ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




31-10-2551 (1657)

จากปลายปากกาสู่ปลายพู่กัน : สถานภาพและบทบาทของศิลปินในสังคม
ศิลปะเพื่อชีวิต: ทัศนศิลปที่ไม่สอนกันในมหาวิทยาลัยไทย
Sebastien TAYAC : เขียน
ผศ. เหรียญ หล่อวิมงคล : แปลและเรียบเรียง
คณะมนุษยศาสตร์ และคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทแปลและเรียบเรียงต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

บทความนี้เดิมชื่อ "จากปลายปากกาสู่ปลายพู่กัน : สถานภาพและบทบาทของศิลปินในสังคม"
La plume et le pinceau : la place et le role de l'artiste au sein de la societe.
วัตถุประสงค์ของบทความ ต้องการแสดงถึงความคิดเชิงวิพากษ์ของนักวิชาการซึ่งสนใจใน
สถานการณ์ของศิลปินในฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ ๑๙ และยังให้
ความใส่ใจในบทบาทหน้าที่ของศิลปะและศิลปินในสังคม ผลงานนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงมุมมอง
ต่างๆ ระหว่างศิลปะเพื่อสังคมและศิลปะเพื่อศิลปะ โดยวางอยู่บนพื้นฐานของงานทางวิชาการ
นิตยสาร หนังสือ ตำรา และบันทึกประจำวัน และจดหมายโต้ตอบของนักคิด ศิลปิน นักการเมือง
และนักวิจารณ์ศิลปะ เพื่อที่จะนำเสนอองค์ประกอบต่างๆ ที่มีการถกเถียงกันในหัวข้อข้างต้นนี้

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๕๗
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จากปลายปากกาสู่ปลายพู่กัน : สถานภาพและบทบาทของศิลปินในสังคม
ศิลปะเพื่อชีวิต: ทัศนศิลปที่ไม่สอนกันในมหาวิทยาลัยไทย
Sebastien TAYAC : เขียน
ผศ. เหรียญ หล่อวิมงคล : แปลและเรียบเรียง
คณะมนุษยศาสตร์ และคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

Abstract

The objective of this article is to show the critical thinking of the scholars concerning the situation of the artists in the second part of the 19th century mainly in France. This article focuses on the function of art and the role of the artists in the society. In this work, the readers will understand the exchange of views on art, between Social Art and Art for Art's sake. The opinions in this study are based on academic writings, journals, books, personal diaries and correspondences of thinkers, artists, politicians and art critics, in order to present the elements to elaborate a new debate about the subject.

ปลายปากกาและด้ามพู่กัน : สถานภาพและบทบาทของศิลปินในสังคม (1)
เซบาสเตียน ตา-ยาค (2)

"จิตรกรทั้งหลาย จงใช้ความทรงจำแห่งการขบถที่ยิ่งใหญ่ ที่มาจากพรสวรรค์และหัวใจของพวกคุณ จงแสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นทาสตลอดชั่วนิจนิรันดร์ที่มาจากความน่าละอายและความโกรธา จงพยายามทำลายโซ่ตรวนและกู่ร้องให้ก้องโลกถึงความพยายามในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้"
แฟร์นองค์ เปลลูติเยร์ (3)

"แนวคิดเรื่องสาธารณรัฐ นั่นคือเกียรติยศและพลังที่จะรับใช้ศิลปะ
โดยที่ไม่ทำให้ศิลปะนั้นต้องถูกพันธนาการกลายเป็นทาสของสาธารณรัฐ"

อองโตแนง พรูส (4)

(1) บทความนี้แปลและเรียบเรียงมาจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตโดยนายเซบาสเตียน ตา-ยาค เรื่อง "เครือข่ายและพันธกิจ : ศิลปินในประเทศฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 19 (ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1885-1906)" ภายในการดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ Dominique Jarasse แห่งมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ 3 ปีการศึกษา ค.ศ. 2002 แปลและเรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เหรียญ หล่อวิมงคล สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(2) TAYAC, Sebastien, นักศึกษาชาวฝรั่งเศสแห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระดับดุษฎีบัณฑิต ปัจจุบันเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ สังกัดคณะวิจิตรศิลป์ และอาจารย์พิเศษสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(3) PELLOUTIER, Fernand, L'Art et la revolte, Paris, Bibliotheque de L'Art Social, s.d. p 516.
(4) PREST, Veronique, Antonin Proust, ministre des Arts. Une politique, une esthetique, Maitrise, Paris X, 1983-84.

1. ภารกิจของศิลปะและสถานภาพตลอดจนบทบาทของศิลปิน : มุมมองในหลากหลายมิติ

ก่อนที่จะอธิบายถึงภารกิจของศิลปะและสถานภาพตลอดจนบทบาทของศิลปิน ข้าพเจ้ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในขั้นแรก ที่จะต้องกล่าวถึงทฤษฎีที่เป็นทางการที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับสถานภาพและวิสัยทัศน์ที่ศิลปินจะต้องมีอยู่ท่ามกลางการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม แนวความคิดของนักประพันธ์ นักการเมือง และนักปรัชญาคนอื่นๆ ต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก บทความนี้จึงมุ่งศึกษาผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในฝรั่งเศสในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1906 เพื่อที่จะไม่ออกนอกกรอบแนวคิดเรื่องขอบเขตของระยะเวลาที่ทำการศึกษา (ระหว่างปี ค.ศ. 1885 จนถึง ค.ศ. 1906)

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ในฝรั่งเศส การศึกษาแนวคิดเรื่องการเชื่อมโยงศิลปะกับสังคมนั้นไม่สามารถละเลยได้เลย โดยเฉพาะแนวคิดของปิแยร์ โจเซฟ พรูโดง (5) งานเขียนของเขาได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดทางการเมืองที่มีบทบาทต่อนักคิดคนสำคัญอื่นๆ ในขณะนั้นพรูโดงมีแนวคิดที่แตกต่างจากนักคิดคนอื่นๆ ในช่วงปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส เขาคิดว่าศตวรรษที่ 19 ถูกแยกออกจากศตวรรษที่ 18 โดยที่ศตวรรษที่ 18 นั้นเป็น "ความสมบูรณ์ของมนุษยชาติโดยตัวของมันเอง" ทั้งนี้สังคมในยุคศตวรรษที่ 19 กำลังก้าวไปสู้ความล่มจม

(5) PROUDHON, Pierre-Joseph (1809-1865) เป็นนักเศษฐศาสตร์ สังคมวิทยา และผู้ฝักใฝ่ในอุดมการณ์สังคมนิยม ฝรั่งเศส

พรูโดงได้ตำหนิบทบาทและหน้าที่ของงานศิลปะในผลงานของเขาที่มีชื่อว่า "หลักการของศิลปะและจุดมุ่งหมายทางสังคม" (6) ว่า งานศิลปะเป็นการแสดงออกแห่งกาลเวลาที่กำลังอยู่ในสภาวะแห่งความ"ล่มจม" นอกจากนั้น เขายังได้โจมตีศิลปินนักปราชญ์บางคนว่า "เป็นผู้ที่กำลังสร้างระบบวรรณะขึ้นมาใหม่ เพื่อแยกตัวเองออกจากสังคม เป็นวรรณะที่ไม่มีระเบียบวินัย พวกเขาตกเป็นทาสของบางสิ่งบางอย่างต้องคอยโกงกินและเอาเปรียบสังคม โดยไม่ยอมเคลื่อนไหวใดๆ พวกเขาเหล่านั้นมีปฏิกริยาเชื่องช้า ในช่วงเวลาของพวกเขาเหล่านั้น มีการทำสิ่งที่เลวร้ายไว้มาก แต่น้อยนักที่จะสร้างสรรค์ความดีเพื่อสังคม (...) พวกเขาเหล่านั้นกำหนดชนชั้นทางสังคมขึ้นมาใหม่ที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ แต่ต่ำช้าด้วยเหตุผลและจริยธรรม พวกเขามีข้อเรียกร้องตามสิทธิอันสูงส่ง ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติยศ คุณลักษณะของพวกเขาคือ เด่นเป็นเลิศ ท่วงท่าสง่างาม หลงใหลในลาภ ยศ สรรเสริญ หยิ่งยะโส พวกเขาเหล่านั้นจะยอมสยบแทบเท้าให้กับคนที่ชื่นชมและจ่ายเงินให้กับพวกเขา และบ่อยครั้งพวกเขามีส่วนร่วมในการฉ้อฉลคุณธรรมประจำใจ มากกว่าที่จะรังสรรค์จริยธรรมอันดีงาม" (7)

(6) PROUDHON, Pierre-Joseph, De la justice dans la revolution et dans l' eglise, Tome 3, Paris, Fayard, 1990, p 1545. Cite par Dominique Berthet, Proudhon et l'Art, pour Courbet, L'Harmattan, 2001, p 27.

(7) PROUDHON, Pierre-Joseph, Du principe de l'art et de sa destination sociale, Geneve-Paris, Slatkine, p 270-271. Cite par Dominique Berthet, Proudhon et l'Art, p 32.

