โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 5 April 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๐๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 05,04,.2007)
R

จุดอ่อนและช่องโหว่ของกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ปาฐากถา ณ ป๋วยเสวนาคาร: มองป๋วยผ่านสังคมร่วมสมัย
ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งได้เป็นองค์ปาฐก ณ ป๋วยเสวนาคาร และพูดในหัวข้อ "มองป๋วยผ่านสังคมร่วมสมัย"

โดยมองโศกนาฏกรรมของ อ.ป๋วย ในฐานะที่เป็นครูที่ตั้งอยู่ในความดี
ซึ่งยอมรับความเจ็บปวด แทนความไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม
มนุษยภาพที่แท้คือ การเข้าถึงความจริง ความดี และความงาม
อ.ป๋วย ได้ให้ความสำคัญของการศึกษา และเห็นว่าคุณธรรม ความยุติธรรม
เหนือกว่าสมรรถภาพ และปัญญาที่ขาดสติ และความกรุณา
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๐๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาพประกอบนี้ ได้มาจากปกนิตยสารสารคดี ฉบับพิเศษ ป๋วย อึ้งภากรณ์

มองป๋วยผ่านสังคมร่วมสมัย
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ปาฐากถา แสดง ณ ป๋วยเสวนาคาร เสาร์ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐

ความนำ
การพูดถึง อ.ป๋วยในเวลานี้ คงหลีกไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงจุดจบของชีวิตของคนๆ หนึ่ง ซึ่งผ่านความก้าวหน้าในการทำงานรับใช้แผ่นดินจนประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นที่ยอมรับนับถือและเคารพของคนในชั้นชนและวงการต่างๆ จากสูงสุดลงมาจนล่างสุด อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสามัญชนไทยก็ว่าได้ แต่แล้วชีวิตและการทำงานในระบบราชการ และร่วมสร้างรัฐไทยที่เป็นระบบทุนที่มีประสิทธิภาพและมีฐานะศักดิ์ศรี อันประเทศทุนนิยมมหาอำนาจระดับโลกยังต้องยอมรับนับถือนั้น ต้องยุติลงด้วยโศกนาฏกรรม เป็นโศกนาฏกรรมที่อัปยศและโหดร้ายที่สุด ที่สังคมภายใต้อำนาจรัฐปฏิกิริยาปล่อยให้ความป่าเถื่อนสามานย์ของเจ้าหน้าที่ และชนชั้นนำที่ไร้ปัญญาใช้อำนาจบาตรใหญ่ ทำลายท่านและเยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อสังคมใหม่ทั้งหลายต้องถึงกาลพินาศอย่างไม่มีความปราณี

สำหรับพวกเราคนร่วมสมัย การมองกลับไปยัง อ.ป๋วยฯ ที่สำคัญได้แก่ การที่จะนำเอาโศกนาฏกรรมนี้มาเป็นข้อศึกษา วิเคราะห์ และสร้างปัญญาความเข้าใจ ในสภาพและการดำรงอยู่ของสังคมและรัฐไทย การเรียนรู้จากโศกนาฏกรรมของ อ.ป๋วย อยู่ที่การนำเอาหลักการและจุดยืนที่ท่านใช้ในการดำรงรักษาความเป็นคนธรรมดาที่มีหลักธรรม กระทั่งนำไปสู่การเปิดโปงธาตุแท้ และจุดยืนอันไร้หลักธรรมของระบบและสถาบัน ที่ท่านเคยร่วมก่อสร้างและทำงานรับใช้มาตลอดชีวิต

โศกนาฏกรรมของท่านก่อตัวขึ้นเมื่อ อ.ป๋วย เริ่มแสดงให้ระบบและสถาบันเหล่านั้นตระหนักว่า ท่านเป็นตัวของท่านเอง มากกว่าเป็นเพียงแค่กลไกเครื่องมืออันหนึ่งที่รับใช้ระบบและสถาบันอย่างเซื่องๆ ไปวันๆ ตามการฟูมฟักของยศฐาบันดาศักดิ์ และลาภยศสรรเสริญนานาประการ สิ่งเหล่านั้นที่เคยมีอำนาจและฤทธิ์เดชในการสยบข้าราชการทุกระดับชั้น โดยเฉพาะจำพวกชั้นสูงๆ ได้ ไม่อาจสามารถสยบและบังคับ อ.ป๋วยให้ยอมตามอำนาจนั้นได้

ตรงกันข้าม ดูเหมือนว่ายิ่งนานวัน ท่านกลับยิ่งเข้าใจและตระหนักถึงธาตุแท้แห่งอำนาจนั้นๆ มากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการที่ท่านเรียนรู้และเข้าใจในฐานะของประชาชน คนส่วนใหญ่ของประชาชาติ และเป็นเป้าหมายของนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ท่านเป็นกำลังสำคัญในการสร้างและปฏิบัติ การประกาศจุดยืนและท่าทีอันเป็นจุดหมายแห่งความเป็นมนุษย์ที่เป็นเสรีชน ที่ยึดถือในหลักแห่งประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ที่ยากไร้ หรือที่ท่านพอใจเรียกว่า "ประชาธรรม" และในความยุติธรรมอย่างเสมอหน้า ทำให้อำนาจและรัฐไทยสมัยนั้นทนไม่ได้และไม่พอใจ หาทางเล่นงานและขับไล่ท่านให้ออกไปจากเมืองไทย นี่เป็นการกำจัดอย่างนิ่มนวล ในฐานของคนรู้จักและทำหน้าที่การงานใกล้ชิดกันมาก่อน หาไม่ก็คงถูกอุ้มหรือกำจัดด้วยวิธีการรุนแรงอื่นๆ ซึ่งก็ปรากฏเป็นจริงในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นมาได้ เพราะโลกใหม่นี้ไม่ได้อิงอยู่กับพระเจ้าและความยุติธรรมของพระเจ้าแต่ถ่ายเดียวอีกต่อไป ในโศกนาฏกรรมมนุษย์ต้องพบกับความพินาศโดยปราศจากเหตุผล ทั้งนี้สังคมจะได้เอามาเตือนสติมนุษย์ให้สงบเสงี่ยมเจียมตัวต่อไป (เจตนา ๒๕๒๘)

