1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ผลผลิตและผลกระทบของอุดมศึกษาอินเดีย
ที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ผลผลิตและผลกระทบของอุดมศึกษาอินเดีย
มหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน
ดร.ประมวล
เพ็งจันทร์ และสมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทที่
๔ : อุดมศึกษาอินเดีย : ผลผลิตและผลกระทบ
จากโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี เรื่อง ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา
๕ ภูมิภาค
ความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีสถานะเป็นสถาบันอันสูงส่งในสังคมอินเดีย
ชาวอินเดียทั่วไปมีความสำนึกถึงสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็น "เทวาลัยแห่งการเรียนรู้"
(Temple of Learning)
และเชื่อว่าเทวาลัยแห่งการเรียนรู้จะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะนำพาอินเดียไปสู่เป้าหมายที่ดีงามได้
ในส่วนของบทความนี้จะลงลึกในรายละเอียดสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย
กับความสัมพันธ์กับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ความสำเร็จและความล้มเหลว
โดยมีสาระสำคัญดังหัวข้อต่อไปนี้: มหาวิทยาลัย: แก้ปัญหาหรือร่วมสร้างปัญหา,
คณิตศาสตร์อินเดีย คณิตศาสตร์อาหรับ และคณิตศาสตร์โรมัน,
อินเดีย: สังคมนิยมในแง่เศรษฐกิจ ประชาธิปไตยในแง่การเมือง,
อินเดียกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางด้านเศรษฐกิจ ค.ศ.1986,
มหาวิทยาลัยอินเดียแต่งงานกับภาคอุตสาหกรรม,
สำนึกประชาธิปไตยมีมาแต่สมัยอาณานิคม,
การเมืองในมหาวิทยาลัยในฐานะกระจกเงาของสังคม,
มหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน: บัตรเลือกตั้ง รูปรถจักรยาน รูปเครื่องปั่นฝ้าย,
การขยายตัวของอุดมศึกษาไปสู่ชุมชนระดับรากหญ้า,
สำนึกในตัวตนแบบใหม่ แปลกแยกจากเพื่อนร่วมชาติ
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๖๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๐.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ผลผลิตและผลกระทบของอุดมศึกษาอินเดีย
ที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ผลผลิตและผลกระทบของอุดมศึกษาอินเดีย
มหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน
ดร.ประมวล
เพ็งจันทร์ และสมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผลผลิตและผลกระทบของอุดมศึกษาอินเดีย
ที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
จากความต้องการที่กลายมาเป็นความคาดหวังของสังคม ที่เข้าไปกดดันสถาบันอุดมศึกษา
ให้ดำเนินไปในทิศทางที่สังคมส่วนต่าง ๆ คาดหวัง ภาคการเมืองก็คาดหวังผลผลิตของอุดมศึกษา
ที่จะตอบสนองอุดมการณ์และเจตนารมณ์ทางการเมือง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจก็คาดหวังผลที่จะตอบสนองความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
พร้อมกับที่ภาคประชาชนโดยเฉพาะองค์กรทางศาสนา ก็คาดหวังผลทางด้านคุณธรรม จริยธรรม
ตามหลักศาสนา
เมื่อมองในเชิงปริมาณ สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง การเพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตบุคลากรในเชิงปริมาณได้เป็นอย่างดี
- จำนวนมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1956-57 ที่มีเพียง 99 แห่ง และมีนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ 3 แสนกว่าคน
- มาถึงวันนี้ มีมหาวิทยาลัยจำนวนกว่า 259 แห่ง และมีนักศึกษามากถึง 7 ล้านกว่าคน
ตัวเลขของปริมาณเหล่านี้อาจจะบอกความหมายของผลผลิตในเชิงปริมาณได้อยู่บ้าง แต่ทว่าจากตัวเลขเชิงปริมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น กลับไม่ได้หมายความว่ามหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติภารกิจของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพตามที่สังคมคาดหวัง ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าผลที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อความคาดหวังของสังคมในเชิงลบอยู่มิใช่น้อย หากจะให้ความเห็นใจมหาวิทยาลัยอินเดียก็อาจจะกล่าวได้ เพราะสังคมมีความคาดหวังกับมหาวิทยาลัยสูง เพราะฉะนั้นความผิดหวังก็ย่อมมีมากเป็นธรรมดา แต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม หากจะประเมินผลการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัย ก็ควรที่จะไปตั้งต้นที่ความคาดหวังใน 3 ทาง ตามภารกิจที่มหาวิทยาลัยรับมอบภาระมาจากสังคม นั่นคือ ภารกิจในการสร้างชาติ, สร้างความรุ่งเรือง, และสร้างจิตวิญญาณอินเดีย และบทบาทของมหาวิทยาลัยใน 3 ภารกิจนั้น น่าจะมองเห็นได้ 3 ด้านคือ ด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
(1) ด้านสังคม
หากมองบทบาทของมหาวิทยาลัยผ่านมิติทางด้านสังคมแล้ว ภาพที่ปรากฎเป็นภาพที่น่าตกใจ
เพื่อให้ผู้อ่านได้มองภาพผลผลิตและผลกระทบจากมหาวิทยาลัยของอินเดียว่า เป็นเช่นไร
ผู้เขียนขอนำเอาคำพูดของนักวิชาการที่มีบทบาทอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย
คือ ศาสตราจารย์หริ นเรนทร์ ซึ่งอดีตเคยเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี
ที่คนไทยจำนวนมากไปจบการศึกษามาจากที่นั่น. ศาสตราจารย์ หริ นเรนทร์ มีความเห็นต่อบทบาทและผลกระทบของการศึกษาในมหาวิทยาลัยอินเดียไว้ดังนี้
"ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ เป็นได้เพียงแค่สถาบันจัดการสอนและมอบปริญญาบัตรให้แก่ผู้สอบผ่านเท่านั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้ามาสู่มหาวิทยาลัย ไม่ได้มาเพื่อได้ความรู้ ฝึกทักษะ ความชำนาญ และปลูกฝังคุณค่าที่พึงประสงค์ หากแต่เข้ามาเพื่อได้ปริญญาบัตรที่เป็นเพียงใบเบิกทางไปสู่การได้ตำแหน่งงาน ในขณะเดียวกัน พวกอาจารย์ที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ก็ไม่มุ่งหวังค้นคว้าหาความรู้ชั้นสูงและมีความสุขกับการได้ถ่ายทอดความรู้ที่ได้มานั้น แต่คณาจารย์เหล่านั้นอยู่ในมหาวิทยาลัยเพราะเขามีงานทำที่มั่นคง ไม่มีใครมาชี้นำบังคับได้ ทำให้มีห้องทำงานที่สบาย ๆ ไม่มีการตรวจสอบ แต่มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี มหาวิทยาลัยจำนวนมากได้กลายเป็นแหล่งมั่วสุมทางการเมือง แอบทำอะไรลับ ๆ ก่อความไม่สงบ และจ้องทำลายล้างซึ่งกันและกัน แต่ละหน่วยงานในสังกัดต่างหาเรื่องทะเลาะซึ่งกันและกัน สุดท้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไปหาเรื่องระบายอารมณ์กับอธิการบดี ด้วยองค์ประกอบทั้งส่วนคณาจารย์และนักศึกษาที่เป็นเช่นนี้ ความเป็นเลิศทางวิชาการและค่านิยมทางจริยธรรมก็จบสิ้นลงอย่างง่าย ๆ
