บทวิเคราะห์วรรณกรรมกับสังคมไทยร่วมสมัย
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่อง
"เสียงเพรียกจากท้องน้ำ"
นัทธนัย ประสานนาม
ภาควิชาภาษาและคติชนวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ที่ทำงานปัจจุบัน: ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
บทวิเคราะห์วรรณกรรมชิ้นนี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้วิจัย
เดิมชื่อ: การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่อง เสียงเพรียกจากท้องน้ำ ของประทีป
ชุมพล
ซึ่งเป็นงานวิจัย ที่พยายามวิเคราะห์วรรณกรรมชิ้นนี้ในแนวนการเมืองเรื่องอัตลักษณ์
(Politics of Identity / Identity Politics) ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ต่างๆ
ผู้วิจัยมุ่งวิเคราะห์ในแง่ที่ว่า ประทีปเขียนนวนิยายเรื่องนี้เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชาวอูรังลาโว้ยให้แจ่มชัด
โดยอาจมุ่งชำระล้างภาพแทน
(representation) ในการรับรู้ของผู้อ่านที่เห็นพวกเขาเป็นเพียง "ชาวเล"
ที่ต้อยต่ำป่าเถื่อน
ในส่วนสุดท้าย ผู้วิจัยพยายามชี้ให้เห็นว่า การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่องนี้
เป็นการเมืองที่มีหลายมิติและสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของผู้เขียนเอง
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๒๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๔ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๔.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่อง
เสียงเพรียกจากท้องน้ำ
นัทธนัย
ประสานนาม
หมายเหต :
บทความนี้ปรับปรุงจากบทความวิจัยชื่อ"การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่อง
เสียงเพรียกจากท้องน้ำ ของประทีป ชุมพล"
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (กันยายน-ธันวาคม
2549)
บทนำ
ประเทศไทยมีชนกลุ่มน้อยกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศซึ่งแสดงให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในสังคมไทย
ในปัจจุบันประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยที่นักวิชาการสนใจมากคือเรื่องอัตลักษณ์
(identity) และอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ (ethnic identity) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เสนอให้มองวัฒนธรรมและการนิยามตนเองในความสัมพันธ์กับกลุ่มชนอื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์กับรัฐชาติ (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2546:
5) จึงกล่าวได้ว่า ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์เป็นประเด็นที่ทันสมัย เพราะกำลังอยู่ในความสนใจของคนอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางภาคใต้ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
วิธีวิทยาของวรรณคดีเปรียบเทียบในฐานะสหวิทยาการ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยส่งผลให้มีการศึกษาแบบข้ามศาสตร์ กล่าวคือ ศึกษาวรรณคดีโดยใช้มุมมองของศาสตร์อื่น มานุษยวิทยานับเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ผู้ศึกษาวรรณคดีเปรียบเทียบนำมาใช้ กอปรกับแนวโน้มของวรรณกรรมไทยในทศวรรษ 2540 ที่เริ่มให้ความสำคัญแก่อัตลักษณ์ท้องถิ่นและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาอย่างเห็นได้ชัด สังเกตได้จากเรื่องสั้นและนวนิยายที่เข้าชิงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A. Writer Awards) ซึ่งเป็นรางวัลวรรณกรรมสำคัญของไทย เช่น "สายลมบนถนนโบราณ" ของมาโนช พรหมสิงห์, "ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป" ของจำลอง ฝั่งชลจิตร, และ "โพรงมะเดื่อ" ของประมวล ดาระดาษ เป็นต้น. ด้วยเหตุนี้ นักวรรณคดีศึกษาเริ่มหันมาศึกษาวิเคราะห์อัตลักษณ์ที่ปรากฏในตัวบทมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยแนวทางจากแนวคิดหลังอาณานิคม ในขอบข่ายของวรรณคดีและวัฒนธรรมศึกษา (ดู วิมลมาศ ปฤชากุล, 2547; พรธาดา สุวัธนวนิช, 2547)
นวนิยายเรื่อง "เสียงเพรียกจากท้องน้ำ" ของประทีป ชุมพล เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนใน พ.ศ. 2546 นวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะเฉพาะในการนำเสนออัตลักษณ์ของชาว"อูรังลาโว้ย" ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางตอนใต้ของประเทศไทยผ่านการผสมผสานนวนิยายกับชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) ซึ่งไม่ปรากฏบ่อยนักในผลงานของนักเขียนไทย
นับตั้งแต่มีงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณาใน "โคลงภาพต่างภาษา" สืบเนื่องมาจนถึงบทละครเรื่อง "เงาะป่า" พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งงานเขียนและบันทึกของข้าราชการในแง่มุมเกี่ยวกับคนที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์กลาง (ธงชัย วินิจจะกูล, 2546) งานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณาที่ปรากฏในรูปแบบนวนิยายที่เห็นเด่นชัดมีนวนิยายเรื่อง "ในสายหมอก" และเรื่อง "หลับเถิดนางนอน" ของสมัย สุทธิธรรม ที่บรรยายสภาพชีวิตของชาวเขาเผ่าลีซอและอาข่า (พิณอำไพ สิริปูชกะ, 2543: 160-182)
เสียงเพรียกจากท้องน้ำ
ของ ประทีป ชุมพล
"เสียงเพรียกจากท้องน้ำ" เป็นเรื่องเล่าของซายัค ชาวอูรังลาโว้ย ซายัคเล่าเรื่องของตนเองตั้งแต่เล็กจนโต
ประเด็นของเรื่องเน้นที่วิถีชีวิตของชาวอูรังลาโว้ย วัฒนธรรมประเพณี และปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น
โดยเฉพาะ "คนเมือง" ซึ่งหมายถึงคนไทยทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและคนที่มาจากส่วนกลาง
ชีวิตของซายัคในฐานะอูรังลาโว้ยถูกกดขี่ทั้งโดยรัฐและคนเมือง ท้ายที่สุดซายัคและชาวอูรังลาโว้ยตัดสินใจเดินทางออกสู่ทะเล
เพราะถูกยึดครองที่ดินที่เคยอาศัยอยู่ ไม่มีใครกลับมาจากการเดินทางครั้งนั้น
ผู้เขียนให้ค่ามรณกรรมของพวกเขาว่า สูงส่งมีศักดิ์ศรีเหนือกว่าการมีชีวิตอยู่โดยต้องเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ตามสภาพการณ์ที่บีบบังคับ
ผู้วิจัยสนใจวิเคราะห์นวนิยายเรื่อง "เสียงเพรียกจากท้องน้ำ" ของประทีป
ชุมพล โดยเน้นที่ประเด็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Politics of Identity / Identity
Politics) ซึ่งเป็นปฏิบัติการ (practice) ทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ต่างๆ
โดยสร้างพลังจากอัตลักษณ์ของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง (ฉลาดชาย รมิตานนท์, 2549)
ผู้วิจัยมุ่งวิเคราะห์ในแง่ที่ว่าประทีปเขียนนวนิยายเรื่องนี้เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชาวอูรังลาโว้ยให้แจ่มชัด
โดยอาจมุ่งชำระล้างภาพแทน (representation) ในการรับรู้ของผู้อ่านที่เห็นพวกเขาเป็นเพียง
"ชาวเล" ที่ต้อยต่ำป่าเถื่อน รวมทั้งพิจารณากระบวนการสร้างอัตลักษณ์ดังกล่าว
เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่องนี้เป็นการเมืองที่มีหลายมิติและสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของผู้เขียนเองอย่างเห็นได้ชัด
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. "อูรังลาโว้ย" คือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกทางภาคใต้ของประเทศไทย อาชีพหลักคือการจับสัตว์น้ำ มีชื่อที่ใช้เรียกทั่วไปว่า "ชาวเล" หรือ "ชาวน้ำ" (วิสิฏฐ์ มะยะเฉียว, 2532: 217) ในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยขอออกเสียง "อูรังลาโว้ย" ตามประทีป ชุมพล ซึ่งเป็นผู้เขียนนวนิยายเพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอในงานวิจัย ถึงแม้จะแตกต่างกับเสียงอ่านอื่นที่พบ เช่น อูรักลาโว้ย และ อูรังละโว้ย ก็ตาม
2. อัตลักษณ์ (identity) คือความสำนึกหรือความตระหนักว่าตัวเองเป็นใคร ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล (individual) และระดับรวมหมู่ (collective) อัตลักษณ์ขึ้นอยู่กับการนิยามตนเองและผู้อื่น เช่น การนิยามตนเองว่าเป็นคนไทยก็เท่ากับเป็นการนิยาม "ความไม่เป็นไทย" ชุดหนึ่งขึ้นมาด้วย ทั้งนี้อัตลักษณ์ถือเป็นสิ่งประกอบสร้าง (constructed) ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (innate) แต่เกิดจากการหล่อหลอมของสังคมและสถาบันต่างๆ อัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ลื่นไหลและมีพลวัต3. การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Politics of Identity / Identity Politics) คือปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ต่างๆ โดยสร้างพลังจากอัตลักษณ์ของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง เน้นปฏิบัติการสามด้านคือ
1) ยืนยันอัตลักษณ์ที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างพลังอำนาจในการต่อรอง
2) รื้อสร้าง(deconstruct) อัตลักษณ์ต่างๆ ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือสิ่งประกอบสร้างทางสังคม เพื่อปฏิเสธอัตลักษณ์ที่ถูกยัดเยียดให้
3) ให้ความสำคัญแก่ความแตกต่างหลากหลาย และความเลื่อนไหลของอัตลักษณ์
