โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 14 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๕๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 14,02.2007)
R

อำนาจการกำหนดทิศทางของประชาชน กรณีการพัฒนาเมือง
เมื่อนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พูดเรื่องทิศทางการพัฒนาเมือง
รวบรวมคำบรรยายของ นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

คำบรรยายต่อไปนี้ได้รับมาจากสำนักข่าวประชาธรรม ประกอบด้วย
๑.
ภาคประชาชนเชียงใหม่ระดมสมองกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง
๒.
หลัก ๔ ประการในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่
เป็นการนำเสนอแนวคิดการกำหนดทิศทางเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองของผู้บรรยาย
โดยประชาชนเชียงใหม่ถือเป็นแบบอย่างเมืองใหญ่ทั่วประเทศที่มีสำนึกดังกล่าว
แต่ทำไมจึงยังไม่สามารถออกแบบ กำหนดทิศทาง หรือวางผังเมืองตามวัตถุประสงค์ได้
และอะไรคือทางออกที่เป็นไปได้สำหรับเรื่องเหล่านี้
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๕๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๘ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

เมื่อนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พูดเรื่องทิศทางการพัฒนาเมือง
รวบรวมคำบรรยายของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

1. ภาคประชาชนเชียงใหม่ระดมสมองกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง
เชียงใหม่ / "นิธิ เอียวศรีวงศ์"ชี้ชุมชน-องค์กรท้องถิ่นยังขาดอำนาจการจัดการตนเอง แจงการตัดสินใจยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง แนะดึงฐานมวลชนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา-สร้างฐานความรู้. ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ชี้คนเชียงใหม่ต้องกำหนดอนาคตตัวเอง

13 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตวัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ชมรมเพื่อเชียงใหม่, เครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเมืองเชียงใหม่, ภาคีคนฮักเจียงใหม่, เครือข่ายชุมชนเมือง และองค์กรพันธมิตร ร่วมจัดเวทีติดตามนโยบายสาธารณะ จ.เชียงใหม่ ตอน "เราจะมีส่วนร่วมในการดูแลเมืองเชียงใหม่อย่างไร ?" โดยมีประชาชนชาว จ.เชียงใหม่ นักวิชาการ นักศึกษา ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนกลางเป็นผู้ควบคุมเกือบทั้งหมดโดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาต่างๆส่งผลให้ท้องถิ่นไม่สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ได้ และหากพิจารณาให้ลึกลงไปก็จะพบว่า กลุ่มที่เข้ามากำหนดการเปลี่ยนแปลงของเมืองจะมีอยู่ 2 พวก คือนักการเมืองกับนักธุรกิจ. คน 2 กลุ่มนี้มีกำลังแปรเปลี่ยนเมืองตามความปราถนาของตัวเองได้ ดังนั้นการเคลื่อนไหวเพื่อมีส่วนร่วมในการกำกับการพัฒนากับการเคลื่อนไหวเพื่อกำกับอำนาจจากส่วนกลาง จึงเป็นเรื่องเดียวกันที่แยกออกจากกันไม่ได้

ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อว่า ภายใต้เงื่อนไขเหล่านั้นสิ่งที่ภาคประชาชนสามารถทำได้คือ

1. การจัดตั้งองค์กรทางสังคมที่มีฐานกว้างกว่านักวิชาการหรือคนแก่ๆ ที่อ้างว่ารักเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนน้อย และไม่มีทางสร้างพลังต่อรองได้ การจัดตั้งองค์กรทางสังคมดังกล่าวจึงเรียกว่า"การเมืองมวลชน" ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

2. การสร้างฐานความรู้ในการจัดองค์กรทางสังคมให้มีฐานมวลชนที่กว้างขวาง ที่ผ่านมากลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะกลุ่มคนเล็กๆ ที่เข้าไปร่วมยังไม่มีอำนาจต่อรองกับคนในกลุ่มที่เป็นคนหมู่มากได้ และในที่สุดกลุ่มคนเล็กๆเหล่านั้นก็ถอยออกไป ดังนั้นจำเป็นต้องทำให้กลุ่มคนเล็กๆ เหล่านั้นมีอำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกับคนกลุ่มอื่นๆ ให้ได้ก่อน จึงจะเกิดการเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพได้

