โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 16 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๘๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (March, 15,03.2007)
R

ในโลกนี้ยังมีสถาปนิกจิตสาธารณะ
Cameron Sinclair สถาปนิกผู้รณรงค์ "การออกแบบเพื่อมนุษยชาติ"
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียนและแปล
นักวิชาการ และ นักแปลอิสระ

บทความชิ้นนี้รวบรวมมาจากเว็บไซต์ onopen, Architecture for Humanity และ
amazon.com ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาปนิกที่มีสำนึกทางสังคม
และได้รวมกลุ่มคนในวิชาชีพของตนเองช่วยเหลือคนยากจน
แทนที่จะสร้างสถาปัตยกรรมให้กับคนเพียง ๒ เปอร์เซนต์ของโลกที่รวยอยู่แล้ว
ให้มีที่อยู่อาศัยสะดวกมากขึ้นไปอีก สถาปนิกเหล่านี้ต่างทำงานร่วมมือกับสังคมเพื่อช่วยผู้ประสบวิกฤตต่างๆ
เรื่องราวของคาเมรอน ซินแคลร์ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกกว่า ๙,๐๐๐ คนจากทั่วโลก
เกิดจิตสำนึกสาธารณะ และได้มาร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤตของโลก


ผู้ที่สนใจอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ คลิกไปอ่านได้จากที่นี่
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๘๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

Cameron Sinclair สถาปนิกผู้รณรงค์ "การออกแบบเพื่อมนุษยชาติ"
ถ้าคุณโยนทฤษฏีอีโก้ และโฆษณาเกินเลยของการออกแบบทิ้งไป สิ่งเดียวที่เราทำคือออกแบบที่อยู่อาศัย เมื่อไหร่ที่ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหายาก การออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ ยั่งยืน และเป็นผลของการทำงานร่วมกัน สามารถทำให้เกิดความแตกต่างได้
(If you strip away the theory, ego, and the hype of design, what we all do is provide shelter. Where resources and expertise are scarce, innovative, sustainable and collaborative design can make a difference.)
คาเมรอน ซินแคลร์


ความนำ
ถ้าวันหนึ่งมีคนมาบอกว่า สถาปัตยกรรมสามารถช่วยคนจนได้ คุณจะรู้สึกอย่างไร?
ถ้าไม่คิดว่าล้อเล่น คุณก็คงรู้สึกแปลกใจไม่น้อย เพราะภาพพจน์ของ "สถาปนิก" ในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ คือหนึ่งในอาชีพ "ฟุ่มเฟือย" ที่คนจนไม่มีสิทธิ์ใช้บริการ ก็ไม่ใช่เพราะสถาปนิกหรอกหรือ ที่เป็นผู้เนรมิตตึกระฟ้ามากมายทั่วโลกที่ทรงคุณค่าทางสุนทรียะในระดับเกินประโยชน์ใช้สอยไปไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า
และก็ไม่ใช่เพราะสถาปนิกราคาแพงหรอกหรือ ที่ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิ "ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ" กลายเป็นสนามบินที่ "สวยแต่รูป จูบไม่หอม" ภายในไม่ถึงครึ่งปีหลังจากเปิดให้บริการ

สมัยที่lสนามบินสุวรรณภูมิ(หนองงูเห่า)ยังสร้างไม่เสร็จ ค่าออกแบบและค่าก่อสร้างก็แพงหูฉี่จนบีบให้รัฐบาลไทยรักไทยประกาศลดสเป็คแบบปัจจุบันทันด่วน เพื่อตอบโต้คำครหาที่ว่าสนามบินแพงเกินศักยภาพของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาที่ไม่น่าจะเกิดมากมายเมื่อสนามบินเปิด ซึ่งหลายปัญหาเป็นผลจากการสั่งแก้แบบโดยผู้มีอำนาจที่ไม่มีความรู้ เช่น ไม่มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ ไอความเย็นที่ลอยขึ้นมาจากเครื่องปรับอากาศไฮเทคแบบฝังพื้น ลอยสูงแค่ปลายผมผู้โดยสารเท่านั้น มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่สนามบินยังเอารถเข็นไปบังเครื่องปรับอากาศ เข้าหน้าร้อนเมื่อไหร่สนามบินแห่งนี้คงไม่วายอบอ้าวเหมือนซอยขายเสื้อยืดในตลาดนัดจตุจักร ยามบ่ายวันอาทิตย์

ปัญหาร้อยแปดของสนามบินสุวรรณภูมินอกเหนือจากมหกรรมโกงกินและมหกรรมการ "เบ่ง" ของนักการเมือง น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีในการเตือนสติเราว่า ของแพงที่ใช้การไม่ได้ หรือของแพงที่เราไม่มีปัญญาจ่ายค่าบำรุงรักษาหรือใช้ให้ถูกวิธีนั้น ถึงจะแพงขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์

สถาปนิกจำนวนมากเน้นความโอ่อ่าโอ่โถงและ "คุณค่าทางสุนทรียะ" เป็นหลักในการออกแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าผู้มีฐานะดีพอที่จะจ้าง โดยไม่คิดถึงประโยชน์การใช้สอย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือความ "คุ้มราคา" ของวัสดุต่างๆ เท่าที่ควรจะเป็น และค่าจ้างงามๆ นั่นเอง ก็เป็นเหตุผลหลักข้อหนึ่งที่ทำให้นักเรียนหัวดีจำนวนมากเลือกเรียนออกแบบ เพื่อไปประกอบอาชีพสถาปนิก หรือดีไซเนอร์หลังเรียนจบ

โดยหารู้ไม่ว่า ที่จริงแล้วสถาปนิกจัดเป็นหนึ่งในอาชีพ "จำเป็นที่สุด" สำหรับสังคมปัจจุบัน เพราะหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่สุดของโลกคือปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยแออัดและไม่พอเพียง โดยเฉพาะในประเทศยากจน สถิติของสหประชาชาติระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลกจำนวน 1 ใน 7 ใช้ชีวิตในสลัมหรือศูนย์อพยพ และคนจำนวนกว่า 3 พันล้านคน (นั่นคือ เกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลก) ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดหรือมีสุขอนามัยที่ดี แม้ว่าการออกแบบบ้าน หมู่บ้าน หรือชุมชน และ "พื้นที่สาธารณะ" ในเมืองจะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน เมืองหรือชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสถาปัตยกรรมที่สุด ก็ไม่มีเงินจ้างนักออกแบบที่มีทักษะในด้านนั้น

