ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




16-02-2552 (1684)

รวบรวมบทความการเมืองไทยร่วมสมัยของ ชำนาญ จันทร์เรือง
จากการเมืองเรื่องเดมะกอก(demagogue) ถึงรัฐที่ล้มละลาย(Failed State)
ชำนาญ จันทร์เรือง : ผู้เขียน
อาจารย์พิเศษ สาขาวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
กองบรรณาธิการรวบรวมขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงทางความรู้ เรื่อง
รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการปกครอง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสังคมไทย

บทความรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการปกครองนี้ ประกอบด้วย
๑. การเมืองเรื่องของเดมะกอก(demagogue)
๒. ปัญหาของระบบรัฐสภาไทย
๓. ระบอบประธานาธิบดี
๔. ประชาธิปไตยกับการเมืองภาคประชาชน
๕ ตุลาการเทศนา
๖. ชะตากรรมของรัฐธรรมนูญไทย
๗. ขอคุยกับหมอประเวศเรื่องทางออกจากวิกฤติ
๘. Failed State: รัฐที่ล้มละลาย
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๘๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


รวบรวมบทความการเมืองไทยร่วมสมัยของ ชำนาญ จันทร์เรือง
จากการเมืองเรื่องเดมะกอก(demagogue) ถึงรัฐที่ล้มละลาย(Failed State)
ชำนาญ จันทร์เรือง : ผู้เขียน
อาจารย์พิเศษ สาขาวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

๑. การเมืองเรื่องของเดมะกอก(demagogue)

ในขณะที่การต่อสู้แย่งชิงประชาชนระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพันธมิตรกำลังเข้มข้นอย่างถึงพริกถึงขิง ทำให้ผมนึกถึงศัพท์ทางการเมืองคำหนึ่งที่สามารถนำมาอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้อย่างเห็นภาพค่อนข้างชัดเจน คือคำว่า "เดมะกอก"(demagogue)

คำว่า demagogue นี้ ในสมัยกรีกโบราณเป็นคำกลางๆ มาจากการสนธิของคำว่า demos ที่แปลว่า "มวลชน" กลุ่มชน กับคำว่า agogos ที่แปลว่า "การนำ หรือผู้นำ" ใช้เรียกพวกที่พยายามนำเสนอนโยบายที่สร้างความพอใจเฉพาะหน้าให้กับประชาชน เพราะเข้าใจหลักจิตวิทยาที่จะเสนออะไรก็ได้ เพียงเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันมักใช้ในความหมายในทางลบ

หากใช้เป็นคำนามจะแปลว่า "ผู้นำหรือผู้มีอำนาจจากการยุยงปลุกปั่นประชาชน" หากเป็นคำกริยาจะแปลว่า "การฉ้อฉล ข่มขู่ ฉกฉวยเอาประโยชน์ ปลุกปั่นประชาชนด้วยสัญญาที่พกลมในการหาเสียง"

Demagogue หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกได้ว่า"นักโฆษณาชวนเชื่อ"หรือ"นักปลุกปั่นฝูงชน" ที่พยายามเอาชนะใจมวลชนด้วยการเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของประชาชน มากกว่าจะใช้เหตุผล (Try to win people's support by appealing to their emotions rather than using reasonable arguments)

พจนานุกรมของออกซ์ฟอร์ดและคอลลิน อธิบายคำว่า demagogue ไว้ว่า คือ "Political agitator appealing to mob instincts"(นักการเมืองที่สามารถปลุกระดม เป็นที่ดึงดูดใจต่อสัญชาตญาณของมวลชน) หรืออีกในความหมายหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน คือ "A political agitator who appeals with crude oratory to prejudice and passion of the mob"(นักการเมืองที่มีความสามารถในการปลุกระดมอคติและอารมณ์ดึงดูดใจมวลชนด้วยการใช้โวหารแบบหยาบๆง่ายๆ)

แต่ที่กระชับและตรงใจผมมากที่สุด คือ H.L.Mencken นักเขียนชาวอเมริกันยุคต้นศตวรรษที่ 20 ได้ให้คำนิยาม demagogue ว่าเป็น "one who will preach doctrines he knows to be untrue to men he knows to be idiot"(คนที่ชอบพร่ำสั่งสอนความเชื่อที่เขารู้ว่าเป็นเท็จให้แก่คนที่เขารู้ว่าเป็นคนปัญญาอ่อน)

demagogue ที่เก่งไม่จำเป็นต้องพูดความเท็จอย่างโจ่งแจ้ง เพียงแต่เน้นบางจุดหรือบิดเบือนบางประเด็นให้ผู้ฟังสรุปไปเองก็พอแล้ว ในประวัติศาสตร์มี demagogue หลายคนที่เปลี่ยนโฉมโลกไปในทางที่เลวร้าย เช่น ฮิตเลอร์ สตาลิน มุสโสลินี เป็นต้น คนที่เป็นเป้าหมายของพวก demagogue มักจะไม่รู้ตัวว่าตนกำลังตกเป็นเหยื่อ เช่น ชาวเยอรมันยุคนาซีก็รู้แต่เพียงว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์พูดนั้นเป็นความจริงที่ตนรู้สึกมานานแล้วแต่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด และฮิตเลอร์เองก็เชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูดเสียด้วย จึงยิ่งทำให้ ดูเหมือนว่าจริงใจและน่าเชื่อถือมากกว่าปกติ

วิธีสังเกตว่าใครเป็น demagogue
วิธีสังเกตว่าใครเป็น demagogue หรือไม่ นั้นสังเกตได้ไม่ยาก หากเขาพูดโดยมีลักษณะเหล่านี้หรือไม่ เช่น เปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่างกัน(apples and oranges), ความจริงครึ่งเดียว(half-truths), ความน่าเชื่อถือปลอมๆ(false authority), เสนอทางเลือกที่น่าลำบากใจสองทางปลอมๆ (false dilemma), การทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจหรือสิ่งที่ชั่วร้าย(demonization), ยกประเด็นด้วยคำถามที่แฝงเร้นบางอย่าง(loaded question), ยกข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวมาพูด(unrelated facts),และสุดท้ายนิยมใช้กันมากคือการโจมตีในเรื่องส่วนตัว(personal attack)

ในภาคธุรกิจนั้นก็มีการจัดแบ่งลักษณะผู้นำเมื่อเผชิญความขัดแย้งออกเป็น 3 ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง ของผู้นำประเภท demagogue คือ ผู้นำประเภทนี้ชอบชี้นำและสั่งการโดยการข่มขู่ การทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว ใช้การโกหกและการสร้างภาพเพื่อทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตนเสียภาพพจน์และความน่าเชื่อถือ ชอบแบ่งเขาแบ่งเราเพื่อให้เกิดความแตกแยก เรียกได้เป็นการบริหารด้วยการสร้างความแตกแยกแล้วปกครอง(divide and rule)

