ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




14-06-2551 (1586)

อุดมศึกษาของอินเดีย : ปัญหาและแนวทางแก้ไข
ปัญหาที่อยู่ใต้พรมในการอุดมศึกษาของอินเดีย ตอนที่ ๑
ดร.ประมวลเพ็งจันทร์ และ ผศ.สมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความชิ้นนี้เป็นเนื้อหาบทที่ ๕ : อุดมศึกษาของอินเดีย : ปัญหาและแนวทางแก้ไข
จากโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี เรื่อง ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค

ความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีสถานะเป็นสถาบันอันสูงส่งในสังคมอินเดีย
ชาวอินเดียทั่วไปมีความสำนึกถึงสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็น "เทวาลัยแห่งการเรียนรู้" (Temple of Learning)
และเชื่อว่าเทวาลัยแห่งการเรียนรู้จะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะนำพาอินเดียไปสู่เป้าหมายที่ดีงามได้

แต่อย่างไรก็ตาม หลังการเป็นเอกราชของอินเดีย การอุดมศึกษาที่เคยอยู่ในการควบคุมของอังกฤษ
ที่ได้รับการปลดปล่อยให้มาอยู่ในมือของคนอินเดียก็ยังมีปัญหาอยู่ ทั้งนี้ตัวปัญหาใหม่ๆ คือ
กระแสโลกาภิวัตน์และแนวคิดทุนนิยมที่เน้นการบริโภคของปัจเจก ได้ละเลยการแก้ปัญหาชุมชน
และคุณค่าจิตวิญญาน ในบทความนี้จะแยกแยะให้เห็นปัญหาและหนทางแก้ไข ดังหัวข้อต่อไปนี้

- ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียมีปัญหาอย่างไร?
- ข้อจำกัดต่าง ๆ ในการจัดการศึกษาระบบอุดมศึกษาของอินเดีย
- ความรู้เป็นดวงตาที่ ๓ เป็นกระบวนการตามระบบทวิชาติ
- การศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อคนชั้นสูง
- อมารตยา เซน: อังกฤษจัดการศึกษาด้วยเกณฑ์ทางการเมือง
- ค่านิยมในสังคมและกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมฮินดูที่หดหาย
- อุปสรรคในการบริหารจัดการ การศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
- อินเดีย กับ ตะวันตก, รัฐบาลอินเดียกับประกาศนโยบายทางการศึกษาแห่งชาติใหม่
midnightuniv(at)gmail.com


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๘๖
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อุดมศึกษาของอินเดีย : ปัญหาและแนวทางแก้ไข
ปัญหาที่อยู่ใต้พรมในการอุดมศึกษาของอินเดีย ตอนที่ ๑
ดร.ประมวลเพ็งจันทร์ และ ผศ.สมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

คลิกอ่านบทความเกี่ยวเนื่อง

ความนำ
อุดมศึกษายุคใหม่ของอินเดียเกิดขึ้นและเป็นไปภายใต้ข้อจำกัด เพราะเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่แปลกแตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ (ดังที่กล่าวมาแล้วในบทก่อนหน้านี้) เริ่มต้นจากการเป็นสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นมรดกทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นในยุคที่คนต่างด้าวท้าวมาสร้างไว้ให้ แม้ว่าอินเดียจะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ทว่าระบบอุดมศึกษาอันเป็นมรดกเดิมนั้นชำรุดทรุดโทรม หรืออาจจะกล่าวได้ว่าพังทะลายหมดแล้ว ถ้าหากจะเปรียบระบบอุดมศึกษาของอินเดียเดิมกับอาคารบ้านเรือน ก็อาจจะกล่าวได้ว่า อาคารแห่งการเรียนรู้หลังเก่าแก่ดั้งเดิมฟังทะลายลงมากองอยู่กับพื้น เหลือปรากฏอยู่เพียงซากของอาคารการเรียนรู้แห่งอดีตเท่านั้น

และบนซากปรักหักพังแห่งอาคารเรียนรู้เก่าแก่นั้นเอง อังกฤษก็ได้ก่อสร้างอาคารเรียนรู้ คือระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลังใหม่ขึ้นมา เป็นระบบแห่งการเรียนรู้ ที่ออกแบบโดยชาวอังกฤษเพื่อสนองตอบประโยชน์ใช้สอยของผู้ปกครอง และวันหนึ่งเมื่อผู้ปกครองจากต่างแดนเหล่านั้นจำต้องออกไปจากอินเดีย อาคารแห่งการเรียนรู้หลังนั้นก็ตกมาเป็นมรดกของชาวอินเดีย คนอินเดียกลุ่มหนึ่งเติบโตมากับระบบการเรียนรู้นั้น เขาเหล่านั้นคุ้นเคยและพอใจที่จะอยู่กับระบบดังกล่าว แต่ชาวอินเดียอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองระบบนั้นด้วยความเจ็บปวด และไม่พอใจที่จะอยู่ภายใต้กรอบอังกฤษ แต่จะทำอย่างไรได้ จะทุบอาคารแห่งการเรียนรู้ที่ผู้อื่นมาสร้างไว้ทิ้งไปเสียก็ทำไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นสถาบันหนึ่งของสังคมไปเสียแล้ว จะสร้างขึ้นมาใหม่ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะสร้าง จะปรับปรุงตกแต่งใหม่ก็ยากที่จะทำ ปัญหาหลาย ๆ อย่างกลายเป็นเงื่อนไขและข้อจำกัดไปเสียสิ้น

ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียมีปัญหาอย่างไร ?
ในบทความนี้จะได้พิจารณาดูว่า จากสถานการณ์ดังที่เป็นอยู่ ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียมีปัญหาเป็นอย่างไร และนักการศึกษาของเขาได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในลักษณะไหน และด้วยวิธีเช่นไร ? ซึ่งจะได้พิจารณาปัญหาดังที่ว่านั้นจาก 3 หัวข้อหลักต่อไปนี้ คือ

1. ข้อจำกัดของอุดมศึกษาอินเดีย ซึ่งจะพิจารณาดูว่ามีอะไรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวอินเดียและสังคมอินเดีย
ต้องคิดและทำดังเช่นที่เป็นอยู่ แทนที่จะเป็นอย่างอื่น

2. อุปสรรค จะดูว่ามีอะไรเป็นสิ่งกีดขวางที่ทำให้ผู้รับผิดชอบทางการศึกษา ไม่สามารถจะทำได้ในสิ่งที่ปรารถนาจะทำ

3. ปัญหา จะดูว่าสภาวะที่สับสนจนไม่สามารถควบคุมและกำหนดความแน่นอนของระบบอุดมศึกษาของอินเดียได้คืออะไร
เป็นปัญหาอย่างไร และนักการศึกษาอินเดียเขาจัดการอย่างไรกับปัญหาเหล่านั้น