"หากจะพูดว่ารักเชียงใหม่ สิ่งแรกที่คุณต้องรักคือรักคนเชียงใหม่ก่อน หากขาดสิ่งนี้ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นคุณต้องรักผู้คนก่อน ก่อนที่จะไปรักกำแพงเมือง, คูเมือง, หรือดอยสุเทพ, ไม่ใช่บอกว่ารักเชียงใหม่แล้วคุณไปประกาศห้ามชาวบ้านขายของบนทางเท้าเพราะทำให้เกิดทัศนะอุดจาด แล้วจะเอาเขาไปไว้ที่ไหน" ศ.ดร.นิธิ กล่าว

3. ส่วนแนวทางต่อมานั้น นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวไม่ใช่อยู่ที่การรักษาดอยสุเทพ แต่ต้องทำให้เมืองเป็นสมบัติร่วมของคนในเมืองด้วย ต้องให้เขามีความรู้สึกร่วมว่าเขาคือเจ้าของ ไม่ใช่เอาเมืองไปบำเรอนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจเพียงอย่างเดียว และ

4. ต้องเคลื่อนไหวผลักดันเพิ่มอำนาจประชาชนและอำนาจท้องถิ่น อย่างปัจจุบันอำนาจท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรยังไม่มีเลย ดังนั้นต้องมีการเพิ่มอำนาจตรงนี้ด้วย

นายวสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นสาเหตุหลักมาจากปัญหาสิทธิชุมชนถูกละเลย ส่งผลให้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จึงมักส่งผลกระทบต่อประชาชน กรณีปัญหาเหล่านี้ที่ผ่านมามีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิฯ เป็นจำนวนมาก กรณี จ.เชียงใหม่ก็เช่นเดียวกัน อย่างปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2548 รัฐจะแก้ปัญหาโดยจะสร้างประตูระบายน้ำและรื้อฝาย 3 ฝาย เรื่องนี้กลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 3 ฝายร้องเรียนมาที่กรรมการสิทธิฯ เราลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริงดูก็พบว่า บริเวณต้นน้ำปิงแถบ อ.เชียงดาว มีการบุกรุกป่าต้นน้ำ โดยเฉพาะปี 2548 สูงถึง 1.7 แสนไร่ มีผู้บุกรุกกว่า 7,000 คน

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษายังพบว่าการแก้ปัญหาดังกล่าว ยังมีแผนการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นมาอีก 3 แห่งคืออ่างเก็บน้ำแม่แตง ต.แสนไห อ.เวียงแหง, อ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว, และอ่างเก็บน้ำเมืองกึ๊ด ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง. อ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่งนี้ล้วนอยู่ในเขตต้นน้ำทั้งสิ้น แต่หากพิจารณาถึงต้นเหตุแห่งปัญหาน้ำท่วม ทั้งกรณีการบุกรุกป่าต้นน้ำ การบุกรุกริมตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำปิงในเขตเมืองกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ. ดังนั้นแนวทางการพัฒนา การดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้คนเชียงใหม่ต้องร่วมกันพิจารณาว่าจะเอาอย่างไร ต้องช่วยกันกำหนดทิศทางของเมืองเชียงใหม่ด้วยตนเอง

นายวีรวัฒน์ ธีรประสาธน์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวตนเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จริงๆ แล้วประชาชนยังมีเครื่องมืออยู่ตัวหนึ่งที่หากนำมาใช้อย่างจริงจัง จะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ นั่นคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่เน้นชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องมีความอุดมสมบูรณ์

นายวีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นต่อจากนี้ไป ประชาชนต้องตามจี้ส่วนราชการทั้งหลายว่าการดำเนินการโครงการ นโยบายต่างๆ มีความสอดคล้องกับแผนฯ 10 หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือ เป็นเกราะในการต่อสู้ ปกป้องวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาแทบไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก ดังนั้นประชาชนต้องให้ความสนใจกับแผนฯ 10 และต้องกระตุ้นส่วนราชการให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแผน

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีดังกล่าวนี้ ผู้เข้าร่วมเวทียังมีการระดมข้อเสนอต่อประเด็นที่ว่า "เราจะมีส่วนร่วมในการดูแลเมืองเชียงใหม่อย่างไร ?" ซึ่งสามารถสรุปข้อเสนอได้ว่า ต้องมีการสร้างกระบวนการความร่วมมือของชาวเชียงใหม่ทุกภาคส่วนในการกำหนดทิศทางการเติบโตของเมืองเชียงใหม่, ขณะเดียวกันต้องมีการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีพลังในการต่อรอง และยังต้องสร้างสำนึกรักท้องถิ่นให้แก่คนในชุมชน รัฐต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนจัดการตนเอง ร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง ดิน น้ำ ป่า รวมทั้งทรัพย์สินส่วนรวม และที่สำคัญต้องทำให้เมืองเชียงใหม่มีวิถีชีวิต ไม่ใช่ถูกกำหนดให้เติบโตเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น

สำนักข่าวประชาธรรม

2. หลัก ๔ ประการในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่
"ก่อนที่จะรักกำแพงเมือง รักคูเมือง รักดอยสุเทพ คุณต้องรักคนเชียงใหม่ก่อน"
นิธิ เอียวศรวงศ์

...คิดว่าเวลาคุณพูดว่าฮักเชียงใหม่ ต้องระวังให้ดีว่าเรารักอะไรกันแน่ รักเจดีย์องค์นั้น, รักดอยสุเทพ, รักกำแพงโบราณ, รักคูเมือง, แต่รักสิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์เลยถ้ามันไม่มีคนอยู่ในนั้น ดังนั้นผมคิดว่าฮักเจียงใหม่นี่ สิ่งแรกที่คุณจะต้องรักก่อนคือ "รักคนเชียงใหม่..."

14 กุมภาพันธ์ 2550
ผมจะไม่เริ่มด้วยการบอกว่าการมีส่วนของคนท้องถิ่นกับการพัฒนาเมืองมีความสำคัญอย่างไร เพราะทุกท่านคงเห็นในแง่นี้ชัดเจนอยู่แล้ว มีเพียงประเด็นเดียวที่ผมอยากจะเตือนก็คือว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่มีส่วนร่วมในการกำกับความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าหายนะสำหรับคนพื้นถิ่น คนท้องถิ่นจะประสบนั้นค่อนข้างมาก ซึ่งผมจะพูดถึงประเด็นนี้

แต่อยากจะพูดถึงอุปสรรคของโครงสร้างใหญ่ ที่ทำให้การมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นกับการพัฒนาเมืองในปัจจุบันนี้มันเป็นไปยาก และคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเวลาเราเคลื่อนไหว ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ผมคิดว่าเราจะมองแต่ตัวเมืองไม่ได้ เมืองมันอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น แล้วโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นมันครอบงำเรา ไม่ให้ไปสิทธิมีเสียงในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของเมือง ผมคิดว่าเรามีปัจจัยที่เราจะนึกถึงโครงสร้างใหญ่นี่ 2-3 อย่างด้วยกัน

ประการแรก เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทย เมืองคือแหล่งกำเนิดของเงินมากที่สุด คิดว่าเกิน 75% ของ GDP เกิดขึ้นในเมือง ทีนี้ผมพูดถึงเงิน ไม่ได้พูดถึงทรัพยากร แน่นอนว่าทรัพยากรจะอยู่นอกเมืองมากมายไปหมด แต่ว่าทรัพยากรเหล่านั้นได้ถูกแปลงเป็นเงินในรูปต่างๆ ผ่านเข้ามายังตัวเมืองมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น 70%-80% ของ GDP ของเรามันเกิดมาจากเมือง

ด้วยเหตุดังนั้น ผู้บริหารทุกระดับไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือเป็นข้าราชการประจำ หรือรวมทั้งแม้แต่รัฐประหารมาก็ตามแต่ จึงจะคิดด้านเดียว คือได้แต่คิดว่าเราจะผลิตให้มันมากกว่าเก่าขึ้นได้ยังไง เขาไม่ได้คิดถึงการตอบสนองวิถีชีวิตของคนในเมือง ฉะนั้นเมื่อผู้บริหารคิดว่าเมืองเป็นแหล่งผลิตเงิน อย่างเมืองเชียงใหม่จะนึกถึงอะไร แน่นอนต้องเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อคนที่มีกำลังซื้อ. เมืองไม่ได้มีไว้สำหรับคนที่ไม่ได้มีกำลังซื้อ ไม่ว่าคุณจะอ้างเศรษฐกิจพอเพียงแค่ไหนก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว เมืองเขาจัดขึ้นสำหรับคนที่มีกำลังซื้อ ฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาที่เมืองไม่ได้ตอบสนองวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในเมือง เพราะผู้บริหารเขาไม่ได้คิดถึงวิถีชีวิตด้านอื่น

