ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




28-02-2552 (1689)

ทัศนะวิพากษ์ว่าด้วยการแปลคำว่า "Engaged Buddhism"
Engaged Buddhism: สาระที่แท้ของพุทธศาสนากับปฏิบัติการทางสังคม
พระเดโชพล ชนาสโภ (เหมนาไลย) : ผู้วิจัย
ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ชั้นปีที่ ๒
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้วิจัย
เดิมชื่อ: ทัศนะวิพากษ์ว่าด้วยการแปลคำว่า "Engaged Buddhism" ว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม"
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา และการทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคำศัพท์
ดังกล่าว โดยพูดถึงที่มาของคำๆ นี้ ตลอดรวมถึงการอ้างอิงและพยายามให้ความหมายของนักวิชาการทางพุทธศาสนา
ชาวตะวันตก และในภาษาตะวันออก(ภาษาจีน) เพื่อเข้าถึงนัยสำคัญและความหมายที่แท้เกี่ยวกับรูปศัพท์ดังกล่าว

ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๘๙
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทัศนะวิพากษ์ว่าด้วยการแปลคำว่า "Engaged Buddhism"
Engaged Buddhism: สาระที่แท้ของพุทธศาสนากับปฏิบัติการทางสังคม
พระเดโชพล ชนาสโภ (เหมนาไลย) : ผู้วิจัย
ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ชั้นปีที่ ๒
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ทัศนะวิพากษ์ว่าด้วยการแปล
คำว่า "Engaged Buddhism" ว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม"

บทนำ

หากจะกล่าวว่าการศึกษาเกี่ยวกับ socially engaged Buddhism หรือที่มักเรียกย่อๆ ว่า engaged Buddhism อย่างเป็นวิชาการเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ คงจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยความจริงนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงการศึกษาพระพุทธศาสนาของประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากหากพูดในเชิงประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาแล้ว แนวคิดเรื่อง engaged Buddhism นั้น ถือได้ว่าเกิดขึ้นมาได้เพียงไม่นาน(1) และนักวิชาการชาวตะวันตกก็เพิ่งจะให้ความสนใจเข้าไปศึกษา (2) และด้วยเหตุนี้เอง คริสโตเฟอร์ เอส. ควีน (Christopher S. Queen) นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาซึ่งได้รับการยอมรับว่าเชี่ยวชาญด้าน engaged Buddhism มากที่สุดท่านหนึ่ง(3) จึงชี้ว่า การศึกษา engaged Buddhism ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น(4) หรืออาจเรียกว่าขั้น "สำรวจตรวจค้น" (exploratory) และ "ก่อร่างสร้างเสริม" (constructive)(5) กล่าวคือ นักวิชาการทางพระพุทธศาสนากำลังพยายามสร้างองค์ความรู้ และแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด engaged Buddhism ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิยาม ความหมาย ขอบเขตของแนวคิด ตลอดจนแนวปฏิบัติ ให้มีความชัดเจนมากที่สุด

สำหรับในวงการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเป็นวิชาการของประเทศไทย ดังที่ได้กล่าวว่าเพิ่งเริ่มให้ความสนใจเข้าไปศึกษา และโดยทั่วไปมักแปลคำว่า "engaged Buddhism" เป็นภาษาไทยว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" โดยไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้ที่ใช้คำแปลดังกล่าวเป็นคนแรก แต่ก็มีการใช้ตามกันมาอย่างแพร่หลาย ผู้เขียนเองเป็นผู้หนึ่งที่ใช้คำว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" มาโดยตลอดเช่นเดียวกัน(6) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ศึกษา engaged Buddhism ด้วยตนเอง ทำให้ผู้เขียนมองเห็นปัญหาที่อาจเรียก ได้ว่าเป็นปัญหา "หญ้าปากคอก" บางประการที่อาจส่งผลต่อการศึกษาและทำความเข้าใจแนวคิด engaged Buddhism ซึ่งปัญหานั้นก็คือการแปลคำว่า "engaged Buddhism" ว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" นั่นเอง

ด้วยเหตุดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจึงมุ่งนำเสนอ ปัญหาที่เกิดจากการแปลคำว่า "engaged Buddhism" ว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" นั้นเป็นอย่างไร และมีความสำคัญเพียงใด โดยผู้เขียนจะเสนอว่าคำแปลคำนี้ แม้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นคำแปลที่ผิดโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่คำแปลที่เหมาะสมเท่าใดนัก ทั้งนี้เนื่องจากคำแปลดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเข้าใจแนวคิด engaged Buddhism ผิดพลาดคลาดเคลื่อนโดยง่าย เพราะคำแปลนี้ไม่ได้สื่อถึง "นัยสำคัญ" ของแนวคิด engaged Buddhism โดยที่ผู้เขียนจะได้แสดงหลักฐานและเหตุผลเพื่อรองรับทัศนะวิพากษ์ของผู้เขียน และในท้ายที่สุดจะเสนอคำแปลที่เหมาะสมของคำว่า "engaged Buddhism"

ปัญหาอันเนื่องมาจากการแปลคำว่า "engaged Buddhism" ว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม"

แต่เดิมนั้น ผู้เขียนมิได้ให้ความสำคัญกับคำแปลของคำว่า "engaged Buddhism" เป็นพิเศษ เพราะในความเป็นจริงแล้วเท่าที่สังเกตเห็นการใช้คำๆ นี้โดยทั่วไป มักใช้โดยไม่แปล คือเป็นการพูดทับศัพท์ ส่วนคำแปลที่มักใช้กันคือคำว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" นั้นจะพบในงานเขียน เช่น บทความวิชาการ(7) หรือวิทยานิพนธ์(8) ในเบื้องแรกผู้เขียนเห็นว่าคำแปลดังกล่าวดูมีความเหมาะสม สามารถใช้เป็นคำแปลของคำว่า "engaged Buddhism" ได้ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่อง engaged Buddhism แล้ว ประกอบกับการได้ศึกษางานภาคเอกสารเกี่ยวกับ engaged Buddhism มากขึ้น และกลับมาพิจารณาคำว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" ซึ่งเป็นคำแปลของ "engaged Buddhism" อีกครั้ง ผู้เขียนพบว่าคำแปลดังกล่าวเป็น "คำแปลอย่างหลวมๆ" (loose translation) อาจกลายเป็นจุดที่ "หละหลวม" หากไม่ได้มีความระมัดระวัง ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าคำแปลคำนี้ขาด "นัย" (sense) ของความหมายที่แท้จริงซึ่งเป็น "นัยสำคัญ" (significance) ของแนวคิด engaged Buddhism

เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของคำว่า "engaged Buddhism" นักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับตามที่ศาสตราจารย์เค็นเน็ธ คราฟท์ (Prof. Kenneth Kraft) นักวิชาการด้าน engaged Buddhism คนสำคัญอีกท่านหนึ่งระบุว่าผู้ที่ใช้คำๆ นี้เป็นคนแรกคือท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุในพระพุทธศาสนานิกายเซนชาวเวียดนาม(9) เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เราควรจะทำต่อไปก็คือตรวจสอบดูว่าท่านนัท ฮันห์ใช้คำนี้ในความหมายใด สำหรับปัญหานี้มีคำตอบปรากฏอยู่ในธรรมบรรยายที่ท่านเองได้แสดงเอาไว้ในการอบรม-ปฏิบัติภาวนา (retreat) ในหัวข้อ "Engaged Buddhism in 21st Century" ณ กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ ๕-๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ (10) ท่านเล่าว่าเมื่อปี ค.ศ.๑๙๕๔ ประเทศเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้(11) บ้านเมืองเต็มไปด้วยความสับสน ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกขาดที่พึ่งพิงทางจิตใจ ท่านได้รับอาราธนาให้เขียนบทความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพื่อชี้แนะแนวทางแก่จิตวิญญาณของผู้คน ท่านจึงได้เขียนบทความโดยนำเสนอแนวคิด engaged Buddhism ซึ่งเป็นการกล่าวถึงพระพุทธศาสนาที่เข้าไปเกี่ยวข้องในขอบเขตของการศึกษา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง เป็นต้น(12) ท่านจึงได้กล่าวว่าแนวคิด engaged Buddhism เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๙๕๔ นี่เอง อย่างไรก็ตามคำว่า "engaged Buddhism" มีปรากฏจริงๆ เมื่อถูกใช้เป็นชื่อของหนังสือรวมบทความของท่านที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๔ ซึ่งคำว่า "engaged" นั้นในภาษาเวียดนามใช้คำว่า "Di vao cuoc doi" โดยคำว่า "Cuoc doi" หมายถึง "ชีวิต" (life) หรือ "สังคม" (society) ส่วนคำว่า "Di vao" หมายถึง "เข้าสู่" (to enter) ดังนั้นคำว่า "Di vao cuoc doi" จึงแปลว่า "การเข้าสู่ชีวิตหรือชีวิตทางสังคม" (entering into life, social life)(13)

ควรกล่าวด้วยว่า ประวัติของ engaged Buddhism ที่ท่านติช นัท ฮันห์ ได้แสดงไว้ในธรรมบรรยายชุดนี้ มีข้อมูลหลายส่วนที่ท่านเปิดเผยสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก(14) แต่อย่างไรก็ดีก่อนหน้านั้นก็ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ศึกษาวิเคราะห์ความหมายของคำว่า "socially engaged Buddhism" มาพอสมควร ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าควรนำเสนอไว้ในที่นี้ด้วย เนื่องจากการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าว เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันกับธรรมบรรยายของท่านติช นัท ฮันห์ และสามารถช่วยให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า "socially engaged Buddhism" ได้ดีขึ้น

การศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวจากนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาอาจแบ่งออกเป็น ๒ แนวทางด้วยกัน

แนวทางแรก มีความเห็นว่า คำว่า "socially engaged Buddhism" มาจากคำในภาษาฝรั่งเศสว่า "engage" (อ่านว่า "อังกาเย") และ "l'engagement" (อ่านว่า "เลอ อังกาเยอมัง") และโดยแท้จริงแล้วท่านติช นัท ฮันห์ เลือกใช้คำๆ นี้ เพื่อต้องการให้ครอบคลุมแนวคิดแบบเวียดนาม ๓ ประการ ได้แก่

๑) "ความตระหนักรู้อย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน" (awareness in daily life)
๒) "การรับใช้ / บริการสังคม" (social service) และ
๓) "ปฏิบัติการทางสังคม" (social activism) (15)

ควีนอธิบายเพิ่มเติมว่าคำว่า "engage" นี้หมายถึง "พูดจาเปิดเผยหรือเกี่ยวข้องทางการเมือง" (politically outspoken or involved) เป็นคำที่นิยมใช้กันทั่วไปในหมู่ปัญญาชนที่เป็นนักปฏิบัติการทางสังคม (activist intellectuals) ในอินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina) ในช่วงคริสตทศวรรษที่ ๑๙๖๐(16) ส่วนโดนัลด์ ร็อธเบิร์ก (Donald Rothberg) กล่าวว่า คำว่า "engage" เป็นคำสำคัญในหมู่ปัญญาชนฝรั่งเศสที่ใช้ในวาทกรรมทางการเมืองช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (เกิดขึ้นระหว่างค.ศ.๑๙๓๙-๑๙๔๕) ซึ่งคำนี้มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดของสำนักปรัชญาแบบ "อัตถิภาวนิยม" (existentialism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre, 1905-1980) ซึ่งในหนังสือเล่มสำคัญของเขาคือ "Being and Nothingness" (ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.๑๙๔๓) ซาร์ตร์กล่าวว่า "engaged" คือการ "ทำให้อิสรภาพของบุคคลเป็นจริง (ซึ่งทำได้)โดยการยอมรับและเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วม, ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในโลก, ของตนและสร้างพันธสัญญา/มีความรับผิดชอบ (ต่อการมีส่วนร่วมนั้น) อย่างตั้งใจและแน่ชัด" (17)

