โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 12 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๑๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 12, 04,.2007)
R

โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑
ลัทธิพลเมืองโลก(Cosmopolitanism): จากแนวคิดกรีก ถึงยุคสว่าง
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความนี้ ได้เรียบเรียงมาบางส่วนจากต้นฉบับเรื่อง Cosmopolitanism
ในส่วนของประวัติความเป็นมาของแนวคิดดังกล่าวในโลกตะวันตก
นับจากยุคกรีกเป็นต้นมา ไล่เรียงมาตามลำดับถึงคริสตเตียนในยุคต้น
จนกระทั่งมาถึงยุคสว่าง(the Enlightenment) และยุคสมัยใหม่ในช่วงแรก
แนวคิดเรื่องพลเมืองโลกในที่นี้ จะไม่จำกัดตัวเองอยู่แต่ในเนื้อหาทางปรัชญา เท่านั้น
แต่ได้ครอบคลุมไปถึงแนวคิดทางการเมือง และเศรษฐกิจด้วย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๑๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

ลัทธิพลเมืองโลก(Cosmopolitanism): จากแนวคิดกรีก ถึงยุคสว่าง
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง

ความนำ : นิยามความหมาย
ศัพท์คำว่า cosmopolitan เป็นคำศัพท์ที่สืบทอดมาจากคำในภาษากรีกว่า kosmopolites (citizen of the world - พลเมืองโลก), ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงความหลากหลายอย่างกว้างๆ อันเป็นทัศนะที่สำคัญทางด้านศีลธรรม, ปรัชญา, และสังคมการเมือง. สำหรับแก่นที่คลุมเครือกว้างๆ ดังกล่าวนี้ มีส่วนปันกับทัศนะเกี่ยวกับคำว่า cosmopolitan ทั้งหมด ในความคิดที่ว่า มนุษย์ทั้งมวล, โดยไม่คำนึงถึงความเป็นสมาชิกทางการเมืองของพวกเขา, ต่างก็(หรืออย่างน้อยที่สุดสามารถ)เป็นชุมชนหนึ่งเดียวกันได้(a single community) และชุมชนอันนี้สมควรได้รับการบ่มเพาะและพัฒนาขึ้นมา

เรื่องราวที่แตกต่างของ cosmopolitanism (ลัทธิพลเมืองโลก) ได้สร้างจินตภาพเกี่ยวกับชุมชนดังกล่าวในวิถีทางที่ต่างออกไป บ้างก็โฟกัสลงไปที่สถาบันทางการเมือง, บ้างก็เน้นไปที่บรรทัดฐานทางศีลธรรมหรือความสัมพันธ์ต่างๆ และบางคนก็ให้ความสำคัญลงไปที่ตลาดร่วมทางเศรษฐกิจ หรือรูปแบบของการแสดงออกทางด้านวัฒนธรรม. ส่วนความสนใจทางปรัชญาเกี่ยวกับ cosmopolitanism หรือลัทธิพลเมืองโลก วางอยู่บนความท้าทายของมันต่อความผูกพันซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันในความเป็นเพื่อนพลเมือง, ระหว่างรัฐท้องถิ่นต่างๆ, และวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะทั้งหลาย รวมถึงอะไรในทำนองนั้น

สำหรับบทความชิ้นนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวของคำว่า cosmopolitanism (ลัทธิพลเมืองโลก) ในเชิงประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ นับจากยุคกรีก จนกระทั่งถึงยุคสว่าง (the Enlightenment) อันเป็นยุคเริ่มต้นของสมัยใหม่

คำสำคัญในบทความ: Plato - Aristotle, Hippias, Socrates, Diogenes, Stoic, cosmopolis, Augustine, world-wide peace, Republic of letter, Human right - Cosmopolitanism - world citizenship, Rousseau, Immanuel Kant, league of nations, anti-mercantilists, Adam Smith.

ประวัติศาสตร์ของลัทธิพลเมืองโลก
1. ลัทธิพลเมืองโลกของกรีกและโรมัน (Greek and Roman Cosmopolitanism)

Plato - Aristotle
สำหรับวัฒนธรรมการเมืองอันเป็นอุดมคติในงานเขียนต่างๆ ของเพลโตและอริสโตเติลนั้น ไม่ใช่อุดมคติเกี่ยวกับ cosmopolitan (ความเป็นพลเมืองโลก). ในวัฒนธรรมการเมืองของปรัชญาเมธีทั้งสอง มนุษย์ แรกเริ่มเดิมทีและสำคัญที่สุดจะต้องชี้ชัดหรือจำแนกตัวของเขาเอง ในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐหรือเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ และการทำเช่นนั้นเขาจะต้องแสดงเครื่องหมายแห่งตนในการจงรักภักดี หรืออุทิศตัวต่อสถาบันต่างๆ หรือกลุ่มคนที่ตนสังกัด, จากนั้น เขาจะต้องถูกนับรวมเข้าไปช่วยสนับสนุนในการปกป้องบ้านเมืองจากการโจมตีต่างๆ รวมถึงต้องธำรงรักษาสถาบันความยุติธรรมให้ยั่งยืน และช่วยเหลือส่งเสริมคุณความดีงามของสังคมตน

ในวิถีทางนี้ ตัวเขาเองต้องดำเนินรอยตามวิถีชีวิตที่ดี ซึ่งผูกมัดอย่างดิ้นไม่หลุดจากชะตามกรรมของบ้านเมือง และในทำนองเดียวกัน ก็ดำเนินรอยตามความสำเร็จร่วมกันกับผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ. ในทางตรงข้าม คนดีจะไม่ถูกคาดหวังว่าได้ร่วมมือหรือรับใช้คนต่างถิ่นที่อยู่นอกเมือง. ความคาดหวังใดๆ ในความเป็นพลเมืองโลก(cosmopolitan)สำหรับชาวเอธีเนียนที่ดี จะได้รับการขยายออกก็แต่เพียง เกี่ยวพันกับคนต่างถิ่นซึ่งบังเอิญเข้ามาอาศัยอยู่ในเอเธนส์เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม จะเป็นความผิดพลาดมากทีเดียวหากทึกทักว่า ความคิดกรีกคลาสสิก มีลักษณะต่อต้าน-ความเป็นพลเมืองโลก(anti-cosmopolitan)ในความรู้สึกความเป็นหนึ่งเดียวกัน(uniformly). การกีดกันคนต่างถิ่นอย่างเด่นชัด - ในแง่ข้อพิจารณาต่างๆ ทางจริยธรรม, หรือตั้งเป้ากระทำทารุณกรรมต่อคนต่างถิ่น - เป็นอีกส่วนหนึ่งที่พ้นออกไปจากการเน้นถึงการรับใช้และเอาใจใส่ในลักษณะคนในบ้านเมืองเดียวกัน และตามข้อเท็จจริง การเล็งเป้าเกี่ยวกับคนป่าเถื่อนต่างๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการถือกำเนิดขึ้นมาของความเป็นหนึ่งเดียวกันทางการเมืองของกรีก(panhellenism) และจะต้องไม่ให้ความสำคัญในลักษณะที่คับแคบเกินไปบนรัฐหรือบ้านเมืองของใครของมันเท่านั้น. จะเป็นการถูกต้องกว่าที่จะเรียกแนวคิดคลาสสิกดังกล่าว ที่เน้นในรัฐหรือบ้านเมืองของใครของมันนี้ว่า uncosmopolitan (ไม่ใช่ความเป็นพลเมืองโลก) [ไม่ใช่ anti-cosmopolitan]