อีกเรื่องที่ต้องคิดก็คือว่า โครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน ส่วนกลางเป็นผู้คุมส่วนที่เราเรียกว่าการพัฒนาตลอดเวลา คือถ้าเราพูดถึงเมือง ทิศทางของเมืองควรจะก้าวต่อไปอย่างไร ไปในหนทางไหน คุณจะมีถนนหนทางอย่างไร คุณจะวางผังเมืองยังไง คุณจะจัดระเบียบของเมืองอย่างไร คนที่เป็นผู้วางผังจริงๆ เป็นคนของส่วนกลาง เพราะโครงสร้างการบริหารประเทศของเรานั้น ยังกุมเรื่องนโยบายการพัฒนาไว้ที่ส่วนกลางแต่เพียงผู้เดียวอย่างเหนียวแน่น

เพราะฉะนั้น สัดส่วนการตัดสินใจของท้องถิ่นจึงมีน้อยมากหรือไม่มีเลย อย่างเรื่องผังเมือง ถามว่าเอาเข้าจริงใครเป็นคนวางผังเมือง คนท้องถิ่นมีส่วนในเรื่องการวางผังเมืองน้อยมาก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคน 2 พวกที่เข้ามากำหนดทิศทางการพัฒนาผังเมืองประกอบด้วยพวกนักการเมือง กับพวกนักธุรกิจที่มีเงินพอที่จะแปรเปลี่ยนเมืองตามความปรารถนาของตัวเองได้

และเราต้องไม่ลืมด้วยว่า จริงๆ แล้วเมืองไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาล เราต้องคิดถึงรอบนอกเมืองด้วย คนในเมืองไม่ได้ทำนาเองกินข้าวได้ เขาต้องกินข้าวอยู่ ที่มีข้าวกินได้เพราะมันมีเขตที่คนเขาทำนาแล้วเอาข้าวมาขาย เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงเมืองต้องมองให้กว้างไปถึงระบบทั้งระบบของการผลิตและอื่นๆ ที่ทำให้คนเมืองมันอยู่ได้

เพราะฉะนั้น คน 2 พวก คือนักธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากที่อื่น หรือข้าราชการหรือนักการเมือง คนเหล่านี้ไม่มีความรู้และไม่สนใจในวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นเลย อย่างกรณีเชียงใหม่ ผมอยากจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า จริงๆ ในแอ่งเชียงใหม่นั้นไม่สามารถแยกเมืองเชียงใหม่กับลำพูนออกจากกันได้เลย ในประเพณีโบราณเชียงใหม่กับลำพูนมันเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา คนที่แก่ๆ หน่อยคงทราบอยู่ว่า ประเพณีเก่าในเชียงใหม่จะไม่มีวัดไหนทำตานก๋วยสลากก่อน ต้องรอให้วัดพระธาตุหริภุญชัยทำก่อน แล้ววัดอื่นๆ ในเชียงใหม่ค่อยทำตาม เพราะอะไร เพราะว่าประเพณีโบราณในเขตเชียงใหม่-ลำพูน พระธาตุที่เป็นประธานแอ่งนี้ คือ พระธาตุหริภุญชัย ไม่ใช่พระธาตุดอยสุเทพ

สำหรับผม คำขวัญเรื่องพระธาตุดอยสุเทพเป็นศรีเป็นสง่า ดอกไม้บานอะไรทั้งหลายทั้งหมดนั้น มันเป็นแค่คำขวัญของกระทรวงมหาดไทยที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ไม่ใช่คำขวัญโบราณอะไรทั้งสิ้น แต่ทีนี้พอคุณจัดการกับเมืองเชียงใหม่และลำพูน คุณก็คิดแบบแยกเป็น 2 เมือง 2 จังหวัดที่มันไม่เกี่ยวกัน

