1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ชุดความรู้เที่ยงคืน:
การรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ และทุนข้ามโลก
ความเป็นมาและพัฒนาการของระบบทุนข้ามชาติ
๕ ระยะ
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
จริยศาสตร์ และศาสนาเปรียบเทียบ
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- ลัทธิอาณานิคม (colonialism) ๓ ระยะ
- วาทกรรม "การค้าเสรี" "การพัฒนา" และ"โลกาภิวัตน์
- แก้ปัญหาทุนข้ามชาติ ด้วยการกระจายความมั่งคั่งและพึ่งพาตนเอง
- ความเป็นมาและพัฒนาการของระบบทุนข้ามชาติ
๑. ทุนนิยมเชิงพานิชกับการก่อตัวของลัทธิอาณานิคม
๒. ทุนนิยมอุตสาหกรรมกับการจางคลายของลัทธิอาณานิคม
๓. ทุนนิยมผูกขาดกับการล่าอาณานิคมทั่วโลก
๔. การตอบโต้ทุนนิยมผูกขาดกับลัทธิอาณานิคมใหม่
๕. ทุนนิยมการเงินกับการปล้นสะดมโลก
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๖๔๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ชุดความรู้เที่ยงคืน:
การรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ และทุนข้ามโลก
ความเป็นมาและพัฒนาการของระบบทุนข้ามชาติ
๕ ระยะ
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
จริยศาสตร์ และศาสนาเปรียบเทียบ
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ความนำ
แม้ว่าประเทศในโลกที่สามทั้งมวลจะมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือระบบการเมืองที่แตกต่างกัน
แต่ก็ประสบปัญหาพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน การทำความเข้าใจปัญหาภายในประเทศหนึ่ง
ไม่อาจกระทำได้ภายในบริบทของประเทศนั้นเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป แต่จะต้องกระทำภายในบริบทของโครงสร้างระบบโลก
(หรือระบบทุนข้ามชาติ) วิกฤตการณ์ของประเทศไทยปัจจุบัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ที่โลกที่สามทั้งหลายกำลังประสบอยู่
การวิเคราะห์ทำความเข้าใจ การรู้เท่าทัน และการกำหนดท่าทีที่ถูกต้องต่อระบบทุนข้ามชาติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
และเป็นวัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้
หลักพื้นฐานของระบบทุนนิยม (capitalism) คือ การลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อแสวงหาผลกำไรให้มากที่สุด (minimize cost and maximize profit) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสะสมทรัพย์สินส่วนตัว (private property) เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุนนิยมจึงเป็นระบบที่เคลื่อนไหวพลิกแพลงตลอดเวลาเพื่อมุ่งหาผลกำไร ระบบการแข่งขันโดยสมบูรณ์ตามที่อ้างกันในตำราเศรษฐศาสตร์นั้นเป็น เพียงอุดมคติ (ideal type) เท่านั้น ในโลกของความเป็นจริง ทุนใหญ่กลืนกินทุนเล็ก โดยที่ทุนระดับชาติทำลายทุนระดับกลางและระดับเล็ก และทุนข้ามชาติทำลายทุนระดับชาติ รวมทั้งทุนระดับกลางและระดับเล็กด้วย เกิดการผูกขาดทางธุรกิจขึ้นในทุกระดับ ระบบการค้าที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบันจึงเป็น "ระบบทุนนิยมผูกขาด" (monopoly capitalism) ซึ่งมีลักษณะเป็น "จักรวรรดินิยม" (imperialism) โดยธรรมชาติของมัน
ลัทธิอาณานิคม (colonialism)
๓ ระยะ
ลัทธิอาณานิคม (colonialism) ซึ่งประเทศในโลกที่หนึ่งครอบงำประเทศในโลกที่สามนั้น
อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ระยะคือ
- ระยะที่หนึ่งมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและยุโรปตะวันตก ใช้แสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า เข้ายึดครองประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา โดยใช้ยุทธวิธี "แบ่งแยกและปกครอง" (divide and rule) เพื่อตักตวงทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งแรงงานทาส และเพื่อเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรมของตน ทั้งหมดนี้กระทำไปพร้อมๆ กับการป่าวประกาศหลักการและอุดมการณ์ "การค้าเสรี" (free trade)
- ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดลัทธิอาณานิคมใหม่ (neo-colonialism) ระยะที่สองขึ้น มหาอำนาจโลกที่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ใช้บรรษัทข้ามชาติของตน เข้าตักตวงแหล่งวัตถุดิบ แรงงานราคาถูก และตลาดระบายสินค้าจากโลกที่สาม ปล่อยมลพิษอุตสาหกรรมไว้ในโลกที่สาม และขนเอากำไรกลับสู่ประเทศของตน โดยนโยบายเศรษฐกิจของโลกที่สามผูกพันเข้าไว้กับโลกที่หนึ่ง เป็น "เศรษฐกิจพึ่งพา" (dependency economy) ทั้งหมดนี้กระทำภายใต้อุดมการณ์ "การพัฒนา" (development)
- ภายหลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น ลัทธิอาณานิคมใหม่ระยะที่สามได้เริ่มก่อตัวขึ้น โดยมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกคือสหรัฐอเมริกา ได้ผลักดันให้โลกที่สามเปิดเสรีทางด้านการเงิน ประเทศไทยได้ตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าวของโลกที่หนึ่ง โดยการเปิดเสรีทางการเงินเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ บรรษัทข้ามชาติทางด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา ได้ใช้เงินทุนที่เหนือกว่าก่อสถานการณ์ป่วนตลาดเงินตรา และเข้าโจมตีระบบเงินตราของเอเชียและโลกที่สามอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ไทยเป็นชาติแรกที่ตกเป็นเหยื่อแห่งลัทธิอาณานิคมใหม่ล่าสุดนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยต้องสูญเสียเงินสดสำรองที่เก็บสะสมมาตลอดระยะเวลากว่าสี่ทศวรรษแห่งการพัฒนาประเทศ ไปทั้งหมดถึง ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในอีกทางหนึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ซึ่งเป็นกลไกของระบบทุนข้ามชาติ ได้เข้ามากำกับนโยบายเศรษฐกิจของไทย โดยใช้เงินกู้เป็นเครื่องต่อรอง บีบให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายด้านการเงิน อันส่งผลเป็นการสิ้นเนื้อประดาตัวของทุนท้องถิ่นระดับกลางและระดับล่าง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ทุนระดับชาติในที่สุด บีบให้รัฐบาลไทยแก้กฎหมาย ๑๑ ฉบับเพื่อเปิดทางให้ทุนข้ามชาติสามารถเข้าซื้อธนาคาร สถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ สนามบิน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจต่างๆ ได้อย่างเสรี ซึ่งในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันมีราคาที่ต่ำมาก เมื่อคนไทยสิ้นเนื้อประดาตัวทางด้านการเงิน และต่างชาติสามารถเข้ากว้านซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ในราคาถูก สินทรัพย์ที่เป็นหัวใจระบบเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของต่างชาติ และทั้งหมดนี้กระทำภายใต้อุดมการณ์ของคำว่า "โลกาภิวัตน์" (globalization)
วาทกรรม "การค้าเสรี"
"การพัฒนา" และ"โลกาภิวัตน์"
คำว่า "การค้าเสรี" "การพัฒนา" ตลอดจน "โลกาภิวัตน์"
