ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปตานี
สี่กษัตริยาปตานี
: บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน
สุภัตรา ภูมิประภาส : เขียน
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นสิทธิสตรี
บทความวิชาการชิ้นเดียวกันนี้
(ฉบับร่าง) กองบรรณาธิการเคยได้รับจากผู้เขียน
เพื่อการวิจารณ์. ส่วนผลงานที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้คืองานวิชาการฉบับสมบูรณ์
ซึ่งได้เผยแพร่แล้วในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ฉบับที่ ๕ ปีที่ ๒๘ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐
เป็นตำนานเกี่ยวกับ ๔ กษัตริยาธิราช ผู้ครองนครรัฐปตานี อันนำซึ่งความรุ่งเรือง
แม้ว่าบันทึกของชาวต่างประเทศจะมองว่า ราตูเหล่านั้นเป็นเพียงหุ่นเชิด
ของเหล่าเสนาบดีชาย แต่ในตำนานต่อไปนี้ได้เปิดเผยถึงแง่มุมที่แตกต่างอย่างชาญฉลาด
ในทางการเมืองการปกครองของเหล่ากษัตริยาปตานี
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๑๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๓ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๖ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
สี่กษัตริยาปตานี (๑)
: บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน
สุภัตรา ภูมิประภาส : นักวิชาการอิสระ
นครปตานี พุทธศักราช ๒๑๒๗
ตรงกับปลายแผ่นดินพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา
ตำนานนครรัฐปตานี บันทึกนาม "ราชาฮิเจา" (๒) ราชนารีพระองค์แรกที่ก้าวขึ้นครองบัลลังก์แห่งอาณาจักรโบราณบนคาบสมุทรมลายูเมื่อพุทธศักราช
๒๑๒๗
เรื่องเล่าแห่งนครปตานีนับแต่นั้น จวบจนศตวรรษถัดมา รุ่งโรจน์ เรืองรองไปด้วยสีสันของกุศโลบายทางการเมือง สนามรบและสนามรักของสี่หญิงที่ครองอำนาจสืบต่อกันบนบัลลังก์ จากราชาฮิเจา สู่พระน้องนางเธอ "บีรู" และ "อุงงู" ถึงพระหลานเธอ "กูนิง" กษัตริยาองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ศรีวังสา ผู้ฝังกายและตำนานแห่งวิญญานรักเพื่อแผ่นดินไว้ที่ "กัมปุง ปันจอร์" (Kampung Pancor) หมู่บ้านเล็กๆ ริมฝั่งน้ำกลันตัน ในปีพุทธศักราช ๒๒๓๑
กษัตริยาในบันทึกของนักเดินทาง
นครปตานีในช่วงคริสตศตวรรษศตวรรษที่ ๑๗ ภายใต้การปกครองของสี่กษัตริยานั้นรุ่งเรืองมั่งคั่งด้วยผลประโยชน์จากการค้าทางทะเล
ขณะเดียวกันทุกพระนางต่างต้องเผชิญกับการเมืองในราชสำนักของเหล่าเสนาบดีชายที่ท้าทายพระราชอำนาจของเจ้าผู้ครองนครหญิงตลอดมาทุกรัชสมัย.
ในบันทึกของนักเดินทางจากแดนไกลบางคน เจ้าผู้ครองนครหญิงคือ "หุ่นเชิด"
บนบัลลังก์แห่งนครปตานี ภายใต้เงาเงื้อมอำนาจของเหล่าเสนาบดีชาย
นิโกลาส์ แชรแวส (Nicholas Gervaise) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงรัชสมัยของราชินีกูนิง บันทึกเกี่ยวกับนครปตานีไว้ว่า
"แม้เจ้าผู้ครองนครหญิงจะได้รับการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุดในฐานะผู้ครองบัลลังก์ แต่แท้จริงแล้ว พระนางไม่ได้รับอนุญาตให้เกี่ยวข้องกับกิจการทางการเมืองที่อยู่ในเงื้อมมือของเสนาบดีชาย คณะเสนาบดีจะเลือกระหว่างกันเองให้ได้ผู้ที่มีความสามารถสูงสุดมาปกครองนครรัฐในนามของพระนาง แต่พวกเขาไม่ปฏิเสธสิ่งอื่นใดที่พระราชินีมีพระราชประสงค์เพื่อความเกษมสำราญส่วนพระองค์ แม้พวกเขาไม่ยินยอมให้พระนางอภิเษกสมรส แต่ไม่ขัดขวางที่พระนางจะมีบุรุษไว้ข้างกายเพื่อถวายความเกษมสำราญส่วนพระองค์ พวกเขาจัดสรรงบประมาณสำหรับที่ประทับ พัสตราภรณ์ ทูลถวายตามพระราชประสงค์ รวมทั้งจัดหาบุหงามาศ (๓) พร้อมเครื่องบรรณาการส่งไปสานสัมพันธ์กับกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในนามขององค์ราชินี"
ฤานักเดินทางจากแดนไกลมิอาจเข้าถึงความเร้นลับแห่งราชสำนัก
ตำนานนครรัฐปตานีบอกเล่าเรื่องราวของกษัตริยาไว้แตกต่างไปจากสิ่งที่นักเดินทางบันทึกไว้. เรื่องราวแห่งราชสำนักปตานีในยุคของสี่พระนางนั้นสลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เต็มไปด้วยสีสันสว่างไสวและเมฆหมอกอึมครึมของความรัก ความใคร่ เล่ห์กลและคาวเลือดของสงครามภายในและภายนอก เพื่อรักษาบัลลังก์ จนผู้มาจากแดนไกลมิอาจหยั่งรู้
หากเจ้าผู้ครองนครหญิงไร้ซึ่งอำนาจเหนือบัลลังก์ เป็นเพียงหุ่นเชิดของบรรดาขุนนางชายตามบันทึกของบาทหลวงนิโกลาส์ แชรแวส, เหตุใดเล่า...ราตูฮิเจา จึงทรงปรีชาสามารถส่งทอดบัลลังก์ไปสู่พระน้องนางเธอทั้งสองพระองค์ และบังลังก์นครปตานียังตกทอดสู่ เจ้าหญิงกูนิง พระธิดาของราชินีอุงงู, เหตุใดหรือ...ทั้งสี่พระนางจึงสามารถนำพานครรัฐปตานีไปสู่ยุคที่รุ่งเรือง มั่งคั่งที่สุดในทุกตำนานเล่าขานของอาณาจักรปตานี
ฤาจริงแท้แล้ว กษัตริยาทั้งสี่พระนางบนบัลลังก์ที่แวดล้อมด้วยขุนนางบุรุษ มิได้เป็นเพียง "หุ่นเชิด" ตามข้อสังเกตการณ์ของบุรุษจากต่างแดน หากบรรดาพระนางเลือกที่จะเป็นผู้ชมเหนือเล่ห์กลของเหล่าเสนาบดี ที่โรมรันห้ำหั่นซึ่งกันและกัน รวมทั้งปฏิบัติการต่างๆ ท้าทายอำนาจของพระนาง เพื่อแผ้วทางก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดเหนือนครปตานี ซึ่งในท้ายสุด คนเหล่านี้ต่างประสบชะตากรรมลึกลับซ่อนเงื่อนจากไป ไม่มีผู้ใดทราบว่าบุรุษเหล่านั้นหายไปไหน แต่พวกเขาไม่เคยคืนกลับมาทำสิ่งใดให้ระคายพระเนตรพระกรรณของบรรดาพระนางอีกต่อไป
