โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 02 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๗๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 02,03.2007)
R

กรณี พรบ.มหาวิทยาลัยมหิดลออกนอกระบบ
วิพากษ์มหาวิทยาลัยนอกระบบ มหาวิทยาลัยระบบซาร์
จงรักษ์ กิตติวรการ
อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิพากษ์ พรบ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
กรณีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดูจะไม่ต่างไปจาก พรบ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบของสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ

ในที่นี้ผู้เขียนได้ทำการวิพากษ์ พรบ. ดังกล่าวเอาไว้ ๘ ประเด็นด้วยกัน อาทิเช่น
จุดประสงค์ของการออกนอกระบบ, โครงสร้างการบริหารจัดการ, ดุลอำนาจในองค์กร,
การมีส่วนร่วมและการกำกับดูแลโดยประชาคม, ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคม เป็นต้น
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ชัดเจนและไม่มีความพร้อมในภาพรวมแต่อย่างใด
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๗๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

กรณี พรบ.มหาวิทยาลัยมหิดลออกนอกระบบ
วิพากษ์มหาวิทยาลัยนอกระบบ มหาวิทยาลัยระบบซาร์
จงรักษ์ กิตติวรการ
อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากบทความเดิมชื่อ: พลิกดู ร่าง พรบ.มหิดล เพื่อการออกนอกระบบ

ความนำ
ในระหว่างที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นการออกนอกระบบ โดยกระบวนการก็จะมีการผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบขององค์กร จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านได้ช่วยกันพลิกดู และทำความเข้าใจร่าง พรบ. ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยซึ่งมีพวกเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

ที่ผ่านมา ผมได้พยายามรวบรวมข้อมูลและความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประมวล ทำความเห็นต่อ ร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดล แต่อุปสรรคสำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการออกนอกระบบ และจุดประสงค์ในการดำเนินการ ซึ่งไม่สามารถหาข้อมูลได้ชัดเจนจึงไม่อาจจะให้ความเห็นว่าร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็น และจุดประสงค์หรือไม่อย่างไร?

แต่หากยึดเอาที่ ศ.ดร วิจิตร ศรีสอ้าน รมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 49 ความจำเป็นในการออกนอกระบบก็เพื่อ -ให้การบริหารจัดการศึกษามีความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 [แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2545] และแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย- ซึ่งได้ดำเนินการมานานเกือบ 9 ปี แล้ว จนก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารมหาวิทยาลัย จึงเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว (อ้าง http://www. eppo.go.th/admin/cab/cab12dec49.html#10) ในที่นี้ผมจะขอให้ความเห็นต่อ ร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดล ทีละด้าน อะไรที่พอจะหาที่อ้างอิงได้ ผมก็จะให้การอ้างอิง เพื่อท่านที่สนใจจะสามารถสืบสาวหาต้นต่อ และมีอิสระในการให้ความเห็นในแง่มุมของตัวท่านเองได้มากขึ้น

1. ในแง่จุดประสงค์ของการออกนอกระบบ
จุดประสงค์ และความจำเป็นในการออกนอกระบบไม่ชัดเจน หรือไม่ก็ไม่เป็นที่รับรู้โดยกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่กำหนดทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้ ข้อมูลส่วนที่จะช่วยให้เข้าใจร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดลได้บ้าง คือ บันทึก สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งท่านสามารถหาได้จาก http://www.op.mahidol.ac.th/orla/data2/note_02.pdf ที่จะให้หลักการของการร่าง พรบ. ที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ โดยจะขอกล่าวเพียงย่อๆ คือ

(1) เปลี่ยนมหาวิทยาลัยไปอยู่ในลักษณะมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ
(2) ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน และสวัสดิการหลายฉบับ
(3) ว่าด้วยการให้สิทธิการถือครองและจัดการสินทรัพย์
(4) การกำหนดโครงสร้างการบริหารให้มีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารสูงสุด สภาวิชาการและสภาพนักงานเป็นองค์กรที่ปรึกษาของสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีฯ
(5) กำหนดให้มีการประกันคุณภาพ และการประเมิน
(6) กำหนดเรื่องระบบบัญชีที่มีการตรวจสอบจากภายนอกและภายใน

ร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อนำมาเทียบกับจุดประสงค์ที่กฤษฎีกาให้ไว้ในการยกร่าง มีครบเกือบทุกประเด็น ยกเว้นกรณี สภาพนักงานซึ่งตกหล่นไป ส่วนในแต่ละประเด็นที่ว่าจะร่างได้ดีหรือไม่นั้น ผมจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไปภายหน้า แต่จะเห็นได้ว่าทั้ง 6 ข้อที่ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารเป็นหลัก ซึ่งคงต้องให้ท่านผู้ยกร่างเป็นผู้ชี้แจงว่า การปรับเปลี่ยนโครงการการบริหารดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างไร และมีความเป็นธรรม หรือชอบธรรมในการดำเนินการหรือไม่

