ทฤษฎีแบ่งแยกจากข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์
ความเป็นมาของทฤษฎี
"แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย
(๔)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
ได้รับมาจากผู้เขียน
โดยกองบรรณาธิการจะทะยอยนำออกเผยแพร่ในลักษณะชุดบทความว่าด้วย
-ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกในภาคใต้ไทย-
เพื่อประโยชน์แห่งความรู้ และวัฒนธรรมการเรียนรู้ความเข้าใจ
ในปัญหาภาคใต้จากความจริงจากชุดคำอธิบายของนักประวัติศาสตร์
สำหรับในส่วนที่สี่นี้ ประกอบด้วย
๑๒) สมัยของการสมานฉันท์ ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม, ๒๔๘๘-๒๔๙๐
- (หัวข้อย่อย) ปตานี รัฐมลายูนอกมลายา
-(หัวข้อย่อย) ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๔๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่
๑
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่
๒
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่
๓
๑๒) สมัยของการสมานฉันท์ ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม,
๒๔๘๘-๒๔๙๐
ในช่วงเวลาภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๘) ขบวนการมุสลิมในภาคใต้ก็ทวีความรุนแรงในเนื้อหาความคิดที่แจ่มชัดขึ้น
ในขณะที่ฝ่ายทางการก็ไม่เบามือในการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายจากส่วนกลาง ทำให้หน่อเชื้อและเมล็ดของการต่อต้านและการต้องการความเป็นอิสระของพวกเขากันเองเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามมหาอาเซียบูรพา และได้ประกาศทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอันมีสหรัฐฯและอังกฤษเป็นผู้นำ ในระยะต้นญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยในการเรียกร้องเอาดินแดนที่เคยอยู่ใต้อำนาจสยามกลับคืนมา อันได้แก่ กลันตัน, ตรังกานู, เคดะห์และปะลิส ซึ่งยกให้อังกฤษไปในสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๐๙ เพื่อแลกกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากอังกฤษ การเรียกร้องสี่รัฐคืนมาอยู่กับไทยอีก นอกจากเป็นประโยชน์ต่อรัฐไทยแล้ว อีกด้านยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนมลายูมุสลิมในบริเวณปัตตานีอีกด้วย บัดนี้คนปัตตานีสามารถรื้อฟื้นสัมพันธภาพและแลกเปลี่ยนปัญหาร่วมกันกับพี่น้องมุสลิมในฝั่งมลายาได้มากขึ้น
ตนกูมะมุด มะไฮยิดดิน บุตรชายคนสุดท้องของอดีตรายาแห่งปัตตานี ซึ่งไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ในรัฐไทยสมัยนั้น ก็เดินทางไปพำนักอยู่ในกลันตัน และในระหว่างการยึดครองมลายาโดยญี่ปุ่น เขาร่วมในขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น (1) ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ตนกูอับดุลยาลาลบิน ตนกูอัลดุลมุตตาลิบ บุตรชายของอดีตรายาแห่งเมืองสายบุรี ซึ่งมีชื่อไทยว่า อดุลย์ ณ สายบุรี เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และต่อมารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประท้วงการปฏิบัติอันไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสร้างปัญหาและความลำบากทางเศรษฐกิจและความไม่พอใจทางศาสนาแก่คนท้องถิ่น
หลังจากมีการพิจารณาปัญหาคำร้องเรียนหลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลให้คำตอบมาว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องในการใช้นโยบายการผสมกลมกลืนทางศาสนาและวัฒนธรรม ดังคำตอบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า "การปฏิบัติงานของข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีนั้นเป็นการสมควร และไม่ได้กระทำการอันที่จะทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่" (2) จากนั้นเขาตัดสินใจออกจากไทยไปพำนักในกลันตันและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับตนกูมะไฮยิดดิน ในการต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมของคนมลายูมุสลิมต่อไป
หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งเพราะแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภา นายควง อภัยวงศ์ ได้รับการสนับสนุนจากพลังการเมืองฝ่ายเสรีไทยที่นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป การเมืองระยะก่อนยุติสงครามมหาอาเซียและหลังจากนั้นสะท้อนความขัดแย้งและช่วงชิงการนำระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามกับนายปรีดี พนมยงค์ โดยที่ฝ่ายหลังสามารถก้าวขึ้นมานำได้ในระยะนี้ ฐานะอันเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของนายปรีดีคือตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ในช่วงนี้เองที่นโยบายฟื้นฟูและปรับความสัมพันธ์อันดีเสียใหม่กับคนมลายูมุสลิมภาคใต้ถูกประกาศออกมา แทนที่นโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ที่สำคัญคือการประกาศพระราชกฤษฏีกา
ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในวันที่ ๘ พฤษภาคม พร้อมกับการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีอีกวาระหนึ่ง
หลังจากตำแหน่งนี้ว่างมาหลายปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้คือ
นายแช่ม พรหมยงค์ เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่คนแรก เขาเป็นข้าราชการสังกัดกรมโฆษณาการ(ต่อมาคือกรมประชาสัมพันธ์)
และก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกรุ่นก่อการของคณะราษฎรด้วย
หลังจากนโยบายรัฐบาลปรับระดับของลัทธิชาตินิยมไทยลงไป และหันมาส่งเสริมสนับสนุนฝ่ายศาสนาอิสลามดังแต่ก่อน
มีการยอมให้คนมุสลิมหยุดวันศุกร์ดังเดิม ตลอดไปถึงการปฏิบัติทางศาสนาและภาษา