พระนามแห่งสายรุ้ง : นิรมิตแห่งชีวิตสามราชนารี
สุลต่านมันซูร์ ซาฮ์ (๔) (Manzur Syah) เจ้าผู้ครองนครปตานีพระราชทานนามให้พระธิดาทั้ง
๓ พระองค์ตามสีสวยของสายรุ้ง "ฮิเจา" หมายถึงสีเขียวอบอุ่น "บีรู"
คือสีฟ้าสวยใส และ "อุงงู" คือสีม่วงละมุน พระนามที่สุลต่านประทานแก่พระธิดาทั้งสาม
เป็นนิมิตหมายรุ่งเรืองแห่งชีวิตภายหน้าของสามขัตติยนารี แม้สุลต่านมิอาจทรงพระชนมชีพยืนยาว
ที่จะเห็นนครปตานีที่รุ่งโรจน์ราวสายรุ้งสลับสายภายใต้การปกครองของพระราชธิดาทั้งสามของพระองค์
แต่พระนามแห่งสายรุ้งที่สุลต่านรังสรรค์ประทานไว้แก่พระธิดานั้น เป็นนิรมิตที่ประจักษ์แจ้งแก่ชีวิตผู้คนบนอ่าวปตานี
และกลายเป็นตำนานเล่าขานสืบมาเหนือกูโบร์แห่งราชา
ราตูฮิเจา : บนบัลลังก์เลือดและปตานีที่รุ่งโรจน์
พุทธศักราช ๒๑๒๗-๕๙ (๕)
สุลต่านมันซูร์ ซาฮ์ สิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๑๑๕ ทิ้งพระราชธิดา ๓ พระองค์ไว้กับบรรดาพระประยูรญาติฝ่ายชาย
และเสนาบดีที่หลั่งเลือดฟาดฟันกันเพื่อแย่งชิงบัลลังก์ปตานี
เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงฮิเจามีพระชนม์เพียง ๒๐ พรรษา แม้ทรงเป็นราชธิดาที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี แต่เพราะเป็นสตรี จึงมิได้อยู่ในลำดับชั้นของการสืบทอดราชบัลลังก์ตามโบราณราชประเพณี ตลอด ๑๒ ปีหลังพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงฮิเจาและพระน้องนางทั้ง ๒ พระองค์ประทับอยู่ในวังหลวง(๖) เฝ้ามองความผันแปรบนบัลลังก์ที่ละเลงไปด้วยโลหิตของพระเชษฐา และพระอนุชาต่างชนนีจนนครปตานีสิ้นรัชทายาทชายที่จะขึ้นครองบัลลังก์
เจ้าหญิงฮิเจาจึงได้รับการสถาปนาเป็น "ราชาฮิเจา" กษัตริยาพระองค์แรกแห่งนครรัฐปตานี ในปีพุทธศักราช ๒๑๒๗. เพียงไม่กี่เดือนที่ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ ราตูฮิเจาต้องเผชิญกับการท้าทายของมหาอำมาตย์และเหล่าเสนาบดีเพื่อทดสอบบารมีของเจ้าผู้ครองนครหญิง. ตำนานนครรัฐปตานี (๗) บันทึกไว้ถึงความเยือกเย็นของราตูฮิเจาเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเจ้าเมืองสาย (๘) ที่นำทหารจากเมืองสาย อุกอาจบุกเข้ามาถึงท้องพระโรง ณ พระที่นั่งอิสตานานีลัม แต่บรรดาขุนนางแห่งราชสำนักกลับวางเฉย ไม่มาปรากฏกายถวายอารักขาแก่องค์กษัตริยา
ราตูฮิเจาเสด็จออก ณ ท้องพระโรง พร้อมราชองครักษ์ ๒ นาย ข้าราชบริพารและนางกำนัลประจำพระองค์ พระนางทรงเครื่องภูษาสีเขียวแห่งพระนาม คล้องพระศอด้วยบุปผามาลัยร้อยสายด้วยด้ายทองคำ ทรงยืนเป็นสง่าอยู่เหนือบันไดขั้นสูงสุดของราชอาสน์ เบื้องล่างมีราชองครักษ์ ๒ นาย พร้อมดาบประจำกายถวายอารักขาอยู่ บรรดาข้าราชบริพารและนางกำนัลหมอบกายอยู่ ณ พื้นท้องพระโรง
พลันที่เจ้าเมืองสายปรากฏกายเบื้องพระพักตร์ ราตูฮิเจาทรงถอดมาลัยจากพระศอโยนพระราชทานให้โดยมิได้ทรงเปิดพระโอษฐ์เจรจาสิ่งใด ท่ามกลางความงุนงงของผู้ติดตาม เจ้าเมืองสายหมอบลงรับพวงมาลัยนั้นมาพันไว้รอบศีรษะ พร้อมทั้งวางกริชประจำกายบนพื้นท้องพระโรงเบื้องพระพักตร์นางกษัตริย์ ถวายคำนับเบื้องพระบาท พร้อมเปล่งวาจาถวายพระพรให้บุญญาบารมีขององค์กษัตริยานำความมั่งคั่งเพิ่มพูนสู่บัลลังก์ปตานี จากนั้นราตูฮิเจาเสด็จกลับเข้าที่ประทับโดยมิได้รับสั่งสิ่งใด
เจ้าเมืองสายกล่าวกับบรรดาผู้ติดตามว่า มาลัยคล้องพระศอที่องค์กษัตริยาพระราชทานนั้น คือเครื่องหมายที่พระนางขอชีวิต แต่นัยยะแห่งมาลัยคล้องพระศอและความเงียบของราตูฮิเจาอาจลึกล้ำเกินกว่าเจ้าเมืองสายแปรความหมาย ด้วยตำนานนครรัฐปตานีบันทึกไว้ว่า วันรุ่งขึ้น เจ้าเมืองสายนำไพร่พลเดินทางกลับเมืองสาย และไม่เคยกลับมาเหยียบแผ่นดินปตานีให้ระคายพระเนตรพระกรรณอีกเลย
แต่ตำนานมิได้เล่าต่อว่าที่เจ้าเมืองสายมิได้กลับมาเหยียบปตานีนับแต่นั้น ด้วยเหตุเพราะไว้ชีวิตราตูฮิเจา หรือเพราะเจ้าผู้ครองนครหญิงใช้อำนาจจัดการกับการจาบจ้วงของเจ้าเมืองสายอย่างเงียบๆ เช่นเดียวกับการจัดการกับเสนาบดีอื่นๆ ที่ล่วงละเมิดพระราชอำนาจของพระนาง
ในความสงบเยือกเย็นของเจ้าผู้ครองนครหญิง กลิ่นคาวเลือดยังคงคาวคลุ้งอยู่ในราชสำนัก หากครั้งนี้มิใช่ด้วยโลหิตของฝ่ายเจ้าผู้ครองนคร เฉกเช่นที่เคยเกิดในยุคสมัยของเจ้านครชาย แต่เป็นชีวิตและโลหิตของบรรดาขุนนางที่เคยร่วมกันวางแผนปลงพระชนม์เจ้าผู้ครองนครพระองค์ก่อน และรัชทายาทชาย ซึ่งเป็นพระเชษฐาและอนุชาธิราชขององค์ฮิเจา พระนางประทับเหนือบัลลังก์ ทอดพระเนตรดูชะตากรรมและความตายของบรรดาบุรุษ ทรงวางพระองค์อยู่เหนือโศกนาฎกรรมในราชสำนัก โดยไม่มีผู้ใดกล้ากล่าวสิ่งใดให้ระคายพระกรรณ
รักเร้นของนางกษัตริย์
และกุศโลบายแห่งรักเพื่อแผ่นดิน
กว่าทศวรรษที่ทอดพระเนตรเฝ้ามองการเมืองในราชสำนัก ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจบนบัลลังก์
ไม่มีผู้ใดทราบว่าเจ้าหญิงฮิเจาในฐานะราชธิดาองค์ใหญ่ของอดีตสุลต่านมันซูร์ ซาฮ์
ได้ทรงแอบเรียนรู้การเมืองระหว่างรัฐเหนือคาบสมุทรมลายู เจ้าหญิงฮิเจาทรงตระหนักถึงอิทธิพลของรัฐยะโฮร์