ถ้าเราศึกษางานเขียนของพรูโดงที่มีมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในบทความของพรูโดงในปี ค.ศ. 1863 เราจะสามารถเข้าใจแนวคิดวิจารณ์บทบาทของศิลปินในสังคมเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะในหนังสือชื่อ Philosophie de la misere (หรือปรัชญาแห่งความทุกข์ยาก) พรูโดงได้อธิบายว่า "ภายใต้อิทธิของคำว่าทรัพย์สมบัติ ศิลปินจะทำตัวผิดแปลกไปจากภาวะการมีเหตุผล โดยการสร้างขนบขึ้นมาใหม่ (…) กลายเป็นความโลภปราศจากเกียรติยศศักดิ์ศรี เป็นภาพลักษณ์ของความเห็นแก่ตัว (...) แนวคิดเรื่องยุติธรรมและความซื่อสัตย์จะผ่านเลยไปโดยไม่ได้ฝังรากลึกเข้าไปในจิตใจของพวกเขา และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับทุกชนชั้นในสังคม เราจะพบว่าศิลปินสังกัดอยู่ในชนชั้นที่ยากจนข่นแค้น เมื่อพูดถึงคุณธรรมและความสูงส่งของจิตใจ" (8). สำหรับพรูโดงแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ กับการที่ศิลปินจะเลือกใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เขามีความคิดเห็นว่า "ศิลปินเหล่านั้นจะสามารถผลิตผลงานเพื่อมวลชนได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาไม่เคยรู้จักจิตวิญญาณของปวงชน" (9)

(8) PROUDHON, Pierre-Joseph, Philosophie de la Misere, Tome 2, p 278. Ibid, p 32
(9) Ibid, p 272. Cite p 32.

แนวความคิดเช่นนี้ได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อพรูโดงตีพิมพ์บทความทางวิชาการในวารสารชื่อ Les Temps Nouveaux ซึ่งเป็นวารสารฉบับแรกซึ่งออกในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1895 นอกจากนั้น ยังมีบทบรรณาธิการที่ให้การสนับสนุนพรูโดงอีกเช่นกัน บรรณาธิการของวารสารดังกล่าวได้อธิบายว่า"ศิลปิน และนักประพันธ์จะต้องอยู่คู่เคียงข้างมวลชน : เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถแยกตัวออกไปอยู่ต่างหากได้"

(10) Cite par DARDEL, Aline, [ Les Temps Nouveaux ] 1895-1914. Un hebdomadaire anarchiste et la propagande par l'image, in Les dossiers du musee d'Orsay, no 17, 1987, p 41.

เราจะพบแนวความคิดเช่นนี้อีกในผลงานของวิลเลียม มอริส (11) เขาเน้นย้ำว่า ศิลปะจะต้องทำขึ้นจากมวลชนและเพื่อมวลชน. วิลเลี่ยม มอริสได้มีการกล่าวโทษสังคมในยุคสมัยของเขาว่า "ยามเมื่อชนชั้นผู้ใช้แรงงานได้รังสรรค์งานขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก็คือ แก่ทุกๆคน นั่นหมายความว่า พวกเขาก็จะรู้เองว่าศิลปะคืออะไร ถ้าหากว่าการปฏิวัติสังคมนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ศิลปะก็จะสูญสิ้นไป และก็จะมีแต่ผลงานเพื่อคนรวยแต่ไม่ใช่เพื่อคนจน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่กรรมกรจะต้องทราบว่า ระบบทุนนิยมได้พรากงานศิลปะไปจากพวกเขา และพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงงานศิลป์ได้ เพราะแท้ที่จริงแล้ว งานศิลป์จะต้องเป็นสิ่งที่จรรโลงจิตใจของทุกคน" (12)

(11) MORRIS, William, (1834-1896) เป็นนักเขียน กวี จิตรกร นักวาดรูป และสถาปนิกชาวอังกฤษ เขามีชื่อเสียงทั้งในด้านผลงานวรรณกรรม การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง การต่อสู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีอิทธิพลทางความคิดด้านศิลปะเป็นอย่างมากในประเทศอังกฤษในสมัยต่อมา

(12) MORRIS, William, [ La vie ou la mort de l'art ], in Justice, 15 mars 1884.

ในส่วนที่เกี่ยวกับทัศนะที่มีต่องานศิลปะนี้ ออสการ์ ไวล์ ได้กล่าวไว้ว่า "ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือศีลธรรม อยู่นอกเหนือจากการเอื้อมถึงของศีลธรรมจรรยา เพราะว่าสายตาของมนุษย์จะมองเห็นสิ่งที่สวยงาม ที่เป็นอมตะที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ศีลธรรมนั้น จะมีขอบเขตที่ต่ำกว่าและฉลาดเฉลียวน้อยกว่า" (13) นอกจากนี้ มาลลาร์เม ก็ได้เสนอแนวคิดที่คล้ายคลึงกันว่า ศิลปินจะต้องอยู่เหนือสิ่งที่ปนเปเหล่านั้น เขากล่าวว่า "มนุษย์อาจจะสามารถเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ศิลปินจะแยกร่างออกเป็นสอง และจะต้องคงความเป็นผู้มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น" (14)

(13) HAUTECOEUR, Louis, [ Le symbolisme ], Litterature et peinture en France du XVIIeme siecle au XXeme siecle,
(14) MALLARME, Stephane, [ L'art pour tous ], Euvres completes, Paris, Gallimard, 1959, tome I, p 336. Cite par Francoise Grauby, La creation mythique a l'epoque du symbolisme : histoire, analyse et interpretation des mythes fondamentaux du symbolisme, Paris, Nizet, 1994, p 32.

ในทัศนะของการแบ่งความเป็นมนุษย์-ความเป็นศิลปินนี้ มีนักวิจารณ์ศิลปะอีกคนหนึ่งชื่อ เอมิล แฮนเนอแกง (15) เขากังวลกับแนวคิดของนักวิจารณ์ชื่อ ฮิปโปลิท แตน (16) ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขามาก เอมิล แฮนเนอแกง พยายามชี้ให้เราเห็นว่า ในตัวของคนเรานั้นจะมีจิตใจอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ 1) จิตใจของความเป็นมนุษย์ และ 2) จิตใจของความเป็นศิลปิน. นอกจากนี้เขายังได้ยกตัวอย่างของศิลปินชาวอิตาเลียนชื่อ เลอ เปรูแชง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (คริสตศตวรรษที่ 16) เอมิล แฮนเนอแกงได้กล่าวว่า ในตัวของเลอเปรูแชงจะมีสองร่างในเวลาเดียวกัน เลอ เปรูแชง ในฐานะที่เป็นมนุษย์นั้นจะมีลักษณะเป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า และเป็นผู้ฝักใฝ่ในลัทธิวัตถุนิยม, ส่วน เลอ แปรูแชง ในฐานะที่เป็นศิลปินนั้นจะเป็นผู้ที่ศรัทธาในศาสนาและฝักใฝ่ในความลึกลับ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ บริบททางสังคมจะเป็นผู้กำหนดมนุษย์ แต่ไม่สามารถกำหนดความเป็นศิลปินได้ เขาได้กล่าวอีกต่อไปว่า :"งานศิลปะจะมีคุณค่าในตัวของมันตามอัตราส่วนของอิทธิพลของชนชั้นที่มันสังกัดอยู่" (17)

(15) HENNEQUIN, Emile, เป็นลูกศิษย์ของนักปรัชญาที่ยิ่งชื่อ ฮิปโปลิท แตน

(16) TAINE, Hippolyte, (1828-1893) นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 19
เขาพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ ชนชั้น และกาลเวลา

(17) HAUTECOEUR, [ Le symbolisme ], Litterature et peinture en France du XVIIeme siecle au XXeme siecle, p 221.