ใน พรก.ศาสนูปถัมภ์อิสลามนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดด้วย บรรดากลุ่มมุสลิมก็ก่อตั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเฉพาะสี่จังหวัดภาคใต้ขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ฮัจญีสุหลงและผู้นำมุสลิมได้ก่อตั้งองค์กรมุสลิมขึ้นในปัตตานี หลังจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศนโยบายรัฐนิยม องค์กรที่ว่านี้คือองค์กรดำเนินการกฎหมายชารีอะห์ หรือ อัล ฮัยอะห์ อัล-ตันฟีซียะห์ ลี อัล-อะห์กาม อัล-ชาร์อียะห์ โดยมีจุดหมาย "เพื่อรวมพลังบรรดาผู้นำศาสนาที่ปัตตานี ในการพยายามสกัดกั้นการคุกคามของรัฐบาลไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคนมลายูให้เป็นคนสยาม พร้อมพิทักษ์ปกป้องความบริสุทธิ์ของศาสนาจากการแทรกแซงโดยความฝันไทยนิยม" (3) องค์กรดังกล่าวนี้ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.๒๔๘๒ (4)
พรก.ศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามที่ออกมาในปี พ.ศ.๒๔๘๘ (มาตรา ๓) ระบุให้ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตำจุฬาราชมนตรีเพื่อให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์ เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" (5) ทั้งยังให้กระทรวงศึกษาธิการอาจจัดตั้ง "อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย" "เพื่ออิสลามศาสนิกจะได้ศึกษาและรับการอบรมในทางศาสนา ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนี้ มีสิทธิเข้ารับเลือกเพื่อรับพระราชทานเงินทุนส่งไปเข้าศาสนจารีต ณ นครเมกกะ ตามจำนวนที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯกำหนดขึ้นเป็นคราวๆ" (มาตรา ๔)
หลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม ข้อสำคัญคือการยกเลิกความในมาตรา ๓ และให้เปลี่ยนเป็นดังนี้ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวแก่การศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนในฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" หมายความว่าจุฬาราชมนตรีขึ้นกับกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนพระองค์อีกต่อไป
อีกปัญหาที่รัฐบาลควง อภัยวงศ์ แก้ให้กลับคืนสู่ภาวะสมานฉันท์ในสี่จังหวัดภาคใต้คือเรื่องดะโต๊ะยุติธรรม ด้วยการประกาศให้มีดะโต๊ะยุติธรรมดังเดิม แต่คราวนี้ให้อยู่ภายในโครงสร้างของกระทรวงยุติธรรมและศาลไทย. ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ รัฐบาลที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล เป็นผลให้กลับไปใช้กฎหมายอิสลามแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕-๖ ในการวินิจฉัยคดีเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในบริเวณจังหวัดดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมที่ถูกเลิกไปก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับมาใหม่ตามเดิม และประจำอยู่ที่ศาลในเขต ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ที่เพิ่มมาด้วยและสร้างปัญหาแก่ผู้นำมุสลิมต่อมาคือ ข้อกำหนดที่ให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นข้าราชการตุลาการด้วย แม้บรรดาอิหม่ามและผู้รู้ศาสนาอิสลามเป็นผู้คัดเลือกเสนอรายชื่อผู้สมควรเป็นดะโต๊ะยุติธรรม แต่การตัดสินสุดท้ายอยู่ที่รัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ด้วย อีกข้อคือต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมพิเศษ คือต้องรู้ภาษาไทยอ่านออกเขียนได้ด้วย (6) ระเบียบและกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวในการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรม นำไปสู่การคัดค้านโดยผู้นำมุสลิมภาคใต้
ฮัจญีสุหลงไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า ข้าราชการไทยในนามของรัฐบาลไม่มีความถูกต้องในการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมได้ เพราะถือว่าเป็นคนไม่ได้เชื่อในศาสนาอิสลามหรือ กาเฟร การกระทำดังกล่าวจะเป็นการละเมิดศรัทธาและการปฏิบัติศาสนาของชนอิสลาม คำวิจารณ์อื่นๆ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมพอที่จะทำหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาอิสลาม และศาลศาสนาควรจะดำเนินการโดยแยกออกจากศาลแพ่งไทยดังเช่นที่เคยทำมาในอดีต
ต่อคำวิจารณ์และความเห็นเหล่านี้ รัฐบาลตอบว่าการแยกศาลนั้นทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากไป ในเมื่อคดีเกี่ยวเนื่องในศาสนาอิสลามนั้นมีไม่มากนักในแต่ละปี ประเด็นขัดแย้งในเรื่องดะโต๊ะยุติธรรมและศาลศาสนา เป็นความขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่งระหว่างผู้นำมุสลิมกับรัฐบาลไทย และก็สร้างความขัดแย้งกันเองระหว่างผู้นำมุสลิมในภาคใต้ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ชื่อของฮัจญีสุหลงกลายเป็นผู้นำมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลมากเป็นพิเศษ
ปัจจัยอีกอันที่มีส่วนในการผลักดันการเมืองของมุสลิมภาคใต้ระยะนี้คือ บทบาทของอังกฤษในสงครามมหาอาเซียบูรพาในมลายาและสี่จังหวัดภาคใต้ ฝ่ายรัฐบาลไทยเชื่อว่า อังกฤษหนุนหลังผู้นำเก่าของปัตตานีคือ ตนกูมะไฮยิดดิน ให้ได้เป็นผู้นำปัตตานีเดิม(คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ถึงกับสัญญาจะให้เอกราช เพราะไม่พอใจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับตะวันตก. ต่อมาก็มีผู้นำจากปัตตานีมาเพิ่มอีก คือนายอดุลย์ ณ สายบุรี(ตนกูอับดุลยะลานาแซร์) ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสกับพี่ชาย และท้ายสุดได้ฮัจญีสุหลงมาร่วมขบวนการด้วย
