการครั้งนี้ไปแล้ว

กระบวนการค้นคว้าวิจัยเพื่อแสวงหานิตยสารที่เหมาะสม ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ต สำหรับโครงการที่เรียกว่า "Documenta Magazine Project" เริ่มขึ้นในปี 2548 ในหลายประเทศ. ข้าพเจ้า(Keiko Sei)ในฐานะบรรณาธิการคนหนึ่งของโครงการนี้ และผู้ประสานงานสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้าพเจ้ามีหน้าที่หานิตยสารคุณภาพดีจากภูมิภาคนี้ ที่สะท้อนเสียงของประชาชนในภูมิภาคที่มีความหมายต่อชุมชน ทั้งในประเทศและระดับประชาคมโลก

นิตยสารที่เราเชื้อเชิญจะไม่จำกัดอยู่เพียงนิตยสารศิลปะและวัฒนธรรมเท่านั้น นิตยสารใดๆ ก็ตามที่เรามองว่าพยายามเสริมสร้างวัฒนธรรมและเปิดให้มีการวิวาทะ การวิพากษ์วิจารณ์ อย่างมีเหตุผลล้วนเข้าข่ายทั้งสิ้น. หลังจากที่ใช้เวลาศึกษานานหลายเดือน ข้าพเจ้าก็เสนอนิตยสารไทยที่รวบรวมเป็นหนังสือเล่มนี้ ต่อกองบรรณาธิการ Documenta ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

สำหรับหนังสือเล่มนี้ เป็นผลของการศึกษาวิจัยดังกล่าว และก็จะเข้าร่วมงาน Documenta 12 ในฐานะตัวแทนประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจำเป็นจะต้องเขียนอรรถาธิบายว่าเหตุใดนิตยสารเหล่านี้ รวมทั้งรูปแบบของหนังสือเล่มนี้ จึงได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยในงานแสดงศิลปะนานาชาติ และอรรถาธิบายนี้ก็ต้องเริ่มต้นด้วยตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นิตยสารและกองบรรณาธิการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยให้โครงการ ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจอย่างยิ่งกับพลวัตของภูมิภาคนี้ ตลอดจนความสลับซับซ้อนของปัญหาต่างๆ ในแต่ละประเทศ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะภูมิปัญญาของเหล่าบรรณาธิการผู้พยายามต่อสู้ เพื่อสร้างวารสารและสื่อมวลชนที่มีคุณภาพในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัด ความยากลำบาก และแม้กระทั่งอันตรายนานัปการ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าไม่มีประเทศใดเลยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสื่อมีเสรีภาพอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย เราเห็นโอกาสที่สื่อจะมีเสรีภาพมากกว่าที่ผ่านมา หลังจากที่กลุ่มผู้นำเผด็จการเกษียณอายุไป วันนี้สื่ออิสระในอินโดนีเซียอยู่ในยุคเฟื่องฟู ขณะที่ในมาเลเซีย ปัญญาชนจำนวนมากกำลังใช้สื่อทางเลือกใหม่เป็นเวทีทดลองทางความคิด ในขณะที่กลุ่มพลังมุสลิมอนุรักษนิยมกำลังมาแรง และแรงกดดันของพวกเขาต่อภาคการเมืองและสังคมกำลังเขม็งเกลียวขึ้น ข้าพเจ้าเกรงว่า ช่วงเวลาแห่งเสรีภาพนี้จะอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้น หน้าที่ของกองบรรณาธิการนิตยสารในประเทศเหล่านี้คือ การเปิดพื้นที่ให้กับเสียงของพลเมืองจำนวนมาก เท่าที่จะมากได้ ภายในช่วงเวลาอันแสนสั้นนี้ และทะนุถนอมพวกเขาไว้เพื่ออนาคต

เราได้เชื้อเชิญเหล่าบรรณาธิการที่กำลังทำงานนี้อย่างหนัก ตลอดจนบรรณาธิการที่กำลังพยายามรักษาวัฒนธรรมความเป็นอิสระ ที่ไม่ยอมถูกครอบงำด้วยการตีความแบบอนุรักษนิยมอันแข็งกร้าวของสังคมกระแสหลัก และในขณะเดียวกันก็พยายามต่อรองกับความซับซ้อนของสภาพแวดล้อมทางศาสนา อำนาจอันแข็งแกร่งของนักการเมือง อุดมการณ์อนุรักษนิยม เสรีนิยม หรือหัวก้าวหน้า ตลอดจนการใช้ชีวิตร่วมสมัย

มาเลเซีย
นิตยสารมาเลเซียชื่อ Off The Edge เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของความพยายามดังกล่าว บรรณาธิการผู้มีวิสัยทัศน์ของนิตยสารฉบับนี้ ใช้บทความที่มีความโดดเด่นในแง่การเมืองและสังคม เช่น บทสัมภาษณ์ Anwar Ibrahim, นายกรัฐมนตรี Abdullach Ahmed Badawi และแม้กระทั่ง Abu Baker Bashir(1) เป็นข้ออ้างในการส่งเสริมโครงการด้านศิลปะและวัฒนธรรม กลยุทธ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มปัญญาชนและชนชั้นกลางอย่างกว้างขวาง ทำให้นิตยสารฉบับนี้สามารถดึงดูดนักเขียนที่เก่งที่สุดของมาเลเซียได้ นักเขียนและนักคิดผู้มีความสนใจหลากหลาย ตั้งแต่การเมือง ศาสนา สังคม ไปจนถึงศิลปะและวัฒนธรรม กลายมาเป็นกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจให้กับนิตยสารฉบับนี้

เวียดนาม
โครงการอีกโครงการหนึ่งที่เปิดหูเปิดตาเราอย่างมากมาจากเวียดนาม ที่มั่นแห่งหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์. Talawas คือชื่อกระดานสนทนาบนเว็บไซต์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยชาวเวียดนามโพ้นทะเลคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีและออสเตรีย ได้เติบโตขึ้นจนเป็นวงเสวนาระดับชาติอย่างแท้จริง ในฐานะพื้นที่ซึ่งเปิดให้พลเมืองสามารถอภิปรายประเด็นต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ตั้งแต่เรื่องวรรณกรรม ศิลปะและวัฒนธรรม ไปจนถึงปัญหาสังคมและเรื่องหนักๆ ทางการเมือง

เว็บไซต์นี้ช่วยกระตุ้นให้ชาวเวียดนามกล้าแสดงออกและถกเถียงกันในที่สาธารณะ ซึ่งปกติอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เว็บไซต์นี้ช่วยเชื่อมคนเวียดนามเหนือเข้ากับคนเวียดนามใต้ คนเวียดนามในบ้านเกิดเข้ากับคนเวียดนามโพ้นทะเล. ในแต่ละประเด็นอภิปราย เนื่องจากเว็บไซต์นี้ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลมาก รัฐบาลคอมมิวนิสต์จึงสั่งให้ปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงตอนนั้นชาวเวียดนามก็รู้วิธีหลบเลี่ยงการปิดกั้นแล้ว เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นบนกระดานสนทนาได้ และตอนนี้ชาวเวียดนามนักท่องเว็บไซต์ทุกคนก็รู้แล้วว่า จะเข้าเว็บไซต์นี้ได้อย่างไร ดังนั้น เว็บไซต์นี้จึงเท่ากับเป็นโครงการมอบอำนาจทางเทคโนโลยีให้กับประชาชนด้วยอีกโสตหนึ่ง

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เราเชิญแต่นิตยสารที่กล้าท้าทายปทัสถาน (norm) ต่างๆ ในประเทศของตน
ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคม หรือศาสนา