ในปัจจุบัน ล้วนเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ที่มหาอำนาจตะวันตกสร้างขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นภาพลวงตาว่า
การยึดครองทางเศรษฐกิจของโลกที่หนึ่งต่อโลกที่สามนั้น ดำเนินไปบนหลักการของความถูกต้องชอบธรรมแล้ว
หายนะของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยนั้นคือ ความไม่ตระหนักรู้ถึงโครงสร้างระบบโลกอันโยงใยซับซ้อน
รวมทั้งเครื่องมือทางอุดมการณ์อันเป็นภาพลวงตาของระบบทุนข้ามชาติเหล่านี้ ผู้นำและนายทุนของเอเชียรวมทั้งประเทศไทยยังหลงใหลได้ปลื้มกับอุดมการณ์
"โลกาภิวัตน์" ไม่สร่าง แม้จะพบบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจอันเจ็บปวดก็ไม่เรียนรู้และหลาบจำ
นโยบายของ IMF รวมทั้งธนาคารโลก (World Bank) นั้นมี "จิตใจของนักล่าอาณานิคมเก่า" เจือปนอยู่ด้วย จึงชี้นำนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปสู่ความหายนะยิ่งขึ้น เพื่อการเข้ายึดครองสถาบันทางเศรษฐกิจทั้งปวงในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย และเพื่อกีดกันมิให้เอเชียกลายเป็นคู่แข่งขันของตะวันตกในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ การทำตามนโยบายของ IMF จึงเท่ากับเป็นการติดกับของลัทธิอาณานิคมใหม่ล่าสุด ทำให้เอเชียรวมทั้งประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจตะวันตกโดยไม่รู้ตัว ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้นำไทย (รวมทั้งผู้นำเอเชียอีกหลายประเทศ) มิได้ตระหนักรู้ว่าเรากำลังอยู่ในสถานะ "สงคราม" กับมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งกำลังจู่โจมประเทศไทยและเอเชียทั้งมวล ด้วยกองเรือรบของบรรษัทข้ามชาติทางด้านการเงิน ที่ผ่านมาทางระบบอินเตอร์เน็ทและสื่ออิเลคโทรนิคต่างๆ โดยมี IMF ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญ แต่กลับสำคัญผิดคิดว่า ศัตรูยุคใหม่ที่พรางตัวอยู่ในม่านหมอกของอุดมการณ์ "โลกาภิวัตน์" คือมหามิตร ทำให้ประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด จนเพลี่ยงพล้ำและบอบช้ำในสงครามเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยอำนาจแห่งอวิชชาและความหลงงมงายในตะวันตกของผู้นำไทยเอง
แก้ปัญหาทุนข้ามชาติ ด้วยการกระจายความมั่งคั่งและพึ่งพาตนเอง
เนื่องจากเราไม่อาจไว้วางใจระบบทุนข้ามชาติในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากธรรมชาติที่เคลื่อนไหวพลิกแพลงตลอดเวลาเพื่อแสวงหาผลกำไรในรูปแบบต่างๆ
หากว่าเราสามารถหลุดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้แล้ว เราไม่อาจทำนายได้ว่า ระบบทุนข้ามชาติจะเข้ามาแสวงหากำไรจากเอเชียและโลกที่สามรวมทั้งประเทศไทยในรูปแบบใดอีก
หนทางที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ การกระจายความมั่งคั่งออกไปสู่ชนบทและประชาชนในวงกว้างให้มากที่สุด
เนื่องจากการกระจุกตัวของความมั่งคั่งไว้ที่ใดที่หนึ่ง มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกปล้นชิงในครั้งต่อไป
ดังเช่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยสูญเสียเงินสดสำรองไปถึง ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
มาแล้วเพียงชั่วข้ามคืน
และเนื่องจากเงินทองเป็นสิ่งที่เปราะบาง อาจถูกกลไกที่สลับซับซ้อนของระบบทุนข้ามชาติทำให้ด้อยค่าลงเมื่อใดก็ได้ เราจึงควรสะสมความมั่งคั่งในรูปที่มิใช่เงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ในรูปของข้าวปลาอาหาร ปัจจัยเลี้ยงชีพเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ ในรูปของทรัพยากรที่จะใช้ได้อย่างยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต และในรูปของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่สมดุล เพื่อประกันอนาคตของคนไทยในรุ่นลูกหลาน รวมทั้งการมีชุมชนเข้มแข็ง ที่มีอธิปไตยของตนเองทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม อันจะเป็นเกราะป้องกันมิให้ระบบทุนข้ามชาติเข้ามาโจมตีหรือตักตวงผลประโยชน์ได้โดยง่าย
นโยบายเศรษฐกิจระยะยาวของเรานั้นควรพึ่งตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
- การธำรงรักษาป่าเขตฝนอันอุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ การปกป้องกรรมสิทธิหรือสิทธิบัตรทางด้านพืชผลอันหลากหลาย ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอาหารและยารักษาโรคนานาชนิด จะเป็นอนาคตอันสำคัญยิ่งของเศรษฐกิจไทย
- การพัฒนาเกษตรกรรมตามแนวทางของ "ชุมชนาธิปไตย" อันมีชุมชนเป็นใหญ่ ระบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเอง
- ส่วนด้านอุตสาหกรรมนั้น ควรผลิตสินค้าขึ้นใช้เองทดแทนการนำเข้าเท่าที่เทคโนโลยีของเราจะมีอยู่ และค่อยๆ เพิ่มขีดความสามารถทางการผลิตและเทคโนโลยีให้สูงขึ้น โดยนำนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าในทศวรรษที่ ๑๙๕๐-๑๙๖๐ มาใช้ เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากโลกที่หนึ่งลง
- การรวมกลุ่มและพึ่งพากันเองในหมู่ประเทศอาเซียน (ASIAN) และเอเชียโดยรวมเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อลดการพึ่งพาโลกที่หนึ่งจากตะวันตก และเพื่อลดกระแสกดดันของระบบทุนข้ามชาติซึ่งมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ในตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ในการธำรงรักษาเอกราชอธิปไตยของประเทศไทยไว้ในยุคสมัยแห่งลัทธิอาณานิคมใหม่นี้
จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้อีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อใช้เป็นหนังสือประกอบการศึกษาวิชา "จริยธรรมกับเศรษฐกิจ" (SHES 572 Ethics and Economy) แก่นักศึกษาบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และแก่ผู้สนใจโดยทั่วไป
ความเป็นมาและพัฒนาการของระบบทุนข้ามชาติ
ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างโลกที่หนึ่งกับโลกที่สามเป็นไปอย่างไม่เสมอภาค ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากความเหนือกว่าด้านเทคโนโลยีทั้งทางการทหารและอุตสาหกรรม โลกที่หนึ่งได้เข้าครอบครองประเทศโลกที่สามโดยตรงในยุคอาณานิคม และปัจจุบันได้ครอบงำทางเศรษฐกิจต่อประเทศโลกที่สาม โดยผ่านบรรษัทข้ามชาติทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และทางการเงินในยุคอาณานิคมใหม่นี้ โลกที่สามอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมภายใต้ระบบทุนนิยมข้ามชาติ ขณะที่โลกที่หนึ่งพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็วนั้น โลกที่สามกลับตกอยู่ในสภาพที่ล้าหลังและพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อโลกที่หนึ่งมากยิ่งขึ้น พัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ดำเนินไปพร้อมกับ "การปฏิวัติอุตสาหกรรม 3 ครั้ง" และผลกระทบที่มีต่อโลกในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศในโลกที่สาม อาจแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะดังนี้
