1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
อุดมศึกษาของอินเดีย :
ปัญหาและแนวทางแก้ไข
ปัญหาที่อยู่ใต้พรมในการอุดมศึกษาของอินเดีย
ตอนที่ ๒
ดร.ประมวลเพ็งจันทร์
และ ผศ.สมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความชิ้นนี้เป็นเนื้อหาบทที่
๕ : อุดมศึกษาของอินเดีย : ปัญหาและแนวทางแก้ไข
จากโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี เรื่อง ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา
๕ ภูมิภาค
ความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีสถานะเป็นสถาบันอันสูงส่งในสังคมอินเดีย
ชาวอินเดียทั่วไปมีความสำนึกถึงสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็น "เทวาลัยแห่งการเรียนรู้"
(Temple of Learning)
และเชื่อว่าเทวาลัยแห่งการเรียนรู้จะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะนำพาอินเดียไปสู่เป้าหมายที่ดีงามได้
แต่อย่างไรก็ตาม หลังการเป็นเอกราชของอินเดีย
การอุดมศึกษาที่เคยอยู่ในการควบคุมของอังกฤษ
ที่ได้รับการปลดปล่อยให้มาอยู่ในมือของคนอินเดียก็ยังมีปัญหาอยู่ ทั้งนี้ตัวปัญหาใหม่ๆ
คือ
กระแสโลกาภิวัตน์และแนวคิดทุนนิยมที่เน้นการบริโภคของปัจเจก ได้ละเลยการแก้ปัญหาชุมชน
และคุณค่าจิตวิญญาน ในบทความนี้จะแยกแยะให้เห็นปัญหาและหนทางแก้ไข ดังหัวข้อต่อไปนี้
- สภาพปัญหาของระบบอุดมศึกษาอินเดีย
- ปัญหาปรัชญาอุดมศึกษาอินเดีย
- ปรัชญาอุดมศึกษาตามแนวสังคมนิยม
- ปรัชญาอุดมศึกษาตามแนวคิดทางการศึกษาแบบทุนนิยม
- ปรัชญาการศึกษาของอินเดียใน ๓ ช่วง
- สามศตวรรษของอินเดียในฐานะเหยื่อของจักรวรรดินิยม
- อินเดียยังไม่พ้นจากการเป็นอาณานิคมทางปัญญา
- วิพากษ์ผลผลิตอุดมศึกษาอินเดีย
- แนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาอุดมศึกษาอินเดีย
- ทำให้เป็นอินเดีย (Indianisation), กระบวนการสวเทศี (Swadeshi)
- รูปแบบที่หลากหลายเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
- ระบบคู่ขนานทางการศึกษา
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๘๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๗ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
อุดมศึกษาของอินเดีย :
ปัญหาและแนวทางแก้ไข
ปัญหาที่อยู่ใต้พรมในการอุดมศึกษาของอินเดีย
ตอนที่ ๒
ดร.ประมวลเพ็งจันทร์
และ ผศ.สมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
3. สภาพปัญหาของระบบอุดมศึกษาอินเดีย
มีคำถามที่น่าสนใจในสังคมอินเดีย นั่นคือปัญหาว่า "ปัจจุบันนี้ที่พวกเรา
(ชาวอินเดีย) ได้รับอิสรภาพทางการเมืองจากผู้ปกครองอังกฤษ สังคมเรา ได้เป็นอิสระแล้วจริงหรือ
? และถ้าหากว่าเรายังไม่มีอิสรภาพแล้ว เป็นเพราะเหตุอะไร ?" คำถามดังกล่าวนี้เป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจในปัญหาทางด้านการศึกษา
ที่กลายมาเป็นปัญหาหนักของอินเดีย เพราะแม้ว่าทางการเมืองอินเดียจะมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง
แต่ในทางการศึกษาระบบการศึกษาของอินเดียก็ยังไม่หลุดพ้นมาจากระบบที่อังกฤษกำหนดไว้
และภายใต้ระบบที่เป็นอยู่นี้ ทำให้ชาวอินเดียส่วนใหญ่รู้สึกว่ามีปัญหาสารพัดอยู่ในระบบการศึกษา
โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นส่วนยอดของระบบการศึกษา และเป็นส่วนที่ส่งมอบผลผลิตทางการศึกษาให้แก่สังคม
เมื่อมองไปที่ระบบอุดมศึกษาของอินเดีย ปัญหามากมายปรากฏให้มองเห็นจนแทบจะกล่าวได้ว่า แตะส่วนไหนก็ล้วนแต่เป็นปัญหาเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนใหญ่สุด เช่น ระบบโครงสร้างของมหาวิทยาลัย จนมาถึงเรื่องเล็ก ๆ เช่น ปัญหาการทุจริตในการสอบ หรือปัญหาในการออกข้อสอบ เป็นต้น. เพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นสภาพปัญหาอย่างคร่าว ๆ จึงขอเสนอสภาพปัญหาอุดมศึกษาของอินเดียใน 3 ส่วน คือ
3.1. ปัญหาในทางปรัชญาอุดมศึกษา
3.2. ปัญหาในทางการบริหารจัดการอุดมศึกษา
3.3. ปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตของอุดมศึกษา
3.1 ปัญหาปรัชญาอุดมศึกษาอินเดีย
ปัญหาเชิงปรัชญาของอุดมศึกษาอินเดีย เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในทางหลักการและเป้าหมายของอุดมศึกษาอินเดีย.
