ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




09-08-2551 (1635)

The Neoliberal State" from David Harvey,
อันตราย: รัฐเสรีนิยมใหม่ อนุรักษ์นิยมใหม่ และชาตินิยม (๑)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเชิงอรรถ
นักวิชาการและนักแปลอิสระ โครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

แปลจาก Chapter 3 "The Neoliberal State" from David Harvey,
A Brief History of Neoliberalism, Oxford University Press: 2007, p. 64-86.

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
- รัฐเสรีนิยมใหม่ตามทฤษฎี
- ความตึงเครียดและความขัดแย้ง
- รัฐเสรีนิยมใหม่ในภาคปฏิบัติ
- คำตอบของฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่
- ลัทธิชาตินิยมและความสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๓๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

The Neoliberal State" from David Harvey,
อันตราย: รัฐเสรีนิยมใหม่ อนุรักษ์นิยมใหม่ และชาตินิยม (๑)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเชิงอรรถ
นักวิชาการและนักแปลอิสระ โครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

Quotation

- เบเกอร์ใช้ไอเอ็มเอฟยัดเยียดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้แก่เม็กซิโก และคุ้มครองนายธนาคารนิวยอร์กจนพ้นจากการพักชำระหนี้ การปฏิบัติเช่นนี้ให้ความสำคัญสูงสุดแก่ความจำเป็นของธนาคารและสถาบันการเงิน ขณะเดียวกัน การลดทอนมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศลูกหนี้เป็นสิ่งที่เคยนำร่องมาก่อนแล้ว ในสมัยที่เกิดวิกฤตการณ์หนี้สินในนิวยอร์กซิตี ในบริบทระหว่างประเทศ นี่หมายถึงการดูดซับมูลค่าส่วนเกินจากประชากรยากจนในโลกที่สามไปจ่ายหนี้ให้แก่นายธนาคารระหว่างประเทศ "ช่างเป็นโลกที่แปลกประหลาดนัก"

- การขาดทุนควรเป็นบทลงโทษผู้ให้กู้ที่ลงทุนอย่างสะเพร่า แต่รัฐกลับปกป้องผู้ให้กู้ให้ปลอดพ้นจากการขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้กู้กลับต้องเป็นฝ่ายชดใช้แทน โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมที่จะตามมา อันที่จริง ทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ควรให้คติว่า "เจ้าหนี้ จงระวังตัว" แต่การปฏิบัติกลับกลายเป็น "ลูกหนี้ จงระวังตัว"

- ความกริ่งเกรงของเสรีนิยมใหม่ที่กลัวว่า จะมีกลุ่มผลประโยชน์พิเศษบางกลุ่มมาบิดเบือนและบ่อนทำลายรัฐ กลายเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในกรุงวอชิงตันยิ่งกว่าที่ไหน ๆ เนื่องจากกองทัพนักล้อบบี้ของบรรษัท (ซึ่งหลาย ๆ คนฉวยโอกาสจากช่องทาง "ประตูหมุน" ที่สลับสับเปลี่ยนระหว่างการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และตำแหน่งในบรรษัทที่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำมากกว่า) มีบทบาทกำหนดการออกกฎหมายให้สอดรับกับผลประโยชน์พิเศษของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

- ในขณะที่บางรัฐยังคงเคารพต่อจารีตประเพณีที่ภาคราชการต้องเป็นอิสระ แต่สภาพการณ์นี้ในทุกประเทศกำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามตามวิถีของลัทธิเสรีนิยมใหม่ พรมแดนที่กั้นขวางระหว่างรัฐกับบรรษัทกำลังมีรูรั่วมากขึ้น ๆ สิ่งที่เหลืออยู่ในระบอบประชาธิปไตยตัวแทนกำลังถูกกลืนกิน หรือไม่ก็ถูกอำนาจเงินตราทำให้ฉ้อฉลไปหมดแล้วอย่างถูกกฎหมาย

- เห็นได้ชัดว่า การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่จูบปากกับลัทธิชาตินิยมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีอันตรายแฝงอยู่ แต่ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ที่อ้าแขนรับเป้าหมายทางศีลธรรมระดับชาติ กลับเป็นภัยที่คุกคามร้ายแรงยิ่งกว่า ภาพของรัฐหลาย ๆ ประเทศ ต่างฝ่ายต่างก็เตรียมพร้อมที่จะใช้วิธีการข่มขู่บังคับอย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกันก็เทศนาคุณค่าทางศีลธรรมที่ทึกทักว่าไม่เหมือนใครและเหนือกว่าผู้อื่น แล้วต่างก็มาแข่งขันกันบนเวทีโลก นี่ไม่ใช่ภาพที่น่าวางใจเลย

ความนำ

บทบาทของรัฐในทฤษฎีเสรีนิยมใหม่เป็นเรื่องที่นิยามได้ง่ายมาก กระนั้นก็ตาม ลัทธิเสรีนิยมใหม่ในภาคปฏิบัติ กลับมีวิวัฒนาการไปในทางที่หันเหออกจากบรรทัดฐานที่ทฤษฎีกำหนดไว้อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งกว่านั้น วิวัฒนาการที่ค่อนข้างยุ่งเหยิง รวมทั้งการที่สถาบัน อำนาจและบทบาทหน้าที่ของรัฐมีพัฒนาการที่ไม่เท่าเทียมกันในเชิงภูมิศาสตร์ตลอดช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่ารัฐเสรีนิยมใหม่ อาจเป็นรูปแบบทางการเมืองที่ไม่มั่นคงและขัดแย้งในตัวเอง

รัฐเสรีนิยมใหม่ตามทฤษฎี

ตามทฤษฎีแล้ว รัฐเสรีนิยมใหม่ควรเข้าข้างสิทธิในกรรมสิทธิ์เอกชนที่เข้มแข็ง หลักนิติธรรมและสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดที่ทำงานเป็นอิสระและการค้าเสรี (1) ทั้งหมดนี้คือระบบการจัดการเชิงสถาบันที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรับประกันเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

(1) Chang, Globalization; B. Jessop, 'Liberalism, Neoliberalism, and Urban Governance: A State-Theoretical Perspective', Antipode, 34/3 (2002), 452-72; N. Poulantzas, State Power Socialism, trans. P. Camiller (London: Verso, 1978); S. Clarke (ed.), The State Debate (London: Macmillan, 1991); S. Haggard and R. Kaufman (eds.), The Politics of Economic Adjustment: International Constraints, Distributive Conflicts and the State (Princeton: Princeton University Press, 1992); M. Nozick, Anarchy, State and Utopia (New York: Basic Books, 1977).

