โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 12 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๐๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 12,04,.2007)
R

ความรู้สาขาวิชา ภาษาศาสตร์
ความรู้ อำนาจ และภาษา : มายาคติของผู้บริหาร
ผศ.ศิริพร มณีชูเกตุ : เขียน

สาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน ซึ่งเคยเผยแพร่แล้วใน
วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๔๙
เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ความรู้ อำนาจ และภาษา" ซึ่งได้นำมาเป็นฐานในการวิเคราะห์
์ถึงเรื่องเดียวกันนี้ในบรรดาผู้บริหารต่างๆ ของไทย เริ่มจากผู้บริหารในหน่วยราชการ จนไปถึงนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้แทรกเกร็ดความรู้ในเรื่องเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ต่างๆ ด้วย
อาทิงานเขียนของ Jared Diamond และนักคิดตะวันตกคนอื่นๆ
อย่างน่าสนใจ
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๐๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++

power / knowledge : Michel Foucault
http://www.colostate.edu/Depts/Speech/rccs/theory54.htm

ความรู้ อำนาจ และภาษา : มายาคติของผู้บริหาร
ผศ.ศิริพร มณีชูเกต : สาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

บทคัดย่อ
การมีความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนและจากการสั่งสมประสบการณ์ รวมถึงการมีความรู้ในการใช้ภาษามีความจำเป็นและเพิ่มพลังอำนาจให้แก่บุคคลหลายๆ คน แต่สำหรับผู้บริหารแล้ว สามสิ่งนี้ดูเหมือนไม่มีความจำเป็น และไม่เพิ่มพลังอำนาจให้แก่ผู้บริหารมากไปกว่าอำนาจหน้าที่ที่มาพร้อมกับตำแหน่งทางการบริหาร ซึ่งอำนาจหน้าที่นี้ต่างหากที่เป็นช่องทางให้ผู้บริหารมีพลังอำนาจขึ้นมาได้ แต่ผู้บริหารอาจลืมตระหนักไปว่า ความรู้ อำนาจ และภาษา เป็นมายาคติ ที่มีลักษณะผกผัน ทำให้มีสภาพกลับไปกลับมาระหว่าง ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำได้เสมอ

Abstract
Having explicit knowledge, tacit knowledge and being competent in language use are necessary and increase the power of many people. This, however, may not be the case for administrators. In fact authority is a way to increase administrators' power. Many administrators tend to ignore the fact that knowledge, power and languages are the mythologies which force the alternations between the agent and the object at all times.

บทนำ
"ความรู้", "อำนาจ", และ "ภาษา", ทั้งสามสิ่งนี้มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น นั่นคือ เมื่อมีความรู้ ภาษาจะเป็นเครื่องมือส่งผ่านให้เห็นอำนาจจากความรู้นั้นได้ ขณะเดียวกันภาษาและการใช้ภาษาก็อาจเป็นตัวชี้วัดระดับความรู้ของผู้พูดหรือผู้เขียนนั้นได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้หากบุคคลมีอำนาจอันมิได้เกิดจากความรู้และการใช้ภาษาโดยตรง ก็อาจส่งผลให้ความรู้และการใช้ภาษาที่แสดงออกนั้นมีอำนาจขึ้นมาได้

ความรู้ อำนาจ และภาษาจึงเปรียบประดุจดังเงาของกันและกัน ซึ่งพร้อมและสามารถแปรผันหรือผกผันให้เป็นบวกหรือลบก็ได้หากเมื่อตำแหน่งแห่งที่ของทั้งสามสิ่งนี้เปลี่ยนไป. ณ ตำแหน่งหนึ่ง ความรู้ อำนาจและภาษาที่บุคคลครอบครองอยู่อาจดูไร้ค่า ไร้คนแยแส, ในทางกลับกัน ณ ตำแหน่งหนึ่ง สามสิ่งนี้กลับขึ้นแท่นอันทรงเกียรติและก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ในทันที โดยเฉพาะเมื่อตำแหน่งแห่งที่นั้นตกเป็นของฝ่ายผู้บริหาร และนี่คือความจริงของมายาคติที่เกิดขึ้นกับความรู้ อำนาจ และภาษา

ความรู้
วิจารณ์ พานิช (2547 : 7) ได้กล่าวถึงความรู้และแบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันดังนี้

"ความรู้ยุคที่ 1 เริ่มเมื่อ 500-600 ปีก่อน เมื่อเริ่มมีแท่นพิมพ์ ทำให้สามารถตีพิมพ์ความรู้ออกเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง ความรู้เหล่านี้มักสร้างโดยนักวิชาการ เป็นความรู้ที่เน้นเหตุ-ผล พิสูจน์ตามหลักวิชาการ เน้นความรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะสาขา อยู่ในรูปของความรู้ที่เข้ารหัสเป็นตัวหนังสือ รูปภาพ แผนผัง หรือในรูปของรหัสทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า Explicit knowledge หรือ Codified knowledge (วิจารณ์ พานิช เรียก ความรู้ประเภทนี้ว่า ความรู้ในกระดาษ หรือความรู้ชัดแจ้ง)

ความรู้ยุคที่ 2 เป็นความรู้ที่มีอยู่ในผู้ปฏิบัติ เกิดจากประสบการณ์ตรง พิสูจน์ได้จากการที่งานประสบผลสำเร็จ ยิ่งถ้าผลงานสูงส่งยอดเยี่ยม ยิ่งแสดงว่ามีความรู้พิเศษ เป็นความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับงาน และอยู่ในคนหรือกลุ่มคนร่วมกัน เป็นความรู้บูรณาการ ไม่จำแนกเป็นสาขาวิชา เรียกความรู้ชนิดนี้ว่า ความรู้ในคน หรือ Tacit knowledge

ที่จริงความรู้ยุคที่ 2 นี้ คือความรู้ยุคที่ 0 (ศูนย์) คือมนุษย์เราใช้ความรู้แบบนี้มาช้านานก่อนเกิดความรู้ในยุคที่ 1 จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการพิมพ์ ความเคยชินต่อความรู้ยุคที่ 1 ทำให้มนุษย์ละเลยความรู้ยุคที่ 0 ไป จนเพิ่งมาค้นพบใหม่เมื่อประมาณ 15 ปีมานี้"