ที่รุ่งโรจน์เป็นคู่แข่งทางการค้าของนครปตานีเหนือคาบสมุทร หากเจ้าหญิงทรงนิ่งสงบด้วยไม่มีกิจอันใดต้องเกี่ยวข้อง
ตราบจนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริยาแห่งนครรัฐปตานี
แต่ขณะที่บรรดาเสนาบดีมิใส่ใจกับเจ้าผู้ครองนครหญิง ที่พวกเขาหมายให้เป็นเพียงหุ่นเชิดในวังวนของการแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก ราตูฮิเจาทรงดำเนินกุศโลบายเพื่อรักษาราชอำนาจของพระองค์ทั้งในราชสำนักและบนคาบสมุทรไว้อย่างแยบยล
กุศโลบายแรกของพระองค์ คือการสร้างตำนานรักเพื่อแผ่นดินด้วยการพระราชทาน "เจ้าหญิงอุงงู" พระน้องนางองค์เล็กให้เสกสมรสเป็นมเหสีแห่งเจ้านครปะหัง ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสัมพันธ์ฉันญาติสนิทกับเจ้านครปะหัง เพื่อคานอำนาจของรัฐยะโฮร์ที่ทรงอิทธิพลเป็นคู่แข่งบนคาบสมุทรมลายู ณ เวลานั้น
พิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงอุงงูกลายเป็นตำนานบทแรกแห่งรักเพื่อแผ่นดินที่ถูกเล่าขานในตำนานนครรัฐปตานี หากแต่รักเร้นของพระพี่นางฮิเจา กลับลึกลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อนอยู่ในบันทึกของนักเดินเรือจากยุโรป. เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๑๕๒ ข่าวลือเรื่องรักเร้นลับของกษัตริยาแห่งนครปตานี ปรากฏในบันทึกของ Admiral Cornelis Matelieff นายพลเรือชาวดัตช์ ผู้บังคับการกองเรือที่บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลแลนด์ส่งมายังมะละกา. ข่าวลือนั้นแพร่งพรายมาจากเจ้าชายสะเบอรัง (Raja Saberang) พระอนุชาของสุลต่านแห่งยะโฮร์ ที่กล่าวหาว่า เจ้านครปตานีใช้เล่ห์เพทุบายและมนต์มายาแห่งอิสตรีครอบงำพระเชษฐาของพระองค์ไว้
เรื่องราวแห่งรักเร้นของราตูฮิเจามิปรากฏในบันทึกหรือตำนานใดนอกจากนี้ หากพระราชอำนาจของพระนางที่เล่าขานกันสืบมานั้น มิได้จำกัดอยู่ในราชสำนักปตานีเท่านั้น แต่ได้แผ่อิทธิพลเหนือนครรัฐใกล้เคียงตราบจนสิ้นพระชนมชีพ
ในปลายรัชสมัยของพระองค์ เมื่อความสัมพันธ์กับรัฐปะหังเริ่มขม สุลต่านแห่งปะหังผู้เป็นน้องเขยเริ่มมีข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอต่างๆ ของนครปตานีเฉกเช่นเคย ราตูฮิเจาทรงแสดงพระราชอำนาจด้วยการมีพระราชบัญชาให้สกัดกั้นเรือสินค้าทุกลำจากอ่าวปตานีที่จะเดินทางไปสู่รัฐปะหัง และมีพระราชโองการให้เสนาบดีส่งกองทัพเรือ ๗๐ ลำ พร้อมกับกำลังพล ๔,๐๐๐ นาย ไปยังนครปะหังพร้อมกับคำทูลเชิญให้สุลต่านปะหัง พาพระมเหสีอุงงู กลับมาเยือนแผ่นดินเกิด สุลต่านแห่งปะหังมิอาจแข็งขืน เสด็จพร้อมพระมเหสี และเจ้าหญิงกูนิง พระธิดา มายังนครปตานีตามคำทูลเชิญเชิงบังคับของเจ้านครปตานี
ปีเตอร์ ฟลอริส (Peter Floris) พ่อค้าชาวดัตช์ผู้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าในงานเลี้ยงรับรอง ที่จัดถวายโดยกลุ่มพ่อค้าชาวยุโรปบันทึกไว้ว่า ราตูฮิเจาทรงมีพระวรกายสูงสง่า เสด็จมาพร้อมกับเจ้าหญิงรัชทายาท "บีรู" และพระน้องนาง "อุงงู" มเหสีของเจ้านครปะหัง ที่จากแผ่นดินเกิดไปนานเกือบ ๓๐ ปี ทั้ง ๓ พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ ขณะที่สุลต่านแห่งปะหังนั้นดูไร้ความสุข และไม่ได้รับการถวายพระเกียรติอย่างที่ควร
เจ้านครปะหังประทับอยู่ที่ปตานีเป็นเวลา ๑ เดือน จึงถวายบังคมลาราชาฮิเจา พาพระมเหสีอุงงูและพระราชธิดาคืนสู่นครปะหัง
ช่วงปลายรัชสมัย ๗ ปีก่อนสวรรคต ราตูฮิเจาเก็บพระองค์อยู่ในอาณาเขตของพระราชวัง เหล่าพสกนิกรจะมีโอกาสชื่นชมพระบารมีขององค์กษัตริยาเฉพาะในวโรกาสที่พระองค์เสด็จออกในราชพิธีล่าควายป่า และในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่พระองค์และเจ้าหญิงรัชทายาท "บีรู" เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคเพื่อให้พสกนิกรชื่นชมพระบารมี โดยมีกองเรือ ๖๐๐ ลำ ตามเสด็จ. ทั้ง ๒ พระองค์ทรงพระเกษมสำราญกับงานเฉลิมฉลองท่ามกลางสีสันและกลิ่นหอมของดงบุหงาที่ประดับประดาไปทั่วเมือง ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในนครปตานีได้ร่วมจัดมหรสพถวายด้วย. ในราชพิธีล่าควายป่าขององค์กษัตริยานั้น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับบรรดาชาวยุโรปที่ตามเสด็จ พวกเขาตื่นเต้นสนุกสนานกับการยิงปืนคาบศิลาขึ้นฟ้าเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง
ราตูฮิเจาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๕๙ สิริรวมเวลาที่ทรงพระราชอำนาจเหนือบัลลังก์ยาวนานถึง ๓๒ ปี กว่า ๓ ทศวรรภายใต้การปกครองของกษัตริยาพระองค์แรกนั้น นครปตานีอุดมสมบูรณ์ รุ่งโรจน์ราวรุ้งสีเขียวแห่งพระนาม
ปีเตอร์ ฟลอริส ผู้มาพำนักในนครปตานีระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๕๕-๕๖ ช่วงปลายรัชสมัยของราตูฮิเจา บันทึกไว้ว่า...อ่าวปตานียามค่ำคืน ณ เวลานั้น สว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากเรือสินค้าจากอยุธยา บรูไน จัมบี (Jambi-เมืองท่าฝั่งเหนือของชวา) มากัสซาร์ (Makasar) โมลุกกะ (Moluccas) จีน ญี่ปุ่น กัมพูชา เกาะสุมาตรา และเรือสินค้าจากฮอลแลนด์ อังกฤษ และโปรตุเกส...
