โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 11April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๐๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 11,04,.2007)
R

สุดสัปดาห์วิชาการครั้งที่ ๖ ที่สมาคมสถาปนิกสยาม
จากสำนึกของสถาปนิก ถึงธาตุแท้ระบบการศึกษา McUniversity
ปกป้อง จันวิทย์ : บรรยาย

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทบรรยายวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้บรรยาย
ในรายการสุดสัปดาห์วิชาการครั้งที่ ๖ เสาร์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐
ที่สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
เป็นรายการเสวนาสองโต๊ะกลมเชิงทฤษฎีวิพากย์ สถาปัตยกรรมและการข้ามศาสตร์ เรื่อง เสีย-ฟอร์ม-ไทย
สำหรับบทบรรยายนี้เป็น โต๊ะกลมรอบบ่าย: บรรยายในหัวข้อ
พื้นที่รอยต่อของกระบวนการผลิตและการขาย สภาวะการสร้างสถาปนิกไทยมืออาชีพ
จากความพร่องของระบบการศึกษาอย่างไทย

ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย ปกป้อง จันวิทย์ (เศรษฐศาสตร์ มธ.), ดร.อภิรดี เกษมศุข (สถ.ศิลปากร), ดร.สิงห์ อินทรชูโต (สถ.เกษตร)
ดร.ม.ล.ปิยลดา ทวีปรังษีพร (สถ.จุฬา), กิจโชติ นันทนสิริวิกรม (สถ.เกษตร) ดำเนินรายการโดย ดร.รชพร ชูช่วย

เฉพาะบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นบทบรรยายตามเอกสารของ อ.ปกป้อง จันวิทย์
ซึ่งได้พูดถึงเรื่องของสำนึกสถาปนิก วงการสถาปัตย์ และระบบการศึกษาแบบ McUniversity
โดยได้ชี้ให้เห็นถึงระบการศึกษาภายใต้ระบบทุนนิยม ในฐานะบันได้ดาราของการไต่เต้า
สุดท้ายได้หันมาตั้งคำถามกับความเป็นสถาปนิก และความสำนึกต่อสังคม
บทบรรยายสมบูรณ์ความยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4
ซึ่งทางกองบรรณาธิการ ได้นำมาจัดหมวดหมู่ใหม่ เพื่อสะดวกกับการจับประเด็น และเน้นความสำคัญ
โดยได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอนต่อเนื่องคือ บทความลำดับที่
๑๒๐๗. จากสำนึกของสถาปนิก ถึงธาตุแท้ระบบทุนนิยม
๑๒๐๗. จากสำนึกของสถาปนิก ถึงธาตุแท้ระบบการศึกษา McUniversity

(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๐๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

Cameron Sinclair

เสวนา "พื้นที่รอยต่อของกระบวนการผลิตและการขาย
สภาวะการสร้างสถาปนิกไทยมืออาชีพจากความพร่องของระบบการศึกษาอย่างไทย"
ปกป้อง จันวิทย์ : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โครงการ ASA สุดสัปดาห์วิชาการ ครั้งที่ ๖ วันเสาร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๐ ณ สมาคมสถาปนิกสยาม
.....................................................................................................................................................

จากสำนึกของสถาปนิก ถึงธาตุแท้ระบบการศึกษา McUniversity
ปกป้อง จันวิทย์ : บรรยาย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(ต่อจากบทความลำดับที่ ๑๒๐๗)
นอกจากวงการสถาปนิกไทยจะได้รับอิทธิพลจากระบบทุนนิยมไทยแล้ว ยังได้รับอิทธิพลโดยตรงจากสภาพเศรษฐกิจไทย และกระแสโลกาภิวัตน์อีกด้วย

ปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจไทย มีตัวอย่างเช่น สภาวะเศรษฐกิจมหภาคของไทย เช่น อัตราการว่างงาน, อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน, การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง, นโยบายของรัฐต่ออุตสาหกรรมที่โยงกับวงการสถาปัตยกรรมไทย เช่น ต่ออุตสาหกรรมเหล็ก, ปูนซีเมนต์, ตัวโครงสร้างอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมเหล่านั้น เช่น ระดับการแข่งขัน, ระดับการผูกขาด, กลยุทธ์การแข่งขัน, ระดับการกีดกันผู้เข้าแข่งขันรายใหม่, การเปลี่ยนแปลงกฎหมายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมไทย เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ล้วนกระทบต่อกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนของวงการสถาปัตยกรรมไทย

ปัจจัยด้านโลกาภิวัตน์ หมายถึง วงการสถาปัตยกรรมไทยได้รับอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรมจากโลกอย่างไร ประเด็นที่น่าสนใจ มีตัวอย่างเช่น การรับวัฒนธรรมตะวันตกหรือตะวันออกในการออกแบบตึก ออกแบบบ้าน ของวงการสถาปนิกไทย, นโยบายของรัฐในการเปิดเสรีภาคบริการในกระบวนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ), ความสามารถในการแข่งขันระหว่างสถาปนิกไทยกับสถาปนิกต่างชาติ

ประเด็นที่สำคัญในขณะนี้คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งกิจการบริการทางสถาปัตยกรรมอยู่ในบัญชีสาม แนบท้ายกฎหมายต่างด้าว นั่นคือ เป็นธุรกิจที่รัฐยังสงวนไว้สำหรับคนไทย เพราะยังไม่พร้อมแข่งขันกับต่างชาติ เช่น บริการกฎหมาย บัญชี วิศวกรรม ค้าปลีกค่าส่ง. สถาปนิกไทยย่อมได้รับผลกระทบจากนโยบายที่เกี่ยวพันกับการจัดวางระยะระหว่างไทยกับโลกเหล่านี้

อนึ่ง ทั้งสภาพเศรษฐกิจไทย และโลกาภิวัตน์ ก็ได้รับอิทธิพลและมีปฏิสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมไทยด้วย แต่ผมจะไม่อภิปรายในที่นี้ แต่ประเด็นที่ผมอยากอภิปรายทิ้งทายสักเล็กน้อยคือ ประเด็นเรื่องระบบการศึกษาไทย ภายใต้ระบบทุนนิยมไทย

6.
ระบบการศึกษาไทย
ปัจจุบัน การศึกษากลายเป็น 'สินค้า' ที่ซื้อขายกันในตลาด ความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับครูถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อบริการกับผู้ขายบริการ(การศึกษา) กลไกตลาดเข้าแทนที่กลไกรัฐในการผลิตบริการการศึกษา

ความต้องการของผู้มีอำนาจซื้อที่ต้องการซื้อหาปริญญาในฐานะ 'บันไดดารา' สู่การไต่ระดับเงินเดือน และชนชั้นทางสังคม ส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบการศึกษาไทย ผมคิดว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อความอยู่รอดและคุณภาพของทุกวงการของประเทศนี้ แต่เป็นปัญหาที่เราทำได้แค่เพียงอธิบายและชี้ให้เห็น แต่ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร เพราะหยิบจับตรงไหนก็เน่าไปหมด ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ใด

ผมขออนุญาตเปิดประเด็นเพียงบางประเด็น และเน้นไปที่การศึกษาในมหาวิทยาลัย ส่วนประเด็นอื่นจะร่วมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ต่อไปเมื่อมีโอกาส

ผมคิดว่า เราควรจะเริ่มต้นการถกเถียงด้วยคำถามระดับปรัชญาการศึกษาว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร มหาวิทยาลัยบริหารจัดการศึกษาเพื่ออะไร เพื่อเป็น'โรงฝึกอาชีพ' หรือเพื่อสร้าง'บัณฑิต' ในความหมาย 'ผู้รู้' 'ผู้มีปัญญา' 'ผู้ตื่นอยู่เสมอ' ให้กับสังคม มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งเรียนรู้ทาง'วิชาการ'หรือ'วิชาชีพ' มหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่เพียงแค่หน่วยผลิตกำลังคน สำหรับป้อนภาคเอกชนและภาคราชการเพียงเท่านั้นหรือ