1. ข้อจำกัดต่าง ๆ ในการจัดการศึกษาระบบอุดมศึกษาของอินเดีย
จากการที่ไม่ได้คิดเองสร้างเองมาตั้งแต่ต้น การรับเอาสิ่งประดิษฐ์ที่ผู้อื่นสร้างไว้จึงมีเงื่อนไขข้อจำกัดหลายประการในการใช้และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย มีสภาพที่เป็นเงื่อนไขและกลายเป็นข้อจำกัดในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่พอจะมองเห็นชัด ๆ อยู่ 3 ด้าน คือ

1.1 ด้านโครงสร้างทางกฎหมายและสังคม
1.2 ด้านงบประมาณและเงินทุน และ
1.3 ด้านค่านิยม และกระแสโลกาภิวัตน์

1.1 ข้อจำกัดทางกฎหมายและสังคม
มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาของอินเดียเกิดขึ้นตามจารีตของการปกครองแบบอังกฤษ คือ เกิดขึ้นโดยกฎหมายและเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมาย มหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งที่เกิดขึ้นในยุคอาณานิคมและเกิดขึ้นหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชแล้ว ต่างมีประเพณีในการเกิดขึ้นเหมือนกัน นั่นคือ ต้องตราเป็นกฎหมาย แม้เมื่ออินเดียมีอิสระที่จะจัดการศึกษาด้วยตนเองแล้ว จะเปิดมหาวิทยาลัยใหม่อีกกี่แห่งก็ได้ตามที่ควรจะเป็น แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องเคารพในแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่เป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งต้องยึดหลักความยุติธรรม ความเสมอภาค และเสรีภาพ

โครงสร้างทางกฎหมายนี้ได้กลายมาเป็นโครงสร้างทางสังคมที่ประชาชนชาวอินเดียทั่วไปต่างก็ตระหนักรู้ว่า มหาวิทยาลัยเป็นกิจการของรัฐที่มีให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นใครจะมาทำอะไรนอกเหนือไปจากอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้

ในสังคมอินเดียนั้น มีอยู่ 2 สิ่ง ที่ปัจเจกบุคคลทั่วไปยากที่จะแตะต้องเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ

- จารีตประเพณี เป็นมาตรการทางสังคมที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคล
- กฎหมาย เป็นมาตรการกำกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับบุคคล

ทั้ง 2 สิ่งนี้แยกจากกันไม่ค่อยออกในสังคมอินเดียยุคปัจจุบัน เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกัน เนื่องจากจารีตประเพณีที่มีพลังอยู่ได้ ยังต้องได้รับแรงหนุนจากบทบัญญัติทางกฎหมาย ขณะที่ตัวบทกฎหมายมีอำนาจบังคับอยู่ได้ก็ต้องอาศัยจารีตประเพณี. จารีตประเพณีนั้นเป็นมรดกตกทอดทางสังคมมาแต่โบราณกาล ได้มีการดัดแปลงแก้ไขแล้วก็ส่งทอดกันมาจนปัจจุบัน ได้กลายเป็นไวยากรณ์ชีวิตของชาวอินเดีย ผิด-ถูก ดี-ชั่ว ก็ถูกอธิบายตัดสินกันด้วยไวยากรณ์ คือ จารีตประเพณีนี้

ส่วนกฎหมายนั้นเป็นสิ่งใหม่ที่ถูกทำให้เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการทางสังคมในยุคอาณานิคม แม้ว่าในสังคมอินเดียก่อนหน้านั้นจะมีระบบกฎหมายของอินเดียอยู่ แต่กฎหมายโบราณของอินเดียนั้นได้ถูกทำให้หมดสภาพไป จะหลงเหลืออยู่บ้างก็อยู่ในรูปของจารีตประเพณีไปเสีย กฎหมายของอินเดียที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นระบบกฎหมายที่ถูกสถาปนาขึ้นในยุคอาณานิคมและพัฒนามาเป็นระบบกฎหมายตามแบบแผนของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ความรู้เป็นดวงตาที่ ๓ เป็นกระบวนการตามระบบทวิชาติ
ทั้งจารีตประเพณีและกฎหมาย เข้ามามีบทบาทสำคัญมากในการสถาปนาระบบมหาวิทยาลัยยุคใหม่ขึ้นในสังคมอินเดีย. ความเชื่อเกี่ยวกับความรู้ว่าเป็นดวงตาที่ 3 และกระบวนการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นกระบวนการเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ตามระบบทวิชาติ เหล่านี้ทำให้สถาบันอุดมศึกษาและการศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นความดีงาม และความสำคัญของชีวิตและสังคม ในขณะเดียวกัน กฎหมายเป็นอำนาจบังคับกำหนดผลของการศึกษาให้มีนัยแห่งความหมายทางสังคม ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยได้ถูกอภิเษกให้มีความหมายเป็นบุคคลวรรณะใหม่ ที่จะมีสิทธิในการประกอบอาชีพใหม่ และพร้อมกันนั้นก็จะมีวิถีชีวิตใหม่ตามบทบัญญัติแห่งกฏหมายในระบบการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ

ด้วยความหมายที่เป็นเช่นนี้จึงทำให้สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียเป็นสถาบันทั้งในมิติของจารีตประเพณีและในมิติของกฎหมาย ดังนั้นการจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขอะไรที่เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย จึงไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้โดยง่ายและโดยพลการของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง. "ในทางจารีตประเพณี" สถาบันอุดมศึกษาจะต้องคิดคำนึงถึงความเชื่อ ความรู้สึกของประชาชน, "ในทางกฎหมาย" สถาบันอุดมศึกษาจะเกิดขึ้นได้หรือจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งระบบการเมืองเข้ามามีอำนาจชี้นำตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย

ด้วยความเชื่อตามจารีตประเพณีและระบบกฎหมาย ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ยุคที่อังกฤษเข้ามาวางรากฐานอุดมศึกษาไว้ในสังคมอินเดีย ทำให้กิจการอุดมศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยรัฐ แม้ว่าการเรียนระดับปริญญาตรีในวิทยาลัยส่วนหนึ่งจะเป็นการจัดการศึกษาโดยภาคเอกชน แต่ก็เป็นไปภายใต้การกำกับควบคุมโดยมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นของรัฐอย่างเคร่งครัด

ระบบผูกขาดกิจการอุดมศึกษาโดยรัฐนั้น มีลักษณะคล้าย ๆ กับกิจการขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ภาครัฐเป็นผู้ได้สัมปทาน แต่บางส่วนอาจไปอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน ขสมก.ได้ มิใช่เพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่เพื่อช่วยเหลือ ขสมก. ในบางส่วนที่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างพอเพียง ระบบอุดมศึกษาของอินเดียก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ มหาวิทยาลัยได้รับสิทธิ์ผูกขาดมาจัดการเกี่ยวกับอุดมศึกษา แต่เมื่อไม่สามารถดำเนินการด้วยองค์กรของรัฐได้อย่างทั่วถึง จึงอนุญาตให้เอกชนเข้ามารับช่วงจัดการศึกษาในนามของมหาวิทยาลัยได้ แต่ต้องเป็นไปภายใต้กฎระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนดขึ้น

การศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชน
กฎหมายที่กำหนดให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาในส่วนของอุดมศึกษานี้ แตกต่างไปจากที่ให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยกฎหมายแล้ว รัฐน่าจะปฏิบัติเหมือนกันทั้งการศึกษาพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ในความเป็นจริงแล้วแตกต่างกันมาก ทั้งนี้เพราะ ในการปฏิบัติรัฐปล่อยให้การศึกษาพื้นฐานเป็นอิสระของประชาชน ที่จะจัดการศึกษาระดับพื้นฐานกันเอง

ในหลาย ๆ รัฐของอินเดีย การประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 - 5 รัฐไม่สนใจดูแลเลย คือ ใครจะจัดตั้งโรงเรียน หรือจัดสอนหนังสือในชั้น ป.1 ถึง ป.5 ก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาต หรือใช้หลักสูตรที่รัฐกำหนด ทั้งนี้ก็เพราะรัฐถือว่าการศึกษาระดับนี้เป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะต้องดูแลจัดการเอง ข้อยึดถือของรัฐนี้ สืบเนื่องมาจากจารีตประเพณีอินเดีย ที่พ่อแม่จะต้องมีหน้าที่ในการให้การศึกษาเบื้องต้นแก่ลูกของตนเอง หรือถ้าจะเป็นโรงเรียนก็เป็นโรงเรียนของชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาเบื้องต้นแก่เยาวชนของชุมชน จากข้อเท็จจริงที่พบเห็นมา การศึกษาพื้นฐานในสังคมอินเดียเป็นไปตามจารีตประเพณีมากกว่าตามกฎหมาย ที่สำคัญก็คือ เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียนั้น อังกฤษไม่ได้สนใจการศึกษาของประชาชนอินเดียเท่าไรนัก การจัดการศึกษาให้กับชาวอินเดียก็เป็นไปเพื่อสนองตอบระบบอาณานิคมเป็นหลัก เป้าหมายของการจัดการศึกษาจึงอยู่ที่ความมั่นคงเข้มแข็งของระบบการปกครองอาณานิคม ดังนั้น เพื่อที่จะให้ระบบการปกครองของอังกฤษมั่นคง เป้าหมายของการศึกษาจึงอยู่ที่สร้างความพอใจให้แก่ผู้ถูกปกครองเพื่อลดกระแสต่อต้าน และผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองระบบการปกครองของอังกฤษ

การศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อคนชั้นสูง
ด้วยวัตถุประสงค์ 2 ประการนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงไม่มีความจำเป็นได ๆ ที่ต้องหันไปสนใจการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่การศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น มีผลกระทบต่อระบบการปกครองของอังกฤษ ผู้ปกครองอังกฤษทราบดีว่า ในสังคมอินเดีย คนวรรณะสูงมีบทบาทชี้นำสังคม ถ้าการทำให้คนวรรณะสูงพอใจก็จะเท่ากับทำให้คนวรรณะอื่น ๆ พอใจตามไปด้วย ในการสร้างระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นมา จึงมีหลักฐานปรากฏชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ผู้ปกครองจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นมาเพื่อคนชั้นสูงเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อชาวอินเดียทุก ๆ คน ดังที่ปรากฏในคำประกาศทางการศึกษาของมาคิวเลย์ในปี ค.ศ.1835 และคำประกาศของ วูด ในปี ค.ศ.1854 ซึ่งแสดงให้ปรากฏว่า อุดมศึกษานั้นรัฐจัดให้กับบุคคล (ชั้นสูง) บางคน เท่านั้น

อมารตยา เซน: อังกฤษจัดการศึกษาด้วยเกณฑ์ทางการเมือง
ต่อประเด็นนี้มีทัศนะน่าสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอินเดียคือ อมารตยา เซน (Amartya Sen) ซึ่งมีความเห็นว่า ผู้ปกครองอังกฤษในอินเดียมีความสนใจในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานน้อยมาก แต่กลับไปให้ความสำคัญกับการสร้างสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนองตอบชนชั้นสูงในสังคม ต่างจากในพม่าซึ่งเป็นระบบปกครองอังกฤษเช่นเดียวกัน แต่ผู้ปกครองอังกฤษให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่าอุดมศึกษา ในพม่า ผู้ปกครองอังกฤษกลับไม่สนใจสร้างสถาบันอุดมศึกษาขึ้นมาเลย

เซนเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะ อังกฤษจัดการศึกษาเพื่อสร้างความพอใจให้แก่ผู้ถูกปกครอง ไม่ใช่เพื่อความเจริญก้าวหน้าของผู้ถูกปกครอง การที่อังกฤษมุ่งสร้างสถาบันอุดมศึกษาในสังคมอินเดีย เพราะต้องการให้ชนชั้นสูงอินเดียพอใจ และความพอใจของชนชั้นสูงก็เกิดประโยชน์แก่ระบบปกครองของตน ในขณะที่ในสังคมพม่าซึ่งเป็นสังคมพุทธนั้น ไม่มีระบบวรรณะ แต่มีพระภิกษุกับวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน พระภิกษุในพุทธศาสนามีหน้าที่จัดการศึกษาพื้นฐานให้กับเยาวชนของสังคม เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการให้ชุมชนพม่าพอใจ รัฐบาลก็ต้องจัดตั้งโรงเรียนอันเป็นการศึกษาพื้นฐานขึ้น ความแตกต่างระหว่างพม่าและอินเดียนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ปกครองอังกฤษไม่ได้จัดการศึกษาอย่างมีหลักเกณฑ์ แต่ใช้ประเด็นทางการเมืองมาเป็นหลักในการจัดการศึกษา

ด้วยความสอดคล้องต้องกันระหว่างจารีตของอินเดียในเรื่องอุดมศึกษาและกฎหมาย จึงทำให้สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียในยุคปัจจุบันจึงเป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดเชิงจารีตและกฎหมาย จึงไม่ง่ายนักที่ใครจะไปเปลี่ยนได้ง่าย ๆ

1.2 ด้านงบประมาณและเงินทุน
เมื่อกิจการมหาวิทยาลัยเป็นกิจการของรัฐเท่านั้น ความเป็นไปของมหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นไปภายใต้งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนามหาวิทยาลัยในด้านใด ๆ ก็ตาม ล้วนแต่ต้องคิดภายใต้เงื่อนไขของงบประมาณที่ได้มา และก็ดังที่ทราบอยู่ทั่วไปว่าอินเดียเป็นประเทศที่ยากจนและเป็นประเทศที่พยายามจะเป็นรัฐสวัสดิการ โดยรัฐพยายามให้บริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นแก่ประชาชนฟรี การศึกษาระดับประถมและมัธยม รัฐก็ต้องจัดให้แก่ประชาชนแบบให้บริการ แม้เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา รัฐก็ยังต้องให้บริการการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนแบบให้เปล่าแก่คนยากจน และราคาถูกแก่ผู้มีกำลังจ่าย

ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้กิจการด้านอุดมศึกษาของอินเดียเป็นไปอย่างช้า ๆ แม้ว่าในด้านปริมาณจะมีสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น จนดูเหมือนกับว่าจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณอย่างรวดเร็ว แต่ในด้านคุณภาพแล้วมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาที่ช้ามาก ข้อจำกัดด้านงบประมาณนี้ สามารถเห็นภาพได้ชัดจากการเทียบเคียงให้เห็นความแตกต่างของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ที่แต่ละรัฐจะมีงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่เท่ากัน รัฐที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดี ก็สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในสังกัดของรัฐนั้นได้มากกว่ารัฐที่มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ตัวอย่างเช่น ระหว่างรัฐปัญจาบและรัฐพิหาร ซึ่งต่างมีมหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐบาลรัฐปัญจาบและรัฐบาลรัฐพิหาร แต่มหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐบาลท้องถิ่นของ 2 รัฐนี้จะได้รับงบประมาณสนับสนุนกิจการมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกันมาก
ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย ที่มีรูปแบบจัดการศึกษาเหมือนๆ กัน และภาระหน้าที่ในฐานะมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ดังนี้

มหาวิทยาลัยปัญจาบี และมหาวิทยาลัยปัฏนะ ต่างเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐบาลรัฐปัญจาบและรัฐบาลรัฐพิหาร ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่ของรัฐ มีคณะที่เปิดสอนจำนวนเท่ากันในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างเป็นอย่างมากในส่วนของงบประมาณและจำนวนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสถานะทางเศรษฐกิจของรัฐปัญจาบและรัฐพิหารมีความแตกต่างกันมาก ขณะที่รัฐปัญจาบได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่ร่ำรวย ประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจดี รัฐพิหารกลับได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย

ความแตกต่างทางด้านการเงินทำให้กิจการของมหาวิทยาลัย 2 แห่งมีความแตกต่างกัน ความรู้ความสามารถของผู้บริหารมหาวิทยาลัยปัตนะอาจจะไม่ด้อยกว่าความรู้ความสามารถของผู้บริหารมหาวิทยาลัยปัญจาบีเลยก็ได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขอันเป็นข้อจำกัดด้านงบประมาณเช่นนี้ย่อมจะอธิบายได้ว่า ทำไมมหาวิทยาลัยปัฏนะซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของอินเดีย จึงมีความแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยปัญจาบี ข้อจำกัดด้านงบประมาณนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ระบบอุดมศึกษาของอินเดียต้องเป็นอยู่ดังเช่นที่เห็นในปัจจุบันนี้

1.3 ด้านค่านิยมในสังคมและกระแสโลกาภิวัตน์
ค่านิยมที่หมุนไปตามกระแสโลก ได้กลายมาเป็นข้อจำกัดที่มีความสำคัญยิ่งในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียก็เหมือนสถาบันอุดมศึกษาในสังคมโลกที่สามทั่วไปคือ ค่านิยมในการศึกษาถูกกำหนดโดยตลาดอาชีพที่เป็นไปภายใต้กระแสการหาเงิน คุณค่าของวิชาความรู้ไม่ได้ถูกกำหนดจากสาระแห่งความรู้ แต่ถูกกำหนดจากค่าตอบแทนในเชิงวิชาชีพ วิชาการใดที่สามารถนำไปประกอบวิชาชีพได้ วิชาการนั้นก็ได้รับความนิยมจากประชาชน เมื่อวิชาการสาขาใดมีความนิยมในสังคมสูง นักการเมืองที่เข้ามาควบคุมการบริหารของภาครัฐก็ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนวิชาการสาขานั้น เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนด้วยการขยายการศึกษาวิชาชีพตามความต้องการของประชาชน ในที่สุดสถาบันอุดมศึกษาก็ต้องใหลตามกระแสสังคม โดยไม่ยึดถือหลักเกณฑ์ทางวิชาการเป็นหลักสำคัญ

ค่านิยมฮินดูที่หดหาย
สังคมอินเดียเป็นสังคมที่มีค่านิยมกระแสหลักเป็นค่านิยมแบบฮินดู ที่เคยเจริญรุ่งเรืองเมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว ระบบโครงสร้างทางสังคมถูกกำหนดโดยระบบความคิด ความเชื่อแบบฮินดูมาเป็นเวลายาวนาน ต่อมาเมื่อมีระบบความเชื่อแบบอื่นเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวอินเดียเพิ่มมากขึ้น และคติความเชื่อแบบฮินดูได้มาถึงจุดอ่อนล้าที่สุด เมื่ออินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในช่วงนั้นฮินดูเหลืออยู่แต่เพียงรูปแบบในการดำเนินชีวิต ส่วนเนื้อหาของชีวิตในแง่ความหมายและคุณค่าแบบฮินดูนั้นลดน้อยเจือจางลงไปเกือบหมดสิ้น

ระบบโครงสร้างของคุณค่าที่ประกอบด้วย ธรรมะ อรรถะ กามะ และโมกษะ ที่ทำให้เกิดดุลยภาพของชีวิตที่ไม่ปล่อยให้ถูกบีบคั้นโดยข้อเท็จจริง และพร้อมกับที่ไม่ปล่อยให้เลื่อนลอยไปตามจินตนาการจนไร้ขอบเขต. ดุลยภาพของชีวิตที่สุนทรียภาพ (จินตนาการ) และสัจธรรม (ข้อเท็จจริง) มีความสัมพันธ์กันอย่างพอเหมาะพอควรในครรลองของชีวิต ทำให้สังคมอินเดียภายใต้ระบบค่านิยมแบบฮินดูเป็นไปอย่างดีงามจนเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตดังที่สังคมไทยก็พยายามดูแบบอย่างสังคมอินเดียแล้วพยายามดำเนินตาม

ภายใต้ระบบคุณค่าแบบฮินดูนั้น การศึกษาทุกระดับชั้นต่างเป็นไปเพื่อสนองตอบความหมายแห่งธรรมะ อรรถะ กามะ และโมกษะอย่างเหมาะสม แต่เมื่อถึงวันนี้การศึกษาในสังคมอินเดียที่ไหลไปตามกระแสค่านิยมของโลกยุคใหม่ไม่ได้ศึกษาเพื่อทำชีวิตให้มีความหมายและคุณค่าตามแบบฮินดูอีกแล้ว การศึกษายุคใหม่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ของอินเดีย เป็นการศึกษาเพื่อสนองตอบกามะและอรรถะ เท่านั้น

