1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
มหาตมะ คานธี ก็ใช้สัจจะเป็นพลังทั้งทางส่วนตนและทางการเมือง จนปลุกระดมให้ผู้คนแทบทุกชั้นวรรณะตื่นขึ้น และสามารถต่อสู้ด้วยสัจจะและอหิงสวิธี โดยเอาชนะจักรวรรดิอังกฤษอันยิ่งใหญ่ที่สุดได้ ดังวลีของท่านคือ "สัตยาครหะ" หรือ "สัตยาเคราะห์" อำนาจของสัจจะ หมายความว่าแต่ละคนต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น สัตว์อื่น อย่างไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน แม้การต่อสู้กับผู้ที่กดขี่ข่มเหงเรา เราก็ใชอหิงส ธรรมและเมตตาธรรมเป็นแกนกลาง แล้วขบวนการของท่านก็นำอินเดียไปจนได้รับเอกราชด้วยสันติและสัจจะ น่าเสียดายที่ขบวนการของท่านมหาตมะ ก็ได้ปลาสนาการไปแล้วจากอินเดียร่วมสมัย ซึ่งสมาทานทุนนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม อยู่ภายใต้ฉายาของจักรวรรดิอเมริกัน อย่างแทบไม่ต่างไปจากสยามประเทศ ...
11-03-2552
(1699)
รำลึกถึงชีวิตและผลงานสุพจน์
ด่านตระกูล และภาคผนวกปฎิรูปกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ รำลึกถึงชีวิตสุพจน์
ด่านตระกูล (ภาคผนวก: ธงชัย วินิจจะกูล)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
หมายเหตุ: บทปาฐกถานำนี้เป็นของอาจารย์สุลักษณ์
ศิวรักษ์
แสดง ณ สถาบันปรีดีฯ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๒ เนื่องในโอกาสที่รำลึกถึงชีวิตและผลงานของสุพจน์
ด่านตระกูล
ในหัวข้อ "สัจจะสำคัญยิ่งสำหรับสังคมมนุษย์" เนื่องจากปาฐกถานำนี้มีการกล่าวถึง
อ.ธงชัย วินิจจะกูล และ อ.แอนดรูส์ วอล์กเกอร์
ซึ่งเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงนำเรื่องดังกล่าวมาไว้ในภาคผนวก
บทปาฐกถานำของ อ.สุลักษณ์
ศิวรักษ์ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- ๕๐ ปี พระทูลกระหม่อมแก้วจากพสกนิกรไปแล้ว ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
- สุพจน์ ด่านตระกูล ไม่เคยถูกกล่าวหาในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- สถาบันตำรวจแห่งชาติ เริ่มเลวร้ายมาแต่สมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์
- สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องการคำอธิบาย
- ความสำคัญยิ่งของสัจจะ : พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- ท่านมหาตมะ คานธี และ"สัตยาเคราะห์"
- ฟิเดล คาสโตร : อหิงสธรรมและสัจธรรมมีความสำคัญเหนืออื่นใด
- ประชาธิปไตยมีเพียงรูปแบบเป็นครั้งครา ศักดินาขัตติยาธิปไตยได้คืบคลานเข้ามา
- ระบบชนชั้นแปรเป็นความเอื้ออาทร
ภาคผนวก: นักวิชาการทั่วโลกลงชื่อเรียกร้องปฏิรูป กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๙๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รำลึกถึงชีวิตและผลงานสุพจน์
ด่านตระกูล และภาคผนวกปฎิรูปกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ รำลึกถึงชีวิตสุพจน์
ด่านตระกูล (ภาคผนวก: ธงชัย วินิจจะกูล)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ปาฐกถา: สุลักษณ์ ศิวรักษ์
"สัจจะสำคัญยิ่งสำหรับสังคมมนุษย์"
แสดง ณ สถาบันปรีดี ๖ มีนาคม
๒๕๕๒
เนื่องในโอกาสที่รำลึกถึงชีวิตและผลงานของสุพจน์ ด่านตระกูล
(๑)
สำหรับพุทธศาสนิกนั้น การสมาทานเบญจศีลคือการฝึกตนให้เป็นคนปกติ
ศีลข้อที่ ๑ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิต
ศีลข้อที่ ๒ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพย์สิน ซึ่งเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต
ศีลข้อที่ ๓ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญทางด้านเพศ
ศีลข้อที่ ๔ ชี้ให้เห็นความสำคัญทางด้านสัจจะ และเป็นข้อเดียวที่มุ่งไปทางวจีกรรม โดยที่มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ ก็เพราะอาจใช้ถ้อยคำให้เป็นคุณเป็นโทษได้เป็นอย่างยิ่ง และถ้าฝึกฝนอบรมตนจนใช้คำพูดและข้อเขียนให้เป็นไปในทางความสัตย์แล้วไซร้ นั่นจะเป็นคุณอย่างยิ่ง ดังพระบรมศาสดาเมื่อทรงประกาศพระศาสนา ก็ทรงเน้นที่ความจริงอย่างยิ่งสี่ประการคือ๑) ความทุกข์เราต้องเผชิญ
๒) เราต้องหาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้
๓) ความดับทุกข์นั้นเป็นไปได้ โดย
๔) การศึกษาและปฏิบัติให้กาย วาจาเป็นปกติ (ศีล) ด้วยการฝึกจิตใจให้สงบ อย่างไม่ติดยึดในตัวตนและมายากาลต่างๆ ที่ครอบงำ (สมาธิ) จนอาจเห็นแจ้งแทงตลอดได้ว่า เราต่างก็พึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยอาจรู้ซึ้งถึงความเป็นเช่นนั้นเอง (ปัญญา) ความเข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้ ที่ลดความเห็นแก่ตัวไปได้ ย่อมประกอบไปด้วยความรัก ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ แม้ที่เขาตั้งตนเป็นศัตรู ตลอดไปจนสรรพสัตว์ (กรุณา)ศีลข้อที่ ๕ (ไม่ได้แสดงในปาฐกถา)
๕๐ ปี พระทูลกระหม่อมแก้วจากพสกนิกรไปแล้ว
๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
นายสุพจน์ ด่านตระกูล เป็นคนสำคัญคนหนึ่งของสังคมไทยร่วมสมัย ที่เต็มได้ด้วยความกึ่งดิบ
กึ่งดี กึ่งจริง กึ่งเท็จ คือเขากล้าเปิดเผยสัจจะให้สังคมได้ประจักษ์ สำหรับเรื่องกรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่
๘ ด้วยแล้ว ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อมอมเมาผู้คน และประหัตประหารนักการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรมมาเป็นระลอกๆ
เริ่มแต่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งบุกเบิกให้สยามได้เป็นประชาธิปไตย ในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
แม้จนบัดนี้แล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะจากทางราชการ
หรือในระบบการศึกษากระแสหลัก รวมถึงสื่อมวลชนทั้งหลายทั้งปวงอีกด้วย แต่ใครก็ตาม
ที่ต้องการเพ่งพินิจไปยังข้อเท็จจริงของกรณีสวรรคตดังกล่าว ย่อมต้องถือได้ว่างานเขียนของสุพจน์
ด่านตระกูล ให้แสงสว่างอย่างกระจ่างชัด โดยเฉพาะก็ในหนังสือชุด "๕๐ ปี พระทูลกระหม่อมแก้วจากพสกนิกรไปแล้ว
๙ มิถุนายน ๒๔๘๙" ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่นจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วยังขยายออกเป็น "๖๐ ปี พระทูลกระหม่อมแก้วจากพสกนิกรไปแล้ว
๙ มิถุนายน ๒๔๘๙" โดยที่หนังสือซึ่งเอ่ยชื่อมานี้ ได้รับการปรับปรุงล่าสุดและตีพิมพ์ออกมาในชื่อว่า
"ข้อเท็จจริง กรณีสวรรคต ร.๘" ที่เพิ่งวางจำหน่ายในปี ๒๕๕๑ นี้เอง
ข้าพเจ้าเน้นเพียงที่หนังสือชุดนี้ โดยไม่ขอเอ่ยถึงเล่มอื่นๆ ของเขา ซึ่งก็มีความสำคัญมิใช่น้อย
ผู้เขียนหนังสือทั้งชุดนี้ สามารถเอาชนะพวกที่แต่งสรรปั้นเรื่องต่อต้านผู้อภิวัฒน์ทางการเมือง โดยหาว่าท่านผู้นั้นและพลพรรคลอบวางแผนปลงพระชนม์ ไม่ว่าจะ สรรใจ แสงวิเชียร หรือ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ซึ่งใช้อคติเป็นแกนนำในการเขียน โดยไม่คำนึงถึงสัจจะเอาเลย ยังกรณีคึกฤทธิ์ ปราโมช และคณะ เรื่อยไปจนไข่มุกด์ ชูโต ที่ใช้เลศยิ่งกว่าบุคคลทั้งสองนั้น ก็ได้ถูกศาลพิพากษาไปแล้ว ว่าถ้อยคำของเขาเหล่านี้ไม่อาจเป็นที่เชื่อถือได้ แต่แล้วทางราชการไทยก็ไม่เห็นว่าคนอาสัตย์อาธรรม์อย่างคึกฤทธิ์ ปราโมช มีข้อเสียหายอย่างเลวร้ายด้วยประการใดๆ จนถึงกับจะเสนอให้เขาคนนี้ได้เป็นปูชนียบุคคลของสยาม ให้เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล โดยผ่านองค์กรศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO) กล่าวอย่างจังๆ ก็คือสัจจะยังไม่เป็นสาระอันสำคัญของสังคมไทย
สุพจน์ ด่านตระกูล ไม่เคยถูกกล่าวหาในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ที่น่าอัศจรรย์ใจก็ตรงที่นายสุพจน์ ด่านตระกูล ไม่เคยถูกกล่าวหาในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
(แม้จะเคยถูกเข้าคุกเพราะอำนาจอันฉ้อฉลของรัฐบาลเผด็จการ หากเป็นข้อหาอื่น) ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหรือทางราชการที่แล้วๆ
มา เห็นว่าการเปิดเผยข้อเท็จจริงของนายสุพจน์เป็นไปในวงแคบ ขืนไปทำเรื่องขึ้น
หนังสือของเขาจะยิ่งขายดีขึ้นเป็นไหนๆ และก็ต้องตามพระราชปรารภที่ว่า ใครทำเรื่องไปในทางหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่ากับทำร้ายพระองค์ท่าน
และเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย
กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมร่วมสมัย มีอนุสนธิมาจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนายกรัฐมนตรีที่เป็นร่างทรงของเขา รวมทั้งนายตำรวจตัวโตๆ ที่ฝักใฝ่อยู่กับเขา ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายในการท้าทายพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และเพื่อโค่นล้างสถาบันกษัตริย์ รวมอยู่ด้วยหรือมิใช่. หนังสือภาษาอังกฤษของใจ อึ๊งภากรณ์ ก็ดี ของแฮรี่ นิโคไลเดส ชาวออสเตรเลีย ก็ดี ขายได้น้อยกว่าหนังสือของนายสุพจน์เป็นไหนๆ ถ้าทางผู้พิทักษ์สันติราษฎร์วางเฉยเสีย มหาชนก็ย่อมไม่รู้อะไรๆ จากข้อความในหนังสือทั้งสองเล่มนั้น ที่ทำเรื่องจับกุมผู้เขียนทั้งสอง ก็เท่ากับว่าช่วยเอาข้อความต่างๆ ในหนังสือดังกล่าวมาขยายให้มหาชนได้ทราบ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อย่างที่ไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์เอาเลย ผู้ที่รับผิดชอบกับการจักกุมดังกล่าว ถ้าไม่มีเจตนาแอบแฝงอยู่ จะโง่เง่าถึงเพียงนั้นเชียวหรือ และที่อ้างกันว่าจงรักภักดีนั้น ภักดีกับเจ้าหรือกับนายกันแน่
ยิ่งกรณีที่จับกุมข้าพเจ้าด้วยแล้ว ณ การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ว่าด้วยมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นกรรมการอยู่ด้วย แต่วันนั้นขาดประชุม หากมีผู้บังคับการตำรวจสันติบาลร่วมประชุมอยู่ด้วย พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ รองประธานกรรมาธิการ ได้เสนอที่ประชุมว่า การป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ควรจับกุมผู้ที่ต้องการโค่นล้างทำลายสถาบันดังกล่าว ต้องรู้จักแยกแยะ ผู้ที่วิจารณ์สถาบันด้วยความจงรักภักดี โดยยกชื่อข้าพเจ้าขึ้นกล่าวในที่ประชุมว่าเป็นผู้จงรักภักดีมาโดยตลอด ไม่ควรจับกุมบุคคลเช่นนี้ โดยที่ พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่อยู่ในที่ประชุม และผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ. อนึ่งในการประชุมครั้งต่อมา พล.ท.นันทเดช ก็ย้ำเรื่องนี้อีกว่า กรณีของ ส. ศิวรักษ์นั้น เป็นเครื่องมือของตำรวจโดยแท้ และผู้บังคับการตำรวจนครบาลก็นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น หากไม่มีปฏิกริยาใดๆ ทั้งสิ้น จากถ้อยคำดังกล่าว เกรงว่าเรื่องจะเลยตามเลยไป คือไม่มีใครในแวดวงของผู้มีอำนาจที่มีความกล้าหาญในทางจริยธรรม ที่จะทำอะไรแหวกออกไปจากขนบที่ถูกครอบงำกันมา เว้นเสียแต่ว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะมุ่งมั่นไปที่สาระและสัจจะ ยิ่งกว่าจะทำงานการเมืองในรูปแบบอย่างเดิมๆ มา คือเอาตัวรอดไปวันๆ เท่านั้นเอง
สถาบันตำรวจแห่งชาติ เริ่มเลวร้ายมาแต่สมัย
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์
กล่าวคือ สัจวาจาไม่มีความหมาย แม้จะออกมาจากปากของรองประธานกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา
สถาบันตำรวจแห่งชาติ ยังคงเป็นรัฐภายในรัฐ ถ้ารัฐบาลไม่มีน้ำยาหรือความกล้าหาญทางจริยธรรม
ที่จะเข้าไปกำกับการ หรือบังคับบัญชาสถาบันตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปในทางพิทักษ์สันติราษฎร์ได้