Hippias
ขณะที่เพลโตและอริสโตเติลกำลังเขียนงานอยู่นั้น ชาวกรีกคนอื่นๆ ก็กำลังเสนอความท้าทายในเรื่องความเป็นพลเมืองโลก(cosmopolitan). บางที ความท้าทายที่เด่นชัดที่สุดมาจากปัญญาชนนักเดินทางทั้งหลาย ผู้ซึ่งยืนยันถึงความคิดในเชิงตรงข้ามระหว่าง "ความผูกพันในเชิงขนบจารีตทางการเมือง" กับ "ความผูกพันทางธรรมชาติของความเป็นมนุษย์"(the conventional ties of politics and the natural ties of humanity). ตัวอย่างที่น่าสังเกตก็คือ การที่เพลโตได้ให้ Hippias ซึ่งเป็นโซฟิสท์ ได้ปราศรัยกับเพื่อนฝูงที่หลากหลายชาวเอธีเนียนและบรรดาคนต่างถิ่น ที่บ้านของ Callias ในเรื่อง Protagoras ของเพลโต(337c7-d3) เอาไว้ดังนี้:

"ท่านสุภาพบุรุษทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นี้… ข้าพเจ้าถือว่าพวกท่านทั้งมวลเป็นเสมือนญาติ, เป็นคนที่คุ้นเคย, และเพื่อนพลเมืองโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่โดยจารีตหรือขนบ; สำหรับความเหมือน, มันเป็นไปโดยธรรมชาติและความเกี่ยวดองกัน, ขณะที่ขนบจารีต มันเป็นดั่งทรราชย์ที่กดขี่อยู่เหนือความเป็นมนุษย์ และบีบบังคับหลายสิ่งหลายอย่างให้ย้อนแย้งกับธรรมชาติ"

Socrates
โสกราตีส(Socrates 470-399 B.C.)เช่นเดียวกัน สามารถกล่าวได้ว่า ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการชี้ชัดเรื่องความเป็นพลเมืองโลก(cosmopolitan)กับความเป็นมนุษย์ อย่างน้อยที่สุด ดังที่เพลโตได้เสนอภาพอัตลักษณ์ของเขา. โสกราตีสหลีกเลี่ยงการผูกพันอยู่กับการเมืองตามขนบจารีตมากเท่าที่เขาจะทำได้ โดยชื่นชอบหรือให้การยอมรับงานพิเศษเกี่ยวกับการสำรวจตัวเองและคนอื่นๆ และเขายืนยันว่า การสำรวจตรวจสอบเหล่านี้เป็นเรื่องการเมืองอย่างแท้จริงและขยายไปสู่คนอื่นๆ ทั้งหมด(Goeg 521d 6-8) ชาวเอธีเนียนและคนต่างถิ่นก็เหมือนกัน (Apol 23b 4-6)

แน่นอน โสกราตีสไม่เลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวออกไปกว้างไกล ซึ่งการตัดสินใจนี้ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดีกับอดุมคติความเป็นพลเมืองโลกต่างๆ(cosmopolitan ideals) สำหรับเขาอาจคิดว่า โดยทั่วไปแล้ว ความเชื่อมั่นที่สุดของเขาต่อการรับใช้มนุษย์ นอนเนื่องอยู่ในบ้านเมืองของตนเอง ในเชิงแย้งและเหน็บแนมเกี่ยวกับ "เสรีภาพอันสูงส่งเกี่ยวกับการพูดของเอเธนส์" (Gorg 461e1-3; cf. Apol 37c5-e2 and Meno 80b4-7)

ไม่ว่าโสกราตีส ตัวเขาเองจะมีลักษณะเป็นพลเมืองโลก(cosmopolitan)โดยสำนึกหรือไม่ก็ตาม ดูเหมือนจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความคิดทั้งหลายของเขาได้ก่อให้เกิดพัฒนาการเกี่ยวกับลัทธิพลเมืองโลก(cosmopolitanism)ต่อมา และนั่นทำให้เขาได้รับการโอบกอดในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของโลกในยุคโบราณ

Diogenes
ตามข้อเท็จจริง นักปรัชญาคนแรกในโลกตะวันตกซึ่งได้แสดงออกอย่างแจ่มชัดและสมบูรณ์ เกี่ยวกับเรื่องของลัทธิความเป็นพลเมืองโลก(cormopolitanism) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากโสกราตีสคือ "ไดโอจีนิส" (Diogenes 320 B.C.) นักคิดซีนิค (cynic) [นักคิดกลุ่มนี้เชื่อว่า พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์เกิดจากความเห็นแก่ตัว และชอบเยาะเย้ยการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง] กล่าวกันว่า เมื่อเขาถูกถามว่าเขามาจากที่ใด เขาตอบว่า, "ข้าพเจ้าเป็นพลเมืองหนึ่งของโลก [kosmopolites]" (Diogenes Laertius VI 63)

โดยการระบุตัวของเขาเองว่าไม่ใช่พลเมืองหนึ่งของ Sinope (เมืองท่าทางตอนเหนือของตุรกี บนคาบสมุทรทะเลดำ) Diogenes ปฏิเสธที่จะยอมรับอย่างเด่นชัดว่า เขาเป็นหนี้ที่จะต้องตอบแทนหรือรับใช้ต่อ Sinope เป็นพิเศษ และเป็นชาว Sinopeans, "ข้าพเจ้าเป็นพลเมืองคนหนึ่งของจักรวาล" ซึ่งเป็นข้ออ้างในเชิงนิเสธ และเราอาจเกิดความสงสัย เกี่ยวกับเนื้อหาในเชิงบวกต่อคำว่า ความเป็นพลเมืองโลก(world-citizenship)ของพวกซีนิค

ข้อความที่เป็นธรรมชาติที่สุดอาจตอบข้อสงสัยนี้ว่า พลเมืองโลกควรจะรับใช้รัฐโลก(world state) ช่วยทำให้มันเกิดขึ้น เพื่อที่จะสามารถทำให้ภาระหรืองานของสถาบันต่างๆ ของมันยั่งยืน และช่วยส่งเสริมความดีงามให้แก่ชุมชนของมัน. แต่จากบันทึกประวัติศาสตร์มิได้เสนอว่า Diogenes สนับสนุนการนำเสนอรัฐโลก หรือ world state แต่อย่างใด

ตามข้อเท็จจริงจากบันทึกประวัติศาสตร์ ก็ไม่ได้จัดให้ Diogenes มีความผูกพันในเชิงบวกใดๆ (อย่างไม่คลุมเครือ) ซึ่งเราสามารถเข้าใจได้ทันทีในฐานะพลเมืองโลก. อย่างดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ เพื่อสืบค้นแนวคิดลัทธิพลเมืองโลกในเชิงบวกก็คือ การยืนยันว่าวิถีชีวิตของบรราดาพวกซีนิคทั้งหมดได้ถูกทึกทักว่าเป็น "พลเมืองโลก": โดยความเป็นอยู่ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ และการปฏิเสธสิ่งที่เป็นเรื่องของขนบจารีต. บรรดาซีนิคทั้งหลายได้นำเสนอตัวอย่างอันหนึ่งเกี่ยวกับคุณความดีทางจิตใจอันสูงส่ง เพื่อมนุษย์อื่นๆ ทั้งมวล

Stoic
การสำรวจตรวจสอบอย่างเต็มที่เกี่ยวกับลัทธิพลเมืองโลก(cosmopolitanism) ในทางที่ผูกพันกับปรัชญา มาถึงโดยนักคิดสโตอิค(stoic) [แนวปรัชญานี้สอนว่า ให้เมินเฉยต่อชะตากรรม ความพอใจ และความเจ็บปวด กล่าวคือไม่ยินดียินร้ายใดๆ ทั้งสิ้น] ที่ได้รับอิทธิพลจากโสกราตีสและไซนิคในช่วง ๓ ศตวรรษก่อนคริสตกาล

