ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ : Release date 30 June 2009 : Copyleft MNU.

เรื่อง"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่กระแสหลังอาณานิคมนิยมโดยตรง แต่มันก็เลือกที่จะนำเสนอการปลดแอกในอีกมิติหนึ่ง นั่นคือแม้เหล่าประเทศละตินอเมริกาจะได้รับเอกราชทางการเมืองแล้วในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ ๒๐ แต่การกดขี่ ก็ยังเกิดขึ้น แต่ครานี้ไม่ใช่เจ้าอาณานิคมโปรตุเกสและสเปนอีกต่อไป กลับเป็นเหล่าชนชั้นนำ นายทุน และเจ้าของที่ดินที่กีดกันคนชนชั้นต่ำกว่าออกไปจากการตัดสินใจทางการเมือง และเอารัดเอาเปรียบประชาชนและคนงาน ข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับละตินอเมริกาก็คือ ประชาชนได้มีการจัดตั้งองค์กรต่อสู้อย่างแข็งแรง ภัควดีได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เนื่องด้วยลัทธิมาร์กซ์-เลนินและคอมมิวนิสต์เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๖๐ ก่อให้เกิดกองกำลังจรยุทธ์และกองทัพปฏิวัติ

H



30-06-2552 (1739)
Magical Realism: ว่าด้วยวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ของละตินอเมริกา
"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว": สัจนิยมมหัศจรรย์กับประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา
ปรีดี หงษ์สต้น: เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระซึ่งสนใจเรื่องรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

งานเรียบเรียงชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานวรรณกรรมของ Gabriel Garcia Marquez
ในเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ซึ่งสะท้อน
ถึงผลพวงของละตินในยุคหลังอาณานิคม กับความทุกข์ยากของประชาชนที่ยังไม่ได้สูญไปหลังเจ้าอาณานิคมถอนตัว
การกดขี่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องที่มาจากนายทุน บรรดาเหล่าชนชั้นนำ และเจ้าของที่ดินในละตินอเมริกาเอง
และถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยด้วยกระแสทุนนิยมจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์

งานเรียบเรียงชิ้นนี้ได้มีการแบ่งแยกหัวข้อเพื่อสะดวกต่อการค้นคว้าดังต่อไปนี้
- สัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism): ในฐานะเครื่องมือปลดแอก
- ข้อแตกต่างระหว่างสัจนิยมมหัศจรรย์ของยุโรปและละตินอเมริกา
- มาคอนโดกับประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา
- ละตินอเมริกากับการเปลี่ยนแปลงหลัก ๒ ด้าน
- ละตินอเมริกากับทุนนิยมยุโรป
- การขยายตัวของทุนสหรัฐฯ เข้าไปในละตินอเมริกา
- บริษัทกล้วยในละตินอเมริกา
- ผู้นำพลเรือน ไม่ได้เป็นหลักประกันถึงสิทธิเสรีภาพ
- ความแตกต่างทางความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๓๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

++++++++++++++++++++++++++++++ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

Magical Realism: ว่าด้วยวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ของละตินอเมริกา
"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว": สัจนิยมมหัศจรรย์กับประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา
ปรีดี หงษ์สต้น: เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระซึ่งสนใจเรื่องรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ความนำ

"...ถึงแม้กระโถนนั้นจะทำด้วยทองคำทั้งหมดและยังมีตราตระกูลขุนนางประทับอยู่ด้วย
แต่สิ่งที่อยู่ข้างในก็คือขี้เราดีๆ นี่เอง ขี้ที่ออกมาจากร่างกาย
และที่ร้ายยิ่งกว่าอย่างอื่นทั้งหมดก็คือ มันเป็นขี้อันเย่อหยิ่งจากที่ราบสูง..." (หน้า 514)

ข้อความข้างต้นที่ปรากฏใน"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"(1) เป็นหนึ่งในความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ในการนำเสนอประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียม การกดขี่และการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

(1) กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดียว, ปณิธาณ-ร.จันเสน แปล, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2547) โดยจะใช้ในการอ้างอิงทั้งหมดในบทความนี้

ในหมู่วรรณกรรมจากฝั่งละตินอเมริกาที่ได้รับการแปลเผยแพร่ในประเทศไทย "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นับว่าเป็นหนึ่งในนวนิยายที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ได้รับการยอมรับจากเวทีนานาชาติตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในต้นฉบับภาษาสเปนเมื่อปี ค.ศ.1967 และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในอีกสามปีต่อมา ผลงานชิ้นนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในและนอกวงการวรรณกรรมวิจารณ์

ในแง่หนึ่งนวนิยายเล่มนี้ดึงความสนใจของเหล่านักอ่านทั่วโลกไปสู่ทวีปละตินอเมริกา เพราะมาร์เกซเป็นชาวโคลอมเบียโดยกำเนิด และนวนิยายเรื่องนี้ก็เล่าเรื่องราวของตระกูลบูเอนดิยา ที่ดำเนินมากว่าศตวรรษในภูมิภาคนี้ และแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะตัวของละตินอเมริกาทั้งในตัวบทและบริบทโดยรอบผลงานชิ้นนี้ด้วย ในอีกแง่หนึ่ง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ได้รับความสนใจเนื่องจากมันถูกนำเสนอออกมาในแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) อันถือเป็นวิธีในการนำเสนอความจริงอีกแขนงซึ่งเพิ่งจะมาได้รับความนิยมในวงการศิลปะ โดยเฉพาะในละตินอเมริกานั้น วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ได้เติบโตสูงที่สุดช่วงกลางศตวรรษที่ 20 (2) และจากนั้นจึงส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมในทวีปอื่นๆ อย่างกว้างขวาง รวมถึงวรรณกรรมไทยด้วย

(2) Angle Flores, "Magical Realism in Spanish American Fiction" in Magical Realism: Theory, History, Community, ed. Lois P. Zamora and Wendy B. Faris (London: Duke University Press, 1995), 113.