ความข้อนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ประกาศออกมาอย่างจังๆ สมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นได้เอาเลย
ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว สถาบันตำรวจแห่งชาติ เริ่มเลวร้ายมาแต่สมัย พล.ต.อ.เผ่า
ศรียานนท์นั้นแล้ว ที่ใช้อัศวินของเขาประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม แม้เป็นผู้บริสุทธิ์ยุติธรรมเพียงใดก็ตาม
กุลสตรีที่มีกุศลสมาจารเป็นที่ตั้งอย่างท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ก็หารอดปลอดไปจากเงื้อมมือของทางการตำรวจสมัยนั้นไม่
โดยอาจกล่าวได้ด้วยไหมว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะของเขา ได้แบบฉบับอันเลวร้ายมาจาก
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ นั้นแล
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องการคำอธิบาย
ใน "เนชั่นสุดสัปดาห์" ฉบับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ก็มีบทสัมภาษณ์ที่ว่าด้วย
"สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องการคำอธิบาย" ผู้ให้สัมภาษณ์
(วินัย พงศ์ศรีเพียร) เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และรองประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย
บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งมีความว่า
"ความผิดความถูกอยู่ที่ผู้ดูแลกฎหมาย วิญญูชนรู้ได้จากสำนวนสำเนียงและสำแดงของความและวาจาว่าเจตนาเป็นอย่างไร การที่มีใครวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ จะเอาเป็นเอาตายว่า เป็นการอาฆาตมาดร้ายก็เห็นจะไม่ชอบ กรณีของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ น่าสนใจ เพราะผมเชื่อว่าท่านเป็นอำมาตย์ ผู้จงรักภักดี ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย เราดูเจตนาได้หรือไม่ ขอให้อิงหลักการของพระพุทธศาสนา" "ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่เป็นการนำไปใช้ในทางที่ผิดเสียมากกว่า คือมีดาบก็คะนองมือ"
แม้สาส์นที่ส่งมาจากนานาประเทศถึงสำนักราชเลขาธิการก็ดี และถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ดี ล้วนยืนยันความจงรักภักดีของข้าพเจ้าทั้งสิ้น มิใยต้องเอ่ยถึงพยานที่ข้าพเจ้าพาไปให้การกับตำรวจ ดังขอย้ำว่า เมื่อศาลพิพากษาคดีที่สุจินดา คราประยูรฟ้องข้าพเจ้านั้น ก็มีความว่า "เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยปาฐกถา ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะสอนให้นิสิตนักศึกษา เรียกร้องให้นิสิตนักศึกษามีความสำนึกตระหนักถึงสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มิใช่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย นิยมชมชอบถึงความร่ำรวย นิยมชมชอบคนมีอำนาจ ไม่สนใจความถูกต้องชอบธรรม"
การที่ชมนายธงชัย วินิจจะกูล จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสัน ในสหรัฐ และนายแอนดรูส์ วอล์กเกอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่กล้าแถลงข่าว ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคมนี้ เรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีนักวิชาการและนักการเมืองในระดับสากล ที่ยืนหยัดอยู่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนลงนามร่วมด้วยกว่า ๕๐ คน ทราบว่านายกรัฐมนตรีรับจะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ถ้าชนชั้นปกครองของเราฟังข้อเสนอแนะด้วยมนสิการ พร้อมกับความกล้าหาญทางจริยธรรมและอุปายโกศล ย่อมอาจกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้ (สนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ภาคผนวก)
(๒)
ความสำคัญยิ่งของสัจจะ
: พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังได้กล่าวมาก่อนแล้ว ว่าสัจจะเป็นองค์คุณที่สำคัญยิ่งสำหรับความเป็นมนุษย์
ถ้าปราศจากสัจจะเสียแล้ว คนก็เข้าไม่ถึงความเป็นมนุษย์ คือผู้มีใจสูง และจะเลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉานเสียด้วยซ้ำ
เพราะคนอาจใช้วจีกรรมหลอกลวง ปลิ้นปล้อน แม้จนโกหกตนเอง แล้วใช้เล่ห์กล อาวุธยุทธภัณฑ์
ฯลฯ เพื่อทำลายล้างอะไรๆ แม้จนตัวเอง ดังที่เป็นสมัยนิยมอยู่ในบัดนี้
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศสัจธรรมไปยังเวไนยสัตว์ทุกถ้วนหน้าในบริบทที่อาจเสด็จถึงได้ในสมัยพุทธกาล ยังพระสาวกก็เผยแผ่สัจธรรมออกไปอย่างกว้างขวาง จนประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ได้ในชมพูทวีป ครั้นเมื่อพุทธศาสนิกห่างเหินจากสัจธรรม นำเอาไสยเวทวิทยามาเจือปนกับพุทธธรรม ติดยึดกับอำนาจวาสนาและมายากาลต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือสัจธรรมออกไป พระพุทธศาสนาก็ปลาสนาการไปจากพุทธภูมิ ดังพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ก็มีแนวโน้มที่จะอันตรธานไปจากสยามประเทศนี้ในทำนองเดียวกัน
ท่านมหาตมะ คานธี และ"สัตยาเคราะห์"
ท่านมหาตมะ คานธี ก็ใช้สัจจะเป็นพลังทั้งทางส่วนตนและทางการเมือง จนปลุกระดมให้ผู้คนแทบทุกชั้นวรรณะตื่นขึ้น
และสามารถต่อสู้ด้วยสัจจะและอหิงสวิธี โดยเอาชนะจักรวรรดิอังกฤษอันยิ่งใหญ่ที่สุดได้
ดังวลีของท่านคือ "สัตยาครหะ" หรือ "สัตยาเคราะห์" อำนาจของสัจจะ
หมายความว่าแต่ละคนต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผู้อื่น สัตว์อื่น อย่างไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน
แม้การต่อสู้กับผู้ที่กดขี่ข่มเหงเรา เราก็ใชอหิงส ธรรมและเมตตาธรรมเป็นแกนกลาง
แล้วขบวนการของท่านก็นำอินเดียไปจนได้รับเอกราชด้วยสันติและสัจจะ น่าเสียดายที่ขบวนการของท่านมหาตมะ