ประเภทที่สอง คือ manager หรือ ผู้จัดการ ดีกว่าประเภทแรกขึ้นมาหน่อยคือมีเจตนาดีต่อองค์กร แต่จะมุ่งเน้นแต่ในส่วนงานของตนหรือสิ่งที่ตนรับผิดชอบ โดยมองข้ามภาพรวมของทั้งองค์กร

ประเภทสุดท้าย คือ mediator หรือ ผู้นำแบบสมานฉันท์ ผู้นำแบบนี้จะเน้นความปรองดอง โดยมองถึงประโยชน์ขององค์กรโดยรวมเป็นหลัก แทนที่จะมองแยกส่วนแบบ manager

จากที่กล่าวมาถึงที่มาที่ไปและความหมายของ demagogue ข้างต้น คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายพันธมิตรฯและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัดด้วยกันทั้งคู่แต่เป็นขวาจัดแบบอนุรักษ์นิยมสุดกู่กับขวาจัดแบบทุนนิยมสุดขั้ว โดยเป็นการต่อสู้ระหว่างพวก demagogue ด้วยกันเอง. แน่นอนว่าการต่อสู้ของพันธมิตรที่ปักหลักปิดถนนอยู่เป็นเดือนๆ พร้อมกับใช้ยุทธวิธีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการออกโทรทัศน์ วิทยุ ยุทธการดาวกระจาย ฯลฯ มีการขุดคุ้ยการทุจริตและเรื่องส่วนตัวของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่หนุนหลังรัฐบาลออกมาโจมตีอย่างดุเดือด จนมีแนวร่วมมากมายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ยิ่งฝ่ายรัฐบาลนั้นยิ่งเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการระดมใช้บุคคลากรและทรัพยากรของรัฐทุกชนิดในการโฆษณาชวนเชื่อแล้วยังมีรายการด่าฝ่ายตรงข้ามและสื่อมวลชนทุกเช้าวันเสาร์วันละเป็นชั่วโมงๆ จนทำให้รายการประจำทั้งวิทยุและโทรทัศน์รวนกันไปหมดทั้งประเทศ ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามแล้วยังเป็นการสนองความอยากจัดรายการของตัวนายกรัฐมนตรีเองอีกด้วย

ยิ่งหาก demagogue ไปประสมเข้ากับการปลุกระดมจนความรักชาติ(nationalism)กลายเป็นความคลั่งชาติ (chauvinism) เข้าอีก เหตุการณ์ก็อาจบานปลายสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาตินานัปการ แล้วเราจะทำอย่างไร. วิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ demagogue ก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่าการคิดใคร่ครวญพิจารณา(โยนิโสมนสิการ)(*) ว่าสมเหตุสมผลแค่ไหน(critical thinking) เช่น พิจารณาว่าข้อความหรือถ้อยคำที่ใช้ในการสรรเสริญเยินยอตนเอง โดยพิเคราะห์ว่าคนอะไรจะดีไปหมด

(*) โยนิโสมนสิการ หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือ ทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบ และโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

หรือจะยึดหลักที่ศาลใช้ในระบบไต่สวนก็คือ หลักที่ว่าด้วยการฟังความหลายฝ่าย เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้ฟังเป็นที่ยุติหรือคู่กรณีรับกันแล้ว ศาลจึงจะวินิจฉัยคดี. การต่อสู้ของ demagogue ทั้งสองนี้ก็เช่นกัน เราต้องชั่งน้ำหนักให้ดีเพราะต่างฝ่ายต่างก็สาดโคลนใส่กัน หากผลีผลามเราก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อของทั้งสองฝ่ายได้ และถ้าจะให้ดีที่สุดสำหรับชาวพุทธแล้วยึด หลักกาลามสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล เป็นหลักแห่งความเชื่อ ไม่ให้เชื่องมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดี ก่อนเชื่อ

๒. ปัญหาของระบบรัฐสภาไทย

ในสังคมปัจจุบันที่ขยายตัวมากขึ้นกว่าสังคมในยุคบุพกาลที่ประชาชนสามารถมารวมกัน เพื่อตัดสินใจร่วมกันโดยตรงซึ่งเราเรียกกันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทางตรง(Direct Democracy)นั้น ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในระดับชาติ ซึ่งมีความสลับซับซ้อน ดังนั้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการเลือกผู้แทนของตนเพื่อไปออกเสียงแทนในเรื่องต่างๆ อันเป็นการแสดงถึงการใช้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชน

ในบรรดาของประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบบของการมีผู้แทนอาจจำแนกได้เป็นรูปแบบหลักๆ อยู่ ๒ รูปแบบ คือ

๑) รูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดี (Presidential System)
มีหลักการที่สำคัญ คือ มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยกันอย่างเด็ดขาด ประมุขของรัฐกับหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นคนๆ เดียวกัน ฝ่ายบริหารเป็นอิสระต่อการควบคุมของรัฐสภา(ไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ). รัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี (ไม่จำเป็นต้องไปร่วมประชุมรัฐสภา) และอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการเป็นของประธานาธิบดีโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

๒) รูปแบบการปกครองแบบรัฐสภา (Parliamentary System)
ซึ่งมีหลักการที่สำคัญ คือ ตำแหน่งประมุขของประเทศแยกออกจากตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร ตัวแทนของประชาชนทำหน้าที่นิติบัญญัติ คณะรัฐบาลมาจากรัฐสภา และการคงอยู่ของรัฐบาลขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของรัฐสภา

คำว่ารัฐสภา หรือ Parliament มาจากคำว่า Parlor หมายถึง ห้องรับแขก เพราะเอาไว้คุยกันของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งในภาคพื้นยุโรปจะจัดเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ แต่เดิม ในยุคกรีกหรือโรมันนั้นจะไม่มีเก้าอี้ แต่จะเป็นขั้นบันไดยาวๆ ไปรอบห้อง คล้ายๆ กับอัฒจันทร์ของสนามกีฬา พอถึงเวลาประชุมก็จับกลุ่มยืนคุยเป็นกลุ่มๆ แล้วแต่จะชอบพอใครหรือเป็นพวกของใคร ส่วนอัฒจันทร์ก็เอาไว้นั่งเวลาเหนื่อยหรือเบื่อที่ฟังคนอื่นพูด

ประเทศไทยเรานั้นจัดอยู่ในระบบการปกครองแบบรัฐสภา แต่ทว่าในความเป็นจริงปัจจุบัน สถานภาพของรัฐสภาไทยเราอาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงตัวประกอบในระบบการเมืองเท่านั้น เพราะความสำคัญต่างๆ กลับไปเน้นอยู่ที่คณะรัฐบาล. เราอาจเห็นการแสดงละครเรื่อง "การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี" ซึ่งมีครบทุกรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นบทบู๊ล้างผลาญ คมคายเชือดเฉือน เงอะงะเลอะเลือน พร้อมทั้งบทตลกที่คอยแทรกเสริมด้วยการประท้วงเป็นระยะๆ แต่ในที่สุดเมื่อมีการลงคะแนนก็ไม่มีผลอันใดต่อสถานภาพของรัฐบาล เพราะรัฐบาลคุมมือไว้หมดแล้ว