ใน ประวัติศาสตร์ปัตตานี อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เขียนถึงบทบาทและการเคลื่อนไหวของตนกูมะไฮยิดดิน มากกว่าที่อื่นๆ โดยเริ่มราวปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในการต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นใน มลายา เขาเข้าร่วมในกองทัพอังกฤษที่มีฐานปฏิบัติการในอินเดีย ในขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมมือกับขบวนการใต้ดินชาตินิยมมลายู "ด้วยความหวังว่าเมื่อสงครามสงบลง อังกฤษจะช่วยเขาในการได้ปัตตานีกลับคืนมา" (7) กล่าวกันว่าขณะนั้นเขาได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำจากประชาชนมลายูปัตตานี เขาได้ติดต่อกับบรรดาผู้นำมลายูในภาคใต้ของไทย เพื่อจัดตั้งหน่วยต่อต้านญี่ปุ่น และพร้อมกันนั้นก็ต่อต้านสยามไปในตัว (อาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการ "เสรีมลายู" คู่กับขบวนการ "เสรีไทย" ในภาคกลาง)
แผนการของมะไฮยิดดินคือ เมื่อสัมพันธมิตรโจมตีญี่ปุ่นในมลายาและภาคใต้ไทย หน่วยเสรีมลายูด้วยการหนุนช่วยจาก Force 136 (หน่วยใต้ดินของสัมพันธมิตรในอุษาคเนย์) ก็จะนำไปสู่การต่อสู้ต่อต้านสยามด้วย เมื่อปัตตานีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสัมพันธมิตร ขั้นตอนต่อไปคือการปลดปล่อยปัตตานีจากสยามโดยผ่านองค์การสันนิบาตชาติ (8) แต่แผนการทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏเป็นจริง กองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้อย่างกะทันหัน ทำให้ขบวนการใต้ดินและกำลังสัมพันธมิตรไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำการต่อสู้อย่างมากมาย แต่เหนืออื่นใดคือเมื่อสงครามโลกยุติ อังกฤษไม่สนับสนุนความฝันตามแผนของมะไฮยิดดินเลยแม้แต่นิดเดียว การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยหลังสงครามเป็นผลประโยชน์ต่อโลกตะวันตกและภูมิภาคนี้โดยรวม มากกว่าการสนับสนุนให้เกิดการแตกแยกและบั่นทอนอำนาจนำของอังกฤษในบริเวณดังกล่าวลงไป
นอกจากบทบาทของอังกฤษในฐานะของปัจจัยภายนอกที่สำคัญแล้ว
ท่าทีและการปฏิบัติของทางการไทยเองก็เป็นตัวเร่งที่สำคัญไม่น้อยด้วยเหมือนกัน
นั่นคือการทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมุสลิมมุ่งไปสู่หนทางและทิศทางอะไร
ความไม่ไว้ใจและสงสัยในทรรศนะทางการเมืองแบบมุสลิมทำให้รัฐไทย ต้องใช้วิธีการสอดส่องและสายลับเพื่อทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมหัวการเมืองใหม่ดังกล่าว
การเคลื่อนไหวของอังกฤษกับตนกูมะไฮยิดดิน และตนกูยะลานาแซร์ มาถึงฮัจญี สุหลง
ถูกรายงานให้รัฐบาลสมัยนายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกฯ ทราบ "แต่รัฐบาลก็ไม่ได้จัดการอะไร
นอกจากสั่งการให้จังหวัดต่างๆในสี่จังหวัดภาคใต้จัดสายลับติดตามพฤติการณ์ของผู้นำศาสนา
อิสลามต่อไป" (9)
การรับรู้อีกฝ่ายจาก "สายลับ" ในที่สุดแล้วคือการไม่ได้รู้อะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว
นอกจาก อะไรที่ฝ่ายไทยคิดและเชื่อก่อนแล้ว ก็คือมีแต่รายงานที่ตอกย้ำและเพิ่มอคติของรัฐไทยต่อสำนึก
การเมืองของคนมุสลิมเท่านั้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอันก็คือ บรรดาสายสืบทั้งลับและสว่างให้แก่รัฐบาลไทย
น่าสนใจมากว่ามาจากคนมุสลิมภาคใต้เองด้วย และเป็นระดับใหญ่ๆ พอกัน เช่นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
บ้างเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าใจว่านักการเมืองมุสลิมเหล่านั้น ก็อาจคิดและเชื่อเหมือนกับรัฐไทยก็ได้
ดังนั้นปัญหาเชื้อชาติศาสนา ก็ยังมีลักษณะของปัญหาชนชั้นและอุดมการณ์ทางการเมืองกำกับอยู่ด้วย
ประเด็นใหญ่ของปัญหาสำหรับคนมลายูมุสลิมในภาคใต้คือ เรื่องความถูกต้องเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และข้าราชการ และเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ชุมชนมุสลิมทุกแห่งในโลกใช้กฎหมายอิสลามในการปฏิบัติ นอกเหนือจากกฎหมายทั่วไปของรัฐและรัฐบาลนั้นๆ แล้ว นโยบายการให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกนั้น เมื่อสยามทำการปฏิรูปการปกครองและรวมศูนย์ทั้งประเทศ ก็อนุโลมให้หัวเมืองภาคใต้ที่เป็นมุสลิมใช้กฎหมายอิสลามดังกล่าวมา จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการสองฝ่ายเพื่อเขียนกฎหมายอิสลามให้เป็นบรรทัดฐาน แต่กินเวลานานมากและไม่เสร็จสมบูรณ์ได้ง่ายๆ จนถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ และ ๖ ที่สมบูรณ์ทั้งประเทศ อันมีผลทำให้ไปยกเลิกกฎหมายอิสลามในพื้นที่ ๔ จังหวัดภาคใต้ไป
ในที่นี้ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อต้องการชี้ให้เห็นปมเงื่อนปัญหาและความขัดแย้งขณะนั้นว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากที่หนักหน่วงและมีผลกระทบด้านลบอย่างมากและยาวไกลด้วย คือปัญหาการใช้และสร้างความเป็นธรรมและความยุติธรรมต่อประชาชนชาวมุสลิมเหล่านั้นมากกว่า นั่นคือปัญหาทางการเมืองและการปกครองจากรัฐไทย ที่สร้างอัตลักษณ์และความเชื่อชุดหนึ่งของตนเอง ที่ถือเอาเชื้อชาติเดียวเป็นหลักยึด โดยไม่ยอมเข้าใจและยอมรับนับถือในสิทธิแห่งอัตลักษณ์ของคนเชื้อชาติและศาสนาอื่นที่แตกต่างออกไปด้วย ดังนั้นความขัดแย้งโดยเนื้อแท้จึงไม่ใช่ปัญหาศาสนาและโรงเรียน ตลอดรวมถึงปอเนาะอะไรแต่อย่างใด ข้อสังเกตนี้คิดว่าปัจจุบันก็ยังใช้ได้อยู่