สำหรับผม มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะการศึกษาระดับปริญญาตรี ควรเป็นแหล่งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการ เป็นสถานที่ผลิตบัณฑิต ไม่ใช่โรงฝึกอาชีพป้อนรัฐและเอกชน แต่เป็นสถานที่ผลิต'คน'ที่สมบูรณ์และมีปัญญาให้แก่สังคมส่วนรวม เช่นนี้ เราจึงจะได้สังคมอุดมปัญญาและความรู้ ไม่ใช่สังคมอุดมความเห็น อุดมลีลา และอุดมความรู้สึก ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งบริการทางความรู้และปัญญาแก่สังคม ไม่ใช่แค่ตอบสนองผู้โชคดีไม่กี่คนที่มีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้เท่านั้น

ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็เป็นผลพวงผลผลิตของสังคมที่เขาใช้ชีวิตอยู่ ในสังคมทุนนิยม การศึกษาถูกลดฐานะเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง ในสังคมฉาบฉวยกลวงโบ๋ ผู้คนให้คุณค่าตัดสินคนที่เปลือกนอกโดยดูวุฒิการศึกษาสูงๆ จากมหาวิทยาลัยดีๆ คนจึงมองการศึกษาเป็นเพียงบันไดไต่สู่งานดี เงินเดือนสูง โดยไม่ได้มองคุณค่าการศึกษาในฐานะเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจโลก พัฒนาองค์ความรู้และวิธีคิด ซึ่งเป็นทั้งกระบวนการ (means) และจุดหมายปลายทาง (ends) ในตัวของมันเอง

บรรยากาศและวัฒนธรรมการเรียนรู้ในหมู่นักศึกษาก็ไม่เกิด เรียนกันแบบไร้ชีวิตจิตใจ ด้านอาจารย์ก็ไม่ต่างจากนักศึกษาเท่าไหร่นัก อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากไม่มีคุณภาพ จำนวนมากไม่รับผิดชอบ จำนวนมากไม่มีฉันทะทางวิชาการ มหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถดึงดูดคนเก่งได้ อาจารย์เก่งและดีที่อยู่ในมหาวิทยาลัยไทย หากไม่คาบพานทองแท้มาเกิด หรือมีสามีหรือภรรยารวย ก็เป็นพวก'บ้า'หรือ'หลงใหล'โลกวิชาการ หรือความเป็นอิสระในฐานะนักวิชาการ จึงยอมแบกรับต้นทุนส่วนตัวด้วยตัวเอง

ผลตอบแทนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยพิกลพิการ อาจารย์จบปริญญาเอกได้เงินเดือนน้อยกว่าคนจบปริญญาตรีหากเลือกไปทำงานภาคเอกชน อาจารย์ก็ต้องดิ้นรนกันไปตามยถากรรม วิ่งรอกหางานนอกเลี้ยงตัวและครอบครัว ไม่สามารถดำรงชีพเป็น'สำราญชน'อันเป็นปัจจัยสำคัญสู่ 'ปัญญาชน'ได้ ไม่สามารถก้าวเดินบนวิถีทางแห่งอุดมคติของตนได้อย่างเต็มที่

หนทางแสวงหารายได้ของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยปัจจุบันคือ การเกิดขึ้นของโครงการพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท ที่เกิดราวกับดอกเห็ดสอดรับกับความต้องการซื้อของผู้บริโภคในตลาดบริการการศึกษา เมื่อคนมองการศึกษาเป็นบันไดไต่สถานะทางสังคม ก็ต้องแย่งกันให้ได้มาซึ่งปริญญาบัตร เดิมต้องจบปริญญาตรี ต่อมาเมื่อคนส่วนใหญ่จบปริญญาตรี เพื่อสร้างความแตกต่างให้ตัวเองในตลาดแรงงาน ก็ต้องการปริญญาโท