โศกนาฏกรรมจะเป็นที่ซึมซับของคนในสังคมได้ ก็เมื่อสังคมหันมาให้คุณค่าแก่ความเป็นมนุษย์ อย่างมีศักดิ์ศรีและมีเหตุผลของตนเองได้ กระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งอันไม่อาจประนีประนอมได้ เช่นในเรื่องอันติโกน คือความขัดแย้งระหว่างการเชื่อฟังกฎหมายของมนุษย์ในรัฐกับกฎของพระเจ้าที่สูงกว่า ซึ่งเน้นในหน้าที่ของคนที่มีต่อพระเจ้าและครอบครัว หรือในเรื่อง A Man for All Seasons อันเป็นเรื่องของโทมัส มอร์ ที่ยอมตายเพื่อพระเจ้า แต่ไม่ยอมทำตามความต้องการของกษัตริย์ เขาพูดว่า "ข้าพเจ้าตายในฐานะของข้ารับใช้ที่ดีของกษัตริย์ แต่ทว่าเป็นข้าของพระเจ้าก่อน" ( I die the king's good servant but God's first)

ในกรณีของอ.ป๋วย กล่าวได้ว่า ความขัดแย้งอันไม่อาจประนีประนอม ซึ่งก็คืออวสานและจุดจบในชีวิตการงานและสังคมของท่านมาจาก การที่ท่านเคารพต่อความจริงที่เป็นของมหาชนคนส่วนใหญ่ที่เป็นสามัญชน ในขณะที่ความจงรักภักดีของท่านที่มีต่อรัฐ ราชการ และสถาบันของประเทศนั้นเป็นรอง ผลสะเทือนของการแสดงจุดยืนทางการเมืองและสังคมดังกล่าว มีปฏิกิริยามหาศาล ก็เพราะว่า อ.ป๋วย ในเวลาและบริบทของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน ได้กลายเป็นผู้นำทางความคิดการเมืองของพลังคนรุ่นใหม่ไป ในสังคมทั่วไปท่านเป็นตัวอย่างของความสำเร็จอันสูงส่งในการปฏิบัติหน้าที่ภารกิจการงานของราชการอย่างดีเยี่ยม อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง และอย่างซื่อสัตย์

ทั้งหมดนั้นก่อให้เกิดความขัดกันอย่างไม่อาจนึกถึงได้ และเช่นกัน ความขัดกันอย่างไม่น่าเป็นก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้โศกนาฏกรรมมีพลังอย่างยิ่งต่อความรู้สึกของคน กล่าวคือจุดจบของ อ.ป๋วย นั้น เป็นเรื่องไม่อาจคาดคิดได้อย่างธรรมดาสามัญ มันไม่ได้มาจากความผิด ความไร้หลักการ ความไร้ซึ่งศีลธรรมและคุณธรรมทั้งหลาย หากแท้จริงแล้วมาจากการที่ท่านทำในความดีและซื่อสัตย์ต่อความจริงอย่างสุดจิตสุดใจต่างหาก ภัยพิบัติและความอยุติธรรมที่ท่านได้รับจึงเป็นผลตอบแทนของการทำความดี นี่จึงเป็นแก่นของโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตมนุษย์ที่แท้จริง

นี่เป็นคำถามต่อสังคมไทย ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน

โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตของ อ.ป๋วย ให้ข้อคิดอะไรแก่เรา

ประการแรก คือ การทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงประเด็นปัญหาที่พื้นฐานที่สุดของสังคม นั่นคือปัญหาและหลักการพื้นฐานที่สุดของการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ความเป็นคนคืออะไร การมีชีวิตอยู่แบบที่เราหรือท่านเป็นอยู่นั้นหมายความว่าอะไร?

ประการต่อมา เราควรมีท่าทีและปฏิบัติอย่างไรในการดำรงรักษาความเป็นมนุษย์อย่างที่เราเข้าใจ ในท่ามกลางภววิสัยสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบต่างๆ ที่เกิด เปลี่ยนแปลง แล้วเสื่อมทำลายไป

ในการเสนอและให้คำตอบต่อคำถามและปัญหาข้างบนนี้ ผมจะอาศัยและตีความแนวความคิดและหลักการในการดำรงชีวิตและปฏิบัติตนของ อ.ป๋วย เป็นสำคัญ โดยศึกษาจากข้อเขียน ประวัติ และงานเขียนของผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ ที่มีต่อท่าน หวังว่าการศึกษาและค้นคว้าความคิดและหลักการของท่าน จะให้ประโยชน์และข้อคิดอันจะทำให้คนรุ่นปัจจุบันและต่อๆ ไป สามารถใช้เป็นฐานในการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาปัญญาของบุคคลและของสังคมต่อไป เพื่อที่เราจะได้มีความหวังว่า สังคมไทยนั้นยังมีแก่นและเนื้อหาอันเป็นธรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงยกระดับในทางคุณภาพที่ดีต่อไป