การมีความรู้และประสบการณ์ จึงเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำประโยชน์ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อส่วนรวม. ในยุคโบราณนั้น นักปราชญ์ผู้แสวงหาคำตอบของคำถามที่ผุดขึ้นมาในความคิดของพวกเขาอย่างไม่ขาดสาย ต่างได้รับความศรัทธา เชิดชูเกียรติ ทั้งในขณะเวลาที่พวกเขามีชีวิตอยู่หรือหลังจากที่เสียชีวิตแล้ว, หรือเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ของสังคมมนุษย์โลกก็ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เช่นกัน

โดยปริยายแล้ว คนที่ศึกษาศาสตร์ด้านใดหรือชำนาญการทางด้านใด มักมีความชอบธรรมในการปฏิบัติหรือเอ่ยถึงด้านนั้นๆ และอำนาจย่อมติดตามมา กล่าวคือความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งความรู้ในเรื่องนั้น แต่แท้จริงแล้วเป็นตัวกำหนดอำนาจแฝงเร้นและความสัมพันธ์ต่างๆ ในสังคมด้วย เช่น ศาสตร์การแพทย์เป็นตัวกำหนดให้มีผู้ที่มีความรู้ดีในเรื่องสุขภาพที่จะสามารถประกอบอาชีพแพทย์ได้ และกำหนดให้เป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่าผู้อื่นในเรื่องนี้ (วิโรจน์ อรุณมานะกุล,2547 : 11)

สังคมไทยสมัยก่อน ผู้ชายเท่านั้นที่ได้เรียนหนังสือโดยการบวชเรียน ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ได้เรียนหนังสือ การมีความรู้จากการเรียนหนังสือจึงมีข้อได้เปรียบมากมาย เพราะการได้เรียนหนังสือย่อมทำให้สามารถอ่านออกเขียนได้ เมื่ออ่านออกเขียนได้ นั่นย่อมเป็นเครื่องมือที่จะนำพาไปสู่โลกแห่งข้อมูลต่างๆ รวมทั้งมีโอกาสติดต่อสื่อสารมากขึ้น ผู้ชายมีบทบาทแทบทุกเรื่องมากกว่าผู้หญิง ดังนั้นผู้ชายอันหมายรวมถึงผู้รู้หนังสือ จึงมีอำนาจแห่งการกดขี่เพื่อกีดกันความเป็นใหญ่ของผู้หญิง

เรื่องราวของอำแดงเหมือน จึงเป็นตัวอย่างที่ช่วยยืนยันถึงผลของการรู้หนังสือของผู้หญิง นั่นคือ อำแดงเหมือนสามารถเขียนฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งปรากฏในประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา พ.ศ.2408 และได้รับชัยชนะในที่สุด (ธม ธาตรี และจันนิภา, 2521 : 199-201)

ตัวอย่างของความหายนะ อันมีสาเหตุจากการไม่รู้หนังสือที่เกิดขึ้นในระดับกลุ่มคนนั้น เห็นได้จากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาวอินคา ชาวอินคาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิอะตาอวลปา ต้องพบกับความหายนะอันใหญ่หลวง ด้วยความที่ชาวอินคาไม่มีภาษาเขียนจึงไม่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารใดๆ ได้ จะรู้ก็เพียงลักษณะปากต่อปาก ที่สำคัญกว่านั้น ในเขตโลกใหม่ (1) นั้น ผู้ที่เขียนหนังสือเป็น จำกัดอยู่เฉพาะผู้นำกลุ่มเล็กๆ แต่ จักรพรรดิอะตาอวลปาไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น !

อะตาอวลปาที่แวดล้อมด้วยทหารและข้าราชบริพาร 80,000 คน กลับต้องพ่ายแพ้ทหารชาวสเปนชั้นเลวเพียง 168 นายที่นำโดยฟรานซิสโก ปิซาร์โร (2) และท้ายที่สุด หลังจากได้ค่าไถ่ตัวที่เป็นทองคำเต็มห้อง ปิซาร์โรก็ตระบัดสัตย์ที่ตนให้ไว้แก่อะตาอวลปาว่า จะปล่อยตัวพระองค์ โดยการสังหารพระองค์เสีย

ปัจจัยหนึ่งที่นอกเหนือจากการไม่รู้หนังสือของจักรพรรดิอะตาอวลปา แต่อาจเป็นผลพวงจากการไม่รู้หนังสือคือ การไม่มีข้อมูลหรือประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศและประชาชนชาวสเปนเลย อันที่จริงปิซาร์โรเองก็ไม่รู้หนังสือ(คือไม่มีความรู้ในกระดาษ) เช่นเดียวกับจักรพรรดิอะตาอวลปา แต่เขาได้เปรียบจักรพรรดิอะตาอวลปา เพราะเขาอาศัยอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมการอ่านการเขียน หนังสือเท่าที่เผยแพร่อยู่ในยุโรปช่วยให้ชาวสเปนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ยุโรปเมื่อหลายพันปีก่อน และเรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมร่วมสมัยหลายวัฒนธรรม(จาเร็ด ไดมอนด์, 2547 :97) และด้วยเหตุนี้ ปิซาร์โรจึงอาศัยประโยชน์จากการนี้ โดยการนำยุทธวิธีการซุ่มโจมตีของคอร์เตช (3) มาใช้กับอะตาอวลปา (จาเร็ด ไดมอนด์, 2547 : 97)

เราคงสรุปไม่ได้ว่าไอคิวของชาวอินคาต่ำกว่าชาวสเปน แต่สิ่งที่ทำให้ชาวสเปนเหนือกว่าก็เพราะการรู้และมีข้อมูลที่มากกว่า มีประสบการณ์ที่มากกว่า ประสบการณ์ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเกิดคู่กับมโนธรรม หรือการมีวัฒนธรรมการรู้หนังสือ แต่อาจเป็นเชิงการรู้เหลี่ยมรู้คมเพื่อการเอาเปรียบ ไม่เช่นนั้นทหารสเปน 168 คน คงไม่ถึงกับต้องฆ่าชาวอินคาจำนวน 7,000 คน เหมือนผักปลา โดยที่ฝ่ายทหารสเปนไม่เสียเลือดเนื้อของฝ่ายตนแม้แต่คนเดียว

