โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 17 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๙๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (March, 17,03.2007)
R

การเมืองไทยภายใต้การรัฐประหารและสิ่งแวดล้อม
จันทรคราส รัฐประหาร-การเลือกตั้ง และสิ่งแวดล้อม
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความ ๓ ชิ้นต่อไปนี้ เคยเผยแพร่แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ประกอบด้วย
๑. รัฐประหารและการเลือกตั้ง
๒. การเมืองกับอนาคตสิ่งแวดล้อม และ
๓. คำทำนายหลังจันทรคราส

โดยเรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยอำนาจการปกครองของชนชั้นนำไทย
ส่วนเรื่องต่อมาเกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่หลายฝ่ายต้องมาช่วยกันแก้ไข
ทั้งระบบราชการที่ซื่อตรงและภาคประชาชนที่เข้มแข็ง
เรื่องสุดท้ายเป็นปัญหาเกี่ยวกับ
การคาดการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น
หากดุลอำนาจทางการเมืองเสียไป และการประเมินพลังภาคประชาชนผิดพลาด

(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๙๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

1. รัฐประหารและการเลือกตั้ง
หลายคนเชื่อว่ารัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบไทย ผมคิดว่าจริง แต่จริงภายใต้เงื่อนไขที่น่ากลัวมาก. ที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยคืออะไร สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือการแบ่งปันอำนาจกันอย่างไม่สู้ลงตัวนักระหว่างชนชั้นนำของสังคม

ในระยะแรก ชนชั้นนำได้แก่พวกอำมาตย์และเสนา ซึ่งร่วมมือกันกดดันเพื่อแบ่งปันอำนาจจากชนชั้นนำตามจารีตมาไว้ส่วนหนึ่ง ฉะนั้นในช่วงนั้น การรัฐประหาร (ทั้งโดยอาวุธและการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ-เช่น งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา) คือเครื่องมือที่จะเพิ่มพูนอำนาจที่แบ่งปันกันอย่างไม่ลงตัว ระหว่างเสนาอำมาตย์และชนชั้นนำตามจารีต ผลที่สุด ดูเหมือนฝ่ายเสนาอำมาตย์จะสามารถถือไพ่ใบเหนือกว่าได้

การสละราชสมบัติของ ร.7 ในขณะที่ ร.8 ยังทรงพระเยาว์ และสภาพของสงครามมหาเอเชียบูรพา และการเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันของ ร.8 ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายชนชั้นนำตามจารีตต้องยอมถอยออกไปจากสนามประลองกำลัง แต่เหล่าเสนาอำมาตย์ก็หาได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แย่งชิงการนำกันอย่างหนัก จนบางฝ่ายต้องหันไปร่วมมือกับกลุ่มชนชั้นนำตามจารีต ก่อการรัฐประหารจนสามารถปราบคู่ปรปักษ์ได้ แต่การรัฐประหารก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ คือ การแบ่งปันอำนาจที่ไม่ลงตัวระหว่างเหล่าเสนาอำมาตย์ฝ่ายชนะกับฝ่ายชนชั้นนำตามจารีต ซึ่งกลับเข้าสู่สนามประลองกำลังใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง แม้อย่างไม่เข้มแข็งเท่าเดิมก็ตาม

แล้วก็เกิดความแตกร้าวในหมู่เสนาอำมาตย์กันใหม่อีกรอบหนึ่ง ซึ่งต้องตัดสินกันด้วยการรัฐประหารตามเคย ฝ่ายที่ประสบชัยชนะได้รับความร่วมมือจากชนชั้นนำตามจารีตอย่างออกหน้า อีกทั้งต้องแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองจากอุดมการณ์ของเหล่าชนชั้นนำตามจารีตอย่างสุดตัว ทำให้ฝ่ายชนชั้นนำตามจารีตมีโอกาสสั่งสมบารมีและอำนาจเพิ่มพูนขึ้นในสังคม แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ถืออำนาจเด็ดขาด ยังจำเป็นต้องแบ่งปันอำนาจระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน อันประกอบด้วยคนที่มีความหลากหลายขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ได้แก่ ชนชั้นนำตามจารีต, เหล่าเสนาอำมาตย์, นักธุรกิจ (ซึ่งก็แตกตัวหลากหลายเพิ่มขึ้นตลอดมา), ปัญญาชน, เจ้าพ่อท้องถิ่น, และคนชั้นกลางระดับบน ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงยุทธศาสตร์ในสงครามเย็นของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญในการแบ่งปันอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำไทย

ในท่ามกลางการแบ่งปันอำนาจที่ไม่ลงตัวนี้ ชนชั้นนำใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง

เหตุใดจึงไม่ใช้การเลือกตั้ง? ก็เพราะการเลือกตั้งเป็นการแข่งขันที่กลุ่มชนชั้นนำส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ทรัพยากรทางการเมืองที่อยู่ในมือของตนเพื่อการแข่งขันได้ การมีฐานะเป็นผู้ถือปริญญาเอกและศาสตราจารย์ ไม่มีความหมายในการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเหล้า-เบียร์, เป็นอดีตอธิบดี หรือเป็น ม.ร.ว. ล้วนไม่ได้มีส่วนช่วยให้ชนะการเลือกตั้งเลย... และด้วยเหตุดังนั้น การเลือกตั้งจึงถูกคนกลุ่มนี้ลดความหมายให้เหลือเพียงการซื้อสิทธิขายเสียง (ซึ่งจริงเพียงส่วนเดียว)

ตรงกันข้าม การเลือกตั้งเปิดโอกาสให้บางกลุ่มในหมู่ชนชั้นนำได้เปรียบในดุลแห่งอำนาจที่ไม่ลงตัว เช่นเจ้าพ่อท้องถิ่น, ผู้นำท้องถิ่น, นักธุรกิจที่สามารถลงทุนสนับสนุนนักการเมืองและพรรคการเมือง, คนที่เข้าถึงสื่อ ฯลฯ ยิ่งระบอบเลือกตั้งดำรงอยู่นานเท่าไร คนกลุ่มนี้จะยิ่งสั่งสมอำนาจเพิ่มพูนขึ้นและมั่นคงขึ้น จนกระทั่งยากที่กลุ่มอื่นในชนชั้นนำจะต่อรองแบ่งปันอำนาจให้ "ลงตัว" แม้เพียงชั่วคราว

เพราะประชาธิปไตยแบบไทยหมายถึงการปกครองของชนชั้นนำ, โดยชนชั้นนำ และเพื่อชนชั้นนำ การเลือกตั้งและการรัฐประหารจึงเป็นเครื่องมือสำหรับการแบ่งปันอำนาจเท่าๆ กัน ใช้การเลือกตั้งหากสามารถแบ่งปันอำนาจกันได้ และใช้การรัฐประหารเมื่อรู้สึกว่าการแบ่งปันอำนาจไม่ "ลงตัว"

เป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่า การรัฐประหารในประเทศไทยไม่มีความรุนแรง ตรงกันข้ามการรัฐประหารสร้างความรุนแรงในสังคมมากกว่าการเลือกตั้ง (ซึ่งมีการฆ่าหัวคะแนนและคู่แข่งกันอยู่บ้างเหมือนกัน) เสียอีก คู่ปรปักษ์ทางการเมืองต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ หลายคนต้องจบชีวิตนอกประเทศไทย ไม่แต่เพียงผู้ที่เป็นหัวโจกของกลุ่มปรปักษ์เท่านั้น ลูกสมุนเองก็ต้องลี้ภัย หรือมิฉะนั้นก็ถูกเก็บเข้ากรุในระบบราชการ บางครั้งผู้ทำรัฐประหารสร้างคุกพิเศษสำหรับจำขังลูกสมุน

การฆ่าก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการขจัดปรปักษ์ทางการเมือง คณะรัฐประหารทุกชุดย่อมแสวงหาความชอบธรรมของตนจากการสร้างภาพความสงบเรียบร้อย และวิธีที่จะได้ภาพนั้นมาเร็วที่สุดคือความรุนแรง ฉะนั้นจึงมีผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำต้องรับเคราะห์จากคณะรัฐประหารอีกมาก บ้างถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์, บ้างต้องทิ้งครอบครัวหนีเข้าป่า, บ้างถูกทหารใช้กำลังขับไล่ออกจากเขตป่าสงวนฯ ซึ่งเคยทำกินมาหลายสิบปี, บ้างถูกสั่ง "เก็บ" ทั้งจากคณะรัฐประหารเอง หรือจากเจ้าพ่อท้องถิ่นซึ่งคณะรัฐประหารต้องการดึงมาเป็นพันธมิตร, บ้างถูกประหารชีวิตตามคำพิพากษา

ไม่แต่เพียงบุคคลที่ต้องเผชิญชะตากรรมในฐานะผู้แพ้เท่านั้น เราต้องคิดถึงครอบครัวญาติมิตรของคนเหล่านั้นด้วย เพราะชะตากรรมของเด็กและคนแก่อีกมากที่ตกเป็นเหยื่อของการรัฐประหาร เพียงเพราะพวกเขาบังเอิญมีสายสัมพันธ์กับผู้แพ้

