ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




27-10-2551 (1654)

ส่วนหนึ่งของงานค้นคว้าอิสระ ในการผลิตสื่อการสอนเรื่องการนวดพื้นบ้านไทย
การนวดพื้นบ้านไทย และความเจ็บป่วยตามแนวคิดการแพทย์แผนไทย
อัจฉรา บุญแทน : วิจัยและเรียบเรียง
ปริญญาโท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความวิชาการต่อไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าอิสระเกี่ยวกับ
การผลิตสื่อการสอนมัลติมีเดียสำหรับช่วยสอนการนวดพื้นบ้านไทย
โดยได้คัดลอกมาเฉพาะบางส่วนของบทที่ ๒ ของงานค้นคว้า ดังหัวข้อต่อไปนี้
- ประวัติศาสตร์การนวด กรมหมอนวด และจดหมายเหตุลาลูแบร์
- จารึกตำรายาและรูปปั้นท่าฤาษีดัดตน สมัยรัตนโกสินทร์
- มหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งแรกของสยาม วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ)
- พัฒนาการวิชาการแพทย์แผนไทยและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ - สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
- สาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยไข้ตามแนวคิดการแพทย์แผนไทย
- หลักการพื้นฐานการนวดไทย รูปแบบของการนวดไทย

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๕๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๔ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ส่วนหนึ่งของงานค้นคว้าอิสระ ในการผลิตสื่อการสอนเรื่องการนวดพื้นบ้านไทย
การนวดพื้นบ้านไทย และความเจ็บป่วยตามแนวคิดการแพทย์แผนไทย
อัจฉรา บุญแทน : วิจัยและเรียบเรียง
ปริญญาโท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

การนวดไทยนับเป็นภูมิปัญญาล้ำค่าที่สืบทอดกันมาช้านาน เชื่อกันว่าการนวดมีจุดเริ่มต้นมาจากการช่วยเหลือกันเองภายในครอบครัว เช่น ภรรยานวดให้สามี ลูกหลานนวดให้พ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย มีการใช้มือ ศอก เข่า และเท้า นวดให้กันหรือนวดตนเอง ต่อมามีการคิดอุปกรณ์ในการนวด เพื่อช่วยให้ใช้น้ำหนักได้มากขึ้น เช่น กะลา เบี้ย ไม้กดหลัง นมสาวหรือนมไม้ รวมถึงการใช้ลูกประคบและอบสมุนไพร เพื่ออาศัยความร้อนจากไอน้ำร้อนหรือสมุนไพรช่วยในการบำบัดอาการ จนในที่สุด จากการนวดเพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัว ก็พัฒนาไปจนเกิดความชำนาญและมั่นใจกระทั่งเป็นที่รู้จักในแวดวงเพื่อนบ้านและคนในชุมชน กลายเป็นอาชีพหมอนวดในที่สุด

ประวัติศาสตร์การนวด กรมหมอนวด และจดหมายเหตุลาลูแบร์
ขณะที่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการนวดที่เก่าแก่ที่สุดคือ ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่ขุดพบที่วัดป่ามะม่วง ตรงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีรอยจารึกเป็นรูปการรักษาโดยการนวด เมื่อถึงยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ในทำเนียบศักดินา ข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนที่ตราขึ้นในปี พ.ศ. 1998 ซึ่งเป็นสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) ปรากฏความใน กฎหมายตราสามดวง "นาพลเรือน" ได้กล่าวถึงการแบ่งส่วนราชการให้มีกรมหมอนวดเป็นกรมใหญ่ เจ้ากรมและปลัดกรมมีศักดินามากกว่ากรมอื่นๆ จำแนกตำแหน่งเป็น หลวง ขุน หมื่น พัน และมีศักดินา เช่นเดียวกับข้าราชการสมัยนั้น คือเจ้ากรมหมอนวดมีตำแหน่งหลวงรักษาและแบ่งการบริหารเป็นปลัดกรมหมอนวดฝ่ายขวา คือหมอนวดฝ่ายผู้ชาย มีขุนภักดีองค์เป็นปลัดกรมหมอนวดฝ่ายขวา

สำหรับเจ้ากรมหมอนวดฝ่ายซ้ายคือหมอนวดฝ่ายหญิง มีหลวงราโชเป็นหัวหน้าและขุนองค์รักษาเป็นปลัดเจ้ากรม ขณะที่ตำแหน่งหมื่น มีตำแหน่งเท่ากัน ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ได้แก่หมื่นแก้ววรเลือก หมื่นวาโยวาด หมื่นวาโยนาศ และหมื่นวาโยไชย ตามลำดับ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ รองลงไปได้แก่ พัน และนายพะโรง กล่าวโดยสรุปแล้ว กรมนี้เป็นกรมฯ ที่มีความรับผิดชอบมากและต้องใช้หมอมากกว่ากรมอื่นๆ ทั้งนี้เพราะการนวดทั่วไปเป็นการรักษาขั้นพื้นฐาน

ส่วนจากหลักฐานจากจดหมายเหตุของ ราชทูต ลาลูแบร์ ประเทศฝรั่งเศส ที่เข้ามาในกรุงสยามเมื่อปี พ.ศ. 2230-2231 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.2199-2231) ได้บันทึกเรื่องหมอนวดในแผ่นดินสยามมีความว่า "ในกรุงสยามนั้น ถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำเส้นสายยืด โดยให้ผู้ชำนาญทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ แล้วใช้เท้าเหยียบ กล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์มักใช้ให้เด็กเหยียบ เพื่อให้คลอดบุตรง่าย ไม่พักเจ็บปวดมาก" (อ้างจากประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย:29). ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ การแพทย์แผนไทยก็ยังคงได้สืบทอดรูปแบบต่อจากสมัยอยุธยา แต่เอกสารและวิชาความรู้บางส่วนได้สาบสูญไป เนื่องจากภาวะสงคราม ทั้งคนยังถูกจับไปเป็นเชลยศึกบางส่วนด้วย แต่ยังคงมีหมอกลางบ้านและพระภิกษุที่เป็นหมอไปในตัวอยู่ตามหัวเมืองหลงเหลืออยู่บ้าง จึงไม่ยากต่อการรวบรวมวิชาความรู้

จารึกตำรายาและรูปปั้นท่าฤาษีดัดตน สมัยรัตนโกสินทร์
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สถาปนากรุงเทพฯ มหานครเป็นนครหลวงของไทยในปี พ.ศ. 2325 พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธารามขึ้นเป็นอารามหลวง (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) เมื่อ พ.ศ. 2331 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวบรวมและจารึกตำรายา และรูปปั้นท่าฤาษีดัดตน พร้อมอักษรจารึกติดกับฤาษีดัดตนว่าท่านั้นแก้โรคอะไร ไว้ตามศาลารายบริเวณวัด พร้อมทั้งมีการรื้อฟื้นกรมหมอโรงพระโอสถขึ้นมาใหม่อีก มีหมอสองประเภท คือ

- หมอหลวง หรือหมอในวัง
- หมอเชลยศักดิ์ สำหรับประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ดี รูปปั้นท่าฤาษีดัดตนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้นไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เพราะปั้นด้วยดินปิดด้วยทอง จึงชำรุดเสื่อมสภาพได้ง่าย ถัดมาในปี พ.ศ. 2364 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือรัชกาลที่ 2 หลังจากไข้อหิวาตกโรคระบาดเพียง 1 ปี ได้ทรงโปรดเกล้าให้พระบาทสมเด็จสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ควบคุมดูแลการจารึกตำรายาไทย ซึ่งรวมทั้งตำรายารักษาโรคเด็ก โรคสตรี และโรคบุรุษ และอื่นๆ ลงบนศิลาประดิษฐาน และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดจอมทอง หรือ วัดราชโอรสขึ้น

ปัจจุบัน แผ่นศิลาเหล่านี้ประดับที่กำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และที่ศาลารายเล็กๆ ปลูกติดอยู่กับกำแพงแก้วด้านหน้าของพระอุโบสถ 2 หลัง มีหินอ่อนปิดไว้หลังละ 4 แผ่น และศาลารายที่ปลูกติดกับกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและใต้ตอนหน้าของพระอุโบสถอีกหลังละ 2 แผ่น ที่ระเบียงของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์อยู่ภายในกำแพงแก้วเดียวกับพระอุโบสถด้านนอกของพระระเบียง มีหินอ่อนจารึกตำรายาติดไว้ 2 ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ 10 แผ่น ด้านทิศตะวันออก 14 แผ่น ตามมุมของกำแพงรอบๆ พระวิหารมีมุมทั้ง 4 ด้าน มุมทางด้านทิศตะวันออกมุมทางทิศใต้ 8 แผ่น มุมทางด้านทิศเหนือมี 5 แผ่น และมุมด้านทิศเหนือมุมตะวันตกมี 4 แผ่น รวมทั้งหมด 55 แผ่น แต่มีที่เสียหายไปไม่น้อยเพราะขาดการบำรุงรักษา

มหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งแรกของสยาม วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ)
ในปี พ.ศ. 2375 ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประชุมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ตำรายา ตำราหมอนวด ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ประเพณี ศาสนา และสุภาษิต มาจารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ. รัชกาลที่ 3 ยังได้ทรงโปรดให้ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 1 พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายดวงจักร) เป็นผู้ทรงกำกับช่างหล่อรูปฤาษีดัดตนท่าต่างๆ รวม 80 ท่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2379 โดยหล่อด้วยสังกะสีผสมดีบุกเรียกว่า "ชิน" ปั้นแล้วตั้งไว้ตามศาลาราย และให้จารึกตำรายา ตำราหมอนวดบอกสมุฏฐานของโรคและวิธีบำบัด 60 แผ่นพร้อมคำบรรยายสรรพคุณ เป็นโคลงสี่สุภาพ แต่งโดยกวีมีชื่อในสมัยรัชกาลที่ 3 แม้แต่องค์พระมหากษัตริย์ก็ได้นิพนธ์โคลงเองถึง 6 บทด้วยกัน

และยังมีพระเจ้าน้องยาเธอ ขุนนาง พระภิกษุ ตลอดจนสามัญชน รวม 35 ท่าน ร่วมกันนิพนธ์และแต่งโคลงรวมทั้งสิ้น 80 บท โดยจารึกไว้บนแผ่นหินอ่อน ประดับตามผนังโบสถ์และศาลารายในบริเวณวัด เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและนำไปใช้ในการรักษาตน เพราะสมัยนั้นตำรายังหายาก จนวัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น "มหาวิทยาลัยเปิด" แห่งแรกในประเทศไทย

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 3 ยังให้ขุนรจนา เป็นผู้คัดลอกภาพลงสมุดไทย แล้วให้ ขุนอาลักษณ์สิสุทธิอักษร เป็นผู้คัดลอกและตรวจทานโคลงที่แต่ง เขียนลงกำกับภาพไว้ลงในสมุด กว่าการคัดลอกจะแล้วเสร็จก็เป็นวันแรม 11 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ จ.ศ. 1200 นับว่าเป็นเรื่องดีที่มีการคัดลอกท่าปั้นและโคลงลงสมุดไทยเอาไว้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป โคลงที่จารึกตามผนังศาลารายรอบวัดเสียหายไปมาก เหลือเพียงเฉพาะชื่อแต่ละบทเท่านั้น อีกทั้งยังมีการเคลื่อนย้ายรูปปั้นฤาษีดัดตนจากคำโคลง หรือขโมยเอาไปขาย เช่นในกรณีที่จับตัวขโมยได้ คือ นายสุก ทหารรักษาวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 วันที่ 14 กรกฎาคม 2438 พบว่าขโมยรูปปั้นไปถึง 16 ตน ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาในภายหลังเกิดความสับสน เพราะภาพและโคลงที่อธิบายไม่สอดคล้องกัน ปัจจุบันเหลือรูปปั้นฤาษีดัดตนเพียง 24 รูป ที่เขาฤาษีดัดตนใกล้พระวิหารด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ

ขณะที่ในส่วนของความรู้ทางการแพทย์แผนไทยที่วัดพระเชตุพนฯ นั้น พระยาบำเรอราชแพทย์เป็นหัวหน้าผู้สืบเสาะหาตำรายาและตำราลักษณะโรคจากหมอหลวง หมอพระ และหมอเชลยศักดิ์ มีการประกาศขอตำรายาดีซึ่งก็มีผู้นำมาให้มากมาย แต่ผู้นำมาให้นั้นต้องสาบานว่ายาขนานนั้นๆ ตนได้ใช้มาก่อนและใช้ได้ผลดีจริงๆ และพระยาบำเรอราชแพทย์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำมาจารึก

ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยที่วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งประกอบไปด้วยตำรายาและตำราที่เกี่ยวกับการนวด สามารถสรุปแบ่งเป็นหมวดหมู่คร่าวๆ ได้ดังนี้

1. วิชาบริหารร่างกาย (ฤาษีดัดตน) การบริหารร่างกาย หรือการดัดตนระงับความเมื่อยขบ มีการปั้นฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ สร้างมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เปลี่ยนมาเป็นฤาษีหล่อดีบุกจำนวน 80 ท่า และมีโคลงสี่อธิบายประกอบครบทุกรูป

2. วิชาเวชศาสตร์ เรียกว่า ตำราอาจารย์เอี่ยม ศึกษาโรคภัยไข้เจ็บตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย มีการแยกสมุฏฐานของโรคต่างๆ ได้แก่ ธาตุทั้ง 4 สมุฏฐานของโรคซึ่งเกี่ยวพันกับที่อยู่อาศัย ฤดู วัน เวลา รวมถึงสาเหตุของอาหาร การดูลักษณะอาการของไข้และการวินิจฉัยโรค การใช้ยาบำบัดโรค ซึ่งแต่ละโรคก็จะมีตำรายาให้เลือกใช้หลายขนาน เมื่อนับรวมทั้งหมดแล้วมีกว่า 1,128 ขนาน

3. วิชาเภสัช ว่าด้วยสรรพคุณของเครื่องสมุนไพรและเครื่องเทศแต่ละชนิด ว่าส่วนใดมีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรคใด จำนวนกว่า 113 ชนิด

4. วิชาแผนนวด หรือวิชาหัตถศาสตร์ ในจารึกมีแผนภูมภาพโครงสร้างร่างกายมนุษย์ แสดงที่ตั้งของเส้นประสาทการนวด 14 ภาพ และเกี่ยวกับการนวดแก้ขัดยอก แก้เมื่อยและโรคต่างๆ 60 ภาพ

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การแบ่งส่วนราชการก็ยังคงมีกรมหมอนวดเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา และทรงโปรดให้หมอยาและหมอนวดถวายการรักษาความเจ็บป่วยยามทรงประชวร แม้เสด็จประพาสแห่งใดก็จะต้องมีหมอถวายการนวดทุกครั้ง ส่วนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดการนวดมาก มีมหาดเล็กและพระสนมที่มีความชำนาญในการนวดติดตามเสด็จประพาสไปในที่ต่างๆ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ชำระคัมภีร์แพทย์ คัมภีร์แผนนวดและฤาษีดัดตน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2413 ปรากฏหลักฐานในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นตำราแผนนวดฉบับหลวงพระราชทานในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2449 เพื่อศึกษาและใช้โดยแพทย์หลวงเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ได้รวบรวมไว้คือ แผนภาพที่สำคัญของวิชาการนวดไทย ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า เส้นสิบ ซึ่งจารึกโดยท่านบรมครูชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อ 2500 กว่าปีมาแล้ว ขณะที่ในปี พ.ศ. 2445 มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังฤาษีดัดตน ที่ศาลาโถงของวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) จังหวัดสงขลา จำนวน 40 ท่า

กรมแพทย์หลวงถูกยุบ การตราพระราชบัญญัติการแพทย์ และอื่นๆ
ครั้นเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ยังทรงโปรดการนวดเวลาเสวย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองทำให้รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด กรมแพทย์หลวงถูกยุบ หมอหลวงที่เคยรับราชการอยู่ ต้องออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว การนวดจึงหมดบทบาทจากราชสำนักไปในที่สุด อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 ระบุการนวดอยู่ในนิยามของโรคศิลปะ แต่หมอนวดแบบชาวบ้านก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ หมอนวดที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ได้แก่ หมออินเทวดา ซึ่งเป็นหมอนวดในราชสำนัก

สมาคมแพทย์แผนโบราณ และโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย
พอถึงรัชกาลที่ 7 มีกฎเสนาบดี พ.ศ. 2472 ระบุสาขาการนวดในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ และในปี พ.ศ. 2475 มีการก่อตั้งสมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย มีการสอนนวด ใช้เวลาเรียนขั้นต้น 6 เดือน ขั้นปลาย 1 ปี 6 เดือน. ในรัชกาลที่ 8 พระองค์ได้ตรา พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ระบุสาขาการนวดในการประกอบโรคศิลปะโบราณ

ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในครั้งนั้นได้ปรารภว่า วัดพระเชตุพนฯ เป็นแหล่งรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว เหตุใดไม่จัดให้มีโรงเรียนสอนการแพทย์แผนไทยในวิชาเวชกรรม ผดุงครรภ์ หัตถเวช และเภสัชกรรม ทำให้คณะกรรมการวัดพระเชตุพนฯ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์แผนไทยที่หลงเหลืออยู่ ได้สนองพระราชปรารภจัดทำหลักสูตรโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้นในนาม "โรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย" ได้เปิดสอนเป็นแห่งแรกที่วัดพระเชตุพนฯ โดยแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร คือ เวชกรรม เภสัชกรรม และหัตถกรรม ต่อมาได้มีการขยายตัวไปทั่วประเทศในนามของสมาคมแพทย์แผนโบราณ ซึ่งเป็นงานการฟื้นฟูการแพทย์ของเอกชน

พัฒนาการวิชาการแพทย์แผนไทยและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีเปิดสอนวิชาการแพทย์แผนไทย ในอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ที่วัดบวรนิเวศน์วรวิหาร โดยนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปประยุกต์ใช้ด้วย สถาบันแห่งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนอีกเช่นกัน

