ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ : Release date 14 November 2009 : Copyleft

ในประวัติศาสตร์ ระบอบทุนนิยมถือกำเนิดขึ้นต่อเมื่อระบบกฎหมายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจปกป้องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และทำให้ระบอบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความเป็นเจ้าของนั้น ใช้การได้ การแลกเปลี่ยนเชิงพาณิชย์ไม่อาจเกิดขึ้นได้จนกว่า "ศีลธรรมทางธุรกิจ" ทำให้พฤติกรรมที่ตั้งอยู่บนสัญญาเป็นสิ่งที่ยั่งยืนและมีต้นทุนต่ำ เช่น คู่สัญญาไม่ต้องวุ่นอยู่กับการฟ้องอีกฝ่ายหนึ่งที่ละเมิดสัญญาตลอดเวลา การลงทุนในธุรกิจที่มีผลิตภาพ ไม่อาจแพร่หลาย ได้จนกว่าผลตอบแทนที่สูงกว่าจากการทุจริตคอร์รัปชั่นจะได้รับการบรรเทาจนเบาบางลง ระบอบทุนนิยมตั้งอยู่บนผลกำไรต้องพึ่งพาอาศัยคุณค่าเชิงสถาบันจำนวนมากมาโดยตลอด (คัดมาบางส่วนจากบทความเรื่อง ทุนนิยมหลังวิกฤต: ไปให้พ้นจากมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น อมาตยา เซน)

H



14-11-2552 (1767)

อมาตยา เซน: ทุนนิยมหลังวิกฤต
อมาตยา เซน-ทุนนิยมหลังวิกฤต: ไปให้พ้นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น
สฤณี อาชวานันทกุล: แปล
แปลจาก Capitalism Beyond Crisis

http://www.nybooks.com/articles/22490

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: ในบทความแปลนี้ ได้มีการเพิ่มเติมหัวข้อและเชิงอรรถ
โดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน.
คัดลอกมาจากเว็บไซต์
โอเพ่นออนไลน์ เดิมชื่อ ทุนนิยมหลังวิกฤต (Capitalism Beyond Crisis)
โดยมีหัวเรื่องที่ปรับใหม่แล้วดังต่อไปนี้
- ทุนนิยมเก่า - ทุนนิยมใหม่
-
คำถามสามข้อ เพื่อไปให้พ้นจากวิกฤตทุนนิยม
- การดำรงอยู่ของระบบเศรษฐกิจตลาด - พึ่งพาธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกระบบตลาด
- ธุรกรรมนอกระบบตลาด: สวัสดิการและบริการสังคม
- งานรุ่นบุกเบิกของอดัม สมิธ (Adam Smith)
- เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจ นอกเหนือจากประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง
- ข้อเขียนจำนวนมากของสมิธ สะท้อนความห่วงใยคนจน
- ความรอบคอบ เป็นคุณธรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อปัจเจกชน
- มนุษยธรรม ความยุติธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และจิตสาธารณะ" เป็นคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเพื่อนมนุษย์
- ระบอบทุนนิยมตั้งอยู่บนผลกำไรต้องพึ่งพาอาศัยคุณค่าเชิงสถาบันจำนวนมาก
- ศีลธรรมทางธุรกิจ กับตลาดรองที่ค้าตราสารอนุพันธ์
- อาร์เธอร์ เซซิล พิกู (Arthur Cecil Pigou): จิตวิทยาด้านเศรษฐกิจของมนุษย์
- รัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะ
- ระบบตลาดอาจส่งมอบบริการสาธารณะ (เช่น การศึกษาและสาธารณสุข) ได้แย่มาก
- รัฐสวัสดิการ: คุณภาพชีวิตหยดสุดท้ายในยุโรป (บริการด้านสุขภาพพื้นฐานถ้วนหน้า)
- รัฐบาลจีนยกเลิกบริการสุขภาพถ้วนหน้าในปี 1979 และผลกระทบ
- ความสำคัญของสถาบันนอกตลาดและคุณค่าเหนือผลกำไร
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "เศรษฐศาสตร์การเมืองร่วมสมัย")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๖๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อมาตยา เซน: ทุนนิยมหลังวิกฤต
อมาตยา เซน-ทุนนิยมหลังวิกฤต: ไปให้พ้นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น
สฤณี อาชวานันทกุล: แปล
แปลจาก Capitalism Beyond Crisis

http://www.nybooks.com/articles/22490
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

1.
2008 เป็นปีแห่งวิกฤต ก่อนอื่น เราเผชิญกับวิกฤตอาหารซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงมากสำหรับผู้บริโภคยากจน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา วิกฤตที่เกิดขึ้นควบคู่กันคือราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมันทุกประเทศ สุดท้าย พอฤดูใบไม้ร่วงมาถึง เราก็เผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างกะทันหัน ซึ่งตอนนี้กำลังเร่งความเร็วอย่างน่ากลัว เป็นที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าภาวะถดถอยนี้จะทวีความเข้มข้นขึ้นในปี 2009 นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจจะเลวร้ายกว่าวิกฤตในทศวรรษ 1930 ถึงแม้ว่าความมั่งคั่งปริมาณมหาศาลจะลดลงอย่างฮวบฮาบ คนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจะเป็นผู้ยากไร้ที่อยู่อย่างแร้นแค้นที่สุดในสังคมอยู่แล้ว

ทุนนิยมเก่า - ทุนนิยมใหม่
คำถามปัจจุบันทันด่วนที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของทุนนิยม และคำถามที่ว่าเราควรจะเปลี่ยนมันหรือไม่ บรรดาผู้ปกป้องทุนนิยมเสรีสุดขั้วที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเชื่อมั่นว่าทุนนิยมกำลังถูกโจมตีมากเกินไปว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ปัญหาที่พวกเขาบอกว่าเกิดจากธรรมาภิบาลล้มเหลว (ยกตัวอย่างเช่น โดยรัฐบาลบุช) และพฤติกรรมแย่ๆ ของปัจเจกชนบางคน (หรือสิ่งที่จอห์น แม็คเคน (John McCain ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2008 จากพรรครีพับลิกัน) อธิบายในฤดูหาเสียงเลือกตั้งว่า "ความโลภของวอลล์สตรีท") อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์คนอื่นมองเห็นข้อบกพร่องร้ายแรงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจปัจจุบันและต้องการที่จะปฏิรูปมัน พวกเขามองหาทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับการขนานนามว่า "ทุนนิยมใหม่" มากขึ้นเรื่อยๆ

