1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
สื่ออิสระในพม่า อนาคตที่ยังคงสิ้นหวังและไร้ทิศทาง
สื่อพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย:
สำนักข่าวอิสระอิระวดี, ดีวีบี, และมิสซิมา
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ
ผู้สนใจในประเด็นสื่อและการศึกษาในประเทศพม่า
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
สื่อพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย
1. ความเป็นมาของสื่อพลัดถิ่นจากพม่า
- สื่อที่ผลิตโดยชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้าน และสื่อวิทยุ
- องค์กรสนับสนุนการทำงานของสื่อพลัดถิ่นจากพม่า
- สมาคมสื่อพม่า The Burma Media Association: BMA
- ศูนย์ข้อมูลออนไลน์ และองค์กรพิทักษ์สิทธิสื่อ
2. ลักษณะเฉพาะของสื่อพม่าพลัดถิ่น
- (1) นิตยสารอิระวดี (The Irrawaddy Publishing Group)
- (2) ดีวีบี ( Democratic Voice of Burma: DVB)
- (3) มิซซิม่า (Mizzima News)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๖๔๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๓.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
สื่ออิสระในพม่า อนาคตที่ยังคงสิ้นหวังและไร้ทิศทาง
สื่อพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย:
สำนักข่าวอิสระอิระวดี, ดีวีบี, และมิสซิมา
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ
ผู้สนใจในประเด็นสื่อและการศึกษาในประเทศพม่า
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
สื่อพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย
แม้ว่าสื่อพลัดถิ่นจากพม่าจะเริ่มดำเนินการในประเทศไทยมาเกือบสองทศวรรษแล้ว แต่ในระยะแรกนั้น มุ่งเน้นรายงานความเคลื่อนไหวการเมืองในพม่าเป็นหลักเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อกระแสการหลั่งไหลของผู้คนออกจากพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในระดับโลกและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ที่สัมพันธ์กับพม่า รวมทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทำให้สื่อพลัดถิ่นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ในบทความนี้จะกล่าวถึง ความเป็นมาของสื่อพลัดถิ่นจากพม่า ซึ่งรวมถึงสื่อของชาวเชื้อสายพม่าพลัดถิ่นที่มีสำนักงานและสาขาในประเทศไทย โดยค้นหาถึงต้นกำเนิดว่ามีมาอย่างไร รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่สัมพันธ์ในบริบทการทำงาน ความสัมพันธ์ของสื่อพลัดถิ่นกับประเทศที่ตั้งสำนักงานและการสนับสนุนจากชาติตะวันตก ซึ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านั้นกับรัฐบาลทหารพม่า และส่งผลกับการทำงานของสื่อพม่าพลัดถิ่น และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองพม่าด้วย
นอกจากนั้น จะอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวขององค์กรสื่อพม่าพลัดถิ่น เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มผู้รับสารมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ ในขณะที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในสถานะพลัดถิ่น และความพยายามดำรงตนเพื่อให้อยู่ในฐานะ "สื่ออิสระ" ในขณะที่ยังต้องพึ่งพิงด้านการเงินจากประเทศตะวันตก เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ขององค์กรต่อไปได้
1. ความเป็นมาของสื่อพลัดถิ่นจากพม่า
เหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 1988 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์พม่า ที่ได้เข้าสู่กระแสการรับรู้ของสังคมโลกหลังจากเป็น "ฤาษีแห่งเอเชีย" มานานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนชีวิตของเหล่าผู้นำนักศึกษาที่เป็นแกนนำการประท้วง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย นักการเมืองฝ่ายค้าน และนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ที่เป็นส่วนสำคัญในการลุกฮือครั้งนั้น และต่อมาก็ยังทำหน้าที่ในการรายงานข่าวสารเรื่องราวของประเทศพม่าจนกระทั่งปัจจุบัน
ในการศึกษานี้ แบ่งกลุ่มสื่อที่รายงานเรื่องราวที่เกี่ยวกับพม่าเป็นหลัก 3 กลุ่มก็คือ
- กลุ่มสื่อในประเทศพม่า
- กลุ่มสื่อข้ามชาติภาคภาษาพม่า อันได้แก่ BBC VOA RFA ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตสื่อวิทยุ และ
- กลุ่มสื่อพลัดถิ่นจากประเทศพม่า อันรวมถึงสื่อของชาวเชื้อสายพม่าพลัดถิ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา
จุดเริ่มต้นของสื่อพลัดถิ่นจากพม่าเริ่มมาจากเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 1988 ปัจจุบันประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานของสื่อพลัดถิ่นจากพม่าอยู่หลายองค์กร บางแห่งเป็นสำนักงานใหญ่และบางแห่งเป็นสำนักงานสาขา ซึ่งผู้ศึกษาแบ่งตามผู้ผลิตสื่อได้สองกลุ่มใหญ่ คือ
- องค์กรที่ดำเนินงานโดยชาวพม่าพลัดถิ่น (Burman in Exiles) และ
- องค์กรที่ดำเนินงานโดยชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่า (Ethnic or non-Burman people from Burma)
ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีอาณาเขตรัฐติดกับประเทศไทย อินเดียและบังกลาเทศ
อันที่จริงสื่อพลัดถิ่นจากพม่านั้น มีการจัดตั้งองค์กรในหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย สหรัฐอเมริกาและยุโรป ในประเทศไทยที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นตามชายแดนอยู่เสมอ มีชนกลุ่มต่างๆ จากพม่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะแตกต่างกันเป็นจำนวนนับล้านคน รวมทั้งการเป็นที่ตั้งขององค์กรเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพม่าหลายแห่งทำให้เป็นปัจจัยหนึ่งที่อำนวยต่อการสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสารด้วย ในงานวิชาการบางชิ้นเรียกสื่อกลุ่มนี้ว่า "สื่อฝ่ายต่อต้าน" (Opposition Media) (Lisa Brooten, 2003)
ทั้งนี้ผู้ศึกษาไม่ได้รวมถึงสื่อที่ทำโดยกลุ่มรณรงค์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองด้านใดด้านหนึ่ง ที่มักจะเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าโดยตรง แต่จะศึกษาเฉพาะกลุ่มที่เรียกตนเองว่าเป็นองค์กรสื่ออิสระ (Independent Media) เท่านั้น อย่างไรก็ตามจุดเริ่มต้นของสื่อพลัดถิ่นจากพม่าเหล่านี้ โดยมากมีที่มาจากกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่า แต่ต่อมาพยายามปรับการบริหารองค์กรให้เป็นอิสระมากขึ้นจากกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อให้เป็นองค์กรข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ (Credibility) และโปร่งใส (Transparency)
