ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




16-08-2551 (1641)

สื่ออิสระในพม่า อนาคตที่ยังคงสิ้นหวังและไร้ทิศทาง
การปรับตัวของสื่อพม่าพลัดถิ่นในยุคเทคโนโลยีทางการสื่อสาร

อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจในประเด็นสื่อและการศึกษาในประเทศพม่า
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
สื่อพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย
1. ความเป็นมาของสื่อพลัดถิ่นจากพม่า
- สื่อที่ผลิตโดยชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้าน และสื่อวิทยุ
- องค์กรสนับสนุนการทำงานของสื่อพลัดถิ่นจากพม่า
- สมาคมสื่อพม่า The Burma Media Association: BMA
- ศูนย์ข้อมูลออนไลน์ และองค์กรพิทักษ์สิทธิสื่อ
2. ลักษณะเฉพาะของสื่อพม่าพลัดถิ่น
- (1) นิตยสารอิระวดี (The Irrawaddy Publishing Group)
- (2) ดีวีบี ( Democratic Voice of Burma: DVB)
- (3) มิซซิม่า (Mizzima News)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๔๑
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สื่ออิสระในพม่า อนาคตที่ยังคงสิ้นหวังและไร้ทิศทาง
การปรับตัวของสื่อพม่าพลัดถิ่นในยุคเทคโนโลยีทางการสื่อสาร

อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจในประเด็นสื่อและการศึกษาในประเทศพม่า
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

คลิกกลับไปทบทวนบทความเกี่ยวเนื่อง

สื่อพม่าพลัดถิ่นเกิดขึ้นมาในท่ามกลางยุคที่กระแสโลกาภิวัตน์ จากการติดต่อสื่อสารมีอิทธิพลต่อทั้งสภาวะสังคมและการเมืองในโลก คือต้นทศวรรษที่ 1990 ที่สื่อเดิม (Traditional Media) อย่างสิ่งพิมพ์หรือแม้แต่วิทยุโทรทัศน์เองก็ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ในส่วนของนิตยสารอิระวดี เมื่อแรกเริ่มในปี ค.ศ. 1992 ได้ผลิตเพียงนิตยสารรายเดือนเชิงวิเคราะห์ ที่มักจะมีปัญหาเรื่องความไม่ทันกับการรายงานเหตุการณ์ข่าวสารที่เกิดขึ้นทุกวัน และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือเข้าถึงผู้รับสารได้ไม่มากนัก ทั้งจากเรื่องกำลังการผลิต และจากการปิดกั้นของรัฐบาลพม่า ทำให้ผู้อ่านภายในประเทศมีโอกาสได้รับนิตยสารไม่มากนัก

นอกจากนั้นการพลัดถิ่นของประชาชนจากพม่าทั้งกลุ่มเชื้อสายพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่กระจัดกระจายไปทั่วโลก ยิ่งทำให้ความต้องการรับรู้ข่าวสารของพม่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะที่สื่อภายในพม่ายังคงถูกควบคุมอย่างแน่นหนาเช่นเดิม ทำให้ต้องเพิ่มการทำงานในส่วนของเว็บไซต์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. 2000 อิระวดีได้เริ่มดำเนินงานเว็บไซต์ภาคภาษาอังกฤษ และปี ค.ศ. 2001 เริ่มดำเนินการเว็บไซต์ภาคภาษาพม่าจากนั้นได้กลายเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ ที่รายงานเรื่องพม่าที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่ง. ในปี 2006 มีการเข้าชม 11 คลิก (Hits) ต่อเดือน และมีผู้เข้าชมประจำประมาณ 300,000 คน (IP) ต่อเดือน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 ที่มีการประท้วงใหญ่อีกครั้งมีการเข้าชม เพิ่มเป็นประมาณกว่า 30 ล้านครั้ง โดยเฉพาะภาคภาษาอังกฤษ

นอกจากการรายงานข่าวสารประจำวันที่เกี่ยวข้องกับพม่าและประเทศ ASEAN แล้ว เว็บไซต์ของอิระวดี ยังบรรจุเนื้อหาของนิตยสารรายเดือนที่มีเนื้อหาต่างจากบทความรายวัน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านนิตยสารผ่านเว็บไซต์ได้ ทั้งนี้องค์กรได้มีความพยายามในการปรับปรุงรูปแบบของหน้าเว็บไซต์ การออกแบบ สีสัน หัวข้อ เพื่อให้สะดวกแก่ผู้อ่าน และเป็นมาตรฐานมากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ในประเทศพม่าก็ยังมีการปิดกั้นเว็บไซต์ของสื่อพม่าพลัดถิ่น หรือแม้แต่การใช้เครื่องมือค้นหาในเว็บก็ตาม ซึ่งทางฝ่ายสื่อเองได้ทำสงครามกับการปิดกั้นนี้โดยการส่งโปรแกรมเพื่อแก้ไขการปิดกั้นดังกล่าวไปให้ผู้ต้องการเข้าชมในพม่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างได้ใช้เทคนิคใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีมาต่อสู้กัน แม้กระทั่งการปิดระบบอินเตอร์เน็ตทั้งประเทศในพม่า หลังการใช้กำลังปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนที่ประท้วงช่วงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2007

สื่อพม่าพลัดถิ่นใช้วิธีการอันทันสมัยของระบบการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ที่มีการส่งโทรศัพท์เข้าไปให้ผู้สื่อข่าวอิสระของตนในพม่า แต่ทั้งนี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ต้องมีการรับเงินบริจาคเพื่อจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มเติมมากขึ้น. Toe Zaw Latt ผู้จัดการของ DVB สำนักงานประเทศไทยให้ข้อมูลว่าการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยส่งเข้าไปให้นักข่าวในพม่านั้น เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักข่าว เนื่องจากโดยมากนักข่าวมักถูกจับระหว่างที่พยายามออกไปที่ร้านอินเตอร์เน็ตเพื่อส่งข่าว แต่ถ้าหากพวกเขาไม่ต้องออกไปข้างนอก ก็สามารถส่งข่าวจากที่ใดก็ได้ ซึ่งจะช่วยปกป้องนักข่าวได้อีกทางหนึ่ง