ต่อมาพ.ศ. 2530 กระทรวงสาธารณสุขตีความว่าการนวดแผนไทย เพื่อรักษาโรคเป็นการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรม รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกธุรกิจการนวดแผนโบราณ เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และได้รับความนิยมจากต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจการนวดเฟื่องฟู แต่ก็มีบางสถานที่ที่อาศัยการนวดแอบแฝงกับการขายบริการทางเพศ

พอถึงปี พ.ศ. 2532 การแพทย์แผนไทยได้เข้าสู่ระบบราชการอีกครั้ง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์การประสานงานการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยขึ้น เป็นองค์การประสานงานการพัฒนาการแพทย์แผนไทย กระทั่งเป็นที่มาของการจัดตั้งสถาบันการแพทย์แผนไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เป็นหน่วยงานสูงระดับกอง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ในปี พ.ศ. 2541 กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านนวดแผนโบราณ เพื่อเตรียมการให้การนวดไทยเป็นการประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทยประเภทหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะฉบับใหม่

อย่างไรก็ดี มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเรียนนวดไทยมาก จนมีการเปิดสำนักสอนการนวดไทย มีการผลิตหนังสือและสื่อการสอนนวดออกมาแพร่หลาย. ในสังคมไทยสมัยก่อน การถ่ายทอดวิชาการนวดไทย ยังไม่มีการสอนอย่างถูกระเบียบแบบแผน เป็นการถ่ายทอดตามสายบรรพบุรุษหรือตระกูลเดียวกัน ผู้เป็นอาจารย์จะพิจารณาว่าลูกศิษย์มีหน่วยก้านเหมาะสมที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ให้หรือไม่ หรืออาจเป็นผู้ที่คุ้นเคยและอยากเรียนวิชามาฝากตัวเป็นศิษย์ โดยจะมีวิธีไหว้ครูและครอบวิชาหมอนวดให้ วิธีการเรียนการสอนมีลักษณะแบบตัวต่อตัว เริ่มเรียนจากการฝึกกำลังนิ้ว ตั้งแต่ขยำก้อนขี้ผึ้ง ดินน้ำมัน หรือดินเหนียว จนมีกำลังนิ้วและมือแข็งแรงมากขึ้น จากนั้นจะสอนเรื่องจุดนวด เส้นประตูลม ฯลฯ แล้วเริ่มฝึกปฏิบัติ หัดนวดครูและติดตามครูเพื่อรับรู้ประสบการณ์วิธีการนวดและวิธีจับเส้นจากครูให้ได้มากที่สุด

ขณะที่การเรียนการสอนการนวดในปัจจุบัน มีการเรียนการสอน หรือสืบทอดทั้งในวัด สถาบันการศึกษา และภายในครอบครัว โดยสถานศึกษาการนวดแผนไทยแห่งแรกคือ วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ต่อมาได้มีเพิ่มอีกหลายแห่ง เช่น วัดสามพระยา วัดปรินายกจำกัด รวมถึง อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ที่ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ ซึ่งก่อตั้งโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ อาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มีความพยายามที่จะฟื้นฟูและพัฒนาแพทย์แผนไทยซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาที่ล้ำค่าของไทย ในปี พ.ศ. 2523

นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ - สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม และเปิดโรงเรียนเพื่อสอนการแพทย์แผนไทยขึ้น เพื่อสอนการนวดแบบราชสำนักในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า โรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) โดยหมอนวดที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ได้แก่ หมออินเทวดา ซึ่งเป็นหมอนวดในราชสำนัก หมออินเทวดา ได้ถ่ายทอดวิชาการนวดทั้งหมดให้แก่บุตรชาย คือ หมอชิต เดชพันธ์ ซึ่งต่อมาได้ถ่ายทอดให้กับศิษย์หลายท่านและในจำนวนนั้นมี อาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ ซึ่งเป็นศิษย์เอกรวมอยู่ด้วย และต่อมาได้เป็นอาจารย์อยู่ที่อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) โดยการเชิญของอาจารย์อวย เกตุสิงห์ ท่านจึงได้ถ่ายทอดวิชาการนวดแบบราชสำนักนี้ให้แก่ผู้เรียนของอายุรเวทวิทยาลัยทุกคน รวมทั้งเปิดคลินิกเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบแพทย์แผนไทย โดยได้มีการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการวินิจฉัย และ บำบัด รักษา ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ต่อมาได้พัฒนาหลักสูตรเป็นการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และในปี พ.ศ. 2546 หน่วยงานทั้งหมดได้โอนย้ายมาสังกัดคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกชื่อว่า สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์

สรุปแล้วองค์ความรู้ด้านการนวดไทยปัจจุบันมีแหล่งที่มาจากคัมภีร์ ตำราการนวดไทยดังนี้

1. แผนนวดวัดพระเชตุพนฯ สมัยรัชกาลที่ 3
2. แผนนวดฉบับหลวงพระราชทาน สมัยรัชกาลที่ 5
3. ตำราโรคนิทาน คำฉันท์ 11 ของ พระยาวชิยาธิบดี เจ้าเมืองจันทบูร สมัยรัชกาลที่ 1
4. แผนนวดพื้นบ้าน ส่วนใหญ่คัดลอกสืบต่อกันมา มักคล้ายกับแผนนวดฉบับหลวงหรือแผนนวดวัดพระเชตุพนฯ

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยไข้ตามแนวคิดการแพทย์แผนไทย
ประทีป ชุมพล (ประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย : การศึกษาจากเอกสารตำรายา, 2541) เชื่อว่า การรักษาโรคแบบการแพทย์แผนไทย ไม่ได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฎีการแพทย์อายุรเวท แต่มีแนววิธีการวินิจฉัยโรคและปรัชญาการวินิจฉัยโรคมาจากความเชื่อดั้งเดิมในแบบพื้นบ้าน ที่อาศัยการสั่งสมประสบการณ์และกระบวนการเรียนรู้มายาวนาน จนมีเอกลักษณ์ผสานกันกับปรัชญาทางพุทธศาสนา เช่นที่เรียกกันว่าทฤษฎีการแพทย์ แบบติกิจฉา โดยในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง และเวชศาสตร์วรรณา สรุปถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยไข้ในมนุษย์ได้ 6 ประการ ดังนี้

1. มูลเหตุแห่งธาตุทั้งสี่
2. อิทธิพลของฤดูกาล
3. อายุที่เปลี่ยนไปตามวัย
4. สถานที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม
5. อิทธิพลของกาลเวลา
6. พฤติกรรมมูลเหตุก่อโรค

1. มูลเหตุแห่งธาตุทั้งสี่ เป็นสมุฏฐานธาตุ ประกอบไปด้วยธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งอยู่ในภาวะสมดุลเกี่ยวข้องกันและกัน แบ่งออกเป็น ธาตุดิน 20 ประการ, ธาตุน้ำ 12 ประการ, ธาตุลม 6 ประการ, ธาตุไฟ 4 ประการ

- ธาตุดิน (ปถวีธาตุ) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตมีลักษณะเป็นของแข็ง มีความคงรูปเช่นอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ผม เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า และเยื่อในสมอง

- ธาตุน้ำ (อาโป) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต มีลักษณะเป็นน้ำเป็นของเหลว มีคุณสมบัติไหลไปมาซึมซับไปทั่วร่างกาย อาศัยธาตุดินเพื่อการคงอยู่ อาศัยธาตุลมเพื่อการเลื่อนไหล ได้แก่ น้ำดี เสลด น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำปัสสาวะหรือน้ำมูตร และน้ำในอุจจาระ

- ธาตุลม (วาโย) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต มีลักษณะเคลื่อนไหวได้ มีคุณสมบัติคือ ความเบา เป็นสิ่งที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหว เดิน นั่ง นอน คู้เหยียดได้ ธาตุลมอาศัยธาตุดินและธาตุน้ำ เป็นเครื่องนำพาพลัง ขณะเดียวกันธาตุลมพยุงดินและทำให้น้ำเคลื่อนไหวไปมาได้ ธาตุลมมีลักษณะสำคัญ 6 ประการ จัดเป็นธาตุลมภายในได้แก่ ลมพัดจากข้างล่างสู่ข้างบน, ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องต่ำ, ลมพัดอยู่ในท้องนอกลำไส้, ลมพัดอยู่กระเพาะลำไส้, ลมพัดทั่วร่างกาย, และลมหายใจเข้าออก

- ธาตุไฟ (เตโช) คือ องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต มีลักษณะที่เป็นความร้อน ไฟทำให้ลมและน้ำในร่างกายเคลื่อนที่ด้วยพลังและความร้อนอันพอเหมาะ ไฟภายในมี 4 ประการ ได้แก่ ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น, ไฟที่ทำให้ร้อนระส่ำระสาย, ไฟที่ทำให้ร่างกายเหี่ยวแห้งทรุดโทรม, และไฟย่อยอาหาร

ธาตุทั้งสี่จะต้องอยู่ในภาวะสมดุลกัน ร่างกายจึงจะเป็นปกติ ไม่เจ็บป่วย โดยธาตุดินอาศัยน้ำทำให้ชุ่มและเต่งตึง อาศัยลมพยุงให้คงรูปและเคลื่อนไหว อาศัยไฟให้พลังงานอบอุ่นไว้ไม่ให้เน่า น้ำต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะกุมซับไว้ไม่ให้ไหลเหือดแห้งไปจากแหล่งที่ควรอยู่ อาศัยลมทำให้น้ำซึมซับไปทั่วร่างกาย