หากอ้าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ รมต.ศึกษา อ้างเป็นเหตุจำเป็นในการออกนอกระบบ มาตรา 36 ของ พรบ.นั้น เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาอาจเป็นส่วนราชการ หรือเป็นหน่วยงานในกำกับก็ของรัฐก็ได้ ดังนั้นการออกนอกระบบจึงเป็นหนทางที่เลือกได้ ไม่ถูกบังคับตาม พรบ.การศึกษาฯ ส่วนที่ พรบ. การศึกษาฯบังคับอยู่ เรื่องว่าด้วยสิทธิการถือครองและจัดการสินทรัพย์ ซึ่งก็มีปรากฏอยู่แล้วใน พรบ.การศึกษาฯ (มาตรา 59) และเรื่องการประกันคุณภาพและการประเมิน (หมวด 6 มาตรา44 - 51 ) ก็มีผลบังคับใช้อยู่แล้วโดยตัว พรบ.การศึกษาฯเอง หากความเชื่อมโยงของ พรบ.การศึกษาฯ กับรัฐธรรมนูญที่อิงอยู่ ไม่ถูกกระทบด้วยการหมดสภาพไปของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

ส่วนที่เกี่ยวกับสาระการจัดการศึกษาอยู่บ้าง ก็มีเรื่องประกันคุณภาพและการประเมินได้ถูกตราไว้ ตามร่าง พรบ. หมวดที่ 4 (มาตรา 44 - 47) สิ่งที่น่าพิจารณา คือ การกำหนดให้ทำการประเมิน รายงานผลการประเมินต่อสภามหาวิทยาลัยและเผยแพร่ เป็นกลไกที่ดีพอจะสามารถทำคุณภาพของมหาวิทยาลัยดีขึ้นหรือไม่ โดยส่วนตัวผมเองเห็นว่าเป็นการทำการประเมินอย่างเลื่อนลอย ไม่มีผลผูกพันให้มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตามนั้นแต่อย่างไร การหวังให้การประกันคุณภาพ และการประเมินจะสามารถแสดงผลสัมฤทธิ์ จึงเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น การร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นการปรับโครงสร้างการบริหารเป็นหลัก ซึ่งยังมองไม่เห็นว่า การปรับโครงสร้างนั้นมุ่งแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่อย่างไร ตอบสนองต่อปัญหาเดิมหรือไม่ ส่วนประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบใหม่ที่คาดหวัง รวมทั้งที่ว่า ร่าง พรบ. นี้จะนำไปสู่ความคาดหวังนั้นได้จริงหรือไม่ก็ยังไม่ปรากฏ

โจทย์ใหญ่ๆ ที่สำคัญของการจัดการศึกษา คือ ปรัชญาการศึกษา แม้ว่าการอุดมศึกษาจะถูกตีกรอบนิยามโดย พรบ.การศึกษา แต่ก็เป็นกรอบที่กว้าง และหากเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยร่าง พรบ.ของตนเองได้ ก็ถือว่าเป็นอิสระอย่างยิ่งในการวางจุดยืน สร้างอัตตลักษณ์ และปรัชญาการศึกษาของตนเองได้ แต่ปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ อะไรที่ชัดเจน กลับไม่ปรากฏชัดใน พรบ.นี้

ที่มีปรากฏก็เป็นจุดประสงค์ที่กว้างมากจนไม่อาจกำหนดทิศทางได้ แม้จะเปิดโอกาสให้แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถมี พรบ.ที่ร่างได้เอง แต่เมื่อนำร่าง พรบ.ของมหิดลไปเทียบกับ ร่าง พรบ.ของมหาวิทยาลัยอื่น ก็พบว่าเป็นการคัดลอกเอาอย่างกัน และขาดความสามารถที่จะมองเห็นคุณค่าเฉพาะของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ขาดคุณลักษณะที่อาจชี้นำสังคมได้อย่างมีคุณค่า ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ทำอาจทำได้อย่างดีที่สุดก็เพียงไปอยู่ส่วนต้นๆ ของกระแส

2. โครงสร้างการบริหารจัดการ
เมื่อพิจารณาโครงสร้างบริหารงานตาม พรบ. ฉบับนี้ซึ่งมีอธิการบดีเป็นผู้บริหารสูงสุด กับทั้งให้อธิการบดีเป็นจุดเชื่อมระหว่างสภามหาวิทยาลัย กับองค์กรอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย (มาตรา 26, 28, 29) จึงเป็นการรวมศูนย์อำนาจบริหารไว้ที่อธิการบดี ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็จะมีโอกาสแกว่งไม่ว่าจะเป็นไปในทางที่ดี หรือเลวได้สุดขั้ว ขึ้นกับความดีและเลวของผู้กุมอำนาจนั้น ตามแนวคิดอริสโตเติลที่ว่าไว้ในเรื่อง monarchy, tyranny

ก่อนอื่นคงจะกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้บริหารเป็นเบื้องแรก จะเห็นว่าการได้มาและคุณสมบัติของผู้บริหารที่สำคัญ ถูกระบุใน ร่าง พรบ. ว่า ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ซึ่งพบกระจายอยู่ในมาตราต่างๆ หลายมาตรา เช่น มาตรา 20 ที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัย, มาตรา 25 ที่มาของกรรมการสภาวิชาการ, มาตรา 27 ที่มาของกรรมการสภาคณาจารย์ ฯลฯ การปล่อยให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ที่อาจจะออกได้ตามอำเภอใจโดยไม่มีขอบเขต จึงถือได้ว่าทำให้ขาดสาระสำคัญ คือ วิธีการที่ได้มาของคนที่จะมาสู่ตำแหน่ง ที่ทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย

การใช้วิธีการที่ได้มาที่ต่างกัน ย่อมจะมีผลต่อคุณสมบัติของคนที่ถูกคัดสรร หากไม่ได้กำหนดหลักการสำคัญของเรื่องนี้ สภามหาวิทยาลัยก็อาจ ลักไก่ อำนาจที่ควรเป็นการตัดสินของรัฐสภา เอามาเป็นของตัว แล้วออกข้อบังคับที่ทำให้การดำเนินการบิดเบนและขัดต่อหลักการเดิมที่รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ตัวอย่างเช่นนี้เห็นได้จาก รธน. ปี 2540 เรื่องการรับรองสิทธิต่างๆ ที่กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายลูก แต่รัฐบาลไม่ผ่านกฎหมายลูก จึงทำให้สิทธิที่ รธน. รับรองปลาสนาการไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายต่อสาระสำคัญ หากเราให้คุณค่ากับความชัดเจนของสาระดังกล่าว ก็จะต้องทำให้สาระนั้นปรากฏชัดใน พรบ. แต่ ที่มันไม่ปรากฏชัดเจนอาจเป็นเพราะว่าคนที่ร่าง พรบ.ขึ้นไม่มีความชัดเจน หรือไม่ก็อาจเป็นปัญหาเทคนิคทางกฎหมาย หากเป็นประการหลัง ก็คงจะถึงเวลาที่ปัญหานี้จะท้าทายนักวิชาการทางกฎหมายให้ค้นหาวิธีการแก้ปัญหาทางเทคนิคนี้ให้จงได้ ไม่ปล่อยให้กฎหมายที่มีความบกพร่องพวกนี้ออกไปได้อีก และด้วยเหตุที่ว่านี้เอง การใช้ ร่าง พรบ. นี้จึงไม่ให้ความมั่นใจได้ว่าจะได้คนดีมีความสามารถมาดำรงตำแหน่งที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและใช้อำนาจของมหาวิทยาลัย

ในส่วนของอธิการบดี ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องได้ปริญญาเอกหรือเทียบเท่า หรือมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์ หรือเทียบเท่า (มาตรา 34) คุณสมบัติที่กำหนดเป็นความสามารถทางวิชาการเฉพาะด้านซึ่งแม้ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ แต่อาจไม่มีความชำนาญทางการบริหารจัดการเลยก็เป็นได้ การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าว ไม่เห็นว่าจะสอดคล้องกับการดำเนินการของมหาวิทยาลัยตาม มาตรา 8 และ 9 อย่างไร โดยเฉพาะหน้าที่โดยตรงของอธิการบดี คือ การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล หากจะกำหนดคุณสมบัติก็ควรเป็นผู้ที่มีความชำนาญทางการบริหาร ไม่ควรเป็นความสามารถทางวิชาการเฉพาะสาขา

นอกจากนี้ยังพบว่าอธิการบดี แม้ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ก็อาจจะไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง หากไม่มีมติจากสภามหาวิทยาลัยด้วยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งให้พ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 33) ซึ่งเป็นอีกจุดหนี่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการกำหนดให้ การบริหารงานคำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผล (มาตรา 9) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่ว่า อธิการบดีถือว่ามีความสำคัญมาก ต้องการผู้มีเวลาเต็มในการทำงาน ทุ่มเทเพื่อมหาวิทยาลัย จึงควรกำหนดไม่ให้อธิการบดีรับงานตำแหน่งบริหารงานที่อื่นๆ ซึ่งจะทอนเวลาและความสามารถที่จะอุทิศให้มหาวิทยาลัย หรือไม่ก็จะต้องกำหนดเป้าหมายของงานที่ต้องบรรลุอย่างชัดเจน และให้มีผลผูกพันความกับการดำรงตำแหน่งจึงจะสมควร แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีกลไกที่ว่าในร่าง พรบ. อย่างเป็นรูปธรรม ร่าง พรบ. ฉบับนี้จึงไม่อาจให้ความมั่นใจว่าจะทำให้ได้มาซึ่งอธิการบดีที่เป็นคนดี มีความสามารถทางบริหารตรงตามหน้าที่ที่ถูกกำหนด และยังอาจปล่อยให้คนที่ด้อยสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ โดยไม่ต้องรับผิดต่อผลงานของตนเอง

การดุลอำนาจในองค์กร ตามโครงสร้าง สภามหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานสูงสุดซึ่งอาจดุลการใช้อำนาจของผู้บริหารได้ (มาตรา23) แต่กลับปรากฏว่า มีอธิการบดี และผู้บริหารระดับคณบดีส่วนหนึ่งที่ร่วมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย (มาตรา20) กลุ่มนี้จึงมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการใช้อำนาจบริหาร และขัดกับบทบาทการดุลอำนาจของสภามหาวิทยาลัย

ในส่วนของ สภาคณาจารย์ และสภาวิชาการซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สภามหาวิทยาลัย และอาจจะสร้างให้มีกลไกลที่ดุลอำนาจผู้บริหารได้ กลับถูกจำกัดบทบาทเพียงให้คำแนะนำและปรึกษาแก่อธิการบดี (มาตรา 26, 28) โดยไม่ผูกพันให้อธิการบดีว่าต้องทำตาม ทั้งสองสภาฯ จึงไม่มีความหมายในการคานอำนาจแต่อย่างไร หากจะยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ บทบาทของกรรมการประจำคณะ ต่อการบริหารงานของคณบดีที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