นักคิดสโตอิคเหล่านี้ต่างชื่นชอบที่จะกล่าวว่า "จักรวาล, ดังที่มันเป็น, ก็คือรัฐ" (the cosmos is, as it were, a polis,) เพราะจักรวาลได้ถูกวางอยู่บนระเบียบแบบแผนที่สมบูรณ์โดยกฎ ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ถูกต้องชอบธรรม. พวกเขายังเกี่ยวพันในเชิงลบกับของมาตรฐานอันสูงส่งด้วย: กล่าวอย่างเคร่งครัดคือ รัฐต่างๆ ตามจารีตที่ไม่สมควรได้รับชื่อดังกล่าว. แต่พวกสโตอิคไม่เชื่อว่าการอาศัยอยู่ในข้อตกลงกับจักรวาล - ในฐานะพลเมืองจักรวาล - ต้องการธำรงรักษาระยะห่างของตนเองจากรัฐแบบจารีตทั้งหลาย

อันนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกับเรื่อง On Live ของ Chrysippus กล่าวคือ บรรดานักคิดสโตอิคเชื่อว่า ความดีต้องรับใช้คนอื่นๆ และจะต้องกระทำอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถกระทำได้ นั่นคือรับใช้มนุษยทุกรูปทุกนามอย่างเท่าเทียมกัน มากเท่าที่จะเป็นไปได้. นั่นคือโดยแบบแผนแล้ว มันคือการรับใช้ที่ดีที่สุดที่คนๆ หนึ่งสามารถให้ได้กับความต้องการของรัฐที่ตนผูกพันอยู่

แน่นอน นักคิดสโตอิคยอมรับว่า, การผูกพันทางการเมืองไม่อาจที่จะเป็นไปได้สำหรับทุกๆ คน และนั่นคือ บางคนจะต้องใช้ความสามารถอย่างดีที่สุดของเขา ช่วยเหลือมนุษย์คนอื่นๆ ในฐานะครูส่วนตัวของความดีมากกว่าในฐานะนักการเมือง. และไม่ว่ากรณีใด, บรรดาสโตอิคทั้งหลายต่างยืนยันว่า ความผูกพันทางการเมืองไม่ควรถูกจำกัดแก่รัฐของตนเองเท่านั้น. ในท้ายที่สุด ความคิดที่เป็นแรงกระตุ้นนี้คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และบางครั้ง หนทางที่ดีที่สุดในการกระทำเช่นนั้นก็คือ รับใช้ในฐานะครูคนหนึ่ง หรือในฐานะผู้ให้การปรึกษาทางการเมืองในที่ต่างถิ่น(foreign place)

ในรูปแบบวิธีการนี้ ชาวสโตอิคได้เสนอสิ่งที่ชัดเจน อันเป็นเนื้อหาในเชิงปฏิบัติในลักษณะอุปมาอุปมัยของพวกเขาเกี่ยวกับคำว่า cosmos กับ polis หรือ cosmopolis (จักรวาลรัฐ): ในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่ง ซึ่งครุ่นคิดคำนึงถึงการออกไปเพื่อรับใช้, ในทางตรงข้าม คนที่ไม่เป็นพลเมืองโลกนั้น ไม่มี

เนื้อหานี้ให้ยอมรับการตีความในแบบเคร่งครัดและไม่เคร่งครัดในเวลาเดียวกัน โดยในการตีความแบบเคร่งครัดนั้นคือ เมื่อคนๆ หนึ่งพิจารณาถึงคนที่อพยพ เขาจะยอมรับลักษณะทั่วไปที่สำคัญโดยปราศจากเหตุผลสนับสนุนที่เข้มแข็งหรือพิเศษใดๆ ที่จะรับใช้คนร่วมชาติมากกว่ากลุ่มคนที่มาจากต่างถิ่น. ในส่วนของการตีความอย่างไม่เคร่งครัด เขาจะนำเสนอเหตุผลที่รอบคอบเป็นพิเศษของตนเพื่อรับใช้เพื่อนร่วมชาติ แม้ว่าเมื่อพิจารณาสิ่งต่างๆ ทั้งหมดแล้ว เขาอาจจะยังคงสร้างทางเลือกที่ดีที่สุดต่อผู้อพยพ

นักคิดสโตอิคแห่งโรม
แนวคิดเหล่านี้ มันต่างออกไปเล็กน้อยสำหรับบางคนในบรรดานักคิดสโตอิคแห่งโรม. ในด้านหนึ่งนั้น จักรวาลรัฐ(cosmopolis) กลายเป็นสิ่งที่แทบจะไม่เป็นที่ต้องการ. เนื่องจากว่า Chrysippus ได้จำกัดความเป็นพลเมืองในจักรวาล(cosmos)กับคนเหล่านั้น ที่ในข้อเท็จจริงดำรงอยู่ตามข้อตกลงที่มีกับจักรวาลและกฎเกณฑ์ของมัน, นักคิดสโตอิคโรมันได้ขยายความเป็นพลเมืองสู่มนุษย์ทั้งมวลโดยคุณความดีในความมีเหตุผลของพวกเขา. ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น ความเป็นพลเมืองท้องถิ่น กลับกลายเป็นสิ่งที่ต้องการมากกว่า

อันนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ลัทธิสโตอิคของ De Officiis ของ Cicero หรืองานเขียนขนาดใหญ่ที่หลากหลายของ Seneca ยอมรับพันธะผูกพันต่อโรมอย่างชัดแจ้ง. อันนี้คือลัทธิพลเมืองโลกของสโตอิคที่ไม่เคร่งครัดมากนัก และจักรวรรดิ์ได้สร้างคำสอนให้ง่ายมากแก่ชาวโรมันจำนวนมาก โดยการพิสูจน์ความเป็นพลเมืองโรมัน(Roman atria) ด้วยการเป็นจักรวาลรัฐ(cosmopolis)ในตัวของมันเอง

แต่ไม่ทั้งลัทธิจักรวรรดินิยม และการตีความตามตัวอักษรของคำว่า "ความเป็นพลเมือง-โลก" (world-citizenship) จะเป็นที่ต้องการสำหรับประเด็นทางปรัชญา. แนวคิดพลเมืองโลก(cosmopolitan)ในลักษณะสุดขั้ว มองไปรายรอบเพื่อกำหนดตัดสินตัวเองว่า เขาจะสามารถช่วยเหลือได้ดีที่สุดแค่ไหน และจะช่วยอย่างไร? อันนี้เป็นที่รับรู้อย่างดีและเต็มอกว่า เขาไม่สามารถช่วยเหลือคนทุกคนในหนทางเดียวกันได้ และการตัดสินใจของเขาเพื่อช่วยเหลือคนบางคนมากกว่าคนอื่นๆ นั้น, ได้รับการให้เหตุผลโดยแสงสว่างแห่งแนวคิดพลเมืองโลก ถ้ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาสามารถทำได้ เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ในฐานะเช่นนั้น

ลัทธิพลเมืองโลกของสโตอิคในลักษณะภายนอกอันหลากหลายของมัน เป็นสิ่งที่จูงใจมากไปทุกหนทุกแห่งของ"โลกกรีก-โรมัน"( the Greco-Roman world). บางส่วนของความสำเร็จนี้สามารถได้รับการอธิบายโดยไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า โลกในยุคสมัยนั้น แนวคิดพลเมืองโลก(cosmopolitan)เป็นอย่างไร

ชัยชนะของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และการแบ่งสรรต่อๆ มาเกี่ยวกับจักรวรรดิของพระองค์ กับอาณาจักรต่างๆ ที่รับช่วงสืบทอดต่อเนื่องกันมา ค่อยๆ ทอนกำลังหัวเมืองท้องถิ่นเกี่ยวกับอำนาจขนบจารีตของพวกเขา และสนับสนุนให้มีการติดต่อกันมากขึ้นระหว่างหัวเมืองทั้งหลาย และต่อมา การถือกำเนิดขึ้นของจักรวรรดิ์โรมัน ได้รวบรวมดินแดนทั้งหมดในแถบเมดิเตอร์เรเนียนให้อยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองหนึ่งเดียว

แต่มันจะผิดพลาดมากเลยทีเดียวที่จะกล่าวถึงสิ่งที่มักพูดกันอยู่บ่อยๆ ที่ว่า "ลัทธิพลเมืองโลก" เกิดขึ้นมาในฐานะที่เป็นการขานรับต่อการล่มสลายลงของรัฐ(polis) หรือการถือกำเนิดขึ้นมาของจักรวรรดิโรมัน เหตุผลก็คือ

ประการแรก, การล่มสลายของรัฐได้ถูกพูดกันเกินจริงมากไป. ภายใต้อาณาจักรต่างๆ ที่สืบทอดมา และกระทั่ง -ในระดับที่น้อยลงมา - ภายใต้โรม มันยังคงมีห้องหรือที่ว่างมากมายสำหรับความผูกพันทางการเมืองที่สำคัญของท้องถิ่น

ประการที่สอง, และค่อนข้างสำคัญ ลัทธิพลเมืองโลกเป็นเรื่องที่ดึงดูดใจมากในช่วงยุคสมัยที่เรียกว่า Hellenistic Age (ยุคต่อมาจากยุค Classic ของกรีก) และภายใต้จักรวรรดิโรมัน, ซึ่งรากเหง้าที่แท้จริง อยู่ในช่วงพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ที่มีมาก่อนการมีชัยชนะของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์. แม้กระทั่งบัดนี้จะไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า จักรวรรดิต่างๆ ภายใต้สิ่งซึ่งสโตอิคได้พัฒนาและทำให้เฟื่องฟู ได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากเต็มใจยอมรับอุดมคติพลเมืองโลก และด้วยเหตุดังนั้น จึงไปช่วยสนับสนุนการแผ่ขยายอิทธิพลเกี่ยวกับลัทธิพลเมืองโลกของสโตอิคอย่างมาก

2. ลัทธิพลเมืองโลก กับคริสตจักรในช่วงต้น
ไม่มีที่ใดที่ลัทธิพลเมืองโลกของสโตอิคจะมีอิทธิพลมากไปกว่ายุคคริสตจักรในช่วงต้น. ชาวคริสเตียนในช่วงแรก ได้ยึดถือและให้การยอมรับแนวคิดของพวกสโตอิคต่อมา เกี่ยวกับเมือง 2 เมืองในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตอที่เป็นอิสระต่อข้อผูกพัน และการคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน

สำหรับสโตอิค พลเมืองต่างๆ ของรัฐ(polis) และพลเมืองของจักรวาลรัฐ(cosmopolis) กระทำในสิ่งเดียวกัน นั่นคือ, ทั้งคู่ต่างมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงความเป็นอยู่ของพลเมือง. บรรดาคริสเตียนทั้งหลายขานรับต่อสิ่งที่เรียกต่างกันอันหนึ่ง: "ของซีซาร์ เหตุฉะนั้น ของของซีซาร์จงถวายแก่ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า" -"Render therefore unto Caesar the things which are Caesar's; and unto God the things that are God's"- (Matthew 22:21). ในทัศนะนี้ เมืองท้องถิ่นจึงมีอำนาจของทวยเทพ (John 19:11; cf. Romans 13:1,4,7), แต่ผลงานที่สำคัญที่สุดสำหรับความดีของมนุษย์ได้ถูกเคลื่อนย้ายจากการเมืองแบบขนบจารีต, พักอยู่ในปริมณฑลซึ่งผู้คนของประชาชาติทั้งหมด สามารถกลายเป็น"เพื่อนพลเมืองกับนักบุญต่างๆ (Ephesians 2:20)

พัฒนาการอันนี้มีผลที่ตามมาที่สำคัญอีกยาวนาน 2 ประการ ซึ่งได้รับการบันทึกในพระคัมภีร์โดย Augustine

ประการแรก จักรวาลรัฐ, อีกครั้งที่ได้กลายเป็นชุมชนหนึ่งสำหรับบางคนโดยเฉพาะ. Augustine ได้ทำให้ประเด็นนี้ชัดเจนขึ้น โดยการให้คำจำกัดความการเป็นพลเมืองในเมืองของพระเจ้า(city of God) สำหรับผู้รักในพระเจ้า(those who love God). ส่วนคนอื่นๆ ทั้งหมดได้ถูกเนรเทศไปสู่ส่วนที่ด้อยกว่า - แม้ว่ายังคงเป็นสากลจักรวาล(universal) - นั่นคือ เมืองของมนุษย์(earthly city) สำหรับผู้ที่รักในตัวของพวกเขาเอง(their love of self). ทั้งสองเมืองนี้ของโลก ถูกทำให้แยกขาดจากกัน ไม่สามารถที่จะประสานการอยู่ร่วมกันได้กระทั่งถึงวันตัดสินครั้งสุดท้าย. มันเป็นการแบ่งแยกผู้อยู่อาศัยบนโลก

ประการที่สอง ผลงานเกี่ยวกับการเมือง ได้ถูกพรากหรือตัดขาดจากภารกิจเกี่ยวกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์, ความเป็นอยู่เกี่ยวกับความชอบธรรมและความยุติธรรม. ในเวลาเดียวกัน Augustine ก็เน้นว่า อันนี้ยินยอมให้พลเมืองในเมืองของพระเจ้าเชื่อฟังในกฎเกณฑ์ และความผูกพันกับท้องถิ่น "ซึ่งเป็นความจำเป็นทั้งหลายเพื่อธำรงรักษาเกี่ยวกับชีวิต" เขาจะต้องยอมรับว่า มันได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่มีศักยภาพอันหนึ่งขึ้นมา เหนือกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางศาสนา และความกังวลเกี่ยวกับความชอบธรรมและความยุติธรรม (e.g., Civitas Dei XIX 17)

โลกียวิสัย กับ โลกุตรธรรม
สำหรับหลายร้อยปีที่ผ่านมา การถกเถียงกันในเรื่องปรัชญาการเมือง ต่างเกิดขึ้นรอบๆ ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทางการเมืองชั่วคราว กับ ศาสนาจักรอันเป็นนิรันดรภาพ(eternal Church). แต่การเน้นลงบนแง่มุมพลเมืองโลก(cosmopolitan)ของศาสนาจักรได้ตกต่ำลง ทั้งๆ ที่อุดมคติของมันเกี่ยวกับชุมชนทางศาสนาประกอบด้วยมนุษย์ทุกคน. กล่าวอย่างสั้นๆ ข้อถกเถียงดังกล่าว ในยุคสมัยต่อมาเป็นเรื่องตรงข้ามระหว่าง "โลกียวิสัย" กับ "โลกุตรธรรม" (the secular and the religious)เข้ามาแทนที่, ไม่ใช่เรื่องระหว่าง"พลเมืองท้องถิ่น"กับ"พลเมืองโลก"

แน่นอน ข้อถกเถียงกันอันนี้บ่อยครั้งมีการแตกกิ่งก้านไปสู่เรื่องของพลเมืองโลก ซึ่งชัดเจนพอใน Dante Alighieri's plea สำหรับ ระบอบกษัตริย์ที่เป็นสากล(universal monarchy) ใน De Monarchia (ca.1314). แต่กรณีของเขาได้ดึงมาจากอริสโตเติลและประวัติศาสตร์โรมัน ไม่ใช่นำมาจากอุดมคติเกี่ยวกับจักรวาลรัฐอย่างแน่นอน หรือเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองโลก และเขายังคงให้ความเอาใจใส่อย่างลึกซึ้งในการวินิจฉัยชี้ขาดระหว่าง "สันตะปาปา" กับ "จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์"

