ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




26 -12-2551 (1670)

ปาฐกถาเกียรติยศชุด'พุทธธรรมพาไทยพ้นวิกฤต' มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ปาฐกถาชุดพุทธธรรม: อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ
ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ปาฐกรับเชิญ
หอประชุมมหิศร สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๑
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ปาฐกถาพุทธธรรมต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

ปาฐกถาพุทธธรรมนี้ได้รับผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ
- สุญญตาธรรมคืออะไร ?
- พุทธบริษัทมีพระเจ้าคืออิทัปปัจจยตา
- ในทะเลมีสายฝน ในหยาดฝนมีทะเลกว้าง
- เหตุและผลสามารถไหลย้อนกลับไปกลับมา
- โลกสูญ...เพราะว่าสูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน
- การก้าวพ้นทวิภาวะ กุญแจไปสู่การเข้าใจสุญญตา
- สรรพสิ่งไม่ได้มีลักษณะตัดขาดซึ่งกันและกัน
- จิตที่ติดอยู่ในข่ายความคิดนั้นเป็น"ความหลง" - "สัญญาวิปลาส"
- มัชฌิมาปฏิปทา: การเห็นความจริงทั้งหมดโดยไม่มีตัวตนไปปิดบัง
- การก้าวพ้นทิฏฐิ เป็นเรื่องเดียวกับการก้าวพ้นทวิภาวะ
- ทำไมอำนาจจึงเป็นความว่าง ?
- ประสบการณ์เรื่องการใช้อำนาจ คำสอนจากปวงปราชญ์
- การเมืองต้องไม่แยกจากธรรมะ นักการเมืองโพธิสัตว์
- ในที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ในที่นั้นไม่เรียกว่าสภา
- มหากปิชาดก: เรื่องของพญาวานรผู้พลีร่างเพื่อความรอดของบริวาร
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๗๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปาฐกถาเกียรติยศชุด'พุทธธรรมพาไทยพ้นวิกฤต' มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ปาฐกถาชุดพุทธธรรม: อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ
ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ปาฐกรับเชิญ
หอประชุมมหิศร สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๑
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

นมัสการพระคุณเจ้า, กราบเรียนพณฯ องคมนตรี ฯ, พณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี, ท่านศาสตราจารย์ประเวศ วะสี,
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน และพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ก่อนอื่น คงต้องขอขอบคุณมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญที่เมตตาเชื้อเชิญให้ผมมาแสดงความคิดเห็น อันที่จริงผมมีความรู้ในเรื่องพุทธธรรมน้อยมาก กล่าวได้ว่ายังรู้ไม่พอที่จะมาแสดงปาฐกถาธรรมในโอกาสเช่นนี้ ยิ่งต้องมาพูดอยู่ท่ามกลางศิษย์สายตรงที่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนโดยท่านอาจารย์พุทธทาสด้วยแล้ว ผมยิ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังแสดงความโอหังบังอาจอยู่มากทีเดียว เพราะฉะนั้นในเบื้องแรก คงต้องเรียนว่าสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ มาจากความเข้าใจอันจำกัดของผมเอง ซึ่งอาจจะขาดตกบกพร่องผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของครูบาอาจารย์ หรือไม่ตรงตามหลักธรรมที่บางท่านเข้าใจอยู่บ้าง ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือสา

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองไม่มีวาสนาได้บวชเรียนโดยตรงกับท่านอาจารย์พุทธทาส ไม่เคยแม้แต่จะได้ไปกราบท่านสักครั้งในยามที่ท่านมีชีวิตอยู่ แต่โชคยังดีที่ท่านได้ทิ้งมรดกธรรมไว้มากมาย ทำให้ผมมีโอกาสได้ศึกษาและทำความเข้าใจพุทธธรรมโดยผ่านคำสอนของท่านอยู่บ้าง เช่นนี้แล้ว ผมจึงรู้สึกว่าท่านเป็นครูที่สำคัญคนหนึ่ง ไม่ใช่ครูของผมเท่านั้น หากเป็นครูของคนไทยทั้งประเทศและเป็นครูของโลก

เนื่องจากวันนี้เป็นวาระที่พวกเรามาชุมนุมกันเพื่อรำลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์พุทธทาส เรื่องที่จะพูดจึงต้องเป็นเรื่องธรรมะเท่านั้น ออกนอกรัศมีธรรมไม่ได้ อย่างไรก็ดี การพูดถึงหลักธรรมไม่ได้หมายความว่าต้องตัดเรื่องทางโลกทิ้งไป เพราะธรรมะโอบอุ้มโลกทั้งโลกไว้แล้วในฐานะกฏเกณฑ์ที่ดำรงอยู่โดยธรรมชาติ เราจะเข้าใจธรรมะได้ก็โดยผ่านการพิจารณาประสบการณ์ทางโลกเป็นสำคัญ ปรมัตถ์สัจจะกับสมมุติสัจจะแม้จะเป็นความจริงต่างระดับแต่ก็เกี่ยวโยงกัน ดังนั้น ที่ผมกล่าวว่าจะต้องพูดเรื่องธรรมะเท่านั้น จึงไม่ได้หมายถึงการตัดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ออกไป หากหมายถึงการพิจารณาเรื่องราวทั้งหลายประดามีโดยผ่านมุมมองของหลักธรรม

พูดกันตามความจริง หัวข้อที่ผมเลือกมาสนทนากับท่าน เป็นหัวข้อที่ใหญ่มาก ออกจะเกินกำลังของผมไปพอสมควร แต่ที่ผมเลือกคุยกันล้อมรอบหัวข้อ'ความว่าง'หรือที่บาลีเรียกว่า"สุญญตา" ก็เพราะเห็นว่า นี่เป็นหัวใจแห่งคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส. ท่านอาจารย์เองเคยกล่าวไว้ว่า

"ธรรมที่ลึกที่สุดก็คือเรื่อง"สุญญตา" นอกนั้นเรื่องตื้น ธรรมที่ลึกจนต้องมีพระตถาคตตรัสรู้ขึ้นมาและสอนนั้นมีแต่สุญญตา เรื่องนอกนั้นเรื่องตื้น ไม่จำเป็นจะต้องมีตถาคตเกิดขึ้นมา" (1) แน่ละ ในการสนทนาเรื่องลึกขนาดนี้ ผมเองก็เสี่ยงต่อการแสดงความโง่เขลาเบาปัญญาอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ผมยินดีน้อมรับการเสี่ยงดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการบูชาครู
(1) พุทธทาสภิกขุ,ความว่างฯ (ธรรมสภา ไม่ระบุปีที่พิมพ์) น. 32

สุญญตาธรรมคืออะไร ?
ถามว่าความว่างหรือสุญญตาธรรมคืออะไร? หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้ว แต่ผมจะขออนุญาตทบทวนสั้นๆ ดังนี้ว่า "ความว่างในภาษาธรรมไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่าโล่งเตียนไม่มีอะไรเลยตามที่เข้าใจกันในภาษาสามัญ หากหมายถึงสภาพความจริงที่สรรพสิ่งในโลกล้วนอิงอาศัยกันเกิดขึ้นและมีอยู่ ด้วยเหตุนี้แต่ละสิ่งจึงปราศจากแก่นสารในตัวเอง (self-nature) หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ ไม่มีอัตลักษณ์แยกต่างหาก (separate identity)"

