1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ความสับสนเรื่องเศรษฐกิจกับการพัฒนา:
บทเรียนจากละตินอเมริกา
ความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนา:
บทเรียนแห่งความฟุ้งซ่าน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการและนักแปลอิสระ
โครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)
ชื่อเดิมของบทแปล
ความเข้าใจสับสนระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนา:
บทเรียนจากละตินอเมริกา
แปลจาก Eduardo Gudynas and Carolina Villalba Medero,
"The Persistent Confusion Between Growth and Development,"
Americas Policy Program Strategic Dialogue
(Washington, DC: Center for International Policy, August 28, 2007).
Translated from: Crecimiento economico y desarrollo: una persistente confusion
Translated by: David Alford and Ade Oyelabi
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- ทฤษฎีความเติบโตทางเศรษฐกิจ
- การแสวงหาการลงทุนจากต่างประเทศ
- ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน
- ประวัติของการถกเถียง
- การวิวาทะควรมุ่งประเด็นการพัฒนา
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๖๔๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๑ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ความสับสนเรื่องเศรษฐกิจกับการพัฒนา:
บทเรียนจากละตินอเมริกา
ความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนา:
บทเรียนแห่งความฟุ้งซ่าน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการและนักแปลอิสระ
โครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหัวจักรการพัฒนา
???
อีกครั้งหนึ่งที่ละตินอเมริกามีความเข้าใจสับสนระหว่างการพัฒนากับความเติบโตทางเศรษฐกิจ
และระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการลงทุนและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ความเข้าใจผิดแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอด
50 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนแทบไม่มีความน่าเชื่อถือลงเหลืออีกแล้ว
แต่ความเข้าใจผิดนี้ก็กลับมาอีกจนได้ เพื่อก้าวไปให้พ้นความเข้าใจสับสนดังกล่าว
เราจึงจำเป็นต้องทบทวนวิวาทะอันหลากหลายเกี่ยวกับการพัฒนาเสียก่อน
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในละตินอเมริกา รวมทั้งนักการเมืองจำนวนมาก มักเป่าหูเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหัวจักรสำคัญเบื้องหลังการพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การบรรเทาปัญหาความยากจน แนวความคิดนี้ไม่เพียงนำเสนอแบบลดทอนจนหยาบง่ายเกินไปเท่านั้น แต่มีการนำเสนอแบบหวือหวาอีกด้วย ในหลาย ๆ กรณี มีความเชื่อว่า เราจะบรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ก็ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศหรือการส่งออกปริมาณมาก ๆ เท่านั้น โดยเน้นย้ำด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจคือเงื่อนไขจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความยากจน แนวความคิดเหล่านี้มีลักษณะพิกลพิการ ลดทอนจนกลายเป็นสูตรสำเร็จหยาบง่าย และทำให้บางปัจจัยกลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สูตรสำเร็จหยาบง่ายนี้ได้รับการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด แต่ก็ย้อนกลับมาเกิดใหม่ได้ทุกทีไป
ทฤษฎีความเติบโตทางเศรษฐกิจ
แนวความคิดที่ยืนยันว่า ความเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่อจำนวนประชากรคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการบรรเทาความยากจน
ยังเป็นแนวคิดที่ครอบงำในละตินอเมริกา การเพิ่มจีดีพีทำได้โดยอาศัยปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญ
โดยเฉพาะปัจจัยสองประการคือ
- การลงทุนจากต่างประเทศ และ
- การเพิ่มปริมาณการส่งออก