3. ลัทธิพลเมืองโลกในยุคสว่างและช่วงต้นยุคสมัยใหม่ (Early Modern and Enlightenment Cosmopolitanism)
ลัทธิพลเมืองโลกค่อยๆ เริ่มก้าวมาอยู่ข้างหน้าอย่างช้าๆ ด้วยการศึกษาใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับตำรับตำราโบราณจำนวนมาก แต่ช่วงระหว่างยุคมนุษยนิยม ลัทธิพลเมืองโลกยังคงค้างคาเป็นข้อยกเว้นอยู่ แม้ว่าตามข้อเท็จจริงนั้น แหล่งต้นตอความคิดเกี่ยวกับเรื่องพลเมืองโลกโบราณทั้งหลายล้วนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และบรรดานักมนุษยนิยมเป็นจำนวนมากก็เน้นถึงแก่นของความเป็นเอกภาพของศาสนาทั้งหมด แต่พวกเขาไม่ได้พัฒนาความคิดนี้ขึ้นในศัพท์ของคำว่า"พลเมืองโลก"

อย่างไรก็ตาม มีนักเขียนจำนวนเพียงไม่กี่คน และที่เด่นชัดที่สุดคือ Erasmus of Rotterdam, ได้ดึงเอาลัทธิพลเมืองโลกโบราณมาใช้อย่างชัดแจ้ง เพื่อสนับสนุนอุดมคติเกี่ยวกับสันติภาพโลก(world-wide peace). การเน้นเรื่องเอกภาพของมนุษยชาติเหนือการแบ่งแยก สู่รัฐต่างๆ และบรรดาผู้คนทั้งหลาย โดยการให้เหตุผลว่ามนุษย์ทั้งหลายนั้นต่างก็ได้ถูกกำหนดโดยธรรมชาติให้มีลักษณะ ชอบสังคม และดำรงอยู่อย่างกลมกลืน. Eramus ได้วิงวอนร้องขอให้มีความอดทนอดกลั้นทางด้านศาสนาและชาติ และพิจารณาผู้คนทั้งหลายว่า ต่างมีจุดประสงค์เดียวกันเช่นดังเพื่อนร่วมชาติของเขา (Querela Pacis)

ทฤษฎีกฎธรรมชาติสมัยใหม่ในช่วงต้นๆ ดูเหมือนเป็นไปได้ที่ว่าได้เสนอตัวสำหรับการคลอดลัทธิพลเมืองโลกในทางปรัชญาออกมา. แนวโน้มในทางโลกย์ของมัน(secularizing) และทัศนะปัจเจกที่แผ่กว้างออกไปท่ามกลางบรรดาผู้ปกป้องที่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมปันในคุณลักษณะมูลฐานบางอย่าง ซึ่งดูเหมือนจะได้นำเสนอประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการรวมตัวกันสำหรับมนุษยชาติในฐานะทั้งหมดอันหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในความคิดของบรรดานักทฤษฎีสมัยใหม่จำนวนมากช่วงต้นๆ สิ่งที่ปัจเจกชนทั้งมวลมีส่วนร่วมแบ่งปันกันก็คือ ความพยายามมุ่งมั่นในระดับมูลฐาน เพื่อที่จะพิทักษ์ปกป้องตัวตนหรือเพื่อเป็นการเอาตัวรอด(self-preservation) และความเป็นสากลเกี่ยวกับความพยายามอันนี้ มิได้เป็นข้อผูกมัดโดยพื้นฐานอันหนึ่งซึ่งมนุษย์ทั้งมวลที่รวมตัวกัน (หรือควรจะรวมตัวกัน) นั้น ควรเป็นไปในลักษณะ"ความเป็นชุมชนสากลอันหนึ่ง"(a universal community)

แต่อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งบัดนี้มันมีปัจจัย 2 ประการ ซึ่งบางครั้งได้ผลักให้ทฤษฎีกฎธรรมชาติสมัยใหม่หันเข้าสู่ทิศทางของ "พลเมืองโลก"

ประการแรก, นักทฤษฎีกฎธรรมชาติบางคนทึกทักว่า ธรรมชาติที่ฝังรากอยู่ในมนุษย์ นอกจากเพื่อแนวโน้ม"ความอยู่รอดของตนเอง"แล้ว ยังเป็นเรื่อง"ความรู้สึกร่วมกัน"ด้วย มันคือรูปแบบหนึ่งของความชอบเข้าสังคมที่ได้รวมมนุษย์ทั้งมวล ณ ระดับพื้นฐานอันหนึ่งสู่ความเป็นชุมชนโลก. อย่างไรก็ดี ความดึงดูดใจในข้อผูกมัดร่วมกันนี้มันเปราะบางมาก และไม่ด้วยประการใดเลยที่มันจำเป็นจะโน้มไปสู่ลัทธิพลเมืองโลก

ตามข้อเท็จจริง ความคิดที่แท้เกี่ยวกับความชอบสมาคมโดยธรรมชาติของมนุษย์ บางครั้งได้ถูกใช้เพื่อการทำสงครามโดยชอบธรรมต่อผู้คนทั้งหลายในที่ต่างๆ บนโลก ผู้ซึ่งได้รับการกล่าวว่า ข้อผูกมัดร่วมกันอันนี้เป็นเรื่องของความรุนแรงในหนทางที่ไม่ใช่ธรรมชาติ หรือผู้ซึ่งถูกกล่าวถึงอย่างง่ายๆ ว่าได้วางตัวของพวกเขาเอง ให้อยู่ภายนอกขอบเขตศีลธรรมของมนุษย์ร่วมกัน โดยขนบธรรมเนียมอันป่าเถื่อน อนารยะ ของพวกเขา

ประการที่สอง, ทฤษฎีกฎธรรมชาติสมัยใหม่ในช่วงแรกๆ บ่อยครั้งมักถูกนำไปเชื่อมโยงกับทฤษฎีสัญญาประชาคม และแม้ว่าบรรดานักทฤษฎีสัญญาประชาคมส่วนใหญ่ ได้เสนอทัศนะของพวกเขาออกมา, ถ้าไม่ใช่ลำพังตน, ก็สำหรับระดับของรัฐ และไม่ใช่สำหรับความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ ความคิดที่แท้ซึ่งอยู่เบื้องหลังทฤษฎีสัญญาประชาคมได้น้อมนำตัวของมันเองเพื่อการประยุกต์ไปสู่ระดับที่สองนี้

Grotius, Pufendorf, และคนอื่นๆ ได้ดึงเอาความเกี่ยวพันกันเหล่านี้ออกมา และด้วยเหตุดังนั้น พวกเขาจึงได้วางรากฐานสำหรับกฎหมายระหว่างประเทศ. Grotius ได้สร้างจินตภาพ "สังคมที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งของรัฐต่างๆ" ซึ่งได้ถูกผูกพันกันโดยกฎหมายระหว่างประเทศ(Law of nation) ซึ่งยึดถือ"ระหว่างรัฐทั้งหมด" (De Iure Belli ac Paci, 1625, Prolegomena par. 17; Pufendorf, De Iure Naturae et Gentium, 1672)