โดยสรุป วัฒนธรรมการรู้หนังสือทำให้ชาวสเปนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมและประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นอย่างดี แต่ในทางตรงกันข้าม ไม่เพียงแต่อะตาอวลปาจะไม่รู้เรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับคนสเปนเท่านั้น แต่ยังไม่เคยรับรู้หรือเคยได้ยิน(หรืออ่าน) เรื่องราวเกี่ยวกับการรุกรานใดๆ ของผู้คนจากโพ้นทะเลมาก่อนเลย ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมานี้เอง ที่ช่วยให้ปิซาร์โรวางแผนจับตัวอะตาอวลปาได้สำเร็จ ในขณะที่อะตาอวลปาก็ตกหลุมพรางที่วางไว้อย่างง่ายดาย(จาเร็ด ไดมอนด์, 2547 : 97) นี่เป็นเพราะผลแห่งการไม่พบพานพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งมีความหลากหลายโดยแท้

สำหรับในประเทศไทย ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายระดับประเทศ คือเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งแม้ว่าในสมัยนั้นได้มีการส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาทหารในยุโรปก็ตาม แต่ปัจจัยหนึ่งที่ วิลาส นิรันดร์สุขศิริ (ศิลปวัฒนธรรม, 2548, เว็บไซต์) ได้สรุปประเด็นว่า เหตุที่สยามต้องสูญเสียดินแดนให้กับประเทศฝรั่งเศสนั้น คือความไม่ช่ำชองในวิธีการทูต และการใช้ภาษาของฝ่ายสยาม ซึ่งย่อมหมายถึงความรู้และประสบการณ์ด้านภาษาต่างประเทศนั่นเอง รวมทั้งการขาดประสบการณ์และความชำนาญในการใช้อาวุธด้วย ดังข้อความต่อไปนี้

"ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ผู้บันทึกหลายคนระบุไว้ว่าเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของสยาม คือวิธีการทูตที่ใช้ในครั้งนั้น ดังเช่นข้อความในโทรเลขที่มาร์คีส์แห่งดัฟเฟอริน๑๐ ส่งถึงเอิร์ลแห่งโรสเบอรี ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ความว่า "ผมสังเกตเห็นว่า ฝ่ายสยามขาดความช่ำชองในการใช้ภาษาอันแยบยลทางการทูตอย่างชาวยุโรป" ข้อความนี้ตรงกับความเห็นของนายสมิธที่ว่า "ท่าทีและภาษาที่ฝ่ายสยามใช้ตอบข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสนั้น ปั้นปึ่งถือดีเกินขีดการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีจนเกินไป และทำให้ฝ่ายศัตรูโกรธ" ส่วนนายเฮนรี นอร์แมน นั้นกล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า ข้อเสียอย่างหนึ่งของฝ่ายสยามคือ "ความรู้สึกต่อต้านอิทธิพลของยุโรปในสยามที่รุนแรงเกินไป"

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว กองกำลังของสยามเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ด้วย หากมองในแง่อาวุธยุทโธปกรณ์อย่างเดียวแล้ว โอกาสที่สยามจะเป็นฝ่ายชนะฝรั่งเศสในการต่อสู้ที่ปากน้ำมีความเป็นไปได้ แต่ถ้ามองด้านความสามารถ และมองถึงการศึกระยะยาวแล้ว โอกาสดังกล่าวมีไม่สูงนัก"

ความรู้กับผู้บริหาร
อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหนือกว่าย่อมได้เปรียบกว่า และในด้านการบริหารงาน ข้อได้เปรียบเหล่านี้จึงตกอยู่ในแวดวงของผู้บริหาร เพราะหลายครั้งที่เราพบว่าผู้บริหารไม่ได้แตกต่างจากบุคลากรทั่วไปในแง่ของความรู้เลย แต่ผู้บริหารมีช่องทางของการรู้ข้อมูลมากกว่า เข้าถึงข้อมูลได้ก่อนหรือแม้กระทั่งมีโอกาสสร้างกฎกติกาขึ้นมากันเอง ไม่ว่าจะเป็นระเบียบข้อบังคับใดๆ และมีโอกาสที่จะปิดบังซ่อนเร้นหรือหน่วงเหนี่ยวเวลาการแจ้งข้อมูลบางอย่างได้

นอกเหนือจากความไม่แตกต่างจากบุคลากรทั่วไปในแง่ของความรู้แล้ว สองฝ่ายนี้อาจไม่แตกต่างกันในแง่ของคุณสมบัติที่พึงประสงค์ เพราะคุณสมบัติที่ควรจะมีของผู้บริหาร อาทิ เรื่องภาวะความเป็นผู้นำ, การมีวิสัยทัศน์, มีคุณธรรมจริยธรรม, เที่ยงธรรม, โปร่งใส, รับผิดรับชอบ, รู้กฎระเบียบต่างๆ ฯลฯ นั้น หากเมื่อสำรวจแล้วเราจะพบผู้บริหารแบบนี้สักกี่ราย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้บริหารบางคนมีประสบการณ์และความสามารถในการบริหารจัดการ(ซึ่งไม่สามารถรับรองได้ว่าจะมีความรับผิดรับชอบ และรู้ผิดรู้ชั่วเสมอไป) แต่ด้วยค่านิยมของสังคม โดยเฉพาะค่านิยมของสังคมผู้บริหารหน่วยงานราชการทั้งหลาย ที่มักให้น้ำหนักของอำนาจและความเชื่อถือไปกับคำนำหน้าชื่อไม่ว่าจะเป็นคุณวุฒิ ยศศักดิ์หรือตำแหน่งทางวิชาการ ดังนั้นจึงอาจเกิดกรณีที่ผู้บริหารบางคนไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งคุณวุฒิทางการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต แม้ว่าจะเรียนเพียง 1 เดือนก็ตาม ทั้งนี้เพียงเพื่อว่าคุณวุฒินั้นจะสามารถยกระดับฐานอำนาจตนเอง และให้ผู้คนยอมรับ ส่วนจะมีความรู้ทางด้านที่เรียนมาโดยแท้จริงหรือไม่นั้นไม่สำคัญ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีใคร "รู้ทัน" กับการได้มาของความรู้จอมปลอมนั้น ผู้บริหารคนนั้นก็ยังคงอาศัย "คุณวุฒิ" สร้างฐานอำนาจได้ต่อไป ถึงกระนั้นก็ตาม หากจะมีใครสักคน "รู้ทัน" ก็ไม่แน่ใจว่าอำนาจของผู้บริหารจะลดลงไปหรือไม่ เพราะตำแหน่งทางการบริหารดูจะเป็นเกราะป้องกันและมีอำนาจที่เหนือกว่า

ความเชื่อที่ว่าความรู้จากการร่ำเรียนศึกษาสามารถสร้างอำนาจแห่งความรู้นั้นๆ ได้นั้น สำหรับตำแหน่งทางการบริหารแล้ว อาจไม่มีความจำเป็นเสมอไป ไม่เช่นนั้นคงไม่มีกรณีการซื้อปริญญาของผู้บริหารเกิดขึ้น

