โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 12 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๑๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 12, 04,.2007)
R

การเสวนาและคำชี้แจงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย
ปกิณกะสยาม: จากจักรพรรดิราช ถึงการเปลี่ยนนามประเทศ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ข้อมูลจากเว็บไซต์ประชาไท และอีเมล์ที่ได้รับจาก ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ปกิณกะสยามนี้ เป็นการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย
ซึ่งนำมาจากการสัมนาในหัวข้อ "พระมหากษัตริย์ จักรพรรดิราช และพื้นที่ทางวัฒนธรรม"
รวมกับจดหมายอีเล็กทรอนิก การรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศไทย
ไปเป็นประเทศสยาม โดยให้มีการระบุลงในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ที่กำลังร่างอยู่
สำหรับบนเนื้อที่เว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับการนำเสนอดังหัวข้อต่อไปนี้
๑. พระมหากษัตริย์ จักรพรรดิราช และพื้นที่ทางวัฒนธรรม
๒. จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้กำหนดนามประเทศว่าสยาม แทนไทย
๓. Siam for the Future: เรื่องนามประเทศสยาม (ชี้แจงเพิ่มเติม)
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๑๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปกิณกะสยาม: จากจักรพรรดิราชถึงการเปลี่ยนนามประเทศ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

1. พระมหากษัตริย์ จักรพรรดิราช และพื้นที่ทางวัฒนธรรม
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย : สุเนตร ชุติทรานนท์, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีศักร วัลลิโภดม

ความนำจากประชาไท: อ่านปัจจัยใดที่หล่อหลอมความเป็นพระมหากษัตริย์สู่ความเป็น 'จักรพรรดิราช' แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บนพื้นที่วัฒนธรรม 'กรุงเทพมหานคร' ในมุมมอง

- 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' นักประวัติศาสตร์การเมืองวัฒนธรรม
- 'ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม' นักวิชาการทวนกระแสนักโบราณคดีสายหลักที่เอาแต่จดข้อมูลตามวิทยาศาสตร์ และ
- 'สุเนตร ชุติทรานนท์' ผู้ใช้หลักฐานทางพม่า คลี่คลายทัศนะผิดๆ เกี่ยวกับพม่าในทางประวัติศาสตร์

อ่านข้อมูลพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจสังคมไทย ที่พระมหากษัตริย์มีบทบาทอย่างถึงจิตวิญญาณ ในโอกาสที่
นักวิชาการทั้งสามมาบรรจบกันเนื่องในมหามงคลสมัย 'ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี' ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเป็นวงเสวนา 'กรุงเทพฯ พื้นที่ทางวัฒนธรรมของ มหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยาราชธานีวงศ์ - พระราม' ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ, มหาวิทยาลัยศิลปากร. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา

1.1 จักรพรรดิราช
สุเนตร ชุติทรานนท์: ผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หากคิดถึงสถานภาพของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคจารีต หรือพระมหากษัตริย์บ้านเมืองอื่นในอุษาคเนย์ ความเป็นจักรพรรดิราชเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในการสำแดงพระองค์ให้เป็นที่ปรากฏ เพราะการสำแดงพระองค์มีหลายแบบ

- แบบแรก คือสำแดงตนเป็นธรรมราชา เป็นความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับราษฎร มีทศพิธราชธรรมเป็นบรรทัดฐาน

- แบบที่สอง คือสำแดงตนเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นผู้ปกครองที่แสดงความเอื้ออาทรต่อปากท้องประชาราษฎร์ แบบนี้พระมหากษัตริย์พม่าเก่งมาตั้งแต่สมัยพุกาม หรือเขมรในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็มีลักษณะนี้ เช่นสร้างโรงพยาบาลตามที่ต่างๆ ที่มีอิทธิพลมาถึงบางส่วนของดินแดนไทยในปัจจุบัน ส่วนผู้นำไทยก็มี เช่น พระเจ้าลิไท และรัชกาลที่ 1

- แบบที่สาม สำแดงตนเป็นจักรพรรดิราชนั้น ไม่อยู่ในเรื่องความสัมพันธ์กับประชาราษฎร์ แต่จะใช้แสดงต่อเจ้าต่างแดน ในลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้หมุนกงล้อต่างๆ เช่น กงล้อแห่งธรรม หรืออาวุธที่หมุนไปมีอิทธิพลตามทวีปอื่น เช่น จักร. ตรงนี้จะต่างจากความเป็นธรรมราชาหรือพระโพธิสัตว์ เพราะต้องแสดงความเหนือกว่าเจ้าต่างแดนทั้งหลาย เป็นราชาแห่งราชา. ในอินเดียก็มี มองโกลก็มี เช่น ข่านเหนือข่าน