ราตูบีรู : นางพญาตานี
และกษัตริยาแห่งสหพันธรัฐปตานี
นครปตานี พุทธศักราช ๒๑๕๙-๖๗ (๙)
เจ้าหญิงรัชทายาท ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "ราตูบีรู" กษัตริยาองค์ที่
๒ แห่งนครปตานี ในปีพุทธศักราช ๒๑๕๙. ตลอดกว่า ๓ ทศวรรษ ที่ปฏิบัติภารกิจในฐานะเจ้าหญิงรัชทายาทเคียงข้างพระพี่นางฮิเจา
ราตูบีรูทรงตระหนักได้ว่า ความรุ่งโรจน์ของนครปตานีในฐานะเป็นเมืองท่าสำคัญของการค้าบนคาบสมุทรมลายูนั้น
ได้ทำให้นครปตานีกลายเป็นเป้าหมายของของกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ณ เวลานั้น
ประสบการณ์การเมืองและการทูตที่เรียนรู้สั่งสมครั้งเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท ทำให้ราตูบีรูทรงเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์กับสยามไว้อย่างชาญฉลาด ในขณะที่ยังคงสืบต่อพระราชวิเทโศบาย สมัยพระพี่นาง ด้วยการส่งบุหงามาศมาสานไมตรีกับเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา. อีกด้านหนึ่งราตูบีรูทรงส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าสุลต่านเมืองกลันตัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐปตานี เพื่อต่อต้านอิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา
เมื่อผลการเจรจาผ่านคณะทูตไม่เป็นที่พอพระทัย ราตูบีรูได้เสด็จด้วยพระองค์เองไปเยือนกลันตัน ในครั้งนี้สุลต่านกลันตันทรงมีความเห็นคล้อยตามข้อเสนอของราตูบีรู ในการรวมตัวเข้าเป็นสหพันธรัฐปตานี (๑๐) แต่มีเงื่อนไขว่า กลันตันต้องคงอำนาจปกครองเหนือดินแดนตนเอง และจะไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการหรือภาษีจากกลันตันให้กับนครปตานี
เพื่อรักษาอธิปไตยเหนือแผ่นดินปตานี ราตูบีรูยังได้สร้างกำแพงเมืองแข็งแกร่งที่ชาวเมืองเรียกขานกันว่า "กำแพงบีรู" ทั้งยังมีบัญชาให้หล่อปืนใหญ่ไว้ใช้ในการปกป้องนครยามเกิดศึกสงคราม ในการหล่อปืนใหญ่นั้น พระองค์มีพระบรมราชโองการให้รวบรวมทองเหลืองทั้งหมดที่มีในพระนคร เพื่อใช้ในการหล่อปืน ทรงสั่งห้ามพสกนิกรขายทองเหลืองที่มีอยู่ในครอบครองให้กับชาวต่างชาติเป็นระยะเวลา ๓ ปี แต่ให้นำมาขายกับพระองค์ หากผู้ใดฝ่าฝืนผู้นั้นต้องรับโทษประหารชีวิต
ทองเหลืองที่รวบรวมได้นั้นนำมาหล่อปืนใหญ่ได้ ๓ กระบอก(๑๑) ซึ่งราตูบีรูพระราชทานนามว่า ศรีนครา, ศรีปตานี, และมหาเลลา
นอกจากพระราชกุศโลบายเพื่อปกป้องรักษาเอกราชของสหพันธรัฐปตานีแล้ว ราตูบีรูยังมีสายพระเนตรกว้างไกลในการดำเนินพระราชวิเทโศบาย เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะที่เหล่าเสนาบดียังคงโรมรันพันตูอยู่กับการเมืองในราชสำนัก ราตูบีรูทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายตามรอยยุคลบาทของพระพี่นางผู้ล่วงลับ พระองค์ทรงส่งเสนาบดีไปเชิญพระน้องนางอุงงู มเหสีม่ายของเจ้านครปะหัง(๑๒) และเจ้าหญิงกูนิง พระราชธิดากลับมาประทับที่นครปตานี
หลังจากนั้น พระองค์ทรงสร้างตำนานรักเพื่อแผ่นดินบทที่ ๒ ของนครปตานี ด้วยการพระราชทาน "เจ้าหญิงกูนิง" พระนัดดาวัย ๑๒ ปี ที่ร่ำลือกันนักว่าทรงพระสิริโฉมงดงามและมีพระฉวีสีเหลืองนวลลออตา ให้เสกสมรสกับออกญาเดโช บุตรชายของเจ้าเมืองลิกอร์ (๑๓) ที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชกุศโลบายเพื่อสานสัมพันธ์แนบแน่นกับสยามที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้น
นิรมิตแห่งพระนาม "บีรู" สีฟ้าสวยใสของสายรุ้งนั้น เป็นที่ประจักษ์แจ้งในตำนานนครรัฐปตานี ถึงความเป็นกษัตริยานักการทูตที่อ่อนนอกแข็งใน พระจริยวัตรอ่อนหวานขององค์ราตูบีรูนั้น ซ่อนไว้ด้วยเล่ห์กลทางการเมืองที่ทั้งขุนนาง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน และผู้รุกรานมิอาจหยั่งถึง ด้วยพระปรีชาสามารถ พระราชกุศโลบายแห่งรักเพื่อแผ่นดินที่ราตูบีรูดำเนินสืบต่อมาจากพระพี่นางฮิเจา อาณาจักรโบราณนามปตานี จึงยังคงรุ่งโรจน์เรืองรองภายใต้รัชสมัยของพระองค์ พสกนิกรยังคงดำเนินชีวิตรื่นรมย์สืบเนื่อง มิได้มีศึกสงครามมากล้ำกรายให้ชีวิตที่สงบสุขในนครปตานีต้องเปลี่ยนแปรไป
ราตูบีรูสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๑๖๗
ราชินีอุงงู : กษัตริยาผู้ลบตำนานรัก
สร้างตำนานรบเพื่อแผ่นดิน
พุทธศักราช ๒๑๖๗-๗๘๑๔
พุทธศักราช ๒๑๖๗ มเหสีม่ายอุงงูแห่งเจ้านครปะหัง ได้รับสถาปนาเป็นกษัตริยาองค์ที่
๓ แห่งบัลลังก์นครปตานี พระนางคือตำนานบทแรกแห่งรักเพื่อแผ่นดิน เกิดเมื่อครั้งที่พระพี่นางฮิเจาทรงมีบัญชาให้เสกสมรสกับเจ้าผู้ครองนครปะหัง
เพื่อรักษาอำนาจของนครปตานีเหนือคาบสมุทรมลายู. เกือบ ๓ ทศวรรษนับแต่นั้น พระมเหสีอุงงูมิได้มีโอกาสคืนกลับมาเยือนมาตุภูมิอีกเลยจวบจนปลายรัชสมัยของพระพี่นางฮิเจา
ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ได้ว่าเจ้าหญิงอุงงู ขมขื่นหรือปรีดากับการต้องจากมาตุภูมิ สำหรับการเป็นตำนานรักบทแรกเพื่อแผ่นดินที่มีพระพี่นางฮิเจาเป็นผู้กำกับ
เมื่อราตูบีรูขึ้นครองบัลลังก์นครปตานี มเหสีอุงงูพาพระราชธิดากูนิงเสด็จกลับมาประทับที่ปตานี ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท เนื่องเพราะราตูบีรูมิได้เสกสมรส มเหสีอุงงูถวายความจงรักภักดีแก่พระพี่นางในพระราชกุศโลบายตำนานรักบทที่ ๒ เพื่อแผ่นดินปตานี โดยมิได้ทรงแข็งขืนคัดค้าน เมื่อราตูบีรูพระราชทานเจ้าหญิงกูนิงให้เสกสมรสกับออกญาเดโช เพื่อสานสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยา (๑๔)
