ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




08-08-2551 (1634)

ประวัติศาสตร์สื่อมวลชนและการควบคุมสื่อในประเทศพม่า
สื่อเก่าและสื่อใหม่ในพม่า: จากกระดาษหนังสือพิมพ์ถึงโลกไซเบอร์
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจในประเด็นสื่อและการศึกษาในประเทศพม่า
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- สื่อในสมัยอาณานิคมอังกฤษ
- สื่อกับขบวนการชาตินิยมและเอกราชของพม่า
- สื่อกับการประท้วงที่นำโดยนักศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 1988
- สื่อกับการประท้วงของพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 2007
- สถานการณ์สื่อมวลชนภายในพม่าตั้งแต่ ค.ศ. 1988
- สถานีโทรทัศน์ในพม่า ดำเนินการโดยรัฐบาลทหารพม่า
- จานรับสัญญานดาวเทียมในพม่าและสื่ออินเตอร์เน็ต

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๓๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๘ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์สื่อมวลชนและการควบคุมสื่อในประเทศพม่า
สื่อเก่าและสื่อใหม่ในพม่า: จากกระดาษหนังสือพิมพ์ถึงโลกไซเบอร์
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจในประเด็นสื่อและการศึกษาในประเทศพม่า
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word


ความนำ
แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์เสรีภาพของสื่อ และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพม่าจะติดอันดับ 10 ประเทศที่มีเสรีภาพทั้งสองเรื่องน้อยที่สุดในโลกมากว่าทศวรรษ แต่หากมองย้อนไปในอดีตจะพบว่า สื่อมวลชนในพม่ามีประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับจากการเริ่มมีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ในประเทศ อันมาจากการต้องสัมพันธ์กับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกเหมือนกับประเทศไทยสมัยเดียวกัน แต่การตกเป็นประเทศอาณานิคม ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของชาวพม่าจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้จะได้รับเอกราชมาถึง 60 ปีแล้ว โดยเฉพาะด้านการเมือง ซึ่งในประวัติศาสตร์สื่อมวลชนพม่า มักจะเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสื่อกับการเมืองที่ใกล้ชิดกันมาตลอด แม้ว่าจะมีสื่อด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองด้วยก็ตาม

ทุกวันนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในพม่าเป็นไปอย่างยากลำบาก สื่อที่อยู่ในการควบคุมอย่างเคร่งครัดของรัฐบาล ได้ทำลายจารีตของวิชาชีพสื่อมวลชนในพม่าที่มีความเป็นมายาวนานและมีระเบียบประเพณีของตนเอง เมื่อสี่สิบปีก่อนหน้านี้พม่าเคยเป็นประเทศที่มีการควบคุมสื่อน้อยที่สุดในเอเชีย

ในสมัยศตวรรษที่ 12 นักเขียนชาวพม่ารุ่นแรกๆ ได้เขียนถ้อยคำลงบนหลักศิลากว่า 500หลัก จากสมัยนั้นยังปรากฎจนถึงทุกวันนี้ ข้อความที่ว่า 'ข้าพเจ้า, ผู้เป็นอิสระ จะปลดปล่อยจากพันธนาการ' [I, the free, will liberate those in bondage,] ถูกจารึกไว้ในหลักศิลา เมื่อปี ค.ศ. 1150 ซึ่งให้ภาพของแนวคิดเรื่องเสรีภาพของพม่าและพุทธปรัชญา ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวพม่า (Bertil Lintner, 2001)

สื่อในสมัยอาณานิคมอังกฤษ
หนังสือพิมพ์ ตามแบบอย่างจากประเทศตะวันตกและอินเดีย ได้ถูกนำเข้ามาในพม่าโดยชาวอังกฤษ ซึ่งปกครองประเทศอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 หนังสือพิมพ์ในพม่าฉบับแรกซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Moulmain Chronicle เริ่มตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1836 ในเมืองเมาะละแหม่ง (Moulmain) ซึ่งอยู่ในเขตตะนาวศรี (Tanasserim) ในการควบคุมของอังกฤษ (ในช่วงเดียวกับที่เขตอาระกันตกเป็นของอังกฤษเป็นส่วนแรก และดำเนินงานต่อมาจนถึงทศวรรษที่ 1950

ต่อมาในปี ค.ศ. 1842 มีหนังสือพิมพ์ภาษาชาติพันธุ์ฉบับแรกชื่อ Tavoy's Hsa-tu-gaw (the Morning Star) เป็นภาษากะเหรี่ยงกลุ่มสะกอ Sgaw โดยกลุ่มมิชชันนารี ในปีเดียวกันกลุ่มมิชชันนารีก็จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ของคริสเตียน Dhamma Thadinsa (The Religious Herald) โดยถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาพม่าฉบับแรกและดำเนินการมาถึงปี ค.ศ. 1853 อันเป็นปีแรกของสงครามอังกฤษและพม่าช่วงที่สอง. ต่อมา Rangoon Chronicle ได้เริ่มตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1853 เป็นปีที่พม่าตอนล่างส่วนใหญ่กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ส่วนหนังสือพิมพ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในยุคอาณานิคมคือ Rangoon Gazette ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1861 และดำเนินการจนเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาในพม่าปี ค.ศ. 1942

ในสมัยพระเจ้ามินดง ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทรงภูมิความรู้มากที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์พม่า ได้ทรงกล่าวกับนักข่าวชาวท้องถิ่นในการประชุมทางราชการที่พระราชวังมันฑะเลย์ว่า "ถ้าฉันทำผิด จงเขียนถึงฉัน ถ้าเหล่าราชินีทำผิด จงเขียนถึงพวกเขา ถ้าพระโอรสพระธิดาทำผิด จงเขียนถึงพวกเขา ถ้าผู้พิพากษาหรือ เทศมนตรีทำผิด จงเขียนถึงพวกเขา ไม่ควรจะมีผู้ใดกระทำการต่อต้านนักข่าวถ้าพวกเขาเขียนความเป็นจริง พวกเขาควรจะได้เดินเข้าออกพระราชวังโดยอิสระ" (Bertil Lintner, 2001) นอกจากนั้นใน ค.ศ. 1875 พระเจ้ามินดงยังทรงออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Yadanabon Nay-Pyi-Daw หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Mandalay Gazette และหยุดไปในปี ค.ศ. 1885 เมื่ออังกฤษเข้าครอบครองพม่าตอนบน

พระเจ้ามินดงได้รับรองเสรีภาพของสื่อมวลชนในพระราชบัญญัติ 17มาตรา ในมาตรา 3 กล่าวว่า สื่อนั้นมีเพื่อประโยชน์ของปวงชนในการรับรู้ข่าวสารจากทางยุโรป อินเดีย จีน และไทย เพื่อเพิ่มพูนความคิดและพัฒนาการค้าและการสื่อสาร กฎหมายนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายท้องถิ่นฉบับแรกๆ เรื่องเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี ค.ศ. 1878 ในรัชสมัยของพระเจ้าธีบอ พระโอรสของพระเจ้ามินดงได้ทรงจัดพิมพ์ Burma Herald เพื่อต่อต้านมุมมองที่สนับสนุนอังกฤษของหนังสือพิมพ์ในย่างกุ้ง แต่ในปีเดียวกันรัฐบาลอังกฤษก็ได้ออกกฎหมายควบคุมหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น (ประเทศอาณานิคม) ไม่ให้รายงานและพิมพ์รูปภาพหมิ่นประมาทรัฐบาลอังกฤษ ความแพร่หลายของหนังสือพิมพ์สมัยนั้นสะท้อนมาจากความรุ่งเรืองด้านการศึกษาของพม่าในอดีต ซึ่งอันที่จริง พม่านั้นเคยเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือที่สูงและการศึกษาเคยเป็นความภาคภูมิในของชาติจนกระทั่งก่อนยุคอาณานิคม

เมื่อเด็กชายชาวพม่าอายุได้เจ็ดหรือแปดขวบจะถูกส่งไปยังวัดใกล้ๆ บ้านเพื่อเรียนอ่านและเขียนเพื่อท่องจำบทสวดทางพุทธศาสนา หรือภาษาบาลีที่จารึกในพระเจดีย์ การศึกษาสำหรับเด็กหญิงไม่แพร่หลายเท่ากับเด็กชาย แต่กระนั้นในการสำรวจสำมะโนครัวของพม่าในการปกครองของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1872 เขียนว่า "การศึกษาของสตรีนั้นมีขึ้นในพม่าก่อนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจะก่อตั้งขึ้น" ((Bertil Lintner, 2001, Christina Fink, 2002)

ในท้ายที่สุดอังกฤษได้ขับกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าออกจากราชบัลลังก์เมื่อมัณฑะเลย์ถูกปกครองในปีค.ศ. 1885 พม่าทั้งหมดได้ตกเป็นของอังกฤษและมีการสนับสนุนการศึกษาภาษาอังกฤษ อาณานิคมใหม่ได้ดึงดูดผู้อพยพจำนวนมากจากอินเดียและจีน ซึ่งได้กลายเป็นผู้ใช้แรงงาน นักธุรกิจและประกอบอาชีพอื่นๆ เข้ามาในพม่า

ช่วงสมัยอาณานิคม ในพม่ามีหนังสือพิมพ์หลายสิบฉบับทั้งในภาษาพม่า อังกฤษ จีนและภาษาท้องถิ่นของอินเดียอีกหลายภาษา บางครั้งก็ตีพิมพ์เป็นภาษาชนกลุ่มน้อยในพม่าด้วย (ปัจจุบันนี้ นอกจากกลุ่มหลักคือเชื้อสายพม่า(Burmans) ตามเขตแนวชายแดน ยังมีชนกลุ่มน้อยหลักๆ อีกกว่าสามสิบกลุ่มอาศัยอยู่). ในปี ค.ศ. 1903 สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดสำนักงานในกรุงย่างกุ้ง เป็นสำนักข่าวจากต่างประเทศแห่งแรกที่เปิดในพม่า

สื่อกับขบวนการชาตินิยมและเอกราชของพม่า
สื่อในพม่าต่อมาได้สนับสนุนขบวนการชาตินิยมในกลุ่มเชื้อสายพม่า ในปี ค.ศ. 1920 หนังสือพิมพ์ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดฉบับหนึ่งก็คือ Thuriya (The Sun) ซึ่งบรรณาธิการและเจ้าของคือ U Saw ซึ่งเป็นผู้นำของพรรค Myochit (Love of Country) และเป็นผู้นำนักการเมืองฝ่ายขวา นอกจากนั้นยังมี Myanmar Alin (New Light of Burma) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1914 และบริหารงานโดย U Tin อยู่หลายปี ถัดจากนั้น เขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลแรกของประเทศหลังได้รับเอกราช เมื่อปี ค.ศ. 1948