การไม่มีแก่นสารในตัวเองภาษาสันสกฤตเรียกว่าไม่มี "สวภาวะ" แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งทั้งหลายในโลกไม่มีอยู่จริง หากมีอยู่โดยสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ไม่มีสิ่งใดอุบัติขึ้นได้โดยอิสระ. ดังนั้นหลวงพ่อนัท ฮันห์ อาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงจึงบอกว่า ความเป็นสุญญตาเกี่ยวโยงอยู่กับความเป็นอนัตตาอย่างใกล้ชิด สิ่งต่างๆ "แค่ว่างจากตัวตน แต่เต็มไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง" (2) หรือพูดตามท่านคุรุนาคารชุน ก็ต้องบอกว่า "เพราะความว่างนี่แหละ ที่ทำให้ปรากฏการณ์ทั้งหลายก่อรูปขึ้นมาได้" (3)
(2) Thich Nhat Hanh, ZEN KEYS (Three Leaves Press: New York 1995) p.105
(3) อ้างในเล่มเดียวกัน p.106

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ "สุญญตา" หมายถึง สภาพของความจริงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย และหมายถึงความจริงแบบองค์รวมมากกว่าความจริงแบบแยกส่วน เช่นนี้แล้ว ท่านทั้งหลายคงจะนึกออกทันทีว่าหลักธรรมเรื่องความว่างนั้นเกี่ยวโยงกับคำสอนของพระพุทธองค์เรื่อง "อิทัปปัจจยตา" หรือ "ปฏิจจสมุปบาท" จนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน

พุทธบริษัทมีพระเจ้าคืออิทัปปัจจยตา
ท่านอาจารย์พุทธทาสเองเวลาสอนเรื่องความว่าง ก็ไม่ได้แยกประเด็นออกจากอิทัปปัจจยตาท่านยืนยันว่าสิ่งนี้เป็นกฏเกณฑ์ธรรมชาติที่กำหนดความเป็นไปในโลกและจักรวาล ซึ่ง "มีอำนาจเด็ดขาดเหนือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่จะบันดาลสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นไปในลักษณะใดก็ตาม...ฉะนั้นพุทธบริษัทก็มีพระเจ้าคืออิทัปปัจจยตา เป็นสิ่งที่บันดาลให้สิ่งอะไรเกิดขึ้นมา แล้วก็ควบคุมสิ่งนั้นๆ ไว้ แล้วก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นยุบสลายลงไปเป็นคราวๆ แล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่ นี้คือพระเจ้าอิทัปปัจจยตาที่ทำหน้าที่ของมัน" (4)
(4) พุทธทาสภิกขุ, อิทัปปัจจยตา (อรุณวิทยา 2545) น. 166

พูดง่ายๆ คือ ท่านอาจารย์พุทธทาสเห็นว่า "กฏแห่งความว่าง"นั้น มีพลานุภาพเทียบเท่าพระเจ้าในศาสนาอื่น และสามารถให้คุณให้โทษได้ แต่เป็นการให้คุณให้โทษไปตามกฏเกณฑ์ธรรมชาติ ไม่ใช่ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ หรือให้คุณให้โทษไปตามการร้องขอของสรรพสัตว์. ถามว่า แล้วกฏอิทัปปัจจยตาคืออะไร ทำอย่างไรเราจึงจะอยู่อย่างสอดคล้องกับกฏเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งหมายถึงว่าอยู่ได้โดยปกติสุขโดยไม่ถูกลงโทษลงทัณฑ์?

ต่อเรื่องนี้คงจะต้องจำแนกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะพูดกันตามความจริง ธรรมชาติเลื่อนไหลไปตามกฏดังกล่าวอยู่แล้ว มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่บ่อยครั้งหยั่งไม่ถึงกฏแห่งการไร้ตัวตน กฏแห่งการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีอยู่ ตลอดจนกฏแห่งการแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลไปตามเหตุปัจจัย

ในทะเลมีสายฝน ในหยาดฝนมีทะเลกว้าง
ในโลกของธรรมชาติ ถ้าเราช่างสังเกตสักหน่อยก็จะพบว่า ปรากฏการณ์ทั้งปวงล้วนก่อรูป ตั้งอยู่ และแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พูดให้งดงามก็ทุกอย่างในโลกธรรมชาติล้วนดำเนินไปใน"อ้อมกอดของสุญญตา" สรรพสิ่งยืมตัวเองมาจากการมีอยู่ของสิ่งอื่น ในทะเลมีสายฝน ในหยาดฝนมีทะเลกว้าง ละอองไอในก้อนเมฆ แท้จริงแล้วคือท้องทะเลที่กำลังเดินทาง เมื่อเราเห็นฝนก็คือเห็นทะเล เห็นทะเลก็คือเห็นฝน

เกี่ยวกับกฏอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาทนั้น ครูบาอาจารย์ผู้รู้ยังมีทัศนะต่างกันอยู่เล็กน้อย บางท่านเคร่งครัดตามพุทธวจนะที่เริ่มต้นด้วย อวิชฺชาปจฺจยา สํขารา (เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงมี) ตามด้วยเพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงมี ต่อเนื่องไปจนครบ 12 อาการ จึงมองว่าทั้งหมดเป็นสายโซ่แห่งทุกข์ ไม่ว่าจะไล่เหตุปัจจัยในลักษณะอนุโลมหรือปฏิโลมก็ตาม

การพิจารณาเช่นนี้หมายความว่าอาการหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอีกอาการหนึ่ง เช่นอวิชชาทำให้เกิดสังขาร (หรือการปรุงแต่ง) จากนั้นสังขารกลายเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงอาการของชาติซึ่งมีภพเป็นปัจจัย พูดอีกแบบคือนี่เป็นการเห็นปรากฏการณ์ทางโลกไล่เรียงไปตามสายโซ่ของเหตุและผล ซึ่งผลสามารถกลายเป็นเหตุปัจจัยส่งต่อให้เกิดผลอื่นๆ ต่อเนื่องไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด

เหตุและผลสามารถไหลย้อนกลับไปกลับมา
อย่างไรก็ดี ครูบาอาจารย์ผู้รู้บางท่านเห็นว่าการตีความปฏิจจสมุปบาทในลักษณะอะไรเป็นเป็นเหตุอะไรเป็นผลในทิศเดียว อาจจะอธิบายความจริงไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงเน้นไปในการพิจารณาปฏิสัมพันธ์ของนานาปัจจัย ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้นในโลก ซึ่งหมายถึงว่าเหตุและผลสามารถไหลย้อนกลับไปกลับมา ไม่จำเป็นว่าอย่างหนึ่งเป็นต้นเหตุของอีกอย่างหนึ่ง การมีอยู่ของสิ่งใดก็ตาม เป็นผลมาจากการชุมนุมของนานาปัจจัย เมื่อปัจจัยพร้อมสิ่งนี้จึงเกิด เมื่อปัจจัยเปลี่ยนสิ่งนั้นจึงดับ เหมือนเมล็ดพันธุ์ไม้ผลิงอก ปัจจัยต้องพร้อมทั้งดิน น้ำ แสงตะวัน

ในพระไตรปิฎกเอง แม้คำอธิบายส่วนใหญ่จะให้พื้นที่กับการลำดับ 12 อาการไปในทิศทางเดียว โดยเริ่มต้นจากอวิชฺชาปจฺจยา สํขารา แต่ก็มีคำอธิบายอยู่ในพระอภิธรรมว่า แม้แต่อวิชชาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิจจสมุปบาทนั้น ก็เป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ นอกจากนี้สังขารยังสามารถย้อนมาเป็นปัจจัยก่อให้เกิดอวิชชาได้เช่นกัน

อันนี้ถ้าให้ผมตีความ ก็คงต้องบอกว่าการแยกเหตุกับผลอย่างเด็ดขาดอาจจะไม่ถูกต้องนัก บางครั้งสรรพสิ่งอาจจะเป็นเหตุและผลของกันและกัน ในปราฏการณ์ที่เป็นวัฏจักรเวียนวน ยกตัวอย่างเดิม เช่นความสัมพันธ์ระหว่างฝนกับทะเล เราจะบอกว่าฝนมาจากทะเลก็ได้ หรือทะเลมาจากฝนก็ถูกต้องเช่นกัน ยิ่งบอกว่าทะเลกับสายฝนเป็นหนึ่งเดียว ยิ่งตรงกับปรมัตถ์สัจจะที่สุด