๑. ทุนนิยมเชิงพานิชกับการก่อตัวของลัทธิอาณานิคม
ระยะแรก (ค.ศ. 1400 - 1770) เริ่มต้นขึ้นเมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคทุนนิยมเชิงพานิช (Commercial Capitalism หรือ Mercantilism) ผลกระทบครั้งแรกของระบบทุนนิยมตะวันตกที่มีต่อยุโรปตะวันออก เกิดขึ้นก่อนการเดินทางของโคลัมบัสไปยังอเมริกา และก่อนการเดินทางของวาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) มายังเอเชีย ในระยะนี้การลงทุนส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การประกอบการเชิงพานิช พ่อค้าชาวยุโรปจะรวมตัวกันเป็นบริษัทร่วมและได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกขาดการค้า โดยมีสิทธิประโยชน์ในดินแดนที่เป็นอาณานิคมบางแห่งในทวีปอื่น ในระยะนี้เศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกยังไม่ได้พัฒนาเต็มที่ และยังไม่มีกำลังพอที่จะครอบครองโลก อาณานิคมส่วนใหญ่จำกัดอยู่แต่เพียงเฉพาะทวีปอเมริกาซึ่งเป็นโลกใหม่ ตะวันออกกลางและแอฟริกาได้รับผลกระทบในเรื่องการค้าทาส แต่อิทธิพลตะวันตกต่อดินแดนส่วนนี้ของโลกยังจำกัดอยู่เฉพาะตามชายฝั่งเท่านั้น ทวีปเอเชียส่วนใหญ่ยังไม่ถูกรบกวนในระยะนี้
๒. ทุนนิยมอุตสาหกรรมกับการจางคลายของลัทธิอาณานิคม
ระยะที่สอง (ค.ศ. 1770 - 1870) ยุโรปเข้าสู่ยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในคริสตศตวรรษที่ 17 และ 18 ก่อให้เกิด "การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1" ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเครื่องจักรกล โดยเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1770 ที่ประเทศอังกฤษก่อน และต่อมาได้แพร่ขยายไปยังส่วนอื่นของยุโรปตะวันตก พร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก ผลกำไรและการสะสมทุนจากยุคทุนนิยมเชิงพานิชก่อนหน้านั้น ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในอังกฤษมีการสะสมเงินทุนเป็นอันมาก จากผลกำไรทางการค้าในทวีปอเมริกา แอฟริกา และอินเดีย ในระยะนี้บริษัทอุตสาหกรรมของยุโรปได้ส่งสินค้าออกด้านอุตสาหกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนกับวัตถุดิบจากทวีปอื่น บทบาททางประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกนี้ คือการตระเตรียมยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ ด้วยกำลังทางเศรษฐกิจและการทหารที่จำเป็นสำหรับการครอบครองโลก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกก่อให้เกิดลัทธิขยายดินแดนของยุโรป การประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์มีปฏิสัมพันธ์กับการเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ การคิดค้นในอุตสาหกรรมหนึ่งได้กระตุ้นให้เกิดการคิดค้นในอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง การเพิ่มผลผลิตอันเนื่องมาจากการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ และความก้าวหน้าในวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้ประชากรของยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในคริสตศตวรรษที่ 19 และส่งผลให้เกิดการอพยพไปยังทวีปอื่น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก ได้ให้กำเนิดเรือกลไฟและรถไฟซึ่งจำเป็นต่อการขนส่งประชากรจำนวนมากในการข้ามมหาสมุทรและข้ามทวีป และด้วยยาแผนใหม่ผู้อพยพชาวยุโรปสามารถเอาชนะโรคเขตร้อนซึ่งเคยคร่าชีวิตนักเดินทางชาวยุโรปรุ่นก่อนๆ ชาว ยุโรปเหล่านี้มีเทคโนโลยีทางการทหารที่เหนือกว่าคนในทวีปอื่น เมื่อ วาสโก ดา กามา ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เขามาพร้อมกับเรือรบและปืนใหญ่ การพัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือและการทหารดำเนินไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก ได้ให้พละกำลังที่สำคัญยิ่งแก่ยุโรปในการเข้าไปเปิดดินแดนทวีปอื่น และตักตวงทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ โรงงานของยุโรปได้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีราคาถูกกว่า และมักจะมีคุณภาพดีกว่าสินค้าหัตถกรรมของเอเชียและแอฟริกา เรื่องที่น่าสนใจยิ่งก็คือว่า พลังทางเศรษฐกิจและทางทหารที่เข้มแข็งนี้ กลับลดความจำเป็นของยุโรปในการล่าอาณานิคมลง อังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเพียงประเทศเดียวในขณะนั้น ได้ล้ำหน้าประเทศอื่นทางด้านอุตสาหกรรมไปมาก จนกระทั่งหมดความจำเป็นในการมีอาณานิคมเพื่อเป็นตลาดสินค้าของตน
ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ อังกฤษได้เที่ยวสั่งสอนหลัก "การแบ่งงานระหว่างประเทศ" และ "การค้าเสรี" อาดัม สมิธ (Adam Smith) และ เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่สำคัญในยุคนั้น ได้เสนอปรัชญา "การค้าเสรี" (Laissez-faire) โดยไม่มีข้อจำกัดหรือการแทรกแซงจากรัฐ ภายใต้การค้าเสรีอังกฤษได้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของโลก ด้วยการสั่งเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากทวีปอื่น และส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังส่วนต่างๆ ของโลก โดยปราศจากข้อกีดกั้นหรืออุปสรรคใดๆ นักเขียน นิรนามชาวอังกฤษผู้หนึ่ง บันทึกเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1832 ไว้อย่างชัดเจนว่า
เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า สหราชอาณาจักรดินแดนอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ได้ถูกกำหนดให้มีภาระหน้าที่อันสูงส่ง ในการประกอบกิจกรรมอุตสาหกรรมเพื่อประเทศน้องๆ ทั้งหลาย ญาติโพ้นทะเลของเรา จักส่งถึงเราในลำเรืออันเต็มไปด้วยฝ้ายจากหุบเขามิสซิสซิปปี้ อินเดียจักให้ปอแก่เรา รัสเซียจักให้ปอกับป่านสำหรับทอผ้าลินิน และหินปนเหล็กสำหรับโรงงานของเรา ช่างฝีมือและนักคิดค้นของเราจักให้เครื่องจักรกล ที่จะสานทอวัตถุเหล่านี้ให้เป็นผ้าที่ประณีตงดงามแก่ประชาชาติทั้งมวล ทั้งหมดจักถูกบันดาลจากเราและทำให้เหมาะแก่การใช้ของผู้คนทั้งหลาย เรือของเราซึ่งมาถึงเราด้วยวัตถุดิบเต็มเพียบ จักกลับไปยังส่วนต่างๆ ของโลกด้วยสินค้าเต็มเพียบเช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบด้วยสินค้าสำเร็จรูป ภายใต้บทบัญญัติอันเป็นธรรมชาตินี้ จักทำให้แต่ละชาติเป็นผู้รับใช้ของอีกฝ่ายหนึ่ง และป่าวประกาศความเป็นพี่น้องของมนุษย์ สันติภาพและความปรารถนาดีจักปกครองโลก ประเทศแล้วประเทศเล่าจักต้องทำตามตัวอย่างของเรา และการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยเสรีจักมีอยู่ในทั่วทุกแห่ง ท่าเรือของเขาจักเปิดกว้างเช่นเดียวกับของเราที่เปิดกว้างสำหรับวัตถุดิบของเขา (1)
(1) อ้างโดย L. C. A. Knowles, The Industrial and Commercial Revolution in Britain during the Nineteenth Century (London: Routledge & Kegan Paul, 1921), p. 128.