บทความนี้เป็นข้อสังเกตคร่าวๆ เกี่ยวกับนวนิยายเล่มนี้ โดยจุดประสงค์ไม่ได้อยู่ที่การตีความตัวบทโดยตรง หากแต่เป็นความพยายามในการค้นหาว่า"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ได้สะท้อนอะไรออกมาบ้าง โดยจะเริ่มด้วยการสำรวจพัฒนาการของสัจนิยมมหัศจรรย์ในฐานะที่เป็นแขนงหนึ่งของศิลปะ ก่อนที่มันจะเดินทางมาถึงละตินอเมริกาและถูกใช้อย่างกว้างขวางในวงการวรรณกรรมช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็นความพยายามหนึ่งในการต่อสู้ปลดแอกจากการกดขี่ของเจ้าอาณานิคมและเหล่านายทุนต่างชาติ

ต่อมาจะพยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวในตัวบทกับประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา และประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศโคลอมเบียโดยเฉพาะ ซึ่งถูกสะท้อนออกมาอย่างค่อนข้างชัดเจนในการดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสงคราม การต่อสู้ทางการเมือง การจับอาวุธขึ้นปฏิวัติ ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่ละตินอเมริกามีประสบการณ์อย่างคุ้นชิน จึงอาจกล่าวได้ว่า "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" คล้ายเป็นหมุดหมายประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่ถูกเขียนขึ้นในแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ ซึ่งหากมันไม่ได้รับความเชื่อถือ ก็อาจเป็นเพียงเพราะมันไม่ใช้แนวทางสัจนิยม ซึ่งทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และกีดกันแนวทางอื่นออกไปจากการนำเสนอความจริงโดยอัติโนมัติ

สัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism): ในฐานะเครื่องมือปลดแอก
ก่อนที่จะเข้าสู่การอภิปรายเกี่ยวกับตัวบทใน "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" เราจำเป็นต้องกล่าวถึงพัฒนาการของวรรณกรรมชิ้นนี้เสียก่อน เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้งานชิ้นนี้ได้รับความสนใจอย่างมากคือมันจัดอยู่ในวรรณกรรมประเภทสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ซึ่งนับว่าเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่ทำให้วรรณกรรมประเภทดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ต้องยอมรับว่าการที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ.1982 นั้นได้จุดประกายให้นักอ่านทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจกับวรรณกรรมประเภทนี้มากขึ้น แม้ก่อนหน้านี้จะมีงานประเภทเดียวกันออกมาเป็นจำนวนมาก (3) กอปรกับงานประเภทเดียวกันจำนวนมากที่ถูกผลิตขึ้นจากนักเขียนละตินอเมริกา ยิ่งเน้นย้ำให้ทวีปนี้คล้ายผูกขาดการส่งออกวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบไปอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งนับเป็นความเข้าผิดพลาดหากพิจารณาถึงพัฒนาการของศิลปะแขนงนี้อย่างจริงจัง

(3) นับเป็นเรื่องที่น่าสังเกตประการหนึ่งในวงการวรรณกรรมแปลของไทย หนุมาน กรรมฐาน ได้เขียนปริทรรศน์สั้นๆ เกี่ยวกับวรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งคือ The Tin Drum [กลองสังกะสี] ของนักเขียนชาวเยอรมัน กึนเธอร์ กลาสส์ โดยเขา/เธอได้เปรียบเทียบกับ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดียว ในแง่ความร่วมสมัยของนักเขียนทั้งสองคน (กลาสส์เกิดก่อนมาร์เกซเพียงหนึ่งปี) และ The Tin Drum ถูกตีพิมพ์ในปี 1959 ก่อนหน้าหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดียวถึงแปดปี หากแต่มันไม่ได้รับความสนใจในไทยกระทั่งกลาสส์ในรับรางวัลโนเบลในปี 1999 ภาคภาษาไทยจึงถูกแปลออกมาในอีกห้าปีให้หลัง โดยหนุมาน กรรมฐานได้กล่าวถึงกลองสังกะสี ว่า "...เป็นนิยายที่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของวรรณกรรมสมัยใหม่ ใช้ลีลาการเล่าเรื่องแบบเหนือจริงที่มีความแตกต่างไปจากความมหัศจรรย์แบบมาร์เกซ เป็นตัวอย่างของการพัฒนาสภาวะเหนือจริง (เพื่อสะท้อนความจริง) ในงานวรรณกรรม..." ในแง่นี้แสดงให้เห็นว่า วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์นั้น นอกจากจะไม่ได้จำกัดอยู่ในละตินอเมริกาแล้ว ความพยายามในการทดลองนำเสนอในประเภทดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดียว ด้วย ใน หนุมาน กรรมฐาน, "กลองสังกะสี การรอคอย(เกือบ)ข้ามศตวรรษของกึนเธอร์ กลาสส์", วารสารหนังสือใต้ดิน 4, 2 (2548): 231.

มีงานภาษาไทยจำนวนหนึ่งแล้ว ที่ได้กล่าวถึงพัฒนาการของสัจนิยมมหัศจรรย์ในฐานะประเภทหนึ่งของศิลปะ(4) โดยบทความนี้จะกล่าวเพียงสังเขปเฉพาะในส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับการอภิปราย

(4) งานที่ค่อนข้างครอบคลุมได้แก่ Maggie Ann Bowers, Magic(al) Realism (London, New York: Routledge, 2004); สุรเดช โชติอุดมพันธุ์, สัจนิยมมหัศจรรย์และการเดินทางแห่งวรรณศิลป์ข้ามวัฒนธรรม (กรุงเทพฯ: ฝ่ายวิจัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549); นพวรรณ รองทอง, กำเนิดและพัฒนาการของนวนิยายสัจนิยมแนวมหัศจรรย์ (กรุงเทพ: วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543)

แมกกี บาวเออส์ กล่าวถึงพัฒนาการของสัจนิยมมหัศจรรย์ว่ามีพัฒนามาประมาณสามช่วง โดยกินระยะเวลาประมาณ 80 ปี

- ช่วงแรกเกิดในเยอรมนีทศวรรษที่ 1920
- ช่วงที่สองกระจายเข้าสู่ทวีปอเมริกากลางในทศวรรษที่ 1940 และ
- สุดท้ายสู่ละตินอเมริกาและนานาชาติตั้งแต่ปี 1955 จวบจนปัจจุบัน

นักวิจารณ์ศิลปะชาวเยอรมันฟรันซ์ โรห์ (Franz Roh) ได้ใช้คำว่า Magischer Realismus (magic realism) เป็นครั้งแรก เพื่ออธิบายภาพเขียนโพสต์เอกสเพรสชั่นนิสม์ในหนังสือของเขาเมื่อปี ค.ศ.1925 ซึ่งขณะนั้นเยอรมนีอยู่ในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ โดยอิทธิพลของภาพเขียนประเภทดังกล่าวได้กระจายไปถึงฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ อิตาลี สหรัฐอเมริกา และส่งอิทธิพลไปนอกเหนือวงการทัศนศิลป์ด้วย(5)

(5) ดูรายละเอียกลักษณะของศิลปะประเภทดังกล่าวใน Bowers, Magi(al), 8-13; โชติอุดมพันธ์, สัจนิยมมหัศจรรย์, 2-16.