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญคือต้องเข้าใจว่าเหตุปัจจัยทั้งปวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ หากเป็นผลจากการมีอยู่ของปัจจัยอื่นทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเองได้โดยไม่มีเหตุปัจจัย ถ้าเราเข้าใจจุดนี้แล้ว ก็จะพบว่า การโทษปัจจัยใดหรือบุคคลใดโดดๆ ว่าเป็นต้นเหตุเพียงอย่างเดียวของปรากฏการณ์หรือสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนา ย่อมเป็นทัศนะที่ไม่สอดคล้องกับความจริง

โลกสูญ...เพราะว่าสูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน
ตรงนี้จึงนำมาสู่ประเด็นสำคัญที่สุดเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา คือการนำหลักธรรมดังกล่าวมาส่องให้เห็นความว่าง อันเป็นลักษณะของโลก แต่การหยั่งถึงสภาพสุญญตาของโลกเป็นสิ่งที่ยากมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่อาศัยหลักธรรมนี้มาขัดเกลาตัวเองเสียก่อน. ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตอบคำถามพระอานนท์เกี่ยวกับสภาพสุญญตาของโลกว่า "โลกสูญ...เพราะว่าสูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน" (5). จากพุทธวัจนะดังกล่าว เราอาจอ่านความหมายได้สองทางคือหนึ่ง โลกเป็นความว่างเพราะสรรพสิ่งไม่มีตัวตนแท้จริง สองจะเห็นความว่างของโลกได้ก็ต้องเข้าใจความว่างตัวตนของเราด้วย
(5) พระไตรปิฎกเล่ม 31 (บาลี) สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค (ภาษาไทย เล่ม69 น.634)

ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็เน้นว่าเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาท"นั้น ที่สำคัญคือ ต้องมาใช้มองด้านใน
คำกล่าวของท่านที่ว่า"ว่างจากตัวกูของกูเท่านั้น จะว่างหมดจากทุกสิ่ง" (6) เท่ากับบอกว่า ถ้าอยากจะหยั่งเห็น"อิทัปปัจจยตาภายนอก"นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการหยั่งถึง"อิทัปปัจจยตาภายใน"
(6) ความว่างฯ น. 55

อันนี้หากอ่านให้ลึกลงไป ก็ต้องสรุปว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในโลกไม่ใช่เรื่องภายนอกเท่านั้น หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในด้วย และจะต้องดับเหตุการณ์ภายในเสียก่อน จึงจะดับเหตุการณ์ภายนอกได้. อันที่จริงประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ภายในนั่นแหละ คือถ้าบุคคลหยั่งไม่ถึงความว่างอันเป็นธรรมชาติของโลก หยั่งไม่ถึงกฏเหล็กของอิทัปปัจจยตา ก็จะมองปัญหาผิดไปจากความจริง และแก้ปัญหาโดยไม่สอดคล้องกับความจริง ซึ่งก็คือเพิ่มปัญหาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

การที่คนเรามองไม่ไม่เห็นสุญญตา ทำให้ชอบแบ่งโลกออกเป็นคู่ขัดแย้งต่างๆ ชอบบัญญัติลงไปว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้สวย สิ่งนั้นอัปลักษณ์ สิ่งนี้บริสุทธิ์ สิ่งนั้นมีมลทิน ฯลฯ การมองโลกแบบทวิภาวะเช่นนี้ แท้จริงแล้วมักผูกโยงอยู่กับอัตตา ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันขัดแย้งอยู่เนืองๆ เพราะต่างฝ่ายต่างอยากกำหนดความเป็นไปของโลกด้วยปัจจัยเดียวคือตัวเอง และโทษผู้อื่นเป็นต้นเหตุโดดๆ แบบไม่มีที่มาที่ไป. แต่กฏแห่งความว่างเป็นกฏเหล็ก ละเมิดแล้วก็มีแต่หาทุกข์ใส่ตัว ตรงนี้เองคืออำนาจแห่งความว่าง... อำนาจแห่ง'พระเจ้าอิทัปปัจจยตา'

"ทวิภาวะ"เป็นเพียงเรื่องสมมุติ เพียงบัญญัติทางโลก
ความจริงของโลกคือภาวะแยกเป็นคู่ๆ แบบขาวล้วนดำล้วนนั้น เป็นแค่เรื่องสมมติ เป็นบัญญัติทางโลกที่อาจทำได้กระทั่งมีประโยชน์ หากอยู่ในระดับพอเหมาะพอสมไม่ยึดติด อีกทั้งรู้เท่าทันมัน แต่ถ้าใครก็ตามพาทัศนะเช่นนี้เตลิดไปอย่างไร้ขอบเขต สุดท้ายย่อมติดกับอยู่กับความขัดแย้งชนิดหาทางออกไม่ได้ ทั้งขัดแย้งในตัวเองและขัดแย้งกับผู้อื่น. อันที่จริงในเรื่องความสุดโต่งของทัศนะที่จะยืนยันว่าสิ่งใดมีอยู่สิ่งใดไม่มีอยู่ หรือสิ่งใดผิดสิ่งใดถูกตามโลกบัญญัตินั้น พระพุทธองค์ได้ทรงเตือนไว้แล้วว่าไม่ทำให้เกิดปัญญา ดังพุทธวัจนะใน "กัจจานโคตตสูตร" ซึ่งทรงกล่าวไว้ว่า…

"โลกนี้โดยมากอาศัยส่วน 2 อย่าง คือ ความมี 1, ความไม่มี 1, ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลกย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทาน และอภินิเวส แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น..." (7)
(7) พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค (ภาษาไทยเล่ม26 น.73)

การก้าวพ้นทวิภาวะ กุญแจไปสู่การเข้าใจสุญญตา
ในพระสูตรของฝ่ายมหายาน ประเด็นการก้าวพ้นทวิภาวะ ( dualism ) หรือก้าวพ้นการแบ่งแยกความจริงออกเป็นคู่ตรงข้ามนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีแต่ก้าวพ้นการยึดมั่นในสิ่งนี้เท่านั้น จึงจะได้กุญแจไปสู่การเข้าใจสุญญตา ดังจะเห็นได้จากข้อความในคัมภีร์ "วิมลเกียรตินิทเทสสูตร" (ปริเฉท 9) ซึ่งบรรดาพระโพธิสัตว์หลายองค์ได้ตอบคำถามของท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ในเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด

"กุศล อกุศล ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดไม่เกิดความรู้สึกยึดถือ ก่อเกิดกุศลฤาอกุศล รู้แจ้งเห็นจริง เข้าถึงอัปปณิหิตธรรม จึงชื่อว่าเข้าสู่ อไทวตธรรมทวาร"

"บาป บุญ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดรู้แจ้งว่าเนื้อแท้ภาวะแห่งบาปมิได้ผิดแปลกจากบุญเลย ใช้
วชิรปัญญาเข้าไปตัดความติดแน่นในลักษณะแบ่งแยกเสียได้ ไม่มีผู้ถูกผูกพันฤาไม่มีผู้หลุดพ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่ อไทวตธรรมทวาร" (8)
(8) เสถียร โพธินันทะ, ชุมนุมพระสูตรมหายาน (บรรณาคาร 2516) น. 161

ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็ยืนยันในเรื่องข้ามพ้น"ทวิภาวะ"ไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า
"เราจะต้องเรียนรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา เพื่อว่าเราจะได้เดินอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ไปโง่ไปหลงในของเป็นคู่ๆ ของเป็นคู่ที่ระบุไปยังข้างใดข้างหนึ่งโดยเด็ดขาดนั้นไม่ใช่อิทัปปัจจยตา เป็นสิ่งสมมติ.. " (9)
(9) อิทัปปัจจยตา น.52