ตัวปรัชญาการศึกษามีอยู่ 2 ส่วนสำคัญคือ เป้าหมายของการศึกษา และหลักการของการศึกษา
ในส่วนของเป้าหมาย ต้องกำหนดให้ได้ว่าเป้าหมายสำคัญสูงสุดอยู่ที่ไหน และเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น ควรมีเป้าหมายปลีกย่อยอย่างไรบ้าง. ปัญหาเชิงปรัชญา เกิดขึ้นทันทีถ้าหากขาดความชัดเจนในส่วนของเป้าหมาย หรือมีเป้าหมายหลายๆ เป้าหมายแล้ว มีความขัดแย้งกัน
ในส่วนของเป้าหมายนี้ อุดมศึกษาอินเดียมีปัญหาเกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนเพียงพอ ประกอบกับความคาดหวังที่จะให้อุดมศึกษาเป็นสถาบันเอนกประสงค์ของสังคม จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองในตัวของเป้าหมาย
ปัญหาในส่วนนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่ออินเดียปฏิเสธปรัชญาอุดมศึกษาที่อังกฤษกำหนดไว้ว่า อุดมศึกษามีเป้าหมายอยู่ที่การผลิตบุคลากร เพื่อตอบสนองการปกครองและการค้าของอังกฤษ ด้วยเป้าหมายเช่นนี้ หลักการในการบริหารจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงถูกกำหนดไว้ว่าจะยึดหลักการสร้างค่านิยมและความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปกครองและการค้าของชาวอังกฤษในประเทศอินเดีย การศึกษาที่ใช้ภาษาอังกฤษ การเรียนวิทยาการของตะวันตก เหล่านี้คือกระบวนการสนองตอบเป้าหมายทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาในยุคอาณานิคม แต่เมื่อเป้าหมายทางการศึกษานั้นถูกยกเลิกไป จึงถูกแทนที่ด้วยเป้าหมายที่เป็นการศึกษาเพื่อการสร้างชาติอินเดีย
ความหมายของการสร้างชาติที่ไม่ชัดเจนและกำกวม ทำให้เกิดเป้าหมายย่อยที่ขัดแย้งกันเอง เช่น การสร้างชาติด้วยสำนึกชาตินิยม ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับเรื่องชาติพันธุ์และวัฒนธรรม จนทำให้ความสำนึกชาตินิยมต้องปรับเปลี่ยนเพื่อหลีกหนีปัญหา. ความขัดแย้งในชาติและความไม่ชัดเจนในส่วนของเป้าหมายนี้ ยังนำไปสู่ความสั่นคลอนของหลักการในการจัดการศึกษา เช่น จะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาในการศึกษา เบื้องต้นมีหลักการว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเพียงชั่วคราวแค่ 20 ปีหลังจากได้รับเอกราชแล้ว ต่อจากนั้นก็จะใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษากลางในการศึกษา แต่ในที่สุดก็เป็นไปไม่ได้ เพราะการใช้ภาษาฮินดีเป็นปัญหาให้เกิดความแตกแยกภายในชาติ จนที่สุดก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามสภาพปัญหา ไม่มีการแก้ไขปัญหาใดอย่างจริงจัง เพราะไม่มีหลักการที่ชัดเจนและมีพลังมากพอ
ปัญหาทางปรัชญาการศึกษาที่ไม่แน่ชัด ทั้งในส่วนของเป้าหมายและหลักการสำคัญในการจัดการศึกษา นำไปสู่สภาวะไร้ทิศทางและเป้าหมายของการศึกษา จนเป็นปัญหาทั้งในส่วนของฝ่ายผู้จัดการศึกษาและฝ่ายผู้รับการศึกษา ฝ่ายผู้จัดการศึกษาคือรัฐ ก็จัดการศึกษาเพียงเพื่อสนองตอบความต้องการเฉพาะหน้าและแก้ปัญหาไปวัน ๆ ส่วนฝ่ายผู้รับบริการคือประชาชนที่เข้ามาเป็นนักศึกษา ก็ศึกษาไปอย่างไร้ความหวังและเป้าหมายของชีวิต
ปรัชญาอุดมศึกษาตามแนวสังคมนิยม
ความไม่ชัดเจนในทางปรัชญาการศึกษานี้ ก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น เมื่อสังคมอินเดียต้องเผชิญกับกระแสทุนนิยมและการค้าเสรีที่ไหลบ่ามาจากโลกภายนอก
กระแสทุนนิยมเป็นแนวคิดที่สวนกระแสสังคมนิยม ที่เนห์รูและผู้นำคองเกรสสร้างไว้เมื่อตอนเริ่มต้นอินเดียประชาธิปไตยในช่วง
3 ทศวรรษแรก. ปรัชญาอุดมศึกษาตามแนวสังคมนิยมมีเป้าหมายอยู่ที่สังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวม
จุดมุ่งหมายทางการศึกษาอยู่ที่การสร้างชาติและชุมชน ส่วนปัจเจกชนเป็นเพียงแต่ส่วนย่อยของชุมชน
ตามแนวคิดแบบสังคมนิยมนี้ ในกระบวนการศึกษาแทบจะไม่มีสำนึกของการแข่งขัน หากแต่เป็นกระบวนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ปรัชญาการศึกษาตามแนวสังคมนิยมนี้ ประชาชนชาวอินเดียรับได้ไม่ยาก เพราะสอดคล้องกับระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมของอินเดียในยุคฮินดู
ที่การศึกษาเป็นการฝึกฝนตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
ปรัชญาอุดมศึกษาตามแนวคิดทางการศึกษาแบบทุนนิยม
ส่วนแนวคิดทางการศึกษาแบบทุนนิยม เป็นการศึกษาที่มุ่งสนองตอบความต้องการของปัจเจกชนเป็นประการสำคัญ
เป้าหมายของการศึกษาอยู่ที่ความรู้ทางวิชาชีพของบุคคลเป็นคนๆ ในกระบวนการศึกษาแบบทุนนิยม
การแข่งขันระหว่างปัจเจกบุคคลเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและสำคัญ เพราะแรงกระตุ้นให้บุคคลมุ่งมั่นในการศึกษาอยู่ที่ความสำเร็จส่วนตัว
แนวคิดทางการศึกษาแบบทุนนิยมนี้ แม้จะไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอินเดีย แต่ก็งอกงามและมีพลังขึ้นในสังคมอินเดียเพราะไปสนองตอบความต้องการของปัจเจก โดยเฉพาะคือ ปัจเจกชนที่เป็นผลผลิตของสังคมอินเดียแบบอาณานิคม. ในสังคมอินเดียแบบอาณานิคมนั้น ความหมายของบุคคลถูกสร้างขึ้นให้อิสระจากวรรณะและชุมชน ความดี - ความงาม - ความสำเร็จ ถูกทำให้มีความหมายว่าเป็นเรื่องของปัจเจก นิยามความหมายของบุคคลในแบบอาณานิคมนี้แตกต่างไปจากความหมายของอินเดียเดิม ที่การนิยามความหมายของบุคคลขึ้นอยู่กับวรรณะและชุมชน
ในคติของอินเดียยุคฮินดู ความดี - ความงาม - ความสำเร็จ เป็นเรื่องของชุมชน ที่มีเครือข่ายของระบบวรรณะเป็นสายใยยึดโยงให้ชุมชนรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ในชุมชนแบบนี้ความรู้จึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจก หากแต่เป็นชุมชน. การที่มีใครสักคนหนึ่งได้รับการศึกษาจนประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชน เพราะความสำเร็จทางการศึกษาของบุคคลนั้น เกิดขึ้นได้จากแรงหนุนส่งของชุมชนทั้งหมด ความรู้อันเป็นผลมาจากการศึกษาจึงมิใช่สมบัติส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นสมบัติร่วมกันของทุกๆ คนในชุมชนนั้นๆ
ปรัชญาการศึกษาของอินเดียใน
3 ช่วง
ปรัชญาการศึกษาของอินเดียในช่วงต้น คือ ระหว่างปี ค.ศ. 1950-1970 และช่วงปลาย
คือ หลังปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก
- ในช่วง ปี ค.ศ. 1950-1970 เป็นช่วงเวลาระยะแรกของอินเดียประชาธิปไตย ที่พรรคคองเกรสเป็นผู้นำทางการเมือง การศึกษาภายใต้นโยบายของพรรคคองเกรสเป็นการศึกษาแบบสังคมนิยม เป็นการศึกษาที่รัฐจัดให้กับประชาชนด้วยจุดมุ่งหมายให้การศึกษาเป็นพลังของสังคม
- ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1970-1990 เป็นช่วงเวลาแห่งการจากไปของปรัชญาการศึกษาแบบสังคมนิยม และเป็นการเข้ามาของปรัชญาการศึกษาแบบทุนนิยม ทั้งนี้เพราะพรรคคองเกรสเริ่มเสื่อมอำนาจ ประกอบกับโลกสังคมนิยมเริ่มเสื่อม ระบบสังคมนิยมในประเทศต่างๆ เริ่มล้มลง
- นับจากปี ค.ศ. 1991 อันเป็นปีที่อินเดียประกาศนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่เป็นต้นมา เป็นเวลาแห่งการเจริญงอกงาม ของปรัชญาการศึกษาแบบทุนนิยมในสังคมอินเดีย
มาถึงวันนี้ แม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า อินเดียใช้ปรัชญาการศึกษาแบบทุนนิยมเป็นปรัชญาการศึกษาแห่งชาติ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว กระแสหลักของการศึกษาอินเดียเป็นแบบทุนนิยมเหมือนในประเทศอุตสาหกรรมทุนนิยมทั่วๆ ไป แต่ทว่าในประเทศอินเดียไม่เหมือนในประเทศทุนนิยมอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะ ในสังคมอินเดียยังมีปรัชญาการศึกษาแบบจารีตนิยมอินเดียเดิมและปรัชญาการศึกษาแบบสังคมนิยมหลงเหลืออยู่ การเข้ามาของปรัชญาการศึกษาแบบทุนนิยมจึงไม่ใช่การเข้ามาในพื้นที่ว่างเปล่า หากแต่ต้องเข้ามาเบียดแทรกและต่อสู้กับระบบความเชื่อเดิมที่ยังมีอยู่ในสังคมอินเดีย
การปะทะกันของระหว่างการศึกษาที่งอกงามมาจากปรัชญาแบบเดิม กับการศึกษาที่งอกงามมาจากปรัชญาการศึกษาทุนนิยม ได้ก่อให้เกิดปัญหาในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียอยู่ในปัจจุบัน ปรัชญาการศึกษามิใช่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่จะถอดเปลี่ยนได้ง่ายๆ หากแต่ปรัชญาการศึกษาคือ วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้. สังคมแต่ละสังคมจะมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน ตัววัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้นี้ไม่ใช่เรื่องเสแสร้งแกล้งทำ หากแต่เป็นความรู้สึกสำนึกที่ถูกปลูกฝังให้มีอยู่ในจิตใจของบุคคล โดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่าทำไมเขาจึงรู้สึกและเข้าใจเช่นนั้น
ต่อปัญหาปรัชญาการศึกษาในระบบอุดมศึกษาของอินเดียนี้ ผู้เขียนเองก็งุนงงกับความหมายของอุดมศึกษาในยุคปัจจุบันไม่น้อยไปกว่าชาวอินเดีย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับศาสตราจารย์ทางมนุษศาสตร์ในมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ท่านมีความเห็นต่อปัญหาด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัยและได้ให้คำอธิบายที่แจ่มชัด เมื่อเราสนทนากันเรื่องความตกต่ำของวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์, ท่านอธิบายว่ารากเหง้าของปัญหาคือ ท่าทีต่อชีวิตและงานอาชีพของชาวอินเดียที่เปลี่ยนแปลงไป ชาวอินเดียไม่ได้มีท่าทีต่อชีวิตแบบที่มีรากฐานอยู่ที่จิตวิญญาณดังในอดีต จึงทำให้ท่าทีต่อการทำงานและการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปคือ ไม่ได้ทำงานด้วยสำนึกของการทำหน้าที่ แต่เป็นการทำงานเพื่อแสวงหาเงิน ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไป ทำให้การศึกษาเรียนรู้ด้านมนุษยศาสตร์และศึกษาศาสตร์ด้อยคุณค่าลง. เมื่อไม่มีกระแสค่านิยมในสังคมหนุนส่ง เยาวชนหนุ่มสาวก็ไม่ปรารถนาจะเรียนในสายนี้ เพราะไม่สามารถไปแข่งขันกับผู้อื่นได้ จึงทำให้ต้องมาเรียนด้วยความผิดหวัง การเรียนด้วยความผิดหวังนั้น ย่อมจะไม่มีคุณค่าแห่งการเรียนรู้
การสนทนาจบลงด้วยภาพปัญหาที่ชัดเจนในความรู้สึกของผู้เขียน ในช่วงของการดื่มน้ำชาก่อนลาจากกัน ผู้เขียนได้ถือโอกาสซักถามเกี่ยวกับครอบครัวของท่าน ท่านได้เล่าให้ฟังถึงความสำเร็จของลูกชาย ที่สามารถสอบเข้าเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียได้ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท ในฐานะพ่อ ท่านบอกเล่าเรื่องราวที่แสดงถึงความสามารถและความสำเร็จของบุตรชายอย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ ผู้เขียนเองก็อดชื่นชมกับความสามารถและความสำเร็จของครอบครัวของท่านไม่ได้ เพราะไม่มีความสำเร็จใดที่ยิ่งใหญ่เท่ากับการที่ครอบครัวหนึ่ง สามารถทำให้สมาชิกคนหนึ่ง บรรลุถึงความรู้ที่จะนำพาตัวเขาเองและครอบครัวไปสู่เป้าหมายปลายทางได้
ผู้เขียนกล่าวขอบคุณศาสตราจารย์ท่านนั้นแล้วจากมา ด้วยข้อมูลและข้อคิดเห็นที่มีคุณค่ามากมาย แต่เมื่อก้าวพ้นห้องของท่านมาแล้ว กลับเกิดคำถามขึ้นมามากมายหลายข้อ เช่น ทำไมศาสตราจารย์ท่านนี้จึงไม่กล่อมเกลาอบรมให้บุตรชายของท่านชื่นชอบในการศึกษาวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ตามรอยพ่อ ? เพราะเหตุใดจึงทำให้ท่านมีความสุขกับความสำเร็จในการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีของบุตรชาย ? ฯลฯ
คำถามเหล่านี้ ผู้เขียนไม่มีคำตอบและก็ไม่มีโอกาสได้กลับไปถามศาสตราจารย์ชาวอินเดียท่านนั้นอีก แต่คำถามซึ่งไม่มีคำตอบเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนมองเห็นปัญหาทางด้านปรัชญาการศึกษาชัดขึ้น เป้าหมายของชีวิต เป้าหมายของการศึกษา ทำให้เกิดความหมายของชีวิตและความหมายของการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน
3.2 ปัญหาในด้านการบริหารจัดการ
ปัญหาทางด้านปรัชญาการศึกษาที่ไม่ชัดเจน ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่น ๆ ติดตามมาอีกหลายประการ
ที่เป็นปัญหาเด่นชัดที่สุดคือ ปัญหาด้านการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษา ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อเป้าหมายและทิศทางไม่แน่ชัด
การปฏิบัติการก็ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเข้าไปกำกับ และเมื่อได้ศึกษาปัญหาต่าง
ๆ ในทางการบริหารแล้ว สามารถรวมกลุ่มปัญหาได้ดังต่อไปนี้
1. ปัญหาที่เกิดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง
2. ปัญหาที่เกิดจากขาดการวางแผนที่เป็นระบบ
3. ปัญหาที่เกิดจากระบบงบประมาณ
1. การแทรกแซงทางการเมือง
การเมืองเข้ามาแทรกแซงการศึกษา จนทำให้เกิดปัญหาในทางการบริหารที่ซ้ำซ้อนไม่มีที่สิ้นสุด
นี่เป็นปัญหาที่มีคู่กับระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียตลอดมา นับตั้งแต่ผู้ปกครองอังกฤษเข้ามาสถาปนาระบบอุดมศึกษาไว้ในสังคมอินเดีย