มนุษยภาพ: ความจริง ความดีและความงาม
อ.ป๋วย เป็นนักคิดสมัยใหม่น้อยคนที่นิยามและนำเสนอความหมายและคุณธรรมของความเป็นคนอย่างธรรมดา (ในอดีตก็มีเทียนวรรณและศรีบูรพา) โดยทั่วไปสิ่งที่สังคมไทยยึดถือและปลูกฝังกันมานานในเรื่องคุณธรรมนั้น มักเป็นคุณธรรมของชนชั้นปกครอง และจุดหมายของการเป็นคนในทรรศนะของชนชั้นปกครองเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังเห็นได้จากการเรียกร้องให้คนทั้งหลายทำแต่ความดี(ในทางนามธรรม) ทำการสมานฉันท์(สามัคคี) และกตัญญูกตเวทิตา ต่อผู้ใหญ่กว่า ทั้งๆ ที่คำสอนเหล่านั้นแท้จริงแล้วคือปัญหาภายในของชนชั้นปกครองกันเองทั้งสิ้น(ธเนศ ๒๕๔๙) ที่ผ่านมาเราจึงไม่ค่อยมีคุณธรรมที่เป็นของประชาชนธรรมดากันเอง

ภาพลักษณ์ของคนที่ อ.ป๋วย นำเสนอ เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง คือ

- ความเป็นคนที่มีโอกาสและสามารถใช้ชีวิตตามอัตภาพที่เหมาะสม พึ่งตนเองได้ และเลี้ยงดูครอบครัวได้ มีสวัสดิการในการศึกษา สาธารณสุขและการงาน

- ในทางการเมืองมีสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย สังคมมีความยุติธรรมและมีความงาม (จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนฯ)

อันนี้เป็นภาพลักษณ์ของพลเมืองและความต้องการพื้นฐานที่เป็นรูปธรรม

หากจะหาความเป็นมนุษย์ที่มีหลักการสูงขึ้น จุดหมายและคุณธรรมที่ อ.ป๋วย เสนอ ไม่ใช่คุณธรรมในทางนามธรรม ที่แยกออกจากสภาวะความเป็นจริงทางสังคม หากแต่ท่านย้ำหลักการหรือคุณธรรมอันเป็นธรรมในการผลักดันสังคมให้เจริญก้าวหน้าไป อันเป็นเงื่อนไขแห่งการดำรงความเป็นมนุษย์ของบุคคลแต่ละคนอย่างมีความหมายขึ้นมาได้ด้วย สังเกตได้ว่าท่านไม่นิยมเรียกร้องหรือเทศนาให้ผู้อื่นกระทำในหลักธรรมอะไรแต่โดดๆหรือสักแต่ว่าไปตามกระแส หากแต่จะให้อรรถาธิบายให้เห็นถึงเหตุและผลของหลักการหรือคุณธรรมนั้นๆ ซึ่งมักเกี่ยวเนื่องกับสัมพันธภาพระหว่างบุคคลกับสังคม

ดังนั้นจุดหมายของความเป็นคนอันสมบูรณ์นั้น จึงต้องมุ่งไปสู่หลักการ ๓ ประการคือ หลักความจริง, ความดี, และความงาม, โดยที่หลักทั้งสามนี้ ท่านนำมาจากคำสอนทางฝ่ายคริสต์ศาสนา หลักศีลธรรมประจำตัวดังกล่าวนี้ " ถือว่าเป็นคุณธรรมสำคัญในการพัฒนาทั้งบุคคลแต่ละคนและชาติหมู่คณะให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองไปโดยสมบูรณ์"

ความจริงหรือสัจจะ
ในเรื่องของ ความจริงหรือสัจจะนั้น ท่านมีทรรศนะว่า ควรใฝ่หาทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. อ.ป๋วยให้มองให้รอบด้าน จะได้นำมาเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติได้ อันนี้ก็เป็นโลกทรรศน์สมัยใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ของท่าน ที่พยายามประสานทุกๆ ศาสตร์ และความเชื่อทางศาสนาเข้ามาในการค้นหาและสร้างความจริงของแต่ละคน

เมื่อจะหาคำอธิบายหลักการดังกล่าวในคำสอนทางศาสนา อ.ป๋วย มักร้องเรียนว่า คำสอนบางข้อบางอันในพุทธศาสนาและคริสต์ด้วยนั้น ไม่ช่วยในการให้คำตอบแก่การปฏิบัติที่เป็นจริงของคนได้ดีนัก เช่นในหลักแห่งความจริง ความงาม และความดีว่าเป็นสิ่งอันพึงปรารถนา แล้วจะมีหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้บ้าง ท่านพบว่า "หาสูตรจากคำสั่งสอนทางคริสต์ได้ยาก... แต่เมื่อจะพึ่งจากมรรค ๘ ของอริยสัจจ ๔ ตามพุทธคติก็ไม่จุใจ เพราะมีแต่เรื่องให้คิดชอบ ทำชอบโดยไม่บอกว่า ชอบอย่างไร" (ปกป้อง ๒๕๔๕: ๑๙๕) แต่ในที่สุดท่านก็หาสูตรสำหรับการพัฒนาตนเองและชาติได้ในคำเทศนาทางพุทธ ซึ่งแสดงถึงจตุพละ คือกำลัง ๔ ประการ ได้แก่

- ปัญญาพละ,
- วิริยพละ,
- อนวัชชพละ, และ
- สังคหพละ,

สองข้อแรก คือการให้ความสำคัญแก่ปัญญา ท่านกล่าวว่า "การที่จะพึงรู้ว่าอะไรเป็นวิชาหรืออวิชชา อะไรเป็นความงามนั้น ต้องอาศัยปัญญาเป็นเบื้องต้น และต้องอาศัยปัญญาอีก เพื่อหาช่องทางไปสู่จุดหมายอันประเสริฐ แต่ปัญญาอย่างเดียวก็ไม่พอ ถ้ารู้จริงแต่เกียจคร้านเสีย ก็หาประโยชน์อันใดมิได้ จึงต้องมีวิริยะความเพียร

พลังสองข้อหลัง คือการมีสติคอยกำกับเหนี่ยวรั้งไม่ให้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นโทษและมีภัยถึงผู้อื่น สุดท้ายคือมีเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง ทำการสงเคราะห์เกื้อกูลผู้อื่นให้พ้นทุกข์ได้ถึงสุข ทั้งหมดนี้จึงจะถึงซึ่งความงามและความดีจริง