ความคิดเรื่องทุนนิยมเก่าและใหม่นี้มีบทบาทสำคัญในวงเสวนาชื่อ "โลกใหม่, ทุนนิยมใหม่" (New World, New Capitalism) ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมกราคม [2009] ในกรุงปารีส โดยมี นิโคลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และโทนี แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เป็นเจ้าภาพร่วม ทั้งสองคนนำเสนอคำอธิบายที่ฟังดูสละสลวยว่าเหตุใดโลกจึงต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนปาฐกถาของแอนเจลา เมอร์เกล (Angela Merkel) (*) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีก็ฟังดูดีเหมือนกัน เธอพูดถึงความคิดเก่าแก่แบบเยอรมันเรื่อง "ตลาดสังคม" - ตลาดซึ่งถูกตีกรอบด้วยส่วนผสมของนโยบายที่สร้างมติมหาชน ว่าเป็นพิมพ์เขียวสำหรับทุนนิยมใหม่ที่น่าจะใช้การได้ (ถึงแม้ว่าในวิกฤตครั้งนี้ เยอรมนีจะไม่ได้มีสถานะดีไปกว่าประเทศอื่นที่ใช้ระบบตลาดเหมือนกันมากนักก็ตาม)

(*) Angela Dorothea Merkel (born 17 July 1954) is the current Chancellor of Germany. Merkel, elected to the German Parliament from Mecklenburg-Vorpommern, has been the chairwoman of the Christian Democratic Union (CDU) since 10 April 2000, and Chairwoman of the CDU-CSU parliamentary party group from 2002 to 2005.

คำถามสามข้อ เพื่อไปให้พ้นจากวิกฤตทุนนิยม
แน่นอนว่า เราต้องใช้ความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมในระยะยาว ที่ไปให้พ้นจากกลยุทธ์ในการจัดการกับวิกฤตในระยะสั้น ผมอยากจะแยกแยะคำถามสามข้อออกมาจากคำถามหลายข้อที่เราถามได้

ข้อแรก เราต้องการ "ทุนนิยมใหม่" จริงๆ หรือไม่ แทนที่จะเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่โบราณ ใช้ประโยชน์จากสถาบันต่างๆ ในทางที่เป็นไปได้จริง และตั้งอยู่บนชุดคุณค่าทางสังคมที่เราตอบได้จากแง่มุมของศีลธรรม? เราควรจะค้นหาทุนนิยมใหม่ หรือหา "โลกใหม่" - ถ้าผมจะใช้อีกคำหนึ่งจากการประชุมที่ปารีส - ที่จะมีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิม?

คำถามที่สอง เป็นเรื่องของประเภทของเศรษฐศาสตร์ที่เราต้องการในวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราจะประเมินสิ่งที่นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์สอนและชี้นำว่าควรเป็นเครื่องกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงการฟื้นฟูความคิดแนวเคนเซียน (Keynesian) (*) ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่วิกฤตทวีความรุนแรงขึ้น? ถามให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นคือ วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันบอกอะไรเราได้บ้าง เกี่ยวกับสถาบันและน้ำหนักที่เราควรให้?

(*) Keynesian economics (also called Keynesianism) is a macroeconomic theory based on the ideas of 20th-century British economist John Maynard Keynes. Keynesian economics argues that private sector decisions sometimes lead to inefficient macroeconomic outcomes and therefore advocates active policy responses by the public sector, including monetary policy actions by the central bank and fiscal policy actions by the government to stabilize output over the business cycle. The theories forming the basis of Keynesian economics were first presented in The General Theory of Employment, Interest and Money, published in 1936; the interpretations of Keynes are contentious, and several schools of thought claim his legacy.

สุดท้าย คำถามที่สามคือ เราจะต้องคิดและคิดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่า เราจะออกจากวิกฤตในปัจจุบันด้วยความเสียหายที่น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้อย่างไร นอกเหนือจากการหาวิธีประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง

2.
การดำรงอยู่ของระบบเศรษฐกิจตลาด - พึ่งพาธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกระบบตลาด
ระบบที่เป็น "ทุนนิยม" อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมเก่าหรือใหม่ จะต้องมีลักษณะอะไรบ้าง? ถ้าเราจะปฏิรูประบบเศรษฐกิจทุนนิยมปัจจุบัน มีอะไรบ้างที่จะทำให้ผลลัพธ์เป็น "ทุนนิยมใหม่" แทนที่จะเป็นอย่างอื่น? ดูเหมือนว่าสมมุติฐานทั่วไปของคนคือ การพึ่งพาตลาดสำหรับธุรกรรมทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการเรียกเศรษฐกิจว่า "ทุนนิยม" ในทำนองเดียวกัน คนทั่วไปก็มองว่าการพึ่งพิงแรงจูงใจที่จะแสวงหากำไร และผลตอบแทนส่วนตัวที่ตั้งอยู่บนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้นเป็น "ฟีเจอร์" สำคัญของทุนนิยม อย่างไรก็ดี ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น คำถามคือระบอบเศรษฐกิจที่เราใช้อยู่ตอนนี้ เช่นในยุโรปและอเมริกา เป็น "ทุนนิยม" อย่างแท้จริงหรือไม่?

ธุรกรรมนอกระบบตลาด: สวัสดิการและบริการสังคม
ประเทศร่ำรวยทุกแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ พึ่งพาอาศัยธุรกรรมและการจ่ายเงินที่เกิดขึ้นนอกระบบตลาด ไม่ว่าจะเป็นเงินประกันการว่างงาน เงินบำนาญของภาครัฐ ฟีเจอร์อื่นๆ ของระบบประกันสังคม ตลอดจนการให้การศึกษา สาธารณสุข และบริการอันหลากหลายอื่นๆ ที่กระจายผ่านโครงสร้างนอกระบบตลาด สิทธิทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับบริการเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนกรรมสิทธิ์เอกชนและสิทธิในทรัพย์สิน

นอกจากนี้ การดำรงอยู่ของระบบเศรษฐกิจตลาดก็ต้องอาศัยกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่มิใช่การทำกำไรสูงสุด เช่น การรักษาความปลอดภัย และการให้บริการสาธารณะ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้บางรายการก็พาให้คนข้ามพ้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผลกำไรเพียงอย่างเดียว ผลการทำงานที่เชื่อถือได้ของสิ่งที่เรียกว่า ระบบทุนนิยม ซึ่งขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างไปข้างหน้านั้น จำต้องอาศัยส่วนผสมของสถาบันจำนวนมาก อาทิเช่น การศึกษาภาครัฐ การประกันสุขภาพ และขนส่งมวลชน ซึ่งไปไกลกว่าการพึ่งพาอาศัยเพียงเศรษฐกิจตลาดที่มุ่งทำกำไรสูงสุด และสิทธิส่วนบุคคลที่อยู่ในกรอบของกรรมสิทธิ์ส่วนตัว

สิ่งที่อยู่ใต้ประเด็นนี้คือคำถามที่พื้นฐานกว่านั้น นั่นคือ "ทุนนิยม" เป็นคำที่ยังมีประโยชน์อยู่หรือไม่ในปัจจุบัน อันที่จริง ความคิดเรื่องทุนนิยมมีบทบาทที่สำคัญในประวัติศาสตร์ แต่ตอนนี้ความเป็นประโยชน์นั้นอาจจะหมดลงไปแล้ว

