โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 17 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๑๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 17, 04,.2007)
R

สังคม วัฒนธรรม และการเมืองไทยร่วมสมัย
อำนาจเก่า ต่อท่อ พระพุทธศาสนาประจำชาติ
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการ ๓ เรื่องต่อไปนี้ เคยเผยแพร่แล้วในหน้า นสพ.มติชน ประกอบด้วย
๑. อำนาจเก่า ๒. ต่อท่อ ๓. ศาสนาประจำชาติ
โดยเรื่องแรกเป็นการวิพากษ์การเมืองหลัง ๑๙ กันยา ที่มองว่ามีกลุ่มอำนาจเก่าคอยก่อความไม่สงบ
ทางการเมือง ส่วนเรื่องต่อมาเป็นการวิเคราะห์ถึงความคิดที่กลุ่มอำนาจปัจจุบัน ซึ่งได้ทำ
รัฐประหาร ๑๙ กันยา พยายามที่จะต่ออายุอำนาจทางการเมือง
และเรื่องสุดท้ายเป็นการพยายามรณรงค์ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
และต้องการให้มีการตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างโดย ๓๕ อรหันต์
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๑๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาพ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สมเกียรติ ตั้งนโม : บันทึกภาพ (ถ่ายที่ บ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์, ๒๕๔๙)

อำนาจเก่า ต่อท่อ พระพุทธศาสนาประจำชาติ
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


1. อำนาจเก่า
อะไรคือ"อำนาจเก่า"
เท่าที่จับได้จากสื่อซึ่งรับเอาสำนวนและความหมายมาจาก คมช. "อำนาจเก่า" คือกลุ่มที่เคยได้อำนาจและผลประโยชน์ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ประกอบด้วยนักการเมือง, ข้าราชการและทหาร-ตำรวจ, นักธุรกิจ, และผู้นำท้องถิ่น โดยมีประชาชนระดับล่างในชนบทซึ่งนิยมชมชอบนโยบายของรัฐบาลทักษิณเป็นฐาน

ร้องได้คำเดียวว่า "โอ้โฮ้" พร้อมกับคำถามที่ผุดขึ้นในใจทันทีว่า ถ้าอย่างนั้นพวกมึงเป็นใคร ในท่ามกลางความสามัคคีของกลุ่มคนกว้างขวางถึงเพียงนี้. แต่เพราะต้องร้อง "โอ้โฮ้" นี่แหละที่ทำให้ผมไม่เชื่อว่ามี "อำนาจเก่า" เหลืออยู่จริง หรือถึงมีอยู่ก็ไม่เชื่อว่ามีอะไรที่เป็นกลุ่มก้อนปึกแผ่นอย่างยั่งยืนในสังคมไทย หรือสังคมสมัยใหม่ทั่วไป … ในยุคสมัยแห่งความลังเลและชั่วคราวอย่างยุคสมัยของเราในปัจจุบัน

ใครคือ "พวกทักษิณ" ครับ? กลุ่มมัชฌิมาของคุณสมศักดิ์ เทพสุทินหรือ, คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือ, นายทหาร-ตำรวจที่จบเตรียมทหารรุ่น 10 หรือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่คุณทักษิณแต่งตั้งส่งเสริมหรือ นายแบงก์ซึ่งเคยเป็นคอหอยลูกกระเดือกกับคุณทักษิณมาก่อนหรือ นักธุรกิจที่ลงขันตั้งพรรคไทยรักไทยแลกกับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาลทักษิณหรือ แม้แต่คุณจาตุรนต์ ฉายแสง และคุณปองพล อดิเรกสาร เป็น "พวกทักษิณ" แน่หรือ

แม้แต่ในช่วงสมัยที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี "พวกทักษิณ" ก็ประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม. ครม.ของคุณทักษิณเองก็ประกอบด้วยตัวแทนของคนหลายกลุ่ม ไม่ต่างจากรัฐบาลที่บริหารประเทศนี้อื่นๆ แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 40 จะทอนอำนาจของ "มุ้ง" ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาล มิให้ต่อรองกับนายกฯ ได้อย่างเปิดเผยเหมือนเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต่อรองไม่ได้เสียเลย พฤติกรรมของกลุ่มของคุณเสนาะ เทียนทอง ชี้ให้เห็นว่าข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญไม่สามารถขจัดการต่อรองของ "มุ้ง" การเมืองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ตรงกันข้ามกับความเห็นของนักการเมืองที่พูดว่า คุณทักษิณอาศัยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญเผด็จอำนาจไปแต่ผู้เดียว คุณทักษิณรู้ดีว่าเงื่อนไขแค่นั้นไม่พอ คุณทักษิณจึงเสริมสร้างบารมีของตนเองด้วยการสร้าง "ลัทธิพิธีบูชาบุคคล" (Personality Cult) ขึ้นแวดล้อมตัวเอง

ลัทธิพิธีบูชาบุคคล (Personality Cult)
ลัทธิพิธีบูชาบุคคลในโลกปัจจุบันนี้ประกอบด้วยสองสามลักษณะที่จำเป็น

