ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




19-09-2551 (1639)

ชุดความรู้นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่: แนวคิดประชาธิปไตยในช่วงวิกฤต
นักวิชาการเชียงใหม่สคูล: กับวิกฤตประชาธิปไตยในอุ้งมือพันธมิตรฯ

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

บทความเหล่านี้ นำมาจากเว็บไซต์ประชาไท และจากจดหมายอิเล็กทรอนิก
ในส่วนของหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่อง และภาคผนวกดังต่อไปนี้
๑. ฉลาดชาย วิพากษ์วาทกรรมประชาธิปไตย วิจารณ์การเมืองใหม่ 70:30
๒. ธเนศวร์ เจริญเมือง : ประชาธิปไตยแบบอารยะ (Civilized democracy)
- การเมืองใหม่-รัฐบาลใหม่และทางเลือกใหม่ของสังคมไทย
- สังคมไทยต้องก้าวไปสู่ประชาธิปไตยแบบอารยะ
๓. การเมืองซ่อนอะไร? สังคมหาอะไร? ยศ สันตสมบัติ: คำถามถึงประชาธิปไตยและนิติรัฐ
ภาคผนวก: Worse than a coup, The Economist
- พระราชวังและเส้นทางสู่หายนะแบบพม่า

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๓๙
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชุดความรู้นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่: แนวคิดประชาธิปไตยในช่วงวิกฤต
นักวิชาการเชียงใหม่สคูล: กับวิกฤตประชาธิปไตยในอุ้งมือพันธมิตรฯ

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

๑. ฉลาดชาย วิพากษ์วาทกรรมประชาธิปไตย วิจารณ์การเมืองใหม่ 70:30

16 ก.ย. 2551 มีการจัดเวทีวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์บ้านเมืองและผลกระทบที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยช่วงบ่ายได้มีเวทีอภิปรายร่วมเรื่อง "ข้อเสนอแนะที่เป็นทางออกอย่างเหมาะสมของวิกฤติบ้านเมืองและจุดยืนของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" มี อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ จากศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมอภิปราย

อ.ฉลาดชาย กล่าวว่าการมีสภาชนเผ่านั้น ตั้งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือแบบมีส่วนร่วม โดยกล่าวต่อว่าการรวมกลุ่มองค์กรเพื่อการกดดันเป็น "องค์ประกอบที่จำเป็นมากมหาศาล" สำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของประชาสังคมหรือ Civil Society ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่เป็นเพียงปัจเจกที่ถูกลดคุณค่าอยู่แค่ 1 คน 1 เสียง ซึ่งจะมีความสำคัญแต่เฉพาะตอนเลือกตั้งเท่านั้น

อ.ฉลาดชาย พูดต่ออีกว่า วิกฤตประชาธิปไตยประเทศเราในปัจจุบันเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มทุนเก่า กับกลุ่มทุนใหม่ โดยเมื่อ 20-30 ปีก่อน รัฐจะเป็นกลุ่มที่ผูกขาดการใช้ทรัพยากรไว้ กลุ่มผลประโยชน์ก็มักจะดึงเอาทรัพยากรมาจากตรงนั้น งบประมาณแผ่นดินที่มีจำนวนมหาศาล ก็มีกลุ่มทุนทั้งนอกและในประเทศเข้ามาแย่งกันใช้ พวกที่จะเข้าถึงทุนคือผู้รับเหมา ยกฐานะจากนายทุนท้องถิ่นมาเป็นนายทุนยุคใหม่

ในประเด็นนี้ อ.ฉลาดชาย อธิบายเพิ่มเติมว่า ทุนเก่าจะผูกติดอยู่กับที่ดินในระบอบสังคมแบบจารีต ขณะที่ทุนใหม่จะหากินกับรัฐแบบใหม่ เช่น คุณบรรหาร (ศิลปอาชา) อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีบทบาทเป็นผู้รับเหมา เข้าถึงงบประมาณได้ โดยตั้งแต่หลัง 14 ตุลาฯ 16 เป็นต้นมา ทุนพวกนี้เริ่มเข้ามาเล่นการเมืองโดยตรง กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางตรง เข้าไปคุมงบประมาณของประเทศโดยตรง อยู่เหนือข้าราชการประจำ กล่าวคือ กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จะผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองเพื่อเข้าถึงตัวงบประมาณ

อ. ฉลาดชาย กล่าวต่อว่า นักการเมืองเหล่านี้ก็ต้องผ่านการเลือกตั้ง โดยยิ่งเราหมายว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งเข้าถึงงบประมาณได้มากขึ้นเท่านั้น "เราถูกบอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย ซึ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันถูกใช้มาในเมืองไทยถึง 20-30 ปี แล้ว ไทยรักไทยก็ชูป้ายว่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน" จากนั้นกล่าวเสริมว่า เส้นทางสู่อำนาจเลยมาจากการแข่งขันกัน ต้องใช้เงิน ชัยชนะจึงขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนมีกระสุน มีทุนหนากว่ากัน พอถูกเลือกเข้าไปแล้วจึงต้องทำมากกว่าถอนทุนคืน ต้องเอากำไรคืนมาด้วย

ขณะเดียวกัน อ.ฉลาดชาย ก็ชี้ว่า ทุนใหม่ภายในประเทศไม่ได้ใหญ่จริง แข่งกับทุนจากนอกประเทศไม่ได้ "สมมุติว่าเราจะสร้างถนนวงแหวนรอบนอกอีกสักวง(หมายถึงจังหวัดเชียงใหม่) หากให้บริษัทต่างชาติเข้ามาแช่งประมูล เราก็ต้องแพ้ เพราะเทคโนโลยีสู้เข้าไม่ได้ ทุนก็ด้อยกว่า" โดย อ.ฉลาดชาย กล่าวว่า ช่วงนี้การเมืองไทย นายทุนที่เป็นคนไทยดึงไม่ให้เศรษฐกิจมีความโปร่งใส เสรี พอที่จะให้เกิดการแข่งขัน ในทางเศรษฐศาสตร์เป็นช่วงสุดท้ายแล้วที่ทุนภายในประเทศจ้องจะผูกขาดเศรษฐกิจและการเมืองไว้เพื่อสร้าง Project หรือโครงการต่างๆ โดยที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่งอกเงย เว้นแต่เขาจะปรับให้เป็นแบบทุนนิยมยุคปลาย คือเศรษฐกิจที่ขายตัวเลข เช่น ตลาดหุ้นมักจะมีการพูดถึงเรื่องราวการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากถามนักธุรกิจจริง ๆ แล้ว มันกระทบแค่ตลาดหุ้นไม่กี่วินาที พวกที่เป็น Real Sector หรือเศรษฐกิจที่มีผลผลิตอย่างการผลิตสินค้า การบริการ ที่มีการสร้างงาน พวกนี้ไม่ค่อยกระทบเท่าไหร่

จากนั้น อ.ฉลาดชายได้พูดถึงประเด็นการต่อสู้ของพี่น้องชนเผ่าว่า ยุทธศาสตร์ของเรามักจะพยายามดึงเอาชุมชนขึ้นมาสู้จนลืมอะไรใหญ่ๆ ไป สภาชุมชนจึงควรจะต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องทั้งในระดับมหภาค และระดับจุลภาค ด้วย เรามักจะพูดกันแต่โลกาภิวัตน์ แต่เราต้องช่วยกันศึกษาโลกาภิวัฒน์ในประเด็นใหญ่ว่า จะส่งผลกระทบกับพวกเราหรือไม่ อย่างไร? "เช่น เวลาพูดถึงไบโอ-ดีเซล(Bio Diesel) จริงๆ เขาลงทุนกันมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ผมแอบไปได้ยินเขาคุยกันในสนามบิน ในไทยเราก็มีเบียร์ช้าง ไปเช่าที่ดินจำนวนมากปลูกอ้อยเพื่อเอามาทำเอธานอล พวก E-5 E-10 E-20 มันก็เป็นแอลกอฮอล ได้จากข้าวโพด อ้อย หรือไม่ก็มันสัมปะหลัง" อ.ฉลาดชาย กล่าวอีกว่า เรื่องแบบนี้กระทบกับเราในระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน แล้วจะคาดหวังให้ชาวบ้านรู้ทันเป็นไปไม่ได้ เราต้องมีองค์กรของเราเองเพื่อระดมสมอง เราสู้อะไรเขาไม่ได้เพราะไม่มีทรัพยากรทางการเมืองอื่นๆ จะรวมเครือข่ายหรือให้ Network มีเอกภาพก็เป็นไปไม่ได้ เหลือแต่การให้ความรู้

การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐศาสตร์เรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ในความจริง คนที่มีอำนาจน้อยก็จะร่วมได้น้อย คนที่มีอำนาจมากจะร่วมได้มาก "จะไปร่วมกับพันธมิตร บางครั้งก็เกินไป พอมาถึง 70:30 นี้ไม่ไหวมั้ง จะสรรหา 70 แล้ว 70 มาจากไหนใครเป็นคนตั้ง" อ.ฉลาดชาย วิจารณ์ประเด็น 70:30 ต่อว่า หนึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรม และสอง 70 ที่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน สายอาชีพจะแยกแยะอย่างไร "กระเทยเป็นได้ไหม คนที่มี Gender อื่นๆ มีสิทธิไหม...คิดว่ายาก เกษตรกร ก็พูดยากว่าเกษตรกรแบบไหน แบบ 200 ไร่ หรือไม่มีสักไร่"

ขณะเดียวกัน อ.ฉลาดชาย ก็วิจารณ์การเคลื่อนไหวและแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนว่า แม้จะมีความตั้งใจแต่ในการปฏิบัติแล้ว มักจะไม่คำนึงถึงภาพใหญ่ แล้วจะเคลื่อนไหวเพียงแค่ในระดับชุมชนเท่านั้น นอกจากนี้ยังคิดเพียงว่าจะสร้างคนรุ่นต่อไปให้รักชุมชน แต่เราทำได้จริงหรือเปล่า "เราเพียงแต่ปลอบใจตนเองว่าชุมชนเข้มแข็ง ๆ แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ชุมชนแย่ เราต้องประเมินชุมชนให้ดี" อ.ฉลาดชายเสริม "ชุมชนมักจะมีแต่คนแก่และผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เราบอกว่าจะสร้างเครือข่าย เพิ่มเครือข่าย แล้วเราเพิ่มได้จริงหรือ" อาจารย์ย้ำว่า เราต้องมีความรู้ชุมชนของสิ่งที่กำลังมีอยู่และสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป

ระหว่างการบรรยายก็มีการยกมือแสดงความเห็นจากหลายคนในห้องประชุม หนึ่งในนั้นคือ จอนิ โอ่โดเชา ซึ่งบอกว่า แม้ว่าลูกหลานในอนาคตจะออกจากชุมชนไปที่อื่น แต่เราก็อยากสร้างความภาคภูมิใจให้หมู่บ้านของเราต่อ "คนเราต้องกินข้าวแน่ๆ ต้องกินน้ำแน่ๆ ยังไงเราก็ต้องอยู่ในหมู่บ้าน" ทั้งนี้ อ.ฉลาดชาย ได้กล่าวเสริมถึงสภาชุมชนว่า เป็นการดำเนินงานของภาคประชาชน ไม่ใช่ของภาครัฐ จึงควรจะเป็นองค์กรที่สร้างมาจากข้างล่างเพื่อผันไปสู่ข้างบน และควรมีการเรียนรู้ ทำความรู้จักชุมชนตัวเองให้มากกว่านี้


๒. ธเนศวร์ เจริญเมือง : ประชาธิปไตยแบบอารยะ (Civilized democracy)

หลายสิบปีมานี้ ประชาธิปไตยมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมหนึ่งจะแถลงว่า ระบอบการปกครองของตนเองนั้นเป็นแบบใด แต่เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นคำที่ฟังดูไพเราะ เพราะแปลว่าอำนาจเป็นของประชาชน สังคมไหนก็อวดอ้างตนเองเป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นจริงแค่ไหน และหากทนซ่อนเร้นบางอย่างไม่ได้ ก็จะต้องเติมสร้อยไว้ด้านหลังหรือเติมคำคุณศัพท์ไว้ข้างหน้า เพื่อให้คนในสังคมนั้นได้รู้ว่า นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็ม 100 หรอกนะ แต่ต้องดูที่คำข้างหน้าหรือที่ต่อท้ายเป็นสำคัญ เพราะนั่นแหละคือตัวจริง เสียงจริง. เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมเองก็ต้องเดินตามแฟชั่นดังกล่าวด้วย นั่นคือ ขอมีคำสร้อยต่อท้าย แต่จะขอย้ำว่าคำสร้อยที่เพิ่มเข้ามา จะไม่บิดเบือนหรือลดคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย มีแต่จะตอกย้ำความสำคัญของระบอบนี้

วิชารัฐศาสตร์มักพูดเสมอว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นทั้ง ๓ อย่าง

๑. อุดมการณ์ (คือความอยากที่จะเป็น)

๒. สถาบัน
คือมีสถาบันต่างๆ ในทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง ศาลยุติธรรม ฝ่ายบริหารที่โปร่งใส สภาผู้แทนที่ยึดมั่นในหลักการไม่ใช่พวกมากลากไป สื่อมวลชนที่เสนอข่าวรอบด้าน ไม่ใช่เลือกเสนอข่าว และนำเอาความเห็นส่วนตัวไปปะปนกับเนื้อหาของข่าว มีสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการเลือกตั้ง และมีกิจกรรมการเมืองของประชาชนที่หลากหลาย ไม่ใช่มีแต่การเลือกตั้ง ฯลฯ และ

๓. วิถีชีวิต คือสังคมมีค่านิยม และพฤติกรรมต่างๆ แบบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ ไม่มีนอกกติกา ฯลฯ

๓ อย่างนี้ปรากฏในสังคมไหน ประชาธิปไตยก็ย่อมรุ่งเรืองและมั่นคง ไม่มีใครบิดเบือน หรือถูกฉีกทิ้งทำลายง่ายๆ
แถมมีคนร่วมยินดีปรีดาอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในบางประเทศ

สำหรับผม วิชารัฐศาสตร์ต้องไปให้ไกลกว่านั้นอีก นั่นคือ ประชาธิปไตยนั้นต้องเป็นทั้ง"จุดหมาย"และ"วิธีการ" ตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาระบอบการเมืองในห้วง 2000 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่ยุคกรีก ประชาธิปไตยคือเส้นทางการเดินของมนุษยชาติ บนเส้นทางสายนั้น จึงมีทั้งส่วนที่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็น มีทั้งประชาธิปไตยที่ถูกทำลายไปบางส่วนหรือมากส่วน หรือถูกบิดเบือนไปทั้งเนื้อหาและถ้อยคำ กระทั่งแต่งเติมคำข้างหน้าและข้างหลัง เพื่อให้คุณค่าของคำว่าประชาธิปไตยถูกลดทอนลงไป

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประชาธิปไตยก็ยังจะเดินไปข้างหน้า เพราะตัวของมันเป็นทั้งเส้นทางและจุดหมายของมนุษยชาติ มันอาจจะหกล้มบ้าง แต่มันก็ลุกขึ้น ปัดฝุ่น ดึงเสี้ยนหนามออก ซับน้ำตา ปาดเหงื่อ ล้างหน้าตา หายใจลึกๆ แล้วก็เดินหน้าต่อไป. ในการอภิปรายที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (16 กันยา 51) คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้พูดถึงความขมขื่นของตนเองที่ได้เห็นนักการเมืองไทยแก่งแย่งผลประโยชน์ ช่วงชิงและต่อรองเพื่อตำแหน่งและงบประมาณ ทุจริตคอรัปชั่น และไม่เห็นหัวประชาชนมาปีแล้วปีเล่า

คำถามมีอย่างน้อย ๒ ข้อ
๑. มีแต่นักการเมืองเท่านั้นหรือที่ทุจริต อาชีพอื่นๆ ไม่มีหรือที่ทุจริตในสังคมไทย และ
๒. อะไรเล่าที่ทำให้นักการเมืองเป็นเช่นนั้น