ครั้นจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรโลกบาลอย่างสหประชาชาติ ความใหญ่โตเทอะทะ ความงุ่มง่ามเชื่องช้า และความล้าสมัยของ "ระบบราชการเงินช่วยเหลือ" ที่นักพัฒนา วิลเลียม อีสเตอร์ลีย์ (William Easterly) ตีแผ่ให้เราเห็นมาแล้วหลายครั้ง ก็คงทำให้ผู้เดือดร้อนส่วนใหญ่อดตายก่อน จึงน่าชื่นใจไม่น้อยที่ในโลกนี้ยังมีสถาปนิกจิตสาธารณะกว่า 9,000 คน ที่เชื่อมั่นในพลังช่วยสังคมของวิชาชีพตัวเอง และกำลังเจียดเวลามาแปลงพลังนั้นให้เกิดเป็นรูปธรรม

Cameron Sinclair และ AFH
คาเมรอน ซินแคลร์ สถาปนิกหนุ่มชาวอังกฤษ คือคนที่ทำให้สถาปนิกจิตสาธารณะเหล่านั้นได้มีเวทีแสดงออก ในฐานะสมาชิกขององค์กรการกุศลชื่อ Architecture for Humanity หรือย่อว่า AFH

ซินแคลร์ก่อตั้ง AFH กับเพื่อนสถาปนิกชื่อ Kate Stohr (เคธ สตอร์) ในปี พ.ศ. 2542 เมื่อเขามีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า สถาปนิกทุกคนสามารถใช้ความรู้และทักษะที่ร่ำเรียนมาในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในโลกนี้ได้ ไม่แต่เฉพาะการสร้างหนึ่งในปัจจัยสี่คือที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นการใช้ความรู้ของสถาปนิกโดยตรงเท่านั้น แต่พลังความคิดสร้างสรรค์อันล้นเหลือและความรู้ด้านการออกแบบโดยทั่วไป ก็สามารถนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากที่อยู่อาศัย เช่น การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด คลินิกเคลื่อนที่ ศูนย์กลางชุมชน ฯลฯ

ขอเพียงแค่สถาปนิกเลิกคิดแต่เรื่อง "ค่าจ้าง" อย่างเดียว ลองเปลี่ยนมุมมองของบทบาทอาชีพตัวเอง จาก "ขายบริการให้กับลูกค้าที่มีเงินจ้าง" มาเป็น "ออกแบบเพื่อคนที่อาศัยอยู่ในนั้น" ก็จะพบว่าสถาปัตยกรรมมี "คุณค่า" มหาศาลต่อมนุษยชาติ เพราะท้ายที่สุดแล้ว สำหรับมนุษย์ที่เกิดมาแล้วต้องตายทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร การกระทำใดเล่าจะมีคุณค่ากว่าการใช้ทักษะที่คนรวยให้มูลค่าสูงๆ ในการช่วยชีวิตคนจนผู้ไม่มีเงินจะจ่าย?

AFH : Architecture for Humanity
คือองค์กรการกุศลด้านการออกแบบแห่งแรกของโลก ที่ต้องการสนับสนุนให้คนใช้วิชาชีพสถาปัตยกรรมในการแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ของโลก เช่น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจากภัยธรรมชาติหรือภัยสงคราม (ตัวเลขของสหประชาชาติประเมินว่ามีผู้ลี้ภัยทั่วโลกกว่า 9.2 ล้านคน ณ สิ้นปี 2547) สลัมเสื่อมโทรม การขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ด้วยการนำเสนอบริการด้านการออกแบบให้กับชุมชนที่ต้องการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ในช่วง 8 ปีระหว่าง พ.ศ. 2542-2549 "สถาปนิกอาสา" ภายใต้การนำของซินแคลร์ ซึ่งตอนนี้มีจำนวนกว่า 9,000 คน ได้ริเริ่มและดำเนินโครงการต่างๆ มากมาย อาทิเช่น ออกแบบที่อยู่อาศัยราคาถูกให้กับกลุ่มผู้อพยพในรัฐโคโซโว (Kosovo), คลินิกเคลื่อนที่เพื่อต่อกรกับโรคเอดส์ในทวีปแอฟริกา, ระบบการกู้ทุ่นระเบิดฝังดินและสร้างสนามเด็กเล่นในประเทศแถบคาบสมุทรบัลข่าน (Balkan), เทคนิคการก่อสร้างที่ทนทานต่อแผ่นดินไหวในตุรกีและอิหร่าน, และการออกแบบที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประสบภัยธรรมชาติในสเปน อินเดีย ศรีลังกา รวมทั้งผู้ประสบภัยจากพายุหมุนคาทรินา (Katrina) ในอเมริกา

ซินแคลร์บอกว่า เป้าหมายหลักของ AFH คือ "ส่งเสริมให้มืออาชีพด้านการออกแบบ ตอบสนองต่อความต้องการของประชากรจำนวน 98 เปอร์เซ็นต์ของโลก ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบริการของพวกเราได้ เพราะพวกเขาไม่มีเงินจ้าง" ตลอดจนส่งเสริมให้คนทั่วไปตระหนักว่า สถาปัตยกรรมและการออกแบบอุตสาหกรรมสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนทั่วไปให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่ทำให้คนที่สบายอยู่แล้วจำนวนหยิบมือเดียวได้ใช้ชีวิตอย่างสบายกว่าเดิม

ซินแคลร์และสตอร์หาเงินอุดหนุนโครงการต่างๆ ของ AFH ด้วยการเดินสายขอเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ หารายได้จากการจัดนิทรรศการ การจัดบรรยาย และการประชุมเชิงปฏิบัติงานเกี่ยวกับ "การออกแบบที่ยั่งยืน" (sustainable design) ติดตั้งโปรแกรมรับเงินบริจาคจากผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ AFH และเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ร่วมประกวดงานออกแบบ