อย่างไรก็ตามในระยะเวลาอันสั้นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ นโยบายว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามของพลังการเมืองฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีจุดหมายในการปฏิรูปและสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนมลายูมุสลิมกับรัฐไทย ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สามารถจัดตั้งสถาบันอิสลามระดับชาติลงไปถึงท้องถิ่น และเป็นที่ยอมรับกันทั้งฝ่ายประชาชนมุสลิมและรัฐบาล ประเพณีและการปฏิบัติตามศาสนาแต่ก่อนนี้ก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับคืนมาหมดสิ้น
ที่ต้องถือว่าเป็นการพัฒนาด้านบวกอย่างมากคือ การเปิดให้มีการเจรจากันระหว่างผู้นำมลายูมุสลิมกับรัฐบาลอย่างเสรีและเปิดเผย ทว่าสภาพการณ์ด้านเศรษฐกิจหลังสงคราม ที่มีความขาดแคลนและความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะการขาดแคลนข้าวในภาคใต้ มีการลักลอบค้าข้าวข้ามพรมแดน ความลำบากทางเศรษฐกิจเหล่านี้ นโยบายศาสนูปถัมภ์อย่างเดียวไม่อาจแก้ไขและช่วยได้มากนัก ดังนั้นความไม่พอใจของประชาชนต่อการจัดการปัญหาและความยากลำบากจึงยังไม่หมดหายไป ยิ่งหากมีการถูกรังแกหรือ ปฏิบัติอย่างมิชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ประชาชนก็พร้อมจะทำการร้องเรียนและประท้วงให้รัฐบาลส่วนกลางได้รับรู้
ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าวในที่สุดนำไปสู่การพบปะเจรจากับรัฐบาลอย่างจริงจัง ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ" เรื่องนี้สำคัญมากต่อพล๊อตเรื่องใหญ่ เพราะมันจะกลายมาเป็นหลักฐานเอกในการกล่าวหาและทำให้ผู้นำมุสลิมกลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
"ปตานี รัฐมลายูนอกมลายา"
(10)
นอกเหนือจากความขัดแย้งธรรมดาในเรื่องชีวิตและเศรษฐกิจของคนมุสลิมในภาคใต้แล้ว
ที่หนักหน่วงกว่านั้นคือ คำร้องเรียนและร้องทุกข์ในเรื่องความทารุณโหดร้ายและการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ไทยโดยเฉพาะตำรวจ
หากต้องการสัมผัสความรู้สึกของคนมุสลิมปัตตานีสมัยนั้นต่อปัญหาดังกล่าว ก็จะอ่านได้จากข้อเขียนของอิบราฮิม
ชุกรี หนังสือเรื่อง Sejarah Kerajaan Kelayu Patani (ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรปตานี)
ตีพิมพ์ในกลันตัน คาดว่าในปลายทศวรรษปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เขากล่าวถึงสถานการณ์ขณะนั้นว่าดังนี้
ในเวลานั้น(พ.ศ. ๒๔๘๘-๘๙) มีอะไรบางอย่างคล้ายกับโรคติดต่อในหมู่เจ้าหน้าที่สยาม ซึ่งนำไปสู่การละเว้นกฎเกณฑ์ต่างๆ และรับแต่สินบน เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงลงมาถึงระดับล่างสุด เรื่องราวที่สำคัญยิ่งไม่อาจสามารถทำให้เสร็จได้หากไม่มีการเตรียมให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่. สำหรับตำรวจ อาชญากรที่ถูกจับก็สามารถจะมีความปลอดภัยและเป็นอิสระได้ หากเขาให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้น เรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกกับคนมลายูก็คือ หากเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับคนที่ไม่ดี เขาจะถูกจับกุมไปทันทีโดยตำรวจสยาม จากนั้นนำตัวไปยังสถานที่เปลี่ยว และทุบตีก่อนที่จะนำตัวไปยังสถานที่คุมขังหรือกักกัน การปฏิบัติทำนองนี้เกิดขึ้นกับคนมลายูที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในขบวนการการเมืองที่วิพากษ์รัฐบาลด้วยเหมือนกัน คนมลายูเหล่านั้นมักถูกข่มขู่และหาเรื่องในหนทางต่างๆ โดยตำรวจสยาม ไม่ก็จับกุม หรืออย่างง่ายๆ ก็ทุบตีโดยไม่นำพาต่อการนำเรื่องของเขาขึ้นสู่ศาล (11)
สภาพของการไร้กฎหมายและขื่อแปบ้านเมืองหลังสงครามโลกและการคอรัปชั่นระบาด และมีมากในเกือบทุกภาคของประเทศไทย แต่ที่หนักหน่วงกว่าเพื่อนได้แก่บริเวณสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการลักลอบและสินค้าเถื่อนโดยเฉพาะข้าวที่นำเข้าไปในมลายา (12) รัฐบาลภายใต้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และนายปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มการเจรจาและนำผู้นำการเมืองมลายูมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของนโยบายสมานฉันท์ทางศาสนา และหวังว่าในที่สุดจะนำไปสู่การร่วมมือกันในปัญหาการเมือง
ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๙๐ รัฐบาลหลวงธำรงฯได้ตั้ง "กรรมการสอดส่องภาวการณ์ใน ๔ จังหวัดภาคใต้" เป็นชุดแรกที่ลงไปรับฟังคำร้องเรียนและปัญหาของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ในวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อบรรดาผู้นำมุสลิมทราบข่าวจึงได้มีการประชุมปรึกษากันอย่างเร่งด่วน ในวันที่ ๑ เมษายน ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อร่างข้อเสนอในปัญหาต่างๆ อันรวมถึงการปกครองทางการเมือง สิทธิและศาสนกิจของชาวมุสลิมแก่ผู้แทนรัฐบาลต่อไป
ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ
ในการประชุมเจรจากันระหว่างคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯกับผู้นำอิสลาม นำไปสู่การเกิดสิ่งที่รู้จักกันต่อมาว่า
"ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ" ดังต่อไปนี้ (13)
๑) ให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดของปตานี นราธิวาส ยะลาและสะตูล โดยเฉพาะให้มีอำนาจในการปลด ยับยั้งหรือแทนที่ข้าราชการรัฐบาลทั้งหมดได้ บุคคลผู้นี้ควรเป็นผู้ที่เกิดในท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งของสี่จังหวัด และได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนเอง
๒) ให้ร้อยละ ๘๐ ของข้าราชการในสี่จังหวัดเป็นผู้นับถือศาสนามุสลิม๓) ให้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
๔) ให้ภาษามลายูเป็นภาษาสำหรับใช้ในการเรียนและสอนในโรงเรียนประถม ๓ โรง(หรือสามระดับ?)