- หนึ่ง คือทำให้ตัวเป็นบุคคลสาธารณะ (public figure) ที่เด่นที่สุด ดีที่สุด เป็นความหวังของทุกฝ่ายได้มากที่สุด ฉะนั้นจึงต้องครองพื้นที่ในสื่อมากที่สุด หรือชัดเจนที่สุด และก็เหมือนลูกโป่งที่ถูกอัดลมให้ป่อง ลัทธิบูชาบุคคลย่อมไม่ต้องการเข็ม ดังนั้น จึงต้องปลอดพ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ด้วยประการทั้งปวง จะด้วยวิธีมีกฎหมายห้ามวิพากษ์วิจารณ์โดยตรง หรือโดยการซื้อสื่อ แทรกสื่อ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายสูงลิบลิ่ว หรือตีกะบาลก็ตาม

และในทางตรงกันข้าม ต้องเป็นผู้ริเริ่มทุกอย่างเอง กล่าวอีกนัยยะหนึ่งคืออะไรที่เคลื่อนที่ได้ในสังคมนั้น ต้องมาจากพลังศูนย์กลางคือบุคคลที่เป็นวัตถุของลัทธิพิธีบูชาบุคคล ถึงไม่ได้มาจริงก็ต้องทำให้เห็นประหนึ่งว่ามาจากเขา

- สอง ลัทธิพิธีบูชาบุคคล ต้องสถาปนาอำนาจของตนเข้าไปในกลไกแห่งรัฐ ในกองทัพ, ในตำรวจ หรือในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อหนึ่งได้สะดวก

คุณทักษิณสร้างลัทธิพิธีบูชาบุคคลตามนี้ได้เกือบสำเร็จ อย่างน้อยก็ทำให้ "มุ้ง"การเมืองทั้งหมดที่ร่วมรัฐบาลกับคุณทักษิณต้องยอมรับการกำหนดบทบาทของตัวจากคุณทักษิณอย่างเซื่องๆ (และบางกลุ่มอย่างแหยๆ ด้วย) รัฐมนตรีที่เข้าไปนั่งในกระทรวงที่ข้าราชการผู้ใหญ่ล้วนเป็นลิ่วล้อของคุณทักษิณ จะทำอะไรได้ นอกจากถ่ายทอดคำสั่งของคุณทักษิณ และทำความพอใจให้แก่ "นายใหญ่" ของตัวไปวันๆ

เหตุผลที่คุณทักษิณสร้างลัทธิพิธีบูชาบุคคลได้เพียงเกือบสำเร็จเท่านั้น มีอยู่สองประการ

- หนึ่ง คือบุคคลที่จะเป็นศูนย์ของลัทธิพิธีนี้มีได้เพียงคนเดียวในแต่ละรัฐ และ

- สอง สังคมไทยถูกทำให้มีความหลากหลาย (diversification) จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทางเศรษฐกิจ, สังคม, และการเมือง เสียจนกระทั่งลัทธิพิธีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสยบความเห็นแย้ง, มุมมองแย้ง, คำถามแย้ง ฯลฯ ของสังคมได้เสียแล้ว สื่อกระแสหลักอาจสยบ แต่สื่อทางเลือก รวมทั้งใบปลิวและข่าวลือก็มีผู้บริโภคไม่น้อยเหมือนกัน

จะเป็นการเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง หากอธิบายว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนคุณทักษิณ แม้แต่สมาชิกของพรรคไทยรักไทย ล้วนมีความ "ภักดี" ต่อคุณทักษิณ

ความภักดีนั้นเกิดขึ้นได้จากอุดมการณ์
บุคคลที่ได้รับความภักดีต้องเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ อย่าเข้าใจว่าอุดมการณ์เป็นอะไรที่สูงส่ง ผมใช้ในความหมายง่ายๆ ว่าแนวคิดที่กำกับพฤติกรรมทางสังคมเท่านั้น เช่น คนไทยแต่ก่อน "ภักดี" ต่ออุปัชฌาย์ตลอดชีวิต เพราะมีอุดมการณ์ไทยว่าอุปัชฌาย์คือบิดามารดาคนที่สอง เป็นครูที่สร้างความเป็นคนให้แก่เรา และเป็นบุคคลที่อยู่ในเพศอันสูงคือสมณะ ฉะนั้นจึงไม่ควรนินทาอุปัชฌาย์ดังๆ แต่ด่าในใจคนเดียวไม่เป็นไร

คิม อิล ซุง เป็นตัวแทนของทางเลือกสังคมนิยมที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี เช่นเดียวกับเหมาในสมัยหนึ่ง และคาสโตร หรือทะไล ลามะ ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็น "ตัวแทน" ของพระพุทธศาสนาวัชรยานตรงๆ เลย ก็เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์นี่ครับ

อันที่จริง อุดมการณ์เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่มีความสำคัญของลัทธิพิธีบูชาบุคคล ซึ่งผมไม่ได้พูดไว้ เพราะคุณทักษิณไม่ได้เน้นเรื่องนี้ ทำไมจึงไม่พัฒนานโยบายของตัวขึ้นเป็นอุดมการณ์ให้คนยึดถือโดยเอาตัวคุณทักษิณเป็นตัวแทนของอุดมการณ์นั้น ผมก็ไม่ทราบ แต่นี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณทักษิณเพียงแต่เกือบสำเร็จ

ฉะนั้นในหมู่คนที่อยากให้คุณทักษิณกลับมาบริหารบ้านเมืองใหม่จึงไม่ได้เกิดจากความ "ภักดี" แต่ด้วยเหตุอื่นๆ นับตั้งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว, ชื่นชอบนโยบายบางด้าน, หมั่นไส้พันธมิตร, เอือมระอาความไร้เดียงสาของทหาร, ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น