ก็ได้ปลาสนาการไปแล้วจากอินเดียร่วมสมัย ซึ่งสมาทานทุนนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม
อยู่ภายใต้ฉายาของจักรวรรดิอเมริกัน อย่างแทบไม่ต่างไปจากสยามประเทศ ชนชั้นนำในอินเดียยังประกาศเอาท่านมหาตมะเป็นบิดาของประเทศ
เฉกเช่นคนไทยรับไตรสรณาคมน์และสมาทานเบญจศีลที่รูปแบบนั้นเอง
น่าอัศจรรย์ใจก็ตรงที่สัตยาครหะ ของท่านมหาตมะได้ไปมีอิทธิพลในสหรัฐอเมริกาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ฟิลิป กลาส ซึ่งเป็นพุทธศาสนิก ได้เนรมิตอุปรากรชื่อนี้ และแสดงที่โรงอุปรากรอันยิ่งใหญ่ที่สุดในนครนิวยอร์ก เมื่อเดือนเมษายนที่แล้วนี้เอง(๒๕๕๑) มีคนชมเป็นหมื่นๆ เต็มทุกรอบ นอกไปจากนี้แล้ว สถาบันพุทธแห่งรัฐนิวยอร์กยังเชิญชวนผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้มีบทบาททางการศึกษาและการเมืองนอกกระแสหลัก ไปภาวนาร่วมกันที่นอกมหานครแห่งนั้น แล้วเชิญให้บางคนแสดงปาฐกถากับมหาชนจำนวนพันๆ คน ณ วัดคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในนครนั้น ว่าด้วยการประยุกต์สัตยาครหะของท่านมหาตมะมาใช้กับสังคมร่วมสมัย หลานปู่ท่านมหาตมะก็ได้ร่วมแสดงวาทะในคราวนั้นด้วย
นี่อาจเป็นเพียงบทบาทที่เปิดกว้างสู่มหาชน แต่มีคนรับเอาอำนาจของสัจจะมาใช้ ในทางอหิงสวิธียิ่งๆ ขึ้น ทั้งที่สหรัฐและประเทศอื่นๆ เพราะชนชั้นนำในกระแสหลักพากันเห็นชัดยิ่งๆ ขึ้นแล้วว่า อำนาจของสัจจะและอหิงสธรรมคือคำตอบของสังคมร่วมสมัย โดยที่ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรม ให้หันไปในทางสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งๆ ขึ้น
ฟิเดล คาสโตร : อหิงสธรรมและสัจธรรมมีความสำคัญเหนืออื่นใด
คำศัพท์พวกนี้ มีใช้กันอย่างแพร่หลายในเมืองไทย รวมทั้งอริยสัจ ๔ และศีล ๕ แต่ไม่มีความหมายในทางสาระสำหรับชนชั้นนำของเรา
ในขณะที่ชนชั้นนำในหลายต่อหลายประเทศ ได้หันมาตามแนวทางนี้ยิ่งๆ ขึ้น แม้ฟิเดล
คาสโตร ซึ่งยังคงเป็นคอมมูนิสต์ในแนวทางสังคมนิยม ที่ไม่ขายตัวไปกับระบบทุนนิยมอย่างจีนหรือเวียดนาม
ถึงกับประกาศว่า อาวุธไม่สำคัญเท่าความคิด และความคิดที่เป็นไปในทางอหิงสธรรมและสัจธรรมมีความสำคัญเหนืออื่นใด
ทั้งท่านยังบอกด้วยว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่รังเกียจทุนนิยม และบริโภคนิยม รวมถึงอำนาจนิยมยิ่งๆ
ขึ้นทุกทีด้วยแล้ว
คนรุ่นใหม่ในยุโรปและอเมริกา ทั้งเหนือและใต้ มีเวลาภาวนา เพื่อโยงหัวใจมาสยบหัวสมองให้เชื่องอย่างเป็นองค์รวม เพื่อลดความเห็นแก่ตัว และเพื่อโยงใยให้เป็นไปในทางความสัมพันธ์กันฉันพี่น้อง ไม่แต่กับเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ต่างๆ หากรวมถึงธรรมชาติทั้งหมด ดังที่ปู่ย่าตายายเราเคยเห็นแผ่นดิน แผ่นน้ำ และต้นไม้ ต้นข้าว ว่าเป็นแม่ของเรานั้นแล
อินโดนีเซีย ติมอร์ตะวันออก
และธิเบต
ในประเทศรอบๆ บ้านเรานี่เอง อย่างอินโดนีเซีย ท่านอดีตประธานาธิบดีวาหิต ก็ประกาศชัดว่าท่านเดินตามทางของท่านมหาตมะคานธี
แม้ท่านจะเป็นมุสลิม แต่ท่านบอกว่าสัจธรรมของอิสลามก็คือสันติธรรม และท่านบอกว่าอินโดนีเซียเคยถือพุทธและพราหมณ์มาก่อน
ควรรับวัฒนธรรมที่ดีงามของสองกระแสนั้นมาประยุกต์ใช้ให้สมสมัย. สำหรับติมอร์ตะวันออกนั้น
ท่านประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (รามอซ ฮอต้า) ไม่แต่ประกาศจุดยืนทางสัตยาครหะ หากท่านปฏิบัติตนและทำนโยบายของประเทศท่านให้เป็นไปในทางอหิงสา
พร้อมด้วยอภัยทานอย่างน่านิยมชมชอบยิ่งนัก ยังมติของท่านผู้นี้ ในทางการเมือง
การเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ก็ควรที่เราจะรับฟังยิ่งนัก
แม้สาระของท่านมหาตมะ คานธี จะปลาสนาการไปจากชนชั้นนำในกระแสหลักของอินเดีย แต่คนสำคัญๆ ที่ยึดมั่นอยู่ในสัตยาครหะ ก็ยังผนึกกำลังกันแน่น ร่วมกับชาวธิเบตชั้นนำที่ลี้ภัยไปอยู่อินเดียมาครึ่งศตวรรษเข้านี่แล้ว ท่านเหล่านี้กำหนดจัดงานปลุกมโนธรรมสำนึกในระดับสากลขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙- ๒๒ พฤศจิกายนที่จะถึงนี้(๒๕๕๒) เพื่อนำเอา "ไฮน์สวาราช" กลับมาประยุกต์ใช้ ในโอกาสที่ท่านมหาตมะเขียนหนังสือชื่อนี้ออกมาครบศตวรรษ หนังสือเล่มนี้คือสาระแห่งการประยุกต์สัจธรรมมาใช้กับชีวิตของท่านมหาตมะ ให้คนอินเดียพึ่งตนเอง อย่างเป็นไทแก่ตน โดยเราอาจนำมาปรับใช้ได้ในการแก้ไขปัญหาของโลกร่วมสมัย
คนชั้นนำในสยามประเทศ บัดนี้รู้ตัวกันหรือไม่ว่า เราตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิอเมริกันและจักรวรรดิจีน ซึ่งอยู่ห่างไปจากสัจธรรมยิ่งนัก หากใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมอมเมาเรา ร่วมกับบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ทั้งๆ ที่เราอ้างว่าเราเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่สมาทานพุทธศาสนา แต่เราไม่กล้าอนุญาตให้ทะไลลามะเข้ามาประเทศเรา ทั้งๆ ที่ท่านเป็นสมณะ ที่ทั่วโลกยกย่องสรรเสริญ และเราตระหนักไหมว่า วันที่ ๑๐ มีนาคม ที่จะถึงนี้(๒๕๕๒) พระองค์ต้องทรงลี้ภัยไปจากบ้านเกิดเมืองนอนมาครบครึ่งศตวรรษ โดยที่จีนได้เข้าไปบุกรุกและเบียดเบียนบีฑาธิเบตอย่างเลวร้าย จนเหลือที่จะกล่าวถึงได้. ถ้าเราไม่รู้ความจริงข้อนี้ เราจะตระหนักถึงทุกขสัจทางสังคมได้อย่างไร เพราะทุกขสัจดังกล่าว ไม่ได้ตีกรอบไว้เพียงในเมืองไทยเท่านั้น ทุกบ้านเมือง ทุกรูปนาม ต้องโยงใยถึงกันทั่วทั้งหมด
ประชาธิปไตยมีเพียงรูปแบบเป็นครั้งครา
ศักดินาขัตติยาธิปไตยได้คืบคลานเข้ามา
สำหรับสยามประเทศของเรานั้น บุคคลอย่างรัฐบุรุษอาวุโส ยังไม่เป็นที่ยอมรับของชนชั้นบน
เพราะคนพวกนั้นยังไม่กล้าเพ่งไปทางอำนาจของสัจจะหรือมิใช่ เปลโต้กล่าวไว้ในเรื่องอุตมรัฐ
ว่า คนที่อยู่ในถ้ำมืด ย่อมกลัวเกรงแสงสว่าง เพราะมองไปในทิศทางที่สว่างไสว ตาอาจมืดบอดไปได้ง่ายๆ.