นอกจากนั้นยังมีหนังสือพิมพ์ในภาษาอังกฤษเล่มอื่นๆ อย่าง Liberty, the Modern Burma, the Bandoola Journal, the Observer, the New Burma, the Free Burma และ the Rangoon Mail และมีบางเล่มเป็นภาษาพม่าอย่าง Deedok (ชื่อนกท้องถิ่นชนิดหนึ่ง) ซึ่งบรรณาธิการคือ Ba Choe และนิตยสาร Dagon (ชื่อเดิมของกรุงย่างกุ้ง) Ba Choe นั้นเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ก่อตั้ง Fabian Society เขาน่าจะเป็นผู้ที่มีบทบาทการเมืองที่โดดเด่นหลังพม่าเป็นเอกราช ถ้าหากไม่ได้ถูกสังหารไปก่อนในเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. 1947

สื่อยังมีบทบาทสำคัญในขบวนการชาตินิยมหัวรุนแรง เมื่อปี ค.ศ. 1936 งานเขียนล้อเลียนชื่อ "Hell Hound at Large" ตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อ Oway ซึ่งมีเจตนาล้อเลียนหน่วยงานของมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง Oway จัดพิมพ์โดยสหพันธ์นักศึกษา และประธานในขณะนั้นก็คือ Aung San ได้ถูกเรียกร้องให้เปิดเผยชื่อของผู้เขียนบทความนั้น แต่เขาปฏิเสธ จึงถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง อันเป็นผลให้เกิดการประท้วงไปทั่วประเทศ ตามมาด้วยการประท้วงของแรงงานและเกษตรกร นำไปสู่กบฎติดอาวุธเมื่อ Aung San และสหายบางคนได้เข้ากับญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1940 และค.ศ. 1941 ต่อมากลุ่มสามสิบสหาย( The Thirty Comrade) เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง พวกเขากลับมาพร้อมกับการบุกของกองทัพญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1942 และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นในกรุงย่างกุ้ง แต่ในวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1945 กลุ่มชาตินิยมพม่าก็ได้หันหลังให้กับญี่ปุ่นและเข้าร่วมกับพันธมิตร หลังจากนั้นไม่กี่เดือน อังกฤษหวนกลับมาปกครองพม่าอีกครั้งและหน่วยงานเก่าๆ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาอีก (Bertil Lintner, 2001)

ในช่วงปีแห่งสงครามนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการแบ่งขั้วกันระหว่างฝ่ายเชื้อสายพม่าที่สนับสนุนญี่ปุ่นและชนกลุ่มน้อยที่ภักดีต่ออังกฤษ กลุ่มกะเหรี่ยงและคะฉิ่นได้สนับสนุนกลุ่มกองกำลังที่ต่อต้านญี่ปุ่น จัดพิมพ์เอกสารในภาษาของตนที่มีบทบาทมากในการต่อสู้กับญี่ปุ่น เช่น Shi Laika Ningnan (New Newspaper) เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาคะฉิ่นกลุ่มจิ่งเผาะ (Jinghpaw) (*) ที่ตีพิมพ์ในอินเดีย และการกระจายและการขนส่งโดยทิ้งลงมาจากเครื่องบินในบริเวณของคะฉิ่นตอนเหนือของพม่า กลุ่มกะเหรี่ยงก็ได้ตั้งองค์กรทางการเมืองที่ผลิตสิ่งพิมพ์เป็นภาษาของตนและภาษาอังกฤษ. ช่วง ค.ศ. 1935 - 1945 มีหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศกว่า 60 ฉบับ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

(*) ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์หลักๆ 8 กลุ่มในพม่า ประกอบด้วยชนกลุ่มที่เล็กกว่ามากมายกว่า 130 กลุ่ม ในรัฐคะฉิ่นเองก็มีคนเชื้อสายคะฉิ่นในกลุ่มย่อยๆ อีกหลายกลุ่ม กลุ่มย่อยจิ่งเผาะ เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวคะฉิ่น มีภาษาเฉพาะของตนเอง

ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1947 Aung San เดินทางไปกรุงลอนดอนเพื่อทำการเจรจาเรื่องเอกราชของพม่า ในปีเดียวกัน พม่ามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่รับรองสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ทำให้ในขณะนั้นพม่าเป็นประเทศที่สื่อมวลชนมีอิสระที่สุดในเอเชีย ทุกอย่างเหมือนดังจะเตรียมพร้อมเพื่อเอกราชของพม่า แต่ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 Aung San ถูกสังหารพร้อมกับ Ba Choe บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Deedok และผู้นำรัฐอื่นๆ อีก เจ็ดคนในวันเดียวกัน ตำรวจย่างกุ้งจับกุม U Saw บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ The Sun ในข้อหาฆาตกรรม เขาถูกตัดสินโทษและถูกแขวนคอในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1948 การสูญเสียผู้นำที่มีความสามารถที่สุดในขณะนั้น ทำให้ประเทศประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่ออังกฤษได้ถอนตัวออกไป และได้มีการจัดตั้งสหภาพพม่าขึ้นในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1948 มีนายกรัฐมนตรีคนแรกคือ U Nu (อูนุ) และมีประธานแห่งสหภาพคนแรกคือ Sao Shwe Thaike เจ้าชายไทใหญ่องค์หนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการประณีประนอมกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ต้องประสบกับความล้มเหลว หลังจากการได้รับเอกราชไม่กี่เดือน ประเทศก็ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง เมื่อทั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ และกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่ม ต่างพยายามใช้อาวุธในการต่อสู้ แรกเริ่มจากเป้าหมายทางการเมือง และต่อมาภายหลังก็เพื่อแยกตัวออกจากสหภาพ (Bertil Lintner, 2001)

เมื่อพม่าได้รับเอกราชนั้นมีหนังสือพิมพ์ปรากฏอยู่ 39 ฉบับทั่วประเทศ เป็นภาษาอังกฤษ 7 ฉบับ เป็นภาษาจีน 5 ฉบับ และอีก 6 ฉบับเป็นภาษาชาติพันธุ์ที่มาจากอินเดีย เช่น อูรดู ทมิฬ ฮินดี ส่วนที่เหลือเป็นภาษาพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า

ช่วงทศวรรษ 1960 สงครามกลางเมืองและความวุ่นวายทางการเมืองนำไปสู่การเติบโตของกองทัพในประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1962 ผู้บัญชาการสูงสุด นายพลเนวิน ยึดอำนาจ เขาได้คุมขังอดีตผู้นำรัฐทั้งหมดในทันที ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับสหพันธรัฐ และก่อตั้งสภาปฏิวัติขึ้นเพื่อควบคุมกฎหมาย จากนั้นประสบการณ์พม่ากับประชาธิปไตยก็จบลง

ในขณะที่ไม่มีกฎหมายใดในพม่าที่รับประกันถึงการเข้าถึงข้อมูล แต่กลับมีกฎเกณฑ์มากมายที่เข้มงวดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าครั้งหนึ่งในรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยฉบับแรกของพม่าซึ่งร่างขึ้นในปี ค.ศ. 1947 และมีผลบังคับใช้เมื่อพม่าได้รับเอกราชเปี ค.ศ. 1948 กำหนดไว้ว่าประชาชนมีสิทธิ "ในการแสดงออกอย่างเสรีถึงความเชื่อและความคิดเห็น" และ "ในการตั้งกลุ่มองค์กรและสหพันธ์" (Bertil Lintner, 2001)

ในยุคที่ประเทศพม่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเมื่อปี ค.ศ. 1948 ถึง ค.ศ.1962 เป็นยุคที่นักเขียนและศิลปินชาวพม่าได้มีประสบการณ์ในเรื่องของเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก แต่ช่วงเวลานี้ก็สิ้นสุดไปกับการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.1962 ที่นำโดยนายพลเนวิน นับตั้งแต่นั้นมา ประเทศพม่าเข้าสู่ยุคการปกครองของทหาร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ได้ค่อยๆ เลือนหายไปด้วย. ในปี ค.ศ. 1962 รัฐบาลพม่าได้ประกาศใช้กฎหมายบังคับให้โรงพิมพ์และผู้จัดพิมพ์หนังสือทุกชนิด ต้องจดทะเบียนและส่งต้นฉบับสองชุดให้กับคณะกรรมการพิจารณาสื่อ (Press Scrutiny Board)

ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 ทหารได้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งพม่า (Burma Socialist Program Party: BSPP) และได้ตีพิมพ์เอกสารหลายฉบับเพื่อเป็นการชี้นำความคิดเกี่ยวกับรัฐทหารใหม่ ด้วยความหวาดระแวงการชี้นำแนวความคิดโดยสื่อ ในแถลงการณ์ชุดแรกๆ ที่สภาปฏิวัติได้ประกาศออกมานั้นรวมถึงเรื่องเสรีภาพของสื่อด้วย โดยกล่าวว่า เสรีภาพได้ถูกยกเลิกแล้ว จึงเป็นที่แน่ชัดในเวลาต่อมาไม่นานนักว่า พม่าได้เข้าสู่ยุคเผด็จการที่เข้มงวด

หนึ่งเดือนหลังจากที่เนวิน ยึดอำนาจ เหล่านักหนังสือพิมพ์ในพม่าได้ก่อตั้งสมาคมสื่อแห่งพม่า (Burma Press Council) เพื่อพยายามรักษาเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ผ่านกฎเกณฑ์และจริยธรรมที่กำหนดขึ้นร่วมกัน แต่ความพยายามนี้ก็ไม่เป็นผลเนื่องจากความหวาดระแวงของรัฐบาล ต่อมารัฐบาลได้ทำการปิดหนังสือพิมพ์ The Nation หนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1963 และจับกุมบรรณาธิการ Law Yone ในอีกสามเดือนต่อมา เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน รัฐบาลก่อตั้งสำนักข่าวแห่งพม่า (News Agency Burma : NAB) ในเดือนตุลาคมทหารได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันของตนชื่อ Loktha Pyithu Nezin (Working People's Daily) เพื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลแข่งขันกับหนังสือพิมพ์เอกชนที่ดำเนินการอยู่ ฉบับภาษาอังกฤษของ Working People's Daily เริ่มตีพิมพ์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1964 รัฐบาลทหารยังได้เข้าครองกิจการหนังสือพิมพ์ Guardian เพื่อให้เป็นเครื่องมือของทหารด้วย ( Martin Smith: 1994: 20)

ปีสุดท้ายของเสรีภาพสื่อในพม่าคือปี ค.ศ. 1964 หนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม Keymon (Mirror) ซึ่งดูแลโดยนักหนังสือพิมพ์อาวุโส U Thang ถูกยึดเป็นของรัฐเมื่อวันที่ 1 เดือนกันยายน ตามด้วยหนังสือพิมพ์ภาษาพม่า Botataung (A Thousand Officers หรือ Guardian) ในวันที่ 11 กันยายน นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์เล็กๆ ก็ถูกปิดลง บรรณาธิการและนักเขียนหลายคนถูกจับ. เดือนมีนาคมปีนั้น พรรคสังคมนิยมแห่งพม่า กลายเป็นองค์กรการเมืองแห่งเดียวที่ถูกกฎหมายในประเทศ ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ถูกยุบลงและประกาศว่าดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย

เดือนธันวาคม ค.ศ. 1966 รัฐบาลประกาศว่า หนังสือพิมพ์เอกชนทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ และรัฐบาลไม่ต่ออายุการจดทะเบียนรายปีให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาจีนและอินเดียทั้งหมด รัฐบาลยังออกประกาศว่าต่อจากนี้ไป การพิมพ์จะต้องทำในภาษาพม่าหรืออังกฤษเท่านั้น หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา Hanthawaddy และ the Myanmar Alin (New Light of Burma) (*) ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศถูกยึดเป็นของรัฐในปี ค.ศ. 1969 ท้ายที่สุด เหลือหนังสือพิมพ์ภาษาพม่าอยู่เพียง 6 ฉบับเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดดำเนินการและมีเจ้าของคือรัฐบาลทหาร ได้แก่ Loktha, Pyithu, Nezin, The Botataung, the Kyemon, และ Hanthawaddy และหนังสือพิมพ์ในภาษาอังกฤษ เหลือแค่ เพียง 2 ฉบับเท่านั้นคือ The Guardian, The Working People's Daily

(*) เป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศ เริ่มพิมพ์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1914 ปัจจุบันเป็นสื่อของทางการพม่าชื่อว่า
Myanma Alin (The New Light of Myanmar)

ภายใต้กฎใหม่สำนักข่าวแห่งพม่า ควบคุมการไหลของข้อมูลข่าวสารทั้งเข้าและออกจากประเทศ นักข่าวต่างชาติทั้งหมด ถูกขับออกจากประเทศยกเว้นเพียงบางคนที่ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์จากโซเวียต Soviet Tass และ Xinhua ของจีน การเข้าประเทศของนักข่าวต่างชาติถูกห้าม แต่ก็มีบางคนที่แฝงตัวเข้าไปในฐานะนักท่องเที่ยว

สำนักงานของสำนักข่าวต่างประเทศถูกกดดันให้รับนักข่าวชาวพม่าทำงานและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลย่างกุ้ง จากการจัดการนี้ทำให้ รัฐบาลสามารถจัดให้ข่าวออกจากพม่าตามแนวทางของตน ภายใต้การนำเสนอของสำนักข่าวชื่อดังอย่าง Reuters, Associated Press (AP), United Press International, Kyodo, Agence-France Presse (AFP), The British Broadcasting Corporation (BBC) และ Voice of America (VOA) แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ BBC และ VOA ได้ถูกขับออกไปเนื่องจากไม่สามารถหานักข่าวชาวพม่าได้ แต่กฎระเบียบดังกล่าวก็ยังคงอยู่เพื่อใช้กับสำนักข่าวอื่นๆ

ในรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1974 พม่าก็มีกฎหมายใหม่อีกครั้งหนึ่งหลังจากปี ค.ศ. 1947 ด้วยแนวคิดใหม่ กำหนดไว้ว่า "ประชาชนทุกคนควรจะมีเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็นและการพิมพ์ แต่เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของผู้ทำงานและระบอบสังคมนิยม" ผลก็คือ ไม่มีเสรีภาพเช่นเคยนั่นเอง แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญก็ถูกล้มเลิกไปในปี ค.ศ. 1988 เมื่อเกิดรัฐประหารและแทนที่ด้วยกฎหมายของทหาร

การควบคุมสื่อของพม่านั้นมีรูปแบบที่แตกต่าง แม้แต่ในประเทศเผด็จการทหารอื่นๆ
หนังสือทุกเล่ม นิตยสารและหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ ต้องส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบ ไม่ใช่ก่อนพิมพ์แต่เป็นหลังจากการจัดพิมพ์แล้ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องกระตุ้นการตรวจสอบตนเองของสื่อ หน่วยงานควบคุมสื่อของรัฐมีชื่อว่า The Press Scrutiny Board: PSB (เปลี่ยนชื่อในปี ค.ศ. 2005 เป็น Press Scrutiny and Registration Division) ที่ซึ่งข้อเขียนทุกเรื่อง บทกลอน การ์ตูน ข้อความและถ้อยคำใดก็ตามที่หน่วยงานนี้พบว่าไม่สามารถยอมรับได้ จะถูกกำจัดไปก่อนที่สิ่งพิมพ์นี้จะถูกวางขายแก่ประชาชน

นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการกลางจดทะเบียนโรงพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ The Printers' and Publishers' Central Registration Board ในปี ค.ศ. 1975 ได้ออกระเบียบ 11 ข้อห้าม ในการเขียนต่อต้านรัฐสังคมนิยม, นโยบายและกิจกรรมของรัฐ หลังจากที่รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันขึ้นครองอำนาจตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 คณะกรรมการพิจารณาสื่อก็ได้ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ (Mizzima News, Media in Burma, March 2008 [Online])

การควบคุมและตรวจสอบสื่ออย่างเข้มงวด เริ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลทหารชุดแรกได้นำกฎหมายใหม่คือ กฎหมายว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนเครื่องพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ ปี ค.ศ. 1962 ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อปิดปากสื่อ นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนจำนวนมากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กฎหมายนี้มักจะถูกใช้ร่วมกับกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เริ่มใช้เมื่อปี ค.ศ. 1950 เพื่อป้องกันรัฐใหม่ในขณะนั้นจากความวุ่นวายในเขตชนบท SLORC/ SPDC ด้วยการให้ความหมายใหม่กับกฎหมายเก่าๆ โดยนำมาใช้เพื่อต่อต้านบุคคลทั่วไปที่กล้าพูด กล้าวิจารณ์รัฐบาล หรือแม้แต่ครอบครองเทปเสียงบันทึกคำปราศรัยของนางออง ซาน ซู จี

รัฐบาลยังควบคุมการดำเนินการวิทยุและโทรทัศน์อย่างเข้มงวด ดังนั้น ประชาชนจำนวนมากจึงหันไปฟังวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศ ที่ออกอากาศในภาษาพม่า อย่างเช่น BBC และ VOA แม้ว่าข่าวที่มาจากพม่านั้นไม่ค่อยน่าสนใจแต่ทั้ง BBC และ VOA นำเสนอข่าวต่างประเทศและรายการอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกตัดต่อเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน เพราะ BBC ในภาคภาษาพม่ากลายเป็นเสมือนสถาบันระดับชาติไปแล้ว เนื่องมาจากชาวพม่าแทบทุกคนรับฟัง ในช่วงทศวรรษ 1980 BBC ภาษาพม่าได้รับจดหมายจากผู้ฟังมากที่สุดในจำนวนรายการภาคภาษาต่างประเทศ

แต่ผู้ฟังวิทยุในพม่าก็มีสถานีอื่นให้เลือก นอกจากการกระจายเสียงจากกรุงย่างกุ้ง รวมถึง People's Voice of Burma หรือ PVOB ที่ดำเนินการโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า (Communist Party of Burma: CPB) ที่สนับสนุนโดยจีน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1960 จากนั้นได้สร้างเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวาง แต่สื่อที่เป็นจดหมายข่าวและวารสารเชิงวิชาการ ได้แจกจ่ายเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารพรรคเท่านั้น สถานี PVOB ซึ่งเริ่มกระจายเสียงข้ามชายแดนจากยูนนานตอนใต้ของประเทศจีนในปี ค.ศ. 1971 ได้กลายเป็นสื่อสำคัญในเขตที่รัฐบาลปกครองอยู่ รายการในแต่ละวันประกอบด้วย ข่าวเรื่องสงครามกลางเมือง โฆษณาชวนเชื่อของพรรค และดนตรีปฏิวัติในภาษาพม่า ไทใหญ่ คะฉิ่น กะเหรี่ยง ว้าและบางครั้งก็มีภาษาชนเผ่าอื่นๆ อีกบ้าง. ในปี ค.ศ. 1978 นโยบายในจีนได้เปลี่ยนไป เนื่องจากการเสียชีวิตของเหมาเจ๋อตุง และการขึ้นครองอำนาจของนายเติ้งเสี่ยวผิง PVOB ถูกบังคับให้ย้ายสถานีไปยังที่ทำการใหญ่ของพรรคที่ปางซาง ในเทือกเขาเขตว้า ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า (Bertil Lintner: 2001)

กลุ่มกบฎชนกลุ่มน้อย กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะฉิ่น ปะหล่อง ปะโอ คะเรนนี (คะยา) และมุสลิมโรฮิงยาจากรัฐอาระกัน ก็ได้ผลิตวารสารและจดหมายข่าวอย่างลับๆ ในภาษาของตนเองในจำนวนจำกัด ทำใหดูเหมือนว่าไม่มีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองทั่วประเทศนัก ฝ่ายกบฎกะเหรี่ยง ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในแถบติดชายแดนประเทศไทย ได้ตั้งสถานีกระจายเสียงวิทยุที่ฐานที่มั่น Maw Po Kay ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1983 แต่ก็ปิดลงเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1984 เนื่องจากการสู้รบอย่างรุนแรงในเขตนั้น

การกระจายเสียงของกลุ่มกบฎในเขตชายแดน ทำให้รัฐบาลพม่าต้องเพิ่มความสามารถในการรบกวนคลื่นเสียง แม้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าและกะเหรี่ยงได้หยุดกระจายเสียงไปหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีหน่วยต่อต้านการกระจายเสียง (Defense Forces Broadcasting Unit) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองตองจี (Taunggyi) ในรัฐฉาน อันเป็นที่ตั้งของสถานีส่งคลื่นสัญญานรบกวน. เมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้ใช้เครื่องมือเพื่อกีดกั้นสัญญานของ BBC ภาคภาษาพม่า และวิทยุเสียงอเมริกาหรือ VOA และสถานีวิทยุต่อต้านรัฐบาลแห่งใหม่ เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า Democratic Voice of Burma (DVB) ที่มีสถานีส่งสัญญานหลัก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศนอรเวย์ (ในปี ค.ศ. 1995 ทหารพม่าได้เครื่องรบกวนสัญญานที่ใหม่และประสิทธิภาพดีขึ้นจากจีน เครื่องมือนี้ตั้งอยู่ในเมืองตองจี แต่ความพยายามของทหารในการควบคุมสัญญานคลื่นกระจายเสียงก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเสมอไป)

ประเทศพม่าเริ่มมีโทรทัศน์ แม้จะช้ากว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ อยู่มาก คือเมื่อวันที่ 3 เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1980 สถานีโทรทัศน์แห่งแรกได้เปิดขึ้นโดยความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่น แต่รัศมีการส่งสัญญานยังจำกัดอยู่แค่ในกรุงย่างกุ้งและเมืองใกล้เคียง ในปี ค.ศ. 1985 ในเขตชนบทสามารถรับสัญญานได้ผ่านสถานีทวนสัญญานแต่ก็เป็นสถานีเดียวเท่านั้น มีรายการข่าว ละครพม่าคลาสสิค การศึกษา และภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1997, SLORC เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ State Peace and Development Council หรือ SPDC แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเข้มงวดตรวจสอบสื่อมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทัศนคติที่มีต่อการแพร่กระจายข้อมูลนั้น ได้ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงัก และทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว

นักวิชาการชาวอังกฤษ Anna J. Allot (1993) ซึ่งรวบรวมเรื่องสั้นที่ถูกตรวจสอบในหนังสือ "Inked Over - Ripped Out" (ถูกขีดทับ ตัดออก) ได้อธิบายกระบวนการไว้ว่า "ทำโดยการตัดหน้านั้นออก แล้วติดกาวไว้ด้วยกัน ขีดข้อความออกด้วยการใช้สีน้ำเงินทับ หรือติดเทปสีทึบทับข้อความที่มีปัญหา ส่วนการตัดข้อความออกในเล่มอื่นๆ ที่เหลือ จะทำโดยผู้จัดพิมพ์ จากการชี้นำของ PSB". หลังจากหน้ากระดาษที่มีปัญหาถูกตัดออกจากหนังสือ ก็จะถูกส่งไปให้ PSB เพื่อให้ทราบว่าหนังสือนั้นมีความยาวกี่หน้า แล้วจะนับว่ามีหน้าเหลืออยู่เท่าใด เพื่อจะทำให้แน่ใจว่าไม่มีหน้าไหนคงค้างอยู่หรือแอบแจกจ่ายออกไปก่อนการทำลายหน้าหนังสือที่มีปัญหาเหล่านั้น

บทความอื่นๆ อธิบายถึงเหตุการณ์ข่มขืน คอรัปชั่น และฆาตกรรมในบางประเทศ เพื่อเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประเทศที่วิจารณ์พม่าเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน นิตยสารที่ไม่ปกติธรรมดานี้ เป็นความคิดประดิษฐ์ของหน่วยงานตำรวจลับ ซึ่งควบคุมทุกแง่มุมของวิถีชีวิตในพม่า

ในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2000 Aung Myint นักหนังสือพิมพ์และฝ่ายต่อต้านอีก 5 คน ถูกตัดสินจำคุก 21 ปีด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินโดยแจกจ่ายข้อมูลที่อ้างถึงพรรคNLD ในเดือนกันยายน หลังจากที่นางออง ซาน ซู จี ถูกกันไม่ให้เดินทางออกจากกรุงย่างกุ้ง Aung Myint ทำงานให้กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่รัฐบาลทหารห้าม เนื่องจากมีเนื้อหาเชิงเสียดสี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 เขายังทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ข้อมูลข่าวสารให้กับพรรค NLD และอีก 5 คนก็ทำงานกับพรรค NLD เช่นกัน

กฎหมายอีกฉบับที่มักจะใช้เพื่อกดดันฝ่ายต่อต้าน ก็คือ กฎหมายว่าด้วยการปกป้องประเทศ ปี ค.ศ. 1975 ซึ่งรู้จักกันในนามของ "กฎหมายเพื่อปกป้องประเทศจากภัยและการบ่อนทำลาย" ซึ่งอนุญาตให้รัฐสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใดที่หนึ่ง หรือทั่วทั้งประเทศได้" ด้วยแนวทางที่ว่า เพื่อปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงและกฎหมายมหาชนจากภัยคุกคาม" (Law to Safeguard the State From the Dangers of Destructive Elements) และเพื่อเพิ่มความเข้มงวดกับสิทธิพื้นฐานของประชาชน

รายงานจาก Article 19 (*) องค์กรเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน ได้ให้ความเห็นว่า "กฎหมายนี้ให้อำนาจแก่รัฐในการแผ่อำนาจ: ใครก็ตามที่เป็นผู้ต้องสงสัย น่าสงสัย หรืออาจเกี่ยวข้องว่าละเมิดกฎหมายที่เขียนไว้ว่า 'เป็นอันตรายต่ออธิปไตยและความมั่นคงของชาติ สันติภาพและความสงบในหมู่ประชาชน'ก็อาจถูกจำคุกสูงถึง 5 ปีหรือ ตามคำตัดสิน" (Martin Smith: 1991, 32)

(*)ARTICLE 19 is a London-based human rights organisation with a specific mandate and focus on the defence and promotion of freedom of expression and freedom of information worldwide. The organisation takes its name from Article 19 of the Universal Declaration of Human Rights, which states: "Everyone has the right to freedom of opinion and expression; the right includes freedom to hold opinions without interference and to seek, receive and impart information and ideas through any media regardless of frontiers."

มรดกตกทอดมาจากยุคอาณานิคมอีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการปี ค.ศ.1923 ได้ถูกนำมาใช้และมีผู้คัดค้านอย่างมาก เนื่องจากรัฐใช้ในทางที่ผิดคือเพื่อกดดันฝ่ายต่อต้าน และเพื่อหยุดยั้งการไหลของข้อมูลข่าวสาร ในปี ค.ศ. 1990 ผู้นำพรรค NLD สองคนและชาวพม่าที่ทำงานในสถานทูตอังกฤษในกรุงย่างกุ้ง ถูกจับภายใต้กฎหมายนี้ เจ้าหน้าที่ NLD Chit Khaing และ Kyi Maung ได้ให้จดหมายจาก SLORC ถึงคณะกรรมการพรรค NLD กับ Nita Yin Yin เจ้าหน้าที่สถานทูตเพื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งสามคนถูกตัดสินว่าผิดจาก "มอบเอกสารที่เป็นความลับของรัฐบาลที่มีผลต่อประโยชน์ของชาติ แก่บุคคลที่ไม่ได้มีอำนาจในการนั้น" และถูกจำคุกเป็นเวลานาน

ในเดือน ตุลาคม ค.ศ.1994 Dr. Khin Zaw Win อดีตเจ้าหน้าที่ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ถูกตัดสินจำคุกสองปี เนื่องจากพยายามลักลอบนำ "ความลับของชาติ" ออกนอกประเทศ คือ หนังสือของนางออง ซาน ซู จี เรื่อง Freedom From Fear ภาคแปลเป็นภาษาพม่า นอกจากนั้นเหยื่อของการกล่าวร้ายนี้อีกคนคือ Dr. Aung Khin คณะกรรมการกลางของพรรค NLD ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ภายใต้กฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการและกฎหมายว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนเครื่องพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ เนื่องจากแจกจ่ายใบปลิววิจารณ์การเข้มงวดควบคุม ที่ SLORC กระทำต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1992 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญพม่า

สื่อกับการประท้วงที่นำโดยนักศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 1988
การประท้วงที่นำโดยนักศึกษาเมื่อปี 1988 นั้น เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โลกหันมาดูประเทศที่ปิดตัวเองมานานอย่างพม่า และเป็นจุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งซึ่งทำให้เกิดขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยาวนานมาถึงสองศตวรรษ พรรคNLD และองค์กรสนับสนุนประชาธิปไตยอื่นๆ ได้ปรากฎตัวชัดในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น หลังจากหลายปีของการครองอำนาจของกองทัพ ลัทธิสังคมนิยมและสงครามกลางเมืองที่สร้างความเสียหายอย่างมากมาย เศรษฐกิจของพม่าตกต่ำลงถึงขีดสุด ในเดือนสิงหาคม1988 ผู้คนนับล้านออกมาเดินขบวนบนถนนเพื่อเรียกร้องให้ยุติระบอบเผด็จการ เพื่อนำประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรีซึ่งปรากฎมาก่อนปี 1962 กลับมา การประท้วงนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้คนนับพันๆ ถูกทหารยิง ซึ่งนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอีกจำนวนมากต้องหลบหนีมายังชายแดนเขตของชนกลุ่มน้อย

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนของการประท้วงนั้น จิตวิญญานของชาวพม่าถูกปลุกขึ้นอีกครั้งหลังจากเงียบหายไปถึงกว่า 26 ปี ภายในหนึ่งสัปดาห์ในกรุงย่างกุ้ง มีหนังสือพิมพ์และวารสารมากถึง 40 ฉบับ ที่เต็มไปด้วยข้อเขียนเรื่องการเมือง การ์ตูนล้อเลียน การวิจารณ์เสียดสีพรรคสังคมนิยมแห่งพม่าและผู้นำทางทหาร มีทั้งหนังสือพิมพ์รายวันและบางเล่มก็ออกเป็นระยะ บ้างก็เป็นภาษาอังกฤษ บ้างก็เป็นภาษาพม่า โดยใช้ชื่อที่มีสีสันอย่าง Light of Dawn, Liberation Daily, Scoop, New Victory, Newsletter, สิ่งพิมพ์บางฉบับเขียนด้วยลายมือแล้วถ่ายเอกสาร หรือใช้เครื่องอัดสำเนา บ้างก็ผ่านระบบการพิมพ์อย่างมืออาชีพ และมักจะแจกจ่ายฟรีเนื่องจากเจ้าของต้องการแสดงถึงการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ของทางการอย่าง The Guardian และ The Working People's Daily เริ่มตีพิมพ์บทความที่กล้าพูดเรื่องการเมืองมากขึ้น แต่วิทยุและโทรทัศน์ของทางการก็ยังคงถูกควบคุมอย่างไม่เปลี่ยนแปลง การผลิบานของสื่อในกรุงย่างกุ้งได้ถูกทำให้จบลงอย่างรวดเร็วเมื่อทหารได้ยึดอำนาจการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ แม้จะเป็นทหารกลุ่มใหม่ก็ตาม (Bertil Lintner, 2001)

ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1988 มีประกาศก่อตั้ง The State Law and Order Restoration Council หรือที่รู้จักกันว่าสลอร์ค SLORC มีผู้คนอีกจำนวนมากที่ถูกยิงบนท้องถนนในกรุงย่างกุ้ง และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์นี้ SLORC ยังประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม พลจัตวาขิ่น ยุ้นต์ (ณ ขณะนั้น) ซึ่งเป็นโฆษกของรัฐบาลทหารกล่าวว่า จะส่งต่ออำนาจให้แก่พรรคที่ชนะ. ด้วยความไม่เชื่อถือในคำพูดของขิ่น ยุ้นต์ มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษานับพันๆ หลบหนีมายังชายแดนติดกับประเทศไทย เพื่อจับอาวุธเตรียมสู้กับรัฐบาลทหารใหม่ บางคนยังอยู่ในประเทศเพื่อก่อตั้งพรรค NLD (National League for Democracy) ที่มีผู้นำคือนางออง ซาน ซู จี บุตรสาวของวีรบุรุษเอกราชของพม่า ออง ซาน

ในทันทีที่มีการก่อตั้ง SLORC หนังสือพิมพ์ทั้งหมดถูกห้ามพิมพ์ยกเว้น Loktha Pyithu Nezin และในภาคภาษาอังกฤษคือ The Working People's Daily การควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดได้ถูกประกาศใช้ นักหนังสือพิมพ์จำนวนมากถูกจับกุม รวมทั้ง Win Tin อดีตบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Hanthawaddy ซึ่งกลายเป็นผู้นำนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในปี 1988 ขณะนี้เขายังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งกลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิสื่อได้พยายามเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขามาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนปัจจุบัน

ในตอนแรกหลังการประท้วง นักข่าวชาวต่างประเทศได้รับการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ แต่เมื่อการรายงานข่าวของพวกเขามีการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าที่ทางรัฐบาลได้คาดไว้ ระยะเวลาการเข้าประเทศของพวกเขาก็ถูกตัดทอนให้สั้นลง หลายปีที่ผ่านมา มีนักข่าวที่ถูกคัดกรองแล้วเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับวีซ่านักข่าว แต่ก็มีนักข่าวชาวต่างประเทศหลายคนที่แฝงตัวเข้าประเทศโดยอ้างว่าเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจ ซึ่งทำให้มีข้อมูลข่าวสารออกจากพม่าอย่างสม่ำเสมอแม้จะมีการควบคุมอย่างหนักจากรัฐบาลก็ตาม มีเพียงกรณียกเว้นเมื่อปี 1990 เมื่อรัฐบาลทหารได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามที่สัญญาไว้ นักข่าวชาวต่างประเทศหลายสิบคนได้รับอนุญาตให้เข้าไปในกรุงย่างกุ้ง แต่ผลที่ออกมากลายเป็นหายนะสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อของ SLORC แม้ว่าหนึ่งปีก่อนหน้านั้นนางออง ซาน ซู จี ถูกคุมขังไว้ในบ้านพัก แต่กระนั้น พรรค NLD ก็ยังชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้ง ในเดือนกรกฎาคม SLORC ประกาศว่าการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เพื่อตั้งรัฐสภา แต่เป็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (*)

(*) รัฐบาลพม่าประกาศว่า ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วในปี ค.ศ. 2007 โดยรัฐบาลทหารพม่าได้จัดให้มีการลงประชามติในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 และจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2010 แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่า ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของกระบวนการดังกล่าว ได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรค NLD และพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกทั้งการประกาศห้ามนางออง ซาน ซู จี ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2010 นอกจากนั้นยังมีการประกาศใช้กฎหมายล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 กำหนดบทลงโทษประชาชนที่ต่อต้านการลงประชามติ โดยกฎหมายล่าสุดของรัฐบาลทหารพม่าประกาศว่า บุคคลใดที่ออกแถลงการณ์หรือใบปลิวต่อต้านการลงประชามติ ต้องถูกจำคุกสามปี และปรับเป็นจำนวนเงิน 100,000 จั๊ต หรือประมาณ 77 เหรียญสหรัฐ ซึ่งขัดกับหลักการขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย กล่าวคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะนำมาซึ่งกระบวนการทางการเมืองที่โปร่งใสยุติธรรม อีกทั้งยังห้ามพระสงฆ์และแม่ชีไม่ให้มีส่วนร่วมในการลงประชามติอีกด้วย

สิ่งนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลทหารได้กลับคำสัญญาที่ว่า รัฐสภาจะมาจากการเลือกตั้งและอำนาจจะถูกส่งต่อให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง เมื่อชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรค NLDปรากฎต่อสายตาสาธารณะ โดยได้ 392 ที่นั่ง จาก 492 ที่นั่ง ขณะที่พรรคซึ่งสนับสนุนโดยกองทัพอย่าง National Unity Party (เป็นชื่อใหม่ของพรรคสังคมนิยมแห่งพม่า) ได้รับเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น ท่าทีต่อชัยชนะของพรรค NLD จาก SLORC ที่ได้แถลงออกมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1990 ในคำประกาศที่ 1/90 กล่าวว่า มีเพียง SLORC เท่านั้น ที่มีสิทธิในการออกกฎหมายและบริหารและอำนาจทางศาล "ด้วยเหตุนั้น ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยประชาชนจึงรับผิดชอบในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตของพม่า" นั่นเป็นครั้งแรกที่ SLORC กล่าวถึงความต้องการที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่

ในวันเดียวกับที่มีการประกาศ SLORC ได้ออกการรณรงค์ต่อต้านผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรค NLD เมื่อถึงปลายปี ค.ศ. 1990 มีผู้ถูกจำกุมไป 65 คน และ ประมาณ 12 คนต้องหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยหรืออินเดีย และหลายคนลาออกโดยสมัครใจ สภาจากการเลือกตั้งนี้ไม่เคยเปิดประชุมได้

ในการพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ และเพื่อรับกับระบบการค้าเสรีที่นำมาใช้หลังจากปี ค.ศ.1988 รัฐบาลเปลี่ยนชื่อหนังสือพิมพ์ Lokha Pyithu Nezin (Working People's Daily) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1993 โดยใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลสั่งห้ามและปิดไปเมื่อปี ค.ศ. 1969 Myanmar Alin และในภาคภาษาอังกฤษชื่อ New Light of Myanmar หนังสือพิมพ์ทำแม้กระทั่งพิมพ์คำว่า "ก่อตั้งในปี ค.ศ.1914" (ปีที่ Myanmar Alin ก่อตั้ง) ลงไปในหน้าแรกด้วย ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 สำนักงานนายกเทศมนตรีเมืองย่างกุ้ง ก็ออกหนังสือพิมพ์ของตนเองซึ่งยืมชื่อมาจากหนังสือพิมพ์เก่า Kyemon

ข่าวการประท้วงครั้งนั้นออกสู่สายตาชาวโลก หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปนับสัปดาห์ ความเสียหายคือชีวิตของผู้ประท้วง ทั้งบรรดานักศึกษา พระสงฆ์ ประชาชน นับพันๆ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกมากมาย ในระหว่างการประท้วงนั้น สื่อที่นำข่าวรายงานได้รวดเร็วที่สุดก็คือวิทยุกระจายเสียงของ BBC และ VOA ภาคภาษาพม่าและภาคภาษาอังกฤษ ที่ส่งต่อข่าวสารทั้งในและนอกประเทศพม่า. ภาพและข่าวเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่แท้จริงในพม่า อันนำมาซึ่งความสนใจและตระหนักของชุมชนโลกจนกระทั่งปัจจุบัน

ในช่วงกลางและปลายทศวรรษที่ 1990 มีกฎหมายพม่าหลายฉบับควบคุมการใช้อีเมล์และการใช้อินเตอร์เน็ต โดยถูกเพิ่มเติมในกฎหมายโทรทัศน์และวิดีทัศน์ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างอิสระ ซึ่งมีผลถึงการบังคับให้ขอใบอนุญาตมีโทรทัศน์ เครื่องวีดีทัศน์ เครื่องรับโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจากกระทรวงการสื่อสาร ไปรษณีย์และโทรเลข และธุรกิจวิดีทัศน์ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานตั้งใหม่ในเขตการปกครอง (พม่ามี 7 รัฐและมีคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจวิดีทัศน์ 7 คณะ ภายใต้กำกับของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร)

จากข้อมูลขององค์กร Article 19 ในรายงานเรื่อง "State of Fear: Censorship in Burma" (1991) กล่าวว่า "กฎหมายโทรทัศน์และวิดีทัศน์ทำให้การขออนุญาตฉายวิดีทัศน์ทุกเรื่องในพม่า ต้องได้รับใบอนุญาตว่าผ่านการตรวจสอบแล้ว วิดีทัศน์ทุกเรื่องจะต้องผ่านการอนุญาตทุกครั้งที่จัดฉาย ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบจึงมีอำนาจในการตรวจ แม้กระทั่งตรวจสอบซ้ำวิดีทัศน์ผ่านขั้นตอนแล้ว และสามารถยกเลิกการอนุญาตเมื่อใดก็ได้ ถ้ามีเหตุผลที่จำเป็น"

ภายใต้กฎหมายนี้กำหนดให้มีการจำคุกผู้กระทำผิดได้ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1996 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยสามคน ได้แก่ Kyaw Khin ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรค NLD จากรัฐฉาน Dr. Hlaing Myint สมาชิกพรรค NLD และนักธุรกิจจากย่างกุ้งและ Maung Maung Wan นักศึกษาซึ่งยังน้อย ถูกตัดสินจำคุกถึงสามปีเนื่องจากเป็นเจ้าของวิดีทัศน์เรื่องพม่าซึ่งบันทึกมาจากสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ. ในปีเดียวกัน Khun Myint Tun ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรค NLD จากรัฐมอญ ก็ต้องโทษจำคุกสามปี เนื่องจากได้มอบม้วนวิดีทัศน์คำปราศรัยประจำสัปดาห์ของนางออง ซาน ซู จี ให้กับนักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานกับ Australian Broadcasting Corporation

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1995 นางออง ซาน ซู จี ถูกปล่อยตัวออกจากการควบคุมในบ้าน และนักข่าวชาวต่างประเทศได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้อีกครั้ง หลังจากนั้นไม่กี่เดือนรัฐบาลเพิ่มการควบคุมขึ้นมาอีก และยุติการออกวีซ่าสำหรับนักข่าว และนางซู จี ได้ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง ความเคลื่อนไหวของเธอถูกจำกัดอย่างเข้มงวด ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากพรรคของเธอถูกจับกุม ขณะที่อีกหลายคนหลบหนีมายังประเทศไทยและอินเดีย กองทัพพม่ายิ่งปกป้องอำนาจของตนมากกว่าที่เป็นมา ในปี ค.ศ. 1999 ความเข้มแข็งของกำลังกองทัพพม่าเพิ่มขึ้นถึง 450,000 นาย นับว่าเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าสองเท่า จากจำนวนทหารที่มีอยู่ในปี ค.ศ. 1988

สื่อกับการประท้วงของพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 2007
การประท้วงในพม่าปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกนั้น แม้เหตุการณ์จะดูเหมือนสงบลงหลังจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่าที่ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศอย่างรุนแรง เรื่องการใช้กำลังและอาวุธกับผู้ประท้วงอย่างสันติที่นำโดยพระสงฆ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางการเมืองพม่ามาโดยตลอด เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองพม่า โดยเฉพาะเพื่อประชาธิปไตยนั้น ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั่วโลกอีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกลไกสำคัญยิ่งก็คือ สื่อมวลชน แต่ทั้งนี้แตกต่างจากการประท้วงครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1988 เนื่องจากการทำงานของสื่อมีกลไกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อันมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาการของโลก ซึ่งไม่เว้นแม้แต่พม่าที่มีการควบคุมการสื่อสารอย่างเข้มงวด เป็นผลจากการทำงานประสานกันระหว่าง ผู้สื่อข่าวประชาชน (Citizen Reporter) สื่อพลัดถิ่น (Exiles Media) และสื่อมวลชนข้ามชาติ (Transnational Media) (*) อันทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าสามารถรับรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็วหรืออาจนับเป็นนาทีต่อนาทีภายนอกประเทศ แม้กระทั่งในทวีปอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งต่างจากเมื่อครั้งปี 1988 ที่กว่าภาพและข้อมูลจะมาถึงโลกภายนอก ต้องใช้เวลานับสัปดาห์และไม่สามารถกดดันแก้ไขเหตุวิกฤตได้ทันเวลาเพื่อลดความเสียหายจากการปะทะ

