ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




04-03-2552 (1693)

โลกเปลี่ยน: การเมืองภายใต้อุ้งมือของประชาชนชายขอบ
รัฐศาสตร์หลังสมัยใหม่: การเมืองที่ใหม่กว่าในละตินอเมริกา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เขียน
นักวิชาการและนักแปลอิสระ สนใจประเด็นการเมืองในละตินอเมริกา
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เดิมชื่อ "การเมืองใหม่ในละตินอเมริกา"
บทความประกอบงานเสวนา "ทางแพร่งประชาธิปไตยกับการเมืองที่ใหม่กว่า"
ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความ"รัฐศาสตร์หลังสมัยใหม่: การเมืองที่ใหม่กว่าในละตินอเมริกา" ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- สายลมจากซีกโลกใต้, เหตุใดนักเคลื่อนไหวสังคมจึงหันไปมองละตินอเมริกาในปัจจุบัน?
- ภูมิหลังโดยสังเขป, ทูปัก อามารู ต่อสู้กับมหาอำนาจอาณานิคม
- ลัทธิมาร์กซ์-เลนินและเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย กับอิทธิพลในละตินอเมริกา
- แอปเปิลเน่าลูกเดียวในตะกร้า และทฤษฎีโดมิโน
- ชาวพื้นเมืองและคนจน หัวหอกสำคัญการเมืองใหม่ในละตินอเมริกา
- ชาวพื้นเมืองและแรงงานนอกระบบ
- วิธีการจัดตั้งแบบมีการนำเป็นหมู่คณะ
- เอกวาดอร์ - โบลิเวีย: ประสบการณ์และการต่อสู้ของชนพื้นเมือง
- สงครามน้ำ - สงครามก๊าซ - La Coordinadora
- แรงงานนอกระบบ, ขบวนการปีเกเตโรส์ในอาร์เจนตินา
- การเมืองภาคประชาชน: การรับมือวิกฤตการณ์ของชาวอาร์เจนตินา
- บราซิลกับขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน
- การปฏิวัติโบลิวาร์ในเวเนซุเอลา, แนวคิดพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- สรุปบทเรียนทางการเมืองของประชาชนละตินอเมริกา
- ภาคผนวก: "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรฯ กับลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๙๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๔ มีนาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๔ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โลกเปลี่ยน: การเมืองภายใต้อุ้งมือของประชาชนชายขอบ
รัฐศาสตร์หลังสมัยใหม่: การเมืองที่ใหม่กว่าในละตินอเมริกา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เขียน
นักวิชาการและนักแปลอิสระ สนใจประเด็นการเมืองในละตินอเมริกา
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

สายลมจากซีกโลกใต้
เหตุใดปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวสังคมจำนวนมากจึงหันไปมองละตินอเมริกาในปัจจุบัน?
หลังจากได้รับฉายานามอันน่าเศร้ามาหลายทศวรรษว่า "หลังบ้านของสหรัฐอเมริกา" ละตินอเมริกาในยามนี้ได้รับขนานฉายาใหม่อย่างน่าระทึกใจ ไม่ว่าจะเป็น "ความหวังใหม่" "ห้องทดลองขบวนการสังคมใหม่" หรือ "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" ความปั่นป่วนทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางความอลหม่านทั้งหมดนี้ การดำเนินการทางการเมืองแบบใหม่ได้เกิดขึ้นและสร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ละตินอเมริกาสร้างแรงบันดาลใจเพราะนี่เป็นภูมิภาคหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นภูมิภาคที่เป็นห้องทดลองของมหาอำนาจเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการล่าอาณานิคม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แรงงานทาส การทำไร่เกษตรขนาดใหญ่ (plantation) จนกลายเป็นธุรกิจเกษตร (agribusiness) ในปัจจุบัน การปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ภัยสยองโดยรัฐ (state terrorism) ระบอบประชาธิปไตย การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก หรือที่เรียกกันว่า shock therapy ระบบเสรีนิยมใหม่และข้อตกลงเขตการค้าเสรี เกือบทั้งหมดนี้เริ่มทดลองในละตินอเมริกาอย่างเข้มข้นก่อนจะนำไปใช้ที่อื่น

ไม่น่าแปลกใจที่คำว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) เป็นคำที่แพร่หลายมากที่สุดในละตินอเมริกาจนแทบจะเป็นคำพูดในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เพราะผลกระทบของลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นสิ่งที่ชาวละตินอเมริกาคุ้นเคยมากที่สุดนั่นเอง แต่ท่ามกลางความยากจนและการกดขี่ ชาวละตินอเมริการากหญ้ากลับสร้าง "การเมืองใหม่" เพื่อต่อสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่ วิธีการต่อสู้และแนวความคิดของพวกเขาแผ่อิทธิพลไปสู่ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวชาวตะวันตก จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ขบวนการสังคมใหม่" หรือ "ขบวนการความยุติธรรมโลก"

แต่ไหนแต่ไรมา แนวความคิดทางการเมืองและสังคมมักแผ่จากโลกที่หนึ่งสู่โลกที่สาม จากซีกโลกเหนือสู่ซีกโลกใต้ อาทิเช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นต้น แต่นี่เป็นครั้งแรกที่การถ่ายทอดเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือ สายลมแห่งความคิดพัดจากแหล่งกำเนิดในซีกโลกใต้ไปสู่ซีกโลกเหนือ จากโลกที่สามไปสู่โลกที่หนึ่ง นี่จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ถึงรากถึงโคนที่สุดของขบวนการสังคมใหม่ในปัจจุบัน

ภูมิหลังโดยสังเขป
เมื่อครั้งที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินทางไปถึงดินแดนที่จะกลายเป็นภูมิภาคละตินอเมริกาในปัจจุบัน เขาบรรยายถึงชาวพื้นเมืองชนชาติอาราวักที่พบเจอว่า "พวกเขาเป็นคนดีที่สุดในโลกและอ่อนโยนที่สุดด้วย พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรคือความชั่ว จึงไม่รู้จักการฆ่า ไม่รู้จักการขโมย….พวกเขารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเองและพูดจาไพเราะที่สุดในโลก…" ด้วยเหตุนี้ โคลัมบัสจึงสรุปว่า "คนเหล่านี้น่าจะเป็นข้าทาสที่ดี แค่เรามีคนสักห้าสิบคน ก็คงสามารถกำราบพวกเขา และสั่งให้พวกเขาทำทุกอย่างตามที่เราต้องการได้" (1)

(1) Howard Zinn, "Columbus and Western Civilization," http://www.geocities.com/howardzinnfans/CDay.html.

หลังจากโคลัมบัส "ค้นพบ" ทวีปอเมริกาเพียงหนึ่งปี มหาอำนาจในยุโรปยุคนั้นคือ สเปนและโปรตุเกสก็จัดการขีดเส้นแบ่งโลกออกเป็นสองซีก สเปนได้ดินแดนซีกตะวันตกไปทั้งหมด ส่วนโปรตุเกสครอบครองโลกซีกตะวันออก (เนื่องจากบราซิลอยู่ใต้อำนาจของโปรตุเกส ชาวบราซิลจึงพูดภาษาโปรตุเกส ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ในละตินอเมริกาพูดภาษาสเปน) หลังจากนั้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบก็เริ่มต้นขึ้น

เหล่าคอนควิสตาดอร์เรียงหน้าเข้าไปทำลายอารยธรรมโบราณ เอร์นัน คอร์เตสทำลายอาณาจักรแอซเทค ฟรานซิสโก ปิซาร์โรทำลายอาณาจักรอินคา แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือความตายของประชาชนจำนวนมากมายมหาศาล ตะวันตกมักสร้างภาพมายาว่าทวีปอเมริกาคือ ดินแดนรกร้างที่มีชาวพื้นเมืองล้าหลังอาศัยอยู่เพียงน้อยนิด แต่จากหลักฐานที่มีอยู่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ในสมัยที่ชาวสเปนเดินทางไปถึงทวีปอเมริกานั้น น่าจะมีชาวพื้นเมืองอยู่ประมาณ 90-112 ล้านคน (เฉพาะในดินแดนแถบเม็กซิโกก็มีถึง 25 ล้านคน เทียบกับสเปนและโปรตุเกสสมัยนั้นที่มีประชากรราว 10 ล้านคนเท่านั้น)

คอนควิสตาดอร์ปราบชาวพื้นเมืองลงได้ด้วยปืนและม้า แต่อาวุธสำคัญที่คร่าชีวิตประชาชนไปจำนวนนับไม่ถ้วนคือ เชื้อโรค (2) ชาวพื้นเมืองไม่มีภูมิต้านทานเชื้อโรคของชาวยุโรป. โรคต่าง ๆ อย่างไข้ทรพิษ คอตีบ ไข้รากสาดใหญ่ ไข้รากสาดน้อย ฯลฯ ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นเบือ นักประวัติศาสตร์ประเมินจำนวนคนตายต่างกันไป ตั้งแต่ 20% จนถึง 85-95% ของประชากรทั้งหมด ชาวพื้นเมืองจำนวนน้อยที่เหลืออยู่จึงตกเป็นทาสและแรงงานในไร่นา แต่สิ่งที่โคลัมบัสคาดผิดก็คือ ชาวพื้นเมืองที่นี่ไม่ใช่ข้าทาสที่ดี จึงมีการนำทาสผิวดำมาจากอัฟริกาจำนวนมาก การผสมผสานข้ามชาติพันธุ์จึงเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนในละตินอเมริกามีทั้งสายเลือดชาวพื้นเมือง ชาวอัฟริกันและชาวยุโรป (3)

(2) จาเรด ไดมอนด์, ปืน เชื้อโรคและเหล็กกล้ากับชะตากรรมของสังคมมนุษย์, (อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ แปล) (สำนักพิมพ์คบไฟ, 2547), หน้า 79-98.