ปัจจัยทั้งสองนี้มีความเกี่ยวโยงกัน เนื่องจากแนวคิดนี้ยืนยันว่า ไม่มีทางจะทำให้การส่งออกเพิ่มปริมาณขึ้นด้วยเงินออมภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนสำคัญ
สถาบันการเงินระหว่างประเทศคอยปกป้องแนวคิดนี้เสมอมา กล่าวคือ แนวคิดว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผลักดันของการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน จะช่วยยุติปัญหาความยากจน ยกตัวอย่างเช่น นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกอย่าง David Dollar และ Aart Kraay ตีพิมพ์บทความที่ได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างมาก ซึ่งมีชื่อบทความเฉพาะเจาะจงเลยว่า "Growth is Good for the Poor" (Dollar and Kraay, 2000) แนวคิดในบทความนี้สรุปง่าย ๆ ได้ว่า การขยายตัวของการค้าจะช่วยกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจและบรรเทาความยากจนลงได้
จุดยืนแบบนี้ช่วยต่ออายุแนวคิดเดิม ๆ ที่เชื่อว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจคือแกนหลักของการพัฒนา เพียงแต่เพิ่มเติมความเชื่อมโยงกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การเพิ่มปริมาณการส่งออก พร้อมกับการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ
การแสวงหาการลงทุนจากต่างประเทศ
ความสำคัญของการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศมาป้อนให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ
มาถึงจุดที่กลายเป็นความมักง่ายโดยยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่า การลงทุน จำเป็น
ต่อการต่อสู้กับความยากจน ในการนำเสนอของเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจละตินอเมริกาและแคริบเบียน
ในการประชุมการประเมินทางเศรษฐกิจของละตินอเมริกาและแคริบเบียนเมื่อ ค.ศ. 2005
นายโฆเซ มาชิเนอา (Jose Machinea) เน้นย้ำความจำเป็นของการเพิ่มการลงทุนเพื่อให้จีดีพีขยายตัว
อีกทั้งการลงทุนควรมีปริมาณมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานและลดปัญหาการว่างงานลง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การลงทุนเป็นแง่มุมสำคัญของการพัฒนา แต่การลดทอนแนวคิดจนหยาบง่ายทำให้หลาย ๆ ปัจจัยไม่ได้รับการพิจารณา มองข้าม หรือคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่มาพร้อมกับการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างงานที่มีการผลิตจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้อต่อธุรกิจใหม่ ๆ แต่การลงทุนเพียงเพื่อให้มีการลงทุนกลับไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหานี้ มีตัวอย่างมากมายที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่โตมโหฬารในบางภาคส่วน เช่น การทำเหมือง ซึ่งเป็นการลงทุนที่ทำให้เกิดการจ้างงานน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาคส่วนอื่น
นอกจากนี้ จุดยืนของคนอย่างมาชิเนอา ดูเหมือนลดทอนปัญหาซับซ้อน เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ให้เหลือแค่ความสัมพันธ์กับการไหลเข้ามาของการลงทุน วิสัยทัศน์แบบนี้ยืนกรานว่า การเพิ่มปริมาณการลงทุนคือหนทางในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้การแข่งขันเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการสร้างมาตรการบางอย่างเพื่อดึงดูดให้ทุนไหลเข้ามา เป็นต้นว่าบรรทัดฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีธนาคาร ฯลฯ แม้กระทั่งมาตรการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่มีการผลิต ก็ดูเหมือนวางเงื่อนไขโดยมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการไหลเข้ามาของทุน
