1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
Judicial Activism on
Promoting Economic Social and Cultural Rights
ศาล
กับ บทบาทในการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ทศพล
ทรรศนกุลพันธ์ : เรียบเรียง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทความก้าวหน้าของศาลในบางกรณี เนื่องจาก
ได้มีการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น โดยอาศัยการวินิจฉัยชี้ขาดคดี
จนนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในการประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
บทความวิชาการด้านนิติศาสตร์นี้
ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- การบังคับใช้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในศาล
การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องไม่ละเมิด (Negative Rights)
การคุ้มครองสิทธิโดยการส่งเสริมสิทธิให้ดียิ่งขึ้น (Positive Rights)
- กรณีศึกษาศาลภายใน (ประเทศสวิสเซอร์แลนด์,
ประเทศอินเดีย, ประเทศอัฟริกาใต้)
- การบังคับใช้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในศาลระดับภูมิภาค
(ภูมิภาคยุโรป, ภูมิภาคอเมริกา, ภูมิภาคอัฟริกา, ภูมิภาคเอเชีย)
มาตรการ และกลไกระดับโลก (มาตรการ และกลไกขององค์การสหประชาชาติ)
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๖๘๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
Judicial Activism
on Promoting Economic Social and Cultural Rights
ศาล
กับ บทบาทในการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ทศพล
ทรรศนกุลพันธ์ : เรียบเรียง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ศาล กับ บทบาทในการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ
สังคม และวัฒนธรรม
(Judicial Activism on Promoting Economic Social and Cultural Rights)
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ : เรียบเรียง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของศาลไทยในปัจจุบัน ได้สร้างความงุนงงสงสัยต่อหลักการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรหนึ่ง ซึ่งเพิ่งปรากฏเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย นั่นคือ "ตุลาการภิวัฒน์" หากมองประสบการณ์ของอารยประเทศทั้งหลายที่มีระบอบการปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็จะมองเห็นถึงบทบาทของศาลซึ่งมีความก้าวหน้า (Progressive) อยู่ในบางกรณี เนื่องจากศาลในประเทศเหล่านั้นได้มีบทบาทในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น โดยอาศัยการวินิจฉัยชี้ขาดคดีจนนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในการประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังจะยกกรณีศึกษาของ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อินเดีย และอัฟริกาใต้ มาให้พิจารณาประกอบการใช้อำนาจของศาล
ในกรณีทั้งสามมีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่ง คือ ศาลใช้อำนาจในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพใหม่ๆ โดยเฉพาะสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่แต่เดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารในการมีนโยบายและโครงการส่งเสริมสิทธิเหล่านี้ แต่เมื่อฝ่ายบริหารมิอาจสร้างหลักประกันสิทธิเหล่านี้ให้กับประชาชนได้ ประชาชนจึงเรียกร้องสิทธิผ่านกระบวนการเยียวยาของศาล อย่างไรก็ดี ศาลก็ไม่ใช้อำนาจวินิจฉัยเกินขอบเขตอำนาจที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดมารับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเหล่านั้น จึงเป็นการยืนยันบทบาทของศาลในฐานะฝ่ายตุลาการว่า ศาลมีอำนาจในการวินิจฉัย ตีความ ชี้ขาดคดี แต่ต้องทำภายในกรอบของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกรอบของรัฐธรรมนูญ หรือกรอบของกฎหมายภายในที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้กำหนด
นอกจากกรณีศึกษาจากประเทศ สวิสเซอร์แลนด์ อินเดีย และอัฟริกาใต้แล้ว บทความนี้ยังได้พยายามศึกษาบทบาทหน้าที่ศาลระหว่างประเทศในการส่งเสริมหรือประกันสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วยหรือไม่ ทั้งศาลในระดับภูมิภาค อาทิ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ศาลสิทธิมนุษยชนภูมิภาคอเมริกา และศาลสิทธิมนุษยชนภูมิภาคอัฟริกา โดยในช่วงท้ายจะทำการสำรวจถึงบทบาทของศาลอาญาระหว่างประเทศ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า ได้มีบทบาทในการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้มากน้อยเพียงไร
การบังคับใช้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในศาล (Judiciary of Rights)
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่อยู่ในภาวะตกทุกข์ได้ยาก หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัยบทบาทของผู้มีอำนาจหน้าที่(รัฐ ประชาคมโลก องค์กรต่างๆ) หากมองในแง่นี้ผู้มีอำนาจหน้าที่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ
1. การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องไม่ละเมิด (Negative Rights) ผู้มีอำนาจต้องประกันสิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกายของผู้อพยพ มิให้มีการฆ่าฟัน ทรมาน หรือลงโทษโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมต่อผู้อพยพเหล่านี้ ผู้มีอำนาจต้องไม่ละเมิดสิทธิเสียเองและต้องสอดส่องควบคุมมิให้ผู้ใดละเมิดสิทธิเหล่านี้โดยการกำหนดบทลงโทษต่อผู้ละเมิด. ข้อสังเกตต่อสิทธิประเภทนี้ คือ ไม่ต้องลงทุนมากนัก และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน สิทธิเหล่านี้จึงต้องได้รับการคุ้มครองอย่างยิ่งยวด รวมถึงรัฐผู้มีอำนาจ
2. การคุ้มครองสิทธิโดยการส่งเสริมสิทธิให้ดียิ่งขึ้น (Positive Rights) ผู้มีอำนาจต้องส่งเสริมสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น มีอาหาร ยารักษาโรค ที่พักพิง และเครื่องนุ่งห่ม. ผู้มีอำนาจย่อมต้องจัดทรัพยากรมาเพื่อส่งเสริมให้ผู้อพยพมีข้าวกิน มียารักษาโรค มีที่พักพิง มีเครื่องนุ่งห่มที่สะอาด ข้อสังเกตต่อสิทธิประเภทนี้ คือ ต้องมีทรัพยากรในการส่งเสริมสิทธิประเภทนี้ สิทธิประเภทนี้จึงสัมพันธ์กับทรัพยากรที่มีอยู่ ดังนั้นจึงอาจต้องอาศัยความร่วมมือและแสวงหาทรัพยากรมาจากหลายส่วน รัฐอาจมีหน้าที่ในเบื้องต้นเท่าที่รัฐจะสามารถจัดให้ได้ แต่เหนือไปว่ากว่านั้นรัฐอาจแสวงหาความร่วมมือจากประชาคมโลกในการจัดการปัญหา และประชาคมโลกก็มีหน้าที่ในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้วยเช่นกัน
สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงจัดอยู่ในลักษณะของ สิทธิที่ต้องส่งเสริมสิทธิให้ดียิ่งขึ้น (Positive Rights) เนื่องจากต้องอาศัยการจัดสรรทรัพยากรมาส่งเสริมสิทธิ ฝ่ายบริหารจึงมีบทบาทสำคัญในการใช้อำนาจอธิปไตย ส่งเสริมสิทธิประเภทนี้ แต่หากฝ่ายบริหารไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว หรือกระทั่งมีลักษณะละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม แลวัฒนธรรมแล้ว ฝ่ายตุลการก็อาจมีบทบาทในการวินิจฉัยให้ฝ่ายบริหารทำหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ประกันสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไว้
การบังคับใช้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในชั้นศาลมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการบัญญัติสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไว้ในกฎหมายภายในประเทศ กล่าวคือ หากมีการรับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปัจเจกชนที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลสูงของประเทศนั้น ก็สามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องให้มีการเยียวยาสิทธิได้โดยตรง และมีผลบังคับทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ศาลจำเป็นต้องพิจารณาคดีโดยอ้างอิงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญดังที่จะได้กล่าวถึงอย่างละเอียดในกรณีศึกษาของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และอัฟริกาใต้ ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี ศาลอาจตีความเพิ่มเติมจากกฎหมายรัฐธรรมนูญเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนได้ ดังจะกล่าวถึงรายละเอียดในกรณีศึกษาประเทศอินเดียต่อไป
นอกจากนี้ปัจเจกชนอาจเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองภายในประเทศก็ได้ หากประเทศเหล่านั้นมีกฎหมายที่รับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนไว้ในกฎหมายเฉพาะอื่นๆ เช่น กฎหมายความมั่นคงด้านอาหาร กฎหมายที่ดินทำกิน หรือ กฎหมายสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งศาลจะต้องตัดสินคดีโดยอ้างอิงจากกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมผ่านกระบวนการศาล จึงสามารถทำให้เกิดการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลผูกพันต่อคู่กรณีอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนอย่างยิ่ง. อย่างไรก็ตาม ปัจเจกชนที่ถูกละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมักเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมน้อยมาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีกระบวนการเยียวยาอื่นมาเสริม ทั้งกลไกตรวจตราการบังคับใช้สิทธิ การเปิดโอกาสให้ปัจเจกชนเรียกร้องสิทธิโดยตรงต่อภาครัฐ รวมไปถึงการจัดโครงการพัฒนาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิทั้งหลาย
กรณีศึกษาศาลภายใน
หัวข้อนี้จะทำการวิเคราะห์กรณีศึกษาที่เลือกมาจากประเทศที่อยู่ในภาวะปกติ โดยแยกออกเป็นสองกลุ่มประเทศ คือ "ประเทศพัฒนาแล้ว" กับ "ประเทศกำลังพัฒนา" ว่า ในประเทศเหล่านั้นได้มีกระบวนการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างไร สอดคล้องกับหลักกฎหมายหรือไม่ และส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนในประเทศได้มากน้อยเพียงไร?