เมื่อครั้งที่ยังอยู่ในระบบอาณานิคม มหาวิทยาลัยอินเดียก็ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครองอาณานิคม
ครั้นเมื่อได้รับเอกราชการปกครองแล้ว การเมืองโดยชาวอินเดียเองก็เข้ามาใช้พื้นที่ทางการศึกษาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเสมอมา
จนกระทั่งมหาวิทยาลัยของอินเดียกลายเป็นเวทีทางการเมืองไปโดยปริยาย
การแทรกแซงทางการเมือง
ก่อให้เกิดปัญหาทางการบริหารนานัปการ อาทิเช่น
- การเล่นพรรคเล่นพวก แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ตามกลุ่มการเมืองที่หนุนหลัง
- การต่อสู้ทำลายกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะดี
มีความสามารถเพียงใด ก็ย่อมจะต้องถูกจ้องทำลายโดยกลุ่มบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม
- การบังคับบัญชาและต่อรองกันด้วยผลประโยชน์ตามระบบการเมือง ทำให้การบริหารขาดหลักคุณธรรม
แต่ใช้หลักผลประโยชน์แทน
- การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ไม่ได้ขึ้นกับความรู้ความสามารถของผู้บริหาร หากแต่ขึ้นอยู่กับการเมือง
ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาโดยการเมือง และต้องไปโดยการเมือง
2. ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ
แม้ว่าอินเดียจะได้ประกาศนโยบายการศึกษาแห่งชาติมานานแล้ว แต่นโยบายการศึกษาแห่งชาตินั้น
มักจะอยู่บนแผ่นกระดาษมากกว่าจะปรากฎในภาคปฏิบัติ เพราะที่สุดแล้ว การที่มหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งจะปฏิบัติตามหรือปฏิบัติเป็นอย่างอื่น
ก็ยากที่จะบังคับหรือกำกับได้ เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างมีอิสระในตัวเอง
และขึ้นอยู่กับหน่วยงานหรือรัฐบาลที่ต่างกัน การวางแผนการศึกษาให้เป็นแนวทางเดียวกันจึงทำได้ยาก
สิ่งที่จะทำได้ก็เพียงแค่ประกาศนโยบายการศึกษาแห่งชาติไว้ให้ได้อ้างถึง เมื่อต้องการทำอะไรสักอย่างแล้วสอดคล้องกับนโยบาย
แต่ถ้าต้องการทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติก็ย่อมทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงนโยบายนั้น
สถานการณ์เช่นนี้ จึงทำให้ระบบการบริหารจัดการอุดมศึกษาของอินเดียไม่มีการวางแผนที่แน่ชัดและรัดกุม แต่ปล่อยให้เป็นไปอย่างอิสระ ลักษณะเช่นที่ว่านี้อาจจะมีทั้งแง่ดีและแง่ด้อย แต่ที่แน่ ๆ คือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาได้ เช่น
- เกิดสถาบันอุดมศึกษาใหม่ ๆ ทั้งระดับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอย่างไร้ทิศทาง ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ
- การบริหารเป็นไปตามปัญหา มากกว่าจะเป็นตามเป้าหมายที่วางแผนกำหนดไว้
3. ขาดแคลนงบประมาณ
งบประมาณอันจำกัด เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการบริหารกิจการอุดมศึกษาของอินเดีย
ปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณนี้ มักจะถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างเสมอเมื่อมีปัญหาใด ๆ ทางการบริหารแล้วไม่สามารถแก้ได้อย่างทันท่วงทีหรือกลายเป็นปัญหายึดเยื้อ
ความจำกัดด้านงบประมาณทำให้เกิดปัญหาทางการบริหาร ทั้งด้านการบริหารงานบุคคล
และการบริหารงานวิชาการ
- ในด้านบุคลากร ความจำกัดด้านงบประมาณทำให้เกิดสภาวะสมองไหลไปสู่ภาคเอกชนและไหลออกนอกประเทศ เพราะรายได้ในภาคเอกชนสูงกว่าภาครัฐ และได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในยุคปัจจุบัน กล่าวคือ บุคคลระดับสมองของอินเดียไหลไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลนี้เป็นปัญหาที่แก้ยากส่วนหนึ่ง เพราะภาครัฐขาดแคลนงบประมาณ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการแปรรูปมหาวิทยาลัยให้เป็นเอกชน
- ในด้านวิชาการ การขาดแคลนงบประมาณ มีส่วนก่อให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะเมื่อมีการกำหนดมาตรฐานทางวิชาการด้วยการเทียบเคียงกับต่างประเทศ ความอ่อนด้อยของมหาวิทยาลัยอินเดียก็คือ มีงบประมาณในการจัดการศึกษาน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ
สามศตวรรษของอินเดียในฐานะเหยื่อของจักรวรรดินิยม
กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญหาของระบบอุดมศึกษาอินเดียก็คือ ปัญหาอันสืบเนื่องมาจากปัญหาทางสังคมอินเดียนั้นเอง
ความตกต่ำและเสื่อมทรุดทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา เป็นผลให้เกิดปัญหาในด้านต่าง
ๆ รวมทั้งปัญหาทางด้านอุดมศึกษาด้วย. ในห้วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 ศตวรรษ ที่สังคมอินเดียตกอยู่ในสถานะเป็นเหยื่อของระบบจักรวรรดินิยม
ที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากสังคมอินเดีย ในช่วงเวลาดังกล่าว อินเดียได้สูญเสียความเป็นอินเดียที่ทรงพลังไป
ความตกต่ำและแตกสลายของระบบค่านิยมแบบอินเดีย ทำให้อินเดียสูญเสียความเชื่อมั่นในความเป็นอินเดีย
ปัญหาที่เกิดจากความตกต่ำและแตกสลายทางวัฒนธรรมนี้ ได้มาปรากฏอยู่ในระบบอุดมศึกษาของอินเดียปัจจุบัน
การถูกแทรกแซงและกดดันจากฝ่ายการเมือง ความขาดแคลนงบประมาณที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามโครงการที่คิดไว้ การขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพและคุณธรรม ตลอดจนการขาดแผนปฏิบัติการที่เป็นระบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจน เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัญหาในการบริหารจัดการในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้น
มหาวิทยาลัยจำนวนมากของอินเดีย มีอยู่เพียงเพื่อจะได้ชื่อว่ามีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในท้องถิ่นนั้น ๆ และเพื่อจะได้ทำให้คนที่อยู่เขตมหาวิทยาลัย/วิทยาลัย ได้มีงานทำ อย่างน้อยก็เป็นเสมียน นักการภารโรง ของมหาวิทยาลัย ผู้บริหารสนใจแต่หนทางที่จะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น คณาจารย์สอนหนังสือไปโดยไม่สนใจการแสวงหาความรู้ทางวิชาการเพิ่มเติม นักศึกษาลงทะเบียนเป็นนักศึกษาเพราะจะได้สิทธิพิเศษบางประการ เช่น ได้อยู่ในพอพัก และสามารถมาอยู่ในเขตเมืองได้ เหล่านี้ คือ สภาพของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นไปโดยไร้หลักการบริหารจัดการ