พูดอีกแบบคือการถอนอุปาทานออกจากการแยกโลกเป็นขั้วเป็นข้างนั้นถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการหยั่งถึงความจริง อีกทั้งเป็นวิธีเดียวที่จะเชื่อมความจริงสมมุติเข้ากับความจริงปรมัตถ์. ผมขออนุญาตนำข้อความใน"ลังกาวัตรสูตร" ของมหายานมาสมทบอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มความชัดเจน

สรรพสิ่งไม่ได้มีลักษณะตัดขาดซึ่งกันและกัน
"อไทวตธรรม (non-duality) หมายความว่ากระไร? มันหมายความว่า ความสว่าง ความมืด สั้น ยาว ขาว ดำ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสัมพัทธ์ทั้งสิ้น...และไม่ได้เป็นอิสระจากกัน เฉกเช่น "นิพพาน" และ"สังสารวัฏ" ไม่ได้แยกขาดจากกัน สรรพสิ่งมิได้แยกเป็นสองขั้วเช่นนั้น ไม่มีนิพพานที่ปราศจากสังสารวัฏ ไม่มีสังสารวัฏที่ปราศจากนิพพาน เนื่องจากเงื่อนไขในการดำรงอยู่(ของสรรพสิ่ง)ไม่ได้มีลักษณะตัดขาดซึ่งกันและกัน" (10)

(10) "….what is meant by non-duality? It means that light and shade , long and short, black and white are relative terms….and not independent of each other, as Nirvana and Samsara are, all things are not-two. There is no Nirvana except where is Samsara; there is no Samsara except where is Nirvana; for the condition of existence is not of mutually exclusive character. " D.T. Suzuki Trans., The Lankavatara Sutra (Motilal: Delhi 2003) p.67

ดังนั้น สรุปในชั้นนี้ก็คือ การข้ามพ้นธรรมคู่หมายถึงการเห็นความว่าง และการเข้าใจความว่าง หมายถึง การมองเห็นความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้นมีอยู่ของสรรพสิ่ง เห็นความเชื่อมโยงร้อยรัดของสรรพสิ่ง มองเห็นแม้แต่ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสิ่งที่ดูเหมือนขัดแย้งกัน ด้วยเหตุนี้ การหยั่งเห็นความว่างจึงเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับหลักธรรมสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งได้แก่ "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือที่เราเรียกกันว่า "ทางสายกลาง"

อย่างไรก็ตาม จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ท่านคงเห็นชัดอยู่แล้วว่าธรรมข้อนี้ไม่ได้หมายถึงทางที่อยู่ตรงกลางระหว่างทางสองสาย ไม่ได้หมายถึงทัศนะไม่เลือกข้างเพื่อเอาตัวรอด และยิ่งไม่ใช่หมายถึงการหาประชามติจากคนกลางๆ ที่ไม่ได้เป็นคู่ความขัดแย้ง. กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด "มัชฌิมาปฏิปทา" หมายถึงการถอนอุปาทานจากความคิดสุดโต่งทั้งปวง หมายถึงการมองเห็นความสมมุติของทวิภาวะ เห็นความไม่จริงของบัญญัติต่างๆ ที่ผู้คนมักยกอ้างมาขัดแย้งกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในเวลานี้ พี่น้องชาวไทยเราจำนวนหนึ่งกำลังถูกพัดพาให้ไปยึดถือบัญญัติว่าอะไรเป็นประชาธิปไตย อะไรไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเถียงกันเอาเป็นเอาตายโดยลืมไปว่าทั้งหมดเป็นแค่สมมุติสัจจะ เป็นความจริงสัมพัทธ์ที่ขึ้นต่อนานาปัจจัยและไม่มีอันใดเที่ยงแท้ถาวร อย่างนี้เรียกว่าติดกับอยู่ในทวิภาวะซึ่งเป็นบ่วงทุกข์อันหนักหน่วง และคงเปลื้องทุกข์ไม่ได้ถ้าไม่ถอนตัวกลับมาสู่มัชฌิมาปฏิปทา

จิตที่ติดอยู่ในข่ายความคิดนั้นเป็น"ความหลง" - "สัญญาวิปลาส"
นักวิชาการด้านพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้เขียนไว้ว่า "จิตที่ติดอยู่ในข่ายความคิดนั้นเป็นความหลง ภาษาพระเรียก "สัญญาวิปลาส" ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาการบ้า แต่หมายถึงการยึดติดความคิดบางอย่างที่เนื่องกับอัตตา เป็นการสนับสนุนอัตตาในระดับเหตุผล" (11)
(11) สุมาลี มหณรงค์ชัย, พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง (สนพ.ศยาม 2548) น.148

ผมเห็นด้วยกับคำอธิบายเช่นนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากผมอยู่ในแวดวงปัญญาชนมานาน เคยเห็นคน'คลอดลูก'เป็นความคิดมามาก อีกทั้งหวงความคิดของตนราวลูกในอุทร ใครแตะไม่ได้ ใครค้านไม่ได้ ผมเองก็เคยหลงอยู่ในกับดักเช่นนั้น เคยออกอาการสัญญาวิปลาสอยู่พักใหญ่เหมือนกัน. กล่าวในทางรากฐานทางปรัชญาแล้ว การเชื่อเรื่องจับคู่ขัดแย้งเอาเป็นเอาตาย มีนัยยะเท่ากับเชื่อว่าดี ชั่ว ผิด ถูก เกิดเองมีเองได้โดยไม่อาศัยเหตุปัจจัยอื่นมาประกอบ "ที่เราดีเพราะดีเอง ที่เขาชั่วเพราะชั่วเอง เพราะฉะนั้นจะต้องหักล้างกันลงไปข้างหนึ่งให้ได้" สิ่งที่มักหลงลืมกันคือ ทัศนะว่าตนเองถูกฝ่ายอื่นผิดนั้น เป็นทัศนะที่เราปรุงขึ้นเองทั้งสิ้น

เช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่าความคิดสุดโต่งไม่ว่าจะมาจากขั้วไหน ล้วนหนีไม่พ้นเรื่องของอัตตา ที่เชื่อว่าตนเองคือผู้กำหนดความเป็นไป เห็นว่าตนเองคือศูนย์กลางจักรวาล ภาษาธรรมเรียกกิเลสกลุ่มนี้ว่า "ปปัญจะ" อันประกอบด้วย ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ตราบใดที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลยึดถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ยอมถอนอุปาทานจากทวิภาวะ ความขัดแย้งก็จะดำเนินไปสู่ความรุนแรง เกิดเป็นความทุกข์ในรูปใดรูปหนึ่งจนได้ จะว่าไป นี่นับก็เป็นการแสดงอำนาจอีกแบบหนึ่งของสุญญตา ที่ลงโทษลงทัณฑ์ผู้ละเมิดกฎ

พูดก็พูดเถอะ ตามความเข้าใจของผม"มัชฌิมาปฏิปทา"ไม่ใช่ความเห็นที่สามซึ่งแตกต่างจากความเห็นที่หนึ่งที่สอง หากเป็นการก้าวพ้นทัศนะที่แยกต่างหากจากผู้อื่นสิ่งอื่น เป็นการดับทิฏฐิโดยตั้งมั่นอยู่ในความว่าง ว่างจากตัวตนและว่างจากสิ่งต่างๆ อันเนื่องด้วยตัวตน เช่นนี้แล้ว ทางสายกลางหมายความว่าอย่างไรกันแน่ หมายถึงการไม่มีข้อเสนออะไรเลยใช่ไหม? คำตอบคือไม่ใช่เช่นนั้น