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งชาติส่วนอื่น ๆ จึงกลายเป็นแค่ตัวประกอบให้แก่บทบาทดารานำของการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ แนวคิดนี้มีรากเหง้าหยั่งลึกในละตินอเมริกา มีการนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติทั้งในรัฐบาลที่มียุทธศาสตร์แบบเดิม ๆ เช่น รัฐบาลประธานาธิบดีอัลวาโร อูริเบในประเทศโคลอมเบีย ตลอดจนรัฐบาลฝ่ายซ้าย นับตั้งแต่พรรครัฐบาล Concertation Coalition ในชิลี ไปจนถึงมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดีลูอิซ อีนาเซียว ลูลา ดา ซิลวาในบราซิล
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือ ประเทศอุรุกวัย รัฐบาลฝ่ายซ้ายของพรรค Broad Front ก็หันมาใช้มาตรการรุกในการดึงดูดเงินทุน ดังที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจ นายดานิโล อัสโตรีกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะประสบการณ์ในโลกบอกให้เราต้องออกไปแสวงหาการลงทุน เนื่องจาก "นักลงทุนในโลกมีโอกาสมากมาย" ตัวอย่างที่ได้รับการนำเสนอครั้งแล้วครั้งเล่าคือ เรื่องราวความสำเร็จของการลงทุนสร้างโรงงานเซลลูโลสริมแม่น้ำอุรุกวัย โดยทึกทักว่าการลงทุนนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิด "ความเติบโตของการจ้างงานขนานใหญ่"
กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นพื้นที่สีเทาของวิสัยทัศน์แบบหยาบง่ายนี้ ที่ริมแม่น้ำอุรุกวัยฝั่งประเทศอุรุกวัย กำลังมีการก่อสร้างโรงงานแปรรูปเซลลูโลสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยได้รับเงินลงทุนกว่าพันล้านดอลลาร์จากบริษัท Botnia ของฟินแลนด์ โครงการนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญในความขัดแย้งร้อนแรงระหว่างประเทศอุรุกวัยกับประเทศอาร์เจนตินา ที่ตั้งอยู่อีกฟากของแม่น้ำ ทั้งนี้เพราะกลุ่มประชาชนอาร์เจนตินาประณามผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมที่โรงงานแบบนี้จะก่อให้เกิดขึ้น
ถ้ามองจากจุดยืนทางการเงินของอุรุกวัย การไหลเข้ามาของเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ย่อมดูประหนึ่งโชคลาภที่ลอยมาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ปัญหาจะเริ่มชัดเจนขึ้น หากเราพิจารณาว่า จริง ๆ แล้ว มูลค่าการลงทุนที่บริษัทประกาศออกมา ส่วนใหญ่คือเครื่องจักรและสินค้าที่ซื้อมาจากประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งฟินแลนด์ ในกรณีนี้ เงินลงทุนสัดส่วนสำคัญจะตกอยู่กับประเทศอื่น ๆ และไม่เคยตกมาถึงอุรุกวัยจริง ๆ การลงทุน "สุทธิ" ที่อุรุกวัยจะได้รับยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานรัฐอิสระที่สามารถเข้ามาวิเคราะห์สถานการณ์ ประมาณกันว่า จากมูลค่าการลงทุนที่ประกาศไว้ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินที่ตกมาถึงอุรุกวัยจริง ๆ น่าจะอยู่ที่ราว 800 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบข้างเคียงและการผลักภาระที่ควรนำมาชั่งน้ำหนักเมื่อพิจารณาการลงทุนครั้งใด ๆ ไม่เคยมีการวิเคราะห์ว่าควรเก็บเงินจากบริษัทฟินแลนด์มากน้อยแค่ไหนเพื่อชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ผลกระทบที่จะทำให้การท่องเที่ยวในบริเวณนั้นลดลง ตลอดจนการสูญพันธ์ของอุตสาหกรรมประมงท้องถิ่น
ถึงที่สุดแล้ว ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอุรุกวัยก็ออกมาปกป้องการลงทุนเหล่านี้ว่า มันจะช่วยสร้างงาน โครงการของบริษัท Botnia จ้างคนงานเกือบ 1,500 คน ในช่วงที่การก่อสร้างต้องการแรงงานสูงสุด แต่หลังจากช่วงนั้นผ่านพ้นไปแล้ว ก็ไม่มีการจ้างงานเพิ่มเกิดขึ้นอีก เมื่อเปิดดำเนินการตามปรกติ มีการประเมินว่าโรงงานนี้จะเสนอการจ้างงานราว 300 ตำแหน่ง นี่คือตัวอย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปของการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อส่งออกสินค้า ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานน้อย แต่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรุนแรง กรณีคล้าย ๆ กันนี้รวมถึงการลงทุนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในเอกวาดอร์และเปรู ตลอดจนโครงการเหมืองในเปรูและอาร์เจนตินา
ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน
ตัวอย่างข้างต้นและตัวอย่างอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่า เหตุใดการใช้เหตุผลหยาบง่ายเชื่อมโยงการลงทุนและการส่งออกเข้ากับความเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะบรรเทาความยากจนลง
จึงยังเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยม กระนั้นก็ตาม มีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากที่เตือนสติให้เราควรระมัดระวังมากกว่านี้
การส่งออกที่เพิ่มขึ้นมีความสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจีดีพีต่อหัวในประเทศเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น กล่าวคือ ชิลี คอสตาริกา โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์และสาธารณรัฐโดมินิกัน (ใช้ตัวเลขความเติบโตโดยเฉลี่ยจาก ค.ศ. 1985-2005 ตามข้อมูลของ CEPAL, 2006) ในประเทศอื่น ๆ เช่น ปานามาและอุรุกวัย สิ่งที่เกิดขึ้นเกือบตรงกันข้าม กล่าวคือ จีดีพีเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาก (อัตราต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของทวีปที่ 6% ต่อปี) แต่ที่น่าสังเกตยิ่งกว่านั้นก็คือ ประเทศในละตินอเมริกาจำนวนมากมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีดีพีต่อหัวแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย (ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของทวีปที่ 1.1% ต่อปีในช่วงสองทศวรรษหลัง) สถานการณ์แบบนี้ตรงกันข้ามกับทฤษฎีกระแสหลัก แต่ก็เกิดขึ้นในบราซิล อาร์เจนตินา และเม็กซิโก
กรณีตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นบทเรียนเพิ่มเติมที่สวนทางกับทัศนะกระแสหลัก บราซิลไม่เพียงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ยังเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ กระนั้นก็ตาม อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิลกลับมีไม่มากนัก เม็กซิโกไม่เพียงเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญของละตินอเมริกา แต่ยังมีสัดส่วนการผลิตสินค้าสูงที่สุดด้วย กระนั้นก็ตาม ระบบเศรษฐกิจของสองประเทศนี้แทบไม่เติบโตขึ้นเลย และยังคงมีอัตราความยากจนในระดับสูง (บราซิลมีอัตราความยากจน 38% และเม็กซิโก 37% ใน ค.ศ. 2004)
ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนในระดับสูงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะมีการสร้างงานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น บราซิลเป็นประเทศในละตินอเมริกาที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด แต่การลงทุนที่เพิ่มขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1990-2003 ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเติบโตของการจ้างงานเสมอไป ยิ่งกว่านั้น ใน ค.ศ. 1990 อัตราการว่างงานมีเพียง 4.3% ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ (324 ล้านดอลลาร์) แต่ใน ค.ศ. 2003 มีการลงทุนมากขึ้นถึงระดับ 9.894 พันล้านดอลลาร์ ทว่าอัตราการว่างงานกลับพุ่งขึ้นไปถึง 12.3% หากพิจารณาดัชนีของประเทศบราซิลแบบใจร้ายแล้ว เราอาจกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับทัศนะกระแสหลัก กล่าวคือ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่อัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น แน่นอน นี่เป็นทัศนะที่สุ่มเสี่ยง แต่ถ้าหากเราไม่สามารถฟันธงลงไปว่า การลงทุนมากขึ้นนำมาซึ่งการว่างงานมากขึ้น เราก็ไม่สามารถอ้างได้เช่นกันว่า การลงทุนมากขึ้นนำมาซึ่งการจ้างงานมากขึ้น เห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนกับการจ้างงานมีความซับซ้อนมากกว่าที่เข้าใจกัน
นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนถกเถียงกันมานมนานแล้วว่า ปัจจัยอย่างการลงทุนหรือการส่งออกโดย ตัวมันเองสามารถส่งผลกระทบต่อการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอัตราการว่างงานหรือจำนวนคนยากจนหรือไม่ แต่ความสัมพันธ์แบบสาเหตุ-ผลลัพธ์ไม่ได้มีอยู่ระหว่างปัจจัยเหล่านี้ กุญแจที่สำคัญเสมอมาคือ บทบาทของรัฐในการจัดการกระบวนการและการใช้กลไกการปรับการกระจายความมั่งคั่งและค่าชดเชยต่างหาก การยืนกรานที่จะลดทอนทุกสิ่งทุกอย่างให้เหลือแค่ความเชื่อว่า พลวัตของการพัฒนาเกิดมาจากความเติบโตทางเศรษฐกิจ มักถูกนำเสนอว่าเป็นการแสดงออกถึงความมีสามัญสำนึก ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ความเชื่อนี้เป็นสูตรสำเร็จที่ตื้นเขินมาก
ในประการสุดท้าย แนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ "ความเจริญค่อย ๆ หยดหยาดจากบนลงสู่ล่าง" (trickle down theory) หมายความว่ากว่าจะรอให้เกิดการยกระดับฐานะของคนจน ก็ต้องรอไปอีกหลายทศวรรษ การศึกษาของสถาบันเพื่อระบบเศรษฐกิจใหม่ได้หยิบยกเอาอัตราการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของหลาย ๆ ประเทศระหว่าง ค.ศ. 1980-2001 หากพิจารณาจากความเติบโตที่เพิ่มขึ้น คำนวณเวลาที่ประเทศเหล่านี้จะบรรลุระดับการกระจายความมั่งคั่งเทียบเท่าสหภาพยุโรป (Woodward and Simms, 2006) ด้วยอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยที่ 0.5% บราซิลจะต้องรอไปอีก 304 ปี เม็กซิโก 187 ปี และโคลอมเบีย 138 ปี ส่วนชิลีที่มีอัตราความเติบโตเฉลี่ย 3.3% จะต้องรอไป 38 ปี
ประวัติของการถกเถียง
มายาภาพของการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยความเติบโตทางเศรษฐกิจถูกตั้งคำถามจนเสียงอ่อนลงมาหลายครั้งหลายคราวแล้ว
ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ ในบรรดางานวิจัยชิ้นล่าสุด Bernardo Kliksberg (2000)
รวบรวมเหตุผลวิบัติ (fallacy) 10 ประการเกี่ยวกับปัญหาสังคมในละตินอเมริกา เหตุผลวิบัติประการที่สามก็คือ
ความคิดว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตัวมันเองก็เพียงพอแล้วที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
Kliksberg ยืนยันว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นแค่วิธีการหนึ่ง ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนไปเป็นเป้าหมายในตัวมันเองได้
หลายปีก่อน ในบทความชิ้นคลาสสิก Albert Hirschman (*) ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศเลวร้ายลง บางประเทศยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดทางสังคมในด้านสุขภาพและการศึกษาให้ดีขึ้นได้ ด้วยเหตุผลนี้เอง Hirschman จึงสรุปว่า "ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ" มีความเชื่อมโยงที่ไม่แน่นอนกับสิ่งที่เขาเรียกกว่า "ความก้าวหน้าทางการเมือง" ความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้ บางครั้งก็มีความเป็นสาเหตุ-ผลลัพธ์ต่อกัน แต่บางครั้งก็อาจตรงกันข้ามไปเลยก็ได้ สิ่งที่พบได้มากกว่าคือ ปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนยิ่งกว่าที่เข้าใจกัน (Hirschman, 1994)
(*)Albert Otto Hirschman (b. April 7, 1915, in Berlin, Germany) is an influential American economist who has authored several books on political economy and political ideology. His first major contribution was in the area of development economics.[1] Here he emphasied the need for unbalanced growth. Because developing countries are short of decision making skills, disequilibria to stimulate these and help mobilize resources should be encouraged. Key to this was enouraging industries with a large number of linkages to other firms.
His later work was in political economy and there he advanced two simple but intellectually powerful schemata. The first describes the three basic possible responses to decline in firms or polities: Exit, Voice, and Loyalty. The second describes the basic arguments made by conservatives: perversity, futility and jeopardy.