คติราชาเหนือราชาของไทยมีพื้นฐานยึดโยงกับอินเดียเป็นหลัก คติเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราชมีต้นตอหรือต้นแบบอย่างน้อยสี่คติความเชื่อ

- คติแรก คือพราหมณ์ฮินดู
- คติที่สอง พุทธเถรวาท
- คติที่สาม พุทธมหายาน และ
- คติที่สี่ อาจจะมีเรื่องพระเจ้าราชาธิราชของศาสนาเชนด้วย

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ของไทยก็มาจากคติไตรภูมิพระร่วงที่กล่าวถึงความเป็นจักรพรรดิราช เป็นพื้นฐานของพุทธเถรวาท ซึ่งเน้นในเรื่องการแผ่อำนาจด้วยวิธีสันติ และบุญญาบารมี อันปกครองได้ทั้งสี่ทวีป

ทว่าเมื่อดูกันจริงๆ ทั้งกษัตริย์พม่าหรือไทยเวลาแผ่อำนาจ จะไม่อาศัยวิธีอันสันติเลย มักขยายพระราชอำนาจด้วยวิธีการค่อนข้างใช้กำลังเป็นหลัก แนวคิดนี้ผนวกมาจากความเชื่อสายมหายานที่บอกว่าพระเจ้าจักรพรรดิราชนั้นมีสี่ประเภท

ประเภทแรก คือ จักรพรรดิ 'จักรทอง' แผ่พระราชอำนาจโดยธรรม ซึ่งครอบครองได้ทั้งสี่ทวีป
ประเภทที่สอง จักรพรรดิ 'จักรเงิน' แผ่พระราชอำนาจโดยธรรม ซึ่งครอบครองได้สามทวีป
ประเภทที่สาม จักรพรรดิ "จักรทองแดง' แผ่พระราชอำนาจโดยธรรม ซึ่งครอบครองได้สองทวีป และ
ประเภทสุดท้าย จักรพรรดิ 'จักรเหล็ก' ใช้กำลังแผ่พระราชอำนาจ ปกครองแค่ชมพูทวีปทวีปเดียว

พม่าก็อ้างแค่การเป็นจักรพรรดิจักรเหล็ก คือขอครองชมพูทวีปแห่งเดียวก็เพียงพอ. พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาเองก็คล้ายกัน คือใช้กำลังเป็นที่ตั้ง หากพิจารณาตามคติสายพุทธหมายถึงยอมรับเพียงการเป็นจักรพรรดิ"จักรเหล็ก"เท่านั้น

ความเชื่อจักรพรรดิราชที่เก่าแก่กว่านั้น มาจากศาสนาฮินดูซึ่งค่อยๆ แผ่อิทธิพลมายังศาสนาพุทธในภายหลัง ในคัมภีร์ต่างๆ ของศาสนาฮินดู จะพูดเรื่องจักรพรรดิที่ครองเมืองจากเหนือไปจรดใต้ คือจากเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงฝั่งสมุทร ความเชื่อแบบนี้งอกเงยไปในสายของประเทศเขมร มีปรากฏหลักฐานเป็นจารึกที่ปราสาทสะด๊อกก็อกธม

ต่อมาเขมรเมื่อนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ก็มีความเชื่อของมหายานเข้าไปผสมผสานด้วย เช่น จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระบุว่า มีพระราชอำนาจแผ่ไปจรดอีกฝั่งสมุทรหนึ่ง ความเชื่อนี้มาปรากฏในสมัยสุโขทัยเช่นกัน หากเชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 สร้างในสมัยนั้น อำนาจของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ระบุไว้ก็ไปจรดฝั่งสมุทรเช่นกัน

สรุปได้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยสามารถแสดงความเป็นจักพรรดิราชได้ในหลายลักษณะ ไม่ใช่แค่มาจากทางคัมภีร์ไตรภูมิเพียงอย่างเดียว มีคติมาจากหลายที่หลายทางแล้วจับมาเป็นรูปลักษณ์เพื่อสำแดงตนให้ปรากฏ

นอกจากนี้การเป็นจักรพรรดิราชไม่ได้สำแดงตนเพียงในด้านอุดมคติ แต่จะมองหาต้นแบบทางประวัติศาสตร์เพื่อบอกว่ามีสถานะเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ในอดีตพระองค์นั้น โดยต้นแบบที่ถูกอ้างถึงมากในช่วงแรกคือ 'พระเจ้าอโศก' อันนี้สามารถพบได้ทั้งหลักฐานในพม่าและสุโขทัย