แนวทางที่สอง ในขณะที่แนวทางที่ ๒ เห็นว่า ตัวอักษรจีนที่ท่านติช นัท ฮันห์ ใช้เพื่อสื่อความหมายถึงคำว่า "engaged Buddhism" ตั้งแต่แรกนั้นคือคำว่า หยู่ ซื่อ ฟว๋อ เจี้ยว" ซึ่งประกอบด้วยตัวอักษร ๔ ตัว ได้แก่ หยู่ แปลว่า "เข้าสู่" (enter), ซื่อ แปลว่า "โลก" (world), ฟว๋อ แปลว่า "พระพุทธเจ้า" หรือ "พระ" หรือ "พระพุทธศาสนา", เจี้ยว แปลว่า "คำสอน" เมื่อนำรวมกันแล้วแปลโดยสาระได้ว่า "พระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก" (worldly Buddhism)(18) อนึ่ง บทความนี้ระบุว่าการที่ท่านนัท ฮันห์ ใช้ตัวอักษรจีนนั้น เนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้จารึกคัมภีร์ของพระพุทธศาสนามหายาน แต่ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลอีกประการหนึ่งอาจเป็นเพราะแต่เดิมนั้นภาษาเวียดนามใช้ตัวอักษรจีนเขียน ไม่ได้ใช้ตัวอักษรอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าความเห็นทั้ง ๒ แนวทางที่กล่าวมาเป็นการทำความเข้าใจคำว่า "engaged Buddhism" จากรากศัพท์ที่ต่างภาษากัน แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่าแนวทางทั้ง ๒ กลับมีความสอดคล้องกันเป็นอย่างดี กล่าวคือ ในแนวทางแรกนั้น คำว่า "engage" สามารถเป็นได้ทั้งคำคุณศัพท์ (adjectif) ซึ่งมีความหมายหนึ่งว่า "in action" (ที่ลงมือกระทำ)(19) และ "(politically) committed" (มีพันธสัญญา/ความรับผิดชอบ (ทางการเมือง)(20) และเป็นได้ทั้งคำนามเพศชาย (nom masculin) ซึ่งหมายความว่า "volunteer" (อาสาสมัคร)(21) ในขณะที่คำว่า "engagement" แปลว่า "commitment" (พันธกิจ,พันธสัญญา, ข้อผูกมัด) และมีไวพจน์คือคำว่า "respondsibilite" (ความรับผิดชอบ) อีกด้วย(22) จะสังเกตได้ว่า ความหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนทำให้คำว่า "engage" (รวมทั้ง engagement) มีนัยที่สื่อไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือแสดงให้เห็นถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในเรื่องทาง "โลก" (มีการเมือง เป็นต้น) ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นความหมายที่ใช้ในภาษาฝรั่งเศสในแนวทางแรก จึงไม่ได้แตกต่างจากความหมายที่ใช้ในภาษาจีนในแนวทางที่ ๒ แต่อย่างใด และทั้งหมดล้วนสื่อความหมาย ได้ตรงกับสารัตถะที่ท่านนัท ฮันห์ได้กล่าวไว้ในธรรมบรรยายที่กล่าวถึงข้างต้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งซึ่งอยู่ในธรรมบรรยายดังกล่าวที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจและควรนำมาพิจารณาเป็นพิเศษก็คือ การที่ท่านนัท ฮันห์ ได้อธิบายเอาไว้ว่า engaged Buddhism คือ "พระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันและทุกขณะ"(23) ท่านชี้ว่าคนทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่า "engaged Buddhism" มักจะคิดถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือการเดินขบวน (demonstration) เป็นต้น แต่ความจริงแล้วนั่นไม่ใช่องค์ประกอบพื้นฐานของ engaged Buddhism เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมเท่านั้น เพราะแท้ที่จริงนั้น "องค์ประกอบพื้นฐานคือมีการปฏิบัติธรรมอยู่ในทุกๆ ขณะของชีวิตประจำวัน" (24) เป็นการใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" (here and now) ในขอบเขตของร่างกาย จิตใจ และสภาวะแวดล้อม กล่าวอีกอย่างก็คือ engaged Buddhism เป็นการตอบสนอง (response) ต่อกายสังขาร (physiological formation) จิตตสังขาร (mental formation) และ "กายภาพสังขาร" (physical formation)(25) คำอธิบายของท่านในลักษณะนี้ ดูเหมือนจะให้น้ำหนักความสำคัญไปที่ความตระหนักรู้ มากกว่าการรับใช้/บริการสังคมและปฏิบัติการทางสังคม และอาจทำให้เกิดความเข้าใจต่อไปได้ว่า ความตระหนักรู้นี่เองที่เป็นนัยสำคัญบ่งชี้ถึงความเป็น engaged Buddhism

ความเข้าใจว่าความตระหนักรู้เป็นนัยสำคัญบ่งชี้ถึงความเป็น engaged Buddhism นั้น ความจริงแล้วเป็นความเข้าใจของชาวพุทธจำนวนไม่น้อย โดยผู้ที่มีแนวคิดเห็นทำนองนี้ มักมีความคิดว่าเพียงแค่การรักษาศีล หรือการปฏิบัติวิปัสสนาหรือสมถะภาวนา ก็ถือว่าเป็นการทำเพื่อสังคมแล้ว เพราะว่าตนเองไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้ทำให้สังคมเดือดร้อน ผู้ที่มีความเข้าใจเช่นนี้อาจคิดว่าตนเองถูกต้องมากยิ่งขึ้น เมื่อได้เห็นคำกล่าวของท่านนัท ฮันห์ ที่ผู้เขียนสรุปมาข้างต้นว่าปฏิบัติการทางสังคม เช่น การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือการเดินขบวน ไม่ใช่องค์ประกอบพื้นฐานของ engaged Buddhism. กระนั้นก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน อันเกิดจากการขาดความเข้าใจในหลักธรรมอย่างแท้จริง ที่สำคัญความเข้าใจผิดหรือความเห็นผิดนี้อาจนำไปสู่ความเห็นผิดมากยิ่งขึ้นได้ นั่นคือ ความเห็นว่าการที่ชาวพุทธโดยเฉพาะพระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทาง "โลก" เช่น การเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งความเห็นทำนองนี้เรามักพบได้อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น วลีอมตะที่ได้ยินจนคุ้นหูอย่าง "ไม่ใช่กิจของสงฆ์" ซึ่งผู้มีความเห็นดังกล่าวมักนำมาใช้ในการกล่าวหาการกระทำของพระสงฆ์ที่ตนไม่เห็นด้วย ที่น่าสังเกตก็คือ ความเห็นเช่นนี้ไม่ได้มีเฉพาะในคฤหัสถ์ หากยังมีในพระภิกษุสงฆ์ไม่น้อยอีกด้วย (26)

โดยสาระแล้วแนวคิดเรื่อง "การตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน" ของท่านนัท ฮันห์ นั้น ก็คือหลักสติปัฏฐานหรือสัมมาสตินั่นเอง แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ เมื่อกล่าวตามหลักการของสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ในขณะปฏิบัตินั้น จะต้องมีธรรมข้ออื่นประกอบร่วมกับสติด้วย ดังที่ข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตรระบุว่า "มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ" (อาตาปี สัมปชาโน สติมา)(27) ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการในมหาจัตตารีสกสูตรที่ว่า องค์มรรค ๓ องค์ ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติ จะต้องเกิดร่วมกันในเวลาที่องค์มรรคแต่ละองค์ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นเสมอ(28) เนื่องจากความเพียร (อาตาปี) ได้แก่ สัมมาวายามะ ส่วนสัมปชัญญะ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เพราะทั้งคู่มีองค์ธรรมเดียวกันคือปัญญา ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าคำว่า "awareness" ตามแนวคิดของ engaged Buddhism ซึ่งผู้เขียนเลือกใช้คำแปลว่า "ความตระหนักรู้อย่างแท้จริง" นั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะธรรมคือสติข้อเดียวเพียงโดดๆ หากแต่เป็นการ "ทำงาน" ร่วมกันของสติ (สัมมาสติ) สัมปชัญญะ (สัมมาทิฏฐิ) และความเพียร (สัมมาวายามะ)