โดยปกติ สปิริตของการตั้งคำถาม วิเคราะห์ และท้าทายสิ่งซึ่งสังคมมองว่าเป็นปทัสถานหรือมาตรฐานนั้น ไม่สามารถเจริญงอกงามได้ หากปัจเจกชนไม่มีสำนึกด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น เราจึงมีโอกาสพบบรรณาธิการที่เข้าใจศิลปะอย่างแท้จริงในนิตยสารที่กำลังทำให้ชนชั้นปกครองรู้สึกอึดอัด มากกว่าในนิตยสารด้านศิลปะที่มุ่งขายตลาดศิลปะเพียงอย่างเดียว การศึกษาวิจัยของข้าพเจ้าตั้งอยู่บนสมมติฐานข้อนี้ และข้าพเจ้าก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าสมมติฐานข้อนี้เป็นจริง จากสื่อคุณภาพทั้งหลายที่ได้ประสบ

แน่นอน การที่เราเชิญบรรณาธิการประเภทนี้และสื่อของพวกเขา ทำให้นิตยสารของเราเองมักตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่จากกลุ่มผู้มีอำนาจ

- วารสารวัฒนธรรมของอินโดนีเซียชื่อ Kalam ซึ่งจัดพิมพ์ในชุมชนของอิสรชนผู้รักวัฒนธรรมในกรุงจาการ์ตา ชื่อชุมชน Utan Kayu ได้รับจดหมายขู่ฆ่าจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง

- วารสารด้านวัฒนธรรมของสิงคโปร์ชื่อ Focas ถูกถอนเงินอุดหนุนจากสภาศิลปะแห่งชาติ (National Arts Council) หลังจากที่กองบรรณาธิการปฏิเสธที่จะประนีประนอมกับรัฐ ด้วยการลดระดับการวิพากษ์ของเนื้อหาในเล่มลง และบรรณาธิการเองก็ถูกรัฐข่มขู่หลายรูปแบบ

- โดยเฉลี่ย มีบทความประมาณ 10 เรื่องในนิตยสารแต่ละฉบับในพม่าที่เราเชิญมาร่วมโครงการ ที่ถูกกองเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหารสั่งให้แก้ไขเนื้อหา และบรรณาธิการของนิตยสารเหล่านั้นก็ไม่ได้รับอนุญาตให้มีหนังสือเดินทาง ทำให้เดินทางไปร่วมการประชุมระดับนานาชาติไม่ได้ แต่ถึงแม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ นานา บรรณาธิการเหล่านี้ก็ไม่เคยยอมแพ้ พวกเขาคือนักสู้ตัวจริง

นิตยสารและบรรณาธิการในประเทศไทย
สถานการณ์ของสื่ออิสระในประเทศไทยมิใช่ข้อยกเว้นสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานของบรรณาธิการชาวไทยไม่ง่ายไปกว่างานของเพื่อนร่วมอาชีพของพวกเขาในประเทศเพื่อนบ้าน ในเดือนมกราคม 2549 โครงการ Documenta 12 ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดการประชุมสัมมนาระหว่างนิตยสารและสื่ออินเทอร์เน็ต ในหัวข้อเกี่ยวกับบทบาทของสื่อในศิลปะ วัฒนธรรม และการเมือง ขึ้นที่เชียงใหม่(2)

เราเชิญสื่อคุณภาพประมาณ 13 แห่ง ตัวแทนจาก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บอกเราว่า เป็นโอกาสซึ่งหายากมาก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในความจำของเขาเลยก็ว่าได้ ที่สื่ออิสระมาพบปะพูดคุยกันในที่สาธารณะ ปรากฏการณ์นี้คงไม่เกิดขึ้นอีกในช่วงระยะเวลาหลายปี เพราะหลังจากจบการสัมมนาครั้งนั้นไม่นาน สถานการณ์การเมืองไทยก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เริ่มจากการชุมนุมประท้วงต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, การเลือกตั้งแบบปัจจุบันทันด่วน และปิดท้ายด้วยรัฐประหาร บรรณาธิการนิตยสารจำนวนมากที่ไปร่วมงานสัมมนากับเราที่เชียงใหม่ ต้องยุ่งกับบทบาทสื่ออันสำคัญยิ่ง หลายครั้งในฐานะผู้นำ "สื่ออิสระ" และบางครั้งในฐานะกลุ่มผู้ต่อต้านทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ เมื่อสถานการณ์พลิกผัน

เมื่อหวนมองดูอดีตจากปัจจุบัน งานสัมมนาที่เชียงใหม่ในครั้งนั้นดูเป็นงานโอ่อ่าฟุ่มเฟือย เมื่อเราคำนึงว่าเหล่าบรรณาธิการในตอนนั้นยังมีเวลาเดินทางไปไกลถึงเชียงใหม่ เพื่ออภิปรายประเด็นเรื่องสื่อในบริบททางสังคม (แม้กระทั่งนักข่าวที่มีบทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ The Nation ก็ยังมีเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯไปทำข่าวงานนี้) ข้าพเจ้าตระหนักถึงความจริงข้อนี้อย่างอาวรณ์หลังจากที่งานสัมมนาจบไปไม่นาน

ในปัจจุบัน โอกาสที่สาธารณชนไทยจะได้เห็นบรรณาธิการของ ฟ้าเดียวกัน, ประชาไท หรือตัวแทนจาก หนังสือพิมพ์ มติชนรายสัปดาห์ ร่วมกันอภิปรายเรื่องศิลปะ-วัฒนธรรม เหมือนกับที่พวกเขาทำที่เชียงใหม่ ดูจะไม่มีทางเป็นจริงได้เลย นี่เป็นลางร้ายหรือเปล่า? คำตอบคือใช่ สังคมใดก็ตามที่คนทำงานด้านสื่อ การศึกษา และวัฒนธรรม ต้องติดตามประเด็นร้อนอันเร่งรีบและเร่งด่วน จนไม่มีเวลาจะศึกษาโมเดลอื่นๆ ที่สามารถสื่อสารกับผู้คนได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าเดิม คือสังคมที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤต และประเทศไทยก็ตกอยู่ในวิกฤตจริงๆ

ฟ้าเดียวกัน และกรณีเปรียบเปรยถึงสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2549 วารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์ ถูกสั่งห้ามอย่างเป็นทางการ หลังจากที่กลุ่มคาราวานคนจน(ซึ่งให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทย)อ่านบทความบางบทในวารสารเล่มนั้น และฉีกมันออกเป็นชิ้นๆ ตำรวจใช้เหตุการณ์นี้และความเสี่ยงที่เหตุการณ์นี้จะนำไปสู่ "ความไม่สงบในบ้านเมือง" เป็นข้ออ้างในการแบนหนังสือ

ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2549 เจ้าของสำนักพิมพ์และบรรณาธิการถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ. กองบรรณาธิการ Documenta ในกรุงเวียนนาถือว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมาก และเราหารือเรื่องนี้กันทันที เราริเริ่มขบวนการรณรงค์ภายใต้ชื่อ "Friends of Fah Daew Kan" และเริ่มประชาสัมพันธ์การรณรงค์นี้ไปยังนิตยสารต่างๆ ในเครือข่ายของเรา ถึงตอนนั้นเราได้เชิญนิตยสารกว่า 80 ฉบับแล้วจากทั่วโลก และได้สร้างเครือข่ายขึ้นมาเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เรามีแผนที่จะออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างนิตยสารฉบับต่างๆ ในเครือข่ายของเรา และส่งแถลงการณ์ฉบับนั้นไปยัง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม เราต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่คาดคิด กล่าวคือ นิตยสารจากกลุ่มประเทศอาหรับบอกเราอย่างพร้อมเพรียงกันว่า แผนนี้ของเราถือเป็น "การแทรกแซงกิจการภายในจากภายนอก" เพื่อนชาวเลบานอน-ปาเลสไตน์ของข้าพเจ้าคนหนึ่งในเวียนนา ซึ่งดูแลภูมิภาคตะวันออกกลางให้กับโครงการนี้ เริ่มเป็นห่วงว่าการรณรงค์ของเราจะเดินหน้าได้อย่างไร ในเมื่อบรรณาธิการชาวอาหรับไม่เห็นด้วย นอกจากนั้น เราก็เป็นห่วงบรรดาบรรณาธิการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยชื่อและนามสกุลได้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แม้ว่าพวกเขาแทบทุกคนจะส่งสารแสดงการสนับสนุนมาหาเรา และแม้กระทั่งเสนอว่าจะจัดการชุมนุมประท้วงในประเทศของตัวเองให้ เช่น ข้อเสนอของเพื่อนเราในสิงคโปร์

หลังจากนั้น การโต้ตอบอย่างเผ็ดร้อนก็เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนชาวอาหรับของข้าพเจ้าคนนี้ ที่เชื่อว่าการรณรงค์เพื่อสนับสนุน "ฟ้าเดียวกัน" ในครั้งนี้ จะต้องได้รับมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้เข้าร่วมโครงการทุกราย กับข้าพเจ้าที่เชื่อในการตัดสินใจรณรงค์อย่างรวดเร็วฉับพลัน แทนที่จะใช้เวลาเจรจาต่อรองกับบรรณาธิการทุกคนในเครือข่ายของเรา

เราโต้ตอบกันเรื่องนี้ติดต่อกันหลายเดือน เขาขอให้ข้าพเจ้าเขียนรายงานอธิบายความคืบหน้าของกรณีนี้หลายครั้ง ในขณะที่เขาเองก็ยอมรับว่า นั่นเป็นเพียงนิสัยของศาลที่จะถ่วงเวลาให้คดีนี้ยืดออกไปเรื่อยๆ ข้าพเจ้าก็พยายามผลักดันให้เรารณรงค์เรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ถึงขนาดต่อว่าสำนักงานโครงการในกรุงเวียนนาว่า ไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรอย่างเด็ดขาดรวดเร็วได้

ระหว่างที่เราโต้ตอบกันอยู่นั่นเอง เราทั้งคู่ก็ฉุกคิดได้ว่า การโต้แย้งของเราเปรียบเสมือนบทย่อส่วนของปัญหาของสหประชาชาติและองค์กรโลกบาลอื่นๆ ในปัจจุบัน เมื่อคิดได้ดังนั้น เราจึงตัดสินใจโต้แย้งกันต่อไป เพื่อตีพิมพ์บันทึกการโต้ตอบนั้นในนิตยสาร Documenta หรือสื่ออื่นๆ ในอนาคต เราตระหนักดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับวารสารทางการเมืองของไทยฉบับนี้ จะสะท้อนเหตุการณ์ระดับโลกได้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวิวาทะเรื่องนี้ขยายวงออกไป

ในเวลาเดียวกัน อิสราเอลเริ่มทิ้งระเบิดเลบานอน ทำให้เพื่อนของข้าพเจ้าและบรรณาธิการชาวอาหรับทั้งหลายต้องเผชิญกับสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก กล่าวคือ ตอนนี้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากร้องขอประชาคมโลกให้สนับสนุนเลบานอน แต่อะไรเล่าคือความแตกต่างระหว่าง "การแทรกแซงกิจการภายในจากภายนอก" และ "การสนับสนุนจากภายนอก"?

องค์กรโลกบาลใดๆ ก็ตามที่มีสมาชิกจากหลากหลายประเทศ ต่างศาสนา ภาษา วัฒนธรรม และอุดมการณ์ ย่อมเผชิญกับสภาวะหนีเสือปะจระเข้เช่นนี้เหมือนกัน เมื่อหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเขามีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ นี่คือการดิ้นรนที่จะให้นิยามและกำหนดรูปธรรมของประชาธิปไตยในระดับที่กว้างกว่าการดิ้นรนภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ในที่สุด การดิ้นรนนี้ก็จะสะท้อนให้เราเห็นในการเมืองระดับชาติ

ท้ายที่สุด การรณรงค์ช่วย "ฟ้าเดียวกัน" ของเราก็ลงเอยด้วยการที่ทางเวียนนาเลือกที่จะใช้มาตรการกดดันทางการทูต ถ้าเหตุการณ์เลวร้ายเกินกว่าจะรับได้ และถึงที่สุดทางเวียนนาก็ยอมส่งแถลงการณ์ไปยัง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ หลังจากที่ข้าพเจ้าพยายามผลักดันเรื่องนี้นานหลายเดือน และหลังจากที่กองบรรณาธิการกลางคงแก้ไขร่างแรกของข้าพเจ้า ที่ทำให้พวกเขากังวลเพราะไม่เพียงแต่ระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังพูดถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดด้วย (ข้าพเจ้าเขียนถ้อยคำทำนอง "ถ้าเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นกับวารสารฉบับนี้อีก เราจะจัดการรณรงค์ระดับนานาชาติที่ใหญ่กว่าครั้งนี้" ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าคงถูกตัดออก)

และหลังจากพวกเขาขอให้บรรณาธิการบางคนลงนามโดยไม่บอกอะไรข้าพเจ้าอีก นับเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ปกติองค์กรระหว่างประเทศหรือเอ็นจีโอจะลงมือทำอะไรก็ต่อเมื่อเกิดเรื่องแล้ว และพวกเขามีกลไกน้อยมากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น นอกจากการรณรงค์เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว

มีการจัดสัมมนาในกรุงกัวลาลัมเปอร์หลังจากที่ชุมชน Utan Kayu ได้รับจดหมายขู่ฆ่า และก็มีคนหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมา แต่ไม่มีใครมีคำตอบ. ในภาวะที่มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวนมากในประเทศไทย และการฟื้นฟูกฎหมาย Sharia ในประเทศอิสลาม ซึ่งพลเมืองมีโอกาสโต้แย้งน้อยมากเพราะถือเป็นการละเมิดศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์. เราต้องร่วมกันหามาตรการคุ้มครองพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกดขี่สิทธิเสรีภาพดังกล่าว เมื่อเราคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า กฎหมายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตีความเป็นหลัก และปัจจุบันยังไม่มีกลไกทางกฎหมายใดๆ ที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่พลเมืองทุกคนทำได้คือ ฝึกฝนและศึกษาวิธี "อ่าน" เนื้อหาในสารทุกประเภทและทุกรูปแบบ ตลอดจนอ่านระหว่างบรรทัดในเนื้อหาเหล่านั้น จะได้มีความสามารถที่จะตีความอย่างลึกซึ้งแหลมคมยิ่งขึ้น

ศิลปะ การแสดง และวรรณกรรมล้วนเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากสำหรับการฝึกฝนและการศึกษาทักษะดังกล่าว