ถึงแม้ไม่มีการหลั่งเลือดกลางถนน แต่การเมืองไทยเป็นการเมืองที่รุนแรงตลอดมา ทั้งไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองแต่อย่างใด (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแทบทุกประเทศ-ไม่ว่าเราจะชอบระบอบปกครองของเขาหรือไม่) แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า การเมืองไทยเป็นการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น และหนทางสำหรับแก้ไขความขัดแย้งโดยสงบในหมู่ชนชั้นนำมีน้อย

กลุ่มชนชั้นนำตามจารีตซึ่งได้เพิ่มพูนบารมีและอำนาจขึ้นอย่างมากในช่วงสี่-ห้าทศวรรษที่ผ่านมา จะสามารถอำนวยการนำ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในความขัดแย้งกันได้หรือไม่? ผมไม่แน่ใจในคำตอบนัก เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงสภาพการเมืองภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อันเป็นช่วงที่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมีสูงมาก (เปลี่ยนรัฐบาลผสมหลายครั้ง, ความพยายามรัฐประหารหลายครั้ง, ยุบสภาหลายครั้ง, กองทัพตบเท้าก็หลายครั้ง, จนถึงที่สุดเปลี่ยนรัฐบาลได้ไม่ใช่จากผลการเลือกตั้งแต่เป็นผลของการชุมนุมใหญ่) การนำของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงลงเลย

ที่ร้ายไปกว่านั้น การเมืองไทยซึ่งประกอบด้วยการเลือกตั้งสลับกับรัฐประหารในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ดึงเอาคนหน้าใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่คนชั้นกลางระดับกลาง (นักวิชาชีพ) ลงไปถึงชาวบ้านในท้องถิ่น แต่ไม่มีพื้นที่ในโครงสร้างชนชั้นนำเปิดให้คนกลุ่มนี้เข้าไปร่วมแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ด้วย ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จึงกระโดดไปมาระหว่างการเลือกตั้งและการรัฐประหาร แล้วแต่ว่าอย่างใดจะให้อำนาจแก่ตนมากกว่าในสถานการณ์หนึ่งๆ

โดยทั่วๆ ไปอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคนหน้าใหม่ในการเมืองไทยเหล่านี้พอใจการเลือกตั้งมากกว่า เพราะระบอบเลือกตั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มชนชั้นนำต้องฟังเสียงของตัวมากขึ้น ทำให้ระบอบเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ของการเมืองไทยหลัง 2520 เป็นต้นมา แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่รังเกียจที่จะสนับสนุนการรัฐประหาร หากพบว่าระบอบปกครองที่ได้มาลิดรอนอำนาจของตน ดังเช่นการสนับสนุนคณะรัฐประหาร (ที่ล้มเหลว) หลายครั้งภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ผมเชื่อว่า การเข้ามาในเวทีการเมืองของคนกลุ่มใหม่นี้ จะมีผลต่อการรัฐประหารด้วย นั่นก็คือจะทำรัฐประหารอย่างไรให้ได้เปรียบคู่ปรปักษ์ในหมู่ชนชั้นนำด้วยกัน และในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากคนหน้าใหม่เหล่านี้พอสมควร การรัฐประหารเริ่มกลายเป็น "การเมืองมวลชน" มากขึ้น

นอกจากนี้การเข้ามาของคนกลุ่มนี้ ยังทำให้การแบ่งปันอำนาจที่ไม่ลงตัวของกลุ่มชนชั้นนำมีความสลับซับซ้อนขึ้น ดึงให้บางกลุ่มของชนชั้นนำหันไปใช้การเลือกตั้งเพื่อชิงไหวชิงพริบในการแบ่งปันอำนาจมากกว่าการรัฐประหาร จะเหลือกลุ่มที่ต้องใช้การรัฐประหารในหมู่ชนชั้นนำน้อยกลุ่มลง (คือกลุ่มที่ไม่สามารถ หรือมีข้อจำกัดที่จะแข่งขันทั้งทางลับหรือเปิดเผยในสนามเลือกตั้ง) ทำให้เห็นได้ชัดแก่สาธารณชนมากขึ้น ซึ่งแปลว่ากลุ่มนี้ต้องรับผิดชอบต่อการรัฐประหารที่ตัวก่อขึ้นอย่างเปิดเผยมากขึ้นไปด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งคือจะกลายเป็นเป้าให้แก่การวิเคราะห์, วิพากษ์วิจารณ์, และโจมตีของสาธารณชนโดยตรง ท่ามกลางอำนาจเซ็นเซอร์ที่ไร้ประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ

ดังเช่น คมช.ไม่อาจซ่อนตัวเองเบื้องหลังรัฐบาลที่ตัวตั้งขึ้นได้มิดชิดเท่ากับ รสช.เป็นต้น ยุคสมัยแห่งการลื่นไหลกำลังจะหมดไปแก่ประชาธิปไตยแบบไทย หรือการเมืองของชนชั้นนำเสียแล้ว