ก็นายสุพจน์ ด่านตระกูลนั้น ใช้สัจวาจาเพื่อทำลายความเท็จ ให้ความจริงประจักษ์
ไม่แต่กรณีสวรรคต หากให้คนร่วมสมัยเห็นคุณูปการของมันสมองคณะราษฎรอีกด้วย ที่ท่านนำประชาธิปไตยมาให้สยาม
ให้ราษฎรได้เป็นเจ้าของประเทศ ให้หมดความเป็นฝุ่นเมือง เป็นข้า เป็นทาส เป็นเพียงคนที่อาศัยแผ่นดินอยู่
แม้ท่านจะยังไม่ได้รับความสำเร็จด้านความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ แต่ท่านก็ปูพื้นฐานทางด้านเอกราช
เสรีภาพ และการศึกษาเพื่อมหาชนมาแล้ว
หลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ สัจจะเริ่มปลาสนาการไป ประชาธิปไตยมีเพียงรูปแบบเป็นครั้งครา ศักดินาขัตติยาธิปไตยได้คืบคลานเข้ามามีอำนาจอย่างปราศจากสัจธรรมยิ่งๆ ขึ้น. ก็เมื่อนายสุพจน์ต้องการเชิดชูคุณูปการของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ต้องอย่าไปเน้นที่วีรกรรมของท่าน โดยที่ท่านก็มีจุดอ่อนและข้อบกพร่องเช่นสามัญมนุษย์ทั้งหลาย. เราควรเน้นตามแนวทางแห่งสัจธรรมของท่าน เพื่อเอาสัจจะคืนมาให้ราษฎร และท่านพยายามแสวงหาประชาธิปไตยที่หยั่งรากลงลึกไปได้ในทางวัฒนธรรมของเราที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนกลางอย่างสำคัญ. การที่ท่านสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส ณ ทำเนียบท่าช้าง ตอนปลายรัชกาลที่ ๘ นั้น เป็นหัวข้อที่ควรจะนำมาศึกษาและวิจัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างให้เป็นรูปธรรม ว่าเราจะประยุกต์ความเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีภาพ จากคณะสงฆ์ดั้งเดิมให้มาเป็นประชาธิปไตยร่วมสมัย ที่ไปพ้นกลิ่นนมกลิ่นเนยของประชาธิปไตยแบบฝรั่งได้อย่างไร
ระบบชนชั้นแปรเป็นความเอื้ออาทร
ระบบชนชั้นนั้น จำเป็นต้องปฏิเสธเสียเลยทีเดียวไหม ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังมีระบบชนชั้นอยู่ค่อนข้างมาก
หากชนชั้นนั้นๆ หย่อนสมรรถภาพทางอำนาจต่างๆ ไปมากยิ่งๆ ขึ้นทุกที ในระบอบการปกครองทำนองนี้
แม้ระบบชนชั้นที่ในอังกฤษเอง ก็อ่อนตัวลงกว่าเดิมยิ่งนัก สำหรับประเทศอื่นๆ ในยุโรปด้วยแล้ว
ระบบชนชั้นแทบไม่มีความสำคัญเอาเลย ส่วนญี่ปุ่นนั้น อเมริกันทำลายระบบชนชั้นจากสังคมเดิมจนหมดสิ้น
หากรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในทางสัญลักษณ์เท่านั้นเอง
ในเมืองไทย ใครกล้าจับประเด็นทีว่านี้ไหม แท้ที่จริง ชนชั้นก็เป็นเพียงสมมุติบัญญัติ ดังที่เขาใช้คำใหม่กันว่า ชุมชนจินตกรรม นั่นเอง ถ้าชนชั้นในระดับต่างๆ ประกอบไปกับกุศลจรรยา ไม่เอารัดเอาเปรียบชนชั้นอื่น ที่ด้อยกว่าทางชาติวุฒิ และคุณวุฒิ ยิ่งคนกลุ่มน้อย ด้อยโอกาสด้วยแล้ว คนที่อยู่ในสถานะเหนือกว่า เอื้ออาทรคนที่ด้อยกว่าได้มากเท่าไร ระบบชนชั้นก็ไม่น่าจะกีดขวางหนทางแห่งประชาธิปไตย ความเอื้ออาทรดังกล่าว ใช้กฏหมายอย่างเดียวไม่ได้ หากต้องใช้วัฒนธรรมและศาสนธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า อำนาจอยู่ที่ราษฎรส่วนใหญ่เท่านั้น หากอำนาจนั้นต้องแปรมาจากอัตตาธิปไตย ให้เป็นโลกาธิปไตย จนถึงธรรมาธิปไตยในที่สุด
เราจะกล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำในเรื่องพวกนี้ได้ ต้องเกิดจิตสำนึกในการต่อสู้เพื่อสัจจะดังนายสุพจน์ ด่านตระกูล และถ้ามีคนจำนวนน้อยกล้าแหวกออกจากกระแสหลักที่ใช้ภยาคติ และความกึ่งจริง กึ่งเท็จ ครอบงำอยู่ เราก็จะได้ชื่อว่าสืบทอดดวงประทีปแห่งสัจจะ ที่นายสุพจน์ ด่านตระกูล เริ่มเอาไว้กับกรณีสวรรคต เพื่อกลับไปบูชาคุณของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนำประชาธิปไตยมาให้ราษฎรสยาม โดยเราก็จะบูชาคุณท่านด้วยปฏิบัติบูชา คือทำให้ประชาธิปไตยกินได้ ให้ประชาธิปไตยอยู่ในอุ้งมือของราษฎรสยาม ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยที่คนกลุ่มน้อยทั้งหลาย ไม่ว่าจะผู้ที่ยากไร้ หรือผู้ที่สูงศักดิ์ ก็จะได้รับสิทธิมนุษยชน อย่างเป็นผู้เป็นคนเหมือนๆ กัน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก
นักวิชาการทั่วโลกลงชื่อเรียกร้องปฏิรูป
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
(4 มี.ค.52) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย
ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน และ แอนดรูว์ วอล์กเกอร์
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
โดยระบุว่า นักวิชาการและบุคคลสำคัญทั่วโลกกว่า 50 คน ร่วมลงนามในจดหมายเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรีของไทย
โดยการเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จดหมายฉบับนี้มีขึ้นหลังจากเกิดกรณีฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพติดต่อกันหลายคดีในประเทศไทย
รวมทั้งความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทย ที่ต้องการเข้าไปควบคุมและสั่งห้ามการถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในอินเทอร์เน็ต
โดยจดหมายฉบับนี้ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้:
1. โปรดยุติการพยายามสร้างมาตรการกดดันปราบปรามที่เข้มงวดยิ่งกว่านี้ ทั้งต่อปัจเจกบุคคล เว็บไซต์และการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ
2. โปรดพิจารณาข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด่างพร้อยต่อชื่อเสียงของประเทศไทย และสถาบันกษัตริย์บนเวทีสากลยิ่งไปกว่านี้
3. โปรดพิจารณายกเลิก-ถอนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังดำเนินคดีอยู่ และดำเนินการเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องโทษที่ถูกตัดสินภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อนหน้า เนื่องจากคนเหล่านี้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่การแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นอาชญากรรม
ข้อเรียกร้องในจดหมายฉบับข้างต้นยังกล่าวด้วยว่า "การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอย่างพร่ำเพรื่อ รังแต่จะบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตย" อีกทั้งยังยั่วยุให้เกิด "กระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และประเทศไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ"
ผู้ลงนามในจดหมายฉบับนี้มีอาทิ:
- ผู้นำระดับโลกในด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง เช่น ลอร์ดแอริก เอฟเบอรี (Lord Eric Avebury), ดร. แคโรไลน์ ลูคัส (Dr. Caroline Lucas), วุฒิสมาชิกฟรานเชสโก มาร์โตเน (Senator Francesco Martone), สมิทู โคธารี (Smitu Kothari), วอลเดน เบลโล (Walden Bello)
- นักวิชาการระดับแนวหน้าผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาการหลากหลายสาขาทั่วโลก เช่น นอม ชอมสกี (Noam Chomsky), สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall), อรชุน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai), เจมส์ สก็อตต์ (James C. Scott), อารีฟ เดอลิก (Arif Dirlik), สแตนลีย์ แทมไบยาห์ (Stanley Tambiah), อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) และอีกมากมายหลายคน
- สมาชิกหลายท่านของสมาคมราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ (The British Academy) และสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Arts and Sciences)