คำตอบก็คือในสังคมที่มีลักษณะเป็นอำนาจนิยมและอภิสิทธิชนนิยมมานาน ผู้มีอำนาจไม่ว่าอาชีพใดก็ฉ้อฉลอำนาจทั้งนั้น และวัฒนธรรมอำนาจนิยมดังกล่าวได้แพร่เข้าไปในหมู่ประชาชนด้วย การก่นด่าว่าแต่นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงเป็นการมองด้านเดียว คนด่าด้านเดียวแบบนี้ไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวว่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจนิยม

อีกข้อหนึ่ง ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองอ่อนแอ ด้อยคุณภาพ หรือชอบทุจริตคอรัปชั่นนั้น ข้อเท็จจริงก็ต้องมี ที่ใส่ไข่ใส่นมเพื่อหาเหตุทำรัฐประหารก็ย่อมมี แต่ที่ควรเป็นประเด็นคือ ก็เพราะประชาธิปไตยของไทยถูกทำลายบ่อยครั้งโดยการทำรัฐประหาร และรัฐประหารแต่ละครั้งมิได้ลงโทษ นำนักการเมืองที่ทำผิดขึ้นศาล แต่ได้ทำเพียงไล่เขาออกจากตำแหน่ง ยุบพรรค และฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พอมีการเลือกตั้ง นักการเมืองก็กลับมาอีก เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง

การที่สภาล่มในวันที่ 12 กันยา 51 เหตุผลหนึ่งก็คือ มีพรรคการเมือง(เป็นมุ้งเล็กๆ)มากเกินไป ทำให้เกิดการต่อรอง การช่วงชิงจากฝ่ายต่างๆทั้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มนอกระบบ ทำไมมีพรรคการเมืองมาก ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ กลัวรัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไป

รัฐธรรมนูญ 2540 มาถูกทางแล้ว คือสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีจุดอ่อนบางข้อเช่น ปิดกั้นพรรคขนาดเล็กมากเกินไป แต่แทนที่สังคมไทยจะแก้ไขปัญหารัฐบาลเข้มแข็งเกินไปด้วยการถ่วงดุลรัฐบาลพรรคไทยรักไทย กลับใช้วิธีรัฐประหาร ล้มรัฐบาล และฉีกรัฐธรรมนูญ และสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถอยหลังไปอีก การเมืองไทยจึงเวียนกลับไปที่เก่า

ประชาธิปไตยที่หวนคืนแต่ละครั้งมีลักษณะอารยะเล็กๆ ที่เผยให้เห็น และควรจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเพื่อให้การก้าวเดินไปข้างหน้ามีสิ่งที่ดีๆ เก็บไว้เป็นประเพณี เช่น คืนวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคการเมืองที่พ่ายแพ้แสดงอาการฮึดฮัด ต้องการจัดตั้งรัฐบาลสู้กับพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก ในที่สุด ก็ถูกสอนมวยว่าต้องรู้จักเคารพกติกา ยอมรับผลการแข่งขัน ต้องแสดงความยินดีกับผู้ชนะ และแสดงความเต็มใจที่จะร่วมงานด้วย เพื่อรักษาและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย

สายวันพุธที่ 17 กันยายน 2551 ทันทีที่นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เขาไม่ได้เสียเวลาขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่อยู่ข้างๆ แต่เดินอย่างรวดเร็ว ฝ่ากลุ่ม ส.ส. ไปยังฝั่งตรงข้าม ไปจับมือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ เช่นกัน จับมือกันเพื่อให้รู้ว่าความแตกต่างคือลักษณะธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย เราต้องเคารพความแตกต่าง เราต้องเคารพคะแนนเสียงของคนส่วนใหญ่ แล้วเราก็ร่วมมือกันทำงาน คนอยู่ฝ่ายค้านก็ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป หลังจากนั้น นายสมชายจึงเข้าไปกราบขอบคุณนายบรรหาร และพลตรีสนั่น และ ส.ส. คนอื่นๆ ที่สนับสนุนตน นี่ต่างหากที่เป็นประชาธิปไตยแบบอารยะ

จะชอบนายสมชายหรือไม่ก็ไม่สำคัญ จะออกเสียงเลือกนายสมชาย หรือนายอภิสิทธิ์ก็ไม่สำคัญ แต่สำคัญคือเราต้องเคารพกติกาของระบอบที่กำหนดขึ้น หากไม่ชอบ ก็ไปหาคะแนนเสียงมามากๆ เพื่อแก้ไขระบอบดังกล่าว. นายสมชายเป็นนอมินี เป็นญาติ เป็นน้องเขยของนายกฯในอดีต แล้วยังไง ถ้าพ่อของผมเป็นนักโทษประหาร เพราะปล้น 10 ธนาคาร ฆ่าคนตาย 100 กว่าศพ แล้วสังคมจะต้องลงโทษผมที่ไม่ได้มีส่วนเหล่านั้นด้วยหรือ. นายสมชายจะเป็นอะไร ประเด็นที่สังคมไทยจะต้องพิจารณาก็คือเขาจะทำอะไรต่อไปนี้ เขาจะทำเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือของครอบครัว หรือญาติและพวกพ้อง

วิธีการตัดสินคนจากการเป็นญาติ การเกี่ยวดอง ก็คือวิธีคิดแบบอำนาจนิยมของสังคมเก่า ไม่ได้ดูคุณค่าของความเป็นคนที่แต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน ไม่ได้ดูคนที่ผลงานของเขา แต่กลับไปดูถูกคนเหนือคนอีสาน ที่ตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งว่าเพราะพวกเขาขายเสียง เป็นวิธีคิดแบบเดิมๆ คือคิดว่าตนเองเก่ง พรรคที่ตนเองชอบจะต้องได้เป็นรัฐบาล ใครคิดไม่เหมือนตนเองเป็นคนโง่ เป็นพวกขายเสียง ถูกครอบงำ ตนเอง พรรคพวกของตัวเองก็ดี ญาติพี่น้องของตนเองก็ดี แต่อะไรที่เป็นของคนอื่นเลวหมด

การเมืองใหม่จะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกๆ คน ต้องเคารพกฎหมายเหมือนกันหมด ถ้าศาลตัดสินว่านายสมัครเป็นลูกจ้าง ต้องออกจากตำแหน่ง คนอื่นๆ เช่น นายจรัล หรือคุณหญิงจารุวรรณ ที่ทำงานเป็นลูกจ้างแบบนายสมัคร ก็ต้องออกจากตำแหน่งเหมือนกันด้วย หากกลุ่มของนายกฯ ทักษิณถูกฟ้องและถูกลงโทษครั้งแล้วครั้งเล่า แต่คนอื่นๆ ที่มีการกระทำคล้ายๆ กันกลับลอยนวลอยู่เช่นนี้ เมื่อไหร่ บ้านเมืองนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรม?

การเดินไปหาหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่างรวดเร็วเป็นก้าวใหญ่ๆ ก้าวหนึ่งในสังคมที่มีประชาธิปไตยเล็กๆ และโหยหาประชาธิปไตยแบบอารยะตลอดมาเช่นสังคมไทย ถ้าจะให้ดี ผู้แพ้ในการลงคะแนนควรจะก้าวเร็วกว่าไปหา เพื่อแสดงความยินดีและเสนอตัวร่วมมือกันหาทางทำให้สภาผู้แทนที่มาจากประชาชนทำงานรับใช้ประชาชนมากขึ้น ที่สำคัญควรจะคิดให้มากๆ ว่าส.ส. คนหนึ่งไปเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตร นำการชุมนุมขับไล่รัฐบาลตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาลได้ไม่กี่วัน กระทั่งนำเรื่องราวการประชุมสภาไปเล่าแบบเย้ยหยันทุกค่ำคืนหน้าทำเนียบนั้น คนๆ นี้กำลังทำอะไรให้กับการเมืองในสภาฯ ถ้าเขาชิงชังสาหัสขนาดนั้น เขายังรักษาสมาชิกภาพไว้เพื่อสิ่งใด รับเงินเดือนจำนวนมากไปทำไม และพรรคการเมืองที่บอกว่ายึดมั่นกับระบบรัฐสภามาตลอดนั้น คิดอะไรในใจ ที่ปล่อยให้เกิดภาวะทวิมาตรฐานเช่นนี้

นี่ถ้ามี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งออกเสียงเลือกนายสมชายเป็นนายกฯ ในวันนี้ คนพวกนั้นยังจะได้เป็นสมาชิกของพรรคนี้ต่อไปอีกหรือไม่ หรือว่าเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวเช่นเดียวกับ ส.ส. คนหนึ่งที่นำประชาชนส่วนหนึ่งไปยึดครองทำเนียบรัฐบาล

การเมืองใหม่-รัฐบาลใหม่และทางเลือกใหม่ของสังคมไทย
อย่าลืมว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ล้มลุกคลุกคลานมา 61 ปี (พ.ศ. 2490-2551) เป็นผลพวงของอำนาจฝ่ายความมั่นคงและความคิดเก่าในสังคมที่จะต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน และการพยายามเก็บการเมืองเก่าเอาไว้ มันเนิ่นนานมากจนเกิดความเคยชินว่ายึดอำนาจได้แล้ว ทุกอย่างก็จบ มันเนิ่นนานจนทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดการพัฒนา นักการเมืองไม่เคยต้องคำพิพากษา ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ได้รับผลพวงจากรัฐประหารก็ไม่เคยต้องคำพิพากษาใดๆ ในการทำลายระบอบประชาธิปไตยแต่ละครั้ง ทั้งสองจึงสะสมนิสัยบางอย่างที่ไม่เคยมีการแก้ไขตลอดมา

ในห้วง 61 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
- กลุ่มการเมืองอำนาจนิยม
- กลุ่มการเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทน (พรรคการเมือง) และ
- กลุ่มประชาธิปไตยฝ่ายประชาชน

สองกลุ่มแรกต่อสู้กันมา 60 กว่าปีแล้ว(อย่างน้อย)ยังไม่ยุติ กลุ่มที่ 3 ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นต้นมา

100 กว่าวันมานี้ มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาโจมตีกลุ่มประชาธิปไตยแบบตัวแทน แล้วเรียกหาการเมืองใหม่ แต่วิธีการทำงานหลายอย่างของพวกเขา กลับสร้างความสงสัยเพิ่มขึ้น เช่น การเมืองใหม่เพื่อประชาชนใยจึงเลือกเคารพกฎหมาย แต่ไม่เคารพระบอบการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) เช่น ดีใจตัวสั่นเมื่อคุณหญิงพจมานติดคุก ไม่พอใจที่นายกฯ ทักษิณหนีศาล เรียกร้องให้กลับมาฟังศาล เฮลั่นเมื่อสมัครหลุดจากตำแหน่ง ไชโยเมื่อจักรภพและนพดลก็หลุดจากตำแหน่ง แต่กลับเงียบเมื่อพวกตนถูกหมายจับกรณียึดทำเนียบ หรือฝ่าย นปก.เจ็บกับตาย แต่พันธมิตรไม่เป็นอะไร หรือกรณียึด NBT หรือกรณีคนในศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นลูกจ้าง ฯลฯ

สังคมไทยต้องก้าวไปสู่ประชาธิปไตยแบบอารยะ
แน่นอนที่สุด ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง คืออำนาจนอกระบบแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนตลอดมาเป็นเวลานานถึง 6 ทศวรรษ (ขนาดทั่วทั้งโลกนึกว่าเมืองไทยจะไม่มีรัฐประหารแล้ว ยังกลับมาอีกในปี 2549 แล้วยังสร้างกลไกทิ้งไว้อีกมาก) ประชาธิปไตยแบบตัวแทนย่อมมีจุดอ่อนหลายด้าน ยิ่งนักการเมืองจำนวนมากถูกตัดสิทธิถึง 5 ปี บุคลากรการเมืองก็ยิ่งขาดแคลนหนัก การสัมผัสมือกันระหว่างนายกฯ คนใหม่กับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านยิ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าชื่นชมมาก

ที่ต้องปรบมือให้อย่างยิ่งก็คือคำยืนยันของแม่ทัพบก และนายทหารสำคัญๆ ที่จะไม่ทำรัฐประหารอีกเพราะว่าหมดสมัยแล้ว หนทางที่เหลืออยู่ก็คือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ในสภา และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) นอกสภา จะเรียกว่าการเมืองใหม่ให้ฟังดูตื่นเต้นก็ได้ แต่ในความเป็นจริง นั่นก็คือ ประชาธิปไตยแบบอารยะที่หลายประเทศก็ยอมรับแล้วว่า เมื่อประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มีความเป็นพลเมืองที่เอาการเอางาน (Active citizenship) ไม่หลงติดอยู่แต่การเลือกตั้ง แต่สนใจและมีบทบาทในกิจการสาธารณะทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย การบริหารงานของภาครัฐ การติดตามพฤติกรรมและการทำงานของ ส.ส. และการถอดถอนนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพและทุจริต ฯลฯ

สังคมสมัยใหม่มีความหลากหลาย ต้องเคารพความหลากหลายและไม่ใช่ดึงดันจะเอาชนะให้ฝ่ายอื่นๆ พ่ายแพ้หมด มีแต่ฝ่ายของตนเองชนะเท่านั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะมีแต่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้า เกิดความตึงเครียด การลงทุนหดหาย เศรษฐกิจฟุบ ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ การต่อสู้ต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ ให้ส่วนรวมอยู่ได้ ต้องมีการหยุด

ในสังคมสมัยใหม่ที่มีประชากรจำนวนมาก ประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีความจำเป็น แต่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมก็ไม่อาจขาดได้ ในความเป็นจริง คนที่ไปจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่งที่วุฒิสภานั่นเองก็คือตัวแทนจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ที่ต่อไปควรปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม ขณะเดียวกัน สภาผู้แทนก็สามารถขยายบทบาทไปจัดการประชุมร่วมกับภาคประชาชน การเมืองภาคประชาชนสามารถจัดตั้งสภาของตนเองขึ้นได้ สามารถรวบรวมเงินกันเอง หรือของบประมาณมาสร้างที่ทำการเอง ไม่ใช่ไปแย่งทำเนียบรัฐบาลมาเป็นของตน. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จริงก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาคประชาชน นำมาปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทเสียใหม่

- ประชาธิปไตยแบบอารยะที่ควรจะเกิดขึ้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป ควรเป็นการพบปะเจรจาภาคส่วนต่างๆ ระดมความคิดเห็นจากหลายๆ ส่วน ไม่ใช่เฉพาะจากฝ่ายที่เผชิญหน้ากัน ด้วยการถอยจากจุดเดิม

- บัดนี้ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ถอยแล้ว เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแล้ว กองทัพก็ประกาศแล้วว่าจะไม่แทรกแซงระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนการเจรจา

- บัดนี้ ประชาธิปไตยแบบอารยะใกล้จะมาถึงแล้ว รอแต่ว่ากลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร ด้วยการถอยเช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ


๓. การเมืองซ่อนอะไร? สังคมหาอะไร? ยศ สันตสมบัติ: คำถามถึงประชาธิปไตยและนิติรัฐ

เสวนา 'การเมืองซ่อนอะไร? สังคมหาอะไร?' ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยศ สันตะสมบัติ ชวนตั้งคำถามเรื่องประชาธิปไตยที่ไกลกว่าการเลือกตั้ง เตือนนักกฎหมายอย่าอ้างให้ยึด 'นิติรัฐ' เพราะไม่เคยปรากฏจริงในสังคมไทย ชาวบ้านถูก 'คำสั่งของรัฐ' เบียดขับตลอดมา ตั้งคำถามสังคมไทยจะมีวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ซึ่งอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง และไม่ใช้ความรุนแรงได้หรือไม่?

เมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ (11 ก.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง "การเมืองซ่อนอะไร? สังคมหาอะไร?" โดยมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ และ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลับเชียงใหม่ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย อ.ดร.วรรณภา ลีระศิริ

วิทยากรท่านแรกคือ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ กล่าวว่า ขอยืมคำพูด อ.อานันท์ (กาญจนพันธุ์) มาบอกว่า "ผมไม่มีคำตอบ" แต่จะมาชวนตั้งคำถาม และกล่าวว่าวิกฤติการณ์ทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นกระบวนการแย่งชิงการต่อสู้เพื่อนิยามความหมาย ภาษาสังคมศาสตร์จะเรียกว่าเป็นการช่วงชิงความหมาย ปัญหาคือว่ามันเป็นความหมายของอะไร?

เช่น ความหมายของประชาธิปไตย ความชอบธรรมคืออะไร ความดีคืออะไร? สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้นในสังคมไทย เรามักจะถูกบอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง หน้าที่คือไปเลือกตั้ง เลือกคนดีเข้าสภา ปัญหามีอยู่ว่าคนดีหน้าตาเป็นอย่างไร จมูกชมพู่ดีหรือเปล่า เราจะวัดคนจากหน้าตาได้ไหม มหาจำลองดีหรือเปล่า ลองฉายภาพเปรียบเทียบกันดู เราจะพบว่าคำถามไม่ลงตัว แต่เราจะถูกยัดเยียดข้อมูลตลอดเวลา แล้วผมไม่แปลกใจที่นักศึกษารุ่นหลังจะงง เพราะเราห่างเหินเกินจากกระบวนการตั้งคำถามมานาน

รัฐสภา อันนี้เป็นคำถามของพวกนักรัฐศาสตร์ รัฐสภาเป็นเวทีการเมืองเพียงเวทีเดียวหรือเปล่า ที่นั่งหน้าสลอนอยู่ในสภามักจะบอกแบบนี้เลย ตั้งแต่คุณชวน หลีกภัย หลังพฤษภา 2535 คุณชวนก็พูดอยู่คำเดียวว่าผมมาจากการเลือกตั้ง ทักษิณก็เป็นคนเอาคำนี้มาใช้ต่อ ตอนหลังคุณสมัครก็เอาคำนี้มาใช้ ดังนั้นอย่าโทษคุณสมัครว่า Establish ระบอบเลือกตั้ง มันมีมานมนาน

ตามความเข้าใจของผม ประชาธิปไตยเป็นอะไรที่มากกว่าการเลือกตั้ง แต่เป็นการปกครองที่เชื่อว่าอำนาจเป็นของประชาชน แล้วรัฐทำหน้าที่สร้างหลักประกันของสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน รัฐไม่มีหน้าที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน คำถามก็คือว่า รัฐสภาเป็นเวทีการเมืองแบบเดียวหรือเปล่า เราเห็นมาโดยตลอดว่ามันไม่ใช่ แต่นักกาเรมืองไทยมักจะยืนหยัด ยืนยันตลอดเวลาว่ามีอะไรต้องไปคุยในรัฐสภา เพราะฉะนั้นเขาผูกขาดเวทีตรงนั้นไว้ สำหรับผู้ที่มีความชอบธรรมคือผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาเท่านั้น

มันมีเวทีการเมืองหลายแบบที่เกิดในสังคมไทย ปากมูน ประท้วงบนสันเขื่อน 10 ปี เพื่อจะบอกว่า "เฮ้ย เรามีปัญหานะ" แต่สังคมไทยไม่ฟังเขาเลย คนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ฟังเขา เริ่มตั้งแต่สมัยประชาธิปัตย์. หลังคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ปากมูนก็เริ่มประท้วงแล้ว จนคุณมด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) ตาย ปากมูนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข. ผมตั้งคำถามว่า มันเป็นไปได้ไหมว่า เราละเลยการเมืองบนท้องถนน การเมืองในระดับรากหญ้ามานานมาก แล้วเราไปหลงเชื่อว่ารัฐสภาเป็นกลไกอันเดียวที่จะแก้ปัญหา แล้วเราพบความจริงอันเจ็บปวดว่า รัฐสภาเป็นกลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเลย

เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ไหมว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดจากความล้มเหลวของรัฐสภาที่จะฟังความทุกข์ ความเห็นต่างของประชาชน อันนี้เป็นคำถามข้อแรกของผม. โยงกับคำถามข้อนี้ มันยังมีการช่วงชิงความหมายกันอีกหลายเรื่อง ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดก็คือ สังคมไทยยึดถือ ทฤษฎีมหาสตรี มหาบุรุษมาเป็นเวลานาน เราอยู่ในกรอบคิดแบบผู้มีบุญมานาน จนกระทั่งเราเห็นว่า แนวความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ได้ซึมลึกเข้าไปในวิธีคิดของเราหรือเปล่า เราเชื่อในกฎแห่งกรรมหรือเปล่า ผมคิดว่าหลักการพวกนี้มันอยู่ร่วมกันก็จริง แต่บางเวลามันลักลั่นขัดแย้งกัน. สังคมไทยมักจะสับสนเวลาพูดถึงวิธีคิดแบบนี้ และการเมืองของเราจึงพึ่งพาโหราศาสตร์ มันเป็นเรื่องของดวงน่ะคุณเอ๋ย ใครจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีพรุ่งนี้ ก็วิ่งไปถามโหร คมช. เขาไม่มาถามอาจารย์ธเนศวร์ (รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ซึ่งร่วมฟังเสวนาด้วย) หรอก

อีกประเด็นที่ผมจะตั้งคำถามว่า สังคมไทยจะบอกว่าบ้านเมืองมันวุ่นวาย แต่ผมก็ไม่เห็นจะวุ่นวายตรงไหน เป็นไปได้ไหมว่า เป็นเพราะว่าเราไม่ได้คิดว่าความขัดแย้งเป็นบรรทัดกฐาน เราเลยมองว่ามันวุ่นวาย รู้สึกทุรนทุราย ทนไม่ได้ เราพยายามจะกลับไปหาความสุขสงบของอดีต โหยหายอดีต แต่ถามว่า ใน 4-5 ปีนี้สุขสงบจริงหรือเปล่า หรือเป็นความสุขสงบของใคร คนปากมูนสงบไหม คนสะเอียบสงบไหม คนตัวเล็กตัวน้อยเขาสงบจริงหรือเปล่า หรือที่เป็นขณะนี้เป็นความรำคาญของชนชั้นกลางเท่านั้น อันนี้เป็นคำถาม

สังคมไทยจะพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่อดทนอดกลั้นต่อความวุ่นวายได้ไหม สังคมไทยจะพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองไทยที่สร้างกลไกยุติความขัดแย้งขึ้นมาได้ไหม เดี๋ยวนี้หลายมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตร Conflict Resolution แต่ก็ไม่เห็นออกมาทำอะไรเลย เวลาเกิดเรื่องพวกนี้ นั่งหน้าเจี๋ยมเจี้ยมกันอยู่ในคณะ แล้วกูจะเก็บไว้เป็น Case study

อะไรเป็นความหมายของอาระขัดขืน นี่ผมเอาหนังสือต้นฉบับมาให้ดู (ชูหนังสืออารยะขัดขืน ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์) คุณอยากหาคำตอบไปอ่านเอา เอามาให้ดูหนังสือของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่ละคนก็บอกว่า "กูอารpะขัดขืน" แต่ถือมีด มันอารยะขัดขืนหรือเปล่า. 'สันติภาพศึกษา' ในสังคมไทยไม่เคยสนใจเลย มีนักศึกษาไปเรียนปีหนึ่ง 2-3 คน ถึงเวลาวุ่นวายฉิบเป๋งเลย เราไม่ใส่ใจมันน่ะ แต่ถึงเวลาเราเรียกร้องว่าต้องมีสันติภาพ

คำถามที่ผมอยากจะตั้งอีกข้อคือ ในช่วงเวลานี้ ดูเหมือนว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนสองกลุ่ม

