ปฏิกริยาเชิงสุนทรียในระบอบประชาธิปไตย
มองมุมต่าง:
จากฝ่ายพันธมิตรฯ โต้สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
สุรพล
ธรรมร่มดี
นักวิชาการอิสระ โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพ
บทความวิชาการชิ้นนี้
กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
หลังจากที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เผยแพร่บทความเรื่อง
บทวิเคราะห์พันธมิตรฯ ก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยา ซึ่งเขียนโดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
สำหรับบทความชิ้นนี้ เป็นการวิจารณ์บทความของสุภลักษณ์ในบางประเด็น
และได้แสดงให้เห็นถึงแง่มุมที่แตกต่างของฝ่ายพันธมิตรฯ
ในฐานะที่เป็นการปฏิวัติการเมือง ด้วยการนำประชาชนเรือนแสนโค่นล้มระบอบทักษิณ
พร้อมทั้งได้อรรถาธิบายถึงยุทธวิธีในการต่อสู้ในช่วงดังกล่าวอย่างเข้าใจสถานการณ์
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๗๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
มองมุมต่างจากฝ่ายพันธมิตรฯ
โต้สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
จากบทความเดิม ชื่อ: ดอกผลและหนทางข้างหน้า
สุรพล ธรรมร่มดี
ดอกผลและหนทางข้างหน้า
น่ายินดีที่สุภลักษณ์ กาญจนขุนด ีเริ่มต้นแสดงความเห็นอย่างทรงพลัง และในรูปแบบของบทความทางวิชาการต่อปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณ
เพราะทำให้ประเด็นเป้าหมาย และยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวถูกใคร่ครวญและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์การเมืองภาคประชาชนในอนาคต
เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของสุภลักษณ์ ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการต่อความเห็นของเขาในประเด็นการวิจารณ์ข้อเรียกร้องทางการเมืองเรื่องรัฐบาลพระราชทานของพันธมิตรฯ การประเมินผลสะเทือนของการเคลื่อนไหว และบทเรียนสำคัญของการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ได้เห็นภาพการเคลื่อนไหวที่ครบถ้วนซึ่งสำคัญมากในการเข้าถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
พระราชอำนาจยามวิกฤต
สุภลักษณ์เพ่งเล็งความผิดพลาดของพันธมิตรฯที่เรียกร้องรัฐบาลพระราชทานจากในหลวงใน
๒ ประเด็นสำคัญคือ ทั้งผิดรัฐธรรมนูญ และทั้งทำให้การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเกิดการคิดพึ่งพิงกับพระราชอำนาจและละเลยอำนาจของประชาชน
ในประเด็นผิดรัฐธรรมนูญนั้น ผู้เขียนอยากให้ตราไว้ก่อนว่า ไม่ใช่สุภลักษณ์ที่แสดงความเห็นคัดค้านในเรื่องนี้เป็นคนแรก ในความเป็นจริงมีการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักกิจกรรม และนักวิชาการแทบจะทันทีหลังจากที่พันธมิตรฯเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานโดยอ้างอิงมาตรา๗ กลุ่มนักกิจกรรมออกแถลงการณ์คัดค้านข้อเรียกร้องตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่มนักกิจกรรมในขบวนการนักศึกษานำโดย สนนท.จัดการแถลงข่าวและเวทีเสวนาวิจารณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมสำคัญอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ และพิภพ ธงชัย สาระของการแถลงข่าวและการเสวนาถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างน้อยสองฉบับคือ เดลินิวส์ และข่าวสด. นิธิเองมีบทความวิจารณ์มาตรา ๗ ลงในมติชนรายวันอีกด้วย
ประเด็นวิจารณ์นั้นเล่าก็ไม่แตกต่างจากที่สุภลักษณ์ได้แสดงไว้ว่า วาทกรรมมาตรา๗ นั้นมองไม่เห็น "อำนาจของปวงชนชาวไทย", "เป็นสมบัติของเผด็จการ" และมองข้าม "หลักใหญ่ของประชาธิปไตย คือ การมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น" น่าเสียดายที่สุภลักษณ์ไม่ได้อ้างอิงถึงเลย ทั้งที่นี่คือการวิจารณ์คัดค้านที่สำคัญจากภาคประชาชนด้วยกัน ซึ่งอย่างน้อยสะท้อนว่า ในภาคประชาชนยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีหลักการเป็นตัวของตัวเองดำรงอยู่
สุภลักษณ์อ้างอิงพระราชดำรัสวันที่ ๒๕ เมษายนในการวิจารณ์พันธมิตรและพวก ดังจะเห็นได้ตั้งแต่เริ่มต้นบทความของเขา และใช้สำนวนโวหารว่าพระราชดำรัสนั้น"ตบหน้า" พันธมิตรฯและพวกให้ตื่นขึ้นมาดูการพังทลายทางความคิดของพวกตน เมื่อในหลวงไม่ทรงโปรดแนวทางนี้ และ"ได้อาย" ที่สร้างปัญหา "มั่ว"ทางการเมืองขึ้นมา นับได้ว่าเป็นความสะใจของสุภลักษณ์ ที่พยายามให้เกิดกับผู้อ่านด้วย