ตั้งแต่เรามีระบบรัฐสภาเป็นต้นมา รัฐสภาไทยเต็มไปด้วยสมาชิกที่มาจากชนชั้นที่ได้เปรียบทางสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองอาชีพ ตลอดจนอดีตข้าราชการที่โยงใยใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะอย่างวุฒิสภาที่มีการกำหนดคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อชนชั้นนำมากกว่าชนชั้นล่าง ทั้งนี้เนื่องมาจาก รัฐธรรมนูญที่ออกโดยชนชั้นนำและแนวทางการพัฒนาประเทศที่ขาดความสมดุล ทำให้คนส่วนใหญ่ถูกกันออกไปจากเวทีแข่งขันทางการเมืองโดยอัตโนมัติ คนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถมีส่วนกำหนดนโยบายใดๆ ของรัฐ ตัวระบอบรัฐสภาเองจึงมีความจำกัดในการตอบสนองความต้องการของประชาชน

ตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(๒๕๕๐) ก็มุ่งแต่กลั่นกรองตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง มากกว่าการกระจายโอกาสทางการเมืองให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภาปัจจุบัน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นนำที่ครอบงำรัฐสภาอยู่

ในหลักการของระบบรัฐสภานั้น ฝ่ายบริหารอาจถูกลงมติไม่ไว้วางใจ หรือสภาผู้แทนอาจถูกยุบเพื่อให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงบทบาทของผู้ตัดสิน ประชาชนจึงต้องพร้อมเสมอที่จะใช้สิทธินั้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องได้รับการศึกษา และได้รับโอกาสในการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง ตลอดจนโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุม การดำเนินงานขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และหากประเทศใดขาดหลักเกณฑ์นี้ ก็ย่อมกล่าวไม่ได้ว่าประเทศนั้นมีการปกครองในระบบรัฐสภาที่แท้จริง

นอกจากปัญหาสำคัญที่ได้ชี้ให้เห็นมาแล้วว่ารูปแบบการปกครองแบบรัฐสภา ซึ่งก็หมายความว่ารัฐสภาเป็นใหญ่หรือมีอำนาจสูงสุด แต่ระบบรัฐสภาของไทยในความเป็นจริงแล้ว กลับเป็นไปในทางตรงข้าม กล่าวคือ กลับกลายเป็นรัฐบาลที่เป็นใหญ่กว่ารัฐสภา. ในส่วนของพรรคการเมืองของไทยนั้น พรรคการเมืองต่างๆ ล้วนแล้วแต่ บกพร่องในบทบาทต่อสังคม เพราะทำตัวแปลกแยกจากสังคมมาโดยตลอด แสวงหา หรือเล่นบทบาทเฉพาะบทบาททางการเมืองในสภาเท่านั้น

ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาไทยจะต้องปรับปรุงกันอย่างขนานใหญ่ ด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เพราะพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่า รัฐสภาซึ่งใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้นตกเป็นเบี้ยล่างของรัฐบาล ไม่ได้เป็นอิสระและไม่อาจถ่วงดุล เพื่อควบคุมตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย เป็นแต่เพียงการแสดงละครฉากใหญ่เท่านั้นเอง

๓. ระบอบประธานาธิบดี

จากวิวาทะระหว่างนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลกับนักการเมืองฝ่ายค้าน ที่คุณสุเทพกล่าวหาว่า คุณทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี จนเกิดการฟ้องร้องและโต้เถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรอย่างรุนแรง ทำให้หลายๆ คนที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางการเมืองการปกครอง เกิดความสงสัยกันว่า ระบอบประธานาธิบดีนั้นคืออะไรกันแน่ ทำไมข้อกล่าวหานี้ถึงทำให้เกิดข้อพิพาทกันอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่หลายประเทศก็มีประธานาธิบดี

รูปแบบของการปกครองในระบอบประธานาธิบดีเกิดขึ้นแห่งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหลักการดังนี้

๑) มีการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) ได้แก่ การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่"ฝ่ายบริหาร"กับ"นิติบัญญัติ"อย่างชัดเจน โดยฝ่ายบริหารเป็นอิสระต่อการควบคุมของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาไม่มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีหรือรัฐบาล ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนจะเป็นผู้สรรหาและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดีเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ต้องไปร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อตอบกระทู้ถามจากรัฐสภาแต่อย่างใด และรัฐมนตรีจะไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ (ยกเว้นรองประธานาธิบดีที่จะเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง)

๒) ใช้หลักการคานอำนาจ(Balance of Power) เนื่องจาก ทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาต่างได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ดังนั้น จึงมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยใช้วิธีตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกัน(Check and Balance) ทั้งนี้ เพื่อมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจมากเกินไป ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีมีอำนาจในการใช้สิทธิยับยั้ง(Veto) โดยการไม่ลงนามในกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ในขณะที่รัฐสภามีอำนาจลบล้างสิทธิยับยั้งดังกล่าวของประธานาธิบดีได้ด้วยการลงคะแนนรอบสอง ซึ่งหากคะแนนเสียงของสมาชิกสภาทั้งสองยืนยันด้วยคะแนน ๒ ใน ๓ ก็จะถือว่ากฎหมายนั้นมีมีผลบังคับใช้ได้

๓) รัฐสภามีอำนาจในการกล่าวโทษประธานาธิบดี (Impeachment) โดยการที่จะมีการอิมพีชเมนท์นั้น ต้องมีคะแนน ๒ ใน ๓ ของรัฐสภา และขั้นตอนสุดท้าย วุฒิสภาจะเป็นผู้ปลด(Removal)ประธานาธิบดีด้วยเสียง ๒ ใน ๓ ของวุฒิสภา

๔) วุฒิสภามีอำนาจในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (เป็นรายบุคคล) เช่นรัฐมนตรี หรือเอกอัครราชทูตตามที่ประธานาธิบดีเสนอมา หากวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็จะดำรงตำแหน่งไม่ได้

๕) การเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการ สำหรับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงที่อยู่ได้จนตลอดชีวิตนั้น อำนาจในการแต่งตั้งเป็นของประธานาธิบดี โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ส่วนผู้พิพากษาอื่นล้วนมาจากการเลือกตั้ง(ยกเว้นตำแหน่ง Associate Judge) ซึ่งศาลสูง(Supreme Court)ในระบอบประธานาธิบดี มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายฉบับใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกมานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่? ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหากกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นเป็นอันตกไป

๖) ประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นคนๆ เดียวกัน เพราะประธานาธิบดีเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนทั้งประเทศ ทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างมากมาย และได้รับการยอมรับจากประชาชนในฐานะประมุขของประเทศอีกด้วย ซึ่งแต่งตากจากระบอบรัฐสภาที่ประมุขของประเทศกับหัวหน้าฝ่ายบริหารจะเป็นคนละคนกัน