กรอบทางกฎหมายที่สำคัญคือ ข้อผูกมัดเชิงสัญญาที่ได้มาจากการเจรจาต่อรองกันอย่างเสรีในตลาด ระหว่างบุคคลตามกฎหมาย การคุ้มครองความศักดิ์สิทธิ์ของสัญญาและสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการกระทำ การแสดงออกและการเลือก ดังนั้น รัฐจึงต้องอาศัยอำนาจผูกขาดในการใช้ความรุนแรงมาธำรงรักษาเสรีภาพเหล่านี้อย่างสุดความสามารถ ส่วนที่ขยายตามมาก็คือ เสรีภาพของภาคธุรกิจและบรรษัท (ซึ่งถือเป็นบุคคลตามกฎหมาย) ในการดำเนินกิจการภายในกรอบเชิงสถาบันของตลาดเสรีและการค้าเสรี ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีโดยพื้นฐาน

กิจการเอกชนและการริเริ่มของผู้ประกอบการถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมและความมั่งคั่ง มีการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (เช่น สิทธิบัตรต่าง ๆ) เพื่อส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเพิ่มระดับผลิตภาพอย่างต่อเนื่องน่าจะทำให้ทุกคนมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ภายใต้สมมติฐานว่า "เมื่อน้ำขึ้น เรือทุกลำย่อมลอยขึ้นตามไปด้วย" หรือ "ความเจริญก็เหมือนน้ำหยดจากบนลงล่าง" (*) ทฤษฎีเสรีนิยมใหม่เชื่อว่า การขจัดความยากจน (ทั้งในประเทศและทั่วโลก) สามารถทำได้ดีที่สุดโดยอาศัยตลาดเสรีและการค้าเสรี

(*)Trickle Down Theory ความเชื่อว่า นโยบายเศรษฐกิจควรเน้นการให้ผลประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพราะจะทำให้ความมั่งคั่งค่อย ๆ หยดไหลลงสู่ประชาชนทั่วไปทุกระดับชั้น (ผู้แปล)

นักเสรีนิยมใหม่มีความขยันเป็นพิเศษ ในการพยายามหาทางแปรรูปสินทรัพย์ต่างๆ การที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากไม่มีกรรมสิทธิ์เอกชนที่ชัดเจน จึงถือเป็นอุปสรรคเชิงสถาบันที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ซึ่งขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ การสร้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินและการมอบโอนกรรมสิทธิ์แก่เอกชนจึงถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในการป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า "โศกนาฏกรรมของสมบัติส่วนรวม" (กล่าวคือ ความเชื่อว่าปัจเจกบุคคลจะถลุงใช้ทรัพยากรที่เป็นสมบัติส่วนรวม เช่น ที่ดินและน้ำ อย่างไร้ความรับผิดชอบ)

ภาคส่วนต่าง ๆ ที่รัฐเป็นผู้บริหารหรือกำกับดูแล ควรต้องโอนถ่ายให้แก่ภาคเอกชนและยกเลิกการกำกับดูแล (กล่าวคือ ปลอดจากการแทรกแซงใด ๆ จากรัฐ) การแข่งขันระหว่างบุคคล ระหว่างบริษัท ระหว่างเขตดินแดน (เมือง ภูมิภาค ประเทศ กลุ่มประเทศ) คือคุณธรรมพื้นฐาน กฎกติกาของการแข่งขันในตลาด ต้องได้รับการปฏิบัติตามอย่างเหมาะสม ในสถาบันใด ๆ ที่ไม่มีการวางกฎกติกานี้อย่างชัดเจนหรือกำหนดนิยามกรรมสิทธิ์ได้ยาก รัฐต้องใช้อำนาจเข้ามาบังคับใช้หรือสร้างระบบตลาดขึ้น (เช่น การค้าสิทธิในการก่อมลพิษ เป็นต้น)

ลัทธิเสรีนิยมใหม่อ้างว่า การแปรรูป การลดข้อบังคับและการแข่งขัน สามอย่างนี้รวมกันจะช่วยขจัดความอืดอาดของระบบราชการ เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ ส่งเสริมความเท่าเทียมและลดต้นทุนต่างๆ ลงไป ทั้งโดยตรง คือการที่ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าและบริการในราคาถูกกว่าเดิม และโดยอ้อม คือการลดภาระภาษีลงจากเดิม รัฐเสรีนิยมใหม่ควรมุ่งหน้าหาทางปรับระบบภายในประเทศ และจัดระบบสถาบันใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสถานะในการแข่งขันกับรัฐอื่น ๆ ในตลาดโลก

ในขณะที่มีการรับประกันเสรีภาพส่วนบุคคลในตลาด ปัจเจกบุคคลแต่ละคนก็ต้องดูแลรับผิดชอบการกระทำและความอยู่ดีกินดีของตัวเอง หลักการนี้ขยายไปใช้กับภาคส่วนของสวัสดิการ การศึกษา การดูแลสุขภาพ แม้กระทั่งระบบบำเหน็จบำนาญด้วย (ในประเทศชิลีและสโลวาเกีย ความมั่นคงทางสังคมถูกแปรรูปให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดการแทน และมีการเสนอให้ทำอย่างเดียวกันในสหรัฐอเมริกา) ความสำเร็จหรือล้มเหลวของปัจเจกบุคคลถูกตีความในแง่ของคุณธรรมหรือความล้มเหลวส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ (เช่น ไม่ลงทุนมากพอในด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นต้น) ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากลักษณะของระบบ (เช่น การแบ่งแยกเชิงชนชั้นเป็นลักษณะของระบบทุนนิยม เป็นต้น)

หัวใจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเคลื่อนย้ายทุนระหว่างภาคส่วน ภูมิภาคและประเทศอย่างเสรี อุปสรรคทุกประการที่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายทุนเสรีนั้น (เช่น กำแพงภาษี การจัดระบบภาษีเชิงลงโทษ การวางแผนและการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม หรืออุปสรรคเชิงท้องถิ่นอื่นๆ) ต้องขจัดให้หมดไป ยกเว้นในภาคส่วนที่สำคัญต่อ "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ตามแต่จะนิยามขึ้นมา อำนาจอธิปไตยของรัฐที่มีเหนือการเคลื่อนย้ายสินค้าและทุนต้องยินยอมศิโรราบต่อตลาดโลก

การแข่งขันระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันช่วยยกระดับประสิทธิภาพและผลิตภาพ ลดราคาสินค้า ซึ่งจะช่วยควบคุมแนวโน้มของเงินเฟ้อได้อีกทีหนึ่ง ดังนั้น รัฐจึงควรร่วมมือกันหาหนทางและเจรจาลดเลิกอุปสรรคที่มีต่อการเคลื่อนย้ายทุนข้ามพรมแดน รวมทั้งเปิดตลาด (ทั้งตลาดสินค้า และตลาดทุน) ให้แก่การค้าขายระดับโลก อย่างไรก็ตาม หลักการทั้งหมดนี้จะขยายใช้กับแรงงานในฐานะสินค้าหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่