และที่ยิ่งไม่บังควร คือ มาตรา 28 ที่ตราว่าอธิการบดีสามารถมอบหมายให้สภาคณาจารย์ปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ ซึ่งเท่ากับสภาคณาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง เป็นตัวแทนของคณาจารย์ และโดยหน้าที่นี้ จึงมีบทบาทที่จะต้องต่อรอง และดุลอำนาจกับฝ่ายที่ใช้อำนาจบริหาร เมื่อมีความขัดแย้ง การตราให้อยู่ภายใต้การบังคับของอธิการบดีจึงเป็นเรื่องไม่สมควร และทำให้สภาคณาจารย์ไม่สามารถทำหน้าที่ที่ควรนั้นได้ เมื่อมองโดยภาพรวมจึงขาดการดุลอำนาจที่ดี หากมหาวิทยาลัยโชคร้ายได้อธิการบดีที่ไม่ฉลาด ในการนำพามหาวิทยาลัยไปสู่สิ่งที่ดีงาม ก็เท่ากับว่าโครงสร้างที่วางนี้การขาดห้ามล้อในที่อาจยับยั้งมหาวิทยาลัยไปสู่ความเสื่อมเสีย

สำหรับการตรวจสอบ ในร่าง พรบ. ได้สร้างกลไกการตรวจสอบ โดยให้มีคณะกรรมการตรวจสอบการบริหารงานประจำมหาวิทยาลัย (มาตรา 53) แต่ที่มา อำนาจ หน้าที่ ฯลฯ ของคณะกรรมการก็ล้วนถูกกำหนดโดยสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้ที่จะถูกตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งในสภานั้น ดังนั้นประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่มี ประกอบกับความไม่ชัดเจนของกลไกนี้ใน ร่าง พรบ. จึงไม่อาจเป็นหลักประกันการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และตรงไปตรงมา

ประเด็นการมีส่วนร่วมและการกำกับดูแลโดยประชาคม ซึ่งถูกระบุใน มาตรา 9 ไม่มีกลไกรองรับที่ชัดเจน พรบ.ดังกล่าวจึงน่าสงสัยว่า จะเอื้อต่อการมีส่วนร่วมได้มากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้กุมศูนย์อำนาจตามโครงสร้างที่กำหนด ไม่ประสงค์ที่จะให้ประชาคมมีส่วนร่วม ความไม่ชัดเจนยังมีตลอดรวมไปถึงวัตถุประสงค์ข้ออื่นๆ ตามมาตรา 9 อีกด้วย เช่น การความเสมอภาคในการศึกษา, ความโปร่งใส, และความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ ซึ่งไม่ได้สร้างกลไกที่รองรับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม จึงน่าสงสัยว่า ร่าง พรบ. นี้จะสามารถบังคับให้มหาวิทยาลัยเดินตามเจตนาที่ถูกกำหนดไว้ในมาตราที่ 9 ได้จริงหรือ

หากพิจารณากระบวนการเปลี่ยนผ่านการบริหาร เมื่อผ่าน พรบ. ฉบับใหม่นี้แล้วจะมีการทยอยผลัดเปลี่ยนผู้บริหาร ตั้งแต่ ประธานสภาวิชาการ, ประธานสภาคณาจารย์, ผู้บริหารระดับหัวหน้าภาควิชา, และคณบดีจะพ้นจากตำแหน่งไปก่อน (มาตรา 78) ตามมาด้วยการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัย (มาตรา 76) กรรมการในระดับเดียวกับกรรมการประจำคณะ (มาตรา 81) และสมาชิกสภาคณาจารย์ (มาตรา 82) ภายใน 180 วัน เหลือเพียงอธิการบดีที่อยู่ต่อไปได้อีก 2 ปี (มาตรา 77) และในระหว่างนี้ก็จะมีการเลือกผู้บริหารใหม่ทดแทน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าผู้บริหารชุดเดิม จะต้องตราระเบียบว่าด้วยการได้มาซึ่งผู้บริหารใหม่ตาม พรบ. ใหม่นี้ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

โดยทั่วไปผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎ ไม่ควรจะเป็นผู้ที่มีอำนาจตามกฎที่ตนเองออก หรืออาจได้รับประโยชน์จากกฎที่ตนเองออก ซึ่งหมายความว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารชุดใหม่ ไม่ควรจะมีส่วนในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งผู้บริหารชุดใหม่ กับทั้งต้องไม่กลับเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารชุดที่ได้มาใหม่อีกด้วย ซึ่งความนี้เป็นข้อสำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่าน และจำเป็นต้องถูกระบุในบทเฉพาะกาล แต่กลับไม่ปรากฏ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเลย ผู้บริหารชุดเดิมจึงอาจจะเสี่ยงต่อการเป็นที่ครหาด้วยข้อผลประโยชน์ทับซ้อน

หากพิจารณาโครงสร้างการบริหารโดยภาพรวม ภาพการบริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลยุคใหม่ จะเป็นแบบ อำนาจรวมศูนย์ การดุลแบบไม้ซีกงัดไม้ซุง การตรวจสอบอย่างเกรงใจ ประชาคมคือผู้อยู่ใต้การอารักขา และยังมีจุดโหว่ประการสำคัญ คือ ผลประโยชน์ทับซ้อน

เดิมมหาวิทยาลัยในระบบ มีการบริหารแบบราชการ อำนาจการบริหารรวมศูนย์ และสั่งการแบบบนลงล่าง เมื่อออกนอกระบบโดยโครงสร้างแล้วก็ยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจ สั่งการแบบบนลงล่างเช่นเดิม คำถาม คือ การบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ และสั่งการ เหมาะกับประชาคมมหาวิทยาลัยที่คาดหวังกันว่าเป็นสังคมแห่งปัญญาหรือไม่ และเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการหรือไม่ แต่สำหรับผมเท่าที่เห็นมา อำนาจเป็นตัวจำกัดความเติบโตทางปัญญา