เมื่อแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กรสื่ออิสระจากพม่าเหล่านี้ พบว่า สื่อที่ผลิตโดยชาวพม่าพลัดถิ่นนั้น เน้นการนำเสนอเรื่องราวจากประเทศพม่า โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ใด ชาติพันธุ์หนึ่งเท่านั้น แต่นำเสนอเรื่องราวจากประเทศพม่า ในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพม่า และเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า รวมทั้งความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาลทหารพม่ามาตลอด
การทำงานของสื่อกลุ่มนี้ มีทั้งที่เป็นแบบการทำงานในลักษณะของ "องค์กรข่าว" (News Organization) ที่มีกระบวนการทำงานหาข่าว และนำเสนอข่าว บทความผ่านสื่อของตนเอง ทั้งยังนำเสนอผ่านสื่ออื่นๆ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก และบางสื่อก็เป็นศูนย์รวบรวมข่าวสารจากองค์กรข่าวต่างๆ โดยไม่ได้ผลิตข่าวเอง
ในขณะที่สื่อที่ผลิตโดยชนกลุ่มน้อย มักจะเน้นนำเสนอในฐานะ ตัวแทนของกลุ่มนั้น และเปิดพื้นที่สำหรับเรื่องราวของชนชาตินั้น และความเกี่ยวข้องกับรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการถูกกระทำในฐานะผู้ที่มีกำลังน้อยกว่า และความพยายามในการต่อต้าน(Resistance) กับอำนาจรัฐพม่า แม้ว่าสื่อกลุ่มนี้จะมีการนำเสนอเรื่องราวของชนกลุ่มอื่นจากประเทศพม่าบ้างแต่ก็ไม่มากนัก
ในส่วนขององค์กรที่ดำเนินงานโดยชาวพม่าพลัดถิ่นนั้น เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงปี ค.ศ. 1988 ที่รัฐบาลพม่าได้ทำการกวาดล้างบรรดานักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้เกิดกระแสการอพยพของพวกเขาเข้าไปในชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชายแดนติดกับประเทศไทย เนื่องจากเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ Karen National Union ซึ่งขณะนั้นกองบัญชาการอยู่ที่ค่ายมาเนอปลอว์ ซึ่งต่อมารัฐบาลพม่าได้โจมตีและทำลายเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงอิสระนี้เมื่อปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 1995 โดยใช้ยุทธวิธีสร้างความแตกแยกให้กลุ่มกะเหรี่ยง (พรพิมล ตรีโชติ 2542: (27))
การที่นักศึกษาเลือกหนีมาอยู่ชายแดนกะเหรี่ยง ณ ขณะนั้น มาจากสาเหตุที่มีข่าวลือว่ามีอาวุธและกำลังสนับสนุนจากประเทศตะวันตก (Martin Smith, 1999: 385) แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังและประสบกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ในเขตชายแดนที่เต็มไปด้วยป่าเขาและโรคมาลาเรีย ทำให้พวกเขาเลือกที่จะข้ามชายแดนเข้ามาในประเทศไทย และยังมีนักศึกษาอีกหลายพันที่ถูกรัฐบาลไทยส่งกลับเข้าไปในสมัยนั้น
เมื่อนักศึกษาชาวพม่าเข้ามาอาศัยอยู่กับชนกลุ่มน้อยระยะหนึ่ง ก็ได้มีการเริ่มจัดทำจดหมายข่าว (Newsletter) เพื่อส่งข่าวสารระหว่างกัน โดยเก็บรวบรวมจากข่าวตามหนังสือพิมพ์ ภาษาอังกฤษของไทยและจากสื่อข้ามชาติ โดยจดหมายข่าวในขณะนั้นใช้ชื่อว่า Kabamakya (Till Eternity) ซึ่งกลุ่มผู้จัดทำใช้ชื่อว่า Kabamakya เช่นกัน จดหมายข่าวนี้เป็นรูปแบบการสื่อสารของกลุ่มนักศึกษาพม่ามาตั้งแต่สมัยการเรียกร้องเอกราชแล้ว จดหมายข่าวดังกล่าวได้ผลิตและแจกจ่ายจากเขตกะเหรี่ยงหนึ่งฉบับ และดำเนินการต่อเมื่อกลุ่มผู้จัดทำอพยพเข้ามาในไทยแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1989 โดยตีพิมพ์ที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นยังมีอีกฉบับหนึ่งออกมาในเวลาเดียวกันชื่อว่า Wa-ya-zine ขณะนั้นได้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว และขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ สำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nation High Commissioner of Refugees: UNHCR) ที่ให้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับนักศึกษากลุ่มนี้ โดยบางส่วนเลือกที่จะไปลี้ภัยในประเทศตะวันตก และบางส่วนยังปักหลักในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมากคือในประเทศไทยและอินเดีย ต่อมานักศึกษากลุ่มนี้ก็กระจัดกระจายไปศึกษาต่อในประเทศต่างๆ แต่ก็มีหลายคนที่กลับมาร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยพม่าอีก (1)
(1) สัมภาษณ์ Toe Zaw Latt , ผู้จัดการ Democatic Voice of Burma สำนักงานประเทศไทย (20 มีนาคม 2551)
จดหมายข่าวสื่อสารกันขณะนั้น นอกจากเป็นการส่งข่าวระหว่างกลุ่มเดียวกันแล้ว ยังเริ่มมีการส่งให้ผู้สนใจในประเด็นพม่าด้วย เนื่องจากข่าวสารในพม่าเองยากที่จะเล็ดรอดออกมาได้ เนื่องจากการสื่อสารที่ล่าช้าในสมัยนั้น และการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างแน่นหนาของรัฐบาลพม่า จึงมักจะอาศัยฟังจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา จากผู้ที่พบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ ความสนใจในประเด็นพม่าในขณะนั้น ถือว่าจำกัดอยู่เพียงกลุ่มนักวิชาการ นักข่าว และนักการทูตบางกลุ่มเท่านั้น เนื่องจากการที่พม่าปิดตัวเองจากโลกภายนอกมานาน
นอกจากนั้นยังมีสื่อของกลุ่มนักศึกษา All Burma Students' Democratic Front: ABSDF (2) ที่ชื่อ Dawn News Bulletin ที่เริ่มแจกจ่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988
(2) ABSDF เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยอดีตนักศึกษาจากพม่า ที่ลี้ภัยออกมาหลังจากการประท้วงปีค.ศ.1988-9 ตั้งอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า ร่วมกับขบวนการเรียกร้องของชนกลุ่มน้อย และกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยอื่นๆ ปัจจุบันมีค่ายสาขาเจ็ดแห่ง ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และอีกบางส่วนบริเวณชายแดน จีน-พม่า และอินเดีย-พม่า นอกจากนั้นยังมีสำนักงานสาขาในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียด้วย
ในปี ค.ศ. 1991 U Win
Khet อดีตบรรณาธิการของนิตยสาร Shudaunt, Sarmawgun และ Pan ได้หลบหนีเข้ายังเขตของ
Democratic Alliance of Burma: DAB (3) เพื่อเข้าร่วมกับ รัฐบาลพลัดถิ่นของ Dr
Sein Win และได้จัดตั้งชมรมนักเขียนและศิลปินในเขตอิสระขึ้น (Writers and Artists
Club in the Liberated Area) ต่อมาได้จัดพิมพ์ วารสารรายเดือน Democratic Forum
และอีกฉบับหนึ่งที่ทำร่วมกับ DAB ชื่อ Eastern Yoma Bulletin ซึ่งมีการตีพิมพ์ผลงานของศิลปินและนักวาดการ์ตูนหลายท่านที่หลบหนีออกมาทางชายแดนประเทศไทย
หลังการรัฐประหาร Saw Maung (Martin Smith, 1991: 69)