ดังนั้น เส้นทางคมนาคมและอื่นๆ ข้ามตัวลำพูนไป ลำพูนเป็นติ่ง ถ้าใครอยากจะเข้าลำพูนคุณก็ไปถนนสายเชียงใหม่-กรุงเทพ คุณก็คิดถึงความสำคัญระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ว่าทำไมมันสำคัญ. แต่ในทางวัฒนธรรมเชียงใหม่มันสัมพันธ์กับลำพูน แต่คุณไม่ได้จัดการคมนาคมทางวัฒนธรรมสำหรับความสัมพันธ์อันนี้ ซึ่งตรงกันข้ามในสมัยโบราณ ถ้าใครเคยอ่านนิราศหริภุญชัย ระหว่างเชียงใหม่กับลำพูนมันมีเส้นทางติดต่อที่เป็นถนนหลักอันหนึ่งของคนในสมัยโบราณ

นี่แค่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งว่าเมื่อคุณไม่เข้าใจวิถีชีวิตเดิม ขณะที่อำนาจของคุณมันมากเหลือเกิน พอมันมากคนในเมืองเองมันก็เปลี่ยน มันก็ไม่เข้าใจ มันก็ลืมไปแล้วว่าเชียงใหม่กับลำพูนมันเคยมีความสัมพันธ์กันยังไง ซึ่งจริงๆ มันเป็นระบบอยู่ในระบบทางวัฒนธรรมอันเดียวกันก็ว่าได้ แล้วก็พระธาตุดอยสุเทพกลายเป็นพระธาตุที่นักท่องเที่ยวชอบ เพราะใครๆ ก็ขึ้นไปที่วัดพระธาตุดอยสุเทพเพราะมันสวยดี บรรยากาศมันก็เปลี่ยนทุกอย่างสบายหมด แล้วก็เลยทำให้คนในเมืองก็ลืมกันไปว่าไม่ใช่นะ พระธาตุที่เป็นหลักของแผ่นนี้ คือ "พระธาตุหริภุญชัย" จังหวัดลำพูน

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวเพื่อมีส่วนร่วมในการกำกับการพัฒนาเมือง กับการเคลื่อนไหวเพื่อมีส่วนร่วมในการกำกับส่วนกลาง จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน มันแยกออกจากกันไม่ได้ ทีนี้ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ทำอะไรได้บ้าง ในทัศนะผมคิดว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ค่อนขางจะพิเศษ เมื่อเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงในเมืองใหญ่ๆ เช่น โคราช, อุบลราชธานี, หาดใหญ่แล้ว ถือว่าเชียงใหม่เป็นเมืองยกเว้นในแง่ที่ว่า มันมีความพยายามของประชาชนในเมืองเชียงใหม่ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด มากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯแล้ว คนกรุงเทพฯไม่เคยสนใจเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเมือง ช่างหัวมันกูไม่เกี่ยว ทำมาหากินอย่างเดียว

ทีนี้ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ทำอะไรได้บ้าง อันแรกสุดผมคิดว่าต้องคิดถึงการสร้างหรือจัดตั้งองค์กรทางสังคมที่มีฐานกว้างกว่านักวิชาการหรือคนแก่ๆ ที่บอกว่าตัวเองฮักเชียงใหม่และมีจำนวนน้อย คิดว่าจะต้องคิดถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวการจัดองค์กรทางสังคมที่จะทำให้ความรู้สึกรักเมืองเชียงใหม่ ต้องเลิกคิดถึงอะไรที่เป็นผู้นำนิยม เลิกคิดว่าคนมีการศึกษาจำนวนน้อยจะเป็นปราการในการต่อสู้ความไม่สงบ ไม่จริง! มวลชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