แม้ปัญหาในด้านการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย จะเป็นปัญหาที่มีมานานคู่กับระบบอุดมศึกษาของอินเดีย แต่ดูเหมือนกับว่า สังคมอินเดียมองปัญหาของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องปกติ แต่ในระยะเวลาประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัญหาด้านการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาได้ถูกยกขึ้นมากล่าวถึงในมิติใหม่ นั่นคือ สังคมอุตสาหกรรมและการค้า เริ่มเข้ามาบีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และที่สุดก็มาถึงจุดที่เรียกร้องให้มีการแปรรูปกิจการอุดมศึกษาให้เป็นอิสระจากรัฐ
3.3 ปัญหาด้านคุณภาพของผลผลิต
แท้จริงแล้ว ความหมายของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ผลผลิต คือ บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฏีบัณฑิต
ที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัย จะสามารถทำให้เกิดผลดังที่สังคมคาดหวังได้หรือไม่
ในสังคมอินเดีย ผลที่เกิดขึ้นจากการที่มีมหาวิทยาลัยในแนวทางสร้างชาติมาเกือบ
60 ปี มีผู้ที่จบการศึกษาที่รู้หนังสือ แต่ไม่รู้ชีวิตและสังคม รู้ทางเอาตัวรอด
แต่ไม่รู้วิธีที่จะทำให้สังคมและประเทศชาติรอดพ้น เป็นปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
ผลผลิตที่มาจากชนบท เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ไม่พร้อมจะกลับไปสู่ชนบท แต่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อจะอยู่ในเมือง ผู้ที่มาจากเมืองก็เรียนหนังสือเพื่อจะไปอยู่ในมหานครใหญ่ เช่น บอมเบย์ กัลกัตตา เดลี ผู้ที่อยู่ในเมืองมหานครอยู่แล้ว ก็ใฝ่ฝันอยากจะไปอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ของผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ต่างไม่พอใจกับสังคมอันเป็นถิ่นกำเนิดของตนเอง แล้วพยายามวิ่งหนีสังคมเดิมของตนเอง โดยทิ้งญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมสังคมไว้ข้างหลัง สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกและมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน แทนที่มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาวิชาชีพจะแก้ปัญหานี้ แต่ดูเหมือนกับว่าสถาบันอุดมศึกษากลับช่วยสนับสนุนกระแสดังกล่าว ด้วยการพยายามเปิดหลักสูตรที่สามารถทำให้ผู้ที่จบการศึกษา สามารถหนีไปให้พ้นสังคมเดิมของตนเองได้ดีขึ้น ดังกรณีของหลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ดในทุก ๆ เมืองของอินเดีย เพราะเป็นวิชาที่สามารถเปิดทางให้คนชนบทไหลเข้าสู่เมือง และนำคนในเมืองไหลไปยังต่างประเทศ จนปรากฏไปทั่วโลกว่า อินเดียเป็นแหล่งผลิตนักคอมพิวเตอร์ส่งออกรายใหญ่ของโลก
ผลผลิตทางการศึกษาที่เป็นเช่นนี้ ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์และเป้าหมายของอุดมศึกษาที่กระบวนการกู้ชาติกำหนดไว้เลย เพราะนอกจากจะไม่ได้สร้างชาติอินเดียให้เป็นเอกภาพ มีความมั่นคง และมีเกียรติภูมิในความเป็นอินเดียแล้ว กลับตรงกันข้าม คือ ยิ่งขาดเอกภาพ สูญเสียความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และหมดความภูมิใจในความเป็นอินเดียของตนเอง
อินเดียยังไม่พ้นจากการเป็นอาณานิคมทางปัญญา
เป็นที่รู้อยู่แก่ใจของนักวิชาการด้านการศึกษาของอินเดียว่า ระบบอุดมศึกษายุคใหม่เป็นมรดกของการปกครองอาณานิคม
ที่สร้างระบบอุดมศึกษาขึ้นมาเพื่อผลิตบุคลากรป้อนระบบอาณานิคม การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยสังคมอินเดียให้ปลอดพ้นจากการปกครองแบบอาณานิคม
ได้ประสบความสำเร็จแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 แต่ทว่าอาณานิคมทางการศึกษายังมีอยู่ในอินเดีย
เพราะนักการศึกษาอินเดียไม่สามารถปลดปล่อยสถาบันอุดมศึกษาให้ปลอดพ้นจากระบบการศึกษาแบบอาณานิคมได้
ความเป็นอาณานิคมทางการศึกษาดูได้จากผลผลิตทางการศึกษา ที่ยังเป็นไปเหมือนในยุคอาณานิคม กล่าวคือ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา กลายเป็นคนแปลกแยกจากวิถีชีวิตของชุมชนตนเอง ไม่สามารถกลับคืนสู่ชุมชนของตนเองได้ เพราะไม่พอใจกับวิถีชีวิตที่พ่อ-แม่ของตนเองเคยเป็นอยู่ และอยากจะดำเนินชีวิตตามแบบสังคมเมืองสมัยใหม่
ผลผลิตทางการศึกษา ที่กลายเป็นความแปลกแยกนี้ยังมีเป็นจำนวนมากในสังคมอินเดีย แม้ว่าจะมีความพยายามจากหลาย ๆ ฝ่ายที่จะทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาสร้างผลผลิตที่สอดคล้องกับสภาพสังคมอินเดีย ที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบทและเป็นเกษตรกร ผลผลิตเช่นนี้เองที่แสดงให้เห็นว่า อุดมศึกษาอินเดียส่วนหนึ่งยังเป็นระบบการศึกษาแบบอาณานิคม แต่อย่างไรก็ตามที นักการศึกษาอินเดียก็ได้พยายามที่จะทำให้ระบบการศึกษาเป็นอินเดีย ด้วยการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาจากสภาพปัญหาอันเป็นปัญหาของสังคมอินเดีย ดังที่พยายามสร้างมหาวิทยาลัยทางการเกษตร และมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาตามคตินิยมของอินเดียโบราณ
วิพากษ์ผลผลิตอุดมศึกษาอินเดีย
หากจะกล่าวจากมุมมองของฝ่ายที่ยังไม่พอใจต่อผลผลิตของอุดมศึกษาอินเดียที่ผ่านมา
ผลผลิตของอุดมศึกษาอินเดียถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักใน 3 ลักษณะ คือ
1. ผลผลิตที่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมอินเดีย
2. ผลผลิตที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล
3. ผลผลิตที่ทำให้เกิดการขยายช่องว่างทางสังคม
1. ผลผลิตที่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมอินเดีย สถาบันอุดมศึกษาอินเดียมุ่งผลิตบัณฑิตตามแนวที่อังกฤษกำหนดไว้คือ สร้างคนเพื่อรับใช้ผู้ปกครองและผู้มีอำนาจในสังคม เมื่อยังอยู่ในยุคอาณานิคม บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยก็รับใช้ผู้ปกครองอังกฤษ เมื่ออินเดียได้รับเอกราชแล้ว บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยก็หันไปรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแทน ผลผลิตเช่นนี้ จึงไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมอินเดียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยอำนาจ และมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี
2. ผลผลิตที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ระบบมหาวิทยาลัยของอินเดียที่สืบต่อกันมานานถึง 140 กว่าปี เป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมความรู้เชิงปัจเจก คือทำให้ปัจเจกชนมีความรู้แต่ไม่ได้สร้างความรู้ให้แก่ชุมชน ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยเป็นความรู้ส่วนตัว สมาชิกจากชุมชนหนึ่งที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ ก็ได้ความรู้เฉพาะตัวบุคคลผู้นั้น และผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยก็มีความสามารถเพียงแค่เอาตัวเองให้รอด ไม่ได้นำพาชุมชนให้รอดดังเช่นบัณฑิตของสังคมอินเดียในอดีต. มหาวิทยาลัยอินเดียยุคใหม่ จึงทำได้เพียงแค่ผลิตช่างฝีมือที่พร้อมจะเป็นมนุษย์เงินเดือน (Salary-Man) ไม่ได้สร้างบัณฑิตในความหมายเดิมของอินเดีย ที่หมายถึงผู้รู้ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้
3. ผลผลิตที่ทำให้เกิดการขยายช่องว่างทางสังคม ผลผลิตจากอุดมศึกษาทำให้เกิดคนวรรณใหม่ที่ไม่ประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่เป็นคนดี คนเก่ง และคนมีความสุขแบบส่วนตัว แบบดีคนเดียว เก่งคนเดียว และสุขคนเดียว. คนอินเดียรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง จะมีลักษณะเป็นบุคคลที่มีนิยามความเป็นตัวตนที่ไม่สัมพันธ์กับผู้อื่นและชุมชนดังเช่นคนอินเดียในอดีต คนรุ่นใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จส่วนบุคคล และพอใจส่วนตน โดยไม่คิดคำนึงถึงชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติและความเสื่อมของชุมชน-สังคม ยิ่งมหาวิทยาลัยผลิตบุคคลเช่นนี้ออกมามาก ก็ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนมีกับคนไม่มีมากขึ้น
ข้อวิพากย์วิจารณ์ของฝ่ายที่ไม่พอใจกับระบบอุดมศึกษาที่เป็นอยู่ คงเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเป็นด้านหลัก ในความเป็นจริงคงไม่ได้หมายความว่า ผลผลิตทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตาม มุมมองในแง่ลบนี้ก็สามารถอธิบายให้เห็นความบกพร่องที่มีอยู่ในระบบการศึกษาของอินเดียได้ และการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวก็คงไม่ได้หมายความว่า ระบบการศึกษาของอินเดียเลวร้ายไปเสียทั้งหมด แต่ความมุ่งหมายของผู้วิจารณ์คงต้องการให้มีการแก้ไข ปรับปรุง การศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดผลผลิตที่น่าเกลียด น่าชัง ดังที่กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ลักษณะ
4 แนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาอุดมศึกษาอินเดีย
คณะกรรมการหลายชุดที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข แต่ในที่สุดก็จบลงเหมือนเดิมคือ
มีผลของการศึกษาที่คณะกรรมการจัดทำขึ้นเพื่อรายงานให้หน่วยงานที่แต่งตั้งรับทราบ
หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพของการศึกษา ก็จะส่งผลของการศึกษาไปให้มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทราบและดำเนินการแก้ไข
แต่ทว่าภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ สุดท้ายปัญหาก็ไม่ได้รับแก้ไข และความผิดก็ตกอยู่ที่สภาพเงื่อนไขนั้น
เพราะสุดวิสัยที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้
จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เดินทางไปพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกับบุคลากรฝ่ายต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยของอินเดีย พบบุคลากรทุกฝ่าย นับตั้งแต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จนกระทั่งถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ต่างรู้ปัญหาทุกอย่าง แต่ทุกฝ่ายต่างก็มีความรู้สึกคล้ายๆ กัน ด้วยคำพูดเชิงคำถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร ?
อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลทัศนะของนักการศึกษาที่เสนอทางออกของปัญหาอุดมศึกษา พบว่า สังคมอินเดียมีวิธีการเพื่อแก้ปัญหาของอุดมศึกษาอยู่ 3 แนวทาง คือ
4.1. พยายามประสานความขัดแย้ง เพื่อแสวงหาแนวทางของอินเดียเอง
4.2. ยอมรับรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
4.3. สร้างระบบคู่ขนาน เพื่อควบคุมและขจัดความขัดแย้งทางการศึกษา
4.1 ทำให้เป็นอินเดีย
(Indianisation)
สังคมอินเดียเป็นสังคมหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ในแง่ของความสามารถในการดูดกลืนสิ่งต่าง
ๆ ที่แปลกแตกต่างปรับให้เป็นอินเดีย คุณลักษณะที่ว่านี้ไม่ใช่เพิ่งจะมีในปัจจุบัน
แต่ปรากฏให้เห็นได้จากอดีต ดังที่สังคมอินเดียได้ทำให้สิ่งที่เข้ามาจากภายนอกกลายเป็นอินเดีย
ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของพวกอารยัน แล้วเกิดความขัดแย้ง ที่สุดก็นำไปสู่ความเป็นอินเดียที่รวมเอาวัฒนธรรมอารยันผสมผสานเข้ากลายเป็นอินเดีย
เมื่อเกิดความคิดขัดแย้งกันทางศาสนาในหมู่ชาวอินเดีย ที่สุดก็ทำให้เป็นฮินดู
หรือแม้กระทั้งเมื่ออารยธรรมเปอร์เซียเข้ามาสู่อินเดีย ที่สุดก็กลายเป็นการผสมผสานให้ปรากฏเป็นวัฒนธรรมอินเดียอีกแบบหนึ่ง
ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ความแตกต่าง อันเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้งในทางการศึกษา ระหว่างผู้ที่สนับสนุนการศึกษาแบบตะวันตกกับผู้ที่สนับสนุนการศึกษาแบบอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่แรกที่อังกฤษเข้ามาจัดการศึกษาในสังคมอินเดีย และเป็นความขัดแย้งที่ยังมีอยู่แม้ในปัจจุบัน ปรากฏการณ์อันเป็นความขัดแย้งกันขึ้นทางการศึกษาดังกล่าว ก็มีลักษณะเหมือนกับความขัดแย้งอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์อินเดีย ชาวอินเดียส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เคยมีมาแล้ว และจะเป็นไปคล้ายอดีตอีก นั่นคือ ที่สุดแล้วก็จะเกิดการสังเคราะห์ให้กลายเป็นอินเดีย เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเขาชาวอินเดียปัจจุบันก็คือ การผสมผสานความขัดแย้งให้ผสมกันโดยกระบวนการทำให้เป็นอินเดีย
กระบวนการแสวงหาแนวทางเพื่อทำความขัดแย้งกันทางการศึกษาให้รวมกันเป็นแบบอินเดียนี้ ได้เริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่ออินเดียได้รับเอกราชทางการปกครองในปี ค.ศ. 1947 สังคมอินเดียรู้จักกระบวนการนี้ในชื่อว่า "สวเทศี" (Swadeshi)