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ประเด็นนี้เป็นการเลือกกรณีศึกษาเพื่อสะท้อนถึงการเยียวยาสิทธิในประเทศพัฒนาแล้ว
ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ปกติ ข้อเท็จจริงของคดีคือ
ผู้อพยพชาวเช็ค 3 คนนำเรื่องราวร้องทุกข์ต่อศาลสหพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์
เมื่อปี 1996 ข้อเท็จจริงของคดีนี้มีอยู่ว่า ผู้อพยพชาวเช็ค 3 คนเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย
และไม่มีเอกสารทางราชการรับรองสัญชาติ เปรียบเสมือนบุคคลไร้สัญชาติ จึงไม่อาจออกจากประเทศได้เช่นกัน
และไม่มีงานทำเนื่องจากไม่สามารถขอใบอนุญาตทำงานได้ ทั้งสามตกอยู่ในภาวะหิวโหยและยากจน
เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรุงเบิร์น ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลทั้งสาม
การปรับบทกฎหมาย คดีนี้ศาลได้ตีความโดยใช้มาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ยากลำบาก แม้จะไม่ได้พูดถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยตรง แต่ก็ได้กล่าวถึงการจัดทำสวัสดิการสังคมให้กับประชาชน. การเยียวยาในเบื้องต้น ศาลวินิจฉัยว่า ฝ่ายตุลาการไม่มีอำนาจในการกำหนดลำดับความสำคัญว่าจะใช้ทรัพยากรในด้านใดก่อนหลัง เพื่อประกันคุณภาพชีวิตของปัจเจกชนรวมถึงอาหาร แต่ศาลก็ชี้ว่าการที่รัฐไม่อาจดำเนินกิจกรรมให้ตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นต่ำสุดของปัจเจกชน ตามที่กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การที่รัฐกีดกันบุคคลไร้สัญชาติทั้งสามออกจากสวัสดิการสังคม ถือว่ารัฐได้ละเมิดรัฐธรรมนูญนั่นเอง ในที่สุดศาลตัดสินให้รัฐรับรองสิทธิในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของบุคคลทั้งสามรวมทั้งสิทธิขั้นต่ำสุดในการเข้าถึงอาหาร แม้ทั้งสามจะมิใช่พลเมืองสวิสก็ตาม คดีนี้ศาลได้สร้างบรรทัดฐานในการตีความรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิด้านอาหารของปัจเจกชน ซึ่งสร้างผลผูกพันทางกฎหมายต่อรัฐ
ผลกระทบต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 1999 รัฐธรรมนูญของประเทศสวิสเซอร์แลนด์จึงได้บัญญัติให้รัฐรับรอง "สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสิทธิด้านอาหาร ..." ตามนัยยะของมาตรา 12 แห่งรัฐธรรมนูญสวิสเซอร์แลนด์ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ปัจเจกชนในสถานการณ์ยากลำบาก ทำให้ปัจเจกชนสามารถกล่าวอ้างสิทธิด้านอาหารในชั้นศาลได้ รวมถึงสามารถเรียกร้องรัฐให้ออกมาตรการมารองรับสิทธิด้วยเช่นกัน เท่ากับเป็นการรับรองว่าปัจเจกชนสามารถอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญต่อหน่วยงานที่จัดบริการสาธารณะได้
กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าปัจเจกชนในเขตอำนาจศาลของสวิสเซอร์แลนด์ มีลู่ทางในการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมพอสมควร แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับการเยียวยาเพียงไร ได้รับการชดใช้ชดเชยมากน้อยเพียงใด แต่ก็ได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการเยียวยา
ประเทศอินเดีย
กรณีนี้เลือกขึ้นเพื่อสะท้อนการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ
สังคม และวัฒนธรรมในประเทศกำลังพัฒนาตามระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ปกติ.
ข้อเท็จจริงของคดี PUCL (People's Union for Civil Liberties V. Union of India)
คดีนี้เริ่มต้นกระบวนการโดยองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำคำร้องสู่ศาลสูงสุดแห่งอินเดียเพื่อให้มีกระบวนการสืบสวนสาธารณะขึ้น
(Public Interest Litigation- PIL)
กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเรียกร้องต่อศาลสูง โดยสั่งให้รัฐมีมาตรการรองรับสิทธิด้านอาหารของประชาชนหลังจากที่รัฐมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านอาหารและเกษตร (Public Distribution System- PDS) ให้ไปอยู่ในการครองครองของเอกชนมากขึ้น อันทำให้การแจกจ่ายอาหารและปัจจัยการผลิตสู่บุคคลกลุ่มเสี่ยงมีแนวโน้มย่ำแย่ลง เนื่องจากพบข้อเท็จจริงว่า ได้มีการทิ้งอาหารลงสู่ทะเลเพื่อขจัดอาหารคงคลังส่วนเกิน เพื่อให้สอดคล้องกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่กำลังตกต่ำ ทั้งที่ปรากฏว่าภายในประเทศมีปัญหาความอดอยากหิวโหยร้ายแรงในหลายพื้นที่ (ในหกมลรัฐ) แต่ก็มิได้มีการแบ่งปันอาหารไปให้กลุ่มผู้หิวโหยเหล่านั้น และทั้งยังปรากฏว่า ปริมาณอาหารคงคลังมีมากถึง 50 ล้านตันในขณะนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ารัฐล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเนื่องจากรัฐมีทรัพยากรอย่างเหลือเฟือ ที่สามารถนำเอามาใช้แก้ปัญหาความหิวโหยในประเทศได้
การปรับบทกฎหมาย ศาลสูงอินเดียได้ตีความการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ใน มาตรา 21 ว่า "สังคมอารยะทั้งหลายได้รับรองสิทธิในการมีชีวิต อันหมายรวมถึง สิทธิในการมีอาหาร น้ำ สิ่งแวดล้อมที่ดี การศึกษา บริการสาธารณสุข และที่อยู่อาศัย ..." อันเป็นพันธกรณีต่อรัฐบาลโดยผลของรัฐธรรมนูญว่า จะต้องประกันสิทธิในการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่บุคคล นับเป็นการตีความของศาลที่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชน เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ว่า ไม่อาจมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีหากขาดไปซึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตเหล่านี้