ผู้ชนะการประกวดของ AFH ไม่ได้รับโล่ห์ประกาศเกียรติคุณฉาบทองหรือเงินรางวัลเป็นล้าน (แถมยังต้องเสียค่าธรรมเนียมตอนสมัครแข่งอีกต่างหาก) แต่สิ่งที่ได้รับคือ ความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดย AFH จะนำเงินค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้เข้าประกวด ไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลที่ทำงานในพื้นที่ และติดต่อหาสปอนเซอร์เพื่อนำงานออกแบบที่ได้รับรางวัลไปสร้างจริง เป็นความภูมิใจที่ตีค่าเป็นเงินไม่ได้

บทสัมภาษณ์ซินแคลร์โดยนิตยสาร Fast Company
ในบทสัมภาษณ์ ระหว่างซินแคลร์กับนิตยสาร Fast Company เมื่อปี 2548 ซินแคลร์อธิบายจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาที่นำไปสู่โครงการแรกของ AFH - บ้านชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยสงครามในรัฐโคโซโว:

"...มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบใช้: "ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าคนมีแต่ปาก ไม่มีกางเกง" หมายถึงคนที่ชอบพูดว่าตัวเองจะทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมเพราะมีอุดมการณ์อันแรงกล้า แต่แล้วก็ไม่เคยลงมือทำจริงๆ ซักที ผมอยากล้มเหลวกับความพยายามที่จะทำให้สำเร็จ มากกว่าประสบความสำเร็จกับการไม่ทำอะไรเลย ผมหมดเวลาส่วนใหญ่สมัยเรียนหนังสือไปกับการวิเคราะห์บ้านของผู้มีรายได้ต่ำ และชุมชนยากไร้ งานของผมในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เน้นหนักไปที่กลุ่มคนจรจัดในกรุงนิวยอร์ค ผมพยายามค้นคว้าเพื่อหาคำตอบว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างบ้านราคาถูกแบบประกอบเองได้ สำหรับคนจรจัดทั้งเมือง ซึ่งตอนนั้นมีประมาณ 70,000 คน

เมื่อผมเข้าสู่โลกแห่งความจริง[หลังจบปริญญา] ผมมีโอกาสแก้ปัญหาสังคมจริงๆ น้อยมากจนนับครั้งได้ ภายใน 4 ปีหลังจากเริ่มทำงานเป็นสถาปนิก ผมได้ออกแบบสิ่งปลูกสร้างมากมายในกว่า 20 ประเทศ ประสบการณ์นั้นทำให้ผมรู้สึกว่า ในฐานะวิชาชีพที่ได้ประโยชน์มากมายจากการทำงานระดับนานาชาติ สถาปนิกทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมโลกในระดับหนึ่ง

ประมาณต้นปี 2542 ผมได้ดูสารคดีเรื่องหนึ่ง ชื่อ "The Valley" (หุบเขา) เกี่ยวกับการเดินทาง 6 สัปดาห์ ในรัฐโคโซโวทางตอนใต้ของเซอร์เบีย ของผู้กำกับ แดน รีด (Dan Reed) ตรงจุดศูนย์กลางของสงครามที่กำลังร้อนระอุ. แดน รีด สัมภาษณ์ชาวอัลบาเนียและชาวเซิร์บ สองขั้วตรงข้ามที่รบกันเพื่อแย่งชิงดินแดน สารคดีเรื่องนี้ทำให้ผมรู้ซึ้งสองเรื่อง เรื่องแรก คือ ยุทธวิธีเผาทุกอย่างให้เป็นจุณ (scorched-earth tactics คือการเผาทุกอย่าง เช่น ไร่นา บ้านเรือน ถนน ฯลฯ จนราบเรียบเพื่อไม่ให้ศัตรูใช้ประโยชน์ได้) นั้น ได้ทำลายบ้านเรือนของผู้คนลงอย่างราบคาบ แต่ชาวโคโซโวไม่ว่าจะเชื้อชาติอะไร ก็ยังยืนกรานว่าจะกลับไปปลูกบ้านใหม่อยู่ที่เดิม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ภายในสองสัปดาห์ นาโต้ (NATO) และกองทัพจากประเทศพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดลงโคโซโว

ในซีเอ็นเอ็น เราได้ยินแต่คนพูดว่านี่คือ "สงครามฉากสุดท้าย" หรือ "เป้าหมายทางทหาร" แต่แทบไม่มีใครถามว่า ชาวโคโซโวนับแสนคนที่กลายเป็นผู้อพยพหนีตายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว และตั้งใจจะกลับประเทศหลังสงครามสิ้นสุดลงนั้น จะฟื้นฟูประเทศของพวกเขาขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร

ผมและกลุ่มสถาปนิกที่ผมทำงานด้วยตอนนั้น คิดได้ว่าเราสามารถปลูกบ้านราคาถูกที่อยู่ได้ประมาณ 5 ปี ในบริเวณติดกับบ้านเดิมของผู้อพยพ เพื่อให้พวกเขาใช้เป็นที่พักชั่วคราวระหว่างซ่อมแซมหรือสร้างบ้านเดิมขึ้นมาใหม่ ตอนแรกผมตั้งใจจะทำโครงการนี้คนเดียว แต่แล้วผมก็ระลึกได้ว่า ในฐานะสถาปนิกอายุ 24 ปี ผมคงช่วยอะไรไม่ได้มาก นอกจากทำให้ประวัติของผมดูดีขึ้นนิดหน่อย ยิ่งผมค้นคว้าเรื่องนี้มากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งเห็นว่า นี่เป็นปัญหาระดับโลกที่ควรอาศัยความร่วมมือร่วมใจของสถาปนิกหลายคน จึงจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าสถาปนิกหัวเดียวกระเทียมลีบอย่างผม

เมื่อคิดได้ดังนั้น สิ่งแรกที่พวกเราทำคือประสานงานกับองค์กรการกุศลชื่อ War Child USA ซึ่งทำงานในศูนย์อพยพหลายแห่ง เพื่อหาวิธีติดต่อกับผู้อพยพโดยตรง และจัดทีมผู้เชี่ยวชาญการด้านบรรเทาทุกข์จากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United National High Commissioner for Refugees) และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) หลังจากนั้น พวกเราและ Lauster & Radu Architects (บริษัทที่ผมทำงานด้วยในขณะนั้น) ก็ร่วมกันร่างเกณฑ์การออกแบบ (design criteria) และเงื่อนไขในการส่งงานในโครงการนี้ ภายใน 6 สัปดาห์ เราก็จัดงานประกวดแบบบ้านชั่วคราวของผู้ลี้ภัยขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยจัดงานที่ Van Alen Institute และประกาศผ่านเว็บไซต์ของเรา