แต่ถ้าเราไม่มุ่งที่เพียงความสะใจ และในดวงจิตก็ไม่มีกิเลส ตัณหา หรืออุปทานที่อยากตอบโต้พวกพันธมิตรฯโดยเฉพาะที่มาจากภาคประชาชนให้สมกับความดื้อดึงทางการเมืองของพวกเขา หากเอาการได้เรียนรู้บทเรียนจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นสำคัญ ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า สุภลักษณ์จะมองปรากฎการวันที่ ๒๕ เมษายนด้วยความเยือกเย็น และเห็นความเป็นไปทางการเมืองได้อย่างที่มันเป็นจริง
ความจริงทางการเมืองที่ควรทำความเข้าใจอย่างยิ่งก็คือ พระราชอำนาจยามวิกฤต สุภลักษณ์ไม่ได้ตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดพระราชดำรัสขึ้น เขาเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า "เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทยไม่มีโอกาสจะได้เห็นบ่อยนักที่พระมหากษัตริย์จะทรงวินิจฉัยปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง ที่พสกนิกรของพระองค์กำลังเผชิญอยู่ให้ทราบโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง"
การตอบคำถามข้างต้น คือ หนทางไปสู่การรับรู้ความเป็นจริงทางเมืองที่เกิดขึ้น อันที่จริง สิ่งนี้ปรากฏอยู่ในข้อสังเกตของสุภลักษณ์เองบ้างแล้วที่เขาระบุว่า ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น แต่สิ่งที่เขามองไม่ชัดก็คือ เหตุการณ์ได้ลุกลามไปสู่สถานการณ์ที่ผู้เขียนเรียกว่าเป็น การปฏิวัติทางการเมืองโดยมวลชน อันเป็นผลของการเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณที่นำโดยพันธมิตรฯ ร่วมด้วยมวลชนเรือนแสนในกรุงเทพฯ และหัวเมืองสำคัญ โดยรัฐบาลถูกเปิดโปงอย่างกว้างขวางจากปฏิบัติการเคลื่อนไหวของมวลชน
สิ่งนี้ได้ทำให้รัฐบาลทักษิณไร้เสถียรภาพ และเกิดการแตกแยกในฐานทางทหาร ข้าราชการ และประชาชนกลุ่มต่างๆ จนไม่อาจบริหารราชการ และปกครองประเทศได้ รัฐบาลต้องหันมาจัดการชุมนุมมวลชนที่อยู่ในการจัดตั้งของตนเพื่อต้านทานกระแสการประท้วงของฝ่ายพันธมิตรฯ แต่ทว่าก็ไม่อาจต้านทานกระแสได้ เพราะพันธมิตรฯ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในเป้าหมายที่มุ่งโค่นอำนาจของนายกฯทักษิณจนส่งผลให้การเลือกตั้งมีผู้ร่วมต่อต้านรัฐบาลโดยใช้สิทธิ No Vote สูงถึงประมาณ ๑๐ ล้านเสียง ภาวะที่รัฐไม่อาจปกครอง และการต่อต้านรัฐบาลขยายตัวอย่างกว้างขวาง จึงนับเป็นดัชนีชี้ที่สำคัญถึงวิกฤตและการปฏิวัติของมวลชน
สถานการณ์นี้ได้เสนอปัญหาให้กับบรรดาชนชั้นนำที่ทรงอิทธิพลทั้งทางการเมือง และภาคธุรกิจว่า จะจัดการกับรัฐบาลที่ถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางนี้อย่างไร เพราะการปล่อยให้รัฐบาลทักษิณดิ้นอยู่ในอำนาจต่อนั้น รังแต่จะนำให้มวลชนที่สำแดงพลังผ่านการเลือกตั้งแล้ว ต้องออกมาสำแดงพลังในท้องถนนอีก ซึ่งย่อมต้องมีปริมาณมากกว่าการชุมนุมที่ผ่านมา และมีคุณภาพที่มุ่งมั่นโค่นรัฐบาลทักษิณอย่างมีสำนึก สิ่งเหล่านี้จะไม่เพียงโค่นรัฐบาลทักษิณลงเท่านั้น หากยังทำลายเสถียรภาพของประเทศในทุกๆ ด้าน ชนชั้นนำเหล่านี้ตระหนักถึงประเด็นนี้อย่างลึกซึ้งจากบทเรียนของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ และไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น ดังเราจะเห็นได้ว่ามีการนำเสนอพระราชดำรัสต่อพลเอกสุจินดาและจำลองทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเหนี่ยวรั้งปฏิบัติการของมวลชนไม่ให้ลุกลามออกไป
แล้วจะจัดการอย่างไร? ในอดีตการจัดการกับรัฐบาลที่ถูกต่อต้านจากมวลชน จนถึงขั้นเกิดการปฏิวัติทางการเมืองนั้นใช้แนวทางนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ดังกรณีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖และพฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งสถานการณ์มีลักษณะเฉพาะหลายประการคือ
ประการแรก รัฐบาลเดิมถูกต่อต้านจนหมดความชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมือง เพราะแม้ใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงจนนองเลือด ก็ยังไม่สามารถนำประเทศกลับสู่ความสงบเรียบร้อยได้โดยง่าย
ประการที่สอง การ "เอาถนอมลง" "เอาสุจินดาลง"นั้นอยู่ภายใต้การดุลกำลังทางทหาร และฝ่ายผู้เอาลงนั้นได้เปรียบในผลแห่งการดุลกำลังทางทหารนั้น จึงสามารถเอาลงสำเร็จประการที่สาม การเอาลงนั้นต้องมีทางออกที่ประนีประนอมให้ผู้ถูกเอาลงนั้น แม้หมดอำนาจ แต่ยังคงอยู่ได้รอดปลอดภัยในสังคม