ลมต้องอาศัยน้ำเป็นดินเป็นที่อาศัย และนำพาพลังไปในที่ต่างๆ ดินปะทะลมให้เกิดการเคลื่อนที่แต่พอเหมาะ ไฟอุ่นดินและอาศัยดิน เพื่อเผาผลาญให้เกิดพลัง ไฟต้องอาศัยน้ำเพื่อการเผาผลาญที่พอเหมาะ ไฟทำให้ลมเคลื่อนที่ไปได้ ขณะที่ ลมสามารถทำให้ไฟลุกโชนเผาผลาญมากขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าธาตุทั้งสี่ต่างอาศัยซึ่งกันและกันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ หากมีความแปรปรวนจะทำให้เสียสมดุลทันที

2. อิทธิพลของฤดูกาล ฤดูกาลที่มีผลทำให้ร่างกายแปรปรวน โดยช่วงรอยต่อระหว่างฤดูกาล เช่น ฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ความเย็นจะเจือผ่านเข้าไป และความร้อนเริ่มเจือผ่านเข้ามา. ฤดูร้อนต่อฤดูฝน ความร้อนย่อมเจือเข้าไป มีผลต่อธาตุลมที่กำลังมีผลกระทบ และธาตุลมย่อมเจือเข้ามากระทบร้อนด้วย. เมื่ออากาศหนาวกำลังมา ละอองฝนปลายฤดูฝนและธาตุลมเจือเข้าสู่ความเย็น ในขณะที่ความหนาวเย็นต้นฤดูหนาวเริ่มเจือเข้ามารับลมปลายฤดูฝน สภาวะดังกล่าว หากปรับตัวไม่ได้ จะเกิดเสียสมดุลและเกิดการเจ็บป่วย

- ฤดูร้อนเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ
- ฤดูฝนเจ็บป่วยด้วยธาตุลม
- ฤดูหนาวเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ

- ตัวคุมธาตุดิน คือ "หทัยวัตถุ" หัวใจ อุทริยะ อาหารใหม่ กรีสะ อาหารเก่า เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเสียหายหรือแปรปรวนก็จะกระทบ "วีสติปัตถวี" คือธาตุดินทั้ง 20 ทำให้มีปัญหาไปด้วย

- ตัวคุมธาตุน้ำคือ "ศอเสมหะ" น้ำช่วงคอขึ้นไป อุระเสมหะ น้ำจากคอถึงสะดือ คูถเสมหะ น้ำช่วงล่าง เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเสียหายหรือแปรปรวนก็จะกระทบ "ทวาทศอาโป" คือ ธาตุน้ำทั้ง 12 ให้มีปัญหาไปด้วย

- ตัวคุมธาตุลม คือ "หทัยวาตะ" การเต้นของหัวใจ สัตถกะสาตะลมคมเหมือนอาวุธ สมุนาวาตะลมกลางตัว เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเสียหายหรือแปรปรวนก็จะกระทบ "ฉกาลวาโย" คือธาตุลมทั้ง 6 ให้มีปัญหาไปด้วย

- ตัวคุมธาตุไฟ คือ "พัทธปิตะ" ดีในถุงน้ำดี "อพัทธะปิตตะ" ดีนอกถุงน้ำดี กำเดา องค์ความร้อน เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเสียหายหรือแปรปรวนก็จะกระทบ "จตุกาลเตโช" คือ ธาตุไฟทั้ง 4 ให้มีปัญหาไปด้วย

3. อายุที่เปลี่ยนไปตามวัย (อายุสมุฏฐาน) ร่างกายมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัยแบ่งเป็น 3 วัยคือ

- ปฐมวัย อายุ 0-16 ปี เกิดโรคทางธาตุน้ำ
- มัชฉิมวัย อายุ 16-32 ปีเกิดโรคทางธาตุไฟ
- ปัจฉิมวัย มากกว่า 32 ปีขึ้นไปเกิดโรคทางธาตุลม

4. สถานที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อม เรียกว่า ประเทศสมุฏฐาน ย่อมมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ ได้แก่

- ประเทศร้อนสถานที่ที่เป็นภูเขาสูงเนินผา มักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ
- ประเทศเย็นสถานที่เป็นน้ำฝน โคลน ตม มีฝนตกชุกมักเจ็บป่วยด้วยธาตุลม
- ประเทศอุ่นสถานที่เป็นน้ำฝน กรวด ทราย เป็นที่เก็บน้ำไม่อยู่ มักเจ็บป่วยด้วยธาตุ
- ประเทศหนาว สถานที่ที่เป็นน้ำเค็มมีโคลนตมชื้นแฉะ ได้แก่ ชายทะเล มักเจ็บป่วยด้วยธาตุดิน

5. อิทธิพลของกาลเวลา สาเหตุการเกิดโรคอันเนื่องจากเวลาคือ การเปลี่ยนแปลงในรอบหนึ่งวัน ยามใดเกิดจันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา มักเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในโลกมนุษย์ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว เกิดการแปรปรวนของธาตุต่างๆ แตกต่างไป

- เวลา 6.00 -10.00 น. และ 18.00 - 22.00 น. ธาตุน้ำมักกระทำโทษ มักมีอาการน้ำมูกไหลหรือท้องเสีย
- เวลา 10.00 - 14.00 น. และ 22.00 - 2.00 น. ธาตุไฟมักกระทำโทษ มีอาการไข้หรือแสบท้องและปวดท้อง
- เวลา 14.00 - 18.00 น. และ 2.00 - 6.00 น. ธาตุลมมักกระทำโทษคือ วิงเวียน ปวด เมื่อย และอ่อนเพลีย

ตัวแปรอีกหลายอย่างที่กำหนดความแตกต่างต่อไปในรอบหนึ่งเดือน คือ ดวงจันทร์ข้างขึ้นข้างแรม และในรอบหนึ่งปี อิทธิพลของดวงดาวที่มีผลในเดือนต่างๆ เป็นรายเดือนรวม 12 เดือนเมื่อพระอาทิตย์สถิตในราศีต่างๆ เกิดผลต่อร่างกายต่างกันเรียกว่า 12 ราศี และอิทธิพลของดวงดาวที่มามีอิทธิพลต่อชีวิตยาวนานหลายปีเรียกว่า ดาวเสวยเคราะห์อายุ ตามคัมภีร์มหาทักษา หากดาวเคราะห์ส่งผลต่อชีวิตรุนแรงจะทำให้เกิดการเจ็บป่วย

6. พฤติกรรมมูลเหตุก่อโรค เพราะสาเหตุดังนี้

- กินอาหารมากไปหรือน้อยไป กินอาหารบูดหรืออาหารไม่เคยกิน และกินอาหารไม่ถูกกับธาตุ
- ฝืนอิริยาบถ ได้แก่ การนั่ง ยืน เดิน และนอนไม่สมดุล จนร่างกายเสียสมดุลและเสื่อมโทรม
- อากาศไม่สะอาด หรืออยู่ในที่อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
- การอด ได้แก่ การอดข้าว อดนอน อดน้ำ และอดอาหาร การกลั้นอุจจาระ และปัสสาวะ
- ทำงานมากเกินกำลังหรือมีกิจกรรมทางเพศมากเกินไป มีความโศกเศร้าเสียใจหรือดีใจจนเกินไป และขาดอุเบกขา มีโทสะมากเกินไป ขาดสติ

โดยปกติตามหลักการแพทย์แผนไทย มนุษย์มีธาตุเจ้าเรือนติดตัวมาตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา เรียกว่า "ธาตุกำเนิด" ต่อมาต้องเผชิญกับสงแวดล้อมและธรรมชาติ ธาตุภายนอก อิทธิพลของฤดูกาล ถิ่นที่อยู่อาศัย กาลเวลา สุริยะจักรวาล มนุษย์ต้องปรับตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อให้ร่างกายสมดุลไม่เจ็บป่วย

(ขอขอบพระคุณภาพประกอบเพื่อการศึกษาบทความ นำมาจาก www.relax-land.com)

หลักการพื้นฐานการนวดไทย
ตามหนังสือตำรายาศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ พ.ศ. 2505 บันทึกไว้ว่า ตำราหมอนวดจากศิลาจารึก เป็นวิชาหัตถศาสตร์ว่าด้วยแผนการนวดแก้โรคต่างๆ ได้กล่าวถึงกายมนุษย์ว่า ยาว 1 วา กว้าง 1 ศอก หนา 1 คืบ มี 5 แฉก มีเส้นเอ็นในร่างกาย 3,200 เส้น และมีเส้นประธาน 10 ซึ่งเป็นหลักในการศึกษาวิชานวดแผนไทย เพื่อพิจารณาทำการรักษาโรคได้เป็นเส้นที่เลือดและลมแล่นอยู่ภายใน เมื่อเลือดลมสมดุล ร่างกายก็ไม่เจ็บป่วย แต่เมื่อใดที่มนุษย์บริโภคอาหารหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เลือดลมกำเริบ ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยต่างๆ ตามมา ซึ่งอาการเจ็บป่วยในเส้นประธานกำเริบนี้ สามารถบำบัดรักษาได้ด้วยการนวด การใช้ยาไทย หรือทั้งสองวิธี