เพื่อให้รัฐทุกรัฐร่วมมือกันลดอุปสรรคการค้า โครงสร้างความร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ เช่น กลุ่มประเทศทุนนิยมก้าวหน้า (สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น) ที่รู้จักกันในนามว่า G7 จึงอุบัติขึ้น (ปัจจุบันคือ G8 โดยมีรัสเซียเพิ่มเข้ามาอีกประเทศ) ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อรับประกันหลักแห่งกฎหมายและเสรีภาพของการค้า เช่น ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) จึงเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันโครงการเสรีนิยมใหม่บนเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม นักทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ไม่ไว้ใจระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง การปกครองด้วยเสียงส่วนใหญ่ อาจเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิของปัจเจกบุคคลและอิสรภาพตามรัฐธรรมนูญ พวกเขามองว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นความฟุ่มเฟือย เป็นไปได้ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขของความมั่งคั่งระดับหนึ่ง บวกกับการมีชนชั้นกลางที่เข้มแข็งมารับประกันความมีเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ นักเสรีนิยมใหม่จึงมักนิยมการปกครองด้วยผู้เชี่ยวชาญและชนชั้นนำมากกว่า รวมทั้งชื่นชอบการปกครองด้วยคำสั่งของฝ่ายบริหาร และการตัดสินของฝ่ายตุลาการมากกว่าการตัดสินใจด้วยกระบวนการประชาธิปไตยและรัฐสภา

นักเสรีนิยมใหม่มักหาทางปกป้องสถาบันสำคัญ ๆ เช่น ธนาคารกลาง ให้พ้นจากแรงกดดันตามกระบวนการประชาธิปไตย เนื่องจากทฤษฎีเสรีนิยมใหม่มีศูนย์กลางอยู่ที่หลักบังคับแห่งกฎหมายและการตีความหลักการในรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด มันจึงเชื่อว่าความขัดแย้งและการเผชิญหน้าพึงต้องได้รับการแก้ไขในศาล ปัจเจกบุคคลพึงแสวงหาทางออกและการแก้ไขปัญหาใด ๆ ผ่านระบบกฎหมาย

ความตึงเครียดและความขัดแย้ง

ภายในทฤษฎีทั่วไปของรัฐเสรีนิยมใหม่นั้น ยังมีบางประเด็นที่ไม่ชัดเจนไปจนถึงขัดแย้งกันเอง

ประการแรก มันมีปัญหาในการตีความอำนาจผูกขาด การแข่งขันมักลงเอยด้วยการผูกขาดด้วยผู้เล่นรายเดียวหรือน้อยราย เนื่องจากบริษัทที่เข้มแข็งกว่าย่อมเบียดขับบริษัทที่อ่อนแอกว่าออกไป นักทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ส่วนใหญ่เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา (โดยบอกว่าการผูกขาดน่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด) ตราบใดที่ไม่มีอุปสรรคสำคัญมาขัดขวางการเข้ามาของผู้แข่งขันรายอื่นๆ (ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มักเกิดขึ้นจริงได้ยาก ดังนั้น รัฐจึงอาจต้องเข้ามาช่วยรักษาเงื่อนไขนี้ไว้)

แต่กรณีที่เรียกกันว่า "การผูกขาดตามธรรมชาติ" (natural monopolies) (*) มีปัญหาที่ยากกว่านั้น มันไม่เข้าท่าที่จะมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ท่อก๊าซ ระบบประปาและการระบายน้ำ หรือทางรถไฟเชื่อมระหว่างวอชิงตันกับบอสตันหลายๆ รายมาแข่งขันกัน ในกรณีแบบนี้ การให้รัฐเข้ามากำกับดูแลการให้บริการ การเข้าถึงและการตั้งราคา น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้การกำกับดูแลเพียงบางส่วนอาจทำได้ (เช่น อนุญาตให้มีผู้ผลิตหลายรายแข่งขันกันป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายเดียวกัน หรือมีหลายบริษัทรถไฟให้บริการบนรางเดียวกัน เป็นต้น) แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแสวงหากำไรเกินควรและการฉ้อฉลขึ้น ดังที่ปัญหาวิกฤตการณ์ไฟฟ้าในแคลิฟอร์เนียเมื่อ ค.ศ. 2002 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด หรืออาจทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายสับสน ดังเช่นปัญหาการรถไฟในอังกฤษพิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว

(*) Natural monopoly หมายถึงสถานการณ์ที่ตลาดสินค้าหรือบริการชนิดหนึ่ง มีผู้ผลิตที่มีอำนาจผูกขาดเพียงรายเดียว และอำนาจการผูกขาดนั้นเกิดขึ้นจากสภาพธรรมชาติหรือลักษณะของการผลิต เช่น การครอบครองทรัพยากรที่มีเพียงแห่งเดียวหรือการผูกขาดเทคโนโลยี
การผูกขาดตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นในอีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อขนาดที่เล็กที่สุดที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงสุดก็คือขนาดทั้งหมดของตลาดนั้น ๆ ลักษณะเช่นนี้มักเกิดขึ้นในภาคสาธารณูปโภค เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งต้องการการลงทุนอย่างมากในตอนเริ่มต้น และจะคุ้มทุนและเกิดการประหยัดจากขนาดได้ก็ต่อเมื่อไม่มีการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ สินค้าและบริการประเภทนี้จึงมักให้รัฐเป็นผู้ผูกขาด เพราะจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (ผู้แปล)

ประการที่สอง ประเด็นสำคัญต่อมาซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันก็คือ ปัญหาความล้มเหลวของตลาด ปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อ ปัจเจกบุคคลและบริษัทหลีกเลี่ยงการจ่ายต้นทุนทั้งหมดที่ควรจ่าย โดยโยนความรับผิดของตนออกไปนอกตลาด (ซึ่งมีศัพท์เทคนิคเรียกว่า "การผลักภาระ" [externalization]) ตัวอย่างคลาสสิกก็คือปัญหามลพิษ ทั้งปัจเจกบุคคลและบรรษัทต่างก็หลีกเลี่ยงต้นทุนด้วยการทิ้งขยะพิษลงไปในสิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผลที่ตามมาก็คือ ระบบนิเวศวิทยาอาจเสื่อมโทรมลงหรือถูกทำลายไป การสัมผัสสารอันตรายหรืออันตรายที่เกิดแก่ร่างกายในสถานที่ทำงานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ จนถึงขั้นบั่นทอนปริมาณแรงงานที่มีสุขภาพดีในสถานประกอบการ

ถึงแม้นักเสรีนิยมใหม่ยอมรับปัญหาเหล่านี้ บ้างก็ยอมรับว่ารัฐควรเข้ามาแทรกแซงบางกรณีอย่างมีขีดจำกัด บ้างก็อ้างว่ารัฐไม่ควรทำอะไร เพราะการเยียวยาน่าจะเลวร้ายยิ่งกว่าโรค กระนั้นก็ตาม นักเสรีนิยมใหม่เกือบทั้งหมดเห็นพ้องกันว่า หากต้องมีการแทรกแซง ก็ควรทำผ่านกลไกตลาด (โดยอาศัยการเก็บภาษีหรือแรงจูงใจด้วยภาษี การซื้อขายสิทธิในการก่อมลพิษ เป็นต้น)