ประการสุดท้าย การเคลื่อนไหวของประชาชนอยู่ในสภาวะที่แม้จะสามารถผนึกกำลังต่อสู้จนโค่นรัฐบาลได้ แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งตนเองขึ้นเป็นรัฐบาลใหม่แทนที่ได้ และขาดแนวทางและเค้าโครงการที่เป็นทางออกใหม่
ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ จึงเกิดการใช้พระราชอำนาจเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ด้วยการพระราชทานนายกรัฐมนตรีโดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ทว่าในกรณีวิกฤตของรัฐบาลทักษิณมีความแตกต่างออกไป และนี่เป็นสิ่งที่ในหลวงทรงตระหนักถึงการพระราชทานนายกฯอย่างลึกซึ้ง ดังพระราชดำรัส ๒๕ เมษายนตอนหนึ่งที่ว่า "ไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำ ก็จะทำ แต่นี่ไม่จำเป็น"
การจัดการกับรัฐบาลทักษิณจึงมีความแตกต่างออกไปหลายสถาน
ประการแรก รัฐบาลทักษิณยังไม่หมดความชอบธรรมลงไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ปราบปรามการเคลื่อนไหวจนนองเลือด ตรงกันข้ามกลับระแวดระวังยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามไปเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ยังเสริมความชอบธรรมด้วยการดำเนินการทางเมืองตามตัวบทรัฐธรรมนูญ เช่น การยุบสภาฯ การเลือกตั้ง เป็นต้น และการจัดชุมนุมกลุ่มผู้สนับสนุนเพื่อรักษาฐานเสียงของชาวชนบท ดังกรณีการเดินสายจัดชุมนุมของนายกฯทักษิณในภาคเหนือ ภาคอีสาน และกรุงเทพฯ และการชุมนุมของกลุ่มคาราวานคนจน
ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลทักษิณยังคงสามารถใช้คะแนนเสียง ๑๖ ล้านเสียงที่ได้จากการเลือกตั้งมาเสริมความชอบธรรมอีกโสตหนึ่งด้วย แม้ว่าเสียง No Vote จะสูงมากก็ตาม และเมื่อการเลือกตั้งต้องกลายเป็นโมฆะในเวลาต่อมา รัฐบาลทักษิณก็ยังใช้ความชอบธรรมของรัฐบาลรักษาการ ชูการต่อสู้เพื่อรักษารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยประการที่สอง การดุลกำลังกันในทางทหารนั้น แม้ดุลทางทหารฝ่ายรัฐบาลทักษิณยังคงเป็นฐานทางการเมืองค้ำบัลลังก์ของนายกฯทักษิณ ทว่าในท้ายสุดความได้เปรียบอยู่กับฝ่ายจะเอาทักษิณลง การออกมาระบุถึง "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"ของนายกฯทักษิณ อาจเป็นเพียงเสียงแห่งความหงุดหงิดสุดท้ายเมื่อพบว่า ฐานการเมืองและการทหารของตนกำลังถูกริดรอนให้เรียวลง โดยตนไม่อาจปกป้องได้ กรณีการโยกย้ายนายทหารครั้งล่าสุดที่ทำให้ตำแหน่งสำคัญของกองทัพภาคหนึ่ง เช่น ผบ.พล.๑รอ. ต้องหลุดจากการครอบครองของนายทหารรุ่น ตท.๑๐
และข่าวลือการแตกแยกภายในกลุ่มนายทหารรุ่น ตท.๑๐ ดังกรณี พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่๑ ท่าทีที่แข็งกร้าวของแม่ทัพภาคที่ ๓ ยืนยันการเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมกับท่าทีเดียวกันนี้สำแดงออกอย่างมีพลังของพลเอกเปรม ในการเดินสายปาฐกถาตามเหล่าทัพต่างๆ กรณีการลาออกของบวรศักดิ์ และวิษณุซึ่งเป็นเจ้าหน้าบริหารระดับสูงของรัฐบาล
ประการที่สาม พันธมิตรฯมีเป้าหมายเพียงการโค่นรัฐบาลทักษิณ และด้วยข้อเรียกร้องขอพระราชทานนายกฯโดยอิงมาตรา ๗ เท่ากับยอมรับพระราชอำนาจยามวิกฤตดังที่เคยปรากฏมา
นี่คือคำตอบของการเกิดพระราชดำรัส ๒๕ เมษายน และช่วยอธิบายสิ่งที่นักวิชาการขนานนามว่าเป็น "ตุลาการภิวัฒน์" ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วหมายถึง ปฏิบัติการทางการเมืองของอำนาจศาล ที่มีฐานทางการเมืองการทหารภายใต้พระราชอำนาจรองรับไว้พร้อมมูลแล้ว และมีความชอบธรรมอย่างสูงเพราะอิงกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยผ่านทางสถาบันศาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ นี่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เราได้เห็นอำนาจศาล ถูกใช้เพื่อผดุงความยุติธรรมอันเนื่องมาจาก ปัญหาการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ต่อรัฐบาลและพรรคไทยรักไทย ดังในกรณีการจัดการเลือกตั้ง และการดำเนินการของ กกต. จนทำให้เกิดคำพิพากษาที่ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะ และกกต.ถูกตัดสินว่ามีความผิด และข้าราชการระดับสูงถูกจำคุกถึง ๓ คน
