Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ชีววิทยาแนวจิตวิญญาน
The Biology Of Belief : ชีววิทยาแห่งความเชื่อ (๑)
จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากโครงการเชียงใหม่สำนึก
เป็นการถอดเทปคำบรรยายในเรื่องเกี่ยวกับ
The Biology Of Belief:
Unleashing The Power Of Consciousness, Matter And Miracles

by Bruce H. Lipton
ซึ่งเป็นการศึกษาสิ่งมีชีวิตในระดับเซลล์ และผู้วิจัยได้ค้นพบมิติใหม่ๆ
ที่สามารถเชื่อมโยงคำอธิบายสิ่งเหล่านี้มาใช้กับพฤติกรรมของมนุษย์ได้

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1027
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17 หน้ากระดาษ A4)





The Biology Of Belief : ชีววิทยาแห่งความเชื่อ (๑)
จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ - ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บันทึกการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึกครั้งที่ ๙
วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๔:๐๐ - ๑๗:๐๐ น. ณ เติ๋นผญา วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม
๑. อ. จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ - ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๒. รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม - นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๓. อ.วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ - ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
๔. คุณอติชาติ เกตตะพันธุ์ - เครือข่ายสยามเสวนา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๕. คุณนิศรา วัฒนานิวัต - โรงพยาบาลดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา
๕. คุณณัฐธิดา ไชยวรรณ - นักศึกษาทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๖. คุณอรทัย พงศ์เชี่ยวบุญ - นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๗. คุณชลนภา อนุกูล - ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์
๘. คุณณัฏฐิรา ก๋าวินจันทร์ - ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มเชียงใหม่สำนึก


Biology of Belief : ชีววิทยาแห่งความเชื่อ
จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ / บรรยาย
ประวัติของ ดร.บรู๊ส ลิปตัน เคยเป็นอาจารย์สอนให้กับนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัย Wisconsin (Professor of Anatomy at the University of Wisconsin's School of Medicine) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางสาขาแพทย์ เป็นอันดับต้นๆ ของอเมริกา นักศึกษาที่เรียนด้วยกับเขาส่วนใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เขาทำวิจัยด้านชีววิทยาของเซลล์ (cell biology) แต่เขาก็ทิ้งอาชีพในมหาวิทยาลัยไป เนื่องจากเขามีความเครียดสูงมาก ไปพักอยู่ที่แคริเบียน Monserrat สอนอยู่คณะแพทยศาสตร์ที่นั่น ในลักษณะการพักสอน (sabbatical leave) ประมาณ ๖ เดือน

บรู๊ส ลิปตันได้ความคิดบางอย่างเกี่ยวกับ Biology of Belief จากที่นี่ เมื่อกลับไปยังมหาวิทยาลัย Wisconsin ก็ได้เสนองานวิจัยดังกล่าว แต่ข้อเสนองานวิจัยของเขาไม่ได้รับการสนับสนุน เขาจึงเปลี่ยนไปสอนที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย Stanford (Stanford University's School of Medicine) ที่นี่เขาได้รับการสนับสนุนเต็มที่ด้านทุนวิจัยเกี่ยวกับการ clone เซลล์ของมนุษย์ หลังจากวิจัยและตีพิมพ์งานเขียนไป ๒ ฉบับ เขาก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย Stanford

บทนำในบทที่ ๑ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์การสอนที่แคริบเบียน ที่ซึ่งลิปตันเริ่มสอนนักศึกษาแพทย์ที่นั่นแล้วโยงเข้ากับบุคคลคนทั่วไปเปรียบได้กับเซลล์ ว่าเซลล์ๆ หนึ่งทำหน้าที่ได้เหมือนกับคนๆหนึ่งเช่นกัน และสังคมของเซลล์ประกอบขึ้นมาเป็นตัวคน เป็นสิ่งมีชีวิต มีฟังก์ชันหรือหน้าที่ต่างๆ คล้ายกับคนเราที่อยู่ในสังคม มีบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนๆ ยิ่งเห็นตรงนี้ชัดมากขึ้นเท่าไหร่ เขาก็เลยจับเอาพฤติกรรมของเซลล์มาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของคน

สิ่งที่ฟังก์ชันที่เซลล์ๆ หนึ่งทำได้ ก็เหมือนกับคนๆ หนึ่งทำได้, ไม่มีฟังก์ชันใดที่คนๆ หนึ่ง จะทำได้นอกเหนือไปจากเซลล์นี้เลย ไม่ว่าการย่อยอาหาร การป้องกันตัวเอง การติดต่อสื่อสาร ระบบภูมิคุ้มกัน ในเซลล์ๆ หนึ่งมีสิ่งเหล่านี้ครบทั้งหมด นอกจากนี้การศึกษาพฤติกรรมของคนหรือว่าสิ่งมีชีวิตโดยตรงมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างในการควบคุมปัจจัยการทดลอง รวมทั้งด้านกฎหมาย และจริยธรรม ประกอบกับคนๆ หนึ่งก็มาจากเซลล์หลายสิบล้านๆ เซลล์เหมือนกัน

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ เขาจึงใช้เซลล์เป็นจุดมูลฐาน ที่ใช้ศึกษาการตอบสนองอย่างตรงไปตรงมาต่อสิ่งเร้าที่เขาใส่เข้าไป และเห็นว่ามันเปรียบเทียบกันได้ดีมากกับพฤติกรรมของมนุษย์ จากตรงนั้นได้มีการยกตัวอย่างขึ้นมาในหนังสือ จริงๆ แล้วหนังสือเขาจะแบ่งออกเป็นบทๆ เปรียบเทียบพฤติกรรมของคนกับเซลล์ อ้างอิงงานวิจัยมากมายมาเป็นหลักฐาน เพื่อสนับสนุนตรงนี้ด้วย ว่าเซลล์มีความฉลาด ต้องการมีชีวิตรอด ต้องการสืบพันธุ์ ทำอะไรได้หมดเหมือนกับมนุษย์ สามารถเรียนรู้และเก็บความทรงจำ ซึ่งความทรงจำของเซลล์ จะอยู่ในรูปของยีน เรียกว่าเป็น ความจำกายภาพ (physical memory) ของประสบการณ์ที่ผ่านมาของเซลล์ อยู่ในรูปของยีน

ความเข้าใจที่ผ่านมาโดยทั่วไปเราเข้าใจกันว่า "ยีน"เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม หรือว่าสิ่งที่เราแสดงออกทุกๆ อย่างของสิ่งมีชีวิต แต่เขาต่อต้านแนวคิดนี้ เขากล่าวว่า ยีนไม่ใช่ตัวควบคุมลักษณะภายนอกหรือลักษณะที่แสดงออกของสิ่งมีชีวิตที่แท้จริง ทฤษฎีบางอย่างที่บอกว่าพฤติกรรมการเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ความผิดเพี้ยนทางเพศ หลายๆ อย่างว่าเป็นผลควบคุมจากยีนนั้น มันเพียงแค่มีสหสัมพันธ์ (correlation) คือ มีความเหมือนระหว่างยีนของกลุ่มบุคคลนี้ ซึ่งเขาใช้คำว่ามีความเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมนั้น คนที่มียีนนั้นไม่จำเป็นต้องแสดงออกเช่นนั้นเสมอไป คือมันมีการเปิดปิดสวิตซ์ของยีน ว่าจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมตรงนั้นหรือไม่

ยีนในสิ่งมีชีวิต จริงๆ แล้วเป็นเหมือนแบบแปลนของตัวบุคคล ของสิ่งมีชีวิต แต่ว่าจะแสดงออกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ว่าจะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมตรงนั้นหรือเปล่า ในหนังสือมีหลายตัวอย่างที่สนับสนุนประเด็นนี้ และข้อสำคัญคือ สิ่งแวดล้อมที่มีผลกับเซลล์ ยังไม่เป็นผลโดยทันทีหรือเสมอไป มันยังขึ้นอยู่กับความเห็น ความเชื่อของสิ่งมีชีวิตหรือว่าของเซลล์นั้นที่มีกับสิ่งแวดล้อม ถึงจะเป็นตัวกระตุ้นอีกที คือไม่ใช่แค่ว่าสิ่งแวดล้อมโดยตรง มันยังผ่านขั้นตอนกระบวนการวิเคราะห์ของเซลล์หรือสิ่งมีชีวิตอีกด้วย ที่วิเคราะห์ออกมาว่าเห็นเป็นอย่างไร แล้วถึงจะแสดงออกถึงพฤติกรรมของเซลล์หรือแม้แต่ของยีนนั้น