อิทธิพลของสัจนิยมมหัศจรรย์เดินทางถึงละตินอเมริกาในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ บทความที่ถูกอ้างอิงถึงมากที่สุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมละตินอเมริกาเขียนโดยเองเจล ฟลอเรส สรุปเอาไว้ว่า งานเขียนของมาร์เซล พรูสท์ และฟรันซ์ คาฟกา รวมทั้งผลงานของจิตรกรนามจิออร์จิโอ เดอ ชิริโค ได้ส่งอิทธิพลอย่างมากแก่การกำเนิดขึ้นของสัจนิยมมหัศจรรย์ในละตินอเมริกา ฟลอเรสกล่าวว่าจุดเริ่มต้นคือปี ค.ศ.1935 เมื่อผลงานของฆอร์เก ลูอิซ บอร์เจส ชื่อ Historia universal de la infamia [A Universal History of Infamy] ปรากฏแก่สายตาผู้อ่านในบัวโนส ไอเรส ซึ่งเป็นสองปีหลังจากที่บอร์เจสแปลงานของคาฟกาเป็นภาษาสเปน

จากนั้นความเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ตามมาอย่างคึกคัก จากนักเขียนละตินอเมริกาจำนวนมากเช่นมาเรีย ลุยซา บอมบาล ซิลวีนา โอคัมโป ลุย อัลบามอนเต ฯลฯ ฟลอเรสกล่าวว่า ทศวรรษที่1940 ถึง 1950 เป็นช่วงที่สัจนิยมมหัศจรรย์ในละตินอเมริกาเบ่งบานที่สุด(6) แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของงานเขียนประเภทนี้หลายทศวรรษก่อนที่ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" จะถูกตีพิมพ์ออกมา อย่างไรก็ตาม มีผู้โต้แย้งงานของฟลอเรสว่ายังไม่ได้ให้คำนิยามสัจนิยมมหัศจรรย์ และจัดประเภทศิลปินอย่างไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ให้คำตอบมากไปกว่าการเปรียบเทียบสัจนิยมมหัศจรรย์กับศิลปะประเภทอื่น (7)

(6) Flores, "Magical Realism", 109-13.
(7) Luis Leal, "Magical Realism in Spanish American Literature" in Magical Realism: Theory, History, Community, ed. Lois P. Zamora and Wendy B. Faris (London: Duke University Press, 1995), 119-24.

ประเด็นสำคัญที่ส่วนนี้ต้องการอภิปรายคือ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" นับเป็นส่วนหนึ่งในแนวรบของการต่อสู้ปลดแอกทั้งในระดับอาณานิคม และในระดับการเมืองภายในเหล่าประเทศละตินอเมริกาหลังยุคอาณานิคม ประวัติศาสตร์ของทวีปนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมสเปนและโปรตุเกสมานานเกือบสองศตวรรษ และการต่อสู้ก็ยังคงดำเนินไปอย่างรุนแรงและนองเลือด แม้ภายหลังประเทศต่างๆ ได้รับเอกราชแล้วก็ตามที ทั้งนี้เพราะลัทธิอาณานิคมใหม่ได้จองจำอิสรภาพทางเศรษฐกิจของเหล่าประเทศในละตินอเมริกา รวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลกเอาไว้ (8) นอกจากนี้ การกดขี่ภายใน ทั้งในทางชนชั้นและทางเชื้อชาติ ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศสมาชิกของละตินอเมริกา วรรณกรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของทวีปนี้ และในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการกดขี่ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอไม่หยุดหย่อนด้วย

(8) ดังที่เช กูวาราได้กล่าวว่า คิวบาจะไม่เป็นเอกราชอย่างแท้จริง หากไม่ชนะมาซึ่งอิสรภาพทางเศรษฐกิจ ดู David Deutschmann, ed., Che Guevara and the Cuban Revolution: Writings and Speeches of Ernesto Che Guevara (Sydney: Pathfinder, 1987)

สิ่งที่มักจะถูกพูดถึงเกี่ยวกับสัจนิยมหัศจรรย์ในวงวรรณกรรมวิจารณ์ คือศิลปะประเภทนี้ได้เกิดขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์วาทกรรมสัจนิยมโดยตรง สุรเดชกล่าวว่า สัจนิยมมหัศจรรย์ต้องการ

...ชี้ให้เห็นขีดจำกัดของการมองโลกแบบยุโรป ที่มักพิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล ในขณะที่ผู้คนในทวีปละตินอเมริกาอาจจะมีทัศนคติในการมองโลกที่แตกต่างออกไป เนื่องจากมีภูมิหลังและสภาพสังคมที่ไม่เหมือนกับผู้คนในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เทพปกรณัม และตำนานพื้นบ้าน ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบความคิดของผู้คน... ความจริงอาจประกอบไปด้วยสิ่งที่อยู่เหนือระบบเหตุผล หรือเป็นสิ่งที่ต้องใช้เทพนิยายหรือตำนานพื้นบ้านอธิบายประกอบถึงจะเข้าใจก็เป็นได้ (9)

(9) สุรเดช โชติอุดมพันธ์, "สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมไทยกับวาทกรรมแห่งความเป็นอื่น", คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
http://www.human.cmu.ac.th/~thai/html2/suradej.htm, (เข้าเมื่อ 17 ตุลาคม 2551)

ซึ่งมาร์เกซเองก็ได้พูดถึงการนำเสนอความจริงในรูปแบบมหัศจรรย์ว่า "ผมคิดว่าที่จริงแล้ว ความจริงก็เป็นนิยายปรัมปราสำหรับคนธรรมดาได้ มันเป็นความเชื่อ เป็นตำนาน เป็นเรื่องราวแห่งชีวิตประจำวัน และมันส่งผลต่อชัยชนะและความปราชัยของคนธรรมดาเหล่านั้น" (10) หากมาร์เกซไม่ได้พูดถึงจุดประสงค์ในการวิพากษ์การนำเสนอความจริงแบบสัจนิยมแต่อย่างใด

(10) Bowers, Magic(al), 40.

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของสุรเดชที่กล่าวว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นการต่อต้านการเสนอความจริงแบบสัจนิยมของยุโรปโดยทวีปละตินอเมริกานั้น ดูเหมือนจะไม่ถูกทั้งหมด มีอย่างน้อย 2 ประการที่ควรจะต้องได้รับการพิจารณา

ประการแรก คือ หากมองด้วยสามัญสำนึกแล้ว ทุกแห่งในโลกย่อมไม่เหมือนกัน ต่างมีภูมิปัญญาท้องถิ่น เทพปกรณัม และตำนานที่แตกต่างกันออกไป ในทวีปยุโรปก็มีความแตกต่างหลากหลายอย่างสุดขั้ว ในละตินอเมริกาก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นการใช้เหตุผลว่าละตินอเมริกามีความแตกต่าง ไม่สามารถใช้วาทกรรมสัจนิยมแบบยุโรปเสนอความจริง จึงเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่แม้แต่ภายในยุโรปเอง และการสรุปเช่นนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สัจนิยมมหัศจรรย์เป็นของทวีปละตินอเมริกาโดยเฉพาะ

ประการที่สอง งานวรรณกรรมที่ถูกผลิตออกมากลับไปไม่ได้แสดงออกดังข้อสรุปที่สุรเดชได้กล่าวเอาไว้เสมอไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ The Tin Drum ของกึนเธอร์ กลาสส์ นักเขียนชาวเยอรมันที่ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1959 ซึ่งก่อนหน้าที่ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" จะตีพิมพ์ถึงแปดปี (ค.ศ.1967) ประเด็นคือหากจะอ้างว่าวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์นั้น เป็นการต้องการนำเสนอความจริงที่สัจนิยมแบบยุโรปทำไม่ได้ เหตุใดสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างงานของกึนเธอร์ กลาสส์ ดังที่สุรเดชจัดประเภทเอาไว้ (11) จึงเกิดขึ้นก่อนและกลับไม่ถูกพูดถึงเลย?