ลักษณะทางโครงสร้างทางกายภาพของเส้นประธานยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นโครงสร้างแบบใด จุดแก้อาการและโรคที่กล่าวถึงในเส้นประธานนั้นเป็นจุดที่มีลักษณะเฉพาะที่ซึ่งเมื่อกดหรือกระตุ้นแล้วทำให้เกิดความรู้สึกแล่นภายในร่างกาย โดยโครงสร้างอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายที่สามารถเกิดกระแสความรู้สึกได้นั้น อาจเป็นเส้นประสาท เยื่อหุ้มกระดูก พังผืด เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ หรือผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีปลายประสาทมาเลี้ยง การนวดเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางสรีระวิทยา เพื่อเกิดผลทางการรักษา จึงอาจเป็นการนวดที่โครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งซึ่งประสานเชื่อมต่อกับปลายประสาทที่มีโครงสร้างเป็นโครงข่ายหรือร่างแหปกคลุมอยู่ทั่วร่างกาย

เส้นประธานมี 10 เส้น แต่ละเส้นมีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณรอบสะดือ โดยอยู่ลึกลงไปจากผิวหนังประมาณ 2 องคุลี (1 นิ้วฟุต) แล่นผ่านส่วนต่างๆ ของร่างกาย บางตำแหน่งอาจอยู่ตื้น บางตำแหน่งอาจอยู่ลึกจากผิวหนัง บริเวณที่เส้นประธานไปสิ้นสุดเรียกว่า "ราก" เส้นประธานแต่ละเส้นมีแนวพาดผ่านของเส้นที่แน่นอน มีเส้นแขนงที่แยกออกจากเส้นประธานทั้ง 10 ส่วนตำแหน่งของเส้นประธานทั้ง 10 มีดังนี้

- เส้นเอ็นที่ 1 อิทา จากสะดือไปหัวเหน่าต้นขาซ้าย ขึ้นไปตามข้างกระดูกสันหลังเบื้องซ้ายสู่ศีรษะผ่านลงมาที่จมูกด้านซ้าย (เอ็นซ้าย) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการบริเวณศีรษะเช่น ปวดศีรษะ

- เส้นเอ็นที่ 2 ปิงคลา จากสะดือไปหัวเหน่าต้นขาขวา ขึ้นไปตามข้างกระดูกสันหลังเบื้องขวาสู่ศีรษะผ่านลงมาที่จมูกด้านขวา (เอ็นขวา) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการบริเวณศีรษะเช่น ปวดศีรษะ

- เส้นเอ็นที่ 3 สุมนา หรือรากชิวหา จากสะดือผ่านขึ้นไปทรวงอก ลำคอ สู่ลิ้น (เอ็นอก) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการของอวัยวะแนวกลางลำตัว
เช่น ลิ้น คาง อก และหัวใจ

- เส้นเอ็นที่ 4 กาละธารี จากสะดือแยกเป็น 4 เส้น 2 เส้นแล่นไปตามลำตัวสู่ไหล่ แขนทั้งสองจนสุดปลายนิ้ว (เอ็นแขน) อีก 2 เส้น แล่นลงไปตามลำแข้งจนถึงปลายเท้าทั้งสอง (เอ็นเท้า) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการของแขนและขา

- เส้นเอ็นที่ 5 สหัสสรังษี หรือรากจักษุซ้าย จากสะดือลงไปยังต้นขา-ขาซ้ายและปลายเท้าซ้าย แล้วย้อนขึ้นมาตามลำแข้งซ้าย สู่หัวนมซ้ายและใต้คางไปสุดที่เบ้าตาซ้าย (เอ็นตาซ้าย) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการของตา

- เส้นเอ็นที่ 6 ทิวารี หรือรากจักษุขวา จากสะดือลงไปยังต้นขา-ขาขวาและปลายเท้าขวา แล้ววกกลับขึ้นมาตามลำแข้งขวา สู่หัวนมขวาและใต้คางไปสุดที่เบ้าตาขวา (เอ็นตาขวา) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการของตา

- เส้นเอ็นที่ 7 จันทะภูสัง หรือรากโสตซ้าย จากสะดือขึ้นไปราวนมซ้ายแล้วขึ้นไปหูซ้าย (เอ็นหูซ้าย) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการของหู

- เส้นเอ็นที่ 8 รุชำ หรือรากโสตขวา จากสะดือข้างขวาขึ้นไปราวนมขวา สู่ใต้คางออกไปรากหูขวา (เอ็นหูขวา) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการของหู

- เส้นเอ็นที่ 9 สุขุมัง หรือรากทวารหนัก จากสะดือเริ่มต้นที่ท้อง เกี่ยวกระหวัดอยู่ในคูธทวาร (เอ็นทวาร) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการของทวารหนัก

- เส้นเอ็นที่ 10 สิขิณี หรือทวารเบา จากสะดือแล่นไปยังหัวเหน่า ลงไปจรดปลายอวัยวะเพศ (เอ็นเพศ) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาการของทวารเบา

เส้นเอ็นทั้ง 10 เส้นเป็นประธานของเส้นทั้งหลาย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่หมอนวดทุกคนต้องศึกษา โดยได้ถูกจารึกเป็นรูปพร้อมคำบรรยายบอกจุดนวดแก้โรคต่างๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังบนศิลาจารึกทั้ง 60 รูป. ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเส้นประธานและจุดแก้นั้น จุดแก้ที่กล่าวถึงในเส้นประธานแต่ละเส้น มีทั้งจุดที่อยู่บนแนวของเส้นประธาน และจุดที่ไม่ได้อยู่บนแนวของเส้นประธาน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าจะอยู่ในบนเส้นแขนงของเส้นประธานนั้นแทน เช่น เส้นอิทา อาจมีแขนงจากเข่าลงไปที่ขา เพราะปรากฏว่ามีจุดแก้อย่างน้อย 8 จุดที่อยู่ใต้เข่า

อย่างไรก็ดี จุดแก้ที่กล่าวถึงในเส้นประธานแต่ละเส้น อาจใช้แก้อาการอื่นๆ นอกเหนือไปจากอาการหลักของเส้นประธานนั้นก็ได้ เช่น จุดแก้ที่กล่าวถึงในเส้นอิทา สามารถแก้อาการต่างๆ ได้หลายอาการเช่น แก้ลมดูดสะบัก แก้แน่นหน้าอก แก้ขัดเข่า แก้เมื่อยแข้ง แก้เท้าเย็น เป็นต้น

รูปแบบของการนวดไทย

ปัจจุบัน การนวดสามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. การนวดแบบราชสำนัก หมายถึง เป็นการนวดที่มีพัฒนาการมาจากการนวดพื้นบ้านไทย เพื่อถวายกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงของราชสำนัก ที่เน้นความสุภาพ เรียบร้อยและสวยงาม รวมทั้งมีศักยภาพในการรักษา เป็นการนวดที่ใช้เฉพาะมือในการนวด หรือเน้นการลงของน้ำหนักตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งหากผู้นวดฝึกฝนจนมีความชำนาญแล้ว จะสามารถรักษาโรคได้ การนวดแผนไทยแบบราชสำนักนี้ ได้รับการพัฒนาและสืบทอดมาโดยอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมให้การนวดไทยแบบราชสำนักไปใช้ในการบริการสาธารณสุขของรัฐระดับต่างๆ แล้ว และมีการเรียนการสอนสืบต่อกันมาเช่นเดียวกับการนวดแบบทั่วไป แต่อาจารย์ผู้สอนจะเลือกศิษย์จากผู้สมัครเข้าเรียนตั้งแต่การสัมภาษณ์ เพื่อศึกษาถึงภูมิหลังของผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ ดูนิสัย ใจคอ รูปร่าง ท่าทาง ว่าพอจะเรียนได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าจะเรียนไหวถึงจะสอน

2. การนวดแบบเชลยศักดิ์ หมายถึง การนวดแบบพื้นบ้านหรือแบบทั่วไป เป็นภูมิปัญญาไทยที่พัฒนามาจาก การนวดช่วยเหลือกันเองภายในครอบครัว ทำให้เกิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และช่วยให้รู้สึกสุขสบาย โดยใช้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายในการนวด เช่น ศอก เข่า เท้า มือ หากฝึกฝนจนมีความชำนาญแล้ว จะสามารถรักษาโรคได้ การนวดไทยแบบเชลยศักดิ์นี้ ได้รับการพัฒนาและสืบทอดมาโดยกลุ่มของสมาคมหรือชมรมต่างๆ ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดของเทคนิควิธีการที่แตกต่างกันไปในแต่ละสำนัก