เพราะความได้เปรียบสูงสุดของอังกฤษทั้งในเรื่องเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พลังทางเศรษฐกิจ และการครองตลาดโลก อังกฤษจึงเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์เต็มที่ในการส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว หลักการค้าเสรีของอังกฤษก็คือการผูกขาดตลาดโลกของอังกฤษนั่นเอง การล่าอาณานิคมจึงหมดความจำเป็นลงไป ระยะนี้จึงเป็นระยะที่การล่าอาณานิคมจางคลายลงไป
ในเวลานั้นรัฐบาลอังกฤษได้รับอภิสิทธิ์ทางการค้าอย่างสูงสุด และด้วยสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าเสรี อังกฤษได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการจากทวีปอื่น อย่างไรก็ตามรัฐบาลอังกฤษพร้อมที่จะใช้กำลังทหารเข้าผนวกดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นอาณานิคม ถ้าผลประโยชน์ในดินแดนเหล่านั้นไม่ได้รับการตอบสนอง. เจ แกลลาเกอร์ (J. Gallagher) และ อาร์ โรบินสัน (R. Robinson) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเอง ได้ให้สมญานามยุคนี้ว่า "จักรวรรดินิยมการค้าเสรี" (Free Trade Imperialism) ทั้งสองท่านสรุปว่า "นโยบายการค้าเสรีที่ว่า "การค้า มิใช่การยึดครอง" ควรจะอ่านว่า "การค้ากับการควบคุมอย่างไม่เป็นทางการถ้าเป็นไปได้ การค้ากับการยึดครองถ้าจำเป็น" (2) ดังนั้นยุคนี้จึงเป็นที่รู้จักกันว่า ยุคจักรวรรดินิยมการค้าเสรี สัญญลักษณ์ของยุคนี้ก็คือ การที่ เดวิด ลิฟวิ่งสโตน (David Livingstone) ผ่าแอฟริกาออกเป็นรูปกากบาท และเรือรบอังกฤษยิงปืนใหญ่ถล่มชายฝั่งของประเทศจีน ในนามของสิทธิอันศักดิ์สิทธิแห่งการค้าเสรี
(2) J. Gallagher and R. Robinson, าThe Imperialism of Free Trade,ำ in Economic History Review VI, 1953, pp. 1-15.
๓. ทุนนิยมผูกขาดกับการล่าอาณานิคมทั่วโลก
ระยะที่สาม (ค.ศ. 1870 - 1914) เป็นระยะที่ทุนนิยมอุตสาหกรรมและจักรวรรดินิยมการค้าเสรี ถูกแทนที่ด้วยทุนนิยมผูกขาดและการฟื้นคืนชีพของลัทธิล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ทำให้ทุนนิยมผูกขาดที่เกิดขึ้นใหม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างกว้างขวางไปทั่วโลก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นประมาณปี ค.ศ. 1870 ได้ให้กำเนิดโครงสร้างการผลิตอย่างใหม่ และการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกนั้น นายช่างที่สามารถเป็นผู้นำในการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมทอผ้า การทำเหมืองแร่ การถลุงโลหะ และการขนส่ง ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1875 เป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ได้แสดงบทบาทที่เด่นชัดกว่า มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ทำการวิจัยเชิงอุตสาหกรรม ในห้องทดลองซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ได้ค่อยๆ เข้าแทนที่โรงจักรกลของนักประดิษฐ์ในยุคก่อน ในที่สุดวิทยาศาสตร์ก็ได้ส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมทั้งหมด
ระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 วิธีการผลิตที่สำคัญสองอย่างได้รับการพัฒนาขึ้นมา วิธีการแรกคือการผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานและใช้สับเปลี่ยนกันได้ ส่วนวิธีการที่สองคือการประกอบชิ้นส่วนเหล่านี้ด้วยแรงงานที่น้อยที่สุด อุตสาหกรรมของสหรัฐ อเมริกาได้นำวิธีการผลิตอย่างใหม่นี้มาใช้ โดยในต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ได้ประยุกต์วิธีการนี้ด้วยการประดิษฐ์สายพานที่เคลื่อนที่ได้ และให้สายพานเหล่านี้เป็นตัวนำชิ้นส่วนรถยนต์มายังคนงานประกอบรถยนต์โดยไม่ขาดระยะ
ผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ต่อระบบเศรษฐกิจของโลกในปลาย คริสตศตวรรษที่ 19 ก็คือ การเปลี่ยนจากทุนนิยมแข่งขันมาเป็นทุนนิยมผูกขาด ในระยะนี้การสร้างโรงงานที่ใหญ่โตด้วยเงินทุนมหาศาล ได้กำจัดธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กจนเกือบหมดสิ้น บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้เข้าแทนที่บริษัทเล็กๆ ที่เคยแข่งขันกัน และกลายเป็นบริษัทการค้าผูกขาดไป ขณะเดียวกันประเทศอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็ได้เกิดขึ้นในยุโรป และท้าทายบทบาทความเป็นผู้นำของอังกฤษในตลาดระหว่างประเทศ ความขัดแย้งของบรรดาประเทศโลกที่หนึ่ง ประจวบกับลัทธิดาร์วินทางสังคม (Social Darwinism) ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ได้นำไปสู่การละทิ้งหลักการค้าเสรีและการฟื้นตัวของลัทธิอาณานิคม
ลัทธิดาร์วินทางสังคม คือลัทธิที่เชื่อว่าชีวิตดำรงอยู่ด้วยการดิ้นรนต่อสู้ และผู้ที่ปรับตัวได้ดีที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด ลัทธิดาร์วินทางสังคมได้ให้ระบบตรรกะที่สนับสนุนการขยายดินแดนและการล่าอาณานิคม ทำให้การครอบครองของยุโรปต่อดินแดนและประชาชนในทวีปอื่นกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยอธิบายว่าเป็นการต่อสู้เพื่อชิงความเป็นใหญ่ระหว่างอำนาจจักรวรรดินิยมและคู่แข่ง ผลลัพธ์สุดท้ายของปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และทฤษฎีความคิดเหล่านี้ ก็คือการแพร่ขยายของลัทธิอาณานิคมในปลายคริสตศตวรรษที่ 19 สตาวริอานอส (Stavrianos) ชี้ว่า