๕) ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลมุสลิมที่แยกต่างหากจากศาลแพ่ง ซึ่งกอฎีนั่งร่วมในฐานะผู้ประเมินด้วย
๖) รายได้และภาษีทั้งหมดที่ได้จากสี่จังหวัดให้นำไปใช้ในสี่จังหวัดทั้งหมด
๗) ให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสลามที่มีอำนาจเต็มในการกำหนดกิจการมุสลิมทั้งปวง ภายใต้อำนาจสูงสุดของผู้ปกครองรัฐตามระบุในข้อ ๑
แม้ข้อเรียกร้อง ๗ ประการไม่ได้บ่งชัดเจนว่าต้องการเรียกร้องการแยกดินแดนออกจากรัฐไทย แต่สาระสำคัญในข้อที่หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุด และถูกนำมาใช้ในการโจมตีและสร้างความรู้สึกปฏิปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมลายูมุสลิมภาคใต้ต่อมาอีกยาวนาน คือความต้องการที่จะให้มีการปกครองที่เป็นอิสระโดยคนท้องถิ่นในสี่จังหวัดเอง น่าเสียดายว่าแนวความคิดดังกล่าวไม่เคยมีการถกเถียงในรายละเอียดและในความเป็นไปได้หรือไม่ได้เพราะอะไรอย่างไร ตรงกันข้ามผู้นำและนักการเมืองฝ่ายไทยพากันคิดไปในทางเดียวว่า นั่นคือสัญญาณของการคิดแยกดินแดนหรือการคิดกบฏต่ออำนาจรัฐส่วนกลางนั่นเอง แทนที่จะมองว่านั่นอาจเป็นหนทางหนึ่งของการปกครองตนเอง และการกระจายอำนาจในการบริหารประเทศจากรัฐบาลกรุงเทพฯ ก็ได้
แน่นอนว่าแนวความคิดดังกล่าวมาก่อนกาลอันสมควร รัฐไทยที่เป็นประชาธิปไตยเพิ่งจะได้ลิ้มชิมรสของการสร้างรัฐในจินตนาการของผู้นำ ที่ไม่ใช่ชนชั้นศักดินาอย่างแท้จริงก็ในช่วงดังกล่าวไม่นาน การจะปล่อยให้อำนาจรัฐและการควบคุมหลุดไปยังผู้นำท้องถิ่นและภูมิภาค เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน
ในการประชุม คณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯ ได้มีการปรึกษากับฮัจญีสุหลงในข้อเรียกร้องดังกล่าว ว่าข้อไหนจะรับได้และข้อไหนคงรับไม่ได้ ข้อที่ฝ่ายรัฐบาลคิดว่าคงให้ได้มากที่สุดคือ ว่าด้วยเสรีภาพในทางศาสนา และยอมรับว่าชาวมุสลิมในประเทศไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาติไทยได้ในฐานะที่เป็น "ไทยมุสลิม" แต่รัฐบาลไม่อาจรับข้อเรียกร้องในการที่ชนชาติหนึ่งชาติใด สามารถจะเรียกร้องให้มีการปกครองที่เป็นสิทธิอิสระหรือเป็นการปกครองของตนเอง บนพื้นฐานของการมีอัตลักษณ์อันเป็นเฉพาะของตนเองได้ การยอมรับหลักการดังกล่าวจะนำไปสู่การบ่อนทำลายความเชื่ออันเป็นหัวใจว่าชาติไทยไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยวางอยู่บนหลักของชาติ ศาสนา(พุทธ) และพระมหากษัตริย์ (14)
นายกรัฐมนตรีหลวงธำรงฯ นำเรื่องข้อเสนอ ๗ ประการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติว่า กล่าวโดยรวมแล้วข้อเรียกร้อง ๗ ประการไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากว่า "รูปการปกครองเวลานี้ดีแล้ว ถ้าจะจัดเป็นรูปมณฑลไม่สมควรเพราะจะเป็นการแบ่งแยก..." อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาหาทางออกให้แก่ปัญหาของมุสลิมภาคใต้ เช่น
- การปกครองให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณารูปแบบนโยบายการปกครองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
- ให้สิทธิแก่นักเรียนมลายูมุสลิมเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยในเหล่าทหารและตำรวจได้ โดยให้อยู่ในการพิจารณาของรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทย
- การปิดสถานที่ราชการในวันศุกร์นั้นไม่ขัดข้อง
- ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลยังขาดเงินในการพัฒนาและซ่อมแซมถนนหนทาง
- ส่วนด้านศาสนาและวัฒนธรรม ยินดีให้ตามประเพณีมุสลิม แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งมีโครงการจะสร้าง "สุเหร่าหลวง" ประจำจังหวัดๆ ละ ๑ แห่ง ซึ่งจะต้องรอมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณดังกล่าวในปี พ.ศ.๒๔๙๑
- ด้านการศาลกำลังแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมจังหวัดละ ๒ คน แต่ไม่มีความเห็นให้แยกศาลศาสนาตามที่ผู้นำอิสลามในสี่จังหวัดได้ร้องขอ
- ด้านการศึกษาจะให้มีการสอนภาษามลายูตามที่ผู้นำมุสลิมร้องขอ
- ส่วนข้อที่ขอให้มีข้าราชการมุสลิมถึงร้อยละ ๘๐ นั้นเป็นไปไม่ได้ในเวลาอันเร่งด่วน เพราะชาวมลายูมุสลิมส่วนมากขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จะหาทางเพิ่มทางอื่นต่อไป
- สุดท้ายด้านการสื่อสารมวลชนรัฐบาลมอบหมายให้กรมโฆษณาการรับไปพิจารณาจัดรายการวิทยุภาคภาษามลายู เพื่อแถลงข่าวการเมืองที่ควรรู้ตลอดจนรายการดนตรี นอกจากนั้นจะจัดพิมพ์หนังสือภาษามลายูส่งไปเผยแพร่เป็นครั้งคราว (15)