กระบวนการสวเทศี (Swadeshi)
กระบวนการสวเทศี เป็นกระบวนการทางสังคมที่จะผลักดันให้เกิดระบบการศึกษาที่เป็นแบบอินเดีย
โดยมีสังคมอินเดียเป็นเป้าหมายทางการศึกษาในทุกระดับของการศึกษา เพราะฉะนั้น
ทุกๆ ครั้งที่มีการโต้แย้งกันทางการศึกษา หลักเกณฑ์ในการยุติข้อโต้แย้งต้องอยู่ที่ความเป็นอินเดีย
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการศึกษา วิธีการศึกษา หรือจุดมุ่งหมายของการศึกษา ทั้งหมดทั้งสิ้นจะต้องเป็นไปเพื่อความเป็นอินเดีย
ความดีของแต่ละข้อเสนอจะต้องถูกประเมินจากความหมายที่สนองตอบความเป็นอินเดีย
เมื่อเป้าหมายทางการศึกษาอยู่ที่ความเป็นอินเดียที่มั่นคง รุ่งเรือง และมีศักดิ์ศรีที่ดีงาม นักการศึกษาและผู้นำในภาคต่าง ๆ ของสังคม จะต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ความเป็นอินเดียที่มั่นคง รุ่งเรือง ดีงาม นั้น หมายความว่าอย่างไร และทำให้เกิดขึ้นโดยวิธีใด. โจทย์ที่สำคัญมาก ๆ ในความคิดของนักการศึกษายุคประชาธิปไตยหลังจากได้เป็นประเทศราชแล้วคือ การวางรากฐานของการศึกษาให้มั่นคง และรากฐานที่สำคัญของการศึกษาคือ ตีโจทย์ที่ว่าด้วยความเป็นอินเดียให้แตกว่า ความเป็นอินเดียยุคใหม่นั้นจะต้องประกอบด้วยโครงสร้างอะไรบ้าง และจะสร้างสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ผู้นำของอินเดียยุคใหม่ในขณะนั้นเช่น ท่านบัณฑิตยวาหระลาล เนห์รู ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี, ดร.ราธกฤษณัน ซึ่งเป็นผู้นำในทางด้านอุดมศึกษา ต่างมีความเห็นตรงกันว่า โครงสร้างของความเป็นอินเดียยุคใหม่ จะต้องประกอบด้วยแกนหลักสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ความเป็นอินเดียในส่วนที่เป็นรัฐชาติ (Nation State)
2. ความเป็นอินเดียส่วนที่เป็นระบบเศรษฐกิจ
3. ความเป็นอินเดียในส่วนระบบคุณค่าและวิถีชีวิต
แกนที่ 1 ของความเป็นอินเดียนั้นจะต้องสร้างผ่านกระบวนการปลูกฝังจิตสำนึกชาตินิยมอินเดีย ที่ทำให้ทุกคนมีความเป็นอินเดียรวมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดและลัทธิความเชื่อใด จะต้องสำนึกร่วมกันว่าเป็นอินเดียเหมือนกัน
แกนที่ 2 ของความเป็นอินเดีย คือระบบสร้างเศรษฐกิจที่มีสังคมอินเดียเป็นเป้าหมาย สังคมอินเดียที่มีพื้นที่ให้กับทุก ๆ กลุ่มชน ที่จะอยู่ร่วมกันและสุขทุกข์ด้วยกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งสังคมนิยมจึงถูกทำให้เป็นคำตอบต่อโจทย์ข้อนี้
แกนที่ 3 ของความเป็นอินเดียคือ วิถีชีวิตที่ดำเนินไปบนระบบคุณค่าแบบที่บรรพบุรุษของอินเดียในอดีตได้วางไว้ และพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นวิถีที่งดงาม มีศักดิ์ศรี มีผลเป็นสันติสุข
การทำให้เป็นแบบอินเดียในทางการศึกษา จึงเป็นการสร้างระบบการเรียนรู้เพื่อสนองตอบต่อความมั่นคงของแกนหลักแห่งความเป็นอินเดีย จึงไม่แปลกใจเลยว่า หลักสูตรของนักเรียนในโรงเรียน เมื่อสอนเกี่ยวกับโภชนาการและกล่าวถึงอาหาร 5 หมู่ที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ ในหมวดโปรตีน ตำราเรียนไม่ได้ระบุว่าโปรตีนมีอยู่ในเนื้อสัตว์ หากแต่บอกว่ามีโปรตีนอยู่ในถั่วเหลือง ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการทำให้เกิดตรรกะในความคิดว่า โปรตีนจำเป็นต่อร่างกาย และโปรตีนมีอยู่ในเนื้อสัตว์ เพราะฉะนั้นควรทานเนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่ายกายได้รับสารอาหารครบถ้วนทุกหมวดหมู่ แต่เพื่อให้เกิดตรรกะที่สอดคล้องกับระบบคุณค่าและวิถีชีวิตแบบอินเดีย ดังนั้น ตำราเรียนจึงบอกว่า โปรตีนมีอยู่ในถั่วเหลือง เพราะฉะนั้นควรทานถั่วเหลืองเพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่าหลักสูตรโภชนาการถูกทำให้เป็นอินเดียได้แล้ว ในเรื่องอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน จะต้องปรับเปลี่ยนทุกส่วนให้สอดคล้องกับเป้าหมาย คือ ความเป็นอินเดีย
ด้วยวิธีการเช่นนี้ ทำให้ความแตกต่างในเรื่องต่าง ๆ ถูกลดความหมายที่จะกลายเป็นความขัดแย้ง ให้มาเป็นเพียงแค่ต่างวิธีแต่มีเป้าหมายเดียวกัน กระบวนการโต้แย้งกันแบบนี้บางครั้งคนต่างวัฒนธรรมไม่ค่อยเข้าใจ มักจะมองว่าชาวอินเดียเป็นคนพูดมาก จนมีการพูดตลก ๆ กันในหมู่ผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติว่า ถ้าเมื่อใดถึงวาระที่ชาวอินเดียจะพูดก็สามารถออกไปพักผ่อนหรือทำธุระอื่น ๆ ได้ เพราะชาวอินเดียจะพูดมากและพูดยาวอย่างแน่นอน ลักษณะการพูดยาวและพูดมากของชาวอินเดียนั้นมาจากความหมายที่ว่า ต้องทำให้ความแตกต่างที่หลากหลาย กลายมาเป็นการผสมผสานให้เกิดคุณค่าที่ต้องการได้เหมือนกันนั้นเอง
4.2 รูปแบบที่หลากหลายเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า มหาวิทยาลัยกว่า 200 แห่งและวิทยาลัยอีก 10,000 กว่าแห่งทั่วอินเดียนั้น
ล้วนมีความแตกต่างให้ได้สัมผัสอย่างตื่นตาตื่นใจ บางแห่งมีความโอ้อ่าทันสมัยเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของโลกยุคใหม่
เช่น ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย มหาวิทยาลัยบอมเบย์ มหาวิทยาลัยปัญจาบ แต่ไปอีกที่หนึ่งเต็มไปด้วยยรรยากาศที่อบอวลไปด้วยเสียงสวดมนต์
บ้างเป็นเสียงสวดมนต์ของชาวฮินดู เช่น ที่มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี บ้างเป็นเสียงสวดมนต์ของชาวมุสลิม
เช่น ที่มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ห บ้างอบอวลไปด้วยเสียงเพลงอันไพเราะของเด็กนักเรียน
เช่น ที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานติ นิเกตัน. บรรยากาศที่กล่าวถึงนี้ล้วนแต่เป็นมหาวิทยาลัย
เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักดิ์ศรีและคุณค่าพอ ๆ กัน ในความหมายของอุดมศึกษา
ในส่วนของขนาดพื้นที่นั้น ยิ่งมองเห็นความแตกต่าง เพราะบางแห่งมีเพียงอาคารและพื้นที่ตั้งขนาดเล็กๆ เช่น มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า ที่เมืองโกไดกะนัล แต่อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งกลับกว้างขวางใหญ่โตด้วยเนื้อที่ เช่น มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี แต่ไม่ว่ากว้างหรือแคบด้วยเนื้อที่ ทุกแห่งล้วนเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความยิ่งใหญ่ ในภารกิจเหมือนกัน
