1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ในเวลานี้ ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนเอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุนให้กำลังใจ และสิทธิที่จะทรงตักเตือน ไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้น อาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้า และรับสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น คำแนะนำ-ตักเตือนของพระมหากษัตริย์ ย่อมต้องเป็นความ ลับ เพราะมิฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ ...
13-03-2552
(1700)
บทความวิชาการกฎหมาย:
สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ
หยุด แสงอุทัย' กับหลัก 'The King
can do no wrong'
ปิยบุตร แสงกนกกุล : เขียน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
หมายเหตุ: บทความนี้เคยได้รับการเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์ประชาไทออนไลน์
เป็นบทความแนะนำเบื้องต้น ก่อนไปร่วมงานอภิปราย "สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ"
ในโอกาสเปิดตัวหนังสือ "คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
๒๕๑๑ และ
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์"
ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้อง ๒๒๒
บทความวิชาการนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญบางส่วนดังต่อไปนี้
- ประวัติ: หยุด แสงอุทัย, ประวัติการศึกษาและการรับราชการ
- หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙
- หยุดฯ ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า
- สถาบันกษัตริย์: ข้อพิจารณาทางวิชาการกฎหมาย
- สิทธิ ๓ ประการของพระมหากษัตริย์: ทฤษฎี"วอลเตอร์ แบร์ช็อต"
- การอภิปรายเรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ"
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๐๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการกฎหมาย:
สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ
หยุด แสงอุทัย' กับหลัก 'The King
can do no wrong'
ปิยบุตร แสงกนกกุล : เขียน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
"องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา
หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ
โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"
หยุด แสงอุทัย :
จากบทความเรื่อง"อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย"
อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙
ประวัติ: หยุด แสงอุทัย
หยุด แสงอุทัย เกิดเมื่อวันที่
๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๑
ประวัติการศึกษา: สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่
๖ จากโรงเรียนมัธยมโฆษิตสโมสร, เนติบัณฑิตไทยจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
สำเร็จปริญญาเอกกฎหมายขั้นเกียรตินิยมชั้นสูง (Magna Cumlaude) จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน
ประเทศเยอรมัน.
ประวัติการรับราชการ: ในอดีต เคยรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการร่างกฎหมาย จนกระทั่งถึงปี ๒๕๑๑ จึงเกษียณอายุราชการ นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นอีก เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะต่างๆ แทบทุกลักษณะวิชาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นๆ ด้วย. หยุดฯแต่งตำราทางกฎหมาย เขียนบทความทางกฎหมายและบันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาไว้เป็นจำนวนมาก
หยุดฯ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๒
หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
๒๔๙๙
หยุดฯเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแทบทุกประเภท แต่ที่ได้การยอมรับนับถือเป็นอย่างมาก
คือ กฎหมายอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เขายังเขียนตำราคลาสสิก "ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป"
ซึ่งปัจจุบันยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย หยุดฯเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในสมัยรัฐบาลของจอมพล
ป. พิบูลสงคราม โดยตำแหน่งแล้วก็เปรียบเสมือนเป็น "มือกฎหมาย" ของรัฐบาลนั่นเอง
จากบทบาทดังกล่าว ส่งผลให้เขาต้องรับวิบากกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีถูกกล่าวหาว่า
"หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามของจอมพล ป. (ดูรายละเอียดได้ในบทความ
"กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙" ของ
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ที่ http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_1973.html
และ http://midnightuniv.org/midnight2545/document9542.html)
จากการศึกษาตำรากฎหมายของรัฐธรรมนูญของหยุดฯ ตลอดจนบทความ หรือคำอภิปรายต่างๆ สา มารถยืนยันได้ว่า หยุด แสงอุทัย มีความคิดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดที่มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยปราศจากความรับผิดชอบ. เพื่อมิให้กษัตริย์ต้องรับผิด ตามคำกล่าวที่ว่า "The King Can Do No Wrong" จึงต้องมิให้กษัตริย์กระทำการใดๆ เว้นแต่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการซึ่งเป็นผู้กระทำอย่างแท้จริง ดังปรากฏให้เห็น เช่น
"ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์"
"องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ
การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"
(ในบทความชื่อ "อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย"
อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์
๒๔๙๙)
"ในเวลานี้ ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนเอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือน ไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้น อาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและรับสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น คำแนะนำหรือตักเตือนของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง"
"... ในกรณีที่ไม่ทรงเห็นด้วย
ก็จะทรงทักท้วงตักเตือนให้เห็นภยันตรายของการดำเนินตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงเช่นว่านี้
ย่อมเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะต้องประชุม ปรึกษาหารือกันใหม่ คณะรัฐมนตรีอาจยืนยันความเห็นเดิมก็ได้
และเมื่อคณะรัฐมนตรียืนยันตามความเห็นเดิม พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงยอม เพราะคณะรัฐมนตรีต่างหากเป็นผู้รับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ..."
(หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.๒๕๑๕. หน้า ๔๖-๔๗)
ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาของหยุด แสงอุทัย ในเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว ได้กลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขา เมื่อตอนที่เขาได้เข้าไปมีบทบาททางการเมือง ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หยุดฯ ถูกกล่าวหาว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามของจอมพล ป. โดยอ้างจากบทความเรื่อง "อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย" ที่หยุดฯอ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ (ดูรายละเอียดได้ในบทความ "กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙" ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ที่ http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_1973.html และhttp://midnightuniv.org/midnight2545/document9542.html)
หนังสือพิมพ์สมัยนั้นพาดหัวข่าวเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการนำข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" กระทบต่อไปถึงจอมพล ป. เช่น หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ ได้ตีพิมพ์เนื้อหาว่า
"ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดินพากันเศร้าสลดใจในพฤติกรรมของบุคลลผู้หนึ่ง ซึ่งได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน กล่าวคือ เมื่อคืนวันอังคารที่แล้วมา กระบอกเสียงของรัฐบาลได้กระจายเสียงออกอากาศภาคบทความของนายหยุด แสงอุทัย ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรมร่างกฎหมาย) สังกัดในสำนักคณะรัฐมนตรีซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าโดยได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทยว่า "องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใด ที่เป็นปัญหาหรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" และกล่าวคำอื่น ๆ อีกที่เพียรพยายามจะแสดงให้เกิดความเข้าใจกันว่าองค์พระมหากษัตริย์ประมุขของชาติคือ "หุ่น" ที่รัฐบาลจะเชิดเท่านั้นเอง
กรณีเหตุที่ทำให้บรรยากาศเกี่ยวกับองค์พระประมุขของชาติ โดยมีบุคคลได้กระทำการดูหมิ่นขึ้นนั้นก็เนื่องด้วยที่ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานในวันกองทัพบกว่า "ให้ทหารรู้จักหน้าที่ในความเป็นทหาร ทหารไม่บังควรเล่นการเมือง" เป็นต้น
คำกล่าวด้วยความทะนงองอาจของบุคคลผู้หนึ่งครั้งนี้ เป็นการกล่าวถ้อยคำในฐานะที่เป็นข้าราชการ และได้นำไปออกอากาศกระจายเสียงที่กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นสำนักงานแถลงข่าวของรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นความสัมพันธ์ในการเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและบังคับบัญชากันในทางราชการนั้น บุคคลผู้นี้ได้สังกัดขึ้นตรงต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย นับว่าเป็นสายบังคับบัญชางานขึ้นตรงโดยเฉพาะ และบุคคลผู้นั้นไม่ใช่ข้าราชการผู้น้อยชั้นถ่อยแต่เป็นข้าราชการชั้นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลคณะนี้ยกย่องถึงขนาดเป็นผู้เชี่ยวชาญรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นที่ปรึกษาทั่วไปในทางกฎหมายประจำทำเนียบของรัฐบาลนี้โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นการกล่าวถ้อยคำอันเป็นการดูหมิ่นด้วยความทะนงองอาจต่อองค์พระมหากษัตริย์ ประมุขของชาติเช่นนี้ จึงอาจที่จะบิดเบือนเป็นอื่นไปได้ที่ว่าจะกล่าวขึ้นด้วยความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ โดยเฉพาะรัฐบาลจะไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย
อนึ่ง เมื่อวันเสาร์ซึ่งมีเพรสคอนเฟอรเรนซ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กล่าวชี้แจงแก้แทนนายหยุด แสงอุทัย ในคำกล่าวหานั้นว่า "ไม่มีผิด" และนายหยุด แสงอุทัย ก็ได้นำคำมากล่าวย้ำอีกว่า กษัตริย์อังกฤษนั้นไม่กระทำการใดๆ ที่ไม่มีรัฐมนตรีรับสนอง ซึ่งคำกล่าวลักษณะนี้ ขอให้พี่น้องทั้งหลายพิจารณากันดูเอาเองเถิด และก็ควรจะได้พิจารณากันให้ลึกซึ้งด้วยว่า ข้าราชการในอังกฤษซึ่งอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับนายหยุด แสงอุทัย ได้มีผู้แนะนำความอันเกี่ยวกับอังกฤษมากล่าวย้ำสั่งสอนพระราชาของเขาทำนองนี้บ้างหรือไม่
การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์พระมหากษัตริย์กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๙๘ ได้บัญญัติไว้มีความว่า "ผู้ใดทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระราชเทวีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันจำคุกไม่เกิน ๗ ปี และปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง"
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรภาคอีสาน ได้มีเหตุการณ์ขึ้นเรื่องหนึ่งคือ ชายผู้หนึ่งจะนำหนังสือเข้าทูลเกล้าถวายฎีกาแต่ไม่สามารถเข้าไปได้ บุคคลผู้นั้นได้ปาหนังสือตรงไปยังรถพระที่นั่ง แม้เหตุการณ์เพียงเท่านั้น เจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองก็ได้จับคนผู้นั้นในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและให้ศาลได้ลงโทษจำเลยผู้นั้นไปแล้วโดยให้จำคุก เมื่อได้นำเอากรณีดังกล่าวแล้ว มาเทียบกับพฤติการณ์แห่งความทะนงองอาจของนายหยุด แสงอุทัย ที่ได้กระทำขึ้นต่อพระมหากษัตริย์ประมุขของชาติคราวนี้เป็นการทะนงองอาจใหญ่ยิ่งกว่ากันหลายเท่านัก หากบุคคลที่ได้ขว้างปาเอกสารเป็นบุคคลธรรมดาสามัญ แต่นายหยุด แสงอุทัยเป็นบุคคลพิเศษอยู่ในฐานะใกล้กับรัฐบาลคณะนี้ จึงยังไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจได้ดำเนินการกับนายหยุด แสงอุทัยประการใดเลย ซึ่งคดีดังกล่าวนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายปกครองและตำรวจจะดำเนินการได้ทันทีไม่พักให้ต้องมีผู้นำความมาแจ้งและร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานนั้น คงไม่มีประเทศใดในโลกนี้เขาทำกันหรอกและก็ทำให้สงสัยว่าอาจจะเงียบกันต่อไป เพราะจอมพล ป. พิบูลสงครามได้แก้แทนเสียแล้วว่า "ไม่ผิด"
ทางที่ถูกต้องเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจจะต้องเข้าดำเนินการสอบสวนพิจารณาองค์การของรัฐบาลคือเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ที่ได้ยอมให้นายหยุด แสงอุทัยนำข้อความไปอ่านออกอากาศกระจายเสียงโฆษณาต่อประชาชนทั้งประเทศนั้นว่า ได้มีความเห็นสอดคล้องต้องด้วยหรืออย่างไร กับเจ้าพนักงานสอบสวนจะต้องตั้งตนเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองเกรงกลัวผู้มีอำนาจบาทใหญ่ ต้องการกระทำการสอบสวนหัวหน้าผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายหยุด ด้วยว่าได้มีส่วนรู้เห็นเจตนาจงใจร่วมกับนายหยุด แสงอุทัยให้กระทำขึ้นเพื่อลบหลู่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์เช่นนั้นด้วยหรือไม่