(11) โชติอุดมพันธ์, สัจนิยมมหัศจรรย์, 1.

ความซับซ้อนนี้ควรจะต้องถูกอธิบายด้วยมุมมองอีกมุมหนึ่งว่า เหตุผลที่สัจนิยมมหัศจรรย์ได้ถูกมองว่าเข้ากับสังคมละตินอเมริกานั้น ก็เนื่องจากมีความพยายามจากวงการวรรณกรรมละตินอเมริกาในการสร้างความคิดดังกล่าวขึ้นเอง โดยความคิดดังกล่าวนี้มีฐานมาจากการต่อสู้ปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม เพราะละตินอเมริกามีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับยุโรปในฐานะเป็นผู้ใต้อาณานิคม สัจนิยมมหัศจรรย์จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ หนึ่งในบุคคลที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางความคิดนี้คือ อเลอโค การ์เปนเตียร์ (Alejo Carpentier) นักเขียนชาวคิวบา ผู้ซึ่งได้แยกแยะข้อแตกต่างระหว่างสัจนิยมมหัศจรรย์ของยุโรปและละตินอเมริกาออกจากกัน

ข้อแตกต่างระหว่างสัจนิยมมหัศจรรย์ของยุโรปและละตินอเมริกา
เขามองว่าสัจนิยมมหัศจรรย์ในแบบของยุโรปนั้น เป็น "การเสแสร้งที่น่าเหนื่อยหน่าย" ไม่มีการเชื่อมโยงเนื้อหาปรัมปราเข้ากับบริบททางวัฒนธรรมเลย(12) และยังมองงานสัจนิยมมหัศจรรย์ของยุโรปว่าเป็นเพียงแค่เทคนิคการพรรณนา หาใช่ความเชื่อที่แท้จริงไม่. ในปี ค.ศ.1959 งานสัจนิยมมหัศจรรย์ของเขา El reino de este mundo [The Kingdom of this World] ถูกตีพิมพ์ออกมา นับว่าเป็นหมุดหมายใหม่ของวรรณกรรมละตินอเมริกาที่ได้แหวกออกไปจากอิทธิพลของโรห์ก่อนหน้านี้ (13) ผลงานของการ์เปนเตียร์ นับได้ว่าเป็นความพยายามหนึ่งในความต้องการปลดแอกละตินอเมริกาจากพันธนาการทางวัฒนธรรมของยุโรป (แม้ตัวเขาเองได้รับการศึกษาในฝรั่งเศสก็ตาม) ด้วยการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของละตินอเมริกาขึ้น

(12) Alejo Carpentier, "On the Marvelous Real in America" in Magical Realism: Theory, History, Community, ed. Lois P. Zamora and Wendy B. Faris (London: Duke University Press), 89.

(13) อย่างไรก็ดี ชาเนดีได้โต้แย้งงานของการ์เปนเตียร์ว่า เป็นการแยกแยะที่ตื้นเขินจนเกินไป และเป็นความพยายามในการอ้างอิสรภาพทางวัฒนธรรมจากยุโรปแต่อย่างเดียว โปรดดู Bowers, Magic(al), 35-7.

นอกจากนี้ ปาฐกถาของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เรื่อง "ความโดดเดี่ยวแห่งละตินอเมริกา" ในโอกาสรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ.1982 ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความพยายามในการสร้างเอกลักษณ์ของภูมิภาคนี้ให้ต่างออกไปจากยุโรป ในตอนหนึ่งมาร์เกซกล่าวว่า

ละตินอเมริกามิได้ต้องการเป็นเบี้ยตัวหนึ่งซึ่งปราศจากเจตจำนงของตนเอง ในขณะเดียวกันก็มิได้ต้องการให้การต่อสู้เพื่อเอกราชและความเป็นตัวของตัวเองกลายไปเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ตะวันตก... เหตุใดความเป็นตัวของตัวเองที่แสดงออกในวรรณกรรมกลายเป็นการปฏิเสธอย่างไม่ไว้วางใจในความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมของเรา? เหตุใดจึงคิดว่าความยุติธรรมทางสังคมซึ่งคิดค้นโดยคนยุโรปหัวก้าวหน้า เพื่อใช้ในสังคมของเขาจะสามารถนำมาใช้ในละตินอเมริกาด้วยวิธีและสภาพที่แตกต่างออกไปได้? ไม่หรอก: ความรุนแรงที่เกินประมาณและความจาบัลย์ในประวัติศาสตร์ของเรานั้น เป็นผลลัพธ์มาจากความไม่เท่าเทียมที่ดำเนินมากว่าชั่วอายุคน รวมทั้งความขมขื่นที่ไม่เคยถูกเล่าออกไป ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การสมคบคิดที่ถูกวางแผนขึ้นสามพันลีกจากบ้านของเรา...นี่ละ, เพื่อนเอ๋ย คือความโดดเดี่ยวที่แท้จริงของละตินอเมริกา (14)

(14) Gabriel Garc?a Marquez, "The Solitude of Latin America", Nobel Foundation, http://nobelprize.org, (accessed 27 December 2008)

แม้"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่กระแสหลังอาณานิคมนิยมโดยตรง แต่มันก็เลือกที่จะนำเสนอการปลดแอกในอีกมิติหนึ่ง นั่นคือแม้เหล่าประเทศละตินอเมริกาจะได้รับเอกราชทางการเมืองแล้วในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ 20 แต่การกดขี่ก็ยังเกิดขึ้น แต่ครานี้ไม่ใช่เจ้าอาณานิคมโปรตุเกสและสเปนอีกต่อไป กลับเป็นเหล่าชนชั้นนำ นายทุน และเจ้าของที่ดินที่กีดกันคนชนชั้นต่ำกว่าออกไปจากการตัดสินใจทางการเมือง และเอารัดเอาเปรียบประชาชนและคนงาน ข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับละตินอเมริกาคือ ประชาชนได้มีการจัดตั้งองค์กรต่อสู้อย่างแข็งแรง ภัควดีได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เนื่องด้วยลัทธิมาร์กซ์-เลนินและคอมมิวนิสต์เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ก่อให้เกิดกองกำลังจรยุทธ์และกองทัพปฏิวัติจำนวนมาก นอกจากนี้แนวคิดสำนักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย ก็มีอิทธิพลต่อการต่อสู้ของประชาชนละตินอเมริกาอย่างมาก(15) ในแนวร่วมการต่อสู้ต่างๆ นี้ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" นับเป็นความพยายามที่ประสบความสำเร็จครั้งหนึ่งในการเรียกร้องความยุติธรรม เพื่อปลดแอกคนงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยนายทุน และการบังคับขู่เข็ญจากกองกำลังของรัฐบาล อันจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนจากการนำเสนอเหตุการณ์อันหลากหลายในตัวบท ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้ทุกบ้านในมาคอนโดทาสีฟ้า เหตุการณ์กวาดล้างคนงานบริษัทกล้วย ฯลฯ ซึ่งจะได้อภิปรายต่อไป