บางงานวิจัยที่ลิปตันยกขึ้นมาสนับสนุน อาจจะไม่ได้พูดถึงโดยละเอียดนัก มีการเปรียบเทียบว่า จากเซลล์เดียว วิวัฒนาการขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เพื่อความอยู่รอดของเซลล์โดยรวม มันจะรวมตัวกันอยู่ด้วยการแบ่งงานกันทำ ซึ่งทำให้มันมีอัตรารอดได้สูงขึ้น แบบพหุคูณ (exponential) ไม่ใช่แค่ทวีคูณ

ตอนแรกเซลล์จะอยู่กันแบบสังคมหลวมๆ ก่อน คือต่างเซลล์ต่างอยู่แต่อยู่รวมกันเฉยๆ แล้วค่อยรวมกันเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เพิ่มขึ้นๆ โดยมีโครงสร้าง มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนจากเซลล์แต่ละเซลล์ ดังนั้นพฤติกรรมของสังคมเซลล์ จึงศึกษาได้จากเซลล์เดียวดังนี้ หรือเมื่อพิจารณาจากสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ เซลล์ทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง หรือคนๆหนึ่ง แบ่งลงไปถึงเซลล์แต่ละเซลล์ จริงๆแล้วมีโครงสร้างภายในเหมือนกันทุกอย่าง เล็กสุดลงไปเป็นนิวเคลียส และยีนที่อยู่ภายในนิวเคลียสก็เหมือนกันทุกเซลล์ แต่แสดงออกภายนอกไม่เหมือนกันแค่นั้นเอง

การแสดงออกภายนอกก็คือการทำหน้าที่ ฟังก์ชันต่างๆ ในตัวสิ่งมีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็มาจากการที่ตอนเริ่มแรกเซลล์อยู่รวมกัน ประกอบกันแล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นมาเพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดของกลุ่มแค่นั้นเอง เพราะนอกจากจะเสริมกำลังกันป้องกันกลุ่มก้อนของตัวเองได้แล้ว ยังลดการบริโภคอาหาร (ลดการใช้พลังงานในการดำรงชีวิตแบบเดี่ยว) ลงไปได้อีกด้วย เทียบกับการดำรงชีวิตอยู่ของคนเมื่ออยู่คนเดียว ก็ต้องมีสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ถ้าอยู่ร่วมกันกับคนอื่น มีการใช้ร่วมกันของสิ่งของพวกนี้ก็ลดค่าใช้จ่าย ลดพลังงานลงได้ทำนองเดียวกัน. ดร.บรู๊ส ลิปตัน จะค้านกับทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วินที่ว่า วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมันจะเป็นการต่อสู้ผ่านสงครามนองเลือด(natural selection) เพื่อว่าจะได้อยู่เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งได้

เขากล่าวว่า ทฤษฎีของดาร์วินนั้นต้องผ่านความเป็นความตาย แก่งแย่งมีชีวิตรอดมาได้สปีชีส์หนึ่งเหมือนกับว่าจะต้องผ่านสงครามมา ทฤษฎีของเขาจะมีลักษณะที่เห็นด้วยกับคนที่เสนอทฤษฎีก่อนหน้าชื่อว่าลาร์มาร์ก แต่ว่าลาร์มาร์กพลาดในการทำการทดลอง เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของเขา เขาเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการมาก่อนดาร์วินสักประมาณ ๕๐ ปี แต่เขาพลาดในการทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ข้อเสนอในเชิงทฤษฎี อันที่จริงเขาใช้เวลาทำการทดลองเพียง ๕ ปีซึ่ง มันไม่พอสำหรับที่จะพิสูจน์ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ทฤษฎีของลาร์มาร์คจึงไม่สมบูรณ์พอ แต่ลาร์มาร์ค เสนอทฤษฎีในลักษณะที่ว่ามันเป็นการอยู่ร่วมกันของเซลล์เพื่อให้อยู่รอด มากกว่าที่จะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นหรือว่าต่อสู้ฆ่าฟันกับสิ่งแวดล้อม คือเป็นลักษณะที่รวมตัวกันเพื่ออยู่ มากกว่าที่จะต่อสู้ฆ่าฟันแย่งชิงอัตราการอยู่รอดกันขึ้นมา เช่น แย่งชิงอาหารหรือว่าอะไรก็แล้วแต่

ลักษณะการคัดสรรค์โดยธรรมชาติ (natural selection) ดร.บรู๊ส ลิปตัน ได้เห็นตัวอย่างตรงนี้จริงๆ จากนักศึกษาของเขาเอง ตอนที่เขาไปสอนอยู่ที่เกาะแคริเบียน เป็นเกาะเล็กๆ นักศึกษาจะมีพื้นฐานการศึกษาต่ำกว่านักศึกษาในคณะแพทย์ มหาวิทยาลัย Wisconsin ที่เคยสอนมา แต่เขาให้กำลังใจนักศึกษา และบอกกับนักศึกษาที่นั่นว่าเขาจะไม่ลดมาตรฐานการสอนจากมหาวิทยาลัย Wisconsin ลงมาเพื่อสอนนักศึกษาที่นี่ ถ้านักศึกษายังคงเรียนอยู่ในลักษณะเดิม ทุกคนจะไม่รอดในชั้นเรียนของเขา ขู่มาก(หัวเราะ) แต่ย้ำว่าไม่ลดมาตรฐานของเขาเด็ดขาดให้นักศึกษาไปเปลี่ยนวิธีการศึกษาใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม เขาให้กำลังใจโดยเชื่อว่านักศึกษามีศักยภาพที่จะทำได้เหมือนกับนักศึกษาในที่เขาเคยสอนมา และเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้

สิ่งที่นักศึกษาแพทย์แคริเบียนทำแล้วอยู่รอดมาได้ แล้วผ่านการวัดผลด้วยมาตรฐานเดียวกันกับนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัย Wisconsin เป็นวิธีเดียวกันกับพวกเซลล์เล็กๆ ที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดในการเรียน แบ่งหน้าที่กันไปว่าแต่ละคนไปทำอะไร แล้วก็มารวมกัน ช่วยกันศึกษาไปจนกระทั่งรอดกันทั้งชั้นเรียน ด้วยมาตรฐานเดียวกันกับที่เขาเคยสอนที่ Wisconsin ได้ผลเห็นชัดๆ แต่นักศึกษาเรียนหนักมากและทุ่มเทกันอย่างมาก

ตรงนี้เองที่เขาก็เอามายืนยันด้วยว่า เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาแล้วเหมือนกันมากกับเซลล์ตัวเล็กๆ เพื่อความอยู่รอด "รวมกันเราอยู่แยกกันเราตาย" เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาเหมือนกันโดยที่เขาไม่ได้สอนเลยว่า เซลล์มันทำยังไงหรือบอกให้ทำอะไรยังไง เพียงบอกว่าเรียนอย่างนี้คุณไม่รอด ให้นักศึกษาไปหาวิธีการเอาเอง ประสิทธิภาพการรวมกันขึ้นมาของกลุ่มชนกลุ่มเซลล์ที่ อัตรารอดมันก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ตรงนี้เป็นบทแรกที่เขาแนะนำเรื่องพฤติกรรมของเซลล์ และเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง cell biology เขาเปรียบเทียบให้เห็นได้เป็นอย่างๆ ไป ทั้งในทางทฤษฎีและพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่เขายกขึ้นมา