เนื่องจากความตระหนักรู้อย่างแท้จริงอันเป็น "สภาวะของจิต" (mentality) หรือเป็น"คุณลักษณะ" (quality) ของจิตซึ่งเป็นนามธรรมอยู่ภายในนั้น มีสัมมาวายามะเป็นตัวผลักดันสำคัญ(30) ย่อมจะนำไปสู่พฤติกรรมทางกายและวาจาในเชิงสร้างสรรค์ที่เป็น "สภาพปรากฏ" (appearance) ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมภายนอก เนื่องจากสัมมาวายามะมีลักษณะสำคัญคือมีความไม่รู้จักพอในการสร้างความดีและสิ่งที่ดีด้วยความเพียรพยายามอย่างไม่ท้อถอย(31) หมายความว่า หากเป็นไปตามหลักการดังกล่าว เมื่อมีความตระหนักรู้อย่างแท้จริงแล้วก็จะต้องเกิดสภาพจิตที่มีความต้องการลงมือกระทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นเสมอ และนั่นย่อมนำไปสู่การลงมือกระทำหรือปฏิบัติจริง กล่าวคือ มีการรับใช้/บริการสังคมและ/หรือปฏิบัติการทางสังคมตามมาอย่างอัตโนมัติ หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าการรับใช้/บริการสังคมและ/หรือปฏิบัติการทางสังคมเป็นผลโดยตรงจากความตระหนักรู้อย่างแท้จริงนั่นเอง สอดคล้องกับที่ท่านนัท ฮันห์กล่าวว่า "สติต้องผูกพัน/เข้าร่วม (กับสังคม) เมื่อมีการเห็น (ความทุกข์) จะต้องมีการลงมือกระทำ(เพื่อดับทุกข์นั้น)…"(32) นั่นแสดงว่าตราบใดที่ไม่มีการรับใช้/บริการสังคมและ/หรือปฏิบัติการทางสังคมปรากฏให้เห็น ย่อมไม่ใช่ engaged Buddhism.

แต่ในขณะเดียวกันแม้มีการรับใช้/บริการสังคมและ/หรือปฏิบัติการทางสังคมปรากฏให้เห็น เราก็ยังไม่สามารถระบุได้โดยทันทีว่าเป็น engaged Buddhism จะต้องพิจารณาว่าการรับใช้/บริการสังคมและ/หรือปฏิบัติการทางสังคมดังกล่าว เกิดขึ้นและดำเนินไปบนพื้นฐานของความตระหนักรู้อย่างแท้จริงหรือไม่ ถ้าใช่จึงจะจัดว่าเป็น engaged Buddhism. โดยสรุปแล้ว ความตระหนักรู้จึงเป็นเงื่อนไขชนิดจำเป็นหรือเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ (necessary condition) แต่ไม่ใช่เงื่อนไขชนิดเพียงพอหรือเงื่อนไขสนับสนุน (sufficient condition) ของความเป็น engaged Buddhism (33)

ไม่เพียงเท่านั้น หากเราถือตามข้อเสนอของควีนที่ว่าแนวคิด engaged Buddhism เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อน (unprecedent) (34) engaged Buddhism ย่อมจะต้องมีความแตกต่างจากพระพุทธศาสนาในแนวทางอื่นๆ ดังนั้นเมื่อนำแนวคิด ๓ ประการของ engaged Buddhism มาพิจารณาอีกครั้ง จะพบว่า นัยสำคัญที่คำว่า "socially engaged Buddhism" ต้องการบ่งชี้เป็นพิเศษน่าจะอยู่ที่แนวคิดเรื่อง "ปฏิบัติการทางสังคม" มากกว่าอีก ๒ แนวคิด ทั้งนี้เนื่องจากหลักสติปัฏฐานนั้นถือเป็นหลักการปฏิบัติสำคัญที่พระพุทธศาสนาทุกนิกายยึดถือร่วมกันอยู่แล้ว (35) ส่วนแนวคิดเรื่อง"การรับใช้/บริการสังคม" ยังไม่อาจถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนได้ เพราะว่าไม่ใช่การรับใช้/บริการสังคมทุกรูปแบบที่จัดว่าเป็น engaged Buddhism เนื่องจากขบวนการ engaged Buddhism โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นอิสระ นั่นคือ ไม่ถูกควบคุมหรือแม้แต่สนับสนุนโดยรัฐ อำนาจทุน หรือโครงสร้างอำนาจอื่นๆ(36) ดังนั้นงานรับใช้/บริการสังคมที่ทำตามนโยบายรัฐโดยส่วนใหญ่ จึงไม่อาจจัดว่าเป็นแนวคิด engaged Buddhism เนื่องจากมีลักษณะเชิงรับ (passive) ไม่ใช่เชิงรุก (active) ที่หมายถึงมีลักษณะกระตือรือร้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เป็นความสมัครใจมากกว่าถูกบังคับหรือรับคำสั่งมา มีความแข็งขันเอาการเอางานในการดำเนินการต่างๆ ดังนั้น แนวคิดทั้ง ๒ จึงไม่ใช่ตัวบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของ engaged Buddhism แต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงเห็นว่าแนวคิดที่เป็น "นัยสำคัญ" ที่แท้จริงของ engaged Buddhism ได้แก่ แนวคิดเรื่อง "ปฏิบัติการทางสังคม" (social activism) ผู้เขียนคิดว่าข้อสรุปนี้เป็นข้อสรุปที่ตรงกับความเห็นของทั้งนักวิชาการทางพระพุทธศาสนา และผู้ปฏิบัติที่ยึดถือแนวทาง engaged Buddhism ตัวอย่างนักวิชาการได้แก่ แซลลี่ คิง ที่ให้นิยามของ engaged Buddhism ไว้ว่า "รูปแบบร่วมสมัยของพระพุทธศาสนาในลักษณะที่มีปฏิบัติการทางสังคมและการเมือง" (37) หรือดักลาส เอ็ม. แพ็ดเก็ท (Douglas M. Padgett) ที่ระบุตรงๆ ว่า engaged Buddhism คือรูปแบบปฏิบัติการทางสังคมแบบพุทธ(38) ส่วนด้านผู้ปฏิบัติ เช่น วิศวปานี (Vishvapani) สมาชิกของ Friends of the Western Buddhist Order (FWBO) ที่กล่าวว่า engaged Buddhism คือ พระพุทธศาสนา "ซึ่งประสานคุณค่าของการมองกลับสู่ภายในจิตใจ กับคุณค่าของปฏิบัติการทางสังคมอย่างชัดเจน" (40) นั่นเอง

ความหมายกว้างๆ ที่ใช้กันโดยทั่วไปของคำว่า "activism" (ปฏิบัติการ) นั้นหมายถึง "การกระทำโดยเจตนาที่มุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือการเมือง"(41) แต่คำๆ นี้ มักจะถูกใช้ในความหมายเดียวกับการประท้วง (protest) หรือการคัดค้าน (dissent) ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว ปฏิบัติการทางสังคมสามารถเกิดขึ้นจากการกำหนดทิศทางทางการเมือง (political orientation) ที่หลากหลายและมีขอบเขตของรูปแบบการแสดงออกที่กว้างขวาง นับตั้งแต่การเขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์หรือนักการเมือง การรณรงค์ทางการเมือง (political campaign), ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ (economic activism เช่น การต่อต้านไม่ซื้อหรือคว่ำบาตรสินค้า/ธุรกิจ (boycott), การให้ความอุปถัมภ์หรือสนับสนุนสินค้า/ธุรกิจ(patronage)), การชุมนุม (rallies), การเดินขบวน (marches), การหยุดงานประท้วง (work stoppages), การอดอาหารประท้วง (hunger strikes) หรือแม้กระทั่งการใช้กลยุทธ์แบบกองโจร (guerrilla tactics)