ประการที่สอง ต้องสร้างฐานความรู้ที่ดี ที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ของกลุ่มที่สนใจในเรื่องของการมีส่วนร่วมของการพัฒนาเมือง จริงๆ ก็มีการสนับสนุนอยู่บ้างเหมือนกัน อันที่จริงก็ไม่น้อยทีเดียว แต่ว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะว่ากลุ่มคนเล็กๆ ที่เผอิญเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้นไม่มีอำนาจต่อรองเท่ากับคนกลใหญ่ๆ ก็แน่นอนคนเล็กๆ ในประเทศไทยมันมีอำนาจต่อรองกับคนอื่นๆ น้อย ฉะนั้นในที่สุดกลุ่มคนเล็กๆ เหล่านั้นก็จะถอยห่างหนีหายออกไป ฉะนั้นผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องให้คนเล็กๆ ในเมืองมีอำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกับคนใหญ่ๆ ก่อนมันถึงจะสามารถรวมตัวกันในแง่สมานฉันท์ได้

นอกจากนี้ คิดว่าเวลาคุณพูดว่าฮักเชียงใหม่ ต้องระวังให้ดีว่าเรารักอะไรกันแน่ รักเจดีย์องค์นั้น, รักดอยสุเทพ, รักกำแพงโบราณ, รักคูเมือง, แต่รักสิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์เลยถ้ามันไม่มีคนอยู่ในนั้น ผมคิดว่าฮักเจียงใหม่นี่ สิ่งแรกที่คุณจะต้องรักก่อนเลยคือ"รักคนเชียงใหม่" คนเชียงใหม่ซึ่งมีสภาพที่แตกต่างกันมาก คนเชียงใหม่ซึ่งยากจนก็เยอะแยะไปหมด คนเชียงใหม่ซื่งเดือดร้อนกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองมากมาย ถ้าขาดสิ่งนี้แล้วคำว่ารักเชียงใหม่มันก็เหมือนกับที่เขาสร้างฮอลลีวูด คุณอยากจะรักษาสถานที่ตรงนี้ไว้ถ่ายทำหนังสักเรื่องหนึ่งมากกว่า ดังนั้นหัวใจสำคัญคือต้องรักคนก่อน ก่อนที่จะมารักกำแพงเมืองหรือรักอะไรต่างๆ

ไม่ใช่ว่าฮักเชียงใหม่แล้วบอกว่า คุณห้ามขายของริมทางเท้าเพราะเป็นทัศนะอุดจาด แล้วคุณจะให้คนจนๆ จำนวนมากหากินยังไง คิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่อยากจะให้ขายของริมทางเท้าต้องตอบปัญหาเรื่องที่ทำกินของคนจนด้วย ทางเท้าคือทรัพยากรของเมือง แล้วคนจนๆ ซึ่งไม่มีปัญญาซื้อห้องแถวที่ติดกับถนนจะให้เขาหากินที่ไหน

ประการที่สาม ประเด็นต่อมาที่อยากจะพูดถึงว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ผมว่าหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนอะไรต่างๆ คิดว่ามันไม่ใช่อยู่ตรงที่รักษาไม่ให้ดอยสุเทพถูกปู้ยี่ปู้ยำเพียงอย่างเดียว หัวใจสำคัญคือว่า เราต้องทำให้เมืองกลับมาเป็นสมบัติร่วมกันของคนในเมืองให้ได้ก่อน ไม่ใช่เอาเมืองเชียงใหม่ไปบำเรอนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจ ถึงแม้ว่าเราไม่ปฏิเสธนักท่องเที่ยว ไม่ปฏิเสธนักธุรกิจ แต่ต้องเข้าใจว่า เมืองเป็นของคนที่อยู่อาศัยก่อนอื่นทั้งหมด

การที่คุณเป็นนักท่องเที่ยวแล้วไปเที่ยวในเมืองจะเปรียบเทียบเหมือนคุณไปเที่ยวเกาะแก่งต่างๆ ไม่ได้ เพราะเกาะมันไม่มีคนอยู่ คุณจะทำอะไรบนเกาะก็เรื่องของคุณ แต่เมืองมันมีเจ้าของอยู่แล้ว คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับเมือง ซึ่งเป็นรสอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยว

ประการสุดท้าย ที่อยากพูดถึงก็คือว่า ต้องเคลื่อนไหวผลักดันเพิ่มอำนาจประชาชนและอำนาจท้องถิ่น ตราบเท่าที่เรามีระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ อบต.ไปถึง อบจ. เยอะแยะไปหมดแล้ว แต่ให้สังเกตนะครับว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร หรือมีน้อยมาก คือจัดการทรัพยากรเองไม่ได้ อำนาจที่แท้จริงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคืออำนาจในการจัดการทรัพยากร คุณจะแบ่งงบประมาณส่วนกลางมาให้ 35% แต่คุณไม่ให้อำนาจในการที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรเลย ก็ไม่ทำให้เกิดอำนาจในท้องถิ่นขึ้นมาได้ คุณได้ 35% ก็ได้ทำหน้าที่เป็นคนเก็บขยะให้สะอาดขึ้นเท่านั้นเอง คืออำนาจเก็บขยะมันไม่พอในการที่บอกว่าเป็นการกระจายอำนาจ ตราบคุณจะสามารถทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรได้

ถ้าบ้านคุณอยู่ติดกับภูเขา แล้วมีคนจะระเบิดภูเขา เขาไม่ได้ขอคุณ แต่เขาขอจังหวัด ขอกรมทรัพยากรธรณี และก็ขอให้นายก อบต.หรือกำนันแห่งนั้นเซ็นแก๊กหนึ่ง คุณก็รู้อยู่นายก อบต.กับกำนัน อันนี้ไม่ได้โทษเขานะ ถ้ามีเงินมาเสนอให้ล้านหนึ่งจะเอาไหม เอาก็เซ็น เพราะยังไงๆ ไม่มีใครเถียงก็ระเบิดจนได้ ดังนั้นทำยังไงถึงจะทำให้องค์ส่วนท้องถิ่นมีอำนาจส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด ในการจะคานวินิจฉัยของกรมทรัพยากรธรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เพราะว่าการระเบิดภูเขาที่อยู่ใกล้บ้านนั้น เกิดความเดือดร้อนอย่างยิ่งแก่ชาวบ้าน แต่เขากลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจจะให้ระเบิดหรือไม่ให้ระเบิด

นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดอำนาจท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คืออย่าไปมองแต่เพียงเรื่องเราอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เมืองมันอยู่ภายใต้โครงสร้างขนาดใหญ่ ตราบเท่าที่คุณไม่ช่วยในการผลักดันในการที่จะให้คนในท้องถิ่นมีอำนาจจัดการทรัพยากร ยังไงๆ คุณก็ร่วมลำบาก และผมเชื่อว่าถ้าคุณทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่า อบต. อบจ. อะไรก็แล้วแต่ มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรระดับหนึ่ง

ผมเชื่อว่าชาวบ้านและชาวเมืองจะรู้สึกไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะมาซื้อเสียงขายเสียงกันต่อไปแล้ว เพราะว่ามันกระทบต่อชีวิตของเขา เขาก็จะมีวิธีใช้วิจารณญาณในการเลือกคนเข้าไปทำงานตรงนั้นมากกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก ปาฐกถาเรื่อง "คนท้องถิ่นกับการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม" โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในเวทีติดตามนโยบายสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ตอนเราจะมีส่วนร่วมในการดูแลเมืองเชียงใหม่อย่างไร ? วันที่ 13 ก.พ.2550 ณ ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตวัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่

สำนักข่าวประชาธรรม

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ผู้บริหารทุกระดับไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือเป็นข้าราชการประจำ หรือรวมทั้งแม้แต่รัฐประหารมาก็ตามแต่ จึงจะคิดด้านเดียว คือได้แต่คิดว่าเราจะผลิตให้มันมากกว่าเก่าขึ้นได้ยังไง เขาไม่ได้คิดถึงการตอบสนองวิถีชีวิตของคนในเมือง ฉะนั้นเมื่อผู้บริหารคิดว่าเมืองเป็นแหล่งผลิตเงิน อย่างเมืองเชียงใหม่จะนึกถึงอะไร แน่นอนต้องเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อคนที่มีกำลังซื้อ. เมืองไม่ได้มีไว้สำหรับคนที่ไม่ได้มีกำลังซื้อ ไม่ว่าคุณจะอ้างเศรษฐกิจพอเพียงแค่ไหนก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว เมืองเขาจัดขึ้นสำหรับคนที่มีกำลังซื้อ (นิธิ เอียวศรีวงศ์: บรรยาย)

14-02-2550

Civil Society
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com