ทว่าคนในพื้นถิ่นนั้นกลับไม่พอใจนัก ตรงนี้มีพลวัตรภายในเองด้วย ภายหลังจึงอ้างถึงพระมหากษัตริย์ในพื้นที่แทน องค์แรกที่ถูกอ้างคือพระเจ้าอนิรุทธ ปรากฏเป็นตำนานทั้งในพม่า มอญ ไทยไปจนถึงเขมร. องค์ต่อมาคือพระเจ้าราชาธิราชของมอญ ถูกบุเรงนองยกเอามาเป็นต้นแบบ โดยพูดถึงกฤษฎาภินิหารต่างๆ อาจเป็นเพราะตัวบุเรงนองเองไม่มีเชื้อกษัตริย์ที่แน่ชัด จึงต้องสร้างภาพลักษณ์ของราชาธิราชที่ยิ่งใหญ่ และแสดงตัวตนให้เป็นพระเจ้าสิบทิศ

ทีนี้มาในยุคต้นกรุงเทพบ้าง พงศาวดารที่ปรากฏในช่วงต้นกรุงกล่าวอ้างถึงกษัตริย์ เพื่อเทียบความเป็นจักรพรรดิราชไว้สองพระองค์ด้วยกัน องค์แรกคือ "พระเจ้าหงสาวดี", ส่วนองค์ที่สองคือ "พระนเรศวร"

ในช่วงต้นกรุงนั้นต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ

ปัญหาแรก คือการไม่อ้างถึงหรือยอมรับราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา และให้ภาพความเป็นผู้ร้ายที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่มีหลักฐานในการสืบสันตติวงศ์จากกรุงศรีอยุธยาจึงต้องหาต้นแบบใหม่ ต้องอ้างความเป็นธรรมราชา, อ้างความเป็นพระโพธิสัตว์, และจักรพรรดิที่ไม่ต้องสืบสายเลือด แต่มีบุญบารมี. ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องชาตินิยม มีแต่ความคิดราชาเหนือราชา จึงต้องอ้างถึงภาพของพระเจ้ากรุงหงสาวดีเป็นต้นแบบ ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นผู้เคยมาตีกรุงศรีอยุธยาเสียด้วยซ้ำ

ปัญหาที่สอง คือต้องพิสูจน์ว่าราชธานีใหม่เป็นศูนย์กลางอำนาจหรือจักรวาลใหม่แทนกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ต้องเป็นที่ยอมรับ ตรงนี้ทั้งพระเจ้ากรุงหงสาวดีและพระนเรศวร ต่างก็เป็นผู้ทรงสถาปนาตัวเองมาเป็นจักรพรรดิได้ จึงถูกนำมาอ้างถึง

ปัญหาที่สาม คือกรุงเทพยังติดศึกเจ้าต่างแดน โดยเฉพาะพม่า การแสดงความเป็นราชาเหนือราชาจึงยังจำเป็น ช่วงนี้เองตำนานพระนเรศวรถูกสร้างอย่างเป็นระบบ และมีมากมายที่ปรากฏในพงศาวดารช่วงต้นกรุง. แต่เรื่องเหล่านี้จะไม่ปรากฏหลักฐานในพม่าหรือพงศาวดารที่เขียนในสมัยอยุธยาชัดเจน เป็นตำนานสร้างใหม่อย่างที่กรุงเทพฯ อยากให้เป็น

ต่อมาระบบการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่อำนาจบารมีผูกติดกับปัจเจกบุคคล ปริมณฑลแห่งอำนาจเคยขึ้นกับบุญบารมี แต่เมื่อฝรั่งเข้ามาก็ได้นำแนวคิดใหม่มาด้วยคือ เรื่องผู้ปกครอง ความชอบธรรม และปริมณฑลอำนาจที่มีขอบเขตชัดเจน. พระมหากษัตริย์ไทยยุครัตนโกสินทร์ช่วงหลังจึงไม่ยอมรับปริมณฑลอำนาจแบบโบราณอีก จนเมื่อเข้าสู่ยุครัฐชาติก็เกิดคติใหม่ขึ้น, กษัตริย์บุเรงนองกลับกลายเป็นผู้ร้ายแทน คู่กับพระนเรศวรที่ไม่ใช่จักรพรรดิราช แต่เป็นในผู้กู้ชาติกู้แผ่นดิน

เป็นตำนานคนละชุดกับสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ในกระบวนการเดียวกันนี้ บุเรงนองในยุครัฐชาติก็ไม่ใช่บุเรงนองแบบที่พม่ารู้จัก