(3) การผสมผสานของคนเชื้อชาติต่าง ๆ แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ มีส่วนประกอบของประชากรดังนี้คือ โบลิเวียและเปรู มีชาวพื้นเมืองมาก, เอกวาดอร์ กัวเตมาลา เม็กซิโก ชาวพื้นเมืองเป็นชนส่วนน้อยกลุ่มใหญ่ คนส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวและเมสติโซ (ผู้ที่มีสายเลือดผสมชาวยุโรปกับคนพื้นเมือง), ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส นิการากัว ปานามา ปารากวัย เวเนซุเอลา คนส่วนใหญ่เป็นเมสติโซ, แถบแคริบเบียนและบราซิล ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำและมูลัตโต (ผู้ที่มีสายเลือดผสมชาวยุโรปกับชาวอัฟริกัน), อาร์เจนตินา อุรุกวัย บราซิลใต้ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว

ทูปัก อามารู ต่อสู้กับมหาอำนาจอาณานิคม
แต่ใช่ว่าชาวพื้นเมืองไม่เคยลุกขึ้นต่อสู้กับมหาอำนาจอาณานิคม ชาวพื้นเมืองที่ลุกขึ้นสู้มีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ชื่อซึ่งเป็นที่จดจำกันมากคือ ทูปัก อามารู. ทูปัก อามารูคนแรกคือคือกษัตริย์คนสุดท้ายของอาณาจักรอินคา พระองค์เป็นผู้นำในการต่อสู้สงครามครั้งสุดท้ายกับทหารสเปน แต่ไม่สามารถต้านทานปืนใหญ่ของชาวยุโรปได้ ทูปัก อามารูถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ โดยเหตุที่ไม่ยอมเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ตามที่ชาวสเปนพยายามบังคับ (4)

(4) http://en.wikipedia.org/wiki/T%C3%BApac_Amaru

ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 18 ทูปัก อามารูที่สองเป็นเหลนของทูปัก อามารู แม้ว่าเขาได้รับการศึกษาแบบยุโรปและได้สืบทอดตำแหน่งผู้ปกครองชาวพื้นเมืองภายใต้อาณานิคมสเปน แต่ความเห็นอกเห็นใจต่อชาวพื้นเมืองที่ถูกกดขี่อย่างทารุณ ทำให้เขาสลัดเสื้อผ้าแบบยุโรป หันมาแต่งกายแบบชาวพื้นเมืองและเป็นผู้นำกบฏครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสองศตวรรษ. ทูปัก อามารูที่สองถูกประหารชีวิตด้วยการใช้ม้าแยกสังขาร แต่ก็ยังฆ่าเขาไม่สำเร็จ ชาวสเปนจึงใช้วิธีชำแหละเขาเป็นชิ้น ๆ ในจัตุรัสกลางเมืองกุสโก สถานที่เดียวกับที่ปู่ทวดของเขาถูกตัดศีรษะ ชื่อของทูปัก อามารูกลายเป็นชื่อของ "ขบวนการปฏิวัติทูปักอามารู" ซึ่งเป็นกองทัพจรยุทธ์คอมมิวนิสต์ในประเทศเปรูในปัจจุบัน อีกทั้งยังกลายเป็นชื่อของ Tupamaros หรือขบวนการเอกราชแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏที่มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 1960-1970 ในประเทศอุรุกวัย (5)

(5) http://en.wikipedia.org/wiki/T%C3%BApac_Amaru_II

หลังการก่อกบฏของทูปัก อามารูที่สองเพียงปีเดียว ทูปักอีกคนหนึ่งก็ก่อกบฏขึ้นในประเทศโบลิเวีย เขาใช้ชื่อว่าทูปัก คาตารี (Tupak Katari) และเป็นผู้นำกบฏบุกล้อมนครหลวงลาปาซเอาไว้. ทูปัก คาตารีมีชื่อจริงว่า ฆูเลียน อาปาซา (Julian Apaza) เขาเป็นสามัญชน ขายใบโคคาและทอผ้าเลี้ยงชีพ เขาได้รับแรงบันดาลใจจากคนสองคน

- คนแรกคือโทมัส คาตารี ผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์กษัตริย์อินคาและพยายามต่อสู้เพื่อล้มเลิกการกดขี่ของอาณานิคมสเปน
- คนที่สองคือทูปัก อามารูที่สอง ซึ่งมีคำขวัญในการสู้รบว่า "ชาวนาทั้งหลาย! ท่านจะไม่ต้องเลี้ยงดูเจ้านายด้วยความยากจนอีกต่อไป!"

ทูปัก คาตารีลงเอยด้วยการถูกประหารหั่นร่างเป็นชิ้น ๆ แต่ก่อนตายเขาให้สัญญาว่า "ข้าจะกลับมา และข้าจะกลับมาเป็นล้าน ๆ คน" (6)

(6) Benjamin Dangl, The Price of Fire (Edinburgh: AK Press, 2007), p. 17-19.

หลังจากการก่อกบฏของทูปัก คาตารีอีกหนึ่งปี นายทหารชื่อ ซีโมน โบลิวาร์ (Simón Bolivar) ก็พยายามปลดแอกละตินอเมริกาจากประเทศสเปน เขาสามารถก่อตั้งสาธารณรัฐแห่งโคลอมเบีย (ปัจจุบันคือเอกวาดอร์, โคลอมเบีย, ปานามา และเวเนซุเอลา) ขึ้นมาในช่วงเวลาสั้น ๆ และทิ้งความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่เอาไว้ นั่นคือการรวบรวมดินแดนในละตินอเมริกาเพื่อก่อตั้งเป็น "The Gran Colombia" ที่กินอาณาเขตไปถึงเปรูกับโบลิเวีย อุดมการณ์ของโบลิวาร์เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ "การปฏิวัติโบลิวาร์" ในประเทศเวเนซุเอลาขณะนี้

ประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกาปลดแอกและเป็นเอกราชจากยุโรปได้สำเร็จในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา ภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็กลายเป็น "หลังบ้าน" และสนามทดลองของสหรัฐฯ บรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ เข้าไปมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ กระทั่งมีอิทธิพลต่อระบอบการปกครองของหลาย ๆ ประเทศ

ลัทธิมาร์กซ์-เลนินและเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย กับอิทธิพลในละตินอเมริกา
สภาพยากจนของประชากรส่วนใหญ่ทำให้ลัทธิมาร์กซ์-เลนินและลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา มีกองกำลังจรยุทธ์และกองทัพปฏิวัติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปเป็นสังคมนิยมจำนวนนับไม่ถ้วน ขบวนการที่โด่งดังและยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันมีอาทิ ขบวนการ Shining Path ในประเทศเปรู, ขบวนการ FARC ในประเทศโคลอมเบีย เป็นต้น. แนวคิดของลัทธิมาร์กซ์และสังคมนิยมยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในละตินอเมริกาจนถึงทุกวันนี้

แนวคิดอีกประการหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ในการทำความเข้าใจการต่อสู้ของประชาชนในภูมิภาคนี้ก็คือ สำนักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย (7) ซึ่งเป็นสำนึกหนึ่งในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แนวคิดของสำนักนี้นำเอาลัทธิมาร์กซ์มาผสมผสานกับคำสอนของศาสนาคริสต์ พระและบาทหลวงของสำนักนี้เดินทางไปในหลาย ๆ พื้นที่ที่ยากจน และทำงานจัดตั้งประชาชนชาวพื้นเมืองให้รวมตัวกันเป็นชุมชนรากหญ้า ซึ่งนอกจากจะอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลแล้ว ก็ยังมีการร่วมกันทำความเข้าใจต่อสภาพสังคมเศรษฐกิจโดยใช้ลัทธิมาร์กซ์เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ด้วย ต่อมาในภายหลัง ฐานจัดตั้งของสำนักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อยได้กลายเป็นฐานจัดตั้งของ 3 ขบวนการสำคัญในละตินอเมริกา กล่าวคือ

- ขบวนการซานดินิสตาในนิการากัว
- ขบวนการซาปาติสตาในเม็กซิโก และ
- ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินหรือ MST ในบราซิล

(7) ผู้เขียนได้เขียนถึง "เทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย" ในคอลัมน์ "คำขบวน" ซึ่งจะตีพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน

แอปเปิลเน่าลูกเดียวในตะกร้า และทฤษฎีโดมิโน
การที่แนวคิดแบบ "ฝ่ายซ้าย" แพร่หลายในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ทำให้ชนชั้นนำและรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สบายใจ. ความเชื่อเกี่ยวกับ "แอปเปิลเน่าลูกเดียวในตะกร้า" และ "ทฤษฎีโดมิโน" ทำให้สหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองและการทหารในภูมิภาค เริ่มต้นจากการโค่นล้มรัฐบาลอัลเยนเดในชิลี เมื่อ ค.ศ. 1973 สนับสนุนให้รัฐบาลเผด็จการของปิโนเชต์ขึ้นครองอำนาจ พร้อมกับส่งนักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโกเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ. ชิลีคือสนามทดลองแห่งแรกของลัทธิทุนนิยมเสรี ส่วนในประเทศอื่น ๆ นั้น รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารและภัยสยองโดยรัฐ(การก่อการร้ายโดยรัฐ)(8) เพื่อปราบปรามประชาชนไม่ให้หันเข้าหาลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ ไปด้วย

(8) ภัยสยองโดยรัฐที่เกิดขึ้นในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โปรดดู นอม ชอมสกี, อเมริกาอเมริกาอเมริกา: วิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล) (สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2544), หน้า 31-65.