โอกาสที่มหาวิทยาลัยและอาจารย์จะแสวงหารายได้จากตลาดดังกล่าวก็เปิดขึ้น ความต้องการซื้อกับความต้องการขายตัดกันพอดี ปริญญาโทในฐานะการศึกษาระดับสูงที่มุ่งเรียนสอนองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น หรือเพื่อเพิ่มทักษะด้านวิชาชีพ ก็กลายเป็นการศึกษาของมวลชน ผู้มีอำนาจซื้อ ที่ไต่ระดับมาหาบันไดขั้นที่สูงขึ้น

ปัจจุบัน สถานการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นกับการศึกษาปริญญาเอกของไทยด้วย ทั้งสถาบันการศึกษาหลายแห่งต่างแข่งกันเปิดโครงการปริญญาเอกกันอย่างสนุกสนาน จำนวนมากเป็นหลักสูตรที่ "เรียนแค่เสาร์อาทิตย์ จบได้ภายในสองปีเท่านั้น ไม่ต้องสอบภาษาอังกฤษ" (ไชโย!) (จากโฆษณาโครงการหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์)

ทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอน แม้จะใช้เกณฑ์การตัดสินคุณค่าตามระบบทุนนิยม ระบบการศึกษาไทยก็ไม่มีปัญญาผลิตนักศึกษาให้ไปแข่งขันกับโลกได้

จะด้วยหลักสูตรล้าสมัย หลักสูตรไม่มุ่งตอบปัญหาของสังคมหรือชุมชน จะด้วยไม่สามารถประยุกต์องค์ความรู้สากลเข้ากับบริบทเฉพาะของประเทศเราได้ จะด้วยกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้คิด ใช้จินตนาการ ค้นคว้าหาความรู้จากห้องสมุดและงานวิจัยใหม่ๆ ไม่ใช่เอาแต่ท่องจำ จะด้วยปรัชญาการเรียนที่มุ่งตอบคำถาม what when where มากกว่า why และ how จะด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ฝังรากแน่นในมหาวิทยาลัยไทย จะด้วยการปราศจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ในสังคม เพราะคนไทยไม่อ่าน แต่ชอบพูดชอบฟัง

ผมไม่มีคำตอบ แต่หากถูกบังคับให้ต้องตอบ คงตอบได้ว่า ถูกทุกข้อ

ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ให้แข่งขันกับโลกได้ ไม่สามารถผลิตสร้างมืออาชีพ ที่ไม่มั่ว ไม่ชุ่ย ไม่โกง ในสายวิชาชีพหรือสายวิชาการของตัวเองได้ คนเก่งของประเทศนี้แทบทั้งหมดจึงไม่ใช่ผลผลิตของระบบการศึกษา แต่เก่งจากการศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน ในห้องสมุด ในชีวิตจริง เก่งเพราะ 'ความรักดี' เฉพาะตัวเสียมากกว่า

ไม่ต้องพูดถึงว่า เราจะสามารถผลิตนักศึกษาที่มี 'จิตสำนึกสาธารณะ' ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกรากอย่างไร โครงสร้างทุนนิยมการศึกษา และ McUniversity (ตามศัพท์ของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์) หรือมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิตบริการการศึกษาแบบ 'แดกด่วน ยัดเร็ว' จะสร้างนักศึกษาที่มี'จิตสำนึกสาธารณะ' ที่คิดพ้นไปจากตัวเอง และเป็น'ขบถ'ต่อความคิดกระแสหลักได้อย่างไร

พันธกิจขั้นต้นของมหาวิทยาลัยไทย คือการผลิตบัณฑิตที่มีองค์ความรู้ในสาขาวิชาการของตน และมีพื้นฐานที่จะเรียนรู้ต่อได้ด้วยตัวเองในอนาคต พรักพร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตจากการศึกษานอกระบบ มีศักยภาพต่อยอดการฝึกฝนด้านวิชาชีพของตัวเองต่อไปได้ มีความเป็นมืออาชีพในสาขาของตน ไม่มั่ว ไม่ชุ่ย ไม่โกง