ในการปกครองระบอบรัฐสภา เช่น อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ประมุขของประเทศอาจเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี(ในกรณีที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ เช่น อินเดีย เป็นต้น)ก็ได้ แต่กษัตริย์หรือประธานาธิบดีในระบอบนี้เป็นเพียงประมุขของประเทศเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศแต่อย่างใด หัวหน้าฝ่ายบริหารในการปกครองระบอบรัฐสภาคือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยประชาชนจะเป็นเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎร แล้วผู้แทนฯนั้นไปตั้งรัฐบาลอีกทีหนึ่ง พูดง่ายๆ ก็คือ หัวหน้ารัฐบาลในระบอบรัฐสภานี้มาจากสภา แต่หัวหน้ารัฐบาลในระบอบประธานาธิบดีซึ่งก็คือตัวประธานาธิบดีนั้นมาจากการเลือกตั้งต่างหากจากการเลือกตั้งผู้แทนในระบอบรัฐสภานั่นเอง

ฉะนั้น ประเด็นของการวิวาทะดังที่ได้กล่าวมาตอนต้นที่เป็นประเด็นร้อนแรง ก็คือ ประเด็นของประมุขของประเทศนั่นเอง เพราะในระบอบประธานาธิบดี ประมุขของประเทศและหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นคนๆ เดียวกัน เมื่อมีการกล่าวหากันว่า คุณทักษิณฝักใฝ่ในระบอบประธานาธิบดีหรืออยากเป็นประธานาธิบดี ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีในระบอบประธานาธิบดีหรือประธานาธิบดีในระบอบรัฐสภาก็ตาม จึงเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงว่า คุณทักษิณต้องการล้มสถาบันกษัตริย์นั่นเอง ส่วนจะเป็นความจริงหรือไม่จริงนั้นไม่มีใครสามารถรู้ได้นอกจากตัวคุณทักษิณเอง

การที่คุณสุเทพไปกล่าวหาคุณทักษิณนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในศาลว่า จะเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่? แต่ก็คงเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะคุณทักษิณยังเป็นสัมภเวสีล่องลอยอยู่ในต่างประเทศ ในฐานะนักโทษหนีคดีซึ่งหลายปีกว่าจะหมดอายุความ แต่ก็เป็นที่ประหลาดใจว่าคุณสุเทพไปรู้ใจคุณทักษิณได้อย่างไร? การที่กล่าวอ้างว่าสังเกตจากคำพูดของคุณทักษิณที่พูดถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญบ้างหรืออ้างว่าพฤติการณ์ของคุณทักษิณส่อไปในทางนั้นบ้าง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ คุณสุเทพจะได้เที่ยวไปโพนทะนา ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่อาจรู้ได้ และก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเที่ยวพูดไปเรื่อยเปื่อย เพราะข้อหาการล้มล้างสถาบันกษัตริย์นั้นตามกฎหมายอาญาเป็นข้อหาที่รุนแรงมีโทษถึงประหารชีวิต

๔. ประชาธิปไตยกับการเมืองภาคประชาชน

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องมีการเลือกตั้ง แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศใดที่มีการเลือกตั้งแล้วประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นประกอบไปด้วย

๑) การเลือกตั้ง(Election) คือการคัดสรรบุคคลเข้าไปทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อใช้อำนาจรัฐโดยการผ่านการออกเสียงของประชาชน ซึ่งในประเทศเผด็จการบางประเทศก็อาจมีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่เป็นการบังคับเลือก เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น. แตกต่างจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงที่จะต้องมีลักษณะที่เป็นการทั่วไป(in general) เป็นอิสระ(free voting) มีระยะเวลาที่แน่นอน(periodic election) การลงคะแนนลับ(secret voting) หนึ่งคนหนึ่งเสียง(one man one vote) และมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม(fair election)

๒) การออกเสียงลงประชามติ(Referendum) คือการที่ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงรับรองหรือไม่รับรองในกฎหมายหรือมีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

๓) การตรวจสอบ(Monitor) คือการที่ประชาชนสามารถมีส่วนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้ อาทิ การใช้สิทธิ์ผ่าน พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ หรือการติดตามการทำงานของนักการเมืองหรือหน่วยงานราชการ ฯลฯ

๔) การถอดถอน(Recall) คือการที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิถอดถอนนักการเมืองหรือข้าราชการได้ อาทิ การเข้าชื่อถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ หรือการใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องต่อผู้ที่ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้น ฯลฯ

จึงจะเห็นได้ว่าความเป็น "ประชาธิปไตยมิได้มีเฉพาะแต่การเลือกตั้ง" ที่เป็นรูปแบบของประชาธิปไตยแบบตัวแทน(Representative Democracy)เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม(Participatory Democracy)หรือ ประชาธิปไตยทางตรง(Direct Democracy) ซึ่งคือการเมืองภาคประชาชนนั่นเอง

การเมืองภาคประชาชนคืออะไร?

การเมืองภาคประชาชน(Civil or People Politics) เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนโดยไม่ผ่านทางตัวแทนของพรรคการเมือง หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยการออกเสียงลงประชามติหรือการมีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจ และการถอดถอนโดยภาคประชาชนนอกเหนือจากการมีการเลือกตั้ง เพราะประชาธิปไตยจะไม่มีความหมายอันใด และการเลือกตั้งจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากประชาชนไม่สามารถกำหนดนโยบายหรือตรวจสอบการใช้อำนาจ และไม่สามารถถอดถอนผู้ใช้อำนาจที่มิชอบได้

การที่บางกลุ่มบางคนคิดว่าประชาชนคนรากหญ้า ที่ดูเหมือนว่าจะไร้การศึกษานั้น กลับเข้าใจและมีจิตสำนึกทางการเมืองมากว่าชนชั้นกลางเสียอีก เนื่องจากชนชั้นรากหญ้านั้นประสบและตระหนักกับสภาพปัญหาที่ตนเองเผชิญอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง(ผ่านทางที่ปรึกษา หรือเอ็นจีโอ ฯลฯ) เพราะตัวเขาเป็นผู้ประสบปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเอง. การเคลื่อนไหวของชนชั้นรากหญ้าจะมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนอย่างสันติ ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกเป็นอื่นแล้วเท่านั้น จึงจะใช้วิธีการชุมนุมประท้วง กอปรกับการเติบโตของ NGOs และการเข้าไปคลุกคลีกับประชาชน ทำให้เกิดความร่วมมือในการต่อต้านอิทธิพลของฝ่ายรัฐและฝ่ายทุน เช่น สมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด และกลุ่มต่อต้านท่อก๊าสไทย-มาเลเซีย ฯลฯ เป็นต้น