(Andermahr, L. & Wolkowitz, 1997 อ้างถึงใน ฉลาดชาย รมิตานนท์, 2549)
ประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่:
"รัฐ" และ "คนเมือง" กับการทำลายอัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ย
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ประการแรกที่สมควรกล่าวถึงโดยอ้างอิงจากตัวบทคือ ประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ที่รัฐและคนเมืองกระทำต่อชาวอูรังลาโว้ย
ประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้มีความสำคัญเพราะมีส่วนในการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มให้ชัดเจน
ดังที่ Keyes (1997: 153 อ้างถึงใน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2546: 7-8) กล่าวว่า
ที่มาของกำเนิดร่วมอันเป็นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ส่วนหนึ่งมาจากความทรงจำร่วมถึงประวัติศาสตร์การถูกกดขี่จากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น
ประสบการณ์การถูกกดขี่ร่วมกันดังที่ปรากฏใน "เสียงเพรียกจากท้องน้ำ"
หล่อหลอมให้เกิดความเคลื่อนไหวและพยายามสร้างอำนาจต่อรองในอาณาเขตของตัวบท
พ่อและแม่ของซายัคเดินทางจากเขาไปตั้งแต่ยังเล็ก ซายัคในฐานะผู้เล่าเรื่องที่เป็นตัวละครเอกมีประวัติศาสตร์ครอบครัวที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่โดยตรง พ่อและแม่ของซายัคถูกบังคับให้ "ออกแสดงงานวัดร่วมกับพวกซาไก ถ้าวันไหนเขาไม่ยอมแสดง พวกคนเมืองจะกระทำทารุณต่างๆ นานา ที่สุดเมียของอาเง็นก็ล้มป่วยเสียชีวิตลง. อาเง็นคลุ้มคลั่งและใช้ซำโป๊หลิ่งแทงคนคุมตาย ในที่สุดเขาจึงถูกตำรวจจับมาขังไว้ในกรง" (ประทีป ชุมพล, 2546: 24-25) การนำชาวอูรังลาโว้ยออกแสดงตามงานวัดเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทั้งยังสะท้อนว่า "คนเมือง" มองอูรังลาโว้ยด้วยสายตาที่เป็นอื่น เห็นเป็นของแปลกน่าพิศวง เช่นเดียวกับคนที่มีรูปร่างพิกลพิการลักษณะต่างๆ ที่แสดงอยู่ในคณะละครสัตว์ของชนชาติตะวันตก
ภาพลักษณ์ของอูรังลาโว้ยในสายตาของคนเมืองมีค่าเท่ากับสัตว์ "ใช่...ไอ้นี่มันบ้า...แกเข้าใจไหม มันไม่ใช่มนุษย์ มันคล้ายคนเท่านั้นเอง อย่างอื่นเหมือนสัตว์ สกปรก ป่าเถื่อน แถมโหดร้ายเหมือนหมาบ้า" (ประทีป ชุมพล, 2546: 25) การให้ค่าอูรังลาโว้ยเป็นแค่สัตว์นั้น เป็นการตอกย้ำวาทกรรม (discourse) ว่าคนเมืองมีความเหนือกว่า และมีความชอบธรรมที่จะจัดการกับอูรังลาโว้ยอย่างไรก็ได้โดยไม่มีความผิด เพราะกฎหมายมิได้รับรองสถานะความเป็นพลเมืองหรืออีกนัยหนึ่งคือความเป็นมนุษย์ให้แก่ชาวอูรังลาโว้ย
รูปการณ์ของการกดขี่ที่ครอบครัวซายัคประสบเกิดจากความคิดที่ว่า อูรังลาโว้ยนั้นเป็นคนป่าเถื่อนที่ด้อยกว่า ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอว่าชนในศูนย์กลางปฏิสัมพันธ์กับชนชายขอบบนพื้นฐานอุดมการณ์ที่ว่า อารยธรรมของศูนย์กลางมีความเหนือกว่าและดีกว่าวัฒนธรรมของพวกชนชายขอบ และถือเป็นหน้าที่ของรัฐและชนศูนย์กลางในการเข้าไปยกระดับวัฒนธรรมของพวกชนชายขอบให้สูงขึ้น โดยละทิ้งวัฒนธรรม ความเชื่ออันล้าหลังของตน และเปลี่ยนมายอมรับอารยธรรมแบบศูนย์กลาง (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2546: 9) อารยธรรมแบบศูนย์กลางเริ่มต้นจากการนิยามให้ชาวอูรังลาโว้ยกลายเป็น "ไทยใหม่"
รัฐดำเนินนโยบายการผนวกรวม (integration) กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รัฐในยุคสมัยภายในตัวบทต้องการสร้างสำนึกความเป็นไทยให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อง่ายแก่การปกครอง และเพื่อแสดงตนในฐานะชาติที่เจริญแล้ว กระบวนการสร้างความ "ศิวิไลซ์" ดังกล่าวมีการจัดจำแนกทางชาติพันธุ์ (ethnic categorization/classification) ซึ่งประกอบด้วยการแยกประเภทของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ออกจากกัน ด้วยการหาหรือสร้างอัตลักษณ์ร่วมเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม และการสร้างชื่อเรียกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่รัฐสร้างและจัดจำแนกขึ้น (ethnic categories) จึงเป็นอัตลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากภายนอก เป็นอัตลักษณ์ประดิษฐ์ ซึ่งต่างจากอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่สร้างจากภายใน (self-identification) ตรงที่เป็นอัตลักษณ์ที่ถูกแช่แข็ง เปลี่ยนแปลงยาก (stereotype) และถูกทำให้เป็นสถาบัน (institutionalization of ethnicity) เพื่อประโยชน์ในการจัดการและควบคุม (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2546: 10)
ในกรณีของอูรังลาโว้ย รัฐกำหนดให้มาขึ้นทะเบียน ตั้งนามสกุล ให้มีทะเบียนบ้านเป็นของตนเอง และมีฐานะเป็น "ไทยใหม่" ตามการจัดจำแนก การสร้างอัตลักษณ์ใหม่แล้วนำไปยัดเยียดให้แก่อูรังลาโว้ย เป็นการสั่นคลอนทำลายอัตลักษณ์ดั้งเดิม ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่รัฐกระทำเพื่อผนวกรวม แม้นโยบายดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จในเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติ นโยบายนี้ไม่สามารถลบล้าง "แรงต้าน" (resistance) ที่อยู่ในความสำนึกของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกผนวกรวมได้
ดังที่ประทีป เสนอแรงต้านนี้ผ่านเสียงของผู้เล่าเรื่อง
"ฉันสงสัยว่าท่านผู้นำจากบางกอกจะมายกย่องพวกเราให้เป็นคนเมืองด้วยเหตุอันใดอีก
อันที่จริงพวกเราก็เป็นคนอยู่แล้ว ในอดีตบรรพชนของพวกเราก็เป็นคน และในอนาคตลูกหลานของเราก็เป็นคนอยู่เหมือนเดิม...ก็เช่นเดียวกับคนเมือง"
(ประทีป ชุมพล, 2546: 49)
การผนวกรวมอูรังลาโว้ยในฐานะชนกลุ่มน้อยให้เข้าสู่กระแสหลัก (mainstream) เท่ากับเป็นการเนรเทศพวกเขาให้พ้นไปจากปริมณฑลของอัตลักษณ์ดั้งเดิม
ปรากฏการณ์นี้แม้มิได้เกิดจากการกระทำของรัฐทั้งหมด แต่ก็นับเนื่องว่าเกิดจากคนเมืองซึ่งรัฐให้อำนาจ
แต่ถึงแม้ปราศจากอำนาจรัฐ คนเมืองเหล่านี้ก็ถือสิทธิในการเนรเทศชาวอูรังลาโว้ย
เพราะรัฐไม่ได้เข้ามาควบคุม จัดการ หรือให้ความเป็นธรรมแก่ "ไทยใหม่"
ที่ได้นิยามขึ้น. กล่าวได้ว่าแม้ชาวอูรังลาโว้ยจะได้รับสิทธิพลเมือง แต่ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติให้เป็นพลเมืองชั้นสองอยู่เช่นเดิม
ที่กล่าวว่าการกระทำของรัฐและคนเมืองนั้นนับเป็นการเนรเทศ เราอาจถือตามคำจำกัดความของ Ashcroft, Griffiths, and Tiffin (2000: 93) ว่าการเนรเทศ (Exile) สร้างขึ้นโดยลัทธิล่าอาณานิคม เป็นแรงกดดันที่กระทำต่อคนที่อยู่ในอาณานิคมให้พวกเขาเนรเทศตนเองออกจากวัฒนธรรม ภาษาและขนบประเพณี การกดขี่ผ่านการเนรเทศที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้จึงมีความหมายสองประการ
ประการแรก เป็นการเนรเทศในเชิงพื้นที่ และ
อีกประการหนึ่ง เป็นการเนรเทศในเชิงวัฒนธรรม
การเนรเทศในเชิงพื้นที่
การเนรเทศในเชิงพื้นที่ เกิดจากการควบคุมของรัฐที่เบียดขับให้ชาวอูรังลาโว้ยต้องอยู่รวมในบริเวณเดียวกันคือ
ปลายแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต กอปรกับความโลภของเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของรัฐ
เช่น กำนันที่ลวงให้โต๊ะครูหมอในฐานะผู้นำชุมชนลงนามในเอกสารสิทธิ ทำให้ชาวอูรังลาโว้ยต้องถูกขับออกจากที่ที่เคยอาศัยอยู่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
ตามความคิดของอูรังลาโว้ย แผ่นดินนี้มิใช่ของใครแต่เพียงผู้เดียว แต่มี"กราไม"ผีผู้พิทักษ์ผืนดินเป็นผู้ดูแล ซึ่งถือว่าเป็นการรับรองสิทธิโดยชุมชนเอง (เลิศชาย ศิริชัย และคณะ, 2546: 282) ดังที่ปู่กล่าวแก่ซายัคว่า "จงจำไว้โต๊ะครูหมอไม่ใช่กราไม...และกราไมก็ไม่ใช่โต๊ะครูหมอ กราไมอยู่บนสรวงสวรรค์ แวดล้อมด้วยสิ่งดีๆ แต่โต๊ะครูหมออยู่ในแวดวงของคนเมืองที่เลว บอกตรงๆ ปู่กลัวเหลือเกิน" (ประทีป ชุมพล, 2546: 57)
ประทีปแสดงให้เห็นว่า การจัดการพื้นที่โดยอาศัยอำนาจของรัฐเป็นการถือครองโดยไม่ชอบธรรม เพราะเป็นการกระทำที่ขึ้นอยู่กับการจัดสรรผลประโยชน์ในหมู่คนเมืองเอง สอดคล้องกับที่เลิศชาย ศิริชัย และคณะ (2546: 66) กล่าวถึงปัญหานี้ไว้ว่า การทำลายสิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเองของชุมชน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน เกิดจากสิ่งที่รัฐเรียกว่า "การพัฒนา" สิทธิที่เคยเป็นของชุมชนถูกทำให้ไขว้เขว และถูกดึงไปเป็นสิทธิของรัฐและสิทธิของเอกชน ซึ่งปรากฏชัดแล้วว่าผู้ได้เปรียบในสังคมเท่านั้นที่จะมีสิทธิในส่วนนี้อย่างจริงจัง
การเนรเทศเชิงวัฒนธรรม
การเนรเทศเชิงวัฒนธรรม คือปฏิบัติการของรัฐที่เข้ามาคุกคามอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชาวอูรังลาโว้ยผ่านการจัดการศึกษาและศาสนา
เช่นเดียวกับการเข้าไปสู่อาณานิคมของชนชาติตะวันตก ที่ต้องนำศาสนาและระบบการศึกษาของเจ้าอาณานิคมเข้าไปด้วยเสมอ
(ดูเพิ่มเติมใน สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์, 2536: 123-128) เป็นไปได้ว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงคน
เพราะเป็นการเข้าไปบ่อนเซาะอัตลักษณ์ดั้งเดิมของคนในอาณานิคม ในระดับของระบบคิด.
ประทีปแสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาและศาสนานั้น ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีในการทำลายอัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ย
ชาวอูรังลาโว้ยยินดีไปโรงเรียนเพื่อที่จะได้รู้หนังสือ และไม่ถูกชาวเมืองกดขี่โดยง่ายเหมือนเมื่อก่อน ในโรงเรียนนี้เองที่ซายัคเริ่มรับรู้ถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากอัตลักษณ์ใหม่ที่ถูกปลูกฝังผ่านระบบการศึกษา กับอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่หล่อหลอมขึ้นมาตามขวบวัยของการเติบโต กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ชาวอูรังลาโว้ยมีชุดความรู้ที่เป็นของตนเองอยู่แล้ว เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาในกลุ่มชน เพื่อตอบสนองความต้องการในการดำรงชีพ, ชาวอูรังลาโว้ย "อ่านน้ำจำลม อ่านฟ้าจำดาว" บางคนรู้แม้กระทั่งเสียงชนิดใดคือเสียงของปลาอะไร กำลังอยู่ตรงไหนมาก โดยดำน้ำลงไปฟัง (เลิศชาย ศิริชัยและคณะ, 2546: 275) ซายัคเองที่ได้รับความรู้ในลักษณะนี้มาโดยตลอด จึงตั้งคำถามกับความรู้ชุดใหม่ที่เรียนในโรงเรียน
ฉันได้รับการเรียนรู้จากทะเล สายลม แสงแดด ปราหู้และคนรอบข้างจากปู่มาก่อน แต่เมื่อเข้าโรงเรียน ครูนำเอาสิ่งที่คิดว่าดีจากคนเมืองมาสอนพวกเรา และมักดูถูกพวกเราว่าเป็นคนทะเล คนเถื่อน คนไม่รู้หนังสือ และเป็นคนที่ยากจน ความจริงแล้ว ครูใช้เวลาล้างความเชื่อที่เราเคยมีเคยเรียนรู้มาว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และนำความคิดของคนเมืองมาใส่สมองของพวกเรา ซึ่งมีแต่เรื่องยกย่องพวกคนเมือง พวกเขาดี พวกเขาเก่งในทุกๆทาง (ประทีป ชุมพล, 2546: 64)
นอกจากการตั้งคำถามแล้ว ผู้เขียนยังกำหนดให้ผู้เล่าเรื่องกล่าวโจมตีโรงเรียนซึ่งเป็นสถาบันที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมอูรังลาโว้ย ผู้เล่าเรื่องกล่าวว่า "ปัญญาจากโรงเรียนใช่หรือไม่ที่สอนให้คนเมืองรู้จักการคดโกง ดูถูกเหยียดหยามผู้ที่ด้อยกว่าตน และเพราะ 'ปัญญา' ของคนเมืองนี่เอง ฉันคิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเราเดือดร้อนอย่างไม่สิ้นสุด" (ประทีป ชุมพล, 2546: 90) เสียงของผู้เล่าเรื่องตอนนี้ย้ำความเป็นสถาบันของโรงเรียน คนเมืองชั่วร้ายเพราะผ่านระบบการศึกษาของโรงเรียน ชาวอูรังลาโว้ยจึงมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะเหมือนคนเมืองเพราะได้รับการขัดเกลาแบบคนเมือง การธำรงรักษาอัตลักษณ์ให้บริสุทธิ์เหมือนก่อนจึงเป็นไปได้ยาก
มีชาวอูรังลาโว้ยบางคนได้รับประโยชน์โดยตรงจากความรู้ที่เรียนในโรงเรียน แต่ประทีปแสดงให้เห็นว่าแทนที่คนเหล่านั้น จะใช้ความรู้ในการต่อสู้เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ของตน กลับถูกผนวกรวมเข้าไปอยู่ในกระแสหลักและกลายเป็นคนของรัฐเสียเอง ดังกรณีของยูโซปเพื่อนของซายัคที่ตอนท้ายเรื่องได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ส่วนปูลูเพื่อนของซายัคอีกคนหนึ่งซึ่งพยายามตั้งตนเป็นผู้นำในการรวมพลังเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน กลับถูกฆาตกรรมอย่างมีเงื่อนงำ
ด้านการนำศาสนาพุทธเข้ามาเผยแผ่ในหมู่ชาวอูรังลาโว้ยนั้น ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการศึกษา "ครูเคยบอกกับเราว่าดี เหมือนกับคนเถื่อนจะได้มีศาสนา ครูบอกว่าพวกเราจะได้เลิกนับถือผี ครูบอกให้พวกเรามานับถือศาสนาของคนเมืองเพื่อชีวิตจะดีขึ้น" (ประทีป ชุมพล, 2546: 73) คำกล่าวของครูถูกตั้งคำถามผ่านตัวบท "พระท่านเทศนาสั่งสอนให้พวกเราทำความดี ละความชั่ว ซึ่งคำสอนก็ไม่ต่างกับของพวกเรา" (ประทีป ชุมพล, 2546: 78)
และอีกครั้งเมื่อซายัคมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาพุทธ "พระก็เหมือนๆ กัน เพราะนอกจากจะติดต่อกับผีได้แล้ว ยังสามารถบอกกับชาวเมืองได้ว่า ญาติพี่น้องที่ตายไปอยู่ที่ไหนบ้าง ในนรกหรือในสวรรค์ ... คิดถึงคำที่ครูเคยสอนไว้ว่าพวกที่นับถือผีเป็นคนเถื่อน ชาวเมืองก็ควรจะเป็นคนเถื่อนเช่นอูรังลาโว้ย" (ประทีป ชุมพล, 2546: 78) เสียงของผู้เล่าเรื่องนับเป็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ตั้งคำถาม และพยายามโต้กลับอัตลักษณ์ประดิษฐ์ที่รัฐพยายามสร้างขึ้นเพื่อกลบลบอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชาวอูรังลาโว้ย
อย่างไรก็ตาม การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่องนี้ยังคงโจมตีศาสนา ที่คนเมืองนำเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีความคิดของอูรังลาโว้ย ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าสถาบันศาสนาเองก็รับใช้คนเมือง หาได้บริสุทธิ์ซื่อตรงดังที่พยายามชวนเชื่อไม่ โดยเฉพาะกรณีที่สมภารพยายามปกป้องเถ้าแก่เส็งผู้เป็น "ศัตรูตัวฉกาจ" ของชาวอูรังลาโว้ย "น่าสังเกตว่าไม่มีใครกล่าวโทษเถ้าแก่เส็งว่าเป็นตัวการในการทำให้ปูลูตาย ฝ่ายเถ้าแก่เส็งก็เก็บตัวเงียบ เขาฉลาดที่ทำบุญผ่านสำนักสงฆ์ สมภารจึงมักออกมาปกป้องและนำของมาแจกในหมู่บ้าน โดยบอกว่าเถ้าแก่เส็งเป็นผู้บริจาค" (ประทีป ชุมพล, 2546: 121) ยิ่งไปกว่านั้น ตอนท้ายเรื่อง สมภารละสมณเพศกลายเป็นผู้ค้าที่ดินรายใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีคุณธรรมแท้จริง
นอกจากการศึกษาและศาสนาในฐานะสถาบันแล้ว ยังมีการสร้างสถาบันนันทนาการขึ้นใหม่ในชุมชนชาวอูรังลาโว้ย ซึ่งสมควรนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายอัตลักษณ์ดั้งเดิม "รำวงเป็นที่นิยมของคนในหมู่บ้าน หนุ่มสาวหลงระเริงกับของใหม่ ที่สร้างอารมณ์ให้ผู้ชายหวั่นไหวในกามารมณ์ อีกทั้งสิ้นเปลืองมาก เพราะต้องซื้อตั๋วราคาแพงในแต่ละรอบ พวกเราออกทะเลไปหาปลาแทนที่ได้เบี้ยมา จะได้นำมาใช้จ่ายหรือไม่ก็เก็บออมเบี้ยเอาไว้ กลับซื้อตั๋วรำวงเสียหมด" (ประทีป ชุมพล, 2546: 58) ผู้เล่าเรื่องมองสถานการณ์ดังกล่าวด้วยสายตาที่หวาดหวั่น
การปะทะกันระหว่างกลไกที่รัฐและคนเมืองนำมาเพื่อทำลายอัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ย กับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ผู้เขียนดำเนินการผ่านนวนิยาย ผลสรุปสุดท้ายปรากฏในคำพูดของปู่ที่กล่าวยืนยันว่า อูรังลาโว้ยจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง "ซายัคหลานรัก ปู่ลืมบอกเรื่องที่มูญัง (บรรพบุรุษ) เคยสอนว่า พวกที่เข้ามาให้เราเป็นอะไรเราก็เป็นได้ แต่ท้ายที่สุดพวกเราก็ยังเป็นชาวอูรังลาโว้ยและนับถือผีอยู่เหมือนเดิม ตราบใดที่พวกเรายังล่องปราหู้ (เรือ) และยังล่าปลาในทะเล จงจำไว้" (ประทีป ชุมพล, 2546: 74)
นวนิยายเชิงชาติพันธุ์วรรณนา:
"ภาพแทน" กับการกอบกู้อัตลักษณ์ในอาณาเขตของตัวบท
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (2546: 113) กล่าวว่า "การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เป็นเรื่องของการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์
เน้นกระบวนการผลิตความหมายและการสร้างอัตลักษณ์ใหม่" อัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ยที่อยู่ในวาทกรรมกระแสหลักถูกสร้างโดยรัฐและคนเมืองซึ่งถือว่าเป็น