แต่เมื่อขั้นตอนของระบบทุนนิยมก้าวไปสู่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่ "ความยืดหยุ่นในการสะสมทุน" และ "การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง" (accumulation by dispossession) กลุ่มทุนจึงต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอนและเหมือน ๆ กันทั้งหมด ซึ่งสิ่งนี้จะบรรลุผลได้ก็ต้องอาศัยระบอบการปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้เอง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เราได้เห็นหลาย ๆ ประเทศเปลี่ยนจากการปกครองระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้งในภูมิภาคละตินอเมริกาและในส่วนอื่น ๆ ของโลก

จากการเป็นอาณานิคมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทำให้ละตินอเมริกามีระบบเศรษฐกิจที่ผูกพันแนบแน่นกับระบบเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้คือแหล่งแรงงานค่าแรงถูก เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วน เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก ธุรกิจเกษตรข้ามชาติ และส่งออกแรงงานราคาถูกให้แก่อเมริกาเหนือ ถึงแม้คนจนจำนวนมากจะต้องเข้าไปขายแรงงานในเมือง จนทำให้เกิดเมืองสลัมขนาดใหญ่รายล้อมรอบเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ๆ กระนั้นก็ตาม ชาวพื้นเมืองที่ยากจนก็ยังมีอิสระจากระบบเศรษฐกิจโลกในระดับหนึ่ง ยังมีการเพาะปลูกเพื่อยังชีพ แต่เมื่อระบบทุนนิยมขยายกลายเป็นลัทธิเสรีนิยมใหม่ การทุ่มตลาด การแย่งชิงทรัพยากร การแปรรูป ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวพื้นเมืองและคนยากจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชาวพื้นเมืองและคนจน หัวหอกสำคัญการเมืองใหม่ในละตินอเมริกา
"การเมืองใหม่" ในละตินอเมริกาก็คือการลุกขึ้นต่อต้านขัดขืนลัทธิเสรีนิยมใหม่ โดยมีชาวพื้นเมืองและคนจนเป็นหัวหอกสำคัญ

ชาวพื้นเมืองและแรงงานนอกระบบ
ชาวพื้นเมือง
ตามแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์ดั้งเดิม ชนชั้นที่เป็นประธานในการเปลี่ยนแปลงสังคมคือชนชั้นกรรมาชีพ ส่วนพวกชาวนาและชาวพื้นเมืองเป็นเพียงกลุ่มคนที่ล้าหลัง แต่เมื่อการเคลื่อนไหวของลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมเสื่อมสลายลงในยุโรป การพังทลายของสหภาพโซเวียต การต่อสู้ด้วยกองทัพติดอาวุธในละตินอเมริกาก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยตามไปด้วย มีหลายขบวนการที่หันมาตั้งพรรคการเมืองและลงเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตัวแทน ส่วนสหภาพแรงงานที่มีอยู่ก็มักมีลักษณะแบบขุนนางข้าราชการมากกว่าจะเป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานอย่างแท้จริง

การกดขี่ในละตินอเมริกาเป็นการกดขี่ที่ทับซ้อนทั้งด้านชนชั้นและเชื้อชาติ แต่ชาวพื้นเมืองที่ยากจนและล้าหลังในภูมิภาคนี้กลับสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประธานของการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างมีชีวิตชีวา ชาวพื้นเมืองได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจาก 3 ทิศทางด้วยกัน กล่าวคือ

- จากสำนักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย
- จากนักเคลื่อนไหวแนวมาร์กซิสต์และเหมาอิสต์ และ
- จากวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองเอง

วิธีการจัดตั้งแบบมีการนำเป็นหมู่คณะ
วัฒนธรรมการดำรงชีวิตร่วมกันของชาวพื้นเมืองจะมีมาแต่ดั้งเดิมสมัยอารยธรรมโบราณหรือไม่ ไม่มีใครรู้ได้ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือวัฒนธรรมแบบชาวพื้นเมืองนี้เองที่ทำให้พวกเขาเอาชีวิตรอดภายใต้ระบอบอาณานิคมสเปนที่กดขี่ทารุณ ลักษณะการจัดตั้งของพวกเขามีรูปแบบแตกต่างออกไป แทนที่จะใช้ระบบการจัดตั้งแบบปิรามิด พวกเขากลับใช้การจัดตั้งแบบการนำเป็นหมู่คณะ มีการใช้ประชาธิปไตยทางตรงกันอย่างเข้มข้น และสร้างแนวทางใหม่ในการจัดตั้งจากเบื้องล่างขึ้นมา

ตัวอย่างในที่นี้คือ การจัดตั้งของขบวนการ"ซาปาติสตาในเม็กซิโก" (9) ถึงแม้ซาปาติสตาจะเป็นกองทัพจรยุทธ์ แต่กระบวนการตัดสินใจของซาปาติสตาแตกต่างจากกองทัพจรยุทธ์ทั่วไป เพราะซาปาติสตามีแกนนำคือ คณะกรรมการใต้ดินปฏิวัติของชาวพื้นเมือง ซึ่งประกอบด้วยคนตั้งแต่ 80-120 คน ไม่ได้มีผู้บังคับบัญชาคนเดียวที่ตัดสินใจได้ตามลำพัง ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการใต้ดินนี้ก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ทุกเรื่อง หากเป็นเรื่องสำคัญขั้นคอขาดบาดตายที่จะมีผลกระทบต่อคนทั้งชุมชน ก็ต้องเปิดประชุมหารือกับคนในชุมชนทั้งหมด แล้วจึงลงคะแนนเสียง

(9) โปรดดู ภัควดี วีระภาสพงษ์, "ปกครองโดยเชื่อฟัง: ประชาธิปไตยชุมชนของซาปาติสต้า," วิทยาลัยวันศุกร์, http://www.fridaycollege.org/index.php?file=mydocs&obj=forum.view(cat_id=tr-global,id=34).

การตัดสินใจในชุมชนซาปาติสตาใช้วิธีลงคะแนนเสียงโดยตรง ผู้มีสิทธิออกเสียงคือชาวชุมชนทุกคนที่อายุเกิน 12 ปี ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันหมด แม้ว่าการตัดสินใจไม่จำเป็นต้องมีคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ แต่คะแนนเสียงส่วนน้อยจะได้รับการพิจารณาและเทียบสัดส่วน หากยังไม่พอใจก็ประชุมกันต่อไป ถึงแม้วิธีการนี้อาจดูเหมือนชักช้า แต่เนื่องจากทุกคนที่ลงคะแนนเสียงเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเลือกอย่างถ่องแท้ พวกเขาจึงผูกมัดตัวเองกับการเลือกนั้นอย่างแนบแน่น

วิธีการปกครองของเขตปกครองอิสระซาปาติสตา ยังพยายามก้าวข้ามปัญหาของระบอบประชาธิปไตยตัวแทนด้วย ผู้ใหญ่ทุกคนในชุมชนจะต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่ตัวแทนชุมชน และหากได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งจากชุมชนให้ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ชุมชนก็สามารถถอดถอนตัวแทนออกจากตำแหน่งได้ทุกเวลา เมื่อไรก็ตามที่ชุมชนเห็นว่า ตัวแทนคนนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามเจตจำนงที่ชุมชนมอบหมายให้อย่างแท้จริง

การลุกฮือขึ้นก่อกบฏของซาปาติสตาเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994 ซึ่งเป็นวันแรกที่นาฟตามีผลบังคับใช้ ทำให้ซาปาติสตากลายเป็นสัญลักษณ์และแรงบันดาลใจของการต่อสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่ วิธีการจัดตั้งแบบมีการนำเป็นหมู่คณะถูกนำไปใช้ในขบวนการอื่น ๆ โดยเฉพาะขบวนการสังคมใหม่ในตะวันตก

เอกวาดอร์ - โบลิเวีย: ประสบการณ์และการต่อสู้ของชนพื้นเมือง
ในประเทศเอกวาดอร์ องค์กรจัดตั้งของชาวพื้นเมืองที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมากคือ สมาพันธ์ชนชาติพื้นเมืองแห่งเอกวาดอร์ (Confederation of Indigenous Nations of Ecuador-CONAIE) หรือที่เรียกด้วยอักษรย่อว่า CONAIE ซึ่งเป็นสมาพันธ์ที่เกิดจากการจับมือกันขององค์กรชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองราว 10 องค์กรในเอกวาดอร์. สมาพันธ์ CONAIE เคยจับมือกับองค์กรชาวนา สหภาพแรงงาน ทหารชั้นผู้น้อย นักศึกษา และพระระดับรากหญ้าของคริสตจักร โค่นล้มรัฐบาลมาแล้วหลายรัฐบาล

แต่ในช่วง ค.ศ. 2002-2004 สมาพันธ์ CONAIE ต้องเสื่อมความนิยมลงอย่างมาก จากการไปสนับสนุนนักการเมือง จนมากอบกู้ความนิยมได้อีกครั้งในการขับไล่ประธานาธิบดีกูตีเยร์เรซ เมื่อต้นปี ค.ศ. 2005 โดยแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะเลิกให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้ง และหันมาสร้างขบวนการมวลชนขนาดใหญ่แทน (10)

(10) โปรดดู ภัควดี วีระภาสพงษ์, "เอกวาดอร์: อีกโดมิโนของการแข็งข้อที่หลังบ้านสหรัฐฯ," วิทยาลัยวันศุกร์, http://www.fridaycollege.org/index.php?file=mydocs&obj=forum.view(cat_id=tr-global,id=39)

ส่วนชัยชนะของเอโว โมราเลสในการเลือกตั้งจนก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีชาวพื้นเมืองคนแรกของโบลิเวีย มีที่มาจากฐานเสียงที่ค่อนข้างหลากหลายกว่า ถึงแม้ฐานเสียงสำคัญของเขาคือชาวไร่โคคา หรือ Cocaleros ก็ตาม แต่โบลิเวียมีประสบการณ์ของการจัดตั้งองค์กรมายาวนานในประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดมาจากการจัดตั้งสหภาพ และการต่อสู้ของคนงานเหมืองแร่เงินมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 ภายใต้การปกครองของสเปน เมื่อแร่เงินถูกขุดจนสิ้นซาก ชาวเหมืองจึงกระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ พร้อมกับนำเอาประสบการณ์การจัดตั้งติดตัวไปด้วย ชาวเหมืองจำนวนหนึ่งหันไปประกอบอาชีพปลูกโคคา และมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสหพันธ์ผู้ปลูกโคคาขึ้นมา (11)

(11) 11. Dangl, The Price of Fire, ch. 1 & 2.