ในปลายศตวรรษที่ 19 นั้น มีกระแสทางปัญญาที่สำคัญอีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศตะวันตก นั้นก็คือ แนวคิดแบบ"สัญลักษณ์นิยม"(Symbolism) แนวคิดนี้จะปรากฏขึ้นทั้งในงานจิตรกรรมและวรรณกรรม ซึ่งนับเป็นการแสดงออกของกลุ่มปัญญาชนในศตวรรษนี้อย่างแท้จริง

แบร์นาร์ด์ ลาซาร์ (18) ได้มีการขยายความแนวคิดที่คล้ายคลึงกับพรูโดง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการยอมรับในกระแสความเคลื่อนไหวแห่งสัญลักษณ์นิยม สำหรับแบร์นาร์ด์ ลาซาร์แล้ว เขามีความคิดเห็นว่า "ในขณะที่ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งมีความพึงพอใจในการไปเที่ยวเตร่ตามร้านอาหารที่มีการแสดงมหรสพ และคอยปรบมือแสดงความยินดีเมื่อเสียงเพลงของอีฟแว๊ต (19) สิ้นสุดลง ในขณะที่อีกชนชั้นหนึ่งกำลังลิ้มรสซาบซ่านอารมณ์อีโรติค หรือบรรยากาศสุนทรีย์อาจเตลิดไปไกลเพราะลีลาภาษาหยาบคายของนักประพันธ์วรรณกรรมบางคน แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง อาจมีชนชั้นกลางส่วนหนึ่งที่มีความละเมียดละไม มีความละเอียดอ่อน ที่อาจอ่อนแอหรือป่วยทางจิต ที่ไม่ได้มีความพึงพอใจกับบทเพลงแห่งปาร์นาส (20) แม้แต่น้อย และนี่คือสิ่งที่คนรังสรรค์งานศิลปะบางคนพยายามสร้างขึ้นเพื่อชนชั้นกลางในสังคมที่คิดว่าสูงส่งและบางชนชั้นในสังคมที่กำลังป่วยทางจิต (...) พวกเขาเหล่านั้นได้มีปฏิกิริยาต่อแนวคิดแบบธรรมชาตินิยม ไม่ใช่เป็นเพราะว่าแนวคิดแบบธรรมชาตินิยมเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะว่าพวกเขาเหล่านี้ต่างสะอิดสะเอียนต่อชีวิต" (21)

(19) GUILBERT, Yvette, (1867-1944) นักร้องสตรีที่มีชื่อเสียงในปลายศตวรรษที่ 19 เธอมีแฟนเพลงมากมายในการแสดงดนตรีแต่ละครั้ง

(20) Parnasse ชื่อภูเขาในเทพปกรณัมกรีก เป็นที่อยู่ของเทพธิดา มุส ซึ่งได้รับการบูชาว่าเป็นเทพธิดาแห่งสรรพศาสตร์ ต่อมาในศตวรรษที่ 19 คำว่า Parnassienne หมายถึง กลุ่มกวีที่เน้นความไพเราะและสนับสนุนแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อศิลปะอย่างแท้จริง

(21) LAZARE, Bernard, L'ecrivain et l'art social, Paris, Bibliotheque de l'Art Social, 1896, p 25-26. Cite dans l'ouvrage de Bernard Lazare, Anarchiste et nationaliste juif, textes reunis par Philippe Oriol, Paris, editeur Honore Champion, 1999, p 121.

และนี่คือแนวคิดของลาซาร์และพรูโดงในส่วนที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปิน สิ่งนี้ทำให้เราเข้าใจนักวิจารณ์ทั้งสองคน ยามเมื่อเขาอธิบายถึงบทบาทของศิลปินในการค้นหาสังคมใหม่ที่มีลักษณะสมานฉันท์ แม้ว่านักวิจารณ์อีกคนชื่อโจแซฟ เป-ลา-ดอง เสนอแนวคิดเหมือนกับคนอื่น เขาได้เสนอแนวคิดว่าศิลปินมีบทบาทที่สำคัญในสังคม โดยกล่าวย้ำว่า "เมื่อวันเวลาดังกล่าวมาถึง จะเป็นช่วงเวลาที่ศิลปินจะเข้าใจบทบาทของพวกเขา พวกเขาจะกลายเป็นผู้นำที่มีส่วนชี้นำมนุษยชาติ" (22)

(22) HAUTECOEUR, Louis, [ Le symbolisme ], Litterature et peinture en France du XXeme siecle, p 220.

แรงโบด์ (23) ได้เคยเปรียบเทียบ"กวี"ว่าเป็นเสมือน"โพรโมเท" (24) ผู้ที่ได้นำคบไฟมาสู่มวลมนุษย์ ความหมายโดยนัยของคบไฟนั้นก็คือ แสงสว่างแห่งความรู้ ศิลปินก็เป็นเช่นเดียวกัน เขาจะต้องปฏิบัติภารกิจนี้ให้เสร็จสิ้น แรงโบด์กล่าวต่อไปอีกว่า : "ศิลปินจะต้องมีศักยภาพในการรู้สึกถึงอุดมคติ และการสื่อสารระหว่างศิลปินด้วยกันเอง โดยอาศัยสัญลักษณ์ ท่าทาง รูปภาพ การอธิบาย ท่วงทำนอง ความรู้สึกต่างๆ (…) วิธีที่ศิลปินใช้นั้น จะต้องแสดงออกถึงความเป็นบุคลิกภาพของตัวเขาเอง และด้วยสิ่งนี้ ศิลปินก็จะสามารถสื่อสารมาถึงเราได้ เขามีพลังอำนาจเฉกเช่นเดียวกับแม่เหล็กที่สามารถดูดโลหะวัตถุเข้ามาหาตัวได้" (25)

(23) RIMBAUD, Arthur (1854-1891) เป็นกวีที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะผลงานที่มีชื่อว่า le bateau vivre
(24) Promethee เป็นผู้นำคบไฟจากสวรรค์มาสู่มนุษย์ ตัวละครนี้มีชื่อเสียงมากในเทพปกรณัมกรีก
(25) PROUDHON, Pierre-Joseph, Du principe de l'art et de sa destination sociale, p 72.
Cite par Dominique Berthet, Proudhon et l'Art, p 38.

เพื่อที่จะเข้าใจความรู้สึกที่อยู่ภายในของพรูโดงให้ถ่องแท้นั้น เราควรจะต้องทราบว่าพรูโดงไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิงกับคำกล่าวที่ว่า ผลงานศิลปะจะต้องเพื่อศิลปะเท่านั้น ศิลปะจะต้องมุ่งไปสู่ความหมายที่แท้จริงในตัวของมัน นั่นก็คือ "ศิลปะเป็นการแสดงออกที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ เป็นการบ่งบอกถึงเงื่อนไขของชีวิต เขาได้ก้าวเข้ามาสู่ความจริง เข้ามาสู่ความใกล้ชิดกับสิ่งที่ดำรงอยู่ ศิลปะที่จะเคลือบห่อมนุษย์เสมือนหนึ่งเป็นอาภรณ์แห่งเกียรติยศ และนี่คือพรหมลิขิตที่ได้ขีดเส้นไว้แล้ว และนี่คือจุดประสงค์ที่แท้จริงของศิลปิน"(26) จากคำกล่าวนี้เราจะเห็นได้ว่าพรูโดงตีความศิลปะว่า "เป็นตัวแทนในอุดมคติแห่งธรรมชาติ และแห่งตัวมนุษย์เราด้วย นั่นก็คือ เป็นความสมบูรณ์ทั้งทางกายภาพและศีลธรรมแห่งมวลมนุษย์" (27)

(26) PROUDHON, Pierre-Joseph, Du principe de l'art et de sa destination sociale, p 257-258.
Cite par Dominique Berthet, Proudhon et l'Art, p 41.

(27) PROUDHON, Pierre-Joseph, Du principe de l'art et de sa destination sociale, p 68.
Cite par Dominique Berthet, Proudhon et l'Art, p 43.

ในขณะที่มีการจัดสัมมนาเรื่อง "นักประพันธ์และศิลปะเพื่อสังคม" นั้น แบร์นาร์ด์ ลาซาร์ ได้อธิบายว่า "ในตัวศิลปะนั้นมันไม่มีชนชั้น หรือจะกล่าวใหม่ได้ว่า ผลงานศิลปะนั้นจะมุ่งไปสู่ประชาชนและมนุษยชาติ หรือไม่ก็ มันอาจจะตอบสนองต่อชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง และถูกจำกัดไว้ในวงแคบ ในที่สุดก็จะกลายเป็นการเห็นแก่ตัว ในโลกนี้มีศิลปะเพียง 2 อย่างเท่านั้น นั่นก็คือ ศิลปะที่เป็นสากล และศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะ" และนี่ก็คือแนวคิดของลาซาร์ แต่ถ้าหากว่ามีใครสนใจในแนวคิดอื่น เราอาจจะต้องศึกษาความคิดของ อะนาโตล บาจู ซึ่งมีแนวคิดดังนี้

"ศิลปะไม่มีการแบ่งค่าย แต่ศิลปะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดเห็นทุกประการ ศิลปะและการเมืองเป็นวัตถุ 2 ประเภทที่ไม่สามารถทดแทนกันได้" (28) แนวคิดเช่นนี้ไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับอุดมการณ์ของพรูโดง, ลาซาร์, แปลลูติเยร์, หรือ กราฟ แม้แต่น้อย. แบร์นาร์ด์ ลาซาร์ ได้โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า "หลักการของศิลปะจะต้องยอมรับว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ดี การแสดงออกของงานศิลปะเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่ความน่าเกลียดของงานศิลปะนั้นจะมาจากสภาพของสังคม การที่จะทำให้ชีวิตนั้นสวยงาม สิ่งที่ควรจะต้องทำอย่างแรกก็คือ ศิลปะจะต้องช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม และในกรณีนี้ ศิลปะเพื่อสังคมก็จะกลายเป็นศิลปะเพื่อมุ่งไปสู่การปฏิวัติ" (29)

(28) BAJU, Antoine, Le decadent, Avril 1886. Cite par Francoise Grauby, p 33.
(29) LAZARE, Bernard, L'ecrivain et l'art social, Paris, Bibliotheque de l'Art Social, 1896, p 30. Cite dans l'ouvrage Bernard, Lazare, Anarchiste et nationaliste juif, p 122.