การกลับฟื้นขึ้นมาของลัทธิพลเมืองโลก
บริบททางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการกลับฟื้นขึ้นมาทางปรัชญาของลัทธิพลเมืองโลกในช่วงระหว่างยุคสว่าง(the Enlightenment) ถูกทำขึ้นด้วยปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ การปรากฏตัวขึ้นมาของลัทธิทุนนิยมและการค้าโลกที่เพิ่มขึ้น ตลอดรวมถึงการครุ่นคิดต่างๆ ในทางทฤษฎีในตัวมันเอง; ความจริงเกี่ยวกับจักรวรรดิทั้งหลายที่แผ่กว้างออกไป ซึ่งได้ขยายออกไปทั่วโลก; การเดินทางรอบโลก, และสิ่งที่เรียกกันในทางมานุษยวิทยาว่า "การค้นพบ" ได้ช่วยส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ให้ง่ายขึ้น; ความสนใจที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในปรัชญาเฮเลนิสติก; และการปรากฏตัวของความนึกคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการเพ่งความสนใจในทางปรัชญาในเรื่องเหตุผลของมนุษย์

Republic of letter
ปัญญาชนจำนวนมากของช่วงเวลาดังกล่าว มองว่าพวกเขาเองเป็นสมาชิกอยู่ใน"สาธารณรัฐทางปัญญา"ข้ามชาติ (the transnational "republic of letter") อย่างมีนัยสำคัญ, มากกว่าที่พวกเขาจะเป็นสมาชิกของรัฐทางการเมืองใดโดยเฉพาะ(the particular political state) ที่ตัวพวกเขาสังกัดอยู่. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัฐบาล บ่อยครั้ง ถูกทำให้ตึงเครียดเนื่องมาจากปัญหาเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์. อันนี้ได้ตระเตรียมให้พวกเขาได้ครุ่นคิดพิจารณาในเทอมต่างๆ ที่ไม่เหมือนกับรัฐและผู้คนของรัฐเหล่านั้น และได้รับเอาทัศนะและมุมมองพลเมืองโลกมาใช้

Human right - Cosmopolitanism - world citizenship
ภายใต้อิทธิพลของการปฏิวัติอเมริกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างปีแรกๆ ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ลัทธิพลเมืองโลกดูเหมือนจะให้แรงดลใจมากที่สุดกับการก่อการ. คำประกาศปี ค.ศ.1789 เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ได้เจริญงอกงามขึ้นมาจากแบบแผนความคิดเรื่องพลเมืองโลก และมันไดรับการเสริมเพิ่มพลังขึ้นตามลำดับ

ในคริสตศตวรรษที่ 18, ศัพท์คำว่า"cosmopolitanism" และ "world citizenship" บ่อยครั้งได้ถูกนำมาใช้ไม่ใช่ในฐานะป้ายฉลากสำหรับทฤษฎีในทางปรัชญาเท่านั้น แต่มันได้ถูกนำมาใช้เพื่อบ่งชี้ถึงท่าทีหรือทัศนคติเกี่ยวกับความใจกว้าง, การเปิดใจ, และการมีใจเป็นกลางโดยไม่มีอคติ. คนที่เป็นพลเมืองโลก คือคนที่ไม่เพียงอ่อนน้อมถ่อมตนหรือรับใช้ศาสนา หรืออำนาจทางการเมืองหนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่เป็นคนที่ไม่ถูกทำให้มีอคติขึ้นมาโดยความซื่อสัตย์จงรักภักดี หรือการมีอคติทางด้านวัฒนธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น ศัพท์คำนี้บางครั้งยังถูกใช้เพื่อบ่งชี้ถึงคนที่ได้รับการน้อมนำให้มีวิถีชีวิตแบบผู้เจริญแล้ว หรือผู้ซึ่งชอบเดินทางท่องเที่ยว, รักและชื่นชมในการติดต่อระหว่างกันข้ามชาติ หรือรู้สึกว่าอยู่ที่ไหนก็เหมือนกับอยู่ที่บ้านของตนเองในทุกๆ ที่. ในความหมายนี้ สารานุกรมได้กล่าวถึงคำว่า"พลเมืองโลก"(cosmopolitan) ว่า มักจะถูกใช้เพื่อบ่งถึง"คนซึ่งไม่อยู่กับที่ตายตัว", หรือ"คนที่ ไม่ว่าที่ไหน ไม่ใช่คนแปลกหน้า". แม้ว่าบรรดานักเขียนเรื่องทางปรัชญา อย่าง Montesquieu, Voltaire, Diderot, Addison, Hume, และ Jefferson ต่างก็จำแนกตัวของพวกเขาในฐานะพลเมืองโลก ในความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งของนัยยะเหล่านี้ โดยเหตุดังกล่าว ธรรมเนียมข้างต้นจึงไม่ใช่ความสนใจทางปรัชญาเสียเลยทีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 18, อย่างไรก็ตาม ศัพท์คำนี้ได้ถูกใช้เพื่อบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นทางปรัชญาที่เพิ่มมากขึ้นด้วย นักเขียนบางคนได้มีการรื้อฟื้นจารีตแบบไซนิกขึ้นมาใหม่. Fougeret de Montbron ในงานอัตชีวประวัติของเขาในปี ค.ศ.1753 ได้บันทึกว่า, Le Cosmopolite, เป็นการเรียกตัวของเขาเองในฐานะที่เป็นพลเมืองโลกคนหนึ่ง(a cosmopolitan) มีการอรรถาธิบายว่า เขาได้ท่องเที่ยวไปในทุกหนแห่งโดยไม่ผูกมัดกับสถานที่ใด และประกาศว่า "ทุกๆ ประเทศก็เป็นอย่างเดียวกันสำหรับตัวข้าพเจ้า" และ [ข้าพเจ้า] เปลี่ยนที่พำนักพักพิงไปตามอำเภอใจของตนเอง ("All the countries are the same to me" and "[I am] changing my places of residence according to my whim") (p. 130)

ลัทธิพลเมืองโลก : การวิจารณ์และการปกป้อง
แม้ว่าตามข้อเท็จจริงคือว่า มีนักเขียนอยู่เพียงไม่กี่คนที่ผูกมัดตัวของพวกเขาเองเข้ากับลัทธิพลเมืองโลก แต่อันนี้เป็นเรื่องที่บรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายเกี่ยวกับลัทธพลเมืองโลกได้หยิบขึ้นมาเป็นเป้าในการโจมตีพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น

- Jean-Jacques Rousseau ได้แสดงความข้องใจว่า พวกลัทธิพลเมืองโลก "คุยโตโอ้อวดว่าพวกเขารักคนทุกคน (tout le monde, หมายความถึง the Whole world ด้วย) ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะไม่รักใครเลยด้วย" (Geneva Manuscript version of The Social Contract, 158).

- Johann Georg Schlosser, ในบทกวีเชิงวิพากษ์ 'Der Kosmopolit' เขียนเอาไว้ทำนองว่า "มันเป็นการดีที่จะรู้สึกภาคภูมิใจในประเทศของตน ยิ่งกว่าที่จะไม่มีประเทศเลย" ชัดเจนที่จะสันนิษฐานได้ว่า ลัทธิพลเมืองโลกมีนัยยะเป็นอย่างหลังนี้ และเป็นปฏิปักษ์กับการผูกติด

กระนั้นก็ตาม บรรดาผู้ปกป้องลัทธิพลเมืองโลกในคริสตศตวรรษที่ 18 มิได้ให้การยอมรับต่อสิ่งเหล่านี้ ในทัศนะของพวกเขาตามคำอธิบายในเชิงวิพากษ์เหล่านี้ พวกเขาเข้าใจลัทธิพลเมืองโลกมิใช้ในฐานะรูปแบบหนึ่งของลัทธิปัจเจกชนสุดขั้วหรือเลยเถิด แต่มันค่อนข้างดึงมาจากขนบจารีตของบรรดานักคิดสโตอิกทั้งหลาย ซึ่งมีนัยยะเป็นไปในเชิงบวกเกี่ยวกับอุดคติทางศีลธรรมของชุมชนมนุษย์ที่เป็นสากล (the positive moral ideal of a universal human community) และพวกเขาไม่คิดว่าอุดมคติเหล่านี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อการผูกติดเป็นการเฉพาะ อย่างเช่น ความรักชาติ(patriotism) หรือความรู้สึกชาตินิยม เป็นต้น