งานรุ่นบุกเบิกของอดัม สมิธ (Adam Smith)
ยกตัวอย่างเช่น งานรุ่นบุกเบิกของอดัม สมิธ (Adam Smith) (*) ในศตวรรษที่สิบแปดแสดงให้เห็นประโยชน์และพลวัตของเศรษฐกิจระบบตลาด และอธิบายว่า เหตุใดพลวัตดังกล่าวจึงทำงานได้ งานของสมิธนำเสนอบทวิเคราะห์ที่เผยให้เห็นกลไกการทำงานของตลาด ในช่วงเวลาที่พลวัตของมันกำลังอุบัติขึ้นอย่างทรงพลัง หนังสือของสมิธเรื่อง The Wealth of Nations (ตีพิมพ์ปี 1776) เติมเต็มความเข้าใจของเราอย่างมหาศาลในระบบซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า ทุนนิยม สมิธแสดงให้เห็นว่าการค้าเสรีอาจจะช่วยสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจได้ดีมาก ผ่านการผลิตด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การแบ่งงานกันทำ และการใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด

(*)Adam Smith (baptised 16 June 1723 - 17 July 1790 [OS: 5 June 1723 - 17 July 1790]) was a Scottish moral philosopher and a pioneer of political economy. One of the key figures of the Scottish Enlightenment, Smith is the author of The Theory of Moral Sentiments and An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations. The latter, usually abbreviated as The Wealth of Nations, is considered his magnum opus and the first modern work of economics. Adam Smith is widely cited as the father of modern economics.

Smith studied moral philosophy at the University of Glasgow and Oxford University. After graduating he delivered a successful series of public lectures at Edinburgh, leading him to collaborate with David Hume during the Scottish Enlightenment. Smith obtained a professorship at Glasgow teaching moral philosophy, and during this time wrote and published The Theory of Moral Sentiments. In his later life he took a tutoring position which allowed him to travel throughout Europe where he met other intellectual leaders of his day. Smith returned home and spent the next ten years writing The Wealth of Nations (mainly from his lecture notes) which was published in 1776. He died in 1790.

บทเรียนเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากกระทั่งในวันนี้ (ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ งานวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศที่น่าทึ่งและซับซ้อนมากซึ่งทำให้พอล ครุกแมน (Paul Krugman) (*) ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์คนล่าสุดนั้น เกี่ยวโยงอย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่สมิธคิดได้อย่างเปี่ยมวิสัยทัศน์กว่า 230 ปีก่อน) บทวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เจริญรอยตามอรรถาธิบายชิ้นแรกๆ ของสมิธเกี่ยวกับตลาดและการใช้ทุนในศตวรรษที่สิบแปด ได้ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบบตลาดลงในแกนกลางของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

(*) Paul Robin Krugman (born February 28, 1953) is an American economist, liberal columnist and author. He is Professor of Economics and International Affairs at the Woodrow Wilson School of Public and International Affairs, Princeton University, Centenary Professor at the London School of Economics, and an op-ed columnist for The New York Times. In 2008, Krugman won the Nobel Memorial Prize in Economics for his contributions to New Trade Theory and New Economic Geography. He was voted sixth in Prospect Magazine's 2005 global poll of the world's top 100 intellectuals.

The Nobel Prize Committee stated that Krugman's main contribution had been to explain patterns of international trade and the geographic concentration of wealth by examining the impact of economies of scale and of consumer preferences for diverse goods and services. Krugman's work on international economics, including trade theory, economic geography, and international finance has established him as one of the most influential economists in the world according to IDEAS/RePEc. Krugman is also known in academia for his work on liquidity traps and on currency crises.

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่นักวิเคราะห์แจกแจงและอธิบายประโยชน์ที่ทุนนิยมสร้างผ่านกระบวนการต่างๆ ในตลาด แง่ลบของทุนนิยมก็เผยโฉมให้เห็นอย่างแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยมากต่อสายตาของนักวิเคราะห์คนเดียวกัน ในขณะที่นักวิพากษ์สายสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นำเสนออย่างทรงอิทธิพลถึงเหตุผลที่ทุนนิยมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและควรถูกแทนที่โดยระบบอื่นในที่สุด แม้แต่อดัม สมิธ เอง ก็มองเห็นข้อจำกัดของการพึ่งพิงเศรษฐกิจระบบตลาดและแรงจูงใจที่จะทำกำไรส่วนตัวเพียงอย่างเดียว ว่ากันตามจริง นักคิดคนแรกๆ ที่เสนอให้เราใช้ระบบตลาด รวมทั้งสมิธเองด้วย ไม่ได้มองว่ากลไกตลาดล้วนๆ เป็นสิ่งที่ทำงานได้ดีในตัวมันเอง และพวกเขาก็ไม่เคยบอกด้วยว่าแรงจูงใจส่วนตัวเป็นปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวที่จำเป็น

เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจ นอกเหนือจากประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง
ถึงแม้ว่าผู้คนจะเสาะแสวงหาการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพราะเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง (หนึ่งในคำกล่าวของสมิธที่โด่งดังที่สุดคือ ไม่มีอะไรนอกเหนือจากประโยชน์ส่วนตนที่จำเป็นต่อการอธิบายว่าเหตุใดคนทำขนมปัง คนต้มเหล้า คนขายเนื้อ และผู้บริโภคจึงแสวงหาการแลกเปลี่ยน) ระบอบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นกัน เมื่อใดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงกิจกรรมของธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ สร้างความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถทำและทำตามสิ่งที่พวกเขาสัญญาได้จริง เมื่อนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ก็สามารถดำเนินไปในทางที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ดังที่อดัม สมิธ เขียนว่า -

เมื่อประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่งมีความเชื่อมั่นในความมั่งคั่ง ความซื่อตรง และความรอบคอบของนายธนาคาร จนเชื่อว่านายธนาคารผู้นั้นพร้อมเสมอที่จะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุบนตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อใดก็ตามที่มีใครยื่นตั๋วนั้นให้กับเขา ตั๋วเหล่านั้นก็จะมีค่าทัดเทียมกับเงินที่เป็นทองคำและธาตุเงิน จากความเชื่อมั่นว่าจะนำตั๋วดังกล่าวไปขึ้นเงินได้ทุกเมื่อ [*]

[*] Adam Smith, An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations, R.H. Campbell และ A.S. Skinner, บรรณาธิการ (Clarendon Press, 1976), I, II.ii.28, หน้า 292