1.2 จักรพรรดิราช
นิธิ เอียวศรีวงศ์: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ถ้ามองว่าการกระทำของราชวงศ์จักรีเป็นการรื้อแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยาอย่างเดียวนั้น แสดงว่าไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ในรอบสองร้อยปีนี้ดีพอ แต่ถ้าเข้าใจว่าเป็นการประกดอบสร้างขึ้นใหม่ ก็จะเข้าใจมากขึ้น

แม้ว่าฝรั่งจะเข้ามาบนผืนแผ่นดินไทยแล้ว แต่ไทยไม่เคยเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเลย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมโหฬารก็ตาม ที่เป็นอย่างนี้เพราะ มีการปรับตัวของชนชั้นนำก่อนหน้าที่ฝรั่งจะเข้ามา และปรับตัวโดยรักษาอำนาจให้สืบเนื่องเอาไว้ได้นั่นเอง

หากพิจารณาจากเพลงยาวของวังหน้า ทำให้รู้สึกได้ว่า คนที่หนีพม่ามาสร้างประเทศใหม่นั้นช็อกเพราะแกนหลักของโลกที่เชื่อกันมาเสียไป จึงมีผลกระทบกับนโยบายการเมืองใหม่ที่ไม่อยากสืบทอดจากกรุงศรีอยุธยา

จักรพรรดิราชจึงต้องรักษาอำนาจให้มั่นคงในประเทศราชซึ่งในสมัยอยุธยาไม่ค่อยมีนัก เช่นการไม่สนในการรักษาเชียงใหม่ในสมัยหลังจากพระนเรศวร เป็นต้น. แต่ในกรุงเทพกลับตรงกันข้าม คือเข้าไปมีอิทธิพลที่ไหนต้องพยายามรักษาและพยายามแทรกแซงทางการเมืองเท่าที่จะทำได้ เช่นกษัตริย์กัมพูชาสวรรคต กรุงเทพก็คิดแต่งตั้งให้ (ในสมัยรัชกาลที่ 4) มีทายาทเป็นพี่น้องกัน โดยระบุให้กัมพูชาเลือกกษัตริย์ที่โง่กว่าอย่างชัดเจน

ส่วนเชียงใหม่ กรุงเทพก็ไม่ยอมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของล้านนาอีกต่อไป ให้ทุกแคว้นขึ้นกับกรุงเทพแห่งเดียว เป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง เหตุผลส่วนที่ทำแบบนี้ก็เพื่อกันพม่าให้อยู่ไกลขึ้นนั่นเอง

จากเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ล้วนระบุว่า มีความพยายามคุมประเทศราชมากกว่าสมัยอยุธยา อีกอย่างคือขอบเขตการเก็บภาษีที่ขยายขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ในขณะที่อยุธยามีขอบเขตไปถึงแค่ลพบุรี อันนี้สะท้อนถึงความพยายามขยายอำนาจคุมหัวเมืองต่างๆ มากขึ้น และขยายไปสู่หัวเมืองที่ไม่เคยมีอำนาจเช่น ทวาย มะริด และตะนาวศรี

ส่วนการเมืองภายในมีความพยายามคานอำนาจ"เจ้า"กับ"ขุนนาง"พอสมควร, ผลคือทำให้ขุนนางสะสมอำนาจมากจนถึงรัชกาลที่ 4 ขุนนางก็คุม และได้อำนาจพอสมควร

ด้านทางเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคือ การเข้ามาของคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งในสมัยอยุธยามีบทบาทน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกฮกเกี้ยน. จีนแต้จิ๋วเข้ามาในลักษณะเสื่อผืนหมอนใบ พวกนี้ตอนอยู่ในประเทศจีนมีพื้นที่ทำนาไม่พอจึงต้องออกไปหากินในทะเล ไปเป็นโจรสลัดก็มาก พวกแต้จิ๋วเมื่อล่องเรือมาไทยก็ต้องส่งเงินกลับไปบ้านเกิด ดังนั้นพวกนี้จึงเป็นแค่ชาวนาหรือใช้แค่เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ จึงก่อให้เกิดการผลิตภายในนอกเหนือจากข้าวและของป่า