บางคนอย่างเช่นนักเขียนชาวเยอรมัน Christoph Martin Wieland, ค่อนข้างจะยืนหยัดใกล้เคียงกับทัศนะของพวกสโตอิกทีเดียว ส่วนคนอื่นๆ ก็ได้พัฒนาทฤษฎีศีลธรรมพลเมืองโลกไปเป็นทฤษีใหม่ๆ อย่างเด่นชัด. ตามความคิดของ Kant (1724-1804) สิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลทุกๆ ชนิด คือสมาชิกอยู่ในชุมชนทางศีลธรรมหนึ่งเดียว (all rational beings are members in a single moral community)

พวกเขาอุปมาคล้ายคลึงกับบรรดาพลเมืองในความหมายทางการเมือง(แบบสาธารณรัฐ - republic) ที่ว่า พวกเขาต่างมีส่วนร่วมในคุณลักษณ์เฉพาะของเสรีภาพ, ความเสมอภาค, และมีความเป็นอิสระ, และที่ว่าพวกเขามีกฎเกณฑ์(กฎหมาย - law)ของพวกเขาเอง. อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ร่วมกันของพวกเขาคือกฎของศีลธรรม ซึ่งมีพื้นฐานวางอยู่บนเหตุและผล

พลเมืองโลกในแนวประโยชน์นิยมและเชิงศีลธรรม
บรรดาพลเมืองโลกในแนวประโยชน์นิยมในช่วงต้นๆ อย่าง Jeremy Bentham (1748-1832), ในทางที่ตรงข้าม, ปกปักษ์รักษาลัทธิพลเมืองโลกของพวกเขาโดยการชี้ถึงประโยชน์ร่วมกัน และความเสมอภาคของประชาชาติทั้งมวล"

ลัทธิพลเมืองเมืองโลกเชิงศีลธรรม ถูกวางรากฐานอยู่ในความมีเหตุผลของมนุษย์ หรือในคุณลักษณ์บางอย่างในเชิงสากลที่มีส่วนร่วมปันกันในท่ามกลางมนุษย์ (และในบางกรณี สิ่งมีชีวิตอื่นๆ) อย่างเช่น ความสามารถที่จะมีประสบการณ์ความพึงพอใจและความเจ็บปวดร่วมกัน ความหมายหนึ่งในทางศีลธรรม หรือจินตนาการทางสุนทรีย์ต่างๆ

พลเมืองโลกทางศีลธรรมมองว่า มนุษย์ทั้งมวลต่างเป็นพี่น้องกัน (แม้ว่าจะมีอคติในเรื่องเพศสภาพก็ตาม) - ความคล้ายคลึงกันอันหนึ่งกับสิ่งซึ่งพวกเขามีเป้าหมายที่จะแสดงถึงความเสมอภาคกันโดยพื้นฐานของมนุษย์ทั้งมวล, ขจัดความเป็นทาสทิ้งไป, ทำลายการตักตวงผลประโยชน์แบบอาณานิคม, รวมถึงลำดับชั้นสูงต่ำแบบศักดินา, และการอบรมสั่งสอนถึงความหลากหลาย

พัฒนาการของลัทธิพลเมืองโลกในยุคสมัยใหม่
นักพลเมืองโลกบางคน ได้พัฒนาทัศนะของพวกเขาไปสู่ทฤษฎีทางการเมืองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. ในบรรดานักพลเมืองโลกในทางการเมือง ซึ่งสุดขั้วมากที่สุดในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือ Anarcharsis Cloots (Jean-Baptiste du Val-de-Grace, baron de Cloots, 1755-1794). Cloots ซึ่งเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนการล้มเลิกรัฐที่มีอยู่ทั้งหมด และสถาปนารัฐโลกที่เป็นหนึ่งเดียวขึ้นมา ภายใต้สิ่งซึ่งปัจเจกชนทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันโดยตรง

ข้อถกเถียงในเชิงเหตุผลของเขา
- ประการแรกสุดนั้น ดึงมาจากโครงสร้างทั่วไปเกี่ยวกับทฤษฎีสัญญาประชาคม. ถ้ามันดำรงอยู่ในผลประโยชน์ทั่วไปสำหรับทุกคน ที่จะยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ ซึ่งเป็นผู้ที่บังคับใช้กฎหมายอันนำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัย หากเป็นเช่นนั้น ข้ออ้างเหตุผลอันนี้ก็ประยุกต์ใช้ได้กับแนวคิดโลกกว้าง และสนับสนุนการสถาปนาสาธารณรัฐโลกอันหนึ่งของปัจเจกชนร่วมกันขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ความเป็นพหุลักษณ์ของรัฐต่างๆ ที่พวกเขาค้นพบตัวเองอยู่ในรัฐที่เป็นธรรมชาติของแต่ละคน

- ประการต่อมา เขาอ้างเหตุผลว่า อำนาจอธิปไตยควรจะดำรงอยู่กับผู้คนทั้งหลาย และนั่นคือแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในตัวเอง เพราะมันเกี่ยวพันกับความเป็นปัจเจก ซึ่งมีนัยยะว่า มันสามารถเป็นไปได้แต่ในเรือนร่างอธิปไตยหนึ่งเดียวในโลก กล่าวคือ เชื้อชาติมนุษย์ในฐานะทั้งหมดร่วมกัน (La republique universelle ou adresse aux tyrannicides, 1792; Bases constitutionelles de la republique du genre humain, 1793)

Immanuel Kant
ส่วนใหญ่ของนักพลเมืองโลกในทางการเมืองไม่ได้ไปไกลถึงขนาด Cloots. Immanuel Kant ซึ่งค่อนข้างมีชื่อเสียงมากที่สุด ให้การสนับสนุนรูปแบบลัทธิพลเมืองโลกที่อ่อนกว่ามากอันหนึ่ง เกี่ยวกับแบบแผนทางกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ เป็นเรื่องของสมาคมหรือพันธมิตรประชาชาติต่างๆ(league of nations). ใน Perpetual Peace (1795) Kant ได้ให้เหตุผลว่า

- สันติภาพที่แท้จริงในโลกกว้าง จะเป็นไปได้ก็แต่เพียงเมื่อรัฐต่างๆ ได้รับการจัดระบบภายใน เป็นไปตามแบบแผนหรือหลักการทั้งหลายของสาธารณรัฐเท่านั้น

- ส่วนการจัดระบบภายนอก จะเป็นไปในรูปของสมาพันธ์หรือพันธมิตรตามความสมัครใจ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษาสันติภาพ และเมื่อรัฐต่างๆ ให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่เพียงพลเมืองของบรรดารัฐของตนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนต่างถิ่นทั้งหลายด้วย

เขาอ้างเหตุผลว่า สมาพันธรัฐ(league of state - สันนิบาตรัฐ)ไม่ควรเป็นการบีบบังคับด้วยกำลังทหาร เพราะนั่นจะเป็นการไปละเมิดอำนาจอธิปไตยภายในของรัฐต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมีศักยภาพต่อเสรีภาพของปัจเจกชนที่สร้างขึ้นมาภายในรัฐเหล่านั้น (ถ้าอำนาจของสมาพันธ์ดังกล่าวให้ความเคารพเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าสมาชิกรัฐบางรัฐ) และมันจะไปลดทอนโอกาสที่รัฐทั้งหลายจะมาร่วมกันอย่างแท้จริง