สมิธอธิบายสาเหตุที่ความเชื่อมั่นดังกล่าวบางครั้งก็ไม่เกิดขึ้น และดังนั้นผมจึงคิดว่าเขาจะไม่พบอะไรที่น่าแปลกใจเลยในความยากลำบากที่ภาคธุรกิจและธนาคารประสบในวันนี้ จากภาวะความกลัวและความไม่ไว้วางใจอันแพร่หลายที่แช่แข็งตลาดสินเชื่อและกีดขวางการขยายสินเชื่ออย่างเป็นระบบ

ข้อเขียนจำนวนมากของสมิธ สะท้อนความห่วงใยคนจน
ในบริบทนี้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า "รัฐสวัสดิการ" อุบัติขึ้นนานหลังจากยุคของสมิธ ประเด็นหนึ่งที่ควรกล่าวในที่นี้คือ ข้อเขียนจำนวนมากของสมิธ สะท้อนความกังวลและเป็นห่วงเป็นใยคนจนและผู้ด้อยโอกาสอย่างเด่นชัด ความล้มเหลวของกลไกตลาดที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายที่สุดอยู่ในสิ่งที่ตลาดไม่จัดการ ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของสมิธไปไกลกว่าการปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในมือที่มองไม่เห็นของกลไกตลาดหลายขุม สมิธไม่ได้เป็นแค่ผู้ปกป้องบทบาทของรัฐในการให้บริการสาธารณะ อย่างเช่น การศึกษา และการบรรเทาความยากจนเท่านั้น (เขาเรียกร้องด้วยว่าผู้ยากไร้ควรมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าความช่วยเหลือที่ได้รับจากกฎหมายความยากจนในสมัยนั้น) แต่เขายังกังวลใจอย่างลึกซึ้งถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและความยากจนที่อาจดำรงอยู่ในเศรษฐกิจระบบตลาดที่ประสบความสำเร็จในแง่อื่น

ความไม่ชัดเจนของความแตกต่างระหว่าง "ความจำเป็น" และ "ความพอเพียง" ของระบบตลาดอยู่เบื้องหลังความเข้าใจผิดของคนจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นสาวกของสมิธ เกี่ยวกับผลการประเมินกลไกตลาดของเขา ยกตัวอย่างเช่น คนมักจะตีความข้อเขียนของสมิธที่ปกป้องตลาดอาหารและวิพากษ์มาตรการที่รัฐใช้ควบคุมการค้าธัญพืชของเอกชนว่า สมิธเสนอว่าการแทรกแซงใดๆ ก็ตามของรัฐย่อมทำให้ปัญหาความหิวโหยและทุพภิกขภัยรุนแรงขึ้นในทุกกรณี

แต่ในความเป็นจริง สมิธปกป้องการค้าระหว่างเอกชนเฉพาะตอนที่เขาคัดง้างความเชื่อที่ว่าการยับยั้งการค้าอาหารจะช่วยลดความหิวโหยได้ เขาไม่ได้หมายความว่ารัฐไม่จำเป็นจะต้องมีบทบาทในการหนุนเสริมกลไกตลาด ด้วยการสร้างงานและรายได้ (เช่น ด้วยโครงการจัดหางาน) ถ้าอัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นอย่างลิบลิ่วในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเป็นผลพวงของนโยบายรัฐที่ใช้ไม่ได้ ตลาดจะไม่สามารถฟื้นฟูรายได้ของคนที่ตกงานโดยตัวมันเอง สมิธเขียนว่า ในกรณีเช่นนี้คนที่เพิ่งตกงาน "จะอดตายหรือไม่ก็ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ขอทานหรือก่ออาชญากรรมร้ายแรง" และ "ภาวะความแร้นแค้น ทุพภิกขภัย และความตายจะแผ่เข้าปกคลุมทันที...." [*] สมิธปฏิเสธการแทรกแซงของรัฐที่กีดกันตลาด แต่เขาไม่ปฏิเสธการแทรกแซงที่รวมตลาดเป็นส่วนหนึ่งของกลไก ระหว่างที่พยายามทำเรื่องสำคัญๆ ที่ตลาดอาจจะจัดการไม่สำเร็จ
[*] Smith, The Wealth of Nations, I, I.viii.26, หน้า 91

"ความรอบคอบ" เป็น คุณธรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อปัจเจกชน
"มนุษยธรรม ความยุติธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และจิตสาธารณะ" เป็นคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเพื่อนมนุษย์
สมิธไม่เคยใช้คำว่า "ทุนนิยม" (อย่างน้อยก็เท่าที่ผมพยายามสืบสาว) แต่เป็นเรื่องยากที่ใครก็ตามจะสกัดงานของเขาออกมาเป็นทฤษฎีอะไรสักอย่างที่ยืนยันว่าลำพังกลไกตลาดนั้นเพียงพอ หรือยืนยันว่าเราจำเป็นจะต้องยอมรับว่าทุนต้องมีบทบาทนำ ใน The Wealth of Nations สมิธพูดถึงความสำคัญของคุณค่ากว้างๆ ที่อยู่นอกเหนือกำไร แต่ในหนังสือเล่มแรกของเขาชื่อ The Theory of Moral Sentiments ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกสองร้อยห้าสิบปีที่แล้ว ในปี 1759 สมิธวิเคราะห์เจาะลึกถึงความจำเป็นของการกระทำซึ่งตั้งอยู่บนชุดคุณค่าที่พ้นไปจากประโยชน์ส่วนตัว อดัม สมิธ เขียนว่า "ความรอบคอบ" เป็น "คุณธรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อปัจเจกชน" แต่เขาก็ถกเถียงต่อไปด้วยว่า "มนุษยธรรม ความยุติธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และจิตสาธารณะเป็นคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเพื่อนมนุษย์" [*]

[*] Adam Smith, The Theory of Moral Sentiments, D.D. Raphael และ A.L. Macfie, บรรณาธิการ (Clarendon Press, 1976), หน้า 189-190

ตลาด"และ"ทุน"ทำงานได้ดีมากในโลกของมัน แต่...
สมิธมองว่า "ตลาด"และ"ทุน"ทำงานได้ดีมากในโลกของมัน แต่ก่อนอื่น

- ประการแรก ทั้งตลาดและทุนต้องอาศัยการสนับสนุนจากสถาบันอื่นๆ รวมทั้งบริการสาธารณะอย่างโรงเรียน และคุณค่าที่อยู่นอกเหนือการแสวงหากำไรส่วนตน

- ประการที่สอง ตลาดและทุนจะต้องอาศัยการควบคุมและการปรับแก้โดยสถาบันอื่นๆ อีก เช่น กฏเกณฑ์การกำกับดูแลภาคการเงิน และการยื่นมือช่วยเหลือคนจนโดยรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพ ความไม่เท่าเทียมกัน และความอยุติธรรม