มัชฌิมาปฏิปทา: การเห็นความจริงทั้งหมดโดยไม่มีตัวตนไปปิดบัง
หนทางของมัชฌิมาปฏิปทาเป็นหนทางที่มาจากการเห็นความจริงในส่วนทั้งหมดโดยไม่มีตัวตนไปปิดบัง. คนเราเมื่อว่างจากตัวตน ว่างจากทิฏฐิ เมตตาย่อมเกิด กรุณาย่อมเกิด อุเบกขาย่อมเกิด ทำให้สามารถรับฟังความคิดเห็นต่างๆได้ง่ายขึ้น มองโลกครบถ้วนขึ้น จากนั้นสภาพจิตก็จะเปลี่ยนจากวิเคราะห์เป็นสังเคราะห์ เปลี่ยนจากแยกส่วนเป็นหลอมรวม เปลี่ยนจากความรู้รอบเรื่องบัญญัติ มาเป็นความลุ่มลึกแห่งปัญญาญาณ. พูดอีกแบบคือ มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเรื่องของการเปิดประตูใจ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การพบทางออกในเหตุการณ์รูปธรรมทั้งปวง เมื่อใจสงบ หยั่งถึงความว่าง ทุกอย่างก็เป็นไปได้ ตามกฏธรรมชาติ สรรพสิ่งล้วนก่อรูปขึ้นในความว่าง

เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเอง เออเอง ในคาถา"พระธรรมบท" มีพุทธวจนะ ซึ่งยืนยันอย่างชัดเจนว่า " ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง ใจเป็นใหญ่กว่าสรรพสิ่ง สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ " (12)
(12) เสฐียรพงษ์ วรรณปก, พุทธวจนะในธรรมบท (ธรรมสภา 2550) น. 3-4

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า การจะเข้าถึงทางสายกลางนั้น แท้จริงแล้วก็คือ การทำความเข้าใจหมวดธรรมสำคัญๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพวกเรามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ต้องทำความเข้าใจปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา

ท่านทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า ในวิถีสู่ความหลุดพ้นตามหลักพุทธธรรมนั้น อันดับแรกของมรรคมีองค์ 8 คือ"สัมมาทิฏฐิ" (หรือที่แปลเป็นไทยว่าความเห็นชอบ) เรื่องนี้หากนำมาศึกษาประกอบกับหลักธรรมเรื่องสุญญตา ปฏิจจสมุปบาท และมัชฌิมาปฏิปทา ก็จะสรุปได้ไม่ยากว่าสัมมาทิฏฐิ คือ การก้าวพ้นทิฏฐิ (ซึ่งแปลว่าความเห็น หรือทฤษฎี) นั่นเอง. มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า"ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม" และตรัสว่า"ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้เห็นธรรม" (13)
(13) อ้างในอิทัปปัจจยตา น.162

การก้าวพ้นทิฏฐิ เป็นเรื่องเดียวกับการก้าวพ้นทวิภาวะ
อันที่จริงการก้าวพ้นทิฏฐิหรือทัศนะ เป็นเรื่องเดียวกับการก้าวพ้นทวิภาวะ ดังท่านจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ การติดค้างอยู่ในทวิภาวะในบ้านเราทำให้มีการผลิตทัศนะความคิดเห็นออกมาอย่างมากมายเหลือเชื่อ มีผู้แสดงถ้อยแถลงแข่งกันอย่างต่อเนื่องนับเป็นร้อยวัน ซึ่งถ้ายังออกจากความขัดแย้งไม่ได้การสร้างทฤษฎี (ทิฏฐิ) เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามก็คงจะดำเนินต่อไปอีก. ดังนั้น ใครก็ตามที่อยากจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง คงต้องขอให้คู่กรณีหยุดพูด หรือหยุดผลิตความคิดเห็นสักพักหนึ่งก่อน อันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นก้าวแรกที่จะออกจาก"สัญญาวิปลาส"

ดังคำสอนใน "วิมลเกียรตินิทเทสสูตร" ซึ่งกล่าวว่า "...ในธรรมทั้งหลาย เมื่อปราศจากคำพูด ปราศจากโวหาร ปราศจากการแสดง ปราศจากความคิดรู้คำนึง พ้นจากการปุจฉาวิสัชชนา นั่นคือการเข้าสู่อไทวตธรรมทวาร" (14). คำสอนดังกล่าว หากตีความให้ตรงกับเรื่องที่เรากำลังคุยกัน ก็คงต้องบอกว่าการหยั่งถึงความว่าง จะทำได้ยากยิ่ง หากไม่มีการหยุดพูด หยุดโต้แย้งกัน... หากไม่อาศัยความเงียบสำรวมจิตใจให้ตั้งอยู่ในความสงบเสียก่อน
(14) ชุมนุมพระสูตรมหายาน น. 173

ความเงียบ บ่อยครั้งไม่ได้หมายความว่าเป็นการสยบยอม หรือไม่มีวิจารณญาณ หากเป็นการตั้งมั่นอยู่ในสัมมาสติ เพื่อพิจารณาความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตการเมืองอยู่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังครองตนอยู่ในความนิ่งเงียบ แต่ความเงียบเช่นนี้ แท้จริงแล้วอาจดังกึกก้องเหมือนฟ้าคำราม ผู้ใดอ่านสัญญาณไม่ออก กระทำการผลีผลามย่ามใจ ก็เท่ากับหาทุกข์ใส่ตัว

กล่าวเช่นนี้แล้ว ก็คงต้องพูดถึงความว่างแห่งอำนาจ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของหัวข้อปาฐกถาเสียเลย การที่ผมตั้งหัวข้อปาฐกถาว่า "อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ" นั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นสำนวนแม้แต่น้อย หากดึงมาจากเนื้อหาความเป็นไปของโลกที่เกี่ยวโยงกันอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมาผมได้พยายามชี้แจงด้วยสติปัญญาอันจำกัดแล้วว่า "ความว่าง"หรือ"สุญญตา"เป็นกฏเกณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงสภาพปราศจากแก่นสารอิสระของสรรพสิ่ง หมายถึงการอิงอาศัยกันเกิดขึ้นมีอยู่ของสรรพสิ่งและปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งทำให้การมองโลกอย่างแยกส่วนตัดตอน เป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับความจริง

ทำไมอำนาจจึงเป็นความว่าง ?
ถามว่าแล้วทำไมอำนาจจึงเป็นความว่างด้วย? คำตอบคือ อำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ อำนาจไม่ใช่สิ่งของ หรือพลังวิเศษที่ผู้ใดจะยึดครองไว้ได้โดยไม่สัมพัทธ์กับเงื่อนไขต่างๆ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์อื่นๆ ปรากฏการณ์แห่งอำนาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ โดยอิงอาศัยนานาปัจจัย

พูดอีกแบบคือ อำนาจมีกฏเกณฑ์ในการก่อเกิด ดำเนินไปและดับสูญอย่างเคร่งครัด และกฏเกณฑ์เหล่านั้นก็อยู่ในกรอบกฏอิทัปปัจจยตาอย่างเลี่ยงไม่พ้น เช่นนี้แล้วอำนาจจึงเป็นสุญญตา อำนาจไม่มีแก่นสารอิสระจากปัจจัยที่ค้ำจุน อำนาจมีลักษณะเป็นความว่างอย่างยิ่ง. จากความจริงดังกล่าว กฏข้อแรกที่ผู้กุมอำนาจหรือผู้แสวงหาอำนาจจะต้องทำความเข้าใจ คืออำนาจที่ตนต้องการ ขึ้นต่อการมีอยู่ของเหตุปัจจัยใดบ้าง และถ้าต้องการบำรุงรักษาอำนาจไว้อย่างต่อเนื่อง จะต้องดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับปัจจัยเหล่านั้นอย่างไร?