ระบบที่เป็นเช่นนี้ จึงไม่มีอะไรที่จะมอบให้กับประชาชนในชนบท หรือคนยากจนที่อาศัยอยู่ในสลัมตามเมืองต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี ผมเกิดความรู้สึกอยู่เสมอว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้อะไรแก่สังคมและประเทศชาติเลย เพราะสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำคือ การดึงนักศึกษาหนุ่มสาวออกมาจากชุมชนที่อยู่ในชนบท หรือเมืองเล็ก ๆ อันเป็นบ้านเกิด หนุ่มสาวเหล่านั้น เข้ามาสู่เมืองด้วยความเสียสละและความคาดหวังอันสูงส่งของพ่อแม่ แต่ภายในเวลา 1 หรือ 2 ปี ส่วนใหญ่ของหนุ่มสาวเหล่านั้นก็พบความจริงว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ตอบสนองความต้องการอันสูงส่งของเขาและพ่อแม่ แล้วเขาก็พบความผิดหวังกับระบบมหาวิทยาลัย และหลังจากนั้น 4-5 ปี ที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ระบบมหาวิทยาลัยของเราก็ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้น ไม่ค่อยพร้อมที่จะกลับไปสู่ชุมชนเดิมของตนเอง แต่ค่อย ๆ ปรับตัวเองให้กลมกลืนไปกับสังคมเมือง หนุ่มสาวจำนวนมากเหล่านั้นมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ในสังคมเมือง เขาถูกถอนรากให้ขาดออกจากชนบท เขาจากหมู่บ้านมาสู่เมือง และในฐานะหนุ่มสาวจากเมืองก็ใฝ่ฝันที่จะมีงานในมหานครใหญ่ นักศึกษาหนุ่มสาวที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยด้วยคุณสมบัติที่กำหนด หรือที่พ่อแม่สนับสนุนค่าใช้จ่าย ได้ปล่อยตัวเขาเองให้สูญหายไปในกระแสโลกตะวันตก ที่เขาเข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสทางการศึกษา เราได้สูญเสียทรัพยากรที่มีศักยภาพ เพราะระบบมหาวิทยาลัยของเราไม่สามารถดึงศักยภาพของคนหนุ่มสาวเหล่านั้นให้มาเป็นประโยชน์ต่อสังคมอินเดียได้"
นี่อาจเป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการและผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพียงท่านเดียว ซึ่งทัศนะและปรากฎการณ์เช่นนี้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดทั้งสิ้นของผลผลิตจากมหาวิทยาลัย แต่ภาพที่ผู้รับผิดชอบการศึกษาระดับอุดมศึกษาแสดงให้ปรากฎนี้ ย่อมจะแสดงได้ว่าผลผลิตของมหาวิทยาลัยยังมีรอยตำหนิ และเป็นตำหนิที่ทำให้ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยในอินเดียไม่สามารถจะประเมินได้ว่า ให้ผลผลิตน่าพอใจกับทุก ๆ ฝ่าย
เมื่อมองจากมิติทางสังคม ผลผลิตของมหาวิทยาลัยที่มอบให้กับสังคมนั้นมีแง่มุมที่น่าพิจารณาในหลายประการ ประการแรกสุดคือ ประเด็นเรื่องความซับซ้อนหลากหลายของประชาชนในสังคมอินเดียที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในเชิงโครงสร้างทางสังคมและความสำนึกในความหมายแห่งความเป็นมนุษย์ของชุมชนตนเอง ถ้าจะกล่าวพอให้มองเห็นภาพ สังคมอินเดียมีลักษณะคล้ายองค์พระเจดีย์
- ส่วนฐานรากของเจดีย์ คือ ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย ที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวอินเดียส่วนนี้มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็นจำนวนแล้วไม่น้อยกว่า 60 % ของประชากรอินเดียทั้งหมด
- ส่วนองค์เจดีย์ คือ ประชากรในเขตเมือง ที่ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้าง พนักงาน ที่กินเงินเดือนและเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ประชาชนกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 30 % ของประชากรอินเดีย แต่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะประชาชนส่วนฐานล่างพยายามจะถีบตนเองขึ้นมาเป็นส่วนนี้
- ส่วนสุดท้ายคือส่วนยอดพระเจดีย์ ซึ่งเป็นคนในเมืองที่ประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วอินเดีย ประชาชนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่เกิน 10 % ของประเทศ
ในบรรดาชาวอินเดียทั้ง 3 กลุ่มนี้ คนกลุ่มแรกที่เป็นชนชั้นล่าง เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่มีอำนาจชี้นำสังคมน้อยที่สุด คนกลุ่มนี้ เป็นผู้ใช้แรงงานและเป็นรากฐานของสังคมอินเดีย คนกลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในสังคมมากที่สุด ภาพของอินเดียที่ปรากฏต่อสายตาคนภายนอกก็เป็นภาพของคนกลุ่มนี้ คนกลุ่มที่สามซึ่งเป็นชนชั้นสูงในสังคม แม้จะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจชี้นำสังคมอยู่ในปัจจุบัน เพราะคนกลุ่มนี้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและควบคุมผู้นำภาคการเมืองและการค้าได้. เมื่อกล่าวถึงสังคมอินเดีย จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนว่า หมายถึงสังคมอินเดียของคนกลุ่มใด เพราะในขณะปัจจุบันนี้ ความเป็นอินเดียของประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม มีความหมายที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน และกลายเป็นชนชั้นวรรณะแบบใหม่ ที่การให้ค่าความหมายและคุณค่าแห่งชีวิตที่ไม่เหมือนกัน
มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม ที่จะต้องปฏิบัติภารกิจให้เกิดผลเกื้อกูลต่อประชาชนทุก ๆ ส่วนของสังคม ได้ก้าวมาถึงทางแยกที่ยุ่งยากต่อการตัดสินใจ เพราะการเกื้อกูลต่อคนกลุ่มหนึ่ง อาจจะกลายเป็นการเบียดเบียนคนอีกกลุ่มหนึ่งไป ทัศนะของศาสตราจารย์หริ นเรนทร์ เป็นมุมมองของนักวิชาการผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ปรารถนาให้มหาวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเกื้อกูลประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นเกษตรกรอยู่ในชนบท เพราะฉะนั้น การที่มหาวิทยาลัยไปดึงเอากำลังของชนบทมาเป็นปัญหาของเมือง นอกจากจะไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลต่อชนบทแล้ว อาจจะกลายเป็นการประทุษร้ายชุมชนเมืองด้วย เพราะที่สุดแล้วก็กลายเป็นว่านำพาชาวชนบทให้มาตั้งชุมชนสลัมขึ้นในเมือง
แท้จริงแล้ว หากประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละพวกจะได้มองให้พ้นขอบเขตแห่งประโยชน์ส่วนตนไป ปัญหาเรื่องเป้าหมายและภารกิจของมหาวิทยาลัยก็คงจะไม่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะถ้าหากชนบทและเมืองต่างอิงอาศัยเกื้อกูลต่อกันและกันแล้ว ปัญหาที่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่เกิด เมื่อใดที่เมืองเกื้อกูลชนบท และชนบทเกื้อกูลเมือง การจะจัดการศึกษาเพื่อชุมชนเมืองหรือชุมชนชนบท ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องมาโต้เถียงกัน แต่ทว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันก็คือ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่มุ่งสร้างสังคมเมือง กลับไปเบียดเบียนทำลายวิถีชีวิตชนบท และการศึกษาเพื่อสร้างชุมชนชนบทให้เข้มแข็ง ก็กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมือง คำถามจึงเกิดขึ้นว่า จะเอาเมืองหรือเอาชนบท คำตอบในเกือบทุก ๆ ประเทศจะคล้าย ๆ กันคือ "เมือง"
สังคมเมือง เป็นสังคมที่มีอำนาจเหนือสังคมชนบท เพราะศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองรวมศูนย์อยู่ที่สังคมเมือง ปัญหาของเมืองใหญ่จึงถูกมองเห็นและถือเป็นปัญหาของประเทศ ขณะที่ปัญหาของชนบทกลับถูกมองข้าม และถูกมองเป็นปัญหาปลีกย่อยเล็กน้อย ทรัพยากรของประเทศเกือบทั้งหมด จึงถูกระดมไปเพื่อแก้ปัญหาเมือง หรือไม่ก็ผลักภาระในการแบกรับปัญหาไปอยู่ที่ชาวชนบท ด้วยการแย่งชิงเอาทรัพยากรต่าง ๆ ของชนบท ไม่ว่าทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล มาใช้เพื่อแก้ปัญหาของเมืองใหญ่
มหาวิทยาลัย: แก้ปัญหาหรือร่วมสร้างปัญหา
มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่จะร่วมแก้ปัญหาหรือร่วมสร้างปัญหา ถ้าหากมหาวิทยาลัยมีความรู้มากพอที่จะมองเห็นปัญหา
ทั้งในส่วนของปัญหาเมืองและปัญหาชนบท แล้วหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ชาวเมืองและชาวชนบท
มหาวิทยาลัยก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่ถ้าหากว่ามหาวิทยาลัยไม่มีความรู้ที่มากพอจะมองปัญหาของสังคมในภาพรวมทั้งหมดได้
มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาดังที่ศาสตราจารย์หริ นเรนทร์
กล่าวไว้ เพราะมหาวิทยาลัยนอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับสังคมชนบททั้งในส่วนที่เป็นการดึงเอาทรัพยากรบุคคลของชนบทมาใช้ในเมือง