ความหมายแห่งชีวิตตามระบบการศึกษาที่ไหลตามกระแสโลกาภิวัตน์ อยู่ที่การได้ครอบครองวัตถุอันเป็นโภคทรัพย์ (อรรถะ) เพื่อจะได้เสพสนองความต้องการ (กามะ) ในกระแสค่านิยมโลกยุคใหม่ ไม่มีพื้นที่ให้กับธรรมะและโมกษะแบบฮินดูอีกแล้ว แม้ว่าจะยังมีถ้อยคำว่า "ธรรมะ" และ "โมกษะ" หลงเหลืออยู่ในหลักสูตรการศึกษาบางแห่ง แต่ก็มีปรากฎเฉพาะถ้อยคำเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้มีความหมายปรากฎอยู่ในความสำนึกรู้ของผู้ศึกษา ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการไหลไปตามกระแสโลกของสังคมอินเดียในปัจจุบันนี้ ที่เห็นได้ในสถาบันอุดมศึกษา คือ ปรากฏการณ์ที่นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ขาดจิตสำนึกต่อชุมชนและสังคม ความมุ่งหมายของนักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ที่การแสวงหาความสำเร็จทางอาชีพส่วนตน ที่มีข้อจำกัดอยู่เพียงแค่เรียนเพื่อจะได้ทำงานหาเงินอันเป็นโภคทรัพย์ และใช้เงินทองนั้นไปสนองความต้องการส่วนตน ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ ทำให้ชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ได้มุ่งหวังอะไรมากไปกว่าการแสวงหาโอกาสในการต่อสู้แย่งชิงโภคทรัพย์ให้มาเป็นสมบัติส่วนตัว

นักศึกษาชายเรียนเพื่อหางานทำ นักศึกษาหญิงเรียนเพื่อรอเวลาแต่งงาน
ปรากฏการณ์ที่นักศึกษาชายเรียนหนังสือเพื่อหางานทำ นักศึกษาหญิงเรียนหนังสือเพื่อรอเวลาแต่งงานมีครอบครัว เป็นเงื่อนไขข้อจำกัดในกิจการอุดมศึกษาของอินเดียเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่านักวิชาการด้านการศึกษาจะคิดวางแผนกันอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ถูกจำกัดด้วยกระแสค่านิยมที่นักศึกษายึดถืออยู่ ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะเข้าใจได้ง่าย ถ้าผู้อ่านได้รับฟังเรื่องเล่าต่อไปนี้

ในสังคมอินเดีย หนังสือพิมพ์รายวันที่เป็นหนังสือพิมพ์ระดับประเทศ จะมีฉบับพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจะมีหน้าส่วนเสริมพิเศษที่เป็นการประกาศหาคู่สมรส ทั้งจากฝ่ายเจ้าบ่าว และจากฝ่ายเจ้าสาว หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้จะมีปริมาณหน้ามาก เพราะกิจการรับประกาศหาคู่นี้เป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่น้อยไปกว่าการโฆษณาสินค้าทั่ว ๆ ไป ขอผู้อ่านลองอ่านตัวอย่างการประกาศหาคู่ จากทั้งฝ่ายเจ้าบ่าว และเจ้าสาวต่อไปนี้

การประกาศรับสมัครเป็นเจ้าบ่าว จากฝ่ายเจ้าสาว จะมีข้อความตัวอย่าง เช่น
Alliance Invited for Garwali Rajput
Age 23 / 162 / 75 kg. Healthy, Graduate, Diploma in Computer
Application, Delhi; based Contact with horoscope

ข้อความประกาศนี้จะมีความหมายในลักษณะว่า
สุภาพสตรี อายุ 23 ปี สูง 162 ซม. น้ำหนัก 75 กก.
สุขภาพสมบูรณ์ (ท้วม) จบปริญญาตรีและประกาศนียบัตรทางด้านคอมพิวเตอร์
ภูมิลำเนาอยู่ที่ เดลี ขอเชิญฝ่ายชาย ที่ประสงค์เจ้าสาวตระกูลราชปุต กอร์วาลี
ติดต่อพร้อมส่ง วัน เดือน ปีเกิดมาที่

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง
Wanted Tall, Smart Armed Forces Officer for Tall Very Beautiful
girl, 168/21 studying M.A., Father, Uncles Senior Defence officers
Panjabi Brahmin family
Write ..................................................................................................................

สุภาพสตรี รูปร่างสูง สวยมาก สูง 168 ซม. อายุ 21 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาโท
พ่อและลุงเป็นข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่ สกุลพราหมณ์ ปัญจาบี ต้องการติดต่อกับชายที่
รับราชการทหาร สูง หล่อ สนใจกรุณาติดต่อที่ ........................................................

นั่นเป็นตัวอย่างของข้อความประกาศจากฝ่ายเจ้าสาว เพื่อเชิญชวนฝ่ายเจ้าบ่าว ในขณะที่ฝ่ายเจ้บ่าวก็จะมีประกาศเชิญชวนฝ่ายเจ้าสาวเช่นเดียวกัน ลองดูตัวอย่าง ต่อไป

Alliance Invited from a Professionally qualified, Beautiful girl of
Brahmin family for handsome Advocate boy, 30 / 173, income high
five figures, Well settled. Pref. Lecture, Teacher.

ทนายหนุ่มรูปงาม อายุ 30 ปี สูง 173 ซม. เงินเดือนสูงเป็นตัวเลข 5 หลัก ฐานะมั่นคง
ต้องการติดต่อหญิงสาวที่มีการงานมั่นคง หน้าตาสวยงาม จากครอบครัวพราหมณ์
สุภาพสตรีที่มีอาชีพอาจารย์หรือครู จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
สนใจติดต่อ ......................................................................................................

อีกตัวอย่างหนึ่ง
Alliance Invited for a handsome Bhardwaj Graduate boy
24 / 168 / 70,000 pm. Family settled in Norway Boy currently in Delhi
Early marriage
Contact : ......................................................................................................

ชายหนุ่มรูปหล่อ ตระกูลภารฑวัช การศึกษา ปริญญาตรี อายุ 24 ปี สูง 168 ซม. เงินเดือน
70,000 รูปี ครอบครัวตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นอร์เวย์ ขอเชิญสุภาพสตรีติดต่อเพื่อเป็นเจ้าสาว
ขณะนี้ชายหนุ่มอยู่ที่เดลี ต้องการแต่งงานให้เร็วที่สุด
สนใจติดต่อ .....................................................................................................

ข้อความประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์รายวันที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น ดูผิวเผินก็ไม่มีอะไรมาก แต่ถ้าหากพิจารณาให้ลึกจะพบว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สะท้อนอะไรหลายอย่างในสังคมอินเดีย การแต่งงานที่เคยเชื่อถือกันว่าเป็นหน้าที่และพันธะอันศักดิสิทธิ์ ปัจจุบันนี้ได้กลายมาเป็นกิจกรรมที่โฆษณาเชิญชวนกันทางสื่อ เหมือนการซื้อ-ขายสินค้าอื่นๆ ในท้องตลาด ตัวผู้หญิงหรือผู้ชายที่ประกาศโฆษณาคุณลักษณะทางสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่แตกต่างอะไรกับการโฆษณาคุณสมบัติของสินค้าทั่วไป. หนึ่งในหลาย ๆ คุณสมบัติที่เป็นจุดขายของสินค้าคือ คุณวุฒิการศึกษา และการงานที่มีเงินเดือน ด้วยอัตราค่าโฆษณาที่คิดค่าโฆษณาตามจำนวนคำ ทำให้ผู้ลงโฆษณาจะต้องหาคำที่เป็นจุดขายได้ และคำต่างๆ เหล่านั้น คือ สิ่งที่บอกให้รู้ว่าอะไรคือความหมายของความเป็นเจ้าบ่าว-เจ้าสาว ที่มีมูลค่าราคาในตลาดคู่ครองของสังคมอินเดีย