(*) ณัฐวดี ดวงตาดำ (2549) ให้นิยามคำว่า สื่อมวลชนข้ามชาติว่าหมายถึง สื่อมวลชนตะวันตกที่มีบทบาททรงอิทธิพลในการสื่อสารระหว่างประเทศ และครอบงำระบบการสื่อสารโลก ด้วยศักยภาพเครือข่ายข่าวสารทั่วโลก ทั้งทางด้านบุคลากร สำนักงาน(สำนักข่าว) เทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น ดาวเทียมโทรคมนาคม สถานีส่งคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ เป็นที่เชื่อถือในการนำเสนอข่าวสารระหว่างประเทศ สามารถผูกขาดและรุกรานเชิงวัฒนธรรมโลกได้

หลังการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 1988 ขบวนการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยในพม่าไม่ได้ยุติลง อันจะเห็นได้ชัดจากการเลือกตั้ง ในปี ค.ศ.1990 ซึ่งแสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลทหารที่ไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นับจากนั้นไม่เพียงแต่ความเคลื่อนไหวของนางออง ซาน ซู จี ที่ถือเป็นผู้นำฝ่ายค้านเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วยังมีการเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรค NLD รวมทั้งนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอื่นๆ อีก แต่ทั้งนี้มักจะไม่ค่อยเป็นข่าวใหญ่ปรากฏตามสื่อต่างประเทศรวมทั้งสื่อไทยด้วย เนื่องมาจากการจัดวาระข่าวสารของสื่อมวลชนข้ามชาติ แต่ข่าวเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสื่อพลัดถิ่นที่เริ่มก่อรูปมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 มาตลอด ด้วยความพยายามเพื่อรักษาให้ประเด็น (Agenda) เรื่องพม่าจะยังปรากฏแก่ผู้สนใจและสื่อสารไปยังชาวพม่าพลัดถิ่นทั่วโลก

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ประท้วงของพระสงฆ์ในปี 2007 นั้น เมื่อปี 2006 กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าได้มีการประท้วงที่เรียกว่า "ประท้วงชุดขาว" (*) มาก่อน ที่จัดขึ้นในศูนย์กลางจิตใจของชาวพม่าคือเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง

(*) การประท้วงชุดขาว (White Expression Campaign) มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 - 18 ตุลาคม ค.ศ. 2006 โดยกลุ่มนักศึกษาปี 88 (The 88 Generation Students) เพื่อกดดันให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวมิน โก นาย นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญรวมทั้งนักโทษการเมืองคนอื่นๆ โดยผู้สนับสนุนได้แต่งชุดขาวเพื่อแสดงการเรียกร้อง นอกจากนั้นในวันที่ 11 มีนาคม ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 หลังจากมิน โก นาย ถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว เขาและกลุ่มนักศึกษาปี 88 ได้จัดการรณรงค์ วันอาทิตย์สีขาว (White Sunday) เพื่อแสดงการสนับสนุนครอบครัวของนักโทษการเมือง โดยพวกเขาได้ไปเยี่ยมครอบครัวเหล่านี้ทุกวันอาทิตย์ตลอดช่วงการรณรงค์

แต่เหตุการณ์ประท้วงของพระสงฆ์ปี 2007 นั้น เริ่มต้นมาจากความเห็นใจประชาชนและไม่พอใจนโยบายที่รัฐบาลขึ้นราคาเชื้อเพลิงโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า อันส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความยากจนของประชาชนส่วนใหญ่ในพม่าที่ขณะนี้เป็นประเทศที่ยากจนติดลำดับโลกอยู่แล้ว. ก่อนหน้านั้นก็มีข่าวที่ทำให้ประชาชนรู้สึกขุ่นข้องอยู่แล้วคือ ข่าวงานแต่งงานของบุตรสาวผู้นำสูงสุดพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ซึ่งจัดอย่างหรูหรา อลังการ ทำให้ชาวพม่ารู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำของชนชั้นนำ นายทหารชั้นผู้ใหญ่กับประชาชนทั่วไป

การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2007 และแพร่กระจายไปในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ในวันเดียวกันสื่อพลัดถิ่นและสำนักข่าวเอพีเริ่มติดตามการประท้วงอย่างใกล้ชิด เทคโนโลยีสมัยใหม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้ในพม่า โดยประชาชนที่รวมอยู่ในการประท้วง และผู้สื่อข่าวจากทั้งสำนักข่าวข้ามชาติและสื่อพลัดถิ่นที่แฝงตัวอยู่ในพม่า เหตุการณ์นี้ทำให้กระแสสนใจเรื่องบทบาทของบล็อกเกอร์ (Bloggers) (*) บนอินเตอร์เนต อันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่รัฐบาลทหารพม่าเองก็คาดไม่ถึง แต่กระนั้นระบบการควบคุมสื่อพม่าก็ตามมาหลังจากวันประท้วงใหญ่ ที่ทหารพม่าสังหารพระสงฆ์และผู้ร่วมประท้วงไปจำนวนมาก แต่ตามประกาศของรัฐบาลพม่าในหนังสือพิมพ์ The New Light of Myanmar แจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 9 คน ซึ่งขัดกับการสำรวจของกลุ่มสิทธิมนุษยชน และคำบอกเล่าของชาวพม่าในเหตุการณ์ จากข้อมูลขององค์การฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตสูงกว่านั้นหลายเท่า

(*) Blogger คือผู้ที่เขียนหน้าเว็บไซต์ของตนเองที่เรียกว่า บล็อก (Blog) ย่อมาจาก Web log ซึ่งเว็บชนิดนี้ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 และแพร่หลายมากในปัจจุบัน ลักษณะเป็นไดอารี่ส่วนบุคคลหรือวารสารส่วนบุคคล ที่ทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เนตสามารถเขียนเรื่องราว บันทึก นำเสนอความคิดเห็น เสียง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ที่ตนเองอยากนำเสนอได้อย่างสะดวกและเป็นอิสระผ่านผู้ให้บริการรายต่างๆ สามารถปรับปรุงข้อมูลและสื่อสารกับผู้อ่านได้ทุกเวลา โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างเว็บเหมือนแต่ก่อน ในทางการเมือง รัฐบาลของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ มักจะพยายามจำกัดและควบคุมการใช้บล็อกเนื่องจากถือเป็นเครื่องมือการสื่อสารเผยแพร่ถึงมวลชนที่ควบคุมได้ยากกว่าสื่อประเพณีอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ หรือวิทยุ โทรทัศน์

ทั้งนี้ในจำนวนผู้เสียชีวิตรวมถึงนักข่าวชาวญี่ปุ่น ซึ่งถูกยิงโดยทหารพม่า ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการบางส่วนที่ให้กับพม่า เพื่อประท้วงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่า ในพม่านั้นผู้สื่อข่าวไม่ได้รับความปลอดภัยตามที่ควรจะเป็นในการปกป้องสิทธิของผู้สื่อข่าว หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ผลที่ตามมาคือนักข่าวและผู้ที่ให้ข่าวในทางลบเกี่ยวกับการประท้วงและรัฐบาล ต่างอยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง มีการตรวจตราตามโรงแรม ท้องถนน ที่คาดว่าผู้สื่อข่าวจากนอกประเทศที่แฝงตัวมาในฐานะนักท่องเที่ยวจะหลบซ่อนอยู่ นักข่าวชาวต่างประเทศถูกระงับวีซ่าและให้ออกนอกประเทศก่อนกำหนด ส่วนนักข่าวและประชาชนชาวพม่าที่ถูกสงสัยว่าจะเป็นผู้ให้ข่าวถูกจับกุมและคุมขัง โดยรายงานของ Assistant Association of Political Prisoner (Burma) ที่ทำงานช่วยเหลือและเคลื่อนไหวเพื่อนักโทษการเมืองในพม่า พบว่า จนถึงวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2008 มีผู้จับกุมและคุมขังจากการประท้วงทั้งสิ้น 706 คน แต่ก็มีบางส่วนถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว. ผู้ประท้วง นักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งหลบหนีมายังชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทย

ช่วงการประท้วงนั้น สื่อพลัดถิ่นและสื่อมวลชนข้ามชาติ โดยเฉพาะวิทยุภาคภาษาพม่า อย่าง DVB, RFA, BBC, นอกจากมีบทบาทในการให้ข่าวสารในพม่าสู่ภายนอกประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อและรายงานข่าวสารแก่ชาวพม่าในประเทศด้วย เนื่องจากการสื่อสารทางโทรศัพท์ มักจะใช้งานไม่ได้และเสี่ยงเกินไปที่จะพูดถึงการประท้วงทางโทรศัพท์ ดังนั้นผู้คนจึงทราบข่าวสารและสถานการณ์ในเมืองใกล้ๆ และจากทั่วประเทศผ่านวิทยุกระจายเสียงเหล่านี้ ซึ่งเป็นคุณูปการของเครื่องรับวิทยุราคาไม่แพงนักจากประเทศจีน พันธมิตรของรัฐบาลพม่า ที่ทำให้ชาวพม่าเข้าถึงข่าวสารได้มากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วชาวพม่าไม่มีกำลังซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ได้มากนัก เนื่องจากมีราคาสูง

ในการประชุมประจำปีของสมาคมสื่อพม่า (Burma Media Association) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ได้มีการอภิปรายถึงการพยายามรักษาประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่า เพื่อให้มีการกดดันจากภายนอกประเทศ และให้ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนในประเทศ เนื่องจากในระดับโลก สถานการณ์ในหลายประเทศถือเป็นวาระข่าวสารที่ใหญ่และทำให้กระแสข่าวเรื่องพม่าลดความสำคัญลงไปในสายตาสื่อข้ามชาติ เช่นสถานการณ์ในประเทศปากีสถาน และสงครามในอิรัก เป็นต้น

นอกจากนั้นประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความปลอดภัยของผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนในพม่าที่ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการกวาดล้างจับกุมของรัฐบาลพม่านับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1988 มีผู้ทำงานด้านสื่อเสียชีวิตในเรือนจำไป 6 คน ถูกคุมขังอยู่ 21 คน และถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว 41 คน

สถานการณ์สื่อมวลชนภายในพม่าตั้งแต่ ค.ศ. 1988
หลังจากการลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนชาวพม่า เมื่อปี ค.ศ. 1988 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวครั้งใหญ่ของสื่อในพม่า แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นวารสารบางเล่มก็ยังพยายามปรากฏตัวในรูปแบบสื่อต่อต้านรัฐบาลที่เรียกกันว่า Samizdat (*) แต่ก็ถูกกวาดล้างก่อนที่จะกระจายไปในสังคมพม่า บางครั้งก็มีการแอบนำสื่อที่ทำโดยกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มพลัดถิ่นเข้าไป แต่ก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่ยึดก่อน (Tin Maung Maung Than, 2002:148)