แต่ในบางกรณี ปฏิบัติการก็ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงหรือการเผชิญหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น นักปฏิบัติการในบางศาสนา พวกสตรีนิยม หรือพวกถือมังสวิรัติที่ใช้วิธีการพยายามชักชวนหรือจูงใจให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมโดยตรง มากกว่าการชักชวนหรือจูงใจให้รัฐบาลเปลี่ยนกฎหมาย หรือขบวนการทางสหกรณ์ (cooperative movement) ที่แสวงหาหนทางสร้างสถาบันใหม่ที่ยึดหลักการแห่งความร่วมมือกันโดยไม่ต้องมีการวิ่งเต้น (lobby) หรือประท้วงทางการเมืองแต่อย่างใด(42)

ควรกล่าวด้วยว่า ยังมีแนวคิดเรื่องปฏิบัติการ (ทางสังคม) ที่เรียกว่า "ปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปร" (transformational activism) ซึ่งหมายถึง "แนวคิดที่ผู้คนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปรทั้งภายในและภายนอกเพื่อสรรค์สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายขึ้นในโลก" (43) ปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปรนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในด้านชุมชน เศรษฐกิจ และการเมืองตัวอย่างของ "ปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปร" ได้แก่ "การรักษาสันติภาพ" (peacekeeping) ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (the United Nations) ให้ความหมายว่า "วิถีทางเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่เป็นทุกข์จากความขัดแย้ง ให้มีการสร้างสรรค์เงื่อนไขหรือภาวะเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน"

จากที่กล่าวมาทั้งหมด พอสรุปได้ว่า ตัวบ่งชี้ความแตกต่าง(distinguishing mark) ระหว่าง "engaged Buddhism" กับ"พระพุทธศาสนาแนวทางอื่น" ได้แก่ แนวคิดปฏิบัติการทางสังคมซึ่งต้องเกิดจากและเกิดควบคู่กับความตระหนักรู้อย่างแท้จริงอยู่ทุกขณะ หรือที่ควีนสรุปด้วยข้อความว่า "การบังเกิดร่วมกันของปฏิบัติการทางจิตวิญญาณและทางการเมือง" (the conjunction of spiritual and political practice) (44) นั่นเอง กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือในความเป็นจริงนั้น ไม่ได้มีการแบ่งแนวคิดที่เป็นองค์ประกอบของ engaged Buddhism ทั้ง ๓ (คือความตระหนักรู้อย่างแท้จริง, การรับใช้/บริการสังคม และ ปฏิบัติการทางสังคม)ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากแนวคิดทั้ง ๓ ประการนี้ไม่อาจแยกขาดจากกัน เพราะว่ามีลักษณะที่มีร่วมกันอยู่ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็น "แก่นแท้" (essence) ของแนวคิดทั้ง ๓ นั่นคือ "ความกระตือรือร้น/แข็งขันเอาการเอางาน" (active) ทั้งในแง่จิตใจและในแง่การกระทำ (active in mind and active in action) เพื่อง่ายต่อการอธิบาย ผู้เขียนขอนำเสนอเป็นแผนภาพดังนี้

จากแผนภาพข้างบน วงกลม A หมายถึงแนวคิด "การตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน" ซึ่งก็คือหลักสติปัฏฐานอันเป็นหลักการปฏิบัติที่พระพุทธศาสนาทุกนิกายยึดถือร่วมกันจึงเป็นวงกลมใหญ่สุดที่ครอบคลุม วงกลม B ซึ่งหมายถึงแนวคิด "การรับใช้/บริการสังคม" และวงกลม C ซึ่งหมายถึงแนวคิด "ปฏิบัติการทางสังคม" ที่มีบางส่วนทับซ้อนกันเอาไว้ทั้งหมด ส่วนของวงกลม B ที่ไม่ได้ทับซ้อนกับวงกลม C ได้แก่ การรับใช้/บริการสังคมที่มีลักษณะเชิงรับ (passive) ในขณะที่ส่วนที่ทับซ้อนกับวงกลม C ได้แก่ การรับใช้/บริการสังคมที่มีลักษณะเชิงรุก (active) จึงสามารถรวมเป็นปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งมีลักษณะเชิงรุกทั้งหมด ดังนั้นส่วนที่เป็น engaged Buddhism จึงได้แก่ พื้นที่วงกลมซ้อนทับสีฟ้าในแผนภาพนั่นเอง

จากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นจะเห็นได้ว่า การแปลคำว่า "engaged Buddhism" เป็น "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" จึงไม่สามารถครอบคลุมแนวคิดสำคัญที่กล่าวมาทั้ง ๓ ประการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแนวคิดเรื่อง "ปฏิบัติการทางสังคม" ซึ่งคำแปลที่ตรงความหมายควรจะเป็นคำที่มีนัยในเชิงรุก (active) มากกว่าคำว่า "เพื่อสังคม" ที่เป็นคำกลางๆ ไม่ได้บ่งนัยอย่างชัดเจนว่าเป็นเชิงรุกหรือเชิงรับ (passive) ยิ่งกว่านั้นคำว่า "engaged" ในที่นี้ ควรเป็นคำที่สื่อให้เห็นถึง "วิธีการ/วิถีทาง" (means) ซึ่ง engaged Buddhism เน้นย้ำ แต่คำแปลว่า "เพื่อสังคม" กลับเป็นตัวบ่งบอก "จุดหมายปลายทาง" (end) เพราะฉะนั้นการแปลคำว่า "engaged Buddhism" ว่า "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" จึงทำให้นัยสำคัญของคำๆ นี้ ขาดหายไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) หากจะกล่าวโดยเปรียบเทียบว่าช่วงอายุของพระพุทธศาสนาซึ่งเท่ากับ ๒๖๐๐ ปีโดยประมาณ คิดเป็นเวลาเท่ากับ ๑ วันแล้ว ช่วงอายุของ engaged Buddhism ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณคริสตทศวรรษที่ ๑๙๖๐ จะเทียบได้ว่าเพิ่งเกิดขึ้นได้เพียงประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