ประชาชนทั้งเมืองต่างเอาใจใส่กับเหตุการณ์ที่เกิดนี้โดยทั่วกัน และก็ใคร่จะได้ฟังคำปฏิบัติการของเจ้าพนักงานทุกฝ่ายว่ากระทำการกันฉันใด เพราะเหตุการณ์เช่นนี้กระทำให้เป็นที่หวั่นไหวต่อจิตใจของพสกนิกรที่เคารพรักพระมหากษัตริย์อยู่โดยทั่วหน้าเพราะต้องการทราบข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัด"
เช่นเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็รีบนำข้อหานี้มาใช้ประโยชน์ทางการเมืองของตน ดังที่นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค ได้ให้สัมภาษณ์ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ดังนี้
"หลังจากที่ ดร.หยุด แสงอุทัย ถูก ส.ส.สงวน ศิริสว่างแจ้งให้พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจจัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งพล.ต.อ.เผ่า ได้ส่งบทความของดร.หยุด ให้กองคดีกรมตำรวจวินิจฉัย ในที่สุดกองคดีพิจารณาแล้วปรากฏว่าบทความของดร.หยุดไม่ผิด และไม่มีการหมิ่นพระมหากษัตริย์แต่อย่างใดนั้น
จากการพบกับนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นว่า "ดร.หยุด เป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญของรัฐบาลเสียเปล่า ถึงจะพูดถูกหรือไม่ถูกก็ตาม ทำให้คนทั้งบ้านทั้งเมืองเข้าใจผิด ใครที่ได้ฟังวิทยุในคืนนั้นก็เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นในหลวง แล้วมันก็ใช้ได้ที่ไหน"
นายควงยกตัวอย่างให้ฟังว่า "เหมือนอย่างครูเหมือนกัน ถึงแม้จะเก่งหรือวิเศษสักปานใด แต่สอนแล้วนักเรียนไม่เข้าใจ ครูคนนั้นก็ใช้ไม่ได้ อย่างดร.หยุด ที่จอมพล ป.คิดว่าเป็นนักกฎหมายที่เก่งและดีมาก แต่อย่าลืมนะว่าเป็นดีคนเดียว ไปอยู่ในหมู่คนบ้าก็กลายเป็นบ้าเหมือนกัน ไม่เชื่อใครก็ได้ไปหาลูกน้องหมอฝนฯที่หลังคาแดงปากคลองสานซิ พวกนั้นจะหาว่าบ้าทั้งนั้น และก็ดร.หยุด เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย อุตส่าห์เขียนมาอ่านให้คนฟังเข้าใจผิดกันทั้งเมืองก็แปลกเต็มทน"
เกี่ยวกับจอมพลที่เข้าข้าง ดร.หยุดโดยออกรับแทนในที่ประชุมหนังสือพิมพ์ นายควงกล่าวว่า "นั่นแหละจอมพลยิ่งผิดใหญ่ทีเดียว เพราะหากที่ดร.หยุดพูดไปเป็นการหมิ่นในหลวง และจอมพล ป.ก็เป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จอมพล ป.ก็ผิดเต็มประตู แต่ถ้าดร.หยุด ไม่พูดหมิ่นในหลวง จอมพลเป็นคนอนุญาตให้พูด ทำให้คนเข้าใจผิดกันทั้งเมือง จอมพล ป.ก็ผิดอีก ไม่ใช่แต่เพียงหนังสือพิมพ์หรือ ส.ส.สงวนที่เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นในหลวง คนอื่นๆ ทั้งที่มีสติปัญญาและไม่มีสติปัญญา เขาก็เข้าใจอย่างนั้นทั้งสิ้น ใคร ๆ ที่มาหาผมถามว่าคืนนั้นฟังวิทยุหรือเปล่า ผมบอกว่าเปล่า เขาบอกว่าที่ดร.หยุดพูดนั้นหมิ่นพระมหากษัตริย์จริง ๆ แล้วก็ด่ากันเปิงไปหมด เขายังบอกต่อไปอีกว่าต้นฉบับที่แจกหนังสือพิมพ์วันนั้นไม่ตรงกับที่จ่ายทางวิทยุ เมื่อดร.หยุดพูดให้คนเข้าใจผิดกันหมดอย่างนี้ จะเลี่ยงได้ไหม?" นายควงกล่าวในที่สุด"
("ควงวิพากษ์วิจารณ์
ดร.หยุด ครื้นเครง จอมพลไปออกรับแทนก็ยิ่งผิดใหญ่ คนไปที่บ้านเจริญพรกันเปิงไปเลย"
หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙)
หยุดฯชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า
"ถึงแม้ขณะนี้ผมก็ยังยืนยันว่าผมไม่ผิด
ผมพูดตามหลักวิชาการ และเคยพูดแบบนี้ทางวิทยุกระจายเสียงมา ๗ ครั้งแล้ว เช่น
ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา วันฉัตรมงคล มีข้อความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรแต่คราวนี้
กลับเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตไปได้ก็ประหลาดเหมือนกัน ผมมันซวยจริงๆ ความจริงบทความเรื่องนี้ของผมตามรายการกระจายเสียงแล้วจะต้องพูดในวันที่