ขณะที่โดยถัวเฉลี่ยแล้วดินแดนอาณานิคมจำนวน 83,000 ตารางไมล์ ถูกยึดครองในแต่ละปีระหว่าง ค.ศ. 1800 ถึง 1875 ตัวเลขดังกล่าวได้พุ่งขึ้นเป็น 240,000 ตารางไมล์ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1875 ถึง 1914 อังกฤษได้ผนวกดินแดนจำนวน 4.25 ล้านตารางไมล์กับประชากรอีก 66 ล้านคน เข้าเป็นอาณาจักรของตน ระหว่าง ค.ศ. 1871 ถึง 1900 ฝรั่งเศสผนวกดินแดน 3.5 ล้านตารางไมล์และประชากรอีก 26 ล้านคน รัสเซียในเอเชีย ผนวกดินแดน .5 ล้านตารางไมล์กับประชากรอีก 6.5 ล้านคน และเยอรมันนีผนวกดินแดน 1 ล้านตารางไมล์และประชากรอีก 13 ล้านคน แม้แต่เบลเยี่ยมซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ก็ยังยึดครองดินแดนถึง 900,000 ตารางไมล์กับประชากรอีก 8.5 ล้านคน การยึดครองนี้เมื่อรวมเข้ากับดินแดนอาณานิคมเก่า ทำให้เกิดสภาพซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยที่ว่า อาณาจักรเล็กๆ ส่วนหนึ่งของโลกได้ยึดครองโลกที่เหลือทั้งหมด (3)
(3) L. S. Stavrianos,
Global Rift, pp. 263-264.
สัญญลักษณ์ของยุคนี้ก็คือ การขุดคลองสุเอซและคลองปานามา เพื่อเชื่อมมหาสมุทรเข้าด้วยกัน รถไฟข้ามทวีปที่ขยายไปถึงแอฟริกา ไซบีเรีย และอเมริกาเหนือ เครือข่ายสายเคเบิลทางโทรศัพท์และโทรเลขที่โยงข้ามใต้ท้องมหาสมุทรและโยงใยทั่วทวีป ระบบทุนนิยมผูกขาดนี้ทำให้แอฟริกาทั้งทวีปตกเป็นอาณานิคม และจีนกับรัสเซียถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีของโลก
การแข่งขันของประเทศต่างๆ ในยุโรป พร้อมกับอำนาจทางทหารและกำลังทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลัทธิอาณานิคมขยายตัวไปถึงทุกทวีป และผนวกประเทศโลกที่สามทั้งหมดเข้าสู่ระบบโลก ไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ว่า ประเทศในยุโรปเพียงไม่กี่ประเทศได้เข้าครอบครองโลกที่เหลือเกือบทั้งหมด ประเทศที่รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของยุโรปมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ซึ่งรวมทั้งจีนที่ถูกอังกฤษบังคับขอเช่าเกาะฮ่องกง และโปรตุเกสเช่าเกาะมาเก๊า ประเทศไทยที่ต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพื่อแลกกับเอกราช และญี่ปุ่นซึ่งพัฒนาประเทศตามแบบอย่างตะวันตกได้สำเร็จก่อนใคร และมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเพียงพอที่จะต่อรองกับตะวันตกได้
๔. การตอบโต้ทุนนิยมผูกขาดกับลัทธิอาณานิคมใหม่
ในระยะที่สี่ (ค.ศ. 1914 - 1991) ทุนนิยมผูกขาดถูกตอบโต้และตกอยู่ในสถานะตั้งรับ อันเนื่องมาจากการขัดแย้งกันเองทางความคิดและผลประโยชน์ กับความตื่นตัวของประชาชนในโลกที่สาม ความขัดแย้งภายในของระบบทุนนิยมผูกขาดแสดงตัวออกมาในรูปของสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (Great Depression) สงครามโลกครั้งที่ 2 และการแข่งขันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ความขัดแย้งกันเองของระบบทุนนิยมผูกขาด ยังสะท้อนออกมาในรูปของปัญหาภายในของโลกที่หนึ่งเอง เช่น ปัญหาเงินเฟ้อท่ามกลางการถดถอยทางเศรษฐกิจและการว่างงาน ความตึงเครียดภายใน และแรงกดดันภายนอกจากลัทธิชาตินิยมและขบวนการปฏิวัติในโลกที่สาม ทำให้ทุนนิยมผูกขาดจำเป็นต้องคืนอธิปไตยทางการเมืองแก่ประเทศอาณานิคมทั้งปวง อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ส่งผลให้เกิดลัทธิอาณานิคมใหม่ขึ้น ซึ่งโลกที่หนึ่งยังคงครอบงำเศรษฐกิจของโลกที่สามต่อไปทั้งทางตรงและทางอ้อม (4)
(4) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 นี้ ในที่สุดแล้วส่งผลให้เกิดสิ่งที่ อัลวิน ทอฟฟเลอร์ เรียกว่า "คลื่นลูกที่สาม" ดู อัลวิน ทอฟฟเลอร์, คลื่นลูกที่สาม, พิมพ์ครั้งที่ 3, แปลและเรียบเรียงโดย สุกัญญา ตีระวนิช (บรรณาธิการ), รจิตลักษณ์ แสงอุไร, ยุบล เบญจรงค์กิจ, วิภา อุดมฉันท์ (กรุงเทพ: Global Brain Publication, 2536).
ในขณะที่การค้นพบและการประดิษฐ์เครื่องจักรกล ซึ่งในที่สุดแล้วนำไปสู่การสร้างรถจักรไอน้ำและเรือกลไฟ เป็นต้นเหตุสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดไฟฟ้า โทรศัพท์ โทรเลข รถยนต์ และเครื่องบินในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นต้นเหตุของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 นั้น เทคโนโลยีทางการทหารกลายเป็นต้นเหตุสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ในคริสตศตวรรษที่ 20 ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์การตระเตรียมสงครามเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพอย่างสำคัญได้เกิดขึ้น เทคโนโลยีทางการทหารได้รับความสำคัญเหนือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งมวล ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งสองครั้งที่ผ่านมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ครอบคลุมถึงคุณลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้ (5)
(5) L. S. Stavrianos, Global Rift, pp. 434-435.