ความล้มเหลวในการแข่งขันก็ถูกมองในลักษณะเดียวกัน ต้นทุนการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์เชิงสัญญาและสัญญาเหมาช่วงขยายตัวออกไป ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือในการเก็งกำไรค่าเงิน ที่มีอยู่มากมายมีต้นทุนสูงขึ้นๆ ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นพื้นฐานในการกอบโกยจากการเก็งกำไรมากขึ้น ส่วนตัวอย่างอื่นๆ ก็มีอาทิเช่น โรงพยาบาลทุกโรงที่เป็นคู่แข่งกันในพื้นที่หนึ่งๆ ต่างก็ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ชั้นสูงแบบเดียวกันมาตั้งไว้ ทั้งๆ ที่ใช้งานไม่คุ้มค่า แต่ทำให้ต้นทุนมวลรวมสูงขึ้น การควบคุมต้นทุนโดยให้รัฐเข้ามาวางแผน กำกับดูแลและบังคับให้เกิดความร่วมมือ เป็นเรื่องที่มีเหตุผลอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม นักเสรีนิยมใหม่กลับไม่ไว้ใจการแทรกแซงของรัฐอย่างลึกซึ้ง

ประการที่สาม ลัทธิเสรีนิยมใหม่มีสมมติฐานว่า ผู้เล่นทุกรายในตลาดสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งมีสมมติฐานด้วยว่า ไม่มีความไม่สมมาตรของอำนาจหรือข้อมูลข่าวสารที่จะรบกวนความสามารถของปัจเจกบุคคล ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจอย่างมีเหตุมีผลเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ทว่าเงื่อนไขดังกล่าวนี้แทบไม่เคยใกล้เคียงความเป็นจริงในทางปฏิบัติเลย นี่ทำให้เกิดผลตามมาที่มีนัยสำคัญ (2)

(2) Stiglitz, The Roaring Nineties สติกลิทซ์ได้รับรางวัลโนเบลจากการศึกษาความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสาร ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในตลาดและผลลัพธ์ที่ตามมา

ผู้เล่นที่มีข้อมูลดีกว่าและมีอำนาจมากกว่า ย่อมมีข้อได้เปรียบที่จะทำให้ผู้เล่นรายนั้นสั่งสมข้อมูลได้ดียิ่งขึ้นไปอีกและมีอำนาจยิ่งกว่าเดิม ยิ่งกว่านั้น การสร้างสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (สิทธิบัตร) ขึ้นมา กระตุ้นให้เกิดการ "แสวงหาค่าตอบแทน" (rent seeking) ผู้ถือครองสิทธิบัตรย่อมใช้อำนาจผูกขาดของตนกำหนดราคาผูกขาด รวมทั้งกีดกันไม่ให้เกิดการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี นอกจากยอมจ่ายราคาที่สูงมาก ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่สมมาตรจึงมีแนวโน้มที่รังแต่จะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง นอกจากรัฐจะก้าวเข้ามาแทรกแซง. สมมติฐานเบื้องต้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่เชื่อในข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์และสนามแข่งขันที่เท่าเทียม จึงดูประหนึ่งอุดมคติเพ้อฝันที่ไร้เดียงสาหรือไม่ก็เป็นการจงใจอำพรางความจริง เพื่อผลักดันให้เกิดการรวมศูนย์ความมั่งคั่ง ซึ่งหมายถึงการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นขึ้นมานั่นเอง

ประการที่สี่ ในทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตั้งอยู่บนอำนาจขู่เข็ญของการแข่งขัน ซึ่งขับดันการแสวงหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ วิธีการผลิตใหม่ ๆ และรูปแบบการจัดองค์กรใหม่ ๆ แรงขับดันนี้ฝังลึกลงในสามัญสำนึกของผู้ประกอบการ จนกลายเป็นความเชื่องมงายว่า มีเทคโนโลยีที่จะแก้ไขทุกปัญหาได้ ถึงขนาดที่ความเชื่องมงายนี้ไม่ได้ครอบงำแค่ในภาคธุรกิจ แต่ขยายไปจนถึงกลไกรัฐด้วย (โดยเฉพาะในกองทัพ) ทำให้เกิดกระแสความเชื่ออย่างรุนแรง ทั้ง ๆ ที่ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั้น อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนจนถึงขั้นเสียหายร้ายแรง

การพัฒนาเทคโนโลยีสามารถส่งผลเสีย หากภาคส่วนต่าง ๆ ทุ่มเทให้แก่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และวิธีการใหม่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีตลาดรองรับ (เช่น มีการผลิตยาตัวใหม่ ๆ ขึ้นมา จากนั้นจึงค่อยสร้างโรคใหม่ ๆ ขึ้นมารองรับการขายยาตัวนั้น) ยิ่งกว่านั้น นักช่วงชิงผลประโยชน์ที่เก่งกาจ สามารถใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาบ่อนทำลายความสัมพันธ์ทางสังคมและสถาบันหลัก หรือถึงขนาดปั้นแต่งสามัญสำนึกให้เอื้อต่อผลประโยชน์ทางการเงินของตน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเชื่อมโยงภายในระหว่างพลวัตของเทคโนโลยีกับความไร้เสถียรภาพ. สามัคคีเภทในสังคม ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความเสื่อมถอยของภาคอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในความสัมพันธ์ของกาละ-เทศะ ฟองสบู่ที่เกิดจากการเก็งกำไร และแนวโน้มโดยรวมที่นำไปสู่การก่อเกิดวิกฤตการณ์ภายในระบบทุนนิยม (3)

(3) โปรดดู Harvey, Condition of Postmodernity; Harvey, The Limits to Capital (Oxford: Basil Blackwell, 1982).