อำนาจเก่าในอีกชุดคำอธิบายหนึ่ง (กลุ่มที่ได้น้ำเลี้ยง)
ตรงกันข้ามกับความภักดี คนอีกกลุ่มหนึ่งอธิบาย "อำนาจเก่า" ว่าคือกลุ่มที่ได้ "น้ำเลี้ยง" จากคุณทักษิณหรือพรรคพวก ข้อนี้ผมไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ตราบเท่าที่ยังคิดว่า "อำนาจเก่า" คือ "น้ำเลี้ยง" ก็มีวิธีทอนกำลังของ "อำนาจเก่า" อยู่อย่างเดียว คือตัดท่อทิ้งเสียให้ได้ อันเป็นความไร้เดียงสาของคนที่ไม่รู้จักการไหลเวียนของเงินในโลกยุคโลกาภิวัตน์

แต่ที่สำคัญกว่า "น้ำเลี้ยง" ก็คือ เชื้อที่ทำให้ผู้คนไม่พอใจรัฐบาล และ คมช. (อย่าฟังแต่พันธมิตร แต่ฟังให้กว้างๆ ด้วย) บางคนไม่พอใจเพราะทำให้เศรษฐกิจพัง, บางคนไม่พอใจที่ไม่แก้ปัญหาให้เขา, บางคนไม่พอใจเพราะไม่ชอบเผด็จการ, บางคนไม่พอใจเพราะไม่อยากได้ผู้บริหารไม่ฉลาด ฯลฯ เพราะไม่พอใจก่อน ถึงทำให้ร่วมมือกับกลุ่มคนที่ได้ "น้ำเลี้ยง"

หากรู้จักมองอย่างวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองบ้างอย่างนี้ ก็จะแก้ปัญหาได้ถูกจุด แต่การมองแต่ "น้ำเลี้ยง" คือการโทษคนอื่น ไม่แก้อะไร แล้วก็โทษคนอื่นอยู่ร่ำไป. คนที่สนับสนุนกลุ่มคนที่ได้ "น้ำเลี้ยง" หรือออกมาต่อต้านก็ต้องมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นธรรมดา

สรุปเรื่องอำนาจเก่า
สรุปก็คือ "อำนาจเก่า" เป็นเพียงคำแก้ตัวของเด็กเล่นปืน คือรู้จักอำนาจแค่ปืนกับรถถัง ไม่รู้จะเอาอำนาจไปใช้ในทางสร้างสรรค์ได้อย่างไร. ถึงมี "อำนาจเก่า" อยู่จริง ก็หาได้เป็นปึกแผ่นกลุ่มก้อนไม่ เพราะเดิมก็ไม่ได้เป็นปึกแผ่นกลุ่มก้อนอยู่แล้ว บัดนี้เมื่อลัทธิพิธีบูชาบุคคลซึ่งคุณทักษิณเริ่มไว้พังทลายลง ก็ยิ่งแตกออกไปตามแนวทางและผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น

ว่าที่จริงก็ไม่ต่างจาก "อำนาจใหม่" นัก คือหาได้เป็นปึกแผ่นกลุ่มก้อนแต่อย่างไร กองทัพที่ไปรวมกันอยู่ใน คมช.นั้นเป็นเพียงบาง "มุ้ง" ของกองทัพเท่านั้น ไม่ใช่ทบ., ทร., ทอ., หรือตำรวจทั้งหมด ฉะนั้นวันๆ จึงต้องเหลียวหลังมากกว่าแลหน้า. ในส่วนในคณะรัฐบาลเอง ก็ประกอบด้วย "ตัวแทน" ของกลุ่ม "อำนาจใหม่" อีกหลายกลุ่ม ต่างคนต่างคิดโดยไม่มีใครมี "ประมุขศิลป์" (leadership) ที่จะให้ทิศทางได้ชัดเจน แม้แต่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยังขัดกันเองตลอดเวลา

ต่อให้บรรยากาศทางการเมืองไม่อึมครึม ก็ไม่มีใครอยากลงทุนในประเทศที่คณะรัฐบาลเละเทะไร้ทิศทางขนาดนี้. ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงไม่กลัว "อำนาจเก่า" เพราะไม่มีน้ำยาหรอก แต่ห่วง "อำนาจใหม่" มากกว่า เพราะไม่มีน้ำยาเหมือนกัน แต่กลับต้องมานั่งบริหารประเทศ

2. ต่อท่อ
ณ บัดนี้ เห็นได้ค่อนข้างชัดเสียแล้วว่า ไม่มีบุคคลใดที่มีอำนาจทางการเมืองในเวลานี้จะสามารถ "ต่อท่อ" อำนาจของตนให้ยั่งยืนสืบไปได้ อย่างน้อยก็ด้วยวิถีทางของกฎหมาย. อย่าคิดถึงหลังเลือกตั้งเลย แม้แต่จะให้ท่อยาวไปถึงวันเลือกตั้งตามความตั้งใจเดิม ก็ยังน่าสงสัยว่าจะทำได้หรือไม่