(3) The Democratic Alliance of Burma: DAB ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1988 ที่ชายแดนไทย-พม่า เป็นเครือข่ายของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่ลี้ภัยมาร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย สมาชิกประกอบด้วย National Democratic Front, the All Burma Students' Democratic Front (ABSDF), the Committee for Restoration of Democracy in Burma, the All Burma Young Monks' Union (ABYMU), the Chin National Front (CNF)
ในปี ค.ศ.1992 กลุ่ม Burma Information Group: BIG ได้เริ่มจัดทำจดหมายข่าวเช่นกันแต่สื่อพลัดถิ่นจากพม่าที่เป็นทางการในประเทศไทยสื่อแรกก็คือ The New Era Journal หรือ Khit Pyaing นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ภาษาพม่า โดยนักเขียนท่านหนึ่ง Thin Maung Win ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1993 พิมพ์ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีจุดประสงค์หลักนับตั้งแต่ก่อตั้งคือ เพื่อสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยในพม่าและพยายามหยุดยั้งระบอบทหาร (4)
(4) U Thin Maung Win เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร ปัจจุบันบรรณาธิการคือ U Taung (Kyae Mone) มีสำนักงานในกรุงเทพมหานครมีเว็บไซต์คือ http://www.khitpyaing.org โดยเน้นผลิตสื่อภาษาพม่าเป็นหลัก
ต่อมาในปี ค.ศ. 1994 จดหมายข่าวที่ผลิตโดยกลุ่ม BIG ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นนิตยสารข่าวรายเดือนภาษาอังกฤษ The Irrawaddy ที่ผลิตโดย Irrawaddy Publishing Group เมื่อยังเป็นจดหมายข่าวอยู่นั้น เป็นเพียงการรวบรวมข่าวสารภาษาอังกฤษจากสื่อข้ามชาติต่างๆ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ The Nation และ Bangkok Post ของไทย โดยยังไม่มีการตีพิมพ์ข้อเขียนของคณะผู้จัดทำเอง หรือมีเพียงบทบรรณาธิการของ Aung Zaw บรรณาธิการผู้ก่อตั้งเท่านั้น เมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นนิตยสารข่าวก็ได้มีการตีพิมพ์บทความและข่าวจากนักเขียนอิสระและจากกองบรรณาธิการเอง ปัจจุบัน IPG ผลิตนิตยสารข่าวเชิงวิเคราะห์รายเดือน The Irrawaddy และรายงานข่าวและบทความต่างๆ รายวันบนเว็บไซต์
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่ The New Era กับ The Irrawaddy ก่อตั้งขึ้น. ประเทศนอรเวย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่า รวมทั้งรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากพม่าเข้าไปตั้งถิ่นฐาน มีการก่อตั้ง Democratic Voice of Burma ในปี ค.ศ. 1992 องค์กรสื่อที่เมื่อแรกเริ่ม เกิดจากคณะรัฐบาลพลัดถิ่น National Coalition Government of The Union of Burma: NCGUB แต่ในปี ค.ศ. 1994 ได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารเป็นองค์กรสื่ออิสระ อันเนื่องมาจากต้องการที่จะให้องค์กรสื่อเป็นอิสระจากพรรคการเมือง และมีทักษะการทำงานเป็นมืออาชีพ (Professional) ทางสื่อสารมวลชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในคณะกรรมการบริหารของ DVB มี Dr. Sein Win นายกรัฐมนตรีพลัดถิ่นอยู่ด้วย แต่การดำเนินงานบริหารนั้นอยู่ที่ผู้อำนวยการ Aye Chan Naign และบรรณาธิการชาวพม่า
ในระยะแรก DVB เปิดดำเนินการด้านวิทยุก่อน และตามมาด้วยสถานีโทรทัศน์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2005 ที่แพร่ภาพรายการผ่านดาวเทียมเข้าไปในพม่า ซึ่งจะสรุปรายงานข่าวรายวันไว้บนเว็บไซต์ขององค์กร. ช่วงเวลาเดียวกันทางเอเชียใต้คือ อินเดียและบังคลาเทศ เป็นชายแดนที่มีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าหนีออกมาเช่นกัน โดยเฉพาะทางอินเดียมีนักศึกษาพม่าหลบหนีเข้าไปและตั้งกลุ่ม Burma Student's League ในปี ค.ศ. 1992 และเปลี่ยนชื่อเป็น All Burma Student's League ในปี ค.ศ. 1994 หลังจากที่มีการรวมตัวกับนักศึกษาพม่าทั่วอินเดียมากขึ้น ต่อมากลุ่มนี้ได้ออกจดหมายข่าวของตนเองเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า Fist ซึ่งใช้วิธีพิมพ์ดีดและถ่ายเอกสาร โดยมีงานภาพวาด ของศิลปินพม่า Sitt Nyein Aye ที่อาศัยอยู่ในเดลีด้วย จดหมายข่าวนี้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจากหลักร้อยเป็นหลักพันในเวลาไม่กี่เดือน โดยส่งกระจายไปทั่วอินเดีย ด้วยความช่วยเหลือของทั้งผู้สนับสนุนชาวตะวันตกและเพื่อนนักศึกษาที่ลี้ภัยในนอรเวย์ แต่การทำจดหมายข่าวก็หยุดไปเนื่องจากกลุ่มผู้จัดทำเริ่มกระจัดกระจายไปตั้งถิ่นฐานลี้ภัยในประเทศอื่นๆ (Soe Myint, 2003: 5)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1998 นักข่าวชาวพม่าที่ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในอินเดียได้ก่อตั้ง Mizzima News ขึ้นที่กรุงเดลี เป็นองค์กรสื่อที่รายงานข่าวเรื่องพม่า โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์อินเดีย-พม่าและสถานการณ์ชายแดนบริเวณนั้น. Mizzima เป็นสื่อพลัดถิ่นที่ใช้รูปแบบรายงานเป็นภาษาอังกฤษและพม่า ผ่านอินเตอร์เน็ต (web-based) มาตั้งแต่เริ่มต้น
สื่อที่ผลิตโดยชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้าน และสื่อวิทยุ
ในกลุ่มสื่อที่ผลิตโดยชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านนั้น อันที่จริงเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยที่พม่าเป็นเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1948 แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการประท้วงในปี ค.ศ.1988 ไม่มากนักเนื่องจากเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเขตเมือง เช่น วารสารของพรรคมอญใหม่ (New Mon State Journal) วารสารของกลุ่มกะเหรี่ยงภาษากะเหรี่ยง Than Noo Htoo และภาษาอังกฤษ Karen National Bulletin วารสารของกลุ่มคะฉิ่น KIO ชื่อ Baknoi Bat Shiga โดยมีทั้งที่ผลิตเองในพื้นที่และส่งมาพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ Gestetner ที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยมากคือประเทศไทย
ในส่วนของสื่อวิทยุนั้น พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ได้ดำเนินการกระจายเสียงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971-1989 ใช้ชื่อว่า Voice of People of Burma โดยกระจายเสียงในภาษาของชนกลุ่มน้อยหลายภาษา ในปี ค.ศ. 1989 กลุ่ม KNU ก็เปิดดำเนินการวิทยุ Democratic Alliance of Burma ที่เคยถูกปิดไปตั้งแต่เมื่อมีการสู้รบกันเมื่อปี ค.ศ. 1983 ต่อมาเมื่อองค์กรชนกลุ่มน้อยแตกแยกกันออกไป กลุ่มว้า United Wa State Army เข้ามาใช้คลื่นของ CPB ในการประกาศโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ แต่ปัจจุบันสถานีถูกปิดไปแล้ว (Martin Smith, อ้างแล้ว: 69-70)