- ประธาน อดีตประธานและผู้นำของสมาคมวิชาการทรงเกียรติคุณในระดับสากลหลายแห่ง เป็นต้นว่า สมาคมเอเชียศึกษา (Associations for Asian Studies), สมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association), สมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน (American Sociological Association), สมาคมเอเชียศึกษาแห่งออสเตรเลีย (Asian Studies Association of Australia) ฯลฯ
- นักวิชาการด้านกฎหมายชั้นนำ อาทิเช่น อดีตผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice), อดีตประธานสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งนักวิชาการชั้นนำด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน
- นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงระดับสากล ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านรัฐศาสตร์, ประวัติศาสตร์, มานุษยวิทยา, วรรณคดี, ภูมิศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม, ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ยาวนานในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้
โดยขณะนี้กำลังมีการรวบรวมรายชื่อเพิ่มเติม จดหมายเปิดผนึกจะยื่นต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ผู้มีความประสงค์จะร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก สามารถส่งชื่อ, ยศ/ตำแหน่ง/งาน และสังกัด มาที่ "ผู้ประสานงาน" คนใดคนหนึ่งดังต่อไปนี้
Andrew Walker, Senior Fellow, Research School of Pacific and Asian Studies, The Australian National University, Canberra, ACT 0200, Australia. [email protected]
Jim Glassman, Associate Professor, Department of Geography, University of British Columbia,
217 - 1984 West Mall, Vancouver, BC V6T 1Z2 Canada. [email protected]Larry Lohmann, The Corner House, Station Road, Sturminster Newton, Dorset DT10 1YJ,
United Kingdom. [email protected]Thongchai Winichakul, Professor, Department of History, University of Wisconsin-Madison,
Madison, Wisconsin 53706, USA. [email protected]Adadol Ingawanij, Post-doctoral Researcher, Centre for Research and Education in Arts and Media, University of Westminster, Harrow Campus, UK. [email protected]
เว็บไซต์ New Mandala http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala จะเป็น "หน้าต่าง" ให้แก่การรณรงค์ครั้งนี้ และจะนำเสนอข่าวสารและข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าของการรณรงค์เป็นระยะ ๆ
จดหมายเปิดผนึกที่จะยื่นในเดือนมีนาคม/เมษายน 2552
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ
สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล
กรุงเทพฯ ประเทศไทย โทรสาร: 011-662-629-8213
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ในฐานะนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์ที่สนใจในสถานการณ์ของประเทศไทย เรามีความวิตกอย่างยิ่งเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อชาวไทยและชาวต่างประเทศ ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นในระยะไม่นานมานี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยนำไปสู่ความเสื่อมถอยลงของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอย่างพร่ำเพรื่อ รังแต่จะบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตย การดำเนินคดีต่อนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เพียงเพราะข้อกล่าวหาว่าทัศนะและการกระทำของคนเหล่านี้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เท่ากับทำลายบรรยากาศการถกเถียงอย่างเปิดกว้างในประเด็นสาธารณะที่สำคัญ ๆ นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นอันตรายของการอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไม่ระมัดระวัง แทนที่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศ กลับยิ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และประเทศไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอแนะมาหลายครั้งแล้วว่า ควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้แต่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เคยมีพระราชดำรัสว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ เรามีความวิตกว่า แทนที่จะรับฟังความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลของท่านอาจใช้กฎหมายนี้เพื่อกดดันยับยั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน กระทั่งมีสมาชิกบางคนในรัฐบาลของท่านออกมาเรียกร้องให้ใช้บทลงโทษที่หนักกว่าเดิม ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยทั้งหมดนี้กระทำลงไปในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์
ประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีแต่ความจริง ความโปร่งใส การถกเถียงอย่างเปิดกว้างของสาธารณชน และกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะสามารถแปรเปลี่ยนความขัดแย้งทางความคิดให้กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และสันติวิธี การกดดันยับยั้งความคิดไม่เคยคลี่คลายปัญหาใด ๆ ได้ แต่กลับจะยิ่งสร้างความเสื่อมพระเกียรติมากกว่าเฉลิมพระเกียรติสถาบันกษัตริย์
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เราจึงขอให้ ฯพณฯ ท่านและรัฐบาลโปรดพิจารณาข้อเรียกร้องดังนี้
1. โปรดยุติการพยายามสร้างมาตรการกดดันปราบปรามที่เข้มงวดยิ่งกว่านี้ ทั้งต่อปัจเจกบุคคล เว็บไซต์และการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ
2. โปรดพิจารณาข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด่างพร้อยต่อชื่อเสียงของประเทศไทย และสถาบันกษัตริย์บนเวทีสากลยิ่งไปกว่านี้
3. โปรดพิจารณายกเลิก-ถอนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังดำเนินคดีอยู่ และดำเนินการเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องโทษที่ถูกตัดสินภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อนหน้า เนื่องจากคนเหล่านี้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่การแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นอาชญากรรม
ขอแสดงความนับถือ
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ร่วมลงนาม (บางส่วน)
James C. Scott - ศาสตราจารย์
เจมส์ ซี. สก๊อตต์
มีงานเขียนสำคัญหลายชิ้น เช่น The Moral Economy of the Peasant (1990), Weapons
of the Weak (1985), Seeing Like a State (1998) เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการศึกษาสังคมชนบท
มหาวิทยาลัยเยล สมาชิกของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของมหาวิทยาลัยปริ๊นส์ตัน และ
Wissenschaftskolleg zu Berlin ประเทศเยอรมัน เป็นประธานของสมาคมเอเชียศึกษาระหว่างปี
2540-41 และสมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน
Charles F. Keyes - ศาสตราจารย์
ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์
นักมานุษยวิทยาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
อดีตประธานสมาคมเอเชียศึกษา
Craig
J. Reynolds - เคร็ก เจ. เรย์โนลส์
นักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการไทยและนานาชาติ
อดีตผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา ออสเตรเลีย ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
Robert Albritton - ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต อัลบริทตัน
แห่งมหาวิทยาลัยมิสสิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา เชี่ยวชาญด้านการเมืองอเมริกาและนโยบายสาธารณะ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัลบริทตันมีโครงการทางวิชาการเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยร่วมกับสถาบันประชาธิปกหลายโครงการ
Barbara Watson Andaya
- ศาสตราจารย์ บาบาร่า วัตสัน อันดายา
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยฮาวาย อดีตประธานสมาคมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
Arjun Appadurai - อรชุน
อัปปาดูรัย
นักคิดและปัญญาชนคนสำคัญทางด้านโลกาภิวัตน์และภาวะสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยชิคาโก
ต่อมาเขาย้ายมาเป็นอธิการบดีของ the New School University ในนิวยอร์ค
Lord Eric Avebury - ลอร์ดเอริค
เอฟเบอรี
สมาชิกสภาขุนนาง (สภาสูง) แห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 ลอร์ด เอฟเบอรีเป็นนักการเมืองจากพรรคเสรีประชาธิปไตย
และได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาฯ ให้ดูแลด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
เช่น ในประเทศติมอร์ตะวันออก, อินโดนิเซีย, ทิเบต, เปรู ฯลฯ
Peter F. Bell - ปีเตอร์
เอฟ. เบลล์
อดีตผู้อำนวยการสภาการศึกษาเศรษฐกิจ รัฐนิวยอร์ค เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์การวิจัยในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศในเอเซียตะวันออกฉียงใต้
โดยเฉพาะประเทศไทย
Walden Bello - ศาสตราจารย์
วอลเดน เบลโล
สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ เป็นผู้ก่อตั้งโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
(Focus on the Global South) ในประเทศฟิลิปปินส์และไทย. เบลโล เขียนหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาในเอเซียหลายเล่ม
รวมทั้งหนังสือเรื่อง "โศกนาฏกรรมสยาม"
Michael Burawoy - ศาสตราจารย์
ไมเคิล บูราวอย
ประธานสมาคมสังคมวิทยาอเมริกา และรองประธานคณะกรรมการสมาคมสังคมวิทยานานาชาติ
Hilary Charlesworth -
ศาสตราจารย์ ฮิลารี่ ชาร์ลส์เวิร์ธ (Hilary Charlesworth)
นักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์การยุติธรรมและการบริหารปกครองนานาชาติ. ชาร์ลส์เวิร์ธได้รับเชิญให้สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก
เช่น ฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค, และมหาวิทยาลัยปารีส และเป็นประธานคนแรกของสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
เธอได้รับรางวัล Goler T.Butcher Medal ปี พ.ศ. 2549 จากสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศของอเมริกา
ในฐานะ "ผู้มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนากฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล"
Noam Chomsky - ศาสตราจารย์
นอม ชอมสกี
สำหรับคนจำนวนมาก เราอาจไม่ต้องแนะนำนักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จัก
ชอมสกีคือนักวิชาการผู้ปฏิวัติวงการภาษาศาสตร์และปรัชญา ในอีกด้านหนึ่ง เขาคือนักวิจารณ์นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ
นักคิดและนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยใหม่
นิตยสาร ไทมส์ เคยระบุว่าเขาเป็นนักวิชาการที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่
20 ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา งานเขียนของเขาถูกอ้างมากที่สุดในโลก แม้แต่ประธานาธิบดีอูโก
ชาเวซแห่งเวเนซุเอลา ยังหยิบหนังสือของเขามากล่าวยกย่องในสุนทรพจน์อันเผ็ดร้อน
ในการประชุมที่สหประชาชาติเมื่อ 2 ปีก่อน
Arif Dirlik - ศาสตราจารย์
แอริฟ เดอร์ลิค
นักประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาชื่อดังทางด้านจีนศึกษา ต่อมาเขาหันมาสนใจเรื่องโลกาภิวัตน์และวัฒนธรรม
อดีตผู้อำนวยการศูนย์ทฤษฎีวิพากษ์และข้ามชาติศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน
สหรัฐอเมริกา
John Dugard - ศาสตราจารย์
จอห์น ดูการ์ด
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์
ดูการ์ดดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ.2545-2551
และเป็นผู้รายงานพิเศษของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี พ.ศ.2544-2551
Grant Evans - แกรนท์
อีแวนส์
นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทความล่าสุดของเขาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้สังเกตการณ์ในชุมชนนานาชาติที่ติดตามสถานการณ์ประเทศไทย
Edward Friedman - ศาสตราจารย์
เอ็ดเวิร์ด ฟรีดแมน
นักรัฐศาสตร์ที่เชียวชาญด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และประชาธิปไตย มีงานเขียนทางวิชาการหลายเล่ม
ผลงานล่าสุดเรื่อง "ยักษ์แห่งเอเซีย: เปรียบเทียบจีน กับ อินเดีย"
Susan Stanford Friedman
- ศาสตราจารย์ ซูซาน สแตนฟอร์ด ฟรีดแมน
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา
Stuart Hall - ศาสตราจารย์
สจ็วต ฮอลล์
อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร
New Left Review. หนังสือพิมพ์ The Observer ยกย่องให้ฮอลล์เป็น "หนึ่งในนักทฤษฎีด้านวัฒนธรรมระดับแนวหน้าของประเทศอังกฤษ"
เขายังเป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ
Gillian Hart - ศาสตราจารย์
จิลเลี่ยน ฮาร์ต
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเมือง ภูมิภาคศึกษาในอาฟริกาใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
Michael Hertzfeld - ศาสตราจารย์
ไมเคิล เฮิอร์ซเฟลด์
นักมนุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชี่ยวชาญด้านอัตลักษณ์วัฒนธรรมและไทยศึกษา
เฮิอร์ซเฟลด์ เคยเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการวิชาการของพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า
Kevin Hewison - ศาสตราจารย์
เควิน เฮวิสัน
อดีตประธานมูลนิธิเอเชียยตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ออสเตรเลีย
และอดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง
Paul Hutchcroft - ศาสตราจารย์
พอล ฮัชซ์คร็อฟ
นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Sarah Joseph - ศาตราจารย์
ซาราห์ โยเซฟ
ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย เธอเขียนหนังสือกฎหมายหลายเล่ม
รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
Ira Katznelson - ศาสตราจารย์ไอร่า
แคทซ์เนลสัน
นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อดีตประธานสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน, ประธานสมาคมรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์