แน่นอน ตรงนี้เราคงต้องแยกระหว่างปรากฏการณ์ของอำนาจดิบๆ อย่างเช่น อำนาจปืนของโจรผู้ร้ายที่ใช้บังคับเหยื่อให้ยอมจำนน กับอำนาจการเมืองการปกครอง ซึ่งขึ้นต่อฉันทานุมัติหรือความเห็นชอบของผู้อยู่ใต้อำนาจเป็นปัจจัยสำคัญ. ถามว่า แล้วทำไมคนจำนวนมากจึงยอมให้คนบางหรือคนบางกลุ่มปกครอง?

การที่คนจำนวนมากจะยอมรับอำนาจของคนจำนวนหนึ่ง ย่อมประกอบด้วยความหวังที่ผู้กุมอำนาจจะยังประโยชน์มาให้ตน เช่นคุ้มครองดูแลชีวิต ป้องกันภัยพิบัติต่างๆ จัดสรรผลประโยชน์ทางวัตถุ ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ตัดสินคดีพิพาท กระทั่งคาดหวังคุณค่าระดับสูงอื่นๆ เช่นเสรีภาพและความยุติธรรม เป็นต้น. ดังนั้น เงื่อนไขชี้ขาดที่สุดของผู้กุมอำนาจการเมือง คือจะต้องสร้างความพอใจให้ผู้อยู่ใต้อำนาจให้ได้ มิฉะนั้นก็จะไม่ได้รับฉันทานุมัติให้ใช้อำนาจการปกครอง หรือถ้ากุมอำนาจอยู่แล้วก็จะไม่มีความมั่นคง ไม่สามารถปกครองใครได้อย่างแท้จริง กระทั่งนำไปสู่การสูญเสียอำนาจในที่สุด

อำนาจการเมืองสร้างขึ้นเพื่อปัดเป่าความเดือดร้อน
ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่าอำนาจการเมืองมีไว้เพื่อแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าใครเล่นการเมืองเพื่อหาอำนาจไปเอาเปรียบคนอื่น ก็ต้องถือว่าไม่ใช่การเมืองที่แท้จริง (15) อันนี้ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์"อัคคัญญสูตร"ซึ่งอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ถ้าใครเคยอ่านพระสูตรนี้ก็จะเข้าใจว่า อำนาจการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้ปัดเป่าความเดือดร้อนของตัวเอง
(15) พุทธทาสภิกขุ, ธรรมะกับการเมือง (สนพ.สุขภาพใจ 2546) น. 65

ตามข้อความที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ มนุษย์แต่เดิมมีธรรมชาติที่ดีงาม แต่เมื่อสูญเสียความบริสุทธิ์นั้นไป ก็หันมาทะเลาะเบาะแว้งแย่งผลประโยชน์กัน สังคมมีแต่ความเดือดร้อนรุนแรง เมื่อตกลงกันเองไม่ได้ ในที่สุดก็ไปเชิญผู้ที่เหมาะสมท่านหนึ่งมาทำหน้าที่คอยตัดสินข้อพิพาท. นั่นเป็นพุทธทรรศน์เกี่ยวกับที่มาของอำนาจรัฐหรืออำนาจการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นความจริงสามอย่างคือ

หนึ่ง อำนาจเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไขขึ้นต่อความยินยอมพร้อมใจของผู้อยู่ใต้อำนาจ
สอง อำนาจนั้นจะต้องใช้ไปเพื่อปัดเป่าความเดือดร้อนหรือขจัดปัญหาผู้อยู่ใต้อำนาจ และ
สาม ตำแหน่งผู้กุมอำนาจเป็นสิ่งสมมติ ไม่ได้มีอำนาจโดยตน และไม่อาจใช้อำนาจเพื่อตน จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าใช้คำว่า "มหาชนสมมุติ" เรียกผู้กุมอำนาจนี้ ก็นับว่าสอดคล้องตามความจริงทุกประการ

ดังนั้น ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่าอำนาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดตามกฏเกณฑ์แห่งความว่างมาตั้งแต่ต้น (ไม่มีธรรมชาติอิสระแยกจากสิ่งอื่น) และดำรงอยู่ ดำเนินไปตามกฏเกณฑ์แห่งความว่างเช่นกัน. ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าผู้ปกครองหรือผู้ถืออำนาจการเมืองหยั่งไม่ถึงสุญญตาแห่งอำนาจแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น? เรื่องนี้ถ้าจะให้ผมตอบอย่างกำปั้นทุบดินก็คงต้องบอกว่า ผู้กุมอำนาจท่านนั้นคงจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่ช้าก็เร็วก็คงถูกกฏเหล็กแห่งอิทัปปัจจยตาเล่นงานเอาจนเสียผู้เสียคนไป

ประสบการณ์เรื่องการใช้อำนาจ คำสอนจากปวงปราชญ์
อย่างไรก็ดี มนุษย์เรานั้นมีประสบการณ์เรื่องการใช้อำนาจหรือประสบการณ์เรื่องการเมืองการปกครองมานานหลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสอนคำเตือนหลายอย่างจากนักปราชญ์ทั่วโลกเกี่ยวกับการใช้อำนาจ ยกตัวอย่างเช่น

- ในโลกตะวันออก คำสอนของท่านเหล่าจื๊อสรุปไว้ว่า "ในการปกครองชั้นเยี่ยมผู้คนจะไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง..." (16) ถ้อยคำเหล่านี้นี้หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าอำนาจการเมืองนั้นควรใช้ให้น้อยที่สุด และใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หากทำได้เช่นนั้น ประชาชนก็แทบจะไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของอำนาจเลย
(16) เหล่าจื๊อ, เต๋าเต็กเก็ง คุณธรรมแห่งผู้นำ (เรียบเรียงโดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์และสมเกียรติ สุขโข/ สนพ.ก.ไก่ ไม่ระบุปีที่พิมพ์) น. 17

- ในซีกโลกตะวันตก เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว มหาปราชญ์ชาวกรีกชื่อเพลโต (Plato) ก็สอนไว้ว่า ผู้ปกครองจะต้องไม่มีสมบัติส่วนตัว ไม่มีแม้กระทั่งครอบครัว และจะต้องใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของผู้อยู่ใต้การปกครองเท่านั้น

- คัมภีร์"ราชนีติ" ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการปกครองของอินเดียโบราณ ยืนยันไว้ว่า ผู้ปกครองที่ดีจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับอาณาจักรของตน (17)
(17) ราชนีติ (สนพ.MBA 2545) น. 33

- ใน "มังรายศาสตร์" ซึ่งเป็นกฏหมายปกครองมีมาแต่โบราณของชาวไทยล้านนา ก็มีการจำแนกระหว่างนายที่ดีกับนายที่เลวไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือนายดีหรือที่เรียกว่า'ขุนธรรม' นั้นจะต้องเมตตาต่อไพร่ ไม่ทำบาปต่อไพร่ ไม่ข่มเหงรังแกไพร่ ส่วนนายเลวที่เรียกว่า'ขุนมาร'นั้นมักชอบข่มเหงรังแกไพร่ ชอบฉกชิงสิ่งของ ผิดลูกผิดเมียไพร่ นายประเภทหลังนี้ท่านว่าเป็น "ต้นไม้พิษกลางเมือง" ไม่ควรให้เป็นใหญ่ต่อไป (18)
(18) ประเสริฐ ณ นคร เรียบเรียง, มังรายศาสตร์ (ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 2521) น.8-9

- กล่าวสำหรับคำสอนของพุทธศาสนาเอง ทุกท่านก็คงทราบดีอยู่แล้วว่ามีหัวใจสำคัญอยู่ในราชธรรม 10 ซึ่งขึ้นต้นด้วย ทาน ศีล และลงท้ายด้วยขันติ อวิโรธนะ (19) นอกจากนี้ยังมีหมวดธรรมที่เรียกว่า"จักรวรรดิวัตร 12" ซึ่งสอนให้ผู้ปกครองปกป้องดูแลตั้งแต่ชนชั้นสูงมาถึงชนชั้นล่าง ตลอดจนสมณชีพราหมณ์ (20)
(19) รายละเอียดอยู่ใน พระธรรมปิฎก, พจนานุกรมพุทธศาตร์ฉบับประมวลธรรม (มหาจุฬาฯ 2538) น. 285-287
(20) รายละเอียดอยู่ในเล่มเดียวกัน น. 300