หากอยาก "ต่อท่อ" หรือจำเป็นที่จะต้อง "ต่อท่อ" เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ก็เหลืออยู่วิถีทางเดียวคือวิถีทางนอก "กฎหมาย" และหากผู้มีอำนาจกลุ่มใดเลือกใช้วิธีนี้ เช่น ชิงยึดอำนาจด้วยกำลังทหารเสียก่อน ท่อก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ แถมแผ่นดินก็จะพังพินาศเป็นจุณไปด้วย. ฉะนั้น หากสำนวน "ต่อท่อ" หมายถึงการต่ออำนาจของบุคคล ผมคิดว่าความเป็นไปได้ในแง่นี้ได้หมดไปแล้ว

แต่ "ต่อท่อ" ในความหมายถึงการทำให้ระบบการเมืองที่กองทัพเป็นปัจจัยตัดสินทางการเมืองที่สำคัญสุด ได้ดำรงอยู่สืบไปในการเมืองไทย นี่ต่างหาก ที่มีความพยายามกระทำกันอยู่ อีกทั้งมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับความปลอดภัยหลังเลือกตั้ง. วีรบุรุษไม่ต้องกลายเป็นโมฆบุรุษในฉับพลัน

แต่ทางลงที่ดีที่สุดแก่ฝ่ายอำนาจเช่นนี้ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ทุกคนเลือกเหมือนกัน อคติทั้งสี่ เพราะรัก เพราะชัง เพราะโลภ เพราะหลง อาจบดบังปัญญาจนบางคนบุ่มบ่าม และทุกอย่างพังลงได้ในพริบตา

การเมืองที่กองทัพเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมือง
ระบบการเมืองที่กองทัพเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมือง แม้มีการเลือกตั้งและมีพรรคการเมือง คือ ระบบการเมืองที่ครอบงำสังคมไทยระหว่าง พ.ศ.2521-2531 โดยมีนายกรัฐมนตรีซึ่งกองทัพเลือกหนุนหลังสองคน คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ในระหว่างนั้น แม้มีการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นปกติ แต่เงื่อนไขสำคัญที่พรรคการเมืองจะสามารถตั้งรัฐบาลผสมได้ ก็คือต้องยอมรับเอาบุคคลที่กองทัพหนุนหลังเป็นนายกรัฐมนตรี อำนาจต่อรองของบุคคลที่เป็นนายกฯสูงมาก แม้ไม่มีพรรคการเมืองของตนเอง เขาคือคนที่ตัดสินใจเลือกบุคคลที่เขาไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ ของรัฐบาล เช่น รัฐมนตรีคลัง, ต่างประเทศ, และมหาดไทย เป็นต้น

ตำแหน่งที่เหลือ นักการเมืองที่รวมตัวกันสนับสนุนแบ่งสรรโควต้ากัน จะโกงกินกันอย่างไรก็ตามสะดวก แต่อย่าให้จับได้คาหนังคาเขาเกินไป เพราะเปิดช่องให้ฝ่ายค้านและสื่อโจมตีรัฐบาลซึ่งเป็นการบั่นรอนเสถียรภาพของรัฐบาล ฝ่ายค้านเองก็โจมตีนักการเมืองด้วยกันที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ไม่ใช่ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะล้มรัฐบาล แต่ต้องการเพียงเปลี่ยน "หุ้นส่วน" ในรัฐบาลผสมเท่านั้น

โฟกัสของการเมืองที่แท้จริงเลื่อนมาอยู่ที่กองทัพและระบบราชการ การเมืองในสภาเป็นแค่ปาหี่ต้มคนดู และเพราะเป็นแค่ปาหี่ จึงดูเหมือนเป็นการเมืองระบบ "เปิด" เช่น มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายในสภา และปล่อยให้นักแสดงปาหี่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองกันอย่างเต็มที่

ดูเผินๆ เหมือนเป็นระบบการเมืองที่ลงตัวดี เพราะทุกฝ่ายได้รับส่วนแบ่งของอำนาจไปตามสัดส่วนความสำคัญของตัว ใครคุมกองทัพซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองได้มาก ได้น้อย ก็มีสิทธิมีส่วนตัดสินทางการเมืองตามสัดส่วนแห่งอำนาจในการคุมกองทัพของตัว ในขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชาในกองทัพ ก็จัดสรรแบ่งส่วนตำแหน่งให้พรรคพวกหรือคนที่เข้ามาขอพึ่งใบบุญ เสริมกำลังทางการเมืองให้แก่ตัว หรือแก่เจ้าพระเดชนายพระคุณของตัว

ในขณะที่ภาคธุรกิจเข้าถึงทั้งนายกฯ และนักการเมือง ฉะนั้นจึงคุมนโยบายให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของตนได้อย่างสม่ำเสมอ

ประชาชนในชนบทได้รับการอุปถัมภ์จากนักการเมือง หรือเครือข่ายของนักการเมือง ตอบแทนการที่พวกเขาไม่ได้เรียกร้องอะไรเชิงนโยบาย