(15) ภัควดี วีระภาสพงษ์, "การเมืองใหม่ในละตินอเมริกา", ฟ้าเดียวกันออนไลน์,
http://www.sameskybooks.org/2008/09/23/latin/, (เข้าเมื่อ 14 ธันวาคม 2551)

ขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการปลดแอกจากการถูกกดขี่ มาร์เกซก็ได้ใช้การนำเสนอน้ำเสียงของผู้ที่ด้อยอำนาจหรือถูกกีดกันให้ไปอยู่ ณ ชายขอบของการเมือง โดยเล่าผ่านตระกูลบูเอนดิยา ที่เป็นพยานของการกดขี่ดังกล่าวตลอดประวัติศาสตร์ของครอบครัว สวอนสันได้กล่าวว่า สัจนิยมมหัศจรรย์ของมาร์เกซนั้น "ต้องการท้าทายวัฒนธรรมต่างด้าวที่นำเข้ามาและมีอิทธิพล[ต่อละตินอเมริกา] และสร้างคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนของตัวเองขึ้นมา" (16)

(16) Philip Swanson, The New Novel in Latin America: Politics and Popular Culture after the Boom (Manchester: Manchester University Press, 1995), 12.

จะเห็นได้ว่าสัจนิยมมหัศจรรย์ได้มีพัฒนาการมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อมันเดินทางไปถึงทวีปละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 30 มันก็ได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางและมีพัฒนาการในแบบละตินอเมริกา กระทั่งมันถูกใช้เป็นอาวุธทางวัฒนธรรมอีกชนิดหนึ่งที่เปล่งเสียงเรียกร้องของละตินอเมริกาออกมาให้โลกได้รับรู้ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" จึงเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมอีกชนิดหนึ่งที่มีอานุภาพในการจะช่วยปลดแอกทวีปละตินอเมริกา หากแต่จะสำเร็จหรือไม่ คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

มาคอนโดกับประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา
ส่วนนี้จะย้ายมาอภิปรายในแง่ที่เกี่ยวกับตัวบท โดยในเนื้อเรื่อง""หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"นั้นมี "มาคอนโด" เป็นหมู่บ้านที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวต่างๆ และมีตระกูลบูเอนดิยา เป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก ในฐานะที่นิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นจากความจริงที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา มาคอนโดจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์ละตินอเมริกาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง(17) ดังนั้น เราอาจจะสามารถยกสิ่งที่เกิดขึ้นในมาคอนโดเพื่อมอง เป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ของละตินอเมริกาได้ (18)

(17) ในบทสัมภาษณ์กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่ได้ถูกรวมเข้าไปในเล่มแปลภาษาไทย ในตอนหนึ่งมีคำถามว่า "ผู้ที่ชื่นชม"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"(One Hundred Years of Solitude) บางคนเคยพูดว่า ในการเล่าถึงตำนานการผจญภัยของครอบครัวบูเอนดิยา คุณได้เล่าประวัติศาสตร์ละตินอเมริกาไปด้วยในตัวอย่างสมบูรณ์ นักวิจารณ์ได้ตีความเรื่องนี้ใหญ่โตเกินจริงไปหรือเปล่า" มาร์เกซตอบว่า "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของละตินอเมริกา มันเป็นภาพอุปมาสำหรับละตินอเมริกา" ดู มาร์เกซ, หนึ่งร้อยปี, 654.

(18) ผู้เขียนตระหนักดีว่า ความพยายามในส่วนนี้อาจทำให้เกิดความอ่อนแอของประเด็น กล่าวคือ มันเป็นความพยายามอธิบายสัจนิยมมหัศจรรย์ด้วยวิธีการแบบสัจนิยม ซึ่งอย่างไรก็ตาม การตีความในรูปแบบนี้ก็จะสามารถก่อให้เกิดข้อถกเถียงต่อไปได้ ซึ่งนับว่าไม่ไร้ประโยชน์ไปเสียทีเดียว

คำถามที่สำคัญคือ แล้วระยะเวลา "หนึ่งร้อยปี" นั้นครอบคลุมช่วงเวลาใด? จากบางข้อความในเนื้อเรื่องจะสามารถทำให้เราทราบได้ว่า ในเวลาที่อูร์ซูลา อิกัวรัน และโฆเซ อาร์คาดิโอ บูเอนดิยา พากันมาตั้งรกรากที่บริเวณที่จะกลายเป็นหมู่บ้านมาคอนโดนั้น คือช่วงศตวรรษที่ 19 เพราะย่าทวดของอูร์ซูลามีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 16 (หน้า 47) และอูร์ซูลา "มักจะหวนไปนึกถึงเคราะห์กรรมเมื่อสามร้อยปีก่อน" (หน้า 48) ดังนั้นเราอาจจะสามารถสันนิษฐานได้คร่าวๆ ว่า"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"เริ่มประมาณช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึงกลางหรือปลายศตวรรษที่ 20 (19) ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของละตินอเมริกาไม่ว่าจะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

(19) เหตุที่ไม่น่าจะใช่ต้นศตวรรษที่ 19 นั้นก็เป็นเพราะว่าในขณะที่ต้นศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ในเนื้อเรื่องกลับไม่พูดถึงการต่อสู้กับอาณานิคมเลย จึงน่าสันนิษฐานได้ว่า มาร์เกซเลือกจะพูดถึงละตินอเมริกาในช่วงหลังจากได้รับอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมแล้ว คือกลางศตวรรษที่ 19

ละตินอเมริกากับการเปลี่ยนแปลงหลัก ๒ ด้าน
ในช่วงเวลาดังกล่าว ละตินอเมริกาได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงหลักๆ อย่างน้อยใน 2 ด้าน

- โดยในด้านหนึ่งนั้น หากมองในแง่โครงสร้างอำนาจโลก หลังจากที่ได้รับอิสรภาพทางการเมืองมาจากเจ้าอาณานิคมแล้ว ละตินอเมริกาหาได้อยู่ในสภาวะแห่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ แต่กลับกลายเป็นต้องตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของจักรวรรดิยมสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นเสมือนห้องทดลองนโยบายต่างประเทศในการผงาดขึ้นเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ส่งผลเสียหายแก่ภูมิภาคนี้อย่างมาก และ"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"ก็ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวออกมาด้วยบางส่วน