นโยบายและข้อเสนอแนะมากมายของรัฐบาลหลวงธำรงฯ ข้างต้นนั้น มีการนำไปปฏิบัติในขณะนั้นน้อยมาก ด้วยสาเหตุและเงื่อนไขหลายประการที่ทำไม่ได้หรือได้ค่อนข้างช้าและยากมาก แต่ทั้งหมดนั้นจะเลือนหายไปเกือบหมดภายหลังการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และกระทั่งเมื่อนำมาพิจารณาใหม่ในปัจจุบันนี้ (พศ.๒๕๔๘) หลายเรื่องก็เพิ่งมีการนำมาปัดฝุ่นและจะนำไปปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง
กล่าวโดยสรุป แม้จะมีการเจรจาและพบปะกันระหว่างกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯของรัฐบาล และผู้นำมลายูมุสลิมแล้วก็ตาม แต่ปัญหาทั้งระยะสั้นและยาวก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายไปเท่าที่ควร พัฒนาการที่ก่อรูปขึ้นกลับเป็นไปในทางที่มีความไม่ไว้วางใจในพฤติการณ์ของผู้นำมุสลิมบางคน โดยเฉพาะฮัจญีสุหลง ในเวลาเดียวกันเหตุการณ์ไม่สงบเช่นการปล้นก็ทวีมากขึ้น ในปลายปี ๒๔๙๐ ภายในจังหวัดปัตตานีแห่งเดียวมีการปล้นเกิดขึ้นราว ๒๐๐ คดี "บางรายถูกปล้นและเผาบ้านด้วย โดยเฉพาะคนไทยพุทธถูกปล้นมากที่สุด ผู้ถูกปล้นให้การกับตำรวจว่า เมื่อผู้ร้ายลงจากบ้านเรือนไปแล้วก็จะร้องตะโกนว่า "อิโดะมลายู" (มลายูจงตื่นเถิด) นอกจากนั้นมีการเผาโรงเรียนของรัฐบาลในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ๑ แห่ง" (16) มีการแจกใบปลิวเรียกร้องชาตินิยมมลายูด้วย
เนื่องจากมีเรื่องร้องทุกข์มาก รัฐบาลจึงตั้งกรรมการอีกชุดเรียกว่า "กรรมการสืบสวนคำร้องทุกข์ของชาวไทยอิสลาม" ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ เพื่อลงไปสืบสวนคำร้องทุกข์อีกวาระหนึ่ง ในระหว่างการสอบสวนครั้งแรกนั้น ซึ่งกินเวลาพอสมควร หลายคนได้ถอนตัวออกจากการร้องเรียน เพราะถูกข่มขู่ บัดนี้เรื่องร้องเรียนเหล่านั้นก็ถูกนำกลับมาอีกครั้ง ในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรการอะไรที่รัฐบาลลงมือกระทำหลังจากการสอบสวนทั้งหลายแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัตตานีคือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตอบโต้ต่อผู้ที่ให้ปากคำแก่คณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด ด้วยการเริ่มการปราบใหม่ที่มีทั้งการยิงและการขู่กรรโชกชาวบ้าน (17)
บรรยากาศโดยรวม บรรดาผู้นำมุสลิมไม่ค่อยมีความหวังต่อรัฐบาลในการรับข้อเสนอ ๗ ประการ ฮัจญีสุหลงก็นำการประท้วงไม่เห็นด้วยในการที่รัฐบาลแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรม. ข้อมูลของทางการเริ่มรวมศูนย์ไปที่การเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแบกดินแดนโดยผู้นำมุสลิม คนที่อยู่ในเป้าสายตาคือฮัจญีสุหลง ปมเงื่อนสุดท้ายคือโยงใยของเขากับบุคคลนอกประเทศ ในระยะนั้นมีคนสองคนที่เข้ามาพัวพันกับความคิดและการเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลง ซึ่งจะมีผลต่อชะตากรรมและชีวิตของเขาอย่างคิดไม่ถึง คนแรกคือตนกูมะไฮยิดดิน ขณะนั้นพำนักอยู่ในกลันตัน และนางสาวบาร์บารา วิททิงนั่ม โจนส์ นักข่าวชาวอังกฤษ ซึ่งเดินทางมาดูสถานการณ์ในปัตตานี บางแหล่งข่าวบอกว่าตามคำเชิญของตนกูมะไฮยิดดิน
บาร์บารา วิททิงนั่ม-โจนส์เดินทางมาถึงปัตตานีในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ฮัจญีสุหลงมารอรับที่สถานีโคกโพธิ์ และให้เธอพักที่บ้านของเขา จากนั้นได้นำเธอเพื่อไปพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แต่ท่านผู้ว่าฯไม่อยู่จึงไม่ได้พบกัน. วิททิงนั่ม-โจนส์ใช้เวลา ๓ วันในการเดินทางทั่วปัตตานีก่อนจะกลับไปเขียนบทรายงานลงหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ บทความนี้ตีพิมพ์ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๐ ผลก็คือปัญหาของมลายูมุสลิมภาคใต้ของไทยกลายเป็นจุดสนใจของนานาประเทศไป รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ชั้นสูงมีปฏิกิริยาไม่พอใจต่อบทความโดยเฉพาะการวิพากษ์ วิจารณ์ด้านลบอย่างมาก บทความชิ้นนี้จะกลายมาเป็นหลักฐานหนึ่งในการดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลงข้อหา "ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก"
ว่าไปแล้วภาพของปัตตานีที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของบาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์ ดูน่าตระหนกสำหรับคนภายนอกพอสมควร เธอเขียนว่า "อาณาจักรปตานีเก่าซึ่งกลายเป็นซากปรักหักพัง ก่อนนี้เคยรุ่งโรจน์และมั่งคั่งเพราะเป็นเมืองท่าระหว่างมะละกากับญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ปตานีอยู่ภายใต้การควบคุมของเครือข่ายน้อยนิดของข้าหลวง ตำรวจและข้าราชการอื่นๆ ของสยาม ...ทุกหนทุกแห่งที่ข้าพเจ้าไปถึง มีแต่เรื่องราวอันเดียวกันของการกดขี่อย่างเป็นระบบ และการรณรงค์โดยจงใจที่จะลดความเป็นชาติของประชากรเหล่านั้นเสีย ความไม่พอใจลึกๆเกิดขึ้นจากการห้ามไม่ให้ศึกษาภาษามลายู การห้ามไม่ให้มีโรงเรียนมลายู ได้รับการผ่อนปรนในช่วงหลังสงครามโลกใหม่ๆ ในขณะที่สถานะของสยามยังเป็นประเทศศัตรูอยู่ ขณะนี้ถูกนำมาใช้อีกแล้ว"