1. ยุคปรมาณู (Atomic Age) สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกา เยอรมันนี และญี่ปุ่น ต่างแข่งขันกันผลิตระเบิดปรมาณูลูกแรกเพื่อเอาชนะสงคราม การทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรกของสหรัฐอเมริกาในทะเลทรายมลรัฐนิวเม็กซิโกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 และการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐในญี่ปุ่นที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 และที่เมืองนางาซากิเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เป็นสัญญลักษณ์ของการเริ่มต้นยุคปรมาณู และการใช้พลังงานปรมาณูเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ (6)
(6) Peter Goldman, The End of the World That Was: Six Lives in the Atomic Age (New York and Scarborough, Ontario: New American Library, 1986), p. vii.
2. ยุคอวกาศ (Space Age) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การทิ้งระเบิดถล่มกรุงลอนดอนด้วยจรวดวิ-2 (V-2) ของเยอรมันนี เป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีจรวด ซึ่งในที่สุดแล้วนำไปสู่ยุคอวกาศ เทคโนโลยีด้านอวกาศเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 เมื่อสหภาพโซเวียตส่งยานอวกาศลำแรกชื่อสปุทนิก 1 (Sputnik I) ขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ การมาถึงของยุคอวกาศเปรียบเทียบได้กับการที่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเคลื่อนตัวจากในน้ำขึ้นมาบนบกเป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 300 ล้านปีที่แล้ว เทคโนโลยีด้านอวกาศเป็นตัวนำสำคัญที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่แห่งยุคโลกาภิวัตน์ (Stavrianos 1981, 434-435)
3. ยุคคอมพิวเตอร์ (Computer Age) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะต่อสู้กับเครื่องบินของฝ่ายเยอรมันนี อังกฤษได้คิดค้นระบบต่อสู้อากาศยานที่สามารถตรวจจับและทำนายการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้าได้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบการทำงานโดยอัตโนมัติ ซึ่งรวมเรียกว่า "ไซเบอร์เนติคส์" (Cybernetics) (7) ในเวลาต่อมา คอมพิวเตอร์นั้นประกอบด้วยเครื่องมือที่สามารถทำงานที่เป็นระบบและสลับซับซ้อนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนระบบอัตโนมัตินั้นเป็นการทำงานของเครื่องมือหรือระบบที่มีกลไกสั่งงานในตัวเอง เมื่อทั้งสองสิ่งนี้มาประกอบกันทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดแรงงานของมนุษย์ลงได้เป็นอันมาก ไมเคิล พี นิโคลส์ (Michael P. Nichols) ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของคอมพิวเตอร์ต่อวัฒนธรรมอเมริกันว่า
(7) ดูคำนิยามและความหมายประกอบใน
The New Merriam-Webster Dictionary
(Springfield, Massachusetts: Merriam-Webster Inc.,1989), p. 193.
การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1980 คือการปฏิวัติของคอมพิวเตอร์ นับตั้งแต่การเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1949 เป็นต้นมา คอมพิวเตอร์อิเล็คโทรนิคได้แพร่หลายในอัตราที่เหมือนกับการระเบิด และได้ปฏิวัติวัฒนธรรมของเราพร้อมกันไปด้วย ตามตัวเลขของบริษัทข้อมูลระหว่างประเทศ (International Data Cooperation) ในปี ค.ศ. 1977 มีการติดตั้งคอมพิวเตอร์ห้าแสนเครื่องในสหรัฐ ต่อมาในปี ค.ศ. 1984 เพียงปีเดียวเท่านั้นมีการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ถึงเกือบ 8 ล้านเครื่อง ก่อนจะสิ้นสุดทศวรรษที่ 1980 ชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคนจะทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ ประชาชนใช้คอมพิวเตอร์ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงงาน โรงเรียน และสถานเริงรมย์ มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล การพิมพ์ตัวอักษร และการเล่นเกมส์ทางอิเล็คโทรนิค คอมพิวเตอร์สามารถจัดระบบจราจร ทำหน้าที่แทนเสมียน และเล่นหมากรุกได้ (8)
(8) Michael P. Nichols,
Turning Forty in the Eighties (New York: Simon & Schuster, Inc., 1986),
p. 74.
ในปี ค.ศ. 2000 จำนวนผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่ใช้อินเตอร์เน็ต (Internet) ได้เพิ่มจำนวนเป็น
104 ล้านคนหรือร้อยละ 56 ของจำนวนผู้ใหญ่ในอเมริกาทั้งหมด รายงานการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ
(UN Human Development Report 1999) ระบุว่า
อินเตอร์เน็ต ซึ่งเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเป็น
"เครื่องมือการสื่อสารที่เติบโตเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา" ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่คาดว่าจะเติบโตจาก
150 ล้านคนในปัจจุบันเป็นกว่า 700 ล้านคนในปี ค.ศ. 2001... การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการถอดรหัสพันธุกรรม
ได้เข้ามาแทนที่การค้นหาทองคำ การยึดครองดินแดน และการสร้างเครื่องจักรกล ในฐานะที่เป็นหนทางสู่อำนาจทางเศรษฐกิจ
(9)
(9) The UN Human Development Report, 1999.