(2) แม้คริสโตเฟอร์ เอส. ควีน จะกล่าวว่าคำว่า "Socially engaged Buddhism" ปรากฏครั้งแรกอยู่ในชื่อหนังสือ ๒ เล่มซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.๑๙๘๘ ได้แก่ Sulak Sivaraksa, A Socially Engaged Buddhism (Bangkok: Thai Inter-Religious Commission for Development, 1988) และ Fred Eppsteiner (ed.), The Path of Compassion: Writings on Socially Engaged Buddhism (Berkeley, CA: Parallax Press, 1988) แต่ผู้เขียนเห็นว่าหนังสือ ๒ เล่มนี้เป็นหนังสือ "กึ่งวิชาการ" เสียมากกว่า เนื่องจากผู้เขียนบทความในหนังสือ ๒ เล่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธ ผู้มีแนวคิดและแนวปฏิบัติตามแนวทางของ engaged Buddhism ไม่ใช่นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาและรูปแบบของบทความที่เขียนก็ไม่จัดว่าเป็น "บทความทางวิชาการ" (academic article) ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับแซลลี่ บี. คิง (Sallie B. King) ที่กล่าวว่างานวิชาการชิ้นแรกเกี่ยวกับ engaged Buddhism ในโลกวิชาการตะวันตก ได้แก่ หนังสือที่เธอเป็นบรรณาธิการร่วมกับ คริสโตเฟอร์ เอส. ควีน คือ Christopher S. Queen and Sallie B. King (eds.), Engaged Buddhism: Buddhist Liberation Movements in Asia, (Albany, NY: State University of New York Press, 1996) เนื่องจากบทความในหนังสือเล่มนี้ล้วนเป็นบทความทางวิชาการอย่างเต็มรูปแบบ; โปรดดู Sallie B. King, Being Benevolence: the Social Ethics of Engaged Buddhism (Honolulu: University of Hawai'i Press, 2005), p. xi.

(3) Jeff Wilson, "Book Review: Action Dharma: New Studies in Engaged Buddhism, Edited by Christopher S. Queen, Charles Prebish and Damien Keown (London and New York: Rutledge Curzon, 2003)," in The Journal of Asian Studies May 2005; 64: 2, p. 436-7.

(4) Christopher S. Queen, "Engaged Buddhism: Agnosticism, Interdependence, Globalization," in Westward Buddhism: Buddhism beyond Asia, Edited by Charles Prebish and Martin Baumann (Berkeley and Los Angeles, California: University of California Press, 2002), p. 339.

(5) Christopher S. Queen, "Introduction: From Altruism to Activism," Action Dharma: New Studies in Engaged Buddhism, Edited by Christopher S. Queen, Charles Prebish and Damien Keown (London and New York: Rutledge Curzon, 2003), p. 1.

(6) ผู้เขียนเลือกใช้คำแปลคำนี้ในบทความของผู้เขียนทุกชิ้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ engaged Buddhism ซึ่งใช้ส่งเป็นรายงานในรายวิชาต่างๆ ในชั้นเรียนปริญญาเอก สำหรับบทความดังกล่าวที่ได้รับตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ พระเดโชพล ชนาสโภ, " 'วิทยาศาสตร์ใหม่' กับ 'พุทธจริยศาสตร์แนวใหม่' สอดคล้องหรือขัดแย้ง?," พระพุทธศาสนากับจริยศาสตร์: รวมบทความวิชาการทางพระพุทธศาสนา, การประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติและการสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ ๑ / ๑๓-๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, หน้า ๓๙๔-๔๐๖.

(7) เช่น พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ, "พระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนาม" ใน พระพุทธศาสนาในจีน ทิเบต เวียดนาม ญี่ปุ่น (กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๑), หน้า ๘๙-๑๒๑., พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณนา), "ประเด็นโต้แย้งว่าด้วยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม" วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๙, หน้า ๕๒-๘๘.

(8) เช่น หิมพรรณ รักแต่งาม, "การศึกษาวิเคราะห์การตีความหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของ ติช นัท ฮันห์" (วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๐) (ฉบับพิมพ์เผยแพร่ในงานพิธีประสาทปริญญา ประจำปี ๒๕๕๑)

(9) Kenneth Kraft, "Prospects of a Socially Engaged Buddhism," Inner Peace, World Peace: Essays on Buddhism and Nonviolence, Edited by Kenneth Kraft (Albany, NY: State University of New York Press, 1992), p. 18.

(10) ธรรมบรรยายในวันที่ ๕, ๖ และ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ได้รับการถอดความและนำมาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตโดยผู้ที่ใช้นามว่า "ญาณภัทร" (Nyanabhadra) ซึ่งระบุว่าเป็นสมาชิกของ Agung Sangha ประเทศอินโดนีเชียและเป็นนักศึกษาของสถาบันพุทธวิภาษวิธี (Institute of Buddhist Dialectic) ประเทศอินเดีย โดยธรรมบรรยายของวันที่ ๕ พ.ค. เป็นการปฐมนิเทศ (orientation) <www.scribd.com/doc/ 4237182/Engaged-Buddhism-Orientation-Ven-Thich-Nhat-Hanh>, วันที่ ๖ พ.ค. เป็นธรรมบรรยายในหัวข้อ "Definition of Engaged Buddhism" <www.scribd.com/doc/4248526/Engaged-Buddhism-The-Definition-of-Engaged-Buddhism-Ven-Thich-Nhat-Hanh>, วันที่ ๗ พ.ค. เป็นธรรมบรรยายในหัวข้อ "History of Engaged Buddhism" <www.scribd.com/doc/4938400/Engaged-Buddhism-History-of- Engaged-Buddhism-Ven-Thich-Nhat-Hanh> (หัวข้อของธรรมบรรยายดังกล่าว ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าได้มีการระบุอย่างเป็นทางการหรือเป็นหัวข้อที่ญาณภัทรเลือกใช้เอง) ผู้เขียนเข้าถึงเอกสารทั้ง ๓ ชุดเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เอกสารทั้งหมดถูกลบออกจากเว็บไซต์ดังกล่าวแล้วโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ดีธรรมบรรยายของวันที่ ๖ และ ๗ พ.ค. ได้ถูกนำมาสรุปและเรียบเรียงเป็นบทความอย่างเป็นทางการไว้ใน Thich Nhat Hanh, "History of Engaged Buddhism" in The Mindfulness Bell, Issue no.49 - Autumn 2008, p. 4-9. <www.mindfulnessbell.org>

(11) เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.๑๘๘๓ กระทั่งวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ.๑๙๔๕ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) ได้ประกาศตัวเป็นเอกราช แต่ฝรั่งเศสก็ยังพยายามที่จะกลับมาปกครองอีกครั้ง จึงเกิดสงครามอินโดจีนขึ้น จนเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ที่เมืองเดียน เบียน ฟู (Dien Bien Phu) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๙๕๔ ทำให้มีการเจรจาสันติภาพและลงนามร่วมใน "ข้อตกลงเจนีวา" (Geneva Accords) เป็นผลให้มีการแบ่งประเทศเป็น ๒ ส่วนที่เส้นขนานที่ ๑๗ โดยเวียดนามเหนือเป็นประเทศเอกราชที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ มีเมืองหลวงคือ ฮานอย ส่วนเวียดนามใต้ยกเลิกระบบจักรพรรดิในปี ค.ศ. ๑๙๕๕ แล้วใช้การปกครองแบบสาธารณรัฐโดยประธานาธิบดีเป็นประมุขฝ่ายบริหารแทน มีเมืองหลวงอยู่ที่ ไซ่ง่อน และมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน หลังจากนั้นมีการต่อสู้ของประชาชนเวียดนามเพื่อให้ได้รับเอกราชอันสมบูรณ์และรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว ในที่สุดฝ่ายเวียดนามเหนือได้รับชัยชนะเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕; ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดู เชิดเกียรติ อัตถากร, ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Communist Movement in Vietnam) (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๐)