องค์กรสื่ออิสระของชนกลุ่มน้อย เริ่มปรากฏในช่วงปลายทศวรรษที่1990 เช่นเดียวกับสื่อพม่าพลัดถิ่น อันได้แก่วารสาร Guiding Star ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1999 ผลิตโดยองค์กรข่าวชาวมอญ Independent Mon News Agency หรือ IMNA ผลิตวารสารรายเดือนภาษามอญและภาษาพม่า และมีเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ www.monnews-imna.com. ส่วนอีกสื่อหนึ่งของกลุ่มมอญคือ Kao Wao หมายถึงนกคุกคู (5) ในภาษามอญ เป็นวารสารรายปักษ์ภาษาอังกฤษและภาษามอญที่จัดทำโดยกลุ่มเยาวชนชาวมอญ ร่วมกับกลุ่มชาวมอญที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศแคนาดา โดยมีการรายงานข่าวด่วนผ่านทางอีเมล์และเว็บไซต์ด้วยคือที่ www.kaowao.org ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับนานาชาติ
(5) ชื่อนกคุกคูนี้ มีนัยยะว่า เสียงร้องของมันสื่อถึงมุมมองใหม่ๆ และความหวังในเสรีภาพ
ทั้งสององค์กรแสดงจุดยืนของตนเองว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใด จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความขัดแย้งตามมาจากกลุ่มการเมืองชาวมอญด้วยกันเป็นระยะ แม้ว่าขณะนี้พรรคใหญ่สุดของชาวมอญคือพรรครัฐมอญใหม่ หรือ New Mon State Party จะตกลงสงบศึกกับรัฐบาลพม่าไปแล้ว แต่ก็มีบางกลุ่มที่ไม่พอใจกับ Kao Wao เนื่องจากบรรณาธิการ Taing Taw เคยขอร้องให้กลุ่ม Hongsarwatoi Restoration Party ให้สงบศึกกับรัฐบาลพม่า ซึ่งกลุ่มนี้ได้แยกตัวออกมาจากพรรครัฐมอญใหม่ ตั้งแต่พรรคเซ็นสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปีค.ศ. 1995 เว็บไซต์ของ Kao Wao มีบทความและข่าว ทั้งในภาษามอญ ภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า และภาษาไทยด้วย (6)
(6) Louis Reh. 2005"The Cuckoo's Song: Press freedom thrives in Burma's exile ethnic communities" [online] Available http://www.irrawaddy.org/demo/article.php?art_id=5007 (September 21, 2007)
ทั้งสองสื่อที่กล่าวมา มีสำนักงานอยู่ในเขตประเทศพม่า แต่ในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีสื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่มากอีกกลุ่มหนึ่งคือไทใหญ่ หรือฉาน คือสำนักข่าวฉาน Shan Herald Agency for News ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ The Independence ในภาษาไทใหญ่ และเว็บไซต์ www.shanland.org ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการคือ Khunsai Jaiyen อดีตทหารของกองทัพแห่งรัฐฉาน ที่ปัจจุบันยังเป็นกองกำลังศัตรูสำคัญของรัฐบาลพม่า นำโดยเจ้ายอดศึก แม้ว่าสำนักข่าวฉานจะระบุเช่นเดียวกันว่าเป็นองค์กรสื่ออิสระ แต่อย่างไรก็ตาม หากจะติดตามข่าวสารของกองทัพรัฐฉาน หรือ Shan State Army-South ที่เว็บไซต์ของ Shanland ก็จะรายงานได้รวดเร็วที่สุด และเป็นแหล่งข่าวเรื่องกองทัพรัฐฉานให้แก่สำนักข่าวอื่นๆ ด้วย
ชายแดนแม่ฮ่องสอน เป็นที่ตั้งของวารสารรายปักษ์ Kantarawaddy Times ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 2004 โดยกลุ่มเยาวชนชาวคะเรนนี เพื่อส่งเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนแม่ฮ่องสอน ต่อมาได้ให้บริการส่งข่าวสารทางอีเมล์ด้วย
นอกจากนั้นชายแดนทางบังกลาเทศได้มีสำนักข่าวของกลุ่มชาติพันธ์ดำเนินการอยู่เช่นกัน โดยเป็นกลุ่มที่อาศัยในรัฐภาคตะวันตกของพม่า ได้แก่ Narinjara News เป็นองค์กรข่าวของกลุ่มอาระคันนีส จากรัฐอาระคันหรือยะไข่ มีสำนักงานอยู่ที่กรุงดักกา ตั้งขึ้นในปี 2001 และมี Kaladan Press Network ทำข่าวเกี่ยวกับกลุ่มมุสลิมโรฮิงยาจากรัฐอาระคัน. Khonumthung News Group เป็นองค์กรข่าวของกลุ่มชาติพันธ์ฉิ่น (Chin) ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2002 โดยกลุ่มเยาวชนชาวฉิ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองมิโซรามประเทศบังกลาเทศ โดยมีพื้นที่ทำงานในเขตรัฐฉิ่น และเรื่องของชนกลุ่มนี้ที่สื่อพลัดถิ่นกลุ่มอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลได้ไม่มากนัก และกลุ่มฉิ่นยังมี Chinland Guardian เป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับข่าวสารในพม่าและรัฐฉิ่น มีศูนย์การทำงานที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมากเป็นบทความวิเคราะห์ จัดทำโดยนักศึกษาและนักวิชาการชาวฉิ่นที่อาศัยในอเมริกาและประเทศอื่นๆ (7)
(7) สัมภาษณ์ Dr. Lian Hmung Sakhong เลขาธิการของ the Ethnic Nationalities Council-Union of Burma (ENC)
สำหรับกลุ่มคะฉิ่นซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือติดชายแดนประเทศจีน มีองค์กรสื่อหลักๆ อยู่ 2 องค์กร คือ Kachin Post ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2002 เริ่มจากการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ก่อนแล้วจึงมีเว็บไซต์ในปีถัดมา ส่วนอีกองค์กรหนึ่งคือ Kachin News Group มีสำนักงานข่าวอยู่ในประเทศไทยและอินเดีย ก่อตั้งโดยกลุ่มเยาวชนคะฉิ่น เมื่อปี ค.ศ. 2003
กลุ่มองค์กรสื่อพลัดถิ่นเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ปัจจุบันยังดำเนินงานอยู่และผลิตสื่อออกมาอย่างสม่ำเสมอ อันที่จริงมีองค์กรสื่อพลัดถิ่นอื่นๆ อีก ที่ปรากฏขึ้นมาในช่วงใกล้เคียงกัน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน บุคลากรและปัจจัยอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานต่อเนื่องได้
ดังจะเห็นได้จากข้อมูลข้างต้น ว่าองค์กรสื่อเหล่านี้ล้วนดำเนินงานข้ามพรมแดนทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านและบางแห่งก็มีสำนักงานไกลถึงทวีปยุโรป อย่างเช่น DVB สื่อของกลุ่มชาติพันธุ์บางแห่งก็มีศูนย์ดำเนินงานในสหรัฐอเมริกาที่พวกเขาลี้ภัยอยู่ แต่ทำงานโดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) นำข่าวสารที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น (Local) มาสู่ความตระหนักในระดับสังคมโลก (Global) (Lisa Brooten, 2003)
องค์กรสนับสนุนการทำงานของสื่อพลัดถิ่นจากพม่า
นอกจากองค์กรสื่อพลัดถิ่นจากพม่าที่กล่าวมาแล้ว ยังมีองค์กรอีกกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนในการทำงานของสื่อเหล่านี้ก็คือ สมาคมของนักข่าวพม่าพลัดถิ่น อีกกลุ่มหนึ่งคือ ฐานข้อมูลออนไลน์ที่รวบรวมข่าวจากแต่ละสื่อ เพื่อกระจายให้แก่สมาชิก และกลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิสื่อ
สมาคมสื่อพม่า The Burma Media Association: BMA