การตั้งคำถามต่อความเชื่อกระแสหลักยังเกิดขึ้นย้อนไปก่อนหน้านั้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 ในสมัยนั้น ความคิดกระแสหลักยังหยาบง่ายกว่าเดี๋ยวนี้อีก โดยที่ยึดเอาความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความคิดเหล่านี้เริ่มถูกตั้งคำถาม และนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญจำนวนมากยืนยันว่า ปัญหาของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ไม่ใช่เรื่องความเติบโต แต่เป็นเรื่องของการพัฒนา นี่เป็นทัศนะที่ได้ค่อยได้ยินกันแล้วทุกวันนี้ หลังจากนั้นมีการวิวาทะจำนวนมากตามมา โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนา ตลอดจนการถกเถียงเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างงาน องค์ประกอบและการกระจายความเติบโต รวมทั้งความจำเป็นของการศึกษาและใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย (โปรดดู การบรรยายถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้อย่างยอดเยี่ยมของ Arndt, 1987)
ในการบรรยายที่น่าจดจำใน ค.ศ. 1969 Dudley Seers (*) ชี้ให้เห็นว่า มันเป็นเรื่องโง่เง่าที่เข้าใจสับสนระหว่างการพัฒนากับการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจกับความเติบโตทางเศรษฐกิจ เขาเสริมว่า มันเป็นความคิดแบบเด็ก ๆ ที่ทึกทักว่า หากรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของประชากร ไม่ช้าไม่นานย่อมจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมืองได้. Seers ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ดูเหมือนความเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เพียงล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและสังคมเท่านั้น แต่ความเติบโตบางประเภทกลับกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาด้วย (อ้างจาก Arndt, 1987) การตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงนี้มีผลกระทบสำคัญต่อวงวิชาการ และในสถาบันที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนา แต่อีกครั้งที่เสียงเหล่านี้ถูกเพิกเฉย และศรัทธาในความเติบโตทางเศรษฐกิจก็ย้อนกลับมาใหม่ในยุคของฉันทามติวอชิงตัน
(*)Dudley Seers (1920-1983) was a British economist who specialised in development economics. After his military service with the Royal Navy he taught at Oxford and then worked for various UN institutions. He was the director of the Institute of Development Studies at the University of Sussex from 1967 till 1972.
Seers is famous for replacing the "growth fetishism" of the early post war period with a greater concern with social development. He stressed the relativistic nature of judgements about development and questioned the value of the neoclassical approach to economics.
การวิวาทะควรมุ่งประเด็นการพัฒนา
ทุกวันนี้ มีหลักฐานมากขึ้น ๆ ที่แสดงถึงข้อจำกัดที่แอบแฝงอยู่ในความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการลงทุน
การส่งออก หรือความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนา จุดยืนแบบนิ่งเฉยที่เชื่อว่า
ความเติบโตจะ "หยด" หรือ "ค่อย ๆ หยดหยาด" ลงไปสู่ประชากรกลุ่มที่ยากจนที่สุด
เป็นแนวคิดที่ใช้การไม่ได้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเป็นแนวคิดที่สร้างปัญหาทางการเมือง
สังคมและศีลธรรมด้วย
ในทางตรงกันข้าม จนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีการใช้ยุทธศาสตร์เดิม ๆ ที่มุ่งหาความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรังแต่จะสร้างต้นทุนที่ตอกย้ำหรือเพิ่มพูนความไม่เท่าเทียมให้มากขึ้นกว่าเดิม (S?nchez Parga, 2005) ยิ่งกว่านั้น ปัญหาสังคมที่เร่งด่วนในปัจจุบันก็คือ แนวคิดของความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง ไปกันไม่ได้เลยกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด อีกทั้งความสามารถของระบบนิเวศวิทยาที่จะปรับตัวก็มีจำกัดด้วย การเน้นแต่ยุทธศาสตร์ด้านการเงินไม่ช่วยสร้างเครื่องมือที่เกื้อหนุนต่อกลุ่มคนชายขอบ หรือก่อให้เกิดวิธีการในการปรับการกระจายความมั่งคั่งให้ดีขึ้น รัฐควรเป็นผู้สร้างเครื่องมือเหล่านี้และนำมันมาใช้ โดยที่ประชาชนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