ในทรรศนะของเธอ สยามกำลังทำตัวเป็นเสมือน "เจ้าอาณานิคม" และ "ผู้ครอบครอง" นั่นเองเป็นเหตุให้ "ไม่น่าแปลกใจเลยที่บางคนของกลุ่มที่เป็นหัวกบฎและถูกมองว่าเป็นพวกนอกสังคม จะกลายเป็นศัตรูของสังคมไปด้วย โดยการเข้าร่วมการลักลอบขนของเถื่อน โจรสลัดและการปล้นทรัพย์"
บาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์ไม่มีความเมตตาต่อเจ้าหน้าที่ไทยเลยเมื่อมาถึงปัญหาการคอรัปชั่น การแบล๊กเมล์และการลงโทษเหยื่อชาวมลายูมุสลิม เธอเขียนว่า "ด้วยข้อหาเพียงว่าให้ที่หลบซ่อนแก่แก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งทางการชอบมากกว่าการจับกุมตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจสยามก็ทำการเผาหมู่บ้านราบเป็นหน้ากลอง ทำการขู่กรรโชกเจ้าของร้านค้าที่ร่ำรวยหน่อย ให้ต้องจ่ายเงินนับพันบาทสำหรับเป็น "ค่าคุ้มกัน" ทำการใช้กำลังบุกเข้าไปในบ้านคนมลายู ทุบตีผู้หญิงและฉกฉวยเอาสิ่งของเล็กๆ ที่หยิบติดมือได้ไปด้วยตามความพอใจ คนจำนวนหนึ่งถูกยิงอย่างหน้าตาเฉยบ่อยๆ หรือไม่ก็หายไป และไม่ได้ยินข่าวของพวกเขาอีกเลย"
เธอสรุปว่า "เนื่องจากอยู่ห่างไกลและตัดขาดจากโลกภายนอก ปะตานีไม่อาจช่วยตัวเองให้รอดพ้นจากอำนาจก่อความหวาดกลัวนี้ (this reign of terror) ได้เลย การพูดวิจารณ์รัฐบาลอย่างกลางๆก็ถูกตราว่าเป็น "การพูดที่อันตราย" และถูกปิดกั้นด้วยความตายหรือการแบล๊กเมล์(ขู่กรรโชก) ชาวมลายูปตานีไม่มีเสรีภาพในการพูด ไม่มีหนังสือพิมพ์ มีวิทยุไม่กี่เครื่อง และไม่มีกลไกทางการเมืองอะไร" (18)
ถ้าหากจะถือเอาบทความของบาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์เป็นปรอทวัดอุณหภูมิของสถานการณ์ในบริเวณสามจังหวัดภาคใต้ขณะนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่ามีแนวคิดอยู่สามทางในหมู่ผู้นำมลายูมุสลิมต่ออนาคตทางการเมืองของพวกเขา
- หนึ่งคือการก่อตั้งรัฐมลายูที่เป็นอิสระปกครองตนเองโดยมีมะไฮยิดดินเป็นหัวหน้า
- สองคือการรวมเข้ากับสหพันธรัฐมลายา และ
- สามซึ่งไม่ใคร่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากนัก แต่มีคนคิดกันก็คือการรวมกันเข้าเป็นรัฐเอกราชแห่งอินโดนีเซีย อันนี้ขึ้นอยู่กับหนทางและผลของการปฏิวัติเอกราชอินโดนีเซียขณะนั้นด้วย
ไม่นานนักหนทางที่สองและสามก็จางหายไป เพราะปัจจัยและมูลเหตุภายนอกเหล่านั้นไม่อำนวยให้เป็นไปได้ ที่สำคัญสำหรับไทยคือบทบาทของอังกฤษและการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่ให้ต่อรัฐบาลไทยหลังสงครามโลกอย่างแข็งขัน รวมทั้งการพยายามกลับเข้ามามีอำนาจเหนืออาณานิคมเก่าของดัตช์และอังกฤษ ผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ตระหนักดีว่า การรวมกับมลายาไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นหนทางที่เหลือคือการต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองที่เป็นไปได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้หนทางแรกนี้ก็มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ระหว่างฝ่ายนำที่แยกกันตามภูมิสังคม คือฝ่ายผู้นำในปัตตานีที่มีฮัจญีสุหลงเป็นแกนสำคัญ กับมะไฮยิดดินที่อยู่ในกลันตันและมีความหวังที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นเจ้าเก่าของอาณาจักรปัตตานี (19) แต่สำหรับรัฐไทยทั้งสองแกนนำล้วนเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลเหมือนๆ กัน
กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวของมุสลิมภาคใต้ภายใต้การนำของฮัจญีสุหลงมีการติดต่อและการเจรจา(dialogue) กับรัฐไทยและรัฐบาลไม่น้อย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าในหมู่ผู้นำมลายูมุสลิมนั้น มีทิศทางสองอันในการจัดการปัญหาอนาคตการเมืองของมุสลิมภาคใต้
- ทางหนึ่งคือการมองลงทางใต้ คือการต่อสู้แนวทางของตนกูมะไฮยิดดิน
- อีกทางคือการมองขึ้นทางเหนือ คือการต่อสู้ของฮัจญีสุหลงที่มองไปยังกรุงเทพฯ (20)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) ภายหลังสงคราม เขาเปิดรีสอร์ตใน Pantai Chinat Berahi ซึ่งดึงดูดไม่แต่นักท่องเที่ยว หากแต่ยังมีสายสืบของทางการไทยจำนวนมากไปด้วย(2) Ibrahim Syukri, History of the Malay Kingdom pf Patani , p. 85. อ้างใน เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะยีสุหลง อับดุบกาเดร์ กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้ (กรุงเทพฯ, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๔๗), หน้า ๔๗.
(3) อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เขียน นิก อับดุล รากิบ ศิริเมธากุล แปล, ประวัติศาสตร์ปัตตานี (Pengantar Sejarah patani) (ปัตตานี, โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๔๓), หน้า ๗๑.