อำนาจ
ผู้มีความรู้หรือผู้รู้ข้อมูล(ผู้มีประสบการณ์) โดยทั่วไปย่อมมีอำนาจและมีอิทธิพลต่อผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้มีความรู้หรือผู้รู้ข้อมูลไม่ใช่เครื่องหมายของการมีอำนาจเสมอไป ทุกวันนี้นักวิชาการผู้มีความรู้และมีข้อมูล ยังต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจที่เกิดจากตำแหน่งบริหาร

อำนาจจากความรู้กับอำนาจจากตำแหน่งบริหารแตกต่างกันอย่างไร
ประชุม โพธิกุล (กระทรวงศึกษาธิการ, 2549, เว็บไซต์) ได้กล่าวถึงคำ 2 คำ คือ อำนาจหน้าที่ (Authority) กับ อำนาจ (Power) โดยแยกความหมายของ 2 คำนี้ออกมาในรูปของตาราง และอธิบายรายละเอียดนอกตาราง ซึ่งสรุปรวมดังนี้

ส่วนวิโรจน์ อรุณมานะกุล(2547 : 10-11)ได้กล่าวถึงความหมายของอำนาจไว้ 3 ประการด้วยกัน

1. สิทธิความชอบธรรมที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Official right)
2. ความสามารถที่จะทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นได้ (Ability)
3. ความสามารถที่ฝ่ายหนึ่งสามารถทำให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่ตนต้องการได้ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ (Control)

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าความหมายแรกนั้นหมายถึงอำนาจหน้าที่ (Authority) ส่วนความหมายที่ 2 และ 3 หมายถึงอำนาจ (Power) นั่นเอง ตัวอย่างของความแตกต่างระหว่าง"อำนาจหน้าที่"กับ"อำนาจ" เช่น ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการแพทย์ ซึ่งถือเป็นอำนาจจากความรู้ แต่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาคนไข้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ตำแหน่งของผู้บริหารมาพร้อมกับอำนาจหน้าที่ และผู้บริหารมักอาศัยอำนาจหน้าที่ที่ตนครองอยู่มาสร้างฐานอำนาจให้กับตนเอง ดังนั้นผู้บริหารส่วนใหญ่จึงมีทั้งอำนาจหน้าที่และอำนาจในการบริหาร (ยกเว้นบางกรณี ที่ผู้บริหารมีอำนาจหน้าที่แต่ไม่มีอำนาจ) เมื่อมีอำนาจแล้วย่อมแผ่อำนาจในการสร้างพวกพ้องของตนได้ ประเด็นที่น่าสนใจคือพวกพ้องที่อยู่ในรูปของคณะกรรมการบริหาร

การบริหารงานในรูปของคณะกรรมการนั้น ดูเหมือนว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมภายในองค์กร แสดงถึงการกระจายอำนาจและมีภาพลักษณ์ของการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน รวมถึงการร่วมกันรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ เพราะคณะกรรมการบริหารนั้นประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในวาระการประชุมแต่ละครั้งมักมีผู้นำเกม ให้เกมไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง และผู้บริหารสูงสุดมักได้สิทธิแห่งอำนาจนั้น ในขณะที่มติที่ออกมากลับเป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการ

กร ทัพพะรังสี( ผู้จัดการออนไลน์, 2549, เว็บไซต์) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและผ่านการ "คลุกวงใน" ในรูปของคณะกรรมการบริหารได้พูดเกี่ยวกับวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีดังนี้

ตนเห็นว่า นายกฯ ทักษิณ จะมีนโยบายของตนเอง มีนโยบายของตนเองในเรื่องต่างๆ ที่ไม่อยู่ในแฟ้มวาระ แต่ในที่สุดแล้วนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการฯ ครม. ก็จะสรุปเรื่องออกมาว่า ถือเป็นมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อออกจากที่ประชุม ครม. ก็ถือว่าคณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว ก็ต้องนำไปปฏิบัติ คือ มันเป็นนโยบาย แต่เริ่มต้นออกจากตัวนายกฯ ทักษิณ ซึ่งลงรายละเอียดสูงมาก

กร กล่าวว่า นายกฯ ทักษิณไม่ได้ดูความถนัดของรัฐมนตรีเป็นตัวตั้งว่า จะให้เขาอยู่ที่ไหน อยู่กระทรวงไหน เพราะยังไง นายกฯ ทักษิณก็จะเป็นผู้มอบนโยบายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ฉันจะเอาเธอไปนั่งอยู่ที่ไหน เธอก็อยู่แล้วกัน พูดง่ายๆ ว่า เอาคนที่สามารถจะทำตามที่ตนเองมอบนโยบายได้เป็นหลัก นายกฯ ทักษิณ รู้จักทุกคนว่าถนัดตรงไหน-ไม่ได้ถนัดตรงนี้ เช่นการนำคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ไปอยู่กระทรวงเกษตรฯ ตนก็ถามว่าทำไมเอาไปอยู่กระทรวงเกษตรฯ ดูไม่ค่อยตรงเลย แต่เหตุผลที่ได้รับก็คือว่า "มันเป็นเรื่องของการเมือง" อย่างนี้ก็ต้องหยุดถาม

และในความเป็นนักการเมือง นายกฯ ทักษิณก็มีคนที่ไว้ใจ คนที่สบตาแล้วสนิทใจ แล้วคนพวกนี้ก็เป็นคณะรัฐมนตรีอยู่รอบๆ ตลอด แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่กระทรวงไหน เพราะการไปอยู่กระทรวงตามความถนัดของคนพวกนี้ไม่ใช่ประเด็น คนที่นายกฯ ทักษิณ สนิทด้วยมากๆ เคยบอกตนว่า "อันนี้ผมก็ไม่ถนัดนะ นายให้มาอยู่นี้ผมก็อยู่" พูดง่ายๆ ว่า นายกฯ ทักษิณสนิทใจใคร ก็จะให้อยู่รับใช้ อยู่ในแวดวงของคณะรัฐมนตรีตลอด โดยไม่เกี่ยวกับว่าคนนี้ถนัดกระทรวงไหน