ผลของการนี้ยิ่งช่วยทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณ และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ผลของการเลือกตั้งน่าจะทำให้พรรคไทยรักไทย ไม่อาจครองเสียงข้างมากแต่เพียงพรรคเดียวในสภาได้อีกต่อไป รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมที่มีการต่อรองกันภายใน และรักษาผลประโยชน์ของระบบโดยรวมได้ดีกว่ารัฐบาลเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว ที่มักจะโน้มเอียงรักษาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มทุนบางกลุ่ม ซึ่งมักจะจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนด้วยกัน และกลุ่มทุนกับภาคประชาชน และถูกแก้ได้ยากเนื่องจากความทะนงในอำนาจของพรรคเสียงข้างมาก
ยิ่งไปกว่านั้นสังคมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ปราศจากการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐขนานใหญ่อีก นี่คือเป้าหมายของการสำแดงออกซึ่งพระราชอำนาจยามวิกฤต สำหรับผู้เขียนแล้วนี่คือพระอัจฉริยภาพทางการเมืองและพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงต้องการรักษาระบบสังคมที่เป็นอยู่นี้
จากนี้ไปเป็นความเห็นที่ผู้เขียนชวนสุภลักษณ์ทำความเข้าใจพระราชดำรัสฯอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้แห็นว่า ได้เกิดวิกฤติทางการเมือง การปฏิวัติทางการเมืองของมวลชน และพระราชอำนาจเพื่อคลี่คลายวิกฤตขึ้นแล้ว อันจะเป็นฐานการทำความเข้าใจต่อผลสะเทือนของการเคลื่อนไหวภายใต้การนำของพันธมิตรฯอย่างตรงไปตรงมา
พันธมิตรฯ และการปฏิวัติการเมือง
ในภาพรวมความเป็นไปทางการเมืองเช่นนี้ ถ้าสุภลักษณ์เห็นด้วยกับผู้เขียนว่า ได้เกิดการปฏิวัติทางการเมืองของมวลชนขึ้นแล้ว
เขาจะเห็นด้านบวกของพันธมิตรดังที่เขาได้เขียนถึงแล้วโดยอ้างอิงทัศนะของนิธิว่า
พันธมิตรฯ "เป็นขบวนการที่ปลุกความกล้าในการท้าทายอำนาจของทักษิณได้อย่างชัดเจนที่สุด
หลังจากประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัวอำนาจเบ็ดเสร็จของเขามานาน... เพื่อแสดงออกว่า
ตัวเองไม่สยบยอมต่ออำนาจทักษิณ แม้ว่าคนที่ไปทั้งหมดจะไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่สนธิพูดก็ตาม"
การเห็นด้านบวกของพันธมิตรหมายถึงเห็นด้วยว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณเป็นภาระกิจสำคัญ ด้วยตระหนักถึงภาพรวมของปัญหาที่รัฐบาลทักษิณได้ก่อขึ้น ได้แก่ ปัญหาการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย เช่นการออก พรก.ภาษีสรรพสามิตบริการโทรคมนาคม, การทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดแบบซีทีเอ็กซ์ ๙๐๐๐ของสนามบินสุวรรณภูมิ, การแทรกแซงสื่อสารมวลชน เช่น การครอบงำกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี, การพยายามซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์มติชน, การครอบงำองค์กรอิสระ ดังกรณีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน การเข้าไปมีอิทธิพลกรณีบทบาทของเสียงข้างมากในวุฒิสภา, ในศาลรัฐธรรมนูญ, ใน ปปช. เป็นต้น. การแก้ไขปัญหาภาคใต้จนสร้างบาดแผลให้สังคมดังกรณีกรือเซะ และตากใบ, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ส่อไปในทางอำนวยผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเครือญาติ และนักการเมืองของตน เช่น กรณี ปตท. กรณีกฟผ. เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยการเคลื่อนไหวให้มวลชนได้เห็นภาพรวมนี้อย่างชัดเจน ได้พัฒนาจิตสำนึกของมวลชนไปสู่การเรียกร้องถอดถอนอำนาจรัฐอย่างทรงพลังที่สุด เมื่อตระหนักเห็นแล้วว่า รัฐบาลนั้นใช้อำนาจไปในทางที่ผิดจนมิอาจให้อยู่ปกครองประเทศได้ จิตสำนึกนี้ได้รับการพัฒนาให้หลุดพ้นจากการยอมตามการกำหนดจากสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่นายทุนใหญ่มีอำนาจอย่างเชื่องๆ ในสถานการณ์ปกติ เช่นยอมเป็นเพียงผู้หย่อนบัตรเลือกตั้ง ผู้ร่วมลงชื่อถอดถอน เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น มวลชนตระหนักเป็นอย่างดีว่า ช่องทางการเปลี่ยนแปลงนายกฯ และรัฐบาลนั้นถูกปิดตาย ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภาที่เสียงข้างมากเอียงข้างรัฐบาลเสมอมา หรือกรณีศาลรัฐธรรมนูญลงมติ ๘ ต่อ ๖ ไม่รับคำร้องของ ๒๘ สมาชิกวุฒิสภาที่ขอให้วินิจฉัยกรณีนายกฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับหุ้นบริษัทชินวัตรฯนั้น ถือว่าขาดคุณสมบัติของการเป็นนายกฯ เป็นต้น สิ่งที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ดูมีหลักการสวยหรู