บทที่ ๒ กล่าวถึง สิ่งแวดล้อมมีผลกับพฤติกรรม มากกว่าที่จะเป็นยีนไปเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม โดยที่ลิปตันใช้สิ่งแวดล้อมของเซลล์ในการอธิบาย และได้ดึงเอางานวิจัยของนักชีววิทยาอื่นๆ ที่ศึกษาพฤติกรรมของคนมาสนับสนุนเป็นหลักฐาน ซึ่งบทที่ ๕ ตอนช่วงที่เขาทำการทดลอง ส่วนตัวแล้วชอบมากกว่า ก็เลยจะไปเน้นบทนั้น. บทที่ ๒ เขาจะอธิบายถึงทฤษฎีของชาร์ลดาร์วิน ว่ามันเป็นอย่างไร สิ่งแวดล้อมที่พูดถึงได้แก่ ลักษณะอากาศ, อาหาร, ศัตรูของการอยู่รอดต่างๆ มันจึงจะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมของเซลล์ เป็นตัวกระตุ้นให้ยีนทำงาน, ยีนปิด/เปิดสวิตซ์ ให้แสดงพฤติกรรมของเซลล์เองไม่ได้

เขาอธิบายไปถึงโครงสร้างของยีนซึ่งเป็นโปรตีน เป็นกรดอะมิโนที่เป็นโมเลกุลมีขั้ว บอกว่าสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นต่างๆ จะเป็นสัญญาณเข้ามา ซึ่งต้องเหมาะสมกันพอดีกับโมเลกุลตัวรับสัญญาณ จึงจะแสดงผลได้ บ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตขึ้นอยู่กับโปรตีน การที่สิ่งมีชีวิตจะเคลื่อนไหวได้ เซลล์จะเคลื่อนไหวก็คือการที่โมเลกุลของโปรตีน ได้รับสัญญาณเข้ามาเป็นประจุบวก/ประจุลบ แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของโมเลกุลของโปรตีน ถึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหว โดยตัวโปรตีนเองแล้วถ้าหากไม่มี สัญญาณเข้ามามันก็จะไม่เคลื่อนไหว ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าหากว่ามีสัญญาณเข้ามาเป็นประจุบวก/ ประจุลบ ถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกันกับ DNA, RNA หรือว่ายีน ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง การแสดงออกได้ ต้องมีสัญญาณ มีตัวกระตุ้นเข้ามา เปิด/ปิด ลักษณะการแสดงผลของยีน

เขาใช้เวลามากในการอธิบายบทนี้ มีการกล่าวถึง human genome project ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จับคู่พฤติกรรมกับยีน เป็นโครงการที่ดีแต่เขาไม่คิดว่ามันเพียงพอกับการที่จะตัดสินว่า สิ่งมีชีวิตที่มียีนนั้นแล้วจะแสดงออกถึงพฤติกรรมของยีนนั้นด้วยเสมอไป ยังต้องมีปัจจัยอื่นมาประกอบด้วย

บทที่ ๓ กล่าวถึงผนังเซลล์ (cell membrane) ว่าเป็นโปรตีนเหมือนกัน เป็นส่วนที่รับรู้สัญญาณจากสิ่งแวดล้อมเข้ามาในตัวเซลล์ แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เขาศึกษาและพบว่าผนังเซลล์จริงๆ แล้ว เปรียบเสมือนสมองซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวตัดสินใจของเซลล์ มากกว่าที่จะเป็นนิวเคลียส อวัยวะรับสัมผัสของมนุษย์ที่ติดต่อกับภายนอกมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งรวมแล้วก็คือผิวหนัง(ผนังเซลล์)เช่นกัน ดังนั้นตัวรับรู้สัมผัส(receptor) มันอยู่ที่ผิว แล้วยังเป็นตัวตัดสินใจตอบสนอง เมื่อได้รับสัญญาณที่มากระทบ แล้วส่งผลให้เกิดการตัดสินใจของสิ่งมีชีวิตในการแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม

ผิวหนังเป็นสมองของเซลล์มากกว่าที่จะเป็นนิวเคลียส ที่แม้จะเป็นที่อยู่ของยีนก็จริง แต่เป็นเพียงที่อยู่ของความจำ ซึ่งไม่ได้ใช้อะไร หากไม่มีการตัดสินใจจากผนังเซลล์ เซลล์จะไม่แสดงออกถึงพฤติกรรม ใน VCD (ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับหนังสือเล่มที่กำลังบรรยายอยู่นี้) ได้ให้ภาพเป็นการ์ตูนซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผนังเซลล์สำคัญอย่างไร จะปล่อยให้สัญญาณผ่านเข้ามาหรือไม่ คือมีการ์ตูนลักษณะเป็น เสาอากาศ (antenna) รับสัญญาณภายนอกเข้าไป จะเปิดช่องให้หรือไม่ หรือว่ามีการเคลื่อนไหวอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการตัดสินของผนังเซลล์

ลิปตันได้ให้ความสำคัญกับ"ผนังเซลล์"ที่รับสัญญาณภายนอกเข้ามามากกว่า"นิวเคลียส" เขาอธิบายทั้งหมดหรือว่าแสดงมาทั้งหมด คือจะเปรียบเทียบว่าตัวนิวเคลียส และ DNA (ยีน)เอง ไม่ใช่เป็นตัวที่ตัดสินใจ แต่เป็นผนังเซลล์ที่ติดต่อกับภายนอกหรือว่ารับรู้สัญญาณจากสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของผนังเซลล์ไม่ขึ้นอยู่กับสัญญาณอย่างเดียว มีการวิเคราะห์ด้วย ว่าสัญญาณนั้นเป็นอะไร เป็นอาหารหรือพิษ ถึงจะแสดงพฤติกรรมออกมาต่างกัน คือ ไม่ใช่แค่ว่ารับสัญญาณอย่างเดียว ต้องเปรียบเทียบกับข้อมูลหรือประสบการณ์ ที่เคยพบมาด้วยว่าสัญญาณที่เข้ามาเป็นอันตรายหรือว่าเป็นประโยชน์

คำถามที่อาจเกิดข้อสงสัยในที่นี้คือว่า แล้วข้อมูลเดิมของผนังเซลล์อยู่ตรงไหน? ข้อมูลเดิม คือความจำ คือ เมื่อรับสัญญาณมามันจะไปตรวจสอบกับความจำ

ชลนภา : ก็คือยีนในที่นี่

อติชาติ : memory อยู่ในนิวเคลียสตรงนั้นหรือเปล่า

สมเกียรติ : คือผนังเซลล์ทำหน้าที่เป็นตัวรับสัมผัส(receptor) พอปะทะกับสิ่งแวดล้อมภายนอก มันจะไปตามยีนให้ไปตรวจสอบ ยีนบอกว่าอันนี้เป็นพิษ ยีนก็จะส่งข้อมูลมาที่ผนังเซลล์ ผนังจะตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมว่ารับหรือไม่รับ ถ้าเป็นอาหารก็กิน คือตัวมันเองทำหน้าที่เป็นตัวรับสัมผัส พูดง่ายๆ ก็คือเป็นผัสสะ ด่านแรกสุดประสาทสัมผัส แต่ว่าของเรามันต้องไปแลกเปลี่ยนที่สมอง ของเขาก็คืออยู่ที่ยีนเป็นความจำแล้วส่งกลับมา ถูกไหม

จันทร์เพ็ญ : ตรงยีนเหมือนเป็นความจำอยู่ ๒ แบบ ความจำแบบยีนเป็นความจำที่ถ่ายทอดกันลงมา เป็นรุ่น (generation) กับความจำจากประสบการณ์ ว่าตรงนี้ คือ อาหารที่มันกินอยู่ตลอดเวลา อันนี้มันตัดสินใจได้เลย มันจะเป็นอยู่ ๒ ลักษณะ

ยีนจากทฤษฎีของลิปตันแล้ว ในบทต่อไปจะมีอธิบายถึงสิ่งที่เราเคยเชื่อกันว่า ยีนมันไม่เปลี่ยนแปลง มันไม่มีตัวที่จะเปลี่ยนแปลงยีนได้ จะมีอยู่บทหนึ่งซึ่งเป็นกรณีที่นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้ทำการทดลองเกี่ยวกับแบคทีเรีย ที่ไม่มีแลคเตส (เอนไซม์ที่จะย่อยนมแลคโตส) เขาจับเอาแบคทีเรียไปเลี้ยงในนมแลคโตสบริสุทธิ์ ซึ่งคาดว่าถ้าหากว่ายีนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น พวกแบคทีเรียพวกนี้จะต้องไม่รอด มีการคาดกันว่าแบคทีเรียต้องตายหมด เพราะมีอาหารที่กินไม่ได้ก็เท่ากับไม่มีอาหารนั่นเอง แต่ผลกลับกลายเป็นว่าแบคทีเรียพวกนี้เจริญเติบโตขยายพันธุ์ออกมาเป็นแบคทีเรียพวกเดียวกัน แต่พอมาดู ยีนจริงๆ มันเปลี่ยน เปลี่ยนเฉพาะที่จะผลิตแลคเตสตรงนั้นที่เดียว ซึ่งตอนแรกเป็นแบคทีเรียที่มันไม่กินนมเลย มันย่อยไม่ได้ ไม่มีตัวเอนไซม์มาย่อย