การพัฒนาเรื่องพลังงานปรมาณู คอมพิวเตอร์ และจรวดอันนำไปสู่ยุคอวกาศ เป็นรากฐานสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เทคโนโลยีอย่างใหม่ภายใต้ระบบทุนนิยมทำให้บรรษัทข้ามชาติขยายตัวอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ยุคอาณานิคมใหม่ในโลกที่สาม
ลัทธิอาณานิคม (colonialism) ซึ่งประเทศในโลกที่หนึ่งครอบงำประเทศในโลกที่สามนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะที่หนึ่งมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและยุโรปตะวันตก ใช้แสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า เข้ายึดครองประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา โดยใช้ยุทธวิธี "แบ่งแยกและปกครอง" (divide and rule) เพื่อตักตวงทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งแรงงานทาส และเพื่อเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรมของตน ทั้งหมดนี้กระทำไปพร้อมๆ กับการป่าวประกาศหลักการและอุดมการณ์ "การค้าเสรี" (free trade)
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดลัทธิอาณานิคมใหม่ (neo-colonialism) ระยะที่สองขึ้น มหาอำนาจโลกที่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 โดยผ่านบรรษัทข้ามชาติของตน เข้าตักตวงแหล่งวัตถุดิบ แรงงานราคาถูก และตลาดระบายสินค้าจากโลกที่สาม ปล่อยมลพิษอุตสาหกรรมไว้ในโลกที่สาม และขนเอากำไรกลับสู่ประเทศของตน โดยนโยบายเศรษฐกิจของโลกที่สามผูกพันเข้าไว้กับโลกที่หนึ่ง เป็น "เศรษฐกิจพึ่งพา" (dependency economy) ทั้งหมดนี้กระทำภายใต้อุดมการณ์ "การพัฒนา" (development)
๕. ทุนนิยมการเงินกับการปล้นสะดมโลก
ระยะที่ห้า (ค.ศ. 1991-ปัจจุบัน) ภายหลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ. 1991 ลัทธิอาณานิคมใหม่ระยะที่สามได้เริ่มก่อตัวขึ้น โดยมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกคือสหรัฐอเมริกา ได้ผลักดันให้โลกที่สามเปิดเสรีทางด้านการเงิน ประเทศไทยได้ตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าวของโลกที่หนึ่ง โดยการเปิดเสรีทางการเงินเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรษัทข้ามชาติทางด้านการเงินของสหรัฐอเมริกาที่เรียกกันว่า เฮดจ์ฟันด์ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1,200 แห่งทั่วโลก และมีเม็ดเงินภายใต้การจัดการประมาณ 118,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หนึ่งในเฮดจ์ฟันด์ที่สำคัญคือ ควอนตัมฟันด์ ของจอร์จ โซรอส) ได้ใช้เงินทุนที่เหนือกว่าก่อสถานการณ์ป่วนตลาดเงินตรา และเข้าโจมตีระบบเงินตราของเอเชียและโลกที่สามอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1997 ไทยเป็นชาติแรกที่ตกเป็นเหยื่อแห่งลัทธิอาณานิคมใหม่ล่าสุดนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยต้องสูญเสียเงินสดสำรองที่เก็บสะสมมาตลอดระยะเวลากว่าสี่ทศวรรษแห่งการพัฒนาประเทศไปทั้งหมด 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่บรรษัทข้ามชาติทางการเงินของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก่ ไทเกอร์ฟันด์ ของจูเลียน โรเบิร์ดสัน (10)
(10) ต่อมา ไทเกอร์ฟันด์ ของจูเลี่ยน โรเบิร์ดสัน ซึ่งก่อตั้งมานาน 20 ปี ได้ปิดตัวลงในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2000 เนื่องจากขาดทุนเป็นจำนวนมาก
ในอีกทางหนึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ซึ่งเป็นกลไกของระบบทุนข้ามชาติ ได้เข้ามากำกับนโยบายเศรษฐกิจของไทย โดยใช้เงินกู้เป็นเครื่องต่อรอง บีบให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายด้านการเงิน อันส่งผลเป็นการสิ้นเนื้อประดาตัวของทุนท้องถิ่นระดับกลางและระดับล่าง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ทุนระดับชาติในที่สุด บีบให้รัฐบาลไทยแก้กฎหมาย 11 ฉบับ เพื่อเปิดทางให้ทุนข้ามชาติสามารถเข้าซื้อธนาคาร สถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ สนามบิน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจต่างๆ ได้อย่างเสรี ซึ่งในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันมีราคาที่ต่ำมาก เมื่อคนไทยสิ้นเนื้อประดาตัวทางด้านการเงิน และต่างชาติสามารถเข้ากว้านซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ในราคาถูก สินทรัพย์ที่เป็นหัวใจระบบเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของต่างชาติ และทั้งหมดนี้กระทำภายใต้อุดมการณ์ของคำว่า "โลกาภิวัตน์" (globalization)
ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) (*) ได้ทำรายงานเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1999 ว่า การเคลื่อนย้ายของเงินทุนระยะสั้น (hot money) ไปทั่วโลกอย่างเสรี ไร้การควบคุม ได้ทำอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ยังมีความอ่อนแอและขาดความเชี่ยวชาญด้านกลไกที่จะนำมาใช้ควบคุมดูแลการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ในการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 10 ที่ประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 รูเบนส์ ริคูเพโร เลาขาธิการอังค์ถัด ชาวบราซิล ได้เรียกร้องประชาคมโลกให้ควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินร้อนเหล่านี้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกประเทศร่วมกัน ให้ทุกประเทศได้มีโอกาสพัฒนาขึ้นโดยลำดับ โดยไม่ถูกทำร้ายกลางคัน แม้ประชาคมโลกจะเรียกร้องอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องนี้น้อยมาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง สหรัฐอเมริกาไม่เต็มใจที่จะควบคุมเฮดจ์ฟันด์เหล่านี้ ตรงกันข้ามกลับจะอุ้มชูเมื่อเฮดจ์ฟันด์เพลี่ยงพล้ำ ดังเช่น
(*)The United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) was established in 1964 as a permanent intergovernmental body. It is the principal organ of the United Nations General Assembly dealing with trade, investment and development issues.
The organization's goals are to "maximize the trade, investment and development opportunities of developing countries and assist them in their efforts to integrate into the world economy on an equitable basis." (from official website). The creation of the conference was based on concerns of developing countries over the international market, multi-national corporations, and great disparity between developed nations and developing nations.
In the 1970s and 1980s UNCTAD was closely associated with the idea of a New International Economic Order (NIEO). Currently, UNCTAD has 191 member States and is headquartered in Geneva, Switzerland. UNCTAD has 400 staff members and an annual regular budget of approximately US$50 million and US$25 million of extrabudgetary technical assistance funds.
กองทุนลองเทอม แคปิตอล แมเนจเม้นต์ (Long Term Capital Management หรือ LTCM) ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ของโลก ประสบปัญหาขาดทุนมหาศาลถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากขาดทุนจากการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชียและรัสเซียเมื่อต้นปี 2542 ก็ปรากฏว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกโรงเรียกร้องให้สถาบันการเงิน 15 แห่งซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของแอลทีซีเอ็ม อัดฉีดเงินช่วยเหลือด้วยเม็ดเงินสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างว่าหากไม่ช่วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของโลก (11)
(11) มติชนรายวัน 3 เมษายน
2543, หน้า 8.