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และการปฏิวัติโพสต์โมเดิร์น
ภายในไม่ถึงครึ่งปีหลังจากเกิดกรณีฟ้อง "ฟ้าเดียวกัน" เว็บไซต์ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็ถูกปิดในวันที่ 29 กันยายน 2549 หลังจากที่อาจารย์ 5 คนจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว ฉีกรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นการประท้วงต่อหน้าสาธารณชนในเชียงใหม่ เราก็เลยเริ่มการรณรงค์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เที่ยวนี้เวียนนาใช้วิธีให้บรรณาธิการแสดงเจตจำนงเข้าไปเอง และข้าพเจ้าเองก็ประชาสัมพันธ์ผ่านอีเมลลิสต์หลายชุด เพื่อเข้าถึงกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม เพราะบางกลุ่มทำตัวเหมือนสมาคมในโลกไซเบอร์ บางกลุ่มทำตัวเหมือนสมาคมลับ Freemason ในยุคกลาง แต่เมื่อคุณส่งคำวิงวอนเข้าไปถึงพวกเขาได้ การประชาสัมพันธ์แบบนี้ก็อาจมีประสิทธิภาพสูงมาก

ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เองก็รณรงค์ผ่านเครือข่ายวิชาการของพวกเขา ความพยายามและการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกลุ่มแฟนๆ และคนที่เลื่อมใสในสถาบันการศึกษาทางเลือกที่ได้รับการยอมรับแห่งนี้ ทำให้คำอุทธรณ์และสารแสดงความเห็นใจจำนวนมหาศาลเริ่มไหลหลั่งเข้ามา รวมทั้งข้อความสนับสนุนจากนักวิชาการทั่วโลก และคนมากมายก็อาสาจะโฮส (host) เว็บไซต์ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บนเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว รวมทั้งกลุ่มคนซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ได้ทำการปฏิวัติโพสต์โมเดิร์นสำเร็จเป็นกลุ่มแรก

หนึ่งในวิธีการที่คนกลุ่มนี้ใช้ คือการสร้าง "จุดเชื่อม" (nodes) ในโลกไซเบอร์เป็นแสนๆ จุด และใช้จุดเชื่อมเหล่านี้ประสานงานเพื่อเคลื่อนไหวพร้อมกันทั่วโลก นี่เป็นวิธีการเดียวกับที่พวกเขาแสดงให้โลกเห็นมาแล้วในอดีตและปัจจุบันเพื่อบรรลุเป้าหมายหนึ่งเดียว นั่นคือการปลดปล่อยประชาชนที่ถูกกดขี่ ความสามารถของพวกเขาในการเข้าใจสื่อ และเคลื่อนไหวด้วยจินตนาการที่สร้างสรรค์ ได้รับการยกย่องจากทั้งคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และนักกิจกรรมด้านการเมือง สังคม และสื่อ เป็นผลให้คนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากคนนับล้านทั่วโลก กลุ่มของพวกเขาเป็นการประสานงานอันชาญฉลาด ระหว่างนักยุทธ์ศาสตร์การเมือง นักทฤษฎีสมัยใหม่ ศิลปิน และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค

ผู้ใดก็ตามที่ครอบครองสื่อย่อมครอบครองอำนาจ นี่คือกฎเหล็กแห่งเกมการเมืองในปัจจุบัน ในรัฐสมัยใหม่ การต่อสู้ทางการเมืองคือการต่อสู้เพื่อช่วงชิงสื่อ และการต่อสู้นี้ก็กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการกระโดดเข้าร่วมวงของบริษัทเอกชน ตามมาด้วยการอุบัติของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พลเมืองธรรมดาใช้เป็น อำนาจทางการเมืองแบบโบราณพยายามครอบครองสื่อทุกวิถีทาง ถ้าไม่ได้ด้วยคะแนนเสียง ก็ด้วยอาวุธ การข่มขู่ กฎหมายหมิ่นประมาท ฯลฯ ยิ่งพวกเขาพยายามครอบงำสื่อเท่าไหร่ สังคมก็ยิ่งพยายามยึดสื่อคืนมาอยู่ในมือพลเมืองเท่านั้น

หนึ่งในเงื่อนไขที่จำเป็นต่อชัยชนะข้อนี้ของพลเมือง คือการประสานงานกันระหว่างประชาชนหลากหลายอาชีพ ศิลปินสามารถเพิ่มพูนผลของการประสานงานกันให้งอกเงยขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะปกติสาขานั้นคือจุดอ่อนของผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะในเอเชีย (รัฐบาลในทวีปยุโรปมีประวัติศาสตร์ด้านนี้ที่ซับซ้อนกว่า ในขณะที่รัฐบาลในทวีปอเมริกาใต้ก็มีประวัติศาสตร์การใช้ศิลปะที่น่าสนใจ แต่ทั้งสองทวีปมิใช่หัวข้ออภิปรายในบทความสั้นๆ ชิ้นนี้)

ความเข้มแข็งของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อยู่ตรงข้อเท็จจริงว่า ผู้อยู่เบื้องหลังคือเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย, เพศสภาวะศึกษา, ประวัติศาสตร์, ศิลปะ ฯลฯ นอกจากนั้น หัวข้อและประเด็นอภิปรายของพวกเขาก็มักจะเน้นประเด็นด้านศิลปะและวัฒนธรรมเป็นพิเศษ ดังคำกล่าวของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า ศิลปะและวัฒนธรรมนั้นสามารถปลดปล่อยพลเมืองให้เป็นอิสระได้

Talawas ดำเนินนโยบายเดียวกัน และเมื่อ OPEN เริ่มทำนิตยสารที่เลิกไปแล้ว ส่วนผสมระหว่างศิลปะ วัฒนธรรม และประเด็นหนักๆ ด้านการเมืองและสังคม กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักเขียนจากหลากหลายวงการที่ยังสนับสนุนเวอร์ชั่นออนไลน์ของ OPEN สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

...ในที่สุด เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้
ไอเดียที่ว่าเราจะทำหนังสือหนึ่งเล่มที่ประกอบด้วยบทความจากนิตยสารไทยต่างๆ ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Documenta 12 ถูกเสนอเป็นครั้งแรกในงานสัมมนาที่เชียงใหม่ OPEN ได้ตอบตกลงที่จะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ตอนนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เหล่าบรรณาธิการทั้งหลายก็ยุ่งมากจนไม่มีเวลามาสานไอเดียนี้ต่อ ข้าพเจ้าเองก็ได้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับโครงการนี้ หลังจากที่เฝ้าสังเกตบทบาทของสื่อและบรรณาธิการแต่ละคนในภาวะการเมืองคุกรุ่น

และในที่สุด ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโครงการนี้ชนิดกลับตาลปัตรหลังจากเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายน หลังจากที่ได้หารือกับเวียนนา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ OPEN เราก็ตัดสินใจว่าจะทำหนังสือว่าด้วยประชาธิปไตย เพื่ออุทิศแด่เหล่าสื่ออิสระที่ยืนหยัดต่อสู้ในช่วงเวลาอันแปรปรวน เราตั้งใจจะนำเสนอข้อมูลและการศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่สาธารณชน และมอบโอกาสให้พวกเขาอภิปรายประเด็นที่สำคัญยิ่งนี้

นิตยสารและสื่อออนไลน์ 6 ราย ได้แก่ Budpage, ฟ้าเดียวกัน, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, OPEN, ประชาไท และ QUESTIONMARK ได้รับคำขอให้ส่งบทความที่สะท้อนความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับประชาธิปไตย จากกรุบทความที่ตีพิมพ์ไปแล้วหรือกำลังจะตีพิมพ์ลงในพื้นที่สื่อของพวกเขา บทความที่ผู้อ่านจะค้นพบในหนังสือเล่มนี้ เป็นผลจากคำขอดังกล่าว (OPEN ส่งบทความที่ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ และ สารคดี นอกเหนือจากบทความของตัวเอง คงเป็นเพราะพวกเขาไม่อยากให้โครงการนี้ดูเป็นการสรรเสริญเยินยอตัวเองเกินไป)