ผลการทดลองนี้ออกมาเป็นการทดลองที่เขย่าวงการวิทยาศาสตร์มาก เป็นการทดลองที่ทำในอเมริกา นิตยสาร Biology science ในอังกฤษ เขียนขึ้นมาโจมตีตรงนี้ ว่าดอกเตอร์คนดังกล่าว มีผลงานที่เชื่อถือได้มาตลอด แต่งานนี้ไฉนออกมาเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้ ไม่น่าเชื่อถือ คือเขาใช้คำที่เป็นหัวข้อว่า "Unicorn in the garden" บอกว่าเป็นแฟนตาซี เป็นจินตนาการ เป็นอะไรที่เพ้อฝันในสวนซึ่งไม่น่าจะเชื่อถือได้ เขียนเป็นลักษณะค่อนแคะเสียดสีนิดหน่อย แล้วหนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้นก็มี editorial ออกมาในอเมริกาต่อสู้กันในประเด็นนี้ บอกว่านักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษมีความเชื่องมงายอย่างความเชื่อในศาสนา ผลการทดลองเป็นผลทางวิทยาศาสตร์(scientific result) ที่สามารถทดลองซ้ำได้ ออกมาเป็นอย่างนี้ ควบคุมการทดลองได้ดีมากอยู่แล้วแต่ยังไม่ยอมเชื่อ และหาว่าเป็นแฟนตาซี

อันนี้เหมือนกับการต่อสู้กันระหว่าง ๒ ทวีปในลักษณะของการวิจารณ์ทางวิชาการ ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าเชื่องมงายอย่างศาสนา ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามหลักฐานที่มันมีมา ว่ายีนสามารถเปลี่ยนแปลงได้. กว่าจะออกมาเป็นผลงานวิจัยที่ยอมรับโดยทั่วไป ต้องผ่านการทดสอบมาขนาดไหน สุดท้ายมี editorial ในนิตยสาร Biology science ที่มีชื่อเสียงของอเมริกาออกมา มียีนอีกตัวหนึ่ง ที่มันสามารถเปลี่ยนยีนที่มันเคยมีมากันอยู่ได้ เป็นยีนตัวเขียน (writing gene) ที่มีสิทธ์มาเปลี่ยนยีนตัวอื่นได้อีกที เพื่อความอยู่รอดของเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มันก็จะต้องปรับตัวเองไปตามสิ่งแวดล้อม

ข้อสรุปตรงนี้ที่ออกมาก็คือ ยีนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ สิ่งมีชีวิตที่แสดงลักษณะพฤติกรรมอะไรออกมา มันก็จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับยีนอย่างเดียว จริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำ ที่จะไปเปลี่ยนตรงนี้ได้ ถ้าหากว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่หลายเซลล์มากๆ การเปลี่ยนแปลงหรือว่าการมีผลของสิ่งแวดล้อม มันอาจจะใช้เวลานานกว่าหรือว่ามันอาจจะต้องเจาะจงอะไรมากกว่าด้วย

อติชาติ : ที่จริงในทฤษฎีเดิมมันก็มีเรื่องมิวเทชัน (mutation) ที่ยีนเปลี่ยนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันจะเปลี่ยนช้ากว่า อันนี้อาจารย์กำลังจะเทียบว่ามันเปลี่ยนได้เร็วมาก
Mutation - a change in the structure of a gene resulting in a variant form which may be transmitted to subsequent generations. ุ a distinct form resulting from such a change.)

จันทร์เพ็ญ : ใช่ ซึ่งมันเปลี่ยนเลยทันทีสำหรับสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแบคทีเรีย มันเปลี่ยนเลยในรุ่น (generation)ของมัน ซึ่งรุ่นของมันอาจสั้นกว่าสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ก็ได้ อย่างสำหรับเราถ้ามิวเทต (mutate) ก็เป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน เวลามันจะทอดยาว ของแบคทีเรียจะสั้นแค่มันแบ่งตัวออกมาแล้วมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย

อติชาติ : ถ้าอย่างนั้นคิดในแง่นี้ได้ไหมครับว่า เซลล์ตัวนี้ที่อยู่รอดอาจจะไม่ใช่ตัวเดิมก็ได้ ก็เข้าสู่ทฤษฎีมิวเทชันเหมือนเดิม เพราะว่ารุ่นของเขาสั้น เพราะฉะนั้นเขาเกิดตัวใหม่เขาก็มีการเปลี่ยนยีน เพื่อความอยู่รอด ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็จะไปสนับสนุนกับไอเดียเดิมว่า เป็นมิวเทชันมากกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของยีน ตัวพวกนี้มันตายเร็ว รอบ(cycle)ของการมีชีวิตค่อนข้างสั้น เพราะฉะนั้นผมจึงสงสัยว่า ตัวที่ออกมาใหม่ อาจจะเป็นตัวใหม่ ตัวเก่าอาจตายหมด

จันทร์เพ็ญ : แต่มันต้องมีตัวเก่ารอดอยู่ก่อนใช่ไหม ตัวเก่ารอดที่จะแบ่งตัว ในนั้นเขาไม่ได้บอกว่าเป็นกี่รุ่น เขากลับมาดูอีกทีประมาณ ๒-๓ วัน มีเต็มไปหมดแล้ว แล้วเอามาวิเคราะห์ยีนของมัน มันเกิดมียีนตัวที่ผลิตแลคเตสขึ้นมาได้ทุกตัว แบคทีเรียทุกตัวก็จะมียีนทีผลิตแลคเตสขึ้นมาได้ ซึ่งตอนแรกมันเป็นพันธุ์ที่ผลิตไม่ได้เลย มันไม่กินเลย

สมเกียรติ : คือที่อาจารย์อติชาติสงสัย จริงๆ แล้วตามความเข้าใจของผม มิวเทชันน่าจะเป็นเรื่องข้างในไม่ใช่สิ่งแวดล้อมภายนอกทำให้มิวเทต เผลอๆ ยีนเราอาจจะมีแต่มันอยู่ข้างใน ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมกระตุ้น ไม่เช่นนั้นสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นเรื่องของ globalization เราได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากก็ต้องมิวเทตแบบตาสีฟ้า ผมสีทองซิ แต่ไม่ใช่ มันสุ่ม (random) อยู่ในเซลล์เอง คือพวกชาวเขาบางคน ตาสีฟ้า ผมสีทอง ผมว่า มิวเทชันเป็นเงื่อนไขภายใน(condition) อีกชนิดหนึ่ง

ชลนภา : กำลังนั่งนึกถึงที่เขาบอกว่า ยีนจริงๆ มีทุกอย่าง เพียงแต่ว่าสิ่งแวดล้อมที่เข้ามา พอมันเปลี่ยน มันจะบอกว่ารับอันนี้ / ปิดอันนั้น, พอสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนมันก็บอกเปิดอันนั้น / ปิดอันนี้ คือ จริงๆ มีทุกอย่าง คำว่าเปลี่ยนของยีน มันเป็นยีนตัวเดิมแต่ว่ามันเปลี่ยนรหัสที่จะตอบสนอง (react) ออกไปใช่หรือเปล่า?