ในราชพิธีฉลองการเสกสมรสอลังการระหว่างเจ้าหญิงกูนิงกับออกญาเดโช ไม่มีผู้ใดคาดเดาพระหทัยของมเหสีม่ายแห่งรัฐปะหังได้ว่าเป็นเช่นไร พระมเหสีสงบนิ่งอยู่ในความเงียบ ยอมรับพระบัญชาขององค์กษัตริยาบีรู ขณะที่เจ้าหญิงกูนิงนั้นเยาว์วัยเกินกว่าที่จะคิดถึงกาลภาคหน้าแห่งชีวิตสมรส. พระนางอุงงูทรงนิ่งสงบอยู่ในหนทางแห่งการทูต เพื่อแผ่นดินตราบจนสิ้นรัชสมัยของราตูบีรู
หากพลันที่ขึ้นครองบัลลังก์ปตานี ขุนนางและพสกนิกรจึงประจักษ์แจ้งถึงความในพระหทัยของราชินีอุงงูว่า ทรงเกลียดชังสยามเพียงใด พระนางทรงตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงศรีอยุธยา ไม่ยอมรับคำนำหน้าพระนาม "พระนางเจ้าหญิง"(๑๕) ที่กษัตริย์สยามทรงเรียกขานเจ้านครหญิงของปตานีตั้งแต่รัชสมัยของพระพี่นางฮิเจา ทรงยุติการส่งบุหงามาศราชบรรณาการไปถวายกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทั้งยังส่งกองทัพไปตีเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชที่อยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาด้วย (๑๖)
แผ่นดินปตานีในรัชสมัยของราชินีอุงงูระอุไปด้วยไฟสงครามผสานไฟแค้นในพระหทัย ราชินีอุงงูทรงเตรียมพระนครเพื่อการพร้อมรบอยู่เสมอ ทรงมีบัญชาให้สร้างกำแพงเมือง ๑๐ ชั้น ล้อมพระนครเพื่อป้องกันการโจมตีของกรุงศรีอยุธยา ป้อมปราการริมฝั่งน้ำปาปีรี ณ เวลานั้นถูกประดับด้วยปืนใหญ่ที่พร้อมจะสาดกระสุนใส่ข้าศึกตลอดเวลา
ช่วงปลายรัชสมัย องค์กษัตริยายังได้ทรงแปลงตำนานรักของพระราชธิดากูนิงเป็นตำนานรบเพื่อแผ่นดิน พระองค์ทรงท้าทายพระราชอำนาจของเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ด้วยการประทานเจ้าหญิงกูนิงผู้เป็นภรรยาของออกญาเดโช (๑๗) ให้เสกสมรสกับเจ้านครยะโฮร์
การเปิดศึกรบจากตำนานรักนี้ ทำให้แผ่นดินปตานีลุกเป็นไฟ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยามีพระราชบัญชาให้ออกญาเดโชนำกองทัพประกอบด้วยไพร่พลกว่าครึ่งแสนมาตีเมืองปตานี(๑๘) ราชินีอุงงูทรงออกบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง มีสุลต่านยะโฮร์ ราชบุตรเขยพระองค์ใหม่นำทหารจากนครยะโฮร์ร่วมรบ ด้วยความแข็งแกร่งของกำแพงบีรู หัวใจสู้ของข้าแผ่นดิน และปืนใหญ่ศรีนครา ศรีปตานี และมหาเลลา ผสมกับการขาดประสบการณ์การรบทางทะเลของกองทัพกรุงศรีอยุธยา ทำให้ออกญาเดโชต้องถอยทัพกลับไปด้วยหัวใจแหลกสลาย
๑๘ เดือนหลังการศึก ราชินีอุงงูสิ้นพระชนม์ ทิ้งบัลลังก์ปตานีไว้ให้พระธิดากูนิงครอบครอง
ราชินีกูนิง : รักที่เลือกไม่ได้
และบทสุดท้ายของตำนานรักเพื่อแผ่นดิน
พุทธศักราช ๒๑๗๘
หลังพระราชพิธีฝังพระศพราชินีอุงงู สุลต่านยะโฮร์ทรงลามเหสีกูนิงกลับไปบริหารราชการแผ่นดินในรัฐยะโฮร์ของพระองค์
โดยขอให้พระมารดาและพระอนุชาประทับอยู่ต่อที่นครปตานี พร้อมทั้งทหารของนครยะโฮร์จำนวนหนึ่ง
เพื่อถวายคำปรึกษาและอารักขามเหสีกูนิง ซึ่งได้รับการสยุมพรเป็นเจ้านครปตานีองค์ใหม่
เมื่อขึ้นครองบัลลังก์ สิ่งแรกที่ราชินีกูนิงทรงทำคือบริจาคราชทรัพย์ส่วนพระองค์เข้าพระคลังหลวง ซึ่งเล่ากันว่าทรัพย์สมบัติของพระนางนั้นมากมายมหาศาล ต้องใช้เวลาขนถึง ๓ วัน ๓ คืน. ตำนานนครรัฐปตานียังเล่าว่าราชินีกูนิงทรงเป็นเจ้านครที่มั่งคั่งที่สุด ทั้งจากราชทรัพย์ที่ตกทอดมาจากอดีตเจ้าผู้ครองนครหลายพระองค์ และจากกิจการค้าส่วนพระองค์. ในรัชสมัยของพระนาง, องค์กูนิงมิได้ทรงใช้งบประมาณจากพระคลังเลย ทรงมีรายได้จากการค้าขายพืชผลจากสวนเกษตรส่วนพระองค์ โดยมี "นักโฮดา ซันดัง"(๑๙) เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ให้ ประชาชนเรียกนักโฮดา ซันดัง ผู้นี้ว่า "พ่อค้าของพระราชินี"
ยุคของราชินีกูนิงเป็นยุคที่การค้าของปตานีรุ่งโรจน์ที่สุด แต่ตำนานรักของพระนางที่ถูกบันทึกไว้นั้นกลับแสนเศร้า. ตำนานนครรัฐปตานีเล่าว่า, เมื่อสุลต่านยะโฮร์ต้องกลับไปบริหารบ้านเมืองของพระองค์ พระอนุชาของสุลต่านได้ข่มเหงพระนาง หลังจากนั้นกลับเปลี่ยนผันปันใจไปมีสัมพันธ์สวาทกับนางดัง สีรัต นักร้องในคณะอุปรากรของวังหลวง. ดัง สีรัต เป็นหญิงร่างใหญ่ ใบหน้าอัปลักษณ์ แต่มีเสียงไพเราะมาก เจ้าชายยะโฮร์ทรงหลงใหลนางมาก ประทานทุกอย่างที่ดัง สีรัต ปรารถนาและวางแผนที่จะแยกไปตั้งเมืองใหม่และสถาปนานางเป็นพระชายา
พระมารดาของสุลต่านและพระอนุชาที่ยังประทับอยู่ที่ปตานีพร้อมพระนมของเจ้าชายเชื่อว่า นางดัง สีรัต ใช้มนต์ดำทำเสน่ห์ให้พระอนุชาลุ่มหลง บรรดาเสนาบดีและข้าราชบริพารในราชสำนักปตานีต่างไม่พอใจกับพฤติกรรมของเจ้าชายเมืองยะโฮร์ และเมื่อข่าวที่เจ้าชายจะสถาปนา ดัง สีรัต เป็นพระชายาแพร่สะพัดทั่วนครปตานี เหล่าเสนาบดีจึงเข้าเฝ้าเพื่อขอให้ราชินีกูนิงมีพระราชวินิจฉัย แต่พระราชินีกลับมอบหมายให้เป็นภารกิจของเสนาบดีที่จะตัดสินว่าจะจัดการอย่างไร เพียงแต่ขอให้ไว้ชีวิตของเจ้าชายไว้