ยกตัวอย่าง กรณีที่มีความขัดแย้ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มักจะยึดมั่นว่าความเห็นของตัวดีกว่าอีกฝ่าย การที่ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจตัดสิน โดยให้อีกฝ่ายจำนนต่ออำนาจนั้น เป็นการปิดโอกาสการเรียนรู้ คือ โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะยกข้อดีของความคิดตน แล้วโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเห็นดีตามด้วยปัญญา ซึ่งน่าจะเชื่อได้ว่าการจำนนด้วยปัญญาจะให้ทางเลือกที่ดีกว่า นอกจากนี้การถกเถียงอาจนำไปสู่ทางออกที่สาม ที่ดีกว่าความคิดดั้งเดิมทั้งสองก็อาจเป็นได้

ถ้าหากมองในกรอบที่สัมพันธ์กับสังคม ที่เรายังเชื่อกันว่าสังคมนี้นิยมประชาธิปไตย ซึ่งกำลังดำเนินไปสู่ทิศทางประชาธิปไตยแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน และการบริหารประเทศโดยหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นค่านิยมที่สังคมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งในภาวะที่เส้นทางดังกล่าวจะไม่ราบรื่น มหาวิทยาลัยในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม เป็นส่วนได้รับความเชื่อถือว่าเป็นมันสมอง เป็นที่รวมของผู้มีศักยภาพสูงในด้านต่างๆ มหาวิทยาลัยจึงควรถือโอกาสในการออกนอกระบบที่ว่านี้ อุทิศตนดำเนินไปในแบบอย่างแก่สังคมในแนวทางที่ว่านี้ ซึ่งก็ปรากฏให้เห็นชัดอยู่แล้วในร่าง พรบ. มาตรา 9 และยังเป็นหน้าที่ตามมาตรา 7 ของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้กระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฯลฯ

สิ่งนี้จึงเป็นการท้าทายให้มหาวิทยาลัย คิดระบบการจัดการทั้งหมดที่สอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยดังกล่าว และไปพ้นจากวัฒนธรรมอำนาจแบบราชการ เช่น การกำหนดให้ผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการได้มาของตำแหน่งสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากทำได้เช่นที่ว่านี้ การออกนอกระบบก็จะมีคุณูปการยิ่งต่อสังคม

หากจะคัดค้านว่าทำไม่ได้ หรือระบบดังกล่าวไม่เหมาะกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสังคมเล็กๆ ที่เชื่อว่าเป็นสังคมอุดมปัญญา ก็น่าที่จะสรุปได้ว่าค่านิยมประชาธิปไตยที่ว่านี้คงไม่เหมาะกับสังคมไทย และก็ไม่มีโอกาสพัฒนาให้สำเร็จได้อีกด้วยกระมัง ในกรณีหลังเช่นว่านี้ มหาวิทยาลัยก็ยิ่งจะต้องแสดงบทบาทชี้นำสังคมให้แสวงหาค่านิยมใหม่ ที่จะนำพาสังคมให้อยู่รอดโดยปรกติสุข

3. ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคม
ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมไม่ชัดเจน มหาวิทยาลัยมหิดลจะวางบทบาทตัวเองต่อสังคมอย่างไร คุณค่าหรือปรัชญาทางการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม คือ อะไร แม้ว่าที่ยกมาดูออกจะเป็นนามธรรมและเห็นภาพได้ยากว่าจะมีความสำคัญอย่างไร แต่สิ่งนี้คือ จุดเด่น, อัตลักษณ์, ความมุ่งมั่น หรืออาจจะเรียกว่าจิตวิญญาณของความเป็นมหิดลก็ได้

หากปราศจากการกำหนดสิ่งนี้แล้ว ทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัยก็ซัดส่าย เหมือนเรือที่แล่นโดยปราศจากเข็มทิศ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกหากสังคมจะบอกว่าไม่เข้าใจ และไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มหาวิทยาลัยทุ่มเทศึกษาวิจัย เพราะคุณค่าการศึกษาวิจัยถูกกำหนดโดยตัวผู้ทำวิจัยแต่ละคนที่เป็นอิสระจากกัน และไม่มีข้อตกลงร่วมในการกำหนดคุณค่าต่อสังคม การศึกษาวิจัย ตลอดจนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จึงแยกส่วนออกจากสังคม และถูกมองว่าอยู่บนหอคอยงาช้าง

ถ้าหากจะลองตั้งคำถามที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น ความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ถูกระบุไว้ใน มาตรา 9 มหาวิทยาลัยจะจัดการอย่างไรในเรื่องที่ว่านี้กับ คนจน, คนชั้นกลาง, คนที่อยากเรียนแต่ไม่มีที่เรียน หรืออาจจะตั้งคำถามว่า ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีไข้หวัดนก, วิบัติภัยทสึนามิ, อาจรวมตลอดไปกระทั่ง เรื่องทางการเมืองเช่น การที่มีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลทักษิณที่อ้างความชอบธรรม ในการใช้อำนาจที่ได้มาโดยการเลือกตั้ง, หรือการวางตัวต่อการรัฐประหารที่เกิด เช่น คณะรัฐประหารมีความชอบธรรมในการสั่งการต่อหน่วยงานราชการหรือไม่ และความชอบธรรมในการสั่งการเกิดขึ้นเมื่อใด หรือขอเพียงออกคำสั่งให้หยุดราชการ หรือไปรายงานตัวก็ทำตามโดยเชื่องๆ ก็เพียงพอ โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำไปจะสร้างบรรทัดฐานอะไรขึ้นบ้าง