ทว่าในความเป็นจริงทางการเมืองแล้ว มวลชนเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า อำนาจและเงินตรากลับมีอิทธิพลเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ (แม้แต่ของยุโรปหรือสหรัฐฯ ที่พัฒนาประชาธิปไตยมาอย่างเข้มข้นกว่าไทย) ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิชุมนุมเพื่อโค่นรัฐบาลได้ ถ้ารัฐบาลนั้นฉ้อฉล (เจตนารมณ์นี้เคยระบุไว้ในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯในการปฏิวัติปลดแอกตนเองจากการปกครองของอังกฤษนานมาแล้ว) ดังนั้น การเคลื่อนไหวปฏิวัติ หรือโค่นรัฐบาล จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่ไปพ้นจากรัฐธรรมนูญ
เมื่อมวลชนหลุดพ้นจากกรอบจำกัดของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มวลชนได้พัฒนาตนมาเป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่มุ่งโค่นอำนาจของรัฐบาลที่ฉ้อฉลด้วยข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่า "ทักษิณ ออกไป" จนนำไปสู่สถานการณ์ปฏิวัติ นี่คือ การปฏิวัติที่มวลชนเคยปฏิบัติการมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทยถึงสองคราคือ การปฏิวัติเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ และเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕
การปฏิวัติเกิดขึ้นจากยุทธวิธีการต่อสู้ที่ถูกต้องด้วย นั่นคือ การรวมกำลังแนวร่วม(United Front) เพื่อช่วยกันระดมกำลังของมวลชนให้เข้าต่อสู้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นการเข้าร่วมของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนนำโดย ครป. และกองทัพธรรมของจำลองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะได้ทำให้เนื้อหาการต่อสู้เปิดโปงรัฐบาลมีความหลากหลาย น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เช่น เปิดโปงการคอรัปชั่น, การขายหุ้นของนายกฯ, การโจมตีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, การวิจารณ์นโยบายเอฟทีเอ เป็นต้น และทำให้มวลชนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักมากขึ้นดังการชุมนุมวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ที่เปิดตัวพันธมิตรฯ และขยายไปสู่การนัดชุมนุมใหญ่และยืดเยื้อที่ท้องสนามหลวงในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์, การชุมนุมใหญ่และเดินขบวนในวันที่ ๕ มีนาคม, การชุมนุมปิดล้อมทำเนียบวันที่ ๑๔ มีนาคม, การชุมนุมยืดเยื้อที่สะพานมัฆวานวันที่ ๒๕ มีนาคม, และการชุมนุมใจกลางย่านธุรกิจสยามสแควร์วันที่ ๒๙ ถึง๓๐ มีนาคม, โดยส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมเรือนแสนทั้งสิ้น
เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวเพียงลำพังของกลุ่มสนธินับแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๘ มาจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ซึ่งสร้างฐานมวลชนในหลักหมื่น และกำลังเลยผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและพบว่ายังไม่สามารถระดมมวลชนอย่างมีพลังและกว้างขวางกว่านี้ได้ ดังจะเห็นได้จากการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ตามห้องประชุมใหญ่ในที่ต่างๆ นำไปสู่การขีดเส้นตายให้นายกฯลาออกครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งไม่มีความหมาย และจบลงที่การเดินขบวนไปขอพบพลเอกเปรมที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ และการบุกทำเนียบ ซึ่งไม่ได้สร้างผลสะเทือนมากนัก ประกอบกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนี้ที่ชูธงให้เกิดการใช้พระราชอำนาจนั้น สร้างความหวาดระแวงและไม่เห็นด้วยให้เกิดขึ้นกับปัญญาชน นักกิจกรรม ตลอดจนผู้ที่สนใจการเมือง และใฝ่ใจในประชาธิปไตยแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสนธิมีทุน และสื่อที่ทรงพลังในมือ เมื่อกลุ่มองค์กร "ภาคประชาชน" เข้าร่วมได้อาศัยประโยชน์ของสองสิ่งนั้น ทำการเปิดโปง และต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างมีพลัง สิ่งนี้ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนประสบความสำเร็จในหลายประเด็น อาทิ การเคลื่อนไหวต่อต้านการแปรรูป กฟผ.ที่ยืดเยื้อมากว่าสองปีและอ่อนแรงลงเมื่อคนงาน กฟผ.ถูกริดรอนพลัง เหลือแต่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้นำแรงงานกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่เคลื่อนไหวโดยปราศจากฐานมวลชน เช่น การยื่นหนังสือคัดค้าน การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เป็นต้น