ถ้าเราจะมองหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดระเบียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รวมบริการสาธารณะอันหลากหลายและระบบการกำกับดูแลที่ไตร่ตรองมาอย่างถี่ถ้วน ก็เท่ากับว่าเราจะต้องเจริญรอยตามวาระการปฏิรูปที่สมิธอธิบายในระหว่างที่เขาปกป้องและวิพากษ์ทุนนิยมในขณะเดียวกัน ไม่ใช่เดินถอยห่างออกจากวาระดังกล่าว

3.
ระบอบทุนนิยมตั้งอยู่บนผลกำไรต้องพึ่งพาอาศัยคุณค่าเชิงสถาบันจำนวนมาก
ในประวัติศาสตร์ ระบอบทุนนิยมถือกำเนิดขึ้นต่อเมื่อระบบกฎหมายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจปกป้องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และทำให้ระบอบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความเป็นเจ้าของนั้นใช้การได้ การแลกเปลี่ยนเชิงพาณิชย์ไม่อาจเกิดขึ้นได้จนกว่า "ศีลธรรมทางธุรกิจ" ทำให้พฤติกรรมที่ตั้งอยู่บนสัญญาเป็นสิ่งที่ยั่งยืนและมีต้นทุนต่ำ เช่น คู่สัญญาไม่ต้องวุ่นอยู่กับการฟ้องอีกฝ่ายหนึ่งที่ละเมิดสัญญาตลอดเวลา การลงทุนในธุรกิจที่มีผลิตภาพไม่อาจแพร่หลายได้จนกว่าผลตอบแทนที่สูงกว่าจากการทุจริตคอร์รัปชั่นจะได้รับการบรรเทาจนเบาบางลง ระบอบทุนนิยมตั้งอยู่บนผลกำไรต้องพึ่งพาอาศัยคุณค่าเชิงสถาบันจำนวนมากตลอดมา

ศีลธรรมทางธุรกิจ กับตลาดรองที่ค้าตราสารอนุพันธ์
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา พันธะและความรับผิดชอบทางศีลธรรมและกฎหมายซึ่งเกี่ยวโยงกับธุรกรรมต่างๆ เป็นเรื่องยากเย็นกว่าเดิมมากที่จะสืบสาว อันเป็นผลพวงจากตลาดรองที่ค้าตราสารอนุพันธ์และเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตอนนี้เจ้าหนี้ซับไพรมที่หลอกลวงลูกหนี้ให้ยอมรับความเสี่ยงที่สูงเกินควร สามารถถ่ายโอนสินทรัพย์ทางการเงินไปให้กับบุคคลที่สามซึ่งอยู่ไกลจากธุรกรรมดั้งเดิมมาก ความรับผิดในระบบถูกบ่อนทำลายอย่างร้ายแรง และความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมและกำกับดูแลก็เพิ่มสูงขึ้นมาก

แต่แล้ว บทบาทการกำกับดูแลของรัฐบาล โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลับถูกลดทอนลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากศรัทธาที่ฝังรากลึกลงเรื่อยๆ ในธรรมชาติการกำกับดูแลตัวเอง (self-regulatory nature) ของเศรษฐกิจระบบตลาด การกำกับดูแลที่จำเป็นจากรัฐหดตัวลงในช่วงเวลาที่มันเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหายนะจึงเป็นสิ่งที่รอวันเกิดเท่านั้น ในที่สุดหายนะนี้ก็เกิดขึ้นในปีที่แล้ว และแน่นอนว่า มันเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตการเงินที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ปัญหาที่ภาครัฐกำกับดูแลกิจกรรมทางการเงินไม่เพียงพอนั้น ไม่เพียงแต่ให้ท้ายกิจกรรมผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเพิ่มแนวโน้มที่คนจะเก็งกำไรเกินควร อันเป็นพฤติกรรมที่อดัม สมิธบอกว่า มักจะครอบงำคนจำนวนมากในยามที่พวกเขาวิ่งหากำไรอย่างหน้ามืดตามัว

สมิธเรียกคนที่ยุยงส่งเสริมให้คนรับความเสี่ยงสูงเกินควรในการเสาะหากำไรว่า "คนฟุ้งเฟ้อและนักฉายภาพ" (prodigals and projectors) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคำที่ใช้อธิบายผู้ขายสินเชื่อบ้านแบบซับไพรมในไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ดีมาก(*) ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เขาอภิปรายกฎหมายห้ามการคิดดอกเบี้ยสูงเกินควร (usury law) สมิธอยากให้รัฐออกกฏเกณฑ์เพื่อปกป้องพลเมืองจาก "คนฟุ้งเฟ้อและนักฉายภาพ" ที่ส่งเสริมการปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่ไม่น่าเชื่อถือ - ทุนของประเทศนี้จำนวนมากจะถูกกีดกันให้อยู่ห่างจากคนที่น่าจะใช้มันในทางที่ก่อให้เกิดกำไรและเป็นประโยชน์สูงสุด ไปเข้ามือของคนที่มีแนวโน้มสูงสุดที่จะใช้ทุนนั้นอย่างสิ้นเปลืองและผลาญมันไป [*]

(*) subprime mortgage crisis is an ongoing real estate and financial crisis triggered by a dramatic rise in mortgage delinquencies and foreclosures in the United States, with major adverse consequences for banks and financial markets around the globe. The crisis, which has its roots in the closing years of the 20th century, became apparent in 2007 and has exposed pervasive weaknesses in financial industry regulation and the global financial system.

Approximately 80% of U.S. mortgages issued in recent years to subprime borrowers were adjustable-rate mortgages. After U.S. house prices peaked in mid-2006 and began their steep decline thereafter, refinancing became more difficult. As adjustable-rate mortgages began to reset at higher rates, mortgage delinquencies soared. Securities backed with subprime mortgages, widely held by financial firms, lost most of their value. The result has been a large decline in the capital of many banks and U.S. government sponsored enterprises, tightening credit around the world.

[*] Smith, The Wealth of Nations, I, II.iv.15, หน้า 357

ศรัทธาที่ซ่อนเร้นในความสามารถของเศรษฐกิจระบบตลาดที่จะแก้ไขตัวเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เคยมีในสหรัฐอเมริกา มักจะมองข้ามกิจกรรมของคนฟุ้งเฟ้อและนักฉายภาพ ในทางที่จะช็อกอดัม สมิธ

วิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันส่วนหนึ่งเกิดจากการประเมินระดับสติปัญญาของกระบวนการตลาดสูงเกินจริงไปมาก และตอนนี้วิกฤตก็กำลังเลวร้ายลงจากความหวาดกลัวและการขาดความไว้วางใจในตลาดการเงินและภาคธุรกิจโดยทั่วไป ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากปฏิกิริยาของตลาดต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแผนมูลค่า $787,000 ล้าน ที่รัฐบาล(ประธานาธิบดี)โอบามาผลักดันจนผ่านเป็นกฎหมายในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อันที่จริง สมิธระบุปัญหาเหล่านี้ไว้ตั้งแต่ในศตวรรษที่สิบแปด ถึงแม้ว่ามันจะถูกละเลยโดยผู้มีอำนาจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำสหรัฐอเมริกา และโดยคนที่ชอบยกอดัม สมิธ ขึ้นมาอ้างในข้อเสนอที่ว่า เราควรปล่อยให้ตลาดดูแลตัวเองโดยไร้การกำกับดูแล