พรรคการเมือง Movimiento al Socialismo หรือ MAS ที่สนับสนุนเอโว โมราเลส ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น เกิดมาจากสหพันธ์ผู้ปลูกใบโคคา 6 แห่งในรัฐชาปาเร ร่วมกันก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1998 ในช่วงแรก ๆ MAS เน้นการเลือกตั้งในท้องถิ่นและชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีหลายแห่ง จนกระทั่ง ค.ศ. 2002, MAS จึงสลัดหลุดจากความเป็นท้องถิ่นและการมีฐานเสียงเฉพาะภาคส่วน แล้วก้าวขึ้นสู่การเมืองระดับชาติ. ถึงแม้ MAS จะไม่ถึงกับจัดตั้งแนวระนาบ แต่ก็มีการนำเป็นหมู่คณะ โมราเลสไม่ใช่ผู้นำเดี่ยวของพรรค เขาเป็นเพียงผู้นำคนหนึ่งและได้เป็นตัวแทนพรรคลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากมติของพรรคที่เลือกเขาขึ้นมา (12)

(12) Forrest Hylton and Sinclair Thomson, "The Chequered Rainbow," New Left Review

สงครามน้ำ - สงครามก๊าซ - La Coordinadora
พรรค MAS มีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเข้าไปสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนเพื่อยกเลิกการแปรรูปน้ำในเมืองโกชาบัมบา การต่อสู้ที่ต่อมาเรียกขานกันว่า "สงครามน้ำ" มีองค์กรประชาชนที่เป็นแกนกลางของการต่อสู้ครั้งนี้คือ "แนวร่วมเพื่อการปกป้องน้ำและชีวิต" (Coordiadora de Defense de Aguay la Vida หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า La Coordinadora) ซึ่งเป็นการจับมือกันขององค์กรรากหญ้าจำนวนมาก นับตั้งแต่สมัชชาละแวกบ้าน สหภาพแรงงาน กลุ่มสิ่งแวดล้อม นักเศรษฐศาสตร์ ทนายความ นักศึกษา ฯลฯ โดยมีโฆษกเป็นนักสหภาพแรงงานชื่อ ออสการ์ โอลิเวรา. ใน ค.ศ. 2003 La Coordinadora ขยายเป้าหมายไปสู่การเรียกร้องให้โอนกิจการก๊าซธรรมชาติและน้ำมันกลับมาเป็นของชาติ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า "สงครามก๊าซ" (Gas War) โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากพรรค MAS เช่นเคย

ถึงแม้โอลิเวราโด่งดังมากจากการต่อสู้ทั้งสองครั้ง จนได้รับรางวัลและเดินทางไปต่างประเทศ กระนั้นก็ตาม เขาก็เป็นเพียงโฆษกและผู้นำคนหนึ่งของ La Coordinadora หาใช่ผู้นำเดี่ยวไม่. La Coordinadora เป็นองค์กรที่ไม่มีผู้นำคนใดคนหนึ่งตายตัว มีการจัดตั้งในเชิงระนาบ ใช้กระบวนการประชาธิปไตยทางตรงและการแสวงหาฉันทามติ โครงสร้างที่เป็นลักษณะใยแมงมุมเช่นนี้ โอลิเวรากล่าวว่า มาจากภูมิปัญญาของชาวพื้นเมืองที่เป็นฐานสำคัญในชุมชนของเขา แนวคิดของการทำงานร่วมกันเพื่อความอยู่ดีกินดีของส่วนรวม เป็นแนวคิดที่โอลิเวราได้มาจากประสบการณ์ในการ "ฟัง" ชาวพื้นเมืองเหล่านี้. เขากล่าวว่า ในหมู่ชนพื้นเมือง มีแม้กระทั่งความเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนคือหัวใจสำคัญของความอยู่รอดของชุมชน ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงจากระบบทุนนิยมที่เชื่อว่า ธรรมชาติมนุษย์คือการแข่งขัน

แรงงานนอกระบบ
การผลิตตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ที่กระบวนการผลิตถูกแบ่งซอยย่อยและกระจายไปตามประเทศต่าง ๆ ทำให้การก่อตั้งสหภาพแรงงานยากลำบากขึ้น วิธีการจ้างงานแบบเหมาช่วง ภาคการผลิตที่หดเล็กลงและภาคการเงินที่ขยายตัวอย่างมหาศาล สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบและชนชั้นกึ่งกรรมาชีพขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในละตินอเมริกา มีแรงงานนอกระบบและแรงงานว่างงานจำนวนมหาศาล คนเหล่านี้อาศัยอยู่ตามสลัมในเมืองและรอบเมือง เนื่องจากปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินมีมาช้านานแล้ว ทำให้แรงงานนอกระบบในภูมิภาคนี้แตกต่างจากแรงงานนอกระบบในประเทศไทย กล่าวคือ พวกเขาตัดขาดจากชนบทอย่างสิ้นเชิง ไม่มีทางเลือกหรือทางถอยเหลือไว้ให้อีก

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นอย่างรุนแรง ทำให้สลัมขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเกือบทั้งหมด แรงงานนอกระบบในสลัมจึงจัดตั้งรวมตัวกันเป็นละแวกบ้าน (barrio หรือ neighbourhood) แต่ละละแวกบ้านจะร่วมมือกันจัดหาสาธารณูปโภคกันเองตามมีตามเกิด นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกันระหว่างละแวกบ้าน เวลาที่ต้องการระดมพลังเรียกร้องทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มละแวกบ้านในสลัม สามารถมีพลังถึงขั้นเป็นฐานเสียงของรัฐบาลได้ อาทิเช่น การก้าวขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีอูโก ชาเวซในเวเนซุเอลา ก็มีฐานเสียงส่วนใหญ่มาจากกลุ่มละแวกบ้านในสลัม เมื่อชนชั้นสูงในประเทศนี้พยายามทำรัฐประหารโค่นล้มชาเวซ ก็ได้อาศัยชาวชุมชนละแวกบ้านจำนวนมากออกมาแสดงพลังในท้องถนน จนชาเวซสามารถกลับขึ้นมาสู่อำนาจได้อีกครั้ง ดังนั้น การจัดตั้งของแรงงานนอกระบบจึงต้องเชื่อมโยงกับชุมชนละแวกบ้านอย่างแนบแน่น นี่เป็นลักษณะสำคัญของการจัดตั้งในละตินอเมริกา

เนื่องจากแรงงานนอกระบบไม่สามารถเรียกร้องต่อทุนแบบเดียวกับที่สหภาพแรงงานในระบบสามารถทำได้ แรงงานนอกระบบจึงต้องหันมาเรียกร้องต่อรัฐแทน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ขบวนการแรงงานไร้งานหรือปีเกเตโรส์ (piqueteros) ในประเทศอาร์เจนตินา (13)

(13) September-October 2005, (online edition).

ขบวนการปีเกเตโรส์ในอาร์เจนตินา
ขบวนการปีเกเตโรส์เป็นขบวนการของคนว่างงาน กึ่งว่างงาน และแรงงานนอกระบบหลายแสนคน จัดตั้งเป็นองค์กรแบบกระจายอำนาจในลักษณะของ "สหพันธ์" โดยมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ขบวนการปีเกเตโรส์เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1990 แต่ขณะที่กลุ่มองค์กรเหล่านี้เติบโตขึ้น พวกเขากลับถูกฝ่ายซ้ายในประเทศนี้มองข้าม ทั้งนักการเมืองในพรรคประชานิยมและหัวขบวนนักปฏิวัติมาร์กซิสต์ทั้งหลาย ซึ่งปรกติมักกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเป็นผู้นำของกลุ่มคนยากจนเสียเหลือเกิน กลับละเลยการเติบโตขององค์กรแรงงานว่างงานเหล่านี้ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะในสายตาของมาร์กซิสต์ แรงงานเหล่านี้ไม่ใช่ประธานของการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มจัดตั้งปีเกเตโรส์จึงไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิธีปฏิบัติงานแบบฝ่ายซ้ายยุคเก่า ซึ่งมีรูปแบบการจัดตั้งแบบบังคับบัญชาเป็นลำดับขั้น. ขบวนการปีเกเตโรส์ดำเนินงานด้วยวิถีประชาธิปไตยแบบรากหญ้าที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งในการปฏิบัติงานและการระดมมวลชน จุดเน้นในการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและความเท่าเทียมในการตัดสินใจภายในองค์กรนี่เองที่ต่อมาเรียกกันว่า "การจัดตั้งองค์กรแนวระนาบ" หรือ "วิถีระนาบ" (horizontalidad) (14) พวกเขายังปฏิเสธ "ระบบหัวคะแนน" (clientelism) ที่พรรคการเมืองในอาร์เจนตินาชอบใช้เพื่อหาคะแนนเสียงจากองค์กรจัดตั้งที่ได้รับความนิยม (ระบบที่ทำให้มีการขายคะแนนเสียงในชุมชนจัดตั้งแลกกับเงิน สิ่งของหรือการอุปถัมภ์อย่างใดอย่างหนึ่ง) นอกจากนี้ พวกเขายังใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ดำรง "ความเป็นเอกเทศ" (autonomy) โดยไม่ยอมขึ้นต่อนักการเมืองคนใดในอาร์เจนตินา การจัดตั้งแนวระนาบและความเป็นอิสระทางการเมืองถือเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการปีเกเตโรส์