- หลักการสองข้อแรกจึงเน้นไปที่การยกระดับตัวบุคคลเอง
- ส่วนสองข้อหลังคือการคิดถึงผู้อื่นนอกเหนือตัวเอง

ในความคิดและวิธีการของ อ.ป๋วย อัตวิสัยไม่เคยดำรงอยู่โดดๆ ด้วยตัวมันเองเลย หากแต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างรอบด้านกับภววิสัยเสมอ

ในประเด็นเรื่องความจริงและการใช้ปัญญานั้น ถือว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญในความคิดทางสังคมของ อ.ป๋วย เลยทีเดียว ด้วยความเชื่อมั่นในการพัฒนาบุคคล หนทางที่สังคมสมัยใหม่ค้นพบและสร้างขึ้นมาอย่างเป็นระบบอันใหญ่โตยิ่งกระทั่งปัจจุบันก็คือระบบการศึกษา จึงไม่แปลกใจที่ อ.ป๋วย ให้ความสำคัญและทุ่มเทเวลากับการทำงานไปในเรื่องการศึกษาอย่างมาก กระทั่งสละตำแหน่งผู้ว่าการฯ ธนาคารชาติ เพื่อมาเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชนบท โครงการบัณฑิตอาสาสมัคร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง และเข้าร่วมโครงการพัฒนาชนบทต่างๆ มากมาย

เรื่องการศึกษา
ในเรื่องของการศึกษานั้น ท่านให้ข้อคิดว่า จุดหมายสำคัญของการศึกษาอยู่ที่

๑) อบรมคนให้เป็นคนดี
๒) รู้จักใช้ความคิด สติปัญญา
๓) มีความรู้ประกอบสัมมาอาชีพได้

เพื่อจะบรรลุจุดหมายดังกล่าว ต้องร่วมกันปฏิบัติทั้งที่บ้านและโรงเรียน ทั้งด้านบุคคลและประชาคม ในทางปฏิบัติการศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญของนักเรียน และจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียนเช่นกัน ไม่ใช่เพื่อครู เพื่อชาติ หรือเพื่อราชการ ที่สำคัญคือ "เพ่งเล็งถึงคุณภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เป็นนักเรียนแต่ละคน" (ปกป้อง การศึกษา ๒๕๔๕)

เห็นได้ชัดว่า ในความคิดของ อ.ป๋วย นั้น ท่านให้ความสำคัญอันดับแรกที่ความเป็นคนที่เป็นบุคคลหรือปัจเจกชน การให้ความสำคัญที่บุคคล ก็เพราะบุคคลคือจุดหมายอันสำคัญของโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่าโลกโลกีย (secular world) อันต่างจากคติดั้งเดิมที่ให้น้ำหนักไปที่โลกโลกุตตระ แนวความคิดทางสังคมของท่านจึงสอดคล้องกับสำนักแสงสว่างทางปัญญาของยุโรป

ก่อนจะผ่านเรื่องการศึกษาไป อยากให้ตัวอย่างแนวคิดของ อ.ป๋วย ในเรื่องอุดมศึกษาอีกนิด ซึ่งกำลังขยายกันเป็นการใหญ่ในปัจจุบันนี้ ท่านกล่าวว่าคติที่ว่าเด็กทุกคนควรจะเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้นเป็นมิจฉาทิฐิ "การศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยเปรียบได้กับโรงพยาบาลบ้า คนต้องบ้าจึงเข้าโรงพยาบาลบ้าได้ จึงจะเหมาะสม คนดีๆ จะไปเข้าโรงพยาบาลบ้าย่อมไม่ได้ คนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องเป็นคนที่เหมาะกับการเรียนวิชาในขั้นอุดมศึกษา..."(ปกป้อง ๒๒)

สุดท้ายในเรื่องการศึกษา ผมขออนุญาตถ่ายทอดข้อความอันเกี่ยวเนื่องกับนักเรียนและจริยธรรมของนักวิชาการ เป็นข้อความที่ผมประทับใจและซึ้งใจยิ่ง อยากให้คนหลายๆ คนได้สัมผัสและตักตวงความปิติจากความงามของความคิดและภาษานี้กันเอาเอง

"อันความยั่วยวนมายาแห่งโลกเรานี้แหละ ที่ทำให้เราเกิดความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้เคร่งในการเรียน เป็นสมณแห่งวิทยา และผู้รักเรียนนั่นเองก็มีหน้าที่และสิทธิที่จะบังคับโลกให้เดินตามตน มิใช่ตนเดินตามโลก จงน้อมรับเอารสธรรมอันขจายตลบอยู่แล้วในของทุกสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นธรรมชาติ จงช่วยเป็นลิ้นให้ธรรมชาติได้กล่าวมธุรสกล่อมใจมนุษย์ และจงแสดงให้โลกอันโง่เขลาเล็งเห็นเสียทีว่า วิชาความรู้นี้ประเสริฐเพียงใด

เมื่อเราเห็นอยู่ตำตาแล้วว่า กาลสมัยของเรานี้มีบาปอยู่หนาแน่น และบ้านเมืองของเรานี้ความเท็จ ความชั่วดาษดื่นอยู่ ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายจงเข้าสู่ความร่มเย็นแห่งวิชาและแสวงหาความรู้ ซึ่งใครๆ เขาได้ละเลยเสียแล้ว ถึงแสงแห่งวิชานั้นจะริบหรี่ ก็จงพอใจเถิด เพราะแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย ก็ยังเป็นของของเราจริงๆ