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ แฟร์นองด์ เปลลูติเยร์ ได้กล่าวสนับสนุนแบร์นาร์ด์ ลาซาร์ ที่กล่าวเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1896 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำจำกัดความของวาทะศิลปะในช่วงที่มีการสัมมนาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1896 เปลลูติเยร์กล่าวว่า "เราจะต้องฉีกหน้ากากคำพูดที่โกหกหลอกลวงในสังคมว่าศาสนาทั้งหลายในโลกถูกสร้างขึ้นมาทำไมและอย่างไร จะต้องมีการจินตนาการ ลัทธิรักแผ่นดิน จะต้องมีการเร่งสร้างระบบครอบครัวตามรูปแบบของรัฐบาล และจะต้องมีการให้แรงจูงใจจากศิลปินชั้นบรมครูและนี่คือจุดประสงค์ของศิลปะที่มีเป้าหมายเพื่อไปสู่การปฏิวัติ" (30) เราจะพบว่าพันธกิจส่วนตัวของเปลลูติเยร์ จะทำให้ผู้คนในสมัยนั้นเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังคาดหวังจากงานศิลปะ เพราะสำหรับเปลลูติเยร์แล้ว "งานศิลปะเท่านั้นจะต้องสามารถสร้างแนวคิดแบบขบถขึ้นมาในสังคม"

(30) PELLOUTIER, Fernand, L'Art et la revolte, Paris, Bibliotheque de L'Art Social, s.d.

2) ศิลปะและการโฆษณาชวนเชื่อ : จากแนวทฤษฎีสู่แนวปฏิบัตินิยม
2.1) ศิลปะและการโฆษณาชวนเชื่อ : การสมานฉันท์ที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก. . .
ก่อนที่จะอภิปรายถึงปัญหาประเด็นนี้ เราควรจะเข้าใจก่อนว่า คำถามเช่นนี้ก็ไม่ได้เด่นชัด หัวข้อนี้ได้เคยมีการอภิปรายในหลายสาขามาก่อนหน้า มันเป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่ระหว่าง พวกหัวก้าวหน้าทางด้านสุนทรียศาสตร์และพวกหัวก้าวหน้าทางด้านการเมือง โดยมีนักคิดนักเขียนตลอดจนศิลปินในแขนงต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 แนวคิด

- กลุ่มที่หนึ่งคือ อองรี-เอ็ดมางด์ ครอส, เตโอ-วอง ริสเซลแบร์ท, แม๊กซิมิเลียง ลูซ, ปอล ซียัค, ลูเซียงและกามิล ปิสซาร์โร และ

- อีกกลุ่มหนึ่งคือ ฌอง กราฟ ผู้เป็นบรรณาธิการของวารสาร 3 ฉบับ ฉบับที่หนึ่งชื่อ ผู้ต่อต้าน (Le Revolte) ฉบับที่สองชื่อ การต่อต้าน (La Revolte) และฉบับที่สามชื่อ กาลเวลาใหม่ (Les Temps Nouveaux) วารสารทั้งสามฉบับนี้ต่างแสดงให้เห็นว่ามีอุดมการณ์เกี่ยวกับอนาธิปไตย และมีแนวโน้มมุ่งไปสู่การอภิปรายด้านศิลปะและวรรณคดี

ฌอง กราฟ มีความคิดเห็นเหมือนกับปิแยร์ โครโปตกีน โดยทั้งสองเห็นว่าศิลปะมีหน้าที่ส่งผ่านสารไปสู่สังคม แนวคิดของเขาทั้งสองดูชัดเจนกว่าแนวคิดของเอเมิล ปูเช สำหรับกรณีนี้ ฌอง กราฟ ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับผลงานที่อยู่ภายใต้อิทธิพลแบบ นิโอ-อิมเพรสชั่นนิสต์ เขาเห็นว่าการแสดงออกที่แท้จริงของการดำรงอยู่ของคนผู้ต่ำต้อยจะต้องเป็นการรับใช้แนวคิดอนาธิปไตยเท่านั้น เพื่อจะได้สะท้อนให้ผู้อื่นเห็นความอยุติธรรมและความไม่เสมอภาคในสังคม ในขณะเดียวกัน คุณสมบัติและข้อดีต่างๆ ของงานศิลปะก็จะสามารถถ่ายทอดและให้ความรู้แก่ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เพื่อที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมกรดีขึ้น เพื่อไปสู่อนาคตแบบอนาธิปไตย. เมื่อ ฌอง กราฟ นำวารสารทั้ง 3 ฉบับออกสู่สายตาประชาชน ศิลปินมากมายต่างได้ส่งบทความแสดงความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกัน ในการเสนออุดมคติในเรื่องเสรีภาพเพื่อค้นหาโลกที่ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็เพื่อการแสดงออกถึงความเป็นมิตรภาพร่วมกันอย่างแท้จริง

แม้ว่า ศิลปินไม่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในวารสารทางวิชาการเหล่านั้น แต่พวกเขาบางคนอาจมีความยากลำบากในการที่จะร่วมอุดมการณ์เสรีภาพดังกล่าว บางคนอาจต้องการเสนอแนวคิดอิสระด้านศิลปะของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินชื่อ เตโอ วอน ริสเซลแบร์ท ได้เขียนจดหมายถึง ฌอง กราฟ โดยบรรยายว่า : "ยามเมื่อมีการตีพิมพ์ภาพวาดที่ไม่เกี่ยวกับบริบท ที่เสริมเข้ามาในส่วนของวรรณคดี แนวคิดนี้ช่างดูวิเศษมาก และข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะมอบภาพพิมพ์เหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกันถ้าภาพเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแนวคิดเชิงปรัชญา หรือสะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมในวารสารฉบับนั้นๆ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ลำบากใจในการทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าภาพวาดใดๆ ก็ตาม จะต้องมีคุณค่าทางศิลปะ และมีเหตุผลที่จะเป็นเช่นนั้น และถ้าหากว่ามีคุณค่าอยู่จริง สิ่งเหล่านั้นก็จะต้องมีหน้าที่อบรมสั่งสอนมากกว่าภาพที่มีความหมายด้านวรรณคดีหรือปรัชญาเสียอีก แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับภาพวาดประเภทเหล่านี้ได้ ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าพยายามที่จะแสดงออกมานั้นทำให้ข้าพเจ้ามีความทุกข์ใจมาก และในสายตาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นความผิดพลาดอย่างแท้จริง" (31)

(31) Lettre de Van Rysselberghe a Jean Grave, 30 mars 1905 I.F.H.S. no 1351. Cite par Aline Dardel, [ Les Temps Nouveaux ] 1895-1914. Un hebdomadaire anarchiste et la propagande par l'image, in Les dossiers du musee d'Orsay, no 17, 1987, p 13

อองรี-เอ็ดมงค์ ครอส ได้อธิบายถึงลักษณะของอุปสรรคที่คล้ายคลึงกัน ยามเมื่อเขาได้พบปะพูดคุยกับ ฌอง กราฟ ไว้ดังนี้ : "จุดประสงค์ที่วารสาร Les Temps Nouveaux ได้เรียกขานนั้น ไม่ใช่ธุระของข้าพเจ้า สำหรับการพิจารณาปัญหาประเด็นนี้ (ในส่วนที่เกี่ยวกับงานศิลปะ) มันคืออีกทิศทางหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าขอแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อหน้ากฎเกณฑ์ข้อบังคับและความพยายามต่างๆ ที่จะมายัดเยียดให้กับข้าพเจ้า และนี่คือความจริงทั้งหมด ความตั้งใจดีของข้าพเจ้ากำลังต่อสู้อยู่กับความไร้สมรรถภาพในตัวข้าพเจ้า เราควรจะอยากหวังไหมว่า ความตั้งใจดีนั้นจะสามารถเอาชนะความไร้สมรรถภาพนั้น และสิ่งนั้นจะเป็นจริงในเวลาอันรวดเร็วได้หรือไม่" (32)

(32) Lettre de Cross a Jean Grave, juillet 1906, I.F.H.S, no 241. Ibid, p 13

อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็ไม่ได้พบพานกับความยากลำบากอย่างเดียวกัน อีกตัวอย่างหนึ่งสำหรับกรณีนี่ก็คือ กามิล ปิสซาร์โร ได้พูดกับลูกชายของเขาชื่อลูเซียงที่กรุงลอนดอน บทสนทนามีลักษณะประนีประนอมมากขึ้นดังต่อไปนี้ : "จงทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ ฌอง กราฟ ขอเพียงแต่ให้เป็นสิ่งที่ดี ขอเพียงแต่ทุกอย่างถูกต้อง ไม่ควรละเลย ฌอง กราฟ ซึ่งเป็นผู้มีอัธยาสัยดี และเป็นผู้ที่เรารักมาก จงลุกขึ้นมาเรียกร้องที่กรุงลอนดอน หรือไม่ก็รวบรวมสาวกให้มากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นซึ่งความเป็นอุปลักษณ์ของความทุกข์ยากลำบาก เงินทอง และผู้มีบาดแผลในชีวิต"