แต่นั่นอาจจะยังไม่เพียงพอ เราควรวาดหวังต่อถึง (im)possible dream นั่นคือ การสร้างนักศึกษาให้มี'จิตสำนึกสาธารณะ' มีที่ว่างให้กับสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสในสังคม. จิตวิญญาณที่คิดพ้นไปจากตัวเอง จักเกิดขึ้นได้ก็เมื่อนำตัวเองเข้าเผชิญกับโลกที่กว้างใหญ่ ทั้งโลกภายในและโลกภายนอกตัวเอง

ยิ่งมุ่งหน้าเผชิญโลกที่กว้างใหญ่เท่าใด ย่อมรู้สึกว่าขนาดของตัวเราเล็กลง เช่นนี้แล้ว ลำพังเพียงใส่ใจแต่ตนเองย่อมไม่เพียงพอ เพราะท่ามกลางขอบฟ้าที่กว้างใหญ่ของโลก ตัวตนเล็กๆ จะมีความหมายใด หากไร้ซึ่งสิ่งรอบตัวที่งดงาม มีคุณภาพ และชีวิตที่ดีสำหรับคนรอบข้างเราด้วย

แต่เราจะคาดหวังบทบาทของครูที่จะนำพาศิษย์ให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร ในเมื่อครูจำนวนมากวางตัวเป็นเพียง 'คนขายบริการ(การศึกษา)' ในทุนนิยมการศึกษา ใน McUniversity

7.
ทางเลือก การต่อสู้ และการท้าทายกระแสหลัก
แม้ระบบทุนนิยมจะมีข้อดีอยู่มาก ก็ข้อเสียก็ไม่น้อย เราจะจัดการผลด้านลบจากระบบทุนนิยมอย่างไร และวางท่าทีของตัวเองในการรับมือกับระบบทุนนิยมอย่างไร จะข้ามพ้น'ระบบทุนนิยม'อย่างไร หรือ'หลอมรวม'ตัวเองกับระบบทุนนิยม ในทางที่ยังรักษาอุดมคติของตัวเองได้อย่างไร

ถึงเวลานี้ คงยังไม่มีคำตอบในเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ไม่สุกงอมพอที่จะก้าวข้ามไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เราไม่สามารถคาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โต คำตอบคงไม่ใช่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบทุนนิยมอะไรเทือกนั้น คำตอบคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากข้างบนลงข้างล่าง คำตอบคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจาก'คุณพ่อรู้ดี'หยิบมือหนึ่ง ไม่ว่า'คุณพ่อรู้ดี'เหล่านั้นจะมีคุณธรรมมากเพียงใด

ทางออกคงอยู่ที่แนวคิด'ทางเลือก' และการต่อสู้ของปัจเจกชน ผู้ท้าทายกระแสหลัก ซึ่งเสนอทางออกที่หลากหลาย

คนอย่าง Cameron Sinclair ผู้พยายามจะโต้คลื่นระบบทุนนิยม ก็พยายามข้ามพ้นแนวคิดสถาปัตยกรรมศาสตร์กระแสหลักด้วยคำตอบรูปแบบหนึ่ง คำให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งของเขาในเว็บไซต์ Designboom.com เขากล่าวว่า

"คนจะมองว่าคุณเป็นคนหัวรั้น จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจเจตนารมณ์ของคุณจริงๆ แล้วถึงเรียกคุณว่ามีวิสัยทัศน์กว้างไกล คุณควรจะมองความผิดหวังและความโดดเดี่ยวไร้คนสนับสนุนว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เหล่านี้จะทำให้ความสำเร็จของคุณคุ้มค่ากว่าเดิม"