- ในอีกด้านหนึ่ง หลังยุคอาณานิคมแล้วการเมืองภายในของประเทศต่างๆ ในทวีปละตินอเมริกาก็วุ่นวายและนองเลือดมาตลอด มาร์เกซได้สะท้อนสภาวะทางการเมืองของประเทศโคลอมเบียบ้านเกิด โดยใช้การต่อสู้ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มเสรีนิยม เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลของการต่อสู้ทางการเมืองที่ทั้งรุนแรงและไร้ความหมาย เพราะตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โคลัมเบียก็ตกอยู่ในวังวนของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างคนสองกลุ่มมาโดยตลอด และผลของมันก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการบาดเจ็บและความตาย "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"จึงนับเป็นภาพสะท้อนการเมืองของประเทศโคลัมเบียได้อย่างชัดเจน

ละตินอเมริกากับทุนนิยมยุโรป
ละตินอเมริกานับเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขยายตัวของทุนนิยมยุโรป โดยเฉพาะบราซิลเป็นแหล่งส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ซึ่งทำให้อังกฤษและดัชต์เร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อหาส่วนแบ่งทางการค้า และในขณะเดียวกันเพื่อกำจัดการผูกขาดของโปรตุเกสที่มีมานานกว่าศตวรรษ นอกจากนี้การค้าวัตถุดิบอื่นอย่างแร่และฝ้ายก็ขยายตัวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากหลายประเทศได้รับเอกราชจากสเปนและโปรตุเกสในศตวรรษที่ 19 แล้วนั้น ความเชื่อมโยงระหว่างละตินอเมริกากับตลาดโลกกลับลดลง เนื่องจากเจ้าของที่ดินจำนวนมากไม่ได้ใช้ที่ดินที่ตนมีอยู่ในการผลิตสินค้า

แต่ภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้เกิดอุปสงค์อาหารและวัตถุดิบอย่างมหาศาลจากยุโรป รัฐบาลของประเทศที่เพิ่งได้รับอิสรภาพใหม่ทั้งหลายประสบปัญหาสำคัญคือ ขาดเงินลงทุน ดังนั้นพวกเขาจึงหันไปกู้เงินจากประเทศในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ ซึ่งได้ปล่อยกู้ให้ทั้งอาร์เจนตินา ชิลี เปรูและเม็กซิโก นอกจากนี้เงินทุนยังหลั่งไหลเข้าไปเก็งกำไรในกิจการการค้าทาสด้วย ผลของมันคือเกิดการทะลักเข้าไปของนายทุนโดยเฉพาะชาวอังกฤษ ที่มีบทบาทในการนำเข้าสินค้า การขนส่ง กิจการประกันภัย และธุรกิจเกี่ยวกับด้านการเงินในละตินอเมริกา. ปลายศตวรรษที่ 19 จึงเป็นช่วงที่เกิดการขยายตัวในการผลิตเพื่อส่งออกอย่างมาก และการลงทุนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในอาร์เจนตินา เม็กซิโก เปรู บราซิล และชิลี ซึ่งเป็นการทำทางรถไฟ เหมืองแร่ รวมทั้งการลงทุนในอาหารและวัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวสาลี ฝ้าย กาแฟ น้ำตาล ยาสูบ ฯลฯ (20)

(20) Thomas E. Skidmore and Peter H. Smith, Modern Latin America (Oxford, Oxford University Press, 1989), 38-44.

ในขณะเดียวกัน กลุ่มนายทุนที่เริ่มจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มาจากสหรัฐอเมริกา เมื่อละตินอเมริกาก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 นั้น การลงทุนจากสหรัฐฯ ได้ครอบครองพื้นที่สำคัญต่างๆ ทางเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตน้ำตาลในเปรู การผลิตเหล็กในชิลี การปลูกกล้วยขนานใหญ่ของบริษัทยูไนเต็ด ฟรุท คอมปานีในอเมริกากลาง หรือการที่ทุนของกลุ่มร็อกกีเฟลเลอร์ทะลักเข้าไปในคาริบเบียน และเป็นเจ้าของทุนใหญ่ในเกษตรกรรม เหมืองแร่ และการผลิตน้ำมันของภูมิภาคละตินอเมริกาทั้งหมด(21) การขยายตัวของการลงทุนเห็นได้จากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้น หนึ่งในสี่ของการลงทุนของสหรัฐฯ ทั้งหมดอยู่ในเม็กซิโกทีเดียว

(21) Gerard Colby and Charlotte Dennett, Thy Will be Done: The Conquest of the Amazon: Nelson Rockefeller and Evangelism in the Age of Oil (New York: Harper Collins, 1995), 75.

การขยายตัวของทุนสหรัฐฯ เข้าไปในละตินอเมริกา
การขยายตัวของทุนสหรัฐฯ เข้าไปในละตินอเมริกานั้น ยังถูกเสริมด้วยกำลังทางด้านการทหาร ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองในภูมิภาค การคานอำนาจกับยุโรป และแสดงถึงการขยายตัวของจักรวรรดินิยมสหรัฐฯ ในการดึงละตินอเมริกาเข้าภายใต้อิทธิพลของตน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สหรัฐฯ ส่งเรือรบไปยังท่าเรือต่างๆ ในละตินอเมริกาถึงกว่า 6,000 ครั้ง ดึงเอาเปอร์โต ริโกและฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้อาณานิคม รวมทั้งยังมีส่วนในการร่วมปราบปรามการประท้วงที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของตนเอง เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 สหรัฐฯ ก็รุกรานประเทศในคาริบเบียนถึง 34 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฮอนดูรัส เม็กซิโก กัวเตมาลา คอสตาริกา เฮติ คิวบา นิคารากัว ปานามา และสาธารณรัฐโดมินิกัน (22)

(22) Greg Grandin, Empire's Workshop: Latin America, The United States, and the Rise of the new Imperialism (New York: Metropolitan Books, 2006), 20.

ภาพความเปลี่ยนแปลงดังที่ได้กล่าวมานั้น ได้ถูกสะท้อนออกมาบางส่วนใน"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"ช่วงครึ่งหลัง โดยเริ่มที่

ในขณะนั้นเองที่เมืองทั้งเมืองต้องสั่นสะเทือนด้วยเสียงหวูดอันก้องกังวานน่ากลัว และเสียงคล้ายคนหอบฮั่กๆ ดังสนั่น สองสามสัปดาห์ก่อน พวกเขาเห็นคนหลายกลุ่มกำลังวางรางเหล็กและไม้หมอน แต่ไม่มีใครสนใจเพราะคิดว่ามันเป็นเพียงกลใหม่ๆ ของพวกยิปซี... แต่เมื่อตื่นจากอาการตกตะลึงในเสียงหวูดและเสียงไอน้ำอันดังขรม...พวกเขาได้เห็นรถไฟประดับประดาด้วยดอกไม้บานสะพรั่งมาถึงเป็นครั้งแรก... รถไฟสีเหลืองบริสุทธิ์ซึ่งจะนำมาทั้งความน่าสงสัยและความแน่นอนใจมากมาย ช่วงเวลาอันแสนสุขและวันเวลาแห่งความทุกข์อีกเหลือคณานับ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ความหายนะ และความรู้สึกหวนไห้ถึงอดีต ที่จะมีต่อมาคอนโด (หน้า 359-360)