BMA ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. 2001 โดยนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ชาวพม่าโพ้นทะเล ซึ่งต้องการจะสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในพม่า โดยมีกิจกรรมการดำเนินงานคือรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุคลกรด้านสื่อสารมวลชนในพม่าที่ถูกคุมขัง ทั้งในเรือนจำและบริเวณบ้าน เสียชีวิตในเรือนจำหรือถูกปล่อยตัว เพื่อประเมินตรวจสอบสถานการณ์เสรีภาพของสื่อในพม่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อให้องค์กรพิทักษ์สิทธิสื่อในระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว ทั้ง Reporter Sans Frontier และ Committee to Protect Journalists เป็นต้น รวมทั้งสื่อข้ามชาติอื่นๆ ด้วย รายงานเหล่านี้จะนำมาประกอบในรายงานเรื่องสิทธิของสื่อ และสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องและกดดันในระดับนานาชาติต่อไป
นอกจากนั้น ประเด็นที่สำคัญที่ BMA ทำงานอยู่ก็คือเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว นักหนังสือพิมพ์ ไม่เพียงแต่ในพม่า แต่นักข่าวพลัดถิ่นบางครั้งก็ถูกคุกคามจากการทำงานในประเทศที่พวกเขาพำนักอยู่เช่นกัน ดังนั้น BMA ยังมีส่วนร่วม ทำหน้าที่ในการปกป้องสมาชิกของสมาคมที่ถูกจับกุมในขณะที่ทำหน้าที่ในประเทศเพื่อนบ้านของพม่า เช่น การจับกุม Soe Myint บรรณาธิการของ Mizzima และ ผู้สื่อข่าวของ RFA ชื่อ Ko Nyo ในประเทศอินเดีย และนักข่าวอิสระ Minn Kyaw กับ Ma Sein Mar ในประเทศมาเลเซีย โดยเชื่อว่าพวกเขาถูกจับเนื่องจากรายงานวิพากษ์วิจารณ์ประเทศนั้นๆในเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า และมีข้อมูลบางอย่างที่ชี้นำว่า การจับกุมดังกล่าวมีการกดดันจากรัฐบาลพม่า (8)
(8) Burma Media Association.2007 "BMA's Recent Activities." [Online]. Available http://www.bma-online.org/Activities.html (February, 24, 2008 )
BMA ยังได้รวบรวมเอกสาร วรรณกรรมต่างๆ ที่ต้องห้ามในพม่า บางเล่มนั้นถูกห้ามโดย Literary Works Scrutinizing Committee บางเล่มถูกตัดออกบางหน้าหลังจากตีพิมพ์แล้ว โดยวรรณกรรมเหล่านี้ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์แล้ว และเตรียมจะจัดพิมพ์ผลงานการเขียนของ U Win Tin นักหนังสือพิมพ์ ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ และมีงานหลายชิ้นที่ถูกส่งมาจากนักเขียน นักข่าวในพม่าและได้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ รวมถึงงานเขียนในช่วงการประท้วงปี ค.ศ. 1988 ด้วย บางส่วนตีพิมพ์ในวารสารราย 3 เดือนของสมาคมที่ใช้ชื่อว่า Oo-Dan
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ BMA ก็คือ การร่วมมือกับองค์กรพิทักษ์สื่อนานาชาติ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่กระนั้นปัจจุบันบทบาทของ BMA ยังจำกัดอยู่ เนื่องจากสมาชิกและคณะกรรมการนั้น เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในสื่อต่างๆ ทั่วโลก การประชุมประสานงานจึงผ่านระบบสื่อสารทางไกลอย่างโทรศัพท์หรืออินเตอร์เนตเท่านั้น ยกเว้นกิจกรรมของสมาคมที่สำคัญคือ การประชุมประจำปี Burma Media Conference ที่จัดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 อันเป็นวาระที่กรรมการ สมาชิกจะได้พบปะพูดคุยกันถึงสถานการณ์การทำงาน และแนวโน้มการเคลื่อนไหวต่างๆ
ศูนย์ข้อมูลออนไลน์
ศูนย์ข้อมูลออนไลน์หลักๆ ที่มักจะปรากฏในเครื่องมือค้นหาทางอินเตอร์เน็ตในเรื่องพม่า ได้แก่ BurmaNet News ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 โดยเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารและเรื่องราวเกี่ยวกับพม่า ซึ่งได้ส่งให้สมาชิกที่ลงทะเบียนออนไลน์และมีเว็บไซต์เพื่อการสืบค้น โดยปรับปรุงข้อมูลสัปดาห์ละห้าครั้ง แต่มีข้อจำกัดคือมีแต่ในภาษาอังกฤษเท่านั้น ปัจจุบันสามารถสืบค้นได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา (9)
Burma News International เป็นเครือข่ายองค์กรสื่อพม่าอิสระที่มีสำนักงานหลักอยู่ในอินเดีย บังกลาเทศ และประเทศไทย โดยมุ่งหมายในการสนับสนุนการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวข้องกับพม่าที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้และในประเทศไทย และเป็นสะพานเชื่อมข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ ทรัพยากรการทำงานระหว่างสื่อพม่าอิสระ (10)
(9) BurmaNet News. "FAQ About BurmaNet." [Online]. Available http://www.burmanet.org/news/faq (February, 26, 2008)
(10) The Burma News International.
"About BNI." [Online]. Available
http://bnionline.net/index.php?option=com_content&task=view&id=1&Itemid=38
(February, 26, 2008)
The Online Burma / Myanmar Library หรือห้องสมุดพม่าออนไลน์ เป็นฐานข้อมูลออนไลน์ที่รวบรวมทั้งข่าวสาร
ข้อมูล เอกสารการสัมมนา งานวิจัย รายงานและหนังสือ โดยใช้ดัชนีในการค้นหาออนไลน์
David Arnott บรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งนี้ เขียนไว้ในบทแนะนำห้องสมุดเมื่อปี
ค.ศ. 2003 ว่า "ขอมอบให้แก่ประชาชนพม่า ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ทราบว่า
เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเขาถูกเขียนไว้อย่างไรบ้าง" เว็บไซต์นี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก
Open Society Institute ในโครงการพม่า พื้นที่และระบบเว็บไซต์ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์บริการพื้นที่บนเว็บไซต์เพื่อสาธารณของมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลนา
(ibiblio)
โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 โดยโครงการเก็บข้อมูลเรื่องสิทธิมนุษยชนของมูลนิธิเพื่อสันติภาพในพม่า (Burma Peace Foundation) และมีเอกสารบางส่วนจากโครงการสหประชาชาติ ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 60 กลุ่ม ตามการแบ่งแบบห้องสมุด มีหัวข้อย่อยอีกประมาณ 850 หัวข้อ และยังเชิญชวนให้นักวิชาการ ผู้สนใจส่งบทความและเอกสารเข้าร่วมในห้องสมุด ในอินเตอร์เน็ตปัจจุบันมีเอกสารเกี่ยวกับพม่ามากกว่า 100,000 ชิ้น ตั้งแต่ข่าวสั้นจนถึงหนังสือออนไลน์ กระจายอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ กว่า 500 เว็บไซต์ ทั้งจากหน่วยงานองค์การสหประชาชาติ รัฐบาลประเทศต่างๆ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ นักรณรงค์ และปัญหาก็คือเว็บไซต์เหล่านี้หลายแห่งก็ไม่มีเครื่องมือค้นหาข้อมูลในเว็บ เมื่อเวลาผ่านไปข้อมูลเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็กระจัดกระจาย ดังนั้นการจัดการข้อมูลในรูปแบบห้องสมุด จึงเป็นเรื่องจำเป็น อันเป็นที่มาของเว็บไซต์แห่งนี้ (11)
(11) David Arnott. "Introduction
to the Online Burma/Myanmar Library." Online Burma/Myanmar Library. [Online].