ชนชั้นกลางในสังคมไทย
กลุ่มคนที่ได้ส่วนแบ่งของอำนาจมาไม่สมกับความคาดหวัง คือคนชั้นกลางที่มีการศึกษา ซึ่งขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง เขาคือกลุ่มคนที่ต้องเสพย์สื่อซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ หรือมิฉะนั้นก็ "แหย". เขาคือกลุ่มที่อยากได้ระบบการเมืองซึ่งเปิดพื้นที่ให้เขาเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ผลประโยชน์ของพวกเขาผูกพันกับการจ้างงานของภาคธุรกิจ ซึ่งแนบแน่นกับระบบการเมืองที่เป็นอยู่. ฉะนั้น แม้ว่าคนชั้นกลางเหล่านี้ต้องการระบบการเมืองใหม่ที่เปิดกว้างขึ้น แต่ก็ยังต้องการทหารและระบบราชการไว้ถ่วงดุลกลุ่มอื่นด้วย เพราะสังคมที่ "สงบเรียบร้อย" ประกันรายได้ของตนได้ดีกว่าความวุ่นวายทางการเมือง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนชั้นกลางไทยไม่ได้มีอุดมคติเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพในการต่อรองเชิงอำนาจเท่านั้น หากการเมืองในระบอบเลือกตั้งลิดรอนอำนาจของตนไป ก็อาจหันไปหาเผด็จการทหารได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบการเมืองเช่นนี้มีความตึงเครียดภายในสูง การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์เป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งด้วยเล่ห์กลทางการเมืองในสภาและการใช้กำลังทหาร รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพแต่อย่างใด สิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าเสถียรภาพคืออำนาจนำของกองทัพในการเมืองเท่านั้น ดังนั้น นายกรัฐมนตรีอาจเป็นคนเดิม แต่รัฐบาลผสมต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง และสภาถูกยุบอยู่เป็นประจำ

ปัจจัยบางประการของระบบการเมืองที่กำกับโดยกองทัพ
ระบบการเมืองที่จะเกิดสภาพที่กองทัพกำกับการเมืองอยู่เบื้องหลังเช่นนี้ได้ มาจากปัจจัยสำคัญสองสามอย่าง

ประการแรก คือ นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

ประการต่อมา พรรคการเมืองต้องไม่ได้คะแนนเสียงเด็ดขาดจากการเลือกตั้ง และจะทำให้เป็นอย่างนั้นได้ ก็ต้องตัดหนทางที่พรรคการเมืองจะ "ระดม" กำลังทรัพย์, กำลังหัวคะแนน, และกำลัง "ประชานิยม" ฉะนั้นจึงไม่ควรมี ส.ส.ระบบบัญซีรายชื่อซึ่งเป็นช่องทางให้พรรคการเมือง "ระดม" กำลังทรัพย์ได้ง่าย ต้องไม่มีการเลือกตั้งระบบเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งทำให้พรรคการเมืองกว้านหัวคะแนนได้สะดวก และ

ประการสุดท้าย ต้องไม่ปล่อยให้เกิดสื่อเสรีขึ้นมากนัก ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน, ทีวีเสรี, หรือสื่ออินเตอร์เน็ตที่ไม่ถูกรัฐแทรกแซง ทั้งนี้ เพื่อจะสามารถคุมการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางได้สะดวก

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเห็นได้ในความพยายาม "ต่อท่อ" ของกลุ่มอำนาจในขณะนี้ทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่ "ต่อท่อ" ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เท่ากับ "ต่อท่อ" ให้แก่ระบบการเมืองของเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว ประหนึ่งว่าเวลาร่วมสองทศวรรษที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีเหตุการณ์ เป็นความว่างเปล่าของเวลา

แต่สองทศวรรษที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ลบออกไปไม่ได้ เป็นเวลาที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทย เช่น พฤษภามหาโหดใน พ.ศ.2535 ทำให้คนชั้นกลางซึ่งแม้ไม่ได้ศรัทธาต่อประชาธิปไตยแน่นแฟ้นนัก แต่ก็ได้สำนึกในอำนาจของตนเป็นครั้งแรก และอำนาจนั้นเป็นของประหลาด ใครได้ลิ้มรสของมันแล้ว ก็ไม่สามารถถอยกลับไปจ๋องอย่างเก่าได้อีก

ภาคประชาชนในสองทศวรรษที่ผ่านมา
สองทศวรรษที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนระดับรากหญ้า ประสบความสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่ทุกความเคลื่อนไหวล้วนแผ่รสแห่งอำนาจไปถึงประชาชนผู้ไร้อำนาจกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้ถอยกลับไปรับบริจาคจากนักการเมืองแล้วจำนนอย่างราบคาบไม่ได้อีกแล้วเช่นกัน

สรุป
เป็นความเพ้อฝันของกลุ่มอำนาจในปัจจุบัน (ซึ่งประกอบด้วยหลายฝ่าย) ที่ฝันว่าจะนำประเทศไทยกลับไปสู่ระบบการเมืองของเมื่อ 20 ปีก่อนได้ และพยายาม "ต่อท่อ" ระบบการเมืองเช่นนั้นให้พลิกฟื้นคืนชีพในสังคมไทย

ผมเชื่อว่าจะล้มเหลวในที่สุด แม้สมมุติว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติ และเกิดการเลือกตั้งขึ้น ระบบการเมืองที่ได้รับการ "ต่อท่อ" มานี้ก็จะไม่ทำงาน กองทัพในปัจจุบันไม่มีตัวแทนของตัวเองที่จะส่งมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกแล้ว เพราะไม่มีใครมีบารมีในกองทัพพอจะคุมความเคารพจากทุกฝ่ายในกองทัพได้อีก. หากเชิดนักการเมืองขึ้นเป็นนายกฯ ในกำกับของกองทัพ นักการเมืองก็จะหักหลังกองทัพในเวลาไม่นาน ทั้งด้วยเหตุจำเป็นทางการเมืองที่จะต้องหักหลัง และเหตุของความละโมบของตนเอง