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของ DVB เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก โดยการริเริ่มส่งกระจายเสียงข่าวโดยวิทยุคลื่นสั้นจากสำนักงานประเทศนอรเวย์ และต่อมาเพิ่มการทำงานในส่วนของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่รัฐบาลพม่าไม่สามารถปิดกั้นได้ นอกจากนั้น สื่อขององค์กรแต่ละรูปแบบก็สนับสนุนการทำงานของกันและกันอย่างเป็นระบบ กล่าวคือเว็บไซต์นั้น เป็นการรวบรวมข่าวสารที่ผลิตขึ้นและใช้สืบค้นข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ไม่ใช่สื่อหลักขององค์กรที่ปัจจุบันเน้นการทำข่าวโทรทัศน์มากกว่า เนื่องจากต้องการให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักคือประชาชนในพม่าให้มากที่สุด ในขณะที่อิระวดี และ Mizzima เสนอข่าวผ่านเว็บไซต์เป็นหลักที่เข้าถึงประชาชน ชาวพม่าได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตามสำนักข่าวข้ามชาติ ทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ หลายครั้งก็ใช้ข่าวจากทั้งสององค์กรถ่ายทอดเข้าไปในพม่าเช่นกัน

สำหรับเทคโนโลยีใหม่อย่างโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ต (1) Mizzima ได้เริ่มนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมใน www.mizzima.tv ซึ่งเป็นการนำเอารายงานข่าวและสารคดีที่ทำในรูปแบบวีดีโอดิจิตอลมาเผยแพร่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ชมสามารถอ่านข่าวสารเมื่อใดก็ได้ที่ต้องการ อันที่จริงเทคโนโลยีนี้ แต่เดิมเป็นการเริ่มต้นจากการที่สถานีโทรทัศน์หรือสำนักข่าวต่างๆ นำภาพข่าวและรายการที่ออกอากาศไปแล้วมานำเสนออีกครั้งในอินเตอร์เน็ต ที่เข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่ไม่ได้รับชมตามเวลาออกอากาศ แต่ต่อมาก็มีการริเริ่มทำข่าวสำหรับโทรทัศน์อินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะขึ้น โดยมีลักษณะที่ข่าวนั้นจะต้องกระชับกว่าและทันเหตุการณ์มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะสื่อใหญ่ๆ ระดับประเทศหรือระดับโลกที่ต้องมีการแข่งขันสูง

(1) โทรทัศน์อินเตอร์เน็ต (Internet television) คือโทรทัศน์ที่แพร่ภาพผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ผู้ชมสามารถเลือกชมข่าวหรือรายการต่างๆ ได้ สถานีโทรทัศน์บางแห่งก็ใช้วิธีการเก็บไฟล์วีดีโอรายการที่ออกอากาศไปแล้ว นำมาเผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตอีกครั้ง สื่อนี้มีข้อดีที่รลงทุนไม่สูงนัก เหมาะกับองค์กรสื่อหรือหน่วยงานเล็กๆ เนื่องจากใช้อุปกรณ์ไม่มาก แต่จะไม่สะดวกสำหรับผู้รับที่ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วต่ำ เนื่องจากต้องใช้เวลารับสัญญาณนาน

ความก้าวหน้าของอินเตอร์เน็ต ทำให้การเข้าถึงสื่อในประเทศที่การสื่อสารค่อนข้างปิดกั้น สะดวกขึ้น และกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ทั่วโลกต่างก็เข้ามาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้เช่นกัน รวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองพม่าด้วย องค์กรเคลื่อนไหวหลายแห่งได้ผลิตสื่อของตนเอง และแม้แต่ผู้สนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวในพม่า ก็เริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

กรณีตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือเรื่องของ บล็อกเกอร์ (Bloggers) ที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายทั่วโลก ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่าได้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการสร้างบล็อกของตนเองขึ้นมาเพื่อเสนอเรื่องราว ข่าวสารจากพม่าในรูปแบบไดอารี่ออนไลน์ของตนเอง กลุ่มนี้ปรากฎตัวเด่นชัดเมื่อมีการติดต่อกับสื่อพม่าพลัดถิ่น และสื่อข้ามชาติจากการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 2007 โดยข้อมูลและรูปภาพจากบล็อกเกอร์ในพม่าจะผ่านกระบวนการด้านข่าว คือตรวจสอบข้อมูลและเรียบเรียงใหม่ แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อพม่าพลัดถิ่นและสื่อข้ามชาติที่มีเครือข่ายและได้รับความเชื่อถือไปทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าในเวลาต่อมา

ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์ได้มีการก่อตั้งกลุ่ม Burmese Bloggers without border เป็นชุมชนออนไลน์ของบล็อกเกอร์ในพม่า เพื่อเป็นการรณรงค์เรื่องเสรีภาพของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตในพม่า (2) โดยเฉพาะในกลุ่มบล็อกเกอร์ที่หลังจากการประท้วง ทางรัฐบาลได้มีการตรวจสอบค้นหาจับกุมอย่างหนักเช่นเดียวกับนักข่าวอิสระ ผู้แจ้งข่าว (Informers) จากคำบอกเล่าของนักข่าวต่างชาติที่อยู่ในพม่าช่วงนั้น กล่าวว่าเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบตามที่พัก โรงแรมต่างๆ เพื่อหานักข่าวที่อาจแฝงมาในรูปแบบของนักท่องเที่ยว และหลายคนก็ถูกขับออกจากพม่าในทันที และแม้แต่บางคนกำลังเดินทางเข้าพม่าและถึงสนามบินแห่งชาติมินกะลาโดงแล้ว ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ

(2) Burmese Blogger without Border. "About Us." [Online].Available http://bbwob.blogspot.com/ (March 25, 2008)

ความปลอดภัยของนักข่าวจึงเชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีทางการสื่อสารด้วย เนื่องจากหากนักข่าวมีอุปกรณ์ทันสมัย สามารถทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค แล้วส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม จะปลอดภัยกว่าการที่ต้องออกไปส่งข่าวผ่านร้านอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม การมีอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีมาก ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพข่าวด้านอื่นๆ ขององค์กรสื่อนั้นจะดีตามไปด้วย เนื่องจากยังต้องมองถึงปัจจัยด้านอื่นด้วย เช่นคุณภาพของเนื้อหา แหล่งข่าว ความสมดุลของเนื้อหา เป็นต้น ที่แต่ละสื่อต้องนำมาประกอบควบคู่กับการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและทำให้โลกนี้แคบลงเรื่อยๆ

สื่อพม่าพลัดถิ่นกับการสนับสนุนจากโลกตะวันตก

แม้ว่าองค์กรสื่อพม่าพลัดถิ่นที่เป็นกรณีศึกษาและเน้นย้ำถึงความเป็นอิสระ (Independence) ในเรื่องการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ กระนั้นก็ตาม ปัจจัยในการบริหารด้านอื่นๆ ก็ต้องการได้รับการสนับสนุนของชาติตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ในการศึกษานี้ชาติตะวันตกหมายถึง ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ได้แสดงเจตนาชัดเจน เรื่องการผลักดันให้พม่าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่หลังการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 1988 และให้การสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งในและนอกประเทศพม่า