Available
http://www.burmalibrary.org/introduction.html (February, 26, 2008)
ศูนย์ข้อมูลออนไลน์ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้ที่สนใจในเรื่องพม่า รวมทั้งนักข่าวพลัดถิ่นต่างทำงานได้อย่างสะดวกขึ้น เนื่องจากไม่สามารถหาศูนย์ที่เป็นรูปธรรมเก็บรวบรวมแบบห้องสมุดเรื่องพม่าได้ และปัจจุบันการกระจัดกระจายย้ายถิ่นของชาวพม่า ทำให้การหาเอกสารที่เป็นต้นฉบับนั้นยากยิ่งขึ้น ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จึงทำหน้าที่เป็นห้องสมุด ที่ใช้ประโยชน์ได้สะดวกในโลกแห่งข่าวสาร
องค์กรพิทักษ์สิทธิสื่อ
องค์กรพิทักษ์สื่อที่มีต้นกำเนิดจากประเทศตะวันตกได้เข้ามีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบสถานการณ์ของสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีการปกครองในระบอบเผด็จการหรือสังคมนิยม แต่ทั้งนี้หลักการเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็มาจากแนวคิดของประชาธิปไตย ที่เสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความโปร่งใสของรัฐบาล และการเป็นสังคมเปิด (Open Society)
การทำงานขององค์กรเหล่านี้ จะทำโดยการประเมินสถานการณ์จากสื่อที่เป็นเครือข่ายในประเทศต่างๆ แต่ในกรณีของพม่า ได้อาศัยทั้งสื่อในประเทศ ตัวแทนขององค์กรในประเทศ และกลุ่มสื่อพลัดถิ่น โดยการทำงานจะครอบคลุมถึงการตรวจสอบการควบคุมสื่อของรัฐบาล ความปลอดภัยของสื่อมวลชน รวมทั้งการคุกคามหรือการถูกครอบงำโดยอำนาจอื่นๆ. ในพม่านั้น ประเด็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่ถูกคุมขังในฐานะนักโทษทางการเมือง องค์กรเหล่านี้มีส่วนในการร่วมกดดันทางนโยบายผ่านการออกจดหมายเรียกร้อง แถลงการณ์ การรณรงค์ และแม้แต่การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของสื่อ ตัวอย่างขององค์กรเหล่านี้ซึ่งทำงานตรวจสอบสถานการณ์สื่อทั้งในพม่าและสื่อพลัดถิ่นจากพม่า เช่น Reporter Sans Frontier (RSF), Committee to Protect Journalists (CPJ), International Freedom of Expression Exchange (IFEX), Article 19, Asia Media Forum (AMF) และในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ The Southeast Asian Press Alliance (SEAPA)
2. ลักษณะเฉพาะของสื่อพม่าพลัดถิ่น
(1) นิตยสารอิระวดี (The
Irrawaddy Publishing Group)
ความเป็นมา
ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1993
โดยอดีตนักศึกษาที่ร่วมในการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 1988 และลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทย
ในระยะแรกนั้นตั้งสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่แรกเริ่มนิตยสารอิระวดี
ได้กำหนดนโยบายว่าเป็นองค์กรสื่ออิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง องค์กรหรือรัฐบาลใด
ไม่ใช่ทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุน หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รณรงค์เพื่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993
อิระวะดี ได้ทำงานครอบคลุมถึงประเด็นที่หลากหลาย อันเกี่ยวข้องกับพัฒนาการ(การเปลี่ยนแปลง)ทางการเมืองในพม่า
ในปี ค.ศ. 1999 หลังจากที่ประเทศพม่าได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียน นิตยสารได้ขยายขอบข่ายไปถึงประเทศสมาชิกอาเซียน
ที่ได้ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและบ้างก็ต้องอดทนต่อสถานการณ์ในพม่า
สำนักงานใหญ่ของอิระวดี เมื่อแรกเริ่มอยู่ในกรุงเทพมหานครและได้ย้ายมาที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี
ค.ศ. 1996 อิระวดียังคงทำงานอยู่นอกประเทศพม่า ในขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่ายังคงความเข้มงวดในการไหลของข้อมูลข่าวสารทั้งภายในและภายนอกประเทศ
และไม่อนุญาตให้อิระวดีเข้าไปทำการในพม่า. แม้ว่าอิระวดีถูกห้ามในพม่า อย่างไรก็ตาม
สถานเอกอัครราชทูต หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ผู้จัดจำหน่ายที่เชื่อถือได้
ตัวแทนและพันธมิตรของนิตยสารมักจะนำนิตยสารเข้าไปในพม่า นอกจากนั้นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ
สถานเอกอัครราชทูตและหน่วยงานไม่หวังผลกำไรอีกหลายแห่งก็ได้สมัครเป็นสมาชิกประจำ.
ความมุ่งหวังอย่างหนึ่งนับตั้งแต่แต่เริ่มก่อตั้งนิตยสารคือ กลับไปยังพม่าเมื่อสถานการณ์อำนวยในการก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระ
ในปี ค.ศ. 2000 อิระวดีได้เริ่มดำเนินงานเว็บไซต์ภาคภาษาอังกฤษ จากนั้นได้กลายเป็นหนึ่งในเว็บไซต์
ที่รายงานเรื่องพม่าที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่ง ในปีค.ศ. 2006 มีการเข้าชม
11 ล้านครั้งต่อเดือน และมีผู้เข้าชมประจำประมาณ 300,000 คนต่อเดือน ในปี ค.ศ.
2001 อิระวดีเริ่มดำเนินการเว็บไซต์ภาคภาษาพม่า และในช่วงการประท้วงเมื่อปี ค.ศ.
2007 มีผู้เข้าชมถึงกว่า 30 ล้านครั้งในเดือนกันยายน โดยมีจำนวนผู้เข้าชมถึง
(Unique Visitors) 100,000 ราย
วัตถุประสงค์ขององค์กร
1. เพื่อเสนอข่าวสาร บทวิเคราะห์ และบทบรรณาธิการเรื่องเหตุการณ์ในพม่าและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างถูกต้อง จากเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2000 แก่ผู้อ่านทั่วโลก
2. เพื่อสรรหาบุคลากรชาวพม่าจากทั้งในพม่าและที่อยู่พลัดถิ่น ในฐานะนักวารสารศาสตร์ และเสนอโอกาสในการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการสร้างสื่อที่เป็นอิสระ และมีความรับผิดชอบในพม่าขึ้นมาอีกครั้ง และเพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้นในวงการวารสารศาสตร์ในพม่า
3. เพื่อเป็นการให้ทางเลือกแก่ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อที่รัฐบาลควบคุมในพม่า และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. เพื่อเพิ่มความตระหนักในระดับนานาชาติ เรื่องการเมืองและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมถึงสังคมในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศพม่า ผ่านนิตยสารอิระวดีรายเดือนที่เผยแพร่ทั่วโลก
5. เพื่อดำเนินงานสื่อที่เชื่อถือได้และเป็นอิสระบนเว็บไซต์ภาษาพม่า เพื่อกลุ่มเป้าหมายชาวพม่าที่อาศัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
6. เพื่อกลับไปที่ประเทศพม่าเมื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพของสื่อถูกสถาปนาขึ้นอีกครั้ง เพื่อผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ หรือนิตยสารข่า วโดยใช้ประสบการณ์ ความชำนาญที่ได้รับเมื่อตอนพลัดถิ่น
รูปแบบสื่อ
1. นิตยสารรายเดือน พิมพ์สี่สี เป็นการสรุปข่าวในรอยเดือนที่ผ่านมา บทวิเคราะห์ วิจารณ์สถานการณ์
บทสัมภาษณ์ รายงานข่าวเชิงลึก การ์ตูนการเมือง สารคดี2. เว็บไซต์ www.irrawaddy.org ซึ่งนำเสนอในภาคภาษาอังกฤษ, และเว็บไซต์ภาษาพม่า www.irrawaddy.org/bur/
ปรับปรุงข้อมูลทุกวันจันทร์-ศุกร์และเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีข่าวสำคัญ ทั้งสองเว็บไซต์ มีบางส่วนที่ลงข่าวเดียวกัน แต่โดยมากจะแยกกันทำข่าว
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้สนใจเรื่องพม่า นักการทูต
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กลุ่มรณรงค์ นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการ. อิระวดีภาคภาษาอังกฤษนั้น
เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางภายนอกพม่าและมีความน่าเชื่อถือสูง แต่ในพม่าเอง
ด้วยปัญหาถูกห้ามนำเข้าไปจำหน่ายจ่ายแจก และเว็บไซต์ก็ถูกบล็อกโดยรัฐบาลพม่า
จึงทำให้ไม่สามารถกระจายได้มากนักในกลุ่มประชาชนทั่วไป
ระบบบริหารและรายได้
เป็นองค์กรสื่ออิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร
บริหารงานโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งชาวพม่าโดยรับทุนสนับสนุนการดำเนินงาน โดยมากจากองค์กรแหล่งทุนของรัฐบาลประเทศตะวันตก
และมีรายได้จากการสมัครสมาชิกนิตยสารรายเดือน แต่ก็มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทย
เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานเมื่อปี ค.ศ. 2007 และอาจขยายฐานผู้อ่านเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงแหล่งทุนมากนัก
อย่างไรก็ตาม ก็ยังอยู่ในระหว่างการทดลองตลาดทั้งการโฆษณาและขายนิตยสาร
นักข่าวและเจ้าหน้าที่
นักข่าวและเจ้าหน้าที่มีทั้งชาวพม่า
และกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวไทย และชาวตะวันตก โดยมากเป็นชาวพม่าและกะเหรี่ยง จำนวนประมาณ
20 คนที่ทำงานประจำ แต่มีผู้สื่อข่าว (Stringer) ในพม่าและชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
รวมทั้งในประเทศตะวันตกที่ส่งข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมาให้ และมีนักเขียนอิสระชาวตะวันตกส่งบทความมาลงในนิตยสารจากการเข้าไปหาข้อมูลในพม่าโดยใช้วีซ่าของนักท่องเที่ยว
ส่วนงานแก้ไข เรียบเรียงภาษาอังกฤษ จะทำโดยเจ้าหน้าที่ชาวตะวันตก
(2) ดีวีบี ( Democratic
Voice of Burma: DVB)
ความเป็นมา
DVB ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.