การที่จีนแต้จิ๋วพวกนี้เข้ามา จึงมีการส่งออกน้ำตาลที่คุณภาพดีที่สุดในโลก มีการนำเหล็กมาหล่อเป็นกระทะและโซ่ส่งออก เป็นผู้ผลิตพริกไทย กาแฟ ซึ่งการผลิตเหล่านี้ในสมัยอยุธยามีน้อยมาก. การค้าภายในเจริญขึ้น เมืองและชุมชนการค้าก็เกิดมากขึ้น เช่น นครชัยศรี, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, จึงกลายเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าสังคม เกิดการเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่นสวนฝั่งธนบุรีที่มีการยกร่องสวนเรียงแถวและขุดร่องน้ำ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นของจีน หรือแม้แต่การผสมพันธุ์ผักผลไม้ก็อาจจะใช่

อีกประเด็นคืออุดมการณ์พุทธถูกเน้นสำหรับชนชั้นนำ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมแห่งความเป็นเจ้า มีการประดิษฐ์ประเพณีใหม่มากกว่าการรื้อฟื้นตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยเลือกสรรประเพณีบางอย่างมาให้ความหมายเพื่อสื่อหรือยืนยันให้ผู้ร่วมพิธียอมรับในโครงสร้างสังคมว่า ใครใหญ่ ใครเล็ก หรือใครมีบทบาทหน้าที่อย่างไร เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงเชิงอำนาจที่ต้องประดิษฐ์ประเพณีใหม่จนเป็นทุกวันนี้

1.3 จักรพรรดิราช
ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม: มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์
เป้าหมายของผู้จัดงานเสวนานี้ก็คือ ความไม่สบายใจที่ทำให้กรุงเทพจากพื้นที่วัฒนธรรมกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ของคนไม่มีหัวนอนปลายตีนเพื่อการค้าของคนบางกลุ่ม เป็นโครงสร้างเดรัจฉานที่ทำคนให้เป็นปัจเจกบุคคล จึงมองไม่เห็นประวัติศาสตร์ คนที่อยู่ในโครงสร้างนรกจะมองไม่เห็นอดีต เห็นแต่ปัจจุบัน

กรุงเทพเป็นพื้นที่วัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์และคน มีกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว กรุงเทพนั้นเติบโตกว่ากรุงศรีอยุธยาหลายเท่าตัว เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ คลองก็มีมากมาย รวมทั้งมีวัฒนธรรมราษฎร์และวัฒนธรรมหลวง

วัฒนธรรมกระฎุมพีก็สำคัญ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 - 5 คลองทุกคลองก็วิ่งเข้าสู่กรุงเทพ พวกเจ๊กก็เข้ามาทำสวนที่นนทบุรี ธนบุรี เป็นกลุ่มใหม่ที่ทำให้เกิดการค้า ประเพณี และพิธีกรรม. สมัยรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงเทพ โครงสร้างก็เปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ แม่น้ำคลองถูกทับหรือถมเป็นถนน การจัดการน้ำจึงเสียหมด เกิดน้ำท่วมกรุงดังในปัจจุบัน เวนิสตะวันออกก็กลายเป็นแค่เมืองมั่วๆ

กรุงเทพเป็นเมืองพื้นที่ทางวัฒนธรรม จึงสำคัญกับคนที่อยู่ หมายถึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน หลายๆ อย่าง เป็นความทรงจำและรู้สึกร่วมกัน ไม่ใช่พื้นที่ของปัจเจกบุคคล พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีความทรงจำแบบนี้ในประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วจะคงรักษาเอาไว้ แต่คงมีแค่ไทยที่จะทำลาย เช่นเปลี่ยนราชดำเนินเป็นช็องเอลิเซ่ ความทรงจำเกี่ยวกับราชดำเนินก็เปลี่ยน จากเดิมที่มีประวัติศาสตร์จากวังสู่รัฐสภา มีหลายอย่างที่น่าจดจำถึงถนนเส้นนี้ แต่ถูกทำลายให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ

พระเจ้าแผ่นดินใช้ศาสนามาทำให้เกิดความมั่นคงในกรอบของจักรพรรดิราช เพื่อให้เกิดสำนึกร่วมกัน แต่ปัจจุบันไม่มี สัญลักษณ์บางอย่างถูกทำลาย เช่น วัดอรุณราชวราราม ที่จะมองเห็นก่อนวัดพระแก้ว. คนสมัยก่อนมาตามคลองมองไม่เห็นกรุงเทพ จึงสร้างแลนด์มาร์กเป็นเจดีย์วัดอรุณฯ ที่เป็นเสมือนศูนย์กลาง อย่างสมัยอยุธยาก็มีวัดชัยวัฒนาราม เป็นการสืบทอดให้เห็นสัญลักษณ์ผ่านคติทางศาสนา