2. การเมืองกับอนาคตสิ่งแวดล้อม
ผมอยู่ในเมืองที่ถูกประกาศเป็นเขตวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุที่หมอกควันปกคลุมทั่วหุบเขา เพราะอากาศกดให้นิ่งแน่อยู่อย่างนั้น

หมอกควันนั้นมาจากไหน? เท่าที่จับความได้ เขาว่ามาจากไฟไหม้ป่าในประเทศไทย, ลาว, และพม่า มีการรณรงค์ในเมืองของผมให้ชาวบ้านเลิกกำจัดขยะด้วยการเผา และถึงขนาดต่อต้านการขายหมูกระทะซึ่งมีอยู่เกลื่อนเมือง ก็จริงนะครับว่า ในบรรยากาศที่ถือว่าวิกฤตเช่นนี้ทำให้เกิดควันน้อยลงน่าจะดีแน่ เพราะมันลอยไม่พ้นแอ่งนี้ไปได้ แม้เมืองนี้มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ แต่เราไม่มีตัวเลขแน่นอนว่าหมอกควันที่ปกคลุมเมืองนี้มาจากไฟป่าสักกี่เปอร์เซ็นต์, เผาขยะกี่เปอร์เซ็นต์, หมูกระทะกี่เปอร์เซ็นต์, ครัวเรือนอีกกี่เปอร์เซ็นต์

ที่ผมอยากรู้มากที่สุดก็คือ ที่มาจากไอเสียรถยนต์กี่เปอร์เซ็นต์ และในเขตเมืองซึ่งสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุด เกิดจากการที่ตึกสูงดักเอาหมอกควันไว้อีกกี่เปอร์เซ็นต์. ที่ผมอยากรู้ก็เพราะในบรรดามาตรการต่างๆ ที่เสนอแนะกันในช่วงนี้ไม่เห็นมีมาตรการอะไรที่กระทบต่อชีวิตของคนมีสตางค์เลยสักอย่าง นอกจากให้อยู่ในบ้าน (คงในห้องแอร์และมีเครื่องฟอกอากาศ) ทำไมเฉพาะคนจนๆ คนชายขอบเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านซึ่งขจัดขยะในสภาพที่ขาดแคลนแรงงานได้ถูกที่สุดด้วยการเผา หรือชาวเขาซึ่งเป็นแพะให้แก่การทำลายป่าแทนนายทุน และข้าราชการทุจริตตลอดมา

แล้วสักวันหนึ่งข้างหน้าอากาศร้อนอบอ้าวก็จะพยุงให้หมอกควันเหล่านี้ลอยพ้นๆ หุบเขาของเราไปเสียที โดยไม่มีใครวางแผนสำหรับอากาศกดในช่วงหน้าแล้งของปีต่อไปอีก ไม่ว่าระบบขจัดขยะใหม่ที่เป็นไปได้แก่ชาวบ้าน, การขนส่งสาธารณะที่ต้องปรับปรุงเพื่อลดปริมาณของรถยนต์บนท้องถนน, การจัดการป่าที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น, หรืออะไรอื่นที่จะช่วยลดวิกฤตลง

เงื่อนไขอันแรก ที่ขาดไม่ได้ในทุกสังคม ซึ่งต้องการมีสมรรถภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมคือ ความเป็นธรรมในสังคม ตราบเท่าที่เมืองไทยไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นได้ ก็จะมีคนเล็กคนน้อยที่จะถูกชี้นิ้วว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตสิ่งแวดล้อมตลอดไป และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ในขณะเดียวกับที่ผมเผชิญวิกฤตจากหมอกควัน ผู้เลี้ยงปลากะชังในเขตติดต่อระหว่างอ่างทองและพระนครศรีอยุธยาก็ประสบความหายนะเป็นครั้งที่สองในรอบปี ปลากะชังที่เลี้ยงไว้ตายไม่เหลือ เพราะออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างกะทันหัน แต่ละรายลงทุนตั้งแต่ 500,000-2,000,000 บาท หลายรายคงเป็นเงินกู้เพราะเพิ่งประสบหายนะจากน้ำท่วมมาหยกๆ