ในที่สุดศาลตัดสินให้รัฐต้องรับรองสิทธิด้านอาหารของประชาชนโดยรัฐต้องมีมาตรการเพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลจะไม่ตกอยู่ในภาวะหิวโหยและทุพโภชนาการดังที่ปรากฏข้างต้น คำพิพากษานี้เป็นการแสดงให้ว่าศาลสูงอินเดียได้ยอมรับสิทธิด้านอาหารในฐานะสิทธิมนุษยชนและเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าถึงกระบวนการสาธารณะนี้ด้วย ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลตั้งอยู่บนการตีความมาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญอินเดียดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ที่ส่งเสริมการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมผ่านทางอำนาจศาล
การเยียวยา เมื่อคดี PUCL ถึงที่สุด ศาลสูงอินเดีย มีคำสั่งให้รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิด้านอาหารของประชาชน โดยรัฐบาล รวมไปถึงฝ่ายบริหารแต่ละมลรัฐต้องมีมาตรการประกันสิทธิของกลุ่มเสี่ยงต่างๆ อย่างเหมาะสม รัฐต้องควบคุมให้ระบบแจกจ่ายอาหารทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องจัดให้มีโครงการความช่วยเหลือด้านอาหารโดยตรง แสดงให้เห็นว่าได้มีการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ โดยกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีมาตรการเพื่อรับรองสิทธิด้านอาหารให้แก่ประชาชน และต้องจัดให้มีโครงการต่างๆ ขึ้นมาส่งเสริมสิทธิ เช่น
- โครงการทำงานแลกอาหาร (Food for Work) ในพื้นที่แห้งแล้งขาดอาหาร
- นโยบายแจกจ่ายอาหารไปยังกลุ่มเป้าหมาย (TPDS) เช่น การช่วยเหลือกลุ่มผู้ยากไร้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่สุดอย่างชนในวรรณะต่ำ คนชรา ผู้พิการ สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และชนพื้นเมือง
- การจัดโครงการอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน (Mid-Day Meals Scheme) ที่อยู่ในการดูแลของโรงเรียนรัฐ หรือ โรงเรียนที่ภาครัฐให้การช่วยเหลือ
- การจัดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ในราคาถูกลง เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชนโดยตรง (AAY) รวมถึงออกมาตรการเสริมเพื่อให้ร้านค้าย่อยแจกจ่ายอาหารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้จริง เช่น ข้อกำหนดในการยึดคืนใบอนุญาตร้าน หากพบว่า ไม่เปิดตามเวลาที่กำหนด คิดราคาเกินกำหนด หน่วงเหนี่ยวบัตรอาหาร อนุญาตให้ใช้บัตรอาหารผิดลักษณะ หรือยุ่งเกี่ยวกับตลาดมืด
- การเผยแพร่ข้อมูลสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนรับทราบด้วยการทำประกาศ รายชื่อ โครงการ สิทธิประโยชน์ และผู้มีสิทธิ ให้สาธารณชนรับทราบและเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มความโปร่งใส และความรับรู้สิทธิของปัจเจกชนด้วย
โดยคำสั่งศาลสูงอินเดียมีผลผูกพันรัฐบาลกลางมีการบังคับใช้สิทธิให้สอดคล้องกับคำพิพากษาครอบคลุมทั้งประเทศ แม้ว่าในคำร้องขององค์กร PUCL ในขั้นต้นจะอิงกับกลุ่มเสี่ยงในหกมลรัฐ แต่ในที่สุดศาลก็ตัดสินให้มีผลครอบคลุมทั้งประเทศ เนื่องจากรัฐบาลมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตของประชาชนทั้งประเทศอยู่แล้วนั่นเอง ศาลเพียงแต่เป็นผู้วินิจฉัยว่า รัฐบาลมีหน้าที่ตามพันธกรณีของรัฐธรรมนูญจริงเท่านั้น โดยศาลยังได้วินิจฉัยอีกว่า ผู้นำทั้งในระดับรัฐบาลกลาง หรือระดับมลรัฐท้องถิ่น ควรรับผิดชอบต่อการตายจากภาวะหิวโหย ดังที่ปรากฏขึ้นตามข้อเท็จจริงของคดี
คำพิพากษาของศาลในคดีนี้ นอกจากจะทำให้เกิดการเยียวยาสิทธิต่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการละเมิดสิทธิของรัฐแล้ว ยังมีส่วนช่วยปรับปรุงการบังคับใช้สิทธิด้านอาหารในหลายโครงการที่อิงนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของหลายมลรัฐ โดยศาลสูงได้แต่งตั้งกรรมการพิเศษขึ้นสองคน เพื่อลงไปตรวจตราและควบคุมให้รัฐปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เพื่อขจัดการละเมิดสิทธิด้านอาหารที่เกิดขึ้น โดยกรรมการมีอำนาจในการขอข้อมูลและทำข้อเสนอแนะถึงโครงการที่รัฐควรจัดให้มีขึ้น เพื่อประกันสิทธิด้านอาหารของปัจเจกชน รวมถึงอำนาจในการตรวจตราว่ามีการกระทำใดบ้าง ที่ละเมิดสิทธิด้านอาหารของปัจเจกชน และกรรมการอาจนำเอาข้อเสนอของปัจเจกชนและภาคประชาสังคมต่างๆ เข้าไปในรายงานหรือคำแนะนำได้ ซึ่งในแต่ละมลรัฐก็ได้มีการตั้งกรรมการสิทธิไว้เพื่อช่วยเหลือการทำงานของกรรมการใหญ่ทั้งสองคนด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ศาลสูงได้ออกมาบังคับให้รัฐจัดหามาตรการรองรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิด้านอาหาร
สิทธิของชนพื้นเมืองในทรัพยากรต่างๆ
คดีที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร
คือ คดี Aquaculture Case ที่ศาลสูงอินเดียยืนยันสิทธิของชนพื้นเมืองในการใช้สอยทรัพยากรริมชายฝั่งทำประมงแบบดั้งเดิมเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร
ซึ่งศาลได้ทำหน้าที่เยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของกลุ่มเสี่ยงโดยตรง