(*) Samizdat คือเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่แอบคัดลอกและแจกจ่าย เนื่องจากเป็นสื่อต้องห้ามในประเทศสหภาพโซเวียตเดิม โดยแอบทำในจำนวนไม่มากนัก และผู้ที่ได้รับก็จะแอบทำส่งต่อไปเช่นกัน ส่วนใหญ่จะทำด้วยการเขียนหรือถ่ายสำเนา มีจุดประสงค์เพื่อหลบเลี่ยงการควบคุมสื่อโดยรัฐที่มีบทลงโทษรุนแรงมากหากฝ่าฝืน. Vladimir Bukovsky นักเขียนและนักการเมืองฝ่ายค้านชาวรัสเซียได้ให้ความหมายของ Samizdat ไว้ว่า เป็นเอกสาร/สิ่งพิมพ์ที่ "ฉันเขียน, แก้ไข, ตรวจสอบ, จัดพิมพ์, แจกจ่ายเอง และอาจต้องจำคุกเพราะสิ่งนี้ด้วย " ต่อมาถือเป็นคำที่ใช้เรียก สื่อใต้ดินหรือสื่อต่อต้านรัฐบาลในประเทศอื่นๆ ด้วย

ภายใต้รัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน ก่อนการประท้วงของพระสงฆ์ใน ค.ศ. 2007 มีนิตยสารและวารสารในพม่ากว่า 100 ฉบับ หนังสือพิมพ์ระดับชาติโดยมากดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐที่มักจะเรียกกันว่าเป็นกระบอกเสียง (Mouthpiece) ที่สำคัญของรัฐบาล อันได้แก่ New Light of Myanmar ในภาษาอังกฤษและ Myanmar Alin ในภาคภาษาพม่า

หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่เป็นที่รู้จักคือ Myanmar Times ที่ดำเนินงานโดยหุ้นส่วนชาวออสเตรเลียกับชาวพม่าที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลพม่า มีทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ แต่เนื้อหาได้ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดเช่นเดียวกัน. หนังสือพิมพ์ชนิดอื่นๆ ที่วางแผงในพม่าและได้รับความนิยมสูงก็คือ วารสารเกี่ยวกับฟุตบอลทางตะวันตกที่ชาวพม่ามีความนิยมไม่แพ้คนไทย มีถึงกว่า 10 ฉบับซึ่งออกจำหน่ายรายสัปดาห์ นอกจากนั้นยังมีนิตยสารเกี่ยวกับดารา นักร้อง แฟชั่น ที่ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในพม่าต้องอาศัยรายได้จากการโฆษณาเพื่อความอยู่รอด เนื่องจากราคาขายนั้นตั้งได้ไม่สูงนัก เนื่องจากชาวพม่ามีกำลังซื้อน้อย และยอดขายก็ไม่มากเนื่องจากการแข่งขันในตลาด ทางออกของชาวพม่าสำหรับการซื้อหาหนังสือก็คือร้านหนังสือมือสอง ที่มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะกลางเมืองย่างกุ้งมีอยู่หลายร้าน โดยมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนทั้งนิตยสารจากต่างประเทศ ตำราเรียน นวนิยาย สารคดี แต่ก็อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์นักและมักจะมีสภาพเก่ามาก

อันที่จริงจำนวนปกหนังสือที่ตีพิมพ์ในพม่าช่วงปี ค.ศ. 1984-1987 มีอยู่ 2,065 ปก แต่ในช่วงปี ค.ศ. 1994 - 1997 เพิ่มขึ้นเป็น 3,381 ปก หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 64 ในหนึ่งทศวรรษ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากสังคมนิยมมาเป็นระบบตลาด (Tin Maung Maung Than, 2002: 149) อย่างไรก็ตาม ช่องทางในการรับข่าวสารของชาวพม่า ที่แพร่หลายมากที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 นั้น คือ"สื่อวิทยุ" ที่แม้แต่นางออง ซาน ซู จี เองก็ฟังข่าวสารจากวิทยุกระจายเสียงเป็นประจำ นับตั้งแต่ถูกคุมตัวไว้ในบ้านพัก

สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ตั้งในประเทศพม่าได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล มีทั้งหมด 2 สถานี คือ Myanmar Radio National Service ซึ่งกระจายเสียงในหลายคลื่นและหลายพื้นที่ในประเทศ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ดำเนินการโดย Myanmar Television & Radio Department. อีกสถานีหนึ่งคือ Yangon City FM เป็นสถานีเพื่อความบันเทิง กระจายเสียงจากย่างกุ้ง ดำเนินการโดย Yangon City Development Committee

เมื่อเทียบกับประเทศไทย จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อปี ค.ศ. 2005 มีจำนวนสถานีวิทยุทั้งประเทศถึง 524 สถานี แบ่งเป็นสถานีวิทยุระบบ FM. 313 สถานี และสถานีวิทยุระบบ AM. 211 สถานี ภายใต้การดูแลของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจประมาณ 20 แห่ง มีโครงสร้างการดำเนินงานทั้งในรูปแบบของหน่วยงานฯ บริการจัดการเอง และการให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน โดยมีสัญญาการดำเนินงานไม่เกิน 2 ปี. นอกจากตัวเลือกสถานีในการรับฟังข่าวที่มีน้อยมากแล้ว ข้อมูลและรายการของสถานีก็มักจำกัดอยู่เพียงข่าวประชาสัมพันธ์การทำงานของรัฐบาล และรายการบันเทิงอีกไม่มากนัก ทำให้ผู้ฟังชาวพม่าโดยมากมักจะรับฟังรายการภาคภาษาพม่าจากวิทยุของสื่อข้ามชาติอย่าง BBC, VOA, RFA, และสื่อพลัดถิ่นอย่าง DVB แทน

สถานีโทรทัศน์ในพม่า ดำเนินการโดยรัฐบาลทหารพม่า
สถานีโทรทัศน์ ก็ดำเนินการโดยรัฐบาลเช่นกัน มีอยู่ 4 ช่อง ได้แก่

1. TV Myanmar ดำเนินการโดย Myanmar TV and Radio Department ในภาษาพม่า อาระกันนีส
ไทใหญ่ กะเหรี่ยง คะฉิ่น คะยา (คะเรนนี) คะฉิ่น มอญ ฉิ่นและอังกฤษ

2. MRTV-3 ดำเนินการโดยรัฐบาลเช่นกัน เป็นภาษาอังกฤษ
3. MRTV-4 เป็นช่องที่ต้องจ่ายค่าสมาชิก ให้บริการในย่างกุ้ง ภาษาพม่า
4. TV Myawady เป็นช่องของกระทรวงกลาโหม ภาษาพม่า

สื่อโทรทัศน์พม่ามีการแพร่ภาพเป็นบางช่วงเวลาเท่านั้น ไม่ได้ออกอากาศติดต่อกันทั้งวัน ถือว่าเป็นจุดอ่อนของการบริการสื่อกระจายเสียง เพราะสื่อกระจายเสียงไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือโทรทัศน์ ควรจะให้บริการผู้รับอย่างต่อเนื่อง เปิดได้ทุกเวลาจึงจะได้รับความนิยม เมื่อรวมเอาคุณภาพที่ยังไม่ถูกใจประชาชน ทำให้วีดีโอกลายเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพม่า (วิภา อุตมฉันท์, 2547: 10 )

ปัจจุบันมีวีซีดีที่ปลอมแปลงจากประเทศจีนและไทยเข้าไปขายในพม่าตามตลาดสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่ เนื่องจากหาซื้อง่าย ราคาถูก หลายครั้งที่วีซีดีเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือกระจายข่าวสารทางการเมือง เช่นในกรณีวีซีดีจากงานแต่งงานของบุตรสาวนายพลตาน ฉ่วย ที่ส่งกระจายกันอย่างลับๆ ไปทั่วประเทศ และมาถึงมือของสื่อพม่าพลัดถิ่น สร้างกระแสความไม่พอใจที่ผู้นำใช้จ่ายอย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือย ขณะที่ประชาชนต้องตกอยู่ในสภาพความลำบาก และยากจน

MRTV -3 เป็นช่องที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 2000 โดยมีการเสนอรายการภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากความพยายามของรัฐบาลพม่าในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพม่า โดยนายพลขิ่น ยุ้นต์ หนึ่งในผู้นำประเทศ(ด้านการข่าว)ในสมัยนั้น ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า "เป็นความพยายามให้เห็นสภาพความเป็นจริงในพม่า และนำเสนอรายงานข่าวที่ถูกต้องไปทั่วโลก" โทรทัศน์ช่องนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นกระจกเงาสะท้อนหรือตอบโต้สื่อข้ามชาติต่างๆ ที่รัฐบาลพม่าเห็นว่าบิดเบือนความเป็นจริงในพม่า. นอกจากรายการประชาสัมพันธ์การทำงานของรัฐบาล และรายการปกิณกะเกี่ยวกับชีวิต วัฒนธรรมในพม่า เช่น รายการอาหารการกิน และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ในวันสำคัญของรัฐบาล เช่น วันกองทัพ ก็จะมีการเสนอคำปราศรัยของผู้นำพม่าในปัจจุบันคือนายพลตาน ฉ่วย (Than Shwe) การแสดงแสนยานุภาพของทหารที่รัฐบาลต้องการให้ประชาคมโลกเห็น

ถ้าดูจากจำนวนและรายการจากสถานีที่เป็นทางการในพม่าแล้ว จะเห็นว่า ทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ของชาวพม่า มีช่องทางจำกัดมาก จนกระทั่งเมื่อ เทคโนโลยีจานรับสัญญานดาวเทียมได้แพร่หลายเข้าไปในพม่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการขยายกิจการของเคเบิลทีวี UBC ของไทยเข้าไปในย่างกุ้ง ทำให้ชาวพม่าสามารถรับข่าวสารจากทั่วโลกได้มากขึ้น แม้จะมีชาวพม่าในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้นที่สามารถซื้อหาโทรทัศน์มาใช้ในบ้านได้

จานรับสัญญานดาวเทียมในพม่าและสื่ออินเตอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม จำนวนจานรับสัญญานดาวเทียมในพม่าได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะปัจจุบัน มีจำนวนประมาณ 200,000 ชุด (โทรทัศน์และจานรับสัญญาน) ที่จดทะเบียนกับทางราชการ ไว้ แต่ถ้ารวมกับกลุ่มที่ไม่ได้จดทะเบียนแล้ว ทั้งหมดน่าจะมีประมาณ 1 ล้านจานกระจายอยู่ทั่วประเทศ เท่ากับว่ามีผู้รับชมมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากในพม่าเองก็สามารถผลิตจานรับสัญญานได้ในราคาที่ถูกกว่าสินค้านำเข้า คือ 277,000 จั๊ต หรือประมาณ 246 ดอลล่าห์สหรัฐ ดังนั้นชาวพม่าจึงสามารถรับชมช่องของ Democratic Voice of Burma (*) ได้และเนื่องจากเป็นรายการภาษาพม่าช่องเดียว นอกจากช่องของทางรัฐบาล ทำให้ชาวพม่าเลือกรับชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ DVB ส่งสัญญานจากกรุงออสโล ประเทศนอรเวย์

(*)The Democratic Voice of Burma (or DVB) is a non-profit media organization based in Oslo, Norway. Run by Burmese expatriates, it makes radio and television broadcasts aimed at providing uncensored news and information about Myanmar (also known as Burma), the country's military regime, and its political opposition.