๒๑ เดือนนี้ แต่บังเอิญคุณโอภาส ชัยนาม เจ้าหน้าที่ทางสาขาเนติธรรมเหมือนกันเขาจะพูดทางรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย
แต่เขาเขียนไม่ทัน เขาก็เอารายการของผมเข้ามาแทน ถ้าหากผมไปพูดในรายการเดิมคือวันที่
๒๑ เข้าใจว่าคงจะไม่มีเรื่อง แต่บังเอิญถึงคราวซวยของผม เลยได้จังหวะกันพอดี
ส่วนที่ว่าผมกำลังรวบรวมหลักฐานที่จะฟ้องคุณสงวนและหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเรื่องนี้นะหรือ
ตราบใดที่ผมยังเป็นข้าราชการอยู่ ตราบนั้นผมจะไม่ฟ้องใครในฐานหมิ่นประมาทเลยเป็นอันขาด
เพราะผมถือว่าใครทำดีทำชั่วคนเขารู้เอง สำหรับเรื่องที่ว่าผมหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น
ผมสู้เต็มที่ ผมก็เป็นคนที่รักในหลวงคนหนึ่งเหมือนกัน เพราะผมรักพระองค์ท่าน
ผมจึงไม่ต้องการให้ใครเอาในหลวงเป็นเครื่องมือ"
(หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙)
แม้หยุด แสงอุทัยจะถูกภัยคุกคามเนื่องจากการแสดงความเห็นทางวิชาการของตนในเรื่องกษัตริย์ แต่หยุดฯก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิด ตรงกันข้ามเขายังคงยืนยันหลักการ "The King Can Do No Wrong" ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของเขา คือ คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๑ และคำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๕
..............................................................................................
สถาบันกษัตริย์: ข้อพิจารณาทางวิชาการกฎหมาย
ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายล้างศัตรูฝ่ายตรงข้าม
มีความเห็นจำนวนมากที่สนับสนุนให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจมาก และมากขึ้น จนอาจจะไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
มีแนวคิดประเภท "ถวายคืน" พระราชอำนาจ มีหนังสือและบทความจำนวนมาก
ที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในทางยอพระเกียรติ งานหลายชิ้นเป็นการแปรรูปหนังสืออาเศียรวาทให้อยู่ในรูปแบบของงานวิชาการ
และมีการนำข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" มาใช้เป็นอาวุธทำลายศัตรูทางการเมือง
กล่าวสำหรับวงการกฎหมาย การอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์แทบไม่ปรากฏ (ที่ปรากฏก็มีเพียงแต่ยอพระเกียรติ และสนับสนุนไปในทางมี "พระราชอำนาจ" มาก) ทั้งๆ ที่หากพิจารณาในทางวิชาการกฎหมายแล้ว เรื่องของสถาบันกษัตริย์ มีประเด็นทางกฎหมายหลายประเด็นที่ควรพิจารณา เช่น
พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในประเทศสเปน เคยถกเถียงกันว่า พระมหากษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจเกิดกรณีความขัดแย้งในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญระหว่างพระมหากษัตริย์กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาด?
องคมนตรี มีความเป็นมาอย่างไร?
เป็นองค์กรประเภทใด? มีขอบเขตอำนาจเพียงใด? สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่?
มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันหรือไม่?
สถานะทางกฎหมายและศักดิ์ของกฎมณเฑียรบาล มีสถานะเป็นกฎหมายเหมือนกฎเกณฑ์ทางกฎหมายประเภทอื่นๆ หรือไม่? มีศักดิ์เทียบเท่าอะไร? สูงกว่าหรือเท่ากับรัฐธรรมนูญ? สูงกว่าหรือเท่ากับพระราชบัญญัติ? มีโอกาสขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่? ใครเป็นผู้มีวินิจฉัยชี้ขาด? รัฐสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือมีอำนาจเพียงรับรองทางรูปแบบ?