คดี Samatha Case ที่ศาลสูงอินเดียตัดสินให้ชนพื้นเมืองมีสิทธิในที่ดินดั้งเดิมของตนแม้จะมีบรรษัทเอกชนเข้ามาถือครองที่ดินก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ศาลสูงอินเดียยังตัดสินว่าประชาชนมีสิทธิตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญอินเดียในการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรการผลิตและมีความมั่นคงในสิทธินั้น ห้ามผู้ใดมาขับไล่บุคคลออกจากที่ดินเดิมของตน คดีนี้ศาลได้เข้ามาเยียวยาปัจเจกชนโดยการปกป้องกลุ่มเสี่ยงมิให้เอกชนละเมิดสิทธิต่อไป
อย่างไรก็ดี การบังคับใช้คำพิพากษาทั้งสองคดียังทำได้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากรัฐบาลและเอกชนพยายามหาทางหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ทำให้ภาคประชาชนต้องรณรงค์การรักษาสิทธิของปัจเจกชนในพื้นที่อย่างแข็งขันเพื่อป้องกันการลบล้างผลของคำพิพากษา ที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนไว้ให้ได้ รวมถึงการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนที่มีกลไกบังคับใช้สิทธิตามคำพิพากษาในแต่ละมลรัฐตามที่กำหนดไว้ใน รัฐบัญญัติสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอินเดีย 199317 ซึ่งจะช่วยให้มีการบังคับใช้สิทธิมนุษยชนในแต่ละมลรัฐมีความเข้มแข็งขึ้น
ปัจเจกชนในเขตอำนาจของประเทศอินเดีย สามารถใช้กลไกเยียวยาทางกฎหมายที่เป็นคุณต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้ และสามารถได้รับการเยียวยาเป็นรูปธรรม ที่มีการชดใช้ชดเชยอย่างชัดเจน แต่มีข้อควรพิจารณาว่าระบบกฎหมายของอินเดียมีความก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นมาก สามารถเปิดช่องให้ปัจเจกชนหรือกลุ่มบุคคลสามารถร้องให้มีการสืบสวนสาธารณะ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ประเทศอัฟริกาใต้
กรณีนี้เป็นการเลือกคดีตัวอย่าง เพื่อสะท้อนการเยียวยาสิทธิในประเทศกำลังพัฒนาในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ปกติ. ข้อเท็จริงของคดี Grootboom Case (Grootboom and others V. Government of the Republic of South Africa and others) รัฐบาลได้ขับไล่ชุมชนแออัดออกจากพื้นที่โดยไม่มีมาตรการมารองรับ ทำให้ชาวชุมชนต้องย้ายไปอยู่ในสนามกีฬา เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟริกาใต้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากกลุ่มผู้เสียหาย ก็ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
การปรับบทกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญอัฟริกาใต้ตัดสินคดีนี้โดยนำมาตรา 26 ว่าด้วยสิทธิในที่อยู่อาศัยมาเป็นกฎหมายที่ปรับใช้กับคดีนี้. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวของรัฐ มีลักษณะปฏิเสธพันธกรณีในการเติมเต็มสิทธิของปัจเจกชน และต้องหามาตรการมารองรับผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยอยู่บนหลักการ "ความสมเหตุสมผล" กล่าวคือ รัฐต้องจัดให้มีโครงการที่สมเหตุสมผล ทั้งในเรื่องรูปแบบและการบังคับใช้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศอัฟริกาใต้ ได้ใช้ดุลพินิจของศาลในการชี้ขาดโครงการบ้านพักอาศัยสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลจัดทำขึ้น โดยประเมินถึงความเป็นไปได้ของโครงการโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านงบประมาณว่า ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจะสามารถเข้าถึงบ้านพักในโครงการดังกล่าวได้หรือไม่ และรัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดเท่าที่ทรัพยากรเอื้ออำนวย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ด้อยโอกาสที่สุดของสังคมหรือไม่
การเยียวยา สุดท้ายศาลชี้ขาดว่า โครงการที่อยู่อาศัยของรัฐบาลล้มเหลว ไม่สามารถสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่สุด และไม่ผ่านมาตรฐานความสมเหตุสมผล (ราคาเกินกว่าที่ผู้ยากไร้จะเข้าถึงบ้านได้) และมีคำสั่งให้รัฐต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างโครงการที่อำนวยสิทธิแก่ปัจเจกชน เพื่อประกันว่าจะมีการแบ่งปันงบประมาณและบุคลากรอย่างเหมาะสมไปดำเนินโครงการ โดยโครงการนั้นต้องสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนของกลุ่มเสี่ยงที่สุดด้วย และโครงการต้องสมเหตุสมผลทั้งในเรื่องรูปแบบและการบังคับใช้ คำพิพากษาดังกล่าวเป็นเรื่องของสิทธิในที่อยู่อาศัย อันเป็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (อยู่ในรัฐธรรมนูญหมวดเดียวกัน คือ หมวดสิทธิของประชาชน)
ประเทศอัฟริกาใต้ มีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างชัดแจ้ง และเข้มแข็ง คือ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่าด้วยสิทธิในสุขอนามัย อาหาร น้ำ และความมั่นคงทางสังคม โดยในมาตรา 27(b) ได้รับรองสิทธิของปัจเจกชนในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ โดยมาตรานี้อยู่ในหมวดเดียวกับสิทธิในที่อยู่อาศัย (มาตรา 26) ซึ่งเป็นประเด็นนำขึ้นสู่การพิจารณาในคดีนี้ จึงสามารถนำมาเทียบเคียงกันได้. หมวดสิทธิของประชาชนนี้มีผลผูกพันทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมถึงหน่วยงานของรัฐทุกระดับ อันมีผลให้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีผลบังคับใช้ได้ในชั้นศาล กรณีนี้จึงสามารถนำมาสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางกฎหมายของพันธกรณีของรัฐ ในการให้หลักประกันสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศอัฟริกาใต้