จงมุ่งหน้าค้นแล้วค้นอีกต่อไป อย่าได้ท้อถอย อย่าได้ทะนงจนถึงกับวางมือจากการค้นคว้าหาความรู้ อย่าเชื่อถือในความคิดของท่านจนงมงาย และก็อย่าหลงลืมผู้อื่นโดยไม่พิจารณาถึงเหตุผล ท่านมีสิทธิที่จะเดินทางข้ามทะเลทรายไปสู่วิชา ถึงจะเป็นทะเลทรายทุรกันดาร ก็มีดวงดาราส่องแสงอยู่แพรวพราว และเหตุไฉนเล่า ท่านจึงจะสละสิทธิข้อนี้ของท่านเสีย ไปชิงสุกก่อนห่ามโดยเห็นแก่ความสำราญ ที่ดินสักแปลง บ้านสัก ๑ หลัง และยุ้งข้าวสัก ๑ ยุ้ง วิชาเองก็มีหลังคา มีฟูก ที่นอน มีอาหารไว้ต้อนรับท่าน

จงบำเพ็ญตนให้เป็นผู้จำเป็นแก่โลก มนุษยชาติก็จะนำอาหารมาสู่ท่านเอง แม้จะไม่ให้ถึงยุ้งถึงฉาง แต่ก็เป็นบำเหน็จชนิดที่ไม่ลบล้างบุญคุณของท่านที่ทำไว้แก่มนุษยชาติ ไม่ลบล้างความรักใคร่นิยมของคนทั้งหลาย และไม่ลบล้างสิทธิของท่านที่มีอยู่ต่อศิลปะ ต่อธรรมชาติ และต่อความหวังของมนุษย์"
(สุนทรพจน์ ณ ดาร์ทมัธคอลเลจ ถอดความและเรียบเรียงใน "คำพูดและข้อเขียนของป๋วย อึ๊งภากรณ์" หน้า ๓๐๖-๗) ใน ถนนหนังสือ สิงหาคม ๒๕๓๐, หน้า ๔๔

จากการพัฒนาบุคคลไปสู่ความเจริญแห่งสังคม
อ.ป๋วย ไม่ได้หยุดแค่การให้นิยามและความหมายแก่การดำรงตนของแต่ละบุคคลเท่านั้น หากที่สำคัญกว่านั้นในกาลต่อมาคือ การยกระดับความคิดดังกล่าวนี้ สู่ระดับสังคม นำไปสู่การเสนอหลักคุณธรรมในการพัฒนาสังคมอันได้แก่

๑) หลักสมรรถภาพ
๒) หลักเสรีภาพ
๓) หลักยุติธรรม
๔) หลักเมตตากรุณา

หลักการดังกล่าว อ.ป๋วย ประยุกต์เสียให้สอดคล้องกับหลักธรรมของบุคคล ได้ออกมาเป็น หลักสมรรถภาพ, เสรีภาพ, ยุติธรรม, และเมตตากรุณา. โดยที่หลักสมรรถภาพก็ตรงหลักความจริง ต้องใช้พลังทางปัญญาและวิริยะเป็นเครื่องมือ, ส่วนหลักเสรีภาพและยุติธรรม เกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีทำนองเดียวกับความงาม คือก่อให้เกิดความงามขึ้นในสังคมมนุษย์ ต้องใช้อนวัชชพลังเป็นกำลังนำไป, หลักเมตตากรุณา ตรงกับความดี และอาศัยสังคหพลังเป็นสื่อ สังคมจะเจริญรุ่งเรืองได้ต้องเป็นสังคมที่มีสมรรถภาพ ๑ บุคคลมีอิสรเสรีภาพ ๑ มีความยุติธรรมครอบงำอยู่ ๑ และคนในสังคมนั้นมีความเมตตากรุณาซึ่งกันและกัน ๑

พัฒนาการทางความคิดของ อ.ป๋วย ช่วงนี้น่าสนใจ กล่าวคือ ก่อนที่ท่านจะเสนอหลักคิดในเรื่องจุดหมายของคนที่พึงปรารถนา อันได้แก่หลักความจริง ความดี และความงามในปีพ.ศ. ๒๕๑๒, ก่อนหน้านี้ราวปี ๒๕๐๓ ท่านก็พูดถึงประชาธิปไตยแล้ว ในบทความ "งบประมาณและเจ้าหน้าที่งบประมาณ" พิมพ์ในวารสารกรมบัญชีกลาง ปีที่ ๑ เล่ม ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๓ เสนอหลักการงบประมาณ ๖ ประการคือ

- หลักคาดการณ์ไกล (foresight)
- หลักประชาธิปไตย (democracy)
- หลักดุลยภาพ (balance)
- สารัตถประโยชน์ (utility)
- ยุติธรรม(equity)
- และสมรรถภาพ(efficiency)

ประชาธิปไตย "เงินได้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมดเกิดจากเงินของราษฎร ฉะนั้น จึงเป็นการสมควรที่ราษฎรจะต้องรู้เห็น และให้ความเห็นชอบด้วยทั้งรายได้และรายจ่าย" (๑๙๐) ถ้างุบงิบก็ขัดหลักประชาธิปไตย พูดถึงรัฐสภาที่ผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งเข้ามา เป็นสถาบันให้คำปรึกษาและความอนุมัติแก่รัฐบาลในการเก็บภาษีอากร และการจ่ายเงิน

ช่วงนั้นเป็นสมัยระบอบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ น่าคิดว่า อ.ป๋วย ไม่ได้รู้สึกว่ารัฐบาลจอมพลสฤษดิ์นั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย ท่านพูดถึงความเก่งของสฤษดิ์ว่ามีมากกว่าจอมพลป.เสียอีก ยิ่งการที่นายกฯให้อิสระในการทำงานแก่ท่านอย่างเต็มที่ ความคิดการเมืองของท่านจึงผูกติดกับเรื่องประสิทธิผล สัมฤทธิผลของการปฏิบัตินโยบายเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ดังเห็นได้จากสุนทรพจน์ในที่ประชุมนายธนาคารและของธนาคารแห่งประเทศไทยส่วนใหญ่ ที่เน้นไปที่การสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เหนือระบบประชาธิปไตยของประชาชน นี่เป็นลักษณะเด่นของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และรวมถึงปัญญาชนส่วนหนึ่งด้วย ที่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมของสงครามเย็นและการสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม อ.ป๋วยยังสามารถมองเห็นถึงช่องว่างและความไม่กลมกลืนระหว่างนิยามความหมายของประชาธิปไตย และความก้าวหน้าในการพัฒนากับความจริงในสังคมไทย ดังที่ท่านพูดถึงการให้ประชาชนมีส่วนรับรู้และอนุมัติการเก็บภาษี และการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลเป็นต้น