วิธีการเรียกร้องต่อรัฐของปีเกเตโรส์ ใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า cortas de ruta นั่นคือ การปิดถนน เพื่อสร้างแรงกดดันให้ข้อเรียกร้องประสบผล เนื่องจากชุมชนแออัดที่พวกเขาอยู่อาศัยมักอยู่ตามชานเมือง มันจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการปิดสกัดการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือ โดยเข้าไปยึดและปิดถนนหลวงหรือสะพานสายหลัก วิธีการนี้คือการจี้เข้าไปที่จุดเปราะบางของระบบเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา นั่นคือ การขนส่งสินค้า. ยุทธการปิดถนนทำให้ขบวนการสามารถผสมผสานข้อเรียกร้องเฉพาะหน้า (เช่น อาหาร) เข้ากับข้อเรียกร้องระยะยาวที่กดดันให้รัฐบาลหันมาเหลียวแลปัญหาการว่างงาน สองประการนี้ถือเป็นเหตุผลสำคัญในการกำหนดชัยชนะของขบวนการปีเกเตโรส์. ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ ค.ศ. 2003 ขบวนการสามารถกดดันให้รัฐบาลดำเนินโครงการช่วยเหลือคนว่างงานทั่วประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการตัดลดงบประมาณทางด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามแนวทางของไอเอ็มเอฟ ซึ่งก็คือแนวทางของลัทธิเสรีนิยมใหม่นั่นเอง

การเมืองภาคประชาชน: การรับมือวิกฤตการณ์ของชาวอาร์เจนตินา
เมื่ออาร์เจนตินาประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปลายปี ค.ศ. 2001 การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมกับการล่มสลายของความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยตัวแทน (representative democracy) มีประชาชนจำนวนมาก ทั้งชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลออกไปถึง 4 รัฐบาลภายในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ ผู้ประท้วงเหล่านี้มีชื่อเรียกกันว่า caceroleros จากการที่พวกเขาใช้การเคาะหม้อกระทะเป็นทั้งการส่งเสียงประท้วงและเป็นสัญญาณเรียกเพื่อนบ้านออกมาร่วมประท้วง โดยมีคำขวัญอันโด่งดังคือ "Que se vayan todos!" หรือ "ไสหัวไปให้หมด!" ผู้ที่ถูกประชาชนขับไล่ในที่นี้ก็คือนักการเมืองและไอเอ็มเอฟนั่นเอง

ขบวนการประชาชนของอาร์เจนตินาท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ไม่มีหลักทฤษฎีหรือได้รับอิทธิพลจากแนวคิดใด ๆ กล่าวได้ว่ามันคือการลุกขึ้นของ "ภาคประชาสังคม" ที่พยายามรักษาเนื้อเยื่อของสังคมไว้ไม่ให้การพังทลายของเศรษฐกิจฉีกทึ้งสังคมออกเป็นชิ้น ๆ ชนชั้นกลางจับมือร่วมกับชนชั้นล่างอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีการสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น การสร้างตลาดที่ใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือคูปองแทนเงินสด การทำโรงครัวรวมในหมู่เพื่อนบ้านเพื่อลดค่าใช้จ่าย การแจกจ่ายอาหารแก่ผู้ตกงาน ฯลฯ

การจัดตั้งของประชาชนในช่วงวิกฤตที่น่าสนใจก็คือ สมัชชาละแวกบ้าน (asambleas barriales หรือ neighbourhood assemblies) ขึ้นมาแก้ปัญหาในชุมชนอย่างเป็นอิสระจากพรรคการเมือง มีการใช้ "วิถีระนาบ" อย่างเข้มข้น โดยใช้กระบวนการตัดสินใจแบบแสวงหาฉันทามติ นอกจากพยายามแก้ปัญหาในชุมชนของตนแล้ว สมัชชาละแวกบ้านราว 200 องค์กร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงบัวโนสไอเรส พยายามสร้างบทบาทระดับชาติด้วยการส่งตัวแทนไปประชุมกำหนดยุทธศาสตร์กันเป็นครั้งคราว สมัชชาละแวกบ้านเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ มีความเข้าอกเข้าใจในกลุ่มปีเกเตโรส์มากขึ้น และสร้างความสมานฉันท์ต่อกลุ่มนี้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กระนั้นก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตและมีความมั่นคงมากขึ้น ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็กลับไปใช้ชีวิตตามปรกติ ความสมานฉันท์ระหว่างชนชั้นก็เริ่มจางหายไป (15)

(15) Carmen Ferradds, "Argentina and the End of the First World Dream," in Stanley Aronowitz and Heather Gautney (eds.), Implicating Empire (New York: Basic Books, 2003), p. 309-324.

ขบวนการที่โด่งดังและยังดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ขบวนการกอบกู้กิจการโดยคนงาน (recuperated enterprises) (16) ขบวนการนี้ก็เช่นเดียวกับขบวนการอื่น ๆ ในอาร์เจนตินายุคนั้น กล่าวคือ เกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ เนื่องจากโรงงานจำนวนมากล้มละลายและลอยแพคนงาน ประกอบกับปัญหาว่างงานที่รุนแรงในประเทศ ทำให้คนงานไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยึดกิจการมาบริหารเอง กิจการที่ยึดมามีทั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานกระเบื้อง โรงพิมพ์ โรงแรม ฯลฯ วิธีการจัดตั้งของคนงานส่วนใหญ่มักจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ตัดสินใจด้วยการประชุมคนงานทุกคน ไม่มีโครงสร้างบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้น คนงานที่ทำงานด้านบริหาร ฝ่ายขาย ฝ่ายธุรการ จะได้รับค่าแรงเท่ากับคนงานภาคการผลิตหรือทำความสะอาด นอกจากนี้ กิจการที่คนงานกอบกู้มักจะมีความสมานฉันท์แนบแน่นกับชุมชนโดยรอบ ชาวชุมชนเป็นผู้ปกป้องกิจการของคนงานไม่ให้ตำรวจเข้ามาขับไล่ ในขณะที่คนงานมักใช้สถานประกอบการของตนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านขบวนการประชาชนและสถานที่จัดงานด้านวัฒนธรรม

(16) ผู้เขียนเขียนถึงขบวนการกอบกู้กิจการโดยคนงานไว้ในหลายที่ด้วยกัน ทั้งในบทความ "ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่รากหญ้า" ในเว็บไซท์วิทยาลัยวันศุกร์ และในโครงการแปลเพื่อสิทธิมนุษยชน เว็บไซท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

แม้จะมีฝ่ายซ้ายหลายคนวิจารณ์ว่า การที่ขบวนการประชาชนในอาร์เจนตินาปฏิเสธอำนาจรัฐอย่างสุดขั้ว จนทำให้ละเลยการยึดอำนาจรัฐและการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากถึงโคน แต่มรดกทางความคิดที่ชาวอาร์เจนตินาในช่วงวิกฤตทิ้งไว้ให้ขบวนการสังคมก็คือ การจัดตั้งแนวระนาบ การตัดสินใจโดยแสวงหาฉันทามติ และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy)

บราซิลกับขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน
ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินหรือ MST (Movimento dos Trabalhadores Rurais Sem Terra หากแปลตรงตัวจะแปลว่า "ขบวนการแรงงานชนบทไร้ที่ดิน) ในบราซิล ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1979 กล่าวได้ว่า MST เป็นขบวนการสังคมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและเป็นไปได้ว่าอาจจะใหญ่ที่สุดในโลก การเกิดขึ้นของขบวนการสืบเนื่องมาจากปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกร และการกระจุกตัวของที่ดินในความครอบครองของเจ้าที่ดินรายใหญ่ไม่กี่ราย ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินจะบุกเข้ายึดที่ดินรกร้างมาทำการเกษตรและก่อตั้งเป็นนิคม ในปัจจุบันมีนิคมเช่นนี้ถึงราว 5,000 แห่งในบราซิล รวมเป็นพื้นที่กว่า 135 ล้านไร่ มีชาวนิคมถึงราว 2 ล้านคน และมีแรงงานไร้ที่ดินอีกราว 150,000 คน กำลังรอยึดที่ดินแห่งใหม่

การจัดการในนิคมของขบวนการนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก มีการก่อตั้งโรงเรียนและสอนด้วยปรัชญาการศึกษาของเปาโล แฟร์ จัดการศึกษาให้ผู้ใหญ่ การดูแลสุขภาพ พยายามสร้างอธิปไตยทางอาหารและการทำธุรกิจเกษตรแบบสหกรณ์ การต่อสู้กับธุรกิจเกษตรข้ามชาติ พัฒนาเทคนิคการเกษตรใหม่ ๆ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (17)

(17) Raúl Zibechi, "Creating the Bases for a New World," Americas Program Zibechi Report (Washington, DC: Center for International Policy, August 23, 2007), http://americas.irc-online.org/am/4494.

ลักษณะการจัดตั้งที่สำคัญของขบวนการแรงงานไร้ที่ดินคือ
1. การนำเป็นหมู่คณะ เรื่องนี้เกิดมาจากความจำเป็นอย่างที่สุด เพราะผู้นำมักถูกลอบสังหารง่ายมากในบราซิล
2. สมาชิกต้องมีส่วนร่วมและส่วนได้ส่วนเสียในปฏิบัติการยึดที่ดินมาตั้งแต่ต้น
3. เมื่อได้ที่ดินแล้ว ต้องทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเอง
4. ต้องสละเงินหรือแรงงานให้ขบวนการด้วย
5. ต้องศึกษาทฤษฎีการเมือง
6. ต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาเสริมเพื่อทดแทนผู้นำรุ่นเก่าตลอดเวลา (18)

(18) จากบทสัมภาษณ์เฌา เปโดร สชีดิเล ในหนังสือ Movement of Movements ซึ่งจะตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

นอกจากนี้ ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินยังพยายามสร้างความร่วมมือในระดับโลก โดยเฉพาะการก่อตั้งองค์การชาวนาโลกหรือ Via Campesina ที่ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินเป็นสมาชิกรายใหญ่ อีกทั้งยังพยายามสร้างความสัมพันธ์กับมวลชนที่ไม่มีการจัดตั้งนอกขบวนการด้วย เช่น ขบวนการพยายามเข้าไปสร้างความสมานฉันท์กับกลุ่มวัยรุ่นฮิปฮอป เป็นต้น