ปัจเจกชนในเขตอำนาจของประเทศอัฟริกาใต้ สามารถใช้ช่องทางนี้เป็นลู่ทางในการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนได้ เนื่องจากมีกฎหมายรับรองสิทธิอย่างชัดเจน และมีกลไกบังคับใช้สิทธิมารองรับจนถึงมีการเยียวยาสิทธิได้ แม้ศาลจะไม่สามารถกำหนดรูปแบบการชดใช้ชดเชยได้เอง แต่ก็รับรองสิทธิของปัจเจกชนในการได้รับบริการสาธารณะตามสิทธิที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญ
หลักการห้ามเลือกประติบัติในประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมต่างๆ แสดงให้เห็นว่าสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชน ซึ่งเป็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ต้องได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการห้ามเลือกประติบัติ แม้ศาลภายในจะยังไม่มีคำพิพากษาออกมายอมรับหลักการในสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยชัดแจ้งก็ตาม แต่เนื่องจากหลักการดังกล่าวเป็นสาระสำคัญในการบังคับใช้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงต้องนำมาประยุกต์ใช้กับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย
หากสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีผลบังคับใช้ในชั้นศาลแล้ว การดำเนินนโยบายและจัดทำบริการสาธารณะของรัฐก็จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อปัจเจกชนในประเด็นดังกล่าวอย่างเลี่ยงมิได้ และยังเป็นการสร้างหลักประกันให้กับปัจเจกชนว่า หากมีการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมขึ้น ปัจเจกชนก็สามารถเรียกร้องสิทธิของตนต่อรัฐหรือศาล ให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้. อย่างไรก็ดี มีเพียงศาลในบางประเทศเท่านั้นที่สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมสามารถบังคับใช้ในชั้นศาลได้ เนื่องจากมีอุปสรรคอันเนื่องมาจากการขาดกฎหมายที่เป็นฐานในการอ้างสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนโดยตรง และไม่ได้มีกระบวนการทางกฎหมายที่ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธินั้นต่อศาลได้อย่างชัดแจ้ง
ต่างจากกรณีศึกษาที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีกระบวนการทางกฎหมายที่เอื้อให้ปัจเจกชนสามารถเรียกร้องสิทธิต่อศาล และศาลก็ได้ใช้อำนาจในทางที่เป็นคุณต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนด้วย และแม้แต่ละประเทศจะมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากร แต่หากรัฐได้ใช้ความพยายามอย่างจริงจัง ก็มีทางเลือกมากมายในการสร้างกระบวนการเยียวยาสิทธิให้กับปัจเจกชนได้อย่างหลากหลาย
จากกรณีศึกษายังสะท้อนให้เห็นว่า ศาลสามารถมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งที่เป็นการตีความข้อกฎหมาย หรือเฉพาะเจาะจงลงไปถึงการปฏิบัติต่อฝ่ายบริหารได้ แต่ศาลต้องสงวนการใช้อำนาจไว้ไม่ให้ก้าวก่ายการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารด้วย เนื่องจากจะเป็นการกระทำที่เกินเขตอำนาจของตน. การดำเนินงานในรูปแบบองค์กรกึ่งศาลจึงมีความเหมาะสมและคล่องตัวกว่า ส่วนการเยียวยาสิทธิในทางปฏิบัตินั้น ศาลสามารถกำหนดการเยียวยาในลักษณะการริเริ่มมาตรการ หรือโครงการใหม่ๆ เป็นการเฉพาะก็ได้ สำหรับบางกรณีการกำหนดให้เยียวยาความเสียหายด้วยการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน ก็อาจมีความเหมาะสมเช่นกัน
กรณีศึกษาทั้งหลายได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชน ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเยียวยาทางกฎหมายมีความชัดเจน นั่นคือ การมีกฎหมายกำหนดว่าสิทธิคืออะไร และวางบรรทัดฐานว่าการกระทำใดที่เป็นการละเมิดสิทธิ และมีกลไกมาบังคับใช้สิทธิทั้งในรูปแบบของศาล และองค์กรกึ่งศาล แต่การเยียวยาในทางปฏิบัตินั้น ผันแปรไปตามสภาพปัญหาของแต่ละคดีไป
ผลของการศึกษาคดีเหล่านี้อาจสรุปได้ว่า มีการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศที่ได้หยิบยกกรณีศึกษามาวิเคราะห์ และมีความเป็นไปได้ในการเยียวยาสิทธิในอีกหลายประเทศที่มีกรอบทางกฎหมายและกลไกที่เปิดช่องไว้ให้ ดังที่ได้ประเมินไว้ข้างต้น ทำให้สามารถสรุปได้ว่าการเยียวยาสิทธิด้านอาหารของปัจเจกชนในศาลภายในมีประสิทธิผลพอสมควร
การบังคับใช้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในศาลระดับภูมิภาค
ปัจเจกชนต้องสำรวจว่า ศาลสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคใดบ้างที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกชนนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้ ซึ่งเราจะวิเคราะห์ศาลของแต่ละภูมิภาคซึ่งเปิดโอกาสให้ปัจเจกชนเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมต่อศาลได้โดยตรงหรือไม่