และในส่วนที่แย่งเอาทรัพยากรธรรมชาติมาสนองความต้องการของสังคมเมือง แล้วยังผลักภาระแห่งปัญหาให้ไปตกอยู่ที่สังคมชนบท
มหาวิทยาลัยอินเดียได้เริ่มภารกิจของอุดมศึกษายุคประชาธิปไตยด้วยการมุ่งมั่นจะสร้างชาติอินเดียให้เข้มแข็งรุ่งเรืองและมีศักดิ์ศรี แต่เมื่อดำเนินกิจการมาถึงครึ่งศตวรรษแล้ว ปรากฏว่า แนวโน้มทิศทางของอุดมศึกษาเริ่มจะมุ่งตอบสนองสังคมเมืองและภาคอุตสาหกรรม มากกว่าสังคมชนบทและภาคเกษตรกรรม
ผลผลิตของระบบอุดมศึกษาอินเดียไม่ต่างอะไรกับสินค้าในท้องตลาด ที่ผู้บริโภคบางกลุ่มพอใจขณะที่บางกลุ่มไม่พอใจ และทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการมองด้วยว่ามองไปที่ผลผลิตประเภทใด ผลผลิตที่มหาวิทยาลัยสายวิชาการทั่วไปผลิตออกมาไม่ว่าจะเป็นสายมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์หรือสายวิทยาศาสตร์ ดูเหมือนยังไม่เป็นที่พอใจของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นระดับล่าง ระดับกลางหรือระดับสูง แต่ส่วนของสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง ซึ่งเป็นการศึกษาด้านวิชาชีพจะมีความแตกต่างออกไปตามลักษณะของวิชาชีพที่สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งฝึกสอน
มหาวิทยาลัยด้านการเกษตร
มหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตร เป็นมหาวิทยาลัยอีกประเภทหนึ่งที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยประเภทอื่น
ๆ มหาวิทยาลัยการเกษตรไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองแล้วไปดึงเอาบุคลากรจากชนบทมาสู่เมือง
หากแต่ไปตั้งอยู่ในชนบท เป็นอุดมศึกษาที่เข้าไปหาประชาชนในชนบท เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งให้เยาวชนหนุ่มสาวได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นวิถีชีวิตของชุมชนของเขาเอง
และมุ่งแก้ปัญหาของชุมชนที่เป็นของตนเอง ภาพของบัณฑิตทางด้านการเกษตรจึงแตกต่างไปจากบัณฑิตสาขาอื่น
ๆ พวกเขาไม่ต้องหนีจากชนบทเพื่อเข้ามาสู่เมือง หากแต่เรียนรู้และอยู่ในชนบทกับชุมชน
ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตร ไม่ได้มุ่งผลิตมนุษยเงินเดือน แต่มุ่งสร้างภูมิบุตร(ลูกของแผ่นดินเกิด)
สถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยี
ในขณะที่มหาวิทยาลัยทางการเกษตรมุ่งหน้าไปสู่ชนบทนั้น มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีกลับมุ่งหน้าสู่เมือง
ด้วยการผลิตบัณฑิตป้อนตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการภายในเมือง ดังนั้น
การมองไปที่ผลผลิตของอุดมศึกษาอินเดียในปัจจุบันจึงต้องมองไปให้เห็นความแตกต่างระหว่างอุดมศึกษา
เพื่อสังคมอุตสาหกรรมและอุดมศึกษาเพื่อสังคมเกษตรกรรม
ในขณะที่มหาวิทยาลัยทางการเกษตรของรัฐต่างมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชนบท สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียก็มุ่งมั่นผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานของโลกอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ ทั้งในสังคมเมืองของอินเดียและตลาดแรงงานโลกอุตสาหกรรม ดังที่มีการประมาณการว่า 25 % ของผู้จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียออกไปทำงานหาเงินอยู่ในต่างประเทศ. ตัวเลข 25 % ของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย เป็นตัวเลขที่มีนัยความหมายที่น่าภาคภูมิใจในความนึกคิดของคนบางกลุ่ม และในขณะเดียวกันก็มีนัยความหมายที่หดหู่ใจในความนึกคิดของคนอีกบางคน
มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางท่านไม่ภาคภูมิใจในตัวเลขดังกล่าวนั้น ด้วยเหตุผลว่า สถาบันอุดมศึกษาตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างผู้นำของสังคมในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการด้วย แต่ผลปรากฏว่า ผลผลิตของสถาบันการศึกษาชั้นนำของสังคมทำได้เพียงแค่ผลิตช่างฝีมือให้กับตลาดแรงงานเท่านั้น ไม่ได้ผลิตผู้นำให้สังคมเลย และช่างฝีมือที่ถูกผลิตขึ้นมานั้นก็มีความหมายเพียงแค่การเอาตัวเองคนเดียวให้รอดในระบบเศรษฐกิจโลก เขาสามารถหาเงินได้เป็นจำนวนมาก แล้วนำเงินนั้นมาซื้อเครื่องอุปโภคและบริโภคอันเป็นวัตถุสนองตอบความปรารถนาส่วนตัว โดยไม่ได้ใส่ใจกับชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติเลย
คณิตศาสตร์อินเดีย คณิตศาสตร์อาหรับ
และคณิตศาสตร์โรมัน
อินเดียกับความหมายของศูนย์ และค่าของเลข "0"
ท่านอาจารย์ผู้นี้ได้เล่าให้ฟังว่า ประวัติศาสตร์ชาติอินเดียกำลังซ้ำรอยเก่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ
1,500 ปี ที่ผ่านมาแล้ว ในครั้งนั้นสังคมอินเดียได้ศึกษาค้นคว้าจนเกิดความรู้ที่สามารถเข้าถึงความหมายของ
"ศูนย์" ได้ และสามารถคิดคำนวณค่าของเลข "0" ออกมาให้เป็นจำนวนต่อจากจำนวน
"9" ได้สำเร็จ และจากการค้นพบค่าของ 0 ได้ทำให้เกิดระบบคิดเชิงคุณค่าด้านปริมาณได้ไม่รู้จบ
(Infinity). การค้นพบความรู้เชิงปริมาณของอินเดียในครั้งนั้นเป็นที่รับรู้กันทั่วไป
แต่ว่าเมื่อชาวอาหรับเข้ามาสู่อินเดียและได้ศึกษาเรียนรู้ความรู้จากอินเดียไป
ชาวอาหรับได้นำเอาความรู้ทางคณิตศาสตร์จากอินเดียไปใช้
จนเมื่อชาวตะวันตกมาศึกษาเรียนรู้จากอาหรับ โลกตะวันตกก็นำเอาระบบคณิตศาสตร์แบบอินเดียที่อาหรับใช้อยู่ไปใช้แทนระบบคณิตศาสตร์แบบโรมัน จนกลายเป็นชุดความรู้ที่มีคุณูปการอย่างมากต่อการแสวงหาความรู้ของโลกตะวันตก แม้กระทั่งตัวเลขที่เราใช้กันอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็นเลขอารบิก (ตัวเลขแบบอาหรับ) ทั้งที่เป็นตัวเลขแบบอินเดียที่ชาวอาหรับนำไปใช้ และในที่สุด ชาวตะวันตกก็ย้อนกลับเอาความรู้แบบอินเดียที่คิดค้นขึ้นมาโดยชาวอินเดียมาบอกว่าเป็นความรู้อันเลอเลิศของชาวตะวันตก และชาวอินเดียก็ยอมรับยอมจำนนกับคำบอกเล่าของชาวตะวันตกด้วยความสำนึกว่า ชาวตะวันตกมีความรู้ที่ดีกว่าความรู้ของอินเดีย นั่นคือ เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว. มาถึงวันนี้ก็กลับมีเหตุการณ์คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นอีก อินเดียผลิตคนที่สามารถคิดและสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ แล้วคนเหล่านั้นก็ไปทำงานรับจ้างในบริษัทต่างประเทศ ผลผลิตจากการคิดของชาวอินเดียก็ได้ย้อนกลับมาครอบงำชาวอินเดียในรูปของวิทยาการจากตะวันตก
ความคิดของอาจารย์ท่านนี้จะผิดหรือถูกประการใดก็สุดแล้วแต่จะมอง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากความคิดเช่นนี้ก็คือ ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียศึกษาค้นคว้าอยู่ในขณะนี้ มีประเด็นคำถามจากเพื่อนร่วมสังคมว่า ได้สนองความต้องการของสังคมอินเดียอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง
พุทธศาสนากับความหมายของ"ศูนย์"
อนึ่ง พึงกล่าวไว้สักนิดในส่วนที่ว่าด้วยความรู้ทางคณิตศาสตร์ของอินเดียที่อาจารย์ท่านนั้นอ้างถึง
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชาวอินเดีย ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของศูนย์นั้นปรากฏหลักฐานว่าค้นพบมาแล้วเมื่อ
2,500 กว่าปีมาแล้ว ดังหลักฐานในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายสูงสุดว่าเป็นศูนย์
(หรือสุญญตา) ความหมายของศูนย์หรือสุญญตาของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการนำเอาแนวความรู้เรื่องศูนย์ไปใช้อธิบายความหมายของชีวิตในเชิงคุณภาพ
และจากความรู้เรื่องคุณค่าเชิงคุณภาพของชีวิต ชาวอินเดียในเวลาต่อมาจึงได้พัฒนามาเป็นค่าของศูนย์ในความหมายเชิงปริมาณขึ้น