อะไรคือเหตุที่ทำให้น้ำขาดออกซิเจนกะทันหัน เหตุนั้นไม่เป็นธรรมชาติแน่ แต่ล่วงมาหลายวันแล้ว หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ระดมกำลังที่จะค้นหาสาเหตุให้ได้ ชาวบ้านเชื่อว่าโรงงานผงชูรสแห่งหนึ่งปล่อยน้ำเสีย ซึ่งมีสารเคมีบางชนิดผสมอยู่ลงมา ชาวบ้านพยายามจะเข้าไปดูภายในโรงงานแต่ไม่ได้รับอนุญาต ส่วนหน่วยราชการไม่ได้มีความพยายามจะทำอย่างเดียวกัน และกว่าจะเข้าไปสำรวจโรงงานก็จะไม่มีพยานหลักฐานอะไรหลงเหลือให้ศึกษาวิเคราะห์อีกแล้ว

เงื่อนไขประการที่สอง ซึ่งขาดไม่ได้ในสังคมที่ต้องการมีสมรรถภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมก็คือ ต้องมีข้าราชการที่สุจริตและเป็นกลาง (integrity) และมีฝีมือในหน้าที่การงาน (competent) เพื่อทำให้เกิดรายงานวิเคราะห์ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่เที่ยงธรรม, รอบด้าน, และบ่งบอกให้เห็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจน

ข้าราชการไทยเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ก็จะเห็นได้จากกรณีทำนองเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนทั่วประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กรณีเหมืองคลิตี้ ข้าราชการเป็นผู้อนุมัติการทำเหมืองด้วยเทคโนโลยีที่อันตรายเช่นนั้นเอง เช่นอนุมัติให้กักตะกอนดินด้วยเขื่อน ซึ่งพิสูจน์มาหลายแห่งทั่วโลกแล้วว่าไม่ได้ผล เนื่องจากนายทุนย่อมไม่เพิ่มต้นทุนด้วยการสร้างเขื่อนที่แข็งแรงทนทานเกินอายุสัมปทาน

ครั้นเกิดภัยพิบัติขึ้น ผู้รับเคราะห์คือคนชายขอบที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคมอยู่แล้ว (ความเป็นธรรมในสังคม) ราชการก็ไม่เคยระบุอย่างชัดเจนว่า สารตะกั่วที่ปนเปื้อนในน้ำเป็นความรับผิดชอบของใครกันแน่ แม้แต่มาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ก็เกิดขึ้นได้เพราะคำพิพากษา ไม่ใช่มาตรการของราชการโดยตรง. กรณีแคดเมียมที่จังหวัดตากก็ทำนองเดียวกัน, กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะกับเหยื่อหลายสิบราย, กรณีควันพิษที่มาบตาพุด ฯลฯ

เราหากรรมการที่เที่ยงธรรมไม่ได้ เพราะราชการปฏิเสธหรือไม่มีกึ๋นจะเป็นกรรมการที่เที่ยงธรรมได้ ผลที่สุด ธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะของคนที่มีเส้นสายทางการเมือง ก็ไม่เคยต้องรับผิดชอบต่อภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมซึ่งตัวก่อขึ้นเลย

กรณีที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีรายงานในสื่อประปราย แต่แทบไม่มีกรณีใดที่สื่อลงทุนเข้าไปเจาะเรื่องราวอย่างละเอียด สาธารณชนผู้รับสื่อให้ความสนใจอย่างผิวเผินกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพราะรู้สึกว่าอยู่ห่างไกลตัวและไม่มีสำนึกว่าภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับทุกส่วนของระบบนิเวศ เช่นในระยะยาวสารตะกั่วที่ปนเปื้อนลำห้วยที่คลิตี้ย่อมซึมลงสู่อ่างเก็บน้ำและแม่น้ำแม่กลองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. แคดเมียมในข้าวและพืชเกษตรอื่นๆ ย่อมแทรกเข้ามาในตลาดอาหารบ้างเป็นธรรมดา. ปลาในอ่าวไทยที่ได้รับสารพิษ (บางคนว่าคือปรอท) จากโรงงานแถบมาบตาพุด จะถูกเจี๋ยนแล้ววางบนโต๊ะอาหาร ฯลฯ

เงื่อนไขอย่างที่สาม ซึ่งสังคมที่ต้องการมีสมรรถภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมต้องมีก็คือ สาธารณชนที่มีสำนึกในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะสื่อ และจะให้ผลตามมาซึ่งการจัดองค์กรด้านผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมบังคับทุน

เงื่อนไขทั้งสามอย่างคือ ความเป็นธรรมในสังคม, ข้าราชการที่สุจริตเที่ยงธรรมและมีความสามารถ, และสำนึกของสาธารณชนล้วนอ่อนแอในสังคมไทย ดังนั้น ธุรกิจย่อมลดต้นทุนการผลิตหรือแสวงกำไรเพิ่มขึ้น ด้วยการก่อภัยพิบัติทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแก่สิ่งแวดล้อมต่อไป เพราะธุรกิจรู้ดีว่าตัวจะไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่อและแก่สังคม ในกรณีร้ายแรงจริง รัฐบาลก็จะนำเงินภาษีเข้ามาเยียวยาเหยื่อเพื่อให้เรื่องยุติลงโดยเร็ว