(4) อิบราฮิม ชูกรี ใน Sejarah Kerajaan Melayu Patani (History of the Malay Kingdom of Patani) หน้า ๘๕ เขียนว่าฮัจญีสุหลงก่อตั้งขบวนการอิสลามขึ้นในปัตตานีในราวปี คศ. ๑๙๔๔ (๒๔๘๗) โดยมีชื่อว่า He'et alNapadh alLakhan al Shariat ซึ่งมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมการร่วมมือกันระหว่างผู้นำศาสนาอิสลามในการต่อต้านการทำให้เป็นสยามของรัฐบาลไทยและการละเมิดศาสนาอิสลาม น่าจะเป็นองค์กรเดียวกัน ต่างกันแต่ปีเท่านั้น ถ้าพิจารณาจากบริบทตอนนั้น องค์กรนี้น่าจะตั้งขึ้นในปี ๒๔๘๒ เพราะในปี ๒๔๘๘ การต่อต้านนโยบายรัฐนิยมไม่มีความจำเป็นแล้ว
(5) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ใน ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ มุสลิมในประเทศไทย (กรุงเทพฯ โครงการหอสมุดกลางอิสลามสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน), หน้า ๒๙๓.
(6) ณรงค์ ศิริปะชะนะ, ความเป็นมาของกฎหมายอิสลามและดาโต๊ะยุติธรรม (กรุงเทพฯ, บริษัทบพิธจำกัด, ๒๕๑๘), หน้า ๗๐-๗๔.
(7) อาหมัด ฟัตฮี อัลฟาตานี ประวัติศาสตร์ปัตตานี, หน้า ๗๘.
(8) อาหมัด ฟัตฮี อัลฟาตานี ประวัติศาสตร์ปัตตานี, หน้า ๗๙.
(9) เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หน้า ๕๐.
(10) หัวเรื่องนี้เป็นชื่อบทความของบาร์บารา วิททิงนั่ม-โจนส์ ตีพิมพ์ในสิงคโปร์ ปลายเดือนตุลาคม ๒๔๙๐
(11) Ibrahim Syikri, Sejarah Kerajaan Melayu Patani (History of the Malay Kingdom of Patani) tr. Conner Bailey and John N. Miksic (Ohio University, Southeast Asia Series, No. 68, 1985), p. 86.
(12) เฉินผิงหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ยอมรับว่าพรรคฯของพวกเขาก็มีส่วนในการลักลอบค้าข้าวตามแนวชายแดน เพราะเป็นหนทางหนึ่งในการหาเงินเข้าพรรคฯ ดู My Side of History as told to Ian Ward and Norma Miraflor (Singapore: Media Masters, 2003), pp. 327-8.
(13) ไม่ทราบว่าต้นฉบับเดิมที่ส่งให้รัฐบาลพิจารณานั้นคือฉบับไหน และเขียนในภาษาอะไร เป็นไปได้ว่าอาจเขียนในภาษามลายู และมีฉบับแปลไทย กับแปลเป็นภาษาอังกฤษ หากนางบาร์บารา วิตติงแฮมโจนส์เดินทางไปพบฮัจยีสุหลง เป็นไปได้ว่าเธอน่าจะได้ต้นฉบับคำเรียกร้อง ๗ ประการที่เป็นฉบับดั้งเดิมที่สุดจากฮัจญีสุหลง ขอให้พิจารณาเปรียบเทียบสำนวนแปลฉบับภาษาไทยที่ต่างกันไปบ้างตามการแปลของแต่ละคน ฉบับข้างล่างนี้นำมาจาก เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร , หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้ (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๗), หน้า ๘๗.
๑) ขอให้ปกครอง ๔ จังหวัดนี้เป็นแคว้นหนึ่ง โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน ๔ จังหวัด
๒) การศึกษาในชั้นประถมต้น จนถึงชั้นประถม ๗ ให้มีการศึกษาภาษามลายูตลอด
๓) ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน ๔ จังหวัดเท่านั้น
๔) ในจำนวนข้าราชการทั้งหมดขอให้มีข้าราชการชาวมลายูร้อยละ ๘๐
๕) ขอให้ใช้ภาษามลายูควบกับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
๖) ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีเอกสิทธิออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลามโดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด
๗) ให้ศาลรับพิจารณาตรมกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกาลี(กอฎีหรือดาโต๊ะยุติธรรม) ตามสมควรและมีเสถียรภาพในการพิจารณาชี้ขาด(14) Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalsim and Separatism, p. 183.
(15) เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์....., หน้า ๙๒-๙๓.
(16) เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะยีสุหลง หน้า ๑๐๖. น่าสังเกตว่านั้นคงเป็นการ "เผาโรงเรียน" ครั้งแรกๆ ในสามจังหวัดภาคใต้ หากจับได้ว่าใครเป็นผู้กระทำในสมัยโน้น ก็อาจเดาได้ว่าใครเป็นผู้กระทำในเหตุการณ์ปัจจุบันนี้
(17) Barbara Whittingham-Jones, "Patani-Malay State Outside Malaya" The Straits Times. October 30, 1947. P. 8.
(18) เพิ่งอ้าง
(19) อาหมัด ฟัตฮี อัลฟาตานี ใน ประวัติศาสตร์ปัตตานี มองว่าฮัจญีสุหลงและตนกูมะไฮยิดดินมีจุดหมายและวิธีการต่อสู้ที่ต่างกัน แม้จะเข้ามาร่วมกันบ้างในบางขณะก็ตาม โปรดดู หน้า ๗๗-๙๙.
(20) ข้อสังเกตเรื่องสองแนวทางนี้ เป็นของอาจารย์ Paul Hutchcroft แห่งภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ว่านี้ เป็นเพียงผลอันเกิดแต่มูลเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "มูลเหตุ" จากแบบแผนวิธีคิดและประพฤติปฏิบัติ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่า "วัฒนธรรมการเรียนรู้" อันเป็นสมบัติแนบเนื่องอยู่กับสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ สมบัติทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ว่านี้ นับเป็นผลพวงของเหตุผลและความจำเป็นตามเงื่อนไขสถานการณ์แห่งยุคสมัย ครั้นเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการเรียนรู้ชุดเดียวกันนั้นเอง ก็มักกลายเป็นโทษสมบัติและมิจฉาทิฐิ บั่นทอนความมั่นคงและการดำรงคงอยู่ของสังคม (คำนำ โดยเสน่ห์ จามริก)
Thai
History
The Midnight University