จันทร์เพ็ญ : เขาใช้คำว่า มันไม่มียีนที่จะผลิตแลคเตสเลย เป็นพันธุ์ที่ไม่มียีนตัวนี้เลย แล้วมันเกิดเป็นว่ามีมาทุกตัว มันเปลี่ยนอย่างสมบูรณ์(completely)ไปเลย

วิชัย : ไม่แน่ใจเรื่องข้อมูลน่ะว่าจะจำได้ขนาดไหน แต่คุ้นๆ เนื้อหาทำนองนี้ที่ทางคุณหมอวิธานและคุณวิศิษฐ์เขาสนใจเรื่องนี้อยู่ เขาจะพยายามอธิบายเรื่องผนังเซลล์ (cell membrane) นี้เหมือนกัน เขาบอกว่าตัวเซลล์เอง คือ สมองเรา ความเชื่อก่อนหน้านี้ที่บอกว่าสมองมันมีการม้วน การสร้างตัวจาก เซลล์ๆ เดียว แล้วก็แบ่ง ๒ ๔ ๘ ไปเรื่อยๆ พอถึงจุดๆ หนึ่ง ส่วนที่มันจะพัฒนามาเป็นสมองของเรา มันคือ ผนังเซลล์ต่างหาก พัฒนาการของเซลล์ ที่เป็นสัตว์เซลล์เดียว ส่วนที่มันใช้ในการทำหน้าที่ สิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้ มันไม่ใช่นิวเคลียส มันคือตัวผนังเซลล์ตัวนี้

การอธิบายที่เขาใช้คำว่า new science เซลล์จะมีปฏิกิริยาต่อความเปลี่ยนแปลง เซลล์นั้นถอย ปฏิกิริยาของการถอย เขาจะอธิบายไปถึงความสลับซับซ้อนของสมองด้วย ใช้สมองส่วนไหนในการดำรงชีวิตอยู่ ปฏิกิริยาในการถอย คือปฏิกิริยาพื้นฐานทำให้สิ่งมีชีวิตนั้น ไม่สามารถอยู่รอดได้ ถ้าถอยก็ตาย แต่ถ้ามีปฏิกิริยาที่จะสู้ขึ้นมาเซลล์นั้นจะอยู่รอดได้ ซึ่งผมเข้าใจว่าอันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวกับ mutation ก็คือว่าเซลล์นั้นต้องผ่านการอยู่รอดมาก่อน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมนั้น และสามารถที่จะเริ่มแพร่พันธุ์ใหม่ได้ ซึ่งคิดว่าอันนี้ไม่ใช่การ mutate และไม่ใช่ generation มันหลาย generation คือ ภายใน generation นั้น สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ในแง่ที่ว่า เซลล์มันมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเหมือนกัน แต่มันเลือกที่จะใช้อะไรให้สามารถที่จะอยู่รอดในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าข้อมูลนี้ถูกต้องขนาดไหน

จันทร์เพ็ญ : สรุปก็คือ cell membrane เป็นอวัยวะที่รับรู้และตัดสินใจว่าจะตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งในบทที่ ๕ เขายกตัวอย่างสิ่งที่เขาทำการทดลองกับเซลล์ เขาเอาเซลล์ไปวางไว้ใกล้ๆ อาหาร แล้วดูว่าเซลล์มันจะทำยังไง ปรากฏว่ามันพยายามคืบคลานเข้าไปใกล้ทิศทางของอาหาร แล้วเขาเอาพิษไปวางไว้ใกล้ๆ มันแล้วดูว่ามันจะยังไง ปรากฏว่ามันถอยออกจากพิษตัวนี้ มันจะเคลื่อนที่เข้าหาหรือว่าเคลื่อนที่ออกจากตรงนี้หรือมันจะอยู่นิ่งๆ ถ้ามันตัดสินใจไม่ได้ว่ามันเป็นอะไร

สรุปคือ เซลล์มีพฤติกรรมอยู่ ๓ อย่างก็คือ ถอย นิ่ง และวิ่งเข้าหา มันเป็นปฏิกิริยาพื้นฐาน (basic response) ของเซลล์

ถ้านำมาเปรียบเทียบกับกิเลสซึ่งเป็นปฏิกิริยาพื้นฐานหรือเป็น ลักษณะของการปรุงแต่งทางจิตทางอารมณ์ของมนุษย์เราแล้ว ก็เป็นลักษณะที่คล้ายกัน คือ โลภ โทสะ โมหะ โดยที่โลภ ก็คือ ความชอบ ความต้องการ ที่จะเอาอะไรก็ตามเข้าหาตัว, เปรียบกับเซลล์ที่เคลื่อนเข้าหาสิ่งที่คิดว่าเป็นอาหาร. ส่วนอะไรก็ตามที่ไม่อยากเอาเข้าหาตัวตรงกับลักษณะของโทสะ การผลักออกเหมือนกับเซลล์ที่กลัวหรือเกลียดอะไรก็ตาม ที่มันคิดว่าเป็นอันตรายต่อการมีชีวิตรอดของมัน. แต่ถ้าหากว่าไม่รู้ว่าเป็นอะไร จะทำยังไงกับสิ่งเร้า ก็อยู่นิ่งๆ เทียบได้เป็นโมหะ ไม่รู้ว่าเป็นโทษหรือประโยชน์กันแน่ เขาทำการทดลองกับเซลล์แล้วมาเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิต มันก็ค่อนข้างตรงลงไปถึงการตัดสินใจตอบสนองขั้นพื้นฐาน มันเหลืออยู่ ๓ อย่าง แค่นั้น

สำหรับสิ่งมีชีวิตจริงๆ ที่บอกว่าในยีนของสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมลักษณะและพฤติกรรมมากมายนับไม่ถ้วนนั้น แบ่งจริงๆ ออกมาแล้วสามารถแบ่งแยกได้เป็น ๒ พวกเท่านั้นเอง (เข้าหา-อาหาร, ถอยห่าง-อันตราย) คือพอเขาเอาการทดลองตรงนั้นมาอธิบายถึงสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่แค่เซลล์เดียว ถ้าหากว่าเจออันตราย จะตัดสินใจว่าคืออาหารหรืออันตราย ว่าสามารถหาอาหารได้เพียงพอหรือเปล่า และหลีกหนีอันตรายได้แค่ไหน จนชีวิตหมดสิ้นอายุขัยไปเอง มันขึ้นอยู่กับ ๒ อย่างเท่านั้น และก็จะมีปฏิกิริยาอยู่ ๓ แบบ (ถอย นิ่ง และวิ่งเข้าหา)ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าไม่นับการอยู่นิ่งเฉยก็เหลือ ๒ แบบ คือ จะเข้าหาหรือจะถอยห่าง ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์จะเห็นสิ่งแวดล้อมเป็นอะไร, เป็นอาหารหรือว่าเป็นอันตราย, จะเดินเข้าหาหรือว่าจะถอยออกไป

ในสถานการณ์ที่เรียกว่า สุดขั้ว (extreme) ผลที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตเองหรือผลที่เกิดขึ้นมาจากตัวเซลล์เอง มันจะทุ่มพลังงานทั้งหมดเพื่อประสิทธิภาพของการมีชีวิตอยู่ เจออันตรายสุดขั้วมันจะวิ่งหนีสุดชีวิต ดึงเอาพลังงานที่ใช้ในการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน การคิด ความมีเหตุผล มาใช้ในการป้องกันตัว เอาชีวิตรอด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวรอดแบบสู้หรือถอยก็ต้องแสดงออกด้วย อวัยวะที่เป็นกล้ามเนื้อและกระดูก ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น สมอง อวัยวะภายใน ขณะที่มันวิ่งหนีสุดชีวิต มันจะทุ่มเทพลังงานทั้งหมดไปเพื่อวิ่งหนี ลักษณะตรงนั้นจะเป็นลักษณะของความเครียด (stress) แล้วมันจะต้องส่ง stress hormone ออกมาไม่ใช่แค่เซลล์แต่เขาโยงมาถึงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่แล้ว เขาบอกว่าเซลล์ถ้ามันกลัวสุดชีวิต มันตายตรงนั้นได้เลย ก๊อกตายนิ่งไปเลย

วิชัย : วันนี้ผมดูโทรทัศน์ช่อง ๑๑ เขาไปเอา super hero อะไรต่างๆ แล้วเขาบอกว่าแต่ละคนของ super hero มีคุณสมบัติพิเศษอะไรบ้าง อันนี้เป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์ไปจับเพื่อวิเคราะห์ให้ได้สิ่งเหล่านั้นออกมา ยกตัวอย่างเช่น spider man เขาก็พยายามไปศึกษาว่าเส้นใยที่เล็กที่สุด เหนียวที่สุด รับน้ำหนักได้มากที่สุด