หลังจากนั้น เราก็ขอให้ปัญญาชนชาวต่างชาติผู้สนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนเวทีนานาชาติ ช่วยเขียนคำอุทิศให้แก่สื่ออิสระในประเทศไทย

Orhan Pamuk เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2549 ตกลงจะเขียนคำอุทิศให้ หลังจากที่เราอธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยและการทำงานของสื่ออิสระ 6 รายดังกล่าวให้เขาฟัง โชคร้ายที่คุณ Pamuk เองต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ชีวิตเขาเป็นอันตราย หลังจาก Hrant Dink ถูกฆาตกรรม เราจึงยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับข้อเขียนจากเขาหรือไม่ ณ วันที่เขียนอยู่นี้

นิตยสาร Documenta เองได้นำเสนอบทความสองชิ้นจากเครือข่าย โดยคำแนะนำของ Eurozine (เครือข่ายของนิตยสารในยุโรป) ซึ่งคัดเลือกเป็นพิเศษเพื่อหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ

บทความภาษาไทยเริ่มต้นด้วยการถอดความบทบรรยายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงานสัมมนาที่เชียงใหม่เมื่อเดือนมกราคม 2549 ซึ่งอาจารย์ได้บรรยายถึงความสำคัญของสื่อในสังคม ตามมาด้วยบทความที่สื่อไทยทั้ง 6 แห่งนำเสนอ. ผู้อ่านคงสังเกตเห็นว่าบทความเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับรัฐประหารเดือนกันยายน

- OPEN ส่งทั้งบทความที่มีจุดยืนสนับสนุนรัฐประหาร และบทความที่มีจุดยืนตรงกันข้าม

- ประชาไท นำเสนอประชาธิปไตยไทยในมุมมองแบบโพสต์โมเดิร์น

- QUESTIONMARK พูดถึงวัฒนธรรมตลาดของรายการยอดนิยม Academy Fantasia ซึ่งสร้างบรรยากาศให้คนรู้สึกเสมือนอยู่ในระบบกึ่งประชาธิปไตย เพื่อผลักดันเป้าหมายเชิงพาณิชย์ของตน และเปรียบเทียบรายการนี้กับรัฐประหาร

- ในกลุ่มบทความที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารโดยตรง รวมถึงบทความทั่วไปจาก Budpage ที่นำเสนอ "ธรรมาธิปไตย" แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สืบรากมาจากศาสนาพุทธ

- ฟ้าเดียวกัน เลือกหัวข้อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอบทความว่าด้วยภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับบริเวณดังกล่าว

ในกลุ่มบทความภาษาไทยทั้งหมด บทความของอาจารย์นิธิที่ว่าด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและเยอรมัน และตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่งในโครงการ Documenta ภายใต้แนวเรื่อง "bare life"(3) เพื่อสาธารณชนในประเทศอื่นๆ จะได้เข้าถึงและแลกเปลี่ยนไอเดียของอาจารย์ได้ (สำหรับใครก็ตามที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับสื่อ ถ้าเราแปลงกรณีที่รัฐปล้นทรัพย์สิน ธรรมาภิบาล และประชาธิปไตยของประชาชน ที่อาจารย์พูดถึง ไปเป็นกรณีที่รัฐปล้นสื่อ เราจะเห็นภาพอันยุ่งเหยิงของการควบคุมสื่อมวลชนไทยได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น) หลังจากนี้ เรามีแผนที่จะแปลบทความอื่นๆ จากนิตยสารที่เข้าร่วมโครงการด้วย

ในตอนท้ายของหนังสือ ผู้อ่านจะพบบทความสองชิ้นที่ได้รับการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย จากเครือข่ายนิตยสารของ Documenta

บทความชิ้นแรก เป็นบทความสั้นๆ โดย Truls Lie นักเขียนชาวนอร์เวย์ ที่นำเสนอแนวคิดที่เขาเรียกว่า "การเมืองสากล" (cosmopolitics) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากทฤษฎี ข้อเขียน และชีวิตของ Hannah Arendt ในบทความชิ้นนี้ Lie เสนอว่าสังคมสามารถบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ด้วยการให้ประชาชนทุกชนชั้นมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ และแม้กระทั่งคนไร้สัญชาติ ในทางที่เป็น "สากล" (cosmopolite) แทนที่จะใช้โวหารแบบชาตินิยม

บทความที่สอง เรื่อง "สู่การขยายแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย" (Towards widening the democratic canon) โดยนักวิชาการชาวโปรตุเกสสองคนคือ Leonardo Avritzer และ Boaventura de Sousa Santos เสนอผลการวิเคราะห์ศักยภาพและขีดจำกัดของโมเดลประชาธิปไตยที่อุบัติขึ้นในโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน. เดิมที บทความนี้เขียนขึ้นเป็นบทนำของหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศแถบซีกโลกใต้ อันได้แก่โปรตุเกส, โมซัมบิก, แอฟริกาใต้, บราซิล, โคลัมเบีย และอินเดีย

ผู้เขียนทั้งสองใช้ตัวอย่างจากประเทศเหล่านี้ประกอบกับมุมมองที่ว่าประชาธิปไตยเป็น "ไวยากรณ์ทางสังคม" ชนิดหนึ่ง ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่ประชาธิปไตยจะขยับขยาย "ภาษา" ของระบอบ ตรงกันข้ามกับโลกทัศน์แคบๆ ของผู้นำทางการเมืองในเอเชีย ที่ล้วนยึดติดกับการขยายความคำว่า "ประชาธิปไตย" โดยเพิ่มคำคุณศัพท์เข้าไปข้างหน้าอย่างแสนจะไร้จินตนาการ ผู้เขียนทั้งสองศึกษาประชาธิปไตยในฐานะขบวนการปลดปล่อยทางสังคมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะระบอบการเมืองที่ถูกรัฐบังคับใช้

ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง และสื่อ
ในบทความที่สอง Avritzer และ Santos พูดถึงเงื่อนไขข้อหนึ่งของประชาธิปไตยที่ Jurgen Habermas เคยเสนอ นั่นคือ "ระดับความเป็นสาธารณะ" (publicness) ที่สามารถสร้างไวยากรณ์ทางสังคมได้ บรรณาธิการของสื่ออิสระไทยในหนังสือเล่มนี้ ล้วนตระหนักดีถึงความสำคัญของระดับความเป็นสาธารณะและงานของพวกเขา ในการแผ้วถางทางสำหรับพลเมืองในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เพื่อสร้างเงื่อนไขนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ พวกเขาทำงานนี้หนักมากๆ ในฐานะผู้พิทักษ์สื่ออิสระคนหนึ่ง

ข้าพเจ้าอยากตอกย้ำความสำคัญของกลุ่มคนที่ทำงานวันละ 22 ชั่วโมงเพื่อพยายามรักษากระดานสนทนาบนเว็บให้เปิดต่อสาธารณะตลอดเวลา เพื่อรักษาพื้นที่เสรีที่ปลอดจากการแทรกแซงทุกรูปแบบ เหมือนกับที่กองบรรณาธิการ ประชาไท พยายามทำ คนเหล่านี้มักไม่ค่อยตกเป็นเป้าสนใจ แต่งานของพวกเขามิได้มีคุณค่าน้อยกว่างานของคนที่จัดการเดินขบวนหรือชุมนุมประท้วงเลย