ทัศนะกระแสหลักที่เน้นแต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ความใส่ใจน้อยมากต่อองค์ประกอบประเภทนี้ และยอมรับแต่การใช้ยุทธวิธีแก้ไขผลกระทบทางสังคมที่ปลายเหตุ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาควรวางเค้าโครงให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องทางสังคม ในกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จที่สุดนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาต้องพยายามเข้าไปดึงความมั่งคั่งที่ "หยดหยาดลงมา" จากความเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปใช้อุดหนุนการชดเชยและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสังคมด้วย
ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องขยายการวิวาทะเกี่ยวกับการส่งออก การลงทุนและความเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่กว้างขวางกว่าเดิม ปัญหาการพัฒนามีอะไรมากกว่าแค่การส่งเสริมการส่งสินค้าออกไปนอกประเทศและดึงดูดการไหลเข้ามาของทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องหวนกลับมาสู่การวิวาทะที่มุ่งประเด็นการพัฒนา เพื่อมิให้ติดกับอยู่แต่ในวิชาเศรษฐศาสตร์หรือถูกขังอยู่ในหลักความเชื่อบางอย่างของสาขาวิชานี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเด็นการพัฒนาควรกลับมาเป็นหัวใจแกนกลางของเวทีการถกเถียงในทุก ๆ มิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
Eduardo Gudynas และ Carolina Villalba Medero เป็นนักวิเคราะห์ของ CLAES-D3E (Development, Economy, Ecology, Equity-Latin America) http://www.globalizaci?n.org/. บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คัดมาจากผลงานที่ตีพิมพ์ใน Revista del Sur, No. 165, May 2006.
บรรณานุกรม
Arndt, H.W., 1987, Economic development, The history of an idea, Chicago, University Chicago Press.
CEPAL, 2006, Espacios iberoamericanos, CEPAL and Secretaria General Iberoamericana, Santiago of Chile.
Dollar, D. and A. Kraay, 2000, Growth is good for the poor, World Bank, Policy Research Department, Washington.
Hirschman, A.,OR, 1994, "The intermittent connection between political and economic progress," Estudios Publicos, Santiago de Chile, 56: 5-14.
Kliksberg, B., 2000, "Ten fallacies about the social problems of Latin America," Socialismo and Participacion, Lima, 89: 49-75.
Rodriguez, F. and D. Rodrik, 2000, "Trade policy and economic growth: a skeptic's guide to the cross-national evidence," NBER Macro Annual 2000 (B. Bernanke and K. Rogoff, comp.), Cambridge, National Bureau Economic Research.
Sanchez Parga, J., 2005, "Without (growing) inequality there is no economic growth," Socialismo and Participation, Lima, 99: 11-27.
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ ความเจริญค่อย ๆ หยดหยาดจากบนลงสู่ล่าง (trickle down theory) หมายความว่า กว่าจะรอให้เกิดการยกระดับฐานะของคนจน ก็ต้องรอไปอีกหลายทศวรรษ การศึกษาของสถาบันเพื่อระบบเศรษฐกิจใหม่ได้หยิบยกเอาอัตราของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของหลายๆ ประเทศระหว่าง ค.ศ.1980-2001 หากพิจารณาจากความเติบโตที่เพิ่มขึ้น คำนวณเวลาที่ประเทศเหล่านี้จะบรรลุระดับการกระจายความมั่งคั่งเทียบเท่าสหภาพยุโรป ด้วยอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยที่ 0.5% บราซิลจะต้องรอไปอีก 304 ปี เม็กซิโก 187 ปี และโคลอมเบีย 138 ปี ส่วนชิลีที่มีอัตราความเติบโตเฉลี่ย 3.3% จะต้องรอไป 38 ปี