ทว่าการเรียกร้องประสบผลท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณของพันธมิตรฯ โดยศาลฯตัดสินให้การจัดตั้งบริษัท กฟผ.ฯไม่ชอบด้วยกฏหมายเมื่อ ๒๓ มีนาคม นอกจากนี้กลุ่มสมัชชาคนจนที่ชุมนุมระหว่างวันที่ ๒๐ ถึง ๒๗ กุมภาพันธ์ ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาเขื่อน และกรณีป่าชุมชน ทั้งนี้เพราะรัฐบาลต้องการลดทอนกระแสการรวมตัวขับไล่นายกฯ และสุดท้ายกรณีที่ศาลยกฟ้องคดีที่บริษัทชินคอร์ปฯ ฟ้องต่อสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม เป็นต้น ดอกผลเหล่านี้บังเกิดได้ก็ด้วยแรงกดดันจากการเคลื่อนไหวของมวลชนภายใต้การนำของพันธมิตรฯ
การเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณของพันธมิตรฯและมวลชนอันทรงพลัง ทำให้รัฐบาลใช้การยุบสภา และชูการเลือกตั้งเป็นทางออก ขณะเดียวกันก็จัดการชุมนุมกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลตามหัวเมือง และในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างกระแสต้านทาน ทว่าก็ไม่อาจต้านทานได้ ยิ่งพรรคการเมืองฝ่ายค้านรวมตัวกันบอยคอตการเลือกตั้ง ก็ยิ่งทำลายความชอบธรรมของทางออกนั้นมากขึ้น การเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณดำเนินไปถึงจุดสุดยอดคือ การออกมาของมวลชนเพื่อใช้สิทธิ No Vote ในการเลือกตั้งสูงถึง ๑๐ ล้านคน สิ่งนี้ชี้ถึงระดับจิตสำนึกของมวลชนที่ก้าวหน้าถึงขั้นการประท้วงผ่านการใช้สิทธิออกเสียง จนนายกฯ ต้องออกมาประกาศเว้นวรรคทางการเมือง และตามมาด้วยกระบวนการตุลาการภิวัฒน์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกำลังนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ที่บริสุทธิ์และยุติธรรมมากขึ้นกว่าเดิม
นี่คือความแตกต่างระหว่างการยอมรับสถาบันทางการเมืองของประชาธิปไตยแบบนายทุน( Bourgeois Democratic Institute) ที่รัฐบาลเรียกร้องต่อมวลชน กับการเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชน (Democratic Demand) ที่สำแดงออกโดยการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ด้วยความเป็นจริงของการปฏิวัติเป็นที่ประจักษ์เช่นนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า สุภลักษณ์น่าจะเห็นประโยชน์ของการเคลื่อนไหวที่มีระบบสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ และมีการใช้ทุนสนับสนุนจากกลุ่มทุน และประชาชนในวงกว้าง นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องที่สุภลักษณ์มีต่อกลุ่มองค์กร "ภาคประชาชน" ให้ถอนตัวออกจากการเคลื่อนไหว ในกรณีที่กลุ่มสนธิสอดไส้ข้อเรียกร้องนายกฯพระราชทานลงในแถลงการณ์ฉบับที่สอง เป็นข้อเสนอที่มีผลลดทอนอำนาจการรวมตัวของพันธมิตรฯ บนยุทธศาสตร์การปฏิวัติรัฐบาลทักษิณของมวลชน กลุ่มองค์กร "ภาคประชาชน"ไม่ได้เพียง "เกาะกระแส"และ "ตามขบวนแห่"ของกลุ่มสนธิ แต่เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการขยายประเด็นปัญหาการเปิดโปง และฐานมวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
แม้ว่ากลุ่มผู้นำขององค์กรเหล่านี้จะไม่มีมวลชนในจัดตั้งของตนมาร่วมสมทบ นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการเคลื่อนไหวมวลชน ไม่ใช่การสั่งการ และรวมกำลังมวลชนที่มีอยู่ในการจัดตั้งของตน แต่เป็นการเปิดโปงความเลวร้ายของรัฐบาล และระดมความเห็นพ้องต้องกันจากมวลชนอย่างกว้างขวาง เพื่อประท้วงและต่อต้าน กลุ่มสนธิก็เคลื่อนไหวมวลชนในลักษณะเดียวกันนี้
พิภพ และพวกตระหนักถึงสิ่งนี้ดีว่า เพื่อรักษาเป้าหมายยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงต้องประนีประนอมภายในกลุ่มผู้นำของพันธมิตรฯ ในกรณีความเห็นที่แตกต่างเรื่องนายกฯพระราชทาน คนนอกการเคลื่อนไหวอย่างนิธิเองก็เข้าใจประเด็นนี้ ในคราวที่เขาเข้าร่วมอภิปรายเรื่องมาตรา ๗ ที่สนนท.จัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม แม้จะ "คันปาก" อยากวิจารณ์การประนีประนอมของพิภพและพวก เพราะเกรงจะกระทบกับเป้าหมายการเคลื่อนไหว
พันธมิตรฯ กับประชาธิปไตยทางตรง
เรื่องนายกฯพระราชทาน เป็นประเด็นวิจารณ์สำคัญของสุภลักษณ์ ผู้เขียนโดยจุดยืนแล้วเห็นตรงกับสุภลักษณ์ว่า