ทางรถไฟดังกล่าวได้กลายเป็นตัวเชื่อมมาคอนโดเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยหลังจากนั้นก็มีการเข้าสำรวจพื้นที่โดยวิศวกร นักวิชาการเกษตร นักชลประทาน นักภูมิศาสตร์ และนักสำรวจ (หน้า 365) เพื่อให้พร้อมแก่การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ และมาคอนโดก็ได้เปลี่ยนเป็น "ที่ตั้งของของบ้านไม้หลังคาสังกะสี ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนต่างชาติต่างถิ่นไปแล้ว" (หน้า 366)

"เมื่อบริษัทกล้วยมาถึง" (หน้า 384) เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับมาคอนโด ซึ่งมาร์เกซแสดงให้เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการที่สมาชิกของหมู่บ้านทั้งเด็กและคนแก่ถูกสังหาร (หน้า 384-385) การที่ลูกชายของพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาทั้ง 17 คนถูกไล่ล่า (หน้า 385-387) การเอารัดเอาเปรียบคนงานของบริษัทกล้วยในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็น "การขาดสุขอนามัยในเขตที่อยู่ของ[คนงาน] ไม่มีบริการรักษาโรค และสภาพการทำงานอันเลวร้าย" ฯลฯ (หน้า 478-481)

บริษัทกล้วยในละตินอเมริกา
บริษัทกล้วยใน"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"น่าจะหนีไม่พ้นบริษัทยูไนเต็ด ฟรุท คอมปานี ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเจ้าของการส่งออกกล้วยใหญ่ที่สุดของละตินอเมริกาและของโลก และเป็นตัวแทนภาพสะท้อนการกดขี่คนงานละตินอเมริกาโดยบรรษัทข้ามชาติสัญชาติสหรัฐฯ ซึ่งทางรถไฟที่ตัดเข้ามาคอนโดก็เพื่อขนส่งกล้วยไปสู่ท่าเรือนั่นเอง

เมื่อชาวมาคอนโดไม่สามารถอดทนได้ต่อไป พวกเขาจึงลุกขึ้นประท้วงโดยพากันหยุดงาน แต่กลับไม่เป็นผล เมื่อรัฐบาลใช้ทหารในการเก็บเกี่ยวกล้วยแทน (หน้า 481-484) และฉากที่มาร์เกซใช้สะท้อนความ "จาบัลย์ของละตินอเมริกา" ก็คือการสังหารหมู่คนงานของบริษัทกล้วยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (หน้า 486-487)

แต่"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"ยังไม่หยุดแค่นั้น เมื่อเหตุการณ์สังหารหมู่ได้กลับกลายเป็นเรื่องตลกในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา "ที่นี่ไม่มีใครตายนี่คะ...ตั้งแต่[สมัยการต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม]...ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในมาคอนโดอีกเลย" (หน้า 490) "ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในมาคอนโดเลย ไม่เคยมีอะไร และจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นด้วย นี่เป็นเมืองที่มีความสุข" (หน้า 493) และ "จะอย่างไรก็ตามแต่ ทุกอย่างถูกระบุเอาไว้ในเอกสารทางการศาลและในหนังสือเรียนชั้นประถมแล้วว่า ไม่เคยมีบริษัทกล้วยอยู่เลย" (หน้า 609) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า "ความขมขื่นที่ไม่ถูกเล่าออกมา" ของละตินอเมริกาดังที่มาร์เกซเน้นย้ำอยู่เสมอ

สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวสะท้อนประสบการณ์ของภูมิภาคนี้ได้อย่างดี เมื่อจักรวรรดินิยมสหรัฐฯ ขยายเข้าไปดูดเอาทรัพยากรของละตินอเมริกาเพื่อความมั่งคั่งของตน รัฐบาลของประเทศต่างๆ ก็พร้อมยอมร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องตนเองและเพื่อจะอยู่ในอำนาจได้ต่อไป ทั้งหมดนี้ต้องจ่ายมาด้วยชีวิตของประชาชนที่ผู้นำประเทศตีราคาแสนถูก นี่คือความจริงซึ่งถูกเสนอแบบมหัศจรรย์

ผู้นำพลเรือน ไม่ได้เป็นหลักประกันถึงสิทธิเสรีภาพ
อีกเรื่องหนึ่งที่"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"นำเสนอคือการต่อสู้กันระหว่างสองกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโคลอมเบีย บ้านเกิดของมาร์เกซเอง โคลอมเบียอาจจะต่างออกไปจากประเทศอื่นในภูมิภาคในแง่ที่ว่าประเทศนี้มิได้มีผู้นำทหารขึ้นสู่อำนาจบ่อยเหมือนประเทศอื่นๆ แต่แม้จะมีผู้นำพลเรือนขึ้นปกครอง นั่นก็ไม่ได้ให้หลักประกันถึงสิทธิเสรีภาพที่ชาวโคลอมเบียจะได้รับแต่อย่างใด

รากฐานที่สำคัญของการเมืองโคลอมเบียในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมสเปนในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยหลังจากที่เวเนซูเอลาและเอกวาดอร์แยกออกไปจากสาธารณรัฐโคลอมเบียในปี ค.ศ.1830 แล้ว ประเทศก็ประสบแต่สงครามกลางเมืองของสองกลุ่มการเมืองมาโดยตลอด คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เป็นผู้สนับสนุนซิโมน โบลิวาร์ (23) และฝ่ายเสรีนิยมที่สนับสนุนฟรานซิสโก เดอ เปาลา ซานทานเดอร์ ผู้เป็นรองประธานาธิบดีของโบลิวาร์เองในช่วงสงครามเรียกร้องอิสรภาพ

(23) ซิโมน โบลิวาร์ เป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อิสรภาพของหลายประเทศในละตินอเมริกาจากเจ้าอาณานิคมสเปนในช่วงต้นศตวรรษที่ 19

ความแตกต่างทางความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม
ข้อแตกต่างทางความคิดที่สำคัญของสองกลุ่มนี้คือเรื่องศาสนา โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องการให้ระเบียบสังคมเกิดขึ้นโดยใช้การนำของศาสนาคาธอลิก แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มเสรีนิยมต้องการแยกศาสนาและรัฐออกจากกันให้ชัดเจน ไม่ต้องการให้มายุ่งเกี่ยวกัน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างเรื่องนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยอนุรักษ์นิยมต้องการการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบรัดเข็มขัด ในขณะที่เสรีนิยมต้องการให้เกิดการกระจายอำนาจการปกครองและเกิดการค้าเสรี (24)

(24) John C. Dugas, "Colombia", in Politics of Latin America: The Power Game, ed. Harry E. Vanden and Gary Prevost (New York: Oxford University Press, 2006), 505