วัดต่างๆ ล้วนถูกสร้างเป็นศูนย์กลางพิธีกรรมให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจและสังคม แต่เมื่อทุนหลายกลุ่มเข้ามาปฏิสัมพันธ์ เดี๋ยวนี้มองมาก็เห็นตึกคู่ศิวลึงค์ ตามโบราณถือว่าเป็นอัปมงคล เพราะทำลายวัดอรุณฯไป อย่างพม่าเข้าไปยังเห็นเจดีย์ชเวดากองอย่างชัดเจน เป็นสัญลักษณ์ในสังคมพุทธศาสนาเถรวาท

กรุงเทพมีลักษณะที่แบ่งเป็นย่าน มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น เสาชิงช้า หรือป้อมมหากาฬที่มีความทรงจำของกรุงเทพ ซึ่งมีคนอยู่ตามชานพระนคร อันเป็นลักษณะของพื้นที่ทางเศรษฐกิจในอดีตที่มาทางเรือ แต่ก็จะถูกไล่ทำเป็นลานแอโรบิก เป็นที่ออกกำลังกาย อย่างนี้ก็เป็นปัญหาความไม่เข้าใจพื้นที่ทางวัฒนธรรม

โครงสร้างที่เริ่มออกฤทธิ์นี้มีมาตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่นำนโยบายเงินผันมาใช้ รวมทั้งปัญหาจากโครงสร้างของข้าราชการ แต่เดิมโครงสร้างอยู่กับพระมหากษัตริย์ที่ต้องมีกติกาคุม ปัจจุบันใช้ไม่ได้ ต้องรับใช้เศรษฐกิจทุนนิยมเสรี

ทุนนิยมเสรีนี้เป็นสิ่งผิดปกติเพราะมนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ทุนนิยมสร้างปัจเจก ทำให้ตัดมิติทางจิตวิญญาณ กลายเป็นสัตว์ประหลาดรุ่นใหม่ คือปัจเจกเต็มไปหมด เศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่ทำงาน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงพอเพียงอยู่คนเดียว 60 ปี. ครองราชย์นี้ ก็ต้องกลับมาทบทวนว่า พระมหากษัตริย์มีคุณค่าอย่างไร เช่น พระมหากษัตริย์ใช้ชาดกเรื่องพระเวสสันดรเป็นบทบาทตามประเพณี ปัจจุบันก็ต้องเน้นทานบารมีให้มาก เพราะโครงสร้างเดรัจฉานแบบปัจจุบันคือเอาตะบัน

เราต้องมองว่าวัฒนธรรมนั้นไม่หยุดนิ่ง แต่ปรับตามความเป็นอยู่ ต้องสร้างสำนึกร่วมกันที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ของรัฐมันใช้ไม่ได้. ในอดีตใช้ประวัติศาสตร์ที่มีชาติพันธุ์หลากหลาย แต่ไทยบ้าตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ไทยเป็นเชื้อชาติด้วยเลือดเนื้อเดียว ทั้งนี้ตัววัฒนธรรมต่างหากที่จะทำให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันจึงต้องมีพื้นที่วัฒนธรรมและสังคม

กลับมามองกรุงเทพก็เห็นว่าตาย เพราะไม่เห็นสังคม มีคนไม่มีหัวนอนปลายตีนมากมาย ไม่รู้จักกัน ประเพณีใหญ่ๆ จะทำให้เชื่อมสัมพันธ์กันก็ทำให้เปรอะ เช่น สงกรานต์ที่ใช้พื้นที่ถนนขับรถสาดน้ำ แต่ไม่ได้ทำให้รู้จักกันระหว่างบ้านหรือย่านมันก็ไม่ใช่. สงกรานต์ฉิบหายหมดแล้วที่เอาไปขายต่างชาติ

คนกรุงเทพที่เข้ามาใหม่ก็สร้างความรู้สึกร่วมได้ แต่ไม่เคยทำ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไปทำแหลกหมด เห็นพื้นที่แต่ไม่เห็นคน มองกรุงเทพต้องเห็นและบวกธนบุรีด้วย แต่กลับไม่มีสัญลักษณ์เชื่อมกันเลย และรัฐไม่พยายามสร้างแบบนี้เพื่อให้เกิดความเป็นมนุษย์ขึ้น

2. จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้กำหนดนามประเทศว่า"สยาม"แทน"ไทย"
วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ : โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กทม. ๑๐๒๐๐


เรื่อง ขอให้กำหนดนามประเทศว่า "สยาม" แทน "ไทย" ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(๑) เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" และจาก Siam เป็น Thailand

(๒) รัฐบาลสมัยนั้นให้เหตุผลทาง "เชื้อชาตินิยม" ว่า "รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมให้ใช้ชื่อประเทศ ให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชน"