ประการสุดท้าย เราจำเป็นต้องกล่าวถึงปัญหาทางการเมืองพื้นฐานบางอย่างภายในลัทธิเสรีนิยมใหม่ มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมที่มุ่งการครอบครองทางวัตถุ ซึ่งแม้จะน่าดึงดูดใจ แต่ก็เต็มไปด้วยความแปลกแยก กับความปรารถนาที่จะมีชีวิตส่วนรวมที่มีความหมาย ในขณะที่ยืนยันว่าปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพในการเลือก แต่ปัจเจกบุคคลกลับไม่สามารถเลือกที่จะสร้างสถาบันส่วนรวมที่เข้มแข็ง (เช่น สหภาพแรงงาน) ซึ่งไม่ใช่แค่สมาคมอาสาสมัครที่อ่อนแอ (เช่น องค์กรการกุศล)

ปัจเจกบุคคลไม่สามารถเลือกที่จะรวมตัวกันสร้างพรรคการเมืองที่มีเป้าหมายบังคับรัฐให้แทรกแซงหรือล้มเลิกตลาด เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่นักเสรีนิยมใหม่หวาดกลัวที่สุด กล่าวคือ ลัทธิฟาสซิสต์ ลัทธิคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ประชานิยมรวมศูนย์อำนาจ หรือแม้กระทั่งการปกครองด้วยเสียงส่วนใหญ่ นักเสรีนิยมใหม่จึงต้องควบคุมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยให้อยู่ในขอบเขตจำกัด โดยหันไปพึ่งสถาบันที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและขาดความโปร่งใสให้ตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญแทน (เช่น ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือไอเอ็มเอฟ)

นี่ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเอง นั่นคือ มีการแทรกแซงจากรัฐและรัฐบาลอย่างเข้มข้นผ่านทางชนชั้นสูงและ "ผู้เชี่ยวชาญ" ในโลกที่ยืนยันว่ารัฐไม่พึงทำตัวเป็นนักแทรกแซง ทำให้เราหวนนึกถึงนิยายยูโทเปียของ ฟรานซิส เบคอน เรื่อง New Atlantis (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1626) ในนิยายเรื่องนี้ สภาปราชญ์อาวุโสเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญทั้งหมด เมื่อต้องเผชิญหน้ากับขบวนการสังคมที่แสวงหาการแทรกแซงโดยส่วนรวม รัฐเสรีนิยมใหม่จึงถูกบีบให้เข้ามาสกัดกั้น บางครั้งก็ถึงขั้นปราบปราม ซึ่งเท่ากับปฏิเสธเสรีภาพที่ตนเองมีหน้าที่รักษาไว้ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์แบบนี้ รัฐยังมีอาวุธลับ รัฐสามารถใช้การแข่งขันระหว่างประเทศและโลกาภิวัตน์มาสยบขบวนการที่ต่อต้านวาระเสรีนิยมใหม่ภายในแต่ละรัฐ หากวิธีนี้ล้มเหลว รัฐก็ต้องอาศัยการชักจูง โฆษณาชวนเชื่อ หรือหากจำเป็นก็ต้องใช้อำนาจดิบและกำลังตำรวจมาปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของลัทธิเสรีนิยมใหม่ นี่เองคือสิ่งที่โปลันยีกริ่งเกรง กล่าวคือ ในขั้นสุดท้ายแล้ว โครงการอุดมคติเพ้อฝันของลัทธิเสรีนิยม (และที่ขยายกลายเป็นลัทธิเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบัน) สามารถธำรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยลัทธิอำนาจนิยมเท่านั้น เสรีภาพของมวลชนจะต้องถูกจำกัดไว้เพื่อเสรีภาพของคนส่วนน้อย

รัฐเสรีนิยมใหม่ในภาคปฏิบัติ
ลักษณะทั่วไปของรัฐในยุคเสรีนิยมใหม่เป็นสิ่งที่ยากจะบรรยายเพราะเหตุผลสองประการด้วยกัน

ประการแรก การบิดเบนอย่างเป็นระบบจากต้นแบบของทฤษฎีเสรีนิยมใหม่เป็นสิ่งที่เห็นได้ในทันที ซึ่งไม่อาจนิยามด้วยความขัดแย้งภายในที่กล่าวถึงข้างต้นได้ทั้งหมด

ประการที่สอง พลวัตเชิงวิวัฒนาการของลัทธิเสรีนิยมใหม่ มีลักษณะที่บังคับให้เกิดการประยุกต์ที่แตกต่างกันอย่างมากในแต่ละสถานที่และในแต่ละช่วงเวลา ความพยายามใด ๆ ที่จะสร้างภาพรวมที่เป็นแม่แบบของรัฐเสรีนิยมใหม่ จากสภาพภูมิศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ดูคล้ายภารกิจของคนโง่ กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าคงมีประโยชน์ไม่น้อย หากวางเค้าโครงคำอธิบายโดยรวมบางประการ ซึ่งจะชี้ให้เห็นมโนทัศน์เกี่ยวกับรัฐเสรีนิยมใหม่ได้แจ่มชัดขึ้น

ความพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นมักสร้างความบิดเบือนขึ้นมา และในบางกรณีก็ถึงขั้นพลิกกลับทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ในภาคปฏิบัติเลยทีเดียว ความบิดเบือนนี้เกิดขึ้นในสองภาคส่วนคือ

ประการแรก เกิดจากความจำเป็นในการสร้าง "ภาคธุรกิจที่ดีหรือบรรยากาศเพื่อการลงทุน" สำหรับการประกอบการในระบบทุนนิยม ในขณะที่เงื่อนไขบางอย่าง เช่น ความมีเสถียรภาพทางการเมือง การเคารพกฎหมาย หรือการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ทั้งหมดนี้อาจพอจะถือได้ว่ามีลักษณะ "เป็นกลางทางชนชั้น" แต่ก็มีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เห็นได้ชัดว่าลำเอียง โดยเฉพาะความลำเอียงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติต่อแรงงานและสิ่งแวดล้อมในฐานะสินค้า เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น รัฐเสรีนิยมใหม่มักเข้าข้างการมีบรรยากาศการทำธุรกิจที่ดี โดยมีอคติต่อสิทธิส่วนรวม (และคุณภาพชีวิต) ของแรงงานหรือความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของสิ่งแวดล้อม

ประการที่สอง ในสถานการณ์ของความขัดแย้งข้างต้น จะมีความลำเอียงเกิดขึ้นด้วย กล่าวคือ รัฐเสรีนิยมใหม่มักเข้าข้างความมั่นคงของระบบการเงิน และสภาพคล่องของสถาบันทางการเงินมากกว่าความอยู่ดีกินดีของประชากรหรือคุณภาพของสิ่งแวดล้อม

อคติอย่างเป็นระบบทั้งสองประการนี้ใช่ว่าจะมองทะลุให้เห็นง่าย ๆ เสมอไป ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติของรัฐมักบิดเบี้ยวแตกต่างกันไปจนสับสนยุ่งเหยิง เงื่อนไขเชิงสัมฤทธิผลนิยมและฉวยโอกาสมักมีบทบาทสำคัญมาก ประธานาธิบดีบุชสนับสนุนตลาดเสรีและการค้าเสรี แต่กลับตั้งกำแพงภาษีสินค้าเหล็กเพื่อรักษาฐานเสียงเลือกตั้งของตนในรัฐโอไฮโอ (และปรากฏว่าได้ผลด้วย) รัฐมักกำหนดโควตาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศขึ้นมาอย่างไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน เพียงเพื่อบรรเทาความไม่พอใจภายในประเทศ