๕ ตุลาการเทศนา

ในช่วงหลังนี้ หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่า ในคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง จะมีการแสดงความเห็นเพิ่มเติมลงไปในคำพิพากษา คำสั่งหรือคำวินิจฉัยในลักษณะของการอบรมสั่งสอนคู่ความหรือคู่กรณีในคดีในแง่ของหลักศีลธรรมจรรยา นอกเหนือจากหลักกฎหมายที่ใช้การพิพากษาฯ ซึ่งหากดูเผินๆ แล้วก็น่าจะดี เพราะโดยสมมุติฐานทั่วไปแล้ว เรามักจะมองว่านักการเมืองนั้นควรที่จะต้องมีศีลธรรมจรรยามากกว่าที่เป็นอยู่ และหลายๆ คนก็อาจรู้สึกพึงพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายตรงกันข้ามของคู่ความหรือคู่กรณีที่แพ้คดี

อันที่จริงแล้วไม่ว่าในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา วิธีพิจารณาคดีปกครองหรือวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ต่างก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า คำพิพากษา คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ดังนี้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๑ วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดง

(๑) ชื่อศาลที่พิพากษาคดีนั้น
(๒) ชื่อคู่ความทุกฝ่ายและผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนถ้าหากมี
(๓) รายการแห่งคดี
(๔) เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง
(๕) คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียม

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๘๖ บัญญัติไว้ว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย

(๑) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(๒) คดีระหว่างใครโจทก์ใครจำเลย
(๓) เรื่อง
(๔) ข้อหาและคำให้การ
(๕) ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ
(๖) เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
(๗) บทมาตราที่ยกขึ้นปรับ
(๘) คำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษ
(๙) คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง

คำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับความผิดลหุโทษ ไม่จำต้องมีอนุมาตรา (๔) (๕) และ(๖)

วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๖
ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๖ ข้อ ๓๑ กำหนดไว้ว่า "คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาล ต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง"

วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองของศาลปกครองอย่างน้อยต้องระบุ

(๑) ชื่อผู้ยื่นคำฟ้อง
(๒) หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
(๓) เหตุแห่งการฟ้องคดี
(๔) ข้อเท็จจริงของเรื่องที่ฟ้อง
(๕) เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย
(๖) คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดี
(๗) คำบังคับ ถ้ามี โดยให้ระบุหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับไว้ด้วย
(๘) ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ถ้ามี

จากที่ยกมาแสดงทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของคำพิพากษาฯ คือ การให้เหตุผลว่าเหตุใดมีคำพิพากษาฯ เช่นนั้น มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้มีการอบรมสั่งสอนคู่ความในคดีแต่อย่างใด. จริงอยู่การอบรมสั่งสอนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องเป็นการอบรมสั่งสอนของผู้ที่มีภาระหน้าที่และมีสถานะเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นโดยตำแหน่งหรือภาวการณ์ของเรื่องที่อบรมสั่งสอนนั้นว่า ผู้อบรมฯ อยู่ในภาวะที่สูงกว่าจนเป็นที่ยอมรับโดยปราศจากข้อสงสัย

แต่ในเรื่องของการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น มิใช่เรื่องของการอบรมสั่งสอน เพราะจะทำให้คู่ความหรือคู่กรณีฝ่ายที่แพ้คดีเข้าใจว่า ศาลได้นำเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของหลักกฎหมายเท่านั้นที่นำมาลงโทษตนเอง ซึ่งเรื่องอื่นที่ว่านั้นก็คือเรื่องของศีลธรรมจรรยานั่นเอง. อนึ่ง การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างหนึ่งคืออำนาจตุลาการ ซึ่งมิได้หมายความว่าอำนาจตุลาการจะมีสถานะเหนืออำนาจอธิปไตยอื่นจนสามารถทำหน้าที่อบรมสั่งสอนประมุขของฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติ ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภานั่นเอง เพราะอำนาจตุลาการก็เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยที่มีสถานะเท่าเทียมกัน

ไม่มีใครปฏิเสธว่าสถานะของฝ่ายตุลาการนั้น อยู่ในสถานะที่ควรเคารพนับถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการดำรงตนในสังคมว่าเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นอาชีพที่มีมาตรฐานของความซื่อสัตย์สุจริตสูงกว่าอาชีพอื่น แต่ก็มิได้หมายความจะมีศีลธรรมจรรยาสูงส่งดังเช่นนักพรต นักบวช หรือมีศีลห้า ศีลแปดสูงกว่าบุคคลอื่นในสังคมเพราะยังเป็นปุถุชนอยู่. การที่มีการเพิ่มเติมคำสั่งสอนเข้าไปในคำพิพากษาที่ถึงแม้ว่าจะได้อธิบายหลักกฎหมายและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้จนสิ้นสงสัยแล้ว แต่ในช่วงหลังนี้ หากเราสังเกตให้ดีว่าเราไม่ค่อยได้ยินคำกล่าวของคู่ความหรือคู่กรณีที่แพ้คดีออกมายอมรับผลแห่งการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างชัดถ้อยชัดคำ เพราะเหตุแห่งการที่ได้มีการเพิ่มเติมการอบรมสั่งสอนเข้าไปนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามก็มิได้มีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาฯ แต่อย่างใด ด้วยเกรงว่าจะเข้าข่ายหมิ่นศาลนั่นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้เขียนเพียงแต่ต้องการให้ทุกฝ่ายได้ยอมรับผลแห่ง คำพิพากษา คำสั่งหรือคำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นของศาลใดก็ตามอย่างสนิทใจ แต่การที่จะทำให้คู่ความหรือคู่กรณีที่แพ้คดีหรือกองเชียร์ยอมรับผลแห่งคำพิพากษาฯอย่างสนิทใจนั้น นอกจากเหตุผลของหลักกฎหมายในคำวินิจฉัยแล้ว ไม่ควรที่จะมีการเพิ่มการอบรมสั่งสอนเข้าไปใน คำพิพากษาฯ เพราะจะทำให้เกิดความสงสัยในเหตุผลแห่งการวินิจฉัยว่า ได้มีการใช้ หลักศีลธรรมจรรยาแทนหลักกฎหมายแล้วหรืออย่างไรนั่นเอง

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 3 ธันวาคม 2551

๖. ชะตากรรมของรัฐธรรมนูญไทย

จำเดิมนับแต่คณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เราเริ่มจากการมีพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุดถึง ๑๓ ปี ๔ เดือน ๒๙ วัน โดยถูกยกเลิกเมื่อ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นการยกเลิกโดยสันติวิธี คือ สภาผู้แทนราษฎรได้นำรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแก้ไขปรับปรุงใหม่ทั้งหมด แล้วนำไปประกาศใช้แทนคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ แต่ก็ใช้ได้เพียง ๑ ปี ๖ เดือน ก็ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ

ต่อจากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารดังกล่าวอีกสองฉบับคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐(ฉบับใต้ตุ่มของหลวงกาจสงคราม)เมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ ก่อนที่จะถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งได้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ มาแก้ไขปรับปรุงใหม่แล้วประกาศใช้โดยใช้ชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เมื่อ ๘ มีนาค ๒๔๙๕ แล้วก็ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑

ต่อมาเมื่อ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ จึงมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่มีอายุการใช้งานถึง ๙ ปี ๔ เดือน ๒๓ วัน และมีบทบัญญัติเพียง ๒๐ มาตรา และที่ร้ายที่สุดก็คือ มาตรา ๑๗ ที่ให้อำนาจพิเศษแก่นายกรัฐมนตรี ที่จะสั่งประหารชีวิตใครก็ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ใช้เวลาถึงเกือบสิบปีจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ ออกมาใช้ แต่ก็ใช้อยู่ได้ไม่นานนักจอมพลถนอม กิตติขจรก็ทำรัฐประหารตนเองเมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ แล้วก็นำเอาธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราชปี ๒๕๐๒ มาปัดฝุ่นแล้วเพิ่มเป็น ๒๓ มาตรา โดยพ่วงเอามาตรา ๑๗ เดิมมาด้วย ประกาศใช้เป็น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ ซึ่งก็จบลงด้วยเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

หลังจากนั้นก็มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ เมื่อ ๗ ตุลาคม๒๕๑๗แต่ก็ใช้บังคับเพียง ๒ ปีก็ถูกรัฐประหารอีก โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙. ต่อจากนั้นก็มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ แต่ใช้ได้เพียงปีเดียวก็ถูกรัฐประหารอีกโดยคณะปฏิรูปการปกครองกลุ่มเดิมนั่นเอง ต่อมามีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้จัดทำรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาใช้แทนเมื่อ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๑

รัฐธรรมนูญ ปี ๒๑ ได้ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับในอดีต ซึ่งก็คือการรัฐประหารเมื่อ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ เมื่อ ๑ มีนาคม ๒๕๓๔ และก็ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ออกมาประกาศใช้แทนเมื่อ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๔ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็ได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ต่อมา ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๓๔ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและประกาศใช้เมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่เราเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับธงเขียวหรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั่นเอง

เหตุการณ์ต่อมาซึ่งไม่เคยนึกว่าจะเกิดขึ้นอีกแล้วในการเมืองไทยก็คือ การทำรัฐประหารเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ภายใต้การนำของพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน และได้มีการประกาศเมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้ใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ แทน พร้อมกับการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นฉบับที่ ๑๘ เมื่อ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยมีเนื้อหาสาระเป็นอำมาตยาธิปไตยเต็มรูปแบบ

การต่อสู้ของกลุ่ม "เสื้อเหลือง" และ "กลุ่มเสื้อแดง"ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งก็คือการแก้กับไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้นี่เอง โดยต่างก็คำนึงแต่ผลประโยชน์ของพวกตน มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมในอันที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองแต่อย่างใด. เราในฐานะที่เป็นผู้ที่จะต้องได้รับผลของการแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องไม่ปล่อยให้แกนนำทั้งสองฝ่ายนี้เล่นเกมแห่งอำนาจโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นตัวประกันแต่เพียงลำพังเท่านั้น เพราะหากเราปล่อยให้แต่เพียงแกนนำสองกลุ่มนี้ยื้อยุดฉุดอำนาจกันแล้วบ้านเมืองคงไม่พ้นที่จะลุกเป็นไฟเป็นแน่

ฉะนั้น การแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงที่จะออกมาส่งเสียงว่า ตกลงจะเอาอย่างไร จะแก้หรือไม่แก้ ถ้าแก้จะแก้ประเด็นไหนบ้าง และการแก้จะต้องแก้โดยวิธีใด คณะกรรมการยกร่างมีที่มาจากไหน ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่เพียงใด มิใช่ปล่อยให้ประชาชนเป็นเพียงแต่เบี้ยให้แกนนำของทั้งสองฝ่ายจับวางเท่านั้น

๗. ขอคุยกับหมอประเวศเรื่องทางออกจากวิกฤติ

ตามที่หมอประเวศได้เสนอทางออกจากวิกฤติของสถานการณ์ปัจจุบันเผยแพร่ตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่า ทางออกเฉพาะหน้าอาจสรุปเหลือ ๒ เส้นทางคือ เส้นทางสันติวิธีกับเส้นทางนองเลือดนั้น ในเส้นทางสันติวิธีที่คุณหมอเสนอมีอยู่ ๖ ข้อ คือ

๑) การประชาสัมพันธ์ป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง
๒) การแสดงความรับผิดชอบโดยการกล่าวคำว่า ผมเสียใจ ผมขอโทษ ผมขอรับผิดชอบดังต่อไปนี้...
๓) ดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็วทันใจ
๔) ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาหมดความสามารถในการแก้วิกฤติ ควรขอเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อเปิดช่องว่างให้ทรงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้

๕) ถ้ายังทำอะไรก็ไม่ได้ ก็ทะเลาะกัน กดดันกันต่อไป แต่อย่าใช้ความรุนแรง รัฐควรเปิดโอกาสให้ใช้การสื่อสารของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ให้แต่ละฝ่ายพิสูจน์ตัวเองต่อสาธารณะ

๖) การเจรจาหาข้อยุติร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ ความขัดแย้งทุกชนิดยุติด้วยการเจรจา ขัดแย้งรุนแรงเท่าใดๆ ก็สามารถยุติได้ด้วยการเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน

ข้อเสนอในเส้นทางสันติวิธีของคุณหมอนั้นผมเห็นด้วยเกือบทั้งหมด แต่ที่ไม่อาจเห็นด้วยได้เลยคือข้อเสนอข้อที่ ๕ ที่ว่าด้วยการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อเปิดช่องว่างให้ทรงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะโดยรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถทำได้ เป็นการผิดกฎหมาย และอีกทั้งจะเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาทอีกด้วย

ส่วนทางรุนแรงนองเลือดนั้นคุณหมอได้เสนอไว้ว่าถ้าหากสันติวิธีดังกล่าวข้างบนไม่มีใครปฏิบัติหรือไม่ได้ผลแล้วหลุดเข้าไปสู่การปะทะนองเลือด กองทัพไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเข้ามาระงับยับยั้งความรุนแรง และยึดอำนาจรัฐอย่างสั้นที่สุดเพื่อสลายขั้ว แล้วนำความกราบบังคมทูลว่า บัดนี้ระบบการเมืองสุดความสามารถในการแก้วิกฤติแล้ว เกิดสุญญากาศทางอำนาจแล้ว ขอพึ่งพระบารมี ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางมีศักยภาพสูงในการยุติวิกฤติการณ์ และประสานให้ทุกฝ่ายในสังคมมาร่วมสร้างระบบอารยะประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับและร่วมมือสร้างสรรค์สังคมไทยที่มีความเป็นธรรม เมื่อมีความเป็นธรรม ความขัดแย้งลดลง ความร่วมมือก็จะมากขึ้น ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์เป็นไปได้