ท่ามกลางกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ไม่แข็งแรงนัก เรายังขาดเงื่อนไขที่จะทำให้กฎหมายเหล่านั้นมีผลใช้บังคับได้จริง ในทางตรงกันข้าม หากเงื่อนไขทั้งสามเข้มแข็งขึ้นในสังคมไทย การก่อภัยพิบัติแก่สิ่งแวดล้อมกลับเป็นต้นทุนอันหนักแก่ผู้ทำธุรกิจจะไม่มีใครทำเหมืองตะกั่วอย่างสะเพร่า เพราะจะทำให้ขาดทุนยับเยิน ไม่มีใครทำเหมืองอะลูมิเนียมโดยไม่ระวังการรั่วไหลของแคดเมียม เพราะจะทำให้กำไรหดหายไปแทบหมด และผู้บริหารอาจถูกผู้ถือหุ้นใหญ่ปลด เช่นเดียวกับผงชูรส, โรงกลั่นน้ำมัน, และอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษอื่นๆ

แม้แต่การทำเหมืองโพแทชที่ต้องระมัดระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ เพราะอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างหนักได้ ก็อาจเป็นวิธีขุดโพแทชวิธีอื่น

ประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจอาจปรับตัวเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่ขาดทุน ยังทำกำไรเหมือนเดิมหรือในบางกรณีมากกว่าเดิมอีกด้วย หากสังคมนั้นมีเงื่อนไขทั้งสามพร้อมมูล

อนาคตของสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยนั้นน่าเป็นห่วง ไม่ใช่เพียงเพราะพื้นที่ป่าลดลง, น้ำจืดลดลง, น้ำท่วมบ่อย, ภัยแล้งบ่อย, ฯลฯ เท่านั้น แต่เพราะเมืองไทยไม่มีเงื่อนไขทั้งสามอย่าง ซ้ำไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลปัจจุบันหรืออนาคตจะกล้ารับความเสี่ยงทางการเมือง ในการสร้างให้เกิดเงื่อนไขทั้งสามขึ้นในอนาคตอันใกล้

3. คำทำนายหลังจันทรคราส
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยทางการเมืองย่อมมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของรัฐบาลทุกชนิดในโลก แต่ปัจจัยทางการเมืองไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่สำคัญกว่านั้นคือผลประโยชน์ระยะยาวของสังคม ซึ่งอาจขัดแย้งกับปัจจัยทางการเมืองในบางช่วงขณะ รัฐบาลที่เก่งคือรัฐบาลที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยต่างๆ โดยไม่เสียเป้าหมายหลักคือผลประโยชน์ระยะยาวได้

น่าแปลกที่รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งถูกตั้งขึ้นภายใต้สภาพรัฐประหารที่ "หยุด" การทำงานของโครงสร้างทางการเมืองลง กลับตัดสินใจทุกอย่างด้วยปัจจัยทางการเมืองเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะนอกโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกทำให้ "หยุด" ก็ยังมีโครงสร้างทางการเมืองอีกอันหนึ่งครอบอยู่ อันเป็นการเมืองที่ "ดิบ" กว่ากันมาก กล่าวคือสถาบันส่วนใหญ่ในโครงสร้างนี้ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองพอจะคุมอำนาจและบริหารโดยเปิดเผยได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ, กลุ่มธุรกิจใหญ่, นักเคลื่อนไหวในหมู่คนชั้นกลาง, ระบบราชการ, เทคโนแครต และนักวิชาการ, เอนจีโอบางสาย, นักการเมืองที่ถูกปลด หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ภายในโครงสร้าง ก็หาได้ลงตัวแน่นอนไม่ เป็นเรื่องของการต่อรองกดดันกันเอง (ไม่ต่างจากโครงสร้างทุกชนิดในโลก ย่อมมีพลวัติภายในเช่นนี้เป็นธรรมดา) ว่ากันที่จริง ครม.ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีตัวแทนจากกลุ่มเหล่านี้เกือบครบ

ครม.เองกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวทีลับๆ สำหรับการต่อรองกดดันของสถาบันต่างๆ ไปด้วย การลาออกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เอง ก็สะท้อนความตึงเครียดบนเวทีลับนี้อยู่ส่วนหนึ่ง และด้วยเหตุนั้น รัฐบาลนี้จึงไม่เคยสามารถมีนโยบายอะไรที่แน่นอนได้สักเรื่อง มาตรการทางการเงินต้องผ่อนคลายในเวลาอันรวดเร็ว ไอทีวีเดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิด ทั้งนี้ยังไม่รวมนโยบายที่ คมช.ประกาศออกมา (เหมือนเป็นรัฐบาลแฝด) ก็หาอะไรที่แน่นอนไม่ได้สักอย่าง คณะปกครองของไทยเวลานี้ ไม่มีจุดยืน มีแต่จุดกระโดด และเบื้องหลังการกระโดดไปกระโดดมานี้ ก็คือการต่อรองกดดันของสถาบันต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองนั่นเอง