มีอยู่คนหนึ่งเขาพูดถึง เอามนุษย์ไปสวมใส่ cyber link ที่หัวแล้วจับคลื่นเป็นการเล่นเกม คล้ายกับเกมคอมพิวเตอร์ เป็นคนแล้วไปต่อสู้กับคนอื่น แต่เขาใช้บังคับด้วยสายตา เวลาที่เห็นเหตุการณ์ ขึ้นมาปุ๊บ คนนี้จะตัดสินใจว่าจะสู้หรือจะหลบ ใช้สายตาในการกรอกหรือใช้เปลือกตาในการบังคับอะไรต่างๆ เขาก็เชื่อมอันนี้ไปอีกจอภาพหนึ่ง เป็นจอของคลื่น ปรากฏว่าคลื่นที่ปรากฏบนจอเมื่อไหร่ก็ตามที่เจอคู่ต่อสู้ขึ้นมา แล้วเขาคิดว่าเขาจะสู้ขึ้นมา คลื่นที่แสดงบนจอจะเป็นคลื่นเตรียมตรม มันจะสับสนมากขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด พอช่วงที่สู้เสร็จแล้วไปเรื่อยๆ แล้วไปเจอสิ่งแวดล้อมอะไรอีกแบบหนึ่ง ปรากฏว่าคลื่นมันสงบลง ที่ปรากฏมันก็โชว์ออกมาจริงๆ มันไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมาก คนจะสามารถเริ่มตัดสินใจอะไรได้มีขึ้น เมื่อความสงบเกิดขึ้น

จันทร์เพ็ญ : ของบทที่ ๔ ลิปตันจะพูดถึงลักษณะที่ว่า "สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นแค่เพียงสสาร" เขาพยายามโยงเอาควอนตัมฟิสิกส์เข้ามา ซึ่งควอนตัมฟิสิกส์ จะอธิบายถึงว่าอะตอมๆ หนึ่ง มันไม่ใช่แค่เม็ดของแข็งที่เล็กที่สุด แต่ของควอนตัม ถ้าหากว่าใช้โพร็บเข้าไปส่องดูอะตอมใกล้ๆ และขยายขึ้นมา จะเห็นว่าในอะตอมนั้นจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเลย มันจะเป็นกลุ่มก้อนของพลังงาน

ฟิสิกส์เขาแยกสสารกับพลังงานชัดเจนมากว่ามันเป็นคนละอย่างกัน แต่ทฤษฎีของควอนตัม บอกว่าอณูที่ย่อยที่สุดของธาตุซึ่งเป็นอะตอม ย่อยที่สุดของสสารชนิดเดียวกันที่แสดงคุณสมบัติเหมือนกัน มันคืออะตอม แต่อะตอมตัวนี้ในทฤษฎีควอนตัม มันกลับกลายมาเป็นตัวเชื่อมกันระหว่างพลังงาน มันไม่ได้ออกมาชัดเจนว่าอันนี้คือสสารที่มีหน่วยอยู่ของมัน มีตัวตนของมัน แต่ในควอนตัมกลับบอกว่ามันคือพลังงาน

เขาพยายามอธิบายให้ง่ายที่สุดว่าอะตอมเป็นคลื่น ก็คือใช้โวลมิเตอร์เข้ามาวัดอะตอม ที่เป็นลักษณะของพลังงานที่จับกันเป็นกลุ่มก้อนและหมุนวนกันอยู่ หมุนวนกันของอิเล็กตรอน ซึ่งเป็นชั้นๆ เป็นลำดับขั้นลงไปรอบประจุที่ตรงข้ามกัน ถ้าหากว่า probe เข้าไปให้ใกล้ที่สุดแล้ว ตัวนี้ตามทฤษฎีควอนตัมบอกว่ามันไม่มีอะไรเลย กลายเป็นสิ่งว่างเปล่าทะลุผ่านไปได้ ในขณะที่ทฤษฎีนิวโทเนียน(Newtonian) ก็คือ อันที่ยังแบ่งแยกสสารกับพลังงานชัดเจน คือมันมีตัวตน มองเห็นเป็นเม็ดเป็นหน่วยอยู่ แต่นี่จะไม่เห็นอะไรเลย มันแสดงพฤติกรรมเป็นลักษณะของคลื่นได้โดยที่ว่าเอาโวลมิเตอร์ไปวัด มันจะมีการเปลี่ยนแปลงพลังงาน มีการเปลี่ยนแปลงของประจุของศักย์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นศักย์ไฟฟ้าที่เหมือนกับให้จินตนาการว่าเหมือนประจุที่วิ่งวนมันเปลี่ยนสลับขั้วไปมา probe ที่วัดจะวัดได้เป็นศักย์ไฟฟ้าที่เปลี่ยนขั้วกลับไปกลับมา มันจะได้เป็นคลื่นของอะตอมออกมาซึ่งเป็น ความถี่คงที่ ซึ่งคือลักษณะของพลังงาน

ควอนตัมฟิสิกส์ ก็คือบอกว่า สสารกับพลังงานคืออันเดียวกัน [= รูป] ลงไปดูย่อยจริงๆ มันคือไม่มีอะไรเลย เป็นก้อนพลังงานก้อนหนึ่ง เพราะฉะนั้นในการพิจารณาสิ่งแวดล้อมของเซลล์หรือสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตเพียงแค่สสารไม่พอ ต้องรวมพิจารณาถึงพลังงานด้วย โดยเฉพาะพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic) มีผลกับสิ่งมีชีวิตทั้งนั้นเลย คลื่นไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ โทรศัพท์มือถือ มีผลต่อพฤติกรรมต่อการแสดงออกของเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ซึ่งเขาพูดถึงมากก็คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า บอกมาหลาย paper ด้วยเหมือนกันว่า พิสูจน์ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ว่าโดยผลกระทบที่จะให้แน่นอนจริงๆ ยังทำไม่ได้เนื่องจากว่า ถ้าหากสิ่งมีชีวิตมันไม่อยู่ภายใต้ภาวะที่มีความเครียดอยู่ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนจะไม่มีผลกับเซลล์เลย เหมือนจะไม่ส่งผลกับพฤติกรรม

วิชัย : คำว่ามีผลมันแสดงออกยังไง

จันทร์เพ็ญ : มีผลให้เปลี่ยนยีน เขายกตัวอย่างโรคลิวคีเมีย โรคลิวคีเมียเนื่องจากว่ามีการแบ่งตัวของเซลล์มากเกินอัตราที่ควรจะเป็น เขาสามารถกระตุ้นได้โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าให้เกิดลิวคีเมียได้ แต่ว่าภาวะความเครียดตรงนี้เขาไม่ได้มีการยกตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นชัดเจน แต่ได้มีการตอกย้ำว่างานทดลองที่ผ่านๆ มาซึ่งบอกว่ามันมีผล แต่ไม่ได้ฟันธงลงไปแน่นอน เนื่องจากว่ามันยังควบคุมการทดลองไม่พอ ก็คล้ายๆ กับว่าไม่ได้เชื่อจริงๆ ไม่ได้ใส่ใจตรงนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าต้องพิจารณาถึงพลังงานในสภาวะแวดล้อมด้วย

การพิจารณาสิ่งต่างๆ วิทยาศาสตร์สมัยเก่า คือการวิเคราะห์แบบแยกแยะตัวแปร ก็คือมันทำงานอะไร อย่างไร โดดเดี่ยวเอาปัจจัยตรงนั้นออกมาให้ได้ คือควบคุมอย่างอื่นทั้งหมดเลย เอาเฉพาะที่เราสนใจออกมา แล้วดูว่า effect มันเป็นอย่างไร อันนี้เป็นการวิเคราะห์แบบแยกแยะศึกษาผลของปัจจัยตัวใดตัวหนึ่ง. แต่ในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ซึ่ง ผลจากควอนตัมฟิสิกส์ เขาให้ดูองค์รวม (holistic) เขาใช้คำว่า reduction กับ holistic.