การที่มีหนังสือพิมพ์รายวันเป็นจำนวนหลายสิบฉบับ ต้องใช้พื้นที่หลายสิบหน้าในแต่ละสัปดาห์เพื่อลงโฆษณาหาคู่ครอง ด้วยการประกาศแสดงคุณสมบัติของเจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วยคุณลักษณะดังที่ยกมาเป็นตัวอย่าง คงพอจะทำให้ผู้อ่านชาวไทยนึกจินตนาการออกว่า กระแสค่านิยมเช่นนี้จะมีผลเช่นไรต่อความคิดและความหวังของหนุ่มสาวที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ความคาดหวังของผู้นำที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเทวาลัยแห่งการเรียนรู้ จะเป็นจริงได้อย่างไรภายใต้เงื่อนไขของค่านิยมเช่นนี้

ด้วยกระแสค่านิยมแบบใหม่ในสังคมอินเดียที่การศึกษามุ่งไปสู่การแสวงหางานอาชีพ เพื่อให้ได้ครอบครองทรัพย์สินเงินทอง ความหมายของการศึกษาจึงมีอยู่เพียงแค่ว่าเป็นการฝึกทักษะอะไรบางอย่าง เพื่อให้ตนเองมีส่วนร่วมในระบบกลไกการผลิตและการบริโภคของสังคมโลกทุนนิยมเท่านั้น

ในระบบการศึกษาเช่นนี้ ความสำเร็จของการศึกษาจึงอยู่ที่การได้ทำงาน มีเงินเดือน และคุณค่าของการศึกษาก็อยู่ที่ได้เงินเดือนมากหรือน้อย การเรียนอะไรแล้วสามารถมีงานทำได้เงินเดือนสูง การศึกษาวิชานั้นก็มีคุณค่าสูงตามไปด้วย ส่วนวิชาใดที่เรียนแล้วหางานทำยากได้เงินเดือนน้อย วิชานั้นก็มีค่าน้อยตามไปด้วย คุณค่าและความหมายของวิชาการไม่ได้อยู่ที่ ธรรมะหรือโมกษะเลยหากแต่อยู่ที่กามะและอรรถะ เท่านั้น

แม้ว่านักการศึกษาอินเดียจะตระหนักรู้อยู่ว่า อุดมศึกษามีคุณค่าและความหมายมากกว่าการแสวงหาวิชาชีพเพื่อเอาตัวรอดจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่ทว่าการตระหนักรู้ของนักการศึกษา ก็ไม่มีพลังมากพอที่จะโต้ตอบและต้านทานกระแสค่านิยมโลกที่ไหลบ่าเข้ามาท่วมท้นสังคมอินเดียอย่างเชี่ยวกรากและรุนแรงได้

2 อุปสรรคในการบริหารจัดการ การศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ด้วยข้อจำกัดมากมายหลายประเภท ที่เข้ามาเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางความเป็นไปของกิจการอุดมศึกษาในสังคมอินเดีย การก้าวไปข้างหน้าของระบบอุดมศึกษาอินเดียจึงไม่ได้ปลอดโปร่งโล่งสบายอย่างที่ใครคนใดคนหนึ่งคิดและเสนอต่อสังคม ปัจจัยอันเป็นเงื่อนไขภายนอกก็มากพออยู่แล้ว แต่ในสังคมอินเดียยังมีปัจจัยภายในอันเป็นความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งได้กลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งคิดที่จะทำอะไรได้ง่ายๆ ตามอำเภอใจ

ความคิดเห็นโต้แย้งกันในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุดมศึกษา ทำให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการด้านอุดมศึกษาต้องรับฟัง แล้วคิดหาแนวทางปฏิบัติเพื่อสนองตอบข้อคิดเห็นเหล่านั้น แต่เมื่อจะต้องปฏิบัติ ความแตกต่างทางข้อคิดเห็นได้กลายมาเป็นข้ออุปสรรคให้เกิดความยุ่งยากล่าช้า เพราะไม่สามารถจะทำสองสิ่งพร้อมๆ กันไปได้ในเวลาเดียวกัน ในบางเรื่องบางอย่างอาจะจะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำไป เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่มีทางจะเป็นไปพร้อมๆ กันได้เลย

มาถึง ณ วันนี้ อุดมศึกษาอินเดียได้ก้าวมาถึงทางแยกที่ต้องครุ่นคิดพิจารณาอย่างลึกซึ้งว่าจะก้าวเดินต่อไปในทิศทางใดดี เพราะด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอยู่ทำให้ไม่สามารถจะทำให้สองทางไปพร้อมๆ กันได้ ความละล้าละลังในทางด้านการปฏิบัตินี้ ได้ปรากฏเป็นอุปสรรคสำคัญในกระบวนการขับเคลื่อนกิจการอุดมศึกษาของอินเดีย เพราะทำให้เกิดภาวะชะงักงันในแนวทางปฏิบัติ

ในที่ประชุมสัมมนาทางการศึกษาและการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสารมวลชน มักจะพบว่า มีประเด็นหลักๆ ที่ถูกยกขึ้นมาอ้างว่าเป็นอุปสรรคปัญหาในกิจการอุดมศึกษาของอินเดียซ้ำอยู่เสมอไม่กี่ประเด็น และเป็นประเด็นแห่งคู่ขัดแย้งที่เป็นเช่นเดิมเสมอ ๆ เพราะปรากฏอยู่ในอุดมศึกษายุคใหม่ของอินเดีย ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ประเด็นหลักๆ ที่ว่านั้นคือ

2.1 อินเดีย กับ ตะวันตก
2.2 รัฐ กับ เอกชน
2.3 ปริมาณ กับ คุณภาพ

2.1 อินเดีย กับ ตะวันตก
ประเด็นปัญหาอันเป็นอุปสรรคในการก้าวไปของกิจการอุดมศึกษาอินเดีย ที่มีมาตั้งแต่ระยะแรกของอุดมศึกษายุคใหม่ที่ชาวอังกฤษเข้ามาจัดการให้ คือ ปัญหาที่จะจัดการศึกษาแบบอินเดียหรือแบบตะวันตก ความเป็นอินเดียและความเป็นตะวันตกถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นโต้เถียงกันนานกว่า 2 ศตวรรษมาแล้ว และปัจจุบันก็ยังไม่มีจุดจะยุติลงตัวได้ ความไม่ลงตัวในคู่ขัดแย้งระหว่างความเป็นอินเดียและความเป็น (กระแสโลกาภิวัตน์) ตะวันตก ได้กลายมาเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการกิจการอุดมศึกษาของอินเดีย เพราะเมื่อจะทำสิ่งใดๆ ที่ดูเหมือนกับว่าจะเป็นสิ่งดี แต่มักจะถูกโต้แย้งจากคู่กรณีอยู่เสมอ เช่น เมื่อจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาการศึกษาระดับอุดมศึกษาและสามารถทำได้โดยง่าย เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่แล้วในแง่ของข้อเท็จจริง แต่ข้อเสนอนี้จะถูกโต้แย้งว่าเป็นสิ่งไม่ควรเพราะไม่เป็นอินเดีย เป็นการทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นระบบอาณานิคมที่ปลดปล่อยไม่ไป ทั้งที่ระบบอาณานิคมทางการเมืองการปกครองได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 มาแล้ว

การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการศึกษานี้ ถ้าเป็นสังคมอื่นๆ เช่น สังคมไทย การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาเรียน คงจะกลายเป็นจุดเด่นที่นำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เห็นเป็นจุดขายของสถาบันการศึกษาได้ ถ้าหากจะบอกว่าเรียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ในอินเดียหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการใช้ภาษาอังกฤษนั้นแม้จะใช้จริงๆ เป็นปกติ แต่ก็ไม่ควรภาคภูมิใจเพราะความหมายของภาษาอังกฤษ คือ สัญลักษณ์แห่งอำนาจจากต่างชาติที่เข้ามาครอบงำอินเดีย

ประเด็นเรื่องภาษาที่ถูกโยงให้เป็นประเด็นเรื่องความเป็นอินเดียนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของคู่ขัดแย้ง เรื่องความเป็นอินเดียกับความเป็น (กระแสโลกาภิวัตน์) ตะวันตก ที่แผ่กระจายไปสู่เรื่องอื่นๆ ในแวดวงการศึกษาของอินเดีย เช่น เรื่องระบบคุณค่า ที่เป็นโครงสร้างของค่านิยมในสังคม เรื่องเป้าหมายของการศึกษา เรื่องวิธีการศึกษาและการบริหารจัดการศึกษา ในเรื่องราวเหล่านี้ เมื่อโต้เถียงกันแล้วจะมีข้ออ้างเรื่องความเป็นอินเดียและไม่เป็นอินเดียเข้ามาเป็นเหตุผลในการอ้างอิงอยู่เสมอ และในการอ้างเรื่องความเป็นอินเดียนี้ ดูจะมีพลังมากพอที่จะสะกดให้คู่กรณีต้องรับฟัง เพราะเป็นเหตุอ้างที่สังคมอินเดียใส่ใจเป็นพิเศษ

ความเป็นอินเดียที่ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างในแวดวงอุดมศึกษา ทั้งส่วนที่เป็นจุดหนุนส่งให้ระบบอุดมศึกษาอินเดียมีความเข้มแข็งและมีพลัง เช่น กรณีการศึกษาเมื่อสร้างจิตสำนึกเชิงคุณค่าและการศึกษาตามจารีตอินเดีย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเหตุให้เกิดความชะงักงันได้เช่นเดียวกัน เช่น กรณีการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์

2.2 รัฐ กับ เอกชน
การศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย ได้เป็นเวทีในการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่กันระหว่างรัฐและเอกชนมานาน ซึ่งระยะแรกที่อุดมศึกษายุคใหม่เริ่มต้นขึ้นในยุคอาณานิคม ปัญหาว่าจะให้รัฐหรือเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้เป็นข้อโต้แย้งกันในหมู่นักการศึกษา นับตั้งแต่ช่วงที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในรูปแบบวิทยาลัย

ข้อโต้แย้งกันว่า รัฐหรือเอกชนควรจะเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นที่ยุติลง เมื่อมีคำประกาศทางการศึกษาของวูด ในปี ค.ศ. 1854 ที่กำหนดให้อุดมศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้น และหลังจากมีประกาศนี้ออกมาแล้วไม่นาน มหาวิทยาลัย 3 แห่งแรกก็ถูกสถาปนาขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐกำกับควบคุมการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยต่างๆ ได้ดำเนินกิจการอยู่

อำนาจของรัฐที่มีเหนือกิจการอุดมศึกษานี้เป็นเรื่องปกติในสำนึกของชาวอินเดียในขณะนั้น เพราะก่อนหน้า นับตั้งแต่ราชวงศ์โมกุลเป็นต้นมา การศึกษาระดับอุดมศึกษาก็เป็นภาระหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว และกลายมาเป็นจารีตในสังคมอินเดียที่กิจการอุดมศึกษาตกอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ

การต่อต้านอำนาจรัฐที่มีเหนือสถาบันอุดมศึกษา
ความรู้สึกต่อต้านอำนาจรัฐที่มีเหนือสถาบันอุดมศึกษามาปรากฏในช่วงปลายของยุคอาณานิคม ที่การต่อต้านอำนาจรัฐที่อยู่ในมือของชาวอังกฤษเพิ่มขึ้น และแพร่ระบาดไปในทุกๆ กิจการอันเป็นของรัฐ การต่อสู้แย่งชิงกิจการอุดมศึกษาช่วงปลายยุคอาณานิคม เป็นการต่อสู้กันระหว่างผู้ปกครองชาวอังกฤษและนักการศึกษาที่นิยมอินเดีย และในที่สุด รัฐบาลอังกฤษก็ยินยอมให้กิจการอุดมศึกษาเปลี่ยนไปอยู่ในมือของชาวอินเดีย แต่ชาวอินเดียที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เอกชน หากแต่เป็นนักการเมืองอินเดีย ที่เข้ามามีบทบาทในการปกครองส่วนท้องถิ่น

ปัญหาว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกิจการอุดมศึกษาระหว่างผู้ปกครองอังกฤษและชาวอินเดียยุติลง เมื่ออินเดียได้รับเอกราช อำนาจทางการเมืองตกมาอยู่ในมือของชาวอินเดียเต็มที่ และสังคมอินเดียก็มีความเห็นร่วมกันที่จะให้รัฐบาลอินเดียและรัฐบาลแห่งรัฐเป็นผู้รับผิดชอบกิจการอุดมศึกษา

ปัญหาว่าจะให้รัฐหรือเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบกิจการอุดมศึกษาสงบลงในช่วง 3 ทศวรรษแรกของการเป็นประเทศเอกราช และดูเหมือนกับว่าสังคมอินเดียจะลืมปัญหาว่ารัฐหรือเอกชนควรเป็นผู้จัดการอุดมศึกษาไป แต่ทว่าปัญหานี้ก็มาปรากฏอีกเมื่อย่างเข้าทศวรรษที่ 4 ของการเป็นประเทศประชาธิปไตย

รัฐบาลอินเดียกับประกาศนโยบายทางการศึกษาแห่งชาติใหม่
ในปี ค.ศ. 1986 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศนโยบายทางการศึกษาแห่งชาติใหม่ โดยได้กำหนดให้การศึกษาคือการลงทุนของรัฐ และการลงทุนทางการศึกษาของรัฐก็เหมือนการลงทุนในการศึกษาอื่นๆ คือ เมื่อลงทุนไปแล้วย่อมต้องหวังผล และด้วยนโยบายใหม่ทางการศึกษานี้ บทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกตั้งคำถามและตั้งข้อสงสัยในหลายๆ ประการ โดยเฉพาะในเรื่องความคุ้มค่าและคุ้มทุนในการจัดการอุดมศึกษาของรัฐ