1992 โดยมีจุดกำเนิดจากการเป็นสื่อของรัฐบาลพลัดถิ่น NCGUB ที่ลี้ภัยการเมืองไปที่ประเทศนอรเวย์
ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ของ DVB ตั้งอยู่ที่กรุงออสโลว์ แต่มีสำนักงานสาขาในประเทศอื่นๆ
โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของพม่า สำหรับประเทศไทยถือเป็นสาขาหลักอีกแห่งหนึ่ง
มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่
DVB เริ่มดำเนินการด้านวิทยุกระจายเสียงมาตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากในระยะแรกนั้นองค์กรเป็นสื่อที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลพลัดถิ่น จึงทำให้องค์กรมีฐานะเกี่ยวพันกับองค์กรทางการเมืองโดยตรง ต่อมา DVB ประกาศแยกการบริหารออกจาก NCGUB เพื่อให้สามารถเป็นองค์กรในรูปแบบสื่ออิสระ โดยไม่เกี่ยวพันกับกลุ่มการเมือง เพื่อความโปร่งใสและเป็นกลางในการทำงาน. องค์กรมีนักข่าวในประเทศพม่า ไทย และประเทศเพื่อนบ้านของพม่ากระจายอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 การทำงานในหลายภาษาทำให้องค์กรมีเจ้าหน้าที่จากหลายชาติพันธุ์ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนพม่าให้ได้มากที่สุด
ในปี ค.ศ. 1994 DVB เริ่มเปิดเว็บไซต์ที่แม้ไม่ใช่สื่อหลัก แต่ก็เป็นสื่อที่สะดวกสำหรับการค้นหาข้อมูล และสามารถนำเสนอข่าวได้รวดเร็ว ในบางครั้งเร็วกว่าเสนอทางวิทยุที่ต้องรอเวลาออกอากาศ ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 DVB เริ่มดำเนินการด้านโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม แต่จากเหตุการณ์ประท้วงของพระสงฆ์เมื่อปี ค.ศ. 2007 บทบาทของ DVB ในการเสนอข่าวสารที่เด่นชัดทำให้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น และขยายงานโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม DVB จากแต่เดิมมีเพียงเสาร์-อาทิตย์ เป็นการแพร่ภาพ 24 ชั่วโมง ที่มีทั้งรายการข่าวสารถ่ายทอดสดวันละ 1 ชั่วโมงในช่วงเวลา Prime Time 19.00 - 20.00 น. ตามเวลาในพม่า และมีรายการอื่นๆ ทั้งสาระและบันเทิงหมุนเวียนกัน
การขยายตัวของธุรกิจจานดาวเทียมในพม่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้
DVB วางแผนงานในการขยายงานด้านโทรทัศน์ตามไปด้วย เนื่องจากในพม่านั้น มีเพียง
DVB สถานีเดียวที่เป็นโทรทัศน์ภาษาพม่า ที่ไม่ใช่สถานีของรัฐบาล อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในประเทศไทยและเพื่อนบ้านของพม่าก็ยังประสบปัญหาในเรื่องสถานะขององค์กร
เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศที่มีต่อพม่าด้วย
วัตถุประสงค์ขององค์กร
1. เพื่อเสนอข่าวที่ ถูกต้องและไม่มีอคติแก่ประชาชนชาวพม่า
2. เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างชาวพม่าที่ต่างศาสนาและชาติพันธุ์
3. เพื่อสนับสนุนและดำรงสาธารณะมติที่เป็นอิสระ และเสริมสร้างการอภิปรายทางสังคมและการเมือง
4. เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแก่ชาวพม่า (12)(12) Democratic Voice of Burma. "Mission Statement." [Online] Available
http://english.dvb.no/about.php (February, 15, 2008)
รูปแบบสื่อ
1. วิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้น (Shortwave) (13) มีสถานีหลักอยู่ที่กรุงออสโลว์ และมีสถานีทวนสัญญาณในประเทศเพื่อนบ้านพม่าหลายแห่ง แต่ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย จึงไม่เปิดเผยเรื่องสถานที่โดยเริ่มดำเนินการส่งสัญญาณมาตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรในปี ค.ศ. 1992 เป็นเวลาสองชั่วโมงตั้งแต่ 06.00-07.00 น. ตามเวลาพม่า ทางคลื่น 5955 kHz และในเวลา 21.00-22.00 ทางคลื่น 17495 kHz ข่าวสารนำเสนอใน 8 ภาษา คือ ภาษาพม่า กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะฉิ่น ฉิ่น อาระกัน คะยิ่น และคะเรนนี
2. โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เริ่มส่งสัญญาณเข้าไปในพม่า ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 โดยเป็นสถานีโทรทัศน์ภาษาพม่าสถานีแรกที่เป็นอิสระ (จากการควบคุมของรัฐบาลพม่า) แต่เดิมแพร่ภาพเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2008 เริ่มแพร่ภาพ 24 ชั่วโมง และกำลังเริ่มดำเนินงานภาคภาษาอังกฤษ
3. เว็บไซต์ www.dvb.no โดยเป็นการสรุปข่าวจากที่นำเสนอในแต่ละวัน เป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า
(13) วิทยุคลื่นสั้น สามารถส่งไปได้ไกลเกินระยะที่ส่วนโค้งของโลกบังไว้ ทั้งนี้เพราะวิทยุคลื่นสั้น มีความถี่สูงกว่าความถี่ของคลื่นเอเอ็ม เล็กน้อย และเป็นความถี่อยู่ในช่วงที่สะท้อนจากบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ได้ สามารถทำให้คลื่นวิทยุนั้นไปได้ไกลมาก วิทยุคลื่นสั้นจะทำงานที่ความถี่ระหว่าง 3,000 kHz และ 30 MHz (30,000 kHz) ในเวลาที่มีคนคิดค้นและประดิษฐ์วิทยุนี้ขึ้นมา ยิ่งความยาวคลื่นสั้นมากเท่าไหร่ ความถี่จะสูงตามไปด้วย ใช้ในการส่งสัญญาณวิทยุข้ามประเทศ ข้ามทวีป ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920
กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายของ DVB กลุ่มแรกคือประชาชนชาวพม่าในประเทศพม่า ขณะนี้มีผู้รับสื่อทั้งวิทยุและโทรทัศน์ประมาณ
4-5 ล้านคน ในปี 2008 องค์กรได้ขยายการดำเนินงานและวางเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนผู้รับชมโทรทัศน์ให้ถึง
10 ล้านคนทั่วพม่า และอีกกลุ่มหนึ่งก็คือชาวพม่าที่อยู่นอกประเทศ กลุ่มนักรณรงค์
นักการทูต นักวิชาการที่ติดตามจากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นกลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งคือเจ้าหน้าที่และทหารของรัฐบาลพม่า
ที่ขาดแคลนข่าวสารในด้านที่แตกต่างจากสื่อของรัฐบาลเช่นกัน
ระบบบริหารและรายได้
ก่อนปี ค.ศ.2006 DVB บริหารในรูปองค์กรสื่ออิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่ในปี ค.ศ.