เจตนาทางการเมืองอันเด็ดเดี่ยวไม่มี เพราะมีไม่ได้

โดยปราศจากทิศทางที่แน่นอน ชัดเจน เช่นนี้ เป็นธรรมดาย่อมไม่มีพลังจะผลักดันอะไรได้สักอย่างเดียว ข้าราชการที่อยู่ภายใต้รัฐบาลนี้ ย่อมอยู่ใน "เกียร์ว่าง" เป็นธรรมดาเหมือนกัน จะให้เข้าเกียร์ไปสู่อะไร ไม่มีใครสักคนบอกทิศทางแก่ข้าราชการ ขืนสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าเกียร์ เจ้านายก็อาจกระโดดหนีจากทิศทางนั้นไปเสียแล้ว เหลือแต่ตัวข้าราชการเดียวดายอยู่คนเดียว

ในขณะที่ไม่มีจุดยืนมีแต่จุดกระโดดดังกล่าว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมองอะไรให้ยาวไปกว่าเรื่องเฉพาะหน้า เช่นการลดลงของการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปลายสมัยทักษิณ รัฐบาลคิดได้แต่การส่งคนออกไปเกลี้ยกล่อมฝรั่งและญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุน อันเป็นมุมมองต่อโลกธุรกิจสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมัยที่วิสาหกิจยังเป็นของเอกชน และหาช่องทางการลงทุนตามคำเชื้อเชิญของญาติมิตร แท้จริงแล้วอุปสรรคการลงทุนของไทยนั้นมีหลายประการ เช่นที่เรียกว่า Red Tape ของระบบ, ความไม่โปร่งใสของตลาดหุ้น, การโทรคมนาคมที่ไม่ทันสมัย, ขาดกำลังแรงงานที่ขาดสมรรถภาพบางด้าน ฯลฯ แต่รัฐบาลนี้ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่เป็นพื้นฐานเหล่านั้นได้เลย

อันที่จริงนับตั้งแต่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีมาจนบัดนี้ ท่านยังไม่เคยบอกเลยว่าท่านคิดจะทำอะไร นอกจากซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม ภารกิจของรัฐบาลกลายเป็นสิ่งที่คนอื่นสร้างให้ อันได้แก่เหตุผลสี่ประการที่คณะทหารใช้อ้างเพื่อยึดอำนาจบ้านเมือง แต่นั่นเป็นภารกิจของ คปค.หรือ คมช.ในปัจจุบันต่างหาก อีกทั้ง คปค.เองก็ได้ตั้งกลไกสำหรับทำภารกิจดังกล่าวไปแล้วไม่น้อย เช่น คตส., ป.ป.ช., และองค์กรตรวจสอบอื่นๆ รัฐบาลมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ทำภารกิจนั้นแทน

เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวด้วยว่าปาฐกถาครั้งสุดท้ายของพลเอกสุรยุทธ์ที่แสดงในวันนักข่าว (ห้าเดือนหลังจากเป็นนายกฯ) ชี้ให้เห็นว่าท่านมีความเข้าใจปัญหาบางด้านของสังคมไทยได้ดี ท่านกล่าวว่าความแตกต่างทางรายได้ที่ถ่างกว้างขึ้นตลอดมาของคนรวยและคนจนในเมืองไทยนั่นแหละ คือตัวปัญหาที่แท้จริง ตราบเท่าที่ไม่ทำให้ปัญหานี้บรรเทาลง รัฐบาลใดๆ ก็ตามย่อมประสบปัญหานานัปการทั้งสิ้น และการพัฒนาประชาธิปไตยย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นภารกิจของรัฐบาลของท่าน ทั้งในวันที่รับตำแหน่งหรือหลังจากวันที่ท่านได้ปาฐกถาไปแล้ว ว่ากันไปที่จริงแล้ว น่าสงสัยด้วยว่า นอกจากท่านนายกฯ แล้ว จะมี ครม.คนอื่นเข้าถึงและเข้าใจปัญหานี้อย่างเดียวกับท่านหรือไม่ ฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็คงอยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีภารกิจอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักเรื่อง