(๓) เหตุผลที่รัฐบาลในสมัยนั้น ยกขึ้นมาอ้างว่าด้วยเชื้อชาตินั้น ไม่ถูกต้องตาม "ความเป็นจริง" และ "ข้อมูล" ทางประวัติศาสตร์

(๔) ประชาชนที่ประกอบกันขึ้นเป็นพลเมืองของประเทศของเรานั้น มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม มีทั้งไทย, ลาว, คนเมือง, คนอีสาน, มอญ, เขมร, กูย, แต้จิ๋ว, กวางตุ้ง, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, จาม, ชวา, มลายู, ซาไก, มอแกน, ทมิฬ, เปอร์เซีย, อาหรับ, ฮ่อ, พวน, ไทดำ, ผู้ไท, ขึน, เวียด, ยอง, ลั๊วะ, ม้ง, เย้า, กะเหรี่ยง, ปะหล่อง, มูเซอร์, อะข่า, ขะมุ, มลาบรี, ชอง, ญากูร์, ฝรั่ง (ชาติต่างๆ), แขก (ชาติต่างๆ), ลูกครึ่ง ฯลฯ

(๕) รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ก็ใช้นามประเทศว่า "สยาม" และในการร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้ง ก็ได้มีการอภิปรายในประเด็นที่จะเปลี่ยนนามประเทศเป็น "สยาม" อีก เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ และฉบับ ๒๕๑๑ เป็นต้น

(๖) ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับ "ความเป็นจริงและความถูกต้อง" ทางเชื้อชาติ, ภาษา, และอัตลักษณ์วัฒนธรรม และตรงตาม "ข้อมูล" ทางประวัติศาสตร์ จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะให้ใช้นามประเทศในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ว่า "สยาม" ในภาษาไทย และ Siam ในภาษาอังกฤษสืบไป

ทั้งนี้เพื่อ "หลักการณ์ของความสมานฉันท์ การยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม และประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน" จึงกราบเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการเปลี่ยนนามประเทศจาก "ไทย" เป็น "สยาม" และในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Siam แทน Thailand ด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ)
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พร้อมด้วยผู้ลงนามเรียกร้องในเว็บ http://www.petitiononline.com/siam2007/petition.html

3. Siam for the Future:
เรื่องนามประเทศสยาม ชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้คือ

(1) การที่รัฐบาลเมื่อสมัย พ.ศ. 2482 หรือ 68 ปีมาแล้ว ใช้มติ ครม. ประกาศ "รัฐนิยม" เปลี่ยนนามประเทศ จาก "สยาม" เป็น "ไทย" และจาก Siam เป็น Thailand นั้น ไม่ถูกต้องตาม "ความเป็นจริง" ทาง "เชื้อชาติ" และ "ข้อมูล" ทางประวัติศาสตร์ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

(2) ดังที่ผมได้ชี้แจงไว้แล้วว่า ผู้คนที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชาชนของประเทศของเรานั้น มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม มีทั้งไทย, ลาว, คนเมือง, คนอีสาน, มอญ, เขมร, กูย, แต้จิ๋ว, กวางตุ้ง, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, จาม, ชวา, มลายู, ซาไก, มอแกน, ทมิฬ, เปอร์เซีย, อาหรับ, ฮ่อ, พวน, ไทดำ, ผู้ไท, ขึน, เวียด, ยอง, ลั๊วะ, ม้ง, เย้า, กะเหรี่ยง, ปะหล่อง, มูเซอร์, อะข่า, ขะมุ, มลาบรี, ชอง, ญากูร์, ฝรั่ง (ชาติต่างๆ), แขก (ชาติต่างๆ), ลูกครึ่ง ฯลฯ

(3) ลองสำรวจดูว่า ในบรรดาผู้คนที่อยู่แวดล้อมเรา ณ บัดเดี๋ยวเวลานี้ วินาทีนี้ มีกี่ "เชื้อชาติ/ภาษา" มีกี่เชื้อสาย

(4) คำว่า "สยาม" เป็นคำเก่าแก่มากๆ เก่ากว่าคำว่ากรุงสุโขทัย. คำว่า "สยาม" เป็นคำที่ใช้เรียกดินแดนประเทศของเรามากว่า 1 พันปี. จีนออกเสียงว่า "เสียน", เขมรออกเสียงว่า "เสียม", มอญออกเสียงว่า "เซม", ฝรั่งอังกฤษ/อเมริกันออกเสียงว่า "ไซแอม" ฯลฯ