รัฐในยุโรปยืนยันเสียงแข็งที่จะให้มีการค้าเสรีในสินค้าทุกประเภท ยกเว้นสินค้าเกษตรกรรมที่ปกป้องเอาไว้ โดยอ้างเหตุผลเชิงสังคม การเมือง หรือแม้กระทั่งเหตุผลเชิงสุนทรียะ รัฐมักมีการแทรกแซงพิเศษเพื่อเข้าข้างกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจบางกลุ่ม (เช่น การค้าอาวุธ) รวมทั้งการให้สินเชื่อระหว่างรัฐก็ทำกันตามอำเภอใจ เพื่อได้มาซึ่งความใกล้ชิดทางการเมืองและอิทธิพลในภูมิภาคที่อ่อนไหวเชิงภูมิศาสตร์การเมือง (เช่น ตะวันออกกลาง) ด้วยเหตุผลแบบนี้เอง คงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก หากเราพบเจอรัฐเสรีนิยมใหม่ที่ยึดมั่นในหลักการของลัทธิเสรีนิยมใหม่ตลอดเวลา ต่อให้เป็นรัฐที่คลั่งลัทธิเสรีนิยมใหม่มากที่สุดก็ตาม

ในกรณีอื่น ๆ มีเหตุผลที่จะแสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติเกิดมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งสะท้อนถึงรูปแบบรัฐที่แตกต่างกันไปก่อนจะเปลี่ยนไปสู่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ยกตัวอย่างเช่น สภาพการณ์ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกหลังการล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์มีลักษณะพิเศษมาก ความรวดเร็วของการแปรรูปที่เกิดขึ้นภายใต้ "การบำบัดด้วยการช็อก" (shock therapy) ที่เข้ามาครอบงำกลุ่มประเทศเหล่านี้ในช่วงทศวรรษ 1990 สร้างความตึงเครียดอย่างใหญ่หลวงที่ยังส่งผลสั่นสะเทือนจนถึงทุกวันนี้

รัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย (เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียหรือสหราชอาณาจักรในช่วงหลังสงครามโลกใหม่ ๆ) ได้ดึงเอาภาคส่วนสำคัญ ๆ ของระบบเศรษฐกิจ เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา แม้กระทั่งการเคหะ ออกจากตลาดมานานแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การเข้าถึงปัจจัยสี่ของมนุษย์ไม่ควรตกอยู่ภายใต้กลไกตลาดและไม่ควรปล่อยให้การเข้าถึงถูกจำกัดด้วยความสามารถในการจ่ายเงินซื้อหา ในขณะที่มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ สามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดและการปฏิบัติในเรื่องนี้ได้ ชาวสวีเดนกลับขัดขืนได้ยาวนานกว่า แม้เมื่อเผชิญกับความพยายามอย่างเข้มข้นของกลุ่มผลประโยชน์ชนชั้นนายทุนที่จะผลักดันประเทศไปสู่เส้นทางเสรีนิยมใหม่ก็ตาม

อนึ่ง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง รัฐนักพัฒนา (เช่น สิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย) หันไปพึ่งพิงภาครัฐและการวางแผนของรัฐ โดยจับมือแนบแน่นกับทุนภายในประเทศและทุนบรรษัท (ซึ่งมักเป็นบรรษัทต่างชาติและบรรษัทข้ามชาติ) เพื่อส่งเสริมการสะสมทุนและความเติบโตทางเศรษฐกิจ(4) โดยส่วนใหญ่แล้ว รัฐนักพัฒนา (developmental state)(*) มักให้ความสนใจในด้านสังคมมากเท่า ๆ กับโครงสร้างพื้นฐานทางวัตถุ ทำให้รัฐเหล่านี้มีนโยบายหลาย ๆ ด้านที่เสมอภาคมากกว่า เช่น การเข้าถึงโอกาสในการศึกษาและการดูแลสุขภาพ การลงทุนของรัฐในด้านการศึกษา ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก

(4) P. Evans, Embedded Autonomy: States and Industrial Transformation (Princeton: Princeton University Press, 1995); R. Wade, Governing the Market (Princeton: Princeton University Press, 1992); M. Woocummings (ed.), The Developmental State (Ithaca, NY: Cornell University Press, 1999).

(*) รัฐนักพัฒนา (developmental state) (ผู้เขียนยังคิดหาคำแปลที่ดีกว่านี้ไม่ได้) หมายถึง รัฐที่มีบทบาทในการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แต่ต่อมาครอบคลุมไปถึงรัฐในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น อินเดีย บอทสวานา เป็นต้น รัฐประเภทนี้มักให้การคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศที่เพิ่งเริ่มต้น มีความคิดชาตินิยมในการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นส่วนแบ่งการตลาดมากกว่ากำไร ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มีระบบราชการที่ใหญ่โต และให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการปฏิรูปทางการเมือง (ผู้แปล)

รัฐนักพัฒนาปฏิบัติสอดคล้องกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ในแง่ที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัท บรรษัทและกลุ่มต่าง ๆ ทั้งยังยอมรับกฎเกณฑ์ของการค้าเสรีและพึ่งพิงตลาดส่งออกที่เปิดกว้าง กระนั้นก็ตาม รัฐเหล่านี้มีบทบาทเป็นนักแทรกแซงในด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบรรยากาศทางธุรกิจที่ดี ด้วยเหตุนี้ ลัทธิเสรีนิยมใหม่จึงเปิดโอกาสให้รัฐนักพัฒนาสามารถยกฐานะในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยให้รัฐเข้าไปแทรกแซงด้วยการพัฒนาโครงสร้างใหม่ ๆ (เช่น การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา) แต่ในขณะเดียวกัน ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็สร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการก่อรูปทางชนชั้น และเมื่อใดที่อำนาจของชนชั้นนั้นเข้มแข็งขึ้น ชนชั้นนั้นก็มีแนวโน้มที่จะหาทางปลดปล่อยตัวเองจากการพึ่งพิงอำนาจรัฐและหันเหอำนาจรัฐให้เดินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่มากขึ้น (ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเกาหลีใต้ในปัจจุบัน)

เมื่อการจัดระบบสถาบันแบบใหม่ก้าวเข้ามานิยามกฎเกณฑ์การค้าโลก อาทิเช่น เดี๋ยวนี้การเปิดตลาดทุนเป็นเงื่อนไขในการเข้าเป็นสมาชิกไอเอ็มเอฟและดับเบิลยูทีโอ เป็นต้น รัฐนักพัฒนาก็เริ่มพบว่าตนเองถูกดึงเข้าไปสู่ค่ายเสรีนิยมใหม่มากขึ้นๆ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นก็คือ วิกฤตการณ์เอเชียช่วงปี ค.ศ. 1997-8 ก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ทำให้รัฐนักพัฒนาต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานของเสรีนิยมใหม่มากขึ้น และดังที่เราเห็นมาแล้วในกรณีของอังกฤษ เป็นเรื่องยากที่จะรักษาจุดยืนแบบเสรีนิยมใหม่ในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (เช่น การให้ความสะดวกแก่การดำเนินงานของทุนการเงิน) โดยไม่ยอมรับแนวทางเสรีนิยมใหม่ภายในประเทศอย่างน้อยในระดับหนึ่ง (เกาหลีใต้ต้องต่อสู้กับความตึงเครียดแบบนี้เองในช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านมา) กระนั้นก็ตาม รัฐนักพัฒนามิได้ปักใจเชื่อเลยว่า เส้นทางแบบเสรีนิยมใหม่เป็นเส้นทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศ (เช่น ไต้หวันและจีน) ที่ไม่ยอมเปิดเสรีตลาดทุน กลับประสบปัญหาในวิกฤตการณ์ทางการเงิน ค.ศ. 1997-8 น้อยกว่ากลุ่มประเทศที่เปิดเสรีมาก (5)

(5) J. Henderson, 'Uneven Crises: Institutional Foundation of East Asian Turmoil, Economy and Society, 28/3 (1999), 327-68.