ผมไม่ห่วงว่าระบบการเมืองที่ถูก "ต่อท่อ" มานี้จะล้มเหลว แต่ผมห่วงว่าความล้มเหลวในครั้งนี้ อาจนำไปสู่การนองเลือดที่สูญเปล่า นั่นก็คือสูญเสียเลือดเนื้อกันไปโดยไม่มีเป้าหมายว่า จะเดินต่อไปทางไหน

3. ศาสนาประจำประชาชาติ
บนแท็กซี่เข้ากรุงเทพฯ รายการวิทยุประเภทโฟนอินขอความช่วยเหลือ มีเสียงหญิงผู้หนึ่งบอกเบอร์ทะเบียนรถ, ยี่ห้อและสีของรถกระบะตอนครึ่งคันหนึ่ง เพื่อให้ผู้ฟังช่วยกันสังเกตว่าพบที่ใดให้แจ้งเจ้าหน้าที่หยุดรถทันที เรื่องของเรื่องก็คือพี่ชายของเธอซึ่งเครียดจากการงานจนเสียสติ จำผู้จำคนไม่ได้มานานแล้ว ได้ฉุดลากเอาลูกชายของตนเองสองคนขึ้นรถขับหนีออกจากบ้าน ไม่ทราบว่าจะไปที่ใดตั้งแต่เช้า หญิงผู้นั้นเกรงว่าหลานทั้งสองจะได้รับอันตราย และพี่ชายซึ่งเสียสติและไม่ได้ขับรถมานานแล้ว จะก่อให้เกิดอันตรายแก่คนอื่นๆ อีก

พี่ชายของเธอคงไม่ใช่คนเครียดเพียงคนเดียวในสังคมไทยปัจจุบัน หากมีคนที่ตกเป็นเหยื่อของความเครียด ทำร้ายทั้งตนเองและผู้อื่นเพราะขาดสติอีกมาก นับตั้งแต่เสพสุราแก้กลุ้มไปจนถึงบั่นทอนความสัมพันธ์ที่ดีอันเคยมีกับคนรอบข้าง, นอนไม่หลับ, ระบบขับถ่ายไม่ทำงาน, กินข้าวไม่ลง, สุขภาพเสื่อมโทรม หรือจนถึงที่สุดบางคนก็เสียสติ นับจำนวนคนที่ตกเป็นเหยื่อของความเครียดเช่นนี้ได้เป็นล้าน กระจายไปยังคนสถานภาพต่างๆ ตั้งแต่สูงสุดถึงต่ำสุด

ผมมองไม่เห็นว่า ถ้าชาติของเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

หากทว่า เป็นหรือไม่เป็นศาสนาประจำชาติ พระพุทธศาสนาช่วยทำให้คนไทยในอดีตเผชิญปัญหาชีวิตอย่างรู้เท่าทันในระดับหนึ่งมานาน เช่นเพราะยอมรับว่าธรรมดาของชีวิตย่อมเป็นทุกข์ หาความเที่ยงแท้แน่นอนกับอะไรไม่ได้ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไรจนเกินไป จึงแก้ทุกข์ได้ด้วยการ "ปลง" มากกว่าเหล้า, ยาเสพติด, หรืออะไรอื่นที่อยู่ภายนอก

ชีวิตในโลกสมัยปัจจุบัน ซึ่งแยกผู้คนออกจากสายสัมพันธ์ที่เคยมีมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, เครือญาติ, หรือชุมชน เพิ่มความเครียดให้แก่ปัจเจกมากขึ้น ถ้าท่าทีแบบพระพุทธศาสนาไม่ใช่ท่าทีต่อชีวิตของคนไทย ก็จะมีคนเครียดที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่นเพิ่มมากขึ้นอย่างเหลือคณานับ ดังที่เราอาจได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังภยันตรายเหล่านี้ในสังคมไทยอยู่แทบจะตลอดเวลาดังปัจจุบัน

พระพุทธศาสนาอยู่ในขั้นวิกฤต
ผมยอมรับว่า สถานะของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นอยู่ในขั้นวิกฤตเสียแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะมีศาสนาอื่นมาแข่งขัน หากเป็นเพราะคนที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะเอง ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพุทธธรรมในชีวิตของตน แม้ว่าอาจทรงจำหมวดธรรมข้อต่างๆ ไว้ได้มากจากวิชาศีลธรรมที่บังคับให้เรียนในโรงเรียนมา แต่ในชีวิตจริง พระพุทธศาสนาเหลือแต่พิธีกรรม นับตั้งแต่ตักบาตร, รดน้ำมนต์, ขอพรจากสัญลักษณ์ของศาสนา เช่น พระภิกษุ, พระพุทธรูป หรือเครื่องรางของขลังนอกพระศาสนา ซึ่งพระภิกษุร่วมผลิตเชิงพาณิชย์ป้อนตลาดที่งมงายอยู่ตลอดเวลา