โจทย์ที่ว่านี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ โดยอาจเริ่มแม้กระทั่งว่า ใครบ้างที่สมควรจะเป็นผู้ให้คำตอบต่อโจทย์อันนี้เสียด้วยซ้ำ ต่อเมื่อได้คำตอบต่อโจทย์นี้แล้ว จึงจะสามารถตั้งเข็มทิศและกลไกผูกพันให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ เพื่อบรรลุถึงประโยชน์ของสังคมตามแนวทางที่ว่านี้ได้

4. ระบบการจ้างงาน
ระบบการจ้างงานที่เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นข้าราชการที่มีความมั่นคง มาสู่ระบบสัญญาจ้างที่มีระยะเวลากำหนด การจะได้ทำงานต่อจะต้องได้รับการต่อสัญญาจ้าง ในส่วนของผู้ทำงานให้มหาวิทยาลัยมีความมั่นคงน้อยลง ในส่วนของมหาวิทยาลัยมีอิสระมากขึ้นที่จะเลิกจ้างบุคลากรที่ไม่พึงปรารถนา ส่วนในการเลือกจ้างจะมีอิสระมากขึ้นเมื่อเทียบกับระบบราชการหรือไม่นั้นไม่มีข้อมูลพอที่จะระบุได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรคำนึงถึง คือ ความเท่าเทียมในการต่อรองการจ้างงานทั้งสองฝ่าย และความมั่นคงในการจ้าง ซึ่งจะต้องมีในระดับอย่างน้อยตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน และสวัสดิการให้ความคุ้มครองอยู่เป็นการทั่วไป ซึ่งในประเด็นนี้ก็ยังไม่อาจเห็นได้ชัดเจน การทำสัญญาแม้ในระบบพนักงานมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการอยู่ ก็ยังเป็นสัญญาที่ไม่เท่าเทียม ผูกพันฝ่ายเดียว เรื่องต่างๆ ที่ควรทำให้ชัดเจน เช่น เรื่องสวัสดิการก็ยังไม่ได้รับความเอาใจใส่ทำให้ชัดเจน ทั้งที่ระบบพนักงานเริ่มใช้มาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม

ในประเด็นเรื่องความเป็นธรรม และการคุ้มครองการจ้างงาน ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นในมหาวิทยาลัยนอกระบบบางแห่ง ซึ่งอาจารย์ถูกเลิกจ้างเพราะขัดแย้งกับผู้บริหาร หรือสาเหตุที่คิดว่าไม่มีเหตุผลพอที่จะเลิกจ้าง เช่น ตรวจข้อสอบผิดพลาด ยังไม่พบว่ามีกลไกที่รองรับอย่างชัดเจน มีผู้เสนอว่าให้ตั้งสหภาพแรงงานเพื่อการณ์นี้กรณีที่ยังไม่มีกลไกอื่นที่พึ่งพาได้ ทั้งนี้ไม่เพียงแต่รองรับอาจารย์แต่ยังรวมไปถึงบุคลากรอื่นๆ รวมไปถึงข้าราชการ, พนักงาน, ลูกจ้างประเภทต่างๆ ทั้งหมด

5. ความเป็นเลิศทางวิชาการ
ความเป็นเลิศทางวิชาการ หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะผูกกับคุณภาพของบุคลากรที่ทำงานทางวิชาการ ดังนั้นจึงผูกโยงไปกับสัญญาจ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การได้มาซึ่งคุณภาพของบุคลากรก็ย่อมผูกกับผู้ที่มีอำนาจกำหนดการจ้าง ซึ่งไม่ว่าจะกำหนดโดยนโยบายหรือความพอใจก็ตาม ความหลากหลายและอิสรภาพทางวิชาการก็ถูกจำกัดให้น้อยลง

ทัศนะในแง่ของการจ้างงานแบบสัญญาจ้าง ซึ่งประกอบรวมไปกับระบบบริหารแบบรวมศูนย์รวบอำนาจ มีแนวโน้มที่จะให้ระบบมองหาการจ้างงานเอาคนที่ระบบเห็นว่าดี และเอาคนที่ไม่ดีออกจากระบบ ไม่ได้เพ่งมองปัญหาไปที่การจัดการแต่เพ่งมองปัญหาไปที่ตัวพนักงาน กระบวนการส่งเสริมให้พนักงานที่มีอยู่ สามารถพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ และความก้าวหน้าทางวิชาการไม่ได้รับการเอาใจใส่เป็นประเด็นหลัก การขาดการพัฒนาความสามารถทางวิชาการเช่นนี้ คงไม่อาจนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการบนรากฐานของตนเอง แต่ความเป็นเลิศเกิดได้จากการซื้อคนดีเข้ามาใช้ และเมื่อใช้จนหมดประโยชน์ก็เขี่ยทิ้ง ซึ่งเป็นการเอื้อต่อวัฒนธรรมการเด็ดยอด ไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความรู้ของตนเองอย่างยั่งยืน