หากในสถานการณ์อื่น รัฐบาลเช่นนี้คงมีอายุสั้นที่สุดรัฐบาลหนึ่ง แต่ในสถานการณ์ที่สถาบันต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองที่กล่าวแล้ว ล้วนมีศัตรูทางการเมืองร่วมกันคือที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ" (ไม่ว่าจะแปลว่าอะไร) จึงเป็นการยากที่จะคาดได้ว่า รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์จะมีอายุยืนยาวไปถึงส่งมอบหน้าที่ให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่

ยากที่จะคาดเดาได้พอๆ กับที่จะคาดเดาว่า ลำดับต่อไปของการเมืองไทยคืออะไร ว่าเฉพาะสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในโครงสร้างการเมืองที่กล่าวแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า การต่อรองกดดันจะทำกันบนเวทีลับเช่นนี้สืบไป ยกเว้นแต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคำนวณผิด คิดว่าจะดึงเอาคนนอกเข้ามาร่วมในการต่อรองกดดัน เพื่อความได้เปรียบของตัว เมื่อนั้นก็ไม่แน่ว่า ฝ่ายอื่นจะยอมจำนนแต่โดยดี อาจต้องใช้กำลังภายในของแต่ละฝ่ายกันมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง และไม่มีใครคุมได้อีกต่อไป โครงสร้างการเมืองแบบนี้ก็พัง

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งรู้สึกว่าสถาบันต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองดังกล่าวประเมินไว้ต่ำ นั่นคือภาคประชาสังคม ทั้งในระดับคนชั้นกลางและประชาชนระดับล่าง. ภาคประชาสังคมไทยมีประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองมาร่วมสองทศวรรษแล้ว จึงไม่มีปัญหาด้านประสบการณ์และทักษะในการจัดองค์กรอย่างแน่นอน ปัญหามาอยู่ที่ปริมาณหรือจำนวนว่าจะมีพลังเพียงพอหรือไม่ และถูกสยบให้ยอมจำนนโดยองค์กรภายนอกได้หรือไม่ ตรงนี้แหละที่ทำให้การประเมินพลังของภาคประชาสังคมอาจถูกหรือผิดได้เท่าๆ กัน

ควรกล่าวด้วยว่าภาคประชาสังคมที่ประเมินพลังได้ยาก คือภาคประชาสังคมที่ไม่ถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน จึงไม่มีโอกาสต่อรองกดดันบนเวทีลับเลย

หากรัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะที่ "รับไม่ได้" สำหรับภาคประชาสังคม หรือกระบวนการลงประชามติไม่โปร่งใส ค่อนข้างแน่นอนว่า รัฐบาลใหม่ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่อาจหาความชอบธรรมจากคนกลุ่มนี้ได้ ฉะนั้นรัฐบาลใหม่จึงเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอทางการเมืองค่อนข้างมาก (สมเจตนารมณ์ของหลายสถาบันในโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน)

แต่ยังมีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง คือการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างโครงสร้างการเมืองนี้โดยตรง โดยเฉพาะในยามที่สถาบันต่างๆ ในโครงสร้างเกิดความแตกแยกกันหนักๆ จนบางสถาบันอาจหันมาร่วมมือกับภาคประชาสังคม เมื่อนั้นก็จำเป็นต้องเผชิญหน้ากันโดยตรง และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

โอกาสของความรุนแรงจึงเกิดได้สองทาง

- หนึ่ง, หากดุลแห่งอำนาจของสถาบันต่างๆ ในโครงสร้างการเมืองเสียไป ก็อาจเกิดความรุนแรงได้
- สอง, หากภาคประชาสังคมมีพลังมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็อาจเกิดความรุนแรงได้

แม้ไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า จะต้องเกิดความรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงในทางการเมืองมาก ในระดับที่ไม่เคยเกิดในการเมืองไทยมาก่อน

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ครม.เองกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวทีลับ สำหรับการต่อรองของสถาบันต่างๆ ไปด้วย. การลาออกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เอง ก็สะท้อนความตึงเครียดบนเวทีลับนี้อยู่ส่วนหนึ่ง และด้วยเหตุนั้น รัฐบาลนี้จึงไม่เคยสามารถมีนโยบายอะไรที่แน่นอนได้สักเรื่อง มาตรการทางการเงินต้องผ่อนคลายในเวลาอันรวดเร็ว ไอทีวีเดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิด ทั้งนี้ยังไม่รวมนโยบายที่ คมช.ประกาศออกมา (เหมือนรัฐบาลแฝด) ก็หาอะไรที่แน่นอนไม่ได้สัก อย่าง คณะปกครองของไทยเวลานี้ ไม่มีจุดยืน มีแต่จุดกระโดด และเบื้องหลังการกระโดดไปกระโดดมานี้ ก็คือการต่อรองกดดันของสถาบัน

17-03-2550

Thai Politics
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com