"คนนอก" อัตลักษณ์ดังกล่าวจึงตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นอื่น (otherness)
เพราะฉะนั้น การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ปรากฏใน "เสียงเพรียกจากท้องน้ำ"
จึงถูกเขียนขึ้นใหม่ผ่านภาพแทน เรื่องเล่าและการบรรยายแบบชาติพันธุ์วรรณนา โดยผู้เขียนกำหนดให้เรื่องถูกเสนอผ่านสายตาของ
"คนใน" เพื่อล้มล้างอัตลักษณ์ที่สร้างขึ้นตามวาทกรรมที่กล่าวถึงข้างต้น
ชาติพันธุ์วรรณนาเป็นสาขาหนึ่งของการวิจัยทางมานุษยวิทยา ศึกษาด้วยการสังเกตโดยตรงและรายงานวิถีชีวิตของกลุ่มชน วิธีการนี้เป็นวิธีวิทยาพื้นฐานที่ใช้ในหมู่นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมประกอบด้วย 2 ระดับขั้น. ขั้นแรกคือ "ภาคสนาม" เป็นคำที่ใช้กับกระบวนการสังเกตและบันทึกข้อมูล ขั้นต่อมาเป็นการรายงานผ่านสื่อ เขียนพรรณนาเป็นลายลักษณ์อักษรและวิเคราะห์ประเด็นที่ศึกษา (Ashcroft, Griffiths, and Tiffin, 2000: 85) ซึ่งปรากฏเนื้อหาที่ผู้เขียนบรรยายวิถีชีวิตของอูรังลาโว้ยผ่านเสียงของผู้เล่าเรื่อง ตั้งแต่ลักษณะการแต่งกาย รายละเอียดเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของชาติพันธุ์วรรณนาอย่างเห็นได้ชัด
เริ่มตั้งแต่หน้าแรกของบทแรกในนวนิยาย "พวกเรามักใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในท้องน้ำเพื่อล่าปลาและหลับบนชายหาด การแต่งตัวของพวกเราส่วนใหญ่เปลือยกายท่อนบน ส่วนท่อนล่างชายหญิงมักนุ่งผ้าปาเต๊ะที่แลกซื้อมาจากคนเมือง" (ประทีป ชุมพล, 2546: 15) ประเพณีพิธีกรรมที่ปรากฏในเรื่อง ประทีปบรรยายอย่างละเอียดลอออาจเพื่อเน้นว่าอูรังลาโว้ยมีอารยธรรมที่เป็นของตนเอง มิได้ป่าเถื่อนดังที่ปรากฏในชุดความรู้ของคนเมือง เช่น ประเพณีการเกิดที่กล่าวถึงพิธีกรรมของหมอตำแย
"โต๊ะบิดัดก็นำข้าวสาร หมากพลู เทียนไข ด้ายดิบมาวางตรงหน้า จากนั้นก็ได้จุดเทียนแล้วเชิญมูญังผีบรรพชนมารับเครื่องบูชาและคุ้มครองมะกับลูก" (ประทีป ชุมพล, 2546: 134) พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายซึ่งสะท้อนความเชื่อเรื่องผี (ดูเพิ่มเติมใน เลิศชาย ศิริชัยและคณะ, 2546: 289) และความผูกพันของชาวอูรังลาโว้ยที่มีต่อธรรมชาติดังที่ต้องปลูกต้นมะพร้าวไว้บนหลุมศพ
พิธีกรรมสำคัญที่ผู้เขียนบรรยายอย่างละเอียดเช่นกันคือพิธีลอยบาปของชาวอูรังลาโว้ย เป็นพิธีที่สะท้อนความเชื่อเรื่องผีเช่นกัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือบทบาทของพิธีกรรมนี้ในฐานะเป็นศูนย์กลางของชุมชนทำให้ชาวอูรังลาโว้ยมีโอกาสมาร่วมกันจัดเตรียมและดำเนินงานพิธี นับเป็นส่วนช่วยให้อัตลักษณ์ของชุมชนและชาติพันธุ์เกิดความเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น
เมื่อปราหู้ประจั๊กเสร็จสิ้นสมบูรณ์สวยงาม ขบวนรำโทนรำมะนาเข้ามาร้องรำรอบๆปราหู้ โดยดาโต๊ะจะเข้ามาในวงล้อมและจุดกำยานนำมาไว้ที่ส่วนท้าย พร้อมจุดเทียนและนำหมากพลูมาบูชาบรรพชน นำข้าวตอกมาซัดรอบๆปราหู้ ในระหว่างนั้นขบวนแห่แหนโดยรอบตลอด ... เมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงสุด จนน้ำทะเลเริ่มทรง ดาโต๊ะจะทำพิธีสาดน้ำรอบปราหู้ประจั๊ก และทุกคนจะผลัดกันสาดน้ำ รอจนน้ำทะเลเริ่มลด ดาโต๊ะทำพิธีลอยปราหู้ประจั๊ก และท้ายสุดชาวบ้านต่างนำข้าวตอกที่จัดเตรียมไว้รูดไปตามร่างกายแล้วซัดลงในปราหู้ประจั๊กเป็นการฝากความชั่วร้ายไปกับปราหู้ประจั๊กลำนั้น (ประทีป ชุมพล, 2546: 100)
นอกจากนวนิยายเรื่องนี้ยังมีชาติพันธุ์วรรณนาอีกหลายชิ้นที่กล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวอูรังลาโว้ย ที่น่าสนใจคือชาติพันธุ์วรรณนาที่ตีพิมพ์ในนามกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการ วิธีการอธิบายของชาติพันธุ์วรรณนาฉบับทางการต่างกับงานของประทีปอย่างเห็นได้ชัด เพราะเจตจำนงที่ผู้เขียนแสดงเอาไว้ในตอนเริ่มต้นแสดงให้เห็นว่า แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด หรือนโยบายการผนวกรวมจะได้รับการส่งเสริมมากขึ้นเพียงใด อูรังลาโว้ยก็ยังคงเป็นอื่นในสายตาของรัฐและคนเมือง ดังความว่า
ความเข้าใจอันดีที่จะมีต่อชาวเลภูเก็ตในครั้งนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบแผนการดำเนินชีวิตของพวกชาวเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้อย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ตทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาแห่งหนึ่งของประเทศไทย การดำเนินงานอันเป็นการส่งเสริมเพื่ออนุรักษ์ชาวเลตามแนวทางที่ถูกที่ควร น่าจะเป็นแรงจูงใจทางด้านการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย (วิสิฏฐ์ มะยะเฉียว, 2532: 219)
จากข้อความที่คัดมาจะสังเกตเห็นว่า ชาติพันธุ์วรรณนาชิ้นนี้เขียนขึ้นมาเพื่อรับใช้อำนาจของรัฐ เป็นความรู้ที่รัฐจะนำไปเกื้อหนุนกระบวนการ "อนุรักษ์" นั่นหมายความว่าชาวอูรังลาโว้ยถูกลดสภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นเพียงวัตถุที่ถูกนักท่องเที่ยวจ้องมอง (Tourist gaze) (ดู Urry, 2002 cited in Featherstone, 2005: 215; Smith, 2003) ทางราชการและธุรกิจการท่องเที่ยวพยายามทำให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติเข้าใจว่า ชาวเลคือกลุ่มคนดั้งเดิมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในถิ่นของความเจริญ (เช่นเดียวกับชาวเขาในทางภาคเหนือ) (เลิศชาย ศิริชัยและคณะ,2546: 304) วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขากลายเป็นสินค้าที่จะนำรายได้เข้าสู่รัฐ การกระทำดังกล่าวนี้ แทนที่จะเป็นการผนวกรวมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเข้าสู่กระแสหลักกลับเป็นการ "ดึงให้พวกเขาถูกแปลกแยก ถูกดึงให้เป็นคนชายขอบ" (อานันท์ กาญจนพันธุ์, 2549: 5)
นอกจากนั้นชาติพันธุ์วรรณนาชิ้นนี้ยังมีวิธีอธิบายว่า การที่อัตลักษณ์ดั้งเดิมของชาวเลต้องเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเรื่องปกติของสังคมที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง "การรับเอาวัฒนธรรมทางด้านวัตถุ... เป็นการรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานของวิวัฒนาการทางสังคม" (วิสิฏฐ์ มะยะเฉียว, 2532: 250)
คำอธิบายชุดนี้เป็นสิ่งที่นวนิยายต่อต้าน
ดังที่แสดงให้เห็นมาโดยตลอดว่าอัตลักษณ์ที่แท้จริงของอูรังลาโว้ย เกิดจากการยึดมั่นในวิถีชีวิตดุจเดียวกับบรรพชน
สิ่งนี้เองคือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่เสนอผ่านชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อย้ำว่า
แม้แต่มโนทัศน์เกี่ยวกับความรู้เองก็เจือปนด้วยค่านิยม เพราะว่าสิ่งที่ "เป็นที่รู้กัน"
ขึ้นอยู่กับว่า "รู้ได้อย่างไร" นั่นหมายความว่า ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม
"ถูกสร้าง" มากกว่า "ถูกค้นพบ" โดยชาติพันธุ์วรรณนา (Ashcroft,
Griffiths, and Tiffin, 2000: 86)
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ปรากฏในอาณาเขตของตัวบทเสนอผ่านภาพแทนด้วยเช่นกัน
รายละเอียดของชาติพันธุ์วรรณนาข้างต้น มีส่วนในการสร้างภาพแทนเท่ากับว่าภาพแทนในนวนิยายเรื่องนี้สร้างผ่านภาษา