ประเด็นการจัดการความรู้ ซึ่งเป็นการเก็บรักษาความชำนาญขององค์กร ไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าหากเชื่อว่าความเป็นเลิศทางวิชาการเกิดจากการสั่งสมความรู้ ความสามารถ และความชำนาญ ผ่านจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง การจัดการความรู้จึงถือเป็นรากฐานของการไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ในโอกาสนี้ที่นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ท่านจึงสามารถมีส่วนช่วยเหลือมหาวิทยาลัยในประเด็นที่กล่าว หาไม่มหาวิทยาลัยก็อาจดำเนินไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในอีกแนวทาง คือ โดยการกว้านซื้อคนที่มีความสามารถแทน

นอกจากนี้ การบริหารจัดการภายใต้มหาวิทยาลัยนอกระบบ ซึ่งอาจเปิดให้มหาวิทยาลัยทำกิจการในการแสวงหาผลกำไรได้ ยิ่งหากมหาวิทยาลัยไม่มีความชัดเจนในการวางน้ำหนักต่อกิจกรรมด้านการศึกษา และการแสวงหาผลกำไร ยิ่งถ้าได้ ผู้บริหารที่มีทัศนคติในเชิงมุ่งแสวงหาผลกำไรด้วยแล้ว ทิศทางของมหาวิทยาลัยก็อาจเสียศูนย์เข้ารกเข้าพง ผุดหน่วยทางธุรกิจขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ส่วนกิจกรรมด้านการเรียนการสอนก็หดตัวลง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการจัดการการเรียนการสอน และการวิจัยในศาสตร์สาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขาที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะถูกยุบเลิกดังตัวอย่างที่เกิดในต่างประเทศ ซึ่งการจัดการดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อความเป็นเลิศในสาขาที่ไม่ทำกำไรแก่มหาวิทยาลัย ประเด็นนี้มหาวิทยาลัยจึงควรมีนโยบายที่ชัดเจน และตราไว้ให้ปรากฏใน พรบ.

6. การจัดการทรัพย์สิน
เนื่องจากผู้บริหารไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย จะมีกลไกหรือหลักประกันใดว่าผู้บริหารจะจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ไม่จัดการทรัพย์สินด้วยความฉ้อฉล หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน

การกำหนดให้มหาวิทยาลัยสามารถยักย้ายถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน และกู้ยืม (มาตรา 15) ส่วนหนึ่งทำให้เกิดความวิตกกันว่าจะทำให้มหาวิทยาลัย ดำเนินกิจกรรมไปในแง่ธุรกิจการศึกษา มุ่งแสวงหาผลกำไร ซึ่งไม่ควรเป็นหน้าที่ที่สถาบันการศึกษาจะทำ จึงน่าที่พิจารณาว่ามีความจำเป็นอย่างไร เพราะตาม มาตรา 16 ก็ระบุไว้ว่ารัฐจะต้องให้เงินอุดหนุนอย่างเพียงพอ และสอดคล้องกับ มาตรา 60 พรบ.การศึกษาแห่งชาติฯ ที่ให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการศึกษาในฐานะที่มีความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องมีกิจกรรมแสวงหารายได้เองอีก

หากทดลองมามองโลกในแง่ร้าย กรณีที่มหาวิทยาลัยนำเงินไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจร่วมกับเอกชน จะมีการตรวจสอบหรือป้องกันได้อย่างไรว่า การดำเนินกิจการดังกล่าวจะไม่ถูกฮุบอย่างราคาถูกโดยถูกกฎหมาย ซึ่งเสมือนหนึ่งการผ่องถ่ายทรัพย์สินจากกระเป๋าของรัฐไปสู่กระเป๋าของเอกชน เพราะผู้จัดการกระเป๋าของรัฐ ซึ่งได้แก่ ผู้ใช้อำนาจในนามของมหาวิทยาลัยในกรณีนี้ ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินโดยตรง จึงไม่มีสำนึกผูกพันในการปกป้องผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย

อนึ่ง ในการทำกิจกรรมที่มุ่งแสวงหากำไร ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำความตกลงกับองค์กร และหน่วยงานทางธุรกิจอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการผูกพันภาระของมหาวิทยาลัย ความหลากหลายและอิสรภาพทางวิชาการก็จะถูกจำกัดลงไปด้วย หากจะต้องดำเนินกิจกรรมดังกล่าว จะต้องมีการจำกัดควบคุมภายในขอบเขตหนึ่งซึ่งควรมีความชัดเจน

7. กรอบนโยบายรัฐ
หากจะอิงแนวคิดของรัฐ จากเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ถูกล้มไปแล้ว) "กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรม และสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่างๆ เร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศพัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งในการจัดการศึกษาของรัฐ ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ตามที่กฎหมายบัญญัติและให้ความคุ้มครอง การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ดังนั้น จึงสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและจัดการการศึกษาอบรม ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว"

เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ใช้อ้างอิงถูกล้มไปแล้ว จึงน่าสงสัยว่า จะอิงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใดดีในการจัดทำร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดลนี้ จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540, ฉบับชั่วคราวที่มีผลอยู่นี้ หรือฉบับใหม่ที่กำลังจะยกร่างขึ้นเป็นบรรทัดฐาน

ภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก และยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังโยงไปถึงสิทธิต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรอง ซึ่งพึงตระหนักว่าปัจจุบัน การปกครองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีระยะเพียงหนึ่งปี ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำขึ้น ก็ยังไม่อาจคาดได้ว่าจะเป็นอย่างไร หากผ่าน พรบ. มหาวิทยาลัยออกไปในช่วงนี้ แล้วไม่สอดคล้องกันแนวทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องกลับมาแก้ไขอีก ข้อสังเกตคือ มีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องเร่งรีบผ่าน พรบ.ออกนอกระบบในภาวะปัจจุบัน ซึ่งอาจถือได้ว่าไม่อยู่ในภาวะปกติ เนื่องจากรัฐบาลรัฐประหาร ไม่ได้มีที่มาจากฉันทามติของประชาชน

8. การเขียนกฎหมาย
ร่าง พรบ. ได้เขียนไว้ในลักษณะซึ่งให้อำนาจและสถานะมหาวิทยาลัยอย่างพิเศษ และก้าวล่วงไปถึงอำนาจที่ระบุในกฎหมายอื่นอย่างกว้างขวาง เช่น มาตรา 14 ที่ระบุว่ากิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน, แรงงานสัมพันธ์, ประกันสังคม ฯลฯ, มาตรา 18 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง ซึ่งสร้างมหาวิทยาลัยเป็นรัฐอิสระ อาจจะใหญ่จนเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ อย่างเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากจะมีคำถามในเชิงความชอบธรรมในการตรากฎหมายลักษณะนี้ แล้ว คงต้องถามต่อไปอีกว่า การดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอะไรบ้างหรือไม่

สรุป
ความเห็นโดยส่วนตัว เห็นด้วยว่าความเป็นเลิศในทางวิชาการ จำต้องอาศัยเสรีภาพทางวิชาการเกื้อหนุน ซึ่งเป็นจุดประสงค์เดิมในการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว หากมองร่าง พรบ.ที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในปัจจุบันในภาพรวมว่า ได้เพิ่มเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่ ความเห็นของผมคงจะตอบว่า ไม่. ร่าง พรบ.ที่ว่าจริงอยู่ได้ถ่ายโอนอำนาจจากการควบคุมของระบบราชการ แต่อำนาจดังกล่าวมากระจุกตัวที่ผู้ใช้อำนาจนั้นไม่กี่คน ซึ่งก็ล่วงพ้นวัยแห่งช่วงผลิตงานวิชาการอย่างจริงจังไปแล้ว และก็ควรทำงานบริหารอย่างทุ่มเท อำนาจนั้นไม่ได้ผ่านลงมาถึงนักวิชาการคนเล็กคนน้อย ซึ่งเป็นตัวจักรผลิตงานวิชาการที่แท้จริง นอกจากนี้อิสรภาพทางวิชาการของคนกลุ่มนี้ยังถูกคุกคาม และลิดรอน จากการจ้างงานในลักษณะสัญญาจ้าง ทั้งยังไม่มีหลักประกันใดๆ ที่ปรากฏว่าจะเกื้อหนุนจุนเจือการเติบโตงอกงามของวิชาการภายในมหาวิทยาลัย ผ่านการสนับสนุนของผู้บริหารอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากจะต้องรอให้ผู้ใช้อำนาจที่ได้มาเป็นผู้บันดาลให้ ดังนั้น โดยภาพรวม จึงเป็นการเพิ่มเสรีภาพในการใช้อำนาจบริหารจัดการของผู้บริหาร แต่ลดเสรีภาพเชิงวิชาการของผู้ทำงานทางวิชาการ

หากจะถามว่า มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะออกนอกระบบหรือไม่ ความพร้อมคงจะมีที่คนกลุ่มเดียว ที่ผลักดันการออกนอกระบบ คนอีกกลุ่มใหญ่ที่เป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ทราบรายละเอียดและทิศทาง แม้จะสามารถนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะเป็นสิ่งที่ดี และทำได้สำเร็จ ประสิทธิภาพในการบริหารคงไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืนที่ พรบ. มีผลบังคับใช้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ของประชาคมยังไม่รู้ว่าจะหันทิศทางขยับไปทางไหน อย่างไร แผนปฏิบัติการที่ชัดเจนยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะ อย่างน้อยความชัดเจนต่อประเด็นคำถามทั้งหมดที่ยกมาข้างต้นยังไม่ปรากฏ การได้รับความร่วมมือจึงเป็นไปได้ยาก นอกจากใช้อำนาจบังคับสั่งเอาตามแบบอย่างที่เคยชินของระบบราชการ การออกนอกระบบก็ยังติดในกรอบเดิมๆ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อคนลงนามในคำสั่งบางคำสั่งที่มหาวิทยาลัยรับโอนอำนาจมากระมัง ดังนั้นก็คงไปไม่พ้นคำถามที่ว่า เราจะออกนอกระบบไปเพื่ออะไร?


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

โดยทั่วไปผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎ ไม่ควรจะเป็นผู้ที่มีอำนาจตามกฎที่ตนเองออก หรืออาจได้รับประโยชน์จากกฎที่ตนเองออก ซึ่งหมายความว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารชุดใหม่ ไม่ควรจะมีส่วนในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งผู้บริหารชุดใหม่ กับทั้งต้องไม่กลับเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารชุดที่ได้มาใหม่อีกด้วย ซึ่งความนี้เป็นข้อสำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่าน และจำเป็นต้องถูกระบุในบทเฉพาะกาล แต่กลับไม่ปรากฏ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเลย ผู้บริหารชุดเดิมจึงอาจจะเสี่ยงต่อการเป็นที่ครหาได้

02-03-2550

University Tsar
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com