- กลุ่มหนึ่งคือพวก 'เสรีนิยมใหม่' เชื่อในทุนนิยม เชื่อในการจัดระเบียบ เชื่อในกลไกของตลาด
- กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่ม 'อนุรักษ์นิยมใหม่' พวกนี้ก็มีคนที่อยู่ในทุนเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้ก็จะบอกว่าเป็นทุนนิยมมันสามานย์ ทั้งที่ตัวเองก็เป็นนายทุนใหญ่ในสังคมไทย แต่คำแบบนี้ ความหมายแบบนี้จะพรั่งพรูออกมาจากปากหลายครั้ง 'ทุนนิยมสามานย์' เวลาเขาพูดถึงทักษิณ

การต่อสู้ของสองกลุ่มนี้ทำให้เกิดคลื่นหรือแรงกระเพื่อมที่มากมายมหาศาลในสังคมไทย และเป็นการต่อสู้กันแบบ 'เล่นการเมือง' คือบ้านเราคิดว่าการเมืองคือการเล่น เล่นเพื่อเอาชนะ แพ้ไม่เป็น แพ้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะใช้อะไรก็ได้ จะปลุกผีชาตินิยมก็ได้ถ้าต้องการ หรือ ถ้าเห็นว่าจะนำไปสู่ชัยชนะ โดยที่ไม่ได้หยุดคิดเลยว่า เฮ้ย ชาตินิยม ถ้าปลุกขึ้นมาแล้วมันไม่หลับนะ มันเป็นคนแก่น่ะ นอนยาก ไม่ค่อยนอน แล้วก็เกิดไปทะเลาะกับเพื่อนบ้านมากมาย จนกระทั่งหวิดจะเกิดสงคราม คำถามที่สังคมไทยต้องถาม และผมว่าจะมาถาม อ.นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ว่า สังคมไทยเรียนประวัติศาสตร์กันประสาอะไร หรือเป็นความผิดของครูประวัติศาสตร์ อาจารย์ที่สอนสังคมศาสตร์ หรือครูบาอาจารย์ทั้งหมด ที่สังคมไทยมันโง่เหลือเกิน

เมื่อปีที่แล้ว คนไทยยังไม่รู้เลยว่าเราเคยไปตีเขมร จนกระทั่งมีเรื่องกันแล้วถึงได้มาคุยกัน แล้วมาบอกว่าเราไปตีเขา 2 ครั้ง แล้วยังจะมาทวงดินแดนเขาอีก หน้าด้านฉิบเป๋งเลยคนไทยเนี่ย. นอกจากไม่รู้ และไม่มีข้อมูลแล้วยังไม่มีสติอีกต่างหาก การศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยล้มเหลวสิ้นเชิง ไม่เคยคิดเลยว่า คำถามง่ายๆ ว่า จะอยู่กับเพื่อนบ้านอย่างสันติ แล้วได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร พวกผู้นำจะบอกว่าเอาใจมันหน่อย เราลงทุนไปเยอะ แต่ไม่เคยมองคนอื่นอย่างเท่าเทียม แบบคนที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน

ผมคิดว่า เราเป็นอารยะไม่ได้ จะขัดขืนหรือเปล่าไม่รู้ แต่คำแรกก็ล้มเหลวแล้ว เราเป็นอนารยะตั้งแต่ต้น เพราะเราไม่มองคนอื่นว่าเป็นมนุษย์เหมือนเรา แล้วปัญหาพื้นฐานของสังคมก็คือเป็นสังคมที่เหยียดผิว รังเกียจคนอื่น ไม่รักเพื่อนบ้าน ผมไม่แปลกใจเลย ทำไมลาวไม่ค่อยชอบหน้าเรา คนลาวพูดเสมอว่าคนไทยคือลาวที่ลืมตัว พอเจริญหน่อยก็ลืมตัว คนเมือง (คนเหนือ) ก็เหมือนกัน เวลาเจอคนดอยก็เรียกว่าพวกแมง ผมฟังมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และมันติดปาก คนก็ใช้ แล้วระบบการศึกษาก็ไม่ถอดถอนความรู้สึกแบบนี้เลย เราก็ยังมองเขมรว่าต่ำต้อย เราเคยเหยียบมัน เราเคยเผามัน เวียงจันทน์เราก็ไปเผามาแล้ว แต่ถ้าพม่าก็เกรงๆ นิดหน่อย

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถึงเวลาที่สังคมไทยต้องตั้งคำถามกลับว่า ลัทธิชาตินิยมที่มาใช้ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. โดยคณะราษฎรนี้ มีส่วนดีหรือส่วนเสียอย่างไร พอคนพูดถึงคำว่าเสียดินแดน มันต้องบุกไปถึงเขาพระวิหาร พระเพรอะเป็นกันไปหมด ไม่รู้เลยว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์. นอกจากนี้ก็ยังใช้สถาบันอีก แต่ละคนอ้างสถาบันกันจังเลย คุณสมัครคำสองคำก็บอกว่าจะบินไปเข้าเฝ้าเจ้านาย ตอนแจกธงนั่นแหละ ผมต้องบินไปเข้าเฝ้าเจ้านาย พันธมิตรนี่พูดถึงสถาบันทุกวัน รักจังเลย

แต่จะพาชาติไปสู่สงครามนี้ไม่คิด จะปลุกเร้าให้คนเกลียดนักการเมืองคู่ตรงข้ามเท่านั้น ผมไม่เคยเห็นการประท้วงที่ไหนปิดสนามบิน โลกเขาไม่ทำกัน ผมเคยเห็นเขาปิดสนามบินครั้งเดียว เพราะเขาเกรงจะไม่ปลอดภัยสำหรับเครื่องบิน แต่ปิดสนามบินด้วยเหตุผลการเมือง ผมคิดว่าเป็นวิธีคิดที่ใช้ไม่ได้

แต่วิธีคิดที่ใช้ไม่ได้ที่สุด ในกระบวนการข้อถกเถียงที่ผมพูดมาคือนักวิชาการ อาทิตย์ที่ผ่านมา จะเห็นจากข่าวเลย นักวิชาการออกมาเสนอว่ามีทางออกง่ายๆ ดังมาจากวิสคอนซิน ซีแอตเติล แล้วธรรมศาสตร์ก็ขานรับ บอกว่า ผู้นำพันธมิตรควรจะมอบตัวซะ ผมฟังแล้วก็นั่งเกาหัว เฮ้ยมันพูดอะไรวะ เขากำลังกบฎต่อรัฐ มึงเสือกไปให้เขามอบตัว มันแปลว่าอะไร แล้วเขาพูดต่อไปว่าเราอยู่ภายใต้นิติรัฐ. อาจารย์นิติศาสตร์บอกผมทีเถอะอะไรคือนิติรัฐ ผมก็สงสัยมานาน ประเด็นคือทางออกคือให้พันธมิตรมอบตัวสู้คดี ศาลเขายังสั่งบรรเทาหมายจับเลย แต่นักวิชาการไม่รู้จะพูดอะไร บอกว่าทางออกคือพันธมิตรมอบตัว ออกจากทำเนียบ แล้วก็ชุมนุมต่อไป สำหรับเรื่องออกจากทำเนียบผมเห็นด้วย เพราะรู้สึกว่ามันเหม็น เมื่อวานผ่านไป มันเริ่มส่งกลิ่น

แต่ผมไม่รู้สึกว่าการให้ผู้นำพันมิตรมอบตัวเป็นทางออกเลย ยิ่งพูดถึงนิติรัฐ ยิ่งไปกันใหญ่ ผมคิดว่านักวิชาการเพ้อฝันและทำให้นักศึกษางงไปหมด คำถามที่ผมจะถามนักเรียนนิติศาสตร์คือกฎหมายคืออะไร (หันไปถามนักศึกษาที่ร่วมเสวนา) กฎหมายนะครับ คือคำสั่งของรัฐ ใช่ไหม บิดาแห่งกฎหมายไทย ปู่ อ.อคิน นี่แหละ กฎหมายคือคำสั่งของรัฐ แล้วผมก็เห็นด้วยในทางปฏิบัติว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เข้าไปดูนะครับ กฎหมายไม่ว่าเราจะทำวิจัยเรื่องอะไร กฎหมายคือคำสั่งของรัฐทั้งนั้น ผมทำวิจัยเรื่องป่าชุมชน ก็เจอ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2484 พ.ศ.2507 กางแผนที่แล้วขีดวง "นี่เป็นป่าสงวน" แล้วชาวบ้านเขาอยู่ในนั้น เขาคืออะไรครับ ผู้ละเมิดกฎหมายว่ะ นี่ล่ะครับคือกฎหมายไทย