แม้ว่าจะมีการสนทนาเช่นนั้นก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูเซียง ปิสซาร์โร จะไม่มีแนวคิดของตนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้จากจดหมายที่ได้ส่งไปถึงกองบรรณาธิการของวารสาร Les Temps Nouveaux ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1895 ในประเด็นการวิพากษ์เรื่อง ศิลปะและสังคม ที่นักวิชาการถกเถียงกันว่าจะต้องเป็น "ศิลปะเพื่อศิลปะ" หรือ "ศิลปะเพื่อสังคม" สำหรับกรณีนี้ เขาเสนอความคิดเห็นว่า :

"งานศิลปะทั้งหมดที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้นนั้น จะต้องเป็นผลงานเพื่อสังคม (แม้ว่าศิลปินผู้นั้นจะต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม) เพราะว่ายามเมื่อศิลปินผลิตผลงานออกมา ก็จะต้องมีการแบ่งปันความรู้สึกที่มีชีวิตชีวาและชัดเจนกับผู้คน ซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นจะเกี่ยวกับมหรสพแห่งธรรมชาติ แต่แนวคิดที่พวกคุณกำลังแสดงออกมานั้น ดูเหมือนว่าพวกคุณกำลังจะสร้างการแบ่งลำดับชนชั้นของผลงานต่างๆ เป็นการแบ่งแยกที่มีพื้นฐานมาจากประโยชน์ใช้สอยโดยตรง สำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ ผลงานที่รังสรรค์ขึ้นโดยเฉพาะเพื่อความสวยงามที่บริสุทธิ์ จะมุ่งไปสู่ชนชั้นปัญญาชนมากกว่า เพื่อคนอื่นที่มีความมุ่งมั่นที่จะสอน เพราะว่าผลงานของความสวยงามที่บริสุทธิ์จะช่วยพัฒนาแนวคิดด้านสุนทรียภาพของผู้คนให้มากขึ้น

ข้าพเจ้าเชื่อว่าแนวคิดเช่นนี้จะตรงกันข้ามกับทฤษฎีเรื่อง อิสระของปัจเจกชน ตามความเป็นจริงแล้ว ข้าพเจ้าอาจรู้สึกลำบากใจในแนวคิดของข้าพเจ้า ถ้าหากว่าข้าพเจ้าสามารถเชื่อได้ว่ามันอาจจะเป็นการดีที่จะผลิตงานในลักษณ์นี้มากกว่าที่จะเป็นในลักษณะอื่น พวกคุณจะต้องยอมรับว่ามีเสรีภาพอันสูงสุดเช่นนี้ให้กับศิลปินในอนาคต และทำไมไม่ยอมรับเสียตั้งแต่ตอนนี้เลย ความเป็นจริงก็จะต้องเป็นจริงอยู่วันยังค่ำ หรือว่ามันไม่จำเป็นแล้วใช่ไหมที่จะต้องวาดภาพวิวทิวทัศน์ เพราะว่าข้าพเจ้าไม่เคยเห็นนักวาดภาพวิวทิวทัศน์ที่เป็นผู้ต่อสู้เพื่อสังคมเลยสักคนเดียวใช่ไหม อย่างน้อยข้าพเจ้าก็เข้าใจศิลปินกลุ่มนี้อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องพิจารณาตัดสินพวกเขาจากหัวข้องานที่พวกเขาเลือกที่จะวาด ไม่ว่าจะเป็น โกโรท์ โมเน์ หรือ แม้ ปิสซาร์โร ก็ตาม ต่างก็ได้ถ่ายทอดความหมายของงานศิลปะออกมาโดยใช้เทคนิคแบบใหม่ และได้พยายามทำลายสิ่งที่เป็นเงื่อนไขทางสุนทรียศาสตร์เดิมไปจนหมดสิ้น (…)"

พวกคุณได้บอกว่าจะต้องมีการผลิตผลงานเพื่อมวลชนเช่นนี้หรือ มวลชนในปัจจุบันต่างตกอยู่ในภาวะที่ละเลยคุณค่าต่างๆ จนเกือบหมดสิ้น มีความไม่เท่าเทียมกันมากมายในสังคมมนุษย์ กลุ่มคนที่สามารถปลูกฝังสารัตถะแห่งปัญญาได้ก็จะไม่จำเป็นต้องเสพงานศิลปะเหล่านี้เลยหรือ หรือไม่ก็เราอาจจะจำเป็นต้องลดระดับหรือคุณภาพให้น้อยลงไปเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้เสพมันมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่พวกคุณเรียกว่าการเสียสละ และการอุทิศชีวิตที่พวกคุณพยายามเรียกร้องจากศิลปินเหล่านั้น มันอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าในการผลิตสิ่งที่เป็นความจริง ซึ่งคนสิบคนสามารถชื่นชมงานเหล่านั้นได้มากกว่าคนอื่นไม่ดีกว่าหรือ และแนวคิดเช่นนี้ก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าความก้าวหน้าที่จะมาเติมเต็มหรือ

ความเข้าใจผิดระหว่างนักเขียนผู้ต้องปฏิวัติกับศิลปินโดยทั่วไปมีมานานแล้ว มันทำให้ศิลปินผู้เป็นศิลปินต้องกลายมาอยู่บน "หอคอยงาช้าง" หรือไม่ก็กลายเป็น "ชนชั้นปัญญาชน" และอาจกลายเป็นสิ่งที่ไร้สาระอื่นๆ อีกมากมายก็เป็นได้ มันอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่าศิลปินผู้ต้องการความถูกต้องจะพยายามชี้แจง (แม้ว่าจะไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม ใช่สิ มันจะเป็นไปได้หรือไม่ และอาจจะเป็นแนวอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์อีกก็เป็นได้" (33)

(33) Lettre adressee aux Temps Nouveaux, parue le 7 decembre 1895, signee L.P. (Lucien Pissarro). Cite par Aline Dardel, p 42.

สิ่งที่ลูเซียง ปิสซาร์โร นำเสนอนั้นได้ถูกตอกย้ำอีกครั้งในแนวคิดของพรูโรง และลาซาร์ นอกจากนี้เรายังพบแนวคิดเช่นนี้อีกในผลงานของ ปอล ซียัค เขากล่าวว่า : "ความยุติธรรมในสังคมและความกลมกลืนในศิลปะ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งเดียวกัน จิตรกรที่มีแนวคิดแบบอนาธิปไตยก็อาจจะไม่ใช่จิตรกรที่วาดแต่ภาพซึ่งแสดงออกถึงอนาธิปไตย แต่จะเป็นผู้ที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีความปรารถนาที่จะได้ค่าตอบแทน และจะเป็นผู้ที่ต่อสู้กับความเป็นปัจเจกชน ต่อสู้กับกฎระเบียบของชนชั้นกลางที่มีระเบียบแบบแผนที่เป็นแบบอย่างของความเป็นตัวของเขาเอง ปัญหาประเด็นนี้ไม่ใช่ส่วนสำคัญอะไรเลย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานศิลปะ ซึ่งก็คือเรื่องราวขององค์ประกอบศิลป์ สีสัน ภาพวาด และส่วนต่างๆ ทางศิลปะ ยามเมื่อประชาชนระดับล่างเกิดดวงตาเห็นธรรม เขาก็จะสามารถเห็นความจริงอย่างอื่นนอกเหนือไปจากสิ่งที่มีอยู่ในงานจิตรกรรม ยามเมื่อสังคมที่เราใฝ่ฝันจะให้เป็นนั้น เริ่มปรากฏรูปร่างเป็นจริงขึ้นมา และยามเมื่อสังคมนั้นได้รับการปลดปล่อยจากผู้กดขี่ที่เคยพยายามเอารัดเอาเปรียบในสังคม ยามนั้น กรรมกรผู้ใช้แรงงานก็จะมีเวลาที่ใช้ความคิดใคร่ครวญ และจะได้รับการศึกษามากขึ้น และในท้ายที่สุดกรรมกรนั้นก็จะสามารถชื่นชมสุนทรียภาพและสามารถพินิจพิจารณาคุณภาพที่หลากหลายของงานศิลปะได้เอง" (34)

(34) Paul Signac, manuscrit non date (Vers 1902), archives Signac, Cite par R. and E. Herbert : [ Artists and Anarchism, Unpublished Letters ] in Burlington magazine, novembre 1960, p 477. Cite par Aline Dardel, p 42.