นอกจากนี้ผู้บริหารมักใช้อำนาจมาพิจารณาตัดสินวาระการประชุมเรื่องต่างๆ ในลักษณะที่หาเหตุผลเสมอต้นเสมอปลายไม่ได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"การยึดหลักสองมาตรฐาน" การยึดหลักสองมาตรฐานหรือการเลือกปฏิบัติอันมีเหตุแห่งความอคตินี้ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ใครๆ สามารถถือสิทธินี้ได้ แต่ตราบใดที่อยู่ภายใต้นโยบายเพื่อส่วนรวม การเลือกปฏิบัติดูเป็นกลที่แยบยล แต่ปราศจากความสง่างาม

การปิดบังข้อมูลข่าวสารถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสารและมีกระบวนการตรวจสอบ แต่เราอาจพบว่าการปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลบางอย่างยังมีอำนาจ หรือนำมาซึ่งการดำรงเรื่องอำนาจของคณะกรรมการบริหาร เราอาจพบเห็นบางหน่วยงานที่คณะกรรมการบริหาร ได้ปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลบางอย่างอันมีสาเหตุมาจากความไม่โปร่งใส ขาดหลักการและหลักเกณฑ์ที่สมเหตุสมผล เช่น กรณีการพิจารณาความดีความชอบ, เกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน หรือการจัดสรรงบประมาณต่างๆ

ตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นข้อมูลสนับสนุนให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่มีนโยบายกับการปฏิบัติเป็นไปในลักษณะสวนทางกัน เช่น

- นโยบาย : กระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม. ปฏิบัติ : รวมศูนย์และเผด็จการ
- นโยบาย : เสมอภาคและเสมอต้นเสมอปลาย. ปฏิบัติ : เลือกปฏิบัติ
- นโยบาย : ตรวจสอบได้. ปฏิบัติ : ปิดบังช่องทางและปิดโอกาสการตรวจสอบ

วัฒนธรรมการใช้อำนาจโดยอาศัยอำนาจหน้าที่เพื่อปฏิบัติการอันมิชอบของผู้บริหารเช่นนี้ มีให้เห็นอยู่ทั่วไปและหลายคนคงได้สัมผัสโดยไม่มีความจำเป็นต้องหาข้อมูลทางสถิติมาสนับสนุน ในส่วนของผู้บริหารเองอาจไม่ได้ตระหนักว่า ตำแหน่งและอำนาจที่ตนครองอยู่นั้นก็ไม่ได้จงรักภักดีเสมอไป สักวันหนึ่งอำนาจที่ใช้อยู่นั้นอาจกลายเป็นอาวุธที่กลับมาทิ่มแทงตนและพวกพ้องก็เป็นได้ ดังที่ มิแช็ล ฟูโกต์(2547 : 23)กล่าวว่า "อำนาจกลายเป็นเหมือน "โครงสร้าง" อย่างหนึ่งที่เปิดประตูให้ผู้คนอันหลากหลายเข้าไป "สวมบทบาท" เป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำวนเวียนสลับกันไป"

ภาษา
"ภาษา" จัดเป็นเครื่องมือที่สามารถชุบชีวิตคนหรือทำลายล้างคนให้ย่อยยับไปได้ ทั้งนี้มิได้หมายถึงตัวภาษาเอง แต่หมายถึงผู้คนหรือสังคมที่เป็นผู้ใช้ภาษาและกำหนดภาษาต่างหาก ที่กำหนดว่าถ้อยคำใดมีความหมายดีหรือความหมายเลว ภาษาใดเป็นภาษาสูง(High Variety) หรือภาษาใดเป็นภาษาต่ำ(Low Variety) (4)

ตัวอย่างยอดนิยมที่คนกล่าวถึงอยู่เสมอ ที่นางเอกได้ดีเพราะภาษา คือเรื่อง My Fair Lady (wikipedia,2006, website) ในเนื้อเรื่อง เอไลซ่า เป็นหญิงสาวที่พักอาศัยอยู่ในย่านคนจนกลางกรุงลอนดอนที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงคอกนีย์(Cockney) ซึ่งถือว่าเป็นสำเนียงของคนชั้นต่ำ เมื่อศาสตราจารย์เฮนรี่ ฮิกกินส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกเสียงไปพบ และพาเธอไปฝึกพูดภาษาอังกฤษสำเนียงมาตรฐาน (Received Pronunciation หรือ RP) จนคล่องแคล่ว ทำให้เธอมีสถานะเป็นคุณผู้หญิง (Lady) ขึ้นมาทันที นี่คือตัวอย่างของการเลือกใช้ภาษา แล้วมีผลทำให้สถานภาพทางสังคมของคนคนนั้นดีขึ้น

ตัวอย่างที่ทำให้ชีวิตผู้คนอับปางเพราะภาษา เช่นในกรณีของประเทศเอลซัลวาดอร์ ในปีค.ศ.1932 ชาวพื้นเมืองอินเดียนเป็นพันๆ คนถูกสังหาร ทำให้ชาวพื้นเมืองคนอื่นๆ ต้องหยุดพูดสื่อสารภาษาของตนเพื่อเอาชีวิตรอด ผลพวงนี้ทำให้ภาษาคาคาโอเปรา และภาษาเลนซากลายเป็นภาษาตาย และภาษาพิพิล (5) ตกอยู่ในภาวะใกล้สาบสูญ (Campbell, 1998 : 435)

อีกกรณีหนึ่งคือในยุคของการล่าอาณานิคม ชาวแอฟริกันจำนวนมากได้ตกเป็นทาสของกลุ่มประเทศตะวันตก เนื่องจากเหล่าทาสแอฟริกันนั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา ประกอบกับนโยบายห้ามไม่ให้เหล่าทาสที่พูดภาษาเดียวกันรวมกลุ่มกัน เพื่อเป็นการป้องกันการก่อกบฏ ทำให้เหล่าทาสจำเป็นต้องสื่อสารกันโดยใช้คำศัพท์ของตนและใช้ไวยากรณ์ภาษาของนาย จึงกลายเป็นภาษาใหม่ขึ้นมาคือภาษาพิดจินและครีโอล แต่ทั้งสองภาษายังตกอยู่ในสถานภาพต่ำอยู่ดี(ดู พรภัทร อมรศุภศาสตร์, 2539 : 48-52 และวิไลวรรณ ขนิษฐานันท์, 2527 : 32-33)