เจ้าชายแห่งยะโฮร์มิทรงล่วงรู้ถึงแผนการใดของคณะเสนาบดีแห่งองค์ราชินีปตานี ด้วยอยู่ในภวังค์ลุ่มหลงนางดัง สีรัต เจ้าชายทรงเรียกคณะมนตรีแห่งนครรัฐเข้าเฝ้าและมีรับสั่งให้ตามเสด็จพระองค์ไป ณ ตัมบังงัน(๒๐) เพื่อร่วมพิธีสถาปนานางดัง สีรัต. เจ้าชายเสด็จล่วงหน้าพร้อมนางดัง สีรัต และมหาดเล็กชาวอาเจะห์ของพระองค์ พร้อมไพร่พลทหารจากนครยะโฮร์ ประทับรอคณะเสนาบดีแห่งราชสำนักปตานีที่ไม่ปรากฏกายจวบจนราตรีผ่านพ้น
เจ้าชายทรงรับทราบข่าวร้ายเมื่อฟ้าสางว่า คล้อยหลังขบวนเสด็จของพระองค์ ราชสำนักปตานีสั่งปิดประตูเมืองและติดตั้งปืนใหญ่รอบป้อมเมือง พระองค์รับสั่งให้มหาดเล็กไปสืบข่าวและดูให้เห็นกับตา เมื่อทราบว่าข่าวร้ายเป็นจริง เจ้าชายทรงพานางดัง สีรัต โดยเสด็จมุ่งหน้าสู่ปาซีร์ เบนดาราจา (Pasir Bendaraja) ระหว่างทางขบวนเสด็จของพระองค์ถูกชาวปตานีตามไล่ล่า มหาดเล็กชาวอาเจะห์ของพระองค์ถูกฆ่า ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเจ้าชายทรงตัดสินพระทัยสังหารนางดัง สีรัต ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองที่หมู่บ้านตีนเขาตาบิห์ (Bukit Tabih) ศพของนางดัง สีรัต ถูกฝังไว้ ณ ตีนเขาตาบิห์แห่งนี้
เรื่องราวของเจ้าชายเมืองยะโฮร์และนางดัง สีรัต ถูกเล่าสืบต่อ ณ หมู่บ้านที่กลายเป็นสุสานของนางดัง สีรัต เป็นบทเพลงท้องถิ่นขับขาน ความว่า
กาลครั้งหนึ่งนานมา นกเขาตัวหนึ่งโรยแรงสิ้นลม ...เจ้านกเขาตกตายอยู่ใต้พุ่มไม้
กาลครั้งหนึ่งนานมา เจ้าชายแห่งนครยะโฮร์เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ ...พระองค์เสด็จมาที่นี่และสังหารดัง สีรัต
จากนครปตานีสู่ตันหยง ...เจ้าชายถูกไล่ล่าแตกพ่ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้...
เมื่อฝังศพนางดัง สีรัต แล้ว เจ้าชายยะโฮร์ประทับช้างทรงบ่ายหน้าสู่เมืองสาย เมื่อราชินีกูนิงทรงทราบข่าว จึงมีพระบัญชาไปยังเจ้าเมืองสายให้จัดเตรียมเรือไว้ให้เจ้าชาย เจ้าชายและไพร่พลที่เหลือของพระองค์ลี้ภัยกลับถึงนครยะโฮร์อย่างปลอดภัยได้ด้วยเรือ ๒ ลำและเสบียงอาหารที่เจ้าเมืองสายจัดเตรียมไว้ให้ตามพระบัญชาของราชินีแห่งนครรัฐปตานี
ตำนานนครรัฐปตานีเล่าไว้ว่า องค์กูนิงยังมีพระเมตตาบัญชาให้ราชาเลลา (๒๑) เชิญเสด็จพระมารดาของสุลต่านแห่งยะโฮร์รวมทั้งพระประยูรญาติและบ่าวไพร่ไปส่งยังนครยะโฮร์อย่างปลอดภัย
แต่ในจดหมายด่วนของพ่อค้าชาวดัตช์ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (๒๒) ที่ส่งโดยเรือเที่ยวพิเศษจากมะละกาไปยังนครปัตตาเวีย (๒)๓ กลับเล่าเรื่องราวแตกต่างไปจากบันทึกในตำนานนครรัฐปตานี เขาเล่าว่า ความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นระหว่างนครยะโฮร์และปตานี ได้รับการยืนยันจากหลายฝ่ายว่ามีความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่าง สุลต่านยะโฮร์ และ บรรดาขุนนางในราชสำนักปตานี. พระอนุชาของสุลต่านยะโฮร์ทรงหนีรอดไปได้ แต่พระมารดา พระประยูรญาติ และบ่าวไพร่ของพระองค์ถูกสังหารหมด
บุหงามาศ-บรรณาการสานสัมพันธ์กับสยาม
ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปตานีในรัชสมัยพระมารดาอุงงูนั้นแสนขม บ้านเมืองไพร่พลต้องกรำศึกตั้งรับการรุกรานของสยามอยู่เสมอ
แต่เมื่อองค์กูนิงขึ้นครองราชย์และกษัตริย์สยามทรงเปลี่ยนนโยบายแสดงพระราชประสงค์ที่จะรื้อฟื้นไมตรีกับปตานี
โดยมีสุลต่านเมืองเคดะห์ (๒๔) เป็นผู้เชื่อมสัมพันธ์ ราชินีพระองค์ใหม่จึงทรงโอนอ่อนเมื่อพระเจ้าปราสาททองทรงส่งคณะทูตจากสยามมาเข้าเฝ้า
(๒๕) ราชินีกูนิงได้ทรงส่งคณะผู้แทนไปเยือนราชสำนักสยามเพื่อทูลถวายบุหงามาศ
(๒๖) เป็นบรรณาการสานสัมพันธ์สองนคราเช่นกัน และในปีพุทธศักราช ๒๑๘๔ พระนางเจ้าหญิงกูนิงได้เสด็จเยือนอยุธยา
เพื่อตอกย้ำสัมพันธไมตรีที่ยุติสงครามระหว่างสยามกับปตานีตราบจนสิ้นรัชสมัยของพระนาง
ศึกสายเลือดเมืองกลันตัน
กับบัลลังก์นครรัฐปตานี
ในฐานะเจ้าผู้ครองนครรัฐปตานี อันเป็นศูนย์กลางของสหพันธรัฐปตานี(๒๗) ราชากูนิงถูกเรียกร้องให้เข้าไปจัดการปัญหาความขัดแย้งในราชสำนักกลันตันซึ่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐปตานีที่จัดตั้งขึ้นในรัชสมัยของราชาบีรู,
กษัตริยาองค์ที่ ๒ แห่งนครปตานี กับสุลต่านอับดุลกาเดร์ แห่งกลันตัน
แม้ว่าเงื่อนไขในการรวมตัวเป็นสหพันธรัฐปตานีนั้น ระบุว่าเมืองกลันตันยังคงอำนาจปกครองเหนือดินแดนตนเอง และจะไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการหรือภาษีจากกลันตันให้กับนครปตานี แต่เมื่อมีความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจปกครองเกิดขึ้นภายในราชสำนัก เจ้าผู้ครองนครรัฐปตานีใหญ่ (สหพันธรัฐ) ถูกเรียกร้องให้เข้าไปจัดการปัญหา
เรื่องราวความขัดแย้งภายในของเมืองกลันตันที่ถูกเล่าไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ปัตตานี" ที่เขียนโดย อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เป็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อสายของอดีตสุลต่านอับดุลกาเดร์ โดยเมื่อสุลต่านสิ้นพระชนม์ เกิดการแย่งชิงบัลลังก์กันระหว่างพระโอรสและพระอนุชาของสุลต่าน
ราชาอับดุลลอฮุ พระอนุชาของสุลต่าน ประกาศปลดปล่อยเมืองกลันตันออกจากนครปตานี ยึดอำนาจปกครองในเขตพื้นที่เมืองลอร์ และเมืองเยอลาซิน (Jelasin) ตรงไปยังตอนเหนือ. ฝ่ายราชาซักตีที่ ๑ พระโอรสของสุลต่าน ทรงยึดอำนาจปกครองบริเวณเมืองปังกาลันดาตู และพื้นที่ตอนใต้รวมทั้งหมดของพื้นที่กลันตันตะวันตก