บรรณาธิการเหล่านี้กำลังทำงานอีกประเภทหนึ่งที่พวกเขาตระหนักดี นั่นคือการขยับขยายโลกทัศน์และมุมมองของพลเมือง ด้วยการแนะนำให้พวกเขาได้รู้จักกับวาทกรรมด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย สิ่งหนึ่งที่เราพบได้ในบทความชิ้นเดียวกันของ Avritzer และ Santos คือสาเหตุหนึ่งที่โครงสร้างอำนาจเผด็จการเดิมๆ ต้องพังทลายลง นั่นคือ กระบวนการที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้ระบบราชการดั้งเดิมกุมอำนาจแบบรวมศูนย์ของพวกเขาได้ยากกว่าเดิม

กระบวนการนี้ใช้เวลาหลายสิบปีหรือเป็นร้อยๆ ปี และปกติเราก็มองไม่เห็นผลของมันในทันที ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์จึงเต็มไปด้วยภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอันเป็นสากล นั่นคือ ความเร่งด่วนทางการเมือง และการอนุรักษ์วัฒนธรรม (จริงๆ แล้ว ถ้าใช้คำว่า "การอนุรักษ์วัฒนธรรมของวัฒนธรรม" น่าจะดีกว่า เพื่อสื่อความจริงว่าขบวนการอนุรักษ์นั้นรวมถึงการผลิตแ ละแนะนำวัฒนธรรมใหม่ๆ ด้วย) ในทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งยุคปัจจุบันด้วย

ในตอนต้นของบทนำชิ้นนี้ ข้าพเจ้าบอกว่างานสัมมนาที่เชียงใหม่ตอนนี้ดูเป็นงานที่โอ่อ่าฟุ่มเฟือยไปแล้ว และโครงการนี้ก็มาจากยุโรป ทวีปที่ผู้คนมีฐานะและความเป็นอยู่ดีพอที่จะพุ่งความสนใจไปที่การอนุรักษ์วัฒนธรรม, ตรงกันข้ามกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้คนถูกบีบคั้นให้หมกมุ่นกับการใช้ชีวิตประจำวัน และความเร่งด่วนทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าเมื่อเราพยายามปรับปรุงบรรยากาศทางการเมือง เราต้องมีวาทกรรมด้านวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย เนื่องจากเหตุผลหลายประการ:

ข้อแรก ความคิดทางการเมืองที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยวาทกรรมด้านวัฒนธรรม มีวุฒิภาวะสูงกว่าความคิดที่ผลิตโดยภาคการเมืองเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่เพื่อนๆ ของเราในยุโรปยินดีที่จะพิสูจน์ให้เราเห็น (พวกเขาจะบอกว่า นั่นคือเหตุผลที่เขาสามารถปลีกตัวออกจากประเด็นเร่งด่วนทางการเมืองได้แล้ว)

ข้อสอง ในขณะที่ข้อเขียนทางการเมืองทำงานเหมือนกับแถลงการณ์สั่งสอน หรือลัทธิที่บอกผู้คนว่าพวกเขา "ต้องทำ" อะไรบ้าง และสิ่งเหล่านั้นก็ถูกกำหนดตายตัว แต่วัฒนธรรมเช่นศิลปะ วรรณกรรม การแสดง และดนตรี ทำงานในทางที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง - วัฒนธรรมเหล่านี้สัมผัสทั้งหัวใจและสมองของผู้คน กระตุ้นให้พวกเขาเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ภูมิหลัง ประวัติศาสตร์ และสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ในแง่นี้ วัฒนธรรมจึงช่วยชีวิตผู้คนไม่ให้ตกเป็นทาสของความคิด และมอบอำนาจให้พวกเขาสามารถเป็นผู้สร้างความคิดใหม่ๆ ได้

ข้อสาม ท้ายที่สุดแล้ว วัฒนธรรมคือสิ่งที่ดำรงอยู่ ขณะที่การเมืองมาแล้วก็ไป และคนทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย วัฒนธรรมดำรงอยู่ได้ข้ามศตวรรษหรือศักราช และวัฒนธรรมที่อยู่รอดได้นั้นก็ล้วนมีอิทธิพลสูง เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนสืบมาทุกยุคทุกสมัย ให้สรรค์สร้างความคิดใหม่ๆ ตลอดเวลา

ข้อสี่ การอุบัติขึ้นของวัฒนธรรมบรรษัทมีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อกลไกการปกครองของรัฐ ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าบอกว่าศิลปะเป็นจุดอ่อนของผู้มีอำนาจในเอเชีย แต่ข้อนี้ไม่เป็นจริงสำหรับอำนาจใหม่ของบริษัทเอกชนต่างๆ ที่จ้างศิลปิน นักออกแบบ และนักวิจัยตลาดอย่างกระตือรือร้น เพื่อล่อหลอกพลเมืองให้ยอมเป็นทาสของบริโภคนิยม ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงข้อนี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ผ่านช่วงเวลาหลายทศวรรษ และตอนนี้ก็มาถึงจุดที่ไม่มีวันหวนกลับแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงข้อนี้ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และค่อนข้างมีชื่อเสียงเมื่อไม่นานมานี้เอง วัฒนธรรมบรรษัทได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่การเมือง ซึ่งเราอาจเรียกว่า "บริษัทการเมือง จำกัด" (Political Corp.) กลายเป็นพลังที่ท้าทายสถาบันเก่าๆ ที่กุมอำนาจมานาน และพลังนี้ก็สะท้อนให้เห็นในตัวนายกรัฐมนตรีและนักธุรกิจใหญ่นาม ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น พลังในการวิพากษ์วิจารณ์จึงหมดไปกับการต่อสู้กับคนคนเดียว แทนที่จะใช้วิเคราะห์วิธีการที่ศิลปะและการออกแบบกำลังถูกใช้ในการชักใยประชาชนทั่วไป และพลเมืองเองก็ยังไม่สำเหนียกว่า การออกแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจที่พบเห็นในสื่อมวลชนและโฆษณาต่างๆ นั้น มีเป้าหมายอยู่ที่การกระตุ้นให้พวกเขาใช้เงินซื้อของมากขึ้น

การศึกษาด้านการออกแบบและการโฆษณาของบริษัทต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อสอนกระบวนการผลิตสิ่งเหล่านี้ แทนที่จะสอนวิธีวิเคราะห์มันอย่างถึงแก่น ในสถานการณ์แบบนี้ เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องให้การศึกษากับประชาชน ให้สามารถแยกแยะระหว่างศิลปะ, ศิลปะของบรรษัท, และการออกแบบของบรรษัท, เพื่อให้พวกเขาตื่นตัวพอที่จะมองเห็นลัทธิเผด็จการแบบใหม่

ในขณะเดียวกัน ศิลปะสามารถกระตุ้นจินตนาการของผู้คน และสร้างวิถีการดำรงชีวิตทางเลือกที่ไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบแคบๆ ของทุนนิยมและบริโภคนิยมเท่านั้น อำนาจของบรรษัทนั้นมหาศาลและรุกรานเรามากเสียจนสามารถครอบงำเราได้ภายในชั่วพริบตา หากเราไม่เริ่มปักหลักตั้งแต่ตอนนี้

การอภิปรายเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมในยามที่การเมืองเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย หากเป็นเรื่องจำเป็น

ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง และสื่อ - ตัวอย่างจากประเทศไทย
ข้าพเจ้าอยากอภิปรายเรื่องราวของโครงการนี้ต่อ ด้วยการยกตัวอย่างของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในประเทศไทย นานแล้วที่อนุสาวรีย์กลางถนนราชดำเนินแห่งนี้เป็นปริศนาสำหรับข้าพเจ้า เหตุใดอนุสาวรีย์ที่ออกแนวเผด็จการจึงสามารถดึงดูดนักกิจกรรมประชาธิปไตยเป็นพันๆ คน ถ้าไม่ใช่เพราะชื่อของมันอย่างเดียว? ถ้าข้าพเจ้ามีตัวเลือกแค่อนุสาวรีย์แห่งนี้ กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่ดูเหมือนอวัยวะเพศชาย ในการจัดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ข้าพเจ้าก็คงต้องเลือกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพราะดูคลุมเครือทางเพศมากกว่า แต่หลังจากที่ข้าพเจ้าถามคนจำนวนมาก ข้าพเจ้าก็พบว่าไม่มีใครชอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่พวกเขาก็ไม่ชอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเหมือนกัน

แต่หลังจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านข้อเขียนของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่วิเคราะห์อนุสาวรีย์ต่างๆ ในบริบทของพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของไทย ข้าพเจ้าก็เข้าใจเงื่อนไขทางจิตวิทยาที่ทำให้คนทั่วไปยอมรับอนุสาวรีย์แห่งนี้ในฐานะพื้นที่เพื่อการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย. หนึ่งในเหตุผลว่าทำไมมันทำงานได้ดี คือภาวะสูญเสียความทรงจำของประชาชน (public amnesia) อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังไม่เข้าใจตรรกะด้านวัฒนธรรมที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างแบบของอนุสาวรีย์แห่งนี้ กับจิตใต้สำนึกของประชาชน

ไม่ใช่ว่าไม่มีใครอภิปรายเรื่องนี้กันเลย ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าพบหนังสือและบทเสวนาจำนวนมากที่พูดถึงความขัดแย้งเรื่องอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะในด้านบริบททางประวัติศาสตร์ของมัน หนังสือเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าสรุปได้ว่า นี่เป็นเรื่องที่มีความขัดแย้ง (controversy) เรื่องหนึ่ง มันทำงานในความทรงจำร่วมของสังคม มันทำงานในระดับความสัมพันธ์ระหว่างชื่อของมันและแบบของมันที่เรามองเห็น มันเป็นศูนย์กลางเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนประเทศ 3 เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และถึงตอนนี้ ทุกคนพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาเวทีอื่นที่จะจัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ไปแล้ว

ในสายตาของข้าพเจ้า นี่เป็นเงื่อนไขที่สมบูรณ์อย่างยิ่งที่จะก่อกำเนิดศิลปะ และนั่นคือปริศนาอีกข้อสำหรับข้าพเจ้า ทำไมจึงไม่มีศิลปะเกี่ยวกับอนุสาวรีย์แห่งนี้? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าศิลปินคนหนึ่งตัดสินใจเล่นกับมนตราของชื่อ ด้วยการสลับชื่ออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในชั่วข้ามคืน? หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ทุกแห่งในกรุงเทพให้เป็น "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย"? หรือให้ศิลปินอีกคนมาเล่นกับแบบของอนุสาวรีย์ก็ได้

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าศิลปินอย่าง Krzystof Wodiczko ฉายภาพต่างๆ ลงบนอนุสาวรีย์แห่งนี้ เปลี่ยนมันให้เป็นอนุสาวรีย์ในบริบทอื่น? โครงการศิลปะเหล่านี้จะกระตุ้นวิวาทะสาธารณะหรือไม่? วิวาทะด้านวัฒนธรรมในประเทศไทยมีวุฒิภาวะพอหรือยัง ที่จะยอมรับการกระทำเหล่านี้? ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงนักวิจารณ์ศิลปะจำนวนหยิบมือเดียว แต่หมายถึงคนทั่วไป

ท้ายที่สุดแล้ว คำถามของข้าพเจ้าคือ ถ้าการอภิปรายและวาทกรรมเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวากว่านี้ และเผยแพร่ไปสู่ภาคส่วนของสังคมที่หลากหลายกว่านี้ ผู้คนยังจะเลือกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเวทีของเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์อยู่หรือไม่? หรือว่าพวกเขาจะเริ่มใช้มันเป็นเวทีในการฝึกฝนศิลปะ? สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าพูดได้คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยสำหรับข้าพเจ้า เท่ากับที่มันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตย และจะเป็นเช่นนั้นจนกว่าจะมีใครใช้มันในงานศิลปะ

แทนที่จะเขียนบทนำ ข้าพเจ้าขอใช้ความเชื่อในอิทธิพลของสื่อที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ว่า จะสามารถกระตุ้นให้เกิดวิวาทะเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง และสื่อ เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอนนี้ข้าพเจ้าพบว่ามีแนวโน้มที่ดีในเรื่องนี้ ในหนังสือเรื่อง รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ ฟ้าเดียวกัน จัดพิมพ์หลังปีใหม่ 2550 ไม่นาน

แบบปกของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งรวบรวมบทความและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐประหาร ประกอบด้วยภาพ 3 ภาพ เริ่มจากภาพเขียนเหนือจริงอันโด่งดังของ Rene Magritte ชื่อ "การทรยศของภาพ" ที่มีข้อความว่า "This is not a pipe" เหนือรูปของไปป์อันหนึ่ง รูปถัดมาเป็นรูปของดาวเคราะห์พลูโต ข้างใต้มีข้อความว่า "This is not a planet." และรูปสุดท้ายเป็นรูปเด็กๆ ที่ยิ้มแป้นถ่ายรูปคู่กับทหารและรถถัง ข้างใต้มีข้อความว่า "This is not a coup."

ลำพังปกนี้ก็เป็นงานศิลปะชิ้นเอกแล้ว มันทำงานในระดับความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่ตามองเห็น การแปลความหมายของภาพนั้น และการแปลงความหมายให้เป็นคำศัพท์ในหัวของผู้ชม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของศิลปะสมัยใหม่ และกระบวนการนี้ก็เกิดขึ้นจากภาพ (และประโยค) แต่ละภาพ เกิดขึ้นระหว่างภาพ 3 ภาพ และระหว่างภาพเหล่านั้น (และเรื่องราวที่ภาพเหล่านั้นสื่อ) กับชื่อของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งนำเสนอเวทีความคิดอันหลากหลาย ภาพปกนี้อาจเป็นจุดตั้งต้นให้ข้าพเจ้าได้ ในการเดินทางเพื่อแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับปริศนาของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเดินทางกลับมา

ศิลปะของวารสารการเมืองรายสามเดือน ฟ้าเดียวกัน เป็นหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญที่สุด ของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง และสื่อ นับตั้งแต่ข้าพเจ้าเห็นปกซึ่งเป็นที่ฮือฮาของฉบับสถาบันกษัตริย์ที่ถูกสั่งแบน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของรอยต่อระหว่างความสามารถของคนในการเข้าใจศิลปะ และความสามารถในการท้าทายปทัสถานต่างๆ ที่ข้าพเจ้าอธิบายข้างต้น ตอนนี้วารสารฉบับนี้ใช้ศิลปะอย่างมีสำนึก มีความมั่นใจ และอย่างท้าทายมากขึ้น และศิลปะนั้นก็เริ่มสื่อสารกับผู้คนหลายระดับชั้น และแม้กระทั่งผู้คนในวัฒนธรรมอื่นที่อ่านภาษาไทยไม่ออก