In July 1992, DVB began broadcasting programming into Myanmar. According to DVB, these broadcasts reach "millions" of listeners. As of 28th October 2007 the organization delivers two hours of programming daily via shortwave radio from 0600 to 0700 local time (2330-0030 UTC) on 5955 kHz (49 metre band) and from 2100 to 2200 local time (1430-1530 UTC) on 17495 kHz (16 metre band).

On May 28, 2005, DVB expanded its programming and began satellite television broadcasts into Myanmar. The organization stated that it hoped to reach some ten million Burmese through this new effort (which it claims is the first free and independent Burmese language television channel), which was funded in part by non-governmental organizations such as Free Voice of the Netherlands, the National Endowment for Democracy, and the Freedom of Expression Foundation.

การสื่อสารที่สำคัญมากในกระแสโลกปัจจุบันก็คือการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต ที่พม่าเองก็ไม่ได้รับการยกเว้น แม้ว่าในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และบุคลากรจะยังต้องการการพัฒนาอีกมาก แต่ทั้งนี้อินเตอร์เนตได้กลายเป็นทั้งเครื่องมือ อาวุธ และสนามรบในการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา. สถานการณ์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 มีเพียงนักธุรกิจเพียงบางคนที่ใกล้ชิดกับกลุ่มทหารที่ปกครองบ้านเมืองอยู่และนักการฑูตในสถานฑูตไม่กี่แห่งที่ได้รับแจ้งว่า พวกเขาสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้

ในช่วงนั้นมีหน่วยงานพิเศษ "หน่วยสงครามไซเบอร์" (Cyber Warfare Division) ได้ถูกเพิ่มเข้าในหน่วยตำรวจลับ ด้วยเครื่องมือที่สนับสนุนโดย สิงคโปร์ และบุคลากรที่ได้รับการฝึกจากผู้เชี่ยวชาญที่นั่น. Desmond Ball (1998) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบความลับด้วยสัญญาณ เขียนลงในหนังสือของเขา "Burma's Military Secrets: Signals Intelligence from 1941 to Cyber Warfare" ว่า SLORC ได้รับเครื่องมือและความสามารถที่กว้างขวางในการตรวจสอบการโทรคมนาคมรวมทั้งโทรศัพท์ โทรสาร ทั้งในและนอกประเทศ โดยใช้เหตุผลอ้างในการกระทำผิดๆ และเป็นการกดดันฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ในเขตเมือง และตอนนี้พม่าก็ได้รับระบบใหม่เพื่อทำสงครามทางข้อมูลข่าวสารสมัยใหม่จากสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง (Bertil Lintner, 2001)

ช่วงต้นทศวรรษ 2000 พม่าได้มีการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็ยังนับว่าน้อยเนื่องจากกฎระเบียบที่เคร่งครัด สำนักข่าวซินหัวของจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพม่าและมักจะได้รับข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐบาลพม่ามากกว่าสำนักข่าวจากต่างประเทศอื่นๆ รายงานในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ว่าในปี ค.ศ. 2005 มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในพม่า ประมาณ 300,000 คน และเป็นหนึ่งใน 30 ประเทศที่มีผู้ใช้อินเตอร์เนตน้อยกว่าร้อยละหนึ่ง มีผู้ให้บริการ (Internet service providers: ISPs) สองรายที่ล้วนอยู่ในกำกับของรัฐบาล คือ Myanmar Posts and Telecom (MPT) และ BaganNet / Myanmar Teleport (ชื่อเดิมคือ Bagan Cybertech) (*) ทำให้การควบคุมการใช้อินเตอร์เนตอยู่ในมือของรัฐบาลเกือบทั้งหมด

(*) เมื่อแรกเริ่มเป็นของ Dr. Ye Naing Win บุตรชายของนายพลขิ่น ยุ้นต์ เป็นรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรในประเทศพม่า เมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ได้ลงนามร่วมกันในสัญญาใช้บริการดาวเทียมไทยคม และสัญญาจัดซื้อระบบอุปกรณ์ภาคพื้นดินของ iPSTAR เพื่อให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบทในพม่า แต่ต่อมาเมื่อขิ่น ยุ้นต์ถูกโค่นจากอำนาจ บริษัทนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น BaganNet / Myanmar Teleport

ในกรณีนี้เมื่อเทียบเคียงกับประเทศไทย คล้ายกับการที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ควบคุมและมีอำนาจการปิดกั้นเว็บไซต์ที่พิจารณาว่าไม่เหมาะสมได้ แต่ในหลายครั้ง นำมาซึ่งความขัดแย้งเนื่องจากเกี่ยวข้องกับอำนาจและความขัดแย้งทางการเมือง นอกเหนือจากเหตุผลทางสังคมและจริยธรรม ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

แม้จะมีข้อจำกัดดังกล่าว กลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตก็ได้สร้างเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในชุมชนเมืองมากขึ้น และมีบทบาทในการสร้างประชาสังคมเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองดังการประท้วงในปี ค.ศ. 2007 เนื่องจากเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาชาวพม่าสามารถรับข้อมูลจากต่างประเทศได้มากขึ้น โดยอาศัยบริการอินเตอร์เน็ตที่ใช้ไม่ยากอย่าง บล็อก (Blogs) การพูดคุย (Chat) และอีเมล์ (E-mail)

นอกจากนั้น ข้อมูลต่างๆ ในเรื่องเทคนิคคอมพิวเตอร์ก็ได้รับการถ่ายทอดจากนอกประเทศด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและชาวพม่าพลัดถิ่น ที่ให้การสนับสนุนเรื่องการให้ความรู้ และมีโปรแกรมต่อต้านการปิดกั้นหรือบล็อก(Block) ที่รัฐบาลพม่านำมาใช้เพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐบาล รวมทั้งบริการฟรีเมล์ยอดนิยมอย่าง Google, Hotmail, และเว็บรวบรวมสื่อเสียงและภาพอย่าง Youtube ด้วย แต่ด้วยความช่วยเหลือจากนอกประเทศดังกล่าว ที่ส่งโปรแกรมต่อต้านการบล็อกเข้าไปให้ หรือบางที่ผู้ใช้ก็สามารถดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์ได้เลย ทำให้การติดตามของเจ้าหน้าที่ทำได้ไม่มากนัก

ก่อนการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 2007 พบว่าร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ในพม่า มักะมีอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยวเท่านั้น หรือแม้แต่เมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงตุงในรัฐฉานก็ไม่มีบริการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไม่สะดวกเรื่องโทรศัพท์ที่ในพม่ามักจะโทรติดยากและค่าใช้จ่ายสูง. ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่มักจะใช้โปรแกรมในการแก้การบล็อกของรัฐบาล โดยลูกค้าสามารถไปแจ้งกับเจ้าของร้านว่า ต้องการจะเข้าใช้เว็บไซต์ไหน ทั้งนี้เจ้าของร้านเองก็มีความเสี่ยงต่อการถูกจับ หรือไม่ก็ต้องเสียค่าสินบนแก่เจ้าหน้าที่ ราคาค่าใช้บริการก็ใกล้เคียงกับในประเทศไทย แต่ความเร็วจะช้ากว่ามาก การใช้โปรแกรมที่มีความซับซ้อน เช่น ส่งรูป หรือภาพเคลื่อนไหวจะประสบปัญหามาก เนื่องจากความช้าของระบบดังกล่าว

สถานที่ที่อินเตอร์เน็ตในพม่ามีความสะดวกและทันสมัยที่สุดสำหรับกลุ่มนักเคลื่อนไหวนักข่าว และนักวิชาการก็คือ ตามหน่วยงานองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ แต่ก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ภายใน และทำอย่างลับๆ เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกจับตามองเช่นกัน. ในปี ค.ศ. 1996 รัฐบาลสั่งห้ามใช้โทรสารและโมเด็มเพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการบ่อนทำลายรัฐ กฎหมาย ความสามัคคีในชาติ วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ที่ผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษ ในปี ค.ศ. 2000 บทความที่เกี่ยวเนื่องทางการเมืองจะต้องผ่านการอนุญาตจากรัฐบาล ก่อนนำเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ผู้ที่ละเมิดจะต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

อย่างไรก็ตาม อำนาจที่รัฐบาลมีในการเป็นผู้ควบคุมการบริการอินเตอร์เน็ตทั้งหมดในพม่า ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่อินเตอร์เน็ตไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากการขัดข้องบางประการ ที่ถือเป็นการถอดปลั๊ก (Pulling the Plug) การใช้อินเตอร์เนตทั้งประเทศเป็นบางระยะ

องค์กรเสรีภาพสื่อ Reporters Without Borders (*) รายงานว่า ทางการพม่าเองก็ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต โดยตั้งคณะทำงานชื่อ The e-National Task Force เพื่อกำกับดูแลกิจการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต โดยเริ่มดำเนินงานโครงการแรก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2003 คือ การทำหนังสือเดินทางและบัตรประชาชนอิเลคโทรนิคส์และระบบราชการออนไลน์ที่โปรแกรมบางส่วนเป็นของกลุ่ม ASEAN ที่พม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย

(*)Reporters Without Borders, or RWB is a Paris-based international non-governmental organization that advocates freedom of the press. It was founded in 1985 by current Secretary General Robert Menard, Rony Brauman (then president of Doctors Without Borders) and the journalist Jean-Claude Guillebaud.

RWB was founded in Montpellier, France in 1985. At first, the association was aimed at promoting alternative journalism, but before the failure of their project, the three founders stumbled on disagreements between themselves. Finally, only Robert Menard stayed and became its Secretary General. Menard changed the NGO's aim towards freedom of press.

Reporters Without Borders states that it draws its inspiration from Article 19 of the 1948 Universal Declaration of Human Rights, according to which everyone has "the right to freedom of opinion and expression" and also the right to "seek, receive and impart" information and ideas "regardless of frontiers." This has been re-affirmed by several charters and declarations around the world. In Europe, this right is included in the 1950 Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms.

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ : Release date 08 August 2008 : Copyleft by MNU.

การลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนชาวพม่า เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๘ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวครั้งใหญ่ของสื่อในพม่า แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นวารสารบางเล่มก็ยังพยายามปรากฏตัวในรูปแบบสื่อต่อต้านรัฐบาลที่เรียกกันว่า Samizdat (*) แต่ก็ถูกกวาดล้างก่อนที่จะกระจายไปในสังคมพม่า (*) Samizdat คือเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่แอบคัดลอกและแจกจ่าย เนื่องจากเป็นสื่อต้องห้ามในประเทศสหภาพโซเวียตเดิม โดยแอบทำในจำนวนไม่มากนัก และผู้ที่ได้รับก็จะแอบทำส่งต่อไปเช่นกัน ส่วนใหญ่จะทำด้วยการเขียนหรือถ่ายสำเนา มีจุดประสงค์เพื่อหลบเลี่ยงการควบคุมสื่อโดยรัฐที่มีบทลงโทษรุนแรงมากหากฝ่าฝืน. (Samizdat เป็นเอกสาร/สิ่งพิมพ์ที่ "ฉันเขียน, แก้ไข, ตรวจสอบ, จัดพิมพ์, แจกจ่ายเอง")

H