Reduction ก็คือ การแยกย่อย ลดทอนให้เหลือแค่ปัจจัยที่มีผลแค่ปัจจัยเดียว โดยการควบคุม ปัจจัยอื่นๆ แล้วก็ดูผลของมันตัวเดียว เขาบอกว่าถ้าจะรวมการศึกษาแบบที่ให้ผลดีกว่า จะเห็นผลได้ทั้งหมด ควรศึกษาแบบองค์รวม คือ ไม่ใช่แค่แยกย่อยอย่างเดียว ให้ดูส่วนที่รวมเข้าไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการศึกษา DNA มันถูกหุ้มด้วยโปรตีน ที่เป็นปลอกหรืออะไรสักอย่าง เขายกตัวอย่างแขนของคนเรา แล้วมีแขนเสื้อคลุมเอาไว้ มีการเปรียบเทียบว่า DNA คือรหัสต่างๆ ที่เขียนอยู่ในแขน ถ้าจะดู DNA การวิเคราะห์หรืองานวิจัยที่ทำอยู่ คือการดึงเอาโปรตีนออก ดึงเอาปลอกแขนเสื้อออก แล้วหาดูว่ารหัสที่เขียนไว้ว่าเป็นอย่างไร แต่เขาแนะนำว่าควรจะทำการศึกษาวิจัยด้วย ก็คือถ้ารวมโปรตีนตัวนี้เข้าไป ควรจะดูเพราะว่าโปรตีนตัวนี้ ผนังตัวนี้ จะเป็นตัวที่ส่งผ่านสัญญาณเข้าไปกระตุ้นรหัสพันธุกรรมในยีนให้เกิดการแสดงพฤติกรรมออกมา เพราะฉะนั้นควรจะศึกษาโปรตีนตรงนี้ด้วยแทนที่จะเปลือย หรือสกัดเอาโปรตีนออกไปเท่านั้น

บทที่ ๕ บอกถึงความเชื่อ คือ ข้อมูลที่เข้ามาแล้วความเชื่อของเซลล์ตัวนั้นหรือความเชื่อของสิ่งมีชีวิตมันมีผลอย่างไร. ความเชื่อในด้านบวกกับความเชื่อในด้านลบ มีผลสูงมากในการดำรงชีวิตอยู่รอด ในการมีชีวิตของเซลล์ๆ หนึ่ง เขาใช้คำว่า "ผลกระทบพลาเซโบ"(placebo) กับ "ผลกระทบโนเซโบ" (nocebo effect). พลาเซโบก็คือ ปัจจัยความคิดที่เป็นบวก ที่มีผลทำให้อยู่รอด คือ เชื่อว่าจะอยู่รอดที่เขายกตัวอย่างก็คือ เชื่อว่าเป็นมะเร็งแต่ก็ยังไม่เป็นไร ไม่คิดว่าเป็นมะเร็งแล้วจะต้องตาย มีใจที่สู้เขาก็ไม่เป็นไร เขายกตัวอย่างมามากเหมือนกันในบทนี้ที่พูดถึงว่า ใครป่วยเป็นอะไรซึ่งเป็นเรื่องของคนไข้ส่วนใหญ่. ส่วนโนเซโบ ถ้าหากว่าเชื่อแล้วว่าเป็นผลกระทบเชิงลบ (negative) เชื่อว่าเป็นโรคอะไรแล้ว รู้ผลว่าเป็นโรคนี้แล้วไม่มีทางรอด พอใจไม่สู้ พอเชื่อว่าจะตาย ก็ตายจริงๆ

อติชาติ : พอมาถึงตรงนี้ บทนี้ไม่ได้พูดถึงเซลล์แล้วเหมือนบทอื่นๆ

จันทร์เพ็ญ : ไม่ได้ยกตัวอย่างถึงเซลล์ เขายกตัวอย่างในสัตว์ใหญ่ทั้งนั้นเลย และส่วนใหญ่ก็เป็นมนุษย์ ที่พูดถึงความเชื่อ. พลาเซโบเป็นศัพท์ของแพทย์ที่ใช้สำหรับยา ที่ให้เวลาวิจัยเป็นยาหลอก ตัวนี้ให้ไปแล้วไม่มีผลกระทบพลาเซโบ (placebo effect) หรือเปล่า คือเชื่อว่ามันมีผลหรือเปล่าแล้วอาการดีขึ้น เป็นเรื่องของผลกระทบเชิงบวก (negative effect) กับ ผลกระทบเชิงลบ (positive effect)

บทที่ ๗ ก็คือ การเลี้ยงลูกรุ่นต่อไป มันมีผลอย่างไร? สำหรับความเชื่อของเรา การเลี้ยงลูกของเรา การปลูกฝังให้มีความคิดเชิงบวก (positive thinking) มันมีผลอย่างไรกับรุ่นต่อไป แล้วเขาเน้นมากเลยว่าไม่ใช่แค่รุ่นถัดกันลงไป รุ่นต่อๆ ไปอีก เพราะว่ารุ่นลูกเขาได้รับการเลี้ยงดูมายังไง เขาก็จะจำอย่างนั้นเอาไว้ แล้วจะไปเลี้ยงรุ่นถัดไปอย่างที่เขาได้รับการเลี้ยงดูมา โดยทั่วไปแล้วโดยปกติแล้วจะเป็นอย่างนั้น ก็คือ พฤติกรรมการเลี้ยงลูก มันจะเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ ที่เขาเรียนรู้เอามาจากพ่อแม่ แล้วก็ไปแสดงออกในรุ่นถัดไป

พ่อแม่จะมีผลมากสำหรับการเลือกยีนที่จะให้ผลในรุ่นลูก ตั้งแต่ในท้องที่เขาแสดงการทดลอง มันจะมีหนู ๒ ตัวที่เป็นยีนเดียวกัน (identical gene) น่าจะเป็นหนูแฝดเหมือน แล้วแยกเซลล์ตั้งแต่ตอนแรก แยกไปไว้ในสิ่งแวดล้อมให้เติบโตขึ้นมา ๒ แบบ แล้วถ่ายรูปที่มันเติบโตขึ้นมา, ตัวหนึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดี, แต่อีกตัวหนึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้มันรู้สึกถึงอันตรายอยู่เสมอ คือ ให้มีความรู้สึกกลัว

รูปที่นักวิทยาศาสตร์ถ่ายออกมาเหมือนรูปเด็กในท้องที่มีแสงสว่างเป็นรูปร่างเงาๆ ขนาดของสมองต่างกันมาก ขนาดกล้ามเนื้อต่างกัน เขาให้เดาว่าตัวไหนที่ได้รับการคุ้มครองปกป้อง กลายเป็นว่าตัวที่สมองใหญ่ หัวใหญ่มาก. ส่วนอีกตัวหนึ่งมีลักษณะบึกบึน แต่สมองส่วนหน้าจะเล็ก มันจะโหนกทุยๆ อยู่ด้านหลัง ตัวบึกบึนเหมือนจะมองเห็นกล้ามเนื้อเลย ช่วงตัวมันจะเป็นลอนเหมือนมีกล้ามเนื้อเต็มที่ อันนี้คือหนูตัวที่ได้รับความเครียด ความกลัว

อันนี้เป็นสิ่งแวดล้อมที่เลือกว่าลักษณะของลูกที่ออกมาจะเป็นอย่างไร หนูตัวที่ได้รับความกดดันเพื่อที่จะอยู่รอดโดยการเอาชนะอันตราย กับหนูอีกตัวหนึ่งซึ่งไม่มีอันตรายเข้ามาล่ออยู่หน้าประตู สมองของมันจะเจริญเติบโต(growth)อย่างเต็มที่ ส่วนลำตัวเหลือลีบหน่อยเดียวแต่หัวจะใหญ่ อีกตัวซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ต่างไป เต็มไปด้วยภัยอันตราย สมองด้านหน้าจะเล็ก แต่ส่วนกล้ามเนื้อ(physical muscle)จะสมบูรณ์

พูดถึงคนเรา ถ้าได้รับความเครียดความกลัวแล้ว จะมีฮอร์โมนหลั่งออกมาบีบเอาเลือดส่วนที่จะไปเลี้ยงอวัยวะภายใน(viscera) เพราะเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ของการเจริญเติบโต ทำให้มันอยู่รอดท่ามกลางอันตราย เพราะฉะนั้นจะบีบเอาเลือดทั้งหลายที่อยู่ในตัวไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและกระดูกมากที่สุด จะมีหลายขั้นตอนกว่าจะถึงอะดรินาลินที่หลั่งออกมาจากต่อมพิทูอิตารี มันจะไปส่งสัญญาณให้เส้นเลือดส่วนอื่นๆ ตีบตัน แล้วให้เลือดทั้งหลายวิ่งมาสู่กล้ามเนื้ออย่างเดียว ก่อให้เกิดผลหยุดชะงักของการทำงาน ๓ ระบบในร่างกาย อันเนื่องมาจากความเครียดนี้คือ การเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน และสมอง