ภาพของความแตกต่างไม่ว่าในแง่รูปธรรม เช่น อาณาบริเวณ หรือนามธรรม เช่น บรรยากาศและรูปแบบแห่งการเรียนรู้ ล้วนเป็นความแตกต่างที่ทำให้ความเป็นมหาวิทยาลัยในสังคมอินเดียมีความหมายที่ลุ่มลึกและกว้างไกล เพราะทั้งหมดทั้งสิ้นที่แตกต่างกันนั้น ล้วนแต่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ในสังคมมีมิติที่กว้างและลึกไปพร้อม ๆ กัน เพราะเมื่อกล่าวโดยที่สุดแล้ว อุดมศึกษาก็คือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อสนองตอบจินตนาการของมนุษย์ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้ เพราะถูกเงื่อนไขของโลกบีบคั้น. นักการศึกษาอินเดียมองความแตกต่างเหล่านี้ เป็นความสวยงามทางการศึกษาในสังคมอินเดีย และนี้เอง ที่ทำให้ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียบรรลุถึงความเป็นเอกภาพบนความหลากหลาย
4.3 ระบบคู่ขนานทางการศึกษา
จากความขัดแย้งแตกต่างกันในประเด็นต่าง ๆ ทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเป้าหมายและวิธีการจัดการศึกษา
มาถึงวันนี้พบว่า นักการศึกษาและสังคมอินเดียได้ทำให้เกิดระบบคู่ขนานกันทางการศึกษาขึ้นมาได้
คือ มีความแตกต่างกันทั้งในทางรูปแบบและเนื้อหา แต่ว่าเป็นไปด้วยกันได้ในสังคมเดียว
ตัวอย่างของระบบคู่ขนานทางการศึกษาสามารถดูได้จากระบบการศึกษาทางด้านเทคโนโลยี
และระบบการศึกษาทางด้านการเกษตร
แทบไม่น่าเชื่อว่า การศึกษา 2 ระบบนี้อยู่ในสังคมเดียวกัน. ระบบการศึกษาทางด้านเทคโนโลยี เป็นกระบวนการศึกษาที่ดำเนินไปตามกระแสโลกอย่างเด่นชัด โดยไม่มีข้อลังเลสงสัยในหมู่ชาวอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางการศึกษา หรือรูปแบบของการศึกษา. ในเชิงเป้าหมายของสถาบันการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีทุกแห่ง มีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อการแข่งขันที่จะทำให้สังคมอินเดียมีศักยภาพในการต่อสู้ทางด้านอุตสาหกรรมกับประเทศต่าง ๆ ในโลก. เป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีคือ การต่อสู้กันในสนามการค้า การตลาด เนื้อหาสาระของการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องของการแข่งขันกันบนเวทีโลกโดยไม่ต้องแคลงใจ
สถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีของอินเดีย จึงตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นเขตอุตสาหกรรม ระบบการบริหารจัดการก็เป็นไปภายใต้กลไกการตลาด นักศึกษาที่เข้ามาสู่สถาบันเหล่านี้ เป็นเหมือนนักกีฬาที่พร้อมจะลงสู่สนามแข่งขันในทุก ๆ สนาม ไม่ต้องมีความกังขาใด ๆ เลยว่า สถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีคือ สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นตลาดวิชาเพื่อผู้ลงทุนในธุรกิจการค้า นี่คือ สถาบันอุดมศึกษาของสังคมอุตสาหกรรม ที่มุ่งความคุ้มค่าคุ้มทุนทางด้านการตลาด
แต่ในขณะเดียวกัน สังคมอินเดียก็มีมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรที่ตั้งอยู่ในเขตชนบท การศึกษาค้นคว้าก็เป็นไปตามท้องไร่ท้องนา กับเกษตรกรผู้ยากจนในชนบท เป้าหมายของมหาวิทยาลัยทางการเกษตรก็มีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่งคือ เพื่อยกระดับชีวิตของเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง และภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกรของตนเอง
มหาวิทยาลัยทางการเกษตรของอินเดีย ไม่มีความมุ่งหมายที่จะแข่งขันกับใครในเวทีโลก ไม่ต้องการผลิตบัณฑิตเพื่อออกจากเมืองเล็กไปสู่เมืองใหญ่ แต่ต้องการให้เยาวชนคนหนุ่มสาวอยู่ในชนบท อยู่กับชุมชนด้วยความภาคภูมิใจ เป้าหมายของมหาวิทยาลัยทางการเกษตรที่ประกาศไว้ว่า ต้องการสร้าง "ภูมิบุตร" เป็นถ้อยคำที่ไพเราะมาก เป็นคำภาษาอินเดียที่ไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำที่มีความหมายที่ชัดเจนในใจของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทางการเกษตร ที่เขาได้เป็นลูกของแม่พระธรณี ที่เป็นผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิต รวมทั้งตัวเขา และจะอยู่ร่วมกันใน "ภูมิคาม" แห่งนี้ร่วมกัน
ความแตกต่างระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีและทางด้านเกษตร เป็นความแตกต่างที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่เป็นคู่ขนาน. สถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีอิงแอบแนบสนิทอยู่กับสังคมอุตสาหกรรม อันเป็นสังคมเมือง เป็นระบบทุนนิยม ที่เป็นไปภายใต้กลไกของการตลาด เพื่อเป้าหมายคือความรุ่งเรือง มั่งคั่ง ของวัตถุอันเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้
สถาบันอุดมศึกษาทางด้านการเกษตรดำรงอยู่ในสังคมเกษตรกรรม อันเป็นสังคมชนบท เป็นระบบพึ่งพาอาศัยที่เป็นไปภายใต้ความสัมพันธ์แบบเกื้อกูล เพื่อเป้าหมายคือ ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร
ตัวอย่างแห่งคู่ขนานระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทางด้านการเกษตรและเทคโนโลยีนี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่มองเห็นได้ว่า นักการศึกษาและผู้นำอินเดียกำลังแก้ปัญหาทางการศึกษาและสังคมเขาอย่างไร
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความวิชาการเกี่ยวเนื่อง
1566. มหาวิทยาลัยอินเดียกับการเมือง การเงิน การศาสนาและสังคม
1567. ผลผลิตและผลกระทบของอุดมศึกษาอินเดีย มหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บนซากปรักหักพังแห่งอาคารเรียนรู้เก่าแก่นั้นเอง อังกฤษก็ได้ก่อสร้างอาคารเรียนรู้ คือระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลังใหม่ขึ้นมา เป็นระบบแห่งการเรียนรู้ ที่ออกแบบโดยชนชาวอังกฤษเพื่อสนองตอบต่อ ประโยชน์ใช้สอยของผู้ปกครอง และวันหนึ่ง เมื่อผู้ปกครองจากต่างแดนเหล่านั้นจำต้องออกไปจากอินเดีย อาคารแห่งการเรียนรู้หลังนั้นก็ตกมาเป็นมรดกของชาวอินเดีย คนอินเดียกลุ่มหนึ่งเติบโตมากับระบบการเรียนรู้นั้น เขาเหล่านั้นคุ้นเคยและพอใจที่จะอยู่กับระบบดังกล่าว แต่ชาวอินเดียอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองระบบนั้นด้วยความเจ็บปวด และไม่พอใจที่จะอยู่ภายใต้กรอบอังกฤษ แต่จะทำอย่างไรได้ จะทุบอาคารแห่งการเรียนรู้ที่ผู้อื่นมาสร้างไว้ทิ้งไปเสียก็ทำไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นสถาบันหนึ่งของสังคมไปเสียแล้ว ...