คิดดูอย่างนี้ก็แล้วกันว่า หลักการข้อสำคัญสุดของพระพุทธศาสนาซึ่งทำให้พระพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ก็คือ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถช่วยใครให้พ้นทุกข์ได้ หากเขาไม่ช่วยตัวเองตามพระบรมพุทโธวาท แต่สิ่งที่คนไทยผู้ประกาศตัวเป็นชาวพุทธยึดถือและปฏิบัติแพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน คือการขอพึ่งสิ่งภายนอกทั้งหลาย นับตั้งแต่ต้นไม้ประหลาด, เหรียญหลวงพ่อ, "เสด็จพ่อ", ไปจนถึงจตุคามรามเทพ, แม้แต่การเรียกร้องมาตรการประชานิยมจากรัฐ ก็พอใจอยู่แค่ "ส่วนบุญ" ที่รัฐมอบให้ แทนที่จะเป็นมาตรการอันจะเพิ่มขีดความสามารถของตนเองเพื่อให้ช่วยตัวเองได้ เช่น ปฏิรูปที่ดิน หรืออำนาจในการจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง

ความเป็นศาสนาประจำชาติที่มีรัฐธรรมนูญตราขึ้นรับรอง จะช่วยให้พระพุทธศาสนาพ้นจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร

ผมไม่เข้าใจข้อเรียกร้องให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ว่าต้องการอะไร ผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องมักอ้างว่า เพื่อบังคับให้รัฐต้องสนับสนุนพระพุทธศาสนา ผมไม่เข้าใจว่าเวลานี้รัฐไทยไม่ได้สนับสนุนพระพุทธศาสนาหรอกหรือ ถ้าการสนับสนุนหมายถึงการเงิน รัฐและสังคมไทยให้การสนับสนุนองค์กรของพระพุทธศาสนาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นวัด, ศาสนสถาน หรือคณะสงฆ์

วัดไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน, พระไม่ต้องเสียภาษีรายได้, ทำวัตถุมงคลขายก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม, การจัดงานใหญ่ๆ ของพระพุทธศาสนา เช่นงานวิสาขบูชาและอื่นๆ ใช้งบประมาณแผ่นดิน, มีหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายหน่วยงาน, สถิติชี้ให้เห็นว่าคนไทยใช้เงินสำหรับ "ทำบุญ" กับองค์กรของพระพุทธศาสนาเป็นสัดส่วนสูงมาก. แล้วองค์กรพระพุทธศาสนานำเอาการสนับสนุนด้านการเงินอย่างท่วมท้นนี้ไปทำอะไร? มีประโยชน์แก่พุทธธรรมอย่างไร ทำให้ท่าทีต่อชีวิตแบบพุทธแพร่หลายในหมู่ประชาชนอย่างไร

มุสลิมที่สูญเสียพ่อ, พี่, สามี, ลูก ฯลฯ ไปในความไม่สงบที่เกิดในภาคใต้จำนวนมาก ยอมรับว่าชะตากรรมอันโหดร้ายที่ตนได้รับนั้น เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า จึงทำใจยอมรับได้อย่างสงบ พวกเขามีท่าทีต่อชีวิตที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนามากกว่า ไทยพุทธที่ขูดหาตัวเลขกับต้นกล้วย หรือลงทุนกับเหรียญจตุคามรามเทพรุ่นรวยเฉียบพลันอย่างเทียบกันไม่ได้

ท่าทีต่อชีวิตตามแนวพระพุทธศาสนา
ระหว่างการมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กับการส่งเสริมให้ประชาชนมีท่าทีต่อชีวิตที่ไม่ยึดมั่นกับอัตตาของตนเองอย่างมืดบอด ไม่ว่าท่าทีต่อชีวิตเช่นนี้จะอยู่ในศาสนาอะไร อย่างไหนจึงจะทำให้สังคมไทยเป็น "พุทธ" มากกว่ากัน

แท้จริงแล้วความเป็น "พุทธ" ไม่ได้หมายถึงผ้าเหลือง, ธรรมจักร, วัด, หรืออื่นใดทั้งสิ้น แต่หมายถึงท่าทีต่อชีวิตที่เห็นว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมว่างเปล่า ไม่พึงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด" ต่างหาก

ถ้าการสนับสนุนมีความหมายในทางอื่นที่ไม่ใช่การเงิน เช่นปฏิรูปการศึกษาพระสงฆ์, ลงทุนกับสื่อให้ผลิตรายการเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพ และเหมาะกับผู้รับต่างวัยต่างสถานภาพ, สร้างสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพระดับโลก, ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เพื่อคืนวัดและพระให้แก่ประชาชน ฯลฯ คิดไปเถิดครับ ท่ามกลางปัญหาที่น่าวิตกเกี่ยวกับองค์กรพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน มีเรื่องที่รัฐน่าจะทำให้แก่พระพุทธศาสนาและองค์กรพระพุทธศาสนาอีกมากมาย (ไม่ใช่แค่จัดงานกลางท้องสนามหลวง, ทอดกฐิน, และปล่อยเถรสมาคมให้บริหารจัดการคณะสงฆ์ไปตามแกน เพื่อแลกกับการที่คณะสงฆ์จะไม่เป็นอะไรอื่นมากไปกว่าสาวกของรัฐ)

รัฐนำแต่ความเสื่อมมาให้พระพุทธศาสนา
แต่แน่ใจหรือว่า รัฐจะเป็นพลังผลักดันที่ดีในการพัฒนาและนำเอาพระพุทธศาสนากลับมาสู่สังคมไทย ความเสื่อมโทรมที่เกิดกับพระพุทธศาสนาซึ่งเราเห็นได้ในวันนี้ ล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางการสนับสนุนของรัฐไทยทั้งสิ้น