แม้ว่าผู้เข้าประกวดจะมีเวลาเพียง 3 เดือนที่จะส่งไอเดียเข้ามา เว็บไซต์ AFH (ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารเพียงหนึ่งเดียวที่เรามี) มีคนเข้ามาดูกว่า 50,000 ครั้ง และเราได้รับงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 200 ชิ้น จากสถาปนิกใน 30 ประเทศ โครงการนี้ได้รับการตอบสนองอย่างดีเยี่ยมชนิดที่เราคาดไม่ถึง ทำให้เราทั้งแปลกใจ ทั้งตื้นตันใจมาก"

แบบบ้านที่ชนะการประกวดในโครงการของ AFH สามารถนำไปสร้างได้จริง และตรงตามหลักเกณฑ์อันเคร่งครัดที่ซินแคลร์กำหนดสำหรับการประกวด เช่น ต้องเป็นแบบบ้านที่ผู้ใช้สามารถสร้างหรือประกอบจนเสร็จพร้อมอยู่ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ใช้วัสดุราคาถูกที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่ และอยู่ได้อย่างน้อย 2 ปี แบบบ้านที่เข้าประกวดจำนวนมากสะท้อนความคิดสร้างสรรค์อันน่าทึ่งของสถาปนิก และความรู้ลึกซึ้งในเทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุสมัยใหม่ เช่น บ้านกล่องกระดาษ (paper loghouse) โดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น ชิเกรุ บัน (Shigeru Ban) เป็นการปรับปรุงแบบบ้านที่เขาเคยออกแบบสำหรับผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวในเมืองโกเบ (Kobe) และผู้ลี้ภัยในประเทศรวันดา (Rwanda) โดยบุฉนวนกันความร้อนและปรับผนังบ้านให้กันน้ำได้เพื่อรับมือกับสภาพอากาศของโคโซโว ซึ่งชื้นแฉะและหนาวเย็นกว่าอากาศในเมืองโกเบและรวันดา

ยังไม่นับแบบบ้านที่บรรจุพื้นที่ใช้สอยหลายประเภทลงในเนื้อที่เท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ บ้านที่ใช้เศษปูนจากซากของบ้านเดิมเป็นผนัง บ้านแบบบอลลูนที่ใช้เชือกป่านขดเป็นผนัง และแบบอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่สะท้อนความเชี่ยวชาญ และจิตสาธารณะของสถาปนิกผู้ออกแบบ. ในบรรดาแบบที่ชนะการประกวด 10 แบบ และรางวัลชมเชยอีก 20 แบบ มีผู้นำไปใช้สร้างเป็นบ้านตัวอย่างแล้ว 5 แบบ ด้วยเงินสปอนเซอร์จากบริษัท สถาปนิก และองค์กรพัฒนาเอกชนมากมาย

AFH จัดนิทรรศการแสดงผลงานเหล่านี้ใน 4 ประเทศ ได้รับการตอบสนองอย่างดีจากวงการสถาปัตยกรรม และได้รับการเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์กว่า 30 ฉบับ ผลงานจากผู้ร่วมประกวด 3 ทีม ได้แก่ I-Beam, SYSTEM Architects และ Shigeru Ban Architects ได้รับเลือกให้แสดงในนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติครั้งที่ 7 ประจำปี 2543 ที่กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี รายได้จากการจัดนิทรรศการ ค่าธรรมเนียมในการประกวด และรายได้จากการขอรับบริจาคทางอื่น ทำให้ AFH สามารถระดมเงินได้ถึง 120,000 เหรียญสหรัฐ ให้ War Child นำไปสร้างบ้าน โรงเรียน และคลินิกสุขภาพในโคโซโวและประเทศยากไร้อีก 8 แห่ง

ความสำเร็จของโครงการประกวดแบบบ้านชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัย ทำให้ซินแคลร์มั่นใจว่าเขามาถูกทางแล้ว เพราะมีสถาปนิกเปี่ยมจิตสำนึกสาธารณะทั่วโลกที่พร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ไม่มี "ช่องทาง" ให้แสดงออก ประสานงานและร่วมมือกัน จนกระทั่งซินแคลร์และสตอร์ก่อตั้ง AFH ขึ้นมา

ซินแคลร์กับปัญหาโรคเอดส์ในทวีปแอฟริกาตอนล่าง
หลังจากโคโซโว เป้าหมายต่อไปของซินแคลร์คือหนึ่งในปัญหารุนแรงที่สุดของโลกปัจจุบัน -โรคเอดส์ในทวีปแอฟริกาตอนล่าง ซึ่งกำลังบั่นทอนจำนวนประชากรวัยทำงานลงอย่างเงียบเชียบและรุนแรง โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่ยากจนถึงขนาดยอมขายตัวเพียงเพื่อแลกกับข้าวหนึ่งมื้อ หรือขนมหนึ่งถุง ที่จะช่วยต่อชีวิตของเธอ และลูกหรือน้องๆ ออกไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ในปี พ.ศ. 2545, AFH เริ่มโครงการชื่อ "Outreach" (การยื่นมือช่วยเหลือ) เพื่อจัดประกวดแบบคลินิกเคลื่อนที่ ที่สามารถนำไปสร้างและใช้การได้จริงในภาคสนาม ก่อนที่จะตัดสินใจจัดการประกวดแบบคลินิกเคลื่อนที่ ซินแคลร์และพรรคพวกใช้เวลาไม่น้อยในการศึกษาปัญหาความยากจนของแอฟริกา เพื่อลำดับความเร่งด่วนของปัญหาแต่ละข้อ เขาอธิบายว่า

…ตอนแรก เราคิดว่าการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและมีที่อยู่อาศัยเพียงพอ จะเป็นสิ่งที่ชาวแอฟริกันแถวนั้นต้องการมากที่สุด แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดคือสุขอนามัย และปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ชาวแอฟริกันคนหนึ่งที่รำคาญแนวทางช่วยเหลือของโลกตะวันตกบอกผมว่า "เราต้องการการรักษาพยาบาลจริงๆ ไม่ใช่การตระหนักถึงปัญหาเพียงอย่างเดียว เราไม่ต้องการนักร้องเพลงป๊อปมาจัดคอนเสิร์ต เราต้องการหมอที่ออกไปรักษาชาวบ้านที่ป่วยไข้"…