ในมุมมองของวัฒนธรรมศึกษา ภาษามิได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์สื่อสารสิ่งที่อยู่ภายในใจออกมา
ทว่าภาษายังมีบทบาทในการสร้างและจัดการกับความจริงอีกด้วย (สุรเดช โชติอุดมพันธ์,2548:
2) ความจริงในระดับของตัวบทจึงถูกกำกับด้วยภาพแทนอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ภาพแทนของคนเมืองปรากฏผ่านการเล่าของผู้เล่าเรื่องที่เป็นอูรังลาโว้ย ซึ่งส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัย เพื่อตอกย้ำความเป็นอื่นระหว่างกัน "ฉันไม่เคยเข้าใจความคิดของคนเมืองเลย เพราะมีความซับซ้อนเสียเหลือเกิน ... คนเมืองนี้ไม่น่าจะมีอะไรที่เขานับถือบูชา เขานับถือแต่ตัวเอง ยึดมั่นในตัวเอง และมั่นใจว่าตนเองทำอะไรถูกทุกอย่าง แม้แต่การทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ช่างแตกต่างจากพวกเรา ชาวอูรังลาโว้ยเสียจริงๆ" (ประทีป ชุมพล, 2546: 36)
ประทีปสร้างภาพแทนด้านบวกของของอูรังลาโว้ยตรงข้ามกับภาพแทนด้านลบของคนเมืองที่ไล่เรียงมา เช่นเดียวกับที่ผู้เล่าเรื่องย้ำอีกครั้งถึงสาเหตุที่อูรังลาโว้ยไม่ลุกขึ้นสู้คนเมือง "กราไมหมดอำนาจเสียแล้วหรือ บางทีกราไมอาจจะดีเกินไปที่จะมาทำร้ายหรือลงโทษคนเมือง เช่นเดียวกับพวกเราที่ดีเกินไป ไม่เคยคิดต่อสู้กับคนเมืองเลย" (ประทีป ชุมพล, 2546: 37) ยิ่งไปกว่านั้นความ "ดีเกินไป" ของอูรังลาโว้ยยังถูกเสนอผ่านบทสนทนาของตัวละคร เพื่อใส่ความหมายให้แก่ภาพแทนว่า ชาวอูรังลาโว้ยเป็นผู้รักสงบ มีจิตใจเข้มแข็ง และหยั่งรู้ความคิดของคนเมืองอยู่บ้าง
- "ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เพราะนั่นมิใช่นิสัยของพวกเรา"
- "พวกเราอ่อนโยน ทำให้คนเมืองมองพวกเราอ่อนแอ คราวนี้พวกเราจะใช้ความเข้มแข็ง แต่มิใช่เป็นความรุนแรง"
- "กลัวว่าคนเมืองจะมองพวกเราเป็นคนเถื่อน จึงพยายามทำอย่างประนีประนอม"
(ประทีป ชุมพล, 2546: 117)
นอกจากสร้างภาพแทนด้านบวกให้แก่อูรังลาโว้ย โดยขนานกันไปกับภาพแทนด้านลบของคนเมืองแล้ว ประทีปยังใช้ภาพลักษณ์ของ "ผี" และ "สัตว์" มาประกอบภาพแทนของคนเมือง เพื่อเน้นความชั่วร้ายที่มีมากจน "ผิดมนุษย์" ทั้งยังเป็นการโต้กลับวาทกรรมของรัฐและคนเมืองที่เป็นฝ่ายคิดว่า อูรังลาโว้ยนั้นเป็นฝ่ายที่ "ผิดมนุษย์"อีกด้วย"
ภาพท้ายสุดเป็นภาพหะตู (ผีร้าย) ที่ชาวอูรังลาโว้ยเกลียดกลัวมาก เพราะมันไม่เคยกลัวอะไรเลย มันมีแต่ความโลภ ความอยาก และความเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด และภาพที่ฉันเห็นก็คือคนเมืองนั่นเอง" (ประทีป ชุมพล, 2546: 40)
ตอนที่ปูลู เพื่อนของซายัคกล่าวปลุกระดมชาวบ้านก็ใช้ภาพลักษณ์ผีเช่นกัน "พี่น้องเชื่อไหม ถ้าปูลูจะกล่าวว่ามันคือหะตูผีร้ายที่พวกเรามองเห็นตัว ความจริงแล้วมันวางแผนโกงแผ่นดินของเราไป ของทะเลที่มันซื้อจากเราราคาแสนถูก แต่ข้าวของที่มันนำมาขายกลับแพงลิ่ว อย่างนี้คิดว่ามันเอื้ออาทรต่อพวกเราหรือ..." (ประทีป ชุมพล, 2546: 114). อีกตัวอย่างหนึ่งคือ "ปู่เคยกล่าวว่าบักซา (สัตว์) นั้นจะดุร้ายเมื่อมันหิวหรือเวลาติดสัด แต่ฉันว่าคนเมืองนั้นดุร้ายตลอดเวลา และมีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด" (ประทีป ชุมพล, 2546: 49)
ใน "เสียงเพรียกจากท้องน้ำ" ภาพแทนช่วยสนับสนุนการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ โดยประทีปหยิบเลือกคุณสมบัติที่ตรงข้ามกันระหว่าง "อูรังลาโว้ย" กับ "คนเมือง" ขึ้นมาสร้างเป็นเนื้อหา การกำหนดให้ซายัคเป็นผู้เล่าเรื่อง น่าจะสื่อนัยว่า เรื่องทั้งหมดมาจากปากคำของอูรังลาโว้ยเอง แต่อันที่จริงการจัดวางและหยิบเลือกคุณสมบัติทั้งหมด ถูกควบคุมโดยอำนาจเต็มของผู้เขียน ในการวิเคราะห์ภาพแทนที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะคือ ภาพแทนตามวาทกรรมของรัฐและคนเมือง และภาพแทนตามตรรกะของตัวบท สรุปให้เห็นชัดเจนได้ดังนี้
ภาพแทนตามวาทกรรมของรัฐและคนเมือง
อูรังลาโว้ย : ป่าเถื่อน, นับถือผี, โหดร้าย, โง่เขลา, ไร้ศักดิ์ศรี
คนเมือง: มีอารยธรรม, นับถือพุทธ, มีคุณธรรม, มีปัญญา, มีศักดิ?ศรี
ภาพแทนตามตรรกะของตัวบท
อูรังลาโว้ย : มีอารยธรรม, นับถือผี, มีคุณธรรม, มีปัญญา, มีศักดิ์ศรี
คนเมือง : มีอารยธรรม, นับถือผี, โหดร้าย, มีปัญญา, ไร้ศักดิ์ศรี
การเทียบเคียงในลักษณะคู่ตรงข้าม (binary opposition) ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าภาพแทนตามตรรกะของตัวบท พยายามแข็งขืนต่อรองกับภาพแทนตามวาทกรรมของรัฐและคนเมืองซึ่งครอบคลุมสังคมอยู่ ทั้งในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าคนเมืองไม่ต่างกับอูรังลาโว้ย เช่น คนเมืองนับถือผีเช่นเดียวกับอูรังลาโว้ย และอูรังลาโว้ยมีอารยธรรมเป็นของตนเองเช่นเดียวกับคนเมือง ดังที่ปรากฏในเนื้อหาที่เป็นชาติพันธุ์วรรณนา
รวมไปถึงการพลิกกลับของภาพแทน เช่น คนเมืองเห็นว่าอูรังลาโว้ยโหดร้ายแต่ตนมีคุณธรรม ผู้เขียนหยิบคู่ความหมายนี้มาพลิกกลับในตัวบทโดยชี้ว่า คนเมืองนั้นโหดร้าย, แต่อูรังลาโว้ยเป็นฝ่ายที่มีคุณธรรม. สรุปได้ว่าอัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ยที่ปรากฏผ่านตรรกะของตัวบทคือ "ผู้ถูกกดขี่ที่มีศักดิ์ศรี" ดังที่ซายัคและอูรังลาโว้ยอีกกลุ่มหนึ่งยอมออกทะเลไปท่ามกลางพายุแล้วไม่กลับมาอีกเพื่อประท้วงต่อความอยุติธรรมที่ได้รับ ส่วนคนเมืองจึงเป็น "ผู้กดขี่ที่โลภและชั่วร้าย" ตามคุณสมบัติที่ผู้เขียนคัดสรร
เพื่อรับใช้การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ภาพแทนในนวนิยายเรื่องนี้จึงมีความซับซ้อนที่แฝงนัยความหมายที่ควรศึกษาตีความ นัยดังกล่าวแสดงให้เห็น "อำนาจ" หรืออีกนัยหนึ่งคือบทบาทของผู้เขียนที่สามารถคัดสรรกลั่นกรองตลอดจนสร้าง "ความจริง" ชุดหนึ่งให้เกิดขึ้นในอาณาเขตของตัวบทได้. ดังที่ Pickering (2001: xiii) แสดงความเห็นไว้ว่า"ภาพแทน" หมายรวมถึงกระบวนการ "พูดแทน" (speaking for) และ "พูดถึง" (speaking of) ผู้ที่ถูกเสนอ (represented) การเมืองของภาพแทน จึงครอบคลุมไปถึงอำนาจที่จะพูดแทนและพูดถึง
ประทีปได้สร้างแก่นสาร (essence) ให้แก่อัตลักษณ์ทั้งของอูรังลาโว้ยและคนเมืองโดยอาศัยคุณสมบัติต่างๆ ดังที่ได้แสดงให้เห็น ความคิดแบบคู่ตรงข้ามที่ประทีปนำมาพลิกกลับเพื่อต่อรองกับ อัตลักษณ์อูรังลาโว้ยตามวาทกรรมของรัฐและคนเมืองนั้น อาจเป็นการเจริญรอยตามวาทกรรมชุดเดิม เช่น การนับถือผีแสดงถึงความป่าเถื่อน ซึ่งอาจตีความได้ว่าประทีปยังคงติดอยู่กับความคิดแบบแบ่งขั้ว หรืออีกนัยหนึ่งคือเลือกที่จะคิดแบบแบ่งขั้ว ไม่ได้ตระหนักถึงความลื่นไหลและพลวัตของอัตลักษณ์ ถึงแม้ประทีปจะใช้เสียงของซายัคในฐานะ "คนใน" ให้เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมด
แต่อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ยที่เขาเขียนขึ้นเป็นอัตลักษณ์ประดิษฐ์ที่ไม่มีพลวัต ตอกย้ำว่าประทีปยังคงเป็น "คนนอก" ที่สร้างอัตลักษณ์อูรังลาโว้ยจากภายนอกมิใช่จากภายใน สังเกตได้จากอัตลักษณ์ทั้งของคนเมืองและอูรังลาโว้ย ซึ่งมีลักษณะรวมหมู่มากกว่าที่จะถูกประเมินค่าในฐานะปัจเจก ลักษณะดังกล่าวนี้ชวนให้ถกเถียงต่อไปว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์นั้นมีวิธีการนี้เท่านั้นหรือไม่ หรือว่าการบิดผันวาทกรรมชุดเดิมของรัฐและคนเมืองเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพที่สุด คล้ายกับการให้ "ดาบนั้นคืนสนอง" แก่ผู้สร้างวาทกรรม