แน่นอน พัฒนาการเช่นนี้มีผลกระทบทางลบด้วย ในแง่ที่วารสารการเมืองฉบับนี้ย้ำเตือนเราว่า ไม่มีศิลปินไทยคนไหนกำลังทำสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ เมื่อต้นปีที่แล้ว (2549) เมื่อฉบับสถาบันกษัตริย์ของวารสารฉบับนี้ถูกสั่งแบน ข้าพเจ้าเขียนบทความสนับสนุนพวกเขา และในโอกาสนั้นข้าพเจ้าก็ทำการทดลองทางวรรณกรรมเล็กๆ คือ ข้าพเจ้าไล่เรียงลำดับสถานการณ์ของศิลปะและการเมืองในประเทศไทย แม้ว่ามันจะขึ้นอยู่กับความคิดของข้าพเจ้าคนเดียว และกลับด้านสถานการณ์เหล่านั้นทีละเรื่อง ผลที่เกิดขึ้นคือประเทศในจินตนาการชื่อ เยอรมัน เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ผลการทดลองของข้าพเจ้าออกมาเหมือนกับเยอรมันในโลกแห่งความจริง และภาพนี้ก็ดูเหมือนยุคพระศรีอาริย์มากกว่าภาพที่แท้จริงด้วย

ในโลกพระศรีอาริย์ในความฝันของข้าพเจ้านั้น รัฐบาลรักและสนับสนุนศิลปะทุกชนิด และเชื่อมั่นว่าศิลปะสามารถมอบอำนาจให้พลเมืองทุกคนเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ ดังนั้นรัฐจึงใช้เงินและทรัพยากรมากมายในการสอนประชาชนให้เข้าใจศิลปะอย่างถ่องแท้ และผลที่เกิดขึ้นคือ พลเมืองของประเทศนี้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง สนใจประเด็นที่เกี่ยวกับสังคม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน พวกเขาโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีอิสระ มีวุฒิภาวะ และมีวิจารณญาณสูงเสียจนพวกเขามีอำนาจล้มล้างรัฐบาลที่อุ้มชูพวกเขาลงได้ (ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในฝันนี้ก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ถูกถอดถอนโดยพลเมือง เพราะพลเมืองล้วนเป็นองค์ประกอบของรัฐที่ขาดไม่ได้ (ไม่มีอะไรอยู่เหนือกฎหมายในประเทศนี้ด้วย) พลเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลก่อนๆ ก็ทำแบบเดียวกัน และพวกเขาก็ถูกทดแทนในลำดับต่อไป การกระตุ้นระบอบการเมืองด้วยวิธีที่มีพลวัตแบบนี้ทำให้รัฐนี้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งตราบนานเท่านาน

ภาพของรัฐในฝันนี้อาจดูเกินจริง แต่แก่นของเรื่องนี้ดูคล้ายกับเยอรมันไม่น้อย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะติดตามดูว่า โครงการจากเยอรมันจะมีปฏิสัมพันธ์กับสื่ออิสระไทยอย่างไรบ้าง สาธารณชนในเยอรมัน ตลอดจนผู้ชมและแขกรับเชิญในงานนิทรรศการครั้งนี้ (และโครงการเครือข่ายนิตยสารที่จะมีต่อไปหลังจากงานเสร็จสิ้นลง) มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะได้อภิปรายกับสื่อไทยเหล่านี้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของมิติใหม่ในวิวาทะทางวัฒนธรรมและวงอภิปรายข้ามชาติ

และสำหรับผู้อ่านชาวไทย ข้าพเจ้าหวังว่าโครงการนี้จะช่วยจุดประกายให้ทุกคนคิดถึงบทบาทของสื่ออิสระ ในยามที่สังคมต้องการพวกเขาที่สุด ตรงกันข้ามกับสื่อโทรทัศน์ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างแรง (เมื่อไหร่เราจะเห็นสถานีโทรทัศน์อิสระ ที่นำเสนอเนื้อหาด้านศิลปะและวัฒนธรรม?) เราสามารถพบสื่อคุณภาพสูงเหล่านี้ได้ในรูปสิ่งพิมพ์และบนอินเทอร์เน็ต พวกเขาล้วนเป็นสื่อที่ทำให้ชาวไทยภูมิใจได้

ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณ OPEN ที่ได้อดทนและแสดงความเป็นมืออาชีพตลอดทั้งโครงการ และขอขอบคุณเหล่าบรรณาธิการสื่ออิสระทั้งมวลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ไม่ปรากฏชื่อในที่นี้เนื่องด้วยนโยบายของสำนักพิมพ์ ผู้ทำให้ข้าพเจ้ามองภูมิภาคนี้จากมุมมองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพที่ข้าพเจ้ามีก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้รู้จักกับพวกเขา ด้วยศิลปะอันแสนวิเศษของพวกเขา

Keiko Sei
มีนาคม 2007, กรุงเทพฯ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) คณะกรรมการบริษัท มีมติสั่งห้ามไม่ให้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ Abu Baker Bashir โดย Farsh A Noor ลงใน Off The Edge แต่หลังจากนั้นบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่โดยสำนักข่าว Al Jazeera

(2) งานสัมมนา "บทบาทของศิลปะและสื่อในการพัฒนาทักษะในการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม (ในมิติการเมือง เศรษฐกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม)" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 มกราคม 2549 เชิญนิตยสารและสื่อทางเลือกดังต่อไปนี้ ศิลปวัฒนธรรม (ไม่ได้ร่วมสัมมนา), art4d, Budpage, ฟ้าเดียวกัน, มหาวิทยาลัยวันศุกร์ (ไม่ได้ร่วมสัมมนา), ศูนย์ข่าวอิศรา (ไม่ได้ร่วมสัมมนา), MADgazine, มติชน, OPEN, ประชาไท, QUESTIONMARK, ศูนย์ข่าวสาละวิน, สารคดี, และThe Irrawaddy ในฐานะแขกรับเชิญจากพม่า

(3) ข้อนี้เป็นหนึ่งในสามแนวเรื่องหลักของ Documenta 12 ในที่นี้ "bare life" (ชีวิตเปล่าเปลือย) หมายถึงสภาวะที่มนุษย์อ่อนแอที่สุด ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้น ค่ายกักกันและค่ายผู้อพยพเป็นตัวอย่างทางการเมืองของสภาวะนี้ สภาวะชีวิตเปล่าเปลือยมีนัยยะอันสลับซับซ้อน เช่น ภาวะไร้รัฐ (statelessness) ทำให้คนอ่อนแอ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนมีเสรีภาพโดยธรรมชาติอันไร้ขีดจำกัดด้วย การวิเคราะห์สภาวะนี้จะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการเมืองกับจิตวิทยามนุษย์ ระหว่างเสรีภาพและความสัมพันธ์ของมนุษย์ และระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติได้ดีขึ้น

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย เราเห็นโอกาสที่สื่อจะมีเสรีภาพมากกว่าที่ผ่านมา หลังจากที่กลุ่มผู้นำเผด็จการเกษียณอายุไป วันนี้สื่ออิสระในอินโดนีเซียอยู่ในยุคเฟื่องฟู ขณะที่ในมาเลเซีย ปัญญาชนจำนวนมากกำลังใช้สื่อทางเลือกใหม่เป็นเวทีทดลองทางความคิด ในขณะที่กลุ่มพลังมุสลิมอนุรักษนิยมกำลังมาแรง และแรงกดดันของพวกเขาต่อภาคการเมืองและสังคมกำลังเขม็งเกลียวขึ้น ข้าพเจ้าเกรงว่า ช่วงเวลาแห่งเสรีภาพนี้จะอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้น หน้าที่ของกองบรรณาธิการนิตยสารในประเทศเหล่านี้คือ การเปิดพื้นที่ให้กับเสียงของพลเมืองจำนวนมาก
24-04-2550

Bangkok Documenta
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.