(12) บทความชุดแรกมีชื่อชุดว่า "A Fresh Look at Buddhism" ("มองพระพุทธศาสนาในมุมมองใหม่") ชุดที่ ๒ ชื่อว่า "Buddhism Today" ("พระพุทธศาสนาวันนี้") ซึ่งบทความชุดหลังนี้ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย

(13) Thich Nhat Hanh, "History of Engaged Buddhism," p. 5.
(14) Ibid.
(15) Donald Rothberg, "Responding to the Cries of the World: Socially Engaged Buddhism in North America" in The Faces of Buddhism in America, Edited by Charles S. Prebish and Kenneth K. Tanaka (Berkeley and Los Angeles, California: University of California Press, 1998), p. 273. และ Charles S. Prebish and Damien Keown, Introducing Buddhism (London and New York: Rutledge Curzon, 2006), p. 209.

(16) Christopher S. Queen, "Introduction: The Shapes and Sources of Engaged Buddhism," in Engaged Buddhism: Buddhist Liberation Movements in Asia, p. 34.

(17) Donald Rothberg, "Responding to the Cries of the World: Socially Engaged Buddhism in North America", p. 273. ต้นฉบับมีดังนี้ "to be "engaged" is to actualize one's freedom by both acknowledging one's inescapable involvement in the world and deliberately and explicitly making commitments" คำในวงเล็บและเครื่องหมายวรรคตอนเป็นการแปลและใช้เพื่อเสริมความโดยผู้เขียน

(18) "Engaged Buddhism" <http://en.wikipedia.org/wiki/Engaged_Buddhism>; ผู้เขียนขอ ขอบคุณ คุณสมบูรณ์ เอื้อมอารีวงค์ ที่ช่วยแปลภาษาจีนไว้ ณ ที่นี้ด้วย

(19 Cassell's New French-English, English-French Dictionary (London: Cassell, 1965), p. 299.

(20) French-English, English-French Dictionary (Glasgow: HarperCollins, 2002), p. 367. ; จากความหมายนัยนี้เอง จึงทำให้มีผู้ใช้คำว่า "Committed Buddhism" ในความหมายเดียวกับคำว่า "engaged Buddhism" เช่น Kirsten Holzapfel, "Buddhism: Time Chart" in The Brill Dictionary of Religion Vol.1, Edited by Kocku von Stuckrad (Leiden and Boston: Brill, 2006), p.239.

(21) Harrap's Standard French and English Dictionary, Edited by J.E. Mansion
(London: George G. Harrap & Company LTD, 1958), p. 315.

(22) Collins French Dictionary Plus Grammar (Glasgow: HarperCollins, 2000), p. 524.
(23) Thich Nhat Hanh, "Definition of Engaged Buddhism" ต้นฉบับคือ "A kind of Buddhism that is present in daily life and moment"
(24) Ibid. ต้นฉบับคือ "the basic part is to have the practice alive in very moment of your daily life"

(25) Ibid. ควรกล่าวด้วยว่าในพระไตรปิฎก สังขาร ๓ ประการ ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และ จิตตสังขาร ไม่มีปรากฏว่ามีกายภาพสังขารแต่อย่างใด โปรดดู ม.มู. ๑๒/๑๐๒/๙๗. เป็นต้น (พระไตรปิฎกที่ใช้ในบทความนี้เป็นพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

(26) ศาสตราจาย์ ดร. สมภาร พรมทา ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่มหาเถรสมาคมของประเทศไทยเองก็มีความเห็นผิดอย่างนี้เช่นกัน ดังสะท้อนออกมาให้เห็นจากกรณีตัวอย่างของพระสงฆ์ซึ่งให้การดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย (อาจารย์สมภารน่าจะหมายถึงพระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) แห่งวัดพระบาทน้ำพุ) ที่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวนับสิบปีจนปัจจุบัน โดยปราศจากการสนับสนุนใดๆ จากมหาเถรสมาคม โปรดดู Somparn Promta, "The Future of Thai Buddhism in Democratic Society" in Religion and Democracy in Thailand, Edited by Dr. Imtiyaz Yusuf and Dr. Canan Atilgan (Bangkok: Konrad-Adnauer-Stiftung, 2008), p. 40-41.

(27) ที.ม. ๑๐/๓๗๓/๓๐๑-๒.
(28) ม.อุ. ๑๔/๑๓๖-๑๔๐/๑๗๖-๑๘๐.

(29) โดยทั่วไป คำว่า "awareness" มักใช้เป็นคำแปลของคำว่า "สัมปชัญญะ" แต่ก็สามารถใช้เป็นไวพจน์ (synonym) ของคำว่า "mindfulness" ซึ่งมักใช้เป็นคำแปลของคำว่า "สติ" ได้อีกด้วย โปรดดู พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๓ (กรุงเทพมหานคร: บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๔๘), หน้า ๓๔๙, ๓๕๓, ๓๖๖, ๓๗๓.

(30) คือความพยายามชอบ ได้แก่ ปธาน ๔ หรือสัมมัปปธาน ๔ ซึ่งประกอบด้วย ๑. สังวรปธาน (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้นบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น) ๒. ปหานปธาน (เพียรละหรือเพียรกำจัด บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว) ๓. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิดกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น) ๔. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์) โปรดดูรายละเอียดใน องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๓/๒๓-๒๔, ๒๑/๑๔/๒๔-๒๖, ๒๑/๖๙/๑๑๓-๑๑๔

(31) ผู้เขียนเห็นว่าสัมมาวายามะสอดคล้องกับแนวคิดทางจริยศาสตร์ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของพุทธศาสนา นั่นคือ แนวคิดเรื่อง"อุปัญญาตธรรม ๒" ซึ่งประกอบด้วย ๑) ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย (อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ) ได้แก่ ความไม่รู้อิ่มไม่รู้พอในการสร้างความดีและสิ่งที่ดี ๒) ความไม่ท้อถอยในการพากเพียร (ปธานสฺมึ อปฺปฏิวาณิตา) ได้แก่ การเพียรพยายามก้าวหน้าเรื่อยไปไม่ยอมถอยหลัง โปรดดูรายละเอียดใน ที.ปา. ๑๑/๓๐๔/๒๕๘.