ข้อเสนอในทางรุนแรงนองเลือดที่คุณหมอเสนอให้ทหารเข้ามายึดอำนาจรัฐหรือรัฐประหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ บทเรียนที่ผ่านมาในอดีตย่อมเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว่าการรัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง มีแต่เพิ่มปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารครั้งล่าสุด ๑๙ กันยา ๔๙ นั้นได้สร้างปัญหาไว้อย่างมากมาย. เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันนั้นเป็นผลมาจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่ว่าจะเป็นมรดกบาปรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ที่เป็นชนวนความขัดแย้งในสังคม หรือองค์กรอิสระทั้งหลายที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งคอยตามเช็คบิลฝ่ายตรงข้ามกับคณะรัฐประหารจนเกิดความวุ่นวายทุกหัวระแหง

แน่นอนว่าบทเรียนของการรัฐประหาร ๑๙ กันยา สำหรับทหารนั้นมีแน่นอน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วทหารก็คงออกมายึดอำนาจตั้งวันที่มีการยึดทำเนียบรัฐบาลและสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีแล้ว ต่อเนื่องด้วยการปะทะจนคุณณรงค์ศักด์ กรอบไทยสงค์ต้องเสียชีวิต อย่างน่าสยดสยอง หรือแม้กระทั่งการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาจนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก

บทเรียนของประชาชนก็ย่อมมีเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการคัดค้านรัฐประหารอย่างไม่เกรงกลัวต่อภัยที่จะตามมาของหลายกลุ่ม ซึ่งยังไม่สลายไป เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่ม บก.ลายจุด กลุ่มฟ้าเดียวกัน กลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตย กลุ่มของคนที่ศรัทธาในวีรกรรมของคุณนวมทอง ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มที่ใหญ่ที่สุดก็คงไม่พ้นกลุ่มไทยรักไทยเก่าหรือ นปก.นั่นเอง และเชื่อว่าการต่อต้านจะรุนแรงยิ่งกว่าการปะทะกันระหว่างพันธมิตรกับ นปก.หรือกลุ่มพันธมิตรกับตำรวจอย่างแน่นอน บ้านเมืองก็จะยิ่งวุ่นวายยิ่งกว่าปัจจุบันอีกหลายร้อยเท่าพันทวีหากมีการรัฐประหารหรือ "หยุดการใช้อำนาจ(ศัพท์ใหม่ล่าสุด)"โดย "คณะต่อต้าน การใช้อำนาจของรัฐโดยมิชอบ"หรือคณะอื่นใดเกิดขึ้นอีก

ผมเชื่อว่าประชาชนจะ "ไม่หงอ"ต่อการรัฐประหารอย่างแน่นอนอนและ การทำรัฐประหารในยุคต่อไปนี้ "ไม่หมู" แล้วสำหรับการนำรถถังเก่าๆ ออกมาวิ่งบนถนน ยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์พร้อมกับออกประกาศยึดอำนาจเพื่อปกครองผู้คนในยุคที่โลกมีการสื่อสารถึงกันทั่วโลกในพริบตาเดียวเช่นนี้ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยไม่หือไม่อือเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

นอกจากความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศแล้ว ปัญหาระหว่างประเทศก็จะตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นการรับรองความเป็นรัฐจากประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายแล้ว ภาวะเศรษฐกิจที่จะต้องเสียหายจากมาตรการการกีดกันทางการค้าที่มีขึ้นต่อประเทศที่มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็จะตามมา. ส่วนความหวังที่ว่าจะขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางมีศักยภาพสูงมายุติวิกฤติการณ์นั้น ผมขอถามว่าใครที่เป็นคนกลางที่ว่านั้น เพราะแม้แต่คุณหมอประเวศเองซึ่งในสายตาผมเห็นว่าก่อนหน้าวิกฤติการณ์พันธมิตรท่านน่าจะเป็นกลางที่สุด ก็มิใช่คนกลางในสายตาของ นปก.แล้ว และปี ๔๙-๕๐ ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเป็นคนกลางหรือ คนดีกับการเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีฝีมือนั้นคนละเรื่องกัน

การแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตยอย่าใจร้อนครับ ทุกปัญหามีทางออก ถ้ามองไม่เห็นทางออกก็ต้องให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นประชาชนทั้งประเทศตัดสินใจ เมื่อประชาชนทั้งประเทศตัดสินใจแล้วเกิดความเสียหาย ประชาชนก็จะต้องเป็นผู้รับผลแห่งความเสียหายนั้น มิใช่ให้เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาบงการหรือตัดสินชะตาชีวิตของประเทศ แต่เพียงกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว

แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยเรามีปัญหาในเรื่องของการคัดสรรคนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ก็แก้กติกา กติกาที่ว่าก็คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง ลองถามประชาชนว่าเขาจะเอาอย่างไร อยากได้การปกครองแบบไหน ระบบการเลือกตั้งแบบใด มิใช่คอยแต่คิดว่าประชาชนยังโง่อยู่ ถูกซื้อขายเหมือนเป็นวัวเป็นควาย เสียงประชาชนส่วนนี้ไม่ต้องรับฟัง ซึ่งมันมิใช่ระบอบประชาธิปไตยแต่มันเป็นระบอบอภิชนาธิปไตย(Aristocracy)หรืออัตตาธิปไตย(Autocracy) สำหรับกลุ่มอาการคลั่งลัทธิ(fanaticism)ไปแล้ว

เมื่อเริ่มต้นก็ไม่เชื่อในศักดิ์ศรีของความเท่าเทียมกันของมนุษย์แล้ว จะไปหวังว่าจะสามารถประสานให้ทุกฝ่ายในสังคมมาร่วมสร้างระบบอารยะประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับ และร่วมมือสร้างสรรค์สังคมไทยที่มีความเป็นธรรมได้อย่างไร

๘. Failed State: รัฐที่ล้มละลาย

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ไม่ว่าเราจะอยากให้เป็นหรือไม่อยากให้เป็นก็ตาม ในสภาพการณ์บ้านเมืองปี 2551 นี้รัฐไทยได้ตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า Failed State หรือ รัฐที่ล้มละลายในความน่าเชื่อถือหรือรัฐที่ล้มเหลวตามคำแปลของนักรัฐศาสตร์ทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Failed State นั้น ผมชอบที่จะใช้คำแปลว่า "รัฐที่ล้มละลาย" เช่นเดียวกับคำว่าบุคคลล้มละลายมากกว่าคำว่า "รัฐที่ล้มเหลว" เพราะความหมายของคำว่า Failed State นั้น หมายถึง "รัฐที่ไม่สามารถทำหน้าที่ด้านการศึกษา ความมั่นคง การบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากความรุนแรงภายในที่เกิดขึ้น หรือความยากจนอย่างรุนแรง ภายใต้สุญญากาศแห่งอำนาจเช่นนี้ ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการแย่งชิงอำนาจและอาชญากรรมที่เกิดขึ้น บางครั้งสหประชาชาติหรือประเทศเพื่อนบ้านต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม รัฐที่ล้มละลายไม่ใช่เฉพาะปัจจัยภายในเท่านั้น รัฐภายนอกอาจเข้ามาสร้างความไร้เสถียรภาพโดยการเติมเชื้อเพลิงให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างเผ่าพันธุ์ หรือสนับสนุนกลุ่มกบฏ ทำให้รัฐนั้นพังทลายในด้านการบริหารจัดการ"