ชื่อภาพหมายเลข 1:
ในห้วงเวลาของความกลมกลืนในสังคม
(ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ไม่ได้อยู่ในอดีต แต่จะอยู่ในอนาคต) ค.ศ. 1893-1895
ภาพสีน้ำมัน ขนาด 300 x 400 เซนติเมตร
มีชื่อกำกับด้านล่างทางขวามือ P.SIGNAC 94-95

ปอล ซียัค ได้กำหนดมุมมองของเขาเกี่ยวกับแนวคิดเสรีภาพ และอุดมคติไว้ในอนาคตเป็นที่เรียบร้อยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1893 เขาได้รังสรรค์ผลงานเป็นภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ชื่อภาพ "ในห้วงเวลาของความกลมกลืนในสังคม" (3x4 เมตร) (ภาพหมายเลข 1) เขาต้องการมอบภาพจิตรกรรมนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อประชาชนในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นภายใต้แผนงานของออร์ตา แต่อย่างไรก็ตาม ภาพวาดนี้ก็ไม่ได้มีการมอบให้เป็นสาธารณสมบัติจวบจนวาระสุดท้ายของศิลปิน นอกจากนั้นยังมีการคิดทำภาพพิมพ์หินขึ้นตามแบบของภาพวาดนี้ เพราะมีความต้องการจากวารสาร Les Temps Nouveaux แต่ไม่ได้ทำสำเร็จ เพราะซียัคคิดว่าผลงานนั้นยังไม่มี "ชื่อเสียง" เพียงพอ ส่วนชื่อของภาพวาดนั้น ได้มีการเสนอโดยชาร์ลส์ มาตาโล ในวารสารชื่อ วารสารอนาธิปไตย (La Revue Anarchiste) ซึ่งชื่อของภาพาดนั้นก็คือ "ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ไม่ได้อยู่ในอดีต แต่จะอยู่ในอนาคต" ตลอดช่วงฤดูร้อนในปี ค.ศ. 1893

ครอสได้เขียนจดหมายถึง ซียัค โดยกล่าวว่า : "ความคิดของคุณเกี่ยวกับภาพวาดสีน้ำมันนั้น เป็นสิ่งที่ดีเลิศ จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ที่ภาพวาดเกี่ยวกับการแสดงออกเรื่องอนาธิปไตยแสดงให้เห็นถึงการต่อต้าน โดยฉายให้เห็นภาพแห่งความทุกข์ยาก เราลองมาจินตนาการถึงยุคสมัยที่มีแต่ความสุขและการมีชีวิตที่ดี เราลองมาแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมของมนุษย์ การละเล่นตลอดจนการทำงานของพวกเขาที่ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความกลมกลืนสมานฉันท์" (35)

รูปภาพวิวริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจึงแสดงให้เห็นถึงการรวมกลุ่มของผู้คนที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย คนเหล่านี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของลักษณะแห่งสังคมในอนาคต ในรูปนี้เราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในความกลมกลืนและสันติภาพ งานชิ้นนี้ได้มีการจัดแสดงในนิทรรศการอิสระในปี ค.ศ. 1895 และในปีถัดมาในห้องแสดงงานศิลปะสุนทรียศาสตร์อิสระ ผู้ชมต่างเข้ามาชื่นชมในบรรยากาศที่สบาย ซียัคได้รับคำชมเชยจากเฟลิกซ์ เฟเนโอง, กามิล ปิสซาร์โร และกองสตองกิน เมอนิเยร์ นอกจากนี้ วองเดอ เวล ได้รับรองภาพวาดนี้ว่าเป็น "งานจิตรกรรมแบบอนาธิปไตยบริสุทธิ์อย่างแท้จริง" (36)

(35) Correspondance entre H.E. Cross et P. Signac conservee dans les archives Signac.
Cite dans le catalogue de l'exposition, Signac 1863-1935, p 241.

(36) Van de Velde, Henry, 1896, p 286. Cite dans le catalogue d'exposition, Signac 1863-1935, p 243.

ชื่อภาพ 2 : Doux pays, Pierre Puvis de Chavannes, 1882.
Huile sur toile, 230 x 428 cm.
Bayonne, Musee Bonnat.

แนวคิดเกี่ยวกับการบรรยายเหตุการณ์ยามบ่ายที่เงียบสงบนี้ได้รับการกล่าวถึงซ้ำ ในภาพวาดชื่อ Le Doux Pays ของ ปูวีส เดอ ชาวานส์ (ค.ศ. 1882 ในพิพิธภัณฑ์ บอนนาต์ ที่เมืองบายอน) (ภาพหมายเลข 2) ซียัคก็ยอมรับเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีภาพวาดอีกภาพหนึ่งชื่อ บ่ายวันอาทิตย์ที่เกาะกรองจ๊าต วาดโดย เซอราต (ค.ศ. 1883 ที่สถาบันศิลปะแห่งเมืองชิคาโก) (ภาพหมายเลข 3)

ชื่อภาพ 3: Le dimanche apres-midi a l'ile de la Grande Jatte, Georges Seurat, 1884-1886.
Huile sur toile, 207,6 x 308 cm.
Chicago, Art Institute.

จิตรกรเหล่านี้ต่างแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสมานฉันท์ในอนาคต เราจะสามารถพบตัวอย่างเช่นนี้อีกในผลงานชื่อ รุ่งอรุณแห่งความฝัน ของ ชาร์ลส์ โมแรง (ค.ศ. 1882 พิพิธภัณฑ์ แซงต์ - เอเตียง) และภาพวาดชื่อ "บรรยากาศยามเย็น" ของ อองรี - เอ็ดมงด์ ครอส ทั้งหมดนี้คือ แนวคิดที่ร่วมกันของจิตรกร และครอสเองก็ได้กล่าวย้ำอีกครั้งกับซียัคว่า : "ข้าพเจ้าต้องการจะวาดภาพแห่งความสุข ผู้คนที่มีความสุขในอีก 2-3 ศตวรรษข้างหน้า ยามเมื่อยุคสมัยแห่งอนาธิปไตยที่บริสุทธิ์ถูกทำให้เป็นจริง" (37)

(37) Lettre a Signac, s.d, archives Signac. Cite par Aline Dardel, Ibid, p 35.

ในปี ค.ศ. 1896 มีการผลิตงานศิลปะในลักษณะนี้มากมาย เช่น ภาพวาดที่มีชื่อ "ผู้ทำลาย" ในผลงานนี้เราจะเห็นภาพของกรรมกรยกค้อนปลายแหลมขึ้นสุดแขนเพื่อทุบไปที่ก้อนหินอย่างรุนแรง สิ่งนี้ทำให้เข้าใจความหมายโดยนัยว่า"กรรมกรกำลังรุกเข้าทำลายรัฐทุนนิยม" ซียัคก็มีแนวความคิดเช่นเดียวกับลูเซีย ปิสซาร์โร เขาทั้งสองชี้ให้เห็นว่ากรรมกรผุ้ใช้แรงงานมีศักยภาพ เขาต้องการดึงพวกชนชั้นใช้แรงงานขึ้นมาจากความไม่รู้ ให้พวกเขาเห็นความสำคัญของพวกเขาเองในสังคมที่มีชนชั้นกลางที่คอยเอารัดเอาเปรียบพวกเขามานานแล้ว

ถ้าหากว่าศิลปินไม่สามารถถ่ายทอดแนวคิดอุดมคติของงเขาผ่านงานศิลปะ นั้นก็หมายความว่าประชาชนทุกคนก็ไม่สามารถเข้าถึงและไม่เข้าใจผลงานชิ้นนั้น ด้วยเหตุฉะนี้ ศิลปินมากมายเช่น อริสติค เดอลานนอย (38) หรือ จูลส์ กรองชูออง (39) ก็จะไม่ลังเลที่จะแสดงให้เห็นถึงสภาพของชนชั้นแรงงานในผลงานของพวกเขาเลย

(38) DELANNOY, Aristide, (1874-1911) เป็นจิตรกรผู้มีแนวคิดอิสระ เขาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายมากมาย
(39) GRANDJOUAN, Jules, (1875-1968) เป็นจิตรกรชาวฝรั่งเศส ผู้มีแนวฝ่ายซ้ายจัด และมีผลงานเป็นภาพวาดต่างๆ ที่แสดงให้เห็นอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายจัด

2.2) ศิลปะในฐานะผู้รับใช้การโฆษณาชวนเชื่อ
ฌอง กราฟ ได้เขียนบทวิจารณ์ไว้ในวารสารของเขาว่า เขาเห็นด้วยกับแม๊กซิมิเลียง ลูซ นอกจากนั้น ลูเซียง ปิซซาโร ยังได้กล่าวย้ำไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนไปถึงพ่อของเขาว่า "น่าแปลกใจจริงๆ ที่มีลูซทั่วไปหมด และความอุดมสมบูรณ์ของเขาก็ชี้นำทุกสิ่งทุกอย่างได้" (40) ฌอง กราฟ ยังได้บรรยายไว้ในบันทึกความทรงจำของเขาถึงบทบาทสำคัญของลูซ กราฟได้กล่าวว่า : "ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วว่าศิลปินและนักวรรณคดีส่วนใหญ่ก็จะมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับเรา (...) แต่ข้าพเจ้าต้องแยกสัดส่วนออกมาให้กับ ลูซ เป็นกรณีพิเศษ ประเด็นแรกก็คือว่า นั่นก็คือสืบเนื่องมาจากลูซ ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักศิลปินและนักวรรณคดีคนอื่นๆ ลูซเป็นคนที่พร้อมเสมอเวลาที่เราต้องการร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าอะไรก็ตาม เขาจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนอื่นพึงพอใจ เขาจะใช้ความสามารถที่มีทั้งหมดตามที่มีผู้อื่นร้องขอ และสิ่งที่หายากมากก็คือว่า ข้าพเจ้าแทบจะไม่เคยได้ยินลูซวิจารณ์งานของผู้อื่นเลย โดยเฉพาะคำพูดที่โหดร้ายในส่วนของพวกเขา นั่นหมายความว่า คนที่ถูกวิจารณ์ก็จะไม่ใช่เพื่อนสนิทของเขา" (41)

(40) Lettre de Lucien Pissarro a son pere Camille, le 6 avril 1896 in Correspondance de Camille Pissarro, tome IV, p 185, editee par Janine Bailly Herzberg, Editions du Valhermeil, 1989. Cite p 12 du catalogue de l'exposition sur Maximilien Luce.