ในปัจจุบัน การปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับทุนการเงินและสถาบันการเงิน น่าจะเป็นส่วนที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อเสรีนิยมใหม่น้อยที่สุด รัฐเสรีนิยมใหม่มักอำนวยความสะดวกให้แก่การแผ่ขยายอิทธิพลของสถาบันการเงินด้วยวิธีการลดกฎเกณฑ์ข้อบังคับ แต่ในขณะเดียวกัน รัฐเสรีนิยมใหม่ก็มักรับประกันความมั่นคงและสภาพคล่องของสถาบันการเงิน โดยไม่คำนึงว่าต้องทุ่มเทต้นทุนแค่ไหน พันธกิจเช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเชื่อว่าลัทธิการเงินนิยม (monetarism) (*) คือรากฐานของนโยบายรัฐ (ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ถูกต้องในทฤษฎีเสรีนิยมใหม่บางสำนัก)

(*) Monetarism สำนักการเงินนิยมเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินเป็นสาเหตุหลักของความไร้เสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น พวกการเงินนิยมจึงมีความเห็นว่า การใช้นโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้นโยบายการคลัง ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญของสำนักนี้คือ มิลตัน ฟรีดแมน (ผู้แปล)

ความมั่นคงและเข้มแข็งของเงินตราคือฟันเฟืองสำคัญในนโยบายนี้ แต่แนวคิดนี้ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมาในตัวเองว่า รัฐเสรีนิยมใหม่ไม่สามารถทนต่อการผิดนัดชำระหนี้ทางการเงินขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าสถาบันการเงินเป็นผู้ตัดสินใจผิดพลาดเองแท้ ๆ รัฐจำต้องก้าวเข้ามาและควักเนื้อเพื่อแทนที่เงิน "ไม่ดี" ด้วยเงิน "ดี" ของรัฐเอง เหตุผลนี้เองที่ทำให้นายธนาคารกลางตกอยู่ภายใต้แรงกดดันและจำต้องหาทางรักษาความเชื่อมั่นในความเข้มแข็งของเงินสำรองภาครัฐเอาไว้ อำนาจรัฐมักถูกดึงมาใช้ช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ให้รอดจากการล้มละลายหรือหลีกเลี่ยงความล้มเหลวในภาคการเงิน อาทิเช่น วิกฤตการณ์เงินออมและเงินกู้ของสหรัฐฯ เมื่อ ค.ศ. 1987-8 ทำให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันสูญเงินไปถึงราว 150 พันล้านดอลลาร์ หรือการล่มสลายของกองทุนประกันความเสี่ยง Long Term Capital Management ใน ค.ศ. 1997-8 ซึ่งทำให้สูญเงินภาษีไปถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์

ในเชิงสากลนั้น ใน ค.ศ. 1982 รัฐเสรีนิยมใหม่ที่เป็นกลุ่มแกนกลางได้มอบให้ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกมีอำนาจเต็มในการเจรจาประนอมหนี้ ซึ่งหมายถึงการคุ้มครองสถาบันการเงินรายใหญ่ในโลกให้พ้นจากภัยคุกคามของการพักชำระหนี้ ไอเอ็มเอฟทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อปกป้องความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในตลาดการเงินระหว่างประเทศ หากพิจารณาตามทฤษฎีเสรีนิยมใหม่จริง ๆ การปฏิบัติแบบนี้เป็นเรื่องที่แทบไม่มีเหตุผล ในเมื่อตามหลักการแล้ว พวกนักลงทุนควรรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตนเอง ด้วยเหตุนี้ นักเสรีนิยมใหม่เคร่งคัมภีร์จึงเชื่อว่า ควรล้มล้างสถาบันไอเอ็มเอฟไปเสียเลย

เคยมีการพิจารณาทางเลือกนี้อย่างจริงจังระหว่างช่วงปีแรก ๆ ของรัฐบาลเรแกน ต่อมาผู้แทนพรรครีพับลิกันเคยหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้งใน ค.ศ. 1998 เจมส์ เบเกอร์ (James Baker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลเรแกน ช่วยชุบชีวิตสถาบันนี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เม็กซิโกอาจล้มละลายทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่ในนิวยอร์กซิตี ที่ให้กู้แก่ประเทศเม็กซิโกเมื่อ ค.ศ. 1982

เบเกอร์ใช้ไอเอ็มเอฟยัดเยียดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้แก่เม็กซิโก และคุ้มครองนายธนาคารนิวยอร์กจนพ้นจากการพักชำระหนี้ การปฏิบัติเช่นนี้ให้ความสำคัญสูงสุดแก่ความจำเป็นของธนาคารและสถาบันการเงิน ขณะเดียวกัน การลดทอนมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศลูกหนี้เป็นสิ่งที่เคยนำร่องมาก่อนแล้ว ในสมัยที่เกิดวิกฤตการณ์หนี้สินในนิวยอร์กซิตี ในบริบทระหว่างประเทศ นี่หมายถึงการดูดซับมูลค่าส่วนเกินจากประชากรยากจนในโลกที่สามไปจ่ายหนี้ให้แก่นายธนาคารระหว่างประเทศ "ช่างเป็นโลกที่แปลกประหลาดนัก"

โจเซฟ สติกลิทซ์ตั้งข้อสังเกตด้วยความฉงน "กลุ่มประเทศยากจนกลับเป็นฝ่ายอุดหนุนทางการเงินแก่กลุ่มประเทศร่ำรวยที่สุด" แม้กระทั่งชิลี ซึ่งเคยเป็นนักเรียนตัวอย่างในการปฏิบัติตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ "ขนานแท้" หลังจาก ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา ก็ยังโดนผลกระทบแบบนี้ใน ค.ศ. 1982-3 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตกต่ำลงเกือบ 14% และการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 20% ในช่วงเวลาแค่ปีเดียว แต่ข้อสรุปว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ "ขนานแท้" เป็นสิ่งที่ใช้การไม่ได้ กลับไม่ได้รับการยอมรับในเชิงทฤษฎี ถึงแม้การปรับประยุกต์วิธีการเชิงปฏิบัติที่เกิดขึ้นตามมาในชิลี (รวมทั้งสหราชอาณาจักรหลังจาก ค.ศ. 1983) จะมีการประนีประนอมจำนวนมากที่ยิ่งถ่างช่องว่างระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติให้ห่างออกจากกันยิ่งขึ้น (6)

(6) Stiglitz, The Roaring Nineties, 227; P. Hall, Governing the Economy; Fourcade-Gourinchas and Babb, 'The Rebirth of the Liberal Creed'.