ดังที่ได้กล่าวแล้ว ประทีปเลือกใช้ชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่อูรังลาโว้ย และเพื่อต่อรองกับชุดความรู้เกี่ยวกับอูรังลาโว้ยของรัฐ เช่นเดียวกับการหยิบเลือกคุณสมบัติของทั้งอูรังลาโว้ยและคนเมืองมาสร้างภาพแทนเฉพาะให้แก่ตัวบท ประเด็นที่น่าสนใจคืออัตลักษณ์อูรังลาโว้ยที่ประทีปเขียนขึ้นใหม่นั้น อ้างอิงอยู่กับประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ที่อภิปรายเป็นลำดับแรก การสร้างความหมายและการอ้างอิงดังกล่าวมีนัยสำคัญที่สัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของผู้เขียนดังที่จะได้ขยายความต่อไป
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์:
อัตลักษณ์อูรังลาโว้ยกับอัตลักษณ์ของผู้เขียน
การศึกษาการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ มิสมควรมุ่งเน้นที่รูปแบบของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์เท่านั้น
จากที่ผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นบทบาทของชาติพันธุ์วรรณนา และภาพแทนที่มีส่วนในการเรียกร้องต่อรองให้แก่อูรังลาโว้ย
ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดแบบคู่ตรงข้าม กล่าวคือ ตัวบทสร้างความเป็นอื่นให้แก่รัฐและคนเมืองเพื่อตอบโต้วาทกรรมที่ครอบคลุมสังคมอยู่
สิ่งที่สมควรอภิปรายต่อไปคือ คำถามที่ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549: 329) กล่าวว่า
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ต้องการคำตอบคืออัตลักษณ์ของใคร อัตลักษณ์ชนิดใดที่ได้รับการชูและตอกย้ำ
ทำไมจึงเป็นอัตลักษณ์ชุดนี้ และอัตลักษณ์ชุดนี้มีวิธีการ กระบวนการในการสร้างความเป็นเจ้าอย่างไร
ใครได้ประโยชน์จากอัตลักษณ์ชุดนี้ และเหตุใดจึงมีผู้ยอมสละแม้แต่ชีวิตเพื่อธำรงรักษาอัตลักษณ์นี้ไว้
เพื่อตอบคำถามชุดที่ไชยรัตน์ตั้งไว้ ในหัวข้อนี้ผู้วิจัยจึงวิเคราะห์ "เสียงเพรียกจากท้องน้ำ" ในฐานะอุปมานิทัศน์ (allegory) คือเรื่องที่มีความหมายสองชั้น (ยุวพาส์ (ประทีปเสน) ชัยศิลป์วัฒนา, 2544: 57) ผู้วิจัยพบว่า ความหมายอีกชั้นหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือ ประทีปเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเสนอ อัตลักษณ์ของตนเองในฐานะผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การกดขี่ที่รัฐและคนเมืองกระทำต่ออูรังลาโว้ย จึงไม่ต่างกับสิ่งที่รัฐกระทำต่อนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าว การเลือกใช้โครงเรื่องที่เน้นให้เห็นการกดขี่ในแง่หนึ่งจึงเป็นการระบายออกของผู้เขียนผ่านตัวบทวรรณกรรม ทั้งยังเป็นการสะท้อนอุดมการณ์ลัทธิมาร์กซ์ของผู้เขียนที่ได้รับตกทอดมาจากการประสบเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
หากกล่าวโดยเชื่อมโยงกับภาพแทนที่อภิปรายในหัวข้อที่ผ่านมา จะพบว่าอัตลักษณ์ของผู้เขียนหรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำเสนอภาพแทนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจเรื่องการยอมรับและการต่อรองกับวาทกรรม เพราะคนในสังคมปัจจุบันเริ่มตระหนักถึงกรอบความคิดหรือชุดวาทกรรมที่มีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของตนมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะยึดถืออัตลักษณ์บางอย่างเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชีวิต (สุรเดช โชติอุดมพันธ์,2548: 3) ในกรณีของประทีปผู้เคยผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาคม อาจเลือกใช้อัตลักษณ์ดังกล่าวเป็นฐานคิดในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้
ในประวัติวรรณกรรมไทย ประทีป ชุมพลเป็นนักเขียนที่มีชื่อปรากฏในยุค "ฉันจึงมาหาความหมาย" (พ.ศ. 2506-2515) เขาอยู่ในกลุ่มของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ร่วมกันจัดทำนิตยสาร "ช่อฟ้า" ซึ่งเน้นหนักด้านวรรณกรรมและโบราณคดี ซึ่งนำไปสู่การเกิดของกลุ่ม "หนุ่มเหน้าสาวสวย" ใน พ.ศ. 2512 (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, 2542: 19) ผู้วิจัยเชื่อว่าประทีปคงมีโอกาสได้เคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับเพื่อนนักเขียนของเขาในโอกาสต่อมาอีกหลายครั้ง
ในฐานะผู้ที่ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาคม ประทีปอาจได้รับอิทธิพลจากแนวนิยมของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งมุ่งเน้นการเชิดชูชนชั้นล่าง เป็นต้นว่า ชนชั้นกรรมาชน, ผู้ใช้แรงงาน, หรือชาวนา คนเหล่านี้เป็นฐานของการผลิตในสังคมทุนนิยม ที่สร้างระบบชนชั้นผ่านอำนาจทางเศรษฐกิจ. นักเขียนผู้ยึดถืออุดมการณ์ลัทธิมาร์กซ์ส่วนมากโจมตีการกดขี่ในระบบชนชั้น นวนิยายเรื่องนี้จึงอาจจัดให้เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่เขียนโดยนักเขียนผู้ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ทั้งนี้กลุ่มคนที่ถูกกดขี่เปลี่ยนจากชนชั้นกรรมาชีพมาเป็นชาวอูรังลาโว้ย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกรัฐเบียดขับอย่างที่แทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ
หลักฐานอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้วิจัยสันนิษฐานว่าเรื่อง "เสียงเพรียกจากท้องน้ำ" สัมพันธ์กับ "เหตุการณ์เดือนตุลาฯ" คือคำนำที่ผู้เขียนกล่าวถึงที่มาของนวนิยายเรื่องนี้ว่า "ผู้เขียนได้เดินทางไปที่หมู่บ้านปลายแหลมตุ๊กแกอีก ในระหว่าง พ.ศ. 2515-2519 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเดินทางเข้าสู่ตำนานของชาวอูรังลาโว้ยอย่างแท้จริง" (ประทีป ชุมพล, 2546: 9) การเดินทางไปเก็บข้อมูลเพื่อเรียบเรียงชาติพันธุ์วรรณนาของผู้เขียนอยู่ในบริบทที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เมื่อใช้กรอบความคิดที่ว่านักเขียนย่อมได้รับอิทธิพลจากสังคมมาพิจารณานวนิยายเรื่องนี้ ผู้วิจัยพบว่าโครงเรื่องของนวนิยาย น่าจะเสนอความหมายอีกชั้นหนึ่งที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น
นอกเหนือจากบริบทสังคม ยังอาจพิจารณาอัตลักษณ์ของผู้เขียนในฐานะผู้ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯได้จากตัวบท เนื้อหาในสองบทสุดท้ายเปลี่ยนผู้เล่าเรื่องจากซายัคมาเป็น "ข้าพเจ้า" ซึ่งอยู่ในฐานะผู้บันทึกชาติพันธุ์วรรณนา (ethnographer) เรื่องเล่านี้จึงเกิดมีหลายชั้น กล่าวคือผู้เขียนกำหนดให้ "ข้าพเจ้า" เล่าเรื่องของซายัคผู้เล่าเรื่องของตนเอง "ข้าพเจ้า"แสดงตนในฐานะนักศึกษา ผู้มีส่วนในกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างเหตุการณ์เดือนตุลาฯ "เป็นที่น่าเสียใจว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถนำเรื่องการต่อสู้ของซายัคและชาวเลที่เกาะสิเหร่เข้าองค์กรได้ เพราะว่าเป็นช่วงเดียวกับที่นิสิตนักศึกษากำลังถูกเข่นฆ่า ถูกกวาดต้อนจากรัฐบาลสมัยนั้น ดังนั้นการช่วยเหลือชาวอูรังลาโว้ย ชนกลุ่มน้อยที่ไร้ที่พึ่งพิงจึงสิ้นสุดลง" (ประทีป ชุมพล, 2546: 145) การสรุปเช่นนี้ของผู้เล่าเรื่องก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทั้งอูรังลาโว้ยและนักศึกษาต่างก็มีศัตรูคนเดียวกันนั่นคือ "รัฐ" ความหมายที่ซ่อนอยู่ในส่วนนี้คือ จุดที่หลอมสร้างโครงเรื่องและอุปนิสัยของตัวละครขึ้นมาด้วย