กล่าวโดยย่อ Failed State ก็คือ รัฐที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย รัฐบาลและกลไกรัฐขาดความมั่นคงและประสิทธิภาพ ไม่สามารถบริหารประเทศและแก้ปัญหาต่างๆ อย่างได้ผลนั่นเอง. คำว่า Failed State ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้หลายครั้งโดยประเทศที่เรียกตัวเองว่า "รัฐที่เจริญแล้ว (Enlightened State)" เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องประชาชนของรัฐที่ล้มละลาย รัฐอันธพาล (Rogue State) หรือรัฐก่อการร้าย (Terrorist State) โดยวิธีการที่อาจจะผิดกฎหมายแต่ก็มีความชอบธรรม (Illegal but Legitimate)

ในปี 2550 ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจโดยออกแบบตัววัดทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แล้วนำมาสรุปจัดลำดับว่าประเทศใดเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดี (สีเขียว) ปานกลาง (สีเหลือง) มีคำเตือน (สีส้ม) และล้มละลาย (สีแดง) ผลจากการสำรวจจาก 177 ประเทศ พบว่า ประเทศที่อยู่ในกลุ่มสีแดง แย่ที่สุด มี 32ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในอาฟริกา. กลุ่มสีส้ม หรือสัญญาณเตือนภัย 97 ประเทศ. กลุ่มสีเหลือง ระดับกลางๆ 32 ประเทศ. และกลุ่มสีเขียว ดีที่สุด 14 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศยุโรปตะวันตก ซึ่งรวมถึงแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการดีที่สุดมาสองปีแล้ว ส่วนประเทศที่ล้มเหลวที่สุด คือ โซมาเลีย สำหรับไทยเราอยู่ลำดับที่ 89 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันแล้ว ปรากฏว่าที่แย่ที่สุดอยู่ในกลุ่มสีแดง คือ พม่า (12) (ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งไม่ดีเพราะมีโอกาสล้มละลายสูง) กลุ่มสีส้ม มีลาว (40) กัมพูชา (48) อินโดนีเซีย (55) ฟิลิปปินส์ (59) เวียดนาม (60) ไทย (89) มาเลเซีย (118) ส่วนสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มสีเหลืองโดยอยู่ในลำดับที่ 159 (ไม่มีประเทศใดในอาเซียนได้สีเขียว)

ตัวอย่างที่ผมยกมานี้เป็นการจัดอันดับของสถานการณ์ในปีที่ผ่านมาคือปี 2550 แต่เมื่อหันมาดูสถานการณ์ในบ้านเราในปี 2551 แล้วเอาตัววัดทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเข้าจับแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างในทางที่แย่ลงกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

- ตัววัดทางสังคมที่แย่ลงจะเห็นได้จากมีการเกลียดชังระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น มีการตราหน้าฝ่ายตรงข้ามว่าชั่วร้ายต้องทำลายให้ย่อยยับ พร้อมทั้งมีการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันจนบาดเจ็บล้มตาย มีการแบ่งสีแบ่งเหล่าเป็นพวกพันธมิตรกับพวกต่อต้านพันธมิตร ซึ่งไม่เคยมีการแตกสามัคคีในเหล่าคนไทยมากมายดังเช่นปัจจุบันนี้มาก่อน

- ตัววัดทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน มีคนรวยกระจุกแต่คนจนกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำ คนฆ่าตัวตายหนีพันธะหนี้สินปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกวัน เกิดภัยพิบัติทั่วไปทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ฯลฯ

- ส่วนตัววัดทางการเมืองนี้ยิ่งเห็นได้ชัด อำนาจรัฐไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ แม้แต่ทำเนียบรัฐบาลซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางของอำนาจรัฐ ก็ยังถูกยึดครองได้เป็นเวลาแรมเดือนมาแล้ว โดยไม่ต้องพูดถึงเขตสามจังหวัดภาคใต้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาเช่นกัน

ปีที่ผ่านมา เราถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศสีส้มคือกลุ่มที่ต้องระวังหรือกลุ่มที่อยู่ในสัญญาณเตือนภัย แต่แน่นอนว่าปี 2551 สถานการณ์ของเรากลับไม่ดีขึ้นเลย มิหนำซ้ำยังแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด แต่แทนที่คนไทยจะหันหน้าเข้ามาหาทางแก้ไขปัญหากันแต่กลับดึงดัน หัวชนฝาในความเห็นของตนฝ่ายเดียว

ฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่ารัฐไทยในปี 2551 เปลี่ยนจากประเทศในกลุ่มสีส้มเป็นประเทศในกลุ่มสีแดงที่ตกอยู่ในสภาวะล้มละลายหรือ Failed State เป็นที่เรียบร้อยแล้วแม้แต่นายกฯ ฮุนเซ็น แห่งกัมพูชา ยังปรามาสว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะการเมืองที่สับสนอลหม่าน จึงไม่น่าจะพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนซัมมิต ขอให้โอนตำแหน่งประธานหมุนเวียนอาเซียนให้สิงคโปร์ หรือเวียดนาม ไปเลยจะดีกว่า

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ : Release date 16 February 2009 : Copyleft MNU.

H.L.Mencken นักเขียนชาวอเมริกันต้นศตวรรษที่ 20 ได้ให้คำนิยาม demagogue ว่า one who will preach doctrines he knows to be untrue to men he knows to be idiot (คนที่ชอบพร่ำสั่งสอนความเชื่อที่เขารู้ว่าเป็นเท็จให้แก่คนที่เขารู้ว่าเป็นคนปัญญาอ่อน). demagogue ที่เก่งไม่จำเป็นต้องพูดความเท็จอย่างโจ่งแจ้ง เพียงแต่เน้นบางจุดหรือบิดเบือนบางประเด็นให้ผู้ฟังสรุปไปเองก็พอแล้ว ในประวัติศาสตร์มี demagogue หลายคนที่เปลี่ยนโฉมโลกไปในทางที่เลวร้าย เช่น ฮิตเลอร์ สตาลิน มุสโสลินี เป็นต้น คนที่เป็นเป้าหมายของพวก demagogue มักจะไม่รู้ตัวว่าตนกำลังตกเป็นเหยื่อ เช่น ชาวเยอรมันยุคนาซีก็รู้แต่เพียงว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์พูดเป็นความจริงที่ตนรู้สึกมานานแล้วแต่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด

H