ภูมิภาคยุโรป มีศาลสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค แต่มีเพียงสิทธิพลเมืองและการเมืองเท่านั้นที่อยู่ในเขตอำนาจศาล ไม่เปิดโอกาสให้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นั่นหมายถึง ไม่มีกระบวนการ และ การเยียวยา สำหรับปัจเจกชนหรือกลุ่มบุคคลผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แม้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจะไม่ได้มีเขตอำนาจในประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมและไม่เปิดโอกาสให้ปัจเจกชนเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนต่อศาล แต่ก็ปรากฏแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค ที่เอื้อต่อการเยียวยาสิทธิของปัจเจกชนทางอ้อม ผ่านทางการรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้กับปัจเจกชน โดยมีการวินิจฉัยว่ารัฐจำเป็นต้องมีช่องทางให้ปัจเจกชนได้รับการเยียวทางกฎหมายภายในรัฐด้วย. ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้มีคำพิพากษาในคดี Hatton & others V. United Kingdom ว่า การขาดช่องทางเยียวยาสิทธิของปัจเจกชนในชั้นศาล ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ภูมิภาคอเมริกา จะมีศาลสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค แต่มีเพียงสิทธิพลเมืองและการเมืองเท่านั้นที่อยู่ในเขตอำนาจศาล ไม่เปิดโอกาสให้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นั่นหมายถึง ไม่มีกระบวนการ และ การเยียวยา สำหรับปัจเจกชนหรือกลุ่มบุคคลผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ภูมิภาคอัฟริกา ได้มีการยกร่างพิธีสารเพิ่มเติมกฎบัตรอัฟริกัน 1998 ซึ่งจะมีการจัดตั้ง ศาลสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนอัฟริกัน ซึ่งมีเขตอำนาจในการรับคำร้องจากปัจเจกชนและกลุ่มชนผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิที่กฎบัตรรับรอง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อันจะทำให้เกิดประสิทธิผลในการบังคับใช้สิทธิในชั้นศาลระดับภูมิภาคอัฟริกา ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่า ปัจเจกชนจะสามารถเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในศาลระดับภูมิภาคได้
ปัจเจกชนจึงอาจอ้างสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนต่อศาลภูมิภาคอัฟริกาในอนาคตอันใกล้ได้ ส่วนในภูมิภาคอเมริกาและยุโรปปัจเจกชนอาจใช้วิธีการอ้างสิทธิในการมีชีวิต หรือใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อเข้าถึงศาล. อย่างไรก็ตาม กระบวนการบังคับใช้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของภูมิภาคทั้งสามก็ยังอ่อนแออยู่ เนื่องจากในปัจจุบัน (ค.ศ.2006) ยังไม่สามารถบังคับใช้สิทธิเหล่านี้ในศาลระดับภูมิภาคได้โดยตรง รวมถึงการขาดองค์กรทางกฎหมายในการรองรับการร้องเรียนและเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ภูมิภาคเอเชีย สำหรับในภูมิภาคนี้ยังไม่ปรากฏศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และไม่มีกฎหมาย องค์กรตรวจตราสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
สรุปได้ว่า ระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคอัฟริกามีความก้าวหน้าในการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนมากที่สุด เนื่องจากกฎหมายรับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างชัดแจ้ง และมีกลไกที่รองรับการเรียกร้องสิทธิในประเด็นการละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมดังที่ปรากฏในกรณีศึกษา โอโกนี่ และซาอีร์ (ซึ่งจะปรากฏในบทความชิ้นถัดไป) และมีแนวโน้มว่าในอนาคต ศาลสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคจะเปิดช่องทางให้ปัจเจกชนเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้โดยตรงต่อศาล
มาตรการ และกลไกระดับโลก
มาตรการ และกลไกเยียวยาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการที่อยู่ภายใต้องค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะกลไกขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ล้วนมีอาณัติจากระบบกฎหมายขององค์การสหประชาชาติทั้งสิ้น ดังนั้น การวิเคราะห์กฎหมายและกลไกเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชน จึงอยู่ในกรอบกฎหมาย และองค์กรภายใต้สหประชาชาติเป็นหลัก และจะมีการวิเคราะห์มาตรการของศาลอาญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเข้ามาประกอบ
มาตรการ และกลไกขององค์การสหประชาชาติ
ปัจเจกชนต้องสำรวจก่อนว่า
มีระบบกฎหมายใดบ้างที่เอื้อให้ปัจเจกชนร้องทุกข์ได้โดยตรง โดยประเมินกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ
สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชน และได้กล่าวถึงกลไกเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม
และวัฒนธรรมของปัจเจกชนไว้ จากการประเมินพบว่า
โครงสร้างการทำงานหลักขององค์การสหประชาชาติในปัจจุบัน มีเสาหลักอยู่ 2 องค์กร คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (SC-Security Council) และที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (GA-General Assembly) ซึ่งองค์กรทั้งสองมีความสามารถทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ต่างกัน กล่าวคือ มติของคณะมนตรีความมั่นคงมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อตัวตนต่างๆ อย่างเด็ดขาด. ส่วนมติของที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อตัวตนต่างๆอย่างเด็ดขาดเท่า. ซึ่งองค์กรทั้งสองทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย แต่ทั้งสององค์กรก็มิได้มีช่องทางให้ปัจเจกชนเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนได้โดยตรง