ในช่วงต้นของรัชสมัยของพระนาง ปี พ.ศ. ๒๑๘๑ ราชินีกูนิงทรงได้ให้การรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ราชาซักตีที่ ๑ ว่าเป็นดาตูแห่งกลันตัน(๒๘) ที่ถูกต้อง แต่พระนางไม่ทรงจัดการใดๆ กับราชาอับดุลลอฮุที่แยกปกครองกลันตัน จนกระทั่งราชาอับดุลลอฮุสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๘๙ โดยมีราชาอับดุลราฮิมสืบต่ออำนาจ
การวางเฉยของราชินีกูนิงสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายราชาซักตีที่ ๑ และชาวเมืองกลันตันที่อยู่ข้างพระองค์ ราชาซักตีจึงทรงรวบรวมไพร่พลเข้าโจมตีสุลต่านอับดุลราฮิมก่อน เพื่อรวบรวมกลันตันให้เป็นหนึ่งเดียว เมื่อสังหารสุลต่านอับดุลราฮิมแล้ว ราชาซักตีจึงทรงเดินทัพเข้าโจมตีอำนาจส่วนกลางที่นครปตานี ราชินีกูนิงทรงพ่ายแพ้ในการศึกครั้งนี้ ต้องเสด็จลี้ภัยมุ่งหน้าไปยังรัฐยะโฮร์ของอดีตพระสวามี
หากพระวรกายของพระนางมิอาจตรากตรำกับการเดินทางในสภาพขัดสน และต้องฝ่าคลื่นลมกลางทะเล พระนางทรงประชวรและต้องหยุดประทับพักที่เมืองปังกาลันดาตู ที่กลายเป็นที่ประทับของพระนางชั่วนิรันดร์ พระศพของพระนางถูกฝังไว้ ณ หมู่บ้านปันจอร์
ในที่สุด ตำนานของราชวงศ์ศรีวังสาที่สร้างเมืองปตานี และตำนานรักและรบเพื่อแผ่นดินของสี่นางกษัตริย์แห่งอดีตนครรัฐปตานีที่เคยทรงอำนาจเหนือคาบสมุทรมลายู จึงได้จบลงที่หมู่บ้านชนบทริมฝั่งน้ำกลันตันแห่งนี้
+++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(๑) รัตติยา สาและ ดุษฎีบัณฑิตด้านวรรณคดีมลายูขนบนิยม จาก Universiti Kebangsaan Malaysia ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชื่อเรียกเมืองปัตตานีในสมัยโบราณไว้ ในรายงานการวิจัยเรื่อง "การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส" ว่า "หลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่ปรากฏในบันทึก หรือตำนานของต่างชาติมีการกล่าวถึงชื่อเมืองปัตตานีด้วยนามต่างๆ กันตามแต่สำเนียงการออกเสียงของผู้ที่เป็นเจ้าของผลงานนั้นๆ เช่น ชาวมลายูออกเสียงเป็น "ปตานี" ชาวอาหรับออกเสียง "Fathoni" (ฟาฏอนี) ชาวสยามออกเสียง "ปัตตานี" หรือ "ตานี" ชาวอินเดียออกเสียง "Patanam" หรือ "Patane" ส่วนบันทึกของชาวตะวันตกเขียนเป็น "Patani", "Patania", "Patana", "Patanij", "Patany", "Pattania", "Pathanani", "Pathane" และอื่นๆ สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของภาษามลายูถิ่นปตานี จะออกเสียงเหมือนกันหมดทุกคนว่า "ปตานิง" (/Ptaning/)"
(๒) ในตำนานนครรัฐจะใช้คำว่า "ราชา" (Raja) นำหน้าชื่อเจ้าผู้ครองนครรัฐและแคว้นต่างๆ ทั้งหญิงและชาย แต่ในงานวิชาการและงานเขียนส่วนใหญ่ในยุคหลัง (ศตวรรษที่ ๒๐) ที่เกี่ยวกับปตานีมักจะใช้คำนำหน้าเจ้าผู้ครองนครหญิงว่า "ราตู" (Ratu) ซึ่งในพจนานุกรมภาษามาเลเซียและภาษาอินโดนีเซียในปัจจุบัน แปลว่า "ราชินี"
(๓) คือดอกไม้ทองที่ใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักต่างๆ ตามประเพณีโบราณ
(๔) เจ้าผู้ครองนครปตานีองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์ศรีวังสา ทรงปกครองปตานีระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๐๗-๑๕
(๕) ช่วงที่ราตูฮิเจาทรงครองนครปตานี สยามมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินถึง ๕ ครั้ง คือ ช่วงปลายรัชสมัยพระมหาธรรมราชา-พระนเรศวรมหาราช-พระเอกาทศรถ-พระศรีเสาวภาคย์ และพระเจ้าทรงธรรม (พระอินทรราชา)
(๖) หนังสือ "ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี" (Sejarah Kerajaan Melayu Patani) ของ อิบรอฮิม ชุกรี บันทึกไว้ว่า พระราชวัง (kota istana) ตั้งอยู่ริมฝั่งคลอง ตรงข้ามกับหมู่บ้านเปาะตานี (Kampung Pak Tani) อันเป็นบริเวณบ้านกรือเซะปัจจุบัน ประตูราชวังหันออกไปยังฝั่งน้ำสะดวกกับการเอาเรือเข้าออก ลำคลองนี้ชื่อ "คลองปาปีรี" ชาวบ้านเรียกว่า "สุไหงแปแปรี" ปัจจุบันได้ถูกถมไปหมดแล้ว
(๗) Hikayat Patani
(๘) ปัจจุบันคืออำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
(๙) ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม (อินทรราชา) แห่งกรุงศรีอยุธยา
(๑๐) อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เขียนไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ปัตตานี" (Pengantar Sejarah Patani) ว่าการรวมดินแดนครั้งนี้เป็นการรวมดินแดนครั้งที่ ๒ ที่กลันตันเข้าไปอยู่ในสหพันธรัฐปตานี หรือรัฐปตานีใหญ่ การรวมดินแดนครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๔๕ แต่สิ้นสุดในปลายปี พ.ศ. ๒๐๖๗
(๑๑) บางตำนานเล่าว่า ปืนใหญ่ทองเหลืองทั้ง ๓ กระบอกของนครปตานี หล่อขึ้นในสมัยของ "พญาตู อินทิรา" กษัตริย์ปตานีองค์แรกแห่งราชวงศ์ศรีวังสา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนพระนามเป็น "อิสมาอีล ซาฮ์" (บางตำนานเรียกพระนามว่า "มูฮัมหมัด ซาฮ์") ทรงเป็นพระอัยกาของราตูบีรู