ทั้งนี้ก่อนที่จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของชาติตะวันตกกับสื่อพม่าพลัดถิ่น ควรจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของประเทศพม่ากับประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าเพียงแค่วาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและวาทกรรมประชาธิปไตย ที่ถูกสร้างขึ้นจากทั้งรัฐบาลประเทศฝ่ายเหนือและสื่อมวลชนข้ามชาติ แต่ยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจของประเทศมหาอำนาจต่อประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ และเต็มไปด้วยปัญหาภายในอย่างพม่า รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

อันที่จริง ถ้ามองในแง่มุมทางการเมืองและยุทธศาสตร์แล้ว พม่ามีความสำคัญไม่มากนักต่อประเทศตะวันตก เนื่องจากภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญหลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า(Burma Communist Party: BCP) แต่เดิมนั้น พม่าไม่ได้มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ความสนใจสืบเนื่องมาจากประเด็นการส่งเสริมประชาธิปไตยของอเมริกา (N.Ganesan, 2005: 33-34)

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงฝ่ายค้าน นำโดยนางออง ซาน ซู จี เมื่อปี ค.ศ. 2003 ที่เมืองเดพายิน ประเทศสหรัฐอเมริกาได้แสดงถึงการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากการออกกฎหมายว่าด้วยประชาธิปไตยและเสรีภาพของพม่าในปี ค.ศ. 2003 (U.S. Burmese Freedom and Democracy Act of 2003) โดยรัฐบาลของประธานาธิบดี George W. Bush ได้เน้นย้ำว่า ภารกิจในการนำมาซึ่งประชาธิปไตยในประเทศพม่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงให้การสนับสนุนการทำงานของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ทั้งในและนอกประเทศพม่าและมีการประเมินสถานการณ์สม่ำเสมอ

สาเหตุที่สหรัฐอเมริกาสนใจในประเด็นเรื่องพม่า ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องต้องการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเหตุผลทั้งด้านยุทธศาสตร์การทหารและเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากเมื่อจีนปรับระบบเศรษฐกิจมาเปิดตลาดแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเมื่อประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับมีการขยายอำนาจทางการเมืองแฝงด้วย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อำนาจกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้เสื่อมถอยลงหลังถอนตัวออกจากความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม ได้เปิดช่องว่างให้จีนก้าวเข้ามามีอำนาจในภูมิภาคนี้ ส่งผลทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง เพื่อดำเนินนโยบายปิดล้อมจีน (China Containment Policy) (ดุลยภาค ปรีชารัชช, 2551: 183) แม้ว่านาง Condoleezza Rice รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ จะพยายามออกมาปฏิเสธว่า อเมริกาไม่มีนโยบายในการปิดล้อมจีนหรือสกัดกั้นบทบาทของจีนในเวทีโลก (3)

(3) China Daily. "US denies containment policy against China." March 17, 2006 [Online]. Available http://chinadaily.com.cn/english/doc/2006-03/17/content_543402.htm (March 29, 2008)

ส่วนด้านการทหารนั้น สหรัฐอเมริกายังคงสานความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ แม้จะไม่มากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคเอเชียกลาง โดยผ่านการประสานงานกับไทย ที่เด่นชัดและปรากฏเป็นข่าวมากที่สุดคือการฝึกรบประจำปี คอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) ที่ยังคงจัดขึ้นเป็นประจำ แม้ในช่วงที่ไทยมีปัญหาทางการเมืองอันเนื่องมาจากการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 2006 เพียงแต่ลดกำลังทหารลง แต่ก็กลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้งในปี ค.ศ. 2008. กรณีพม่า นโยบายอย่างเป็นทางการของสหรัฐที่มีการประกาศออกนั้น มักจะเน้นย้ำถึงเป้าหมายในการผลักดันให้พม่าแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหายาเสพติด และให้เข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตย

ในส่วนของสื่อพลัดถิ่น มีการสนับสนุนหลายด้านผ่านหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้แก่

การสนับสนุนทางด้านนโยบาย ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2003 ระบุว่า สหรัฐฯสนับสนุนการทำงานของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของพม่า ในเชิงโยบายนั้นดำเนินงานผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในกรุงเทพมหานคร และสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มีการร่วมในกิจกรรมอันหลากหลายเพื่อสนับสนุนนักเคลื่อนไหวเหล่านั้นที่มีฐานการทำงานในประเทศไทย

"Despite the challenges that have arisen, United States Embassies Rangoon and Bangkok as well as Consulate General Chiang Mai are fully engaged in pro-democracy efforts. The United States also supports organizations, such as the National Endowment for Democracy, the Open Society Institute, and Internews, working inside and outside the region on a broad range of democracy promotion activities. U.S.-based broadcasters supply news and information to the Burmese people, who lack a free press. U.S. programs also fund scholarships for Burmese who represent the future of Burma." (4)

(4) Bureau of East Asian and Pacific Affairs. US Department of State. 2003. "Report on Activities to Support Democracy Activists in Burma as Required by the Burmese Freedom and Democracy Act of 2003". [Online] Available http://www.state.gov/p/eap/rls/rpt/burma/26017.htm (March 29, 2008)

เจ้าหน้าที่จากสถานทูตมักจะเดินทางไปเขตชายแดนเพื่อพบกับเหล่านักเคลื่อนไหว และติดตามสถานการณ์และเพื่อแสดงการสนับสนุนองค์กรที่ทำงานในประเด็นพม่า รวมถึงการจัดประชุมและอภิปรายกลุ่ม ระหว่างกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวพม่าพลัดถิ่นและ NGOs ที่ทำงานสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่า นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ของสถานทูตและสถานกงสุลยังเข้าร่วมในกิจกรรม การฝึกอบรม สัมมนาที่จัดโดยกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย และยังเปิดโอกาสและสนับสนุนเหล่านักเคลื่อนไหวในการฝึกอบรมและประสานงานในสหรัฐอเมริกา และจัดการนัดหมายต่างๆ ให้กับบุคคลเหล่านี้เมื่อเดินทางไปอเมริกา และอีกภารกิจหนึ่งคือ สนับสนุนให้รัฐบาลไทยเปิดกว้างให้กับกิจกรรมทางการเมืองที่ทำการอย่างสงบของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของพม่า