เมื่อปัจเจกชนสู้และยังคง'ยืนเด่นโดยท้าทาย'กันจำนวนมาก คงหวังต่อได้ว่า นั่นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งใหญ่ขึ้น แต่จะเป็นรูปแบบไหน นำไปสู่อะไร คงไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันไม่สามารถ 'ออกแบบ' ได้ดังใจ แต่มีปัจจัยที่ควบคุมคาดการณ์ไม่ได้ระหว่างทางอีกมาก มีโชค มีจังหวะ มีอุบัติเหตุ มีจุดพลิกผัน มี chance เป็นองค์ประกอบสำคัญ

แต่ประวัติศาสตร์ยังช่วยให้เราอุ่นใจได้ว่า บ่อยครั้ง โลกเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ด้วยน้ำมือคนเล็กๆ ในวงแคบๆ ก่อนที่แรงสั่นสะเทือนจะเคลื่อนตัวขยายวงกว้างออกไป จนเกิดเป็นกระแส(หลัก)ใหม่ในที่สุด

สำหรับ คนอย่าง Cameron Sinclair คำตอบของวงการสถาปนิกในอนาคต ไม่ได้อยู่ที่ตึกระฟ้าสูงเด่นสวยงามในเมืองใหญ่ แต่อยู่ที่ชุมชน อยู่ที่ท้องถิ่น. Sinclair ไม่เชื่อว่ามี 'ยูโทเปีย' ไม่มีโลกพระศรีอาริย์ ปัญหาต่างๆ ที่สถาปนิกเผชิญ หรือปัญหาที่สถาปนิกสามารถเข้าไปมีส่วนสร้างให้ดีขึ้น ล้วนเป็นปัญหาในท้องถิ่น ต้องตอบโจทย์ด้วยท้องถิ่นหรือชุมชนเท่านั้น

ทีมออกแบบ AFH ของเขา จึงเริ่มต้นจากปัญหาของท้องถิ่น ทีมสถาปนิกลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไร เขาไปที่แอฟริกาโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบ้านช่วยคนจน แต่จบลงที่คลินิกเคลื่อนที่ เพราะพบว่าความต้องการสูงสุดของชาวบ้านคือการเข้าถึงบริการสุขภาพ

สถาปนิกควรออกแบบเพื่อสร้างงานที่มี 'ความหมาย' ต่อผู้ใช้ ต่อชุมชน ต่อชาวบ้าน ต่อความต้องการที่แท้จริง เราต้องการ grass-root movement ของวงการสถาปนิก ออกแบบและสร้างสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่สถาปนิกต้องการ

- การออกแบบควรเป็น socially-responsible design เป็นการออกแบบที่รับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักถึงปัญหาในสังคม (socially conscious design) คำนึงถึงคนยากคนจน มีจิตใจสาธารณะเพื่อให้โลกดีขึ้น

- การออกแบบควรเป็น sustainable design มีความยั่งยืน ใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

- เวทีของการออกแบบควรเป็นเวทีเปิด ที่อาศัยแรงสมองของสถาปนิกจำนวนมากรวมหัวช่วยกันคิด แลกเปลี่ยน สร้างสรรค์ มากกว่าจะเป็นไอเดียผูกขาดของใครคนใดคนหนึ่ง และต้องให้ชาวบ้านในชุมชน หรือผู้ใช้ประโยชน์จากงานออกแบบ มีส่วนร่วมในกระบวนการคิดแลกเปลี่ยนด้วย

วิธีของ Sinclair คือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างเวทีเปิด ผ่านทางเว็บไซต์ ใช้โลกที่แคบลงเป็น'โอกาส'ในการเปลี่ยนแปลงโลก นวัตกรรมล่าสุดของเขาคือสร้าง open architecture network (www.openarchitecturenetwork.org) ที่ใช้แนวคิด open source มาประยุกต์ใช้กับวงการสถาปนิก เพราะการออกแบบที่ช่วยคนได้จริงต้องระดมสมองจากทุกฝ่าย ทั้งสถาปนิก ผู้เดือดร้อน และองค์กรพัฒนาเอกชน