คำว่านิติรัฐใช้ไม่ได้ในสังคม เพราะสังคมไทยกฎหมายยังห่วยแตก เวลาพูดถึงนิติรัฐมันคือ Ideal type คืออุดมคติ นักวิชาการที่อ้างทำอะไรหรือเปล่าที่จะให้นิติรัฐเป็นจริง นี่คือคำถามอีกอันหนึ่ง. ในบ้านเรา กฎหมายไม่ใช่ตัวสร้างหลักประกันความยุติธรรม แต่กฎหมายคือเครื่องมือทางชนชั้น ชนชั้นไหนเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ประเด็นนี้ควรจะบรรจุในหลักสูตรนิติศาสตร์เพราะมันคือความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเวลาคุณพูดนิติรัฐขึ้นมาลอยๆ มันไม่เข้าท่า

เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมยังสอนที่ธรรมศาสตร์ทำวิจัยในสลัม 3-4 แห่งในกรุงเทพฯ ไปนั่งคุยกับชาวบ้าน คุยกับคนเฒ่าคนแก่ ผมไปถามว่ามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่? 9 ใน 10 คนที่ผมคุย ถูกถีบมาจากบ้านป่า คือ ที่ตั้งของเขื่อนครับ สร้างในช่วงนั้นล่ะ เขาบอกว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยเลย เลยต้องมาอยู่ในชุมชนแออัดที่คลองเตย นี่ละครับคือนิติรัฐของไทย และประเด็นนี้พูด 3 วัน 4 วัน ไม่จบ ความเฮงซวยของรัฐไทย

แต่นักวิชาการอ้าปากพูดเรื่องนิติรัฐ ไม่รู้ว่าพูดออกมาได้อย่างไร เพราะพูดแบบลอยๆ มากๆ เพราะไม่มีความเป็นจริงทางสังคมที่จะมา Back Up (สนับสนุน) เลย ในความเป็นจริงก็คือว่า ที่เขาเรียกว่านิติรัฐ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง องค์กร หน่วยงานของรัฐ มักจะอ้างคนหมู่มากเพื่อมาเบียดขับคนส่วนน้อย นี่คือประชาธิปไตยหรือ นี่ประโยชน์ของคนส่วนมาก คุณต้องไป นี่คือข้ออ้างของการสร้างเขื่อนปากมูน จะทำทางด่วนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บอกคนบ้านครัว กูจะสร้างทางลง รื้อกระดูกโคตรเหง้าออกไป เกะกะ ความเป็นมนุษย์มีค่าแค่นั้นหรือครับโดยนิติรัฐ

ปัญหามันต้องสร้างนิติรัฐขึ้นมา ด้วยการกดดัน การต่อสู้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งในสังคมไทย ไม่ได้เกิดเพราะรัฐสภา มันเกิดเพราะ 14 ตุลา มันเกิดเพราะพฤษภา รัฐธรรมนูญ 40 ต้องโบกธงเขียวไสวทั้งเมือง ไม่งั้นมันก็ไม่รับ และตอนนี้ก็ตบหน้าศาลรัฐธรรมนูญอีก นี่ละครับนิติรัฐ ศาลยังไม่ฟัง แต่นักวิชาการเรียกตรงนี้ว่านิติรัฐ ศาลตัดสินแล้ว เป็นศาลฎีกาทั้ง 9 คนนะครับ อดีตศาลฎีกาทั้ง 9 คน ลงมติเอกฉันท์ว่าคุณสมัครผิด แต่ผู้ยึดกุมอำนาจรัฐบอกว่ากูจะเอา มึงจะทำไม นักวิชาการก็บอกว่า "พวกม็อบต้องมอบตัว" มันฟังขึ้นไหม นี่คือคำถาม

ศ.ดร.ยศ ยังกล่าวถึงชนชั้นกลางว่า คนชั้นกลางดูถูกกระทั่งคนไทยด้วยกัน บอกตลอดเวลาว่า คนชนบทงี่เง่าเลือกพวกกเฬวรากเข้ามาในสภาเต็มไปหมด มีอะไรปุ๊บโทษคนชนบท พันธมิตรด่าคนชนบทตลอด แล้วก็ยึดติดกับทฤษฎีสองนครา คือ"ชนบทตั้งรัฐบาล เมืองล้มรัฐบาล" แล้วกล่าวโทษคนชนบท แต่ผมมองไม่เห็นเลยว่าเขาผิดอย่างไร ที่เขาชอบคุณทักษิณ คุณทักษิณมาพร้อมกับ หลักประกันสุขภาพ ผมก็ชอบ มาพร้อมกับกองทุนหมู่บ้าน ผิดหรือที่จะชอบเขา รัฐบาลอื่นไม่เห็นให้แบบนี้เลย รัฐบาลทุกชุดกินเหมือนกันหมด แต่นี่กินแล้วแบ่งน่ะ ผมผิดไหมที่จะชอบเขา แต่คุณมีสิทธิหรือเปล่าที่จะด่าผมว่าโง่ น่าคิดนะครับ ว่าคุณเหยียดหยามกระทั่งคนไทยด้วยกันเอง สำหรับผม ระบอบทักษิณไม่มีอะไรเสียหายเลย ระบอบทักษิณก็คือ ระบอบพาณิชย์นิยมทั่วไป คือธนกิจการเมืองทั่วไป คือการเมืองของเงินตราทั่วไป เพียงแต่ทักษิณโลภมากเท่านั้นเอง ไม่ยอมหยุด บางคนบอกเมียไม่ยอมหยุด โทษผู้หญิงนะ

ศ.ดร.ยศ ทิ้งท้ายไว้ว่า "สิ่งที่เราหวังว่าทำได้ตอนนี้คือ วัฒนธรรมการเมืองใหม่ ซึ่งอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง และไม่ใช้ความรุนแรง หยิบเล่มนี้ขึ้นมา (อารยะขัดขืน โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์) ไม่ใช่แบบที่พันธมิตรว่านะครับ การปลุกระดมลัทธิชาตินิยมที่พันธมิตรถนัด ไม่ใช่อารยะขัดขืน มันเป็นการสร้างความรุนแรง"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ++++

ภาคผนวก
Worse than a coup,
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปลจาก The Economist
๔ กันยายน ๒๕๕๑

เราไม่ควรปล่อยให้ม็อบเผด็จการ โค่นล้มรัฐบาลที่มีความผิดพลาด(อย่างมาก) แต่มาจากการเลือกตั้งของมหาชน

การพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยบางครั้งก็หมายถึงการปกป้องนักประชาธิปไตยที่ไม่เข้าตามากนัก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งมีท่าทางแบบนักเลงโต ก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่เราอาจไม่อยากปกป้องมากนัก สมัครเป็นพวกขวาจัด เขาถูกกล่าวหาว่ายุยงให้ตำรวจและลูกเสือชาวบ้านสังหารนักศึกษาที่ประท้วงโดยไม่มีการใช้อาวุธที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2519 (เหตุการณ์ 6 ตุลา) เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 51 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยภายหลังรัฐประหารปี 2549 นายสมัครได้เลือกบุคคลที่มีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรเป็นคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่น่าพึงปรารถนา แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ที่ถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร แต่คราวนี้เขาตัดสินใจให้ทหารกลับมามีบทบาทในท้องถนนของกรุงเทพฯ อีก แต่อย่างน้อย นายสมัครก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ถือว่าผิดพลาดทีเดียว เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่เรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง

รัฐบาลของนายสมัครมีข้อผิดพลาดที่ลึกซึ้ง แต่ก็เป็นเรื่องที่ผิดพลาดและอันตรายเช่นกัน ถ้าปล่อยให้กลุ่มม็อบเผด็จการที่ยึดทำเนียบรัฐบาลมีอำนาจถอดถอนเขาจากตำแหน่ง หลังการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นายสมัครประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ผู้บัญชาการทหารบก สนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว แต่จนถึงกลางสัปดาห์ยังคงไม่ตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้ากวาดล้างกลุ่มคนที่ยึดครองทำเนียบฯ ถ้าผู้ประท้วงซึ่งเรียกชื่อตัวเองอย่างผิดๆ ว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกระทำการสำเร็จ ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตย และเคยเป็นความหวังในแง่การเมืองพหุนิยมที่เหนือกว่ามาตรฐานเอเชีย ก็คงต้องตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง

ผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประกอบด้วยพวกเสรีนิยม ซึ่งไม่พอใจต่อการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ของรัฐบาลทักษิณ ในขณะที่รัฐบาลสมัครก็ไม่ได้ทำสิ่งใดที่เข้าท่ากว่ารัฐบาลชุดก่อน แต่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรกลับไม่ได้เป็นทั้งพวกเสรีนิยมหรือนักประชาธิปไตย ผู้นำเหล่านี้ประกอบด้วยนักธุรกิจ นายพล และชนชั้นสูงในฝ่ายปฏิกิริยาที่น่าขยะแขยง คนพวกนี้ไม่ได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะพวกเขาก็คงแพ้การเลือกตั้งอยู่ดี แต่เรียกร้องให้มี "การเมืองใหม่" ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นการกลับไปสู่ระบอบปกครองเผด็จการแบบเก่า โดยสมาชิกสภาส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง และทหารสามารถใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองได้ตามอำเภอใจ

คนพวกนี้อ้างว่าคนส่วนใหญ่ในชนบทซึ่งภักดีต่อทักษิณและสมัครเป็นพวกมี "การศึกษาต่ำ" เกินไป จนไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้อย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นการมองข้ามความจริงที่ทำให้ไม่สบายใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ว่า นายกรัฐมนตรีสองคนที่ผ่านมาได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งก็เพราะนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการสาธารณสุขในราคาถูก และการให้เงินกู้

พระราชวังและเส้นทางสู่หายนะแบบพม่า
เช่นเดียวกับการลุกฮือที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ พยายามขับไล่รัฐบาลประชานิยมโดยอ้างว่าเป็นการ "กู้ชาติ" อ้างว่าเป็นการพิทักษ์พระเจ้าอยู่หัวให้ปลอดพ้นจากแผนการทำลายของฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐ มีรายงานข่าวว่าผู้ประท้วงในกลุ่มพันธมิตรเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่าในหลวงสนับสนุนพวกเขา ไม่เช่นนั้นแล้วตำรวจก็คงเข้ามาสลายการชุมนุมไป ซึ่งอาจจะต้องใช้กำลังไปแล้ว และเป็นที่กระซิบกันในหมู่ผู้ประท้วงว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ได้รับการคุ้มครองจาก "คนในเบื้องสูง" ทั้งทหารระดับนายพลขวาจัดและยังอาจมีเชื้อพระวงศ์บางคนด้วย (ซึ่งอาจไม่รวมถึงพระเจ้าอยู่หัว) คำร่ำลือเช่นนี้อาจฟังดูไร้เหตุผล แต่การมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวด และถูกใช้อย่างผิดๆ เป็นเหตุปรามให้ไม่มีการพูดคุยและการปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับสถาบันเหล่านี้ แถมยังช่วยกระพือข่าวออกไปอีก

ตามประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของชาติไทยสมัยใหม่ พระเจ้าอยู่หัวได้รับยกย่องในฐานะผู้พิทักษ์สันติภาพและประชาธิปไตย กล่าวกันว่าพระองค์มีบทบาทช่วยคลี่คลายวิกฤตหลายครั้ง และสถานการณ์ในตอนนี้ก็เป็นวิกฤตเช่นเดียวกับคราวก่อนๆ เชื่อกันว่าพระราชดำรัสที่ชาญฉลาดของพระองค์ จะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดได้มาก คนไทยเชื่อว่าตนเองเก่งกาจในการประนีประนอม และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แทบไม่มีสัญญาณของการประนีประนอมเลย และถ้าจะมีทางเลือกของการประนีประนอมในตอนนี้ก็คงเป็นทางเลือกที่เลวร้ายมาก ซึ่งอาจหมายถึงการบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องออกจากตำแหน่ง เพื่อเอาใจผู้นำที่ชอบยุยงปลุกปั่นของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือรัฐบาลอาจถูกบังคับให้ต้องเสียสละอำนาจบางส่วนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่แทบไม่มีบทบาทอะไร และพรรคฝ่ายค้านเองก็แทบไม่ได้แสดงภาวะผู้นำ เพียงแต่รอให้คนอื่นเอาอำนาจมาให้ ในทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นในบังคลาเทศ ซึ่งมีการอ้างฐานมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเผด็จการทหาร

อาจเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า นายสมัครอาจเปิดทางให้กับบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับมากกว่า และมาจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแทนตน ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรและฝ่ายที่สนับสนุนในกองทัพ ฝ่ายราชการ และฝ่ายในวัง (ถ้าพวกเขามีส่วนร่วมจริง) จะยอมรับมติของประชาชน แต่ถึงอย่างนั้นผู้นำพันธมิตรก็อาจยังไม่ยุติการเคลื่อนไหวจนกว่าจะผลักดันวาระซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเลยให้เกิดขึ้นจนสำเร็จในประเทศไทย ถ้าเป็นเช่นนั้น คนกลุ่มนี้จะยิ่งมีความเลวร้ายมากกว่าพวกที่ทำการรัฐประหารในปี 2549 อีก เพราะอย่างน้อยทหารให้สัญญาว่า จะฟื้นฟูระบอบปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง และจากแรงกดดันของประชาชนก็ได้ทำเช่นนั้นจริง

ประเทศไทยซึ่งมีความเจริญ ทันสมัย และเป็นสังคมเปิดได้พัฒนาเข้าสู่อีกยุคหนึ่งซึ่งต่างจากยุคมืดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ซึ่งประชาชนต้องทนทุกข์ทรมานกับระบอบปกครองของทหารแบบอันธพาลและแยกตัวจากสังคมโลก เพื่อนต่างชาติของประเทศไทยจะต้องแสดงจุดยืนให้ชนชั้นนำของไทยทราบว่า การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ในทำนองเดียวกับประเทศพม่า สถานการณ์เช่นนั้นจะทำให้เกิดมาตรการแทรกแซงเพื่อลงโทษไทยได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งรับชมภาพความไร้ระเบียบที่ปราศจากการควบคุมในจอโทรทัศน์ อย่างเช่น การรวมตัวปิดสนามบินบางแห่ง ก็อาจจะคว่ำบาตรไม่มาท่องเที่ยวในเมืองไทยด้วย

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ : Release date19 September 2008 : Copyleft MNU.

ผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประกอบด้วยพวกเสรีนิยม ซึ่งไม่พอใจต่อการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ของรัฐบาลทักษิณ ในขณะที่รัฐบาลสมัครก็ไม่ได้ทำสิ่งใดที่เข้าท่ากว่ารัฐบาลชุดก่อน แต่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรกลับไม่ได้เป็นทั้งพวกเสรีนิยมหรือนักประชาธิปไตย ผู้นำเหล่านี้ประกอบด้วยนักธุรกิจ นายพล และชนชั้นสูงในฝ่ายปฏิกิริยาที่น่าขยะแขยง คนพวกนี้ไม่ได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะพวกเขาก็คงแพ้การเลือกตั้งอยู่ดี แต่เรียกร้องให้มี "การเมืองใหม่" ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นการกลับไปสู่ระบอบปกครองเผด็จการแบบเก่า โดยสมาชิกสภาส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง และทหารสามารถใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองได้ตามอำเภอใจ คนพวกนี้อ้างว่าคนส่วนใหญ่ในชนบทซึ่งภักดีต่อทักษิณและสมัครเป็นพวกมี "การศึกษาต่ำ" เกินไป ...

H