ด้านเงินทุนดำเนินงาน ผ่าน National Endowment for Democracy (NED) และ Open Society Institute (OSI) ที่ทั้งสององค์กรเป็นแหล่งทุนหลักของทั้งสื่อพลัดถิ่นและองค์กรรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่ามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 แต่ทั้งนี้ก็มีข้อขัดแย้งในเรื่องความเป็นอิสระของสื่อ เนื่องจากรัฐบาลพม่ามักจะกล่าวโทษว่าสื่อเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายพม่าโดยชาติตะวันตก นอกจากนั้น บางส่วนยังได้รับการสนับสนุนผ่าน United States Agency for International Development (USAID) ด้วย (5)

(5) United States Agency for International Development . "Data Sheet."[Online]. Available http://www.usaid.gov/policy/budget/cbj2007/ane/pdf/rdma_486-001.pdf (March 20, 2008)

ด้านการพัฒนาบุคลากร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 องค์กรอินเตอร์นิวส์ (Internews) ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ให้ฝึกอบรมผู้สื่อข่าวจากพม่าที่อาศัยในแถบชายแดน ใน 4 ด้านคือ 1.วารสารศาสตร์เบื้องต้น 2. การจัดการองค์กร 3. การบรรณาธิการ 4. การออกแบบทางวารสารศาสตร์. ในปี ค.ศ. 2002 อินเตอร์นิวส์ ตั้งโรงเรียนที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้สื่อข่าวพม่ารุ่นใหม่ ในการทำข่าวเชิงสืบสวน การวิเคราะห์ และเทคนิควารสารศาสตร์เบื้องต้น ในแต่ละปีจะมีนักเรียนรุ่นละประมาณ 10-20 คนเข้าร่วมหลักสูตรนานประมาณ 6-8 เดือน ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวรุ่นใหม่จากทั้งในประเทศพม่าและจากเขตชายแดน ทั้งสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์และเชื้อสายพม่า โดยหลักสูตรที่สอนจะเน้นเรื่องทักษะด้านวารสารศาสตร์ ความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งสถานการณ์ความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันด้วย

การพัฒนาบุคลกรจากอินเตอร์นิวส์ ได้ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่เกิดจากการขาดแคลนนักวารสารศาสตร์ในแวดวงสื่อพลัดถิ่น แม้ในประเทศพม่าเองก็ขาดแคลนนักข่าวที่มีคุณภาพ เนื่องจากนโยบายการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด ทำให้ในพม่าเองยังไม่มีการสอนวิชาวารสารศาสตร์และนิเทศศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา อีกทั้งคุณภาพการศึกษาในพม่าปัจจุบันยังมีปัญหา ทำให้นักศึกษาที่จบออกมาไม่เท่าทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักจะถูกละเลยเรื่องการศึกษา บางกลุ่มจึงลักลอบส่งลูกหลานมาเรียนหนังสือที่ชายแดนเขตไทย ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ได้รับการศึกษาที่ดีกว่า และเลี่ยงจากการที่เด็กต้องเสี่ยงถูกนำไปฝึกเป็นทหารตั้งแต่เด็กด้วย. ส่วนนักข่าวที่ทำงานในสื่อของรัฐบาลพม่าเองนั้น ถูกส่งไปศึกษาอบรมที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดมากเช่นกัน (6) จึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานยังไม่อยู่ในมาตรฐานของวิชาชีพสื่อสารมวลชนแบบตะวันตก

(6) Nicholas Farrelly. 2007. "Interview with Professor David Steinberg." [Online] Available http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2007/07/26/interview-with-professor-david-steinberg (March 15, 2008)

บุคลากรของสื่อพลัดถิ่นที่มีความสามารถ มักจะเป็นที่ต้องการของสื่อข้ามชาติภาคภาษาพม่า เช่น BBC, VOA, RFA, หลายคนจึงย้ายถิ่นฐานไปทำงานในต่างประเทศร่วมกับสื่อเหล่านี้ หรือบางคนที่เป็นชนกลุ่มน้อย ก็อพยพย้ายถิ่นฐานกับครอบครัวไปพำนักอยู่ในประเทศที่สามทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือออสเตรเลีย ในฐานะผู้ลี้ภัย (Refugee) ทำให้แทบทุกองค์กรสื่อพลัดถิ่นประสบปัญหาด้านบุคลากรที่มีประสบการณ์และทักษะไม่เพียงพอต่อการเติบโตของงาน โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปหลังการประท้วงปี ค.ศ. 2007 ที่ทำให้ต้องใช้ทักษะ กลยุทธ์ในการหาข่าวไป พร้อมๆ กับต้องคอยหลบเลี่ยงการจับกุมของรัฐบาลไปด้วย

อย่างไรก็ตาม อินเตอร์นิวส์ก็ยังไม่สามารถอบรมผู้ทำงานด้านโทรทัศน์ได้ เนื่องจากเน้นที่ด้านสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุเป็นหลัก ทำให้ต้องมีการร่วมมือกับ DVB ซึ่งมีทั้งวัสดุอุปกรณ์และบุคลากรที่มีประสบการณ์เพื่อฝึกร่วมอบรม

การสนับสนุนจากประเทศยุโรป

ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับประเทศในยุโรปนั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่พม่าถูกครอบครองโดยอังกฤษ แม้ในปัจจุบันความสัมพันธ์จะแปรเปลี่ยนไปหลังจากที่พม่าได้รับเอกราชมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ในกลุ่มประเทศยุโรปที่เกี่ยวข้องกับพม่าหลักๆ ก็คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย. ด้านท่าทีของสหภาพยุโรปที่มีต่อรัฐบาลทหารพม่า ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับสหรัฐอเมริกา โดยใช้การประณามและใช้มาตรการกดดันเพื่อให้พม่าแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและก้าวสู่วิถีประชาธิปไตยตั้งแต่ ค.ศ. 1990 นอกจากนั้นยังได้ให้การช่วยเหลือแก่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มผู้ลี้ภัยจากพม่าไปตั้งรกรากด้วย

เมื่อพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน กลุ่มสหภาพยุโรปได้กดดันให้ไทยและสมาชิกอาเซียนดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า และเมื่อมีการประชุมระหว่างกลุ่มสหภาพยุโรปเตรียมการประชุม Asia-Europe Summit ในปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลอังกฤษในฐานะเจ้าภาพได้ตัดสินใจไม่ออกวีซ่าให้กับผู้นำทหารพม่า เพื่อกีดกันการเข้าร่วมประชุ่มในครั้งนั้น (7) แม้กระทั่งในปี ค.ศ. 2007 ที่ประเทศกลุ่ม ASEAN และสหภาพยุโรปมีความพยายามที่จะตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีร่วมกัน แต่ประเด็นเรื่องพม่าก็ยังเป็นปัญหาใหญ่อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้การตกลงไม่มีผลคืบหน้านัก (8)