เมื่อพรรคแรงงานของบราซิลส่งลูลาลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินคือฐานมวลชนสำคัญที่สนับสนุนลูลาจนชนะการเลือกตั้ง แม้จะยังรักษาความเป็นอิสระของตนไว้และสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข เมื่อลูลายังคงใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่และไม่ได้ปฏิรูปที่ดินตามที่ให้สัญญา ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินก็ออกมากดดันและวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีลูลาอย่างหนัก การรักษาความเป็นอิสระของขบวนการไว้ ทำให้ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินสามารรักษาความชอบธรรมของขบวนการไว้ได้ แตกต่างจากขบวนการ CONAIE ในเอกวาดอร์ ที่เคยเกือบล่มสลายเพราะการไปสนับสนุนนักการเมืองจนละทิ้งความเป็นอิสระของขบวนการ

การปฏิวัติโบลิวาร์ในเวเนซุเอลา
ความโด่งดังของขบวนการซาปาติสตาในเม็กซิโกหลังจาก ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา ทำให้การดำเนินการทางการเมืองแบบไม่มุ่งยึดอำนาจรัฐได้รับความสนใจมากในตะวันตก รวมทั้งในบางประเทศของละตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา เป็นต้น. แต่แนวคิด "เปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ยึดอำนาจรัฐ" ก็เผชิญภาวะตีบตันบางประการ เพราะแม้แต่ขบวนการซาปาติสตาก็ยังแก้ปัญหาของตนไม่ลุล่วง ส่วนขบวนการในอาร์เจนตินาก็ค่อย ๆ ซบเซาเมื่อวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไป. กระนั้นก็ตาม ละตินอเมริกายังคงเป็นจุดศูนย์รวมความคึกคักทางการเมืองอยู่ดี เมื่ออูโก ชาเวซ ก้าวขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 1998 และผลักดันการปฏิวัติโบลิวาร์สำเร็จในระดับหนึ่ง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของบรรดามาร์กซิสต์ฝ่ายซ้ายหลายคนว่า นี่แหละคือความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการยึดอำนาจรัฐเท่านั้น

อูโก ชาเวซเคยพยายามทำรัฐประหารมาก่อนในสมัยที่ยังเป็นนายทหาร แต่การรัฐประหารที่ล้มเหลวนี้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากองค์กรฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนชาเวซไม่มีพลังเพียงพอ ทั้งนี้เพราะองค์กรเหล่านี้ละเลยแรงงานนอกระบบ ไม่เคยเข้าไปจัดตั้งประชาชนกลุ่มนี้ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ. ชาเวซรับรู้บทเรียนครั้งนั้นเป็นอย่างดี เมื่อหันมาเป็นนักการเมืองและชนะการเลือกตั้ง ชาเวซจึงสร้างความสมานฉันท์กับแรงงานนอกระบบในสลัมรอบเมืองหลวง การจัดตั้งองค์กรของแรงงานนอกระบบในเวเนซุเอลาเกิดขึ้นทั้งสองทิศทาง มีการจัดตั้งองค์กรละแวกบ้านบ้างแล้วตั้งแต่ก่อนยุคชาเวซ และเมื่อชาเวซขึ้นครองตำแหน่ง สิ่งที่เขาส่งเสริมมากที่สุดคือการจัดตั้งองค์กรของประชาชนระดับรากหญ้า

แนวคิดพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การจะบรรลุผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เขาจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ผลการประชามติทำให้มีก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ในจำนวนสมาชิก 131 คน ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่ม Polo Patriotico ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรจำนวนมากที่สนับสนุนรัฐบาลชาเวซ ชนะการเลือกตั้งเกือบทั้งหมด

แนวคิดพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาและควบคุมอำนาจทางการเมือง. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการก้าวให้พ้นระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน และระบบการเมืองแบบสองพรรคใหญ่ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งหมดความหมาย และประชาชนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจทางด้านนโยบายของประเทศ. หลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญจึงเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) การลงประชามติและการระดมพลังประชาชน ส่งเสริมการจัดตั้งและการมีส่วนร่วมขององค์กรรากหญ้า โดยให้ประชาชนจัดตั้งกันเอง ให้อำนาจประชาชนเข้ามามีบทบาทด้านการเสนอกฎหมาย ไม่ได้มองว่าประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง แต่เป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการสร้างสรรค์ประเทศ

ชมรมโบลิวาร์ (Bolivarian Circles)
องค์กรภาคประชาชนที่มีบทบาทมากในเวเนซุเอลาคือ ชมรมโบลิวาร์ (Bolivarian Circles) ซึ่งมีฐานการจัดตั้งอยู่ตามละแวกบ้านในเมืองใหญ่ ๆ จุดกำเนิดของชมรมโบลิวาร์เริ่มขึ้นมาในปี ค.ศ. 2000 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันเป็นการริเริ่มของกลุ่มคนในชุมชนโดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือ รวมตัวกันศึกษารัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา

การขยายตัวของชมรมมีทั้งเป็นไปเองโดยธรรมชาติและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ จากจุดเริ่มต้นเพื่อศึกษาสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มันกลายเป็นการจัดตั้งขบวนการทางการเมืองในระดับท้องถนน และยิ่งการเมืองของเวเนซุเอลาโลดโผนเท่าไร ยิ่งชนชั้นกระฎุมพีพยายามหาทางโค่นล้มชาเวซมากเพียงใด ชมรมโบลิวาร์ก็ยิ่งพัฒนาตัวเองเป็นกลุ่มพลังของประชาชนรากหญ้าเพื่อต่อสู้กับอำนาจของชนชั้นปกครองเดิม

นอกจากชมรมโบลิวาร์แล้ว รัฐบาลชาเวซยังส่งเสริมการก่อตั้งสหกรณ์ให้เป็นองค์กรจัดตั้งของแรงงานนอกระบบ การส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมีอาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปที่ดิน, สภาวางแผนสาธารณะท้องถิ่น เป็นต้น. องค์กรเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้พลเมืองเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมองค์กรต่าง ๆ เช่น สหภาพแม่บ้าน เป็นต้น

การจัดตั้งองค์กรประชาชนขึ้นมามากมายในเวเนซุเอลา ทั้งที่จัดตั้งเองและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อการเมืองของเวเนซุเอลา เนื่องจากกลุ่มทุนในเวเนซุเอลาพยายามโค่นล้มรัฐบาลหลายครั้ง แต่รัฐบาลก็รอดมาได้ด้วยการแสดงพลังของประชาชนตามท้องถนน ในขณะเดียวกัน องค์กรประชาชนเหล่านี้ก็คอยกดดันไม่ให้รัฐโอนอ่อนต่อพลังของทุน ด้วยเหตุนี้เอง ในเวเนซุเอลาจึงมีการต่อสู้ระหว่างพลังประชาชนกับพลังของทุนอยู่รอบ ๆ รัฐตลอดเวลา. ขณะที่ในบราซิลนั้น ถึงแม้ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินจะเป็นขบวนการขนาดใหญ่ แต่เมื่อขาดความร่วมมือจากองค์กรประชาชนในภาคส่วนอื่น ๆ ทำให้พลังประชาชนไม่สามารถกดดันประธานาธิบดีลูลาให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้

ถึงแม้องค์กรประชาชนของเวเนซุเอลาจะมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่มีอิสระและความคิดเป็นของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีชาเวซแพ้การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2007) ไปอย่างฉิวเฉียด บทเรียนครั้งนี้ทำให้ชาเวซตระหนักว่าความสมานฉันท์ไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข และการปฏิวัติที่แท้จริงและยั่งยืนต้องมาจากเบื้องล่างเท่านั้น (19)

(19) โปรดดู ภัควดี วีระภาสพงษ์, "เวเนซุเอลา: เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์," ฟ้าเดียวกัน (กรกฎาคม-กันยายน 2548), หน้า 142-187. นอกจากนี้ ผู้เขียนมีบทความเกี่ยวกับเวเนซุเอลาอยู่ในเว็บไซท์ประชาไท บทเรียนที่ได้จาก "การเมืองใหม่" ในละตินอเมริกา

เราจะเห็นได้ว่า ขบวนการประชาชนและ "การเมืองใหม่" ในละตินอเมริกามีความหลากหลายมาก มีทั้งการเมืองเพื่อยึดอำนาจรัฐและดำเนินการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรัฐ เช่น คิวบา เวเนซุเอลา โบลิเวีย เอกวาดอร์ เป็นต้น. มีขบวนการประชาชนที่อยู่ภายในรัฐและพยายามดำเนินการกดดันรัฐ โดยรักษาความเป็นอิสระของตนไว้ เช่น ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินในบราซิล ขบวนการปีเกเตโรส์ในอาร์เจนตินา ขบวนการกอบกู้กิจการโดยคนงานในอาร์เจนตินา เป็นต้น และมีขบวนการที่แยกตัวออกมาอยู่นอกรัฐโดยสิ้นเชิง เช่น ขบวนการซาปาติสตา เป็นต้น

สรุปบทเรียนทางการเมืองของประชาชนละตินอเมริกา
บทเรียนที่เราได้รับจากการดำเนินการทางการเมืองของประชาชนชาวละตินอเมริกา มีอาทิ:

1. การจัดตั้งองค์กรคือหัวใจของขบวนการประชาชน
หากขบวนการประชาชนไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กร ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเป็นแค่มวลชนที่ถูกปลุกระดมโดยนักวาทศิลป์ องค์กรทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิด องค์กรจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิของตน โดยเฉพาะสิทธิของแรงงาน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ การยอมรับสิทธิของแรงงานคือรากฐานที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย เพราะแรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ หากปราศจากองค์กรแรงงานที่แท้จริง ความเปลี่ยนแปลงจะไม่ยั่งยืนและไม่ถึงรากถึงโคน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งความสมานฉันท์ของประชาชนเกิดขึ้นโดยเป็นปฏิกิริยาต่อวิกฤตการณ์เท่านั้น จากนั้นก็จางหายไปอย่างรวดเร็ว

หากปราศจากขบวนการและองค์กรแรงงาน ประชาชนก็ไม่สามารถกดดันพรรคการเมืองให้ดำเนินนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ ต้องอาศัยการมีองค์กรประชาชนจำนวนมากและหลากหลายซึ่งครอบคลุมหลายภาคส่วน พลเมืองที่ไม่มีองค์กรรองรับ ย่อมไม่มีทางมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีพลัง

2. โครงสร้างการจัดตั้งองค์กรแนวใหม่

- การนำเป็นหมู่คณะ ผู้นำในองค์กรประชาชนของละตินอเมริกามักไม่ใช่คนที่พูดเก่ง แต่เป็นคนที่ทำงานหนัก ส่วนคนพูดเก่งมักจะเป็นโฆษก ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลการจูงใจของนักวาทศิลป์

- การจัดตั้งองค์กรแนวระนาบ ช่วยให้มีประชาธิปไตยในองค์กรมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดประชาธิปไตยทางตรง ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงและอำนาจมาจากเบื้องล่างอย่างแท้จริง (คำว่า "เบื้องล่าง" นี้ไม่นับรวมเอ็นจีโอ ซึ่งถือเป็นองค์กรที่ยัดเยียดความคิดจากเบื้องบน)

- การจับมือร่วมกับขบวนการสังคมต่าง ๆ หลายภาคส่วน โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกัน แม้จะมีความคิดเห็นต่างกันในบางเรื่องก็ตาม

- การจับมือข้ามชาติในลักษณะสากลนิยม การต่อสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้น จำเป็นต้องมีความเป็นโลกาภิวัตน์เท่า ๆ กับระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน โดยไม่ยึดติดกับลัทธิชาตินิยม

- ความเป็นอิสระจากพรรคการเมืองและนักการเมือง จะทำให้องค์กรประชาชนรักษาความชอบธรรมไว้ได้ หากองค์กรจะสนับสนุนนักการเมือง ก็ต้องตั้งเงื่อนไขไว้เสมอ

3. การทดลองทางเลือกใหม่ ๆ
มีทางเลือกใหม่ ๆ เช่น ขบวนการกอบกู้กิจการโดยคนงาน, สมัชชาละแวกบ้าน, ระบอบประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งตัวแทนถูกถอดถอนได้ตลอดเวลา เป็นต้น

4. การสร้างความหมายใหม่ให้แก่ "ชุมชน"
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมเสมอมา ในทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยานั้น ไม่เคยมีหลักฐานว่ามนุษย์ดำรงชีวิตอย่างปัจเจกบุคคลเลย มนุษย์ต้องอยู่ภายใน"ชุมชน"อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เพียงแต่ "ชุมชน" ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีลักษณะแบบเดียวกับ "ชุมชน" ตามจารีตประเพณี. ในละตินอเมริกานั้น "ชุมชน" อาจนิยามจากที่อยู่อาศัย (ละแวกบ้าน), ศาสนา (ชุมชนรากหญ้าที่สำนักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อยจัดตั้งขึ้น), เชื้อชาติ (ชาวพื้นเมือง), สถานประกอบการ (กิจการที่คนงานกอบกู้โรงงาน), ชมรม (ชมรมโบลิวาร์), แม้กระทั่งสหภาพแรงงานก็ถือเป็น "ชุมชน" อย่างหนึ่งได้

อนึ่ง การเน้นความสำคัญของ "ชุมชน" ยังเป็นการต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยปริยาย เนื่องจากลัทธิเสรีนิยมใหม่เชิดชูลัทธิปัจเจกบุคคลนิยม และต้องการให้มนุษย์เป็นแค่คนงานปัจเจกที่ขายแรงงานในตลาดบนพื้นฐานของเสรีภาพในการทำสัญญา

5. ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า หรือ direct action
ปฏิบัติการซึ่งหน้าคือการสร้างอุดมคติขึ้นมาในวันนี้ โดยไม่ร้องขอจากอำนาจรัฐหรือรอให้ยึดอำนาจรัฐเสียก่อน การยึดสถานประกอบการมาบริหารเองของแรงงาน, การสร้างเขตปกครองตนเองของซาปาติสตา, การยึดที่ดินของขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน, ล้วนเป็นปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า ที่ประสานวิธีการกับเป้าหมายเข้าด้วยกัน

6. การใช้สัญลักษณ์ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์
การตั้งชื่อขบวนการ มักนำชื่อของบุคคลในประวัติศาสตร์มาเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นทูปัก อามารู, เอมีเลียโน ซาปาตา (ซาปาติสตา), ซีโมน โบลิวาร์ (การปฎิวัติโบลิวาร์) เป็นต้น. การใช้แรงบันดาลใจจากบุคคลในประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและรวมผู้คนเข้าด้วยกัน โดยไม่ผูกติดกับชาติหรือเชื้อชาติ

7. ความเบิกบานของนักปฏิวัติ
ซาปาติสตาเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องนี้ พวกเขาทำให้การปฏิวัติที่มีเสียงหัวเราะ

คำถามที่จำเป็นต้องตอบ
ประเด็นสำคัญที่ควรครุ่นคิดให้ดีก็คือ อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการประชาชน, องค์กรทางการเมือง, และรัฐบาล. ในสมัยก่อน ความสัมพันธ์จะมีลักษณะแนวตั้ง กล่าวคือองค์กรทางการเมืองเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แล้วรัฐบาลปกครองหรืออุปถัมภ์ประชาชนอีกทีหนึ่ง โดยที่องค์กรทางการเมืองอ้างความเป็นตัวแทนประชาชน.

เมื่อองค์กรในละตินอเมริกานำวิธีการจัดตั้งแนวระนาบมาใช้ ถึงแม้จะสร้างความสัมพันธ์แบบเครือข่ายแนวระนาบและประชาธิปไตยทางตรงได้ แต่เมื่อองค์กรต้องสัมพันธ์กับรัฐ ความสัมพันธ์ก็ยังต้องเป็นแนวตั้งอยู่ดี ซาปาติสตาพยายามก้าวข้ามปัญหานี้ โดยทำให้มวลชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กรทางการเมือง เพื่อให้รัฐบาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชน แต่ซาปาติสตาทำเช่นนี้ได้ เนื่องจากพวกเขาเป็นเขตปกครองตนเอง

เมื่อหันมามองสภาพความเป็นจริงของรัฐต่าง ๆ ซึ่งยากที่จะทำให้องค์กรทางการเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชน ทางออกอย่างหนึ่งคือ การพยายามจัดตั้งองค์กรประชาชนให้มาก ๆ แต่คำถามก็ยังคงมีอยู่ดีว่า องค์กรทางการเมืองแบบไหนที่ควรเป็นตัวกลางสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังประชาชนกับโครงสร้างรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีคำถามอีก 3 ประการคือ

1. จะรักษาความเป็นอิสระขององค์กรประชาชนอย่างไร? ตัวอย่างของ CONAIE กับ MST เป็นตัวอย่างที่ควรนำมาศึกษา
2. ทำอย่างไรจะผลักดันผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของชุมชน กลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ที่มีหลากหลายมากไปพร้อม ๆ กันได้?
3. ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงกลุ่มประชาชนที่มีการจัดตั้ง กับ กลุ่มที่ไม่มีการจัดตั้งเข้าด้วยกัน. ความสัมพันธ์ของสองกลุ่มนี้ควรเป็นอย่างไร?

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก: "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรฯ กับลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่

แนวคิด "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มามากแล้วจากหลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้งผู้เขียนเองด้วย ในที่นี้ ผู้เขียนจะไม่วิจารณ์ลงไปในรายละเอียดอีก แต่อยากชี้ให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของแนวคิด "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรฯ เกิดมาจากเงื่อนไขเชิงภววิสัยที่เป็นแนวโน้มของประวัติศาสตร์ แนวคิด "การเมืองใหม่" แบบพันธมิตรฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่

ปัญญาชนของกลุ่มพันธมิตรฯ มักอ้างความชอบธรรมให้ตัวเองว่า พวกเขาคือแนวหน้าในการต่อสู้กับทุนสามานย์ ลัทธิเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ โดยมีทักษิณ ชินวัตรและพวกพ้องเป็น "ตัวแทนผู้กระทำ" ที่จะสร้างลัทธิเสรีนิยมใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น ไม่ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะใช้วิธีการไหน ร่วมมือกับใคร ขอเพียงโค่นล้มทุนสามานย์และลัทธิเสรีนิยมใหม่ลงได้ ก็ถือว่ามีความชอบธรรมแล้ว

การใช้ระบบตลาดเสรีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในขั้นตอนของเสรีนิยมใหม่เท่านั้น มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์อย่างน้อย 2 ครั้งในขอบเขตเล็กใหญ่แตกต่างกันไป คาร์ล โปลันยี (Karl Polanyi) เขียนบรรยายไว้ในหนังสือ The Great Transformation เพื่อชี้ให้เห็นว่า เมื่อการใช้ระบบตลาดเสรีกลายเป็น "กระแสนำ" ของระบบเศรษฐกิจสังคม ตลาดเสรีจะทำลายเนื้อเยื่อและโครงข่ายทางสังคม ถึงขนาดที่สังคมอาจต้องแตกสลายลง ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงต้องปกป้องตัวเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเรียกว่า "กระแสต้าน" ทวิลักษณ์แห่งกระแส (double movement) นี่เองที่เป็นเงื่อนไขเชิงภววิสัยที่จะทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงไปเมื่อต้องเผชิญหน้ากับระบบตลาดเสรี

โปลันยีชี้ให้เห็นว่า ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ตลาดเสรีในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน กำลังจะทำลายชุมชนดั้งเดิมของสังคมลง. "กระแสต้าน" ในสมัยนั้นคือสถาบันอนุรักษ์นิยมล้าหลังอย่างราชวงศ์ทิวดอร์. วิธีการที่ราชวงศ์ทิวดอร์ใช้เพื่อรักษาชุมชนไม่ให้แตกสลายก็คือ นโยบายที่เรียกกันว่า "สปีนแฮมแลนด์" กฎหมายและนโยบายสังคมชุดนี้ ทำให้แรงงานจากชนบทไม่อพยพเข้ามาในเมืองก็จริง แต่ก็กดขี่แรงงานไว้ในพื้นที่ ประกอบกับการบิดเบือนค่าแรงด้วยระบบสังคมสงเคราะห์ ทำให้แรงงานชนบทกลายเป็น "กระยาจก" ที่ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกดูถูกเหยียดหยามและไม่สามารถพึ่งตัวเองได้