ปัจจุบันมีการเรียนการสอนการนวดแบบทั่วไปตามสถาบันการศึกษา โดยสามารถสมัครเรียนได้โดยตรง โดยไม่มีการสอบคัดเลือก อัตราค่าเรียนขึ้นอยู่กับสถานศึกษาเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะมีทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว อาจเรียนเฉพาะวันหยุดราชการหรือทุกวันตามแต่จะตกลงกัน การเรียนการสอนโดยทั่วไปเป็นการสอนตัวต่อตัวกับครูหรือศิษย์รุ่นพี่ โดยใช้การสาธิตและฝึกปฏิบัติ เนื้อหาการเรียนการสอนมักเป็นการเล่าประสบการณ์ของครูและสอนกายวิภาคศาสตร์แบบโบราณบ้าง พร้อมทั้งอบรมจริยธรรมโดยถือหลักศีลธรรมเป็นสำคัญ สำหรับการเริ่มต้นเรียนอาจไม่พร้อมกัน แต่เมื่อครบกำหนดการเรียนของศิษย์ ครูผู้สอนจะทดสอบผลการเรียนด้วยตนเอง โดยให้ศิษย์ทดลองนวดครู หากทำได้ดี ถูกต้องครูจะออกใบรับรองให้ ถ้ายังทำได้ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็จะให้เรียนและฝึกหัดเพิ่มเติมต่อไป

ผลของการนวดไทย
นับแต่เดิมมาแล้ว การนวดนับว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการดูแลสุขภาพและรักษาโรค โดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีหลักการ ระหว่างหมอนวด และผู้รับการรักษา เพราะการนวดจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ ดังต่อไปนี้

1. ผลต่อระบบไหลเวียนเลือด
2. ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ
3. ผลต่อผิวหนัง
4. ผลต่อระบบข้อต่อ
5. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร
6. ผลต่อจิตใจ

1. ผลต่อระบบไหลเวียนเลือด
1.1 การคลึงทำให้เลือดถูกบีบออกไปจากบริเวณนั้น และมีเลือดใหม่มาแทนที่ ช่วยในการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง
1.2 สำหรับการบวม การคลึงทำให้บริเวณนั้นนิ่มลงได้ ทำให้การบวมลดลง แต่ในกรณีที่มีการอักเสบไม่ควรคลึงอาจทำให้บวมมากขึ้นได้
1.3 อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทำให้ส่วนที่นวดอุ่นขึ้น

2. ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ
2.1 ทำให้กล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพดีขึ้น เนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น เหมือนการนวด ร่างกายนักกีฬาก่อนลงแข่งขัน
2.2 ขจัดของเสียในกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้าน้อยลงหลังใช้แรงงาน
2.3 ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนลง ผ่อนคลายความเกร็ง
2.4 ในรายที่มีพังผืดเกิดภายในกล้ามเนื้อ การคลึงจะทำให้พังผืดอ่อนตัวลง ทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นดีขึ้น และอาการเจ็บปวดลดลง

3. ผลต่อผิวหนัง
3.1 ทำให้มีการขับของเสียออกมาทางเหงื่อ ทางไขมัน และผิวหนัง ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น รวมทั้งทำให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น ทำให้ผิวเต่งตึง
3.2 ยาดูดซึมได้ดีขึ้นทางผิวหนัง ภายหลังการนวดที่นานพอควร เช่นการนวดด้วยยาแก้ช้ำ
3.3 การคลึงในรายมีแผลเป็น ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อพังผืดงอกแทนผิวหนังเดิม จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น ทำให้แผลเป็นอ่อนตัวลงหรือเล็กลงไป

4. ผลต่อระบบข้อต่อ คือทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น จึงทำให้ร่างกายมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น

5. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร
5.1 เพิ่มความตึงตัวของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ กระเพาะอาหารและลำไส้
5.2 เกิดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร ท้องไม่อืด ไม่เฟ้อ

6. ผลต่อจิตใจ
6.1 คลายความเจ็บปวดของร่างกายลง ทำให้การทำงานของระบบประสาทส่วนที่รับความรู้สึกดีขึ้น
6.2 ช่วยให้สุขภาพดี จิตใจสดชื่นแจ่มใส ผ่อนคลาย ลดความเครียดและความกังวล
6.3 เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครอบครัว และสังคม

ในส่วนของงานศึกษา, ดร.รุ่งทิวา วัจฉละฐิติ จากโรงเรียนกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาศึกษาเรื่อง "การนวดไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ" เพื่อศึกษาผลของการนวดบำบัดกล้ามเนื้อ และการปวดข้อด้วยการนวดไทย ในผู้ป่วย 238 ราย ที่มีอาการปวด 4 ประเภทคือ ปวดศีรษะและปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง และปวดเข่า โดยได้ทำการศึกษาที่โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ 6 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 เขตดินแดง และศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ มีองศาการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ได้มากกว่ากลุ่มที่มีลักษณะอาการปวดอื่นๆ ยกเว้นในกลุ่มที่มีอาการปวดเข่า

แสดงให้เห็นว่า การนวดไทยช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อต่อได้ ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะเกิดจากการไหลเวียนเลือด จากพังผืดหรือจากเส้นเอ็นรอบๆ ข้อต่อก็ได้ แต่การนวดไม่ได้บำบัดอาการปวดที่เกิดจากการร้าวของเส้นประสาท สรุปแล้ว ถ้าผู้นวดมีความชำนาญ การนวดจะสามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อต่อให้ลดลงได้

ส่วนแพทย์หญิง พิชยา ตันติเสรณี จากภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำการศึกษาศึกษาเรื่อง การพัฒนาการนวดไทยลงสู่ระบบสาธารณสุขมูลฐานระดับอำเภอ ดำเนินงานโดย โครงการฟื้นฟูการนวดไทยร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ใช้พื้นที่ในการศึกษาที่โรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง ในภาคอีสาน 2 จังหวัด มี 7 หมู่บ้าน, ภาคกลางที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1 หมู่บ้าน, ภาคเหนือที่จังหวัดพิษณุโลก 1 หมู่บ้าน และภาคใต้อีก 1 หมู่บ้านรวมทั้งส้น 1,136 ครัวเรือน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการนำการนวดไทยมาใช้บำบัดอาการปวดเมื่อยในชุมชน และผลกระทบของการนวดไทยต่อการใช้ยาแก้ปวดในระดับชุมชน พบว่า การนวดมีประสิทธิภาพในการบำบัดอาการปวดเมื่อย และสามารถแก้ไขลดการใช้ยาแก้ปวดได้ราว 50 เปอร์เซนต์

องค์ประกอบที่จำเป็นเกี่ยวกับการนวดไทย
พีระพงศ์ บุญศิริ (2549) ให้ความหมายของคำว่า องค์ประกอบที่จำเป็นเกี่ยวกับการนวดไทย หมายถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการนวด ตั้งแต่ท่าการนวด การวางมือ การใช้น้ำหนักกดนวด ผู้ที่จะทำหน้าที่เพื่อทำการนวดบำบัดอาการให้กับผู้ป่วยต่างๆ จำเป็นจะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้มีความพร้อมทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ โดยทำความเข้าใจในองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นดังต่อไปนี้

1. การเตรียมร่างกายของผู้ทำการนวด หมายถึงการเตรียมสภาพร่างกายและส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือด้วยการนวดให้กับผู้ป่วยซึ่งจะต้องฝึกตนเองและปฏิบัติเป็นประจำในด้านต่างๆ คือ

- การฝึกกำลังนิ้ว ใช้วิธีการฝึกบีบขี้ผึ้ง หรือฝึกยกตัวด้วยการโหย่งนิ้วทั้งสองมือดันตัวให้อยู่ในท่าขัดสมาธิลอยพ้นพื้น ซึ่งจะช่วยให้นิ้วมือมีความแข็งแรง สามารถทำการนวดกดตามจุดต่างๆ ได้อย่างมั่นคง นิ่ง หน่วง เน้นได้ ไม่สั่นหรืออ่อนแรง

- การรักษาสุขภาพ ผู้ที่จะทำการนวดผู้ป่วยได้ดี จะต้องดูแลรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์อยู่เสมอทั้งกายใจ รักษาความสะอาดของร่างกาย ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้น แต่งกายให้เรียบร้อย เหมาะสมและสะดวกกับการทำการนวด

- ยึดมั่นในศีลธรรมจรรยาบรรณของหมอนวดไทย ที่เน้นหนัก 3 ประการคือ ไม่เสพของมึนเมาทั้งก่อนและหลังการนวด ไม่แสดงพฤติกรรมในทางเจ้าชู้ หรือใช้กิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสมส่อไปในทางแทะโลมหรืออนาจาร และไม่หลอกลวงอวดตน ควรรู้จักประมาณศักยภาพของตนเอง ถ้าไม่สามารถทำการนวดบำบัดผู้ป่วยให้หายได้ ควรมีการส่งต่อให้ผู้ที่มีความสามารถหรือชำนาญกว่า

- ไม่ทำการนวดในสถานที่อโคจร เช่น ในโรงพยาบาลซึ่งมีแพทย์เป็นเจ้าของอยู่แล้ว สถานที่สาธารณะ หรือในที่ลับ