(7) โกสุมภ์ สายจันทร์ "ท่าทีของสหภาพยุโรปต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองพม่า." บทความนำเสนอในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "สหภาพยุโรปในปัจจุบันและความสัมพันธ์กับประเทศไทย" จัดโดยศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาตร์ ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2551 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: หน้า 9

(8) Sai Silp.2007."Burma an Issue in Asean-EU Trade Talks." [Online] Available http://www.irrawaddy.org/print_article.php?art_id=6740 (March 18, 2008)

ในด้านที่สัมพันธ์กับสื่อพลัดถิ่นนั้น โดยมากเป็นการสนับสนุนด้านเงินทุนดำเนินงาน ทั้งจากองค์กรแหล่งทุนและผ่านสถานทูตต่างๆ กรณีที่เห็นได้เด่นชัดในการสนับสนุนโดยตรงก็คือการสนับสนุนของประเทศนอรเวย์ต่อ DVB ซึ่งในปัจจุบันได้มีสถานะเป็นมูลนิธิแห่งหนึ่งที่มีแหล่งทุนโดยตรงคือกระทรวงการต่างประเทศของนอรเวย์ (9) นอกจากนั้นการสนับสนุนองค์กรนี้ยังเป็นไปอย่างเปิดเผยมาโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ชัดเจนของประเทศนอรเวย์

(9) สัมภาษณ์ Toe Zaw Latt ผู้จัดการ DVB สำนักงานประเทศไทย

สื่อพม่าพลัดถิ่นกับบริบทการดำเนินงานในประเทศไทย

แม้ว่า DVB จะก่อตั้งขึ้นในประเทศนอรเวย์ และMizzima จะตั้งขึ้นในประเทศอินเดีย แต่ทั้งสององค์กรก็มีสำนักงานในประเทศไทยในเวลาต่อมา รวมทั้งอิระวะดีที่ก่อตั้งในประเทศไทยมาตั้งแต่แรก ทำให้เห็นว่ามีปัจจัยหลายประการในประเทศไทยที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของสื่อพม่าพลัดถิ่นทั้งด้านบวกและลบ ดังสรุปได้ดังนี้

1. บริบททางการเมืองและนโยบายของประเทศไทยต่อพม่า

การที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะสื่อมวลชน ได้รับการสนับสนุนในระดับหนึ่ง แม้ว่าสื่อในประเทศไทยเองจะมีปัญหาในเรื่องการปิดกั้นสื่อของรัฐอยู่ แต่เมื่อเทียบกับในพม่าแล้ว ถือว่าดีกว่าการปิดกั้นข่าวสารและจับกุมนักข่าวของรัฐบาลทหารพม่า นอกจากนั้นประเทศไทยยังเปิดให้กับองค์กรส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนพม่าเข้ามาทำงาน เช่น Human Rights Watch, Asian Human Rights Commissions, Amnesty International, SEAPA, RSF, CPJ เป็นต้น ทำให้การทำงานของสื่อพม่าพลัดถิ่นสะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่นโยบายของประเทศไทยในเรื่องพม่ายังคงไม่มีความชัดเจน และมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางของแต่ละรัฐบาล ส่งผลกระทบในเรื่องความปลอดภัยและเสรีภาพในการทำงานของสื่อพม่าพลัดถิ่น ดังที่ SEAPA องค์กรที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของสื่อและนักข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกรายงานหลังจากการสัมมนาของนักข่าวพลัดถิ่นจากพม่าเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ว่า

"การที่รัฐบาลประเทศพม่าและเพื่อนบ้านมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากขึ้นอันเนื่องมาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อชาวพม่าที่อยู่ในประเทศไทย อินเดีย และบังกลาเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักข่าวที่ได้รับการปกป้องเรื่องสิทธิของพวกเขาไม่มากนัก สถานการณ์ทางการเมืองที่ย่ำแย่ลงในพม่า พร้อมกับมาตรการกวาดล้างทางการเมืองและการใช้มาตรการควบคุมสื่ออย่างรุนแรงของรัฐบาลย่างกุ้ง เป็นเหตุให้เกิดความวิตกในกลุ่มนักข่าวพม่าพลัดถิ่น รวมถึงนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปต่อพม่าของประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในความเสี่ยงและการถูกปราบปรามหนักขึ้น" (10)

(10) Southeast Asian Press Alliance.2005. "Exiled Burmese journalists need protection" [Online]. Available
http://www.seapabkk.org/newdesign/newsdetail.php?No=409 (April 2, 2008)

ในรายงานยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้สื่อข่าวชาวพม่าในประเทศไทยของ DVB ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งไทยและพม่าที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามาจากหน่วยงานใด กดดันให้ออกจากที่พักในจังหวัดระนองของไทย เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005. นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังบอกด้วยว่า กลุ่มผู้สื่อข่าวในจิตตะกองในบังคลาเทศ คือ เครือข่ายสื่อ Kaladan Press Network ซึ่งทำข่าวเรื่องกลุ่มมุสลิมโรฮิงยา ถูกบังคับให้ปิดสำนักงานเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 หลังการปราบปรามของเจ้าหน้าที่บังคลาเทศ สมาชิกบางคนถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมทางศาสนา และถูกควบคุมตัวไว้โดยไม่มีการตั้งข้อหา

ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2008 นักข่าวพลัดถิ่นชาวพม่าในอินเดีย 4 คนจาก BBC, RFA, DVB, และบรรณาธิการของ Khonumthung ถูกจับกุมที่นิวเดลีพร้อมกับผู้ประท้วงชาวทิเบต ระหว่างที่มีการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิคที่จะจัดขึ้นในจีน (11) ในขณะที่ Mizzima เองก็มักจะเกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เมืองเดลี ที่ตั้งสำนักงานใหญ่เป็นระยะๆ เช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ก็ถูกสั่งให้ปิดสำนักงานเป็นเวลาสามวัน ด้วยเหตุผลว่า จัดตั้งอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายอินเดีย ซึ่งผู้บริหารขององค์กรมองว่า เป็นเพราะการสื่อสารกับหน่วยงานท้องถิ่นมากกว่าเป็นนโยบายจากรัฐบาลกลาง (12)