(41) GRAVE, Jean, Quarante ans de propagande anarchiste, Editions 1973, Flammarion, p 540

ลูซ ถือเป็นเสาหลักของงานด้านวารสารเชิงวิชาการเกี่ยวกับศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนร่วมในงานวารสารอื่นๆ สำหรับเขาแล้ว เวลาไม่ใช่สิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงในการตอบความจริง พฤติกรรมของเขาเมื่อเปรียบเทียบกับศิลปินคนอื่นๆ แล้ว ดูเหมือนว่า เขาจะมีลักษณะเป็นอนาธิปไตยมากกว่าที่จะเป็นศิลปินเสียอีก ลูซไม่เคยประกาศตัวว่าเป็นผู้ถือลูกระเบิด แต่จะทำให้คนอื่นทราบว่าเขาเป็นนักอุดมการณ์ในอุดมคติ เป็นนักคิดแบบอนาธิปไตย และเป็นผู้นิยมความเสมอภาคในสังคม พฤติกรรมและแนวคิดเช่นนี้ไม่ได้บอกแนวคิดดั้งเดิมที่อ่อนน้อม แต่เพียงว่า เขามีประสบการณ์และภาพลักษณ์บางอย่างที่เขาเก็บไว้เมื่อตอนอายุ 13 ปี โดยเฉพาะแรงกดดันจากระบบคอมมูนในฝรั่งเศสในขณะนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1881 ลูซเข้ามีส่วนร่วมในสังคมเสรีภาพ สิ่งนี้เป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงกิจกรรมที่เขาทำร่วมกับเฟรเดริก จิวอร์ท ผู้มีอาชีพเป็นช่างทำรองเท้า และเออแชน บายเลท์ ผู้มีอาชีพเป็นกรรมการรับจ้าง การที่เขาได้เข้าใจโลกแห่งชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ ในการที่จะแสดงออกมา เพราะเขาได้รังสรรค์ชุดภาพวาดออกมา 10 ชิ้น ตามคำร้องขอของ เอมิล ปูเชท์ งานวาดเหล่านี้เขียนขึ้นตามรูปแบบงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า "ไอ้พวกหน้าดำ" ของศิลปินชาวเบลเยี่ยมชื่อ กองสะตองติน เมอนิเยร์ รูปภาพเหล่านี้ได้มีการตีพิมพ์ลงในวารสารชื่อ La Sociale (เป็นวารสารรายสัปดาห์ที่มาทดแทนวารสาร Le Pere Peinard) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1896 ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์เป็นผลงานรวมเล่ม และมีชาร์ลส์ อัลแบร์เป็นผู้ให้เกียรติเขียนคำนำในผลงานรวมเล่มศิลปะในครั้งนี้

ในผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับกรรมการเหมืองแร่ และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเหมืองแร่ ต่างก็แสดงให้เห็นว่าลูซมีความชื่นชมกองสะตองติน เมอนิเยร์ เป็นอย่างยิ่ง ความคล้ายคลึงที่ศิลปินทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดและได้รับการกล่าวซ้ำโดยเอมิล วาร์ฮารอง ดังต่อไปนี้ : "ลูซ เป็นผู้ชื่นชมชนชั้นกรรมาชีพเป็นอย่างยิ่ง เฉกเช่นเดียวกับเมอนิเยร์ เขาได้ติดตามชีวิตที่ทุกข์ยากลำเค็ญของกรรมกรเหล่านั้น พวกเขาต้องลำบากตรากตรำทำงานอยู่ใต้พื้นพิภพ ลูซได้แสดงให้เห็นถึงความโมโหโกรธาของพวกเขาเหล่านั้น ลูซได้เข้าใจและสนับสนุนการลุกฮือขึ้นประท้วงของกรรกรเหล่านั้น งานศิลปะที่เขาได้รังสรรค์ขึ้นแสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมในสังคม และความเมตตาสงสารต่อกรรมกรพวกนั้น"(42)

(42) La Revue Blanche, 1889, Tome XX, p 309. Cite dans le catalogue d'exposition de Maximilien Luce p 14.

สิ่งที่กองสะตองติน เมอนิเยร์ แสดงออกมานั้นไม่ใช่การบังเอิญ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นสิ่งที่ได้วางแผนตอกย้ำไว้แล้ว ถ้าหากว่ากองสะตองตินเป็นปรมาจารย์ด้านประติมากรรม นั้นหมายความว่า ความสนใจและผลงานของเขาที่มีต่อโลกแห่งกรรมกรนั้น ช่างมีความหมายต่อการศิลปะเป็นยิ่งนัก กวีผู้หนึ่งชื่อ แวร์ฮารอง ได้เคยกล่าวว่า ผลงานของเมอริเยร์เปรียบเสมือน "ศิลปะที่แสดงออกซึ่งความสงสาร แต่เป็นศิลปะที่มีพลังอำนาจและชัยชนะอย่างแท้จริง สำหรับเมอริเยร์แล้ว ความจริงก็คือสิ่งที่ได้แสดงออกมาอย่างแท้จริง"

ในช่วงที่มีการแสดงนิทรรศการระดับโลกในปี ค.ศ. 1889 เมอนิเยร์ได้มีผลงานประติมากรรมทองเหลืองชื่อ Le puddleur และ Le grisou. งานประติมากรรมชิ้นที่สองนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงรูปปั้นแม่คนหนึ่ง ที่กำลังจ้องมองดูลูกชายของตนเองเสียชีวิตในเหมืองแร่คริสตัลแห่งเมือง แซงต์-ลอมแบร์ ในปี ค.ศ. 1878 นี่คือสิ่งทำให้ประติมากรผู้นี้สะเทือนใจมาก และสิ่งนี้ยังเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ศิลปินผู้นี้สูญเสียลูกชาย 2 คน ของเขาในปี ค.ศ. 1854 เราจะพบว่า ผลงานของเขาสมควรได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์เชิงปรัชญา ตัวละครของเขาไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เครียด หรือตกอยู่ในความทุกข์ พวกเขาไม่ได้ลำบากต่อชีวิต แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมุ่งมั่นไปข้างหน้าด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยม ศิลปินเช่นเมอริเยร์ มีความสามารถและพรสวรรค์ในการแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ในโลกของกรรมกรอันต่ำต้อย

เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดสุนทรียศาสตร์ที่แตกต่างกันนี้ได้อีก จากตัวอย่างของโรแดง ประติมากรชาวฝรั่งเศส และ กองสะตองติน เมอริเยร์ ประติมากรชาวเบลเยี่ยม ศิลปินทั้งสองคนนี้นับเป็นผู้ที่ริเริ่มต่อต้านขนบธรรมเนียมประเพณีที่ไม่เคลื่อนไหวของราชบัณฑิตด้านศิลปะ นั่นหมายความว่าเมอริเยร์เป็นผู้ทำให้แนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อสังคมแพร่กระจายไปดั่งติดปีกบิน และกล้าที่จะทำให้สาธารณชนเข้าใจโลกของกรรมากรในผลงานของเขา นอกจากนั้นยังมีศิลปินในประเทศเบลเยี่ยมคนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น บราเอค ในผลงานที่มีชื่อว่า "คนสร้างเมือง"

ส่วนในประเทศฝรั่งเศส อะเล็กซองด์ ชาร์ปองติเยร์ ได้สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่คล้ายคลึงกันในผลงานของเขาที่มีชื่อว่า "คนทำขนมปัง" หรือ "ครอบครัวที่อบอุ่น" เมอริเยร์ มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกับ จูลส์ ดาลู เขาทั้งสองได้แสดงให้เห็นถึงสภาพของสังคม โดยที่ไม่ได้มีสุนทรียศาสตร์ที่สำคัญและมาเปรียบเทียบกันได้ ดาลูฝันที่จะสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่กรรมกร นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1889 เขามุ่งมั่นสร้างผลงานชิ้นเอกขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถบรรลุจุดหมายปลายทางได้เลย ยกตัวอย่างผลงานที่มีชื่อว่า "ชาวนาผู้ยิ่งใหญ่" (Le Grand Paysan) แต่เราจะสังเกตเห็นได้ว่า "ผลกระทบด้านสังคม" ในผลงานของดาลู จะน้อยกว่าผลงานของเมอนิเยร์ โรแดงก็เช่นเดียวกัน เขาได้เคยใฝ่ฝันสร้างอนุสาวรีย์ไว้เพื่อกรรมกรเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ "หอคอยแห่งการงาน" (La Tour du travail) เป็นรูปปั้นที่มีกรรมกร ช่างฝีมือ และศิลปินที่มารายล้อมกันอยู่รอบเสาที่มีปีก แม้ว่าต้นแบบจะทำเสร็จในปี ค.ศ. 1899

Le Grand paysan, Jules Dalou, 1898-1902.
70 cm x 197cm x 68 cm.
Musee d'Orsay, Paris, France.

สำหรับในกรณีนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะศึกษาเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับกรรมาชีพ โดยเฉพาะประติมากรที่มีชื่อเสียงเช่นโรแดง เขาได้กล่าวว่า : "ก่อนที่เราจะคิดถึงเรื่องการเป็นศิลปินนั้น สิ่งที่มีอยู่ในตัว สิ่งที่เป็นความทะเยอทะยานนั้นจะต้องมาจากการเป็นชาวพื้นบ้านที่ดีเสียก่อน โดยทั่วไปแล้ว ศิลปินที่ทำงานด้านประติมากรรม ต่างไม่ได้รับรู้ถึงกฎเกณฑ์พื้นฐานเหล่านี้มาก่อน เราควรจะให้ความสำคัญกับช่างพื้นบ้าน เช่น ช่างปั้นหม้อในสมัยก่อนนั้นจะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับศิลปินในปัจจุบัน ช่างฝีมือเหล่านั้นไม่ใช่ปั้น ไม่ได้สร้างรูป แต่รังสรรค์งานขึ้นมา" (43) โรแดงเห็นว่า ศตวรรษที่ 19 แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของการฝึกงานด้านศิลปะ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำลายอาชีพของช่างพื้นบ้านเลยทีเดียว

(43) RODIN, Auguste, L'Art Entretiens reunis par Paul Gsell, Grasset, Paris, 1911, p 9.

ตลอดชีวิตของโรแดง เขาพยายามที่จะสร้างความสมดุลระหว่างศิลปะที่มีความสำคัญหลัก และศิลปะที่มีความสำคัญรองลงไป โรแดงกล่าวว่า : "ข้าพเจ้าเป็นเพียงกรรมกรที่มีความพึงพอใจในอาชีพที่ต่ำต้อยนี้ มืออันหยาบกระด้างสองข้างนี้คือพลังที่จะมาปั้นก้อนดินให้เป็นผลงานอันเยี่ยมยอด (…) ข้าพเจ้ายังคงเก็บความทรงจำเก่าๆ ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กฝึกงาน ข้าพเจ้ายังคงมีความเคยชินในการที่เป็นช่างปูนมาตั้งแต่ในอดีต ข้าพเจ้าเป็นเสมือนศิลปินในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา นั่นก็คือ เป็นช่างพื้นบ้านแต่ไม่ใช่เป็นเจ้าขุนมูลนาย" (44)

(44) RODIN, Auguste, idem, p 248.

โรแดงคิดเสมอว่า ตัวเองเป็นเพียงแค่กรรมกรผู้สร้างสรรค์งาน หรือไม่ก็ช่างพื้นบ้านเท่านั้นเอง ในบทสัมภาษณ์ให้กับผู้สื่อข่าวของวารสาร"โกลัวส์" ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1907 โรแดงได้ตำหนิพวกที่มีอุดมการณ์แบบสังคมนิยมเล็กน้อย โดยกล่าวว่า : "ถ้าหากว่าพวกสังคมนิยมต้องการทำสิ่งที่ดีๆ ให้กับประเทศฝรั่งเศส พวกเขาก็น่าจะเริ่มจากการปิดร้านบาร์เหล้าเสีย ยามใดเมื่อชนชั้นกรรมกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เขาก็จะสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้นเกี่ยวกับงานศิลปะ แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องไปใช้จ่ายในร้านกาแฟ" บทความดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง นอกจากนั้นกุสตาฟ เชฟฟรอย ผู้ซึ่งเข้าใจแนวคิดนี้ ได้กล่าวย้อนกลับไปถึงแนวทางแก้ไขปัญหาไว้อีกเช่นเดียวในปี ค.ศ 1895 เขาเคยเสนอให้จัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ตอนเย็นสำหรับทุกคน โดยไม่ต้องจ่ายคำเข้าชมแต่อย่างใด" เพราะว่ากุสตาฟ เชฟฟรอย กล่าวว่า "งานศิลปะแบบไม่ต้องเสียเงินนี้ จะต้องเป็นคู่แข่งที่สำคัญของมหรสพที่ต้องไปเต้นรำและดื่มกินในยามค่ำคืน" (45)

(45) GEFFROY, Gustave, Musee du soir aux quartiers, Paris, 1895, p 5.

บทสรุป

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิชาการ นักวิจารณ์ศิลปะแต่ละคน ต่างพยายามที่จะให้คำจำกัดความเกี่ยวกับบทบาทและสถานภาพของศิลปินที่ควรจะมีในสังคม ตัวศิลปินเองจะไม่สามารถวิเคราะห์ตนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ แต่จำเป็นจะต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาถึงผลงานสร้างสรรค์ของเขาซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์สุนทรีย์ และความคิดอันลึกซึ้งในการที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของศิลปินเหล่านั้น เฉกเช่นเดียวกับศักยภาพของภาษาที่เรามีอสิระเสรีในการที่จะถ่ายทอดจุดมุ่งหมาย และรับเอาความงดงามของภาษาเข้าไปโดยขึ้นอยู่กับแรงบันดาลใจของแต่ละคน

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสนั้น นักวิชาการ นักวิจารณ์ตลอดจนศิลปินที่รังสรรค์ผลงานภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อศิลปะ จะเป็นกลุ่มปฏิปักษ์ที่อยู่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับศิลปินที่อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อรับใช้สังคม การอยู่คนละสุดขั้วนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเพราะจะสะท้อนให้เราเข้าใจถึงพลังสร้างสรรค์อันเป็นอิสระ ร่ำรวย และลุ่มลึก ในขณะเดียวกัน กระแสอุดมการณ์ที่แตกต่างกันก็เกิดขึ้นท่ามกลางคุณค่าต่างๆ ในสังคม และถ้าหากว่าบทความนี้ไม่สามารถชี้ให้เห็นชัดถึงความแตกต่างของกลุ่มแนวคิดเหล่านี้ได้ แต่บทความนี้ก็มุ่งที่จะชักนำให้ผู้อ่านเข้าไปในสถานการณ์ที่คล้ายกับผู้ชมมหรสพที่กำลังดูละครเรื่องหนึ่งอยู่ และกำลังใช้ความคิดใคร่ครวญปัญหาประเด็นนี้ ด้วยการใช้วิจารณญาณอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อมวลชน หรือ ศิลปะเพื่อชนชั้นที่มีจิตวิญญาณสุนทรีย์ทางศิลปะ ต่างก็ไม่มีประโยชน์อะไรจะมาแบ่งแยกหรือจุดไฟแห่งปัญหาเหล่านี้ให้ลุกโชนขึ้นมา เพียงเพื่อจะได้เห็นความหลากหลายของอุดมการณ์เหล่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม คำถามมีอยู่ว่า ศิลปะจะสามารถดำเนินต่อไปภายใต้แนวคิดอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปชั่วนิรันดร์ได้หรือไม่ ?

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ : Release date 31 October 2008 : Copyleft MNU.

งานศิลปะทั้งหมดที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้นนั้น จะต้องเป็นผลงานเพื่อสังคม (แม้ว่าศิลปินผู้นั้นจะต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม) เพราะว่ายามเมื่อศิลปินผลิตผลงานออกมา ก็จะต้องมีการแบ่งปันความรู้สึกที่มีชีวิตชีวาและชัดเจนกับผู้คน ซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นจะเกี่ยวกับมหรสพแห่งธรรมชาติ แต่แนวคิดที่พวกคุณกำลังแสดงออกมานั้น ดูเหมือนว่าพวกคุณกำลังจะสร้างการแบ่งลำดับชนชั้นของผลงานต่างๆ เป็นการแบ่งแยกที่มีพื้นฐานมาจากประโยชน์ใช้สอยโดยตรง สำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ ผลงานที่รังสรรค์ขึ้นโดยเฉพาะเพื่อความสวยงามที่บริสุทธิ์ จะมุ่งไปสู่ชนชั้นปัญญาชนมากกว่า เพื่อคนอื่นที่มีความมุ่งมั่นที่จะสอน เพราะว่าผลงานของความสวยงามที่บริสุทธิ์จะช่วยพัฒนาแนวคิดด้านสุนทรียภาพของผู้คนให้มากขึ้น

H