อย่างไรก็ตาม เส้นแบ่งดังกล่าวมักไม่ชัดเจน เมื่อเกิดความขัดแย้ง เรื่องราวมักจะลงเอยที่เรื่องศาสนา โดยความขัดแย้งนี้ก่อให้เกิดสงครามการเมืองถึงเจ็ดครั้งในช่วงครึ่งหลังของศคตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะสงครามหนึ่งพันวัน (the War of a Thousand Days) ระหว่างปี ค.ศ.1899-1902 นั้นมีจำนวนคนตายนับแสนทีเดียว

แต่ช่วงเวลาที่ยิ่งนองเลือดไปมากกว่านั้นอีกคือระหว่างปี ค.ศ.1946 ถึงประมาณ ค.ศ.1960 ซึ่งเป็นช่วงที่ถูกเรียกว่า La Violencia [The Violence] (*) โดยมันเริ่มจากการที่ฆอร์เก เอลิเซอร์ ไกทัน นักการเมืองเสรีนิยมถูกลอบสังหาร ผลคือเกิดการจราจลในเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวาง กระทั่งรัฐบาลต้องประกาศกฏอัยการศึก ปิดรัฐสภา และจำกัดสิทธิเสรีภาพพลเมือง เมื่อลอเรียโน โกเมซ พวกขวาจัดของอนุรักษ์นิยมขึ้นสู่อำนาจนั้น La Violencia ก็ได้ถึงจุดสูงสุด ในปีแรกมีจำนวนคนตายถึง 50,000 คน จากทั้งหมด 200,000 คนตลอดช่วงเวลาแห่งความรุนแรงนี้ (25)

(*) La Violencia (literally "The Violence", in Spanish) is a term that refers to an era of civil conflict in various areas of the Colombian countryside between supporters of the Colombian Liberal Party and the Colombian Conservative Party, a conflict which took place roughly from 1948 to 1958 (exact dates vary).

Some historians disagree about the dates: some argue it started in 1946 when the Conservatives came back into government, because at a local level the leadership of the police forces and town councils changed hands, encouraging Conservative peasants to seize land from Liberal peasants and setting off a new wave of bi-partisan violence in the countryside. But traditionally, most historians argue that La Violencia began with the death of Jorge Eliecer Gaitan

(25) Dugas, "Colombia", 507.

ดังนั้น การต่อสู้ที่พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา เข้าร่วมจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการจับอาวุธเข้าต่อสู้แบบกองโจรของฝ่ายเสรีนิยมในช่วง La Violencia

การต่อสู้เริ่มเมื่อ: เกิดสงครามแล้ว...ความจริงแล้วสงครามเกิดมาก่อนหน้านั้นสามเดือน มีการประกาศใช้กฏอัยการศึกทั่วประเทศ... [ทหาร]เข้ามาในเมืองอย่างเงียบเชียบตอนรุ่งสาง... มีการประกาศห้ามออกจากบ้านหลังหกโมงเย็น การค้นอาวุธที่เข้มงวดกว่าครั้งที่แล้วเกิดขึ้นทุกบ้าน... พลังของพวกเสรีนิยมถูกทำลายลงไปในความสยดสยองที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ... (หน้า 170)

นั่นทำให้ออเรลิยาโน บูเอนดิยา ตัวละครหลักอีกตัวหนึ่งใน"หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"จับอาวุธขึ้นสู้ในนามพรรคเสรีนิยม เขา "ไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังปฏิวัติ ซึ่งมีอำนาจการบังคับบัญชาครอบคลุมจากชายแดนหนึ่งไปยังอีกชายแดนหนึ่ง และเป็นผู้ที่สร้างความหวาดกลัวให้แก่รัฐบาลมากที่สุด" (หน้า 173)

อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า เส้นแบ่งระหว่างสองอุดมการณ์นั้นแท้จริงแล้วไม่ชัดเจน เมื่อเวลาผ่านไปความจริงก็ปรากฏ และนี่ทำให้พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา รู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก เมื่อรู้ว่าสมาชิกพรรคเสรีนิยมเองยอมโอนอ่อนผ่อนตาม เพื่ออำนาจในการปกครองและผลประโยชน์ของตนเอง เขารำพึงว่า "เรากำลังจะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์... ขณะที่ไอ้พวกระยำในพรรค [เสรีนิยม] กำลังร้องขอเก้าอี้ในสภา" (หน้า 221) รวมทั้ง "พวกเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเสรีนิยมได้ผูกเป็นพันธมิตรลับๆ กับพวกเจ้าของที่ดินที่เป็นอนุรักษ์นิยม เพื่อยับยั้งการปฏิรูปกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน" (หน้า 268) โดยบทสนทนาที่น่าสนใจในประเด็นนี้เกิดขึ้นระหว่างพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา และพันเอกเคริเนลโด มาร์เกซ ว่า

"บอกผมหน่อย เพื่อนยาก คุณต่อสู้เพื่ออะไร?"
"ยังจะมีเหตุผลอื่นใดอีกหรือ นอกจากเพื่อพรรคเสรีนิยมอันยิ่งใหญ่"
" คุณโชคดีที่รู้ว่าสู้เพื่ออะไร ที่ผมกังวลคือ ผมเริ่มตระหนักว่าผมสู้เพื่อเกียรติของตน"
"นั่นแย่หน่อย"
"มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่รู้ว่าเราต่อสู้ไปทำไม หรือแม้แต่การต่อสู้อย่างคุณเพื่อบางสิ่ง
ที่ไม่ได้มีความหมายอะไรแก่ใครเลย" (หน้า 223-224)

บทสนทนาข้างต้น เป็นประเด็นหลักที่มาร์เกซต้องการนำเสนอความไร้ค่าของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง La Violencia ในประเทศโคลอมเบีย เพราะในขณะที่ประชาชนต่อสู้ เสียเลือดเสียเนื้อกันไปอย่างมหาศาล อุดมการณ์ที่พวกเขายึดมั่นกลับกลายเป็นเรื่องจอมปลอม เมื่อการต่อสู้ทั้งหมดกลายเป็นเกมการต่อรองผลประโยชน์ของผู้นำประเทศและประชาชนกลับเป็นเพียงแค่เครื่องมือของการแย่งชิงอำนาจเท่านั้น

แน่นอนว่ามาร์เกซไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้เฉพาะเท่าที่เกิดขึ้นกับโคลอมเบียหรือละตินอเมริกาเท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งทั่วโลก ที่ชีวิตของคนธรรมดาต้องสังเวยต่อความมั่นคงของผู้ครองอำนาจอย่างสม่ำเสมอ

มาร์เกซเสียดสีเอาไว้อย่างเจ็บแสบว่า "ทุกวันนี้ความแตกต่างอย่างเดียวระหว่างพวกเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยมก็คือ พวกเสรีนิยมไปสวดมนต์ตอนตีห้า ส่วนพวกอนุรักษนิยมสวดตอนแปดโมง" (หน้า 391)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com