ในยุคสมัยเดียวกันนั้น มี "กระแสต้าน" ในเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างสำคัญที่โปลันยียกมาคือ การสร้างนิคม New Lanark ของโรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen 1771-1858) นักสังคมนิยมและนักอุตสาหกรรมชาวเวลส์. นิคมอุตรสาหกรรมของเขาแสดงให้เห็นว่า คนยากจนและแรงงานสามารถดำรงชีวิตในระบบอุตสาหกรรมได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี หากเราไม่สามารถต้านทานการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ เราก็ควรสร้างชุมชนแบบใหม่บนพื้นฐานของอุตสาหกรรม

ระบบตลาดเสรีถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ภัยคุกคามของการแตกสลายทางสังคมส่งผลให้เกิด "กระแสต้าน" ที่เป็นระบบเผด็จการฟาสซิสต์ในยุโรป ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านพิจารณาข้อเขียนของโปลันยีที่อธิบายถึงลัทธิฟาสซิสต์ดังนี้:

"ประเทศที่กำลังก้าวไปสู่ขั้นตอนการเป็นฟาสซิสต์มักแสดงออกถึงอาการต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีขบวนการฟาสซิสต์จริง ๆ ดำรงอยู่เลยก็ได้ สัญญาณที่สำคัญเป็นอย่างน้อยที่สุดก็คือ การแพร่หลายของปรัชญาที่ไร้เหตุผล, สุนทรียศาสตร์ที่คลั่งเชื้อชาติ, การปลุกระดมทางการเมืองเพื่อต่อต้านทุนนิยม, ทัศนะที่แหวกแนวจากบรรทัดฐานทั่วไป, การวิพากษ์วิจารณ์ระบบพรรคการเมือง, การดูหมิ่นดูแคลน "ระบอบการปกครอง" หรือชื่ออะไรก็ตามที่ใช้เรียกกระบวนการประชาธิปไตยที่มีอยู่……" (*)

(*) บทเรียนที่เราได้รับจากการดำเนินการทางการเมืองของประชาชนชาวละตินอเมริกา

ในปัจจุบัน ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็คือโลกาภิวัตน์ของตลาดเสรี สภาพอันปั่นป่วนไร้ระเบียบของความโลภปัจเจกบุคคลกำลังก่อกวนสังคมจนใกล้แตกสลาย แน่นอน สังคมย่อมต้องปกป้องตัวเอง "กระแสต้าน" จึงเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ กันไป. เราได้เห็นแล้วว่า ในละตินอเมริกา "กระแสต้าน" ของประชาชนคนยากจนกำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งและมีพลัง มีการทดลองใหม่ ๆ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อเพิ่มพูนอำนาจแก่ประชาชนรากหญ้า ลดทอนอำนาจของทุน ในขณะเดียวกันก็สร้าง "ชุมชน" แบบใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อการอยู่รอดของมนุษย์

แต่ดังที่เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) ชี้ให้เห็นในหนังสือ A Brief History of Neoliberalism ว่า ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ ได้แสวงหาทางออกต่อความไร้ระเบียบของความโลภปัจเจกบุคคลโดยหันไปหาลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ (Neoconservatism) หรือที่เรามักเรียกนักอนุรักษ์นิยมใหม่ว่าพวก "นีโอคอน" นั่นเอง ฮาร์วีกล่าวถึงลักษณะของนักอนุรักษ์นิยมใหม่ไว้ว่า:

ประการแรก นักอนุรักษ์นิยมใหม่เชื่อว่าระเบียบสังคมคือคำตอบต่อสภาพสับสนวุ่นวายของผลประโยชน์ปัจเจกบุคคล และ

ประการที่สอง การให้ความสำคัญต่อศีลธรรมจรรยาอย่างเคร่งครัด โดยเชื่อว่าจะเป็นกาวสังคมที่จำเป็นต่อการรักษาองค์การเมืองให้มีความมั่นคง เมื่อต้องเผชิญกับอันตรายจากภายนอกและภายในประเทศ..."ผลประโยชน์ปัจเจกบุคคลอาจสร้างความสับสนวุ่นวายจนมีอำนาจเหนือระเบียบสังคมได้ อนาธิปไตยของตลาด การแข่งขัน และลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมที่ไม่มีการควบคุม…..อาจนำไปสู่การพังทลายของความผูกพันและความสามัคคีทั้งหมด จนสังคมตกลงสู่ขอบเหวของอนาธิปไตยและการทำลายล้างกันเอง

"เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงดูเหมือนมีความจำเป็นต้องใช้การข่มขู่บังคับระดับหนึ่งเพื่อฟื้นฟูระเบียบขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุนี้เอง นักอนุรักษ์นิยมใหม่จึงเน้นการสร้างความเข้มแข็งของกองทัพเพื่อเป็นยาถอนพิษความสับสนวุ่นวายของผลประโยชน์ปัจเจกบุคคล เหตุผลนี้เองทำให้นักอนุรักษ์นิยมใหม่มีแนวโน้มที่มักจะกระพือความหวาดกลัวภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของชาติ ทั้งภัยที่เป็นความจริงและจินตนาการขึ้นมา ทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ" (**)

(**) David Harvey, A Brief History of Neoliberalism (Oxford: Oxford University Press, 2007), p. 82-83.

ฮาร์วีชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้นักอนุรักษ์นิยมใหม่ดูเหมือนต่อต้านระบบตลาดเสรี แต่แท้ที่จริงแล้ว ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่จะฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนำขึ้นมา และเมื่อไรที่ชนชั้นนำมีอำนาจเข้มแข็ง พวกเขาก็จะนำระบบตลาดเสรีที่ให้ผลประโยชน์แก่ชนชั้นตนกลับมาใช้อีก

แนวทางของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดูเหมือนว่าจะไม่แตกต่างจากนักอนุรักษ์นิยมใหม่มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มนีโอคอนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และพรรครีพับลิกันเป็นหัวหอกสำคัญ ทั้งนีโอคอนอเมริกันและพันธมิตรฯ ต่างก็กระพือความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายหรือระบอบทักษิณ, ต่างก็เทศนาอย่างคลั่งไคล้ในคุณค่าทางศีลธรรมของ "ลัทธิชาตินิยมเชิงวัฒนธรรม" โดยที่ "การยืนยันคุณค่าทางศีลธรรมนี้อิงอาศัยการเรียกร้องหาอุดมคติของชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ จารีตทางวัฒนธรรม" ในขณะที่นีโอคอนอเมริกันเทศนาถึง "ความเป็นอเมริกัน" พันธมิตรฯ ก็เชิดชูสถาบันกษัตริย์และลัทธิราชาชาตินิยม. แม้แต่ "ระเบียบใหม่" ที่แกนนำพันธมิตรฯ เรียกร้องหา ก็เป็นคำ ๆ เดียวกับที่ฮิตเลอร์และซูฮาร์โตใช้มาก่อน รวมทั้งประธานาธิบดีเรแกนก็เคยเรียกร้องหา "ระเบียบโลกใหม่" มาแล้วเช่นกัน

หากพันธมิตรฯ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เชื่อได้ว่านี่จะเป็นการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนำบางกลุ่มในประเทศไทย ซึ่งจะนำลัทธิเสรีนิยมใหม่มาใช้อีกในอนาคต เหมือนดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส เป็นอาทิ. ดังนั้น ข้ออ้างของการต่อต้านทุนสามานย์และลัทธิเสรีนิยมใหม่ จึงไม่ใช่ข้ออ้างที่ชอบธรรมในตัวมันเอง ยาที่พันธมิตรคิดจะใช้เยียวยาความป่วยไข้ในสังคมไทยนั้น ดูจะสร้างผลข้างเคียงที่เลวร้ายปางตายยิ่งกว่าโรค ดังที่ยกตัวอย่างแล้วข้างต้นว่า "กระแสต้าน" ระบบตลาดเสรีนั้น มีทั้งรูปแบบที่ลดทอนความเป็นมนุษย์และกอบกู้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ แม้ว่าเราทุกคนจะเป็นผลิตผลของประวัติศาสตร์ แต่การเลือกอย่างไตร่ตรองให้ดีของเรา ก็อาจคัดท้ายนำทางประวัติศาสตร์ไปในทางที่ดีได้เช่นกัน

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1650 เรื่อง หนากว่า 33000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๐๔ มีนาคม ๒๕๕๒ : Release date 04 March 2009 : Copyleft MNU.

โปลันยีชี้ให้เห็นว่า ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ตลาดเสรีในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน กำลังจะทำลายชุมชนดั้งเดิมของสัง คมลง. "กระแสต้าน" ในสมัยนั้นคือสถาบันอนุรักษ์นิยมล้าหลังอย่างราชวงศ์ทิวดอร์. วิธีการที่ราชวงศ์ทิวดอร์ใช้เพื่อรักษาชุมชนไม่ให้แตกสลายก็คือ นโยบายที่เรียกกันว่า "สปีนแฮมแลนด์" กฎหมายและนโยบายสังคมชุดนี้ ทำให้แรงงานจากชนบทไม่อพยพเข้ามาในเมืองก็จริง แต่ก็กดขี่แรงงานไว้ในพื้นที่ ประกอบกับการบิดเบือนค่าแรงด้วยระบบสังคมสงเคราะห์ ทำให้แรงงานชนบทกลายเป็น"กระยาจก"ที่ ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกดูถูกเหยียดหยามและไม่สามารถพึ่งตัวเองได้. ในยุคสมัยเดียวกันนั้น มี "กระแสต้าน" ในเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นเช่นกัน คือ การสร้างนิคม New Lanark ของโรเบิร์ต โอเวน...

H