ในประเทศไทย ภาษาท้องถิ่นและภาษาชนกลุ่มน้อยก็ถูกจัดลำดับให้อยู่ในสถานภาพต่ำเช่นกัน เช่น ภาษามลายู ซึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มติชน, 2548, เว็บไซต์) ได้กล่าวถึงว่า ภาษามลายูปัตตานีก็เหมือนภาษาโบราณอีกหลายภาษา นั่นคือขาดโอกาสที่จะพัฒนาเข้าสู่โลกสมัยใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทัน ขณะที่ภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจ จึงทำหน้าที่เป็นภาษากลางของคนไทยทั้งชาติอีกด้วย ด้วยเหตุที่ภาษานี้ทำหน้าที่สำคัญทั้งหมด ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นภาษาที่มีศักดิ์ศรี (prestige) จึงจัดไว้ในลำดับสูงสุด (อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์, 2542 : 55)

ตัวอย่างชาวพื้นเมืองอินเดียนที่รอดชีวิตได้ เพราะสามารถหรือยอมพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาของตนรวมทั้งตัวอย่างอื่นๆ คงทำให้เราเห็นประโยชน์ของการมีความรู้ความสามารถในการสื่อสารได้หลายๆ ภาษาแล้ว ดังนั้นผู้ที่มีความรู้ความสามารถดังกล่าว โดยเฉพาะในภาษาที่ได้รับการยอมรับในสังคมย่อมมีอำนาจในการต่อรองสูง นอกจากนี้การมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษา คือมีวาทศิลป์ ทั้งการพูดและการเขียน ย่อมสามารถเลือกใช้คำได้อย่างเหมาะสม และโน้มน้าวใจผู้คนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีผู้บริหารสามารถพูดโดยไม่จำเป็นต้องใช้วาทศิลป์ ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำที่แสดงพลัง (6) ก็สามารถมีผลในทางปฏิบัติได้ ดังตัวอย่างที่ผู้บริหารพูดกับคนสวนของหน่วยงานในประโยคต่อไปนี้ "เที่ยงวันนี้ฉันอยากกินก๋วยเตี๋ยวผัดไทย"

ประโยคข้างต้นไม่มีถ้อยคำที่แสดงเป็นคำสั่งแม้แต่น้อย แต่กลับมีนัยของคำสั่งและคนสวนเข้าใจนัยนั้นพร้อมนำไปปฏิบัติ ส่วนคนสวนจะรู้ว่านัยจากถ้อยคำนั้นเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ สำคัญที่เขารู้ว่าผู้บริหารมีอำนาจที่จะหาทางใช้อำนาจหน้าที่พิจารณาผลงานของเขา หากเขาไม่นำนัยนั้นไปปฏิบัติ

ในทางกลับกัน การใช้ถ้อยคำที่เป็นพลังแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ดังเช่นคนสวนสั่งผู้บริหารว่า "ผมสั่งให้คุณไปชงกาแฟและไปซื้อข้าวกลางวันให้ผมเดี๋ยวนี้" ประโยคเช่นนี้มักพบในบทภาพยนตร์ประเภทขบขัน มากกว่าจะเกิดผลในทางปฏิบัติของสถานการณ์จริง และหากวันหนึ่งวันใดผู้บริหารคนนั้นหมดวาระทางการบริหาร คำพูดที่เคยส่งผลในทางปฏิบัติอาจไม่มีค่าใดๆ เลยย่อมเป็นได้

ตัวอย่างอีกลักษณะหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าถ้อยคำ 2 ประโยคที่ดูเหมือนมีความแตกต่างกันในแง่ของการตีความหมาย แต่สุดท้ายกลับสื่อความหมายบางอย่างที่ไม่แตกต่างกันเลย ซึ่งมิแช็ล ฟูโกต์ ( 2547 : 11-12) ได้ยกตัวอย่างประเด็นของ "โสเภณี" ดังนี้

"องค์กรสตรีแห่งหนึ่งประกาศว่า "ที่นี่ไม่ต้อนรับโสเภณี" ขณะที่องค์กรสตรีอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า "ที่นี่ เราต้อนรับทุกคนแม้แต่โสเภณี" ในแง่เนื้อหาของคำพูด เราอาจจะเห็นว่าองค์กรหลังมีความเป็นเสรีนิยมและเคารพสิทธิมนุษยชนมากกว่าองค์กรแรก ทว่าการใช้คำว่า "แม้แต่" ก็แสดงถึงการยอมรับทั้งๆ ที่ถือว่าไม่คู่ควร คำพูดทั้งสองที่ขัดแย้งกันในระดับพื้นผิวจึง "แชร์" วาทกรรมเดียวกันเกี่ยวกับโสเภณีเมื่อพิจารณาในระดับลึก นั่นคือ "โสเภณีเป็นผู้หญิงไม่ดี"

ในทำนองเดียวกันกับตัวอย่างข้างต้น หากผู้บริหารจะให้เหตุผลของการไม่รับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าร่วมทีมบริหารด้วยคำพูดที่ว่า "คุณมีความรู้ความสามารถด้านวิจัยเป็นอย่างดี จึงควรทุ่มเทเวลาให้กับงานวิจัยมากกว่า" ซึ่งดูเหมือนว่าถ้อยคำนี้แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีและเอื้ออาทรของผู้พูด แต่แท้จริงแล้วอาจมีความหมายเช่นเดียวกับ "ผมไม่ต้องการให้คุณเข้าร่วมทำงานกับผม "

แม้ว่าตำแหน่งทางการบริหารทำให้ผู้บริหารมีอำนาจในการพูด แต่ถ้อยคำที่ผู้บริหารบางส่วนคิดว่าน่าจะทำให้อำนาจ ,ฐานอำนาจรวมถึงภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำของตนลดลงไป กลับได้แก่คำว่า ขอโทษ, ขอรับผิด ดังที่เปลวสีเงิน (ไทยโพสต์,2547, เว็บไซต์)พูดถึงคำ "ขอโทษ" ไว้ว่า

"เพราะเหตุไรคำว่า "ขอโทษ" จึงกลายเป็น "คำต้องห้าม" ในหมู่ผู้นำทางการเมือง อันนี้ผมก็ไม่ทราบว่ามี "ธรรมนูญผู้นำ" สำหรับรู้-สำหรับปฏิบัติเฉพาะตัวคนที่ขึ้นมากุมอำนาจฝ่ายบริหารกิจการบ้านเมืองโดยเฉพาะหรืออย่างไร? แต่เห็นเขาพูดกันว่าถ้า "ขอโทษ" ก็เท่ากับ "ยอมรับผิด" ในสิ่งที่เกิดขึ้น! ตรงนี้กระมัง คนเป็นผู้นำรัฐบาลจึงไม่ยอมเอ่ยคำว่าขอโทษ ถึงแม้ตัวเองจะเป็นผู้กำหนดแผน กำหนดนโยบาย และเป็นผู้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติจนเกิดเหตุนั้นๆ ขึ้นก็ตาม"