ตรงนี้จะไปสัมพันธ์กับหนังสือของอาจารย์หมอวิธานหรือเปล่าที่บอกว่า ระบบภูมิคุ้มกัน(Immune system) ที่เขาพิสูจน์ได้จากคนที่มีความเครียด คนที่โมโหคนที่มีความโกรธจะมี ตัวที่เป็น ระบบภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในน้ำลาย จำนวนจะลดลง มันคล้ายกับตรงนี้ที่บอกว่า พอกลัวอะไรเกิดขึ้น มีอันตรายอะไรเข้ามา มันจะไปกระตุ้นให้การเจริญเติบโตในที่อื่น ทรัพยากรสำหรับการแบ่งเซลล์การหล่อเลี้ยงอวัยวะภายในถูกแบ่งมาอยู่ที่กล้ามเนื้อทั้งหมดเลย แล้วเอาชีวิตรอดตรงนั้นก่อน ในการที่จะอยู่ในสภาวะของความเครียด (Stress) นานๆ มันไม่ส่งผลดีกับสิ่งมีชีวิตกับเซลล์เพราะว่า การแบ่งตัว (การเจริญเติบโต)การป้องกันภัยภายในจะอ่อนแอลง เพราะจะต้องไปสู้กับภัยหรืออันตรายภายนอกอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้มาจากภายในด้วย

ท้ายสุดของบทที่ ๗ ลิปตันก็สรุปว่า การเลี้ยงดูลูกให้มีความสุขความมั่นคงปลอดภัย และการปลูกฝัง ความเชื่อให้ลูกก็มีผลด้วย ตั้งแต่การเลือกสิ่งแวดล้อมตอนอยู่ในท้องเลย มีผลมาตลอด โดยได้หยิบยกตัวอย่างหนู ๒ ตัวฝาแฝดขึ้นมาเปรียบเทียบกัน มันต่างกันมากดังที่พูดไปแล้ว

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกไปอ่านต่อช่วงสนทนาเรื่อง Biology of believe (2)

Dr. Bruce H. Lipton is an internationally recognized authority in bridging science and spirit. He has been a guest speaker on dozens of TV and radio shows, as well as keynote presenter for national conferences.

Dr. Lipton began his scientific career as a cell biologist. He received his Ph.D. Degree from the University of Virginia at Charlottesville before joining the Department of Anatomy at the University of Wisconsin's School of Medicine in 1973. Dr. Lipton's research on muscular dystrophy, studies employing cloned human stem cells, focused upon the molecular mechanisms controlling cell behavior. An experimental tissue transplantation technique developed by Dr. Lipton and colleague Dr. Ed Schultz and published in the journal Science was subsequently employed as a novel form of human genetic engineering.

In 1982, Dr. Lipton began examining the principles of quantum physics and how they might be integrated into his understanding of the cell's information processing systems. He produced breakthrough studies on the cell membrane, which revealed that this outer layer of the cell was an organic homologue of a computer chip, the cell's equivalent of a brain. His research at Stanford University's School of Medicine, between 1987 and 1992, revealed that the environment, operating though the membrane, controlled the behavior and physiology of the cell, turning genes on and off. His discoveries, which ran counter to the established scientific view that life is controlled by the genes, presaged one of today's most important fields of study, the science of epigenetics. Two major scientific publications derived from these studies defined the molecular pathways connecting the mind and body. Many subsequent papers by other researchers have since validated his concepts and ideas.

Bruce Lipton's novel scientific approach transformed his personal life as well. His deepened understanding of cell biology highlighted the mechanisms by which the mind controls bodily functions, and implied the existence of an immortal spirit. He applied this science to his personal biology, and discovered that his physical well-being improved, and the quality and character of his daily life was greatly enhanced.

Dr. Bruce Lipton has taken his award-winning medical school lectures to the public and is currently a sought after keynote speaker and workshop presenter. He lectures to conventional and complementary medical professionals and lay audiences about leading-edge science and how it dovetails with mind-body medicine and spiritual principles. He has been heartened by anecdotal reports from hundreds of former audience members who have improved their spiritual, physical and mental well being by applying the principles he discusses in his lectures. He is regarded as one of the leading voices of the new biology.

His new book, The Biology of Belief : Unleashing the Power of Consciousness, Matter and Miracles, is available now.

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



060949
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
วิทยาศาสตร์ชีวภาพและจิตวิญญาน
บทความลำดับที่ ๑๐๒๗ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
โดยทั่วไปเราเข้าใจกันว่า "ยีน"เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม หรือว่าสิ่งที่เราแสดงออกทุกๆ อย่างของสิ่งมีชีวิต แต่เขาต่อต้านแนวคิดนี้ เขากล่าวว่า ยีนไม่ใช่ตัวควบคุมลักษณะภายนอกหรือลักษณะที่แสดงออกของสิ่งมีชีวิตที่แท้จริง ทฤษฎีบางอย่างที่บอกว่าพฤติกรรมการเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ความผิดเพี้ยนทางเพศ หลายๆ อย่างว่าเป็นผลควบคุมจากยีนนั้น มันเพียงแค่มีสหสัมพันธ์ คือ มีความเหมือนระหว่างยีนของกลุ่มบุคคลนี้ ซึ่งเขาใช้คำว่ามีความเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมนั้น คนที่มียีนนั้นไม่จำเป็นต้องแสดงออกเช่นนั้นเสมอไป คือมันมีการเปิดปิดสวิตซ์ของยีน ว่าจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมตรงนั้นหรือไม่. ยีนในสิ่งมีชีวิต จริงๆ แล้วเป็นเหมือนแบบแปลนของตัวบุคคล ของสิ่งมีชีวิต แต่ว่าจะแสดงออกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ว่าจะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมตรงนั้นหรือเปล่า ในหนังสือมีหลายตัวอย่างที่สนับสนุนประเด็นนี้ และข้อสำคัญคือ สิ่งแวดล้อมที่มีผลกับเซลล์ ยังไม่เป็นผลโดยทันทีหรือเสมอไป มันยังขึ้นอยู่กับความเห็น ความเชื่อของสิ่งมีชีวิตหรือว่าของเซลล์นั้นที่มีกับสิ่งแวดล้อม ถึงจะเป็นตัวกระตุ้นอีกที คือไม่ใช่แค่ว่าสิ่งแวดล้อมโดยตรง มันยังผ่านขั้นตอนกระบวนการวิเคราะห์ของเซลล์หรือสิ่งมีชีวิตอีกด้วย

 

เขากล่าวว่า ทฤษฎีของดาร์วินนั้นต้องผ่านความเป็นความตาย แก่งแย่งมีชีวิตรอดมาได้สปีชีส์หนึ่งเหมือนกับว่าจะต้องผ่านสงครามมา ทฤษฎีของเขาจะมีลักษณะที่เห็นด้วยกับคนที่เสนอทฤษฎีก่อนหน้าชื่อว่าลาร์มาร์ก แต่ว่าลาร์มาร์กพลาดในการทำการทดลอง เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของเขา เขาเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการมาก่อนดาร์วินสักประมาณ ๕๐ ปี แต่เขาพลาดในการทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ข้อเสนอในเชิงทฤษฎี อันที่จริงเขาใช้เวลาทำการทดลองเพียง ๕ ปีซึ่ง มันไม่พอสำหรับที่จะพิสูจน์ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ทฤษฎีของลาร์มาร์คจึงไม่สมบูรณ์พอ แต่ลาร์มาร์ค เสนอทฤษฎีในลักษณะที่ว่ามันเป็นการอยู่ร่วมกันของเซลล์เพื่อให้อยู่รอด มากกว่าที่จะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นหรือว่าต่อสู้ฆ่าฟันกับสิ่งแวดล้อม คือเป็นลักษณะที่รวมตัวกันเพื่ออยู่

Bruce H. Lipton, Ph.D. is a cellular biologist and author. Bruce was formerly an Associated Professor of Anatomy at the University of Wisconsin's School of Medicine. Recently, as a Pathology Fellow at Stanford University's School of Medicine, his research on inflammation yielded information on the molecular nature of consciousness and human evolution.