ท่านทั้งหลายคงเห็นแล้วว่าตัวอย่างคำสอนที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ ล้วนชี้ไปในทิศเดียวกัน คือยืนยันว่าอำนาจเป็นปรากฏการณ์ที่ขึ้นต่อปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตัวอำนาจเอง และปัจจัยสำคัญที่สุด ชี้ขาดที่สุด ได้แก่ความพอใจของผู้อยู่ใต้อำนาจ

การเมืองต้องไม่แยกจากธรรมะ นักการเมืองโพธิสัตว์
อันนี้มีนัยยะป้อนกลับมายังผู้กุมอำนาจอย่างไรบ้าง? คำตอบชัดเจนที่สุดก็คือ หากอยากได้อำนาจและอยากรักษาอำนาจไว้ให้ยั่งยืนนาน ผู้กุมอำนาจจะต้องว่างจากตัวตน และสิ่งที่เนื่องด้วยตัวตน กล่าวอีกแบบหนึ่งคือต้องเป็นผู้รู้ธรรมและปฏิบัติธรรมนั่นเอง. ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยสอนไว้ว่า การเมืองต้องไม่แยกจากธรรมะ และนักการเมืองที่แท้จริงจะต้องเป็นนักการเมืองโพธิสัตว์ หรือนักการเมืองของพระเจ้า (อิทัปปัจจยตา) ซึ่งมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น หายใจเป็นประโยชน์ของผู้อื่น (21) นิยามนี้นับว่าตรงกับคำสอนของปวงปราชญ์โบราณ

ในเมื่ออำนาจเป็นปรากฏการณ์แห่งความว่าง ผู้กุมอำนาจก็ควรหยั่งถึงความว่างในดวงจิตของตนด้วย ใครก็ตามที่นำอัตตาตัวตนขึ้นสู่เวทีอำนาจ ใครก็ตามที่นำผลประโยชน์ส่วนตัวขึ้นสู่เวทีอำนาจ และยืนยันผลประโยชน์ของตนเองเป็นเอก ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ หรือสรรเสริญ ท้ายที่สุดแล้วก็จะไปไม่รอดทั้งสิ้น เพราะกฏแห่งอำนาจเป็นกฏเดียวกับอิทัปปัจจยตา เกิดขึ้นมีอยู่โดยอาศัยนานาปัจจัย รวมทั้งอาศัยการยอมรับของประชามหาชนผู้ที่ไม่มีอำนาจ

ถึงตรงนี้ ผมคงต้องอธิบายเล็กน้อยว่าการต้านอำนาจนั้นถือเป็นการแสดงอำนาจชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้กฏอิทัปปัจจยตาเช่นกัน มีสภาพเป็นความว่างเช่นเดียวกัน. ดังนั้นใครก็ตามที่คิดจะตั้งศูนย์อำนาจใหม่หรือต่อต้านอำนาจเก่า ควรจะต้องรู้ว่าอำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอิงอาศัยนานาปัจจัย อำนาจไม่ได้บรรจุอยู่ในอาคารสถานที่ การยึดอำนาจรัฐไม่ได้เกิดจากการยึดตัวอาคารหากจะต้องยึดครองที่หัวใจคน

ถามว่าเช่นนี้แล้ว คนที่จิตไม่ว่าง หรือคนที่เต็มแน่นไปด้วยอัตตาจะขึ้นไปกุมอำนาจได้หรือไม่? คำตอบคือคงได้ตามวิถีทางโลก และในความหมายแบบทางโลก แต่จะไม่ใช่อำนาจที่แก้ปัญหาอะไรได้ อย่างถึงราก กลับเป็นอำนาจที่ก่อความเดือดร้อน สร้างทุกข์เข็ญให้บ้านเมืองเสียมากกว่า อีกทั้งจะไม่มีความมั่นคงยั่งยืน เนื่องจากถูกปฏิเสธต่อต้าน

อันที่จริง ตรงนี้แหละคือความแตกต่างระหว่างผู้แสวงหาอำนาจธรรมดา กับผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าในความหมายของธรรมะ หรือในความหมายทางรัฐศาสตร์ก็ตาม. ผู้นำการเมืองเมื่อว่างจากตัวตน จึงสามารถทำทุกอย่างได้เพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง เสียสละทุกอย่างได้เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ส่วนผู้กุมอำนาจที่จิตไม่ว่างนั้น ต่อให้ไม่ก่อปัญหาร้ายแรง ก็จะมีทางเลือกและศักยภาพในการแก้ปัญหาได้น้อยกว่ากันมาก

ในที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ในที่นั้นไม่เรียกว่าสภา
เหมือนดังพุทธภาษิตที่กล่าวว่า "เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต " ในที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ในที่นั้นไม่เรียกว่าสภา" อ่านความหมายง่ายๆ ของข้อความนี้ ก็คือการประชุมหรือชุมนุมกันของคนจิตไม่ว่างนั้น ไม่นับเป็น'สภา'ที่แท้จริง และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร? ขออนุญาตอ้างถึงพระไตรปิฎกอีกเล็กน้อย
เกี่ยวกับเรื่อง"คุณสมบัติผู้นำ"นั้น ผมคิดว่าไม่มีเรื่องไหนสามารถสาธิตประเด็นนี้ได้ชัดเจนเท่าเรื่องของพญาวานรในนิทานชาดกชื่อ "มหากปิชาดก"

มหากปิชาดก: เรื่องของพญาวานรผู้พลีร่างเพื่อความรอดของบริวาร
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นพญาลิงผู้มีพละกำลังมหาศาลและมีบริวารอยู่แปดหมื่นตัว ในขณะที่พญาลิงพาบริวารมาเก็บผลมะม่วงรสดีกินอยู่ในป่าหิมพานต์นั้น บังเอิญมีมะม่วงผลหนึ่งตกลงไปในแม่น้ำ และลอยไปติดข่ายของพระราชาเมืองพาราณสี พระราชาทรงชิมผลมะม่วงแล้วเกิดติดใจจึงยกไพร่พลออกค้นหาต้นมะม่วงที่อยู่ต้นน้ำ ครั้นพบฝูงลิงปีนป่ายอยู่บนต้นมะม่วงเต็มไปหมดก็สั่งทหารถืออาวุธไปล้อมไว้ เตรียมจะประหัตประหารไม่ให้มีเหลือแม้ตัวเดียว

ฝ่ายพญาลิงเห็นบริวารตกอยู่ในห้วงอันตรายจึงกัดเครือหวายตั้งใจว่าจะผูกเป็นสะพานเชื่อมระหว่างต้นมะม่วงกับต้นไม้ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่หวายยาวไม่พอจึงตัดสินใจใช้มือยึดกับต้นมะม่วงและทอดร่างต่อจากเส้นหวายให้บริวารได้เหยียบข้ามไปสู่ความปลอดภัย จนกระทั่งบริวารลิงหนีพ้นภัยไปสู่ฝั่งตรงข้ามได้ครบทุกตัว แต่เคราะห์กรรมของพญาลิงผู้เป็นหัวหน้าก็คือลิงตัวหนึ่งซึ่งเป็นพระเทวทัตมาเกิด ได้ถือโอกาสนี้กระโดดใส่หลังพระโพธิสัตว์ที่เป็นพญาวานรอย่างแรงจนได้รับบาดเจ็บ และไม่อาจหนีตามฝูงของตนไป