หนึ่งใน 4 แบบแปลนคลินิกเคลื่อนที่ที่ชนะการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะใช้การได้จริงแล้ว ยังสะท้อนสปิริตของชุมชน เพราะในเวลากลางวัน คลินิกสามารถแปลงสภาพเป็นตลาดนัด และเวลากลางคืน ก็กลายเป็นศาลาประชาคม ที่ให้ชาวบ้านมานั่งประชุมกัน สังสรรค์ หรือแม้แต่ดูภาพยนตร์ที่ฉายบนผนังที่ทำจากดิน เหมือนบ้านท้องถิ่นแอฟริกัน และนอกจากนั้นยังออกแบบให้สามารถมุงหลังคาด้วยผ้าหลากสีแบบแอฟริกันดั้งเดิม เพื่อผนวกความสวยงามเข้ากับประโยชน์ใช้สอย ความยืดหยุ่นของการออกแบบที่ทำให้คลีนิกกลายเป็นศูนย์เอนกประสงค์นั้น ทำให้แปลนนี้เป็นมากกว่า "คลินิกเคลื่อนที่" หากเป็น "ศูนย์ชุมชนเคลื่อนที่" ในมุมมองของซินแคลร์

ซินแคลร์ กับโศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์สึนามิและพายุหมุนคาทรินา
นับว่าการประกวดครั้งนี้ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย ปีถัดมาคือ พ.ศ. 2546 ถือเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่สำคัญของ AFH เมื่อจำนวนสถาปนิกที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 8,000 คน มีเว็บไซต์กว่า 770 แห่งลิ้งก์ไปหา AFH และมี "องค์กรลูกข่าย" ของ AFH (ระดับเมือง) เกิดขึ้นนับสิบแห่ง ในปีนั้นซินแคลร์จัดนิทรรศการ 5 ครั้ง มีผู้จ่ายเงินเข้าชมนิทรรศการ 42,000 คน สมาชิก AFH นัดพบปะกันในกว่า 115 เมืองทั่วโลก ซินแคลร์เองเดินสายไปพูดและร่วมจัดเวิร์คช็อปในเมืองต่างๆ แทบทุกทวีป รวมเป็นระยะทางกว่า 98,500 ไมล์

ในปี 2546 เพียงปีเดียว AFH ได้รับอีเมล์กว่า 32,000 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นไอเดียเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อผู้ยากไร้หรือผู้ประสบภัย ผู้บริจาคเงินให้กับ AFH ที่อายุน้อยที่สุดมีอายุ 14 ปี เขียนโน้ตสั้นๆ แนบเงินที่บริจาคผ่านเว็บไซต์มาว่า "ขอมอบเงินค่าขนมทั้งเดือนของผมให้กับ AFH"

หากซินแคลร์เคยกังวลว่า AFH จะช่วยเหลือสังคมได้มากขนาดไหน ความกังวลของเขาก็มลายหายไปสิ้น เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์สึนามิในเดือนธันวาคมปีถัดมา คือ พ.ศ. 2547. ภายในสัปดาห์แรกหลังจากสึนามิ ซินแคลร์ได้รับอีเมล์ 4,000 ฉบับ จากสถาปนิกทั่วโลกที่อาสาช่วย AFH ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากวิกฤติในครั้งนี้

หลังจากนั้นไม่นาน AFH ประกาศจัดประกวดและสปอนเซอร์การออกแบบบ้านเพื่อผู้ประสบภัยสึนามิ โดยมีเงื่อนไขหลักว่า แบบที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีราคาถูก ทำจากวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยประกอบขึ้นเองได้โดยง่าย และมีความทนทานสูง หนึ่งในแบบบ้านที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก AFH คือโครงการ Safe? ในศรีลังกา ซึ่งออกแบบโดยทีมนักศึกษาปริญญาโทจาก Harvard Graduate School of Design และ SENSEable City Laboratory แห่ง MIT บ้านนี้สร้างบนฐานที่ลอยสูงจากพื้นดินเพื่อหนีน้ำท่วม มีหน้าต่างและช่องระบายอากาศมากมายให้น้ำท่วมไหลผ่านได้สะดวก และมีความทนทานต่อคลื่นลมสูงกว่าบ้านธรรมดาถึง 5 เท่า

AFH ระดมเงินบริจาคได้กว่า 500,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20 ล้านบาท) สำหรับโครงการ Safe? และบ้านแบบอื่นๆ สำหรับผู้ประสบภัยสึนามิ เช่น ในมลรัฐทมิฬนาดูของอินเดีย ปัจจุบัน AFH อยู่ระหว่างการประสานงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างบ้านเหล่านี้ตามชายฝั่งศรีลังกา โดยมีเป้าหมายจะสร้างให้ได้อย่างน้อย 1,000 หลัง

ประสบการณ์ของ AFH ในการระดมสมองจากสมาชิกทั่วโลกในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ พิสูจน์คุณค่าให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อฤทธิ์ของพายุหมุนคาทรินาในปี 2548 ทำให้เมืองนิวออร์ลีนส์ บิล็อกซี และอีกหลายเมืองในหลายรัฐทางตอนใต้ของอเมริกาต้องจมอยู่ใต้น้ำ ทิ้งให้คนหลายแสนคนไร้ที่อยู่อาศัย ภายในเวลาไม่กี่วัน. AFH สามารถระดมเสียงตอบรับจากสมาชิกหลายสิบคนที่ยินดีสละงานประจำชั่วคราวเพื่อลงไปช่วยออกแบบบ้านสำหรับผู้ประสบความเดือดร้อน สร้างเครือข่ายกับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ เริ่มโครงการออกแบบ และหาสปอนเซอร์สนับสนุนการสร้างบ้านเหล่านั้น

สนามฟุตบอล "ซียาเธ็มบา"