พุทธศักราช ๒๓๒๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระบรมราชโองการให้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจัดทัพไปตีเมืองปตานีจนยึดเมืองได้สำเร็จ ระหว่างนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงได้รับแจ้งว่าพบปืนใหญ่ทองเหลือง ๒ กระบอก จึงทรงบัญชาให้กองทัพขนปืนใหญ่ ๒ กระบอกนั้นลงเรือมาเก็บไว้ที่กรุงเทพฯ แต่เรือที่บรรทุกปืนใหญ่นามศรีนคราโดนพายุจมหายไปในระหว่างขนย้าย เรือรบหลวงขนปืนใหญ่นาม "ศรีปตานี" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "พญาตานี" ปัจจุบัน ปืนทองเหลืองกระบอกนี้ตั้งไว้ที่หน้ากระทรวงกลาโหม ตรงข้ามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
* ตำนานอื่นๆ เกี่ยวกับปืนพญาตานี อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความของปรามินทร์ เครือทอง เรื่อง "พญาตานี : ปืนใหญ่ในอดีตอันรุ่งเรืองของ กษัตริยาแห่งปัตตานี" ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓ (มกราคม ๒๕๔๗) หรือจากเว็บไซต์ http://www.siamsouth.com/ptnhis.htm
(๑๒) สุลต่านปะหัง พระสวามีของราตูอุงงูสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๑๕๗
(๑๓) Ligor เป็นชื่อที่ชาวตะวันตกเรียกเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น
(๑๔) เป็นช่วงที่ราชสำนักสยามมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ๓ ครั้ง คือ ปลายรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม-พระเชษฐา-พระอาทิตยวงศ์ และพระเจ้าปราสาททอง
(๑๕) ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี" ของ อิบรอฮิม ชุกรี ระบุว่าชาวปตานีก็ได้เอ่ยคำนำหน้าพระนามของเจ้านครหญิงตามที่กษัตริย์สยามเรียกขาน แต่ออกเสียงเพี้ยนจาก "พระนางเจ้าหญิง" เป็น "นางจาเย็ง" หรือ "นาชาแย"
(๑๖) พุทธศักราช ๒๑๗๓ เมื่อทรงทราบข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาจัดเตรียมทัพมาโจมตีปตานี ราชินีอุงงูจึงทรงชิงส่งกองทัพจากปตานีไปตีเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราช เพื่อตัดกำลังกองทัพกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากกษัตริย์กรุงศรีอยุธยามีพระราชบัญชาให้กองทัพเมืองพัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลาร่วมโจมตีนครปตานีอยู่เสมอ
(๑๗) ณ เวลานั้น ออกญาเดโชทูลลาเพื่อไปปฏิบัติภารกิจในกรุงศรีอยุธยา
(๑๘) พุทธศักราช ๒๑๗๕ พระเจ้าปราสาททอง ทรงส่งกองทัพจากกรุงศรีอยุธยามาสมทบกับทัพของออกญาเดโชจากนครศรีธรรมราช บุกโจมตีนครปตานี แต่ไม่สำเร็จ
(๑๙) Nakhoda Sandang-Nakhoda เป็นคำเปอร์เซียโบราณที่ใช้เรียก "กัปตันเรือ"
(๒๐) Tambangan คือบ้านตัมบังงัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างตำบลเมาะมาวี กับตำบลปรีกี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
(๒๑) ชื่อของดาโต๊ะ มหาราชาเลลา (Datuk Maharaja Lela) ปรากฏในรายงานของนายพลเรือชาวดัตช์ "สปีลแมน" (Admiral Cornelis Speelman) ที่ส่งถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (VOC) ว่าเป็นเสนาบดีจากนครปตานีที่อพยพมาที่มากัสซาร์ และกลายเป็นผู้นำชุมชนชาวมาเลย์ในมากัสซาร์. สปีลแมน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกองเรือของ VOC ที่ส่งไปที่มากัสซาร์ในปี พ.ศ. ๒๒๐๙
(๒๒) Jeremias van Vliet คนไทยมักจะเรียกชื่อเขาว่าวันวลิต เคยเป็นหัวหน้าสถานีการค้าของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๗๒-๗๗ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการเมืองมะละกาในปี พ.ศ. ๒๑๘๕ จดหมายดังกล่าวส่งไปยังนครปัตตาเวียในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๑๘๗
(๒๓) ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ต้า เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย
(๒๔) Kedah คือเมืองไทรบุรีใต้การปกครองของสยามในสมัยนั้น ปัจจุบันคือรัฐเคดะห์ในประเทศมาเลเซีย
(๒๕) เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๑๗๘ สยามส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนครปตานี
(๒๖) เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๑๗๙ ราชินีกูนิงทรงส่งคณะผู้แทนไปเยือนสยาม และในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน พระนางทรงมีบัญชาให้คณะผู้แทนนำบุหงามาศถวายเป็นบรรณาการแก่กษัตริย์สยาม
(๒๗) สหพันธรัฐปตานีที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๖๒ โดยราชินีบีรูแห่งนครปตานี และสุลต่านอับดุลกาเดร์แห่งรัฐกลันตัน
(๒๘) ดาตู (Datu) เป็นตำแหน่งของผู้ปกครองกลันตันในสมัยนั้น ใช้แทนตำแหน่ง "สุลต่าน" ที่ได้มีการยกเลิกหลังจากกลันตันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐปตานี
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
ฤาจริงแท้แล้ว กษัตริยาทั้งสี่พระนางบนบัลลังก์ที่แวดล้อมด้วยขุนนางบุรุษ มิได้เป็นเพียง "หุ่นเชิด" ตามข้อสังเกตการณ์ของบุรุษจากต่างแดน หากบรรดาพระนางเลือกที่จะเป็นผู้ชมเหนือเล่ห์กลของเหล่าเสนาบดี ที่โรมรันห้ำหั่นซึ่งกันและกัน รวมทั้งปฏิบัติการต่างๆ ท้าทายอำนาจของพระนาง เพื่อแผ้วทางก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดเหนือนครปตานี ซึ่งในท้ายสุด คนเหล่านี้ต่างประสบชะตากรรมลึกลับซ่อนเงื่อนจากไป ไม่มีผู้ใดทราบว่าบุรุษเหล่านั้นหายไปไหน แต่พวกเขาไม่เคยคืนกลับมาทำสิ่งใดให้ระคายพระเนตรพระกรรณของบรรดาพระนางอีกต่อไป