4.
ในขณะที่ อดัม สมิธ ถูกยกมาอ้างบ่อยครั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคนที่มักจะอ่านงานของเขาไม่ละเอียด ตอนนี้คนที่ถูกอ้างอิงมากกว่านั้นอีกคือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) แน่นอนว่าวิกฤตหลายระลอกที่เราสังเกตกันอยู่ตอนนี้ วิกฤตซึ่งกำลังนำเราไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (depression) มากขึ้นทุกขณะ มีลักษณะเป็นเคนเซียนอย่างชัดเจน กล่าวคือ รายได้ที่ลดลงมากของคนกลุ่มหนึ่งทำให้พวกเขาลดการบริโภค ซึ่งทำให้คนกลุ่มอื่นมีรายได้ลดลงต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่

อาร์เธอร์ เซซิล พิกู (Arthur Cecil Pigou): จิตวิทยาด้านเศรษฐกิจของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม เคนส์ช่วยชีวิตเราได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น เราจำเป็นที่จะต้องมองผ่านเขาไปในการทำความเข้าใจกับวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่ตรงกับปัจจุบันแต่คนไม่ค่อยรู้จักเท่า คือคู่แข่งของเคนส์ นามว่า อาร์เธอร์ เซซิล พิกู (Arthur Cecil Pigou) (*) ซึ่งอยู่ที่คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริจเช่นเดียวกับเคนส์ และเป็นคนร่วมรุ่นกัน พิกูให้ความสำคัญมากกว่าเคนส์ในจิตวิทยาด้านเศรษฐกิจของมนุษย์ และวิธีที่มันส่งอิทธิพลต่อวัฏจักรธุรกิจและทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแหลมคมและรุนแรงจนอาจกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงได้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเผชิญอยู่) พิกูบอกว่า ความผันผวนทางเศรษฐกิจนั้นส่วนหนึ่งเกิดจาก "สาเหตุทางจิตวิทยา" ซึ่งประกอบด้วย

(*) Arthur Cecil Pigou (November 18, 1877 - March 7, 1959) was an English economist. As a teacher and builder of the school of economics at Cambridge University he trained and influenced many Cambridge economists who went on to fill chairs of economics around the world. His work covered various fields of economics, particularly welfare economics, but his reputation was affected adversely by many economic writers who used his work as the basis on which to define their own opposing views. He reluctantly served on several public committees, including the Cunliffe Committee and the 1919 Royal Commission on Income tax.

การเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจของคนที่พฤติกรรมของพวกเขาควบคุมอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นในรูปของความผิดพลาดสองประการ คือ "การมองโลกในแง่ดีเกินจริง"หรือ"มองโลกในแง่ร้ายเกินจริง"ในการคาดการณ์ทางธุรกิจ [*]

[*] A.C. Pigou, Industrial Fluctuations (London: Macmillan, 1929), หน้า 73

เป็นเรื่องยากที่เราจะละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า เรากำลังอยู่ในภาวะ "ความผิดพลาดของ ...การมองโลกในแง่ร้าย" นอกเหนือจากผลกระทบของวิกฤตแบบเคนเซียนที่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน พิกูเน้นให้เห็นความจำเป็นของการปลดล็อกตลาดสินเชื่อออกจากภาวะแช่แข็งในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจถูกครอบงำโดยทัศนคติมองโลกในแง่ร้าย - ดังนั้น ถ้าปัจจัยอื่นไม่เปลี่ยนแปลง ความล้มเหลวทางธุรกิจก็จะแพร่กระจายออกไป ขึ้นอยู่กับว่าสินเชื่อของนายธนาคารในภาวะวิกฤตอุปสงค์จะมีให้กู้ยืมหรือไม่ [*]

[*] Pigou, Industrial Fluctuations, หน้า 96

ถึงแม้ว่าจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องปริมาณมหาศาลเข้าสู่ระบบแล้ว ในเศรษฐกิจอเมริกันและยุโรป ส่วนใหญ่นำโดยรัฐบาล ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นก็ยังไม่ยินยอมที่จะปลดล็อกตลาดสินเชื่อออกจากภาวะแช่แข็ง ธุรกิจอื่นก็ยังล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากปฏิกิริยาต่ออุปสงค์ที่หดหาย (กระบวนการ "ตัวคูณ" แบบเคนส์) แต่สาเหตุอีกส่วนหนึ่งก็มาจากความกลัวว่า อุปสงค์จะหดหายยิ่งกว่าเดิมอีกในอนาคต ก่อเกิดเป็นภาวะหดหู่โดยทั่วไป (กระบวนการมองโลกในแง่ร้ายที่ระบาดได้แบบพิกู)

หนึ่งในบรรดาปัญหาที่รัฐบาลโอบามาจะต้องรับมือ คือข้อเท็จจริงที่ว่า วิกฤตที่แท้จริงซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการทางการเงินผิดพลาดและการละเมิดอื่นๆ นั้น ได้ถูกความล่มสลายทางจิตวิทยากระพือให้ใหญ่ขึ้นอีกหลายเท่าตัว มาตรการฟื้นฟูตลาดสินเชื่อที่ถกกันอยู่ในกรุงวอชิงตันและที่อื่นทั่วโลกตอนนี้รวมถึงการ "อุ้ม" ภาคการเงิน ด้วยเงื่อนไขที่หนักแน่นว่า สถาบันการเงินที่ได้รับการช่วยเหลือจะต้องปล่อยสินเชื่อ มาตรการเหล่านี้มีตั้งแต่การให้รัฐเข้าไปซื้อสินทรัพย์เน่า การประกันการผิดนัดชำระหนี้ และการเพิ่มทุนให้ธนาคารกลายเป็นของรัฐ (ข้อเสนอข้อสุดท้ายทำให้นักอนุรักษ์นิยมหลายคนหวาดกลัว พอๆ กับที่การให้เอกชนควบคุมเงินสาธารณะที่เอาไปอุ้มธนาคารทำให้คนที่เป็นห่วงเรื่องความรับผิดเกิดความกังวล) ปฏิกิริยาอ่อนๆ ที่ตลาดมีต่อมาตรการของภาครัฐที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า เราจะต้องประเมินนโยบายเหล่านี้ทีละอย่าง ในแง่ของผลกระทบที่มันมีต่อจิตวิทยาของนักธุรกิจและผู้บริโภค โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