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตย ที่ยังคงรักษาตำแหน่งประมุขของรัฐให้แก่กษัตริย์ กษัตริย์มีพระราชอำนาจทางการเมืองโดยแท้หรือไม่? หรือเป็นเพียงพระราชอำนาจตามแบบพิธี? อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหรือเป็นของพระมหากษัตริย์? พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแต่ยกให้ประชาชนใช้ชั่วคราว? การถวายคืนพระราชอำนาจเป็นไปได้ในระบอบประชาธิปไตย?
การลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯในเรื่องต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย โดยแท้จริงแล้ว กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการไม่ลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯหรือประวิงเวลาการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯในเรื่องต่างๆหรือไม่? หากมี พระราชอำนาจเช่นว่าควรถูกนำมาใช้หรือไม่ อย่างไร? การลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯเป็นเพียงสัญลักษณ์ทางรูปแบบของราชอาณาจักร หรือเป็นพระราชอำนาจโดยแท้? และในกรณีที่กษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯหรือประวิงเวลาการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ได้รับผลกระทบจะทำอย่างไร?
สิทธิ ๓ ประการของพระมหากษัตริย์:
ทฤษฎี"วอลเตอร์ แบร์ช็อต"
สิทธิ ๓ ประการของพระมหากษัตริย์ในทฤษฎีของวอลเตอร์ แบร์ช็อต อันได้แก่
- สิทธิในการสนับสนุนให้กำลังใจ
- สิทธิในการตักเตือน
- สิทธิในการให้คำปรึกษาหารือ
เหล่านี้มีขอบเขตและเงื่อนไขอย่างไร ทฤษฎีนี้มีการนำมาใช้ในระบบกฎหมายของไทยหรือไม่? เป็นต้น
ปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์ถูกนำมาอ้างอยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ดังที่หยุด แสงอุทัยเคยกล่าวไว้ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่สำนักพิมพ์วิญญูชนนำตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของหยุด แสงอุทัย อันได้แก่ คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๑ และคำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๕ มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และยิ่งดีมากขึ้นไปอีกที่การตีพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้ ได้วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้เรียบเรียงใหม่และเขียนคำนำ
ด้วยความร่วมมือกันระหว่างภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย จึงใช้โอกาสที่ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของหยุด แสงอุทัย จัดงานเปิดตัวหนังสือ "คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์" ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ (อันเป็นวันคล้ายวันที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยมีผลใช้บังคับ) ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้อง ๒๒๒ เวลาบ่ายโมงเป็นต้นไป
การอภิปรายเรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ"
ในงานจะมีการแนะนำหนังสือเล่มนี้ โดยสมยศ เชื้อไทย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจัดให้มีการอภิปรายเรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ"
โดยมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และเป็นผู้เขียนหนังสือ "แผนชิงชาติไทย" ซึ่งเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายจากเยอรมนี และเป็นผู้เรียบเรียงและแก้ไขปรับปรุงหนังสือเล่มนี้ และ
- ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ผู้เขียนบทความหลายชิ้นเกี่ยวกับการตอบโต้คณะราษฎรของพวกนิยมเจ้า เช่น "การรื้อสร้าง ๒๔๗๕" ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้" ในศิลปวัฒนธรรม และล่าสุดบทความเรื่อง "คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร" : การก่อตัวของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ในฟ้าเดียวกัน
ความสำคัญและน่าสนใจในงานนี้
ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดตัวหนังสือของหยุด แสงอุทัยที่นำมาตีพิมพ์ใหม่ ไม่เพียงแต่เป็นการจัดงานรำลึกแด่หยุด
แสงอุทัยเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล แต่ยังเป็นโอกาสที่เราจะได้อภิปรายประเด็นทางกฎหมายและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยในทางวิชาการและวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์
โดยนำความคิดของหยุด แสงอุทัยที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นพื้นฐาน
ไม่ใช่มีแต่การอภิปรายในเชิงยอพระเกียรติเหมือนการอภิปรายเรื่อง "พระราชอำนาจ"
เมื่อ ๓ ปีก่อน
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=12556&Key=HilightNews
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1650 เรื่อง หนากว่า 33000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com