นักวิจารณ์บางคนให้เหตุผลในเชิงตอบโต้ว่า ฐานะตำแหน่งของ Kant ดูเหมือนจะไม่ค่อยสอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้นัก บนพื้นฐานที่ว่า มีเพียงหนทางเดียวที่จะเอาชนะรัฐโดยธรรมชาติอย่างเต็มที่ ท่ามกลางรัฐต่างๆ ซึ่งสำหรับพวกมันแล้วก็คือ การเข้าไปสู่ความเป็นเอกภาพแห่งสมาพันธ์รัฐ(a federative unity of states)ด้วยอำนาจการบีบบังคับ

พวกเขาได้แปรเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในเชิงกระบวนการ โดยการคิดถึงมันในฐานะที่เป็นชั้นๆ และอันนี้ได้ทำให้พวกเขาสามารถให้เหตุผลว่า รัฐต่างๆ ควรจะแปรเปลี่ยนส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของตนไปสู่ระดับของสมาพันธ์ดังกล่าว ซึ่งเพียงในส่วนที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ภายนอกของพวกมันกับรัฐอื่นๆ เท่านั้น. ขณะเดียวกันก็ยังคงสงวนรักษาอำนาจอธิปไตยของรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับกิจการภายในของพวกมันเอาไว้ได้ (the early Fichte - Johann Gottlieb 1762-1814 Ger. Philos.)

ในอีกด้านหนึ่งนั้น บรรดานักเขียนในยุคโรแมนติครู้สึกว่า รัฐอุดมคติไม่ควรที่จะเกี่ยวข้องกับการบังคับขู่เข็ญใดๆ ทั้งสิ้น และด้วยเหตุดังนั้น อุดมคติเกี่ยวกับพลเมืองโลกควรจะเกี่ยวกับสาธารณรัฐโลกอันหนึ่ง ในลักษณะของภราดรภาพ ความเป็นพี่น้อง ซึ่งเป็นสาธารณรัฐที่ปราศจากเผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จ (the young Friedrich Schlegel, 1772-1829 Ger. Philos.)

Kant ยังได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายพลเมืองโลกด้วย โดยได้เสนอแนะถึงพื้นที่ที่สามเกี่ยวกับกฎหมายสาธารณะ(a third sphere of public law) - นอกจากกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ - กฎหมายสาธารณะ(กฎหมายพลเมืองโลก) คือกฎซึ่งบรรดารัฐต่างๆ และปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีสิทธิ และเป็นที่ที่ปัจเจกชนมีสิทธิเหล่านี้ในฐานะพลเมืองของโลก มากกว่าที่จะเป็นพลเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะ

ลัทธิพลเมืองโลกในทางเศรษฐกิจ
นอกจากรูปแบบทางศีลธรรมและการเมืองของลัทธิพลเมืองโลกแล้ว สิ่งเหล่านี้ได้ไปปรากฏในรูปของ"ทฤษฎีพลเมืองโลกทางเศรษฐกิจ"ด้วย. การค้าเสรีได้รับการสนับสนุนโดยบรรดานักต่อต้านลัทธิพาณิชยนิยม(anti-mercantilists - พวกนี้ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มความมั่งคั่งของชาติ โดยกฎเกณฑ์ของรัฐบาลด้วยผลประโยชน์ทางการค้า กล่าวคือไม่ต้องการให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยว) อย่าง Adam Smith และ Dietrich Hermann Hegewisch ในคริสตศตวรรษที่ 18 ที่รัฐได้เข้ามาควบคุมมากขึ้นๆ ตามลำดับ. พวกเขาแสวงหาหนทางที่จะขจัดหรือลดทอนบทบาททางการเมืองในปริมณฑลทางเศรษฐกิจ

อุดมคติของพวกเขาคือ โลกที่อัตราภาษีศุลกากรและข้อจำกัดต่างๆ ในการค้าระหว่างประเทศได้ถูกเลิกล้มไป, โลกซึ่งตลาด (ไม่ใช่รัฐบาล) เป็นผู้ที่เอาใจใส่เกี่ยวกับความต้องการทั้งหลายของผู้คน

อันนี้ค่อนข้างสวนทางกันกับลัทธิพาณิชยนิยม(mercantilism) พวกเขาให้เหตุผลว่า มันจะเป็นประโยชน์มากกว่าสำหรับคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าชาติหนึ่งนำเข้าสินค้าต่างๆ ซึ่งแพงกว่ามากหากจะผลิตขึ้นมาภายในประเทศ, และด้วยเหตุนี้ สมมุติฐานอันนั้นที่ว่า รัฐของตนจะได้กำไร ถ้าเผื่อว่ารัฐอื่นๆ ไม่สามารถที่จะส่งออกสินค้าของพวกมันได้จึงผิด. พวกเขาให้เหตุผลว่า สถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างตรงข้ามกันเลยทีเดียว กล่าวคือ การเลิกล้มเกี่ยวกับลัทธิปกป้อง (เช่นการปกป้องการค้าด้วยกำแพงภาษี) จะสร้างผลกำไรให้กับทุกคน เพราะรัฐอื่นๆ จะได้กำไรจากการส่งออกของพวกมัน ทำให้ถึงซึ่งมาตรฐานสูงของการดำรงชีวิต และต่อจากนั้นก็กลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ดีขึ้น เพราะว่าพวกมันสามารถนำสินค้าเข้าได้มากขึ้น เช่นเดียวกัน

ในทัศนะของพวกเขา หลังจากทำการค้า จะทำให้โลกมีเสรีภาพ ความสำคัญของรัฐประชาชาติต่างๆ ก็จะลดทอนลงอย่างน่าตื่นเต้น. ขณะที่ปัจจุบัน รัฐประชาชาติทั้งหลายได้เพ่งความสนใจลงไปบนเศรษฐกิจของชาติและการปกป้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อันที่จริงบทบาทในอนาคตของรัฐต่างๆ จะทำหน้าที่มากที่สุดเพียงสนับสนุนและส่งเสริมเท่านั้น

ในอุดมคติเกี่ยวกับตลาดโลก สงครามจะไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครอีกต่อไป. ความมีเสรีของตลาดโลกมากขึ้นจะกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต ในขณะที่รัฐต่างๆ จะลดบทบาทของพวกมันลงจนเหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เรียบเรียงมาจากบางส่วนของหัวข้อเรื่อง Cosmopolitanism
จากแหล่งที่มา: http://plato.stanford.edu/entries/cosmopolitanism/
First published Sat Feb 23, 2002; substantive revision Tue Nov 28, 2006

หมายเหตุ: สำหรับนักศึกษา สมาชิกและผู้สนใจอ่านต้นฉบับเนื้อหาฉบับสมบูรณ์ในภาษาอังกฤษ สามารถคลิกอ่านได้ตาม URL ข้างต้น



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ปัญญาชนจำนวนมากของช่วงเวลาดังกล่าว มองว่าพวกเขาเองเป็นสมาชิกอยู่ใน "สาธารณรัฐทางปัญญา"ข้ามชาติ (the transnational "republic of letter") อย่างมีนัยสำคัญ, มากกว่าที่พวกเขาจะเป็นสมาชิกของรัฐทางการเมืองใดโดยเฉพาะ(the particular political state) ที่ตัวพวกเขาสังกัดอยู่. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัฐบาล ถูกทำให้ตึงเครียดเนื่องมาจากปัญหาเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์. ซึ่งทำให้พวกเขาได้ครุ่นคิดพิจารณาในเทอมต่างๆ ที่ไม่เหมือนกับรัฐและผู้คนของรัฐเหล่านั้น และได้รับเอาทัศนะและมุมมองพลเมืองโลกมาใช้

12-04-2550

Cosmopolitanism
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.