ก่อนหน้านั้นขึ้นไป รัฐไม่มีกำลังพอจะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาได้มากนัก สังคมเป็นผู้กำกับควบคุมองค์กรศาสนามากกว่า ทุกคนยอมรับว่าพระพุทธศาสนาในเมืองไทยสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากชีวิตและความคิดของคนไทย แตกต่างจากสมัยหลัง เมื่อรัฐมีกำลังมากขึ้นทั้งในการอุปถัมภ์และควบคุม พระพุทธศาสนากลับยิ่งห่างจากคนไทยไปจนแทบ "ไม่บอกไม่รู้" ว่าเป็นชาวพุทธ

ตรงกันข้าม แทนที่จะคิดถึงรัฐ หากเราคิดถึงสังคมไทย จะให้สังคมไทยเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์และควบคุมองค์กรมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ น่าจะเพิ่มพลังของพระพุทธศาสนาในด้านกล่อมเกลาจิตใจของคนไทยมากกว่า และถ้าต้องการสังคม ความเป็นศาสนาประจำชาติก็ไม่เกี่ยว อย่างที่ไม่เกี่ยวตลอดมานับตั้งแต่เรารับนับถือพระพุทธศาสนาเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว จนเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง

การกู้คืนจิตใจแบบชาวพุทธ
เราจะกู้คืนจิตใจแบบชาวพุทธที่แท้จริงกลับคืนสู่สังคมไทยได้อย่างไร? ผมคิดว่าเราต้องร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างพุทธบริษัทและรัฐ ทำความเข้าใจปัญหาและทางออกกันอย่างจริงจัง โดยมีรัฐให้การสนับสนุนแต่ไม่ครอบงำ ในที่สุดอาจมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวบ้าง เช่นการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์, การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ และฆราวาส, การปฏิรูปการจัดการศาสนสมบัติ, ฯลฯ แต่การใช้มาตรการทางกฎหมายโดยขาดความเข้าใจ โดยไม่สนใจต่อรากเหง้าของปัญหา หรือการยกยอพระพุทธศาสนาอย่างไร้สาระ เช่นให้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติเช่นนี้ เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมือง สำหรับการปูฐานคะแนนเสียงให้แก่ตนเองหรือพรรคพวกเท่านั้น

สรุป
รัฐไทยอาจไม่ใช่รัฐโลกียวิสัย (secular state) เหมือนรัฐตะวันตก แต่เราได้กลายเป็นรัฐโลกียวิสัยไปอย่างช้าๆ มาเกือบสองศตวรรษแล้ว และทันทีที่เราปลูกฝังสำนึกว่ารัฐของเราคือรัฐประชาชาติ เราต้องเปิดพื้นที่ทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมอันเท่าเทียมเสมอภาคให้แก่ความหลากหลายทางศาสนา, ชาติพันธุ์ และกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทุกคนเป็นเจ้าของประชาชาติไทยเท่าๆ กัน ขออย่ามีใครบนผืนแผ่นดินของ "ชาติ" เรา จะต้องรู้สึกว่าเขาเป็นแค่พลเมืองชั้นสอง เพราะเขาพูดภาษาที่ต่างจากภาษาไทย, นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ, ทำมาหากินด้วยวิถีทางที่แตกต่างจากคนอื่น, มีบรรพบุรุษและวีรบุรุษคนละคนกับคนอื่น ฯลฯ

หากเราไม่สามารถยอมรับพื้นที่อันเท่าเทียมกันของพลเมืองในรัฐได้ แปลว่าเราเองก็ไม่สามารถเป็นพลเมืองของประชาชาติได้เช่นกัน แปลว่าเรากำลังถอยกลับไปเป็นเพียง "ข้าราษฎร" ซึ่งจะมี "มูลนาย" กลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ที่เป็นเจ้าของรัฐไทยยิ่งกว่าใครอื่น และด้วยเหตุดังนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจของตนกำหนดความสัมพันธ์ในรัฐได้ตามใจชอบของตน

รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นในหลักการที่ไม่ยอมรับความเป็นรัฐประชาชาติเช่นนี้ จะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญก็เท่ากัน ร้ายไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ - ถ้ามี - ก็เป็นเพียงเอกสารสำหรับกลบเกลื่อนอำพรางอำนาจที่ฉ้อฉลและไร้ความชอบธรรมเท่านั้น

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

บุคคลที่ได้รับความภักดีต้องเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ อย่าเข้าใจว่าอุดมการณ์เป็นอะไรที่สูงส่ง ผมใช้ในความหมายง่ายๆ ว่าแนวคิดที่กำกับพฤติกรรมทางสังคมเท่านั้น เช่น คนไทยแต่ก่อน "ภักดี" ต่ออุปัชฌาย์ตลอดชีวิต เพราะมีอุดมการณ์ไทยว่าอุปัชฌาย์คือบิดามารดาคนที่สอง เป็นครูที่สร้างความเป็นคนให้แก่เรา และเป็นบุคคลที่อยู่ในเพศอันสูงคือสมณะ... คิม อิล ซุง เป็นตัวแทนของทางเลือกสังคมนิยมที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี เช่นเดียวกับเหมาในสมัยหนึ่ง และคาสโตร หรือทะไล ลามะ ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็น "ตัวแทน" ของพระ...

 

17-04-2550

Thai Politics
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.