2. ท่าของการนวด โดยทั่วไป จะเห็นการนั่งโดยผู้ทำการนวดยืนนวด, หรือนอนราบกับพื้น โดยผู้ทำการนวดนั่งคุกเข่า ท่านวดปกติมักจะใช้ท่านอนตะแคง ขาล่างเหยียดตรงติดพื้น ขาบนงอเข่าเล็กน้อยให้ส้นเท้าวางชิดหัวเข่า มีหมอนหนุนที่ไม่สูงมากนัก ผู้นวดจะวางนิ้วในตำแหน่งที่จะทำการนวดโดยพยายามเหยียดแขนตรงเพื่อให้สามารถคุมน้ำหนักได้ดี และอยู่ในท่าสบายผ่อนคลายไม่เกร็ง ถ้าเป็นการใช้สันมือ อุ้งมือหรือศอก ก็จะต้องวางให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

3. การกำหนดน้ำหนักจังหวะการนวด ผู้ทำการนวดจะต้องฝึกการใช้น้ำหนักของการกด หรือนวดโดยกำหนดเกณฑ์การใช้น้ำหนักนวดเป็น 3 ขั้นคือ

- การนวดแบบเบา ใช้น้ำหนักเพียงครึ่งเดียวของน้ำหนักที่จะกดได้สูงสุด
- น้ำหนักปานกลางอยู่ในเกณฑ์ 70 เปอร์เซนต์
- น้ำหนักเต็มที่คือ 100 เปอร์เซนต์

โดยจังหวะการนวดลงน้ำหนัก จะกำหนดเป็น 3 ช่วงคือ

(1) หน่วง เป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อตื่นตัวด้วยน้ำหนักเบา อาจจะใช้การลูบหรือคลึงเบาๆ
(2) เน้น เป็นการเพิ่มน้ำหนักในตำแหน่งที่จะทำการนวด อาจจะใช้วิธีกด-ยกก็ได้
(3) นิ่ง เป็นการนวดในตำแหน่งที่ต้องการด้วยการกด ลงน้ำหนัก ตามที่ต้องการพร้อมกับกำหนดลมหายใจ ปกติจะใช้การนับ 1-10 หรือประมาณจุดละ 10 วินาที

- คาบน้อย การนับโดยใช้ช่วงหายใจเข้า-ออกปกติสั้นๆ เรียกว่าคาบ ซึ่งจะเป็นกำหนดสำหรับการนวด การคลึง หรือนวดทั่วไป
- คาบใหญ่ ถ้าเป็นการหายใจเข้าลึก-ออกลึก จะเป็นช่วงประมาณ 1-10 วินาที ใช้สำหรับการนวดบำบัด เรียกว่า คาบใหญ่ และต้องสัมพันธ์กับการกด คือกดโดยเพิ่มน้ำหนักทีละน้อย จนผู้ป่วยรู้สึกปวด ให้กดนิ่งไว้ เมื่อครบกำหนดก็ค่อยๆ ผ่อนช้าๆ ถ้ายกหรือปล่อยเร็วจะทำให้เกิดการระบมได้ง่าย

ส่วนการนวดจะเริ่มในตำแหน่งใดก่อนหลังนั้นต้องวิเคราะห์จากสถานการณ์ และจะต้องประมาณได้ว่าควรทำการนวดซ้ำกี่รอบ เพื่อให้อาการเกร็งลดลงเป็นปกติ ซึ่งปกติจะทำการนวดประมาณ 3-5 รอบ ถ้ามีอาการมากอาจจะเพิ่มเป็น 7 รอบหรือ 10 รอบ เป็นต้น และไม่ควรนวดติดต่อกัน อย่างน้อยควรเว้น 2-3 วันเพื่อให้ส่วนที่ทำการนวดได้รับการพักฟื้น รวมไปถึงการให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับอาหารการกิน การพักผ่อน และการทำจิตใจให้สบายด้วย

4. หลักพื้นฐานของการนวดไทย หลักการแพทย์แผนไทยกล่าวถึงปัจจัยประกอบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนเรา 4 ประการคือ

(1) การสร้างเสริมสุขภาพ หมายถึงการพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมบูรณ์ รู้จักการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมปราศจากมลภาวะ รู้จักการออกกำลังกายสม่ำเสมอและสามารถทำการนวดเป็นประจำ เพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบการไหลเวียนเลือด ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น และช่วยให้การทำงานของเนื้อเยื่อหรือข้อต่อต่างๆ ดีขึ้น การนวดเป็นประจำจึงเหมือนกับยาอายุวัฒนะ ทำให้สุขภาพสมบูรณ์มีอายุยืนยาว และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

(2) การป้องกันโรค หมายถึงการรู้จักเตรียมความพร้อมให้กับกล้ามเนื้อหรือส่วนต่างๆ ของร่างกายก่อนการปฏิบัติงาน เป็นการสร้างความคล่องตัวหรือยืดหยุ่น การนวดยังมีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย การนวดเพื่อคลายความเกร็งของเอ็นกล้ามเนื้อ หรือนวดเพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

(3) การรักษา หมายถึงการบำบัดที่นอกเหนือจากการบำบัดด้วยการแพทย์ปัจจุบัน เช่น การนวดกดจุดต่างๆ การฝังเข็ม เพื่อบำบัดอาการต่างๆ การนวดฝ่าเท้า นวดกล้ามเนื้อหรือเอ็นข้อต่อต่างๆ การกดคลึงตามบริเวณข้อที่มีอาการเกร็ง หรือที่เรียกว่าพังผืดติด เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวในส่วนนั้นๆ ดีขึ้น ทำให้เลือดดำไหลเวียนออกจากเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น ลดอาการบวมที่ปลายมือปลายเท้า ลดอาการขอดของเส้นเลือด หรือนวดผิวหนังเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังเป็นต้น

(4) การฟื้นฟูสมรรถภาพ หมายถึงการนวดเพื่อช่วยฟื้นฟูลดอาการเกร็ง หรือปรับสมรรถภาพของระบบการไหลเวียนเลือดในบริเวณต่างๆ เช่นการนวดคลึงบริเวณแขนขา นอกจจกาจะช่วยลดอาการปวดแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูให้คืนสู่สภาพปกติเร็วขึ้น

ดังนั้นการนวดไทยจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งผู้ทำการนวดจะต้องมีความรู้ทั้งทางทฤษฎีแลปฏิบัติในขั้นที่ใช้การได้จริงๆ นวดแล้วมีความปลอดภัยและสามารถบำบัดอาการได้จริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฝึกประจำจนเกิดความชำนาญ และจะต้องหมั่นพัฒนาความก้าวหน้าอยู่เสมอ

5. การตรวจวินิจฉัยอาการก่อนการนวด ก่อนจะทำการนวดแต่ละครั้ง ควรมีการซักถามความเป็นมาของผู้ป่วย อาการหรือปัญหาที่เป็น รวมทั้งกระบวนการบำบัดรักษาที่ผ่านมา โดยจดบันทึกในแบบบันทึกประวัติผู้ป่วย เพื่อจะได้เก็บไว้เป็นข้อมูลคนไข้ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 3 ส่วนคือ

- ประวัติคนไข้หรือผู้ป่วย ชื่อ ชื่อสกุล วันเดือนปีที่เกิด อายุ เพศ เชื้อชาติ สัญชาติ น้ำหนัก ส่วนสูง ความดันเลือด อาชีพ ที่อยู่อาศัย สถานะภาพทางครอบครัว ซึ่งควรมีการซักถามและทำแบบบันทึกประวัติไว้ หมายรวมถึงปัญหาพฤติกรรมส่วนตัว พฤติกรรมการบริโภค โรคภัยไข้เจ็บ อาการที่เป็นหรือถ่ายทอดจากกรรมพันธุ์ โรคประจำตัว ฯลฯ

- ซักถามประวัติความเจ็บป่วยทั้งในอดีต-ปัจจุบัน และการบำบัดรักษาที่ผ่านมา อาการแพ้ต่างๆ รวมไปถึงถามว่าได้รับการบำบัดจากที่ใด โดยวิธีใด เป็นต้น ซึ่งเป็นการซักถามเพื่อการวินิจฉัยอาการว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เกี่ยวข้องกับอาการของโรคหรืออุบัติเหตุใด หรือเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความเป็นอยู่ อาหารการกิน อันเป็นสาเหตุที่มาของโรคนั้นๆ เป็นต้น

- ทำการตรวจวิเคราะห์ โดยการดู จับ หรือคลำ ส่วนที่มีอาการผิดปกติ หรือสังเกตจากการเคลื่อนไหวมีอาการผิดปกติมากน้อยเพียงใด รวมถึงการวัดชีพจรและความดันเลือดการหายใจ ซึ่งสามารถใช้เครื่องมือทางการแพทย์มาทำการตรวจวัดเพื่อความถูกต้องแน่นอน เช่นเครื่องวัดอัตราชีพจร วัดความดันเลือด เป็นต้น รวมทั้งการตรวจวิเคราะห์ลักษณะท่าทางอาการผิดปกติอื่นๆ ก่อนที่จะทำการนวด

ผู้ทำการนวดจะต้อง"รู้เขา รู้เรา และรู้รอบ" ซึ่งหมายถึงรู้เรื่องราวและอาการของผู้ป่วย "รู้เรา"หมายถึงความสามารถทักษะความชำนาญของผู้นวดว่ามีมากน้อยเพียงใด ต้องรู้จักประมาณตน ถ้าไม่สามารถนวดบำบัดได้ด้วยตนเอง ก็ควรจะแนะนำให้ได้รับการนวดบำบัดจากผู้รู้หรือมีความชำนาญมากกว่า และที่สำคัญที่สุดคือ "การรู้รอบ" ต้องรู้ว่าจุดใดอันตราย ควรนวดอย่างไร และสามารถแนะนำให้ผู้ป่วยในด้านการพักผ่อน การบริหารกายหรืออื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง

6. การบริหารร่างกายเพื่อการนวด ผู้ที่จะทำการนวดไทย ควรเป็นผู้มีสุขภาพพลานามัยดี สมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็จะต้องรู้จักการรักษาสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์คงที่อยู่เสมอ ดังนั้นจึงต้องรู้จักท่าบริหารกายต่างๆ และการทำการบริหารเป็นประจำ ซึ่งอาจจะใช้ท่าบริหารกายทั่วไป ท่าบริหารแบบฤาษีดัดตน หรือ ท่าการออกกำลังกายตามที่ถนัด

องค์ประกอบที่จำเป็นเกี่ยวกับการนวดไทย
การนวดพื้นบ้านไทย จะเป็นการนวดแบบพื้นฐานง่ายๆ โดยใช้นิ้วมือ ฝ่ามือ อุ้งมือ ศอก หรือเท้า ซึ่งผู้ทำการนวดที่มีความชำนาญจะสามารถรู้กำหนดได้เองว่าการนวดในตำแหน่งใดๆ จะใช้อวัยวะส่วนใดทำการนวด ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการนวด 5 แบบดังต่อไปนี้ (พีระพงศ์ บุญศิริ, 2549)

1. การกด เป็นการกด-ยกลงบนจุดหรือตำแหน่งที่ต้องการเพื่อให้กล้ามเนื้อหรือเอ็นคลายตัว ช่วยให้เลือดถ่ายเทออกจากบริเวณนั้นโดยใช้นิ้ว ฝ่ามือ หรืออุ้งมือ เมื่อยกขึ้น เลือดจะไหลเวียนสู่บริเวณนั้นได้ดีขึ้น หรือการกดหลายๆ ครั้ง ก็จะช่วยให้เอ็นหรือกล้ามเนื้อที่เกร็งตัวเกิดความยืดหยุ่นดีขึ้น แต่จะต้องควบคุมน้ำหนักการกดให้เหมาะสมถ้ากดนานหรือหนักเกินไป ก็อาจจะเกิดปัญหากับหลอดเลือดในบริเวณนั้นๆ ทำให้เกิดอาการช้ำได้

2. การคลึง เป็นการกดแล้วหมุนในลักษณะแบบรอบวงกลมโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วอื่นๆ อุ้งมือหรือฝ่ามือให้เคลื่อนที่ไปมาหรือหมุนเป็นแนววงกลม ต้องคลึงด้วยการควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสม และไม่รุนแรงจนเกินไป เพราะจะทำให้ใยประสาทเกิดการอักเสบ

3. การบีบ เป็นการใช้นิ้วมือ อุ้งมือ ทำการคีบและดึงขึ้นเหมือนกับการยกรั้งกล้ามเนื้อ ไม่ควรบีบนานเกิน โดยปกติการบีบแต่ละครั้ง ใช้เวลาสั้นๆ

4. การดึง เป็นการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วที่เหลือทั้งสี่จับคีบในตำแหน่งที่ต้องการจะดึง แล้วออกแรงดึงช้าๆ นับ 10 วินาที ทำ 2-3 ครั้ง ถ้าเป็นการดึงแขน-ขา ก็จะใช้การจับข้อมือหรือข้อเท้าดึงเพื่อการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

5. การหมุน เป็นการทำให้ส่วนที่ทำการนวดบำบัดแล้วมีการเคลื่อนไหว เพื่อลดอาการเกร็ง หรือเพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้หลังทำการนวดบำบัดแล้ว ทำประมาณ 2-3 เที่ยว

อาการที่สามารถใช้การนวดบำบัดได้
องค์ความรู้ของการแพทย์พื้นบ้านไทยใช้หลักการของความเป็นเหตุเป็นผล คือ มองปัญหาความเจ็บป่วยของคนเราแบบองค์รวม การบำบัดจึงเป็นการปรับสมดุลของธาตุในร่างกายโดยใช้หลักการพึ่งตนเอง และใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ตามแนวทางแห่งภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยการนวดพื้นบ้าน ซึ่งเป็นศาสตร์สำคัญที่มีบทบาทในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของการแพทย์พื้นบ้านไทย โดยใช้ควบคู่กับการใช้สมุนไพร โดยยึดหลักว่าโรคภัยไข้เจ็บของคนเราแบ่งตามผลของการบำบัดรักษาได้ 5 กลุ่มคือ

(1) โรคที่หายได้เอง เกินกว่า 50% ขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้ถูกหลักสุขอนามัย อาการที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตใจและสภาพแวดล้อม
(2) โรคที่ต้องทำการบำบัดรักษาเพื่อไม่ให้เกิดอาการเรื้อรังหรือเป็นอันตราย เช่น มาลาเรีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
(3) โรคที่รักษาไม่หาย แต่สามารถรักษาให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้เช่น เบาหวาน ความดันเลือดผิดปกติ
(4) โรคที่รักษาไม่ได้เช่น มะเร็ง เอดส์
(5) โรคที่ไม่ต้องรักษาด้วยยา เช่น อ้วน ผอม เครียด ปวดเมื่อยร่างกาย

ทางการแพทย์แผนไทย ได้ทำการวิเคราะห์อาการต่างๆ ที่สามารถทำการนวดบำบัดอาการได้ดังต่อไปนี้

- อัมพาต 5 ชนิด เช่น ตาหลับไม่ลง ยักคิ้วไม่ได้ ปากเบี้ยว ขากรรไกรค้าง หุบไม่ลง คางห้อย
- ขากรรไกรอักเสบ เป็นข้างเดียว อ้าไม่ขึ้น กัดฟันไม่เสมอกัน
- หูอื้อ ลมออกหู มีเสียงดังในหู
- ลมตะกัง ลมปัตคาดบ่า แขน ข้อศอก ขา ข้อศอกเคลื่อน ข้อมือเคลื่อน
- กล้ามเนื้อคอเคล็ด ตกหมอน คอเอียงในเด็ก
- หัวไหล่ติด ไหล่อักเสบ ชูแขนหรือท้าวแขนไม่ได้
- หัวไหล่เคลื่อน เบี่ยงเนื่องจากอุบัติเหตุ
- ก้อนปมในข้อมือเอ็นข้อมือเกร็ง เอ็นบิดเคล็ด ลำบองข้อมือนิ้วมือ ลมปลายปัตคาดข้อมือ นิ้วมือซ้น
- ลมปลายปัตคาดขา หลัง กระดูกหลังคด แอ่น งอ ค่อม ลำบองข้อกระดูกสันหลังยอกข้างเดียวหรือสองข้าง
- ข้อสะโพกขัด ไขว่ห้างไม่ได้ ข้อสะโพกเคลื่อน
- จับโปงเข่า เข่าเบี่ยง สะบ้าเคล็ด เคลื่อน ขาเหยียดไม่ตรง ปวดเข่า
- จับโปงข้อเท้า บวมข้อเท้า ข้อเท้าเคล็ด แพลง
- ลมปลายปัตคาดส้นเท้า เอ็นส้นเท้าอักเสบ ข้อเท้าเกร็ง ข้อนิ้วเท้าซ้น ข้อเท้าตก
- กล้ามเนื้อเกร็ง อักเสบจากการกีฬา ตะคริว เกร็งแข็ง ลมดาน
- อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตครึ่งท่อน แขน ขา
- ดานเลือด ดานลม อุจจาระผูกแข็ง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ปลายมือปลายเท้าชา
- มดลูกหย่อนคล้อย ตก ลอย

ส่วนอาการที่ห้ามทำการนวดบำบัดได้แก่ มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้พิษ ไข้กาฬ อีสุกอีใส งูสวัด เริม มะเร็ง ผ่าตัดดามเหล็ก โรคผิวหนัง วัณโรค กระดูกหรือผิวหนัง

การนวดแก้อาการต่างๆ

1. อาการปวดศีรษะ
2. อาการปวดคอ
3. อาการปวดไหล่
4. อาการปวดแขน
5. อาการปวดหลัง
6. อาการปวดขา
7. อาการปวดเข่า

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ : Release date 27 October 2008 : Copyleft MNU.

ปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประชุมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ตำรายา หมอนวด ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ประเพณี เรื่องราวทางศาสนาและสุภาษิต มาจารึกลงบนแผ่นศิลา ประดับไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ. นอกจากนี้รัชกาลที่ ๓ ยังได้ทรงโปรดให้ กรมหมื่นณรงค์หริ รักษ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ ๑ พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายดวงจักร) เป็นผู้ทรงกำกับช่างหล่อรูปฤาษีดัดตนท่าต่างๆ รวม ๘๐ ท่า เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๗๙ โดยหล่อด้วยสังกะสีผสมดีบุกเรียกว่า ชิน ปั้นแล้วตั้งไว้ตามศาลาราย และให้จารึกตำรายา ตำราหมอนวดบอกสมุฏฐานของโรคและวิธีบำบัด ๖๐ แผ่น

H