เป็นสมาชิกสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน และสมาคมนักปราชญ์อเมริกัน
Ben Kerkvliet - ศาสตราจารย์เบน
เคิร์กวลีต
อดีตหัวหน้าภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
Ben Kiernan - ศาสตราจารย์เบน
เคียร์แนน
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบเขมรแดง เป็นผู้ก่อตั้งโครงการศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา
ซึ่งพัฒนามาเป็นโครงการศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มหาวิทยาลัยเยล ที่ครอบคลุมปัญหาความรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก
Smitu Kothari - สมิธุ
โคธารี
บรรณาธิการวารสาร Lokayan (การสานเสวนาของประชาชน) ในอินเดีย เขามีบทบาทในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
และได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญญาชน-นักเคลื่อนไหวคนสำคัญของอินเดีย
Margaret Levi - ศาสตราจารย์มาร์กาเร็ท
ลีไว
นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ สมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน
เคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน
Caroline Lucas - แคโรไลน์
ลูคัส
นักการเมืองที่โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ เธอเป็นหัวหน้าพรรคกรีนของอังกฤษและเวลส์
สมาชิกรัฐสภาแห่งยุโรป ในปี 2549. นิตยสาร The New Stateman ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในสิบบุคคลสำคัญแห่งปี
และในปีถัดมาได้รับการลงคะแนนจากผู้อ่านของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ The
Observer ให้เป็นนักการเมืองแห่งปี
Senator Francesco Martone
- วุฒิสมาชิก ฟรานเชสโก มาร์โตเน
นักการเมืองอิตาลีที่มีบทบาทแข็งขันในปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของโลก เขาเป็นผู้ก่อตั้งและประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปธนาคารโลก
มีบทบาทในในคณะกรรมาธิการถาวรหลายคณะ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการกิจการต่างประเทศและการย้ายถิ่น,
การคลัง, และทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อม. มาร์โตเน่ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการของคณะกรรมาธิการพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
Duncan McCargo - ศาสตราจารย์
ดันแคน แม็คคาร์โก
จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ หนึ่งในนักวิชาการชั้นแนวหน้าในเรื่องอุษาคเนย์และการเมืองไทย.
งานเขียนที่สำคัญของเขา เช่น Network Monarchy of Bhumibol and His Proxies งานเขียนชิ้นล่าสุดของเขาคือ
Tearing Apart the Land เป็นบทวิเคราะห์วิกฤติการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Frances Fox Piven - ศาสตราจารย์
แฟรนเชส ฟ็อกส์ พิเวน
มีบทบาทโดดเด่นทั้งในด้านวิชาการและกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะในฐานะนักวิพากษ์ที่มีมุมมองอันเฉียบคมต่อระบบสวัสดิการสังคมในสหรัฐฯ
ปัจจุบันเธอสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองนิวยอร์ค เธอได้รับรางวัลมากมายจากสมาคมด้านวิชาการและสังคมต่างๆ
และเธอเคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน
Anthony Reid - ศาสตราจารย์
แอนโทนี่ รีด
นักประวัติศาสตร์ที่มีงานเขียนมากที่สุดคนหนึ่ง หลังจากเกษียณจากงานที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
ณ ลอสแองเจลีส รีดส์ได้รับเชิญให้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันวิจัยแห่งเอเชีย
ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เขายังได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ
และได้รับรางวัลฟูกูโอกะในปี 2545
Dr. Mohamed Suliman -
ดร. โมฮัมเหม็ด สุไลมาน
นักวิชาการชาวซูดานที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศอังกฤษ เขาเป็นประธานของสถาบันเพื่อทางเลือกของชาวแอฟริกันในอังกฤษ
เขาเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับความขัดแย้งในซูดาน, ดาร์ฟูร์ และที่อื่น ๆ
David Szanton - เดวิด
แชนตัน
เคยเป็นผู้อำนวยการโครงการอาณาบริเวณศึกษาและนานาชาติ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
เบอร์กลีย์
Stanley J. Tambiah -
ศาสตราจารย์ สแตนลีย์ เจ. แทมไบยาห์
นักมานุษยวิทยาชื่อก้องโลกที่มีผลงานเกี่ยวกับประเทศไทย ศรีลังกา ชนชาติทมิฬ
รวมทั้งศาสนาและการเมือง เขาได้รับรางวัลและคำประกาศเกียรติคุณจากสถาบันต่าง
ๆ มากมาย เช่น รางวัลบัลซัน (the Balzan), รางวัลฟูกูโอกะ, สถาบันมานุษยวิทยาในพระบรมราชินูปถัมภ์ของประเทศอังกฤษ
และไอร์แลนด์ และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ
Andrew
Walker - แอนดรูว์ วอล์คเกอร์
นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย สนใจเกี่ยวกับการค้าชายแดนระหว่างไทย
ลาว และจีนใต้ รวมทั้งปัญหาการพัฒนาชนบท การจัดการสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือของไทย
เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The New Mandala อันเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ได้รับความนิยมจากปัญญาชนในอุษาคเนย์อย่างมาก
Immanuel Wallerstein
- ศาสตราจารย์ อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์
เจ้าของทฤษฎี "ระบบโลก" เขาได้รับเชิญให้สอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกและได้รับรางวัลและตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณจากสถาบันต่าง
ๆ มากมาย รวมทั้งดำรงตำแหน่ง เช่น ผู้อำนวยการของวิทยาลัยการศึกษาชั้นสูงด้านสังคมศาสตร์แห่งปารีส,
ประธานสมาคมสังคมวิทยานานาชาติ, ผู้อำนวยการศูนย์เฟอร์นันด์ บรอเดล เพื่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์.
ในปี 2546 สมาคมสังคมวิทยาอเมริกันได้มอบรางวัลนักวิชาการที่ผลิตผลงานดีเด่น
(the Career of Distinguished Scholarship Award) ให้แก่วอลเลอร์สไตน์
Thomas Wallgren - ศาสตราจารย์
โทมัส วอลล์เกร็น
หัวหน้าภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ นักปรัชญาและนักกิจกรรมเพื่อสังคม
เขายังเป็นประธานสถาบันเครือข่ายเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยทั่วโลก
Michael Watts - ศาสตราจารย์
ไมเคิล วัทส์
อดีตผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ ,
ศูนย์แอฟริกันศึกษา, โครงการนักวิจัยสันติภาพของโรตารี, และโครงการศึกษาด้านการพัฒนา
Thongchai Winichakul
- ศาสตราจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล
แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เขาสนใจประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
หนังสือของธงชัย Siam Mapped ได้รับรางวัลแฮรี เบนดา ของสมาคมเอเชียศึกษาในปี
2538 เขายังเป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน ธงชัยเป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาในช่วง
6 ตุลาคม 2519
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1650 เรื่อง หนากว่า 33000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com