โดยคณะมนตรีความมั่นคงมีบทบาทในการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในยามปกติแต่เพียงบางส่วน หากพบว่ามีสถานการณ์ละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างร้ายแรง จนถึงขั้นเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นการดำเนินการในขอบเขตของหลักความรับผิดชอบในการปกป้อง เพื่อบรรเทาสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนให้บรรเทาลงอย่างทันท่วงที ทั้งนี้มีกรณีศึกษาที่พอจะเข้าข่ายการใช้อำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักความรับผิดชอบในการปกป้อง คือ กรณีเกาหลีเหนือ
ในกรณีนี้มีมูลเหตุมาจากการพบหลักฐานมากมายว่าได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในประเทศเกาหลีเหนือ รวมถึงสิทธิด้านอาหาร ในช่วงปี 2006 คณะมนตรีความมั่นคงอาศัยอำนาจของกฎบัตรสหประชาชาติ ตามหมวด 7 ออกมติที่ 1718 (2006) ที่มีลักษณะลงโทษต่อเกาหลีเหนือ โดยได้กล่าวอ้างถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยนัย ตามอารัมภบทของมติฉบับดังกล่าว. มติฉบับดังกล่าวได้จำกัดความเคลื่อนไหวทางการทหาร และเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีเหนือ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนอาวุธยุทโธปกรณ์ และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เพื่อเป็นการบีบบังคับประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจส่งผลดีปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศได้บ้าง
เนื่องจากการลงโทษดังกล่าวมิได้ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวเกาหลีเหนือ อาจทำให้รัฐบาลเปียงยางนำงบประมาณไปจัดสรรให้กับปัญหาความอดอยากหิวโหยภายในประเทศได้ นอกจากนี้คณะมนตรีความมั่นคงอาจใช้อำนาจดังที่ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศให้ไว้ ในการนำประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้เช่นกัน เนื่องจากการทำให้ประชาชนอดอยากจนถึงความตายเป็นจำนวนมากและเป็นระบบ ถือว่าเป็นความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้เช่นกัน
ในส่วนของกฎหมายที่รับรองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปรากฏว่ามีตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญของสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ
หากเกิดการประหัตประหารหรือละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างร้ายแรง จนเข้าข่ายความผิดมูลฐานของศาลอาญาระหว่างประเทศ ปัจเจกชนสามารถส่งเรื่องไปยังกลไกนี้ได้ เนื่องจากศาลอาญาระหว่างประเทศจะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี ที่เกิดจากการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งธรรมนูญอาญาระหว่างประเทศได้ระบุให้การละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในหลายรูปแบบ เป็นฐานความผิดตามธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งในแง่ที่เป็นความผิดฐาน การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศได้มีกระบวนการศาลมารองรับการตัดสินโทษของผู้กระทำความผิด ตามที่ธรรมนูญได้บัญญัติไว้ข้างต้น
แต่ด้วยกระบวนการดำเนินคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาคดีเพื่อนำเข้าสู่การตัดสินของศาล โดยผ่านการส่งเรื่องไปยังอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ กระบวนการศาลอาญาระหว่างประเทศจึงมีช่องทางในการเอาผิดต่อผู้ละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชน นอกจากนี้ธรรมนูญยังได้บัญญัติให้มีกองทุนเยียวยาผู้เสียหายด้วย หากมีการตัดสินคดีละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจนถึงที่สุด ปัจเจกชนก็อาจได้รับการเยียวยาตามกระบวนการของกองทุนเช่นว่าได้ในอนาคต ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่า ปัจเจกชนสามารถเรียกร้องให้มีการเยียวยาสิทธิของตนต่อศาลอาญาระหว่างประเทศผ่านกระบวนการของอัยการศาลได้โดยตรง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
อย่างไรก็ดี การบังคับใช้คำพิพากษาทั้งสองคดี ยังทำได้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากรัฐบาลและเอกชนพยายามหาทางหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ทำให้ภาคประชาชน ต้องรณรงค์การรักษาสิทธิของปัจเจกชนในพื้นที่อย่างแข็งขันเพื่อป้องกันการลบล้างผลของคำพิพากษา ที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการเยียวยาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของปัจเจกชนไว้ให้ได้ รวมถึงการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนที่มีกลไกบังคับใช้สิทธิตามคำพิพากษาในแต่ละมลรัฐตามที่กำหนดไว้ใน รัฐบัญญัติสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอินเดีย ซึ่งจะช่วยให้มีการบังคับใช้สิทธิมนุษยชนในแต่ละมลรัฐมีความเข้มแข็งขึ้น ปัจเจกชนในเขตอำนาจของประเทศอินเดีย สามารถใช้กลไกเยียวยาทางกฎหมายที่เป็นคุณต่อสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้