(32) Thich Nhat Hanh, Peace Is Every Step: The Path of Mindfulness in Everyday Life (New York: Bantam Books, 1991), p. 91.ต้นฉบับมีดังนี้ "Mindfulness must be engaged. Once there is seeing, there must be acting…" ข้อความในวงเล็บเป็นการแปลเพื่อเสริมความโดยผู้เขียน

(33) ดูคำอธิบายเรื่องเงื่อนไข ๒ ประเภทนี้ได้ใน นวชัย เกียรติก่อเกื้อ, "การประเมินการตีความ ตัวบทตามแนวทางพุทธศาสนาเถรวาท" (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔), หน้า ๑๖, ๒๔. และ สมภาร พรมทา, "พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในมุมมองของนักวิชาการ" ใน เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร: กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕), หน้า ๔๗.

(34) Christopher S. Queen, "Introduction: A New Buddhism," Engaged Buddhism in the West, Christopher S. Queen (ed.) (Boston: Wisdom Publications, 2000), p. 1.

(35) เป็นไปตามพุทธพจน์ที่ว่า ""ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ" (เอกายโน อย ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานวิสุทฺธิยา โสกปริเทวาน สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสาน อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิท จตฺตาโร สติปฏานา) (ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๗๓/๓๐๑, ฉบับ มจร.) ซึ่งพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าคำว่า "ทางเดียว" ในที่นี้ มีความหมายหนึ่งว่า "เป็นทางปฏิบัติในศาสนาเดียวคือพระพุทธศาสนา" (ที.ม.อ. ๓๗๓/๓๕๙); ควรกล่าวด้วยว่า ถึงแม้ท่านนัท ฮันห์จะเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนานิกายเซน แต่แหล่งที่มาของคำสอนที่ท่านใช้เป็นหลักในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ก็คือมหาสติปัฏฐานสูตรที่ปรากฏในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาทนี่เอง โดยท่านได้ทำการศึกษาพระสูตรดังกล่าวเปรียบเทียบกับอีก ๒ สำนวนคือ พระสูตร "ฐานทั้ง ๔ แห่งสติ" (Sutra on the Four Grounds of Mindfulness) ของพระพุทธศาสนานิกายสรวาทสติวาท และพระสูตร "ทางนี้ทางเดียว" (The One Way In Sutra) ของพระพุทธศาสนานิกายมหาสังฆิกะ ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ และประวัติที่มา ดูรายละเอียดประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ใน หิมพรรณ รักแต่งาม, "การศึกษาวิเคราะห์การตีความหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของติช นัท ฮันห์," หน้า ๓๓-๓๖ และ ๑๐๓-๑๐๕.

(36) Christopher S. Queen, "Introduction: The Shapes and Sources of Engaged Buddhism," in Engaged Buddhism: Buddhist Liberation Movements in Asia, p. 19.

(37) Sallie B. King, "An Engaged Buddhist Response to John Rawls's the Law of Peoples" Journal of Religious Ethics 34.4: 637-661. ต้นฉบับมีดังนี้ "the contemporary form of socially and politically activist Buddhism"

(38) Douglas M. Padgett, "Unified Buddhist Church of Vietnam" in Religions of the World: A Comprehensive Encyclopedia of Beliefs and Practices, p. 1335. ต้นฉบับมีดังนี้ "….Buddhist form of social activism known as 'engaged Buddhism'"

(39) FWBO เป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่ดำเนินตามแนวทางของ engaged Buddhism ก่อตั้งขึ้นโดยท่านสังขรักษิต (Sangharakshita) อดีตพระภิกษุนิกายเถรวาทชาวอังกฤษ สมาชิกของ FWBO เป็นพุทธศาสนิกชนในรูปแบบกึ่งนักบวชกึ่งคฤหัสถ์ ซึ่งถือศีล ๑๐ โดยจะต้องผ่านพิธีกรรมทางศาสนา และได้รับฉายาใหม่เป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต หากเป็นบุรุษจะใช้คำนำหน้าว่า "ธรรมจารี" ส่วนสตรีใช้ "ธรรมจาริณี" ผู้ที่สนใจรายละเอียดของ FWBO โปรดดู Martin Baumann, "Work as Dharma Practice: Right Livelihood Cooperatives of the FWBO" in Engaged Buddhism: Buddhist Liberation Movements in Asia, p. 372-393.

(40) Vishvapani, "Embodying Engagement: Observations of Bernie Glassman, Jon Kabat-Zinn and Engaged Buddhism in the West" Paper for Dr Ambedkar and the Modern World Conference, Nagaloka, October 2006. <http://vishvapaniswriting.blogspot.com/2007/01/embodying engagement-observations-of.html> ต้นฉบับมีดังนี้ "(engaged Buddhism) which explicitly combines the inward looking values of Buddhism with those of activism" คำในวงเล็บเป็นการแปลเสริมคำโดยผู้เขียน

(41) "Activism" <http://en.wikipedia.org/wiki/Activism> ต้นฉบับมีดังนี้ "intentional action to bring about social or political change"
(42) Ibid.

(43) Ibid., ต้นฉบับมีดังนี้ "Transformational activism is the idea that people need to transform on the inside as well on the outside in order to create any meaningful change in the world." อนึ่ง คำสำคัญในที่นี้ที่ควรอธิบายเพิ่มเติม ได้แก่ คำว่า "เปลี่ยนแปร" (transform) ซึ่งมีความหมายว่า "สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยสมบูรณ์หรือโดยมีเจตนาที่มุ่งให้เกิดผลในรูปแบบ, ภาพลักษณ์ หรือคุณสมบัติ (make a thorough or dramatic change in the form, appearance, or character of) และคำว่า "มีความหมาย" (meaningful) ซึ่งมีความหมายว่า "มีคุณสมบัติหรือความมุ่งหมายที่จริงจัง สำคัญ หรือมีประโยชน์" (having a serious, important, or useful quality or purpose) โปรดดู The Pop-up New Oxford Dictionary of English [CD-ROM]

(44) Christopher S. Queen, "Introduction: The Shapes and Sources of Engaged Buddhism," in Engaged Buddhism: Buddhist Liberation Movements in Asia, p. 5.

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1650 เรื่อง หนากว่า 33000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ : Release date 28 February 2009 : Copyleft MNU.

เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของคำว่า engaged Buddhism นักวิชา การส่วนใหญ่ยอมรับตามที่ศาสตราจารย์เค็นเน็ธ คราฟท์ นักวิชาการด้าน engaged Buddhism คนสำคัญอีกท่านหนึ่งระบุว่าผู้ที่ใช้คำๆ นี้เป็นคนแรกคือท่านติช นัท ฮันห์พระภิกษุในพระพุทธศาสนานิกายเซนชาวเวียดนาม เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เราควรจะทำต่อไป ก็คือตรวจสอบดูว่าท่านใช้คำนี้ในความหมายใด ท่านติช นัท ฮันห์ เลือกใช้คำๆ นี้ เพื่อต้องการให้ครอบคลุมแนวคิดแบบเวียดนาม ๓ ประการ ได้แก่ ๑) "ความตระหนักรู้อย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน" ๒) "การรับใช้ / บริการสังคม" และ ๓) "ปฏิบัติการทางสังคม"

H