5.
รัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะ
ความแตกต่างระหว่างพิกูกับเคนส์มีความสำคัญด้วยเหตุผลอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ ในขณะที่เคนส์มีส่วนร่วมอย่างมากในการตอบคำถามที่ว่า เราจะเพิ่มอุปสงค์รวมของระบบได้อย่างไร เขาก็ไม่ได้มีส่วนร่วมมากนักในการวิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายความมั่งคั่งและสวัสดิการสังคม ในทางกลับกัน พิกูไม่เพียงแต่เขียนบทวิจัยเศรษฐศาสตร์สวัสดิการฉบับคลาสสิกเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้บุกเบิกการใช้ตัววัดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ในฐานะดัชนีหลักในการประเมินเศรษฐกิจและนโยบาย [*]

[*] A.C. Pigou, The Economics of Welfare (London: Macmillan, 1920) งานปัจจุบันเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงานของ A.B. Atkinson ได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากงานยุคบุกเบิกของ Pigou ดูตัวอย่างได้ใน Atkinson, Social Justice and Public Policy (MIT Press, 1983)

ในเมื่อความทุกข์ยากของผู้ด้อยโอกาสที่สุดในระบอบเศรษฐกิจและในโลก เป็นปัญหาที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนที่สุด การร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจกับภาครัฐจึงไม่อาจหยุดอยู่แค่การประสานงานกันเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับผู้ด้อยโอกาสในสังคมในการวางแผนมาตรการรับมือกับวิกฤตปัจจุบัน และไปให้พ้นมาตรการที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว ครัวเรือนที่สุ่มเสี่ยงว่าจะตกงาน ไม่มีประกันสุขภาพ และประสบความเดือดร้อนทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นพิเศษ เราจะต้องตระหนักให้มากกว่านี้มาก ถึงขีดจำกัดของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ในการแก้ปัญหาของพวกเขา

ระบบตลาดอาจส่งมอบบริการสาธารณะ (เช่น การศึกษาและสาธารณสุข) ได้แย่มาก
ผลกำไรและขาดทุนไม่ได้ตกอยู่กับผู้ขายและผู้ซื้อโดยตรงเท่านั้น
วิธีที่สามที่เราจะต้องเสริมแนวคิดของเคนส์เป็นเรื่องของบริการสาธารณะซึ่งเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควร ว่ากันตามจริง แม้กระทั่ง อ็อตโต วอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck "บุรุษเหล็กแห่งเยอรมนี" ผู้รวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว) ยังพูดอะไรๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่าเคนส์ ประเด็นที่ว่าระบบตลาดอาจส่งมอบบริการสาธารณะ (เช่น การศึกษาและสาธารณสุข) ได้แย่มากนั้นเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำแห่งยุคของเรา รวมทั้ง พอล แซมมวลสัน (Paul Samuelson) และ เคนเน็ธ แอร์โรว์ (Kenneth Arrow) (พิกูมีส่วนร่วมกับหัวข้อนี้ด้วยการเน้น "ผลกระทบต่อภายนอก" (externalities) ของธุรกรรมในตลาด ซึ่งผลกำไรและขาดทุนไม่ได้ตกอยู่กับผู้ขายและผู้ซื้อโดยตรงเท่านั้น) แน่นอนว่านี่เป็นประเด็นระยะยาว แต่เราก็ควรจะตระหนักว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นอาจทำความเดือดร้อนมากขึ้นเมื่อไม่มีการันตีว่าประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

รัฐสวัสดิการ: คุณภาพชีวิตหยดสุดท้ายในยุโรป (บริการด้านสุขภาพพื้นฐานถ้วนหน้า)
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพโดยรัฐ ทุกคนที่ตกงานอาจเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น เพราะสูญเสียรายได้หรือประกันสุขภาพเอกชนที่เคยได้รับในฐานะพนักงานบริษัท ตอนนี้อัตราการว่างงานในอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 7.6 ซึ่งกำลังก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างแพร่หลาย คำถามข้อหนึ่งที่ควรจะถามคือ ประเทศยุโรปหลายแห่ง เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ซึ่งต้องทนเห็นอัตราการว่างงานที่สูงกว่านี้มากติดต่อกันนานหลายทศวรรษ สามารถหลีกเลี่ยงการพังทลายของคุณภาพชีวิตได้อย่างไรบ้าง คำตอบส่วนหนึ่งอยู่ในวิธีทำงานของรัฐสวัสดิการในยุโรป ซึ่งมีประกันการว่างงานที่เข้มแข็งกว่าในอเมริกามาก และที่สำคัญกว่านั้นคือ รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นส่งมอบบริการด้านสุขภาพพื้นฐานถ้วนหน้าให้กับประชาชน

รัฐบาลจีนยกเลิกบริการสุขภาพถ้วนหน้าในปี 1979 และผลกระทบ
ความล้มเหลวของกลไกตลาดในการส่งมอบบริการสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นอย่างฉาวโฉ่มาก ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือสหรัฐอเมริกา แต่ชัดไม่แพ้กันในการหยุดชะงักของอัตราสุขภาพดีและการมีอายุยืนในประเทศจีน หลังจากที่รัฐบาลยกเลิกบริการสุขภาพถ้วนหน้าในปี 1979 ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจในปีนั้น พลเมืองจีนทุกคนมีประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากรัฐหรือสหกรณ์ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นบริการค่อนข้างพื้นฐานมาก เมื่อจีนยกเลิกระบบไร้ประสิทธิภาพของสหกรณ์ คอมมูน และหน่วยผลิตที่ควบคุมโดยราชการ ก็เท่ากับทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก แต่ในขณะเดียวกัน ศรัทธาใหม่ในเศรษฐกิจระบบตลาดก็ทำให้จีนยกเลิกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้หลังจากปี 1979 ประชาชนแต่ละคนต้องควักเงินซื้อประกันสุขภาพเอง (ยกเว้นในกรณีพิเศษมากๆ ที่รัฐหรือบริษัทขนาดใหญ่ทำประกันสุขภาพให้กับพนักงานและครอบครัว) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความก้าวหน้าของจีนในแง่อายุขัยประชากรชะลอตัวลงอย่างฮวบฮาบ

ประเด็นนี้เป็นปัญหามากพอแล้วในภาวะที่รายได้รวมของจีนเติบโตราวกับจรวด แต่แน่นอนว่ามันจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิมอีก เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังใช้ความพยายามอย่างหนักในการค่อยๆ นำประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับมาใหม่ และรัฐบาลอเมริกันภายใต้การนำของโอบามาก็ประกาศว่า จะทำประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งประเทศจีนและอเมริกาจะต้องแก้ปัญหานี้ไปอีกนาน แต่การทำเรื่องนี้ก็ควรเป็นองค์ประกอบสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตเศรษฐกิจ และการบรรลุการปฏิรูปสังคมของทั้งสองประเทศในระยะยาว