เช่นเดียวกับที่ผู้ช่วยศาตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(อ้างถึงใน ศูนย์ข่าวอิศรา, 2549, เว็บไซต์) มองว่าคำ "ขอโทษ" ไม่เคยหลุดออกจากปากของผู้นำ

"คำขอโทษมีความสำคัญมาก เพราะการตัดสินใจในนโยบายที่ผิดพลาด แล้วยอมรับว่าทำผิดพลาด ย่อมดีกว่าทำผิดโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดด้วยซ้ำ ถ้า พ.ต.ท . ทักษิณ กล่าวขอโทษ ทุกคนก็พร้อมให้อภัย สำหรับการสำนึกผิด แต่ถ้ายังคิดว่าสิ่งต่างๆ นโยบายที่ได้ทำไปแล้วนั้น ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ก็ย่อมจะได้รับการต่อต้านอย่างที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ถ้ายังคงดื้อดึงไม่ขอโทษ ก็จะได้รับการปฏิเสธ ซึ่งต้นเหตุมาจากความเชื่อมั่นและไม่อ่อนน้อม"

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารที่มีอำนาจในการพูด, สั่งการและนำเกมในวาระการประชุม อาจไม่ยอมกล่าวคำว่า "ขอโทษ" เมื่อรู้ว่าการกำหนดนโยบายและแผนงานที่เกิดจากตนเองนั้นเกิดข้อผิดพลาด หรือเป็นเพราะผู้บริหารหวั่นเกรงว่า ฐานอำนาจที่ตนครอบครองนั้นจะสั่นคลอนและหลุดลอยไปในที่สุด

มายาคติ : บทสรุปของความรู้ อำนาจ และภาษา
ทั้งความรู้ อำนาจ และภาษา ต่างเป็นมายาคติทั้งสิ้น แต่เป็นมายาคติที่เราทั้งหลายต้องยอมรับเพราะนี่คือสภาพจริงที่เกิดขึ้น สภาพจริงที่รู้ว่าทั้งสามสิ่งนั้นลื่นไหล ไม่มั่นคง วันนี้มีความรู้ ณ สถานการณ์หนึ่ง อีกวัน ณ สถานการณ์หนึ่ง ความรู้นั้นไม่เป็นที่ยอมรับไปเสียแล้ว วันนี้เป็นจักรพรรดิอะตาอวลปาผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ อีกวันจักรพรรดิกลายเป็นเชลยที่ไม่เหลืออำนาจหรือแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง วันนี้ถ้อยคำคำสั่งบ่งบอกถึงอำนาจ แต่อีกวันถ้อยคำนั้นอาจไม่ได้รับการแยแสจากใครเลย ข้อยืนยันนี้เชื่อมโยงกับคำพูดของ โรล็องด์ บาร์ตส์ (2547 : 7) ที่พูดถึงมายาคติไว้ดังนี้

"จริงหรือที่ว่าทุกอย่างกลายเป็นมายาคติได้หมดสิ้น ข้าพเจ้าเชื่ออย่างนั้น เพราะจักรวาลมีศักยภาพที่จะกระตุ้นให้มนุษย์สร้างความหมายขึ้นมาได้อย่างไม่สิ้นสุด ทุกสิ่งในโลกนี้สามารถจะถูกสังคมเข้าไปล้วงควักออกจากที่ที่มันอยู่ของมันเงียบๆ แล้วทำให้มันกลายเป็นเหยื่อของวาทะได้ทั้งสิ้น ด้วยว่าไม่มีกฎธรรมชาติหรือระเบียบข้อใดที่ห้ามมนุษย์มิให้พูดถึงสิ่งต่างๆ

ต้นไม้มันอาจจะอยู่ของมันดีๆ แต่ทันทีที่มันถูกมินู ดรูเอต์ (7) เอ่ยถึง มันก็เริ่มที่จะไม่ใช่ต้นไม้ธรรมดาเสียแล้ว แต่กลายเป็นต้นไม้ที่ถูกประดับประดา ถูกปรับแปรเพื่อการบริโภค ถูกแต่งแต้มให้ชวนเคลิบเคลิ้มด้วยความเป็นวรรณกรรม ความเป็นขบถ และจินตภาพ กล่าวสั้นๆ คือ การใช้งานทางสังคมได้เข้าไปสวมทับลงบนวัตถุสสารที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ "

ดังนั้น ความรู้ อำนาจ และภาษา ที่บุคคลใดได้ใช้เป็นเครื่องมือในยามอยู่ในตำแหน่งของผู้บริหารย่อมผกผันได้ตลอดเวลา ผู้บริหารจึงพึงสังวรต่อสภาพการณ์เหล่านี้ หากนำอำนาจมาใช้อย่างหลงระเริงและในแนวทางอันมิชอบ อาจต้องเจ็บปวดเมื่อคราที่ตนต้องกลายเป็นฝ่ายถูกกระทำบ้าง และเหนืออื่นใด องค์กรหรือประเทศชาติต้องพลอยรับเคราะห์กรรม ซึ่งเป็นผลแห่งการใช้อำนาจนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขหนึ่งที่น่าจะสามารถเป็นตัวกำหนดมายาคติทั้งสามของผู้บริหารได้ นั่นคือ พลังมวลชน เพราะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มากมายเป็นข้อยืนยันได้ว่า พลังมวลชนสามารถคานอำนาจผู้บริหารได้ แต่หากผู้บริหารจะนำมายาคติเหล่านี้มาบริหารองค์กร ภายใต้ปรัชญาเพื่อส่วนรวมมิใช่เพื่อตนเองและพวกพ้องแล้ว เราคงต้องยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวไทยว่า

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) โลกใหม่ หมายถึงทวีปอเมเริกาในปัจจุบัน

(2) ฟรานซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro) เป็นชาวสเปนซึ่งมีชีวิตระหว่างปี ค.ศ.1475 - 1541 เป็นลูกพี่ลูกน้องกับมารดาของคอร์เตส ปิซาร์โร เป็นหนึ่งในชาวสเปนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เขาพิชิตจักรวรรดิอินคาแห่งเปรูในปี ค.ศ.1532