2006 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ (Public Foundation) ในประเทศนอรเวย์ เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานและเป็นไปตามกฎหมายของนอรเวย์
รายได้ขององค์กรมาจากการสนับสนุนของผู้ให้ทุน โดยมากมาจากกระทรวงการต่างประเทศของนอรเวย์
และองค์กรให้ทุนอื่นๆ เช่น Free Voice of the Netherlands, the National Endowment
for Democracy (NED)(U.S.), และ the Freedom of Expression Foundation
นักข่าวและเจ้าหน้าที่
นักข่าวและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของ
DVB มีทั้งหมดประมาณ 100 คน เฉพาะในประเทศไทยมีจำนวน 36 คนทำงาน โดยมาจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนำเสนอข่าวสารของทั้ง
8 ภาษาชาติพันธุ์หลักๆ คือ ภาษาพม่า กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะฉิ่น ฉิ่น อาระกัน มอญ
คะเรนนี และภาษาอังกฤษ
(3) มิซซิม่า (Mizzima
News)
ความเป็นมา
Mizzima News ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม
ค.ศ. 1998 โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งคืออดีตนักศึกษาชาวพม่าสามคน ที่ร่วมประท้วงในปี
ค.ศ. 1988 Soe Myint, Thin Thin Aung และ Win Aung อดีต เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงสถานการณ์ในพม่า
และส่งเสริมประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในพม่า โดยปรับปรุงการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารระหว่างในและนอกประเทศ
และผ่านการรณรงค์เคลื่อนไหว
Mizzima News เริ่มดำเนินงานส่งข่าวทางอีเมล์ โดยมีคอมพิวเตอร์เพีงเครื่องเดียว และไม่มีแม้แต่โทรศัพท์ในสมัยนั้น ต่อมาในปี ค.ศ. 2000 เมื่อองค์กรสามารถซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นได้ จึงเริ่มเปิดเว็บไซต์ (Soe Myint, 2003: 7). แต่เดิมขอบข่ายงานของ Mizzima News มักจะอยู่ในประเทศพม่า อินเดีย และบังกลาเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 2006 ได้เปิดสำนักงานประเทศไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการทำงานข่าวจากประเทศไทยและมีโครงการเปิดสำนักงานข่าวอีกแห่งหนึ่งที่เมืองกัลกัตตา อินเดีย ปัจจุบันนักข่าวขององค์กรรายงานข่าวจากห้าประเทศคือ บังกลาเทศ พม่า จีน อินเดีย และประเทศไทย นอกจากนั้นยังดำเนินงานสนับสนุนประชาธิปไตยด้านอื่นๆ เช่นการประชุม สัมมนา การเปิดเวทีอภิปรายเป็นต้น
Mizzima ยังดำเนินการเก็บข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์เสรีภาพสื่อในพม่า และการปิดกั้นการไหลของข้อมูลข่าวสาร โดยติดตามตรวจสอบและแจ้งไปยังองค์กร South East Asian Press Alliance: SEAPA ที่เป็นองค์กรทำงานเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ในอินเดีย Mizzima มีสัมพันธ์อันดีกับสื่อของอินเดียและสื่อข้ามชาติในอินเดีย โดยเป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าวต่างประเทศของเอเชียใต้ด้วย. ปีค.ศ. 2003 Mizzima ได้ร่วมก่อตั้ง Burma News International เครือข่ายของกลุ่มสื่อพม่า ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกัน
วัตถุประสงค์ขององค์กร
1. เพื่อต่อสู้กับการควบคุมสื่อและสนับสนุนนักข่าวชาวพม่าในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพนี้ Mizzima เชื่อว่า สื่อที่เป็นอิสระและมีเสรีภาพในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
2. เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในระยะยาวอย่างหนึ่งของการก่อตั้งกคือ การเป็นสถาบันกลางที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสหพันธรัฐ
3.เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านสื่อให้มีความสามารถและบทบาทในพม่าหลังยุคการปกครองโดยทหาร (15)
(15) Mizzima News. "About Mizzima." [Online] Available http://english.dvb.no/about.php (February 28, 2008 )
รูปแบบสื่อ
1. เว็บไซต์ www.mizzima.com ภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และบริการส่งข่าวออนไลน์ทางอีเมล์ เป็นสื่อแรกของ Mizzima นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ
2. วารสารรายเดือน เริ่มพิมพ์ตั้งแต่เดือนมกราคมปี ค.ศ. 2003 โดยเป็นวารสารในรูปแบบหนังสือพิมพ์ หนา 16 หน้า ปัจจุบันเพิ่มเป็น ภาษาพม่า 24 หน้าและภาษาอังกฤษ 4 หน้า จำนวน 2,650 เล่มต่อเดือน โดยส่งไปในชุมชนชาวพม่าในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะทางชายแดนตะวันตกของพม่า เนื้อหาของวารสารครอบคลุมทั้งข่าวสารในพม่าและทั่วโลกที่กระทบกับชาวพม่า บทความ คอลัมน์เศรษฐกิจ ความรู้ การเมืองอินเดีย บันเทิงและกีฬา และส่งวารสารเข้าไปในพม่าทางไปรษณีย์และทางชายแดนด้วย
3. วีดีโอสารคดี เริ่มดำเนินการเมื่อปีค.ศ. 2002 เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปแพร่ภาพออกอากาศสำหรับสถานีโทรทัศน์ข้ามชาติ การนำเสนอทางวิชาการและการรณรงค์ต่างๆ ปี ค.ศ. 2005 ได้เริ่มผลิตวีดีโอ ออนไลน์ ผ่านหน้าเว็บไซต์ และยังส่งเข้าไปในพม่าในรูปแบบ CD ด้วย
4. โทรทัศน์ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.mizzima.tv เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2006 โดยนำเสนอข่าวและสารคดี และยังร่วมมือนำเสนอผ่านทาง DVB TV และสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ด้วย
กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายของ Mizzima
คือบรรดานักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักข่าว นักวิชาการ นักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพม่า
รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร นักการทูต องค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ
สถานีวิทยุข้ามชาติภาคภาษาพม่าและชาวพม่าพลัดถิ่นในประเทศต่างๆ
ระบบบริหารและรายได้
Mizzima ดำเนินงานในฐานะองค์กรสื่อที่ไม่แสวงหาผลกำไร
แต่ก็มีรายได้อื่นบ้างจากค่าสมาชิกและการตำหน่ายวารสาร
นักข่าวและเจ้าหน้าที่
Mizzima มีนักข่าวและเจ้าหน้าที่ประจำมากกว่า
30 คน โดยมีทั้งนักข่าวชาวพม่าและชาติอื่นๆ รายงานจากห้าประเทศ คือบังกลาเทศ
พม่า จีน อินเดียและประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนานักข่าวรุ่นใหม่ โดยเริ่มให้มีโครงการฝึกงานในสำนักงานที่เดลี
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 และที่สำนักงานประเทศไทยตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ค.ศ. 2005
นอกจากนี้ยังมีการส่งนักข่าวเข้าร่วมการอบรมนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักข่าวประเทศอื่นด้วย
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อบทความต่อเนื่อง
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในพม่านั้น ประเด็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่ถูกคุมขังในฐานะนักโทษทางการเมือง องค์กรเหล่านี้มีส่วนในการร่วมกดดันทางนโยบายผ่านการออกจดหมายเรียกร้อง แถลงการณ์ การรณรงค์ แม้แต่การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของสื่อ ตัว อย่างขององค์กรเหล่านี้ซึ่งทำงานตรวจสอบสถานการณ์สื่อทั้งในพม่าและสื่อพลัดถิ่นจากพม่า เช่น Reporter Sans Frontier (RSF), Committee to Protect Journalists (CPJ), Internation- al Freedom of Expression Exchange (IFEX), Article 19, Asia Media Forum (AMF) และในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ SEAPA (คัดลอกมาจากบทความ)