สุดท้ายพระราชาซึ่งเห็นภาพทั้งหมดเกิดรู้สึกสะเทือนพระทัย จึงโปรดให้นำพญาลิงมารักษาพยาบาล แต่อาการท่านสาหัสเกินกว่าจะเยียวยาจึงสิ้นใจไป ก่อนหน้านั้น พระราชาได้ตรัสถามพญาลิงว่าทำไมจึงยอมเจ็บตัว พญาลิงได้กล่าวกับพระราชาว่า"เราเป็นพญาลิง ปกครองฝูงลิงทั้งหมด เมื่อพวกเขาตกอยู่ในอันตราย เราจึงต้องนำความสุขมาให้ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง" (22)
(22) พระมหาสุนทร สุนทรธมฺโม (เสนาซุย) ,นิทานชาดกเล่ม3 (ไม่มีชื่อสนพ. 2544) น. 55-58

ผมไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม ท่านทั้งหลายก็คงประจักษ์ชัดแล้วว่า คุณสมบัติผู้นำตามหลักพุทธศาสนานั้นเป็นเช่นใด แต่พูดก็พูดเถอะ การเป็นผู้นำการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงบุคคลที่กุมอำนาจการปกครองแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายต่อต้านคัดค้านที่รวบรวมกำลังคนมาตั้งเป็นพรรคเป็นพวกหรือตั้งเป็นขบวนการเมืองในชื่อต่างๆ ก็สามารถเป็นผู้นำการเมืองได้ หรือจะเป็นแค่ผู้แสวงหาอำนาจธรรมดาๆ ก็ได้ ถ้าหากไม่ยึดถือในหลักธรรม ถ้าหากมองไม่เห็นว่างแห่งอำนาจ

บทสรุป
ผมได้พูดไว้แล้วข้างต้นว่า "ปรมัตถ์"กับ"บัญญัติ"ไม่ได้แยกขาดจากกัน เพราะฉะนั้นเรื่องการเมืองนี้ ถ้าทำให้ถูกให้ดี ก็เท่ากับสามารถอาศัยวัฏสงสารเป็น'พาหนะเดินทาง'ไปสู่นิพพาน ถ้าทำไม่ถูกต้อง ก็วนเวียนอยู่ในวัฏจักรแห่งความทุกข์ร้อนไม่สิ้นสุดเช่นกัน ถ้าเราเข้าใจอำนาจแห่งความว่าง และเข้าถึงความว่างแห่งอำนาจเราจะรู้ว่าการขัดแย้งทางการเมืองล้อมรอบสมมุติสัจจะนั้น ควรจะมีขอบเขตอยู่ตรงไหน และอาศัยวิธีการเช่นใด

ถ้าเราหยั่งถึงอิทัปปัจยตา(หรือปฏิจจสมุปบาท) ก็จะมองเห็นว่าความรักบ้านรักเมืองไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างเดียว บางครั้งการยอมแพ้กลับเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่า แสดงความรักบ้านรักเมืองได้มากกว่า เหมือนมารดาพร้อมยกบุตรให้ผู้อื่นในยามที่ตัวเองดูแลปกป้องไม่ได้ แพ้ชนะถึงที่สุดแล้วก็เป็นสุญญตา ไม่มีความจริงรองรับ มีแต่เราเองไปบัญญัติมันขึ้นมา

พูดกันตามหลักรัฐศาสตร์ อำนาจนั้นเปลี่ยนมือได้เสมอ ถ้าผู้ปกครองไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้อยู่ใต้การปกครองได้ หรือมีวิกฤตฉันทานุมัติอย่างต่อเนื่อง. แต่เปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวเสมอไป มันขึ้นอยู่กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงว่า มีปัญญาญาณมากน้อยเพียงใด คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หากสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกันในทิศทางการเปลี่ยนแปลง การล้มลงของระบอบเก่าหรืออำนาจเก่าก็รังแต่จะนำไปสู่สภาพกลียุคและอนาธิปไตย

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บางครั้งอำนาจใหม่กลับฆ่าคนเสียยิ่งกว่าอำนาจเก่าที่ล่มสลาย เนื่องจากทิฏฐิที่ยึดติดในการเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องการรอคอยให้ผู้คนเห็นด้วย เรื่องเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเราควรถือเป็นบทเรียน ดังนั้น ในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส ระบอบการเมืองแบบไหนยังไม่สำคัญเท่ากับว่ามีธรรมะหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีธรรมมะ ถึงอย่างไรก็สร้างสันติสุขให้บังเกิดมิได้ และท่านถือว่าภาวะไร้สันติภาพเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดของมนุษย์ (23)
(23) ธรรมะกับการเมือง น.65

การไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนับเป็นเคราะห์กรรมอย่างยิ่งของแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ ความพยายามที่จะรักษาระบอบการเมืองก็ดี ความพยายามที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองก็ดี จึงไม่อาจสำเร็จได้ด้วยความชัง ไม่อาจใช้โลภะ โทสะ โมหะ มาขับเคลื่อน เราจะสร้างสังคมที่สันติสุขได้อย่างไร หากวิธีการขัดแย้งกับจุดหมายเสียตั้งแต่ต้น สำหรับชาวพุทธแล้วมรรควิถีมีค่าเท่ากับจุดหมายปลายทาง

ท่านผู้มีเกียรติและเพื่อนศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ แท้จริงแล้วเป็นความคิดของตัวเองอยู่ไม่กี่ส่วน ส่วนใหญ่เป็นการเชิญคำสอนของพระศาสดาและบรรดาครูบาอาจารย์มาถ่ายทอดสู่กันฟังเท่านั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากคำสอนเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านความเข้าใจอันจำกัดของผม จึงต้องเรียนขอร้องท่านว่าอย่าได้ยึดถือเป็นเรื่องจริงจังไปเสียทั้งหมด ขอเพียงสิ่งที่ผมพูดได้สมทบส่วนเล็กน้อยให้กับการค้นหาปัญญาญาณของท่าน ผมก็ดีใจมากแล้ว

วันนี้ ผมได้เอ่ยถึงปรมัตถ์สัจจะไว้ในแทบทุกวรรคตอน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นปรมัตถ์สัจจะ แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับปรมัตถ์ธรรมมากกว่า และเช่นเดียวกับความคิดเห็นของผู้คนในเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดที่ผมพูดมาจึงเป็นแค่สมมุติเท่านั้นเอง

ขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติรับฟัง

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๑ : Release date 26 December 2008 : Copyleft MNU.

ท่านอาจารย์พุทธทาสเห็นว่า "กฏแห่งความว่าง"นั้น มีพลานุภาพเทียบเท่าพระเจ้าในศาสนาอื่น และสามารถให้คุณให้โทษได้ แต่เป็นการให้คุณให้โทษไปตามกฏเกณฑ์ธรรมชาติ ไม่ใช่ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ หรือให้คุณให้โทษไปตามการร้องขอของสรรพสัตว์. ถามว่า แล้วกฏอิทัปปัจจยตาคืออะไร ทำอย่างไร เราจึงจะอยู่กันอย่างสอดคล้องกับกฏเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งหมายถึงว่าอยู่ได้โดยปกติสุขโดยไม่ถูกลงโทษลงทัณฑ์ ? ต่อเรื่องนี้คงจะต้องจำแนกระหว่างมนุษย์กับธรรม ชาติ เพราะพูดกันตามความจริง ธรรมชาติ เลื่อนไหลไปตามกฏดังกล่าวอยู่แล้ว มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่บ่อยครั้งหยั่งไม่ถึงกฏแห่งการไร้ตัวตน กฏแห่งการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีอยู่ ตลอดจนกฏแห่งการแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลไปตามเหตุปัจจัย (คัดมาบางส่วนจากปาฐกถา)

H