(11) Sai Silp.2008. "Demonstrators Warned as Olympic Torch Arrives in Thailand" [Online] Available http://www.irrawaddy.org/highlight.php?art_id=11454 (April 18, 2008)

(12) สัมภาษณ์ Sein Win ผู้จัดการสำนักงาน Mizzima ประเทศไทย

สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงานของสื่อพม่าพลัดถิ่นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น หลังการประท้วงของพระสงฆ์ ปี ค.ศ. 2007 สำนักงานของ The New Era ถูกเจ้าหน้าที่ไทยในกรุงเทพสั่งปิดชั่วคราว ด้วยเหตุผลว่าดำเนินกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทย ทำให้ในช่วงเวลานั้นสำนักงานของสื่อพม่าพลัดถิ่นอื่นๆ เพิ่มความระมัดระวังในการทำงานมากขึ้น เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าว สื่อข้ามชาติทั่วโลกต่างอ้างถึงรายงานขององค์กรเหล่านี้และระบุว่ามีสำนักงานในไทย ที่อาจจะทำให้รัฐไทยเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์กับพม่า แต่ทั้งนี้รัฐบาลไทยเองก็ต้องรักษาความสัมพันธ์กับประชาคมโลก ที่สนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยในพม่าด้วย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ได้ออกประกาศควบคู่กับกฎหมาย Burmese Freedom and Democracy Act of 2003 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ไทยและจีนไม่ทำหน้าที่สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่าเท่าที่จะทำได้ วุฒิสมาชิก แม็คคอเนลล์ รองประธานวุฒิสมาชิกฝ่ายเสียงข้างมาก ได้ส่งสารไปยังวุฒิสภาเพื่อกล่าวโจมตีไทยว่า ควรจะปกป้องประชาธิปไตยในพม่ามากกว่าที่จะหาทางออกให้แก่รัฐบาลทหารของพม่าที่เป็นเผด็จการ โดยได้ระบุว่า ขอให้ไทยสังเกตถึงข้อกำหนดที่ประกอบอยู่ในมติวุฒิสภาที่ 1426 ในกฎหมายเรื่องปฏิบัติการต่างประเทศตามงบประมาณปี ค.ศ. 2004 ว่าเป็นเงื่อนไขของการที่สหรัฐให้ความช่วยเหลือไทย ตามการตัดสินใจของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ โดยถือว่า

1) ไทยสนับสนุนความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในพม่า และดำเนินการในการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าในกรุงย่างกุ้ง
2) ไทยไม่ขัดขวางการส่งความช่วยเหลือผู้อพยพที่ลี้ภัยอยู่ในไทย
3) ไทยจะไม่ส่งชาวพม่ากับไปยังพม่าโดยการบังคับ (13)

(13) โกสุมภ์สายจันทร์. อ้างแล้ว. 2551: หน้า 11

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางหนึ่ง รัฐบาลไทยมักจะแถลงว่าได้เห็นความสำคัญและพยายามช่วยผลักดันประชาธิปไตยในพม่า แต่อีกด้านหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนกว่าคือการลงทุนของไทยในพม่าที่สูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะด้านพลังงาน อันทำให้รัฐบาลไทยกลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นๆ ของพม่า แม้ว่าหลายๆ โครงการนั้น จะถูกต่อต้านเนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น โครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวิน ที่อาจทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในพม่าเพิ่มขึ้นอีกหลายแสนคน

นโยบายที่ซับซ้อนดังกล่าว ส่งผลกระทบกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองพม่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย ชนกลุ่มน้อย รวมถึงสื่อพม่าพลัดถิ่นด้วยที่มีการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเห็นว่านับวันความสำคัญด้านเศรษฐกิจของพม่าที่มีต่อเพื่อนบ้านจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลกับนโยบายทางการเมืองต่อพม่าไปด้วย

2. ความใกล้ชิดของชายแดน

การที่ประเทศไทยกับพม่ามีชายแดนติดต่อกันยาวถึงเกือบสองพันกิโลเมตร โดยติดต่อกับรัฐต่างๆ ของพม่าทั้งไทใหญ่ กะเหรี่ยง คะเรนนี และมอญ ทำให้มักจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นหรือกระทบกับแนวชายแดนเสมอ รวมทั้งการหลั่งไหลของผู้คนจากพม่าเข้ามาในประเทศไทยนับล้านคน ล้วนมีผลต่อการทำงานของสื่อพม่าพลัดถิ่นด้วย อย่างไรก็ตาม การอยู่ใกล้ชิดชายแดนก็มีความสะดวกต่อการทำงานของนักข่าวที่ต้องการติดต่อสื่อสารโดยการข้ามแดนเข้าไป ซึ่งเสี่ยงน้อยกว่าการเข้าไปอย่างเป็นทางการ เนื่องจากโดยมากแล้ว นักข่าวของสื่อพลัดถิ่น มักจะเป็นกลุ่มที่ทางการพม่าไม่อนุญาตให้เข้าประเทศหรือต้องการที่จะจับกุมตัวอยู่แล้ว

นอกจากนั้นปัจจุบันกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องพม่าต่างมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยหลายองค์กร และหลายประเด็น ไม่ว่าจะด้านการเมือง สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การย้ายถิ่น สิทธิมนุษยชน และกลุ่มองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Aid Agencies) ที่มักจะประสบปัญหาในการเข้าไปทำงานในพม่า เนื่องจากความเข้มงวดของรัฐบาลพม่า จึงใช้วิธีให้ทุนหรือดำเนินงานในเขตประเทศไทยแทน เช่น กองทุนโลก (Global Fund) ที่ทำงานเรื่องสุขภาพในพม่าเมื่อปี ค.ศ. 2006 เนื่องจากการที่รัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้เข้าทำงานในพื้นที่และเข้มงวดกับการเดินทางของเจ้าหน้าที่องค์กร (14)

(14) Chris Beyrer and others. 2007. "Neglected diseases, civil confl icts, and the right to health." The Lancet, (August , 2007): 624

องค์กรเหล่านี้ยังให้ทุนสนับสนุนโครงการควบคุมโรคมาลาเรียจากชายแดนไทย-พม่า กรณีนี้ทำให้เห็นว่าพื้นที่ประเทศไทยเป็นทางออกหนึ่งในการดำเนินงานของกลุ่มดังกล่าว ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งข่าวของสื่อพม่าพลัดถิ่นไปด้วย องค์กรช่วยเหลือดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำงานเกี่ยวกับผู้คนจากพม่าเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของไทยด้วยที่ยังมีปัญหาทั้งเรื่องความขัดแย้งภายในประเทศและปัญหาความยากจน ดังจะเห็นได้จากมีสำนักงานขององค์กรให้ความช่วยเหลือเหล่านี้อยู่มากมายหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