(5) ส่วนคำว่า "ไทย" หรือ "ไท" ก็เป็นคำเก่าแก่เช่นกัน แต่มักจะใช้เรียก "ผู้คน" ที่พูดภาษาในตระกูล "ไทย-ไท" และคน "ไทย-ไท" นี้ ก็อยู่รวมปะปนกับชนเชื้อชาติอื่นๆ มาหลายร้อยหลายพันปีแล้ว

(6) สำหรับบรรดาอาณาจักรโบราณ กับกษัตริย์ในสมัยอดีต ก็มักเรียกชื่อดินแดนของพระองค์ ตามนามของเมืองหลวง เช่นเรียกว่า กรุงสุโขทัย, กรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์, กษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์หาได้นิยมใช้คำว่า "สยาม" เป็นนามอาณาจักรไม่

(7) แต่คำว่า "สยาม" ซึ่งแพร่หลายเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก ได้ถูกนำมาใช้เป็นนามประเทศของเราอย่างเป็นทางการ ก็สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 8 นี้เอง คือระหว่าง พ.ศ. 2394 (อันเป็นปีแรกของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 4) จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2482 อันเป็นปีที่ 5 ในรัชกาลที่ 8 รวมเป็นระยะเวลาที่ใช้นามว่า "สยาม" อย่างเป็นทางการ 88 ปี

(8) พอถึงปี 2482 รัฐบาลสมัยนั้น ก็เปลี่ยนนามเป็น "ประเทศไทย" และ Thailand โดยใช้มติ ครม. และประกาศเป็น "รัฐนิยม" แล้วก็ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา 68 ปี. นับว่าสั้นมากเมื่อเทียบกับการใช้ในสมัยโบราณกว่า 1 พันปี กับการใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 8 (ประเทศไทยหรือ Thaialnd มีอายุแก่กว่าผมเพียง 2 ปีเท่านั้น ไม่น่าเชื่อเลยว่าประเทศของเราดู "เยาว์วัย" เหมือนกับ "เพิ่งเกิดใหม่")

(9) รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีขึ้นภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ใช้นามประเทศว่า "สยาม" และในการร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้ง แม้ว่านาม "สยาม" จะถูกยกเลิกไป, ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็เคยอภิปรายในประเด็นที่จะเปลี่ยนนามประเทศเป็น "สยาม" อีก, เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และฉบับ 2511 เป็นต้น

(10) ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นี้ จะกลับไปใช้นามว่า "สยาม" ก็จะเป็นการกลับบ้านคืนรัง ที่ดูจะเป็นสิริมงคลยิ่ง

(11) และดังนั้นอีกเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับ "ความเป็นจริงและความถูกต้อง" ทางเชื้อชาติ ภาษา และอัตลักษณ์วัฒนธรรม และตรงตาม"ข้อมูล"ทางประวัติศาสตร์ จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะให้ใช้นามประเทศในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นี้ว่า "สยาม" ในภาษาไทย และ Siam ในภาษาอังกฤษสืบไป

(12) ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ "หลักการณ์ของความสมานฉันท์ การยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และอัตลักษณ์วัฒนธรรม และประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน"

จึงขอบรรยายมาเพียงเท่านี้ และก็ขอให้ช่วยกันรณณรงค์ให้นามประเทศของเราเป็น "สยาม" และ Siam
ด้วยการเข้าไปในเว็บ http://www.petitiononline.com/siam2007/petition.html

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ
คนไทย เชื้อสายเจ๊กปนมอญ อยุ่ในประเทศสยาม



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

นอกจากนี้การเป็นจักรพรรดิราชไม่ได้สำแดงตนเพียงในด้านอุดมคติ แต่จะมองหาต้นแบบทางประวัติศาสตร์เพื่อบอกว่ามีสถานะเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ในอดีตพระองค์นั้น โดยต้นแบบที่ถูกอ้างถึงมากในช่วงแรกคือ 'พระเจ้าอโศก' อันนี้สามารถพบได้ทั้งหลักฐานในพม่าและสุโขทัย. ทว่าคนในพื้นถิ่นนั้นกลับไม่พอใจนัก ตรงนี้มีพลวัตรภายในเองด้วย ภายหลังจึงอ้างถึงพระมหากษัตริย์ในพื้นที่แทน องค์แรกที่ถูกอ้างคือพระเจ้าอนิรุทธ ปรากฏเป็นตำนานทั้งในพม่า มอญ ไทยไปจนถึงเขมร. องค์ต่อมาคือพระเจ้าราชาธิราชของมอญ ถูกบุเรงนองยกเอามาเป็นต้นแบบ

12-04-2550

Siam History
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.