คำว่า "การค้าเสรี" "การพัฒนา" ตลอดจน "โลกาภิวัตน์"
ในปัจจุบัน ล้วนเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ที่มหาอำนาจตะวันตกสร้างขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นภาพลวงตาว่า
การยึดครองทางเศรษฐกิจของโลกที่หนึ่งต่อโลกที่สามนั้น ดำเนินไปบนหลักการของความถูกต้องชอบธรรมแล้ว
หายนะของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยนั้นคือ ความไม่ตระหนักรู้ถึงโครงสร้างระบบโลกอันโยงใยซับซ้อน
รวมทั้งเครื่องมือทางอุดมการณ์อันเป็นภาพลวงตาของระบบทุนข้ามชาติเหล่านี้ ผู้นำและนายทุนของเอเชียรวมทั้งประเทศไทยยังหลงใหลได้ปลื้มกับอุดมการณ์
"โลกาภิวัตน์" ไม่สร่าง แม้จะพบบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจอันเจ็บปวดก็ไม่เรียนรู้และหลาบจำ
นโยบายของ IMF รวมทั้งธนาคารโลก (World Bank) นั้นมี "จิตใจของนักล่าอาณานิคมเก่า" เจือปนอยู่ด้วย จึงชี้นำนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปสู่ความหายนะยิ่งขึ้น เพื่อการเข้ายึดครองสถาบันทางเศรษฐกิจทั้งปวงในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย และเพื่อกีดกันมิให้เอเชียกลายเป็นคู่แข่งขันของตะวันตกในศตวรรษที่ 21 นี้ การทำตามนโยบายของ IMF จึงเท่ากับเป็นการติดกับของลัทธิอาณานิคมใหม่ล่าสุด ทำให้เอเชียรวมทั้งประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจตะวันตกโดยไม่รู้ตัว
ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้นำไทย (รวมทั้งผู้นำเอเชียอีกหลายประเทศ) มิได้ตระหนักรู้ว่าเรากำลังอยู่ในสถานะ "สงคราม" กับมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งกำลังจู่โจมประเทศไทยและเอเชียทั้งมวล ด้วยกองเรือรบของบรรษัทข้ามชาติทางการเงิน ที่ผ่านมาทางระบบอินเตอร์เน็ทและสื่ออิเลคโทรนิคต่างๆ โดยมี IMF ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญ แต่กลับสำคัญผิดคิดว่า ศัตรูยุคใหม่ที่พรางตัวอยู่ในม่านหมอกของอุดมการณ์ "โลกาภิวัตน์" คือมหามิตร ทำให้ประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด จนเพลี่ยงพล้ำและบอบช้ำในสงครามเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยอำนาจแห่งอวิชชาและความหลงงมงายในตะวันตกของผู้นำไทยเอง
เงื่อนไขล่าสุดของกลุ่มทุนข้ามชาติก็คือ
การผลักดันให้เกิด "ข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการลงทุน" (Multilateral
Agreement on Investment หรือ MAI) ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการลงทุนเสรีในประเทศต่างๆ
โดยทุนต่างชาติจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับทุนในชาติทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ทรัพยากร
ระบบภาษี การโยกย้ายทุนออก การส่งเสริมจากรัฐ การนำเงินตราหรือกำไรออกนอกประเทศได้
(12) ผลย่อมเท่ากับเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนข้ามชาติของโลก ทุ่มเงินที่มีมากกว่ามหาศาลเข้าไปแข่งขันกับทุนในชาติ
และทำลายทุนชาติไปในที่สุด แม้ว่าประชาชนในโลกที่สามจะออกมาต่อต้าน "ข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการลงทุน"
นี้อย่างจริงจัง แต่ผู้นำของประเทศโลกที่สามส่วนใหญ่อาจเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย
โดยมิได้ตระหนักถึงภัยอันร้ายกาจของข้อตกลงดังกล่าว
การละทิ้งแนวทางของลัทธิมาร์กซ์และเลนินในยุโรปตะวันออก และการที่จีนกับรัส เซียได้หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจที่มีกลไกตลาด
ทำให้โลกทั้งโลกรวมกันอีกครั้งหนึ่งภายใต้ระบบทุนนิยม บรรษัทข้ามชาติได้ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมจากโลกที่หนึ่งมายังโลกที่สามอย่างต่อเนื่อง
เพื่อแสวงหาแรงงานราคาถูกและผลกำไรมากยิ่งขึ้น ทำให้ปัญหาการว่างงานและการถดถอยทางเศรษฐกิจ
ในหมู่ประชาชนสามัญในโลกที่หนึ่งรุนแรงยิ่งขึ้น ความมั่งคั่งได้จำกัดอยู่ในมือของชนชั้นผู้นำของระบบทุนนิยม
ขณะเดียวกันบรรษัทข้ามชาติทางการเงินก็เข้าโจมตีตลาดเงินตราของโลกที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและประเทศไทย
และขนเอาเงินสดสำรองไปเป็นจำนวนมาก จนก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจไปทั่วทั้งเอเชีย
ชนชั้นปกครองของเอเชียและโลกที่สามยังคงร่วมมือกับบรรษัทข้ามชาติอย่างใกล้ชิด ภายใต้การชี้นำจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และองค์กรอื่นๆ อันเป็นกลไกของระบบทุนนิยมโลก ในโลกอันไร้พรมแดนนี้ เจ้าของทุนข้ามชาติได้กลายเป็นชนชั้นผู้มั่งคั่งที่สุดของโลก ผู้ซึ่งควบคุมปัจจัยการผลิต กลไกทางการเงิน และทรัพยากรเกือบทั้งหมดของโลกไว้ในมือ ขณะที่ประชากรโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในโลกที่สามยากจนลงทุกที ขณะเมื่อรุ่งอรุณแห่งคริสตศตวรรษที่ 21 ได้มาถึง
บรรณานุกรมGallagher, J. and R. Robinson. 1953. าThe Imperialism of Free Trade.ำ
Economic History Review VI.Goldman, Peter. 1986. The End of the World That Was: Six Lives in the Atomic Age.
New York and Scarborough, Ontario: New American Library.Knowles, L. C. A. 1921. The Industrial and Commercial Revolution in Britain during the
Nineteenth Century. London: Routledge & Kegan Paul.Nichols, Michael P. 1986. Turning Forty in the Eighties.
New York: Simon & Schuster, Inc.Stavrianos, L. S. 1981. Global Rift: The Third World Comes of Age.
New York: William Morrow and Company, Inc.United Nations. 1999. The UN Human Development Report.
New York: United Nations.สุธี ประศาสน์เศรษฐ. 2541. "ข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการลงทุน (MAI): แผนรุกฆาตของกลุ่มทุนข้ามชาติ." พิทยา ว่องกุล (บรรณาธิการ). วิกฤติเอเชีย.
กรุงเทพฯ: โครงการวิถีทรรศน์.
อัลวิน ทอฟฟเลอร์. 2536. คลื่นลูกที่สาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. แปลและเรียบเรียงโดย สุกัญญา ตีระวนิช (บรรณาธิการ), รจิตลักษณ์ แสงอุไร, ยุบล เบญจรงค์กิจ,
วิภา อุดมฉันท์. กรุงเทพ: Global Brain Publication.
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า สหราชอาณาจักรดินแดนอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ได้ถูกกำหนดให้มีภาระหน้าที่อันสูงส่ง ในการประกอบกิจกรรมอุตสาหกรรมเพื่อประเทศน้องๆ ทั้งหลาย ญาติโพ้นทะเลของเรา จักส่งถึงเราในลำเรืออันเต็มไปด้วยฝ้ายจากหุบเขามิสซิสซิปปี้ อินเดียจักให้ปอแก่เรา ส่วนรัสเซียจักให้ปอกับป่านสำหรับทอผ้าลินิน และหินปนเหล็กสำหรับโรงงานของเรา ช่างฝีมือและนักคิดค้นของเราจักให้เครื่องจักรกล ที่จะสานทอวัตถุเหล่านี้ให้เป็นผ้าที่ประณีตงดงามแก่ประชาชาติทั้งมวล ทั้งหมดจักถูกบันดาลจากเราและทำให้เหมาะแก่การใช้ของผู้คนทั้งหลาย เรือของเราซึ่งมาถึงเราด้วยวัตถุดิบเต็มเพียบ จักกลับไปยังส่วนต่างๆ ของโลกด้วยสินค้าเต็มเพียบเช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบด้วยสินค้าสำเร็จรูป (คัดมาจากบทความ)