เราอยากเห็นขบวนการประชาชนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้
แต่เหตุที่พิภพและพวก ซึ่งแรกเข้าร่วมกับกลุ่มสนธิด้วยเงื่อนไขไม่ชูเรื่องการขอนายกฯพระราชทานในการเคลื่อนไหว
แต่ในที่สุดก็ยอมรับเรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องจนได้นั้น มาจากช่องว่างระหว่างเป้าหมายของการปฏิวัติ
กับ ความสามารถอันจำกัดในการนำการเคลื่อนไหวมวลชนไปสู่การจัดตั้งตนเองเข้าแทนที่รัฐบาล
เป้าหมายของการปฏิวัติ หรือคือการโค่น "ระบอบทักษิณ" คือแรงกดดันให้พิภพและพวกต้องวางจุดยืนของตนหนักไปทางการสร้างเอกภาพในการเคลื่อนไหว และระดมการเข้าร่วมของมวลชน ความโน้มเอียงดังกล่าวทำให้ทำให้เรื่องอื่นๆ กลายเป็นเรื่องรอง และขึ้นกับเป้าหมายนั้นเป็นสำคัญ
แต่เรื่องนายกฯพระราชทาน ไม่ใช่เรื่องรอง, ตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่องอีกด้านหนึ่งของเหรียญแห่งเป้าหมายยุทธศาสตร์นั่นเอง กล่าวคือ การโค่นระบอบทักษิณจะต้องถูกแทนที่ด้วยอำนาจของประชาชนได้อย่างไร และการขอนายกฯพระราชทาน เป็นการขอให้มีการกระทำแทนประชาชน มิใช่การริเริ่มของการใช้อำนาจประชาชนด้วยตัวของมวลชนเอง
ในเมื่อมวลชนได้ออกมาร่วมปฎิบัติการทางการเมืองเพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณ เอกภาพของสิ่งนี้ควรจะเป็นการจัดตั้งตนเองของประชาชน(Self-organization) เพื่อแทนที่รัฐบาลเดิม พิภพและพวกยังคิดไปไม่ถึงสิ่งนี้ ทว่าในกระบวนการเคลื่อนไหว ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จำต้องหาคำตอบให้ได้ว่า หลังโค่นรัฐบาลทักษิณแล้ว จะแทนที่ด้วยอะไร? พิภพและพวกพบว่า พวกเขาคิดไม่ออกเลยว่า การจัดตั้งตนเองของประชาชนเป็นอย่างไร จึงเหลือทางออกเดียวคือ การขอนายกฯพระราชทาน
แม้แต่ผู้วิจารณ์อย่างสุภลักษณ์ก็คิดถึงสิ่งนี้ไปไม่ตลอดกระบวนการ
เขาวิจารณ์การขอนายกฯพระราชทานด้วยกรอบเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ โดยโน้มเอียงไปยอมรับสถาบันทางการเมืองของประชาธิปไตยแบบนายทุน
(Bourgeois Democratic Institute) กล่าวคือ การขอให้ใช้มาตรา ๗ เป็นสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ทางออกที่เขาเสนอให้พันธมิตรฯคือ แทนที่การจัดชุมนุมประท้วง ด้วยการจัดตั้งมวลชนโดยเฉพาะในชนบทเพื่อรณรงค์ให้ไปเลือกตั้งวันที่
๒ เมษายน และไม่เลือกพรรคไทยรักไทย อันที่จริงรัฐบาลทักษิณก็คัดค้านการใช้มาตรา
๗ ด้วยเหตุผลเดียวกับของสุภลักษณ์ และชวนให้มวลชนเล่นตามกติกา คือไปใช้สิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกับของสุภลักษณ์
สุภลักษณ์น่าจะรู้อยู่แก่ใจดีว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นยุทธวิธีที่รัฐบาลใช้สยบการเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลของมวลชน เพราะด้วยอำนาจและเงินตรา พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งแน่นอน สุดท้ายมวลชนจะถูกบีบให้ยอมรับผลการเลือกตั้งและยุติการเคลื่อนไหว ยิ่งสุภลักษณ์หวังจะใช้การรณรงค์มวลชนในชนบทด้วยเวลาเพียงไม่ถึงสองเดือนเพื่อให้ได้เสียง No Vote ชนะพรรคไทยรักไทย ภายใต้สภาพที่โครงสร้างอำนาจและเงินตราของพรรคไทยรักไทยมีอิทธิพลกับคนชนบทมาเกือบห้าปี ยิ่งมิเป็นการคิดที่ไร้เดียงสาอย่างยิ่งดอกหรือ นี่คือผลของการคิดโน้มเอียงอยู่ในกรอบการยอมรับสถาบันการเมืองของประชาธิปไตยแบบนายทุนโดยแท้
แต่สิ่งที่มวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวภายใต้การนำของพันธมิตรฯ คิดและกระทำนั้น พ้นไปจากกรอบนี้ พวกเขามีจุดยืนอยู่ที่การเรียกร้องประชาธิปไตย(Democratic demand) และข้อเรียกร้องของพวกเขาคือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยการระดมมวลชนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง. สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของการก่อรูปก่อร่างประชาธิปไตยทางตรง(Direct democracy) ซึ่งหมายถึง การเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐ ด้วยการจัดตั้งตนเองอย่างกว้างขวาง ในรูปของสภาตัวแทนประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อใช้อำนาจประชาชนโดยตรงแทนที่อำนาจรัฐบาลเดิม