(3) เฮอร์นัน คอร์เตส(Hernan Cortes) เป็นชาวสเปนซึ่งมีชีวิตระหว่างปี ค.ศ.1485 - 1547 คอร์เตส ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เขาพิชิตจักรวรรดิอัซเต็ก แห่งเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1521 และได้บันทึกเหตุการณ์การสู้รบของ เขาในครั้งนั้นด้วย

(4) ในภาษาศาสตร์เชิงสังคม ภาษาสูงหมายถึงภาษาที่ใช้ในวงราชการ, การศึกษา. ส่วนภาษาต่ำ หมายถึง ภาษาที่ใช้ในครอบครัว, ในหมู่เพื่อนฝูงคนสนิท เป็นต้น (Richards, 1985 : 81)

(5) ในปี ค.ศ.1987 มีคนพูดภาษาพิพิล ประมาณ 20 คน (wikipedia,2006, website)

(6) ในวจนปฏิบัติศาสตร์เรียกถ้อยคำที่แสดงพลังว่า พลังวจนปฏิบัติศาสตร์ (Illocutionary Force) หมายถึงถ้อยคำที่มีคำบ่งการกระทำปรากฏ เช่น ผมขอสั่งให้คุณนำรถยนต์ของบริษัทไปตรวจสภาพในวันพรุ่งนี้ หรือ ดิฉันขอประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของบริษัทนับแต่วันนี้เป็นต้นไป

(7) Minou Drouet เป็นเด็กหญิงอายุแปดขวบที่เขียนบทกวีตีพิมพ์เผยแพร่ กลายเป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วประเทศในช่วงสมัยนั้น บทกวีหวานๆ ของเธอได้รับการชื่นชมด้วยรสนิยมแบบกระฎุมพีว่า มีความสดใสอันเกิดจากความเป็น "ธรรมชาติ" ของเด็ก (โรล็องด์ บาร์ตส์ , 2547 : 7)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง

บาร์ตส์, โรล็องด์ . 2547. มายาคติ Mythologies. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, วรรณพิมล อังคศิริสรรพ แปล.

จาเร็ด ไดมอนด์ . 2547. ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้ากับชะตากรรมของสังคมมนุษย์. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ แปล.

ธม ธาตรีและจันนิภา(นามแฝง). 2521. อำแดงเหมือนกับนายริด. กรุงเทพฯ :เจริญวิทย์การพิมพ์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2548. การเมืองเรื่องภาษา. มติชนรายวัน วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10033.

ประชุม โพธิกุล. 2549. ยุทธวิธีการใช้อำนาจในองค์การอย่างมีประสิทธิผล. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2549. จาก : http://www.moe.go.th/wijai/empower.htm.

เปลวสีเงิน(นามแฝง). 2547. หลงทางที่ 'ท่าพระจันทร์'. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2549. จาก :
http://www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&post_date=9/Nov/2547&news_id=97656& cat_id=200.

ผู้จัดการออนไลน์. 2549. เปิดเนื้อหา "รู้ทันทักษิณ 4" อดีตคนใกล้ชิดรุมลากไส้ "แม้ว". สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2549. จาก :
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000050896

พรภัทร อมรศุภศาสตร์. 2539. "พิดจิ้นและคลีโอล" ภาษาและวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2539) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

ฟูโกต์, มิแช็ล. 2547. ร่างกายใต้บงการ ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. ทองกร โภคธรรม แปล.

วิจาณ์ พานิช. 2547. "การจัดการความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาสังคม". ภาษาและวัฒนธรรม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2547) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

วิโรจน์ อรุณมานะกุล.2547."ภาษา อำนาจ และการเมือง" รู้ทันภาษารู้ทันการเมือง. กรุงเทพฯ : ฃอคิดด้วยฅน .

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ. 2548. ๑๑๒ ปีวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ สยามกำสรวล ฝรั่งเศสกำทรัพย์. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2549. จาก :
http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0601011048&srcday=2005/10/01&search=no.

วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. 2527. ภาษาและภาษาศาสตร์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศูนย์ข่าวอิศรา. 2549. "ไฟใต้" ฤๅสายเกินไป ? …เมื่อ'ผู้นำ'ไม่ยอมรับความผิดพลาด . สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2549. จาก : http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=671&Itemid=47.

อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. 2542. ภาษาในสังคมไทย : ความหลากหลาย การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Campbell, Lyle. 1998. "Language Death". Concise Encyclopedia of Pragmatics. Great Britain.

Richards J. C.and friends.1985. Dictionary of Applied Linguistics. Great Britain.

Wikipedia, the free encyclopedia. 2006. Francisco Pizarro. Retrieved June 5, 2006. from :
http://en.wikipedia.org/wiki/Francisco_Pizarro.

Wikipedia, the free encyclopedia. 2006. Hern?n Cort?s. Retrieved June 5, 2006. from :
http://en.wikipedia.org/wiki/Hern%C3%A1n_Cort%C3%A9s.

Wikipedia, the free encyclopedia. 2006. List of endangered languages. Retrieved June 5, 2006. from : http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_endangered_languages.

Wikipedia, the free encyclopedia. 2006. My Fair Lady. Retrieved June 5, 2006. from :
http://en.wikipedia.org/wiki/My_Fair_Lady.

Wikipedia, the free encyclopedia. 2006. Spanish conquest of Mexico. Retrieved June 5, 2006. from : http://en.wikipedia.org/wiki/Spanish_Conquest_of_Mexico.

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

มิแช็ล ฟูโกต์ ได้ยกตัวอย่างประเด็นของ"โสเภณี"ดังนี้ "องค์กรสตรีแห่งหนึ่งประกาศว่า "ที่นี่ไม่ต้อนรับโสเภณี" ขณะที่องค์กรสตรีอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า "ที่นี่ เราต้อนรับทุกคนแม้แต่โสเภณี" ในแง่เนื้อหาของคำพูด เราอาจจะเห็นว่าองค์กรหลังมีความเป็นเสรีนิยมและเคารพสิทธิมนุษยชนมากกว่าองค์กรแรก ทว่าการใช้คำว่า "แม้แต่" ก็แสดงถึงการยอมรับทั้งๆ ที่ถือว่าไม่คู่ควร คำพูดทั้งสองที่ขัดแย้งกันในระดับพื้นผิวจึง "แชร์" วาทกรรมเดียวกันเกี่ยวกับโสเภณีเมื่อพิจารณาในระดับลึก นั่นคือ "โสเภณีเป็นผู้หญิงไม่ดี" (คัดมาบางส่วนจากบทความ)

12-04-2550

Language & Power
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.