6.
ความสำคัญของสถาบันนอกตลาดและคุณค่าเหนือผลกำไร
กระแสการฟื้นฟูแนวคิดของเคนส์ในปัจจุบันช่วยเราได้มากในแง่ของการวิเคราะห์เศรษฐกิจและการกำหนดนโยบาย แต่เราจะต้องเหวี่ยงแหให้กว้างกว่าเคนส์มาก ถึงแม้ว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมองเคนส์ว่าเป็น"ขบถ"ในวงการ ข้อเท็จจริงก็คือ เขาเกือบจะเป็นกูรูของทุนนิยมใหม่ ผู้ให้น้ำหนักกับการสร้างเสถียรภาพให้กับความผันผวนของเศรษฐกิจระบบตลาด (โดยให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยกับสาเหตุทางจิตวิทยาของความผันผวนทางธุรกิจ) ถึงแม้ว่าสมิธและพิกูจะโด่งดังในฐานะนักเศรษฐศาสตร์หัวอนุรักษ์นิยม ความคิดอันล้ำลึกจำนวนมากเกี่ยวกับความสำคัญของสถาบันนอกตลาดและคุณค่าเหนือผลกำไรก็มาจากพวกเขา ไม่ใช่เคนส์และผู้เจริญรอยตามเคนส์

วิกฤตทุกครั้งไม่เพียงแต่เป็นความท้าทายเฉพาะหน้าที่เราต้องเผชิญ แต่ยังมอบโอกาสให้เราแก้ไขปัญหาระยะยาวในภาวะที่คนยอมทบทวนสถาบันและความเชื่อที่อยู่มานาน นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมเราถึงควรจะเผชิญหน้ากับปัญหาระยะยาวที่เคยถูกมองข้าม เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงความจำเป็นของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งถูกปล่อยปละละเลยอย่างเลวร้ายมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และก็ยังเป็นประเด็นที่อยู่ชายขอบของนโยบายแรกๆ ที่รัฐบาลโอบามาประกาศ อย่างน้อยก็ ณ วันที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้ แน่นอนว่าการให้บริการในระดับที่คนมีกำลังซื้อเป็นประเด็น แต่รัฐเคราลาในอินเดียก็แสดงให้เห็นแล้วว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยรัฐในราคาย่อมเยานั้นเป็นไปได้ ตั้งแต่รัฐบาลจีนยกเลิกประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 1979 เคราลาซึ่งดำเนินนโยบายนี้สืบมาก็แซงหน้าจีนไปไกลลิบในดัชนีอย่างอายุขัยเฉลี่ยของประชากรและอัตราการตายของทารกแรกเกิด ถึงแม้ว่าจะมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าจีนหลายเท่า ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศยากจนก็มีโอกาสเหมือนกัน

อดัม สมิธ: สังคมควรมีสถาบันที่หลากหลายเพื่อตอบสนองแรงจูงใจที่หลากหลาย

สหรัฐอเมริกาเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในด้านนี้ เพราะอเมริกามีระดับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวสูงที่สุดในโลกแล้ว แต่ผลงานด้านสุขภาพยังค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบ และยังมีประชาชนกว่า 40 ล้านคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งของปัญหาอยู่ที่ทัศนคติและความเข้าใจของคน ความเข้าใจที่บิดเบือนอย่างมากเกี่ยวกับวิธีการทำงานของระบบประกันสุขภาพโดยรัฐจะต้องถูกแก้ไข ผ่านการอภิปรายสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น คนอเมริกันมักจะคิดเอาเองว่าระบบประกันสุขภาพในยุโรปไม่เปิดโอกาสให้เลือกพบแพทย์ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม คนอเมริกันต้องทำความเข้าใจกับทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่อย่างถ่องแท้กว่าเดิมด้วย ในวงอภิปรายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพในอเมริกา คนชอบพูดถึงระบบของแคนาดา ซึ่งเป็นระบบประกันสุขภาพโดยรัฐที่ทำให้การเลือกประกันเอกชนทำได้ยากมาก ในขณะที่ในยุโรปตะวันตก ระบบประกันสุขภาพโดยรัฐส่งมอบบริการสุขภาพถ้วนหน้า แต่ก็เปิดช่องทางให้คนที่มีเงินสามารถจ่ายเงินซื้อบริการสุขภาพจากเอกชนได้ ถ้าพวกเขาต้องการ ผมไม่แน่ใจว่าเหตุใดคนรวยที่สามารถใช้เงินซื้อเรือยอชท์และสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ อย่างไร้ขีดจำกัดจึงจะไม่ควรได้รับอนุญาตให้จ่ายเงินค่าเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือแคทสแกน (CAT scan) แทน ถ้าเราสำเหนียกในข้อเสนอของอดัม สมิธ ที่ว่าสังคมควรมีสถาบันที่หลากหลายเพื่อตอบสนองแรงจูงใจที่หลากหลาย เราก็จะพบว่ามีมาตรการที่ใช้การได้จริงหลายอย่าง ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลในโลกที่เราอาศัยอยู่

ผมอยากเสนอว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เรียกร้องต้องการ "ทุนนิยมใหม่" แต่มันต้องการความเข้าใจใหม่ในความคิดเก่า อย่างเช่นความคิดของสมิธ และความคิดของพิกูในยุคที่ใกล้กับเรามากกว่า ความคิดเก่ามากมายถูกละเลยอย่างน่าเศร้า สิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันคือ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าสถาบันต่างๆ ทำงานอย่างไร และการมองเห็นว่าสถาบันที่หลากหลาย ตั้งแต่ตลาดไปจนถึงสถาบันภาครัฐ จะไปให้พ้นมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น และมีส่วนร่วมในการสร้างโลกเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร

- 25 กุมภาพันธ์ 2009

เชิงอรรถ

[1] Adam Smith, An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations, R.H. Campbell และ A.S. Skinner, บรรณาธิการ (Clarendon Press, 1976), I, II.ii.28, หน้า 292

[2] Smith, The Wealth of Nations, I, I.viii.26, หน้า 91

[3] Adam Smith, The Theory of Moral Sentiments, D.D. Raphael และ A.L. Macfie, บรรณาธิการ (Clarendon Press, 1976), หน้า 189-190

[4] Smith, The Wealth of Nations, I, II.iv.15, หน้า 357

[5] A.C. Pigou, Industrial Fluctuations (London: Macmillan, 1929), หน้า 73

[6] Pigou, Industrial Fluctuations, หน้า 96

[7] A.C. Pigou, The Economics of Welfare (London: Macmillan, 1920) งานปัจจุบันเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงานของ A.B. Atkinson ได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากงานยุคบุกเบิกของ Pigou ดูตัวอย่างได้ใน Atkinson, Social Justice and Public Policy (MIT Press, 1983)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com