Sinclair ใช้เว็บไซต์เป็นเวทีกลางในการออกแบบ งานออกแบบไม่มีลิขสิทธิ์ นำแบบไปใช้ได้ฟรี เปิดโอกาสให้สถาปนิกเข้ามาวิจารณ์ แลกเปลี่ยน ต่อเติม ดัดแปลง และนำผลงานของคนอื่นไปทดลองใช้ต่อได้ แต่มีระบบให้เครดิตแก่เจ้าของไอเดียเบื้องต้น (แต่ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน) ไม่ใช่เจ้าของแบบหวงและนอนกอดแบบของตัวเองไว้ข้างอก

ปรัชญาของ open source คือความเชื่อที่ว่า 'หลายหัวดีกว่าหัวเดียว' การพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นจากการผูกขาดด้วยลิขสิทธิ์ของผู้ออกแบบตั้งต้น แต่การไม่มีลิขสิทธิ์ เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาต่อยอดความคิดและนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งทำให้สวัสดิการของสังคมและโลกดีขึ้นในบั้นปลาย

แนวคิด'ลิขสิทธิ์เปิด'ขัดกับหลักทุนนิยม หรือหลักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อว่า ถ้าไม่ให้อำนาจผูกขาด (ผ่านระบบลิขสิทธิ์) แก่ผู้คิดค้น ก็จะไม่มีแรงจูงใจให้ใครอยากคิดสร้างสรรค์ ไม่มีใครอยากผลิต เพราะผลิตออกมาก็ถูกเลียนแบบ ความก้าวหน้าก็จะไม่เกิด

แต่ประจักษ์พยานข้อเท็จจริงในช่วงครึ่งทศวรรษหลัง กรอบความคิดที่มีข้อสมมติว่า 'คนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ' ไม่สามารถอธิบายการพัฒนาซอฟแวร์เทคโนโลยีผ่าน open source ในระบบโค้ดเปิดได้ ไม่สามารถอธิบายการเติบโตของวิกิพีเดีย สารานุกรมที่คนทั้งโลกช่วยกันเขียนโดยไม่ได้รับผลตอบแทน ไม่สามารถอธิบายการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (www.midnightuniv.org) หรือเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com) ได้

คนอย่าง Sinclair เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เอาเข้าจริง สถาปนิกมีบทบาทสำคัญในการออกแบบเพื่อมนุษยชาติ คติพจน์ประจำใจของเขา ซึ่งเป็นชื่อหนังสือที่โด่งดังของเขาและทีมงาน AFH เมื่อปีที่แล้ว ก็คือ

"Design Like You Give A Damn" (1)

ออกแบบ แบบที่คุณแคร์ คุณใส่ใจ ออกแบบแบบให้มีความหมาย ให้ใช้ประโยชน์ได้จริง ให้คุ้มค่า ให้มีประสิทธิภาพ ออกแบบแบบเนื้อๆ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่วางโครงสร้างแพงเกินจริง (overpriced structure) ไม่ใช่การออกแบบที่ยึด'ตัวตน'ของสถาปนิกเป็นตัวตั้ง แล้วให้โลกโคจรหมุนรอบอีโก้ของเขา, ออกแบบ like you give a damn. น่าคิดว่า สถาปนิกไทยคิดอย่างไรกับแนวคิดสถาปัตยกรรมศาสตร์ทางเลือกของ Sinclair ผู้คิดและลงมือทำจริงให้เราเห็น

Sinclair เคยให้สัมภาษณ์ว่า

"บทบาทของสถาปนิกในสังคมมีเพียงสองแบบ นั่นคือทำให้ชุมชนดีขึ้น หรือไม่ก็ทำให้แย่ลง ผมคิดว่าวงการสถาปนิกโดยรวมต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ แต่โชคร้ายที่สื่อวงการออกแบบมักพุ่งความสนใจไปที่ สถาปนิกดารา (stararchitect) เพียงไม่กี่คน ซึ่งยิ่งตอกย้ำทัศนคติของคนทั่วไปว่า วงการนี้มีหน้าที่รับใช้คนรวยเท่านั้น