การใช้กลไกทางการเงินเก็บส่วยจากประเทศยากจน เป็นวิธีปฏิบัติที่เก่าแก่ในระบบจักรวรรดินิยม วิธีนี้พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์อย่างมากในการช่วยฟื้นฟูอำนาจของชนชั้น โดยเฉพาะในศูนย์กลางทางการเงินใหญ่ ๆ ของโลก และไม่จำเป็นต้องอาศัยวิกฤตการณ์ของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเสมอไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อใดที่ผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนากู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เงื่อนไขที่ประเทศของผู้ประกอบการรายนั้น ต้องมีการสำรองเงินตราต่างประเทศมากเพียงพอที่จะชดเชยเงินกู้นั้น หมายความว่ารัฐนั้น ๆ จำเป็นต้องลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (เช่น 12%) กับเงินที่ฝากไว้เป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้ยืมในกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน (เช่น 4%) ทำให้เกิดการไหลออกทางการเงินสุทธิไปสู่ศูนย์กลางจักรวรรดินิยมด้วยค่าใช้จ่ายของประเทศกำลังพัฒนา

แนวโน้มเช่นนี้ที่เกิดขึ้นในกลุ่มรัฐแกนกลางอย่างสหรัฐฯ ซึ่งจะคุ้มครองกลุ่มผลประโยชน์ทางการเงินและยืนดูเฉย ๆ เมื่อกลุ่มผลประโยชน์นั้นดูดมูลค่าส่วนเกินจากประเทศอื่น ๆ การปฏิบัติทั้งสองประการนี้ ทั้งส่งเสริมและสะท้อนให้เห็นการฟื้นฟูอำนาจเป็นปึกแผ่นของชนชั้นสูงภายในรัฐแกนกลางเหล่านี้ โดยอาศัยกระบวนการทางการเงิน แต่นิสัยที่ชอบเข้าไปแทรกแซงตลาดและอุ้มสถาบันการเงินเมื่อมีปัญหา ย่อมไม่สอดคล้องกับทฤษฎีเสรีนิยมใหม่อย่างสิ้นเชิง การขาดทุนควรเป็นบทลงโทษผู้ให้กู้ที่ลงทุนอย่างสะเพร่า แต่รัฐกลับปกป้องผู้ให้กู้ให้ปลอดพ้นจากการขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้กู้กลับต้องเป็นฝ่ายชดใช้แทน โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมที่จะตามมา อันที่จริง ทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ควรให้คติว่า "เจ้าหนี้ จงระวังตัว" แต่การปฏิบัติกลับกลายเป็น "ลูกหนี้ จงระวังตัว"

กระนั้นก็ตาม การรีดเอามูลค่าส่วนเกินจากระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาก็มีขีดจำกัดอยู่เหมือนกัน เมื่อต้องรัดเข็มขัดด้วยมาตรการเข้มงวดทางการเงินการคลัง ย่อมทำให้ประเทศกำลังพัฒนาตกสู่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจเรื้อรัง โอกาสในการจ่ายคืนหนี้จึงมักเนิ่นนานออกไปอีก ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ การยอมขาดทุนในระดับหนึ่งอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นภายใต้แผนเบรดี (Brady Plan) ใน ค.ศ. 1989 (7) สถาบันการเงินยินยอมลดหนี้ค้างชำระลง 35% เพื่อแลกกับพันธบัตรลดราคา (ซึ่งสนับสนุนโดยไอเอ็มเอฟและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ) และหลักประกันว่าจะได้รับการชำระหนี้ส่วนที่เหลือคืน (กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เจ้าหนี้ได้รับหลักประกันว่าจะได้รับการชำระหนี้คืนในอัตรา 65 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์)

(7) I. Vasquez, 'The Brady Plan and Market-Based Solutions to Debt Crises', The Cato Journal, 16/2 (online).

ใน ค.ศ. 1994 กลุ่มประเทศ 18 ประเทศ (ซึ่งรวมถึงเม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา และอุรุกวัย) ยอมรับข้อตกลงที่ช่วยลดหนี้สินให้ประเทศเหล่านี้ได้ราว 60 พันล้านดอลลาร์ แน่นอน สิ่งที่มุ่งหวังก็คือ การผ่อนผันหนี้สินเช่นนี้น่าจะช่วยจุดประกายให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้ชำระหนี้สินส่วนที่เหลือได้ในเวลาที่เหมาะสม แต่ปัญหาก็คือ ไอเอ็มเอฟเข้ามาดูแลด้วยว่า ทุกประเทศที่ได้รับการลดหนี้เป็นจำนวนน้อยนิดนี้ (ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับที่ธนาคารได้ไป) จำต้องกลืนยาพิษที่มาในรูปของการปฏิรูปสถาบันตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ด้วย วิกฤตการณ์ค่าเงินเปโซในเม็กซิโกเมื่อ ค.ศ. 1995 วิกฤตการณ์ของบราซิลใน ค.ศ. 1998 และการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจอาร์เจนตินาใน ค.ศ. 2001 คือผลลัพธ์ที่น่าจะคาดการณ์ได้ตั้งแต่แรก

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อบทความนี้ ตอนที่ ๒

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๑ : Release date 09 August 2008 : Copyleft by MNU.

"การผูกขาดตามธรรมชาติ" (natural monopolies) มีปัญหาที่ยากกว่านั้น มันไม่เข้าท่าที่จะมีโรงงานผลิตระบบกระแสไฟฟ้า ท่อก๊าซ ระบบประปาและการระบายน้ำ หรือทางรถไฟเชื่อมระหว่างวอชิงตันกับบอสตันหลายๆ รายมาแข่งขันกัน ในกรณีแบบนี้ การให้รัฐเข้ามากำกับดูแลการให้บริการ การเข้าถึงและการตั้งราคา น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้การกำกับดูแลเพียงบางส่วนอาจทำได้ (เช่น อนุญาตให้มีผู้ผลิตหลายรายแข่งขันกันป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายเดียวกัน หรือมีหลายบริษัทรถไฟให้บริการบนรางเดียวกัน เป็นต้น) แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแสวงหากำไรเกินควรและการฉ้อฉลขึ้น ดังที่ปัญหาวิกฤตการณ์ไฟฟ้าแคลิฟอร์เนีย ปี ๒๐๐๒ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด หรืออาจทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายสับสน

H