สำหรับนิตยสารอิระวดี ซึ่งมีขอบข่ายเนื้อหาครอบคลุมถึงข่าวที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การมีสำนักงานในประเทศไทยทำให้ต้องมีความสัมพันธ์กับสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อไทยเอง หรือสื่อข้ามชาติที่มีสำนักงานในไทยไปด้วย เช่น หนังสือพิมพ์ The Nation และ Bangkok Post โดยเฉพาะกับ The Nation นั้นมีคอลัมน์ Regional ที่รายงานข่าวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ในบางครั้งก็มีข้อเขียนของบรรณาธิการของอิระวดี และ DVB ลงตีพิมพ์ด้วย

3. ความสะดวกทางเทคโนโลยีการสื่อสารและการพิมพ์

ประเทศไทยและอินเดียถือได้ว่ามีเทคโนโลยีทางการสื่อสารใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโทรศัพท์ภายในและทางไกล อินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสำหรับการผลิตสื่อ ประกอบกับธุรกิจด้านเทคโนโลยีการสื่อสารของไทยมักจะตอบสนองต่อความก้าวหน้าด้านนี้ในโลกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ใหม่ๆ หรือระบบใหม่ๆ สามารถจะจัดหาได้ไม่ยาก ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่อำนวยความสะดวกแก่การทำงานของสื่อมวลชนทั้งหลาย ทางด้านการพิมพ์ นิตยสารอิระวะดีได้จัดพิมพ์นิตยสารสี่สีที่โรงพิมพ์ในจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่ช่วงแรกๆ จัดพิมพ์ที่กรุงเทพมหานครแต่มีปัญหาเรื่องการขนส่ง ประกอบด้วยต่อมาโรงพิมพ์ในจังหวัดเชียงใหม่มีการพัฒนาด้านการพิมพ์ขึ้น สามารถจัดพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สี่สีทันสมัยได้ จึงได้ย้ายมาพิมพ์ที่โรงพิมพ์ในจังหวัดเชียงใหม่ในเวลาต่อมา ส่วนวารสารของ Mizzima นั้นจัดพิมพ์ที่ประเทศอินเดีย

ในขณะที่ DVB มีสำนักงานหลักอยู่ที่ประเทศนอรเวย์ ทำให้การดำเนินงานมีการรองรับในกรณีที่เกิดปัญหากับการทำงานในประเทศไทย เช่น เรื่องดาวเทียมสื่อสารที่ใช้สำหรับส่งสัญญานโทรทัศน์ไม่ได้ใช้ดาวเทียมไทยคม ที่ก่อนหน้านี้ดำเนินการโดยบริษัทไทย แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นของบริษัทเทมาเสกของสิงคโปร์ แม้ว่าสัญญาณของไทยคมจะครอบคลุมพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลี และบางส่วนของจีนด้วย (15) แต่ผู้บริหาร DVB เลือกใช้บริการของดาวเทียมรายอื่น เนื่องจากรู้สึกไว้วางใจมากกว่า

(15) Thaicom Satellite. Shin Sattellite Public Company Limited. "Thaicom 1A." [Online] Available http://www.thaicom.net/pages/our_satellite.aspx (April 19, 2008)

บริษัทชินแซทเทลไลท์ ได้ให้บริการสัญญาณดาวเทียมเพื่อการสื่อสารแก่รัฐบาลพม่า อันเนื่องมาจากข้อตกลงในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แม้เมื่อถูกขายให้แก่บริษัทสิงคโปร์แล้ว ยิ่งใกล้ชิดกับรัฐบบาลพม่ามากขึ้น เนื่องจากสิงคโปร์นั้นให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีการสื่อสารกับรัฐบาลพม่าอยู่แล้ว

4. กฎหมายและนโยบายเรื่องสื่อมวลชนของไทย

ในบรรดาประเทศที่แวดล้อมพม่า ประเทศไทยและอินเดียเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของสื่อมวลชน แม้ว่าอาจไม่เต็มที่และมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการควบคุมและครอบงำสื่อมวลชนโดยรัฐบาลและกลุ่มทุนอยู่เสมอ แต่การโต้แย้งก็ยังอยู่ในกรอบของประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนมีการพัฒนาตนเอง และเปิดรับข่าวสารจากภายนอกประเทศอย่างมาก ปัจจัยนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานของสื่อพลัดถิ่น เนื่องจากทำให้สื่อพลัดถิ่นได้ทำงานภายใต้นโยบายที่เปิดกว้างมากกว่าประเทศที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยมหรือเผด็จการ อันสามารถที่จะได้รับการปกป้องเชิงนโยบายจากผู้ให้ทุนทางตะวันตกที่สนับสนุนประชาธิปไตย

การเปิดกว้างสำหรับสื่อมวลชนในทางกฎหมายไทย ยังรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนถึงการทำงานของรัฐ ซึ่งเป็นสิทธิในการรับรู้ของประชาชน แม้ว่าในทางปฏิบัติทางรัฐเองก็มีขั้นตอนมากมายกว่าที่จะให้ข่าวกับสื่อมวลชนได้ โดยเฉพาะในเรื่องพม่านั้น เป็นประเด็นที่อ่อนไหวโดยรัฐบาลมักจะใช้เหตุผลว่า ต้องระมัดระวังว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่ในหลายครั้ง ประเด็นปัญหานั้นเป็นสิ่งที่กระทบถึงประชาชนในประเทศไทยด้วย เช่นกรณีข่าวสุขภาพอนามัยบริเวณชายแดน และข่าวยาเสพติดเป็นต้น แต่เนื่องจากการทำงานของสื่อพม่าพลัดถิ่นมักจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและภาษาพม่า ดังนั้นจึงเข้าถึงกลุ่มผู้รับสารคนไทยไม่มากนัก แต่กระนั้นก็ตาม ในกระบวนการทำสื่อก็ยังให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน เช่น ตำแหน่งการจัดวางพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยที่จะต้องจัดวางเหนือภาพและตัวหนังสือพาดหัวต่างๆ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ของสื่อพม่าพลัดถิ่นกับสื่อข้ามชาติและสื่อมวลชนไทย