โครงเรื่องที่ผู้วิจัยกล่าวถึงคือ ประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ซึ่งถูกเน้นตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง และรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็น "ความเป็นธรรมทางวรรณศิลป์ " (Poetic justice) อันเป็นแนวคิดที่ปรากฏในวรรณกรรมว่า คนเลวควรถูกลงโทษอย่างสาสมและคนดีควรได้รางวัลตามสมควร (ราชบัณฑิตยสถาน, 2545: 331) มีปรากฏตามทัศนคติของผู้เขียน เช่น โต๊ะครูหมอผู้เป็นสาเหตุให้ชุมชนอูรังลาโว้ยสูญเสียสิทธิในการถือครองที่ดิน ถูกยิดลาโว้ยหรือผีพิทักษ์ท้องน้ำลงโทษ "เสียงคลื่นกระหน่ำหนัก เหมือนเสียงคำรามอย่างน่ากลัวของยิดลาโว้ย ผีผู้พิทักษ์แห่งท้องทะเล ได้รับตัวของโต๊ะครูหมอหายไปในท้องน้ำอันกว้างใหญ่" (ประทีป ชุมพล, 2546: 87) รวมทั้งเถ้าแก่เส็งที่ถูกยิงเสียชีวิตในท้ายที่สุด เนื่องจากมีเรื่องขัดผลประโยชน์กับผู้อื่น
นอกจากการลงโทษคนชั่วในตัวบทแล้ว ผู้เขียนยังกำหนดให้ซายัคและพวกตัดสินใจออกทะเล เพื่อให้สังคมได้เป็นประจักษ์พยานต่อความอยุติธรรมที่พวกเขาได้รับ "พวกเรายอมตาย เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การต่อสู้เรื่องที่ดินของเราถูกโกงจากคนเมืองเป็นเรื่องจริง เป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเราที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเรากล้าหาญ แม้จะพ่ายแพ้ก็ตาม ผมกับลูกเมียและพวกเราทุกคนจึงขอลาท่านไปก่อน " (ประทีป ชุมพล, 2546: 144) บทสรุปของเรื่องคือบทสรุปของประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ เพื่อคงอัตลักษณ์คู่ตรงข้ามระหว่างอูรังลาโว้ยที่เป็นผู้ถูกกดขี่ที่มีศักดิ์ศรี กับคนเมืองที่เป็นผู้กดขี่ที่โลภและชั่วร้ายเอาไว้
อูรังลาโว้ยที่ยอมละทิ้งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนเอง และยอมผนวกรวมเข้าสู่กระแสหลักถูกผู้เขียนตีตราว่าเป็น "ซากที่ยังหายใจ" หลังจากเหตุการณ์ที่อูรังลาโว้ยสังเวยชีวิตหมู่ไปหลายปี "ข้าพเจ้า" เดินทางกลับไปที่ภูเก็ตอีกครั้ง เขาพบว่าอูรังลาโว้ยเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตนเองไป เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นชนชายขอบในสังคมไทยที่อยู่ในกระแสการพัฒนา ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จนกลายเป็นเพียงสินค้า (อานันท์ กาญจนพันธุ์, 2549: 3) อัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ยที่เปลี่ยนไปถูกเสนอผ่านตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง
- "...ผมเป็นชาวเล ถ่ายรูปกับผมได้นะครับ คิดเพียงยี่สิบบาทเท่านั้น"
- "ไปงมไปเก็บมาเองหรือไอ้บ่าว" ข้าพเจ้าถามเรื่อยเปื่อยพลางพลิกเลือกพวงกุญแจเป็นหอยสวยแปลกตา
- " เปล่า" เขาตอบ "ผมว่ายน้ำเป็นที่ไหนกัน...ไปรับเขามา พวกโรงงานมาส่ง" เขาพูดต่อ "...ผมพูดภาษาอังกฤษได้นะ...ฮาวอาร์ยู...ว้อทดูยูว้อนท์..."
(ประทีป ชุมพล, 2546: 148)
ผู้เขียนสร้างตัวละครอูรังลาโว้ยที่ประกอบขึ้นมาจาก "ความไม่เป็นอูรังลาโว้ย" นับแต่การเรียกตนเองว่าเป็น "ชาวเล" ทั้งที่คำนี้เป็นคำที่อูรังลาโว้ยเห็นว่ามีความหมายในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยาม (ประทีป ชุมพล, 2546: 51) จากการหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพมาเป็นการขายสินค้า และทำตัวเองให้เป็นสินค้าด้วยการรับจ้างเป็นแบบถ่ายรูป, จากอูรังลาโว้ยที่หมายถึง "คนน้ำ" กลายเป็นคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ที่สำคัญคือวัฒนธรรมของอูรังลาโว้ยเองที่ผู้เขียนใช้เพื่อต่อรองกับอัตลักษณ์ที่วาทกรรมของรัฐและคนเมืองสร้างขึ้น มาถึงท้ายเรื่อง อูรังลาโว้ยเองต้องเป็นฝ่ายเรียนจากคนเมือง และไม่ให้ค่าแก่ศักดิ์ศรีและความเสียสละของบรรพบุรุษ
"คุณรู้มั้ย เดี๋ยวนี้ชาวเลมีค่ามากนะ พวก ททท. เอย จังหวัดเอยให้แสดงวัฒนธรรมของเรา ความจริงผมก็ไม่รู้อะไรหรอก คนเมืองมาสอนพวกเราทุกอย่าง เราทำ เราแสดง และเราก็ได้เงินได้ทอง เดี๋ยวนี้ชาวเลไม่ถูกรังเกียจแล้ว เขายกย่องเรา ให้เกียรติเรา...เสียดายนะที่บรรพชนเราเกิดมาเร็วไปสักหน่อย เลยลำบาก..." (ประทีป ชุมพล, 2546: 148)
ปรากฏการณ์ในตัวบทแสดงให้เห็นว่า ความเป็นอูรังลาโว้ยถูกทำลายจนหมดสิ้น หลงเหลือเพียงลักษณะทางชีววิทยาที่สืบทอดมาทางพันธุกรรม แต่นั่นไม่อาจนับได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ เพราะอัตลักษณ์ผูกพันอยู่กับตำแหน่งแห่งที่ บทบาทฐานะของคน (subject position) (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2549: 324)
หากจะอ่านความหมายชั้นที่สองที่อิงอยู่กับเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ผู้วิจัยตีความว่าตัวละครอูรังลาโว้ยตัวนี้ เป็นตัวแทนของนักศึกษาที่ทรยศต่ออุดมการณ์ เมื่อผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯมาหลายปี หลายคนกลายเป็นคนที่ขับเคลื่อนกลไกของรัฐให้มากดขี่ผู้อื่น หรืออาจถูกดูดกลืนเข้าสู่ระบบทุนนิยมอันเป็นระบบของ "ชนชั้น" ที่ผู้ยึดถือลัทธิมาร์กซ์ต่อต้าน ในสายตาผู้เขียน การรับใช้สถาบันที่ตนเคยต่อต้าน อาจเท่ากับการสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองและมีฐานะเป็นเพียง "ซากที่ยังหายใจ" เท่านั้น เพราะวิญญาณแห่งอุดมการณ์อันรุ่งโรจน์สูญสลายไป
เรื่องเล่าเกี่ยวกับอูรังลาโว้ยและ "ข้าพเจ้า" มีความสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของผู้เขียนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการเล่าเรื่องเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างอัตลักษณ์ ดังที่ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (2546: 103) กล่าวว่า, การเล่าเรื่อง (story telling) เป็นกิจกรรมหนึ่งที่คนเราทำเสมอ ในกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เราเล่าให้เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวถึงสิ่งที่ทำหรือพบเห็น เราผสมผสานสิ่งที่เราอยากเป็นอยากทำ สิ่งที่เราชอบและไม่ชอบลงในเรื่องเหล่านั้น การเล่าจึงเป็นกระบวนการผลิตซ้ำตัวตนของเราในชีวิตประจำวัน เป็นกระบวนการที่เราแสดงอัตลักษณ์ของเราออกมาในปริมณฑลสาธารณะ จึงนับได้ว่าประทีปในฐานะนักเขียน ผู้ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯสามารถเสนออัตลักษณ์ของตนเองผ่านลักษณะ และความหมายอันซับซ้อนของตัวบทนวนิยายได้อย่างแหลมคม
บทสรุป
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2549: 327) กล่าวว่า สารัตถะที่สำคัญประการหนึ่งของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์คือ
ศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการที่สลับซับซ้อนของการสร้างตัวตนกับความเป็นอื่น (self/other).
ตามปกติกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคมจะเป็นผู้สร้างความเป็นอื่นขึ้นมาโดยทำให้สอดคล้องกับความรู้หรือความจริงที่ถือปฏิบัติกัน
ในที่นี้ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นผู้สร้างความจริงให้เกิดขึ้นในตัวบท เพราะฉะนั้นความเป็นอื่นของคนเมืองที่มาช่วยเกื้อหนุนให้อัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ยเด่นชัดขึ้น
จึงเป็นการประกอบสร้างเช่นกัน และเป็นคู่ความหมายที่ผู้เขียนใช้ประโยชน์ในการเสนอแนวคิดหลักของเรื่อง
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่อง "เสียงเพรียกจากท้องน้ำ" ดำเนินการผ่านการถ่ายทอดประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ที่รัฐและคนเมืองกระทำต่อชาวอูรังลาโว้ย รวมทั้งการสร้างภาพแทนเพื่อกอบกู้อัตลักษณ์ของอูรังลาโว้ยในอาณาเขตของตัวบท ภาพแทนและอัตลักษณ์ที่ประทีปเขียนขึ้นใหม่ ปฏิเสธภาพแทนและอัตลักษณ์ตามวาทกรรมของรัฐและคนเมือง จึงกล่าวได้ว่าการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ซึมซ่านอยู่ในตัวบทนวนิยายเรื่องนี้อย่างแน่นอน และแนวคิดดังกล่าวนี้ยังเอื้อให้สามารถตีความความหมายชั้นที่สองของนวนิยาย เพื่อวิเคราะห์อัตลักษณ์ของผู้เขียนเองได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่ออ้างอิงกลับไปที่คำจำกัดความของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ปฏิบัติการที่บรรลุผลในนวนิยายเรื่องนี้มีเพียงสองประการเท่านั้น คือการสร้างอัตลักษณ์เพื่อต่อรองกับการกดขี่ และการสร้างอัตลักษณ์เพื่อปฏิเสธอัตลักษณ์ที่ถูกยัดเยียดให้ ประทีปยังมิได้ไปไกลถึงจุดที่จะสามารถบรรลุปฏิบัติการข้อที่สามของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ต้องตระหนักถึงความหลากหลาย และความลื่นไหลของอัตลักษณ์ เนื่องจากตัวบทปฏิเสธอัตลักษณ์ใหม่หลังจากอูรังลาโว้ยยอมรับ "การพัฒนา" โดยสิ้นเชิง ตัวบทเลือกที่จะไม่แสดงแง่มุมที่ว่ายังมีอูรังลาโว้ยอีกจำนวนมากที่ยังคงสืบทอดอัตลักษณ์และวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ได้ (เลิศชาย ศิริชัยและคณะ, 2546: 250; ประคอง เอี่ยมศิริ, 2535 อ้างถึงใน เยาวลักษณ์ ศรีสุกใส, 2545: 2) ผู้วิจัยขอสรุปว่าการเลือกสรรและการปฏิเสธนี้เองที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "การเมือง" ของ "การเมืองเรื่องอัตลักษณ์" อย่างแท้จริง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
ฉลาดชาย รมิตานนท์. (พฤศจิกายน, 2549) การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Identity Politics). [ออนไลน์] เข้าถึงจาก http://www.soc.cmu.ac.th/%7Ewsc/data/Identity%20politics.pdf.ชลธิรา สัตยาวัฒนา.(2546) เสียงเพรียกจากท้องน้ำ: ชีวิต สิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน. เสียงเพรียกจากท้องน้ำ, หน้า 152-159. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์.(17 พฤศจิกายน 2548) ชาวบ้านกับผู้หญิงในคำพิพากษา. บรรยายในรายการ อาศรมวิจัย ครั้งที่ 1 / 2549 ณ อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.(2549) วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น.พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: วิภาษา.
ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2546) คนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม. กรุงเทพมหานคร: มติชน.
ธงชัย วินิจจะกูล. (ม.ค.-เม.ย. 2546) ชนพวกอื่นในแดนตน. แปลโดย กองบรรณาธิการ. ฟ้าเดียวกัน 1, 1: 3 90-94.
นพดล ปรางค์ทอง.(18-24 ส.ค. 2546) เสียงเพรียกจากท้องน้ำ: ความเป็นอื่นบน 'ผืนดิน' ของ 'ชาวน้ำ'. เนชั่นสุดสัปดาห์. 2, 585: 70-71.
นพพร ประชากุล. (ก.พ. 2541) ลูกอีสาน: เทคนิคการประพันธ์กับประเด็นเรื่องเชื้อชาติวัฒนธรรม. สารคดี 13,156: 132-134.
นัทธนัย ประสานนาม.(2549) เสียงเพรียกจากท้องน้ำ: การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเชิงชาติพันธุ์วรรณาของไทย. บทความนำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติปัญญาและพลวัตของภาษาและวรรณคดีไทยในสังคมโลก (International Conference on 'Thai Language and Literature: Wisdom and Dynamism in the Global Context') วันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ก.
ประทีป ชุมพล. (2546) เสียงเพรียกจากท้องน้ำ. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2546) บทบรรณาธิการ. ใน อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ, หน้า 1-26. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
พรธาดา สุวัธนวนิช. (ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547) กระบวนทัศน์หลังอาณานิคมกับการวิจารณ์วรรณกรรมไทย. วารสารมนุษยศาสตร์ปริทรรศน์ 26 : 53-63.
พิณอำไพ สิริปูชกะ. (2543) ภาพลักษณ์ชนกลุ่มน้อยในนวนิยายไทย: การวิจารณ์เชิงสังคม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มาโนช ดินลานสกูล. (2549) วัฒนธรรมอำนาจ: กระบวนการผลักให้เป็นชายขอบ กรณีชาวเลในนวนิยายเรื่อง เสียงเพรียกจากท้องน้ำ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. 1, 1 (เมษายน-กันยายน): 140-152.
ยุวพาส์ (ประทีปเสน) ชัยศิลป์วัฒนา.(2544) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวรรณคดี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เยาวลักษณ์ ศรีสุกใส. (2545) การเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม: ศึกษากรณีชาวเลสังกาอู้ อ.เกาะลันตา จ. กระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2545) พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน.
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2542) วรรณกรรมปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
เลิศชาย ศิริชัยและคณะ. (2546) สิทธิชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ โครงการสิทธิชุมชนท้องถิ่น จากจารีตประเพณีสู่สถานการณ์ปัจจุบัน: การศึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางนโยบายสิทธิชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: นิติธรรม.
วิมลมาศ ปฤชากุล. (26 สิงหาคม 2547) การกอบกู้อัตลักษณ์ชนบทใต้ในเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้. บทความวิจัยนำเสนอในโครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ: เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 1 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิสิฏฐ์ มะยะเฉียว. ชีวิตชาวเลภูเก็ต. (2532) ถลาง ภูเก็ต และชายฝั่งทะเลอันดามัน: โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และเศรษฐกิจ, หน้า 217-254. วิสันธนี โพธิสุนทร, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์. (2536) กำเนิดและสิ้นสุดระบอบอาณานิคม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (24 พฤศจิกายน 2548) วาทกรรม ภาพแทน อัตลักษณ์. บทความนำเสนอในโครงการสัมมนา 'วรรณคดีศึกษาในบริบทสังคมและวัฒนธรรม 2' จัดโดยศูนย์วรรณคดีศึกษาและภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานจุฬาฯ วิชาการ'48.
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. (2546) อัตลักษณ์: การทบทวนทฤษฎีและกรอบแนวคิด. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2549) การต่อสู้เพื่อความเป็นคนของคนชายขอบในสังคมไทย. อยู่ชายขอบ มองลอดความรู้ รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ฉลาดชาย รมิตานนท์, หน้า 3-31.อานันท์ กาญจนพันธุ์, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: มติชน.
ภาษาอังกฤษ
Ashcroft, B., Gareth G., & Tiffin, H.(2000). Post-Colonial Studies: The Key Concepts. London and New York: Routledge.Featherstone, Simon.(2005). Postcolonial Cultures. Edinburgh: Edinburgh University Press.
Hongladarom, K.(January 2000).Competing Discourses on Hill tribes: media representation of Ethnic Minorities in Thailand. MANUSYA: Journal of Humanities: January, 1-19.
Identity Politics (2006, January). Retrieved July,2006 from http://en.wikipedia.org/wiki/identity_politics.
Kriengkraipetch, S.(1995).Characters in Thai Literary Works 'us' and 'the others.' In Thai
Literary Traditions, pp. 130-147. Manas Chitkasem,ed. Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University.Pickering, M.(2001). Stereotyping: The Politics of Representation. New York:
Palgrave.Smith, M.K.(2003). Issues in Cultural Tourism Studies. London
and New York: Routledge.
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)