ไม่ว่าจะกล่าวในทางบวกหรือทางลบ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ อุดมศึกษาของอินเดียได้มีผลกระทบต่อสังคมอินเดียเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีความสัมพันธ์อยู่กับอุดมศึกษาอย่างใกล้ชิด
(2) ด้านเศรษฐกิจ
กว่าครึ่งศตวรรษที่อินเดียได้ก้าวเดินไปบนเวทีโลก ในฐานะเป็นประเทศราชที่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง
ด้วยจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับสองของโลก แต่เป็นจำนวนประชากรที่มีความยากจนและไม่รู้หนังสือเป็นจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของประชากรผู้ไม่รู้หนังสือของโลก
ความยากจนและความไม่รู้หนังสือ เมื่อมาอยู่ในคนคนเดียวกัน ก็กลายเป็นปัญหาแก้ยาก
ไม่รู้อีกสักกี่เท่าของคนที่ยากจนอย่างเดียวแต่รู้หนังสือ หรือไม่รู้หนังสือแต่มีฐานะดี
อินเดียแม้จะมีความฝันนานับประการ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะต้องแก้อย่างเร่งด่วนคือ ปัญหาความยากจน ความฝันอื่น ๆ ต้องเก็บเอาไว้ก่อน เพราะถ้าคนหิวเสียแล้ว ความรู้สึกรักชาติ หรือคุณธรรม จริยธรรมอื่น ก็ดูจะไร้ความหมาย เพื่อให้มีเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ทุกคนนี้เอง ที่ทำให้รัฐบาลและองค์กรอื่น ๆ ต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก แม้กระทั่งสถาบันอุดมศึกษาของอินเดียที่มีเป้าหมายอันเป็นอุดมคติอย่างสวยหรู แต่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว อุดมศึกษาจะต้องตอบสนองคนยากจนด้วย เพราะความยากจนเป็นปัญหาทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม
อินเดีย: สังคมนิยมในแง่เศรษฐกิจ
ประชาธิปไตยในแง่การเมือง
ผู้นำอินเดียยุคประชาธิปไตยมีความตั้งใจอย่างมากที่จะใช้ระบบอุดมศึกษาเป็นระบบขับเคลื่อนสังคมอินเดียให้ไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง
ในขณะที่เริ่มต้นอุดมศึกษายุคประชาธิปไตยนั้น สังคมโลกยังถูกแบ่งเป็น 2 ค่าย
คือ ค่ายเสรีนิยม และค่ายสังคมนิยม ผู้นำอินเดียยุคนั้นคิดว่าด้วยความเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก
และประชากรส่วนใหญ่ยากจนไร้การศึกษา การจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยระบบทุนนิยมเสรี
คงจะเป็นการนำพาสังคมอินเดียไปสู่ความเสี่ยงและอาจจะทำให้คนยากจนจำนวนมากมีปัญหา
ดังนั้น ผู้นำอินเดียจึงประกาศนโยบายเป็นประเทศสังคมนิยมในแง่ของเศรษฐกิจ และเป็นประชาธิปไตยในแง่ของการเมือง
ภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาก็คือในทางการเมืองต้องส่งเสริมประชาธิปไตย ในทางเศรษฐกิจจะต้องส่งเสริมระบบสังคมนิยม และด้วยแนวคิดเช่นนี้จึงทำให้รัฐบาลอินเดียในช่วง 3 ทศวรรษแรกของประเทศเอกราช ได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาเพื่อเกษตรกรรมมากกว่าการศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยทางการเกษตรเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ก้าวหน้า ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ทุก ๆ รัฐจะต้องมีมหาวิทยาลัยทางการเกษตร และทุก ๆ มหาวิทยาลัยทางการเกษตรจะต้องกระจายกิจกรรมทางการศึกษาลงไปสู่ทุก ๆ พื้นที่ในเขตรับผิดชอบ
อินเดียกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางด้านเศรษฐกิจ
ค.ศ.1986
อุดมศึกษาของอินเดียในช่วง 3 ทศวรรษแรกจึงแนบแน่นอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่มุ่งเน้นไปสู่ภาคเกษตรกรรม
แต่เมื่อโลกสังคมนิยมแตกสลายลง อินเดียก็เริ่มลังเลในทิศทางของเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
และในที่สุดความลังเลไม่แน่ใจต่อแนวทางสังคมนิยมก็กลายเป็นความรู้สึกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมไม่สามารถทำให้สังคมอินเดียเข้มแข็งมั่นคงได้
ในปี ค.ศ. 1991 อินเดียจึงได้ประกาศเปลี่ยนแปลงทิศทางด้านเศรษฐกิจ และนั่นก็หมายความว่าเปลี่ยนทิศทางอุดมศึกษาด้วย
ในความเป็นจริงแล้วอินเดียเปลี่ยนนโยบายทางการศึกษาก่อนที่จะเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ นั่นคือปี ค.ศ. 1986 อินเดียประกาศนโยบายการศึกษาแห่งชาติใหม่ ซึ่งเนื้อหาสาระของนโยบายการศึกษาใหม่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าอินเดียกำลังจะเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการศึกษาแห่งชาติปี ค.ศ. 1986 ได้กำหนดให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นการลงทุนเพื่อผลิตบุคลากรอันเป็นปัจจัยในการผลิตเพื่อแข่งขันกับโลกภายนอก และทันทีที่การศึกษาถูกทำให้มีความหมายเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง การคิดความคุ้มค่าคุ้มทุนในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็เกิดขึ้น
และกระบวนคิดคำนวณความคุ้มค่าคุ้มทุน นั่นเอง ที่ทำให้การศึกษาทางด้านเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) หรือเทคโนโลยีชีวภาพและอื่น ๆ ต่างได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากเพราะมีความคุ้มค่าและคุ้มทุนสูง มหาวิทยาลัยที่เป็นประเภทวิชาการทั่ว ๆ ไปต่างได้รับการแนะนำจาก UGC (University Grants Commission (UGC) in India) ให้เปิดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้ว UGC จะจัดสรรงบประมาณให้ และเพื่อจะให้ได้งบประมาณจากรัฐบาลกลางผ่าน UGC มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ระดมเปิดคณะใหม่ที่สอนวิชาการทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสนองตอบตลาดแรงงานของโลกอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยอินเดียแต่งงานกับภาคอุตสาหกรรม
ช่วงเวลาเพียงแค่ 10 ปี หลังจากการเปิดประเทศด้วยการประกาศใช้นโยบายทางเศรษฐกิจใหม่
สถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีก็เกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ดฤดูฝน งบประมาณของรัฐได้ทุ่มลงไปเพื่อการพัฒนาการศึกษาด้านเทคโนโลยี
ภาคอุตสาหกรรมได้เข้ามามีบทบาทในสถาบันอุดมศึกษาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีต่างแสวงหาความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรม
เหมือนหนุ่มสาวแสวงหาคู่ครอง
เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ตลาดแรงงานก็ขยายเพิ่ม หนุ่มสาวต่างมุ่งแสวงหาความรู้ทางด้านเทคโนโลยี เหมือนที่ในอดีตชายหนุ่มต้องมุ่งหน้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์เพื่อศึกษาให้จบไตรเพท มาวันนี้ชายหนุ่ม-หญิงสาวต่างมุ่งหน้าสู่เมือง เพื่อศึกษาวิทยาการด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้วแสวงหางานที่มีเงินเดือนสูงในบริษัทใหญ่ หากใครมีความสามารถสูงก็เดินทางไปแสวงหางานทำในต่างประเทศ
สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เข้าไปสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดภายใต้ระบบการค้าเสรี และระบบกลไกตลาดการค้าเสรีก็เข้ามามีบทบาทอิทธิพลต่อระบบอุดมศึกษาของอินเดียเป็นอย่างมาก จนกระทั่งว่าสถาบันอุดมศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กลายเป็นตลาดการค้าวิชาชีพภายใต้ระบบตลาดการค้าเสรีอย่างชัดเจน สินค้าทางการศึกษาตัวใดซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด สถาบันการศึกษาก็ผลิตสิ่งนั้นออกมาสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว บรรยากาศภายในสถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีมีความคึกคักเหมือนในห้างสรรพสินค้า ขณะที่มหาวิทยาลัยทางด้านวิชาการสายมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ มีบรรยากาศเงียบเหงาไร้ผู้คนเหมือนในวัดที่กำลังร้างเพราะขาดพระ
สถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีของอินเดียได้นำเอาคนชั้นล่างของอินเดียมาผลิตให้เป็นคนชั้นกลางได้อย่างรวดเร็ว สังคมเมืองก็มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็วเช่นกัน สถิติการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นปัญหาของสังคม วันนี้ ชนบทกำลังจะร้าง เมืองกำลังจะแตก เพราะความอัดแน่นของประชากร ภาพของเมืองและชนบทที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้สะท้อนความหมายแห่งผลผลิตและผลกระทบของระบบอุดมศึกษาอินเดียยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
(3) ด้านการเมือง
ประเทศอินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเภทหนึ่งที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มั่นคงที่สุดในโลกเช่นกัน
เพราะตั้งแต่ได้รับเอกราชทางการปกครองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 เป็นต้นมา อินเดียได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี
ค.ศ. 1950 และดำเนินการบริหารประเทศโดยระบบรัฐสภา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง
ระบบการเมืองการปกครองในระบบรัฐสภาเป็นรูปแบบตัวอย่างที่ดีให้นานาประเทศได้เป็นอย่างดี
เพราะเป็นการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีรูปแบบและกฏกติกาที่ดีที่สุดประเทศหนึ่ง ไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น
การเปลี่ยนรัฐบาลในแต่ละครั้งเป็นไปตามระบบที่มีกฏหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทุกประการ
การเลือกตั้งในสังคมอินเดียเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่น่ามหัศจรรย์ เพราะเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนเชิงวัฒนธรรม และมีความแตกต่างทางด้านสังคมความเป็นอยู่ของประชาชนสูงมาก แต่ประชาชนซึ่งมีความแตกต่างกันนั้นมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้งเหมือนกัน และเป็นเสียงสวรรค์ในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
สิ่งหนึ่งที่สังคมการเมืองไทยได้ดูแบบอย่างจากอินเดียคือ การจัดให้มีคณะกรรมการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง คณะกรรมการเลือกตั้งของอินเดีย ได้ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพจนประเทศไทยได้ดูเป็นตัวอย่าง และนำมาใช้ในระบบการเมืองไทย ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
สำนึกประชาธิปไตยมีมาแต่สมัยอาณานิคม
หากมองการเมืองในเชิงรูปแบบกันแล้ว อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรูปแบบทางการเมืองที่ดีมากประเทศหนึ่ง
และแน่นอนว่าความดีงามทางการเมืองนี้ สถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมอยู่ในการธำรงรักษารูปแบบนี้ไว้ด้วย
แต่ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่าสถาบันอุดมศึกษาที่กล่าวถึง หมายถึงสถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาประชาชน
ด้วยจิตสำนึกแบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ที่อังกฤษปกครองอินเดียอยู่
ถ้าจะกล่าวว่าสิ่งที่ระบบอุดมศึกษาของอินเดียในยุคอาณานิคมมอบไว้ให้กับประชาชนอินเดียแล้ว
และไม่ถูกตั้งข้อรังเกียจและวิพากย์วิจารณ์ในเชิงลบ ก็เห็นจะเป็นสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยนี้เอง
เพราะแม้ว่าจะรังเกียจอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นผลเกิดขึ้นจากการอบรมสั่งสอนโดยระบบการศึกษาแบบตะวันตก
แต่สังคมอินเดียกลับไม่รังเกียจความสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่อังกฤษนำเข้ามาปลูกฝังไว้ให้
สถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแบบที่อังกฤษตั้งไว้ให้นั้น มีบทบาทอย่างมากในทางการเมือง เพราะชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นชีวิตทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา และระบบการเมืองในมหาวิทยาลัยกับระบบการเมืองของประเทศมีสายสัมพันธ์กันตลอดมา เมื่อครั้งที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบอาณานิคม การปลุกเร้าให้สำนึกในความเป็นชาติที่เคยยิ่งใหญ่และมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ก็เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยจนกระทั่งเป็นที่รับรู้กันว่า กระแสชาตินิยมอินเดียที่มีพลังขับไล่ผู้ปกครองชาวอังกฤษให้ออกไปนอกอินเดียได้ ก็อาศัยพลังนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้เอง
การเมืองในมหาวิทยาลัยในฐานะกระจกเงาของสังคม
แม้เมื่อได้รับอิสรภาพมาแล้วการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ยังมีความเคลื่อนไหวเช่นนั้นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
จนกระทั่งรู้กันดีว่า พรรคที่นักศึกษาสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้นมีพรรคการเมืองใดหนุนหลังอยู่
และก็เป็นที่ประจักษ์อยู่เสมอมาว่า หากพรรคนักศึกษาพรรคใดชนะการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย
ก็เป็นอันเชื่อได้อย่างแน่นอนว่าพรรคการเมืองที่หนุนหลังพรรคนักศึกษานั้นอยู่
ก็จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเขตพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยด้วย ความเป็นจริงข้อนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ประชาชนชาวอินเดีย
เพราะฉะนั้นเวลาถึงฤดูกาลเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษา และสมาชิกสภานักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย
จะเป็นช่วงของการต่อสู้ทางการเมืองแบบตัวแทนในมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน
ในแต่ละรัฐจึงมีพรรคนักศึกษาตามจำนวนพรรคการเมืองใหญ่ ๆ อยู่ในเขตรัฐนั้น เช่น ในรัฐเกราล่า พรรคนักศึกษาที่เข้มแข็งและมีบทบาทมากที่สุดคือ พรรคนักศึกษาที่เป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคนักศึกษาที่พรรคคอมมิวนิสต์หนุนหลังอยู่ ก็ชนะเลือกตั้งเป็นนายกองค์การนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในรัฐเกราล่าตลอดมา
ด้วยการต่อสู้ทางการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยเช่นนี้ ทำให้บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยกลิ่นไอของการเมืองอยู่ตลอดเวลา และเมื่อใดที่มีปัญหาทางการเมืองในระดับประเทศก็จะมีปัญหาในรั้วมหาวิทยาลัยในลักษณะเดียวกันไปด้วย. การทำให้มีระบบพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังจิตสำนึกทางการเมืองให้แก่ประชาชน จนกระทั่งในครอบครัวแต่ละครอบครัวของชาวอินเดีย เป็นที่รู้กันว่าครอบครัวไหนเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใด ทั้งนี้เพราะความสำนึกในทางการเมืองของประชาชนอินเดียนั้น เป็นสำนึกที่ผูกพันอยู่กับพรรคการเมืองตลอดเวลา เพราะคำว่าพรรคการเมืองหมายถึงความรู้สึกว่า ตนเองสนับสนุนพรรคการเมืองใดอยู่ในขณะนั้น
ระบบการเมืองในมหาวิทยาลัย อาจจะดูเป็นสิ่งเลวร้ายในสายตาของผู้บริหารและนักการศึกษา เพราะเหตุผลทางการเมืองมักจะอยู่เหนือเหตุผลทางวิชาการ และเมื่อมีความขัดแย้งกัน เหตุผลทางการเมืองย่อมอยู่เหนือเหตุผลทางวิชาการอยู่เสมอ จนกระทั่งปรากฏชัดว่าทิศทางของมหาวิทยาลัยในอินเดียไม่ได้ถูกกำหนดโดยหลักการทางวิชาการหรือนักการศึกษา หากแต่ถูกกำหนดโดยเหตุผลทางการเมืองและนักการเมืองอยู่ตลอดเวลา จนมีการกล่าวกันว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาที่ถูกทำให้เป็นการเมืองไปแล้ว (Politicalised Education)
นักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ปรารถนาความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัย จึงไม่พอใจความเป็นไปของอุดมศึกษาปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปเชิงการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยได้ แม้จะรู้อยู่ว่าไม่เป็นผลดีต่อระบบอุดมศึกษาของอินเดีย แต่เมื่อเป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองก็ยังเป็นไปได้ แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ที่มีกระแสต้องการให้มีการปฏิรูประบบมหาวิทยาลัย หนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่ถูกเรียกร้องให้มีการปฏิรูปคือ การทำมหาวิทยาลัยให้ปลอดพ้นจากการเมือง (Depoliticalisation)
มหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน:
บัตรเลือกตั้ง รูปรถจักรยาน รูปเครื่องปั่นฝ้าย
ไม่ว่าการเมืองกับมหาวิทยาลัยจะมีความสัมพันธ์และมีผลกระทบต่อกันและกันอย่างไร
แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนก็คือ ผลผลิตของมหาวิทยาลัยอินเดียมีประสาทสัมผัสทางการเมืองดีมาก
นักศึกษาที่ผ่านรั้วมหาวิทยาลัยมาแล้วแม้จะไม่ค่อยรู้เรื่องวิชาการที่ตัวเองเรียนมาดีนัก
แต่เรื่องการเมืองแล้วอาจจะกล่าวได้ว่ามีความเข้มแข็งเกือบทุก ๆ คน และเพราะเหตุนี้จึงทำให้ระบบประชาธิปไตยในอินเดียเป็นไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์ว่า
สังคมที่มีคนไม่รู้หนังสือเป็นจำนวนมาก และประชากรส่วนใหญ่เป็นคนยากจน แต่คนเหล่านั้นถูกผู้นำที่เคยผ่านมหาวิทยาลัยมาแล้วทำให้เขารู้ความหมายของการเมืองได้โดยที่ไม่ต้องรู้หนังสือ
จึงเป็นเรื่องตลกมากที่เมื่อมีการเลือกตั้งนั้น ประชาชนผู้ไม่รู้หนังสือเขาไปเลือกตั้งกันอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ
ไม่มีการนอนหลับทับสิทธิ์
และเวลาเขาไปเลือกตั้งนั้น เขาไม่รู้อะไรมากไปกว่ารู้ว่า จะเลือกรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองที่เสนอตัวมาให้เขาเลือกเท่านั้น พรรคการเมืองแต่ละพรรคจึงต้องมีรูปที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรค เช่น รูปรถจักรยาน รูปเครื่องปั่นฝ้าย ฯลฯ เพราะฉะนั้น ถ้าในหมู่บ้านหนึ่งแข่งกัน 2 พรรค ชาวบ้านเขาก็จะรู้เพียงแค่ว่าเขาจะเลือกจักรยานหรือเครื่องปั่นฝ้ายเท่านั้น พรรคการเมืองทุก ๆ พรรคในอินเดียจึงต้องหารูปสัญลักษณ์ที่ชาวบ้านจำได้ง่าย ๆ ด้วยการหาวัตถุที่มีในชีวิตประจำวันมาเป็นสัญลักษณ์ของพรรค
ไม่ว่าจะมองในแง่บวกหรือแง่ลบ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันก็คือ มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสร้างจิตสำนึกทางการเมืองให้ประชาชนในสังคมสูงมาก และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยสูงมากเช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราพอใจระบบพรรคการเมืองและรูปแบบการเมืองแบบอินเดีย เราก็ต้องพอใจผลผลิตของมหาวิทยาลัยที่มีให้ต่อกิจกรรมทางการเมือง แต่ในทางตรงกันข้าม หากไม่พอใจรูปแบบและกิจกรรมทางการเมืองแบบอินเดียที่มีอยู่ในสังคมอินเดียปัจจุบัน เราก็คงไม่พอใจผลผลิตของมหาวิทยาลัยที่ทำให้มีการเมืองแบบที่เป็นอยู่
การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถาบันอุดมศึกษา
การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาในสังคมอินเดีย
เป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัดว่าจะประเมินจากหลักเกณฑ์อันใด
ทั้งนี้เพราะสังคมอินเดียมีความหลากหลายในมุมมองต่อปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในเรื่องเดียวกันมองจากกลุ่มหนึ่งเห็นว่าเป็นผลกระทบเชิงบวก แต่ในเวลาเดียวกันและเรื่องเดียวกันกับอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าเป็นผลเชิงลบ
ตัวอย่างเช่น การที่สถาบันอุดมศึกษาอินเดีย สามารถผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้เป็นปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วและมีคุณภาพ
เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของโลก ไม่ว่าในอเมริกาหรือยุโรป
ผลผลิตดังกล่าวนี้ คนอินเดียส่วนหนึ่งมองว่าเป็นผลเชิงบวกที่สถาบันอุดมศึกษามอบให้กับสังคม
เพราะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่คนอินเดียอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองตรงกันข้ามว่า
นี่คือลางร้ายของสังคมอินเดีย
ปรากฏการณ์ที่เยาวชนหนุ่มสาวชาวอินเดียแห่กันไปศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อไปแสวงหางานและรายได้จากต่างประเทศ ไม่ทำงานอยู่ในอินเดีย แต่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก เป็นการบอกให้รู้ว่า ระบบการศึกษาของอินเดียล้มเหลว เพราะสอนให้เยาวชนหนุ่มสาวชาวอินเดียเหล่านั้นมุ่งแสวงหาความสำเร็จและประโยชน์ส่วนตน โดยไม่ใส่ใจใยดีกับชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติ หนุ่มสาวเหล่านั้นทำตัวเหมือนนกกระจาบที่เมื่อฝูงนกติดตาข่ายของนายพราน นกบางตัวพยายามบินลอดช่องตาข่ายออกไปเพียงตัวเดียว และเมื่อบินออกไปได้แล้วก็โบยบินด้วยความยินดีปรีดาที่หนีรอดตาข่ายมาได้ โดยไม่ได้นึกห่วงใยเพื่อนนกที่ยังติดตาข่ายอยู่เลย
ชาวอินเดียผู้เล่านิทานเรื่องนกกระจาบในตาข่ายนายพรานตั้งคำถามว่า แล้วเราจะชื่นชมยินดีกับการหนีเอาตัวรอดคนเดียวของแต่ละคนหรือ ? ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถตอบชาวอินเดียผู้เล่านิทานเรื่องนกกระจาบได้ แต่ก็ยอมรับว่า มุมมองของเขาน่าสนใจ ที่สำคัญเขากำลังมองจากมุมของสังคมและชุมชนอินเดีย ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่พากันหลงลืมไปเกือบหมดแล้ว แต่ที่แน่ ๆ นี่เป็นตัวอย่างของความคิดอินเดีย ที่มองการศึกษาในระดับอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการผลิตผู้นำตามที่ท่านบัณฑิตเยาวห์ลาล เนห์รู ได้แสดงความปรารถนาไว้ เพราะฉะนั้นการที่สถาบันอุดมศึกษามุ่งผลิตช่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อป้อนตลาดแรงงานโลก แล้วจะให้มาชื่นชมกันทั้งประเทศก็คงจะไม่ถูก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า ให้มหาวิทยาลัยอินเดียมีหน้าที่แค่ผลิตช่างเพื่อป้อนตลาดแรงงานเท่านั้น และนั้นไม่ใช่เป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่กำหนดกันไว้
ผู้เขียนเองไม่สามารถจะตอบชาวอินเดียผู้นี้ได้ว่า ควรจะยินดีปรีดากับการหนีเอาตัวรอดคนเดียวดีหรือไม่ เพราะในสังคมของผู้เขียนเองก็มีการยกย่องชื่นชมบุคคลผู้ทำตัวเป็นนกกระจาบที่หนีรอดตัวเดียวด้วยความยินดีอยู่ แต่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามที แต่นี่เป็นความคิดของชาวอินเดียที่ถูกปลูกฝังไว้ในช่วงการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย เมื่อท่านเนห์รูมาเป็นผู้นำชาวอินเดีย ท่านก็คิดเช่นนี้ และได้มอบหมายภารกิจให้กับมหาวิทยาลัยในการผลิตผู้นำให้แก่สังคมและชุมชน ผู้ที่ได้มีโอกาสเข้ามาสู่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องออกไปทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนและสังคม เพราะฉะนั้นใครหนีเอาตัวรอดคนเดียวย่อมจะผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่สังคมเคยคาดหวังไว้ และถ้าหากคนที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำหนีเอาตัวรอดเป็นคน ๆ เสียอย่างนี้แล้ว ชะตากรรมของเพื่อนร่วมชุมชนและสังคมจะเป็นเช่นไร ?