สิ่งนี้เองที่มวลชนยังขาดอยู่ นั่นคือ ความสามารถในการจัดตั้งตนเอง พวกเขายังคิดไปไม่ถึงเช่นกัน ประสบการณ์การปฏิวัติ ๑๔ ตุลาคม และพฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็ไม่มีคำตอบให้กับพวกเขา ภาระนี้ตกอยู่กับความสามารถของกลุ่มผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างพิภพและพวก แต่น่าเห็นใจที่พวกเขาก็เข้าไปนำมวลชนอย่างขาดประสบการณ์ของสิ่งนี้ ทำให้พวกเขาไม่คิดที่จะนำมวลชนสร้างการจัดตั้งของตนเองขี้นเป็นอำนาจใหม่
ถ้าพิภพและพวกต้องการเสริมส่งอำนาจประชาชนแล้วไซร้ พวกเขาควรผลักดันให้เกิดการปรับการจัดตั้งเพื่อนำการเคลื่อนไหว ไม่ให้การตัดสินอยู่เพียงผู้นำกลุ่มเล็กเพียงห้าคน ตรงกันข้ามควรเสนอให้การตัดสินใจอยู่ที่องค์กรที่มีตัวแทนของมวลชนเข้าร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ องค์กรนี้ได้มาจากการให้มวลชนที่เข้าร่วม และที่จะเข้าร่วมอีกอย่างกว้างขวางนั้น เลือกตัวแทนมาร่วมกันประชุมในรูปแบบของสภา หรือสมัชชาของประชาชน การเลือกนั้นอาจเป็นการเลือกตามองค์กรที่ประชาชนมีอยู่เดิม เช่น สหภาพแรงงาน, กลุ่มเกษตกร, กลุ่มชุมชน, กลุ่มเพื่อนบ้าน, กลุ่มองค์กรประชาชนอื่นๆ, กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน, กลุ่มนักวิชาการ, ข้าราชการ เป็นต้น
และให้สภาหรือสมัชชานี้ทำหน้าที่ประชุมและกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว ทั้งนี้โดยมีหลักการต่อสู้ร่วมกันคือ การต่อต้านระบอบทักษิณ การขัดแย้งในแนวทางการเคลื่อนไหวหลัก เช่น จะขอนายกฯพระราชทานหรือไม่ จะเป็นประเด็นที่ต้องมาแลกเปลี่ยนอภิปรายกันในสภาหรือสมัชชาแห่งนี้ กลุ่มสนธิ กลุ่มพิภพ หรือกระทั่งกลุ่มของสุภลักษณ์จะเป็นกลุ่มผลักดันทางความคิดต่อผู้แทนมวลชนเหล่านี้ และลงมติกันด้วยเสียงข้างมาก นี่จึงจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง
ถึงตรงนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ข้อเสนอนี้น่าจะใกล้เคียงกับ "ขบวนการประชาชนที่พึงปรารถนา" ของสุภลักษณ์ที่มุ่งหวังจะเห็น "การประท้วงตามท้องถนนสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นขบวนการประชาชนได้โดยการสร้างเครือข่ายไปในระดับทั่วประเทศ" ผู้เขียนเพียงอยากให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งนี้คือ อำนาจใหม่ที่จะมาแทนที่อำนาจรัฐเดิม และจะบังเกิดได้ก็ในสถานการณ์ปฏิวัติที่มวลชนออกมาร่วมการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ดังนั้นตัวอย่างที่สุภลักษณ์ยกมาคือ สมัชชาคนจนนั้น จึงเป็นเพียงกลุ่มกดดันของมวลชนในประเด็นปัญหาสังคมของกลุ่มตน และเคลื่อนไหวเรียกร้องตามวาระโอกาสในสถานการณ์ปกติ โดยมีการสนับสนุนเข้าร่วมของมวลชนในวงจำกัด ขณะที่พันธมิตรฯคือกลุ่มนำการเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาการโค่นรัฐบาลในสถานการณ์ที่มีวิกฤติทางการเมือง และการปฏิวัติโดยมีมวลชนเข้าเคลื่อนไหวอย่างยืดเยื้อเป็นเรือนแสน
พันธมิตรฯ และการเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณ เป็นแบบฝึกหัดทางการเมืองที่สำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ถึงการต่อสู้ทางการเมืองสมัยใหม่ แทบไม่มีประเทศใดในโลกไม่พานพบกับวิกฤติการทางเมืองและการปฏิวัติของมวลชน สังคมไทยผ่านสิ่งนี้มาถึง ๓ ครั้ง ๓ คราแล้ว การได้ถกเถียงในเรื่องสำคัญนี้กับสุภลักษณ์ช่วยเพิ่มพูนสติปัญญาของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการได้ไตร่ตรองถึงดอกผลแห่งการต่อสู้ ช่วยให้มองหนทางข้างหน้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ประโยชน์ย่อมตกแก่ความก้าวหน้าของการเมืองภาคประชาชนในภายภาคหน้า ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า พิภพและพวกก็คิดเช่นนี้
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
มวลชนของพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ คือ แฟนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของสนธิ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางในเมือง รวมกับคนทำงานให้กับองค์กรแรงงานของสมศักดิ์ สมาชิกกองทัพธรรมของจำลอง และเครือข่ายของกลุ่ม NGOs อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก คนที่เข้าร่วมการชุมนุมและเดินขบวนด้วยในแต่ละครั้ง เป็นคนที่ติดตามการเคลื่อนไหวของสนธิมาก่อน และคนในเมืองที่รับฟังทัศนะทางการเมืองของพันธมิตรจากสื่อมวลชน ข้าวกล่องจากร้านมีชื่อ, กาแฟควันฉุยหอมกรุ่นจากหลังเวทีพันธมิตร, ประสานกับเสียงเพลงแจ๊สจากบราวน์ชูการ์บนเวทีอภิปราย