สื่อพม่าพลัดถิ่นนั้นมีความสัมพันธ์กับสื่อข้ามชาติมาตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากแต่ก่อนสื่อ นอกเหนือจากสื่อทางการที่รายงานเรื่องพม่าต่อโลกภายนอก และแม้แต่กระทั่งภายในพม่าก็คือ สื่อข้ามชาติ อันได้แก่ BBC, VOA เป็นต้น ซึ่งก่อนเหตุการณ์ประท้วงปี ค.ศ. 1988 มีข่าวเรื่องพม่าเพียงแค่ 5-10 นาที และผู้ฟังก็ไม่ได้สนใจข่าวสารมากนัก เนื่องจากขณะนั้นเศรษฐกิจของประเทศยังดีอยู่ แต่หลังการประท้วงก็มีข่าวพม่าเพิ่มขึ้น รวมถึงพม่ากลายเป็นประเทศที่สื่อต่างประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะทางตะวันตกให้ความสนใจ (16)

(16) สัมภาษณ์ Zin Linn นักเขียนชาวพม่าและเป็นสมาชิกของ NCGUB

ในปี 2005 ได้เกิดสื่อข้ามชาติที่น่าสนใจอีกสื่อหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ของสื่อทางเลือกขนาดใหญ่ในยุคที่สื่อกระแสหลักระดับโลกอย่าง CNN, BBC, ซึ่งมีอิทธิพลต่อการไหลเวียนของข่าวสารทั่วโลกอย่างมาก กล่าวคือ การเปิดตัวของโทรทัศน์ของโลกอาหรับในภาษาอังกฤษอย่าง Aljazeera ที่ได้บุคลกรจำนวนมากจาก BBC เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรและถอดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก. Aljazeera ได้กลายเป็นสื่อหลักในประเทศแถบเอเชียกลางอย่างรวดเร็ว และทำงานครอบคลุมรายงานความขัดแย้งทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย ที่พม่าถือเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญในนั้น การทำงานของ Aljazeera ทำให้มีข่าวสารเรื่องพม่าในสื่อข้ามชาติมีมากและบ่อยครั้งขึ้นอีกทางหนึ่ง

ข่าวสารเรื่องพม่าที่ปรากฏในสื่อข้ามชาติในช่วงทศวรรษที่ 1990 จนถึงปัจจุบัน มักจะเน้นเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ แต่กระนั้นการที่สื่อพม่าพลัดถิ่นปรากฏขึ้น ก็ได้กลายเป็นแหล่งข่าวของสื่อข้ามชาติเหล่านี้ไปด้วย เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ข่าวโดยตรงจากพม่านั้นยังคงเป็นสิ่งที่หาได้ยากและยังไม่น่าเชื่อถือนัก นอกจากนั้นการที่นักข่าวและบรรณาธิการของสื่อพม่าพลัดถิ่น ได้ทำงานอยู่กับข้อมูลเหล่านี้เป็นเวลายาวนานและต่อเนื่อง จึงสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์ได้ลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้จากการเป็นแหล่งข่าวของทั้ง อิระวดี, DVB และ Mizzima ในการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 2007 แก่สื่อข้ามชาติใหญ่ๆ และสื่อของประเทศต่างๆ อีกมากมาย

แต่ทั้งนี้สื่อพม่าพลัดถิ่นก็พึ่งพาอาศัยข้อมูลจากสื่อข้ามชาติที่ส่งนักข่าวเข้าไปในพม่าเช่นกัน แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว นักข่าวชาวตะวันตกเป็นเป้าหมายให้ทางการสังเกตได้ง่ายกว่าชาวพม่าเอง โดยมากจึงถูกขับออกจากประเทศหรือไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ แม้จะแฝงเร้นเข้าไปในฐานะนักท่องเที่ยวก็ตาม ในทางเดียวกันถือว่าสื่อทั้งสองกลุ่มมีการพึ่งพาอาศัยกัน คือสื่อข้ามชาติก็เรียนรู้เรื่องพม่าจากสื่อพม่าพลัดถิ่น และสื่อพม่าพลัดถิ่นก็เรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำงานของสื่อในมาตรฐานของสากลจากสื่อข้ามชาติด้วย

ในขณะที่สื่อมวลชนไทยนั้น แม้ว่าจะอาศัยข่าวสารเรื่องพม่าจากสื่อข้ามชาติเป็นหลัก แต่ระยะหลังก็มีการติดตามจากสื่อพม่าพลัดถิ่นด้วย เช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสือพิมพ์มติชน แต่กับสื่อไทยในภาษาอังกฤษอย่าง The Nation และ Bangkok Post นั้นได้มีการติดต่อกันมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว นอกจากนั้น ปัจจุบันสื่อทางเลือกของไทยที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นพม่าด้วยอย่าง เว็บไซต์ประชาไท สำนักข่าวเชื่อม นิตยสารสาละวินโพสต์ ก็ได้ใช้ข้อมูลบางส่วนจากสื่อพม่าพลัดถิ่นด้วยเช่นกัน

สื่อพม่าพลัดถิ่นค่อนข้างมีความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย (Foreign Correspondent of Thailand) อันเป็นศูนย์รวมของผู้สื่อข่าวและนักเขียนที่ทำงานทั้งในประเด็นของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นหลายครั้งที่มีการจัดการแถลงข่าวขององค์กรที่ทำงานเรื่องพม่าในประเด็นที่ไม่สามารถเปิดเผยในพม่าได้ เช่น เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชนกลุ่มน้อย และเรื่องสาธารณสุข เป็นต้น ก็จะนำมาแถลงข่าวที่สำนักงานของ FCCT ที่กรุงเทพ ซึ่ง FCCT ก็มักจะเชิญนักข่าวหรือบรรณาธิการของสื่อพลัดถิ่นเข้าร่วมทำข่าวหรือเป็นวิทยากรด้วย

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกกลับไปทบทวนบทความเกี่ยวเนื่อง

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๑ : Release date16 August 2008 : Copyleft MNU.

ในพม่านั้น ประเด็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่ถูกคุมขังในฐานะนักโทษทางการเมือง องค์กรเหล่านี้มีส่วนในการร่วมกดดันทางนโยบายผ่านการออกจดหมายเรียกร้อง แถลงการณ์ การรณรงค์ แม้แต่การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของสื่อ ตัว อย่างขององค์กรเหล่านี้ซึ่งทำงานตรวจสอบสถานการณ์สื่อทั้งในพม่าและสื่อพลัดถิ่นจากพม่า เช่น Reporter Sans Frontier (RSF), Committee to Protect Journalists (CPJ), Internation- al Freedom of Expression Exchange (IFEX), Article 19, Asia Media Forum (AMF) และในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ SEAPA (คัดลอกมาจากบทความ)

H