ผมไม่ได้ขอให้นักออกแบบเลิกทำงานออกแบบให้บริษัทเอกชน รัฐบาล หรือลูกค้ารวยๆ แต่เพียงขอให้พวกเขาเจียดเวลาทำงานสัก 1% มาช่วยคนจน ที่ต้องการความรู้และความเชี่ยวชาญของพวกเขาจริงๆ"

คนอย่าง Sinclair บอกเราว่า ความสำคัญของสถาปนิก นักออกแบบ ไม่ได้อยู่แค่การสร้างบ้านสร้างตึก แต่อยู่ที่การเป็นกำลังสำคัญในการ'ออกแบบ'และลงมือสร้างโลกใบใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม สร้างอนาคต เพื่อคนเล็กคนน้อยที่ขาดแคลน เพื่อชุมชนที่ยากไร้

ท่านคงเคยได้ยิน คำขวัญการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านทุนนิยมทั่วโลกคือ "Another world is possible." ระบบทุนนิยมไม่ใช่จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ในโลกนี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากระบบทุนนิยม

แต่ผมชอบคำขวัญของกลุ่ม World changing เว็บไซต์ซึ่งรวบรวมนวัตกรรมที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้นจากคนเล็กคนน้อย (www.worldchanging.com) (2) ที่ยั่วล้อคำขวัญข้างต้น "Another world is here." โลกใบใหม่อยู่ที่นี่แล้ว มันเกิดขึ้นแล้ว มีคนลงมือทำแล้ว มีคนถางทางแล้ว

โลกใบใหม่หลายใบเกิดขึ้นด้วยน้ำมือสถาปนิกนักออกแบบ ผู้สร้างอย่างพวกท่าน ผู้มีส่วนสร้างบ้านสร้างตึกมากมาย และมีส่วนสร้างสถาปนิกหน้าใหม่ประดับวงการมากมาย

ผมขอทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำในบทความของอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า

"มนุษย์ถูกสอนให้เชื่อว่า คุณธรรมอันสูงสุดคือการบริจาค แต่มนุษย์จะให้ไม่ได้ ถ้าไม่สร้างเสียก่อน" (3)

นี่อาจถึงเวลาที่จะต้องทบทวนว่า สถาปนิกไทยจะ 'ออกแบบ' และ 'สร้าง' อนาคตของวงการสถาปัตยกรรมไทยต่อไปอย่างไร เพื่อรับใช้สังคมไทย และทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) Architecture for Humanity (ed.). 2006. Design Like You Give a Damn: Architecture Response for Humanitarian Crises. Metropolis Books.

(2) สนใจรายละเอียดอ่าน Alex Steffen. 2006. World Changing: A User Guide for the 21st century.
Harry N. Abrams, Inc.

(3) บทความเรื่อง "The fountain head" ในหนังสือ แสงอรุณแห่งสถาปัตยกรรม โดย รศ.แสงอรุณ รัตกสิกร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 28

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

บรรยากาศและวัฒนธรรมการเรียนรู้ในหมู่นักศึกษาก็ไม่เกิด เรียนกันแบบไร้ชีวิตจิตใจ ด้านอาจารย์ก็ไม่ต่างจากนักศึกษาเท่าไหร่นัก อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากไม่มีคุณภาพ จำนวนมากไม่รับผิดชอบ จำนวนมากไม่มีฉันทะทางวิชาการ มหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถดึงดูดคนเก่งได้ อาจารย์เก่งและดีที่อยู่ในมหาวิทยาลัยไทย หากไม่คาบพานทองแท้มาเกิด หรือมีสามีหรือภรรยารวย ก็เป็นพวก'บ้า'หรือ'หลงใหล'โลกวิชาการ หรือความเป็นอิสระในฐานะนักวิชาการ จึงยอมแบกรับต้นทุนส่วนตัวด้วยตัวเอง (คัดลอกมาบางส่วนจากบทบรรยายของ อ.ปกป้อง จันวิทย์)

11-04-2550

Architect Symposium
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.