สิ่งที่ AFH ทำ ไม่จำกัดอยู่เพียงการออกแบบที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่อาจช่วยแก้ปัญหาของผู้เดือดร้อนได้ไม่แพ้กัน ตัวอย่างที่ดีโครงการหนึ่งคือสนามฟุตบอล "ซียาเธ็มบา" (Siyathemba ซึ่งแปลว่า "เรามีความหวัง" ในภาษาอิสิซูลู) สำหรับเด็กในเมืองซอมเคเล (Somkhele) ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเผชิญอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ที่สูงกว่าเด็กทั่วไปถึง 3 เท่า สนามฟุตบอลแห่งนี้เป็นผลจากการประกวดที่ AFH จัด เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทำการคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้าย 9 ราย และผู้ได้รับรางวัลชมเชยอีก 16 ราย เสนอแบบเหล่านี้ให้ชุมชนซอมเคเลเลือกผู้ชนะ และประกาศผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2549 (วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันเอดส์โลก")

แบบสนามฟุตบอลที่เข้าตาชาวซอมเคเลที่สุด เป็นผลงานของสถาปนิกชาวสิงคโปร์วัย 29 ปี ซวี ฮอง อึง (Swee Hong Ng) ซึ่งหลังจากได้รับการคัดเลือกแล้ว ก็เดินทางไปยังแอฟริกาใต้ เพื่อหารือกับสมาชิกชุมชนซอมเคเล และสมาชิกสโมสรฟุตบอลซียาเธ็มบา (ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อฉลองการสร้างสนามแห่งนี้) เพื่อปรับปรุงแบบของเขาให้สวยงามและตรงต่อความต้องการของชาวซอมเคเลมากขึ้น

เมื่อไหร่ที่สนามฟุตบอลแห่งนี้สร้างเสร็จ เสียงหัวเราะของเด็กหนุ่มสาว ทั้งนักฟุตบอลและคนดู คงจะดังกึกก้องอัฒจันทร์รูปตัว V และเกมฟุตบอลอันน่าตื่นเต้นเร้าใจ ก็คงจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของพวกเขาจากเซ็กซ์ พอที่จะลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอดส์ลงได้บ้าง ซินแคลร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า สนามฟุตบอลซียาเธ็มบาแห่งนี้ คือโครงการของ AFH ที่เขาภูมิใจที่สุด

Design Like You Give A Damn

คำขวัญประจำใจของซินแคลร์คือ "ออกแบบด้วยใจ" (Design Like You Give A Damn) กลายเป็นชื่อหนังสือยอดเยี่ยมที่เขาและสตอร์ร่วมกันเขียน เมื่อปี 2549 ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของโครงการดีๆ ทั่วโลกกว่า 80 แห่ง ทั้งที่ AFH เป็นสปอนเซอร์และที่ไม่เป็น ที่ฝีมือการออกแบบของสถาปนิกมีส่วนสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ตกทุกข์ได้ยากจากภัยธรรมชาติและวิกฤตอื่นๆ หรือช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้

นอกจาก Design Like You Give A Damn จะเป็นหนังสือที่แสดงจุดยืนและความเชื่อของซินแคลร์และสมาชิก AFH คนอื่นๆ แล้ว ยังเป็นบทพิสูจน์ว่า การออกแบบที่ดีที่สามารถช่วยเพื่อนมนุษย์ได้จริงๆ นั้น ต้องเป็นผลลัพธ์ของการร่วมระดมสมองระหว่างสถาปนิก ผู้เดือดร้อน องค์กรพัฒนาเอกชน และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทางเดียวที่จะทำให้การระดมสมองนั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ การทำงานเขียนแบบแปลนร่วมกันโดยไม่มีสถาปนิกคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของแบบ ไม่ใช่ "หวง" ลิขสิทธิ์ เก็บแบบไว้เป็นความลับทางธุรกิจแต่เพียงผู้เดียว เหมือนกับบริษัทสถาปนิกหรือบริษัทผู้ผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่

นั่นเป็นเหตุผลที่ซินแคลร์เลือกใช้ "ลิขสิทธิ์เปิด" (open source) แบบ Creative Commons (องค์กรการกุศลที่ก่อตั้งโดยลอว์เรนซ์ เลสสิก (Lawrence Lessig) ทนายผู้รณรงค์วัฒนธรรมเสรี หนึ่งในนักคิดชายขอบที่เคยเขียนถึงไปแล้ว) สำหรับโครงการของ AFH ทุกโครงการ ภายใต้ลิขสิทธิ์นี้ ใครจะนำแบบแปลนไปลอกเลียน ต่อเติม หรือดัดแปลงก็ได้ แต่ต้องให้เครดิตกับเจ้าของความคิดเดิม ลิขสิทธิ์เปิดแบบ Creative Commons มีความยืดหยุ่นพอที่จะส่งเสริมการทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน และในขณะเดียวกันก็คุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ในแง่กฎหมายด้วย

ทุกโครงการที่ซินแคลร์เขียนถึงใน Design Like You Give A Damn ล้วนเป็นผลลัพธ์จากการร่วมมือกันระหว่างสถาปนิกข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้อยู่อาศัย โดยใช้ลิขสิทธิ์เปิด ที่ซินแคลร์ตั้งชื่อว่า "Open Architecture Network"

ขณะที่เขียนอยู่นี้ AFH กำลังเตรียมเปิดเว็บไซต์ Open Architecture Network ในเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งเมื่อเปิดใช้งาน เว็บแห่งนี้จะเป็น "ห้องทำงาน" ที่สถาปนิกผู้มีจิตสาธารณะทุกคนทั่วโลกสามารถทำงานร่วมกันได้ เสมือนนั่งทำงานอยู่ด้วยกัน

Design Like You Give A Damn เป็นหนังสือยอดเยี่ยมที่สถาปนิกและนักพัฒนาทุกคนควรมีไว้บนหิ้ง เพราะเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อันน่าทึ่ง และอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เช่น สถาปนิก นาเดอร์ คาลีลี (Nader Khalili) เคยเขียนแบบบ้านในอนาคตสำหรับการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ให้กับองค์กรนาซา (NASA) ของอเมริกา เขาเสนอให้ใช้ถุงพลาสติกใส่ดินบนดวงจันทร์ นำมาเรียงและยึดติดกันเป็นบ้าน. คาลีลีดัดแปลงแนวคิดนี้มาใช้ในการออกแบบที่พักฉุกเฉินสำหรับชาวอิรักที่ลี้ภัยอยู่ในอิหร่าน โดยใช้ "อุปกรณ์สงคราม" เช่น กระสอบทรายและลวดหนาม ที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่ มาเป็นวัสดุก่อสร้างแทน