เมื่ออุดมศึกษาถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่คาดหวังผลกำไร ภาพของอุดมศึกษาที่เคยปรากฏต่อความรู้สึกของประชาชนว่าเป็นการให้บริการของรัฐแก่ประชาชน ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป อุดมศึกษาตามแนวนโยบายใหม่ไม่ใช่การให้บริการแก่ประชาชนอีกต่อไป หากแต่เป็นการขายบริการแก่ประชาชน และในความหมายนี้การศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงกลายเป็นสินค้าที่รัฐขายให้แก่ประชาชน

ความสำนึกว่าการศึกษาคือสินค้า ทำให้สังคมเริ่มเรียกร้องต้องการคุณภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเมื่อรัฐไม่สามารถจัดการอุดมศึกษาให้มีคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใด สังคมก็เริ่มนึกถึงภาคเอกชนที่จะเข้ามาทำธุรกิจการศึกษาแข่งกับรัฐ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ.1991 นโยบายเศรษฐกิจใหม่ทำให้ภาคเอกชนมีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้านที่เป็นการต่อสู้แข่งขันกันในเชิงธุรกิจ ยิ่งภาคเอกชนเข้มแข็งมากขึ้นมากเท่าใด การเรียกร้องต้องการให้แปรรูปกิจการอุดมศึกษาไปเป็นกิจการเอกชนก็มีพลังมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเท่านั้น

วันนี้ การโต้แย้งกันว่าใคร - รัฐหรือเอกชน - ควรจะเป็นผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ดังก้องไปทั่วอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุดมศึกษาสายวิชาชีพ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อมีความต้องการสูงแต่รัฐไม่สามารถสนองตอบได้ ความผิดจึงตกไปอยู่ที่รัฐ. ความต้องการอุดมศึกษาสายวิชาชีพทั้งในด้านปริมาณและด้านคุณภาพนี้ ทำให้เกิดพลังบีบคั้นรัฐอย่างหนัก ภาวะบีบคั้นเช่นนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับการบีบคั้นที่สังคมอินเดียบีบบังคับรัฐบาลอาณานิคมก่อนที่อินเดียจะได้รับอิสรภาพ ในท่ามกลางภาวะบีบคั้นเช่นนี้ รัฐทำอะไรก็ดูเป็นความผิดพลาดบกพร่องไปเสียหมด และเมื่อความรู้สึกว่ารัฐเป็นฝ่ายผิดเกิดขึ้นจนเป็นกระแสสังคม ภาระอันหนักอึ้งก็ตกอยู่บนบ่าของภาครัฐอยางเต็มที่ เพราะแค่การบริหารกิจการอุดมศึกษาโดยไม่มีแรงบีบคั้นก็หนักมากอยู่แล้ว ยิ่งมาประสบกับภาวะบีบคั้นดังกล่าว ความหนักหน่วงรุนแรงของปัญหาก็มาเพิ่มเป็นทวีคูณขึ้นไปอีก และนี่ก็เป็นอุปสรรคใหญ่ในการบริหารจัดการอุดมศึกษาของอินเดียปัจจุบัน

2.3 ปริมาณ กับ คุณภาพ
ในสังคมอินเดียดูเหมือนว่า "ปริมาณ" และ "คุณภาพ" จะไม่อนุญาตให้ไปด้วยกัน โดยเฉพาะในกิจการอุดมศึกษาปรากฏว่า คุณภาพและปริมาณจะเป็นอริศัตรูของกันและกัน เพราะที่ใดมีปริมาณ ที่นั้นจะไม่มีคุณภาพ, และที่ใดต้องการคุณภาพ ที่นั้นจะไม่ต้อนรับปริมาณ สำหรับในหนทางที่จะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ปรากฏว่า อุดมศึกษาอินเดียเลือกเอาปริมาณ

ปัญหาเรื่องคุณภาพและปริมาณนี้เป็นปัญหาคาใจนักการศึกษาอินเดียมาเป็นเวลานาน เพราะความต้องการด้านปริมาณและคุณภาพนี้เป็นความต้องการที่สนองตอบพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกันได้ยาก. ความยากจนขาดแคลนงบประมาณในการจัดการศึกษา และประกอบด้วยจำนวนประชากรที่มากด้วยปริมาณ เป็น 2 ปัจจัยที่ทำให้คุณภาพและปริมาณเป็นไปด้วยกันไม่ได้ และปัญหาเรื่องคุณภาพก็เกิดขึ้น เมื่อผู้รับผิดชอบกิจการอุดมศึกษา ต้องการสนองตอบด้วยปริมาณ

ปัญหาเรื่องคุณภาพจึงกลายเป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่งของระบบอุดมศึกษาอินเดีย ที่แม้ว่าผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาจะรู้สาเหตุและมองเห็นทางแก้อยู่ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ และด้วยปริมาณของผู้ต้องการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัญหาเรื่องคุณภาพแก้ไม่ตก เพราะหากมุ่งเรื่องคุณภาพมากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ในส่วนที่ว่าด้วยปริมาณของผู้ได้รับการศึกษา ที่สุดแล้วปัญหาว่าจะเลือกเอาคุณภาพหรือปริมาณ ก็ยังเป็นอุปสรรคในการก้าวไปของอุดมศึกษาอินเดียอยู่ แม้ขณะปัจจุบันนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความวิชาการเกี่ยวเนื่อง
1566. มหาวิทยาลัยอินเดียกับการเมือง การเงิน การศาสนาและสังคม
1567. ผลผลิตและผลกระทบของอุดมศึกษาอินเดีย มหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ : Release date 14 May 2008 : Copyleft by MNU.

บนซากปรักหักพังแห่งอาคารเรียนรู้เก่าแก่นั้นเอง อังกฤษก็ได้ก่อสร้างอาคารเรียนรู้ คือระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลังใหม่ขึ้นมา เป็นระบบแห่งการเรียนรู้ ที่ออกแบบโดยชนชาวอังกฤษเพื่อสนองตอบต่อ ประโยชน์ใช้สอยของผู้ปกครอง และวันหนึ่ง เมื่อผู้ปกครองจากต่างแดนเหล่านั้นจำต้องออกไปจากอินเดีย อาคารแห่งการเรียนรู้หลังนั้นก็ตกมาเป็นมรดกของชาวอินเดีย คนอินเดียกลุ่มหนึ่งเติบโตมากับระบบการเรียนรู้นั้น เขาเหล่านั้นคุ้นเคยและพอใจที่จะอยู่กับระบบดังกล่าว แต่ชาวอินเดียอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองระบบนั้นด้วยความเจ็บปวด และไม่พอใจที่จะอยู่ภายใต้กรอบอังกฤษ แต่จะทำอย่างไรได้ จะทุบอาคารแห่งการเรียนรู้ที่ผู้อื่นมาสร้างไว้ทิ้งไปเสียก็ทำไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นสถาบันหนึ่งของสังคมไปเสียแล้ว ...

H