อีกข้อก็คือเรื่องความยุติธรรม อ.ป๋วย กล่าวว่า "ผมแปลยุติธรรมว่า equity ไม่ใช่ justice เพราะจงใจระบุว่า คำว่ายุติธรรมหมายกว้างถึงศีลธรรมและความชอบธรรม มิใช่ความหมายอย่างแคบที่บ่งว่าอะไรถูกกฎหมายแล้วก็พอยุติธรรมได้"

เมื่อพูดถึงความชอบธรรม ท่านไม่รีรอที่จะเสนอแนวคิดที่เป็นของคนธรรมดาออกมา"อะไรชอบธรรมหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เถียงกัน เป็นหนังสืออ่านยากๆ ได้หลายๆ หอสมุด แต่ในใจจริงของมนุษย์เราทุกคนนั้นพอจะมีหลักเกณฑ์เป็นสามัญสำนึกอยู่ เพราะพวกเราเกิดมาด้วยจิตใจดีพอสมควร และเติบโตมาในศาสนาที่ดี ฉะนั้น พอจะรู้ผิดชอบได้ แม้ว่าจะเถียงกันสักหน่อย" (๑๙๔-๙๕)

ด้วยทรรศนะที่อิงกับสามัญสำนึก ท่านเชื่อว่าการจะรักษาจริยธรรมและทำการพัฒนาได้ ไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ปฏิบัติหน้าที่ของตนไปตามปกติ และประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรมที่ได้รับการสั่งสอนมาแต่สมัยโรงเรียน บิดามารดา เพียงแต่ทำเท่านั้นก็ถือได้ว่าอยู่ในจริยธรรม ถ้าจะเน้นหนักกว่านี้ ก็อยู่ในด้านวิชาการมากกว่าอย่างอื่น (เศรษฐทรรศน์ ๒๑๙)

มนุษยธรรมเป็นพี่น้องฝาแฝดกับยุติธรรม
ท่านมองเห็นความไม่ยุติธรรมระหว่างคนรวยกับจน มีมาก และเสนอว่ารัฐบาลควรช่วยอุดหนุน "เพราะมนุษยธรรมเป็นพี่น้องฝาแฝดกับยุติธรรม" ความยุติธรรมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญแห่งธรรมะ ท่านอธิบายความหมายของ "ธรรมะ" เป็นคำคู่กับศีล คำว่าศีลหมายถึงการระงับไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ส่วนธรรมะ คือการช่วยส่งเสริมให้สถานการณ์ดีขึ้น เพื่อความเจริญของเอกชนมหาชน (อ้างถึงหนังสือเก่า "เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย" เดิมแต่ง ๒๔๙๘) (เศรษฐทรรศน์ ๒๑๑-๒)

สมรรถภาพเป็นนางเอก สุจริตเป็นพระเอก
ในที่สุดตัวที่เป็นอุปสรรคร้ายกาจมาก ก็คือการโกง "ถ้าสมรรถภาพเป็นนางเอก สุจริตก็ต้องเป็นพระเอก ถ้าสมรรถภาพไปแต่งงานกับทุจริตเข้าก็จะมีลูกหลานเป็นโจรห้าร้อยจำพวก ร้ายนัก ถ้าทุจริตไม่ได้กันกับสมรรถภาพ ก็ยังร้ายอยู่มากพอใช้ เพราะทุจริตเป็น "ผู้ร้าย" ชนิดที่รังแกสมรรถภาพอยู่เรื่อยๆ นอกจากนั้นยังรังแกนางเอกเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ยุติธรรม สารัตถประโยชน์ ประชาธิปไตย เป็นต้น ฉะนั้นเพื่อให้เรื่องที่เราทุกคนสนใจกันเป็นพิเศษอยู่นี้ดำเนินไปด้วยดี สุจริตต้องเป็นพระเอกปกป้องคุ้มครอง สมรรถภาพ และ พระเอกกับนางเอกต้องแต่งงานร่วมหัวจมท้ายกัน"(๑๙๖-๗)

สันติประชาธรรม: ท่าทีและการปฏิบัติต่ออุดมคติและความเป็นจริง
หากถามว่าสังคมร่วมสมัยมีสภาพเป็นอย่างไร เราคงสรุปลักษณะใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. ภาวะปัญหาและวิกฤตของความชอบธรรมในรัฐบาล และระบบประชาธิปไตย

2. ภาวะแห่งความขัดแย้งแตกแยก ทั้งทางกายภาพ แสดงออกผ่านปัญหาสภาพแวดล้อม ทรัพยากร ไปถึงทางปัญญาและความคิดของคนในสังคมทุกระดับชั้นและทุกวัย

3. การไร้ที่พึ่งทางจิตใจและทางปัญญา

ข้อแรกคือปัญหาทางการเมืองการปกครอง อันรวมถึงระบบราชการที่เป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการปฏิบัติ กับสถาบันการเมืองหลักๆ อันประกอบและรองรับระบอบปกครองประชาธิปไตย หรือที่ อ.ป๋วยเรียกว่า "ประชาธรรม" "คือธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่าอำนาจสูงสุดมาจากธรรมของประชาชน" (จดหมายนายเข้มฯ) ซี่งมีสถาบันรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พรรคการเมือง ไปถึงองค์กรอิสระ ทั้งหมดประกอบกันเข้าเป็นองคาพยพทางการเมือง ที่จะผลักดันขับเคลื่อนนโยบายและการปฏิบัติทางสังคมทั้งประเทศ ไปสู่จุดหมายของการสร้างสังคมที่มีเสรีภาพ ภราดรภาพ และความเสมอภาค ส่วนหนทางไปบรรลุหลักประชาธรรมนี้ก็ต้องใช้สันติวิธี ซึ่งมีเงื่อนไขคือ การมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนทางการเมือง

ปัญหากระทั่งวิกฤต เกิดมาจากความไม่ลงรอยระหว่างจุดหมายและความต้องการของประชาชนทั้งมวล กับโครงสร้างทางอำนาจที่ดำรงอยู่ สถาบันทางการปกครองของรัฐและของประชาชนไม่อาจตกลงดำเนินกิจการทางการเมืองเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนได้

อ.ป๋วย กล่าวว่า คนและสังคมมักคิดว่าการพัฒนาเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยลืมให้ความสำคัญแก่เอกชนด้วย ที่ผ่านมา "ผู้ที่เป็นใหญ่หรือเป็นโตหรือเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในด้านรัฐบาลนั้น มักจะลืมไปว่าราษฎรเป็นคนเหมือนกัน มีความคิด มีสมอง และมีกระเป๋าของเขาที่จะต้องเป็นห่วงเช่นเดียวกัน " (เศรษฐทรรศน์ ๒๐๓) แม้ที่สุดรัฐก็ยังเป็นผู้ใช้อำนาจที่ชอบธรรมมากที่สุด ท่านกล่าวว่า "การใช้อำนาจในการพัฒนา" ต้องอาศัยอำนาจในทางที่ถูกต้อง ก็คือความรับผิดชอบทางจริยธรรม (เศรษฐทรรศน์ ๒๐๗)

บทบาทของเอกชน ดังที่ท่านอ้างคำพูดของแมกซ์ไซไซ ว่า "ถ้าใครเกิดมามีน้อย บ้านเมืองพึงให้มากๆ" (ต่อมาแก้เป็น "กฎหมายควรให้มากๆ" หมายถึงพวกเราช่วยกัน ไม่ใช่รัฐฝ่ายเดียว)

แต่เมื่อไรที่รัฐและผู้ปกครองขาดศีลธรรมในการปกครอง ก็จะเกิดกลียุค ดังคำสอนใน กาพย์พระไชยสุริยา ผลของการไร้จริยธรรมของผู้ปกครอง

มอง อ.ป๋วย ผ่านสังคมร่วมสมัย
คำถามคือทำไมคนและสังคมไทยยังโหยหาถึง อ.ป๋วย แน่นอนเพราะท่านเป็นแบบอย่างของคนที่มีอำนาจและเป็นคนดี คนซื่อสัตย์และยังคงความเป็นสามัญชน แต่เพียงเท่านี้คงยังไม่พออธิบายความรู้สึกและความต้องการของคนรุ่นหลังๆ ต่อมา ผมคิดว่าพวกเรารุ่นหลังๆ ต่างต้องการคำตอบและการยืนยัน การเลือกและตัดสินใจทางสังคมทางการเมืองของเราต่อปัญหาและความขัดแย้งในการเมืองไทย

อ.ป๋วยได้เลือกข้างและทำการตัดสินใจไปแล้ว แม้ว่าผลของมันจะออกมาอย่างที่เรารู้กันก็ตาม แต่ผู้คนก็ยังยอมรับและนับถือการตัดสินใจเหล่านั้นของ อ.ป๋วย โดยนัยนี้การโหยหาและมองกลับไปหา อ.ป๋วย จึงเป็นการมองหาแนวทางในการเลือกและตัดสินใจทางการเมืองของเราด้วยเช่นกัน

สมัยของ อ.ป๋วย นั้น ก็เริ่มเห็นถึงภาวะเขาควาย และความยากลำบากในการตัดสินใจ ระหว่างอำนาจทางการของรัฐและผู้ปกครอง กับอำนาจแห่งความจริงและความชอบธรรมของคนส่วนใหญ่ อันเทียบได้กับสภาวการณ์การเมืองปัจจุบันด้วยเช่นกัน อ.ไชยันต์ ไชยพรเขียนคำนำในหนังสือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทัศนะว่าด้วยการเมืองและจริยธรรม (๒๕๔๕) น่าคิดเป็นอย่างยิ่ง ดังจะนำเสนอต่อไปนี้

"ซิเซโร นักคิดและผู้มีบทบาททางการเมืองโรมัน เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ได้เขียนจดหมายถึงแอททิคัส โดยมีใจความบางตอนดังนี้คือ

- คนดียังควรที่จะอยู่ในบ้านเมืองที่ปกครองโดยคนเลวๆ ต่อไปหรือไม่?
- การใช้วิธีการทุกอย่างไม่ว่าดีหรือชั่วในการกำจัดคนเลวที่ว่านี้ เพื่อทำให้สังคมพ้นจากอันตราย เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่?
- ควรหาทางป้องกันไม่ให้ผู้ที่ล้มการปกครองของคนเลวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองเองหรือไม่?

- ภายใต้การปกครองของคนเลว เราควรช่วยบ้านเมืองโดยการวิพากษ์วิจารณ์หรือใช้กำลัง?
- คนที่ย้ายไปอยู่ที่อื่น ในขณะที่บ้านเมืองตัวเองตกอยู่ในน้ำมือของคนเลวนั้น ถือว่ายังทำหน้าที่พลเมืองดีอยู่หรือไม่?
- หรือเขาควรที่จะเสี่ยงทุกอย่างที่เขามี เพื่อปลดปล่อยบ้านเมืองของเขา?
- เรายังเรียกตัวเราเองว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อประเทศชาติหรือไม่ ถ้าเราปฏิเสธการใช้กำลังในการล้มล้างการปกครองของคนเลว?

- ในเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ เราควรหรือไม่ที่จะสนับสนุนนโยบายหรือโครงการที่เพื่อนหรือผู้มีพระคุณต่อเราเป็นผู้ริเริ่ม ทั้งที่เรารู้ว่ามันเป็นนโยบายหรือโครงการที่ไม่ถูกต้อง?

- คนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันควรและสร้างประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้กับบ้านเมือง แต่จากการกระทำดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความริษยาและเกลียดชัง เขาควรที่จะดำเนินตามทางของเขาต่อไป แม้ว่าจะเสี่ยงอันตราย หรือเขาควรจะคิดคำนึงถึงตัวเขาและบรรดาคนที่เขารัก และล้มเลิกการต่อสู้ และเปิดทางให้กับผู้ที่มีอำนาจ?

สันติประชาธรรม อันเป็นหลักแห่งปรัชญาการเมืองของ อ.ป๋วย คือคำตอบต่อคำถาม ๙ ข้อข้างต้นนี้

แต่เมื่อกลับมาอ่านสันติประชาธรรมอีกครั้งในสถานการณ์หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่แน่ว่าเราจะได้คำตอบอันกระจ่างชัดเจน จนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างไม่มีปัญหาข้อสงสัยหรือไม่ เพราะหากพิจารณาจากความคิดและวิธีการของ อ.ป๋วย แล้ว เส้นทางการตัดสินใจและการพัฒนาของแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับการต่อสู้กับความคิดของตนเอง แล้วไปสู่การต่อสู้กับโลกภววิสัยภายนอก กว่าจะกลับมาสู่การดัดแปลงและสร้างปัญญาให้กับตัวเองอีก

กระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติแล้วพัฒนา ดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ ระหว่างนั้นการปะทะขัดแย้ง จนทำให้ต้องชะงักยุติหรือหลีกเลี่ยงไปจากกระบวนการ อาจเกิดและเติบใหญ่ขึ้นด้วย ชีวิตทางสังคมและการเมืองของแต่ละคนก็ต้องปรับเปลี่ยน และทำความเข้าใจทั้งต่อตัวเองและต่อโลกด้วย ถึงตรงนี้ผมคิดว่าหลักเมตตากรุณาน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะการต่อสู้และใช้กำลังไม่ว่าทางอาวุธหรือทางปัญญา ถึงจุดหนึ่งย่อมไม่อาจสร้างความพอใจให้ทุกคนได้ ถึงอย่างไรโลกก็ยังต้องมีความอยุติธรรมและไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นหากทุกฝ่ายไม่มีความเมตตาต่อกันบ้าง ไม่ใช่อาศัยแต่ความสามารถอย่างเดียว สังคมนั้นก็จะยากที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอะไรไปได้อย่างสันติวิธี

ในท้ายที่สุด คำถามใหญ่สำหรับเราก็ยังคงได้แก่คำถามว่า ทำไมสังคมไทยถึงมีทางเลือกให้แก่การเปลี่ยนแปลงทางบวก ที่มีผลต่อบุคคลและประชาคมไม่มากนัก หรือไม่ค่อยทันการณ์ การต่อสู้ทางการเมืองในที่สุดก็นำไปสู่การรื้อฟื้นการเมืองของชนชั้นนำทั้งทางอำนาจและทางเศรษฐกิจเท่านั้น คนอื่นๆ นอกจากนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรที่สำคัญหรือเป็นแก่นสาร หากจะเปิดช่องบ้างก็เป็นการเข้ามารับใช้อำนาจและสถาบันเท่านั้น

ดูเหมือนว่าเสรีภาพที่เรามีและใช้กันได้มากคือเสรีภาพในการภักดี และรับใช้อำนาจอันไหนมากกว่า ที่จะเป็นเสรีภาพในการปลดเปลื้องพันธนาการที่มีเหนือความเป็นมนุษย์ของเราแต่ละคนเอง

ดังนั้นหากจะถามว่า แล้วคำตอบสำหรับวิกฤตร่วมสมัยของเราจะให้ใครมาแก้เล่า คำตอบที่ อ.ป๋วย เคยให้ก่อนเกิดการปฏิวัติ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็คือ

"ในบรรดาประชาชนนั้น ไม่ว่าแห่งใด ย่อมมีผู้นำ ในกรณีนี้คือผู้ที่ได้สำนึกแล้วในสิทธิเสรีภาพ และใครเล่าที่ได้สำนึกเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้มีวาสนาได้รับการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อมีวาสนาถึงเพียงนี้ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น การนำไม่ใช่เป็นสิทธิหรืออภิสิทธิ์ แต่เป็นหน้าที่"
(บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี ใน ปกป้อง น. ๑๓)

ภาพประกอบนี้ เขียนโดย อาจารย์วัลลภ แม่นยำ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การให้ความสำคัญที่บุคคล ก็เพราะบุคคลคือจุดหมายอันสำคัญของโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่าโลกโลกีย (secular world) อันต่างจากคติดั้งเดิมที่ให้น้ำหนักไปที่โลกโลกุตตระ แนวความคิดทางสังคมของท่านจึงสอดคล้องกับสำนักแสงสว่างทางปัญญาของยุโรป... ท่านกล่าวว่าคติที่ว่าเด็กทุกคนควรจะเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้นเป็นมิจฉาทิฐิ "การศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยเปรียบได้กับโรงพยาบาลบ้า คนต้องบ้าจึงเข้าโรงพยาบาลบ้าได้ จึงจะเหมาะสม คนดีๆ จะไปเข้าโรงพยาบาลบ้าย่อมไม่ได้ คนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องเป็นคนที่เหมาะกับการเรียนวิชาในขั้นอุดมศึกษา..."

05-04-2550

Puay Ungpakorn
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com