Design Like You Give A Damn เต็มไปด้วยงานดีๆ อย่างนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโดมไฟเบอร์กลาสสำหรับคนจรจัดในลอสแอนเจลิส โรงเรียนมุงเหล็กกล้าบนผนังอิฐในประเทศเบอร์กินา ฟาโซ (Burkina Faso) และแม้กระทั่งเครื่องสูบน้ำ PlayPump ในแอฟริกาใต้ที่มีรูปร่างเหมือนม้าหมุนสีสวยในสนามเด็กเล่น ทุกครั้งที่เด็กๆ เล่นม้าหมุน น้ำบาดาลก็จะถูกสูบขึ้นมาเก็บในถังเก็บน้ำใกล้ๆ ให้คนในหมู่บ้านได้เข้าถึงน้ำดื่มที่สะดวก สะอาด และปลอดภัย ไม่ต้องเดินแบกน้ำเป็นกิโลอีกต่อไป

บทสรุป
ง่าย ถูก และทำประโยชน์ต่อส่วนรวม - give a damn สมกับคำขวัญของซินแคลร์
คงไม่มีอะไรจะสะท้อนศรัทธาของซินแคลร์ในศักยภาพของสถาปัตยกรรมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ได้ดีเท่ากับคำพูดของเขาเอง: (แปลและเรียบเรียงบางตอนจากบทสัมภาษณ์ใน Designboom.com)

ถาม: คุณอยากเป็นสถาปนิกตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า?

ตอบ: ไม่ครับ ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นช่างภาพสงคราม หรือไม่ก็เป็นนักการเมือง ตอนอายุใกล้ยี่สิบ ผมเริ่มสนใจผลกระทบทางลบที่สถาปัตยกรรมห่วยๆ มีต่อสังคม และประเด็นที่ว่าเราจะสร้างพื้นที่สาธารณะให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง

ถาม: คุณบอกว่า สถาปัตยกรรมและการออกแบบสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนได้ คุณปรึกษาดีไซเนอร์และสถาปนิกคนอื่นๆ เรื่องนี้หรือเปล่าครับ?

ตอบ: ผมคุยเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพตลอดเวลา กระทั่งคนคงมองว่าผมเป็นแผ่นเสียงตกร่องไปแล้ว แต่ผมรู้สึกจริงๆ ว่าการออกแบบที่ "ดี" ที่มีจิตสำนึก และมีความคิดสร้างสรรค์นั้น สามารถสร้างความแตกต่างได้จริงๆ เพราะท้ายที่สุดแล้ว บทบาทในสังคมของสถาปนิกนั้นมีเพียงสองแบบเท่านั้น - สร้างตึกที่ทำให้ชุมชนดีขึ้น หรือทำให้มันแย่ลง

ผมคิดว่าวงการของเราโดยรวมต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน แต่โชคร้ายที่สื่อเกี่ยวกับวงการออกแบบมักจะพุ่งความสนใจไปที่ "สถาปนิกดารา" ('stararchitects') ผู้โด่งดังไม่กี่คน ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำทัศนคติของคนทั่วไปว่า วงการนี้มีหน้าที่รับใช้คนรวยเท่านั้น นี่เป็นเหตุผลที่ผมใช้เวลาส่วนใหญ่คุยกับคนนอกวงการ เช่นนักธุรกิจหรือผู้นำทางการเมือง คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจจริงๆ บุคลากรโรงเรียน และสื่อประเภทต่างๆ เช่นรายการวิทยุหรือโทรทัศน์

ถาม: คุณใช้วิธีไหนบ้างครับ ในการส่งเสริมให้นักออกแบบหันมามองความต้องการของประชากรกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ในโลกที่ปกติไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากบริการด้านนี้?

ตอบ: ด้วยการแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราทำได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น ค่าก่อสร้างศูนย์ชุมชนขนาดใหญ่ในโครงการของเราตกประมาณ 5,000 - 15,000 เหรียญสหรัฐ (200,000 - 600,000 บาท) ต่อหลัง(เท่านั้น) ผมไม่ได้ขอให้ดีไซเนอร์เลิกทำงานออกแบบให้บริษัทเอกชน รัฐบาล หรือลูกค้ารวยๆ ทั้งหลาย ผมเพียงแต่ขอให้พวกเขาเจียดเวลาทำงาน 1 เปอร์เซ็นต์มาช่วยคนที่จะได้รับประโยชน์จากความรู้และความเชี่ยวชาญของพวกเขาจริงๆ

ถาม: คุณใช้วิธีไหนค้นหาความต้องการของผู้เดือดร้อนและเลือกแบบที่จะช่วยพวกเขาได้จริงๆ?

ตอบ: เราทำงานในระดับท้องถิ่นครับ ถึงแม้ว่าประเด็นใหญ่ๆ ที่เรากำลังคิดวิธีแก้นั้นเป็นปัญหาระดับโลก เราจะตอบสนองต่อความต้องการของคนจริงๆ ได้ก็ต่อเมื่อไปทำงานกับคนในชุมชนนั้นๆ เราสร้างเครือข่ายเป็นพันธมิตรกับองค์กรพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น และปกติเราก็จะส่งสถาปนิกลงพื้นที่ ไปทำงานและกินอยู่กับชุมชนนั้นๆ เพราะเราเรียนรู้จากการสนทนากับคนในแต่ละวัน มากกว่าการนั่งประชุมหรือการนำเสนออะไรสวยๆ ส่วนใหญ่ชุมชนเป็นฝ่ายเรียกร้องบริการของเรา และเราไม่เคยเข้าไปในเมืองหรือหมู่บ้านเพื่อยัดเยียดแบบของเราให้เขา สิ่งปลูกสร้างของเราเป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบกับสมาชิกชุมชน

ถาม: คุณหาเงินจากไหนมาใช้ในโครงการของ AFH?

ตอบ: เราขอรับบริจาคจากบริษัทเล็กๆ บุคคลทั่วไป และแม้แต่เด็กนักเรียนที่เร่ขายช็อกโกแล็ตร้อนเพื่อหาเงินให้เรา (พวกเขาติดอันดับผู้ให้บริจาคสูงสุดในปี 2548) นอกจากนี้ ผมก็โอนค่าจ้างทั้งหมดที่ผมได้รับจากการไปพูดตามที่ต่างๆ และจัดประชุมเชิงปฏิบัติงาน เข้า AFH, และเรามีรายได้จากการจัดประกวดต่างๆ สถาปนิกอาสาทำงานโดยไม่มีค่าแรง ยกเว้นเงินค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง ค่าเดินทาง ที่เราออกให้

ถาม: มีอะไรจะแนะนำคนรุ่นใหม่หรือเปล่าครับ?