อุดมศึกษาของอินเดีย:
ความสำเร็จและความล้มเหลวทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ
คงจะไม่เกินเลยจากความเป็นจริงหากจะกล่าวว่า อุดมศึกษาของอินเดีย คือตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับเป็นบทเรียนให้กับประเทศต่าง
ๆ ในซีกโลกตะวันออก. ความเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ มีอาณาเขตบริเวณของประเทศกว้างใหญ่ไพศาล
มีประชากรเป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลาย พร้อมทั้งมีประวัติศาสตร์ที่บันทึกการต่อสู้กับปัญหาต่าง
ๆ ทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศมาเป็นเวลายาวนาน ในช่วงเวลาอันยาวนานของประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นอินเดีย
ย่อมทำให้ผู้ศึกษาสามารถมองเห็นรายละเอียดของแง่มุมต่าง ๆ ได้อย่างถี่ถ้วนและชัดเจน
และที่สำคัญที่สุดคือ อุดมศึกษาของอินเดียมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวให้ได้ศึกษาเรียนรู้
ความสำเร็จของอุดมศึกษาอินเดีย
เมื่อมองไปสู่ความสำเร็จของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย ความสำเร็จที่เห็นได้ง่ายและเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ
ความสำเร็จในเชิงปริมาณ ที่อินเดียสร้างและพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล
ความสำเร็จเชิงปริมาณดังกล่าวนี้ ดูได้จากตารางแสดงอัตราการเพิ่มขึ้นของสถาบันอุดมศึกษาและจำนวนนักศึกษา
ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมาดังนี้
ตารางแสดงอัตราการเพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัย
/ สถาบันเทียบเท่ามหาวิทยาลัย
วิทยาลัย และจำนวนนักศึกษาในอินเดีย ระหว่างปีการศึกษา ค.ศ.1971 - 2002
ในช่วงเวลา
30 ปี จากปีการศึกษา 1971 - 72 ถึง 2001 - 02 จากที่มีมหาวิทยาลัย 95 แห่ง เพิ่มเป็น
259 แห่ง
จากจำนวนวิทยาลัย 3,896 แห่ง เพิ่มเป็น 11,089 แห่ง จากจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มี
2 ล้านกว่าคน เพิ่มเป็น 7 ล้านกว่าคน
ณ วันนี้ อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสถาบันอุดมศึกษาที่มากที่สุด และมีจำนวนนักศึกษามากที่สุดเช่นเดียวกัน จำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่ให้การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีมากกว่า 1 หมื่นแห่งกระจายอยู่ทั่วอินเดีย มีจำนวนประชากรที่กำลังศึกษาอยู่มากกว่า 7 ล้านคน ข้อมูลเชิงปริมาณเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แต่เป็นผลแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจและความเพียรพยายามของสังคมอินเดียและชาวอินเดีย ที่ได้สร้างระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นมาให้ปรากฏดังที่กล่าวไว้อย่างน่าอัศจรรย์
ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียที่มีการขยายตัวเชิงปริมาณอันน่าสนใจนี้ คงไม่ได้มีเฉพาะตัวเลขที่กลวงเปล่า หากแต่มีเนื้อหาสาระอะไรต่าง ๆ หลายประการแฝงอยู่ ในที่นี้ใคร่ที่จะแสดงนัยบางประการที่ดูได้จากปริมาณตัวเลขที่กล่าวมา
1. การขยายตัวของอุดมศึกษาไปสู่ชุมชนระดับรากหญ้า จำนวนวิทยาลัยทั้งหมื่นกว่าแห่งของอินเดียกระจายไปในทุกท้องถิ่น ทำให้ประชาชนผู้ต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสามารถเข้าศึกษาได้ในวิทยาลัยที่อยู่ใกล้บ้าน สถาบันอุดมศึกษาระดับวิทยาลัยของอินเดียกระจายอยู่ทั่วอินเดีย เหมือนกับโรงเรียนมัธยมของไทยที่มีอยู่ในทุกอำเภอทั่วประเทศไทย การเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในวิทยาลัยจึงไม่ใช่เรื่องยาก และนี่คือ โอกาสทางการศึกษาที่รัฐมีให้กับประชาชนชาวอินเดีย
2. มีความหลากหลายทั้งทางปริมาณและคุณภาพ จำนวนสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมื่นกว่าแห่งนี้ หากมองจากเกณฑ์มาตรฐาน อาจจะดูเป็นความล้มเหลวของระบบอุดมศึกษาอินเดียก็ได้ เพราะไม่มีเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน แต่เมื่อมองจากสภาพความเป็นจริงในทางชุมชน-สังคม ความหลากหลายแตกต่างกันนั้น กลับแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของระบบการศึกษาของอินเดีย ที่สามารถสร้างระบบอุดมศึกษาขึ้นมาบนความหลากหลายแตกต่างนั้นได้ จำนวนและประเภทของวิทยาลัยในแต่ละท้องถิ่นจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยในท้องถิ่นนั้นว่า ควรจะมีวิทยาลัยประเภทใด และจำนวนเท่าไหร่ ส่วนมาตรฐานทางวิชาการนั้นก็เป็นไปตามการยอมรับของแต่ละที่ แต่ละแห่ง ไม่จำเป็นต้องมีเกณฑ์มาตรฐานสากลของชาติมาเป็นกรอบกำหนด
ความหลากหลายทั้งทางปริมาณและคุณภาพนี้ จึงนับเป็นความสำเร็จของรัฐในการบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสทางการศึกษาตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์ที่เป็นจริง
ความล้มเหลวของอุดมศึกษาอินเดีย
ในขณะที่ด้านปริมาณเป็นความสำเร็จของระบบอุดมศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย แต่ด้านคุณภาพกลับถูกนับเป็นความล้มเหลว
ทั้งนี้ก็เพราะ ไม่ว่าจะดูจากการเทียบเคียงกับประเทศอื่น หรือดูจากคุณภาพที่คาดหวังภายในสังคมอินเดียเอง
คุณภาพของอุดมศึกษาอินเดีย ไม่ได้ถูกกล่าวถึงด้วยความพึงพอใจในความรู้สึกของนักการศึกษาอินเดียมากนัก
ความล้มเหลวในเชิงคุณภาพนี้ เกิดจากความหวังว่า คุณภาพของผลผลิตจะต้องไม่ด้อยกว่าผลผลิตจากต่างประเทศในเชิงเปรียบเทียบ และจะต้องตอบสนองความคาดหวังของสังคมได้เมื่อประเมินคุณภาพจากความคาดหวังภายในสังคมอินเดียเอง. ความล้มเหลวในเชิงคุณภาพที่ประเมินจากการเทียบเคียงกับต่างประเทศนั้น ถูกเปรียบเทียบจากความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่อุดมศึกษาของอินเดียไม่ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เป็นคุณูปการต่อวงวิชาการระดับโลก หากแต่อุดมศึกษาอินเดียเป็นเพียงแค่ระบบการถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่แล้วไปสู่นักศึกษาเท่านั้นเอง นักศึกษาในระบบอุดมศึกษาของอินเดีย มีหน้าที่เพียงแค่จดจำความรู้ของผู้อื่นที่อาจารย์นำมาบอกเล่าให้นักศึกษาจดจำไว้เป็นความรู้ของตนเอง
มหาวิทยาลัยอินเดีย ผลิตได้เพียงช่าง
ไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่
กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ ทำให้ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียไม่สามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการได้
เพราะต้องเดินตามหลังต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อันเป็นความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นในสังคมอุตสาหกรรมของโลกตะวันตก แม้การที่อินเดียสามารถผลิตผู้รู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ได้เป็นจำนวนมากในปัจจุบันนี้
ก็เป็นเพียงแค่การผลิตช่างทางคอมพิวเตอร์ที่เป็นการผลิตซ้ำ ไม่ใช่เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่
ๆ ทางคอมพิวเตอร์
ระบบอุดมศึกษาอินเดียปัจจุบันมีความสามารถเพียงแค่การสร้างผู้รู้ (ช่าง) ในราคาถูกกว่าที่อื่นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการสร้างความรู้อันเป็นของตนเองขึ้น และเพราะระบบอุดมศึกษาอินเดีย เป็นระบบผลิตคนให้เป็นช่างด้านต่าง ๆ นี้เอง ที่ทำให้สังคมอินเดียไม่มีความรู้ของอินเดียเองให้มากพอที่จะเป็นเลิศทางวิชาการได้ ความอ่อนด้อยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทำให้ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียถูกมองว่าล้มเหลวในทางคุณภาพ ทั้ง ๆ ที่มีสถาบันอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก
จากความล้มเหลวทางด้านคุณภาพในแง่มุมของการเทียบเคียงกับระบบอุดมศึกษาของประเทศอื่น ทำให้มองเห็นความล้มเหลวทางด้านคุณภาพในมุมมองจากภายในสังคมอินเดียเอง ผลผลิตของอุดมศึกษาที่ออกมาเป็นผู้รู้ (ช่าง) ในแต่ละสาขา โดยที่ไม่มีความรู้อันเป็นของอินเดียเอง ทำให้คุณภาพของบัณฑิต-มหาบัณฑิต ไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง โดยเฉพาะความคาดหวังที่จะให้ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกมาเป็นผู้นำสังคมด้านต่าง ๆ เพื่อพาอินเดียไปสู่ความเข้มแข็ง มั่นคง รุ่งเรือง มีศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ กาลเวลาที่ผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้สังคมอินเดียผิดหวังกับคุณภาพของผลผลิตจากรั้วมหาวิทยาลัย เพราะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
ผลผลิตของระบบอุดมศึกษาอินเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลภายในสังคมอินเดียเองว่าด้อยคุณภาพ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ผลผลิตของระบบอุดมศึกษาอินเดียน่าสนใจมากสำหรับสังคมไทย เพราะมีอะไรหลายประการที่คล้าย ๆ กับสังคมไทย
สำนึกในตัวตนแบบใหม่ แปลกแยกจากเพื่อนร่วมชาติ
ปัญญาชนอินเดียที่เป็นผลผลิตของระบบอุดมศึกษายุคใหม่ มีคุณลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างไปจากบัณฑิตอันเป็นผลผลิตของระบบอุดมศึกษายุคโบราณ
นั่นคือ ปัญญาชนรุ่นใหม่มีความสำนึกแห่งความเป็นตัวตนแบบใหม่ ที่มีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคล
ความสำนึกแบบปัจเจกบุคคลนั้น ทำให้ตัวเขาเองแปลกแยกออกมาจากเพื่อนร่วมชาติ ("ชาติ"
ในความหมายของวัฒนธรรมอินเดีย หมายถึงรากเหง้าของความเป็นตัวตน บุคคลที่แต่ละบุคคลจะนิยามความหมายแห่งความเป็นตัวตนจากวรรณะ
- โคตร - ตระกูล) และมองเห็นความเป็นไปของเพื่อนร่วมชาติว่าเป็นเรื่องของ "คนอื่น"
ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง
ด้วยความสำนึกแบบปัจเจกบุคคลของปัญญาชนรุ่นใหม่ ความรู้ที่เขามีอยู่จึงเป็นความรู้ของเขาเอง และเป็นสมบัติส่วนตัวของเขา ไม่ใช่ความรู้ของสังคมหรือชุมชนดังเช่นที่บัณฑิตในยุคอินเดียโบราณรู้สึก ปัญญาชนรุ่นใหม่มีความสามารถที่จะเอาตัวเองรอด แต่ไม่มีความสามารถที่จะนำพาสังคมอินเดียให้รอดไปสู่ความเข้มแข็ง มั่นคง รุ่งเรือง มีศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิได้
ระบบอุดมศึกษายุคใหม่ของอินเดียผลิตแต่ช่างผู้รู้ออกมา แต่ไม่ได้ผลิตความรู้ให้กับสังคมอินเดียอย่างที่คาดหวัง ผลผลิตของอุดมศึกษามีคุณสมบัติที่จะเอาตัวรอด แต่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำพาเพื่อนร่วมชาติให้รอดพ้นจากปัญหานานับประการที่มีอยู่ในสังคม อุดมศึกษาทำให้ชาวชนบทมีความสามารถที่จะทิ้งชนบทของตนเองเข้าสู่เมืองเล็ก จากเมืองเล็กสู่เมืองใหญ่ จากเมืองใหญ่สู่มหานคร และที่สุดก็ทิ้งอินเดียไว้ข้างหลัง เอาตัวเองคนเดียวไปอยู่ต่างประเทศ
ในความรู้สึกของชาวอินเดียจำนวนมาก สถาบันอุดมศึกษายังไม่ได้ผลิตผู้นำให้กับสังคมดังที่เคยรับปากไว้ในตอนต้นได้รับเอกราชใหม่ ๆ ความล้มเหลวเชิงคุณภาพนี้ อาจจะขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล คนกลุ่มหนึ่งอาจจะพอใจกับคุณภาพของผลผลิตจากอุดมศึกษาแล้ว เพราะคนกลุ่มนั้นได้ประโยชน์จากระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ แต่เสียงวิพากวิจารณ์จากคนกลุ่มที่ยังไม่พอใจผลผลิตของระบบอุดมศึกษาของอินเดียก็มีนัยน่ารับฟัง และได้สะท้อนอะไรหลายประการให้สังคมไทยมองและพิจารณาหาบทเรียนเพื่อสังคมไทยได้
ย้อนอ่านบทความเกี่ยวเนื่อง:
ธรรมนูญอุดมศึกษาอินเดียหลังอาณานิคม
ย้อนอ่านบทความเกี่ยวเนื่อง:
มหาวิทยาลัยอินเดียกับการเมือง การเงิน การศาสนาและสังคม
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
หากมองการเมืองในเชิงรูปแบบกันแล้ว อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรูปแบบทางการเมืองที่ดีมากประเทศหนึ่ง และแน่นอนว่า ความดีงามทางการเมืองนี้ สถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมอยู่ในการธำรงรักษารูปแบบนี้ไว้ด้วย แต่ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่าสถาบันอุดมศึกษาที่กล่าวถึง หมายถึงสถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาประชาชน ด้วยจิตสำ นึกแบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ที่อังกฤษปกครองอินเดียอยู่ ถ้าจะกล่าวว่าสิ่งที่ระบบอุดมศึกษาของอินเดียในยุคอาณานิคมนั้น มอบไว้ให้กับประชาชนอินเดียแล้ว และไม่ถูกตั้งข้อรังเกียจและวิพากย์วิจารณ์ในเชิงลบ ก็เห็นจะเป็นสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยนี้เอง เพราะแม้ว่าจะรังเกียจอะไรหลายๆ อย่าง แต่สังคมอินเดียกลับไม่รังเกียจความสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่นำเข้ามา