ตอบ: คนจะมองว่าคุณเป็นคนหัวรั้น จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจเจตนารมณ์ของคุณจริงๆ แล้วหลังจากนั้นพวกเขาก็จะเรียกคุณว่า คนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล คุณควรจะมองความผิดหวังและปัญหาที่ไม่มีคนสนับสนุนว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง - มันจะทำให้ความสำเร็จของคุณคุ้มค่ากว่าเดิมเมื่อมาถึง

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นักศึกษาและสมาชิก หากสนใจเว็บไซต์ของ AFH- Architecture for Humanity สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่ http://www.architectureforhumanity.org/

Cameron Sinclair
Born 1973, in London.

Cameron Sinclair is the co-founder and executive director of Architecture for Humanity, a six year old 501(c)3 charitable organization which promotes architecture and design solutions to humanitarian crises and provides design services to communities in need. Currently he is working in six countries on projects ranging from school building, tsunami and hurricane reconstruction to developing mobile medical facilities to combat HIV/AIDS.


He trained as an architect at the University of Westminster (BArch Hons) and at the Bartlett School of Architecture in London. During his studies, Mr. Sinclair developed an interest in social, cultural and humanitarian design. His postgraduate thesis focused on providing shelter to New York's homeless population through sustainable, transitional housing. After completing his studies, he moved to New York where he has worked as a designer and project architect.

From 1996 to 2002, Sinclair worked on projects in more than 20 countries including England, Mexico, Russia, South Africa and the United States. While working with Lauster/Radu Architects, he worked on the restoration of the Brancusi sculptural complex and a 30-year rejuvenation plan for the town of Tirgu Jiu, Romania. This project received the AIA/BSA Willo von Molke Urban Design Award in 1999. Other projects included a health center for UNITE (Union of Needletrades, Industrial and Textile Employees) and a mixed-use redevelopment plan for Frederick Douglass Boulevard in Harlem. As a project architect with Gensler, Mr. Sinclair helped design the award-winning School of the International Center of Photography in Manhattan and was a key member in the disaster recovery team for Lehman Brothers after terrorist attacks destroyed their offices in the World Trade Center on September 11, 2001.

Mr. Sinclair is a regular guest critic and lecturer at schools and colleges in the United States and abroad. He has spoken at a number of conferences including the Fortune Brainstorm Conference, the UIA World Congress on Architecture, the International Design Conference in Aspen and the Art Center Design Conference in Pasadena, California. He has been a regular guest speaker on NPR, CBC and BBC World Service.

In addition to Architecture for Humanity, Mr. Sinclair is currently an adjunct professor at the Montana State University School of Architecture and in the spring of 2006 will be the Cass Gilbert Visiting Professor at the University of Minnesota College of Architecture and Landscape Architecture. Additionally he serves on the advisory board for the Detroit Collaborative Design Center and Kids With Cameras. He has contributed to a number of exhibitions dealing with social justice and design. Sinclair is also a contributor for World Changing and, with Kate Stohr, is writing a book on humanitarian design called "Design Like You Give A Damn".

In August 2004 Fortune Magazine named him as one of the Aspen Seven, seven people changing the world for the better.

Recent Awards
2006 TED Prize
2005 Lewis Mumford Award for Peace - ADPSR
2004 Design for Humanity Award - American Society of Interior Designers
2004 Fast ‘50’ Award – Fast Company Magazine
2004 Selected by Fortune Magazine as one of the Aspen Seven, seven people changing the world for the better
2003 Nice Modernist Award – Dwell Magazine

Recent Awards - Organization
2006 Selected for the Design Triennial – National Design Museum, Smithsonian Institute
2006 finalist for the OSSA Awards – Sustainable Style Foundation
Winner of the 2005 INDEX: Design for Life Awards for Community

Recent and Selected Press
"Blueprint for Building A Better World" Washington Post - August 6, 2005
Minneapolis Star Tribune - Jul 22, 2005
Wired Magazine – March 2005 and April 2004
“Playing for Keeps” International Design Magazine – April 2005
The New York Times – Jan. 27, 2005 and August 28, 2003
The Guardian, UK – January 10, 2005 and Feb. 09, 2004?
Nature Magazine – January 2005
Newsweek - October 27, 2003?
CNN International - August 31, 2003?
The Times of London – November 4, 2003?
San Francisco Chronicle – July 3 2003?
UN Chronicle – Spring 2003

Design Like You Give a Damn: Architectural Responses to Humanitarian Crises
Editorial Reviews

Book Description
The greatest humanitarian challenge we face today is that of providing shelter. Currently one in seven people lives in a slum or refugee camp, and more than three billion people-nearly half the world's population-do not have access to clean water or adequate sanitation. The physical design of our homes, neighborhoods, and communities shapes every aspect of our lives.Yet too often architects are desperately needed in the places where they can least be afforded.

Edited by Architecture for Humanity, Design Like You Give a Damn is a compendium of innovative projects from around the world that demonstrate the power of design to improve lives. The first book to bring the best of humanitarian architecture and design to the printed page, Design Like You Give a Damn offers a history of the movement toward socially conscious design and showcases more than 80 contemporary solutions to such urgent needs as basic shelter, health care, education, and access to clean water, energy, and sanitation. Featured projects include some sponsored by Architecture for Humanity as well as many others undertaken independently, often against great odds.

Design Like You Give a Damn is an indispensable resource for designers and humanitarian organizations charged with rebuilding after disaster and engaged in the search for sustainable development. It is also a call to action to anyone committed to building a better world.

Proceeds from the sale of this book will support the work of Architecture for Humanity.

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

The greatest humanitarian challenge we face today is that of providing shelter. Currently one in seven people lives in a slum or refugee camp, and more than three billion people-nearly half the world's population-do not have access to clean water or adequate sanitation. The physical design of our homes, neighborhoods, and communities shapes every aspect of our lives.

16-03-2550

Architectural Responses
to Humanitarian Crises

The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com